วันที่ ๔

พระนครปฐม

วันที่ ๔ วัน ๑ ๒ ค่ำ โมงเช้าตื่นนอนเธอมอเมตเตอร์ ๗๓ โกรกหัวแล้วกินเข้า เช้า ๓ โมงขึ้นไปบนพระเจดีย์ วันนี้เชิญพระบรมอัฐิสำหรับไปด้วย ขึ้นพานทองสองชั้นจัดใหม่ไปตั้ง พระที่สวดมนต์เมื่อคืนนี้ ๕๔ รูป สดัปกรณ์ ผ้าสบงจีรองค์ละสำรับ เข้ากระทงธูปเทียนผ้าพระภูษาโยงไม่มีต้องใช้เสื้อเยียรบับเลาะ ตัดเข้าเปนผ้าแถบยาวเล็ก ๆ แล้วถวายเงินพระสงฆ์ ในวัดพะปฐมเจดีย์รวมกัน ๑ ชั่ง ได้นิมนต์พระสงฆ์ในแขวงจังหวัดพระปฐมเจดีย์นี้ ๑๓ วัด แลพระสงฆ์ในกรุงบ้าง รวม ๑๒๐ รูปมาสดัปกรณ์ เงินองค์ตะ ๑ สลึง เงินเจ้านายข้างน่าข้างในอิก ๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาทเฟื้อง พระได้องค์หนึ่ง ๒ บาท ๒ สลึงเศษ วันนี้ได้สนทนากับพระดูก็สนุกดีอยู่ ถามพระครูปฐมเจติยานุรักษ์๕๖ ถึงที่บิณฑบาต เธอว่าเวลาน่าน้ำชาวบ้านไปทำนาสัปรุษขึ้น ได้บิณฑบาตที่สัปรุษ เวลาน้ำแห้งไม่มีสัปรุษ ชาวบ้านกลับเข้ามา ได้บิณฑบาตพอตลอดปี ได้ถามว่ามีกับเข้าอะไรด้วยฤๅ เธอบอกว่ามีแต่เข้าเปล่า ๆ แล้วหันไปถามพระคุณาจาริยวัตร ว่าเจ้าคุณไปบิณฑบาตได้อะไรบ้าง พระคุณาจาริย์ ก็อวดกับเข้าที่ได้ แต่พระอมรเมธาจาริย์ บอกว่าไปบิณฑบาดที่โรงครัวท่านกรมท่าอิ่มเหลือหลาย แล้วพระในกรุงเทพ ฯ แบพระครูปฐมเจดีย์ ลาว่าจะล่วงน่าไปที่พระแท่น พอทำบุญเสร็จแล้ว ออกเดินเที่ยวดูรอบนอกพระระเบียง มาที่เข้าบุมตวันออกเฉียงเหนือ แล้วกลับมาวังเวลา ๕ โมงเช้า อนึ่งเมื่อคืนนี้ ๒ ยามได้รับหนังสือท่านกลางมาด้วยเมล์กรุงเทพ ฯ วันนี้เขียนตอบ ฟอโตคราเฟอโซไซตี้ มาถ่ายรูปพระปฐมเจดีย์อวด มีโปรเฟซเซอทองเปนประธาน ให้ผ้าห่มสก๊อดตลับเมียพระยานครไชยศรีผืน ๑ กับแจกเสื้อกรมการหัวเมืองกรมท่าที่มาทำการ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ขึ้นไปบนพระเจดีย์ ออกเดินนมัศการ แลเที่ยวดูรอบนอกมีที่บูชาหลายแห่ง ได้เดินจับตั้งแต่มุมตวันออกเฉียงใต้เปน ๑ ไป จะนับแต่ที่บูชาก่อน ที่ ๑ พระศรีมหาโพธิ์มุมตวันออกเฉียงใต้ ที่ ๒ พระปฐมเจดีย์เดิมจำลอง ที่ ๓ พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจำลองอยู่กระเปาะทิศใต้ ที่ ๔ พระศรีมหาโพธิ์ ตวันออกเฉียงใต้ ที่ ๖ ไม้ม่วง ที่ ๖ ไม้เกษ ที่ ๗ ไม้จิก ที่ ๘ ไม้นิโครธ ที่ ๙ ไม้ไทร ที่ ๑๐ ไม้หว้า ที่ ๑๑ ไม้รัง เจ็ดนี้อยู่ที่กระเปาะด้านตวันตก พระศรีมหาโพธิ์อยู่บนทักษิณ ชั้นบนตรงวิหารพระไสยาศน์เปนที่ ๑๒ ที่ ๑๓ พระศรีมหาโพธิ์มุมตวันตกเฉียงเหนือ ที่ ๑๔ พระพุทธฉายจำลองที่ภูเขา ที่ ๑๕ พระศรีมหาโพธิ์ด้านตวันออกเฉียงเหนือ ที่ ๑๖ ในโรงธรรม ที่ ๑๗ เก๋งกงเต๊กแผ่นศิลาเยธรรมา ที่ ๑๘ พระคันธารราชในพระอุโบสถเข้าวงชั้นใน ที่ ๑๙ วิหารใต้พระแสดงธรรมจักร ที่ ๒๐ พระนาคปรก ที่ ๒๑ วิหารทิศตวันตก พระเข้าปรินิพพาน ที่ ๒๒ พระพุทธไสยาศน์ ที่ ๒๓ วิหารเหนือพระปาเลไล ที่ ๒๔ พระประสูตร ที่ ๒๕ วิหารตวันออก พระสมาธิได้ตรัศ ที่ ๒๖ พระปฐมเจดีย์ตรงอาศนบูชา ที่ ๒๗ พระพุทธรูปในซุ้มบนองค์พระเจดีย์ รวมที่บูชาถึงเท่านี้ ได้ลองเดินบูชาดูขึ้น ๆ ลง ๆ พอเหนื่อยจนเวลาพลบจึงได้แล้ว ราษฎรมาเวียนเทียนรอบหนึ่งแล้วเสด็จยาย เจ้านายแลพวกผู้หญิง จุดเทียนรายพระเจดีย์ แลเดินเทียน ๓ รอบ แล้วกลับลงมาจุดดอกไม้เหมือนอย่าง ๒ วันมาแล้ว กลับมาวังเวลาทุ่มเศษ เปนสิ้นธุระในวันนี้

ต่อนี้ไปจะว่าด้วยพระปฐมเจดีย์องค์นี้ ทูลกระหม่อมท่านได้ค้นหนังสือต่าง ๆ ที่เปนหนังสือเก่า ๆ ได้ความว่าสร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๕๖๙ ปีบ้าง ๑๐๐๐ ปีบ้าง ๑๑๘๕ ปีบ้าง ๑๒๖๔ ปีบ้าง ๑๖๓๓ ปีบ้าง ไม่ถูกกัน มีกำหนดนับว่าสูง ๔๕ วาศอก ว่าเปนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทมอยู่ที่นั่น แล้วว่าได้บรรจุพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง ครั้งหนึ่งบรรจุพระบรมธาตุอิกทนานหนึ่ง อิกครั้งหนึ่ง ๑๐๐ พระองค์ว่าไม่ถูกกัน ท่านตัดสินไม่เอาเปนแน่ ท่านทรงเห็นว่าจะสร้างเมื่อครั้งกระษัตรศรีธรรมาโศกราช ที่อินเดียแจกพระธาตุไปตามประเทศที่ถือพระพุทธสาสนาเหมือนกัน ในครั้งนั้นพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๑๘ ปี พระเจดีย์องค์นี้จะได้สร้างขึ้นก่อนพระเจดีย์ในประเทศสยามทั้งปวง เพราะมีพยานที่แลเห็นได้ว่าเปนของคราวนั้น เพราะได้ขุดได้แผ่นศิลาที่จาฤกคาถา เยธัม์มาเหตุป์ปภกา แลเปนแผ่นตราดินบ้าง จาฤกไว้ในที่ต่างๆ บ้าง ทั้งมีจักรศิลาซึ่งแสดงเปนคำเปรียบว่าธรรมจักร ขุดได้ในที่นี้ตั้งไว้ที่ถานโพธิ์ด้านตวันออกเฉียงเหนือถึง ๒ กับทั้งศิลาสลักลายต่างๆ เปนอย่างโบราณ คาถานั้นถูกต้องกันกับที่มีในเมืองอินเดีย ที่พระเจดีย์อิสิปัตนะ ซึ่งเปนพระเจดีย์ของกระษัตรศรีธรรมาโศกราชสร้างเปนต้น เห็นว่าเปนการนัดหมายใช้ตามเปนแบบเดียวกันดังนี้ ระยะที่สร้างคงจะไม่ห่างกัน อนึ่งพระปฐมเจดีย์องค์เดิมนี้ ใหญ่โตกว่าพระเจดีย์ในประเทศสยามทั้งปวง เห็นจะเปนของเก่าสร้างไว้าช้านานก่อนพระเจดีย์ทั้งปวงในประเทศสยาม จึงได้เรียกว่าพระปฐมเจดีย์ แต่ในหนังสือบางแห่ง เรียกว่าพระประทม นั้นเห็นจะเปนด้วยเสียงมอญ เรียกขึ้นในชั้นหลัง องค์พระเจดีย์เดิมเมื่อยังไม่ได้สร้างใหม่นี้ มีเนินใหญ่เปนกองอิฐหักลงมา ขุดลงไปดูฦก ๒ ศอกบ้าง ๓ ศอกบ้าง พบอิฐยาวศอกหนึ่งน่าใหญ่ ๑๒ นิ้ว น่าน้อย ๖ นี้เปนพื้นอยู่ เห็นว่าจะเปนองค์พระเจดีย์เดิมหักพังลงมา แล้วมีผู้สรัทธามาเกลี่ยอิฐให้เปนเกาะขึ้น แล้วจึงก่อเปนพระเจดีย์กลมขึ้นอิกคราวหนึ่ง เหมือนอย่างพระเจดีย์ในลังกา ครั้งนานมายอดเห็นจะหักลงมาอิก มีผู้สรัทธามาปฏิสังขรณ์ใหม่ เห็นว่าพระเจดีย์ยอดแหลมไม่มั่นคง จึงได้เกลี่ยที่ให้เสมอเพียงเวที ก่อองค์เปนปรางค์ต่อตั้งขึ้นไปแทนยอด ที่ริมขอบเวทีก่อกำแพงแก้วไว้เปนที่ทักษิณ มีบันไดลงมาถึงพื้นเนิน บันไดที่ก่อนั้นพิเคราะดูก็เห็นว่าก่อทับองค์ระฆังขึ้นทีหลัง มีวิหารเรียงกันอยู่บนเน็น ๔ วิหาร ทิศตวันออกเฉียงใต้นั้นวิหารพระนาคปรก ถัดมาถึงวิหารพระไสยาศน์ ต่อมาอิกเปนวิหารพระพุทธรูปต่าง ๆ ถึงที่สุดตวันออกเฉียงเหนือเปนวิหารพระปาเลไลย์ มีพระเจดีย์เล็ก ๆ อิกหลายองค์ แต่วิหารแลพระเจดีย์เหล่านี้เปนฝีมือช่างของราษฎร เล็ก ๆ ใหญ่ ๆ ไม่เสมอกันเปนของทำใหม่ พระอุโบสถนั้นอยู่ตรงที่พระอุโบสถเดี๋ยวนี้ พระวิหารอยู่ที่ตรงเก่งจีน แลพลับพลาทรงโปรยลงไปมีเสาศิลาแลงอยู่หลายต้น เห็นเปนฝีมือช่างหลวงทำ แต่พระเจดีย์ทลายลงมา ก็พลอยทลายไปด้วยกัน เพราะเปนของอยู่กับพื้นดิน ที่กุฏิพระสงฆ์อยู่ข้างกระเปาะทิศใต้ วัดองค์พระเดิมตั้งแต่แผ่นดินขึ้นไปถึงหลังกระเปาะสูง ๔ วาบ้าง ๕ วาบ้าง ด้วยแผ่นดินไม่เสมอกัน ตั้งแต่หลังกระเปาะขึ้นไป เปนองค์พระเจดีย์กลมสูง ๑๔ วา ๒ ศอก องค์ปรางค์สูง ๒๐ วา ยอดนพศูล ๘ ศอก รวมตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงยอดนพศูล ๔๐ วา ๒ ศอก มีตัวอย่างพระเจดีย์อยู่ที่กระเปาะทิศใต้ ที่เราได้ ไปบูชาที่ ๒ พระปฐมเจดีย์นี้ทูลกระหม่อมได้เสด็จมาแต่ก่อน เมื่อยังทรงพระผนวชอยู่ ทรงเห็นว่าเปนของโบราณใหญ่โต เลื่อมไสมาก แลมีอัศจรรย์อยู่บ้าง ดังเสด็จที่วัดทรงแต่งไว้ในหนังสือที่เรียกว่าราชประวัติ ให้ดูที่นั่นเถิด ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสสมบัติ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่๕๗ เปนแม่กองมาทำ เอาอิฐเก่า ๆ รื้อมาจากวัด ทำอยู่ประมาณปีเศษ ก่อขึ้นได้สัก ๘ ศอก สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงแก่พิราไลยแล้ว จึงโปรดให้เจ้าคุณกรมท่า๕๘มาทำต่อไป เกลี้ยกล่อมมอญมารับจ้างทำอิฐ จ้างจีนเผาปูน ใช้เงินปี้จีนเมืองนครไชยศรี แลเงินภาษีเข้า เกณฑ์คนเมืองนครไชยศรี เมืองสมุทสาคร เมืองสมุทสงคราม เมืองราชบุรี เมืองพนัศนิคม มาทำเปนคนผลัด เดือนลตะ ๒๐๐ ก่อต่อขึ้นไปอิกสูงได้ ๗ วา ๒ ศอกรวมเปน ๑๗ วา ๒ ศอก ในปีวอกโทศก อิฐทรุดทลายลงมารอบองค์ ต้องจับการทำใหม่ แบบพระเจดีย์นั้น เสด็จที่วัดแลกรมขุนราชสีห์คิด แลทูลกระหม่อมทรงติเตียน ส่วนพระเจดีย์ตามจดหมายของเจ้าคุณกรมท่าท่านจดหมายไว้ดังนี้ ตั้งแต่พื้นทักษิณที่ ๑ ขึ้นไปถึงถานบัวขว้า สูง ๘ ศอกคืบ ตั้งแต่ทักษิณที่ ๒ ขึ้นไปถึงปากระฆัง สูง ๙ วาคืบนิ้ว ๑ องค์ระฆังสูง ๑๔ วา ๔ นิ้ว บัลลังก์สูง ๓ วาคืบ ๖ นิ้ว ตั้งแต่บัลลังก์ถึงหลังฝาละมีสูง ๓ วาคืบ ๑๑ นิ้ว ปล้องฉนัย ๒๗ ปล้อง สูง ๑๕ วา ๒ ศอกคืบ ๕ นิ้ว บัลลังก์บัวแก้วสูง ๓ วาคืบ ๖ นิ้ว ถานทองเหลืองสูงศอกคืบ ๒ นิ้ว ยอดนพศูลขึ้นไปตลอดยอดมงกุฏสูง ๓ วานิ้ว คิดรวมตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปตลอดยอดมงกุฏ คิดได้เปน ๓ เส้นคืบ ๖ นิ้ว ก่อถานใหญ่รอบ ๕ เส้น ๑๖ วา ๓ ศอก ทักษิณที่ ๑ ก่อออกมากว้าง ๕ วา ตั้งแต่ลูกแก้วหลังบัวถลาขึ้นไป ก่อกว้าง ๔ วา ๔ วาเศษบ้างตลอดถึงทักษิณ ที่องค์ปรางค์ตั้งอยู่ ก่อกว้าง ๗ วาบ้าง ๗ วา ๒ ศอกบ้าง ลดเข้าไปทุกทีจนกระทั่งถึงที่ตั้งเวที ที่นั้นกว้าง ๓ วา ที่ปล้องฉนัยนั้นกว้าง ๕ วาศอก จนตลอดยอดปรางค์ ถานล่างถ้าจะชักเปน ๔ เหลี่ยมด้าน ๑ ยาว ๒ เส้น ๗ วาเท่ากับถานกระเปาะทำไว้ทั้ง ๔ ด้าน การที่ทำในองค์พระเจดีย์นั้นทำแขงแรงกว่าแต่ก่อน เจ้าของท่านจดหมายไว้ว่า ชั้นทักษิณที่ ๒ มีแต่เสาขาทรายค้ำไม่มีเสานางเรียง ที่ตรงบัวถถาลงไป มีเสานางเรียงปักไม้ซุงทั้งต้น ปักถึงพื้นอิกรอบหนึ่งรัดด้วยไม้ซุงทั้งต้น แลเอาสายโซ่ใหญ่รัดที่น่ากระดาน ท้องไม้ใต้บัวถลาแห่งหนึ่ง รัดหลังบัวถลาแห่งหนึ่ง รัดตั้งแต่ท้องไม้ลูกแก้วถึงบัวคลุมปากระฆังอิก ๕ ชั้น ที่กลางองค์ระฆังมีเสานางเรียงรัดโซ่อิก ๓ รอบ ที่ฅอกลางมีเสานางเรียง ตีนเสาเชิงเรียงนั้นรัดปลอกเหล็กไม้ซากชั้นหนึ่ง แลรัดสายโซ่อิก ๕ รอบ ปลายเสานั้นเอาไม้ซากสิบนิ้ว ๔ เหลี่ยม