- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๔๒. จันทเสนชาดก
ปฺจกามคุณํ ภูหนฺตีติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต นิกฺขมานิสํสํ อารพฺก กเถสิ
สตฺถา อันว่าพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระเชตวัน ทรงพระปรารภเนกขัมมานิสงส์ให้เป็นเหตุ จึงตรัสเทศนาชาดกนี้ให้เป็นผล อันพระสังคีติกาจารย์กำหนดด้วยบาทต้นพระคาถาว่า ปฺจกามคุณํ ฏหนฺตีติ ดังนี้เป็นอาทิ
เอกทิวสมฺหิ แท้จริง วันหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ เป็นของไม่มีแก่นสาร เปรียบปานประหนึ่งว่าต้นไม้ละหุ่ง และเปรียบดุจดังว่าต้นกัทลีอันมิได้มีแก่นแน่นหนา และอุปมาดุจกาลแห่งฟองน้ำอันตั้งขึ้น และอุปมาเช่นกับสายฟ้าอันแลบในอากาศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในวิสัยแห่งมัจจุราช เมื่อจะตายย่อมไม่รู้สึกตนว่าวันนี้หรือปะรืนนี้เราจักตาย แท้จริงสรรพสัตว์ทั้งหลายที่กระทำบาปหยาบช้าลามก ครั้นตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมไปตกในอบายมีนรกเป็นต้น อนึ่ง ชนทั้งหลายเหล่าใด ปราศจากศรัทธามิได้พิจารณาเห็นอานิสงส์ผลแห่งการบุญ ก็ย่อมไม่สร้างพระพุทธปฏิมากร และไม่ปลูกโพธิพฤกษ์อันเป็นมหาโพธิ์ และมิได้ก่อพระสถูปอันเป็นเจติยสถานและมิได้ปลูกสร้างเสนาสนะมีวิหารเป็นต้น มีจิตยินดีแต่ในฝ่ายบาปฝ่ายอกุศลมีประการต่าง ๆ แล้วกระทำทับถมตนของตนโดยลำดับกาล นรชนทั้งหลายจำพวกนั้น ครั้นกายแตกทำลายจุติจากโลกนี้ ย่อมไปเกิดในอบายทั้งสี่ มีนรกเป็นต้น อนึ่ง นรชนทั้งหลายจำพวกใดประกอบด้วยศรัทธา พิจารณาเห็นอานิสงส์ผลแห่งบุญ ย่อมสร้างพระพุทธปฏิมากร หรือปลูกต้นไม้มหาโพธิ์ หรือก่อพระสถูปกระทำให้เป็นเจติยสถาน หรือปลูกสร้างวิหารสะพานก็ดี นรชนทั้งหลายจำพวกนั้น ครั้นทำลายขันธ์จากโลกนี้ ย่อมขึ้นไปบังเกิดในเทวโลกทิพยสถาน เสวยทิพยสมบัติรัตนพิมานสะพรั่งพร้อมด้วยนางอัปสรเทพกัญญา
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ พระภิกษุทั้งหลายจึงอาราธนาพระพุทธสัพพัญญ เพื่อจะสดับอดีตนิทาน พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต ภิกฺขเว พาราณสิยํ ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลเป็นอดีตล่วงแล้ว มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า พรหมทัต เสวยสิริราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระราชานั้นประกอบด้วยศรัทธาทรงยินดีในทานศีลภาวนาอปัจจายนะธรรม และทรงประกาศแนะนำมหาชนชาวพระนครให้บริจาคทาน และให้กระทำปฏิสังขรณ์พระอารามอันชำรุดคร่ำคร่าเป็นต้น ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคนเข็ญใจอนาถา ทั้งเป็นทุคคตบุรุษกำพร้าหาที่พึ่งมิได้ เที่ยวเก็บฟืนและผักในป่ามาขายเลี้ยงชีวิตกับด้วยภรรยา
อยู่มาวันหนึ่ง ทุคคตบุรุษพระโพธิสัตว์นั้นเข้าไปสู่ป่ากับภรรยาเพื่อจะเก็บฟืนและผักมาขาย ได้เห็นพระพุทธรูปในวิหารอันคร่ำคร่าหลังหนึ่ง ซึ่งมีพระเศียรและพระกรรณพระบาทอันหักทำลาย เพราะฝนตกเขาะกระทำให้สลายแตกหัก จึงดำริว่า ดังเราชมเชยพระพุทธปฏิมากรองค์นี้มีรูปและทรวดทรงอันงามยิ่งนักเรายังมิได้เคยเห็นเลย เมื่อเรามาเห็นพระพุทธรูปอันชำรุดสลายเห็นปานดังนี้ เราจักกระทำอย่างไรดีหนอ ครั้นพระโพธิสัตว์ดำริฉะนี้แล้ว