วันที่ ๑

พระราชนิพนธ์รยะทางเสด็จประพาศไทรโยค

ปีฉลูจุลศักราช ๑๒๓๙

๏ ในปีนี้ เดิมคิดว่าจะไปเมืองนครราชสิมา เพื่อจะไปดูทางที่ละทำเปิดการค้าขายเป็นทางเกวียนฤๅทางตรัมเว ได้ให้พระยาปลัดออกไปเมืองชวา ดูทางตั้งแต่ซำมรังไปโซโลที่เราได้ไปเห็น แลเขาแจ้งความว่าเดี๋ยวนี้มีทางรถไฟขึ้นใหม่อีกมาก พระยาปลัดได้กลับขึ้นไปเมืองนครราชสิมา แต่การที่เตรียมนั้นค้างไป เพราะปีนี้ฝนต้นมือแล้ง เข้าที่เมืองนครราชสิมาราคาแพงถึงห้าตำลึง เแต่ถ้าชาวบางกอกหนุ่ม ๆ ชนิดตัวเราเองได้ยินว่า เข้าราคา ๕ ตำลึงแล้วไม่รู้สึกว่าเข้าแพงเลย แต่ท่านผู้ใหญ่ท่านว่าเข้าที่บางกอกแต่ก่อนถูกเดี๋ยวนี้แพงนัก การซึ่งเปนดังนี้เพราะบางกอกเราแต่ก่อนเหมือนเมืองนครราชสิมา คนทำนากินแต่เฉภาะปี เมื่อเข้าถูกบางทีถึงเกวียนละ ๖ บาท ถ้าฝนแล้งสักปี ๑ เข้าจะแพงถึงชั่งหนึ่งชั่งเศษ เพราะเข้าทำกินเฉภาะปีเดียว เมืองนครราชสีมายังคงเปนอยู่เหมือนบางกอกแต่ก่อน เพราะไม่มีทางจำหน่ายไปเมืองอื่น เมื่อเข้าแพงดังนี้เปนเวลาไม่สมควรที่เราจะขึ้นไป เพราะจะเปนที่ลำบากแก่ไพร่พลนัก ด้วยตัวเข้าที่เมืองนครราชสิมามีน้อย จึงสั่งให้บอกเลิกเสีย เปนแต่พระยามหาอำมาตย์ขึ้นไปแล้วกลับหน้ามาข้างทิศตวันตก ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาได้ชวนไว้ช้านานว่า ในลำแม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเราได้เที่ยวครั้งก่อนคราหนึ่งแล้วนั้น ต่อขึ้นไปสนุกมากกว่าข้างต้น จึงได้ตกลงกันกับสมเด็จเจ้าพระยา ในสามเดือนก่อนที่เราจะมานี้ เปนธุระใหญ่ของท่านที่จะจัดการรับรองในเดือน ๑๒ นั้น สมเด็จเจ้าพระยาได้ออกไปถึงไทรโยคคราวหนึ่ง ท่านบอกว่าต้องเหนี่ยวต้นตะไคร้น้ำขึ้นไปด้วยน้ำยังแรงมากเปนการลำบาก แต่ไม่มีใครที่จะไปมาเร็วเหมือนอย่างเช่นสมเด็จเจ้าพระยาได้ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ตระเตรียมการที่จะไป ได้ยินพูดถึงการเรื่องนี้บ่อยขึ้นตามลำดับจนถึงใน ๑๕ วัน ได้ยินพูดถึงเรื่องนี้แทบทุกวัน ในการรักษาวังคราวนี้้ เปนเวลาไม่มีผู้ใหญ่ที่เคยรักษา สมเด็จเจ้าพระยา ไปอยู่กาญจนบุรี คุณสถรวงษ์ ไปรับพระแท่น ท่านกรมท่า อยู่พระปฐม สมเด็จกรมพระท่านกลาง เตรียมจะมาตาม ท่านภูธราภัย ท่านธรรมา เจ็บ ท่านยมราช ชรา พระยาราช ต้องขึ้นมาจ่ายเข้าตามทาง หมดเจ้านายผู้ใหญ่แลเสนาบดี ครั้นจะเกณฑ์ให้สมเด็จกรมพระท่านอยู่ ท่านก็ได้ขอมานานแล้ว ว่าถ้าให้อยู่บางกอกคงตายเปนแน่ เพราะสมเด็จพระเดชา แลสมเด็จองค์น้อย เปนตัวอย่าง แล้วท่านมีธุระอยู่ในการต้องจัดช้าง แลจะได้เปนผู้ใหญ่มาด้วย จึงเกณฑ์ให้ท่านกลางอยู่ ทั้งเธอได้ตระเตรียมครอบครัวพร้อมแล้วดังนั้น จะได้เปนผู้จัดการในพิธีแลราชประเพณีต่าง ๆ แลรักษาวัง ได้มอบให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์๑๐ แลเจ้าพระยามหินทร์๑๑ เปนผู้รักษาบ้านเมือง เยอแนลของเราตั้งหนึ่งแต่วันนี้ คือวัน ๕ ๑๔ ๒ ค่ำ แต่ในครั้งนี้ เราจะไม่มีความอุสาหจดชื่อผู้มาด้วยเหมือนเมื่อครั้งไปจันทบุรีคราวก่อน เพราะต่างคนต่างมีเรือมากนัก จะจดแต่เรื่องของเราคนเดียว เวลาโมงเศษ เราได้ทำการตามเคยที่จะไปแลพบเจ้านายผู้หญิงพร้อมกัน มีลูกขุนมากกว่าทุกคราว ที่ตำหนักแพมีขุนนางมาส่งประมาณสัก ๓๐ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย สั่งเสียการเล็กน้อยตามเคย แล้วลงเรือได้ออกเวลา ๒ โมงเศษนิดหน่อย มาเข้าคลองบางกอกน้อย เรือที่เรามาเหมือนเรือปิกนิกสำหรับเรือไฟลากสบายเท่ากัน ในคลองบางกอกน้อย ละไม่ต้องพูดถึงมาก เพราะใครอยากเห็นก็ดูได้ง่าย มีวัดที่เรารู้จักคือวัดสุวรรณ วัดศรีสุดาราม เปนต้น มาถึงปากคลองมหาสวัสดี วัดไชยพฤกษมาลา เวลา ๒ โมง ๕๔ นาที คลองมหาสวัสดีตวันออก ไปตวันตกตรง ถัดปากคลองเข้ามาหน่อยหนึ่ง น้ำลึกสามศอกคืบ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ คลองคงกว้างประมาณ ๖, ๗, วา ในตอนปากคลองนั้น แลดูสองข้างทาง มีต้นตาลเปนหมู่นับด้วยร้อยด้วยพันทั้งสองฟาก ต่อมามีทุ่งนาแลไกล ๆ เห็นต้นตาลห่าง ๆ น้ำในคลองข้างตอนปากคลองริมวัดไชยพฤกษ์ หยั่งน้ำได้ลึกสามศอกคืบ ตั้งแต่หลัก ๒๐๐ มาแลเห็นคราบน้ำลดลงสามนิ้ว แต่น้ำในท้องคลองลึกถึง ๔ ศอก ตั้งแต่หลัก ๓๐๐ มา คราบน้ำลดห้านิ้วหกนิ้วเศษ น้ำในท้องคลองลึกเพียง ๒ ศอก ๑๘ นิ้ว ตั้งแต่ก่อนน่าจะถึงนากรมหมื่นมเหศวรหน้อยหนึ่ง เปนที่ตื้นมากตลอดไปจนหลัก ๔๐๐ เกือบถึงหลัก ๕๐๐ คราบน้ำมีอยู่ ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว น้ำลึกอยู่เพียง ๒ ศอก ๒ ศอกคืบหย่อนบ้าง ในระยะนี้เปนน้ำตื้นที่สุดเพราะเปนที่น้ำชน ได้ปฤกษาพร้อมกับคุณสุรวงษ์ คิดจะแก้ไม่ให้คลองนี้เสีย คุณสุรวงษ์ได้ให้ออกมาทำแผนที่ในระหว่างกลางคลองมหาสวัสดีแลคลองภาษีเจริญต่อกัน ได้เปนระยะทาง ๓๐๐ เส้นเศษ จึงคิดขุดคลองตั้งแต่พ้นหลัก ๓๐๐ มา เส้น ในคลองมหาสวัสดีไปทลุออกที่คลองภาษีเจริญ ตั้งแต่หลัก เส้น กลองนั้นได้ขุดในปีนี้ กว้าง ลึก ราคาเส้นละ ชั่ง เมื่อเรามาถึงปากคลองเวลา ๕ โมงเกือบจะครึ่ง เห็นคลองนั้นได้เปิดมีน้ำเต็ม ขุดเหนือไปใต้ เพราะเห็นว่าถ้าเวลาน้ำขึ้น น้ำคลองภาษีเจริญขึ้นก่อน คงจะไหลมาตามคลองนี้ถึงคลองมหาสวัสดี ถ้าเวลาน้ำลงฤๅน้ำเหนือมา น้ำในคลองมหาสวัสดีคงไหลลงทางคลองที่ขุดตัดนี้แรง เลนในกลางคลองที่ตื้นก็จะค่อยบางลง จะแก้ให้หายตื้นได้ทั้ง ๒ คลอง แต่การที่หมายนี้จะได้สมคิดแน่ฤๅไม่ได้ ยังรับประกันไม่ได้ ในที่นี้แขวงเมืองนนท์แลเมืองนครไชยศรีต่อกัน เรือแจวลำบากจึงให้กระบือลากมาจนจวบถึงหลัก ๕๐๐ น้ำลึก ๓ ศอกคืบ แต่ยังเห็นคราบน้ำอยู่ประมาณสัก ๔ นิ้ว จึ่งได้ลงมือแจกเรือต่อมา