- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
ปมํ ธมฺมโสณฺฑกวตฺถูหิ อตฺถุปฺปตฺติ เอวํ เวทิตพฺพํ กสฺสปทสพลสฺส พุทธสฺส สาสเน อนฺตรธานโต น จิรสฺเสเนว กาเล พาราณสิรฺโ ปุตฺโต ธมฺมโสณฺฑก กุมาโร นามาติ
เรื่องราวในวัตถุนิทานแห่งพระเจ้าธรรมโสณฑกราชนี้ นักปราชญ์จึงรู้โดยนัย ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ความว่า ในกาลเมื่อพระพุทธศาสนาของพระพุทธกัสสปทศพลญาณอันตรธานไปแล้วไม่นานนัก พระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ธรรมโสณฑกราชกุมาร ครั้นพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาเสด็จทิวงคต ก็ได้ประดิษฐานผ่านราชสมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นลำดับมา พระเจ้าธรรมโสณฑกราชนั้นเมื่อได้เสวยรัชสมบัติแล้ว มีพระหฤทัยปรารถนาจะทรงฟังธรรมตามกระแสพระพุทธฎีกาที่พระพุทธกัสสปทศพลญาณได้ทรงแสดงไว้ ก็ยังมิได้ทรงฟังธรรมนั้นสมดังพระราชประสงค์ ครั้นพระองค์ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ประมาณเดือนหนึ่ง ก็ประกอบไปด้วยพระเดชานุภาพอันไพศาล เปรียบปานดังว่าพระเจ้าจักรพรรดิราช อันเสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสี และเมืองพาราณสีนั้น ก็บริบูรณ์ไปด้วยสรรพสมบัติรัชศฤงคาร เสมอด้วยเทวนครอมรสถานก็ปานกัน
ในกาลนั้น พระเจ้าธรรมโสณฑกราชจึงทรงพระดำริว่า ราชสมบัติของเราอันประกอบไปด้วยสิริวิลาส พร้อมด้วยราชานุภาพก็เห็นดังนี้ ถ้าปราศจากพระธรรมแล้วจะได้ชื่อว่างามหามิได้ เปรียบประดุจดังว่าอากาศอันปราศจากดวงทิวากร ถ้ามิฉะนั้นเปรียบประดุจดังว่าราตรีที่มีได้มีศศิธรเปล่งรัศมี ถ้ามิฉะนั้นเปรียบประดุจดังว่าพระยานาคราชอันปราศจากเขี้ยวแก้วมณีอันอำไพ ถ้ามิฉะนั้น เปรียบประดุจดังว่า มหาสมุทรชลาลัยอันปราศจากน้ำเค็ม ถ้ามิฉะนั้น เปรียบประดุจดังว่า ภัณฑะเครื่องใช้สอยที่บุคคลขัดสีไว้เป็นอันดี แต่หามีจักษุที่จะดูจะชมไม่ ถ้ามิฉะนั้น เปรียบประดุจว่าต้นปาริฉัตตกที่มีดอกอันบาน แต่หากลิ่นอันหอมมิได้ฉะนั้น ก็เมื่อสิริราชสมบัติของเราไม่มีความงาม เพราะปราศจากอริยธรรมเทศนาดังนี้ พระนครธานีน้อยใหญ่ตลอดถึงขอบเขตปัจจันตคาม จะมีความงามมาแต่ไหน เมื่อทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้เอาถุงอันเต็มด้วยทรัพย์พันตำลึงใส่ลงในผะอบตั้งไว้ ณ ตระพองมงคลหัตถี แล้วให้เอาเภรีไปเที่ยวตีประกาศตามถนนน้อยใหญ่ ในภายในพระนครเมืองพาราณสีว่า ถ้าผู้ใดรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาจกล่าวพระคาถาได้บาทหนึ่งหรือสองบาทสามบาทหรือสี่บาทก็ดี ผู้นั้นจงถือเอาถุงทรัพย์พันตำลึง ซึ่งอยู่ในผะอบอันตั้งอยู่ในกระพองช้างนี้ไปเถิด อนึ่งเราผู้เป็นพระราชา ก็จักกระทำสักการบูชา ผู้ที่รู้ธรรมนั้นอีกด้วย
ราชบุรุษทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็เอาเภรีไปเที่ยวตีป่าวร้องโดยนัยนั้นทั่วพระนครพาราณสี ก็ไม่ได้ผู้ที่รู้ธรรมมาตรว่าสักคนหนึ่ง โดยที่สุดจะหาผู้ที่รู้คาถามาตรว่าบทหนึ่งก็มิได้มี จึงนำความนั้นขึ้นกราบทูลพระเจ้าพาราณสีให้ทรงทราบ