ก็มีจิตโสมนัสประกอบด้วยศรัทธาจึงพูดกับภรรยาว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์ ผ้าผ่อนท่อนสไบและเงินทองสิ่งใดในเรือนเราก็มิได้มี และจะกระทำอย่างไรจึงจักได้ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ อย่ากระนั้นเลย เราทั้งสองช่วยกันเอาดินเหนียวมาขยำเข้าให้ดี แล้วกระทำปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรองค์นี้เถิด เมื่อสามีภรรยาทั้งสองปรึกษากันตกลงแล้ว จึงเอาดินเหนียวมาขยำทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธนั้น ให้ที่ชำรุดหักพังทั้งปวงเต็มบริบูรณ์เป็นปรกติดีแล้ว ครั้นเวลาเย็นก็พากันกลับมาเคหสถาน
ฝ่ายพระโพธิสัตว์นั้นครั้นมาถึงเรือน ก็มีจิตเบิกบานเลื่อมใสยิ่งนัก จึงพูดแก่ภรรยาว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ ทรัพย์อันใดอันหนึ่งเป็นต้นว่าเงินและทองก็ดี ในเรือนเราทั้งสองนี้มิได้มีเลย เราปรารถนาจะปิดทองพระพุทธรูปที่เราปฏิสังขรณ์ ทำไฉนจึงจะได้ปิดทองสมดังเราปรารถนา
ภริยาจึงพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ถ้าท่านจะปรารถนาปิดทองพระพุทธให้ได้ ท่านจงพาตัวข้าพเจ้าไปขายในเรือนผู้มั่งคั่งแล้วถือเอาเงินหรือทองจากเรือนนั้น มาปิดพระพุทธรูปตามความปรารถนาของท่านเถิด
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งจึงพาภรรยาไปขายไว้ในเรือนของผู้มั่งคั่ง และรับเอาเงินมาซื้อทองคำเปลวปิดพระพุทธปฏิมากร ครั้นปิดสำเร็จแล้วก็มีจิตประกอบไปด้วยความยินดีปรีดา จึงไปบอกภรรยาว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ พระพุทธรูปที่เราช่วยกันปฏิสังขรณ์นั้น เราได้ปิดทองสมดังปรารถนาแล้ว เจ้าจงตั้งใจอนุโมทนาส่วนกุศลเถิด แต่ตัวของเรานี้ปรารถนาจักได้ตรัสเป็นพระพุทธสัพพัญญูในอนาคตกาลภายหน้า
ภรรยาได้ฟังดังนั้นก็มีจิตโสมนัสปรีดา จึงตั้งปณิธานปรารถนาว่า ด้วยเดชะกุศลที่ข้าพเจ้าสละกายให้สามีนำมาขายแล้วได้ปิดทองพระพุทธรูปในกาลนี้ ไปในภพภายหน้า ขอให้ข้าพเจ้ามีสีกายอันงามดุจสีทองคำธรรมชาติ และมีรัศมีกายอันโอภาสสว่างไปในทิศทั้งปวง ให้สมดังปณิธานปรารถนาของข้าพเจ้าในกาลนี้
ครั้นกาลต่อมา ภรรยาของพระโพธิสัตว์ก็พ้นจากความเป็นทาสี ผัวเมียทั้งสองก็มีจิตยินดีในกาลกุศล ระลึกถึงบุญที่ตนได้กระทำกุศลวัตรตราบเท่าอายุกาล เมื่อพระโพธิสัตว์มีอายุถึงปริโยสานที่สุด ก็มีเทพบุตรนำเอารถมาจากเทวโลกลอยอยู่ในอากาศแล้วร้องเชิญว่า ข้าแต่มหาบุรุษท่านจงมาเถิด มาขึ้นรถไปสู่เทวโลกของเราทั้งหลาย
พระโพธิสัตว์จึงถามเทพบุตรทั้งนั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่มีสมภารอันก่อสร้างแล้วได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นไหน ครั้นเทพบุตรเหล่านั้นบอกว่า เคยไปเกิดในดุสิตเทวพิภพ จึงกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ท่านทั้งหลายจงนำเราไปในพิภพดุสิตนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว ก็ประหนึ่งว่าขึ้นสู่รถ หลับแล้วและตื่นขึ้นก็ไปบังเกิดในวิมานทองอันสูงได้ ๑๒ โยชน์ เกลื่อนกล่นไปด้วยนางเทพอัปสรเป็นยศบริวาร อันมีในดุสิตเทวสถานนั้น เมื่อเทวบุตรโพธิสัตว์ปรารถนาโภคสมบัติใด ๆ ก็ได้โภคสมบัตินั้น ๆ ด้วยวรรณสีกายและยศและความเป็นใหญ่โดยอิสรภาพ พระโพธิสัตว์เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในดุสิตเทวพิภพนั้นสิ้นกาลนาน เมื่อปรารถนาจะบำเพ็ญโพธิสมภารในมนุษย์โลกให้ไพบูลย์ ก็จุติจากดุสิตเทวพิภพ ถือเอาปฏิสนธิในครรภ์อัครมเหสีแห่งพระเจ้าพรหมทัต ครั้นถ้านทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์ ในวันพระโพธิสัตว์ประสูตินั้น ห่าฝนแก้ว ๗ ประการก็ตกลงมาจากอากาศ ใช่แต่เท่านั้น ศุภนิมิตบังเกิดให้เห็นปรากฏประดุจดวงภานุมาศทั้งสอง คือ พระจันทร์และพระอาทิตย์ ลอยมาตกลงหน้าพระลาน พระประยูรญาติทั้งหลายมีพระเจ้าพาราณสีเป็นประธาน ถือเอาศุภนิมิตนั้นเป็นเหตุพร้อมกันถวายนามโพธิสัตว์ว่า จันทเสนกุมาร
ครั้นพระโพธิสัตว์เจริญวัยวัฒนาการมีพระชนม์ได้ ๑๒ ปี ทรงพระลักษณะราศีพร้อมมูล ประกอบด้วยรูปสิริอันงามบริบูรณ์หาบุรุษผู้ใดจะเสมอมิได้ พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของพระโพธิสัตว์ปิโยรส ปรารถนาจะกระทำการอภิเษกให้ครองสิริราชสมบัติแทนพระองค์ จึงส่งพระราชสาสน์ไปยังพระยาร้อยเอ็ดว่า พระยาทั้งร้อยเอ็ดพระนครจงประดับตกแต่งพระธิดาของตนๆ ส่งมาเมืองพาราณสี ให้โอรสของเราเลือกคู่ในการพิธีราชาภิเษกให้เป็นเอกอัครมเหสีครองราชย์สมบัติ
พระยาทั้งร้อยเอ็ดได้ทราบราชสาสน์ของพระเจ้าพรหมทัตต่างก็ประดับตกแต่งธิดาของตน ๆ ส่งไปยังเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้พระโพธิสัตว์พระราชโอรสเลือกราชกุมารทั้งร้อยเอ็ดพระองค์นั้น เมื่อพระจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์เลือกธิดาของพระยาร้อยเอ็ด มิได้พอพระทัยในราชธิดาแม้แต่สักคนหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงพระพิโรธจึงตรัสว่า โอรสของเรานี้เห็นจะเป็นบ้าหาสติสัมปชัญญะมิได้ ราชธิดาของพระยาร้อยเอ็ดทั้งหลายจึงมิได้เป็นที่รักพอใจของโอรสเรา เราไม่สามารถจะหาราชธิดาใดให้เสมอด้วยโอรสของเราได้
พระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารได้สดับพระราชโองการดังนั้น จึงถวายบังคมพระราชบิดามารดาแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ถ้าพระชนกชนนีทั้งสองทรงอนุญาตแล้ว หม่อมฉันจะกราบถวายบังคมลาฝ่าบาทไปเที่ยวเลือกหาภรรยาตามความพอใจ ถ้าหากว่าบุญของหม่อมฉันมีอยู่ไซร้ หม่อมฉันก็จักได้หญิงที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งปวง ทั้งเป็นผู้มีศีลวัตร์และประกอบด้วยรูปสมบัติอันงามยิ่ง และเป็นหญิงอันสมบูรณ์ด้วยปัญญาคุณอันคมกล้า สมดังความปรารถนาที่มุ่งมาตร์ ครั้นพระชนกชนนีตรัสอนุญาตแล้ว พระจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์ก็ถวายบังคมลากระทำประทักษิณพระราชบิดามารดาแล้ว ก็ออกมาจัดหาเสบียงทางใส่กระทอแขวนเหนือพระอังสา ออกจากพระนครพาราณสีไปสิ้นมรรคาประมาณได้ ๑๐ โยชน์ ก็บรรลุถึงเมืองสากลนครตำบลหนึ่ง จึงเข้าไปหยุดพักอยู่ในเมืองนั้น
ฝ่ายพระราชาผู้ครองเมืองสากลนั้น มีราชธิดาสององค์มีรูปทรงอันงามอุดมสมเป็นขัตติยนารีราชกานดา ราชกุมารีทั้งสองนั้น ครั้นเพลาสายัณหสมัย ก็ประดับสรีรกายาด้วยเครื่องอลังการแวดล้อมไปด้วยบริวารเป็นอันมากพากันไปสู่ท่าน้ำ สรงสนานแล้วก็เล่นอยู่ในชลธารเป็นที่เบิกบานพระทัยทุกวัน