เมื่อเกือบจะถึงปากคลองยังสัก ๕๐ เส้้นเศษ น้ำลึก ๔ ศอก เมื่อใกล้ปากคลองลึกถึง ๕ ศอก วัดน้ำในคลองที่มาวันนี้เปนเวลากำลังน้ำขึ้นมาก ตลอดจนกระทั้งถึงแม่น้ำท่าจีน เมื่อออกมาตั้งแม่น้ำแล้วยังต้องแจวเรือมา ตลอดตถึงเรือปิกนิกจอดที่ปากคลองเจดียบูชา ตามหนทางที่มาในคลองสองฝั่ง พ้นจากต้นตาลหมู่ใหญ่ที่ได้ว่าแล้วข้างต้นมา มีแต่ทุ่งนากับต้นไม้ริมคลองบ้าง ต้นไม้ในกลางทุ่งมีบ้างน้อย ๆ ไม่หนา ไม่มีต้นใหญ่ ต้นมะม่วงมีอยู่แห่งเดียวที่ได้แลเห็น ในระหว่างทางนั้นมีโรงนาแห่งละโรงบ้างสองโรงบ้าง ห่างกัน ๙ เส้น ๑๐ เส้น ๒๐ เส้น เปนแต่โรงเล็ก ๆ โดยมาก ที่มีโรงนาดังนั้นมีต้นกล้วยแลต้นนุ่นกับต้นไม้อื่นๆ บ้างเล็กน้อย ที่ต้นมะม่วงว่าเมื่อกี้นั้น คือนาท่านเล็ก๑๒ นมคล้ายมายืนอยู่ที่หัวตะพาน มีต้นไม้มากกว่าทุกแห่ง ในท้องนามีแต่หญ้าแห้งฤๅตอเข้าแลดูไม่งามเลย มีกลิ่นอายดินที่ถูกร้อนเข้าจมูกบ้างเปนบางคราว เมื่อเรือเกือบจะถึงปากคลองแลเห็นต้นตาลอิกบ้าง แต่ไม่มากเหมือนปากคลองข้างโน้น ข้างขวามือริมปากคลองทีเดียว มีหนองบัวอยู่ข้างจะใหญ่ แต่ไม่แลเห็นขอบหนองข้างริมน้ำด้วยเปนน้ำลบฝั่ง มีเรือนอยู่สัก ๒ เรือน ๓ เรือน ปากคลองข้างใต้เปนด่าน มีเรือนต่อกันไปตามลำน้ำประมาณ ๑๔ หลัง ๑๕ หลังเรือน เรือออกจากปากคลองแล้วล่องลงไปข้างใต้ตามระยะทาง พบแพไม้ไผ่ป่า ๒ แห่ง ๆ แรกสัก ๑๖ แพ ๑๗ แพ แห่งที่ ๒ สัก ๒๔ แพ ๒๕ แพ ตรงปากคลองข้ามฝั่งตวันตกมีสวนกล้วยเปลือกบางเปนสวนใหญ่ ที่ต้นโตแล้วก็มี ที่พึ่งปลูกใหม่มีมาก เปนแต่ฟันดินไว้แล้วก็มี สวนนี้ตามทางมาเปนใหญ่กว่าทุกแห่ง ต่อมาก็มีบ้างเปนคราว ๆ ที่ฟันดินทำเปนที่ปลูกนั้นบ้างปลูกอ้อยบ้างก็มี แต่ไร่อ้อยข้างบนดูเหมือนจะมีน้อยทีเดียว เราได้เห็นแต่แห่งหนึ่งสองแห่ง ดูเปนอ้อยเซีย ๆ ไม่งาม ด้วยในปีนี้ฝนต้นมือน้อย ผู้ที่ทำไร่อ้อยเห็นจะไม่ได้ดีเปนแน่ จะเปนการช่วยให้โรงหีบของเราร่วงโรยลง ได้ถามพระยานครไชยศรี๑๓ ก็ว่าเสียมาก เมื่อมาตามทางมีบ้านจีน ๒ แห่ง ๓ แห่ง แต่เห็นจะไม่ใช่โรงหีบ เปนแต่ที่ทำหวดทำไหกองอยู่ ตามระยะทางที่เปนที่สวนที่ไร่มีลำกระโดง ราษฎรขุดกว้างประมาณ ๖ ศอก ๖ ศอกเศษหลายลำพบบ่อย ๆ มีวัดใต้ปากคลองมาหน่อยวัดหนึ่ง ต่อมาตามระยะทางอิก ๒ วัด มีที่เลี้ยงกระบือแห่งหนึ่ง มีกระบือประมาณ ๗๐-๘๐ อนึ่งไม้ไผ่นั้นมาแต่เมืองสุพรรณโดยมาก ที่ในเมืองนครไชยศรี มีมากอยู่ในที่บางหลวง ถ้าน่าน้ำเข้าทางคลองมหาสวัสดีไปกรุงเทพ ฯ ถ้าน่าแล้งต้องไปทางคลองท่าจีน ด้วยคลองภาษีเจริญห้ามไม่ให้แพไม้ล่องทางนั้น เพราะเปนเหตุชวนให้ตื้นเร็ว แลกีดทางเรือเดินไปมาด้วย มาถึงปากคลองเจดียบูชาที่เรือปิกนิกจอดเวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง ปากคลองข้างเหนือ มีหมู่บ้านเขมรครัวปนจีนขึ้นกรมมหาดไทยตั้งอยู่หลายสิบหลังเรือน