- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๙. สุภมิตตชาดก
อวกาสิ ตุวํ เทวาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต เทวทตฺตสฺส อกตฺุตํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมครู เมื่อเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันทรงพระปรารภพระเทวทัตผู้อกตัญญู ให้เป็นมูลเหตุตรัสเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า อวกาสิ ตุวํ เทว ดังนี้เป็นต้น อนุสนธิเรื่องปัจจุบันดังปรากฏต่อไปนี้ว่า
วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรมสภา พูดกันถึงเรื่องภิกษุเทวทัตผู้อกตัญญู ไม่รู้จักคุณพระบรมครูดังนี้ สมเด็จพระชินสีห์เสด็จมายังที่ประชุมสงฆ์ ทรงตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอพูดกันอยู่ด้วยเรื่องราวอะไร พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้พระองค์ทราบแล้วทุกประการ พระบรมศาสดาจารย์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเทวทัตจะเป็นคนอกตัญญูต่อตถาคตในปัจจุบันชาตินี้หาบมิได้ แม้ในกาลปางก่อน ภิกษุเทวทัตเคยอกตัญญูต่อตถาคตมาแล้ว ตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะใคร่รู้ จึงกราบทูลอาราธนาให้เทศนาต่อไป พระองค์จึงนำอดีตนิทานมาตรัสเทศนาดังปรากฏต่อไปนี้ว่า
อตีเต จมฺปากนคเร สุภมิตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่ครั้งหลัง ยังมีพระราชาพระนามว่า สุภมิตรดำรงราชสมบัติในจัมปากนคร พระราชนิฏฐของพระเจ้าสุภมิตรพระนามว่า อสุภมิตรดำรงตำแหน่งที่อุปราช พระราชเทวีของพระเจ้าสุภมิตรพระนามว่าเกสินีๆมีพระราชโอรสของพระองค์ ๆ ผู้ที่นามว่าไชยเสน พระองค์ผู้น้องพระนามว่าไชยทัต
เมื่อกาลล่วงไปภายหน้า พระราชนิฏฐอสุภมิตรนั้นดำริว่า เมื่อพระเจ้าพี่ของเรายังเสด็จอยู่พระนครนี้ เราก็จักไม่ได้ราชสมบัติเต็มที่ ควรเราจะแย่งเอาราชสมบัติเสียเถิด ดำริแล้วจึงประทานทองคำและแก้วแหวนเครื่องนุ่งห่มเป็นอันมากแก่พวกอำมาตย์เกลี้ยกล่อมเพื่อจะให้ชิงเอาราขสมบัติของพระเจ้าพี่ เห็นว่าจะได้ท่วงทีแล้วจึงเตรียมพลเสนาเข้าไว้ ในกาลครั้งนั้น มีอำมาตย์ผู้หนึ่งมีความกตัญญูต่อพระเจ้าสุภมิตร มีจิตกอบด้วยกรุณา จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาเมื่อจะกราบทูลเหตุนั้นให้แจ้ง จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อวกาสิ ตุวํ เทว | เต หิ ยาจิตุมาคโต |
อุฏฺเหิ เทว สึฆมฺหิ | อหํ วกฺขามิ การณํ |
อชฺชเมว อิมํ รตฺตึ | อนิฏฺโ ตํ ฆาเฏสฺสติ |
อปฺปมาเทน รกฺขาหิ | อตฺตานฺจ อชฺชเมว |
ความว่า ข้าแต่เทวบพิตร พระองค์ได้เผลอเสียแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้า จะขอเตือนสติพระองค์ ๆ จงลุกขึ้นเร็ว ๆ ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ บัดนี้พระราชกนิฏฐคิดขบถ จักปลงพระชนม์พระองค์ในคืนวันนี้ พระองค์จงรักษาพระองค์ไว้ให้ดีในวันนี้ด้วยความไม่ประมาทเถิด พระเจ้าข้า
ตํ สุตฺวา จินฺเตสิ พระเจ้าสุภมิตรทรงฟังดังนั้นจึงดำริว่าถ้าหากว่าจักรบกันไซร้ พระราชกนิฎฐและพลนิกายทั้งหลายจักถึงซึ่งมหาวินาศยกใหญ่ เพราะเหตุนั้น เราจะหนีไปจากพระนครในเวลาราตรีวันนี้ แล้วพระองค์จึงประทานรางวัลให้แก่อำมาตย์ผู้กตัญญูนั้น แล้วส่งให้กลับออกไป พระราชาจึงเสด็จไปยังสำนักราชเทวีทรงกอดรัดและจุมพิตสองราชโอรสแล้วตรัสว่า แน่ะพระนางผู้เจริญ เธออย่าได้ประมาทพึงปกครองลูกทั้งสองไว้ให้ดี ราชกนิภฐอสุมิตรจะพึงไม่ฆ่าลูกเราได้อย่างใด เธอพึงเลี้ยงรักษาลูกเราไว้อย่างนั้น เพราะเหตุอสุมิตรเขาคิดขบถ จะยกพลเข้ามาจับพี่ฆ่าในคืนนี้ พี่รู้เหตุนี้ก็เพราะอำมาตย์ผู้หนึ่งบอกเมื่อกี้
เมื่อจะลาพระราชเทวีจึงตรัสคาถาดังนี้ว่า
อหํ หิมวนฺตํ คจฺฉามิ | โฆรํ พาหมิคายุตํ |
สํสโย ชีวิตํ มยฺหํ | เอกกสฺส พฺรหาวเน |
อฆนฺตํ ปฏิเสวิสฺสํ | พหุมิคคณายุตํ |
วเน พาลมิคากิณฺเณ | ขคฺคทีปนิเสวิเต |
อหํ ปฺุานิ กโรมิ | ตุเมฺห ปํกมฺหิ สีทถ๑ |
ความว่า พี่จะขอลาพระน้องนางไปป่าพระหิมพานต์ อันตระการด้วยพาลมฤคอันร้ายกาจคะนองไพร แต่ผู้เดียวเที่ยวไปเกสินีอย่าสงสัยว่าจะรอดชีวิต พี่จะสู้ทนเสวยทุกข์เวทนาในกลางไพร อันหมู่พาลมฤคและแรดเสือเสพอาศัยอยู่เนืองนิตย์ พี่จะตั้งจิตบำเพ็ญบุญต่อไป ท่านทั้งหลายจงจมอยู่ในเปือกกล่าวคือกามคุณเถิด