พระจันทเสนราชกุมารนั้นทอดพระเนตร์เห็นพระราชธิดาทั้งสองจึงดำริติเตียนในพระทัยว่า ราชธิดาทั้งสองนี้มิได้มีสติสัมปชัญญะเลย ขาดจากขัตติยนารีจรรยา มีอากัปปกิริยาไม่น่าจะเป็นที่รักใคร่ของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งเลย ทรงดำริดังนี้แล้วก็อาศัยอยู่ ณ เมืองนั้นสองวัน ครั้นรุ่งขึ้นวันที่สามก็ออกจากสากลนครไปสิ้นมรรคาประมาณ ๒๐ โยชน์ก็บรรลุถึงเมืองเอกลารภูมิ พระราชาผู้ปกครองมิได้มีราชบุตร มีแต่พระราชธิดาอยู่ ๕ นาง พระราชิดาทั้ง ๕ นางนั้น มีรูปสรรพางค์อันงามอุดมดุจนางเทพอัปสรในสวรรค์ ในราชธิดาทั้ง ๕ ราชธิดาคนหนึ่งมีบริวารประมาณร้อยหนึ่ง ครั้นเพลาสายัณหสมัยราชธิดาทั้ง ๕ นั้นก็ประดับกายพากันไปเพื่อจะสรงสนานพร้อมด้วยบริวาร ครั้นไปถึงสระโบกขรณีในสวนอุทยานก็พากันลงสรงวารี แล้วกลับขึ้นมาเล่นยุทธวิธีรบซึ่งกันและกัน เสียงสนานโกลาหลพร้อมด้วยพวกบริวารของตน ๆ ในที่นั้น
ฝ่ายพระจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์ช่อนตัวอยู่บนต้นละหุ่ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นราชธิดาทั้ง ๕ องค์นั้น ก็มีความสังเวชสลดจิตจึงดำริว่านางกษัตริย์เหล่านี้มีรูปทรงสัณฐานอันงามยิ่ง แต่เป็นหญิงปราศจากความสำรวมอินทรีย์ มีปากอันกล้าและเสียงดัง มิได้ระวังมือและเท้าและแข้งขาซึ่งจะเมื่อยล้าหักทำลาย ขึ้นชื่อว่าขัตติยกัญญาทั้งหลายควรจะมีปรกติกายวาจาใจให้ดีงาม ราชธิดาเหล่านี้มีกิริยามรรยาทไม่เป็นที่ให้เกิดความพอใจของเราเลย ดำริดังนี้แล้วก็พักอยู่ในเมืองนั้น ๒ วัน ครั้นรุ่งขึ้นวันที่สามก็ออกจากเมืองนั้นไป สิ้นระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ ก็บรรลุถึงอัมพังคนคร
ฝ่ายพระราชาผู้ครองอัมพังคนครนั้น มีธิดาองค์หนึ่งชื่อว่า อุบลวาเทวี นางมีพระสรีรรูปเป็นที่นำมาซึ่งความยินดี ทั้งประกอบด้วยสรรพลักษณะอันอุดมควรเชยชมให้เกิดความปลื้มใจ มีฉวีวรรณลันผ่องใสเปรียบดังนางเทพอัปสรก็ปานกัน รัศมีกายของนางนั้นโอภาสสว่างไปประมาณได้วาหนึ่งใน ๔ ทิศ ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่นางได้ปิดทองพระพุทธปฏิมากร และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปในศาสนาพระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นพระนางมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาก็ให้สร้างปราสาท ๗ ชั้น แล้วให้พระราชธิดานั้นขึ้นอยู่เบื้องบนปราสาทชั้นที่ ๗ กับหญิงบริจาริกาคนหนึ่งสำหรับใช้สอยและคอยบำรุงรักษา กษัตริย์ทั้งหลายในชมพูทวีปต่างแต่งเครื่องราชบรรณนาการกับทั้งราชสาสน์มาสู่ขอเพื่อจะไปอภิเษกเป็นเอกอัครมเหสี ก็มิได้สมดังความปรารถนา
อยู่มาวันหนึ่ง นางอุบลวาราชธิดาบรรทมอยู่ ณ พระที่สิริไสยาสน์ ครั้นเพลากึ่งราตรี อำนาจกิเลศทำให้เร่าร้อนรำคาญในอารมณ์ นางไม่สามารถที่จะบรรทมนิ่งอยู่ได้ จึงอุฏฐาการจากที่บรรทมทรงพระกรรแสงร่ำไห้ แล้วกลับบรรทมและลุกขึ้นทรงกรรแสงอีก เป็นทั้งนี้เพราะพระราชธิดาตั้งอยู่ในวัยกำดัดรุ่นจึงมีความหมกมุ่นในกามราคเป็นธรรมดา
ฝ่ายนางบริจาริกาหญิงผู้บำเรอ ได้ยินเสียงพระราชธิดาปริเทวนาการก็สงสัยจึงถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เหตุอะไรพระแม่เจ้าจึงปริเทวนาการเห็นปานดังนี้ พระราชธิดาก็มิได้กล่าวคำตอบ แต่หญิงผู้บำเรอเฝ้าปลอบอ้อนวอนถามอยู่ถึงสองครั้งสามครั้ง พระราชธิดาก็นิ่งเสียมิได้ตอบประการใด ครั้นรุ่งเช้านางบริจาริกามีความหนักใจกลัวความผิด จึงไปเฝ้าพระเจ้าอัมพังคราชทูลประพฤติเหตุนั้นให้ทรงทราบ
