๖. เทวันธชาดก

เอวมฺเม สุต เอกํ สมย ภควา วิรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ ภิกฺขโวติ ภทฺนฺเตติ เต ภิกฺขู ภคโต ปจฺจสฺโสสุํ

คำว่า เอมฺเม สุตํ นี้ ตามหลักฐานที่มาเป็นคำของพระอานนท์ปฏิญาณตนว่า พระสูตรนี้ชาดกนี้ตนได้สดับมาแต่สำนักพระผู้มีพระภาค หาได้ตรัสรู้ด้วยตนเองไม่ ในเทวันธชาดกนี้มีนิทานวจนะว่า สมัยกาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีสร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายด้วยคำว่า ภิกฺขโว ดังนี้ พระภิกษุทั้งหลายรับพุทธฎีกาว่า ภทฺนฺเต ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องราวได้เคยมีมาแล้วอย่างนี้ มีพระราชากาสิกองค์หนึ่งดำรงราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสีโดยทศพิธราชธรรม พระเจ้ากาสิกราชนั้นมีพระสนมประมาณหมื่นหกพัน พระสนมเหล่านั้น แม้แต่คนหนึ่งก็หาได้มีโอรสและธิดาไม่ พระราชาใคร่จะได้โอรสซึ่งจะได้สืบราชวงศ์ต่อไป จึงรับสั่งแก่พระสนมให้ช่วยกันตั้งใจหาโอรสและธิดา พระสนมทั้งหมื่นหกพัน ชวนกันบวงสรวงเทวดามีพระจันทร์พระอาทิตย์เป็นต้นขอให้ได้โอรสและธิดา ก็หาได้สมปรารถนาไม่

ฝ่ายพระอัครมเหสีพระนามว่าวิมลาเทวี มีสีลสัมปทาและปัญญาดี ตามวันปรกติพระนางเธอสมาทานเบญจศีลเป็นนิตย์ ถึงวันอุโบสถทรงสมาทานอุโบสถศีลแล้วจึงพิจารณาดูศีลของตนอันมิได้ขาดบกพร่อง พระนางเธอทำสัจจาธิษฐานว่า ด้วยเดชศีลที่ข้าพเจ้ารักษานี้ ขอให้โอรสและธิดาจงมาเกิดในอุทรข้าพเจ้า คราวนั้นด้วยอำนาจปาริสุทธศีลแห่งพระนางวิมลาเทวี พิภพแห่งท้าวโกสีย์ก็แสดงอาการร้อนขึ้นเป็นนิมิต ท้าวเทวราชพิจารณาก็รู้ว่านางวิมลาปรารถนาจะได้บุตรและธิดา เวลานั้นเป็นคราวที่พระบรมโพธิสัตว์จะสิ้นอายุแล้ว ท้าวเทวราชจึงวิงวอนเชิญพระบรมโพธิสัตว์ให้ถือปฏิสนธิในครรภ์พระนางวิมลา พระบรมโพธิสัตว์รับเทวบัญชาจุติมาเกิดในครรภ์พระนางวิมลาเทวี พระครรภ์พระนางวิมลามีอาการเหมือนจะเต็มไปด้วยแก้ววิเชียร

ในราตรีที่พระโพธิสัตว์มาปฏิสนธินั้น พระนางวิมลาทรงสุบินนิมิตว่า เทวบุตรองค์หนึ่งนำแก้ววิเชียรมาให้พระนางก็รับไว้ มีอันธกเทวบุตรองค์อื่นมาแย่งเอาแก้ววิเชียรนั้นไปเสีย ภายหลังแก้ววิเชียรนั้นฆ่าอันธกเทวบุตรเสีย แล้วกลับมาเอาเปล่งรัศมีอยู่ ณ สำนักพระนางวิมลาเทวีๆ ตื่นขึ้นแล้วจึงเข้าเฝ้าทรงเล่าพระสุบินถวายพระราชาๆ รับสั่งให้หานิมิตปาทกาจารย์มาให้ทำนายฝัน นิมิตปาทกาจารย์นั้นคำนวณถวายพยากรณ์ว่า พระนางวิมลาเทวีจะทรงพระครรภ์ราชกุมารนั้นจะเป็นโอรส เมื่อพระโอรสประสูติแล้วทรงพระเจริญรุ่นขึ้น จะมียักษ์ตนหนึ่งมาเบียดเบียนพระนคร พระราชกุมารนั้นจะหนีจากพระนครนี้ไปยังนานาประเทศ ภายหลังจะได้มหิทธิเดชานุภาพใหญ่ฆ่ายักษ์นั้นตายแล้วจะได้เป็นเอกราช หาพระราชาอื่นจะเสมอมิได้ ด้วยประการฉะนี้

พระนางวิมลาเทวีทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว จึงประสูติพระโอรสอันกอร์ปด้วยบุญลักษณะ ก็เมื่อวันประสูติพระราชโอรสนั้น ฝนตั้งมืดคลุ้มทั่วไปในทิศทั้งปวง เพราะเหตุดังนั้น พระราชบิดามารดาจึงประทานนามโอรสนั้นว่า เทวันธกุมาร ด้วยประการฉะนี้ ครั้นเมื่อเทวันธกุมารเสด็จดำเนินย่างเหยียบได้คล่อง พระนางวิมลาก็ประสูติพระธิดาองค์น้องอีกองค์หนึ่ง ทรงรูปลักษณะงามและสรีรกายหอมประหนึ่งว่าอบด้วยกลิ่นจันทร์ อาศัยเหตุนั้นจึงมีพระนามว่า จันทนเทวี พระนางจันทนเทวีทรงพระเจริญวัยได้มีรูปงดงาม เปรียบดังเทพอัปสรสาวสวรรค์ กลิ่นกายนั้นหอมดังกลิ่นจันทร์แดง

เกน านิสํเสน จึงมีคำถามว่าพระนางจันทนเทวีมีกายินทรีย์หอมนั้นด้วยอานิสงส์อะไร มีคำวิสัชนาแก้ว่าพระนางจันทนเทวีมีกายินทรีย์หอมนั้น ด้วยอานิสงส์ที่ได้สร้างพระเจดีย์น้อยองค์หนึ่ง จริงอยู่ในกาลปางก่อนครั้งศาสนาพระโกนาคมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว มีธิดาเศรษฐีคนหนึ่งบำเพ็ญกุศลมีทานและศีลเป็นต้น และมีศรัทธาสร้างพระเจดีย์น้อยด้วยไม้จันทร์องค์หนึ่งจึงเอาพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่งบรรจุไว้ในพระเจดีย์นั้น ครั้นสำเร็จแล้วก็ทำการฉลองเป็นการบูชาใหญ่ เศรษฐีธิดาทำกาละแล้วได้มาเกิดเป็นพระนางจันทนเทวี ๆ จึงมีสรีรอินทรีย์งามและกลิ่นหอมดังกลิ่นจันทร์ พระเทวันธกุมารกับพระนางจันทนเทวีเจริญรุ่นขึ้นตามลำดับทรงพระรูปงามเลิศดุจดรุณเทพดา

ครั้นอยู่ต่อมา พระราชากาสิกพระราชบิดา ปรารถนาจะเสด็จไปประพาสป่า รับสั่งอำมาตย์ให้เตรียมพลโยธาไว้พร้อมเสร็จแล้ว จึงพร้อมด้วยมหันตบริวารยศเสด็จออกจากนครไปยังมหาวัน ทอดพระเนตรมฤคีอยู่หลายวันก็หาพบปะมฤคและสัตว์อื่นๆ ไม่ คราวนั้นนันทยักษ์ตนหนึ่งอยู่ในไพรสณฑ์นั้น ได้อุปฐากท้าวเวสสุวรรณๆ ประทานพรให้ว่า มนุษย์เหล่าใดเข้าไปในไพรสณฑ์มีมณฑลได้โยชน์หนึ่ง ท่านจงถามอมละธรรมกะมนุษย์จำพวกนั้นก่อน มนุษย์คนใดรู้จักอมละธรรมท่านอย่าได้กินมนุษย์คนนั้น มนุษย์คนใดไม่รู้จักอมละธรรมท่านจงกินมนุษย์คนนั้นเสียเถิด เพราะเหตุนั้น นันทยักษ์เมื่อเที่ยวไปในไพรสณฑ์นั้นได้พบพระราชาปรารถนาจะกินเป็นอาหาร จึงนฤมิตตนให้เป็นเนื้อทองย่องหยัดผ่านพระพักตร์พระราชาหลบเข้าไปในพุ่มไม้

พระเจ้ากาสิกราชทอดพระเนตรมฤคยักษ์แปลงนั้น จึงรับสั่งให้พวกอำมาตย์พากันล้อมพุ่มไม้รักษาเนื้อนั้นไว้ให้ได้ ถ้าเนื้อออกจากพุ่มไปหน้าที่ของผู้ใด อาชญาจักมีแก่ผู้นั้น อำมาตย์ทั้งหลายพากันล้อมพุ่มไม้ไว้โดยกวดขันมั่นคง และส่งเสียงบอกกันต่อ ๆ ไป สุวรรณมฤคนั้นยกเท้าก้าวจ้องมองหาทางที่จะหนีไป ได้โดดออกตรงพระพักตรพระราชาหนีไป พระราชาจึงเสด็จขึ้นประทับหลังม้าไล่ตามไปสิ้นวันยังค่ำก็มิได้พบสุวรรณมฤค เสด็จตามจนถึงเวลาเย็นเลยเข้าไปในเขตแดนนันทยักษ์ บรรลุถึงต้นไทรใหญ่ตนหนึ่ง จึงเสด็จลงจากหลังม้าเหนื่อยล้าอยู่กับม้าในที่นั้น นันทยักษ์จึงแปลงกายจากสุวรรณมฤคให้เห็นเป็นยักษ์ใหญ่โต ตรงเข้าจับพระราชากับม้าไว้แล้วถามอมละธรรมกะพระราชา ๆ แก้ไม่ได้ นันทยักษ์จึงกินพระราชาเสียแล้วใคร่จะกินม้านั้นอีกจึงจับม้าเข้าไว้ให้มั่น

ม้านั้นจึงดำริว่าเราก็จักเป็นภักษาของมหายักษ์เช่นเดียวกับพระราชา แต่เราจักรักษาชีวิตไว้ให้ได้ด้วยอุบาย ดำริแล้วจึงพูดกับนันทยักษ์ว่า ท่านกินพระราชาแล้วจักกินเราบัดนี้อีก ถ้าท่านกินเราท่านจะอิ่มท้องไปได้วันเดียวเท่านั้น วันหลังต่อไปท่านจะได้อาหารที่ไหนกิน ถ้าหากว่าท่านไม่กินเราเสีย ท่านก็จักได้อาหารกินทุกๆ วันไป ท่านจงแปลงกายให้เหมือนพระราชา ขึ้นนั่งบนหลังข้าพเจ้าเข้าไปสู่พระนครกับข้าพเจ้าแล้วครองราชสมบัติ ท่านก็จักได้กินมนุษย์และสัตว์เสมอทุกวันไป

นันทยักษ์เชื่อม้าบอกแล้วนฤมิตตนให้เหมือนพระราชา ขึ้นหลังม้าไปยังสำนักโยธาลงจากหลังม้าขึ้นนั่งบนรถแล้ว พร้อมด้วยมหันตบริวารเข้าไปยังนครขึ้นยังมณเฑียรนั่ง ณ ราชาอาสน์ นางนักสนมทั้งหลายมีพระวิมลาราชเทวีเป็นประธาน พากันเข้าไปยังราชูปัฏฐากด้วยสำคัญว่าพระราชสามีของตน หาได้มีความสงสัยไม่ ได้บำรุงนันทยักษ์นั้นเป็นอันดี พระวิมลาเทวีก็ขึ้นประทับบรรหมกับนันทยักษ์เป็นนิจทุกวัน นันทยักษ์นั้นมีรูปกายและอากัปกิริยาก็เหมือนพระเจ้ากาสิกราชหาแปลกเปลี่ยนไปไม่ ถึงเวลาราตรียักษ์นั้นจับมนุษย์กินเสียคนหนึ่งบ้าง บางครั้งลอบไปกินมนุษย์นักโทษที่ต้องตัดสินแล้วให้เอาไปเสียบหลาวไว้ก็มี ยักษ์นั้นทำอาการอยู่อย่างนี้เสมอมา

ครั้นกาลนานมาเจ้ายักษ์คิดขึ้นมาว่า คนอื่นนอกจากม้าผู้เดียวแล้วไม่รู้จักเราเลย ก็ถ้าหากว่าม้าจักบอกแก่ใครๆ เขาว่าเราเป็นยักษ์ ผู้นั้นรู้จักเราแล้วก็จะบอกให้รู้กันต่อไป ความลับของเราก็จักแพร่หลายปรากฏทั่วไปในสากลทวีป ท้าวเวสสวรรณมหาราชถ้ารู้เข้า ท่านจักโกรธทำโทษแก่เราและคืนเอาบริเวณที่ประทานให้ไว้ไปเสีย เพราะฉะนั้นเราจักให้จับม้าไปขังไว้ในเรือนจำห้ามมิให้เขาส่งข้าวและน้ำให้แก่ม้า ม้านั้นเมื่อไม่ได้อาหารกินก็จักสิ้นชีวิต ถ้าหากว่าม้านั้นตายเสียได้เราจักอยู่เป็นสุขสบายต่อไปนาน เจ้ายักษ์คิดแล้วก็สั่งอำมาตย์ให้จับม้านั้นไปขังเสีย อำมาตย์ก็ไปยังโรงม้าจับเฆี่ยนตีผูกมัดไว้แน่นหนา ม้านั้นถึงซึ่งทุกขเวทนาใหญ่ มีความน้อยใจคิดว่า โทษผิดสิ่งไรของเราก็ไม่มี เหตุไรเจ้ายักษ์จึงมาทำโทษเรา หรือว่าเจ้ายักษ์กลัวว่าเราจะบอกแก่คนอื่น จึงให้มัดผูกและไม่ให้อาหารเรากิน ทำไฉนเราจักได้บอกความเรื่องนี้แก่พระราชกุมารอยู่ ม้านั้นอดทนทุกขเวทนา คอยหาโอกาสจะพบพระราชกุมารอยู่

เจ้านันทยักษ์ถึงเวลาเที่ยงคืนเที่ยวจับมนุษย์กินเสมอเป็นนิตย์ บางทีแกล้งใส่โทษผิดแก่อำมาตย์ให้ฆ่าแล้วลอบไปกินทรากศพเสีย มหาชนเห็นอาการเจ้ายักษ์ทำอย่างนั้นพากันปรับทุกข์ว่า แต่ก่อนพระราชาของเราเป็นพระเจ้าทรงธรรม กอร์ปด้วยเมตตากรุณาสัจวาทีและขันติธรรม จำเดิมแต่วันที่พระราชาเสด็จไปประพาสป่าฆ่าสุวรรณมฤคแล้วกลับมา ทรงประพฤติหยาบช้าทารุณพาหุลโทษหาเหมือนเช่นก่อน ๆ ไม่ หรือว่ายักษ์จักกินพระราชาเสียแล้วแปลงกายให้เหมือนพระราชาปลอมมาครองราชสมบัติ ทำไฉนพวกเราจักรู้ชัดได้ เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปใกล้และทดลองดูอาจรู้ได้ดี

ปรึกษากันแล้วมหาชนมีอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น ถึงเวลาเช้าเย็นก็พากันไปเฝ้าคอยสอดแนมและสอบสวนดูก็มิอาจรู้ความเท็จจริงได้

คราวนั้น พระเทวันธกุมารและพระนางจันทนกุมารีก็สำคัญนันทยักษ์นั้นว่าเป็นพระราชบิดา พากันเข้าเฝ้าประทับเหนือเพลาเจ้ายักษ์ๆ ก็แสดงความเสน่หารักใคร่เหมือนดังบุตรของตน วันหนึ่งจึงพระราชกุมารกุมารีทูลลาเจ้ายักษ์ไปยังโรงม้าก็ไม่เห็นมีม้า จึงเสด็จไปถึงโรงที่จำม้านั้น เห็นม้าต้องจองจำด้วยโซ่จึงถามม้าว่า แน่ะพี่ม้า ท่านทำผิดสิ่งไรหรือจึงต้องถูกจองจำด้วยโซ่อย่างนี้ ข้าแต่พระลูกเจ้า เชิญเสด็จเข้ามาให้ใกล้ข้าพระพุทธเจ้าจะเล่าเรื่องราวถวาย พระราชกุมารกุมารีเข้าไปประทับอยู่ใกล้ม้า ๆ จึงทูลเหตุของยักษ์ว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า พระราชานี้หาใช่พระราชบิดาของพระองค์ไม่ ยักษ์กินพระราชบิดาของพระองค์เสียแล้วแปลงเพศให้เหมือนพระราชบิดาขึ้นหลังข้าพระบาทมา ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อไซร้ จงคอยสังเกตดูด้วยเหตุเหล่านี้ คือนัยน์ตาไม่กระพริบอย่างหนึ่ง และนัยน์ตาแดงจัดอย่างหนึ่ง กิริยาอาการบุ่มบ่ามหนึ่ง สกลกายไม่มีเงาหนึ่ง ปราศจากความกรุณาหนึ่ง พระองค์จะรู้ว่าพระราชาเป็นยักษ์ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่งพระองค์จงให้พระราชาอ้าปากออกแล้วก็จะได้เห็นควันไฟมีในปาก เพราะฉะนั้น พระองค์จงคอยดูพระราชานั้นให้จงได้

พระเทวันธกุมารและพระนางจันทนกุมารียังไม่ทรงเชื่อม้าบอก จึงเสด็จกลับจากโรงม้าขึ้นประทับ ณ ปราสาท ครั้นรุ่งเช้าพระเทวันธกุมารและพระนางจันทนกุมารีปรึกษากันว่า เราจักไปตรวจดูให้รู้แน่ว่าพระราชบิดาจะเป็นยักษ์จริงดังม้าบอกหรือไม่ ปรึกษากันแล้วจึงแต่งพระองค์ทรงเครื่องประดับเสร็จ เสด็จเข้าไปเฝ้าเจ้ายักษ์คอยจ้องเพ่งดูกิริยาเจ้ายักษ์ก็เห็นอาการทั้งปวงสิ้น แต่ยังหาได้เห็นควันไฟในปากเจ้ายักษ์ไม่ จึงทูลเจ้ายักษ์ว่า พระมหาราช ข้าพระบาทขอรับประทานชันหมากในปากของพระองค์ เจ้ายักษ์จึงอ้าปากออกหยิบชันหมากส่งให้พระราชกุมารีๆ ทรงเห็นควันไฟมีในปากก็ตกพระทัยกลัว จึงอุฏฐาการจากอาสน์กลับไปหาม้าแล้วตรัสว่า แน่ะพี่ม้า ถ้อยคำพี่ม้าบอกเล่านั้นสมจริงทุกข้อ แน่ะพ่อเราทั้งหลายจักคิดอ่านอย่างไรดี

ฝ่ายม้านั้นครั้นสดับคำหารือของพระราชกุมารกุมารีจึงทูลว่า พระองค์จงไปยังสำนักเจ้ายักษ์ทำกิริยาอย่าให้สงสัยแล้วทูลว่า แต่ก่อนๆ พระองค์เคยประทานม้าให้ขี่ ข้าพระบาทได้ไปเที่ยวเล่นกับม้าย่อมมีความสุขสำราญ เหตุไรพระองค์จึงจับม้าผูกขังไว้มิได้ประทานให้ข้าพระบาท ๆ เมื่อไม่ได้ขี่ม้าไปเที่ยวเล่นก็เป็นอันไม่ได้ความสุขเลย พระองค์ทรงขอตัวข้าพระบาทได้แล้วจงเสด็จกลับมาปรึกษากันอีกต่อไป พระเทวันธกุมารและพระนางจันทนกุมารีสดับคำม้าบอกวิธีอย่างนั้น จึงชวนกันไปเฝ้าเจ้ายักษ์ทูลวิงวอนขอม้าตามถ้อยคำม้าบอกนั้นทุกประการ จึงประทานอนุญาตให้ม้าแก่พระเทวันธกุมารและพระนางจันทนกุมารี ๆ จึงเสด็จกลับมาหาม้า แก้ม้าออกแล้วก็ขี่ขับเล่นเป็นผาสุกสบาย

ฝ่ายว่าม้าจึงสอนพระราชกุมารกุมารีว่า พระองค์จงเฝ้าเจ้ายักษ์ทูลขออนุญาตว่า ข้าพระบาทขอลาไปเที่ยวเล่นยังสวนอุทยาน เมื่อเจ้ายักษ์อนุญาตให้ไป พระองค์กับข้าพระบาทจักขนอาหารออกไปไว้ในป่า จักได้รู้จักหนหางที่จะไปยังประเทศอื่น ครั้นรู้ทางช่ำชองดีแล้วจะได้พากันหนีไปยังประเทศอื่นต่อไป พระราชกุมารกุมารีรับว่าสาธุแล้วก็เข้าไปเฝ้าเจ้ายักษ์ทูลลาขออนุญาตไปเที่ยวเล่นยังสวนอุทยาน เจ้ายักษ์ก็ประทานอนุญาตให้ พระราชกุมารกุมารีจึงไปทูลขอเสบียงอาหารกะพระมารดาได้แล้ว จึงเสด็จไปหาม้าขึ้นประทับหลังม้าไปยังอุทยาน แล้วเลยไปยังป่าเก็บซ่อนอาหารไว้ในที่ไกลได้โยชน์หนึ่ง จึงกลับมาเฝ้าเจ้ายักษ์ทูลขออนุญาตว่า ข้าพระบาทได้ไปชมเนื้อและนกกับหมู่พรรณมิ่งไม้ในอุทยานมีความสุขสำราญยิ่งนัก ต่อแต่นี้ไปข้าพระบาทขออนุญาตลาไปชมสวนเล่นทุก ๆ วัน เจ้ายักษ์นั้นก็ประทานอนุญาตให้