ตํ สุตฺวา พระนางเกสินีศรีสรรพโสภางค์ พระนางได้สดับโองการพจนารถแห่งพระราชสามีกลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้ ทรงพระพิไรพร่ำกราบทูลว่า อภุมฺเม พระพุทธเจ้าข้าไยมาตรัสฉะนี้หาชอบไม่ ข้อซึ่งจะเสด็จแต่พระองค์เดียวโดด ขอพระองค์ได้โปรดเกสินีไม่ชอบเลยพระคุณเจ้าเอ่ย เกสินีจะขอตามเสด็จ ถึงเกสินีตามเสด็จไป แม้ว่าจะบรรลัยลงในกลางป่า ตายเสียเช่นนั้น เกสินีจะก่อไฟให้มีเปลวอันรุ่งโรจน์ กระโดดวิ่งโผเข้าไปตายเสียกลางไฟเกสินีไม่ขออยู่จะสู้บทจรตามไปในภายหลัง เปรียบเหมือนอย่างนางพังอันเดินตามหลังแห่งกุญชรตัวประเสริฐ ได้โปรดเถิด เกสินีจะตามเสด็จด้วยพระเจ้าข้า
ตโต สุกมิตฺโต ราชา๒ ลำดับนั้น พระเจ้าสุภมิตรบรมโพธิสัตว์ ได้ทรงสดับถ้อยคำนางเกสินีดังนั้น จึงตรัสห้ามว่า ลกฺขเณ แน่ะเกสินีผู้มีสุนทรลักษณา และมีสริรกายอันประพรมด้วยจันทร์แดงพระน้องเอ๋ย อย่าไปเลยฟังพี่ว่า วเน เย โหนฺติ ทุสฺสหา พระน้องจะไปอยู่สู้ทนกระไรได้ ในราวป่านั้นไซร้มากไปด้วยเหลือบยุงริ้นร่านมักจะราวี กายน้องจะซูบซีดผิดสีผอมพิกล ความทุกข์เช่นนี้เกสินีจะทนได้ฤานา อนึ่งเกสินี มีสัตว์จำพวกหนึ่งชื่อว่างูเหลือม ลายละเลื่อมตัวเป็นมันโตใหญ่ ย่อมอาศัยอยู่ที่ท่าธารน้ำไหล เห็นมนุษย์หญิงชายทั้งกวางทรายเข้ามาใกล้ มันก็เอาหางกระหวัดเข้าไว้กินเป็นภักษา ยังสัตว์จำพวกหนึ่งชื่อว่าหมีเป็นที่นำมาซึ่งทุกข์พ้นวิสัย ถึงจะเป็นผู้ชายจะหนีขึ้นต้นไม้ก็ไม่พ้น ในไพรสณฑ์นั้นสารพัดจะมีสัตว์ร้าย ทั้งโคควายกระทิงเถื่อนเที่ยวอยู่กลางป่า มีเขาแหลมเรียวขาวราวจะขวิดกระดูกให้แตก ในราวไพรมากไปด้วยสัตว์ร้ายเช่นนี้เกสินีจะทำไฉนพระน้องอย่าปรารถนาที่จะไปเลยฟังพี่ว่า
ตมพฺรวิ เกสินี พระนางเกสินีคศรีสรรพโสภางค์ พระนางได้ฟังโองการตรัสห้าม จะมิให้ไปตามพระราชสามีจึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ซึ่งทรงเห็นว่ามรรคานั้นไกลจะไปนั้นลำบากยิ่งจริงดังโองการแต่หม่อมฉันไม่กลัวต่อความยาก จะเอาพระอุระต่างพร้ามีดกรีดคาและป่าหนามตามพระภัสดาไปไม่คิดจะจากพระเจ้าผัว ด้วยกลัวตัวจะเป็นหม้าย กระหม่อมฉันจะสู้ทนทุกข์ภัยในหิมพานต์นั้นดีกว่า ทุกข์ที่พลัดพรากจากพระภัสดาอยู่เป็นหม้ายนั้นทุกข์จริง เกิดมาเป็นหญิงในโลกนี้กว่าจะได้สามีนั้นเต็มยาก ต้องมากด้วยวัตตจริยานั้นหลายเล่ห์ กลัวว่าตะโพกนั้นจะไม่ผาย ขวนขวายทุบด้วยไม้ค้อนดังคางโค กลัวว่าพุงจะโตกินข้าววันละน้อยๆ กลัวว่ากายจะพ่วงพีจะมิสู้เลิศด้วยผิวพรรณ ถึงจะหนาวให้คางสั่นก็ต้องอาบน้ำแต่เช้าตรู่ ถึงจะร้อนก็สู้อุตส่าห์ผิงไฟ หวังจะให้เอวไหล่นั้นเกลี้ยงกลมสมเสน่หา ครั้นได้ผัวแล้วกลับมาเป็นหม้ายนี้น่าเวทนา ถ้าแก่ชราแล้วมิเป็นไร อันหญิงสาวเป็นหม้ายนี้ทุกข์เหลือ พระพุทธเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่าของอันเป็นเดนใครเขาจะพอใจก็มีแต่จะได้ความเดือดร้อนด้วยกันไม่เลือกหน้า อันเป็นหม้ายแล้วเป็นที่ดูหมิ่นแก่บุรุษชาย บุรุษเล่าก็มิใช่พอดีพอร้าย รู้ว่าแม่หม้ายแล้วก็หยอกเย้าเล่นตามชอบใจ เข้ายื้อยุดฉุดชายผ้า ราวกะว่ากาที่ตอมรุ้ง หน่อยก็จะนุงถุงไปด้วยกันไม่เกรงใคร
ญาติกุเล ผิเต หนึ่งถึงจะมั่งคั่งด้วยญาติก็ชั่งเป็นไรความนินทานั้นจะพ้นก็หามิได้ ทั้งนี้ก็เพราะโทษที่เป็นหม้าย นที อนูทกา ชื่อว่านทีไม่มีน้ำชื่อว่าสูญเปล่า เมืองไม่มีเจ้านายปกครองก็สูญเปล่าไม่เป็นการ ผู้หญิงเป็นหม้ายไม่มีชายประสมสอง ก็อ้างว้างวิเวกเวทนา ธโช รถสฺส ธรรมดาว่าราชรถจะปรากฏเพราะมีธงไชย ควันเป็นที่ให้ปรากฏแก่กองเพลิงโดยสัญญา ผู้หญิงจะมียศถานุศักดิ์ก็เพราะสามีเป็นที่เฉลิมให้ปรากฏ เหมือนรถมีธงเป็นที่เฉลิมงอนงามสง่า ข้าศึกก็จะไม่กล้ามาย่ำยี
ยา ทลิทฺที อนึ่งเกสินีได้สดับฉบับบุราณมาว่า คราวเมื่อภัสดาได้ยากจนทุกข์เข็ญ บมิได้หลบซ่อนเร้นเอาตัวออกหากอุตส่าห์อุ้มชูสู้ยากไปด้วยกัน หญิงเช่นนั้นเอาเป็นครูไว้ฝึกสอน เทวา ปสํสนฺติ อย่าว่าแต่มนุษย์ถึงเทวดาก็ให้พรทุกเวลา อปิ สาครปริยนฺตํ ถึงจะยกโภคทรัพย์หิรัญรัตนจักรพรรดิสมบัติให้สะถ้าและว่าพลัดพรากจากราชสามีแล้ว สมบัตินั้นเกสินีมิได้ปรารถนาเลย สุดแท้แต่พระภัสดาเสด็จสู่ประเทศใด ถึงชีวิตจะบรรลัยก็ไม่ว่า จะขอติดตามพระองค์ไปสู่ประเทศนั้นโดยเจตนาเหตุไรจึงว่าอย่างนี้ เหตุว่าพระองค์ราชสามีมีคุณได้อุดหนุนให้สำเร็จดังปรารถนา ข้าพระพุทธเจ้าจะขอตามเสด็จไปด้วย ณ บัดนี้