ที่เรือจอดนั้นใต้ปากคลองลงมา ที่ฝั่งมีเรือนเหมือนกัน เแต่สะใบมะพร้าวบังเสียตลอด เรือที่จอดนั้นปิกนิกลำกลางจอดน่าข้างเหนือ ลำเล็กต่อลงมาข้างใต้ เรือที่เรามาจอดแอบกับลำเล็ก ข้ามแคมตวันออกต่อไปข้างใต้เปนข้างใน ข้างเหนือเปนข้างน่า เมื่อมาถึงเรือแล้ว พระยานครไชยศรี แลพระสยามพลภักดี๑๔มาหา ได้พูดถึงการต่าง ๆ ในเมืองนครไชยศรี กินเข้าแล้วชวนเขาลงเรือ ไปดูข้างล่างต่อไปอิกบ้าง ตัวเราลงเรือแหวด ๔ แจวกับเทวัญ๑๕ เล็ก กาพย์๑๖ กรมนเรศ๑๗ ไปเรือลำหนึ่ง เมื่อลงไปยังไม่ถึง ๒๐ เส้น ถึงโรงสุราอยู่ปากคลองบางแก้วข้างเหนือ มีเรือนโรงประมาณ ๑๕ หลัง ๑๖ หลัง โรงสุรานั้นก็สกปรกเหมือนโรงสุราทั้งปวง ในน้ำมีแพหลังหนึ่ง ปากคลองแง้มข้างใต้วัดโพธาราม มีเรือเปนร้านขายของเรียกเรือชำเหมือนในคลองบางกอกน้อย จอดต่อ ๆ กันไป ๖ ลำ แต่เราไม่ได้แวะไปดูว่าจะมีสิ่งไรขายบ้างในเรือนั้น เว้นไปอิกมีวัดอิกวัดหนึ่ง พระยานครไชยศรีบอกว่า ชื่อวัดสุประดิษฐาราม เปนของพระยานครไชยศรีคนเก่า ๆ ได้ทำไว้ ต่อไปนั้นบ้านพระยาจางวางที่ตาย มีเรีอนฝากระดานบ้างฝาจากบ้าง ๖ หลัง ๗ หลังเก่าคร่ำคร่ามาก เว้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ถึงบ้านพระยานครไชยศรีปัตยุบันนี้ ทำอย่างใหม่ย่อมเลิกธรรมเนียมที่ตั้งเรือนริมน้ำ ถอยเข้าไปตั้งห่างตลิ่งมีกำแพงก่ออิฐ เรือนหลังคามุงกระเบื้อง มีประมาณสัก ๖ หลัง แต่จะเปนตึกทั้งนั้นฤๅฝาขัดแตะบ้างไม่ทราบ แต่เห็นฝาขาวขาวที่น่าบ้านนั้นมีบ้านอื่น ๆ อิก จะเปนกรมการฤๅกระไรอิก ๓ หมู่ ทั้งหมดประมาณสัก ๑๔ หลัง ๑๕ หลัง ในแถบนี้เรียกว่าบ้านปากน้ำ เจ้าเมืองกรมการเมืองนครไชยศรีไม่ได้ถือน้ำในวัดที่ออกชื่อมาแล้ว ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านเขา ต้องไปถือน้ำถึงพระปฐมเจดีย์ แต่แผ่นดินทูลกระหม่อมมา เราลงไปพ้นบ้านพระยานครไชยศรีหน่อยหนึ่ง ห่างจากเรือที่จอดประมาณสัก ๓๐ เส้น แล้วแจวกลับขึ้นมา พบท่านกรมท่ามาหาพูดกันด้วยทางแลราชการบ้าง จนเวลาจวนพลบ จึ่งมาอาบน้ำ ในเวลานี้น้ำในแม่น้ำกร่อยแล้วทั้ง ๒ แม่น้ำ คนคงจะต้้องกินน้ำเค็มมาก ด้วยฝนน้อย อนึ่งเธอมอเมตเตอร์ในวันนี้เมื่อเวลาเช้าโมง ๑ เทวัญว่า ๗๖ ดิกรี ฟาเรนเฮก มาในเรือ เวลา ๔ โมงเช้า ๘๒ ดิครี ในเวลาเที่ยง ๘๗ ดิครี บ่ายลงก็ลดลงนิดหน่อยไม่มาก จนเวลา ๒ ทุ่มมี ๘๒ ดิครี อนึ่งในข้างต้นเราว่าจะไม่ร่ำถึงชื่อคนที่มาด้วย แต่ในที่นี้จะต้องว่าถึงคนที่มาในเรือที่นั่ง ๒ คน ๓ คน เจ้านายมีแต่ท่านเล็ก แลกาพย์กับเทวัญ กรมนเรศด้วยแต่มาไม่ทัน มหาดเล็ก พระยาภาษ๑๘ สรรพเพช๑๙ พระยามนตรี๒๐ มาไม่ทัน หลวงนายฤทธิ์๒๑ อ้ายจันทร์๒๒ อ้ายแสง๒๓ กับเครื่องต้นคนหนึ่ง หมดด้วยกันเท่านั้น เวลา ๒ ทุ่มกินเข้า สวัสดิ์๒๔ โสณ๒๕ วรวรรณ๒๖ มากินเข้าด้วย ระยะทางวันนี้ตาม