พระเจ้าธรรมโสณฑกราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงมีรับสั่งให้ทวีทรัพย์ขึ้นไปสองพันตำลึง สามพันตำลึง สี่พันตำลึง จนถึงหมื่นแสนโกฏิตำลึงตราบเท่าถึงร้อยโกฏิพันโกฏิตำลึงเป็นที่สุด ก็ยังหาผู้ที่จะแสดงธรรมมิได้จนถึงทรงสละประเทศมณฑลมีคามนิคมชนบทเป็นต้น และทรงสละเศวตฉัตรและพระองค์ประสงค์จะบูชาผู้ที่รู้ธรรม ก็หาบุคคลผู้ที่จะรู้ธรรมมิได้ เมื่อไม่ได้ผู้ที่จะแสดงธรรมโดยนัยนี้ ก็ทรงวิปฏิสารีเดือดร้อนในพระหฤทัย จึงตรัสว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติอันปราศจากพระสัทธรรม ทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว ก็ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระยาอุปราชแล้วเสด็จเที่ยวไปในประเทศราวป่า เพื่อจะแสวงหาผู้ที่รู้พระสัทธรรม
ในขณะนั้นเมื่อพระเจ้าธรรมโสณฑกราช เสด็จเข้าไปประภาสเที่ยวอยู่ในป่าโดยพระราชประสงค์จะหาผู้ที่แสดงธรรมดังนั้น อาสนะของท้าวสักกเทวราช ก็แสดงอาการร้อนผิดปรกติ เมื่อท้าวสักกเทวราชจะทรงดำริใคร่ครวญชึ่งเหตุนั้น จึงกล่าวพระคาถาประพันธ์ว่า
โย มาตรํ วา ปิตรํ | คุรุํ ปาเลติ ธมฺเมน |
ทานํ วา พฺรหฺมจริยํ วา | มมํ จาเลติ อาสนา |
ความว่า ผู้ใดเป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดาครูบาอาจารย์ หรือเป็นผู้บำเพ็ญทานและประพฤติพรหมจรรย์ ผู้นั้นแหละจะทำเราให้เคลื่อนจากอาสน์ได้
ครั้นท้าวสหัสสนัยกล่าวคาถาดังนี้แล้วจึงพิจารณาดูไปในมนุษย์โลกด้วยทิพยจักษุ ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าธรรมโสณฑกราชนั้นเที่ยวแสวงหาผู้ที่แสดงพระสัทธรรมอยู่ในป่า จึงทรงดำริว่า เราจักนฤมิตแปลงเพศเป็นผู้อื่น แล้วจักชี้แจงแสดงโทษในสรีรกายอินทรีย์ ว่ามีแต่ชาติชราพยาธิมรณะเบียดเบียนอยู่เนื่องนิตย์ ให้พระธรรมโสณฑกราชดำริจิตคิดเห็นเป็นอนิจลักษณะก่อน แล้วจะแสดงธรรมสั่งสอนต่อภายหลัง ทรงเทวดำริฉะนี้แล้ว จึงนฤมิตตนแปลงเพศเป็นรูปยักษ์ ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของพระเจ้าธรรมโสณฑกราชนั้น
พระเจ้าธรรมโสณฑกราชทอดพระเนตรเห็นรูปยักษ์แปลงก็มิได้สะดุ้งตกพระทัย ด้วยทรงพระราชดำริว่า ยักษ์มีรูปเห็นปานดังนี้ ชะรอยจะรู้พระสัทธรรมเป็นมั่นคง จึงเสด็จเข้าไปยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ แล้วตรัสปราศรัยกับยักษ์แปลงนั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้มีบุญญานุภาพอันยิ่งใหญ่ ในประเทศราวป่านี้ มีผู้ใดที่ได้รู้พระสัทธรรมบ้างหรือไม่ ยักษ์แปลงตอบว่า ดูกรมหาราช เรานี้และเป็นผู้รู้พระสัทธรรม ฯ ข้าแต่ท่านผู้มีบุญญานุภาพ ถ้าว่าท่านรู้ธรรมไซร้ ท่านจงแสดงธรรมนั้นให้ข้าพเจ้าฟังในกาลนี้ฯ ดูกรมหาราช เราจักแสดงธรรมให้ท่านฟังได้อยู่ แต่ทว่า ท่านจักเอาอะไรมากระทำสักการบูชา เราผู้แสดงธรรมเล่า ฯ ข้าแต่ท่านผู้มีบุญญานุภาพมาก ถ้าท่านแสดงธรรมให้ข้าพเจ้าฟังก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจักให้ท่านเคี้ยวกินเนื้อในสรีระของข้าพเจ้าภายหลัง ฯ ดูกรมหาราชเจ้าถ้ากระนั้นเราขอเตือนให้ท่านรู้ว่า