ตมพฺรวิ มหาราชา พระมหาราชบพิตรสุภมิตร ได้ทรงฟังก็สลดพระทัย ทรงพระอาลัยด้วยพระเจ้าลูกรัก อุ้มสองกุมารขึ้นสู่ตักแล้วพิไรร่ำว่า สาลินโมทนํ ภุตฺวา โอ้พระลูกรักของบิดาเอ่ย เจ้าสิเคยเสวยโภชนาสาลี มีรสมันสารพันสูปอันโอชา คราวนี้สองกุมาราจะไปเสวยแต่มูลผลาอันเฝื่อนฝาดน่าเวทนา พระลูกข้าเคยถูกภูษากาสิกพัสตรและโขมพัสตร ทีนี้แหละจะต้องทรงเปลือกไม้และคากรองระคายกาย กถํ กาหนฺติ เจ้าจะทรงกระไรได้ดูอนาถา แต่ฉลองบาทก็จะไม่มีทรง บาทเจ้าก็จะพุพองเป็นหนองเน่าตั้งแต่นี้ เจ้าจะเอาร่มรุกข์เป็นเรือนอยู่ จะเอาแฝกคาหญ้าใบไม้มาปรององค์ จะอาบจะสรงก็สมเพช จามรีโมรหตฺเถหิ เมื่อเจ้าอยู่ยังนิเวศน์สถาน มีนางพนักงานคอยโบกวีทุกเวลา ฑํเสหิ มกเสหิ ผุฏฺา ทีนี้จะมีแต่เหลือบยุงร่านริ้นจะมาราวีกาย เจ้าก็จะเศร้าสีผิดพิกล ที่ไหนพระลูกจะทนไปกระไรได้ เห็นเป็นสุดวิสัยพระบิดาในครั้งนี้
ตมพฺรวิ เกสินี ส่วนพระนางเกสินีจอมนารี ได้ฟังพระราชสามียกเหตุมาตรัสห้ามจะมิให้ตามเสด็จไป จึงกราบทูลว่า พระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนี้ เกสินีไม่ชอบเลย พระคุณเจ้าเอ่ย หัวใจข้าเกสินีนี้จะหม่นไหม้ จะขอตามเสด็จไป แม้ถึงจะบรรลัยในกลางป่า เห็นว่าดีกว่ามีชีวิตอยู่ พระองค์ได้ทรงเสวยทุกข์ยากอย่างไรกระหม่อมฉันจะสู้ตามไปทนทุกข์ยากอย่างนั้นบ้าง จะจูงพระเจ้าลูกตามไปเบื้องหลังในครั้งนี้
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ไม่อาจห้ามพระนางเกสินีได้ จึงตรัสปราศรัยว่า ถ้ากระนั้นเกสินีจะไปด้วยก็ตามใจ ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว พระนางเธอจึงสั่งซึ่งต้องใช้ และเสบียงสำหรับเลี้ยงชีพในป่าเสร็จแล้ว ไชยทัตราชกุมารขึ้นนั่งบนพระอังษา ส่วนพระราชาทรงหาบเสบียงด้วยพระอังษาข้างซ้าย จับจูงไชยเสนราชกุมารด้วยพระหัตถ์ขวา สี่กษัตริย์ก็รีบออกจากพระนครสัญจรไปในเวลาราตรี ทรงดำเนินไปไกลบรรลุถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง จึงแวะเข้าไปอาศัยใต้ต้นไม้มะพลับอยู่ใกล้นที จึงประทานของเสวยแก่พระราชกุมาร แน่ะพระนางเกสินี แม่น้ำนี้ลึกกว้างใหญ่ เราทั้งสี่จะข้ามไปให้ถึงพร้อมกันคราวเดียวไม่ได้ ราชกุมารทั้งสองยังเด็กเล็กนัก พี่จะพานางเธอไปข้ามส่งเสียก่อน จึงจะย้อนกลับมารับลูกไป
พระนางเกสินีราชเทวี ได้ให้ไชยทัตเสวยถันธาราแล้ว ปูผ้าสาฎกให้ไสยาสน์ เห็นว่าไชยทัตบรรทมหลับแล้ว จึงค่อย ๆ อุฏฐาการมาประทานของเสวย แก่พระไชยเสน แล้วจุมพิต ให้โอวาทแก่ไชยเสนว่า ดูกรพ่อไชยเสน พ่ออย่าได้เลินเล่อหนะ พ่ออยู่ข้างหลังจงระวังดูน้องให้ดี ฯ ข้าแต่พระบิดามารดาเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองยังเล็กนักหนา เมื่อพระบิดามารดามาทิ้งไว้ในราตรีแล้วไป ใครจะเป็นที่พึ่งเล่า พระเจ้าข้า เพราะเหตุนั้น พระบิดามารดาอย่าได้ช้าจงรีบกลับมารับข้าพระพุทธเจ้าพี่น้องทั้งสองไป สองกษัตริย์สดับฟังไชยเสนพิไรรำพันดังนั้น มีพระหฤทัยไหวหวั่นประหนึ่งว่าจะแตกออกไป พระราชาปราศรัยปลอบราชเทวี พาข้ามนทีได้ประมาณสามคาพยุต ถึงฝั่งสมุทรฟากโน้นแล้ว เชิญให้พระราชเทวีประทับนั่งอยู่ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง จึงปรารภเพื่อจะข้ามไปรับราชบุตรต่อไป
ในระหว่างสมัยราตรีวันนั้น มีพรานแหสองคนลงเรือเที่ยวหาสัตว์น้ำตามชายหาดทราย พระราชกุมารได้ยินเสียงพรานทั้งสองพูดกันสำคัญว่าเป็นบิดาของตน จึงร้องเรียกให้ข้ามมารับ พรานแหสองคนได้ยินเสียงราชกุมารดังนั้น ชวนกันแวะขึ้นไปได้เห็นแล้วก็สงสารจึงรับสองกุมารมาคนละองค์ พาลงเรือกลับไปบ้านของตน๓
พระเจ้าสุภมิตร เสด็จข้ามน้ำกลับมารับสองกุมาร เมื่อมิได้เห็นพระลูกทั้งสองในที่นั้น ให้หวาดจิตคิดพลางเรียกไปพลางจนรุ่งสว่างแล้วก็หาไม่เห็นสุดที่ว่าจะสังเกต น้ำพระอัสสุชลเนตรเธอหลั่งไหลทรงพระกรรแสงร่ำไห้ ไม่อาจดำรงพระทัยไว้ ได้ล้มลงทรงพระพิลาปพลางทางก็ตรัสพระคาถาว่า
สงฺโยคฺจ วิโยคฺจ | เอสา โลกสฺส ธมฺมตา |
สภาวํ อตฺตานํ ตฺวา | อภิสํเวโค ภวติ |