พระราชกุมารกุมารีขนเอาอาหารบรรทุกหลังม้า เสด็จไปกับม้าโดยระยะทางไกลได้โยชน์หนึ่งๆ จึงเก็บซ่อนอาหารไว้ทุกระยะหนึ่งโยชน์ จนตราบเท่าถึงร้อยโยชน์เป็นที่สุด ฝ่ายว่าม้าจึงทูลนัดหมายพระราชกุมารกุมารีว่า พระองค์จงจัดแจงอาหารไว้ให้มาก วันพรุ่งนี้เช้าข้าพระพุทธเจ้าจักพาพระองค์หนีไป พระราชกุมารกุมารีรับว่าสาธุแล้ว เสด็จไปยังปราสาทของพระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารเย็นแล้ว เมื่อจะเสด็จบรรทมจึงปรารภถึงพระราชมารดาว่า พระมารดาจงอยู่เป็นสุขเถิด ลูกทั้งสองจักขอลาพระมารดารักษาชีวิตของลูกไว้ ด้วยอานุภาพคุณของพระมารดา ขอเจ้ายักษ์อย่าได้เบียดเบียนและจงมีเมตตากรุณาแก่พระมารดา ด้วยลูกทั้งสองจักอนาถาพลัดพรากจากมารดาไปป่าใหญ่ เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จะได้กลับมาเห็นหน้าพระมารดา สองราชกุมารกุมารีปรารภถึงพระชนนีทรงพระโศกาบรรทมหลับไป ครั้นตื่นขึ้นในเวลาเที่ยงคืนทรงรวบรวมเก็บอาวุธและอาภรณ์เสร็จ จึงซบพระพักตร์ลงตรงที่ประทับพระมารดาถวายบังคมลา พาพระกนิษฐาลงจากปราสาท เสด็จไปหาม้าขึ้นประทับบนหลังม้าเสร็จไปยังป่าใหญ่ ดำเนินไปวันหนึ่งสิ้นมรรคาสามสิบโยชน์ ครั้นถึงเวลาเย็นเสด็จเข้าไปอาศัยร่มไม้ไทรต้นหนึ่งจึงเสวยพระกระยา เมื่อปรารภถึงพระมารดาได้ตรัสคาถานี้ว่า

กึ ภวิสฺสติทานิ อมฺมา กุหึ มํ ปริเยสติ
มยํ อมฺมํ อทิสฺวาน มฺเ เหสฺสาม ชีวิตํ
อมฺมา จ อชานนฺตาว เสฺว มมํ อทิสฺวา สํวิคฺคา
โรทนฺตี จ สุสิสฺสนฺติ ปริเทวนฺตี มริสฺสติ
กถํ อมฺมา มมํ อทิสฺวา โสเกน สมปฺปิตา ว
นิราหารา โรทมานา อสฺสูนิ ภุฺชนฺตา มริสฺส

ความว่า พระชนนีป่านนี้จักเป็นอย่างไร พระมารดาจะตามหาเราที่ไหนจะได้พบ เราสองราไม่ได้ประสบพบพระมารดาแล้วเห็นจะวอดวายตายเป็นมั่นคง รุ่งเช้าพระมารดาเจ้าเมื่อไม่รู้เห็นว่าเราไปทางไหน ก็จะสลดรันทดพระหฤทัยทรงกรรแสงไห้ก็จักซูบผอมตรอมหฤทัยสิ้นพระชนม์ชีพ ทำไฉนเล่า พระมารดาเจ้ามิได้เห็นเราพี่น้องสองราก็มีแต่ว่าจะเพิ่มพูนไปด้วยความโศกศัลย์ มิเป็นอันที่ว่าจะเสวยพระกระยาหาร ไฉนจะทนทานดำรงชีพยู่ต่อไปได้ สองราชกุมารกุมารีทรงพิลาปถึงพระชนนีด้วยประการฉะนี้แล้วก็หลับไป ฝ่ายม้านั้นเที่ยวหาหญ้ากินอยู่ที่ไกล ๆ สองราชกุมารกุมารี แล้วกลับมานอนเฝ้าอยู่ข้างบาทราชกุมารกุมารี ครั้นตื่นขึ้นแล้วจึงปลุกพระราชกุมารกุมารี เชิญให้ขึ้นประทับหลังนำเสด็จไปในป่าสิ้นมรรคาไกล จะได้พบปะมนุษย์อื่นหรือพเนจรหรือสิทธาจารย์หมู่บ้านและนิคมพระนครอย่างดก็หาไม่ นำเสด็จราชกุมารกุมารีไปในป่า สิ้นเวลาล่วงไปได้ห้าเดือนโดยนิยมดังนี้

ปุนทิวเส ครั้นวันรุ่งเช้า เหล่าแม่นมและทาสีมิได้เห็นสองราชกุมารกุมารีมีความตกใจกลัวความผิดจึงพากันเที่ยวค้นหาไปสู่โรงม้าก็ไม่เห็นม้าแล้วพากันทูลพระราชมารดา เจ้ายักษ์ทราบความแล้วจึงให้อำมาตย์ไปให้เที่ยวหาก็หาพบสองราชกุมารกุมารีไม่ พวกอำมาตย์ จึงกลับมาทูลเจ้ายักษ์ ๆ ดำริว่า ม้าจักพาไปไกลได้ร้อยโยชน์ก็หาพ้นมือเราไม่ เราจักตามไปจับให้จนได้ คราวนั้นพระนางวิมลาเทวีทรงทราบว่าไม่ได้พระราชกุมารกุมารีมาทรงพระโสกากรรแสงไห้ จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

หาหา ปุตฺตา กุหึ คตา มา มํ อนาถํ กโรถ
ปูตฺเตทานิ น ปสฺสามิ หทยํ เม ผลิสฺสติ

ความว่า ดูกรลูกรักของมารดา เจ้าพากันไปเสียข้างไหน ช่างมาทำมารดาให้อนาถาหาที่พึ่งมิได้ มารดามิได้เห็นลูกรักทั้งสองราหัวจของมารดาก็จักแตกทำลายไป ณ บัดนี้

ฝ่ายเจ้ายักษ์จึงตรัสเรียกพระนางวิมลาเทวีมาสั่งว่า ขอเธออย่าเศร้าโศกไปเลย พวกอำมาตย์ตามไม่พบเราจะไปยังป่าเที่ยวค้นหาอย่างช้าเจ็ดวันก็จะพบสองราชกุมารกุมารี เธอจงอยู่ดูแลรักษาพระนครไว้ สั่งแล้วก็ลงจากปราสาทออกจากพระนคร สัญจรไปในป่าขึ้นไปยังยอดภูเขาสูงใหญ่ นฤมิตกายให้สูงเพ่งดูไปในทิศทั้งสี่ เห็นสองราชกุมารกุมารีกับม้าจึงลงจากภูผาแล่นไล่ตามไป ด้วยอานุภาพกำลังเจ้ายักษ์สรรพพฤกษาก็เอนอ่อนลู่ล้ม ประหนึ่งว่าลมยุคันธวาตพัดถูกต้องฉะนั้น เสียงมหายักษ์ร้องสนั่นหวั่นไหว สรรพสัตว์มีราชสีห์และเสือเป็นอาทิ ตกใจกลัวหนีไปสิ้น

ฝ่ายว่าม้าได้ยินเสียงเจ้ายักษ์จึงหันกลับมาเห็นเจ้ายักษ์แล้วก็รีบถีบทะยานไปโดยเร็ว เห็นว่าจะหนีไม่พ้นจึงทูลราชกุมารกุมารีว่า ข้าพระพุทธเจ้าอ่อนเพลียกำลังแล้ว เชิญพระองค์ลงจากหลังเข้าไปซ่อนเร้นเสียที่ใดที่หนึ่งเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะรีบหนีไปให้พ้นยักษ์ พระราชกุมารกุมารีจึงเสด็จลงจากหลังม้าหนีไปอาศัยอยู่ใต้ร่มไทรแล้วอธิษฐานว่า ข้าแต่พฤกษเทวดา ขอได้กรุณาข้าพเจ้าด้วยช่วยอภิบาลข้าพเจ้าไว้อย่าให้ยักษ์ทำร้ายได้ ด้วยกำลังอธิษฐานของสองราชกุมารกุมารี นิโครธพฤกษเทวดาจึงนิรมิตต้นไทรให้เป็นโพรง ราชกุมารกุมารีจึงเสด็จเข้าไปซ่อนอยู่ในโพรงไม้ไทร ม้านั้นก็วิ่งแล่นเร็วไปเกินกว่าโยชน์หนึ่ง จึงอ่อนกำลังล่าช้าลงทุกที เจ้ายักษ์กำลังเร็วกว่าตามไปทันม้าจับหักคอกินหัวม้าเสีย ทิ้งสรีระม้าไว้เที่ยวค้นหาสองราชกุมารกุมารีต่อไปหาพบไม่ จึงแปลงกายให้เหมือนพระราชาดังเก่า กลับเข้ายังพระนครขึ้นยังราชนิเวศนสถาน

มหาชนมีอำมาตย์และเสนาบดีเป็นต้น ทราบว่าพระราชากลับมาถึงแล้วพากันเข้าเฝ้าทูลถาม ทราบความว่าพระราชาตามหาสองราชกุมารกุมารีหาพบไม่ พากันระลึกถึงรำพึงแล้วก็ปริเทวนาการน่าสงสารหนักหนา เจ้ายักษ์จึงปลอบมหาชนมีพระนางวิมลาเทวีเป็นต้นว่า ท่านทั้งหลายอย่าร้องไห้ไปนักเลย อีกไม่ช้าลูกยาของเราเขาคงจักเรียนศิลปะแต่สำนักพระฤษีได้แล้วก็จะกลับมา จงระงับดับความโสกาเสียเถิด

เมื่อเจ้ายักษ์กลับไปถึงนครแล้ว นิโครธพฤกษเทวดาจึงเปิดโพรงไม้ไทรให้สองดรุณราชกุมารออกมา สองดรุณราชกุมารกุมารีจึงเสด็จเที่ยวตามหาม้า ได้เห็นม้านั้นตายหาศีร์ษะไม่ ทรงกรรแสงร่ำไห้รำพันว่า เราพี่น้องสองรามาฉิบหายเสียแล้ว บัดนี้ชีวิตของเราจะหามีต่อไปไม่ ได้มาพลัดพรากจากม้าเสียแล้ว ใครเล่าเขาจะพาเราไป เราจักไปที่ไหนดี ณ ครั้งนี้ แม้ถึงเราจะดั้นด้นไปก็มิรู้จักทิศทางจะไปในป่าหรือชนบท ชีวิตก็จะปลิดปลงลงในป่านี้เอง สองราชกุมารกุมารีทรงกรรแสงด้วยเสียงอันดังอย่างนี้ ก็พากันถึงวิสัญญีภาพสลบลง

ด้วยบุญญานุภาพของสองราชกุมารกุมารี พิภพแห่งท้าวโกสีย์ก็แสดงอาการร้อนขึ้นทันได ท้าวสหัสสนัยใคร่ครวญดูก็รู้เหตุสิ้น องค์อมรินทร์ทรงน้ำอมตวารีรดสรีระอินทรีย์สองราชกุมารกุมารีๆ ได้พระสติคืนมาทอดพระเนตรเทวราชาพากันหมอบลงแทบบาทเทวราชๆ ตรัสถามสองราชกุมารกุมารีว่า มาแต่ไหนและเหตุไรจึงมาสลบอยู่ ณ ที่นี้ สองราชกุมารกุมารีจึงทูลเล่าความแต่ต้นจนถึงยักษ์ตามมากินศีร์ษะม้าเสีย แล้วทูลว่า บัดนี้ข้าพเจ้ามิอาจจะไปประเทศใดได้น่าจักตายอยู่ที่นี้เอง

ท้าวเทวราชตรัสประภาษว่า เราจักให้ชีวิตแก่ม้า ท่านจงพากันไปหาศีร์ษะม้ามาให้เรา ถ้าหากว่าท่านไปหาศีร์ษะม้าไม่ได้ พบกเลวระสัตว์ชนิดใดที่ตายใหม่ ๆ แล้วจงตัดเอาศีร์ษะสัตว์ชนิดนั้นมาให้เรา ๆ จะต่อให้ ราชกุมารกุมารีเที่ยวหาศีร์ษะม้านั้นไม่เห็น จึงเที่ยวไปในป่าพบราชสีห์ตัวหนึ่งตายใหม่ๆ จึงตัดเอาศีร์ษะราชสีห์นั้นมาส่งให้ท้าวสักกะ ๆ จึงเอาศีร์ษะราชสีห์ต่อเข้ากับคอม้า แล้วรดด้วยน้ำอมตวารี ม้าก็กลับเป็นขึ้นมามีศีร์ษะเป็นราชสีห์มีกายเป็นม้า มีกำลังเดชานุภาพใหญ่ว่องไวกว่าเก่า สองราชกุมารกุมารีเห็นม้าเป็นขึ้นมาก็ดีใจ ได้หมอบลงแทบบาทเทวราช

ท้าวเทวราชจึงตรัสว่า แน่ะพ่อเทวันธกุมาร เราจักให้พรแก่พ่อไว้ พ่อต้องการพรสิ่งใดจงรับพรนั้นไว้เถิด พระเทวันธกุมารเมื่อจะรับพระท้าวสักกเทวราช จึงตรัสบาทคาถานี้ว่า

วรฺเจ เม อโท สกฺก สพฺพภูตานมิสฺสร
อมิตฺตา มํ อนฺตรายํ เนว กริสฺสนฺติ มยฺหํ
อปิจาหํ อติพโล อโรโค อนตฺรา น มเร
นนฺทสฺส ชโย จ โหมิ ปิตุรชฺชํ กาเรสุสามิ
เย มหุตฺตมตมฺปตฺตา มยฺหํ สิฺจิโตทเกน
เต ชีวิตํ ลพฺภนฺตุ ขเณ  

ความว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราชทรงอำนาจยิ่งใหญ่กว่าสรรพภูตสัตว์ ถ้าพระองค์จะทรงประทานพรให้แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าขอยินดีรับพรเหล่านี้ไว้คือ ขออย่าให้พวกอมิตรทำอันตรายแก่ข้าพเจ้าได้ ๑ ขอให้ข้าพเจ้ามีกำลังยิ่งปราศจากโรค และขออย่าให้ข้าพเจ้าตายในระวางยังไม่สิ้นายุขัย ๑ ขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะนันยักษ์และดำรงราชสมบัติของพระราชบิดา ๑ สัตว์เหล่าใดตายแล้วครู่หนึ่ง ขอสัตว์ตายเหล่านั้นจงได้ชีวิตคืนมาด้วยน้ที่ข้าพเจ้ารดให้ในทันใดนั้น ๑ ท้าวสักกเทวราชจึงประสาทพร ๕ ประการให้พระเทวันธกุมารแล้วตรัสว่า พระองค์จงอย่าได้ทรงประมาทเลย แล้วเสด็จกลับยัโลกสวรรค์

สองราชกุมารกุมารีนั้น เสด็จขึ้นประทับบนหลังม้า ๆ พาเหาะไปในอากาศบรรลุถึงเมือง ๆ หนึ่งจึงเสด็จลงทอดพระเนตรเห็นแต่ปราสาทเปล่า หาเห็นมนุษย์และสัตว์สองเท้าสี่เท้าไม่ เสด็จเข้าไปภายในปราสาทเห็นแต่เงินทองและแก้วตกอยู่เกลื่อนกลาด ทรงประหลาดพระทัยจึงดำริว่า เหตุไรนครนี้จึงไม่มีมนุษย์อยู่ จะมีเหตุสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ จึงปรึกษากับพระราชกนิษฐาว่า เราจักอาศัยเมืองนี้อยู่จักได้รู้เหตุอะไรต่อไป ปรึกษากันตกลงแล้วก็เสด็จอยู่ ณ ปราสาทนั้น

ครั้นรุ่งเช้า ม้านั้นจึงทูลพระเทวันธกุมารว่า พระมหาราช ข้าพระบาทจะพาพระองค์เสด็จไปหาผลาผลไม้ต่างๆ ในป่า จงให้พระราชภคินีอยู่ ณ ปราสาทนี้ พระเทวันธกุมารรับถ้อยคำม้าว่าสาธุ แล้วเสด็จขึ้นหลังม้ารับสั่งให้พระนางจันทนกุมารีอยู่ที่ปราสาท ม้าจึงพาเสด็จไปในอากาศจนบรรลุถึงป่าหิมพานต์ พระเทวันธกุมารเสด็จลงจากหลังม้าเลือกเก็บนานาผลาผลเสวยแล้ว จึงเสด็จลงสรงเสวยน้ำในคงคา ครั้นเวลาเย็นจึงขึ้นหลังม้าเสด็จกลับมาประทานผลาผลไม้ให้พระกนิษฐา ต่อแต่นั้นมา พระเทวันธกุมารเสด็จป่าหิมพานต์กับม้าทุกวัน และให้พระกนิษฐาอยู่เฝ้ารักษาปราสาทแต่พระองค์เดียว

ถ้าหากว่ามีคำถามว่า พระนครนั้นเหตุไรจึงไม่มีมนุษย์อยู่พึงวิสัชนาแก้ว่า มีนกอินทรีตัวหนึ่งกินมนุษย์ชาวเมืองเสียมากมาย ชนทั้งหลายอื่นเห็นมหาชนตายด้วยเหตุนกอินทรีจับกิน จึงพากันหนีไปยังประเทศอื่นสิ้น ชนบางพวกที่ไม่ไปประเทศอื่นอยู่รักษาบ้านเรือนก็ถึงเป็นอาหารของนกอินทรี เพราะเหตุนี้พระนครนั้นจึงว่างเปล่าหามีมนุษย์อยู่ไม่ ด้วยอาการอย่างนี้แล

แม้พระเจ้าเหมันตราชเจ้าเมืองนั้น ได้ให้เอากลองใหญ่ใบหนึ่งมาให้พระอภัยราชกุมารโอรสของพระองค์เข้าไปอยู่ภายในกลองใบนั้น จัดหาโภชนาหารและปัญจโครสใส่ไว้ในกลอง ให้พอพระราชโอรสเสวยแล้วก็ให้เอากลองนั้นวางไว้ ณ ปราสาท นกอินทรีก็มาทุกๆ วัน จับมนุษย์และสัตว์กินจนหมด ที่สุดแต่สุนัขสุกรและไก่แมวเป็นต้นก็ดี ช้างม้าโคมหิงษาเป็นต้นก็ดี ก็หามีเหลืออยู่ไม่ เพราะเหตุนั้น พระราชาและพระมเหสีก็ถูกนกอินทรีจับกินเสียสิ้น ฝ่ายพระอภัยราชกุมารนั้น ได้อยู่ในภายในกลองใหญ่ คอยท่าพระราชบิดามารดาอยู่ที่นั้น ครั้นกาลนานมานกอินทรีก็หายไปหาได้มาอีกไม่ เพราะเหตุนั้นพระราชกุมารกุมารีกับม้ามาอยู่ที่ปราสาทเมืองนั้น จึงเป็นสุขสบายหามีอันตรายไม่

ครั้นวันอื่น ๆ ต่อมา พระเทวันธกุมารขึ้นประทับบนหลังม้าเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเลือกเก็บนานาผลาผลและนานาบุปผาอยู่ในมหาวัน คราวนั้นพระนางจันทนกุมารีอยู่ที่ปราสาทแต่องค์เดียว เที่ยวตรวจดูในห้องปราสาทเห็นกลองใหญ่นั้นเข้าดำริว่า ชัยเภรีใบนี้ใหญ่โตเทียวหนอ ดำริแล้วเสด็จเข้าใกล้ลูบคลำดูและเคาะกลองด้วยพระหัตถ์ เห็นมีบานประตูปิดอยู่จึงเปิดประตูออกพบพระอภัยราชกุมารอยู่ในกลองนั้น

พระอภัยราชกุมารเห็นพระนางจันทนกุมารีนึกแต่ในใจว่า โอประหลาดใจจริง นี่จะเป็นมนุษย์หรือเทพธิดาหรือนาคมานวิกาและยักขินีประการใด แล้วถามว่า แน่ะนางผู้สุนทรพักตรา เธอมาแต่ที่ไหน เราเดินดินมา มาผู้เดียวหรือมากับผู้ใด เราพลัดเมืองมากับพระเทวันธกุมารพี่ชายและกับม้า เหตุไรเธอจึงพลัดเมืองมาถึงที่นี่ นางจันทนกุมารีจึงแสดงตนว่าเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากาสิกราช แล้วเล่าความแต่ต้นจนถึงม้าพามาถึงนครนี้ ให้อภัยราชกุมารฟังถ้วนถี่

