- คำนำ
- วันที่ ๑
- วันที่ ๒
- วันที่ ๓
- วันที่ ๔
- วันที่ ๕
- วันที่ ๖
- วันที่ ๗
- วันที่ ๘
- วันที่ ๙
- วันที่ ๑๐
- วันที่ ๑๑
- วันที่ ๑๒
- วันที่ ๑๓
- วันที่ ๑๔
- วันที่ ๑๕
- วันที่ ๑๖
- วันที่ ๑๗
- วันที่ ๑๘
- วันที่ ๑๙
- วันที่ ๒๐
- วันที่ ๒๑
- วันที่ ๒๒
- วันที่ ๒๓
- วันที่ ๒๔
- วันที่ ๒๕
- วันที่ ๒๖
- วันที่ ๒๗
- วันที่ ๒๘
- วันที่ ๒๙
- วันที่ ๓๐
- วันที่ ๓๑
- วันที่ ๓๒
- วันที่ ๓๓
- วันที่ ๓๔
วันที่ ๒๔
วัน ๗ ๗ฯ ๓ ค่ำ ออกเรือโมง เวลาเช้านี้เทอมอเมตเตอรลดลงไปได้เปน ๗๕ พอออกเรือพ้นพลับพลามาหน่อยหนึ่ง มีที่งามคล้าย ๆ ในแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง เพราะมีเกาะกลางน้ำหลายเกาะ มีต้นตะไคร้น้ำขึ้นเขียวเต็มทั้งเกาะสลับกันอยู่ เรือไปในระหว่างกลางเกาะทั้งปวงนั้น พอเรือถึงวัดท่าตะคร้อ แต่มีไร่ท่าตะคร้อแม่น้ำน้อย เปนท่าตะคร้้อแม่น้ำใหญ่ พระลงมาไชยันโต แต่ไม่ใช่แต่วัดท่าตะคร้อวัดเดียว ทุกๆวัดที่ผ่านลงมา คงจะมีแพฤๅโรงปลูกบนหาดทรายบ้าง ในน้ำตื้น ๆ บ้าง พระลงมาคอยไชยันโตทุกแห่ง ที่บ้านท่าตะคร้อมีผู้หญิง ๕ คน เปนคนแก่ ๆ ทั้งนั้น ลงมายืนอยู่ในกลางแม่น้ำ ริมร่องน้ำที่เรือเราผ่านไป น้ำท่วมเพียงอก มีกระจาดทูลหัวทุกคน เราให้คนไปถามว่ามายืนทำไม บอกว่าหยากเห็นพระเจ้าปราสาททอง แก่แล้วกลัวจะตายเสียจะไม่ได้ทันเห็นอิก ของที่ในกระจาดนั้นถวาย เราให้รับของมาเห็นมีผักแลแตงบ้างเล็กน้อย แจกเงินให้ยกขึ้นทูลหัว ที่ใครยังไม่ได้ทูลหัวก็เตือนกันให้ทูลหัวดูดีเนื้อดีใจมาก เรือมาพ้นนั้นถึงบ้านศีศะพง ก็มีคนแก่เอาของมาให้อิก ถึงแสนตอสามโมงครึ่ง มาอิก ๑๕ มินิต ถึงท่าสร้างมีบ้านหมู่หนึ่ง เรือนใหญ่มีต้นมะพร้าวมาก ถึงท่าเรือพระแท่นพอ ๔ โมง มีบ้านเรือนราย ๆ ที่ตรงท่าขึ้นนั้นมีทำเนียบ เห็นจะเปนทำเนียบคุณสุรวงษ์ เมื่อย่ำเที่ยงมาถึงบ้านพงตึก มีโรงหีบอยู่หมู่ ๑ เห็นโรงยอดแหลม ๓ โรง มีโรงใหญ่ๆ สำหรับคนอยู่ แลเรือนบ้างประมาณ ๑๑ หลัง ๑๒ หลัง ใต้ลงมาอิกหน่อยหนึ่ง