พระเจ้าอัมพังคราชได้ทรงสดับดังพั้น จึงทรงพระราชดำริว่า ธิดาของเราร้องไห้ปริเทวนาการด้วยเหตุอะไรหนอ ข้าวน้ำโภชนาหารและวัตถาลังการเงินทองก็เพียงพอทุกสิ่งสรรพ์ เมื่อธิดาเราปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาทุกประการ ธิดาเราจะเกิดทุกข์ร้อนรำคาญด้วยเหตุอะไรก็มิได้มี ธิดาเราโศกเศร้าในกาลนี้ ชะรอยจะเป็นเพราะอยู่ผู้เดียวไม่มีเพื่อนสอง นางคงจะปรารถนาสามีผู้ปกครองเป็นมั่นคง เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้แล้วจึงมีรับสั่งให้หาจตุรงค์เสนาเข้ามาเฝ้า แล้วมีพระราชดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงส่งพระราชสาสน์ไปถึงพระยาร้อยเอ็ด ให้ตกแต่งราชบุตรของตนๆ ส่งมาในเมืองเรานี้ เราจะให้ธิดาของเราเลือกราชกุมารที่มีรูปอันงามอันเป็นที่รักพอใจ ให้เป็นสามีตามความปรารถนา
ในลำดับนั้น อำมาตย์ราชเสนาทั้งหลายจึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช ตามพระราชโองการที่ตรัสนี้ มิได้เป็นการอันควร อนึ่งขึ้นชื่อว่าขัตติยนารีที่จะแสวงหาสามีนั้นมิได้สมควรเลย พระพุทธเจ้าข้า จึงมีพระราชดำรัสว่า ถ้ากระนั้นเราจักกระทำอย่างไร ธิดาเราจักจึงได้สามีสมความปรารถนาเล่า อำมาตย์ราชเสนาทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ควรให้กระทำรูปนกยูงอันประกอบด้วยจักรและยนต์และนัยน์ตาทั้งสองและตั้งไว้ยอดปรางค์ปราสาท ถ้ากุมารที่เป็นขัตติยราชผู้ใด มีโพธิสมภารได้กระทำไว้กับพระราชธิดาในกาลก่อน เมื่อเป็นผู้ฉลาดในศิลปศาสตร์ธนูศรทั้งปวง ก็จักถือเอาธนูมายิงรูปมยุรยนต์ที่ตั้งไว้บนยอดปราสาท เมื่อขัตติยราชกุมารพระองค์นั้นยิงมยุรรูปยนต์ตกลงมา ก็จักได้พระราชธิดาของพระองค์ ถ้ายิงไม่ถูกก็จักไม่ได้พระราชธิดา ถ้าโปรดให้เป็นไปดังนี้ จึงเป็นการสมควร พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าอัมพังคราชได้ทรงฟังพวกอำมาตย์ทูลดังนั้น ทรงเห็นด้วย จึงให้กระทำรูปนกยูงดังกล่าวแล้วตั้งไว้บนยอดปราสาท แล้วให้เหล่าอำมาตย์ไปป่าวร้องพระยาร้อยเอ็ดพระนครว่า ถ้าผู้ใดเป็นผู้สามารถมีศิลปศาสตร์ได้ฝึกหัดแล้ว ผู้นั้นจึงถือเอาธนูไปยิงรูปนกยูงยนต์ ที่บนยอดปราสาทให้ตกลงมา พระเจ้าอัมพังคราชจะยกพระราชธิดาให้แก่ผู้นั้น
ฝ้ายราชกุมารทั้งหลายทั้งร้อยเอ็ดพระนครได้ฟังประกาศป่าวร้องดังนั้น ต่างคนก็มีความยินดีที่จะได้พระราชธิดา จึงตกแต่งกายถือธนูรีบมายิงรูปนกยุงยนต์ ก็มิอาจที่จะยิงรูปนกยูงยนต์ให้ถูกตกลงมาได้ ขัตติยกุมารทั้งหลายมีความละอายก็พากันกลับไป
ในลำดับนั้น พระเจ้าอัมพังคราชจึงให้ประกาศป่าวร้องให้เสนาบดีทั้งหลายและชาวพระนครทั้งสิ้น ตลอดถึงชาวบ้านปัจจันตคามและนายเนสารท ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะยิงรูปนกยูงยนต์นั้นให้ตกลงได้
ขณะนั้น มีนายเนสารทพรานผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เฉลียวฉลาด ฝีมือธนูแม่นยำกว่านายเนสารททั้งปวง ครั้นได้ฟังเสียงป่าวร้องมาดังนั้นก็มีความยินดี จึงถือธนูรีบมาในเพลาตะวันเที่ยง เป็นผู้มีกายเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกแดดแผดเผา ไม่สามารถจะเข้าไปในเมืองให้ทันประตูได้ จึงนอนพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งที่ริมพระทวาร