พระนางจันทนกุมารีจึงถามพระอภัยกุมารว่า เหตุไรท่านมาอยู่ที่ปราสาทแต่องค์เดียวเล่า ญาติและอำมาตย์ชาวประชาเขาพากันไปไหนหมด เหตุไรพระนครจึงว่างเปล่าหามีหมู่มนุษย์ไม่ ก็และเหตุไรท่านจึงต้องเข้าอยู่ในกลองชัยเภรีนี้ พระอภัยราชกุมารจึงเล่าความตามนัยที่ได้กล่าวมาแล้วให้พระนางจันทนกุมารีฟังแต่ต้นจนอวสาน พระอภัยราชกุมารและพระนางจันทนกุมารีสนทนาปราศรัยซึ่งกันและกัน ต่างก็มีจิตคิดรักใคร่ได้ถึงซึ่งสังวาสกิจต่อกันและกันเพราะเหตุดังนั้น ธรรมดาของโลกจึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า ชายหนุ่มหญิงสาวอยู่ในที่ลับสองต่อสองแล้ว เมื่อเพ่งซึ่งกันและกันด้วยราคฤคีย่อมมีความเยื่อใยเกิดขึ้นด้วยเห็นกันบ่อยๆ เพราะเหตุดังนั้นพระอภัยราชกุมารกับพระนางจันทนกุมารี จึงมีความรักใคร่ได้ร่วมอภิรมย์ด้วยโลกธรรมต่อกันและกัน

พระนางจันทนกุมารีนั้นอาศัยร่วมสังวาสกับพระอภัยราชกุมารก็มีพระครรภ์ปรากฏขึ้น วันหนึ่งนางจึงไปหาพระอภัยราชกุมาร และบอกว่าบัดนี้หม่อมฉันมีครรภ์ขึ้นแล้ว ถ้าหากว่าพระเชษฐารู้เข้าก็จักทำชีวิตเราให้ถึงความพินาศ เราจะคิดอ่านประการใดดี แน่ะภคินีอุบายของพี่มีอยู่ข้อหนึ่ง อุบายของพี่มีอยู่อย่างไร แน่ะภคินี ในป่าหิมพานต์มีดงอ้อยล้วนลำงามสะอาดแลสลอน มีฝูงวานรดำตัวใหญ่ๆ มีกำลังมากหากรักษาป่าอ้อยอยู่ เธอจงบอกพระเชษฐาของเธอดังนี้ว่า หม่อมฉันฝันเห็นว่าที่ป่าหิมพานต์แห่งโน้น มีดงอ้อยลำใหญ่เท่าต้นหมาก ในฝันว่าหม่อมฉันได้ดื่มน้ำอ้อยมีรสหวานนักหนา เหตุดังนั้นขอพระเชษฐาจงไปเอาอ้อยนั้นมาประทานให้หม่อมฉัน ถ้าหากว่าพระเชษฐาของเธอนั้นไปถึงป่าอ้อยแล้วไซร้ พวกวานรจักกัดอัสดรกับพระเชษฐาให้ถึงความตาย เราทั้งสองก็จะอยู่สบายต่อไป พระนางจันทนกุมารีรับถ้อยคำสามีแล้ว จึงไปคอยท่าพระเชษฐาอยู่ยังที่อยู่ของตน

ครั้นถึงเวลาเย็นพระโพธิสัตว์เจ้าประทับนั่งบนหลังม้าเสด็จกลับมาถึงปราสาทประทานผลาผลไม้ให้พระภคินีนาฏเสวยเสร็จแล้วก็ไสยาสน์หลับไป ครั้นรุ่งเช้าพระนางจันทนกุมารีเข้าไปยังที่อุปฐากพระเชษฐาทำวัตรปฏิบัติเสร็จแล้วจึงทูลว่า เมื่อคืนวันนี้หม่อมฉันฝันเห็นว่า ได้กินอ้อยหิมพานต์มีรสหวานยิ่งนัก เหตุดังนั้นพระเจ้าพี่ได้ปรานีหม่อมฉัน เสด็จไปเอาอ้อยหิมพานต์มาประทานให้น้องเถิด พระเจ้าข้า

พระโพธิสัตว์รับถ้อยคำพระนางจันทนกุมารีแล้ว จึงรับสั่งเรียกม้ามาขึ้นประทับหลังม้า เสด็จไปถึงดงอ้อยปรารภจะตัดเอาอ้อยมา ฝูงวานรทั้งหลายตัวใหญ่ๆ เสมอเท่ากระบือรักษาป่าอ้อยอยู่ รู้เข้าก็ตรูกันออกมาห้ามพระโพธิสัตว์กับม้าไว้ ม้าศีร์ษะราชสีห์เห็นวานรมามากมาย จึงบันลือเสียงสีหนาทตวาดออกไป วานรทั้งหลายได้ยินสีหนาทก็ถึงสภาพสลบไป พระเทวันธกุมารหาสลบไม่ด้วยผลแห่งกุศลที่ได้อบรมมามาก พระองค์จึงตัดอ้อยได้แล้วก็เสวยบ้างให้ม้ากินบ้าง แล้วจึงไปหาน้ำมารดสรีรกายวานรทั้งหลายๆ ก็ฟื้นได้สติคืนมาจึงทูลพระราชกุมารว่าตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าทั้งหลายยอมเป็นหาสของท่าน และยอมยกป่าอ้อยนี้ให้แก่ท่าน กับทั้งจะนำอ้อยไปให้แก่ท่านทุกเจ็ดวัน พระโพธิสัตว์นั้นถือเอาอ้อยลำขึ้นหลังม้าเหาะมาถึงปราสาท พระนางจันทนกุมารีทรงต้อนรับแล้วได้เสวยอ้อยซึ่งพระโพธิสัตว์ประทานให้

ครั้นรุ่งเช้าพระโพธิสัตว์เจ้าขึ้นหลังม้าเสด็จยังราวไพรแล้ว พระนางจันทนกุมารีจึงไปหาพระอภัยราชกุมารแจ้งอาการนั้นให้ฟังถ้วนถี่ พระนางจันทนกุมารีจึงหารือว่า บัดนี้เราจะคิดอ่านประการใดต่อไป พระอภัยราชกุมารจึงแจ้งว่า เธออย่าวิตกไปเลย อุบายอื่นยังมีอีก ในป่าหิมพานต์มีผึ้งหลวงมากมาย ฝูงหมีทั้งหลายรักษารังผึ้งอยู่ หมีเหล่านั้นดุร้ายกาจนัก เห็นมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานแล้วย่อมกัดตายสิ้น เหตุดังนั้นเธอจงบอกพระเชษฐาของเธอว่า หม่อมฉันอยากกินน้ำผึ้งหลวงๆ มีอยู่ที่ป่าหิมพานต์ พระเชษฐาจงกรุณาไปหาผึ้งมาประทานให้หม่อมฉัน

ครั้นรุ่งเช้า พระนางจันทนกุมารีจึงนำความแจ้งแก่พระโพธิสัตว์เหมือนดังพระอภัยราชกุมารสั่ง พระโพธิสัตว์ทรงฟังดังนั้น จึงบอกแก่ม้าๆ จึงพาพระโพธิสัตว์ไปถึงที่มีผึ้งหลวง พวกหมีทั้งปวงเห็นพระโพธิสัตว์กับม้าก็โกรธาตรงเข้าจะกัดม้า ม้าศีร์ษะราชสีห์จึงแผดเสียงสีหนาท หมีทั้งหลายก็ขาดใจตายอยู่เกลื่อนกลาดปฐพี พระโพธิสัตว์มีกรุณาจึงหาวารีมารดสรีระหมีเหล่านั้น ๆ ได้สติฟื้นคืนมาพากันมอบตนเป็นทาสและให้ปฏิญญาณว่าจะนำน้ำผึ้งไปถวายเสมอทุก ๆ เจ็ดวัน หมีเหล่านั้นหาน้ำผึ้งมาถวายพระโพธิสัตว์ ๆ ได้น้ำผึ้งแล้วเสด็จขึ้นหลังม้าเหาะถึงเมืองเหมันตนคร ประทานน้ำผึ้งให้พระภคินีเสวย

ครั้นรุ่งเช้าพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จไปยังหิมวันต์แล้ว พระนางจันทนกุมารีจึงไปยังสำนักพระอภัยราชกุมาร บอกอาการพระเชษฐาว่าหาตายไม่ นางจึงหารือว่าบัดนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป พระอภัยราชกุมารจึงตอบว่า ในหิมวันตประเทศมีสระน้ำอยู่แห่งหนึ่ง เป็นน้ำสำหรับบริโภคใช้สอยของท้าวเวสสวรรณ สระน้ำนั้นสะพรั่งไปด้วยเบญจประทุมดอกโตเท่าจักรรถ และมีกระจับประมาณเท่าศีรษะกระบือ มีกุมภัณฑ์ยักษ์เฝ้ารักษาสระนั้นอยู่สี่ตน ถ้าว่ากุมภัณฑ์สี่ตนนั้นเห็นม้าและพระเชษฐาแล้วก็จงจะฆ่าตายเราทั้งสองก็จะอยู่เป็นสุขสบาย ด้วยเหตุนี้พระน้องจงบอกพระเชษฐาของเธอว่า หม่อมฉันฝันเห็นว่าที่หิมวัตประเทศโน้นมีสระน้ำอยู่แห่งหนึ่ง สะพรั่งไปด้วยเบญจประทุมห้าประการ หม่อมฉันอยากได้ดอกและฝักประทุมที่สระนั้น ขอพระเชษฐาจงกรุณาไปหามาประทานให้หม่อมฉัน พระนางจันทนกุมารีรับคำสามีแล้วจึงไปคอยท่าพระเชษฐาอยู่ ณ ปราสาทของตน

ครั้นถึงเวลาเย็น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงประทับหลังม้าเสร็จกลับมาถึงปราสาท พระนางจันทนกุมารีนาฏจึงทำการต้อนรับและทำวัตรจริยาตามเคย ต่อเวลารุ่งเช้าพระนางจันทนกุมารีจึงทูลความตามที่พระอภัยราชกุมารบอกนั้นให้พระโพธิสัตว์เจ้าฟัง พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นหลังม้าบอกสัญญาแก่ม้าๆ ก็พาเหาะไปในอากาศ จนบรรลุถึงสระน้ำนั้นแล้วเสด็จลงไปในสระ ในเวลานั้นพวกกุมภัณฑ์หาอยู่ไม่ พากันไปหาอาหารยังมิทันจะกลับมา พระโพธิสัตว์ทรงเก็บเง่าบัวและเสวยกระจับ แล้วเลือกเก็บดอกบัวอยู่ ณ ขณะนั้น พวกกุมภัณฑ์สี่ตนกลับมาถึงสระ จึงพากันจับม้าและพระโพธิสัตว์ไว้ กุมภัณฑ์ตนหนึ่งจึงพูดว่า เจ้ามาลักเง่าบัวและกระจับของเรากิน เราจะกินเจ้าเป็นอาหาร กุมภัณฑ์ตนหนึ่งจึงร้องห้ามว่าอย่าเพ่อกินเลย ควรเราจักถามเขาดูว่าเขารู้จักธรรมและอธรรมหรือไม่ ถ้าว่ามาณพนั้นเขารู้จักธรรมเราก็ไม่ควรกินเขา กุมภัณฑ์ตนหนึ่งจึงถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรมาณพ ท่านรู้จักธรรมและอธรรมหรือไม่ เรารู้จักซึ่งธรรมแสะอธรรม ถ้าท่านรู้จักธรรมและอธรรมจงกล่าวให้ฟัง ณ บัดนี้ พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า ธรรมเนียมผู้บัณฑิตเมื่อจะแสดงธรรมต้องได้นั่งอาสนะอันสมคาวร จึงจะแสดงธรรมแก่บุคคลผู้ควรฟัง บัดนี้อาสนะหาควรแก่เราไม่ บุคคลก็หาควรจะฟังธรรมของเราไม่ เพราะเหตุนั้นเราไม่ควรจะแสดงธรรมให้พวกท่านฟัง กุมภัณฑ์ทั้งหลายถามว่าก็ควรที่พวกข้าพเจ้าจะทำอย่างไร พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า ท่านทั้งหลายจงตบแต่งธรรมาสน์ด้วยดอกไม้และบูชาด้วยเครื่องสักการะมีกลิ่นหอมเป็นต้น พวกกุมภัณฑ์จึงทำตามพระโพธิสัตว์อย่างนั้นเสร็จแล้ว จึงตักวารีมาสรงพระโพธิสัตว์ และให้ประดับด้วยวัตถาภรณ์และเชิญให้ขึ้นนั่งยังธรรมาสน์ จึงอาราธนาว่าท่านจงแสดงธรรมเถิด ณ บัดนี้

พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า บัดนี้อาสนะก็สมควรแก่เราแล้ว แต่บุคคลผู้ฟังยังหาสมควรไม่ แน่ะ มาณพ บุคคลผู้จะฟังยังไม่ควรนั้นด้วยเหตุไรเล่า ท่านทั้งหลายจงสมาทานศีลเสียก่อน ท่านทั้งหลายสมาทานศีลแล้วจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ควรฟังธรรม ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้ศีลแก่พวกข้าพเจ้า พระโพธิสัตว์เมื่อจะให้ศีล ๕ จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงงดเว้นการฆ่าสัตว์ ๑ จงงดเว้นการลักพัสดุที่เขาไม่ยอมให้ ๑ จงงดเว้นการประพฤติผิดในกาม ๑ จงงดเว้นจากวาจาเท็จ ๑ จงงดเว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือดื่มน้ำทำผู้ดื่มแล้วให้เมากล่าวคือสุราและเมรัย ๑

พระโพธิสัตว์เจ้าทรงให้ศีล ๕ แล้ว เมื่อจะทรงแสดงอธรรมและธรรมต่อไป จึงตรัสว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายแต่ก่อนเคยเกิดเป็นมนุษย์ ประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาและน้ำใจ จึงได้มาเกิดในกำเนิดยักษ์ด้วยทารุณกรรมสมาทาน บัดนี้ท่านทั้งหลายยังเป็นผู้หยาบช้าร้ายกาจอยู่เช่นนี้ ตายจากอัตตภาพเป็นยักษ์แล้วก็จักไปเกิดในนรก เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงละทุจริต ๓ อย่างเสียและจงถือเอาซึ่งสุจริต ๓ อย่างไว้ให้มั่น ทุจริต ๓ อย่างนั้นชื่อว่าอธรรม

ทุจริต ๓ อย่างนั้น คือกายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ กายทุจริตนั้นคือประพฤติชั่วทางกายมีอาการเป็น ๓ อย่าง คือฆ่าสัตว์มีชีวิต ๑ ลักทรัพย์พัสดุของเขา ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ เหล่านี้สำเร็จด้วยกายจึงชื่อว่ากายทุจริต วจีทุจริตนั้นคือความประพฤติชั่วทางวาจามีอาการเป็น ๔ อย่าง คือกล่าวคำเท็จไม่จริง ๑ กล่าวคำหยาบ ๑ กล่าวคำส่อเสียด ๑ กล่าวคำเพ้อเจ้อโปรยเสียซึ่งประโยชน์ ๑ เหล่านี้สำเร็จด้วยวาจาจึงชื่อว่าวจีทุจริต มโนทุจริตนั้นคือประพฤติชั่วทางใจมีอาการเป็น ๓ อย่าง คือเจตสิกธรรมชาติอันเกิดแต่โลภวิการ เป็นเหตุให้ทำทุจริต มีปาณาติปาตเป็นต้น เรียกว่าอภิชฌา ๑ ความปองร้ายผูกอาฆาตจองเวรอันเกิดแต่โทสวิการ เรียกว่าพยาบาท ๑ ความเห็นผิดคลองธรรมอันเกิดแต่โมหวิการ เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ๑ เหล่านี้สำเร็จมาทางใจจึงชื่อว่ามโนทุจริต ความประพฤติชั่วเป็นไปในไตรทวารนี้ เรียกว่าอธรรม

ก็ผู้ใดเสพทุจริตและทำทุจริตให้เจริญมากแล้ว ผู้นั้นก็เป็นไปในฝ่ายแห่งความไม่เจริญ เมื่อตายจากโลกนี้แล้วย่อมจะไปเกิดในนรก ผู้ใดละเสียได้ซึ่งทุจริตแล้ว และเสพสุจริตทำสุจริตให้เจริญมาก ผู้นั้นครั้นตายจากโลกนี้แล้วจักไปเกิดในสวรรค์ และจักได้ซึ่งไตรพิธสมบัติ ๓ ประการ เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงละเสียซึ่งอธรรมทุจริต และถือเอาซึ่งธรรมสุจริต ๓ อย่างฝ่ายข้างส่วนดีเถิด

ก็แหละสุจริต ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน สุจริต ๓ อย่างนั้นคือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ ความที่ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๓ อย่างนี้สำเร็จมาแต่ความประพฤติได้ด้วยกายจึงชื่อว่ากายสุจริต ความที่ไม่พูดเท็จไม่พูดหยาบไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๔ อย่างนี้สำเร็จมาแต่ความประพฤติดีทางวาจาจึงชื่อวจีสุจริต ความที่ไม่เพ่งเล็งน้อมเอาพัสดุของเขา ความที่ไม่ผูกอาฆาตปองร้ายเขา ความที่เห็นตรงต่อธรรมความชอบ ๓ อย่างนี้สำเร็จมาแต่ความประพฤติดีทางใจ จึงชื่อมโนสุจริต ความประพฤติดีด้วยกายวาจาใจ ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ธรรมความชอบ

พระโพธิสัตว์ตรัสแสดงอธรรมและธรรม ๒ ประการนี้แล้ว จึงแสดงโทษแห่งอธรรมทุจริตว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดเสพกายทุจริตทำกายทุจริตให้เจริญมากแล้ว ผู้นั้นครั้นจุติจากโลกนี้แล้วจักไปเกิดในนรก ถ้ามาเกิดยังมนุษย์โลกไซร้ ผู้นั้นจะมีอายุน้อยอายุสั้นมีโรคมีทุกข์มากมีเวรมาก เพราะโทษแห่งปาณาปิปาตกรรม และจะเป็นผู้กำพร้าอนาถาหาข้าวน้ำกินยาก จะพินาศไปด้วยราชภัยเป็นต้น เพราะโทษอทินนาทานให้ผล และบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้มีรูปกายทรพลถูกเขาติเตียนเป็นเบื้องหน้า และจะถึงซึ่งความเป็นเพศกระเทยและบัณเฑาะก์และสตรีเป็นต้น เพราะโทษแห่งกามมิจฉาจารให้ผล เหล่านี้โทษแห่งกายทุจริต

ผู้ใดเว้นเสียได้จากปาณาติบาตและอทินนาทาน กามมิจฉาจาร ผู้นั้นครั้นตายจากโลกนี้แล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์จะเป็นผู้มีอายุยืน ปราศจากผู้เป็นเวร จะมีมิตรสหายมาก เพราะอานิสงส์กุศลวิบากแห่งการเว้นปาณาติบาตให้ผล และจะเป็นคนมั่งคั่งมีโภคทรัพย์มากมายและปราศจากอันตรายมีราชภัยเป็นต้น เพราะอานิสงส์ผลแห่งการเว้นจากอทินนาทานอุปถัมภ์ กับจะเป็นผู้มีรูปงามเป็นที่รักใคร่ของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นต้น เพราะอานิสงส์ผลที่ตนเว้นจากกามมิจฉาจารตามอุดหนุน คุณเหล่านี้เป็นอานิสงส์แห่งกายสุจริต

ก็โทษแห่งวจีทุจริตและอานิสงส์แห่งวจีทุจริตนั้นเป็นไฉน ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวคำเท็จไม่จริง คำส่อเสียด คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อโปรยเสียซึ่งประโยชน์ ผู้ใดเสพและทำให้มากแล้วผู้นั้นจะเป็นไปเพื่อเกิดในอบาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ขอบใจของมนุษย์และเทวดา พูดสิ่งใดก็จะไม่มีคนเชื่อและนับถือ แม้จะพูดจริงก็หากให้เห็นเป็นเท็จไป มักจะมีผู้แกล้งใส่ความผิดให้ต่าง ๆ เทวดาและมนุษย์ย่อมรังเกียจเกลียดชัง และจะมีกลิ่นปากเหม็น เป็นอาทิ อันนี้เป็นโทษแห่งวจีทุจริตมีมุสาวาทเป็นต้น

ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวคำสัจจริง กล่าวคำสมานไมตรีจิต กล่าวคำสุภาษิต กล่าวคำนำมาซึ่งประโยชน์ หมั่นเสพและหมั่นทำให้มากแล้ว ผู้นั้นก็จะเป็นไปเพื่อให้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์จะเป็นที่รักใคร่ชอบใจของมนุษย์และเทวดา พูดสิ่งใดก็จะมีแต่คนเชื่อและนับถือ ปราศจากผู้แกล้งใส่โทษความผิด เทวดาและมนุษย์ย่อมคุ้มครองรักษา และจะมีกลิ่นปากหอมเป็นอาทิ อันนี้อานิสงส์แห่งวจีสุจริตมีสัจจะเป็นต้น

ก็โทษแห่งมโนทุจริตและอานิสงส์แห่งมโนสุจริตเป็นไฉน ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ความโลภเกินประมาณ ความปองร้ายผูกอาฆาต ความเห็นผิดจากคลองธรรม ผู้ใดเสพและทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ผู้นั้นประพฤติชั่วทางกายวาจา วิบากทุกข์อันเป็นผลเกิดทางกายทางวาจาเหล่านี้ เป็นโทษเนื่องมาแต่เหตุคือมโนทุจริตนั้นเอง

ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ความไม่โลภเกินประมาณ ความไม่ปองร้ายผูกอาฆาต ความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม ผู้ใดเสพและทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ผู้นั้นประพฤติดีทางกายทางวาจา วิบากสุขอันเป็นผลเกิดทางกายทางวาจาเหล่านี้ เป็นอานิสงส์เนื่องมาแต่มโนสุจริตนั้นเอง เพราะเหตุดังนั้น ท่านทั้งหลายจงละเสียซึ่งมโนทุจริต และสมาทานถือมั่นซึ่งมโนสุจริตเถิด

ฝ่ายกุมภัณฑ์ยักษ์สี่ตน ได้ฟังธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์ แล้วพากันทำนานาบูชาสักการะแล้วทูลว่า พระราชกุมาร ๆ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าๆ เป็นศิษย์ของพระราชกุมาร ต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้าจักทำความขวนขวายถวาย พระราชกุมารต้องการอะไรจงบอกให้ทราบเถิด พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรกุมภัณฑ์ เราเป็นผู้พลัดเมืองมาอาศัยอยู่ ณ เมืองเปล่ากับน้องสาวผู้หนึ่ง ญาติมิตรผู้อื่นหามีไม่ ท่านทั้งหลายจงกรุณาหาอาหารให้เราบริโภคด้วย กุมภัณฑ์รับวาจาว่าสาธุแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทรงประทับหลังม้าเหาะไปถึงปราสาท ประทานประทุมชาติทั้งดอกและฝัก และกระจับให้พระภาคีนีเสวยและชมสมประสงค์ กุมภัณฑ์สองตนอยู่บำรุงเลี้ยง อีกสองคนนั้นลากลับไปรักษาสระน้ำ ต่อแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์บางคราวก็เสด็จไปป่าหิมวันต์ บางครั้งก็หาเสด็จไปป่าหิมวันต์ไม่ ก็คราวนั้นพระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ ณ ปราสาทกับกุมภัณฑ์มาณพสองตนสิ้นกาลประมาณสามวัน คราวนั้นพระนางจันทนกุมารีจะไปหาสามีก็ไม่ได้ เกิดโทมนัสขุ่นแค้นใจตรึกตรองไปว่า เราจะทำอย่างไรดีหนอ พระนางคิดไปก็เห็นอุบายจะให้พระเจ้าพี่ไปหาผลมะม่วงในป่า พระนางจึงไปหาพระโพธิสัตว์ แกล้งทูลว่าเมื่อคืนนี้น้องเห็นสุบินนิมิตอันหนึ่งว่า พระองค์ประทานผลมะม่วงหิมพานต์ให้หม่อมฉัน เพราะเหตุนั้นขอพระเจ้าพี่ได้ปรานีหาผลมะม่วงหิมพานต์มาประทานให้หม่อมฉันเถิด พระโพธิสัตว์ทรงอาลัยในพระกนิษฐภคินีมาก เสด็จขึ้นหลังม้าไปหาผลมะม่วงได้ผลหนึ่ง จึงเสด็จไปยังนทีลงสรงน้ำอยู่ที่นั้น

เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปแล้ว พระนางจันทนกุมารีจึงเสด็จไปหาสามีทูลว่า พระลูกเจ้า บัดนี้เราจะทำอย่างไรดี พระเจ้าพี่ของหม่อมฉันมีบุญมากนักหนา เราส่งไปให้วานรกัดครั้งหนึ่ง และส่งไปให้หมีกัดอีกครั้งหนึ่ง และส่งไปให้กุมภัณฑ์ฆ่าเสียก็อีกครั้งหนึ่ง วานรและหมี กุมภัณฑ์เหล่านั้นก็กลับยอมตนเป็นทาสให้พระเจ้าพี่ใช้ทั้งหมด พระเจ้าพี่นั้นต่อหลายวันจึงจะไปป่าหิมพานต์สักครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นหม่อมฉันจึงมาหาท่านไม่ได้ บัดนี้หม่อมฉันขอผลมะม่วงหิมพานต์กับพระเจ้าพี่ วันนี้พระเจ้าพี่ไปหาผลมะม่วงแล้วหม่อมฉันจึงมีโอกาสมาหาได้ ทีนี้เราจะคิดอ่านประการใด

พระอภัยราชกุมารผู้ภัศดา จึงตอบว่าเรามีหลาวอยู่หลายเล่ม เราจะทำกระดานยนต์ไว้ที่สรงน้ำแล้วจึงเอาหลาวทั้งหลายปักรายไว้ใต้กระดานยนต์ แล้วเอาเชือกผูกหัวต่อแผ่นกระดานไว้ให้ดี จึงเอาเชือกผูกโยงหย่อนหัวเงื่อนเข้าไปไว้ในกลอง เมื่อพระเชษฐาของเธอขึ้นประทับนั่ง ณ ที่สรงน้ำเมื่อใด เมื่อนั้นเธอจงให้สัญญาด้วยเสียงดัง เราจะกระตุกเงื่อนเชือกให้กระดานหก พระเชษฐาก็จะพลัดตกถูกหลาวตาย เราทั้งสองก็จะอยู่สบายต่อไป

พระอภัยราชกุมารคิดกันแล้วจึงเตรียมการที่คิดเสร็จแล้วเสด็จเข้าไปในกลอง

ครั้นเวลาเย็น พระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จขึ้นบนหลังม้าเหาะมาทางอากาศ ถึงปราสาทแล้วประทานอัมพผลแก่พระนางจันทนกุมารีๆ เชิญให้ผลัดภูษานำพระเชษฐาเข้าไปสู่ที่สรงให้ประทับ ณ แผ่นกระดานยนต์ซึ่งแต่งไว้ พระนางเธอจึงให้สัญญาซึ่งพระอภัยราชกุมารนัดหมายไว้ด้วยสำเนียงอันดัง พระอภัยราชกุมารนั้นจึงกระตุกเงื่อนเชือกที่ผูกไว้ พระโพธิสัตว์ก็พลัดตกลงไปใต้แผ่นกระดานยนต์ ณ ขณะนั้น เทพดารักษามหาปราสาทจึงผลักหลาวให้ลู่ล้มไป พระโพธิสัตว์หาถึงอันตรายต่อชีวิตไม่

พระโพธิสัตว์ลุกขึ้นยืนทอดพระเนตรเห็นหลาวมีมากมาย จึงดำรัสสั่งว่าปัจจามิตรคนใดทำกระดานยนต์และเอาไม้หลาวปักไว้ ดูกรมาณพ ท่านจงค้นต้นเชือกให้พบสาวไปจับตัวปัจจามิตรให้ได้ กุมภัณฑ์มาณพรับๆ สั่งแล้วจึงพากันไปตามเส้นเชือกไปจนถึงที่สุด เห็นเส้นเชือกเข้าไปในกลองใหญ่ เปิดประตูเข้าไปพบตัวพระอภัยราชกุมาร จึงซักถามพระอภัยราชกุมารให้การรับสารภาพตามความจริง กุมภัณฑ์มาณพจึงจับตัวพระอภัยราชกุมาร มาส่งยังสำนักพระมหาสัตว์ ทูลความนั้นให้ทรงทราบ

พระโพธิสัตว์ทรงถามด้วยพระองค์เองว่า แน่ะมาณพ ท่านมาแต่ไหน ข้าพระบาทอยู่ในประเทศชาติภูมินี้เอง ท่านอยู่ที่ตรงไหนทำไมเราจึงไม่เห็น ข้าพระบาทอยู่ ณ ภายในกลองใหญ่ เหตุไรท่านจึงอยู่แต่ผู้เดียวเล่า ข้าแต่เทวดา มีนกอินทรีมาแต่หิมวันต์คาบเอามหาชนไปกินเสียสิ้น ชนบางพวกหนีไปได้ก็มี แต่พระราชบิดาของข้าพระบาททรงพระเมตตาให้ข้าพระบาทเข้าอยู่ในกลองใหญ่ ขนโภชนาหารใส่ไว้ให้บริโภค แล้วถูกนกอินทรีกินเป็นภักษา เหตุดังนั้นข้าพระบาทจึงรอดตายเหลืออยู่ผู้เดียวเท่านี้ ก็เหตุไรท่านจึงคิดอุบายฆ่าตัวเรา ข้าแต่เทวดา ข้าพระบาทมีความผิดทำอสัทธรรมกิจกับพระราชภคินีของพระองค์ๆ ทรงพระครรภ์ขึ้นมา ด้วยเกรงกลัวพระอาชญาของพระองค์ จึงคิดอุบายจะปลงพระชนม์พระองค์เสียดังนี้ ขอพระองค์จงอดโทษแก่ข้าพระบาทผู้อันธพาลประทานชีวิตไว้ ข้าพระบาทขอเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ต่อไป

พระโพธิสัตว์จะได้กริ้วโกรธก็หาไม่ รับสั่งว่า แน่ะมาณพ ท่านเป็นอันธพาลแท้ ด้วยอกุศลกรรมที่ทำไว้จึงได้พลัดพรากมารดาบิดาและญาติเป็นต้นเหตุไรจึงก่อกรรมทำอกุศลอีกเล่า ต่อแต่นี้ไปท่านอย่าได้ทำอกุศลอีกเลย พระโพธิสัตว์ทรงประทานศีล ๕ แล้วสั่งสอนโดยดีหาได้ทำโทษไม่ ตั้งแต่นั้นมากษัตริย์ทั้งสามองค์ทรงอยู่สมัครสังวาสพร้อมเพรียงกันเป็นปรกติดี

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทรงรำพึงถึงพระราชมารดาว่า อโห วต น่าใจหายจริง พระมารดาของเราคงอนาถา จะเป็นภักษามหายักษ์หรือจักอยู่เป็นสุขประการใดไม่รู้ที่

ปานฉะนี้พระชนนีระลึกถึงลูกแก้วไม่เห็นแล้วก็จะทรงพระโสกี จะอยู่ดีด้วยยักษ์และยังปฏิบัติให้ถูกใจยักษ์หรือไม่ หรือยักษ์โกรธลงโทษพระมารดาเสียแล้วหรืออย่างไร อาตมะจักกลับไปเยี่ยมเยือนดู แต่ก่อนอาตมะได้ม้าเป็นเพื่อนสองเท่านั้น บัดนี้ก็มีบริวารมากขึ้นคือวานรและหมีทั้งกุมภัณฑ์ เราอาจจะรบกับยักษ์ได้ด้วยบริวารเท่านี้ ดำริแล้วจึงดำรัสสั่งสองกุมภัณฑ์ว่า ดูกรมาณพ เราถูกยักษ์ทำให้พลัดพรากจากพระราชมารดา พระบิดาของเราก็ถูกยักษ์มันฆ่าตาย บัดนี้ยักษ์นั้นแปลงเพศเหมือนพระราชบิดา อยู่ร่วมเรียงกับพระมารดาของเรา ด้วยเหตุนี้ยักษ์นั้นจึงเป็นไพรีแก่เรา ท่านจงไปป่าหิมพานต์พาตัวสหายมาหาเรา เราจักยกพลไปรบกับมหายักษ์แก้แค้นให้จงได้

กุมภัณฑ์มาณพสองตนรับว่าสาธุดังนี้แล้ว จึงไปพาเอากุมภัณฑ์สองตนที่เฝ้าสระนั้นมา พวกกุมภัณฑ์จึงทูลว่า พระองค์อย่าทรงวิตกเลย ข้าพระบาทเป็นทาสของพระองค์ จักขอรับอาษาเป็นโยธาต่างพระบาทและพระหัตถ์ของพระองค์ ออกไปจับตัวนันทยักษ์ฆ่าเสียให้จงได้ พระโพธิสัตว์ดีพระทัยแล้วเรียกม้าเข้ามาสั่งว่า แน่ะพี่ม้าน้องจักไปยังพระนครบ้านเกิดเมืองนอนของเรา พี่ม้าจงไปทำหิมพานต์แจ้งอาการเรื่องนี้แก่พระยาวานรและพระยาหมี ตามคำของน้องสั่งไปดังนี้ว่า บัดนี้เราผู้เทวันธกุมารใคร่จะกลับไปยังนคร จักไปทำสงครามกับนันทยักษ์ ขอพระยาวานรพระยาหมีทั้งสอง จงพาพวกบริวารไปยังสำนักแห่งเรา จักพร้อมกันยกไปทำสงครามกับนันทยักษ์

ฝ่ายว่าสีหศีรษะพาชีนั้น รับ ๆ สั่งแล้วก็ไปยังป่าหิมพานต์ แจ้งอาการนั้นให้พระยาวานรและพระยาหมีทราบตามคำพระโพธิสัตว์สั่งไป พระยาวานรินทร์เรียกวานรบริวารหกสิบหมื่นมาสั่งเสร็จแล้วยกไปยังเมืองเหมันตธานีที่ประทับอยู่แห่งพระโพธิสัตว์ ฝ่ายพระยาหมีเรียกหมีบริวารประมาณสี่สิบหมื่นมาสั่งเสร็จแล้วยกไปยังเหมันตธานีที่ประทับอยู่แห่งพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์จึงรับสั่งกำชับพวกวานรและหมีไว้ว่า ถ้าพวกมนุษย์เขาจักรบพวกเจ้าๆ จงจับพวกมนุษย์นั้นมัดไว้อย่าได้ฆ่าเลย จงจับแต่ยักษ์และบริวารยักษ์ผูกมัดและฆ่าเสีย พระองค์ทรงตรวจพลบริวารเสร็จจึงเสด็จขึ้นหลังม้า ให้พระราชกนิษฐภคินีขึ้นขี่หลังพระยาหมี ให้พระชามาตรกนิษฐ์ขึ้นสถิตบนหลังพระยาวานรินทร์ แล้วรับสั่งกะท้าวกุมภัณฑ์ว่า ให้บังคับพวกวานรและพวกหมี ให้พากันขนเอาเงินและทองแก้วและทรัพย์อย่างอื่นไปให้มาก เราจักบริจาคทานแก่พวกมนุษย์ ท้าวกุมภัณฑ์ได้บอกกับพวกวานรและพวกหมีให้จัดการเสร็จตามรับสั่งพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์เสด็จแต่เหมันตนครพร้อมด้วยมหันตบริวารดำเนินไปได้หลายวัน จึงบรรลุถึงปัจจันตประเทศอันเป็นเขตแดนของมนุษย์ พระมหาบุรุษจึงบังคับพวกวานรและหมีว่า พวกเจ้าทั้งหลายอย่าได้เบียดเบียนพวกมนุษย์ๆ พวกใดเบียดเบียนพวกเจ้าๆ จงจับมนุษย์พวกนั้นมัดไว้อย่าได้ฆ่าเลยเป็นอันขาด มนุษย์ชาวปัจจันตประเทศเหล่านั้น ครั้นเห็นพวกวานรและหมีมามากมาย ต่างก็ตระหนกตกใจกลัวหนีไปซุกซ่อนอยู่ตามภูเขาและราวไพร พระโพธิสัตว์จึงบังคับท้าวกุมภัณฑ์สี่ตนว่า ท่านจงแปลงเพศเป็นมาณพไปประกาศตามบ้านและนิคมว่า อย่าพากันตกใจหนีไปเลย บัดนี้พระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสีมีนามว่าเทวันธกุมารกลับมาจะเสวยราชสมบัติต่อไป ท้าวกุมภัณฑ์รับๆ สั่งแล้วก็ไปป่าวร้องตามรับสั่ง มนุษย์ชาวบ้านได้ฟังก็โสมนัส จัดนานาบรรณาการมาถวายพระโพธิสัตว์

เมื่อพระโพธิสัตว์ยกพลมีหมีและวานรออกจากนครเหมันต์มาได้เจ็ดเดือนจึงถึงเมืองพาราณสี พระองค์จึงให้หยุดกองพลโยธีลงไว้ ณ ภายนอกพระนคร แล้วทรงอักษรสาส์นไปถึงเจ้ายักษ์ มีสำเนาความว่า แน่ะนันทยักษ์ เราผู้ชื่อเทวันทกุมารมาถึงแล้ว ท่านต้องการจะรบจงออกมารบกัน ถ้าว่ากลัวเราจงออกมาวันทาเราเสีย ทรงอักษรสาส์นเสร็จแล้วมอบให้กุมภัณฑ์ตนหนึ่งรับไป กุมภัณฑ์นั้นแปลงเพศเป็นมาณพรับอักษรสาส์นแล้ว นำเข้าไปแจ้งแก่อำมาตย์ๆ พาตัวราชทูตเข้าไปเฝ้าและได้ถวายอักษรสาส์นแก่เจ้ายักษ์ ๆ ให้อำมาตย์อ่านราชสาส์นทราบความตลอดแล้ว เจ้ายักษ์กริ้วโกรธใหญ่เผลอสติไป สรีรกายกลายเป็นมหันตยักษ์ใหญ่โต

ประชาชนมีอำมาตย์เป็นต้น เห็นแล้วก็พากันตกใจลุกแล่นหนีไป มหาชนบางพวกบอกกันว่าพระราชาเป็นยักษ์แล้วหนีเข้าสู่ปราสาทและเคหสถานปิดทวารบานหน้าต่างซ่อนเว้นมิให้เห็นตน ฝ่ายอันเตบุริกนารีมีพระมเหสีเป็นประธาน ทราบอาการนั้นแล้ว ร้องหวีดหวาดพากันปิดทวารและบัญชรปราสาทปรึกษากันว่า แต่ก่อนเรามิรู้เลยสำคัญว่าเป็นพระราชาแท้ บัดนี้เรารู้แน่ว่าเป็นยักษ์ด้วยเคยกินมนุษย์เสียทุกวัน อันที่จริงพระเทวันธกุมารกับพระนางจันทนกุมารีและม้า คงรู้ความเรื่องนี้มาก่อนจึงพากันหนีไป บัดนี้พระองค์พาวานรและหมีมาถึง พระองค์จักเป็นที่พึ่งของพวกเรา

ก็คราวครั้งนั้น เจ้ายักษ์เห็นหมู่อำมาตย์ปลาสนาหนีไปกริ้วโกรธยิ่งนัก จับไม้ตะบองใหญ่ไล่ต้อนมหาชน แกว่งไม้ตะบองและร้องเสียงดัง ว่าจงกลับหลังมาดูฤทธานุภาพของเรา เราจักจับตัวราชทูตฆ่าเสีย ณ บัดนี้ ฝ่ายท้าวกุมภัณฑ์ซึ่งจำแลงเป็นราชทูตนั้น จึงแปลงกายกลับกลายเป็นมหายักษ์ปรารภจะรบกับเจ้ายักษ์ แล้วคิดขึ้นมาได้ว่าเราจักรบพุ่งชิงชัยในภายในพระนคร ราษฎรก็จักวอดวายตายเสียหมด เราควรงดการรบภายในนครไว้ก่อน ถ้าว่าเจ้ายักษ์ออกไปนอกเมืองแล้วเราจักจับฆ่าเสีย คิดแล้วก็แล่นหนีออกนอกพระนครไป

เจ้ายักษ์จึงไล่ตามออกไปนอกนครท้าวกุมภัณฑ์อีกสามตนเห็นนันทยักษ์ตามมาจึงแปลงกายเป็นยักษ์ใหญ่ฉวยอาวุธได้ตรงเข้ารบกัน นันทยักษ์กับท้าวกุมภัณฑ์รบซึ่งกันและกันเสียงดุจดังฟ้าลั่น ม้านั้นบรรลือสีหนาทเผ่นขึ้นบนอากาศ เอาเท้าหน้าถีบอกนันทยักษ์ เอาปากกัดศีรษะ พวกหมีและวานรก็กลุ้มรุมกัดกัน ท้าวกุมภัณฑ์ก็ช่วยกันตีซ้ำจนทั่วกาย นันทยักษ์ถึงความตาย ณ ที่นั้น

นนฺทยกฺเข กาลกเต เมื่อนันทยักษ์ตายไปแล้ว พระโพธิสัตว์ส่งข่าวสาส์นไปถึงชาวเมืองว่า เจ้านันทยักษ์ของพวกท่านตายไปแล้ว บัดนี้ท่านทั้งปวงใคร่จะรบกับเราจงพากันออกไปรบข้างนอกเมือง ถ้าว่าไม่สู้รบจงให้ราชสมบัติแก่เรา และจงจัดหาผลไม้ต่างๆ ปลาสดเนื้อสดส่งไปให้พอแก่พลโยธาของเราแสนหนึ่ง ชาวพระนครมีอำมาตย์เป็นต้น นำความขึ้นกราบทูลพระนางวิมลาราชเทวี ๆ ทรงทราบแล้วก็โสมนัส อำมาตย์ทั้งหลายได้เรียกประชาชนมาประชุมกันแล้ว ให้นำเครื่องบรรณาการมากองไว้ ณ ชานชาลาหลวง มหาชนทั้งปวงประชุมคอยเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น