พันจันทนุมาศ๒๗ ยื่นมหาดเล็กมีจำน วนทางชลมารค แต่ท่าราชวรดิษฐถึงปากคลองบางกอกน้อย ๒๘ เส้น แต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองตลิ่งชัน ๖๘ เส้น แต่ปากคลองตลิ่งชันถึงปากคลองมหาสวัสดี ๓๔ เส้น แต่ปากคลองมหาสวัสดีถึงปากคลองบางไผ่ ๑๔๔ เส้น แต่ปากคลองบางไผ่ถึงปากคลองมหาสวัสดีข้างตวันตก ๕๕๑ เส้น แต่ปากคลองมหาสวัสดีข้างตวันตกถึงปากคลองเจดียบูชา ๑๒๑ เส้น รกม ๙๔๖ เส้น จดหมายรายโมงเรือเดินเวลาวันนี้ ตั้งแต่ตำหนักแพถึงคลองมหาสวัสดิ์ ๑๓๐ เส้น เรือมา ๔๘ นาที แต่ปากคลองถึงหลัก ๓๐๐ สองชั่วโมงกับ ๖ นาที คิดเฉลี่ยในระยะ ๓๐๐ เส้นนี้ เรือเดิน ๔๒ นาทีต่อ ๓๐๐ เส้น ตั้งแต่ ๓๐๐ เส้นถึง ๔๐๐ เส้น แจวบ้างลากด้วยกระบือบ้าง ๕๑ นาที ตั้งแต่ ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ ลากด้วยกระบือบ้างแจวบ้าง ๖๑ นาที ตั้งแต่ ๕๐๐ ถึงปากคลองโมง ๑ กับ ๑๕ นาที ตั้งแต่ปากคลลงมหาสวัสดี มาตามลำแม่น้ำถึงปากคลองเจดียบูชา ๑๒๑ เส้น แจกทวนน้ำแรงถึงโมง ๑ กับ ๒๐ นาที ในบรรดาที่มานี้ตอนต้นเร็วแล้วทีหลังช้าลงทุกที เพราะเมื่อมาตามน้ำแล้วคนยังไม่เหนื่อย มาทีหลังทวนน้ำแล้วคนเหนื่อยเข้าช้าลงตามลำดับ ถ้าจะคิดแต่ในคลอง ๖๙๕ เส้น ถัวเปนโมงเสมอกัน เรือเดินอยู่ ๑๐๐ เส้นต่อ ๔๑ นาที เปนโมงละ ๑๔๖ เส้น ๕ วา คิดทั้งแม่น้ำสองข้างจนถึงปากคลองเจดียบูชาถัวกันทาง ๙๔๖ เส้น มา ๗ โมง ๒๑ นาที คิดเฉลี่ยมา ๑๐๐ เส้นต่อ ๔๙ นาที คงเปนเรือเดินโมงละ ๑๒๒ เส้น ๑๐ วา ทางที่มาจนตลอดถึงที่พักไม่มีต้นไม้ ฤๅที่แผ่นดินงามที่ละอยู่สบายสักแห่งหนึ่งเลย ถึงบ้านช่องก็ดูคร่ำคร่าแลคับแคบไม่น่าสบายสักแห่งเดียว ไปเรือนอนเวลา ๔ ทุ่ม