เรานี้มีความหิวกระหายเป็นอันมาก อยากจะกินเนื้อท่านก่อนแล้วจึงจะแสดงธรรมให้ฟัง ถ้าเราไม่ได้กินเนื้อท่านก่อน ก็ไม่สามารถจะแสดงธรรมให้ท่านฟังได้ เพราะเหตุที่เรามีความหิวกระหายยิ่งนัก ฯ ดูกรมหายักษ์ ถ้าท่านกินข้าพเจ้าเสียก่อนแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้ฟังธรรมของท่าน ฯ ดูกรมหาราชเรานี้อดอาหารมามีความหิวกระหายยิ่งนักมิอาจที่จะแสดงธรรมให้ท่านฟังก่อนได้ ท่านจงให้เรากินท่านเสียก่อนเถิด ฯ ข้าแต่ท่านผู้มีบุญญานุภาพ ท่านจงรู้เถิดว่า การฟังธรรมเป็นลาภของข้าพเจ้า การที่กินเนื้อของข้าพเจ้าเป็นลาภของท่าน ท่านอย่าให้เสื่อมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเลย ธรรมเป็นอาหารของข้าพเจ้า ฝ่ายเนื้อของข้าพเจ้าเป็นอาหารของท่าน ท่านจงทำประโยชน์ให้สำเร็จด้วยกันทั้งสองฝ่ายเถิด
ในลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชยักษ์แปลงจึงรับคำว่า ดูกรท่านมหาราช คำที่ท่านพูดนี้ดีแล้ว เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย รับคำดังนี้แล้ว ก็นฤมิตอัญชนะบรรพตอันใหญ่ สูงประมาณได้สามคาพยุตไว้ในที่ใกล้ แล้วพูดว่า ดูกรมหาราช ถ้าหากว่าท่านอาจขึ้นไปบนยอดบรรพตนี้ แล้วลงมาโดยทางอากาศ ทำตนให้ตกลงปากของเราได้ไซร้ ในขณะเมื่อท่านโดดลงมาโดยทางอากาศนั้น เราจักแสดงธรรมให้ท่านฟัง ถ้าเราทั้งสองต่างทำได้อย่างนี้แล้ว ธรรมก็จักเป็นลาภของท่าน ส่วนเนื้อของท่านก็จักเป็นลาภของเรา จักสำเร็จประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
พระเจ้าธรรมโสณฑกราชได้ทรงฟังดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า ในสังสารวัฏอันมีที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้ปรากฏนี้ ถ้าเปล่าจากธรรมสามัคคีความพร้อมเพรียงแห่งธรรม คือ มิได้มีพระธรรมสำหรับโลกแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็มิได้มีความปรารถนาที่จะฟัง จะมีแต่กระทำปาณาติบาต อทินนาทาน และประพฤติกามมิจฉาจารกล่าวมุสาเสพย์สุราเมรัยเป็นต้น บางพวกก็จะทำแต่อกุศลต่างๆ คือ ฆ่าสุกรฆ่าแพะแกะและฆ่าเนื้อผ่านก เปรียบดุจดังว่าทารกทั้งหลายของชาวบ้านที่มิได้รู้จักการที่เป็นบุญและบาป การที่สัตว์ทั้งหลายเป็นไปดังนี้ ก็เพราะมิได้สดับฟังพระสัทธรรมนั้น อนึ่งสัตว์ทั้งหลายที่ร้องไห้รักกันอยู่ในสังสารวัฏ คือบุตรธิดาเป็นต้นร้องไห้ถึงบิดามารดา ๆ ร้องไห้เศร้าโศกถึงบุตรธิดาเป็นต้น ถ้าจะประมาณน้ำอัสสุชลก็มากกว่าในมหาสมุทร์ทั้งสี่ เมื่อนรชนผู้มีเมธาอันดีมามีความระลึกรู้ว่า พระสัทธรรม เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งผลและอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ พึงบริจาคทรัพย์เพราะเหตุจะรักษาร่างกายของตน หรือบริจาคร่างกายเพราะเหตุจะรักษาชีวิตของตนไว้ หรือบริจาคชีวิตของตนเสียเพราะเหตุที่จะรักษาพระสัทธรรมไว้ หรือบริจาคทั้งทรัพย์ทั้งกายทั้งชีวิต เพื่อจะได้สดับฟังพระธรรมที่มีผลอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นการนี้เราควรจะสละชีวิตร่างกายของเราให้เป็นอาหารแก่มหายักษ์ เพื่อจะได้สดับฟังพระสัทธรรมให้สมดังความปรารถนา