พระโพธิสัตว์จึงจัดให้ภคินีขึ้นประทับหลังพระยาหมี ให้พระอภัยราชกุมารขึ้นประทับหลังพระยาพานรินทร์ ส่งพระภัศดากับพระชายาให้เสด็จเข้าไปก่อน พระอภัยราชกุมารมีหมู่วานรเป็นบริวารเสด็จไป ณ เบื้องหน้า พระภคินีมีหมู่หมีเป็นบริวารเสด็จตามไปเบื้องหลัง ส่วนพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นคอท้าวกุมภัณฑ์ตนหนึ่ง จึงท้าวกุมภัณฑ์อีกสามตนถืออาวุธคุมกำกับแล้วเสด็จตามเข้าไป ฝ่ายสีหศีรษะพาชีจึงเดินตามเสด็จพระโพธิสัตว์ไปเบื้องหลัง พระโพธิสัตว์เจ้าทรงมหันตยศและเดชานุภาพใหญ่ เสด็จเข้าไปถึงนครโดยมหันตอิสริยภาพ บ่ายพระพักตร์ตรงต่อพระราชมณเทียรแล้วดำเนินไปในขณะนั้น ประชาชนชาวพระนครต่างพากันยกธงและแผ่นผ้าชูสลอน ให้ซ้องสาธุการสรรเสริญพระคุณอยู่เซ็งแซ่และพรั่งพรูแทรกเสียดเบียดกันดูตามไปในมหาวิถี

พระเทวันธกุมารเสด็จถึงราชฐานแล้ว เสด็จขึ้นยังปราสาทประทับ ณ ราชบัลลังก์ พระกนิษฐาและพระอภัยราชกุมารก็เสด็จประทับเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระโพธิสัตว์กับพระกนิษฐาพากันเสด็จไปยังปราสาทพระชนนี ถวายบังคมฝ่าพระบาทพระชนนีแล้วกลิ้งเกลือกทรงพระกรรแสงไห้ พระชนนีทรงประคองสองโอรสและธิดาทรงพิลาปร่ำไร กษัตริย์ทั้งสามอันความโศกท่วมทับแล้วถึงซึ่งภาวะสลบลง อันเตปุริกานารีทั้งมวลอดกลั้นความโศกไม่ได้พากันร้องไห้ ถึงซึ่งวิสัญญีหาสัญญามิได้ ชายหญิงทั้งหลายบรรดาที่สลบไปนั้น แม้แต่คนหนึ่งก็หาดำรงสติไว้ได้ไม่ เพราะฉะนั้นกุมภัณฑ์สองตนจึงชวนกันไปตักน้ำในสระที่ป่าหิมพานต์มารดให้ ชายหญิงเหล่าพั้นก็ตื่นฟื้นสติขึ้นมาแล้วร้องเชื้อเชิญว่า พระมหาราช ขอพระองค์จงครอบครองราชย์สมบัติของพระราชบิดาเถิด พระเจ้าข้า

ต่อแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ตรัสเรียกพระยาพานรินทร์และพระยาอัจฉราชเข้ามาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงพากันกลับไปอยู่หิมพานต์ ต่อนานถึงสามเดือนจงมาเยือนเราครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ส่งพระยาวานรและพระยาหมีไปแล้ว จึงรับสั่งเรียกท้าวกุมภัณฑ์มาสั่งว่า ท่านทั้งสี่จงกลับไปอยู่ที่เคยอยู่เถิด ต่อถึงสิ้นเดือนหนึ่งจึงค่อยมาเยี่ยมเรา ท้าวกุมภัณฑ์รับว่าสาธุแล้วก็ลากลับไป ครั้นถึงวาระสามเดือนแล้ว พระยาวานรจึงใช้ให้วานรนำอ้อยหิมพานต์มาถวาย หมีทั้งหลายนำเอาน้ำผึ้งหลวงมาถวายพระโพธิสัตว์ ท้าวกุมภัณฑ์ได้นำเง่าบัวและกระจับหิมพานต์อันมีโอชาดังเบญจโอรสมาถวายพระโพธิสัตว์เสมอทุกๆ เดือนไป

คราวนั้น ประชาชนมีอำมาตย์และพราหมณ์ปุโรหิตเป็นต้นใคร่จะอภิเษกพระโพธิสัตว์ จึงแต่งอักษรสาส์นไปถวายพระราชาร้อยเอ็ดมีสำเนาความว่า บัดนี้จะอภิเษกพระเทวันธกุมาร พระราชาร้อยเอ็ดทราบความแล้วจึงส่งราชธิดาของตนๆ ไป ณ เมืองพาราณสี อำมาตย์มีปุโรหิตเป็นอาทิพากันตรวจอิตถีลักษณะคัดไว้แผนกหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาราชธิดาซึ่งปุโรหิตตรวจคัดเลือกไว้นั้น หาพอพระทัยในราชธิดาเหล่านั้นไม่ จึงดำริว่าควรเราจะเที่ยวหาสตรีอันสมบูรณ์ด้วยลักษณะด้วยตนเอง ดำริแล้วเข้าไปเฝ้าพระราชมารดา ทรงมอบราชสมบัติให้พระราชมารดาแล้วทูลว่า ข้าพระองค์จักขอลาไปเที่ยวหาสตรีมีลักษณะอันสมบูรณ์ได้พอใจแล้วในไม่ช้าก็จะกลับมา

พระโพธิสัตว์นั้น อันพระมารดาห้ามสักเท่าใดก็ไม่ฟัง จึงถวายบังคมลาพระมารดาแล้วตรัสสั่งอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันรักษาพระนครของเราไว้ เราจักไปไม่ช้าก็จะกลับมา ตรัสแล้วจึงเสด็จขึ้นสู่หลังม้าเสด็จออกจากพระนคร สัญจรไปในบ้านและนิคมชนบทตรวจดูอิตถีลักษณะในตระกูลเศรษฐีเป็นต้นหาได้ไม่ จึงเสด็จไปถึงหิมวันตประเทศสิ้นระยะทางได้แปดสิบโยชน์ พบอาศรมแห่งอสังเขยยดาบสองค์หนึ่ง จึงเสด็จลงจากหลังม้าเข้าหาพระดาบสนมัสการแล้ว เมื่อจะทำปฏิสัณฐารจึงกล่าวคาถานี้ว่า

กจฺจิ นุ โภโต กุสลํ กจฺจิ นุ โภโต อนามยํ
กจฺจิ อุฺเฉน ยาเปถ กจฺจิ มูลผลา พหู
กจฺจิ ฑํสา จ มกสา อปฺปเมว สิรึสปฺปา
วเน พาหมิคากิณฺเณ กจฺจิ หึสา น วิชฺชติ

ความว่า ข้าพเจ้าขอถาม พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้ามีสภาวะปราศจากเจ็บไข้แลหรือ ทั้งทุกข์ภัยพามฤคอันอาเกียรณ์เดียราษอยู่ในราวป่า ทั้งงูเด็กงูใหญ่ยังมิได้มาเบียนบ้างแลหรือ อนี่งพระคุณสิอาศัยซึ่งผลาผลจึงได้เลี้ยงชีพแห่งตน มูลผลาผลนั้นยังมีมากพอหาได้อยู่แลหรือ พระเจ้าข้า

ลำดับนั้นท่านอสังเขยยดาบสได้สดับคำปฏิสัณฐารนั้นแล้วจึงถามว่าพระมหาราช พระองค์เสด็จมาแต่ไหน ข้าพเจ้ามาแต่เมืองพาราณสี พระดาบสมุนีเมื่อจะตอบพระโพธิสัตว์เจ้า จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า

กุสลฺเจว โน ราช มหาราช อนามยํ
ราช อุฺเฉน ยาเปมิ อโถ มูลผลา พหู
เนว ฑํสา จ มกสา อปฺปเมว สิรึสปฺปา
วเน พาฬมิคากิณฺเณ หึสา มยฺหํ น วิชฺชติ

ความว่า พระมหาราช ข้อซึ่งพระองค์ไต่ถามด้วยทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ และเหลือบยุงบุงร่านริ้นดุร้าย ทั้งแรดช้างโควายจะได้ย่ำยีก็าไม่ ทั้งมูลผลาก็หาง่ายไม่ขัดสนมีอยู่ถมไป

พระอสังเขยยดาบสเมื่อจะเชื้อเชิญพระโพธิสัตว์ให้เสวยผลาผล จึงกล่าวนิพนธคาถาเหล่านี้ว่า

สุวาคตนฺเต มหาราช อโถ เต อทุราคตํ
อนฺโต ปวีส ภทนฺเต ปาเท ปกฺขาลยสฺสุ เต
ติณฺฑุกานิ ปิยาลานิ มธุเก กาสมาริโย
ผลานิ ขุทฺทกปฺปานิ มหาราช ภุฺช วรํ
อิทํปิ ปานิยํ สีตํ อาภตํ คิริคพฺภรา
ตโต ปิว มหาราช สเจ ตฺวํ อภิกงฺขสิ
อถ เกน ตฺวํ วณฺเณน เกน วา ปน เหตุนา
อนุปฺปตฺโต มหาวนํ ตมฺเม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต

ความว่า พระมหาราช พระเสด็จมานี้ชื่อว่ามาแล้วดี อนึ่งถึงจะมาแต่ไกลก็เหมือนหนึ่งว่ามาแต่ที่ใกล้ จะช้าอยู่ไยขอเชิญเสด็จเข้าไปชำระพระบาทเสียให้สะอาด แล้วเชิญเสวยผลไม้สารพัน จะมีมะพลับทองมะหาดมะทรางมะม่วงมะปราง ทั้งกลิ่นหอมหวานรสอร่อยเหลือดี ทั้งวารีใสสะอาดก็ได้ตักไว้ในตุ่มเต็ม ตามแต่จะปรารถนา ผิว์อยากเสวยจงเสวยนะบพิตร อนึ่งดังอาตมาขอถามพระองค์พยายามเสด็จมาถึงมาหาวันนี้ด้วยกิจธุระประสงค์สิ่งไร บพิตรจงแจ้งความให้อาตมาทราบ ณ บัดนี้

พระโพธิสัตว์เจ้าจึงแจ้งความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ มหาชนมีอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น เขาพร้อมใจกันจะอภิเษกให้ข้าพเจ้ามีเอกอัครมเหสี ได้นำราชสกุลนารีมาถวายถึงร้อยเอ็ดนางจะอภิเษกให้ข้าพเจ้า ๆ เห็นแล้วมิชอบใจ จึงได้เที่ยวมาหาสตรีอันสมบูรณ์ด้วยลักษณะและศีลาจาร พระผู้เป็นเจ้าเห็นมีที่ไหนจงกรุณาบอกให้ข้าพเจ้าทราบ พระมหาราช พระองค์จงอยู่ด้วยกันสักสองสามวันที่นี่ก่อน อาตมาเห็นสตรีมีลักษณะแล้ว จึงจะทูลให้ทราบ พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่กับพระดาบสสิ้นสองวันแล้วจึงถามดาบสอีก

พระดาบสเมื่อจะบอกมรรคาที่จะเสด็จไปจึงทูลว่า พระมหาราช พระองค์เสด็จไปที่นี้ล่วงมรรคาได้สามสิบโยชน์ จะพบนครหนึ่งนามว่าโกสัยรัฏฐ์ พระราชานามว่ายสบดีครองราชสมบัติในนครนั้น พระราชธิดาของพระเจ้ายสบดีมีองค์หนึ่งนามว่าสุวรรณเกสรา ทรงรูปโสภางามนักหนาเปรียบดังนางเทพอัปสรกัลยา กอร์ปด้วยเบญจกัลยาณีมีชันษาได้สิบหกปี อนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จแต่ที่นี้ไปจักได้บรรลุถึงภูเขาสูงใหญ่จงข้ามภูเขานั้นไปแล้วจะถึงสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง จงลงสรงน้ำและเสวยให้สำราญพระทัย แล้วทรงดำเนินต่อไปจนถึงมหาวันอันเป็นที่อยู่ของหมู่ยักขินี พระองค์จงอย่าดูรูปฟังเสียงดมกลิ่นลิ้มรสอะไร ๆ เลย ถ้าว่าพระองค์ทรงยินดีรูปเสียงกลิ่นรสของยักขินีแล้วจักถึงวินาศใหญ่ พระองค์ทรงดำเนินพ้นมหาวันไปแล้ว จักบรรลุถึงมหาคงคากว้างใหญ่ ในมหาคงคานั้นมีปลานวลจันทร์และจรเข้มังกรอยู่มากนักหนา กับมีปลาโลมาตัวหนึ่งใหญ่ ผู้ใดลงไปในคงคาปลาโลมากัดกินผู้นั้นเสีย เพราะเหตุนั้นพระองค์จงเรียนมนต์ชื่อมณีจินดาไปสำหรับองค์ เมื่อทรงเสกมนต์บทนี้ไว้แล้ว มนุษย์ทั้งสัตว์นำสัตว์บกทั้งหลาย ก็จักเกิดเมตตารักษาพระองค์ไว้มิได้ทำอันตราย พระองค์ทรงดำเนินพ้นมหาคงคานั้นไปได้เจ็ดราตรี จักบรรลุถึงบุรีโกสัยรัฏฐ์ ครั้นถึงแล้วพระองค์จงเสด็จเข้าไปสู่สวนอุทยานขออาศัยเรือนสองคนผัวเมียอยู่ ณ ที่นั้น ครั้นพระอสังเขยยดาบสบอกเล่าเสร็จแล้ว จึงให้พระโพธิสัตว์เรียนมนต์มณีจินดา

พระโพธิสัตว์จำระยะมรรคาได้ถ้วนถี่ เรียนมนต์มณีจินดาจำได้เจนปากเจนใจแล้ว จึงนมัสการลาพระฤษีขึ้นประทับหลังพาชีควบขี่ขับไปถึงมหาบรรพต ข้ามพ้นมหาบรรพตนั้นไปแล้ว จึงถึงสระน้ำใหญ่เสด็จลงเสวยและสรงวารีที่สระนั้นเสร็จ ได้เสด็จประทับแรมอยู่ที่นั้นสิ้นราตรีหนึ่ง จึงเสด็จแต่สระนั้นต่อไปบรรลุถึงที่อยู่แห่งนางยักขินี ๆ เห็นพระโพธิสัตว์เสด็จมาถึงจึงล่วงหน้าไปนฤมิตศาลาหลังหนึ่งไว้ให้มีพร้อมทั้งข้าวปลาอาหารและของขบเคี้ยว แล้วนางยักขินีจึงเชิญพระโพธิสัตว์ให้เสวยพระกระยาหาร พระเทวันธกุมารมิได้ทรงแลดูยักขินีควบขับพาชีเลยไป นางยักขินีได้ล่วงหน้าไปนฤมิตศาลาไว้อีกหลังหนึ่งมีทั้งเครื่องปูลาดและอาสนะที่นั่งนอนงามบวรวิจิตรบรรจงแวดวงไปด้วยม่านทองอันโสภณ นางจึงนฤมิตตนให้เป็นนารี มีรูปงามดังเทพอัปสรสุรางค์นางสวรรค์ แล้วเชิญให้พระเทวันธกุมารหยุดประทับไสยาสน์ พระโพธิสัตว์ก็มิได้เอื้อเฟื้อเยื่อใยควบขับพาชีเลยไป นางยักขินีล่วงหน้าไปนิรมิตศาลาหลังหนึ่งไว้ ประกาศตนเป็นดรุณิตถีสตรีฟ้อนรำขับร้องเสียงเสนาะเพราะจับใจปานดังทิพยดุริยดนตรี พระโพธิสัตว์ก็มิได้ยินดีทรงฟัง ควบขับพาชีหนีไปจนกระทั่งถึงฝั่งมหาคงคา

มหาคงคานั้นกว้างใหญ่ จวนจะหมดเขตแห่งนางยักขินี เพราะเหตุนั้นนางยักขินีจึงคิดว่า มนุษย์ผู้นี้จะพ้นเขตแดนของเราไป เราจักไม่ให้พ้นแดนเราไปได้ คิดแล้วจึงนฤมิตกายให้เป็นรูปยักษ์ใหญ่ติดตามพระโพธิสัตว์ไป ทำต้นไม้ให้ลู่ล้มราบด้วยอานุภาพของตน คำรณร้องก้องสนั่นไพรดังหนึ่งสายอสนีบาต อัศวราชได้สดับเสียงยักษ์เหลียวหน้ามาเห็นเข้าจึงทูลว่า พระมหาราช พระองค์จงเสด็จลงจากหลังข้าพระบาท ยักขินีมันตามมาใกล้แล้ว พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังพาชียืนประทับ จับพระแสงดาบแกว่งป้องกันไว้ ยักขินีก็มิอาจเข้าใกล้พระโพธิสัตว์ได้ จึงตรงเข้าจับม้าไว้หมายใจจะฆ่าพาชี

พาชีนั้นจึงทำสีหนาทเผ่นผยอง เอาเท้าหน้าทั้งสองถีบอกนางยักขินี ๆ มีโลหิตไหลโทรมกายยิ่งโกรธใหญ่ วิ่งขึ้นไปยังมหาบรรพตเอาก้อนศิลาขว้างปาพระโพธิสัตว์ เทพดาพากันรักษาพระมหาสัตว์ป้องปัดก้อนหินไว้ให้ไปตกเสียที่ไกล ฝ่ายพาชีจึงตามไปทำยุทธกับยักขินีเอาปากกัดจนกายยักขินียับเยิน พระโพธิสัตว์เจ้าจึงเอาพระแสงดาบฟันกายยักขินีๆ ก็ล้มลงขาดใจตาย ณ ริมฝั่งนที พระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงสรงวารี ณ มหาคงคา แล้วร่ายมนต์มณีจินดาเรียกฝูงปลา ฝูงปลาตัวใหญ่มีโลมาและมังกรเป็นอาทิ พากันมาแวดล้อมพระโพธิสัตว์เชื้อเชิญให้ขี่หลัง พระโพธิสัตว์ทรงขี่หลังปลาตัวใหญ่มีฝูงปลาแวดล้อมพระองค์ ก็เสด็จไปถึงฝั่งน้ำฟากโน้นพ้นแดนยักขินี ส่วนพาชีจึงเผ่นเหาะตามพระมหาสัตว์ไปรับยังฟากนทีโน้น พระโพธิสัตว์เสด็จจากนทีขึ้นประทับหลังพาชีไปตามลำดับ จนบรรลุถึงราชอุทยานโกสัยนคร เสด็จเข้าไปขออาศัยเรือนยายแก่ผู้หนึ่งอยู่ ณ ราชอุทยานนั้นแล

แม้ยายแก่ผู้เฝ้าราชอุทยานนั้น เคยเก็บดอกไม้ต่างๆ ไปถวายพระราชธิดาทุกๆ วัน เมื่อพระโพธิสัตว์อาศัยยายแก่อยู่นั้นสิ้น ๒-๓ วัน พระองค์จึงรับสั่งกะยายแก่ว่า ข้าแต่ยาย ยายจงนำดอกไม้ต่าง ๆ มาให้ฉัน ฉันจักร้อยกรองพวงมาลาให้ยายนำไปถวายพระราชธิดา ยายก็ยินยอมให้พระโพธิสัตว์ร้อยพวงมาลา ครั้นพระองค์ทรงร้อยพวงมาลา แล้วทรงร่ายมนต์แล้วอธิษฐานว่า ถ้าหากว่าพระราชธิดาคู่ควรแก่เราไซร้ พระราชธิดานั้นเห็นพวงมาลานี้แล้วจงรักใคร่เรา อธิษฐานแล้วจึงส่งให้ยายแก่ ๆ รับพวงมาลาแล้วก็ไปสู่พระราชฐานถวายพวงมาลาแด่พระราชธิดา พระนางสุวรรณเกสราราชธิดาทรงรับพวงมาลาตรวจดูก็ชอบพระทัย จึงถามยายแก่นั้นว่า แน่ะยาย ดอกไม้พวงนี้ใครร้อยให้ ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันร้อยกรองถวายพระองค์ด้วยตนเอง พระราชธิดามิได้ทรงเชื่อ จึงประทานพวงมาลานั้นให้หญิงผู้อื่นสวมแล้วฟอกถามยายแก่ว่า แน่ะยายจงพูดเสียตามความจริง ฉันรู้จักฝีมือยายร้อยมาลามาแล้ว นี่หาใช่ยายร้อยไม่ ยายแก่นั้นจึงขออภัยแล้วทูลว่า พระแม่เจ้าดรุณมาณพผู้หนึ่งมาแต่เมืองอื่น ได้มาอาศัยอยู่ที่เรือนหม่อมฉัน ดรุณมาณพนั้นเขาร้อยให้ ดรุณมาณพนั้นเขาชื่อไร ดรุณมาณพนั้นเขาชื่อพระเทวันธกุมาร พระนางสุวรรณเกสราพอได้สดับนามดังนั้นก็มีจิตผูกพันรักใคร่เป็นกำลัง จึงรับสั่งว่า แน่ะยาย ๆ จงกลับไปบ้านของยายเถิด ฉันจักออกไปดูให้รู้จักตัว ยายแก่นั้นจึงถวายบังคมลาไปบ้านของตน