สับปากกันเปนปลอกรัดปลายเสาไว้อิกชั้น ๑ ลูกแก้วปล้องฉนัยหลังฝาละมีรัดสายโซ่ที่ท้องไม้อิก ๘ รอบ แล้วก่ออิฐถือปูนหุ้ม ๆ ในรอบบริเวณพระเจดีย์นั้น มีวิหาร ๔ ทิศ มีพระพุทธรูปต่าง ๆ ตามที่ว่าไว้แล้วเมื่อไปบูชา แลชักพระระเบียงกลมถึงกันทั้งสี่วิหาร มีหอระฆังรายรอบนอกพระระเบียง ๒๔ ตรงน่าวิหารมีกระเปาะย่อออกไปทั้ง ๔ ทิศ ทิศตวันออกมีพระอุโบสถโรงธรรมแลเก๋งจีน พลับพลาโปรยทานของเดิม ทิศใต้มีพระเจดีย์ดังเช่นว่าได้แล้ว กับศาลาหลังหนึ่ง ทิศตวันตกมีไม้ ๗ ต้นที่นั้น ทักษิณชั้นบนย่อออกไปหน่อยหนึ่ง มีต้นโพธิ์มาแต่ลังกาต่อคราวก่อนต้นหนึ่ง กระเปาะด้านเหนือ มีคลังสองหลัง ศาลาหลังหนึ่ง ที่รักแร้กระเปาะทั้ง ๔ ทิศมีภูเขาแล้ว แต่ข้างตวันออกเฉียงเหนือสามด้านยังไม่แล้ว น่าภูเขามีต้นโพธิ์พุทธคยา แลคูหาที่บูชาทั้ง ๔ ทิศ น่าชานต้นโพธิ์ออกไปชักกำแพงปีกกา มีหลังคาพอคนอาไศรยได้ ทิศตวันออกมีทั้งข้างนอกข้างในอิกสามทิศ มีหลังคาแต่ข้างในมุมกำแพงปีกกานั้นมีหอแขวนกลอง ๒ ห อแขวนระฆัง ๒ หอ ชักกำแพงนี้ติดเข้าแล้ว แลดูบริเวณนั้นเปนสี่เหลี่ยม รอบนอกออกไปอิกชั้นหนึ่ง เปนพระระเบียงก่อรอบ ที่มุมเปนมณฑปจัตุรมุขสูงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง มีพระพุทธรูปราษฎรไปตั้งไว้บ้าง กลางย่านมีศาลา ๕ ห้อง มุขลดอิกข้างละห้อง เปน ๗ ห้อง ทั้ง ๔ ด้าน แต่ด้านน่าเจาะเปนประตู ในระหว่างจัตุรมุขมุมกับศาลากลางย่านนั้น มีที่โปรยทานเปน ๒ ชั้น ด้านละ ๒ แห่ง รวม ๕ ทิศ เปน ๘ แห่ง พระระเบียงนี้ ทำเปนอย่างโบราณ ทาดินเหลือง เปนของสร้างขึ้นในแผ่นดินปัตยุบันนี้ การที่ในองค์พระปฐมเจดีย์นั้นเสร็จแล้ว เราได้มายกยอดเมื่อปีมะเสงเอกศก แต่กระเบื้องที่ประดับนั้น หลุดลงมาเสียด้าน ๑ ข้างตวันตก การรอบนอกก็ยังค้างอยู่บ้าง แต่ที่ภูเขาอิก ๓ ด้าน นอกนั้นก็ยังแต่การช่าง เขียนปั้นรักทองยังจะทำต่อไป อนึ่งคลองเจดีย์บูชานี้ ขุดไว้สำหรับจะบูชาพระปฐมเจดีย์ แต่เปนคลองตัน ตั้งแต่ท่านามาถึงวัง แล้วเลี้ยวไปถึงวัดพระงาม ยาว ๔๔๑ เส้น ถ้ามีคลองขุดตัดมาตั้งแต่แม่น้ำอื่น น้ำก็คงจะเดินได้ดี ท่านกรมท่าได้รับไว้กำจะให้ออกมาตรวจ เมื่อตรวจได้แล้วจึงจะคิดขุดไม่ให้คลองนี้เสีย

  1. ๕๖. พระปฐมเจติยานุรักษ์ (กล่ำ) วัดพระปฐมเจติยาราม

  2. ๕๗. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์

  3. ๕๘. เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