ความว่า ความอยู่ร่วมด้วยสัตว์และสังขารที่รักใคร่ก็ดี ความที่ปราศจากสัตว์และสังขารที่รักใคร่ไปก็ดี อันนี้ย่อมเป็นธรรมดาของโลก เมื่อมารู้สึกตนตามสภาวธรรมดาแล้วก็น่าสลดใจยิ่งนัก พระสุภมิตรทรงสุภาษิตดังนี้แล้ว จึงดำรงพระสติข้ามน้ำจะกลับไปหาพระราชเทวีต่อไป
คราวนั้น มีนายสำเภาผู้หนึ่ง พร้อมด้วยบริวารห้าร้อยคนเที่ยวค้าขายไปตามชายนที จอดนาวาแล้วขึ้นไปบนฝั่งที่พระราชทวีประทับอยู่นั้น ครั้นได้เห็นพระราชเทวีอันสมบูรณ์ด้วยลักษณะเลิศนารี นายสำเภาจึงเข้าไปปราศรัยทำความตกลงให้รับไป จึงเชิญให้พระราชเทวีประทับในนาวาไปตามความพอใจ พระราชเทวีมีพระหฤทัยอย่างประหนึ่งว่าจะแตกตาย คิดถึงพระเจ้าลูกและพระราชสามี ทรงพระโสกีพิลาปรำพันถึง จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
วิโยโค เม กโต ปุพฺเพ | ตรยึ มิคปกฺขิโน |
เตน กมฺมวิปาเกน | วิโยโค ปตินา สห |
ความว่า แต่ก่อนเราได้พรากลูกเนื้อและนกจากอกแม่ไปด้วยผลกรรมที่เราทำไว้ จึงซัดให้เราต้องพลัดพรากจากลูกรักและผัวขวัญ ด้วยประการฉะนี้
ทีนั้น พระเจ้าสุภมิตรขึ้นจากน้ำได้ ไปทอดพระเนตรพระราชเทวีที่ใต้ต้นไม้ก็มิได้เห็น พระหฤทัยก็เต้นประหนึ่งดังตีปลา เที่ยวดั้นด้นค้นมาหาเมื่อไม่เห็นแล้ว ทรงพระพิลาปร่ำรำพันโดยนัยนี้ว่า บัดนี้เราชั่งอนาถาเสียจริงๆ เราข้ามน้ำกลับมาหาลูกสองราก็หาไม่พบ ครั้นตลบกลับไปหาเกสินีก็มิได้เห็น ความทุกข์วิโยคยากชั่งกระไรหากเป็นแต่ละอย่างดังนี้ เราจะตายเสียดีกว่าอยู่ต่อไป จะอยู่ไปทำไมเล่าเราผู้เดียว กึ กริสฺสามิ แน่ะเจ้าเกสินี พี่มาอยู่ในป่าแต่ผู้เดียวเปลี่ยวนัก จักทำประการใดได้ ไฉนจึงมาตกทุกข์ยากลำบากถึงเพียงนี้ อนึ่งเล่า เทพยเจ้าผู้สิงสู่อยู่ ณ ภูเขาและภูมิมณฑล และเทพยเจ้าเหล่าเบื้องบนอากาศประหลาดนัก ไยไม่เมตตากรุณาบ้างชั่งนิ่งเฉยเสียได้ ปล่อยให้ถึงความทุก์ฉะนี้เล่า ข้าพเจ้าจะต้องบรรลัยในครานี้ ทำไฉนจะได้เห็นหน้านางน้องเกสินีบ้างหนา เทพยดามนุษย์หรือยักษ์ผู้มเหศรศักดิ์คนใด หากมาช่วยเปลื้องทุกข์ข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าจะยืดถือผู้นั้นไว้เป็นที่พึ่งถึงวันตาย พระเจ้าสุภมิตรพรงพิลาปร่ำไรดังนี้ ก็ถึงวิสัญญีภาพสลบลง เมื่อทรงพระสติคืนมาก็มีอาการประหนึ่งว่าจะเป็นบ้า
ในที่นี้มีคำถามว่า กษัตริย์ทั้งสี่ต้องพลัดพรากจากกันไปอย่างนี้เพราะทำกรรมอะไรไว้ มีคำแก้ว่า กษัตริย์ทั้งสี่นั้นเมื่อชาติก่อนเดินไปตามมัคคันดร พากันหยุดระงับร้อน ณ ร่มรุกขแห่งหนึ่ง กุมารสองพี่น้องได้ยินเสียงลูกนกแขกเต้าร้องอยู่บนยอดไม้ อยากจะได้เอามาเล่นร้องไห้วิงวอนมารดา ๆ มารดาจึงบังคับสามีให้ไปจับเอามา สามีนั้นจับลูกนกแขกเต้านั้นได้ส่งให้กุมาร กุมารเล่นแล้วได้ถอนขนลูกนกแขกเต้าสามขนหลุดไป เลือดนกก็หลั่งไหลด้วยความทุกข์เวทนา ภายหลังจึงปล่อยลูกนกแขกเต้าไว้ดังเก่า ด้วยวิบากผลเพียงเท่านี้ กษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ต้องพลัดพรากจากกันถึงห้าร้อยชาติด้วยประการฉะนี้
พระเจ้าสุภมิตร ทรงพระดำเนินไปพลาง ทรงคิดถึงสองพระเจ้าลูกและราชเทวีเป็นกำลัง ทรงตั้งพระสติไว้ได้แล้วตรัสว่า ความอยู่ร่วมกับสังขารอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่รักใคร่ไปก็เป็นทุกข์ ควรเราจะตัดปิยวิปโยคเสียให้ขาดเถิด เปมโต กามโต ตณฺหาย รติยา โสโก ความโศกจะเกิดได้ ก็เพราะความรักและความใคร่ ความอยากได้และความยินดี เมื่อละเสียได้ซึ่งความรักและความใคร่ความอยากได้และความยินดีแล้ว ความโศกก็ไม่มี ภัยความหวาดหวั่นจะมีมาแต่ไหนเล่า เมื่อผู้มาแจ้งชัดดังนี้แล้ว ก็ไม่ควรทำความผูกพันความรักใคร่ความอยากได้ความยินดีไว้เลย
พระเจ้าสุภมิตรทรงภาษิตดังนี้แล้ว ก็เสด็จไป ๆ โตยลำดับจนบรรลุถึงเมืองตักกสิลา และเข้าไปอาศัยสวนพระราชอุทยานอยู่ ทรงบรรทมคลุมพระเศียรอยู่ ณ มงคลศิลาบัฏ ใกล้โคนต้นไม้รัง ครั้งนั้นพระเจ้าตักกสิลาราชถึงทิวงคตล่วงไปได้เจ็ดวัน อำมาตย์ทั้งหลายพร้อมกันถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ประชุมปรึกษากันว่า พระราชโอรสของพระราชาก็ไม่มี ธรรมดารัฐมณฑลไม่มีพระราชาแล้ว พวกเราก็ไม่สามารถจะรักษาปกครองไปได้ บัดนี้จะได้ใครเป็นพระราชาเล่า บางคนก็กล่าวแก่งแย่งกันว่า ท่านผู้นี้ท่านผู้นั้นจงเป็นพระราชาดังนี้ไม่ตกลงกัน ครั้งนั้น ท่านปุโรหิตาจารย์จึงพูดขึ้นว่า พวกเราควรจะปล่อยปุสสรถไปให้ถือเอาพระราชา ผู้ใดมีบุญมากผู้นั้นแหละสามารถจักเป็นพระราชาได้ อำมาตย์ทั้งหลายเห็นดีพร้อมกันทุกคน จึงจัดแจงแต่งปุสสรถเชิญเครื่องบัญจกกุธภัณฑ์ขึ้นตั้งไว้ในปุสสรถแล้ว ประดับผู้พันด้วยหญ้ามุงกระต่าย ปุโรหิตเมื่อจะปล่อยให้ปุสสรถไปได้กล่าวว่า เครื่องภัณฑห้าอย่างนี้คือ เศวตฉัตร ๑ จามรี ๑ อุณหิส ๑ พระแสงดาบ ๑ ฉลองพระบาททองคู่ ๑ เป็นเครื่องราชาภิเษก เห็นผู้ใดสมควรจะเป็นพระราชา ให้ราชกกุภัณฑ์ทั้งห้าถึงแก่ผู้นั้นเถิด ดังนี้แล้วก็ปล่อยไป