ก็มีโรงหีบอิกโรง ๑ มีโรงยอดแหลมอยู่ ๒ โรง มีโรงคนอยู่บ้างคล้าย ๆ กับทีก่อน แต่น้อยกว่านั้น โรงหีบทั้ง ๒ โรงนี้ตั้งอยู่ฝั่งข้างขวามือขาลงมา ว่าเปนโรงของหมื่นสาสนา๑๓๒โรงหนึ่ง อ้อยที่หีบนั้นใช้อ้อยแดง ปลูกในแขวงราชบุรีว่ามีตั้งแต่พงตึกไปจนถึงอ่างทอง ให้นายรองพลพันขึ้นไปดู ได้อ้อยแลน้ำตาลลงมาให้ดู แต่เขาไม่ใคร่จะบอกการที่ทำให้ฟัง อ้อยที่เอามานั้นไม่เห็นค่อยจะหวานนัก น้ำตาลเห็นจะสู้นครไชยศรีไม่ได้ มาตามทางพบกระบือลงน้ำบ่อย ๆ ถึงพลับพลาประทับร้อนบางพัง บ่ายโมง ๔๐ มินิต แวะจอดเรือเข้าไปในปรำ พลับพลานี้พระภักดีดินแดน๑๓๓ มาทำ ที่สำรองนั้นพระยกรบัต๑๓๔ เปนผู้ทำ ท่วงทีก็คล้าย ๆ กัน เปนแต่ลดที่ข้างใน ๒ หลังนั้นเปนปรำ มีกรงที่อาบน้ำแลเบ็ดสำหรับตกปลา เราหยุดอาบน้ำแลแจกกล้วยอ้อยฝีพายชั่วโมง ๑ ตรงแลออกเรือต่อมา วันนี้มีลมพัดแรงมาตรงน่าเรือ ตั้งแต่ประทับร้อนนี้ไปจนเกือบถึงโพธาราม ตั้งแต่นี้ไปต้นไม้ใหญ่ยิ่งน้อยนัก เข้าไม่ใคร่จะแลเห็นมีบนฝั่งเลย เขาว่ามีในเข้าไป ที่ริมน้ำเปนไร่อ้อยไร่แตงต่าง ๆ ตลอดที่ตรงวัดปลักแรดข้ามเห็นมีเพไม้มาจอดอยู่มาก บนหลังแพครกตั้งแดงไปทั้งนั้น ถามเขาว่าเอามาจากไหน เขาว่าครกนี้มีที่ทำอยู่แห่งหนึ่ง ที่เกาะจิกแขวงเมืองราชบุรีนี้เองเปนที่มีไม้ใหญ่มาก ราษฎรตัดไม้แดงมาทำครกขายอยู่ช้านานมาแล้ว ถ้าแพไม้ล่องมาถึงนั่น ก็มักจะรับครกมาด้วย ถึงบ้านบางยางเกือบ ๔ โมง มีบ้านอยู่ ๒ หมู่ใหญ่ ๆ มีเรือนมากที่บ้านโรงหีบมีเรือนฝากระดานหมู่ บนตลิ่งเห็นกล้วยเขียว ๆ กองอยู่หลายกองสูงๆ ที่ในลำน้ำนี้มีกล้วยมากนัก ที่ขายสด ๆ ไปก็มาก เหลือขายตากแห้ง ขายจนขึ้นชื่อเปนกล้วยตากเมืองราชบุรี ที่บ้านโป่งมีโรงบ่อนกำลังมีหุ่นจีนอยู่ แล้วมีโรงจีนอยู่เปนแถวยาวๆ ต่อไปก็โรงหีบทำน้ำตาลอิกโรง ๑ สามโมงครึ่งถึงบ้านเบิกไพร มีเกาะอยู่กลางน้ำ ฝั่งข้างซ้ายมือต้นไม้หนา เปนต้นมะม่วงต้นขนุน ข้างท้ายเกาะริมฝั่งข้างขวามือศาลเจ้าเบิกไพร เมื่อมาคราวก่อนเรามาไม่ได้แวะ เปนแต่ส่งธูปเทียนขึ้นไปบูชา