เวลานั้น พระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารมาพบนายเนสารทนั้นจึงถามว่า ดูกรลุง ลุงจะไปข้างไหนและมาธุระอะไร จึงได้มานอนพักอยู่ไต้ต้นไม้นี้? ดูกรมาณพ เรามานี้ด้วยคิดว่า จะยิงรูปนกยูงยนต์แล้วจักได้พระราชธิดา แต่เรามาไม่ทันเขาปิดประตูเมืองจึงต้องนอนพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้นี้ ดูกรมาณพ ราชธิดานั้นมีลักษณะงามยิ่งนัก รูปทรงผิวพรรณและดวงพระพักตร์ดุจนางเทพอัปสรในเมืองสวรรค์ และพระราชบิดารักษาไว้ในเบื้องบนปราสาทถึง ๗ ชั้น ฝ่ายตัวท่านเป็นผู้มีรูปทรงอันงามยิ่งนัก ท่านจงไปเถิดคงจักได้พระราชธิดานั้น พระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารได้ฟังดังนั้นก็มีความโสมนัสยิ่งนัก ทั้งความรักก็เกิดขึ้นประดุจดังว่าจดเยื่อกระดูกฉะนั้น จึงพูดว่า ดูกรลุง ธนูของเราก็มิได้มีมา เราจะได้พระราชธิดานั้นด้วยอุบายอะไร? ดูกรมาณพ ท่านจงถือเอาธนูของเรานี้ไปเถิด เห็นท่านจะได้ราชธิดานั้นเป็นมั่นคง พระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี ครั้นรุ่งเช้าก็ถือเอาธนูเข้าไปในพระนคร ครั้นไปถึงหน้าพระลานก็เข้าไปถวายบังคมพระเจ้าอัมพังคราชทูลว่า ข้าพระบาทจะขอยิงรูปนกยูงยนต์ถวายให้ทอดพระเนตร ทูลดังนี้แล้วก็ขึ้นธนูดีดสาย เสียงสายธนูที่ดีดนั้นก็บรรลือลั่นทั่วทั้งพระนคร พระจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์จึงหยิบลูกธนูมาพาดสายยิงไป ลูกธนูก็ไปถูกรูปนกยูงยนต์กับทั้งจักรให้ตกลงในที่นั้น
พระเจ้าอัมพังคราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็มีพระหฤทัยโสมนัสพ้นที่จะประมาณ จึงสวมกอดจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์แล้วจุมพิตเศียรเกล้าตรัสว่า ท่านจงเป็นบุตรเราเถิด บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งที่จะประเสริฐเสมอด้วยท่านนี้มิได้มี ธิดาของเราสมควรแก่ท่านผู้เดียว เราจักกระทำการอภิเษกยกธิดาของเราให้แก่ท่าน ตรัสดังนี้แล้วก็กระทำการอภิเษกกษัตริย์ทั้งสองให้ครองกัน
พระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารก็ขึ้นอยู่บนปราสาท ๗ ชั้น เสวยสิริสมบัติเป็นมหัศจรรย์กับด้วยนางอุบลวาราชธิดา ดุจสมเด็จอมรินทราเสด็จอยู่ ณ ท่ามกลางเทพบริษัท มีนางสุชาดาเทพรัตนกัญญาเป็นประธาน เมื่อเสวยราชสมบัติรัชสิงคารนานมาก็ระลึกถึงพระราชบิดามารดาทั้งสอง จึงตรัสแก่นางอุบลวาเทวีว่า ดูกรพระน้อง พี่จะขอลาเจ้าไปเยี่ยมพระราชบิดามารดาของพี่ พระน้องค่อยอยู่จงดีโดยควรแก่ความสุขเถิด พี่ไปเฝ้าพระราชบิดามารดาแล้ว ก็จะกลับมาอยู่กับพระน้องในเมืองนี้
นางอุบลวาเทวีได้สดับคำพระภัสดาก็หวั่นพระทัย จึงทูลว่า ข้าแต่พระสามี ไฉนพระองค์จึงมาตรัสฉะนี้ แม้พระองค์เสด็จจรลีไปแห่งใดหม่อมฉันก็ขอตามเสด็จไปกับพระองค์ แม้มิทรงอนุญาตให้ตามเสด็จไปหม่อมฉันก็จะม้วยบรรลัยไม่ขออยู่ทนทุกข์ทรมา ขอพระองค์ได้กรุณาให้หม่อมฉันไปด้วยเถิด
พระจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ถ้าฉะนั้น ก็ตามอัธยาศัยของพระน้อง ตรัสดังนี้แล้ว ก็ไปเฝ้าพระเจ้าอัมพังคราชพร้อมด้วยนางอุบลวาเทวี แล้วทูลประพฤติเหตุให้ทรงทราบทุกประการ
