- คำนำ
- วันที่ ๑
- วันที่ ๒
- วันที่ ๓
- วันที่ ๔
- วันที่ ๕
- วันที่ ๖
- วันที่ ๗
- วันที่ ๘
- วันที่ ๙
- วันที่ ๑๐
- วันที่ ๑๑
- วันที่ ๑๒
- วันที่ ๑๓
- วันที่ ๑๔
- วันที่ ๑๕
- วันที่ ๑๖
- วันที่ ๑๗
- วันที่ ๑๘
- วันที่ ๑๙
- วันที่ ๒๐
- วันที่ ๒๑
- วันที่ ๒๒
- วันที่ ๒๓
- วันที่ ๒๔
- วันที่ ๒๕
- วันที่ ๒๖
- วันที่ ๒๗
- วันที่ ๒๘
- วันที่ ๒๙
- วันที่ ๓๐
- วันที่ ๓๑
- วันที่ ๓๒
- วันที่ ๓๓
- วันที่ ๓๔
วันที่ ๒๑
วัน ๔ ๔ฯ ๓ ค่ำ เมื่อคืนนี้เราว่าปรอทจะไม่ต่ำกว่า ๘๐ นั้นผิดไปเสียแล้ว ได้กลับลงไปเรือตรวจดูเห็นลงถึง ๗๙ วันนี้ตื่นสายเห็นว่าขากลับเร็วมาก ได้ลงเรือต่อสามโมงอิก ๖ มินิต ได้ออกมาถึงแก่งถ้ำรอด ๓ โมง ๓ ส่วน เรามาเรือเล็กวันนี้เห็นแปลนแก่งถนัด แต่ไม่ผิดกับที่เราว่าไว้แต่ก่อน ดูก็ไม่สู้ลำบากนัก ด้วยต้องระวังอยู่นั้นน้อย ๔ โมงถึงแก่งพันตองบน ไปจอดเรือที่ท้องคุ้งวังใหญ่ที่เคยจอดเมื่อขาขึ้นไป เวลา ๔ โมงครึ่งที่นั้นพื้นฝั่งเปนศิลา แต่มีดินอยู่ ข้างบนแตกระแหงดินนั้นไม่หนานัก เห็นจะเปนเมื่อเวลาน้ำมากดินขึ้นไปเกรอะ แต่สงไสยว่าในแม่น้ำเปนทราย ทำไมจึงมีดินฤๅจะเปนดินล้างลงมาจากตลิ่งก็ไม่ทราบ พอคนขึ้นไปเหยียบดินร่วงลงมาข้างล่างก็เปนศิลาแผ่นใหญ่ เราไปนั่งกินเข้าที่นั้นแล้วลงเรือเหลืองมา ห้าโมงเกือบจะครึ่ง ถึงพุไพร ๓๒ มินิตจะเที่ยง เทอมอเมตเตอร์เวลานี้ ๘๖ เวลาบ่าย ๒ โมงส่วน ๑ ถึงน่าพลับพลาเมืองลุ่มสุ่ม ตั้งแต่นั้นมาเราก็จ้องจะคอยดูถ้ำตาหยกให้ได้ จนบ่ายเย็นลงกะที่เดามาตลอดทาง จนถึงถ้ำตาหยกจริง ๆ ต่อบ่าย ๔ โมง ๒๔ มินิต รอเรือให้หลวงอุดมขึ้นไปดู หมายว่าจะมีวิเศษฦกซึ้งต่อไปอย่างไรบ้าง เห็นเดินเลียบแลมุดขึ้นตามช่องศิลา ถึงพื้นแผ่นดินข้างบนไม่มีวิเศษอะไร ให้หลวงอุดมยืนอยู่ที่ปากถ้ำประมาณสูงสัก ๒ เท่าตัวหลวงอุดม เห็นจะสัก ๖ ศอก ฤๅ ๖ คอกคืบ ฦกเข้าไปสัก ๘ ศอกฤๅ ๑๐ ศอกโดยยาว ตลอดปากถ้ำสัก ๔ วา เปนศิลาริมตลิ่ง มีก้อนศิลาเปนพื้นสูงพ้นน้ำขึ้นไปสัก ๘ ศอก ข้างบนก็เปนเพิงก้อนศิลาเหมือนกัน แต่มีคำเล่าอยู่ว่าถ้ำตาหยกนี้ เปนที่ท้าวอู่ทองที่อยู่เมืองสิงห์มาตกเบ็ด ชื่อที่เรียกในแผนที่ว่าถ้ำตาหยกนั้น ผิดกันกับที่คนผู้เล่าเรื่องนี้เรียก เขาเรียกว่าถ้ำปะหยบ จะแปลว่ากระไรก็ไม่ได้ความ แต่เรื่องที่ว่าท้าวอู่ทองตกเบ็ดนั้นชอบกลอยู่ ชื่อมอญเขาเรียกว่าเมี่ยงไป้ลดอนกะ แปลว่าคนผู้ชายตกเบ็ด เรื่องราวเขาจะถูกกันอย่างไรก็ไม่ทราบ แวะดูอยู่สัก ๕ มินิต ๖ มินิตออกเรือถึงพลับพลาหาดสองพี่น้อง บ่าย ๕ โมงสามส่วนให้เงินคนนำร่องที่ได้ไปกับเรือเรา