  1. ๑. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง)

  2. ๒. เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร)

  3. ๓. เจ้าพระยาภาณุวงษ์ (ท้วม)

  4. ๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์

  5. ๕. สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์

  6. ๖. เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช)

  7. ๗. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (มั่ง)

  8. ๘. เจ้าพระยายมราช (เฉย)

  9. ๙. เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด)

  10. ๑๐. เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ)

  11. ๑๑. เจ้าพระยามหินทรธำรงศักดิ์ (เพ็ง)

  12. ๑๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช

  13. ๑๓. พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (สว่าง)

  14. ๑๔. พระสยามพลภักดี ปลัดเมืองนครไชยศรี

  15. ๑๕. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระเทววงษ์วโรประการ

  16. ๑๖. พระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน

  17. ๑๗. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์

  18. ๑๘. เจ้าพระยาภาษกรวงษ์ (พร)

  19. ๑๙. เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต)

  20. ๒๐. พระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น)

  21. ๒๑. หม่อมราชวงษเล็ก (ศรีสรรักษ)

  22. ๒๒. พระยาศิริสัตยสถิตย์ (จันทร์)

  23. ๒๓. นายแสง (เปนมหาดเล็ก ภายหลังออก)

  24. ๒๔. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์

  25. ๒๕. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

  26. ๒๖. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์

  27. ๒๗. หลวงสุนทรพิมล (ทิน)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