พระเจ้าอัมพังคราชจึงตรัสว่า ถ้ากระนั้น เจ้าจงพาอุบลวาเทวีธิดาเราไปด้วยเถิด จะได้รู้จักตระกูลของเจ้าผู้เป็นสามี เจ้าทั้งสองจงพากันไปโดยสวัสดีควรแก่ความสุขสำราญ
พระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารรับพระพรแล้ว ก็ถวายบังคมลาสองกษัตริย์ พานางอุบลวาเทวีออกจากพระนคร พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๕๐๐ คน เทพยดาช่วยย่นมรรคาให้ถึงแดนเมืองพาราณสีในวันที่ ๗ ครั้นถึงต้นไทรใหญ่ก็เข้าพักอาศัยระงับร้อนอยู่ใต้ร่ม
ฝ่ายโรธยักษ์ผู้สิงอยู่ที่ต้นไทรนั้น ครั้นเห็นพระจันทเสนราชกุมารพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายมาอาศัยอยู่ จึงลงจากต้นไทรใหญ่มาสู่สำนักแล้วกล่าวว่า ดูกรมาณพ ท่านมาสู่ปริมณฑลต้นไม้ของเราด้วยเหตุอะไร เรานี้เป็นผู้ใคร่จะเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ ท่านจงให้เนื้อมนุษย์เรากินในกาลนี้
พระจันทเสนราชกุมารกล่าวตอบว่า ดูกรยักษ์ผู้เจริญ เราจักให้เนื้อท่านกิน แต่ทว่าเราจักขอผลัดไปเยี่ยมเยือนบิดามารดาเราก่อน เมื่อเราได้เยี่ยมเยือนบิดามารดาเราแล้ว เราจะมาให้ท่านกินเป็นอาหารในที่นี้
โรธยักษ์จึงกล่าว่า ดูกรมาณพ คำที่ท่านกล่าวแก่เรานี้ถ้าเป็นความสัจจริงแล้ว ท่านจะไปเยี่ยมเยือนบิดามารดาของท่านก็ตามเถิด แล้วจงกลับมาให้เรากินเป็นอาหาร
พระจันทเสนราชกุมารรับคำยักษ์แล้ว ก็ไปยังเมืองพาราณสีพร้อมด้วยบริวารทั้งหลาย ครั้นรุ่งเช้าก็เข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระราชชนกชนนี แล้วทูลความจำเดิมแต่ออกจากเมืองพาราณสี แล้วและได้นางอุบลวาเทวีให้ทรงทราบทุกประการ แล้วพานางอุบลวาเทวีผู้มีรูปทรงสัณฐานผิวพรรณอันงาม ทั้งมีรัศมีภายอันสว่างแผ่ไปดุจรัศมีพระจันทร์จะหาหญิงใดในโลกเสมอด้วยนางนั้นมิได้มี ให้เข้าเฝ้าถวายบังคมพระชนกชนนี แล้วก็มอบนางถวายพระราชบิดามารดา ครั้นรุ่งขึ้นวันที่สามก็อำลาพระชนกชนนีและนางอุบลวาเทวีอัครภรรยา ครั้นพระราชชนกชนนีตรัสถามจึงทูลตามความที่ได้ให้ปฏิญาณไว้แก่โรธยักษ์อันสิงอยู่ ณ ต้นไทร
พระราชบิดามารดาได้ทรงฟังก็มีหทัยดุจแตกทำลาย พากันทรงพระกรรแสงปริเทวนาการร่ำไห้แล้วตรัสว่า ดูกรพ่อเป็นปิยบุตร เจ้าอย่าไปเลย จงอยู่ในบ้านเมืองของเราเถิด เสนาประชาราษฎรทั้งหลายของเรามีอยู่เป็นอันมาก เราจักกรีฑาทัพไปรบยักษ์นั้นให้ถึงความตายก็จักได้ ไม่ควรที่เจ้าจะออกไปยอมให้ยักษ์กินเป็นอาหาร
พระจันทเสนราชกุมารจึงทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระชนกชนนีทั้งสองพระองค์ อย่าได้ทรงตรัสดังนี้เลย หม่อมฉันได้ให้ปฏิญาณแก่ยักษ์แล้วถึงตัวจะตายก็จะไม่ทำลายความสัจ ทั้งสองพระองค์อย่าทรงโทมนัสเลย ทูลดังนี้แล้วก็ถวายบังคมลากษัตริย์ทั้งสองไปอยู่สำนักโรธยักษ์
ฝ่ายโรธยักษ์นั้นแลเห็นพระโพธิสัตว์มาแต่ไกล ก็มีหฤทัยอันสะดุ้งกลัวอำนาจ จึงลงจากต้นไทรนั้นโดยเร็วพลัน แล้วแลเห็นสรีรกายทั้งสิ้นของพระโพธิสัตว์นั้นโพลงรุ่งเรืองประดุจดังว่าเปลวอัคคีจึงร้องว่า ดูกรมหาบุรุษท่านอย่ามาสู่สำนักเรานี้เลย จงไปในที่อื่นเถิด
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า ดูกรยักษ์ ถ้าท่านจักไม่เคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ไซร้ ท่านจงให้คำปฏิญาณแก่เราในกาลนี้ เราจักพาเอาท่านไปเลี้ยงดูให้มีความสุขสำราญ
