- คำนำ
- วันที่ ๑
- วันที่ ๒
- วันที่ ๓
- วันที่ ๔
- วันที่ ๕
- วันที่ ๖
- วันที่ ๗
- วันที่ ๘
- วันที่ ๙
- วันที่ ๑๐
- วันที่ ๑๑
- วันที่ ๑๒
- วันที่ ๑๓
- วันที่ ๑๔
- วันที่ ๑๕
- วันที่ ๑๖
- วันที่ ๑๗
- วันที่ ๑๘
- วันที่ ๑๙
- วันที่ ๒๐
- วันที่ ๒๑
- วันที่ ๒๒
- วันที่ ๒๓
- วันที่ ๒๔
- วันที่ ๒๕
- วันที่ ๒๖
- วันที่ ๒๗
- วันที่ ๒๘
- วันที่ ๒๙
- วันที่ ๓๐
- วันที่ ๓๑
- วันที่ ๓๒
- วันที่ ๓๓
- วันที่ ๓๔
คำนำ
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี มีพระประสงค์จะพิมพ์หนังสืออันประกอบด้วยสารประโยชน์เปนของแจกพิเศษในงานศพเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงนำความกราบบังคมทูล ฯ หารือสมเด็จพระบรมราชินีนารถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า หนังสือซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ยังไม่ได้พิมพ์มีอยู่หลายเรื่อง ถ้าได้พิมพ์ขึ้นไว้ให้แพร่หลายจะเปนประโยชน์ทั้งในการเฉลิมพระเกียรติยศในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โดยรักษาพระราชนิพนธ์ไว้ให้ถาวร แลจะเปนความยินดีพอใจแก่บรรดาผู้ ที่จะได้อ่านด้วย จึงได้ทรงแนะนำให้พิมพ์พระราชนิพนธ์เสด็จประพาศเมืองไทรโยคเรื่องนี้เปนของแจก.
หนังสือระยะทางเสด็จพระราชดำเนินตามลำน้ำแควน้อย แขวงเมืองกาญจนบุรีตลอดจนถึงเมืองไทรโยคฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ครั้งเสด็จพระราชดำเนิรเมื่อปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ในลำน้ำแควน้อยนี้เปนที่สนุกสนานงดงามน่าชม แต่เปนทางลำบากไปมาได้ด้วยยาก เมื่อได้เสด็จพระราชดำเนีรไปยังที่เช่นนี้ จึงทรงพระราชนิพนธ์ หมายเหตุระยะทางสำหรับชนภายหลังได้ทราบเรื่ยง แม้มิได้ไปเองก็อาจจะทราบความเปนไปของภูมิประเทศเหล่านั้นได้ ในรัชกาลที่ ๕ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนิรในแควน้อย ๔ คราว คือคราวที่ ๑ เมื่อปีรกา เบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ เสด็จพระราชดำเนิรทางชลมารคด้วยเรือกลไฟทางทเลไปขึ้นที่เมืองราชบุรี แล้วเสด็จทางสถลมารค ไปลงเรือพระที่นังที่ท่าสคร้อล่องลงมาวันเสด็จจากกรุงเทพ ฯ วันใด ค้นจดหมายเหตุไม่พบ อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ รวมระยะทางประทับแรมกี่ราตรีก็ไม่ได้ความ คราวที่ ๒ คือในปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ที่ทรงพระราชนิพนธ์นี้ เสด็จพระราชดำเนิรจากกรุงเทพ ฯ วันพฤหัศบดีที่ ๑๗ เดือนมกราคม เมื่อเสด็จกลับจากลำน้ำแควน้อยเล้วเสด็จไปประทับแรมอยู่เมืองราชบุรี จนวันพฤหัศบดีที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ รวมประทับแรม ๓๕ ราตรี คราวที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนิรเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ ออกจากกรุงเทพ ฯ วันอาทิตย์ที่ ๖ เดือนมกราคม แล้วเสด็จมาประทับแรมอยู่เมืองราชบุธีจนวันศุกรที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์เสด็จกลับกรุงเทพฯ รวมวันประทับแรม ๓๓ ราตรี ระยะทางที่เสด็จอย่างเดียวกันกับคราวที่ ๒ เว้นแต่ตำบลที่ประทับแรมเปลี่ยนแปลงไปจากคราวก่อนบ้าง.
เสด็จคราวนี้มีจดหมายเหตุระยะทางโดยสังเขป ลงในราชกิจจานุเบกษาปีชวดสัมฤทธิ์ศกนั้น น่า ๓๖๖ น่า ๓๗๔ น่า ๓๙๐ คราวที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนิรเมื่อปีรกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๗๑ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ ไปประทับแรมเมืองกาญจนบุรี แลเสด็จลำน้ำน้อยชั่วคราวเพียงลำพาชี เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ กันยายน แล้วเสด็จกลับมาประทับแรมเมืองกาญจนบุรี แล้วเสด็จเมืองเพ็ชรบุรีต่อไป คราวหลังนี้เสด็จฤดูน้ำ เรือยนตร์พระที่นั่งไปได้สดวก แลเสด็จพระราชดำเนิรในแควน้อยเพียงเวลาเดียวเท่านั้น.
ในจดหมายเหตุระยะทางนี้ มีรายวันเพียงเสด็จกลับจากลำน้ำแควน้อยมาประทับเมืองราชบุรี ต่อนั้นมาไม่มีจดหมายเหตุรายวัน เพราะประทับอยู่ประจำที่ จดหมายเหตุนี้จึงจบลงเพียงเท่านั้น ไม่มีตลอดถึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ
ตามเวลาในจดหมายระยะทางนี้ นับมาจนถึงเวลาปัจจุบันนี้ดูก็นานมากอยู่ถึง ๓๕ ปีแล้ว จนชื่อคนที่ทรงไว้ในจดหมายเหตุก็เปลี่ยนแปลงไปมาก เพื่อจะให้ผู้อ่านทราบว่าเปนผู้ใดในภายหลัง ได้ลงคำอธิบายชื่อที่ควรจะอธิบายไว้ตามน่าหนังสือนั้นด้วยแล้ว
แต่หนังสือต่าง ๆ ที่ทรงอ้างในจดหมายเหตุว่าได้คัดไว้ต่อท้ายหนังสือนี้มีหลายเรื่อง ค้นหาต้นฉบับไม่พบ จึงไม่ได้นำมาลงพิมพ์
หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ มีพระราชเสาวนี ฯ ดำรัสสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณจัดการพิมพ์ สำเร็จในรัตนโกสินทร๓ศก ๑๓๑ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๒๔๕๕ พรรษา
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทร๓ศก ๑๓๑
<สมมตอมรพันธุ์>