ปุสสรถนั้น ทำปทักษิณราชมณเทียรแล้ว ก็เคลื่อนออกโดยพระทวารวังด้านปราจีน พนักงานชาวเครื่องประคองดนตรีตามไปเบื้องหลัง ปุสสรถนั้นตรงไปยังราชอุทยาน ทำปทักษิณแล้วหยุดปรารภเพื่อจะเกยขึ้นแผ่นมงคลศิลาจึงให้บรรเลงเครื่องดนตรีขึ้นพร้อมกัน ขณะพระมหาสัตว์ตื่นบรรทมเปิดพระภูษาทอดพระเนตรพวกเสนาแล้ว พระองค์ก็พลิกพระกายกลับบรรทมต่อไป ปุโรหิตเข้าไปเลิกพระภูษาที่คลุมพระบาท เห็นลักษณะในพระบาทแล้วจึงประกาศว่า บุรุษผู้นี้ควรเป็นที่พึ่งของพวกเราสมควรเป็นพระราชาในทวีปทั้งสี่ได้เที่ยงแท้ มหาชนได้ฟังดังนั้นก็พากันยกอัญชลีเพื่อจะเชื้อเชิญให้เป็นพระราชา จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
อิมฺจ นครํ รมฺมํ | พหุปาการโตรณํ |
สพฺเพ มยํ สุรกฺขิตา | ตุยฺหฺเจว ททาม เต |
อิมฺจ วรปาสาทํ | กุฏาคารวิโรจิตํ |
สพฺพกฺาหิ ปูริตํ | ตุยฺหฺเจว ททาม เต |
ความว่า พระนครราชธานีนี้ เป็นที่รื่นรมย์อุดมด้วยสรรพศฤงคาร อเนกแน่นด้วยปราการแลหอรบ ข้าพเจ้าทั้งหลายช่วยกันรักษาไว้แล้วดี บัดนี้พร้อมใจกันมอบให้แก่ท่านโดยสิทธิ์ขาด นี่วรปราสาทมีหย่อมยอดงามสง่า อันเนื่องแน่นไปด้วยสาวสุรางค์นางกัลยา ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมใจกันยกให้แก่ท่าน ณ กาลบัดนี้
พระมหาสัตว์ทรงฟังดังนั้น จึงค่อยอุฏฐาการขึ้นนั่งแล้วตรัสถามว่า แน่ะท่านทั้งหลายผู้เจริญ พระราชาของพวกท่านไปไหนเล่า ฯ ข้าแต่เจ้า พระราชาทิวงคตเสียแล้ว ฯ พระราชโอรสและพระราชธิดาไปไหนหมดเล่า ฯ พระราชโอรสและพระราชธิดาหามีไม่ ฯ ถ้ากระนั้น ข้าพเจ้าจะรับเชิญของพวกท่านไว้ เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสดังนี้ มหาชนมีเสนามนตรีเป็นต้น พร้อมด้วยมหันตยศแห่นำและตามเสด็จ เข้ายังพระนครให้ประทับ ณ พระมหาปราสาท จำเดิมแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ดำรงราชสมบัติโดยยุติธรรม ทรงบำเพ็ญพระกุศลมีทานเป็นต้น โดยสมควรแก่พระหฤทัยประสงค์
ที่นี้จะกล่าวถึงสองราชกุมารที่นายพรานแหพาไปนั้น ใจความว่า นายพรานแหสองคนนั้น พาพระราชกุมารไปเลี้ยงไว้รักใคร่เสมอด้วยลูกของตน ครั้นสองพระกุมารเจริญพระชนมายุแล้ว นายพรานแหจึงจัดแจงเครื่องบรรณาการ พาสองราชกุมารไปเมืองตักกสิลาพาไปถวายพระราชาให้เป็นข้าราชการเสวก พระมหาสัตว์เจ้าทอดพระเนตรเห็นสองกุมารก็จำไม่ได้ แต่ให้นึกสงสัยจึงตรัสถามว่า กุมารสองคนนี้เป็นลูกของใคร ฯ ข้าแต่สมมุติเทวดา เป็นบุตรของข้าพระบาทพระเจ้าข้า ฯ กุมารสองคนนี้รูปร่างหน้าตาดีทำไมไม่เหมือนเจ้าเล่า ฯ พระเจ้าข้า รูปร่างเขาค่อนไปทางมารดา ฯ พระมหาสัตว์เจ้าทรงพระดำริไปว่า เจ้าสองคนนี้เหมือนลูกของเรา ถ้าว่าลูกของเรายังอยู่บัดนี้ ก็จักโตรุ่นราวคราวกันกับเจ้าสองคนนี้ได้ ทรงยินดีรักใคร่แต่นั้นมา และทรงพระเมตตาประทานสิ่งของต่าง ๆ
ที่นี้จักกล่าวถึงพระนางเกสินีเทวีต่อไป ใจความว่า นายสำเภาพาพระนางเกสินีราชเทวีไปนั้น มีจิตผูกพันประสงค์สังวาสนกิจด้วยราชเทวี ด้วยอำนาจศีลแห่งพระราชเทวี และอำนาจความอธิษฐานของพระราชเทวีนั้นคุ้มรักษา สริรกายนายสำเภาก็ให้ร้อนเร่าไม่อาจทำประทุษร้ายได้ กลับใจให้นับถือราชเทวีดังเทวดานางพระยาเจ้านมัสการทำบูชาเทพยดาต่างๆ มีจันทเทวบุตรเป็นต้น พระนางตั้งพระหฤทัยว่า ขอให้ข้าได้ประสบพบพระบาทราชสามีเถิด
เมื่อพระราชเทวีอยู่กับนายสำเภาได้เจ็ดปีล่วงไป เป็นด้วยเทพยดาดลใจให้นายสำเภานั้นพาพระราชเทวีไปยังตักกสิลานครนำเครื่องบรรณาการไปถวายพระมหาสัตว์ พักจอดเรือที่ท่าน้ำตำบลหนึ่งได้สองสามวัน เมื่อจะทูลลาพระราชามหาสัตว์กลับไปนั้น จึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
อาปุจฺฉามิ ตฺวํ เทว | คมิสฺสามิ สพานิชา |
จิรํ โน อิธ วาโสว | คมิสฺสาม สกาลยํ |
ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าอาศัยอยู่ ณ เมืองนี้ เป็นสุขสบายได้หลายวันแล้ว บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้า ขอทูลลากลับไปบ้านพร้อมด้วยพวกพ่อค้าพระเจ้าข้า
พระราชามหาสัตว์ทรงฟังดังนั้น เมื่อจะห้ามไว้ยังไม่ให้ไป ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ปสฺสาหิ โภ มหานาว | นจฺจคีเต สุวาทิเต |
เอกรตฺตึ วสิตฺวาน | ปาโต คจฺฉสิ นาวิก |
ความว่า ดูกรนายสำเภาใหญ่ จงอยู่ดูการละเล่นเต้นรำและดีดสีตีเป่าเสียสักคืนหนึ่ง ต่อรุ่งเช้าเจ้าจึงไปเถอะเป็นไร
แล้วทรงต้อนรับนายสำเภา ๆ กราบทูลว่า ข้าแต่เทวบพิตร ธรรมดาพวกพาณิชไม่ชอบดูการละเล่น ข้าพระพุทธเจ้าจักอยู่ไปในคืนนี้เกรงด้วยโจรภัยไม่มีใครเฝ้าเรือ ฯ ดูกร ท่านนายพาณิช ข้อนั้นท่านอย่าคิดวิตกเลย จงดูจงฟังเล่นตามสบาย เราจักใช้คนไปเฝ้าเรือไว้ให้ จึงให้หาสองกุมารมาเฝ้าแล้วตรัสว่า เจ้าทั้งสองจงพร้อมด้วยราชเสวก ไปช่วยกันรักษาเรือสำเภาไว้ กว่าพวกพาณิชเขาจะกลับไป สองกุมารรับโองการแล้วพร้อมด้วยเสวกห้าร้อยคนพากันไปเฝ้าเรือที่ริมฝั่งนที สองกุมารเป็นประธานนั่งอยู่ศีรษะเรือ
คืนวันก่อนหน้าที่ซึ่งนายสำเภามาจอดเรือนั้น เป็นเวลาค่อนจะรุ่งสว่าง พระนางเกสินีทรงพระสุบินไปว่า พระราชสามีกับราชเทวีและราชกุมารเสด็จประทับ ณ ท้องพระโรงวินิจฉัย มีบุรุษสองคนนำดอกอุบลขาวหนึ่งคู่มาถวายวางลง ณ ฝ่าพระหัตถ์พระราชสามี ๆ ประทานแก่ราชเทวี ๆ ทรงทัดพระกรรณทั้งสอง ละอองเกสรบัวหลวงก็โรยร่วงต้องพระอุระราชเทวีดังนี้ พระราชเทวีตื่นบรรทมแล้วทรงสันนิษฐานว่า วันรุ่งเช้าเราจะพึงประสบพระราชสามีกับสองโอรสมั่นคง ตั้งแต่ฝันเห็นสองกุมารและราชสามี พระราชเทวีกลั้นน้ำพระเนตรไม่ได้ ทรงกรรแสงร่ำไห้ด้วยประการต่าง ๆ
ในเวลาราตรีเที่ยงคืนวันนั้น พวกมนุษย์ทั้งหลายเขาพากันหลับแล้ว พระไชยทัตมัวแต่นั่งหลับร่ำไป ฝ่ายไชยเสนก็เฝ้าปลุกให้ตื่นขึ้น พระไชยทัตไม่อาจระงับความหลับด้วยอุบายอย่างไรได้ จึงพูดกับไชยเสนพี่ชายว่า ข้าแต่พระพี่พี่รู้เรื่องนิทานเก่า ๆ ช่วยเล่าให้ฟังบ้างพอประทังแก้ง่วงนอน ฯ ดูกรพ่อไชยทัต เรื่องนิทานเก่า ๆ เราไม่รู้ เรารู้แต่เรื่องที่เราพลัดพรากจากกันเท่านั้น ฯ ข้าแต่พี่ ข้านี้ไม่ทราบเรื่องความพลัดพราก ทำไฉนข้าจะรู้บ้างเล่า ฯ ดูกรเจ้าผู้น้อง เราจะเล่าเรื่องซึ่งน้องกับพี่ต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองมาให้น้องฟัง ฯ ข้าแต่พี่บิดามารดาของเราอยู่บ้านเกวัฏคามมิใช่หรือ พี่เล่าเรื่องพลัดพรากอะไรที่ไหนอีกเล่า ฯ ดูกรพ่อผู้น้อง บิดามารดาทั้งสองของเขาคนอื่นต่างหาก พี่กับน้องได้เกิดร่วมท้องมารดาเดียวกัน ฯ ข้าแต่พี่ ถ้าเช่นนั้นพี่จงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเถิด พระไชยเสนกุมารจึงเล่าความตามลำดับเบื้องต้นดังปรากฏต่อไปว่า
ดูกรพ่อผู้น้อง เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กนั้น บิดามารดาของเราได้ครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ พระอนุชาธิราชพระนามว่าอสุภมิตรรับตำแหน่งที่อุปราช อสุภมิตรคิดขบถยกพลเสนาจะจับราชบิดาของเราฆ่าเสียจะได้เป็นพระราชา อำมาตย์กตัญญูผู้หนึ่งกระซิบทูลพระราชบิดา ๆ ทรงเห็นว่าเกิดความวินาศใหญ่ จึงพาน้องกับพี่และพระราชชนนีหนีจากพระนครมาในเวลาพลบค่ำ ดำเนินไปถึงแม่น้ำเก่าแวะเข้าหยุดเหนื่อยอยู่ครู่หนึ่ง พระราชมารดาให้น้องดื่มถันธาราให้ข้าบริโภคอาหาร แล้วสั่งให้พี่อยู่ดูน้องไว้ก่อนพระราชบิดาจึงพาพระราชชนนีไปส่งฝั่งโน้น ขณะนั้น นายพรานแหสองคนมาพบเราเข้า พาพี่กับเจ้าไปเลี้ยงไว้ทำเป็นลูกของตนโดยเหตุผลซึ่งพี่เล่ามานี้เป็นความจริง
ตํ สุตฺวา ไชยทัตกุมารได้ฟังเรื่องราวซึ่งพี่เล่าดังนั้น อดกลั้นความโศกไว้มิได้ร้องไห้รำพันไปด้วยประการต่าง ๆ ไชยเสนกุมารจึงห้ามว่า ดูกรพ่อผู้น้อง อย่าร้องไห้เลย ถ้าหากว่าพระราชบิดามารดาของเรายังทรงพระชนมายุอยู่ ท่านจะตามหาเราพี่น้องจนได้พบกัน ฯ ข้าแต่พี่ เมืองเกิดของเราเรียกว่าเมืองอะไร ฯ ดูกรพ่อผู้น้อง เขาเรียกว่าจัมปากนคร ฯ ข้าแต่พี่นามกรพระราชบิดามารดาชื่อใด ฯ ดูกรพ่อผู้น้อง พี่ไม่อาจบอกพระนามพระราชบิดามารดาได้ ไชยทัตกุมารอ้อนวอนให้พี่ชายบอก ไชยเสนจึงยกอัญชลีขึ้นเหนือเศียรเกล้าถวายบังคมแล้วบอกว่า พระราชบิดาทรงพระนามว่าสุภมิตร พระราชมารดาพระนามว่าเกสินี