ตั้งแต่กาญจนบุรีถึงไทรโยคกลับมา กับคนที่ไทรโยคนำกลับอิกคนหนึ่ง เปนรางวัลพระยากาญจนบุรีพากะเหรี่ยงบ้านแม่กระบานมาหาอิก ๔ คน วันนี้เห็นคราบน้ำที่เสาปรำพลับพลาลดเร็วคืบหนึ่ง เร็วจริง ๆ เราไปไม่กี่วันเลย น้ำจะลดไปจะแห้งขอดในเดือน ๕ พระยากาญจนบุรีบอกว่า ถ้าเดือน ๕ แล้วแพก็ล่องไม่ได้ ที่หัวกรวดเมืองกาญจนบุรี ลูกค้าล่องไม้มาคั่งอยู่ ต้องตัดแพล่องไปเปนต้น ๆ ในแขวงราชบุรีก็มี เหมือนที่บางสองร้อย บางลี่ ก็ต้องตัดเพเหมือนกัน จนเดือน ๘ น้ำมาเดือน ๑๐ เปนเต็มที่ พอเดือน ๑๑ ก็ลด วันนี้ได้ข่าวลูกหญิงเล็ก๑๒๑ออกจากกรุงเทพ ฯ วานนี้มาเมืองราชบุรี แต่ไม่ได้รับหนังสือตอบท่านกลางเลย วันนี้ก็ให้เงินเหมา๑๒๒ไปให้เรืออวน ๒ ลำชั่งหนึ่ง ด้วยมันตามไปป่วยการทำมาหากิน มาคราวนี้ตื่นหาเครื่องยากันนัก ทั้งผู้หญิงผู้ชาย เราได้ยินมันโจษกันบ่อย ๆ ที่ข้างพลับพลา คนเลว ๆ ทีเดียวได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ผู้ดีก็หาไพร่ก็หา แต่ตรวจดูเครื่องยาที่พวกกะเหรี่ยงเอามาให้ แลสืบถามดูบ้าง เราก็ไม่สันทัดเลยในเครื่องยา ได้เองกับมือแต่มะเดื่อดิน สมเด็จเจ้าพระยาท่านบอกหมอสาย ว่ามะเดื่อดินมีที่น้ำพุท้องช้างมาก ท่านห้ามไว้ไม่ให้ใครเก็บจะเอาไว้ให้หมอ จึงได้ตั้งใจไปค้นหา ว่ายาอื่นก็มีมาก แต่ที่มีชุมทีเดียวนั้นเห็นหางไหลแดงกับเจตมูลเพลิงใครก็ได้แทบจะทั่วกัน หมอสายก็ขนเอาไปมาก ว่านกีบแรด เราพึ่งได้เห็นคราวนี้เปนรู้จัก เขาว่าเนรภูสี สค้าน มหาสดำ ใบกระวาน ต้นแดง แต่กระวานต้นแดงนี้ว่าทีอื่นไม่มีเลยเฉภาะมีแต่แควนี้ ไคร้เครือ เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ เปล้าน้ำเงิน สมุลแว้ง เปราะหอม คุคะ แต่แพงแพวในแควน้อยนี้ไม่มี ไปมีอยู่แควใหญ่ ดอกกระเจี้ยงที่หายากนัก สำหรับทำกระแจะตนาวเข้ายานั้นมีอยู่ทางแควนี้ บางทีที่บางกอกหาไม่ได้เลย ต้องใช้กระแจะเก๊บ่อย ๆ เนียมละว้า ชเอมไทย แฝกหอม คี่อ้าย ไม้เหล่านี้บางทีหาที่อื่นยาก มีแต่แควนี้มาก บางคนก็ตื่นฦๅแก่ ๆ เข้าใจว่า ไม้สิ่งใดในแควนี้เปนยาทั้งนั้น ถือพร้าขึ้นไปก็ฟันตพัดไปไม่เลือกว่าสิ่งใด ตัดลงมาจนเต็มเรือ มีผู้ถามว่านั่นอะไรบอกว่าไม่ทราบ ยังจะลืมเสียอิกอย่างหนึ่ง เมื่อเราไปที่น้ำพุไทรโยค พบยาสำคัญเข้าต้นหนึ่งเห็นมีดอกขาว ก็ไปเก็บเล่นเสียไม่ทันนึก ต่อหมอเตือนขึ้นว่าต้นเข็ม นี่และทำเปนยาเข็มเกลื่อน ถ้าไม่มีก็ต้องใช้เข็มบ้าน แต่ไม่ขลังเหมือนเข็มป่า เราจึงสั่งให้เก็บไป ยาเกลื่อนฝีขนานนี้ขลังนัก เราเคยใช้อยู่เสมอไม่ใคร่จะขาด ไม่ได้เปนฝีมานานทีเดียว