ฝ่ายพระนางสุวรรณเกสราราชธิดานั้นใคร่จะเห็นพระโพธิสัตว์ จึงเข้าไปเฝ้าพระราชบิดากราบทูลว่า หม่อมฉันใคร่จะไปชมสวนเล่น ขอพระบิดาจงทรงพระอนุญาตด้วยเถิด ครั้นพระราชบิดาทรงอนุญาตแล้ว พระนางเธอจึงพร้อมด้วยพี่เลี้ยงและสาวใช้เสด็จไปโดยมหันตอิสริยยศ ถึงสวนราชอุทยานแล้วทรงเลือกเก็บนานาบุปผาและเสด็จลงสรงวารีในสระโบกขรณี ทรงเลือกเก็บนานาประทุมบุปผาเป็นต้น หลงเล่นจนลืมความเดิมซึ่งคิดไว้ว่าจะใคร่ดูผู้ชายที่ยายบอกนั้นเสีย ภายหลังนึกขึ้นได้ สอดพระเนตรมองหาพระโพธิสัตว์เห็นเรือนยายแก่แล้วดำริว่า ทำไฉนจะได้เห็นผู้ชายที่ยายบอกไว้ จึงทำอุบายชวนเหล่าสาวใช้เล่นปิดตาซ่อนหากัน จึงให้หญิงเหล่านั้นปิดตาเสียหมดทุกคน ส่วนตนก็หลบเข้าไปซ่อนอยู่ข้างเรือนยายแก่ เหลือบเนตรชะแง้หาพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์เปิดหน้าต่างเรียนแลลงมา พระเนตรต่อพระเนตรก็ได้ประสบซึ่งกันและกัน สองกษัตริย์นั้นต่างมีความรักใคร่ พระโพธิสัตว์ได้พิจารณาดูอิตถีลักษณะเห็นบริบูรณ์ดีทุกสิ่ง แต่ยังทรงกริ่งพระทัยว่านางจะมีปัญญาหรือไม่ ถ้าหากว่านางมีปัญญาเราจักพานางไป ถ้าหากว่าหาปัญญามิได้เราจักทิ้งไว้ไม่พ้องพาน ทรงจิตนาการแล้วทรงหยิบดอกประทุมเก่าๆ ดอกหนึ่งโยนไปให้พระราชธิดา กิริยาที่พระโพธิสัตว์โยนดอกประทุมไปนั้น คือหมายความคิดจะถามพระราชธิดาว่า นางมีภัสดาแล้วหรือไม่ ถ้าหากว่านางมีภัสดาแล้วก็เปรียบเหมือนดอกประทุมเก่า เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จักไม่ปรารถนา

นางสุวรรณเกสราเห็นอาการดังนั้น นึกสำคัญรู้ได้ด้วยปัญญาว่า ชายผู้นี้ผูกปฤษณามาถามเราว่า เธอมีภัสดาหรือหาไม่ดังนี้ พระราชธิดาจึงหยิบดอกประทุมตูมดอกหนึ่งซึ่งมีอยู่ ณ ที่นั้นโยนตอบไป หมายความบอกว่า ฉันหาภัสดามิได้เปรียบดังดอกประทุมฉะนั้นดังนี้ แล้วพระราชธิดาเสด็จอุฏฐาการดำเนินไป พระนางสุวรรณเกสรานั้นเมื่อจะเสด็จไปยังราชฐานจึงทรงจินตนาการว่า ถ้าหากว่าชายผู้นี้มีปัญญาไซร้ ก็จักตามเราไปด้วยความหมายรู้ แล้วนางจึงเอาใบบัวและเกสรบัวรายไว้ตามมรรคาจนถึงปราสาท

พระมหาบุรุษเจ้าทอดพระเนตรเห็นอาการดังนั้นทรงดำริว่า ราชธิดาผู้นี้มีปัญญาแหลมนัก ได้รายใบบัวเกสรบัวไว้ทั่วทางนางหวังจะให้เราตามไป เราควรจะตามไปหา ณ เวลาคืนนี้ แล้วเรียกพาชีมาสั่งว่า พี่ม้าวันนี้เราจักพาพระราชธิดาขึ้นหลังพี่ไปเมืองของเรา พี่ม้าจงเตรียมตัวไว้อย่าได้ประมาท แต่เราจะเข้าไปพาพระราชธิดาเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ ดำรัสสั่งพาชีแล้วถึงเวลาพลบค่ำบรรทมหลับไป ตื่นบรรทมขึ้น ณ เวลาเที่ยงคืนแล้วนัดกับม้าไว้ จึงร่่ายมนต์จินดามณี เสด็จเข้าไปในพระนคร

ณ เวลานั้นพนักงานเฝ้าพระทวารและปราสาท พากันนอนหลับสนิทหามีเสียงไอจามไม่ เทพดานำมรรคาไปให้เปิดทวารถวายโอกาสโดยสวัสดี พระโพธิสัตว์ดำเนินไปถึงปราสาทพระราชธิดาซึ่งทรงเปิดทวารไว้ เสด็จเข้าไปถึงห้องบรรทมทอดพระเนตรนางเทวี มีบวรอินทรีย์งามอุดมสมลักษณะอันไพจิตร กำลังหลับสนิทนิ่งมิได้ไหวติงกาย พระโพธิสัตว์ มีความกำหนัดสิเนหายิ่งใหญ่ จึงเสด็จเข้าแนบชิดแล้วสะกิดปลุกด้วยพระวาจาว่า พี่มาแล้วนางแก้วเกสราจงตื่นเถิด

พระโพธิสัตว์ตรัสเรียกคำเดียวเท่านั้น พระราชธิดาก็ตื่นขึ้นทันที ลืมพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ก็จำได้ จึงลดองค์ลงไหว้หมอบอยู่กับบาทมูลแล้วถามว่า เธอมาแต่ไหน พระโพธิสัตว์บอกว่าไม่รู้ พระราชธิดาถามอีกว่า นี่เธอจะไปไหนอีกเล่า พระโพธิสัตว์เจ้าตอบว่าไม่รู้ พระราชธิดาจึงชักถามต่อไปว่า ฉันถามว่าเธอมาแต่ไหนเธอบอกว่าไม่รู้ ข้อนี้เพราะเหตุอย่างไร พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า พี่ไม่รู้ว่าจุติจากนรกหรือสวรรค์จึงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเหตุนั้นพี่จึงบอกว่าไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่ามาแต่กำเนิดใด พระราชธิดาจึงถามต่อไปว่า ฉันถามว่าเธอไปไหนอีกต่อไป เธอบอกว่าไม่รู้ ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า พี่ไม่รู้ว่าจุติจากอัตตภาพนี้แล้วจักไปนรกหรือสวรรค์ เพราะฉะนั้นพี่จึงบอกว่าไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่าจะไปสู่กำเนิดใด

พระนางสุวรรณเกสราสดับอรรถดังนั้นก็ยินดี จึงเชิญให้พระโพธิสัตว์เสวยพระกระยาสุทธาโภชน์แล้วถามว่า เธอมาแต่เมืองไหนเป็นบุตรของผู้ใด นามกรเธอชื่อไร และมาด้วยกิจธุระสิ่งใด พี่มีนามว่าเทวันธกุมาร เป็นโอรสแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสีกาสิกะ พี่มาแต่เมืองพาราณสี มาครั้งนี้เพื่อเหตุต้องประสงค์ตรงตัวน้อง เหตุไรพระเจ้าพี่จึงรู้จักหม่อมฉัน พระน้องผู้เจริญ พระราชมารดาของพี่และเสนาบดีปุโรหิต ใคร่จะทำราชาภิเษกตัวพี่ ได้นำราชกุมารีร้อยเอ็ดนางให้พี่เลือกตั้งเป็นมเหสี พี่มิได้ชอบใจแต่สักคนเดียว พี่จึงขึ้นมาเที่ยวเสาะหาตามชอบใจ ได้พบฤษีชีไพรท่านบอกบ่งมาตรงพระน้องนาง ต่อนั้นมาพี่ได้ทำยุทธกับยักขินีพี่ฆ่าตายแล้ว ดำเนินมาถึงมหาคงคา ปลาตัวใหญ่ได้ช่วยพี่ให้ขี่หลังข้ามส่งถึงฝั่งคงคา บัดนี้พี่จึงได้มาพบประสบกับน้องนางสมดังปรารถนา พี่จักพาน้องไปยังนครของพี่ พระน้องนางจะยินดีไปด้วยหรือไม่

พระนางสุวรรณเกสรา ได้สดับอนุสนธิกถาพระมหาสัตว์แล้วรับคำว่าสมัครจักไปด้วยพระองค์ พระนางเธอหวนระลึกถึงพระชนกชนนีแล้วทูลว่า ทำไฉนจักให้พระราชบิดามารดาทรงทราบได้ ถ้าหากว่าพระชนกชนนีมิได้ทราบว่าหม่อมฉันไปกับพระองค์ มิได้ทรงเห็นแล้วก็จักกรรแสงไห้ไม่มีสมปฤดี น่าจักถึงซึ่งทิวงคตเสียเป็นมั่นคง ทำไฉนจักให้ท่านทรงทราบว่าหม่อมฉันไปกับพระองค์เล่า นี่แน่ะ นางนงเยาว์พระน้องเจ้าจงเขียนหนังสือไว้ว่า หม่อมฉันสุวรรณเกสรา ขอถวายบังคมฝ่าบาทราชบิดามารดา ทูลลาไปกับภัศดาพระนามว่าเทวันธกุมาร ไปคราวนี้ค่อนจะนานถึงเจ็ดปีจึงจักกลับมาเฝ้าพระราชบิดามารดา พระนางสุวรรณเกสรารับว่าสาธุแล้ว จึงทรงพระอักษรตามพระโพธิสัตว์บอกให้เสร็จ จึงพับเก็บวางไว้ข้างพระที่ไสยาสน์ของตน

ครั้นยามสามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ม้าทรงขององค์โพธิสัตว์เจ้ารู้เวลาที่พระมหาสัตว์สั่งไว้ จึงเหาะไปหยุดที่ธรณีปราสาทร้องทูลเตือนพระโพธิสัตว์ว่าได้เวลาแล้ว พระโพธิสัตว์จึงเชิญพระราชธิดาให้ประทับบนหลังม้ากับด้วยพระองค์ ทรงกำชับม้าให้รีบเหาะไปโดยเร็วพลัน ม้าพาเหาะไปวันหนึ่งถึงเวลาเย็นก็บรรลุเขตเมืองพาราณสี ทอดพระเนตรเห็นต้นไทรใหญ่ไพศาล จึงให้ม้าหยุดลงจากอากาศเวหา สองกษัตริย์เสด็จจากหลังม้าเข้าอาศัยอยู่ใต้รัมนิโครธพฤกษมูล ทรงเสวยพระกระยาหารประทับสำราญหฤทัย ม้านั้นก็ไปหาน้ำและหญ้ากินแล้วก็กลับมาคอยฟังกระแสรับสั่ง

คราวครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์จึงทรงพระดำริว่า เราจักไปยังนครก่อน ต่อรุ่งเช้าเราจักมาด้วยมหันตยศแล้วรับพระนางสุวรรณเกสราเข้าไปด้วยมหันตยศ อิสริยยศจึงจะปรากฏแก่พระนางสุวรรณเกสรา ด้วยอกุศลกรรมวิบากหากเตือนพระทัยพระโพธิสัตว์ ๆ จึงทรงคิดเขวไป เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า พระน้องจงพักอยู่ที่นี่พี่จักเข้าไปในเมืองก่อน ถ้าพระน้องจักไปผู้เดียวไซร้ ประชาชนเขาจักนินทาว่าน้องตามผู้ชายมา เพราะฉะนั้นคืนนี้พี่จักไปยังนคร ตอนรุ่งเช้าพี่จักกลับมารับไป รับสั่งแล้วจึงอุ้มองค์ราชธิดาขึ้นไปให้ประทับอยู่บนต้นไทรแล้วมอบฝากรุกขเทวดาว่า พระเทวราชเจ้าขอช่วยพิทักษ์รักษาภรรยาของข้าพเจ้าไว้ด้วย แล้วพระองค์เสด็จลงจากต้นไทร ได้ขึ้นประทับหลังม้า ๆ พาเหาะไปยังราชมนเทียร แล้วเสด็จไปเฝ้าถวายบังคมพระราชมารดา

พระนางวิมลาเทวีราชมารดา ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงโสมนัส สวมกอดพระโพธิสัตว์จุมพิตแล้วตรัสถามว่า พ่อได้อัครนารีมาแล้วหรือ พระโพธิสัตว์จึงทูลความตั้งแต่ต้นจนอวสานให้พระราชมารดาฟัง แล้วเสด็จออกประทับ ณ ราชบัลลังก์ รับสั่งกะพวกอำมาตย์ว่าให้เตรียมราชยานไว้ให้พร้อมเสร็จ รุ่งเช้าเราจักเสด็จไปรับพระเทวีของเราเข้ามา อำมาตย์ทั้งหลายจึงออกไปสั่งพนักงานให้เตรียมม้าและรถทั้งไว้เสร็จแล้วจึงทูลให้ทรงทราบ พระโพธิสัตว์ทรงพระโสมนัสตรัสเรียกพระสนมนางในมาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงแต่งตัวให้งามๆ แล้วจงคอยตามเราไปให้พร้อมกัน

คราวนั้น มียักขินีตนหนึ่งมักมากด้วยราคฤคี เที่ยวแสวงหาสามีไปในป่าใหญ่ เดินมาถึงต้นไทรนั้นแล้วหยุดพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไทร ได้เห็นพระนางสุวรรณเกสรานั่งอยู่ที่ค่าคบไม้จึงถามว่านั่นคือใคร พระราชธิดาได้ฟังนางยักชินีถามสำคัญว่าเป็นหญิงมนุษย์ จึงตอบว่า เราชื่อว่าสุวรรณเกสราเทวี เหตุไรท่านจึงมาอยู่ ณ ที่นี้ เรามากับพระเทวันธราชาภัสดาของเรา แล้วพระนางเล่าความหลังตั้งแต่ต้นให้ยักขินีฟังๆ แล้วจึงคิดว่า เราจักฆ่านางเทวีผู้นี้เสียแล้วนฤมิตรูปของเราให้เหมือนนางเทวีไปอยู่ร่วมราคฤคีกับพระเทวันธราชา อาตมาจักได้เป็นมเหสีมีอิสรยิ่งกว่านาฏกิตถี นางยักขินีคิดแล้วจึงขึ้นไปบนต้นไทร ได้ทุบถองโบยตีบริภาษตัดพ้อว่า ไฉนเจ้าจึงมาแย่งเอาผัวเรา นางสุวรรณเกสราเทวีถูกยักขีนีประหารตีด่าว่าเสวยทุกขเวทนากรรแสงไห้ได้ร้องขอโทษแล้วสลบลง นางยักขินีสำคัญว่านางเทวีถึงกาละแล้วจึงลากไปทิ้งเสียในคงคา นางยักษ์ก็กลับมานฤมิตกายให้เหมือนพระเทวีนั่งอยู่ที่ต้นไทร

ในที่นี้มีคำถามเข้ามาว่า นางสุวรรณเกสราเทวีเหตุไรจึงต้องถูกนางยักขินีโบยตีด่าว่า มีคำวิสัชนาแก้ว่าในชาติก่อนนางสุวรรณเกสราได้ทำอกุศลกรรม นางจึงได้ถูกนางยักขินีประหารด่าว่า แท้จริงในชาติปางก่อนนางสุวรรณเกสรานั้น ได้เกิดเป็นธิดาเศรษฐีมีนามว่าอมิตตกุมารี ๆ นั้นได้เป็นภรรยาแห่งพระโพธิสัตว์นามว่าชฎิลเศรษฐี ๆ นั้นครั้นอยู่นานมาเห็นโทษในฆราวาส ได้ไปบรรพชาเป็นดาบสอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง จึงนางอมิตตาภรรยาเก่าเวลาเช้า ๆ นำเอาถาดใส่ภัตรไปถวายพระโพธิสัตว์ ทำวัตรปรนนิบัติแล้วถึงเวลาเย็นก็กลับบ้านเป็นนิตย์ทุกวัน

ณ สมัยนั้น กินนรีตนหนึ่งเที่ยวไปได้พบพระดาบส จึงประณตกราบไหว้บาทยุคลแล้วนั่งอยู่ ฝ่ายนางอมิตตากุมารีนำเอาถาดใส่อาหารไปถวายพระดาบส เห็นกินนรีนั่งอยู่ใกล้นึกแต่ในใจว่า พระดาบสองค์นี้เดิมทีบอกเราว่าเห็นโทษทางฆราวาสจะขอบรรพชา ครั้นบรรพชาแล้วเราก็มาทำการปรนนิบัติอยู่ทุกวันๆ พระดาบสนั้นหาพูดจาปราศรัยแก่เราไม่ บัดนี้ได้ทำการปราศรัยกับกินนรี พระฤษีนี้จักทำภาวนาและรักษาศีลอย่างไรได้ นางมากไปด้วยริษยาตรงเข้าจับกินนรีประหารตบตีด่าว่าต่างๆ แล้วนางก็ขับไล่ให้กินนรีนั้นไปเสียจากที่นั้น กินนรีนั้นถึงทุกขเวทนาลำบากกาย เลยหนีไปหากลับมาอีกไม่ ส่วนนางอมิตตากุมารีได้มาเกิดเป็นราชธิดานามว่าสุวรรณเกสรา เศษกรรมนั้นตามมาให้ผล ยักขินีจึงฉุดคร่าประหารตบตีให้ถึงภาวะสลบไป แล้วได้ลากโยนน้ำเสียด้วยประการฉะนี้แล

แม้ขณะนั้น เทวดารักษาสมุทรมีความกรุณา นำเอาหญ้าและกิ่งไม้มารองรับรักษาพระนางสุวรรณเกสราไว้ นางได้ลอยไปปะอยู่ที่สะพานน้ำหน้าบ้านแห่งหนึ่ง ด้วยเทวานุภาพช่วยอภิบาลรักษาพระนางสุวรรณเกสราได้สติขึ้นมาแล้วร้องเสียดัง มีสองคนผัวเมียอยู่ในบ้านนั้นหามีบุตรไม่ คืนนั้นพากันจะไปอาบน้ำที่สะพาน ได้ยินเสียงพระนางเกสราร้องดังนั้นจึงร้องถามไปว่าใครร้องเรียก พระนางสุวรรณเกสราเทวีจึงบอกว่า ฉันเป็นมนุษย์ผู้หญิง ถูกอมนุษย์โบยตีทิ้งน้ำลอยมา สองสามีภรรยานั้นมีความกรุณา ช่วยกันอุ้มขึ้นจากน้ำ แล้วจึงให้อาบน้ำร้อนทายาให้หายเมื่อยและเจ็บขัดแล้วถามว่า นี่แม่มาแต่ไหน พระนางสุวรรณเกสราจึงเล่าความตั้งแต่ต้นจนปลายให้สองตายายนั้นฟัง สองคนผัวเมียนั้นนึกสงสารจึงเลี้ยงเอาไว้

ทีนี้จะกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ต่อไป ใจความว่าครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระโพธิสัตว์เจ้าทรงตรัสให้จัดเตรียมราชยานไว้พร้อมเสร็จ จึงเสด็จออกจากพระนครโดยมหันตบริวารยศ ครั้นถึงนิโครธพฤกษ์นั้นแล้ว จึงเชิญยักขินีแปลงนั้นลงจากต้นไทร ให้ประทับ ณ สีวิกา เสด็จพากลับเข้ายังราชฐาน ให้ยักขินีแปลงนั้นถวายบังคมพระราชมารดาแล้ว เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาทประทับร่วมกับยักขินีแปลงนั้น

ทีนี้จะกล่าวถึงพระราชบิดามารดาของพระนางสุวรรณเกสราต่อไป ใจความว่าเหล่าพนักงานมีทาสและทาสีเป็นต้นของพระนางสุวรรณเกสรานั้น ครั้นตื่นขึ้นมิได้เห็นพระราชธิดาก็พากันร้องไห้เที่ยวค้นคว้าหาทั่วแล้วก็มิได้เห็น จึงเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า พระราชธิดาของพระองค์หายไปเสียแล้วพระเจ้าข้า พระราชาจึงตรัสถามว่า เมื่อวานนี้พวกเจ้าไปชมสวนกับลูกของเราได้พบผู้ชายแปลกหน้ามาบ้างหรือไม่ ข้าแต่พระมหาราช เกล้ากระหม่อมฉันทั้งหลายหาเห็นผู้ชายแปลกหน้ามาไม่ ฝ่ายพระราชมารดาทรงทราบความก็ปริเทวนาการ เสด็จไปยังปราสาทพระนางสุวรรณเกสราแล้วตรัสคาถานี้ว่า

ยสฺสา ปุพฺเพ กุมาริโย กณิการา ปุปฺผิตา
คจฺฉนฺตมนุยายนฺติ สาชฺเชกา กุหึ คจฺฉติ
ยสฺสา ปุพฺเพ วณฺณทาสิโย กณิการา ว ปุปฺผิตา
คจฺฉนฺตมนุยายนฺติ สาชฺเชกา กุหึ คจฺฉติ
ยสฺสา ปุพฺเพ กุลธิตาโย กณิการา ว ปุปฺผิตา
คจฺฉนฺตมนุยายนฺติ สาชฺเชกา กุหึ คจฺฉติ
ยสฺสา มุทุตลา หตฺถา จลนา ว สุขสมฺผสฺสา
สา กถชฺช อนุจงฺคี กุหึ คจฺฉติ เอกิกา
ยสฺสา มุทุตลา ปาทา จลนา ว สุขสมฺผสฺสา
สา กถชฺช อนุจงฺคี กุหึ คจฺฉติ เอกิกา
สกุณี หตปุตฺตา ว สุฺํ ทิสฺวา กุลาวกํ
จีรํ ทุกฺเขน ฌายิสฺสํ สุฺํ อาคมฺมิมํ ปูรํ
สกุณี หตปุตฺตา ว สุฺํ ทิสฺวา กุลาวกํ
กีสา ปณฺฑุ ภวิสฺสามิ ปิยธีตรํ อปสฺสํ
ทุรุรี ว หตจฺฉาปา จากวาคี ว หตปุตฺตา
จีรํ ทุกฺเขน ฌายิสฺสํ สุฺํ อาคมฺมิมํ ปูรํ
อิติ สา วิลปนฺตี จ อนฺเตปุรกา จ นารี
พาหา ปคยฺห ปกณฺฑุํ เทวิยา อนฺตรหิตายา