เมื่อกุมารทั้งสองสนทนากันอยู่อย่างนี้ พระนางเกสินีซี่งประทับอยู่ในเรือสำเภาสดับเรื่องราวนั้นตบพระอุระด้วยพระพาหาเลิกม่านออกมาทอดพระเนตร ทรงพูนเทวษโศกาตรงเข้ากอดสองกุมาราด้วยพระหัตถ์ สองกุมารมีความกลัวสลัดพระหัตถ์หนีไป พระนางเธอก็ยิ่งอาลัยร่ำรัก กวักพระหัตถ์ร้องเรียกว่า แน่ะพ่อไชยเสนและไชยทัต ข้านี้แหละคือเกสินีมารดาของพ่อ ๆ จงกลับมาหาชนนี พ่อจะหนีไปไหนเล่า เจ้าพลัดพรากจากกันมานานถึงกาลนี้ ชนนีไม่ได้รับความสุขเลยลูกรักเจ้าแม่เอ่ย จงมารับมารดาด้วยในกาลบัดนี้ กุมารทั้งสองรู้สึกดีว่าเป็นชนนีของตนแน่ จึงพากันกลับมาหมอบลงที่พระบาทา พากันร่ำร้องไห้อยู่ที่เรือสำเภา
คราวนั้น พวกพาณิชทั้งหลายได้ฟังเสียงกาหลอลหม่าน จึงนำเอาอาการนั้นไปบอกแก่นายสำเภา ๆ ก็โกรธรีบเข้าไปเฝ้าพระมหาสัตว์แกล้งกราบทูลใส่โทษว่า สองบุรุษของพระองค์ที่ส่งไปเฝ้าเรือนั้น ทำรังแกแก่ภรรยาข้าพระพุทธเจ้า พระราชามหาสัตว์ทรงพระพิโรธ บังคับให้เพชฌฆาตลงโทษสองกุมารแล้วให้ประหารชีวิตเสีย เพชฌฆาตรับโองการแล้ว จับสองกุมารมาโบยและจำด้วยเครื่องจำห้าประการแล้วพาตัวไปถวายให้ทอดพระเนตรสริรกายสองกุมารล้วนเปื้อนไปด้วยโลหิตสด ดุจหนึ่งว่ารดด้วยน้ำครั่ง พระราชารับสั่งว่าให้เอาไปตัดศีรษะเสียวันนี้ เพชฌฆาตนำสองกุมารไปยังป่าช้าที่สำหรับฆ่าคนโทษถึงตาย
คราวนั้น ท่านญาณปุโรหิตผู้รู้เดินสวนทางมาพบเข้าจึงคิดว่าธรรมเนียมโบราณราช จะลงโทษผู้ใดต้องทรงวิจารณ์ให้ได้ความจริงแล้วจึงให้ลงโทษ คิดแล้วจึงเรียกสองกุมารมาถามว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรขึ้นก่อน ไชยเสนกุมารให้การตามเป็นจริงดุจนัยที่กล่าวแล้วแต่หนหลัง ญาณปุโรหิตได้ฟังดังนั้นห้ามเพชฌฆาตไว้ก่อน จึงรีบร้อนเข้าเฝ้าพระราชามหาสัตว์กราบทูลฟอกซะกว่า ข้าแต่เทวบพิตรพระองค์ทรงเห็นโทษสองกุมารแล้วหรือจึงสั่งให้ฆ่า ควรพระองค์จงทรงวิจารณ์เสียใหม่จะดี
พระราชามหาสัตว์ทรงฟังดังนั้น สะดุ้งพระหฤทัยขึ้นมารับสั่งว่า ถ้ากระนั้นท่านจงให้ไปเรียกตัวมาไต่สวน ปุโรหิตผู้บัณฑิตให้เชิญสองกุมารมาให้นั่งเหนือพื้นเบื้องบน ส่วนตนลดลงมานั่ง ณ เบื้องต่ำอันปราศจากโทษ
พระราชามหาสัตว์ทอดพระเนตรสองกุมาร อันต้องกรรมกรณ์สาหัสสลดพระทัยยิ่งนักตรัสถามว่า เหตุไรเจ้าสองคนทำซุกซนรังแกแก่ภรรยานายสำเภาเขาเล่า ฯ พระพุทธเจ้าข้า หาได้ทำเช่นพระโองการตรัสไม่ ไชยเสนทูลความไปตามจริง ตั้งแต่ต้นจนที่สุดซึ่งได้พบพระราชชนนีที่เรือสำเภา พระราชามหาสัตว์ยังกริ่งพระทัยสอบถามซ้ำอีกว่า นามเมืองที่เจ้าเกิดนั้นเขาเรียกว่าเมืองอะไร ฯ พระเจ้าข้า เขาเรียกว่าจัมปากนคร ฯ ใครเล่าเป็นบิดาของเจ้า เขาชื่ออะไร ฯ พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่กล้าบอกนามบิดาได้ ฯ เป็นไรเล่าเจ้าไม่กล้าบอก ฯ พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากลัวหนักหนา ฯ เจ้าอย่ากลัวเลย จงบอกออกไปเถิด ฯ ไชยเสนกุมารทำอัญชลีเหนือเศียรเกล้าถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า พระเจ้าข้า พระราชาพระนามว่าสุภมิตร เป็นพระราชบิดาของข้าพระพุทธเจ้า ฯ ก็มารดาของเจ้าชื่อไร ฯ พระเจ้าข้า มารดาข้าพระพุทธเจ้าชื่อเกสินีเทวี พระเจ้าข้า
ตํ สุตฺวา ราชา พระราชามหาสัตว์ทรงสดับดังนั้น พระหฤทัยหวาดหวั่นประหนึ่งว่าจะแตกออกไปเจ็ดภาค รีบเสด็จลงจากราชมนเทียร ยกพระพาหาทั้งสองประคองกอดพระราชกุมารปริเทวนาการด้วยสำเนียงอันดัง สลบพับลงกับพระที่นั่ง ราชบุรุษฝ่ายหน้ามีอำมาตย์เป็นต้น และราชกัลยาคณานางฝ่ายในมีเทวีเป็นประธาน กับทั้งเสนาข้าราชการทั้งหมด อดกลั้นความโศกมิได้พากันร้องไห้ระงมไปทั่วทั้งพารา ถึงซึ่งสัญญีภาวะสลบลงด้วยประการฉะนี้
ทีนั้น พระราชามหาสัตว์ฟื้นสติขึ้นมาได้ รับสั่งให้แก้สองกุมารจากเครื่องจำจอง สองราชกุมารสะทกสะท้านกลัวมรณภัย เมื่อพระราชาจะยังสองราชกุมารให้ทราบชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
หา ตาต เชยฺยเสน | หา ตาต เชยฺยทตฺต |
สุพฺภมิตฺโต อหํ ราชา | เอวํ ชานาถ ปุตฺตกา |
ทารุณํ วต เต กมฺมํ | กถํ ตุเมฺห น คณฺหถ |
ทีฆรตฺตํ วสนฺตานํ | กถํ ตุเมฺห น ภณถ |