เมื่อพระเจ้าธรรมโสณฑกราช ทรงพิจารณาเห็นเหตุดังนี้ จึงตรัสว่า ข้าแต่มหายักษ์ผู้มีอานุภาพ เราจะยอมทำตามถ้อยคำของท่าน ให้เป็นการสำเร็จประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปบนบรรพตทรงยืนอยู่ยอดภูเขาแล้ว มีพระราชดำรัสตรัสประกาศว่า ข้าแต่หมู่เทพยดาทั้งหลายผู้เจริญ ขอเทพยเจ้าทั้งปวงจงสดับคำของข้าพเจ้าไว้เป็นทิพย์พยาน ข้าพเจ้าจะสละร่างกายพร้อมทั้งชีวิต ให้เป็นอาหารแก่มหายักษ์เพื่อประโยชน์จะฟังพระธรรมในกาลนี้ จะได้ปรารถนามนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ และพรหมสมบัติ และสาวกสมบัติ และปัจเจกพุทธสมบัติ และสมบัติท้าวจตุโลกบาล และจักรวัติสมบัติและฉกามาพจรสมบัติ และสมบัติในพรหมโลก ๑๒ ชั้นฟ้า ก็หามิได้โดยแท้ การที่ข้าพเจ้าสละร่างกาย และชีวิตให้เป็นทานแก่มหายักษ์ประสงค์จะสดับพระสัทธรรมในครั้งนี้ โดยปรารถนาจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า อันตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เพื่อจะเปลื้องตนและขนสัตว์ให้พ้นจากตุรโอฆสงสาร ในอนาคตกาลภายภาคหน้า ขอเทพยดาทั้งหลาย จงเป็นทิพย์พยานของข้าในกาลนี้
ในลำดับนั้น ท้าวโกสีย์ยักษ์แปลงจึงกล่าวว่า ดูกรมหาราช ท่านจงโดดลงมาโดยอากาศ ทำตนให้ตกลงตรงเข้าในปากเราในกาลนี้ พระเจ้าธรรมโสณฑกราชจึงตรัสว่า ข้าแต่มหายักษ์ เราบริจาคชีวิตของเรากับทั้งราชสมบัติของเราให้แก่ท่าน เพื่อประโยชน์จะฟังพระสัทธรรมของท่าน เพราะฉะนั้นท่านจงรีบแสดงธรรมให้เราฟังธรรมโดยเร็วพลันในกาลนี้ มีพระธาชดำรัสดังนี้แล้ว ก็มีพระราชหฤทัยประกอบด้วยปีติโสมนัส จึงโดดลงมาจากยอดบรรพตโดยทางนภากาศ
ในกาลนั้น ท้าวสักกเทวราชยักษ์แปลง ไม่สามารถจะดำรงเพศเป็นยักษ์อยู่ได้ ก็กลายเพศเป็นท้าวสหัสสนัยเทวราช เหาะขึ้นไปรับองค์พระเจ้าธรรมโสณฑกราชด้วยพระพาหาแผ่สัมผัสทิพย์ให้ถูกต้องประคองไว้แนบพระอุระประเทศ อุ้มเหาะไปยังดาวดึงส์เทวสถาน ครั้นถึงจึงวางพระเจ้าธรรมโสณฑกราช ให้นิสีทนาการเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภายใต้ปาริฉัตกรุกขมูลแล้ว ก็บูชาด้วยเครื่องสักการะมีมาลาและของหอมทิพย์เป็นต้น เมื่อจะแสดงธรรมให้พระเจ้าโสณฑกราชฟัง จึงกล่าวพระคาถาว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา | อุปฺปาทวยธมฺมิโน |
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ | เตสํ วูปสโม สุโข |
อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา | ยทา ปฺาย ปสฺสติ |
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข | เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา |
ความว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นเป็นรูปกายแล้วก็ดับไป ความระงับสังขารเสียได้นั้นเป็นความสุข บุคคลมาพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ด้วยปัญญาในกาลใด ผู้พิจารณาเห็นนั้น ก็ย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์เมื่อนั้น การที่มีความหน่ายในทุกข์นี้เป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อท้าวสักกเทวราชแสดงธรรมเทศนา แก่พระเจ้าธรรมโสณฑกราชดังนี้แล้ว จึงแสดงทิพย์สมบัติในเทวโลกให้พระเจ้าธรรมโสณฑกราชทอดพระเนตร แล้วจึงมีเทวดำรัสว่า ดูกรมหาราช ความปรารถนาของท่านได้สำเร็จถึงที่สุดแล้ว คือท่านปรารถนาจะทรงสดับพระธรรมเทศนา บัดนี้เราก็ได้แสดงธรรมิกถาให้ท่านฟังแล้ว ท่านจงมนสิการทำไว้ในใจให้มั่นคงเถิด ครั้นท้าวสักกเทวราชตรัสดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสรรเสริญพระเจ้าธรรมโสณฑกราชให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า ดูกรมหาราช ตัวท่านจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในโลก ทรงพระนามว่าโคดมสมดังความปรารถนาของท่าน แล้วจักเป็นนายกผู้นำสัตว์ให้พ้นจากโอฆสงสาร ได้บรรลุพระอมตมหานิพพานเป็นที่สุด บัดนี้ พระองค์จงลงไปในมนุษย์โลก เสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมจรรยาไม่เนิ่นช้าเท่าใด ต่อไปในอนาคตกาลภายหน้า ท่านก็จักได้ตรัสเป็นพระพุทธสัพพัญญูในโลกนี้ ท้าววชิรปาณีตรัสดังนี้แล้ว ก็พาพระเจ้าธรรมโสณฑกราชลงมาจากเทวโลก แล้วให้ประดิษฐานครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี เมื่อจะประสาทพรให้เกิดความสวัสดีมีอายุยืนยาว จึงกล่าวพระคาถาว่า
ยาว ติฏฺนฺติ เสเลนฺโต | จนฺทสุริยา วิโรจนฺติ |
ตาว ติฏฺติ โส ราชา | รชฺชํ ปาเลตุ สพฺพทา |
ความว่า บรรพตอันแล้วด้วยศิลามีนามว่าสิเนรุคิรี ยังประดิษฐานอยู่ในโลกนี้ตราบใด พระจันทร์พระอาทิตย์ทั้งสอง ยังส่องโลกให้สว่างไสวอยู่ตราบใดก็ดี พระองค์จงเสวยราชย์รักษาแว่นแคว้นราชธานีอยู่ทุกเมื่อสิ้นกาลตราบนั้นเทอญ
ท้าวสักกเทวราชประสาทพรด้วยประการดังนี้แล้ว จึงตรัสสอนพระเจ้าธรรมโสณฑกราชให้ตั้งอยู่ในพระอัปปมาทกรรมแล้วนิวัฒนาการกลับยังเทวโลกเข้าสู่เวชยันตวิมาน
ฝ่ายพระเจ้าธรรมโสณฑกราชนั้น ก็ทรงบำเพ็ญบุญญาภิสมภารมีทานบริจาคเป็นต้น ครั้นทำลายขันธ์สิ้นพระชนม์ ก็ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตเทวพิภพ
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมนราศภผู้ศาสดา ทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังนี้แล้วจึงทรงประกาศอริยสัจจกถา เมื่อจบพระอริยสัจจเทศนาครั้งนั้นเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายมากด้วยกัน ต่างได้บรรลุธรรมาภิสมัยมีพระโสดาเป็นต้น สมเด็จพระทศพลจึงประชุมชาดกว่า พระราชมารดาในครั้งนั้นครั้นกลับชาติมาคือพระมหามายาพุทธมารดาในกาลนี้ พระราชบิดาในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระเจ้าสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาในกาลนี้ ท้าววชิรปาณีสักกเทวราชในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระพิมพายโสธราในกาลนี้ ราชบริษัททั้งหลายในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพุทธบริษัทในกาลนี้ พระยาธรรมโสณฑกราชในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระตถาคตนี้และท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ตถาคตแสดงมาในกาลนี้