ความว่า เจ้าแก้วสุวรรณเกสราองมารดา ในกาลปางก่อนเมื่อเจ้ายังครองโกสัยนครราชธานี จะมีที่เสด็จด้าวแดนดก็ดีย่อมีหมู่สนมนางกุมารี เหล่าพวกวรรณทาสีและกุลธิดาแห่หน้าและหลัง ล้วนรูปร่างเปล่งปลังอร่ามงามดุจดังดอกกรรณกา คราวนี้แลลูกรักของแม่เจ้าจะเดินผู้เดียวดายไม่มีเพื่อน พระลูกยาจะไปได้หรืออย่างไรไม่รู้ที่ อนึ่งเล่าเจ้าสุวรรณเกสราสิมีหัตถบาานุ่มนิมดังเนื้อนุ่มละเอียดอ่อน เจ้าจะบทจรไปแต่ผู้เดียวอย่างไรได้ เจาสิเป็นหญิงยิ่งมากด้วยความกลัว จะร้องไห้รักตัวอยู่ไม่วายวัน ฝ่ายแม่นี้อยู่ข้างหลัง มาได้เห็นแต่ราชวังอันเงียบสงัดวังเวงใจ แม่มได้ได้เห็นพระลูกยา ก็จะทรงโสกาไม่วายน้พระเนตร ตั้งแต่จะหนทุกขเวศไม่วายโศกด้วยวิปโยคจากสุวรรณเกสรา อุปมาเหมือนแม่นกอันนายพรานเจ้ากรรมนำเอาลูกป เห็นแต่รังเปล่าก็ร้องไห้เป็นเบื้องหน้า แม่มิเห็นพระลูกยายอดรักก็จักซูบผอมตรอมใจตาย เหมือนแม่นกออกและแม่นกจากพราก อันปราศจากลูกอ่อนอันพลันจะถึงม้วยมรณ์ปฉะนั้น เมื่อพระราชมารดาทรงโสกาพิลาปรำพันโดยนัยาถานี้ ฝ่ายนางพระสนมฝ่ายในต่างคนต่างพากันกลั้นความโศกมิได้ ยกมือขึ้นข้อนทรวงร่ำไห้เสียงระงมไปทั่วราชฐาน ด้วยประการฉะนี้

พระเทวีราชมารดานั้นกรรแสงพลางทางก็ค้นหาไป ได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งวางไว้ข้างไสยาสน์ นางทรงอ่านดูก็รู้ว่านางสุวรรณเกสราตามไปกับพระเทวันธกุมาร ทรงบรรเทาความโศกเสียได้แล้วนำหนังสือนั้นไปถวายพระราชา ๆ ทรงอ่านทราบความแล้วระงับความโศกไว้และมิได้ตรัสต่อไป

ทีนี้จะกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ ใจความว่าเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงรับนางยักขินีแปลงมาไว้แล้ว คราวนั้นแลพวกชาวพระนครมีเสนาบดีและปุโรหิตอำมาตย์เป็นต้นจึงปรึกษากันว่า พระราชาของพวกเราได้หญิงแก้วมาแล้ว พวกเราควรจะพร้อมใจกันอภิเษกหญิงแก้วนั้นให้เป็นมเหสีเถิด ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระโพธิสัตว์ แท้จริงพระโพธิสัตว์จำเดิมแต่ได้นางยักขินีแปลงมาแล้วหาได้ทรงมีสุขไม่ นึกแคลงพระทัยไปว่าสตรีผู้นี้หาใช่พระนางสุวรรณเกสราแท้ไม่ จะเป็นยักขินีแปลงตัวให้เหมือนนางสุวรรณเกสราเมื่อเวลาที่อยู่ต้นไทรนั้น เพราะนางนี้มีกิริยาหยาบและเงาก็ไม่มี ทั้งนัยน์ตาก็แดงและไม่กระพริบด้วย ทรงระแวงพระทัยแล้วไม่อาจเข้าใกล้ไปสมาคมกับนางยักขีนี และหาได้ทรงปราศรัยให้ผู้อื่นรู้ไม่ เพราะเหตุนั้นพระองค์ได้ทรงฟังคำอำมาตย์กราบทูลถึงเรื่องราชาภิเษกจึงทรงห้ามไว้ว่า ช้า ๆ ก่อนเรายังไม่สบายใจ รับสั่งแล้วจึงเสด็จเข้าห้องใน ทรงเศร้าพระทัย บนเพ้อถึงพระนางสุวรรณเกสรา แล้วตรัสนิพนธ์คาถานี้ว่า

วิสกณฺเน วิทฺโธ มํ วิผลิสฺสํ หทยฺจ
กุหึ คตา ราชปุตฺตี น ทิสฺสเร ตว มุขํ
กุหึ ภทฺเท ตฺวํ วสิ กถํ ตุวํ ปริสฺสามิ
มตา นูน ราชปุตฺตี น เมทานิ ปทิสฺสติ
กึ สีโห พยคฺโฆ ทีปิ จ อฺเ วาปิ พาฬมิคา
ตํํ วธิตฺวาว ขาทนฺติ กถํ ยกฺขินีหิ หตา
ตว วณฺเณน อาคตา กากา คิชฺฌา อุลุกา จ
เย จฺเ จ ปกฺขิโน ฑํสิตฺวา มํสํ ขาทิตา
กุหึ คตา ราชปุตฺตี  

ความว่า หัวใจของพี่จักแตกแยกออกไป อุปไมยเหมือนถูกยิงด้วยลูกศรอันอาบด้วยยาพิษะนั้น พระราชบุตรีเธอหนีไปไหน ไม่ให้พี่เห็นหน้าบ้างเลย พระน้องเอยเธอไปอยู่ที่ไหนทำไมจะได้เห็นน้องแก้ว หรือว่าสิ้นชีพเสียแน่แล้วพี่จึงไม่เห็น ณ กาลบัดนี้ หรือว่าสีหพยัคทีบีและพามฤคแรงร้ายมันราวี จะเป็นยักขินีผีป่ามันมาปลงชีวิตแล้วนฤมิตกายให้เหมือนนางหรือไฉน จะเป็นนกออกและแร้งกามันพาน้องบินไปพากันจิกสับฉีกเนื้อกินเสียสิ้นแล้วหรือไร หรือราชบุตรียังมิสิ้นชีพิตักษัยจะดำเนินดั้นด้นไปหนไหนไม่รู้เลย พระโพธิสัตว์ตรัสรำพันดังนี้แล้วก็เคลิ้มพระสติม่อย

/*คราวครั้งนั้น เทพดารักษาเศวตฉัตร เข้าดลพระทัยให้พระโพธิสัตว์ทรงสุบินเห็นเป็นเทวดามาบอกว่า พระมหาราชพระองค์จะใคร่พบพระนางสุวรรณเกสรา จงรับสั่งให้สตรีชาวเมืองมาแสดงธรรมให้พระองค์ฟัง นั่นแหละพระองค์จักได้พบพระนางสุวรรณเกสรา พระมหาสัตว์เจ้าตื่นบรรทมแล้วเสด็จเข้าที่สรงแล้วเสวยเสร็จเสด็จออกประทับ ณ มหาตลาสน์ จึงให้เรียกอำมาตย์เข้ามาเฝ้ารับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงสร้างศาสาใหญ่หลังหนึ่งให้เราๆ จะทรงธรรม ณ ศาลานั้น อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชดำรัสแล้ว จัดการก่อสร้างศาลาใหญ่ขึ้นหนึ่งหลัง ดาดผ้าและปักธงประดับด้วยอลังการ และจัดตั้งธรรมาสน์ไว้ ณ ท่ามกลางศาลา และปูลาดอาสนะแวดวงด้วยผ้าม่านเป็นชั้นใน ให้โปรยปรายและประพรมด้วยดอกไม้และของหอมต่างๆ ภายนอกม่านให้จัดตั้งอาสนะสำหรับเป็นที่นั่งของข้าราชการมีอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น แล้วให้จัดตั้งราชาสนะและนาฏกาสนะไว้ส่วนหนึ่ง ๆ ครั้นทำสรรพกิจเสร็จแล้ว จึงนำความขึ้นทูลพระมหาสัตว์เจ้าให้ทรงทราบ

พระมหาสัตว์เจ้าจึงรับสั่งให้พนักงานเภรีเอากลองไปตีประกาศป่าวร้องว่า หญิงชายคนใดรู้ธรรม หญิงชายคนนั้นจงมารับเอาถุงทรัพย์พันหนึ่งไป แล้วจงไปแสดงธรรมถวายพระราชา อำมาตย์ทั้งหลายรับกระแสดำรัสแล้ว ให้พนักงานเภรีนำกลองไปตีประกาศตามรับสั่งสิ้น ๗ วันแล้ว หามีหญิงชายคนใดอาจเข้ามารับถุงทรัพย์ไม่ จึงพากันกลับมากราบทูลพระมหาสัตว์เจ้าๆ ทรงพระดำริว่า พระนางสุวรรณเกสราเห็นจักไปอยู่นอกเมือง ดำริแล้วจึงรับสั่งให้พนักงานเภรีเอากลองไปตีประกาศ ณ ภายนอกเมือง พนักงานเภรีเที่ยวตีกลองไปถึง ๖ วันแล้วหามีใครอาจรับเอาถุงทรัพย์ไม่ จึงเที่ยวตีกลองไปในวาระที่ครบ ๗ วัน ไปถึงบ้านสองคนผัวเมียซึ่งพระนางสุวรรณเกสราอาศัยอยู่นั้น พระนางสุวรรณเกสราทราบความแล้วจึงดำริว่า บัดนี้พระราชาได้ตามหาตัวเรา จึงบอกกับยายภรรยาของตาว่า ยายจงไปรับเอาทองพันหนึ่งข้าพเจ้าจักไปแสดงธรรมถวายพระราชาแทนท่าน ยายแก่นั้นทวนถามยืนยันกับพระนางสุวรรณเกสรามั่นคง จึงลงเรือนไปบอกแก่อุโฆสนามาตย์ว่า ท่านจงให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ข้าพเจ้า ธิดาของข้าพเจ้าเขารู้ธรรมเขาอาจแสดงธรรมถวายพระราชาได้ดี อุโมสนามาตย์ทราบความแล้วตามไปดูราชธิดาถึงเรือนยายแก่กำหนดจดจำตัวได้แน่นอน แล้วจึงให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ราชธิดาไว้แล้วได้พากันกลับมากราบทูลแด่พระราชาให้ทราบ

พระมหาสัตว์เจ้าทรงทราบความนั้นแล้ว จึงให้ประกาศป่าวร้องชาวพระนครให้มาประชุมกันฟังธรรม ครั้นรุ่งเช้าพระมหาสัตว์เจ้าให้หาพนักงานเฒ่าแก่มาสั่งว่า ให้นำราชยานออกไป ให้ราชธิดาประทับ ณ ราชยานนำมาในศาลานั้น พนักงานเฒ่าแก่จึงให้ราชธิดาสรงวารีและประทับกายอินทรีย์ด้วยอิตถีลังการแล้ว ให้เสวยพระกระยาหารเสร็จ จึงให้เสด็จประทับ ณ ภายในม่านซึ่งกั้นไว้

คราวนั้นแล ชาวพระนครมีอำมาตย์และเสนาบดีเป็นต้น ทั้งเศรษฐีและคฤหบดีแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย จึงพร้อมกันมาประชุม ณ มหาศาลานั่งรอท่าดูพระราชาจะเสด็จมา พระมหาสัตว์เจ้าสรงพระกายาแล้วเสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงเครื่องสรรพาภรณ์เสร็จ เสด็จลงจากปราสาทไปประทับ ณ ราชาสนะที่มหาศาลา พระนางสุวรรณเกสราเทวีประทับอยู่ภายในม่าน ทราบอาการว่าพระราชาเสด็จมาถึงแล้ว พนักงานแจ้งเวลากาลให้ทราบแล้ว นางจึงอุฎฐาการขึ้นประทับ ณ ธรรมาสน์จับวิชนี เมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงตรัสสมิตตคาถาเหล่านี้ว่า

โย จ ธมฺมํ จรติธ มาตาปิตูสุ ขตฺติย
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ ปุตฺตทาเรสุ ขตฺติย
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ มิตฺตาติสุหเขสุ
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ พาหนพเลสุ จาปิ
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ คามนิคเมสุ จาปิ
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ รฏฺเสุ ชนปทสุ จ
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ สมณพฺราหฺมเณสุ จ
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ มิคปกฺเขสุ ขตฺติย
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ นครคาหเก เทเว
โย จ ธมฺมํ จรติธ สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
โย จ ธมฺมํ จรติธ สพฺพปาเณสุ ขตฺติย
อิติ ธมฺมํ จริตฺวาน สคฺคํ โส อุปชิสฺสติ
ธมฺมํ จร มหาราช อินฺทา เทวา สพฺรหฺมกา
สุจิณฺเณน ทิวํ ปตฺตา มา ธมฺมํราช ปชฺชหาติ
โย จ มาตรํ ปิตรํ ธมฺเมน โปเสติ มจฺโจ
สพฺเพ เทวา นํ รกฺขนฺติ มาตาเปติ ภรํ นรํ
โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปเสติ
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ

ความว่า ข้าแต่พระองค์จอมขัตติย บุคคลผู้ใดในโลกนี้มาประพฤติธรรมความชอบในมารดาบิดาทั้งหลาย ๑ ในบุตรภรรยาทั้งหลาย ๑ ในหมู่ญาติและมิตรผู้มีไมตรีจิต ๑ ในพลพาหนะทั้งหลาย ๑ ในาวบ้านและนิคม ๑ ในชนชาวรัฏฐประเทศและชนบท ๑ ในสมณะพราหมณ์ทั้งหลาย ๑ ในหมู่เนื้อและนกทั้งหลาย ๑ ในเทพดาผู้รักษาพระนคร ๑ ในหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ๑ บุคคลผู้นั้นครั้นประพฤติธรรมความชอ ๑๐ อย่างดันี้ไว้ได้แล้ว ย่อมจะเข้าไปถึงซึ่งสุคติโลกสวรรค์

เพราะเหตุนั้น พระมหาราช พระองค์จงบำเพ็ญทศมิตรธรรม ๑๐ อย่างนี้ไว้ให้ได้ เทพดาทั้งหลายทั้งอินทรพรหม ได้ถึงแล้วซึ่งทิพย์สมบัติก็ได้ด้วยกุศลวัตรที่ประพฤติธรรมความชอบไว้อย่างนี้ พระมหาราชพระองค์จงอย่าได้ประมาทซึ่งสุจริตมิตรธรรมเลย ก็นรชนคนใดได้บำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรมความชอบสรรพเทวดาในโลกนี้ มนุษย์และเทพดาทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาบิดานั้นทุกทิวาราตรี เมื่อผู้นั้นทำลายชีวิตอินทรีย์แต่โลกนี้แล้ว ก็จะบันเทิงรื่นรมย์ในโลกสวรรค์

ครั้นพระนางสุวรรณเกสราแสดงธรรมเทศนาจบลงแล้ว มหาชนยังเสียงสาธุการให้เป็นไป และได้ทำนานาบูชาสักการะแก่พระนางสุวรรณเกสรา พระมหาสัตว์เจ้าตั้งต้นแต่ได้สดับเสียงแสดงธรรมแล้วให้นึกแคลงพระทัยไปว่า สำเนียงนี้คล้ายเสียงพระนางสุวรรณเกสรา ทรงธรรมอยู่จนจบเมื่อจบเทศนาแล้วพระนางสุวรรณเกสราจึงลงจากธรรมาสน์ประทับอยู่ภายในม่าน พระมหาสัตว์เจ้าจึงเลิกม่านทอดพระเนตรดู ก็ยังแคลงพระทัยเพราะว่าพระองค์ทรงเห็นครั้งแรกนั้นเป็นเวลาราตรีจึงตรัสถามว่า เธอนี้มีนามชื่อไร หม่อมฉันนามว่าสุวรรณเกสรา เธอพลัดภัสดามาแต่ไหนจึงได้มาอยู่กับตายาย พระภัสดาพาหม่อมฉันมาแต่นครโกสัยรัฏฐ ณ เวลาราตรี ได้ให้หม่อมฉันพักอยู่ที่บนต้นไม้แล้วเสด็จไป มียักขินีตนหนึ่งมาถึงต้นไม้ที่หม่อมฉันอาศัย ได้ตีตบจนหม่อมฉันสลบแล้วเอาไปลอยน้ำเสียยังนที หม่อมฉันนี้ลอยไปติดอยู่ที่เสาสะพานบ้านแห่งหนึ่ง จึงสองตายายได้ช่วยอุ้มหม่อมฉันขึ้นจากน้ำนำมาเลี้ยงไว้ เพราะฉะนั้นหม่อมฉันจึงได้รอดตลอดมาจนกาลบัดนี้ เดี๋ยวนี้ยักขินีอยู่ที่ปราสาทของพี่ พี่เห็นแล้วก็รู้ได้ว่าเป็นยักขินี แต่พี่ไม่อาจพูดได้จึงนิ่งไว้ในใจ

พระนางสุวรรณเกสราเทวีจำพระราชสามีได้ถนัดแล้ว จึงตรงเข้ากอดพระบาทเกลือกกลิ้งจนถึงภาวะสลบไป พระองค์โพธิสัตว์ก็ทรงกอดรัดพระราชเทวีพิลาปร่ำไห้ได้สลบลงกับพระชายา มหาชนทั้งหลายได้เห็นสองกษัตริย์สลบไป พากันกระหนกตกใจไม่ได้สติสมประดี ก็คราวนั้นกุมภัณฑ์ ๔ ตนพากันขนเอาของป่ามีเง่าบัวต่างๆ เป็นอาทิ มาถวายเฝ้าเยี่ยมเยือนพระโพธิสัตว์ได้เห็นสองกษัตริย์สลบอยู่ดังนั้น จึงพากันกลับไปตักเอาน้ำที่สระหิมพานต์มาสรงให้ กษัตริย์ทั้งสององค์ได้พระสติแล้ว บังคับกุมภัณฑ์ให้ไปจับยักขินีผูกเฆี่ยนตีฆ่าเสีย ชาวพระนครทั้งอำมาตย์และเสนาบดีต่างพากันนึกสงสัยว่ายักขินีที่ไหน

ฝ่ายว่ากุมภัณฑ์ ๔ ตน รับดำรัสพระโพธิสัตว์ว่าสาธุแล้ว พากันไปราชตระกูลจับยักขินีผูกมัดเฆี่ยนตีแล้วผูกคอลากตัวมาถวายพระโพธิสัตว์ ยักขินีนั้นกายสูงใหญ่ เขี้ยวงอกออกจากปากตาแดงดังแสงไฟได้ปรากฏแก่ตามหาชนๆ จึงรู้ชัดว่าเทวีเป็นยักขินี พระโพธิสัตว์ตรัสให้ท้าวกุมภัณฑ์ไต่สวนถามยักขินีๆ ก็รับสารภาพตามความจริงทุกประการ พระโพธิสัตว์ทรงกริ้วใหญ่บังคับให้ท้าวกุมภัณฑ์นำยักขินีไปฆ่าเสีย ยักขินีจึงวิงวอนขอประทานชีวิตไว้ พระโพธิสัตว์จึงมอบยักขินีให้แก่ท้าวกุมภัณฑ์ทั้ง ๔ ตน ๆ รับยักขินีไปไว้เป็นภรรยา นางยักขินีได้กุมภัณฑ์ทั้ง ๔ เป็นสามี

พระมหาสัตว์เจ้าจึงบังคับอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงพร้อมกันอภิเษกพระเทวีตามประสงค์เถิด อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชดำรัสว่าสาธุแล้ว ได้พร้อมกันอภิเษกพระนางสุวรรณเกสราในที่มเหสี ต่อแต่นั้นมาพระมหาสัตว์เจ้าทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม สงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ และแสดงธรรมสั่งสอนประชุมชนให้รู้คุณทานและศีลภาวนา เมื่อสิ้นอายุแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ พระมหาสัตว์เจ้านั้น ให้สร้างศาลาโรงทานที่ใกล้พระทวารวัง ๔ แห่ง และที่ท่ามกลางพระนครแห่งหนึ่ง ณ ที่ใกล้พระทวารราชนิเวศน์แห่งหนึ่ง ทรงบริจาคทรัพย์วันละหกแสนบำเพ็ญทานทุกๆ วัน ฝ่ายพระราชมารดาพระมหาสัตว์นั้นดำรงพระชนม์ชีพอยู่ถ้วนอายุขัยได้ถึงทิวงคตล่วงไป พระมหาสัตว์เจ้าจึงทรงตั้งพระอภัยราชกุมารไว้ในที่อุปราชา ด้วยประการฉะนี้