ครั้นยักษ์นั้นให้คำปฏิญาณว่าจักไม่กินเนื้อมนุษย์ต่อไป พระโพธิสัตว์ก็ให้ยักษ์นั้นสมาทานศีล ๕ และพายักษ์นั้นไปยังเมืองพาราณสี ถวายบังคมพระราชชนกชนนีแล้วก็ทูลความตามประพฤติเหตุให้ทรงทราบ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระโสมนัสยินดี
จำเดิมแต่นั้นมา โรธยักษ์ก็เคี้ยวกินเครื่องพลีกรรมที่ชนทั้งหลายนำมาบูชา แล้วประดิษฐานอยู่ท่ามกลางเมืองพาราณสีโดยความสุขสำราญ
ฝ่ายพระโพธิสัตว์จันทเสนราชกุมารนั้นครั้นพระราชบิดาเสด็จทิวงคตสิ้นพระชนม์ ชาวพระนครทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้นก็พร้อมกันตั้งพิธีราชาภิเษกให้ครองสิริราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์สืบสันติวงศ์ดำรงราชประเพณี พระองค์ทรงปกครองประชาชนด้วยการยกเลิกราชทัณฑ์ และทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ ทรงบำเพ็ญทานรักษาศีล ๕ เป็นนิตย์และทรงสมาทานอุโบสถศีลในวันปักขอุโบสถมิได้ขาด
อยู่มาวันหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จประทับเหนือสยนอาสน์แล้วทรงพระดำริรำพึงว่า บัดนี้ ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม ก็มาถึงเราแล้ว ต่อไปมรณธรรมก็คงจักมาถึงเราโดยแท้หาสงสัยมิได้ ดังเรามีความสลด ราชสมบัติทั้งหลายทุกสิ่งสรรพที่จะตามบุคคลผู้ไปยังปรโลกนั้นก็มิได้มีเลย โดยที่สุดแม้แต่สรีรร่างกายของตน สัตว์โลกก็จำต้องจะทิ้งไว้จะพาไปก็มิได้ สัตว์โลกทั้งหลายก็จำต้องละสิ่งของทั้งปวงไปเป็นธรรมดา เมื่อเห็นอยู่ดังนี้แล้ว ต้องการอะไรที่เราจะอยู่เป็นฆราวาสครองราชสมบัติ เราจะออกบรรพชาบำเพ็ญกัลยาณวัตรให้ไพบูลย์เถิด ทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงทรงมอบราชสมบัติให้แก่อัครมเหสีแล้วไปเฝ้าสมเด็จพระชนนีราชมารดา ถวายบังคมลาเข้าไปสู่หิมวันตประเทศถือบรรพชาเพศเป็นดาบสบำเพ็ญพรตเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ ก็ได้ฌานสมาบัติเป็นโลกีย์ แล้วประดิษฐานอยู่ป่าหิมพานต์ ครั้นสิ้นชีพทำลายขันธ์ก็มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจจเทศนาลง ก็ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าอัมพังคราชในกาลนั้น กลับชาติมาคือ สาริบุตรธรรมเสนาบดี นางบริจาริกาผู้บำเรอในกาลนั้น กลับชาติมาคือนางขุชชุตตราอุบาสิกา พระราชบิดามารดาในกาลนั้นกลับชาติคือมหาราชตระกูล นายเนสาทในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระฉันนะเถระ นางอุบลวาในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระนางพิมพายโสธรา พระฉันทเสนโพธิสัตว์ในกาลนั้นสืบขันธ์ประวัติมาคือตถาคตในกาลนี้
เมื่อสมเด็จพระมหามุนีบรมศาสดาตรัสเทศนาชาดกนี้จบลงแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสโอสานคาถาว่า
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ
น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี
ความว่า ธรรมย่อมคุ้มครองรักษาผู้ที่ประพฤติธรรม ธรรมนั้นเมื่อบุคคลมาประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขสำราญมาให้ อันนี้เป็นอานิสงส์ของธรรมที่บุคคลประพฤติดีย่อมประสบคุณ ดังนี้ อนึ่งผู้ที่ประพฤติธรรมนั้นเมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ก็จักไม่เกิดในทุคคติคือจะมีแต่สุคติเป็นเบื้องหน้า