คราวนี้ตั้งใจว่าจะแวะขึ้นไปคำนับ แลไปดูด้วยเปนที่ศักดิ์สิทธิ์คนนับถือ เมื่อเราขึ้นบกนั้น ๓ โมง ๕๐ มินิต แล้วมีศาลเก่าฝากระดานหลัง ๑ อยู่ข้างน่ามุงจาก มีต้นคัดค้าวเลื้อยขึ้นเกาะต้นไม้ใหญ่ เปนเซิงอยู่บนศาล ข้างหลังมีเรือนจีนฝากระดานหลังคามุงกระเบื้อง ๒ หลังแฝด มีโรงผู้รักษาติดกับอยู่ข้างศาลมีจีนรักษาอยู่ ๓ คน ที่ตามลานศาลนั้นมีต้นมะพลับใหญ่ ๆ หลายต้น ไก่เดินไขว่ไปทั้งศาล ขึ้นไปไข่ไว้บนศาลใหม่ ๆ ก็มี โปรยเข้าสาลให้กินเข้ามากินใกล้ทีเดียว บูชาแล้วกลับลงเรือ ๔ โมงครึ่ง ออกเรือมาอิกหน่อยหนึ่ง เห็นฝ้ายกองอยู่ริมตลิ่ง เขาว่าแถบนี้เปนไร่ฝ้ายมาก คราวที่ลูกค้ามารับ ผ่านวัดโพมาบ่าย ๕ โมง ที่คุ้งพยอมมีต้นงิ้วริมฝั่งตลอดทีเดียว ต่อมาถึงวัดตาลมีโพงน้ำเหมือนอย่างโรงเหล้า เขาว่าที่นั่นปลูกพลูทั้งวัด ตั้งแต่นี้ไปเปนบ้านมอญทั้งสองฟากน้ำ พระที่มาไชยันโตริมน้ำก็สวดมอญตลอดมา มีไทยคั่นบ้างเล็กน้อย วัดนครชุมเปนวัดใหญ่ บ้านก็มีเรือนฝากระดานหลายหลังตั้งอยู่ริมหาดทั้ง ๒ ฟากน้ำหลายสิบหลัง ตั้งแต่นี้มาดูบ้านคนถี่ขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เรือนฝากระดานก็มีชุม แต่มักจะปลูกขวางแม่น้ำ เหมือนอย่างเช่นที่ปากเกร็ด เห็นจะเปนธรรมเนียมพวกมอญใช้อย่างนั้น ที่นี่เราได้รับหนังสือท่านกลาง ๒ ฉบับ คนที่ถือนั้นพาเดินบกมา หมายว่าจะให้เร็ว ถึงดังนั้นหนังสือออกจากกรุงเทพ ฯ ถึง ๗ วันแล้วจึงได้รับ ถัดวัดสร้อยฟ้ามาหน่อยหนึ่งถึงปากคลองประคต ดูก็กว้างอยู่แต่ปากคลองเขินน้ำ เขาว่าน้ำข้างในมี มาถึงนี่นาฬิกาเราย่ำค่ำครึ่งแล้ว ตั้งแต่บางเลามามีกองไฟริมน้ำทั้งสองฟาก จนตลอดถึงบ้านโพธาราม กว่า ๒๐ กอง ที่ตรงนั้นเรือเราเดินเหวี่ยงร่องไปหน่อยหนึ่ง ติดทรายคนต้องลงเข็น ตรงน่าวัดคงคา เปนวัดที่พระครูรามัญญาธิบดี๑๓๕อยู่ ปลูกโรงลงมาในกลางแม่น้ำ เปนสามร้านติดกัน ที่ตรงกลางนั้น มีกรงกวางกรงหนึ่ง สองข้างผูกภูเขาแขวนโคม ตั้งจานลูกไม้ผูกใบไม้ มีพิณพาทย์มอญตีอยู่หลังโรงนั้นสำหรับหนึ่ง