ความว่า โอ้พ่อไชยเสนพ่อไชยทัต เรานี้แหละคือพระราชาสุภมิตร เป็นบิดาของพ่อ ๆ จงรู้จักด้วยประการฉะนี้ โอ้พ่อมาทำการสะเพร่า ไฉนเล่าจึงไม่กำหนดจดจำไว้ให้มั่น เมื่อเจ้าสองรามาอยู่กับบิดานานนักหนา ไฉนพ่อชั่งไม่พูดจาบอกเล่าบ้างเลย ช่างนิ่งเฉยเสียได้
ไชยเสนกุมารเมื่อจะกราบทูลให้แจ้งจึงแสดงพระคาถานี้ว่า
น ชานาม มยํ เทว | ปิตรํ อมฺมานา |
เกวฏฺฏา อมฺห คเหตฺวา | คจฺฉนฺติ เกวฏฺฏคาเม |
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เมื่อนายพรานแหเขาพาข้าพระพุทธเจ้าพี่น้องไปไว้บ้านเกวัฏคาม เวลานั้นข้าพระพุทธเจ้ายังเยาว์ จำเค้าพระบิดาไม่ได้ถนัด ครั้นพลัดพรากจากไปนานแล้ว มาพบเข้าจึงไม่รู้จักดังนั้น พระเจ้าข้า
ไชยเสนเมื่อจะให้พระราชบิดาทราบชัด จึงซบพระพักตร์ลงเบื้องบาท พระราชบิดาพรรณนาถึงแรกแต่ครั้งวิโยคมา พระราชาตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้มารดาของเจ้าอยู่ไหน พระเจ้าข้า พระมารดาของข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในเรือสำเภา พระเจ้าข้า พระราชามหาสัตว์ทรงโสมนัส จึงพร้อมด้วยสองราชกุมารและอำมาตย์เสด็จไปถึงท่านที่เสด็จขึ้นประทับ ณ เรือสำเภา
พระราชเทวีเจ้าประทับอยู่กลางลำเรือ ทอดพระเนตรเห็นพระราชาแล้วจำได้ ทรงพระกรรแสงร้องไห้แล้วสลบลง สองกุมารตรงเข้ากอดพระบาทาไว้ พระราชาทรงร่ำไห้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
อุฏฺเหิ เกสินี ภทฺเท | สามิโก อิธมาคโต |
ปุตฺตา เต อาคตา จาทา | กินฺนุ สุเตน พุชฺฌติ |
ความว่า แน่ะพระน้องนางเกสินี เชิญลุกขึ้นเถิดสามีมาถึงแล้ว ทั้งพระลูกแก้วสองราก็มาพร้อมกัน ณ บัดนี้ แม่เกสินีได้ยินเขาบอกข่าวหรือจึงรู้ว่าพี่อยู่ที่นี้ พระนางเกสินีได้สติคืนมา จึงหมอบลงแทบพระบาทพระราชสามี แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
นิพฺพุโตทานิ เม โสโก | นิพฺพุตาทานิ เม ภยา |
นิพฺพุตา วิปลา โสโก | ปสฺสนฺตา อีทิสํ ปตึ |
ความว่า ข้าบาทบริจาริกา มาประสบพบพระราชสามีความโศกโรคภัย และความที่ข้าพระบาทร่ำไรถึงก็ระงับดับสนิทดุจปลิดทิ้ง พระเจ้าข้า
นางพระยาสวมกอดพระเจ้าลูกทรงพิลาปร่ำไรเหล่าอำมาตย์ฝ่ายหน้าและนางกัลยาฝ่ายใน พากันร้องไห้ถึงวิสัญญีกับด้วยราชเทวีในกาลครั้งนั้น
เมื่อสี่กษัตริย์ คร่ำครวญถึงกันและกันในกลางนาวา แต่เวลาเช้าถึงเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต อำมาตย์ทั้งหลายจึงจัดพระวอทองมาเทียบไว้เสร็จ จึงเชิญพระราชากับพระราชเทวีให้เสด็จประทับสุวรรณสีวิการ่วมกันวอหนึ่ง จึงเชิญให้สองกุมารขึ้นประทับสุวรรณสีวิการ่วมกันวอหนึ่ง นำเสด็จเข้าสู่พระราชวังใน จัดให้มีการมโหรสพครบเจ็ดวัน เป็นการสมโภชรับมิ่งขวัญสามกษัตริย์ และจัดพิธีการตั้งพระราชเทวีในที่อัครมเหสี ตั้งไชยเสนไว้ในที่อุปราช ตั้งไชยทัตไว้ไนที่เสนาบดีจำเดิมแต่กาลนั้นมา สี่กษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระกุศลมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้วได้อุบัติในดุสิตสวรรค์
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประมวลมาซึ่งชาดกว่า อสุมิตรในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือภิกษุเทวทัต ไชยทัตในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานนท์เถระ ไชยเสนในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือ ราหุลพุทธชิโนรส พระนางเกสินีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา บิดาพระมหาสัตว์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระสุทโธทนมหาราช พระเจ้าสุภมิตรในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระโลกนาถตถาคต มีพระพุทธพจน์ให้จบลง ด้วยประการฉะนี้.
จบสุภมิตตชาดก
-
๑. คาถานี้มีในกัณฑ์หิมพานต์ ได้คัดความเรียงของเก่ามาบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ↩
-
๒. ภาษาบาลีตอนนี้มีในทานกัณฑ์ ได้คัดความเรียงของเก่ามาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ คำ ท้าวสัญชัย เปลี่ยนเป็น สุภมิตร คำมัทที เปลี่ยนเป็นคำเกสินี และได้เติมตัดบ้างตามประสงค์ ↩
-
๓. ภาษาบาลีระหว่างต่อกันนี้ มีในกัณฑ์มัทรี (อิเม เต ชมฺพฺกา ฯลฯ กุมารา ณ ทิสฺสเร) ในที่นี้หาได้เรียงไม่ เห็นว่าไม่สู้เหมาะกับเรื่อง ↩