พระสงฆ์ลงเรือมาคอยสวดไชยันโต เวลานี้มืดเกือบจะไม่เห็นอะไรทีเดียว ต้องให้คนลงเรือเล็กไปดูจึงได้ความเลอียด นาฬิกาเราเปื้อนมากหนักเข้าทุกทีเกือบทุ่ม ๑ แล้วจึงได้มืด มาถึงวัดไทรวัดม่วงตรงกันข้าม มีโคมแขวนที่พระสงฆ์มาสวดทั้ง ๒ วัด แต่วัดม่วงโคมน้อยกว่าวัดไทร ถึงพลับพลาบ้านโพธารามทุ่ม ๑ หลวงสิงหฬ๑๓๖พาพระยกรบัตร๑๓๗เมืองตากมาหาด้วย พระศรีธรรมสาสน๑๓๘ ก็ถือหนังสือท่านกรมท่ามา เรือเมล์มาได้รับหนังสือพระยาราชรองเมือง๑๓๙ พระอินทรเทพ ทั้งข้างในกรุงแลหัวเมือง ต้องอ่านหนังสือมาก เขียนหนังสือตอบท่านกลาง แลให้พระยามหามนตรีช่วยตอบพระอินทรเทพ พระยาราชรองเมือง แต่พระศรีธรรมสาสนนั้น ขอผัดไปไว้ตอบที่ราชบุรี พระชลธารพาจีนนายอำเภอแลเถ้าแก่เอาของมาให้ เมื่อถึงพลับพลาคุณสุรวงษ์มารับทุกพลับพลา ที่นี่พบพระยาพิไชยชาญฤทธ์ พระยาราชบุรี๑๔๐ แลกรมการอื่น ๆ ด้วย พลับพลานี้เปนของพระยาราชบุรีทำ หันน่าตรงตวันตก พลับพลาที่สำรองแลที่โพธารามนี้ทำเหมือนกันทีเดียว ท่วงทีก็เหมือนแต่ก่อนเปนสามหลังเรียง ๆ กัน แต่คราวนี้ตั้งอยู่ในน้ำ ไม่มีแคร่ ชานหน้าเหมือนพลับพลาในแม่น้ำน้อย ด้วยที่นี่แม่น้ำกว้าง แลทำฝาโถงไม่เปนที่นอน เปนแต่ที่พัก พลับพลาทั้ง ๓ หลังสามห้องเฉลียงรอบเท่ากัน ในระหว่างพลับพลาต่อพลับพลาชักปรำมีตะพานถึงกัน รยะละ ๑๕ วา ข้างในตะพานเปนที่น้ำตื้นเล่นน้ำได้ ในระหว่างพลับพลาต่อพลับพลาต่อกันน้ำไหลเชี่ยว มีแคร่ที่สำหรับเราอาบน้ำ แลแคร่สูงเสมอปากเรือเปนที่เราจอดเรือด้วย พลับพลาเหล่านี้มีม่านราวโคมแขวนดีกว่าแต่ก่อนด้วย เปนทางใกล้มา.
-
๑๓๒. หมื่นสาสนา กำกับจีนเข้ารีศ ↩
-
๑๓๓. พระภักดีดินแดน ↩
-
๑๓๔. พระยกรบัตร ↩
-
๑๓๕. พระครูรามัญญาธิบดี พระครูเจ้าคณะฝ่ายมอญ ↩
-
๑๓๖. พระอุดรพิสดาร (สิญญู) ↩
-
๑๓๗. พระยกรบัตรเมืองตาก ↩
-
๑๓๘. พระยาอรรคราช (สวาด) ↩
-
๑๓๙. พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ↩
-
๑๔๐. พระยาภักดีนฤบดินทร์ (กุ้ง) ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ↩