ครั้นกาลนานล่วงไปไว้ ๗ ปี พระนางสุวรรณเกสราเทวีมีพระครรภ์ขึ้นมาได้ ๖ เดือนครึ่ง นางจึงระลึกถึกพระชนกชนนีขึ้นมา จึงเข้าไปเฝ้าพระมหาสัตว์เจ้ากราบทูลว่า พระมหาราช หม่อมฉันพลัดพรากจากพระราชมารดาบิดามาได้ถึง ๗ ปี บัดนี้หม่อมฉันประสงค์จะไปเยี่ยมเยือนพระมารดาบิดา พระองค์จงได้กรุณาพาไปยังโกสัยนคร พระมหาสัตว์เจ้าทรงรับรองแล้วจึงตรัสว่าพระน้องผู้เจริญเราจักดำเนินไปพร้อมกับมหันตโยธาเป็นอันมาก ก็ยากที่จะข้ามมหานทีกันดารไปได้ เราจักต้องไปด้วยนาวาจึงสะดวกดี แล้วพระองค์จึงรับสั่งให้ช่างต่อนาวา ๕๐๐ ลำ ช่างทำอยู่ประมาณ ๓ เตือนจึงแล้วเสร็จ

พระมหาสัตว์เจ้าจึงแจ้งการที่จะเสด็จไปให้พระราชเทวีทราบ แล้วรับสั่งให้พนักงานขนหิรัญสุวรรณรัตนากรณ์ และเครื่องนานาบรรณาการบรรทุกลงในลำนาวา ๕๐๐ เสร็จ ส่วนพระองค์กับพระราชเทวีเมื่อจะเสด็จสู่มหานาวาลำใหญ่ ได้ทรงมอบราชสมบัติให้พระอภัยราชกุมาร ว่าเราไปคราวนี้นานจะได้กลับมา จงรักษารัฏฐประเทศไว้ให้ดี รับสั่งเสร็จจึงเสด็จอู่มหานาวาพร้อมด้วยพระราชเทวี มีหมู่เสวกามาตย์ห้าหมื่นเป็นบริวาร แล้วให้พนักงานประจำเรือเคลื่อนนาวาออกจากท่า แล่นข้ามมหาสมุทรไปนับเวลาได้ ๑๕ วัน

ครั้นนาวาแล่นมาถึงกลางมหาสมุทร พระราชเทวีมีอาการให้ปวดพระครรภ์ลมกัมมัชชวาตก็พัดผันป่วนปั่น พระนางเธอจึงแจ้งอาการนั้นแก่พระมหาสัตว์เจ้า ๆ รับสั่งให้พราหมณ์โหรามาตรวจดู พราหมณ์โหราจึงกราบทูลว่า พระราชโอรสในครรภ์พระราชเทวี บัดนี้จักประสูติแล้วพระเจ้าข้า พระมหาสัตว์เจ้าจึงสั่งให้ชาตแพทย์ทั้งหลายเข้าประคองพระครรภ์ และให้จัดทำวิชยายนวิธีตามประเพณี พะราชเทวีได้ประสูติพระราชโอรส ณ สมุทรสาครงามบวรดุจสุวรรณ เพราะฉะนั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงประทานพระนามแก่พระโอรสว่าสาครกุมาร ต่อแต่นั้นมานาวาทั้งหลายแล่นไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงโภสัยราชธานี ให้จัดเรือไว้เรียบร้อยดี

ทีนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงส่งราชทูตให้ถือราชสาส์นเข้าไปถวายพระเจ้ากรุงโกสัยราช สำเนาความในราชสาส์นนั้นมีดังนี้ว่า ถวายบังคมฝ่าพระบาท ข้าพระบาทชามาตราชนามว่าเทวันธกุมารได้มาเฝ้าถวายบังคมฝ่าพระบาท อนึ่งพระราชธิดานามว่าสุวรรณเกสราเทวีซึ่งพลัดพรากจากไปนานนั้น บัดนี้ได้พร้อมด้วยโอรสมาถวายบังคมฝ่าพระบาทด้วยแล้ว ขอพระองค์จงประทานโทษความผิด ซึ่งข้าพระบาททั้งสองทำละเมิดพากันหนีไปนั้นด้วยเถิด พระเจ้าข้า ราชทูตนั้นครั้นรับราชสาส์นแล้ว ให้บริวารชนขนเครื่องบรรณาการตามไปถึงพระนครแล้วจึงแจ้งให้ราชอำมาตย์ทราบ ราชอำมาตย์จึงนำความกราบทูลพระเจ้าโกสัยราชๆ ทรงอนุญาตให้นำราชทูตเข้ามาเฝ้า ราชทูตนั้นจึงถวายบังคมแล้วถวายพระราชสาส์น จึงรับสั่งให้อำมาตย์อ่านราชสาส์นทราบความแล้ว ทรงพระโสมนัส เมื่อจะทรงให้แต่งราชมรรคารับเสด็จพระเจ้าลูกยาเข้ามา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ตคฺครสิลานิ หรนฺตุ กณฺ กถลาทโย จ
วิสมํ สมํ กโรนฺตุ สมฺมชฺชนฺตุ จ สาธุกํ
เสตมุตฺตามยภาสา โอกิริตฺวาน วาลุกา
อุสฺสาเปนฺตุ ธชปฏานิ ทุสฺสโตรณปนฺติโย
ชาลา โอโลกิยา ปุปฺผา มาลาคนฺธวิเลปนา
อคฺฆิยานิ ปติฏฺนฺตุ เยน มคฺเคน เอหีติ
คาเม คาเม สตํ กุมฺภา เมรยสฺส สุราย จ
มคฺคมฺหิ ปติตา นฺตุ เยน มคฺเคน เอหีติ
มํสา ปุวา จ สงฺกุลฺยา กุมฺมาสา มจฺนฉสํยุตฺตา
มคฺคมฺหิ ปติตา นฺตุ เยน มคฺเคน เอหีติ
สปฺปิ เตลํ ทธิ ขีรํ กงฺคุปิฏฺา พหู สุรา
มคฺคมฺหิ ปติตา นฺตุ เยน มคฺเคน เอหีติ
อาฬาริกา จ สูทา จ นฏฺฏนาฏกคายิกา
ปาณิสฺสรา กุมฺภถูนิโย มุทฺทิกา จ โสกชฺฌายิกา
อาหยนฺตุ สพฺพวีณาโย เภริโย ทินฺทิมานิ จ
ขรมุขานิ ธมนฺตุ นทนฺตุ เอกโปกฺขรา
มุทิงฺคา ปณฺฑวา สงฺขา โคธา ปริวเทนฺติกา
ทินฺทิมานิ จ หฺนฺตุ กฏุมฺภา ทินฺทิมานิ จ

ความว่า ในพิธีอันพระเจ้าโกสัยรับสังให้ตกแต่งราชมรรคา ตั้งแต่กรุงโกสัยจนถึงท่านที ให้ขนก้อนกรวดและก้อนหินไปถมทิ้งในที่ลุ่ม ปราบพื้นให้ราบเสมอปัดกวาดหนามให้สะอาดตา ให้ห้อยย้อยซึ่งพวงมาลาไว้ และประพรมไปด้วยน้อบอันปรนปรุงด้วยคันธชาติ มีข้าวตอกเป็นคำรบห้าแล้วมีรับสั่งให้ตั้งไว้ซึ่งตุ่มใหญ่ อันเต็มไปด้วยสุราและเมรัยทุกหน้าบ้าน อีกทั้งขนมนมเนยและของกินและมัจฉมังสา ให้มีโรงวิเสทรายางสำหรับเลี้ยงขุนนางและบ่าวไพร่ ให้เล่นโขนละครรายๆ ไปตลอดทาง ปาณิสฺสรา มุทฺทิกา ให้เล่นปรบไก่และขับเสภา พวกมโหรีปี่ขวาจงประโคมซึ่งบัญจางคดุริยดนตรี เภริโย ให้ประโคมซึ่งกลองใหญ่กลองน้อย ให้มีพร้อมทั้งตะโพนและบัณเฑาะว์ทั้งแตรสังข์ อันว่าพระเทวันธราชาจักเสด็จมาโดยมรรคาด ในมรรคานั้นไซร้ให้เสนาบดีผู้หญ่จงเอาจใส่จัดให้ครบดังกระแสรับสั่ง ณ กาลบัดนี้

อิติ โส ราชา ราชมคฺคํ วิจาเรตฺวา พระเจ้าโกสัยราชนั้นครั้นทรงตรวจตราราชมรรคาเสร็จด้วยประการฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงวิจารณ์หมู่เสนาโยธาต่อไปได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

เนคมา จ ชานปทา พฺราหฺมณา จ ปุโรหิตา
อมจฺจา คหปตโย โยธิโน จารุทสฺสนา
นานาวณฺเณหิ อลงฺกตา นาสาภรเณหิ ภูสิตา
นีลวตฺถาธราเนเก นีลนิวาสนวตฺถา
นีลาภรณภูสิตา นีลธชปฏากหตฺถา
ปีตวตฺถาธราเนเก ปีตนิวาสนวตฺถา
ปีตาภรณสํยุตฺตา ปีตธชปฏากหตฺถา
รตฺตวตฺถาธราเนเก รตฺตนิวาสนวตฺถา
รตฺตาภรณภูสิตา รตฺตธชปฏากหตฺถา
เสตวตฺถาธราเนเก เสตนิวาสนวตฺถา
เสตาภรณสํยุตฺตา เสตธชปฏากหตฺถา
สามวตฺถาธราเนเก สามนิวาสนวตฺถา
สามาภรณสํยุตฺตา สามธชปฏากหตฺถา
จิตฺรวตฺถาธราเนเก จิตฺรนิวาสนวตฺถา
จิตฺราภรณภูสิตา จิตฺรธชปฏากหตฺถา
ขิปฺปมายนฺตุ อมจฺจา นานาวตฺเถหิ อลงฺกตา
นานาภรเณหิ ภูสิตา สพฺเพว สมาคจฺฉนฺตุ
ตโต สตสหสฺสานิ โยเชนฺตุ คชานิ จ
สุวณฺณกจฺเฉ มาตงฺเค เหมกปฺปนิวาสเส
อารุฬฺเห คามนิเยภิ โตมรงฺกุสปาณิภิ
ขิปฺปมายนฺตุ เสนิโย หตฺถิขนฺเธหิ ทสฺสิตา
ตโต สตสหสฺสานิ โยชยนฺตุ หยานิ จ
อรชานิยา จ ชาติยา สินฺธวา สิงฺฆวาหนา
อารุฬฺเห คามนิเยภิ อินฺทิยาจาปธาริภิ
ขิปฺปมายนฺตุ อสฺสา จ อสฺสปิฏฺเ ทสฺสิตา
ตโต สตสหสฺสานิ โยชยนฺตุ รถานิ จ
อโยสุกตเนมิโย สุวณฺณจิตฺรโปกฺขเร
อาโรเปนฺตุ ธเช ตตฺถ จมฺมานิ กวจฺจานิ จ
ขิปฺปมายนฺตุ รถานิ รเถสุ รถชีวิโน
อุทริยนฺตุ สงฺขปณฺฑวา นทนฺตุ เอกโปกฺขรา
นทนฺตุ เภริสนฺนทฺธา วคฺคู นทนฺตุ ทุนฺทภี
โอโรธา จ กุมารา จ วสฺสวรา จ ราชีโน
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ คจฺฉํ ปุตฺติยาสนฺติเก

ความว่า ดูกรโยธา กรมช้างกรมม้าและเสนาเกเสนาบจรเดินเท้า พรุ่งนี้เช้าเจ้าจงเร่งรัดจัดแจงแต่งตัวมาประชุมให้พร้อมกัน เราจักไปรับพระเทวันธราชากับราชธิดาของเรานั้น จงบอกกันให้พร้อม ทั้งชาวนิคมชนบท ทั้งอำมาตย์ คหบดี และพราหมณ์ปุโรหิต ให้เร่งรัดกันตามติดเราไป/*354พร้อมกัน เสนาพลเดินเท้านั้น ให้จัดเอาสหชาตโยธา (๑๐๐,๐๐๐) จึงโยธาเหล่านี้ให้นุ่งห่มผ้าและประดับอาภรณ์ให้งาม มีสีให้ต่างกัน โยธาพวกเหล่านี้นั้นให้นุ่งห่มผ้าสีเขียว และให้ประดับอาภรณ์สีเขียวมือถือธงก็ล้วนแต่สีเขียวพวกหนึ่ง สีเหลืองนั้นพวกหนึ่ง สีแดงพวกหนึ่ง สีขาวพวกหนึ่ง สีทองคำพวกหนึ่ง สีผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับสลับไพจิตรพวกหนึ่ง อำมาตย์ทั้งหลายจงเร่งรัดให้จัดแจงแต่งกายให้มีสีต่าง ๆ พวกละอย่าง ๆ ดังนี้ แล้วให้มาประชุมพร้อม ณ ชานชาลา

ในลำดับต่อพวกเสนาเดินเท้านั้น จึงถึงเสนาช้าง จงเร่งผูกซึ่งช้างให้ครบจำนวนถ้วนแสน ให้ผูกด้วยสายตะพัตรัดประคนทองผ้าปกกระพองพัดงา มีหมอและควาญขึ้นขี่ประจำ เลือกแต่คนที่ดีๆ ถือทั้งหอกขึ้นขี่ขับ ลำดับขนัดช้างจึงถึงขนัดผ้า ทหารกรมม้าจงเร่งรัดตระเตรียมพลม้าให้ครบแสน จงเลือกสรรค์กลั่นเอาแต่ชาติอาชาไนยแต่ล้วนสินธพเป็นพาหนะอันว่องไว นายผู้จะขึ้นขี่นั้นให้ถือแส้และธนูศรเกาทัณฑ์ทุก ๆ คน ลำดับ เสนาม้านั้นไปถึงขนัดเสนารถแสนคัน ให้เลือกเอาแต่รถที่มั่นคง มีกำกงอันหุ้มไปด้วยเหล็กมีเรือนรถอันวิจิตร คือปิดทองทึบทั่วไปทุก ๆ หลัง ให้นายขมังธนูที่มือแม่นใส่เกราะนวมให้แน่น ๆ ขึ้นขี่ขับ แล้วให้มีช่างรถกำกับไปทุก ๆ คัน พวกจตุรงคเสนาจงเร่งรัดอย่าช้า เราจักเสด็จไปในวันที่ ๗

อำมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้น ได้จัดการเสร็จแล้วทุกประการ

สตฺตเม ทิวเส สมฺปตฺเต ครั้นเมื่อถึงวาระกำหนดวันที่ ๗ อันว่าจตุรงคโยธีทั้ง ๔ หมู่ จึงพร้อมกันยกกระบวนแห่แต่พระนครไปถึงท่าจอดนาวา ได้พากันทูลเชื้อพระเทวันธราชาและพระราชเทวีตามพระราชบัญชาให้ออกมารับเสด็จเข้าไป พระเทวันธราชาและพระนางสุวรรณเกสราจึงเสด็จประทับ ณ ราชยานพร้อมด้วยมหันตบริวาร เสด็จไปถึงพระนครขึ้นประทับยังราชมนเทียร แล้วถวายบังคมพระสัสสุรราชาและพระสัสสุรราชินี แล้วประทับอยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อจะกราบทูลปฏิสัณฐารกถา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

กจฺจิ นุ ตาต กุสลํ กจฺจิ ตาต อนามยํ
กจฺจิ นุ ตาต เม มาตุ จกฺขุ น ปริหายติ
กจฺจิ อโรคํ โยคฺคนฺเต กจฺจิ วหติ วาหนํ
กจฺจิ ผิโต ชนปโท กจฺจิ วุฏฺิ น ฉิชฺชติ

ความว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระพุทธเจ้าขอถาม อันว่าสภาวะแห่งพระองค์นี้มิได้มีพระโรคาพาธแลหรือ หนึ่งสมเด็จพระชนนีของลูกนี้ จะมีแต่ความโสกีไม่วายอัสสุธารา พระเนตรทั้งสองซ้ายขวาก็มิฟกช้ำเคืองระคายหรือพระเจ้าข้า อนึ่งเหล่ายวดยานพาหนะทั้งปวงนั้น จะมิหักพังคร่ำคร่าชำรุดไปหมด ทั้งชนบทประเทศขอบเขตขัณฑเสมา ยังค่อยวัฒนามังคั่งอยู่หรือประการใด พระเจ้าข้า

พระเจ้ายสบดีโกสัยราช ได้สดับปฏิสัณฐารกถาของสองกษัตริย์แล้วตรัสตอบด้วยพระคาถานี้ว่า

กุสลฺเจว เม ปุตฺต อโถ ปุตฺต อนามยํ
อโถ จ ปุตฺต เต มาตุ จกฺขุ น ปริหายติ
อโถ อโรคํ โยคฺคมฺเม อโถ วหติ วาหนํ
อโถ ผิโต ชนปโท อโถ วุฏฺิ น ฉิชฺชติ

ความว่า พระลูกเอ๋ย ข้อความซึ่งลูกถามนั้น พระบิดาหาโรคาพาธมิได้ อนึ่งไซร้ยวดยานมาศราชพาหนะนั้นยังบริบูรณ์อยู่หมด ทั้งชนบทก็เพิ่มพูนไปด้วยโภชนาหาร ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาลมิได้ขาดตามประเพณี

พระเจ้ายสบดีโกสัยราช ตรัสประภาษปฏิสัณฐารเสร็จแล้ว จึงรับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า พวกท่านทั้งหลายจงจัดทำโรงราชาภิเษกมาลกให้แล้วภายใน ๗ วัน เราจักอภิเษกสองกษัตริย์นั้นให้ครองราชสมบัติ ณ ราชธานีนี้ อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชดำรัสแล้ว ช่วยกันจัดทำโรงราชาภิเษกมาลกเสร็จในกำหนด ๗ วัน ฝ่ายพระเจ้ายสบดีนั้นจึงเชิญกษัตริย์ทั้งสองให้นั่งเหนือกองแก้ว แล้วทำราชาภิเษกราชสมบัติแก่พระโพธิสัตว์ แล้วตรัสบังคับไม่ให้พระโพธิสัตว์เสด็จกลับไปเมืองพาราณสี

ตั้งแต่นั้นมา พระเกียรติยศของพระโพธิสัตว์ได้ปรากฏทั่วไปในสกลชมพูทวีป ท้าวพระยาในสกลทวีปจัดราชธิดาของตนส่งมาถวายพระโพธิสัตว์ เพื่ออยู่เฝ้าทำราชปฏิบัติแก่พระมหาสัตว์เจ้าๆ จึงดำรัสเรียกอำมาตย์บรรดาที่ตามเสด็จมาแต่เมืองพาราณสีมาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจะระลึกถึงบุตรภรรยาจงพากันกลับไปเถิด พวกท่านจะกลับไป จงรับเอาคำสั่งของเราไปบอกแก่พระอภัยราชกุมารและภคินีว่า เราอยู่เป็นสุขสำราญปราศจากโรคาพาธ ขอให้พระอภัยราชกุมารจงปกครองอาณาประชาราษฎรโดยยุติธรรมเทอญ อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชดำรัสว่าสาธุแล้ว จึงถวายบังคมลาพากันกลับไปยังเมืองพาราณสี และกราบทูลให้พระอภัยราชกุมารทรงทราบทุกประการ

จำเดิมแต่นั้นมา ประชาชนชาวเมืองทั้งสองนั้น ได้เป็นญาติสัมพันธมิตรทำวานิชกรรมไปมาค้าขายติดต่อถึงกัน ฝ่ายพระเทวันธราชาทรงพระราชศรัทธา ให้สร้างศาลาโรงทานไว้ถึง ๖ แห่ง บริจาคทรัพย์วันละหกแสนบำเพ็ญมหาทานเป็นนิจกาล พระเทวันธราชา ทรงเสวยราชสมบัติโดยผาสุกสำราญ มีหมู่นาฏกิตถีหนึ่งแสนเป็นบริวาร เปรียบปานดังท้าวสักกเทวราช ณ ติทสาลัย

ครั้นกาลนานมา พระนางสุวรรณเกสราเทวีทรงได้พระโอรสอีกองค์หนึ่ง ในกาลเมื่อโอรสนั้นจักประสูติจากครรภ์พระราชเทวี ท้าวสุชัมปติได้เสด็จลงมาประทานพระแสงศรองค์หนึ่งไว้ในฝ่าพระหัตถ์พระราชกุมาร แล้วเสด็จกลับยังทิพวิมาน เพราะเหตุที่พระราชกุมารถือศรพระอินทร์ประทานให้ไว้ พระเทวันธราชาจึงประทานนามพระราชกุมารนั้นว่าสหัสสระดังนี้ พระเทวันธราชาทรงประทานพระพี่เลี้ยงถวายถันธาราหกสิบสี่นาง กับรับสั่งให้เลือกกุมารน้อยๆ พันคน ประทานให้เป็นบริวารของสหัสสระกุมาร

ครั้นกาลนานต่อมา พระราชกุมารา ๒ องค์พี่น้องทรงเจริญวัยพระชนม์ได้ ๗ พรรษา เที่ยวแผลงศรไปในนานาประเทศ ทรงประสงค์สิ่งใดก็ได้สมพระประสงค์ทุกอย่าง บางคราวต้องการขนมและของขบเคี้ยวและนานาวัตถาลังการ หรืออาวุธยุทธภัณฑ์สิ่งใดๆ แผลงศรไปก็ได้สิ่งของที่ต้องประสงค์นั้นทุกอย่าง กิตติศัพท์กิตติคุณของพระราชกนิฏฐ์นั้นก็ปรากฏทั่วในนานาประเทศ ครั้นอยู่ต่อมาพระราชอัยกาและอัยยิกาได้ทิวงคตล่วงไป พระเทวันธราชาทรงดำริว่า โอรสทั้ง ๒ ของเรารู้จักศรศิลปะอย่างเดียว หารู้จักศิลปะอย่างอื่นไม่ เราจักส่งไปให้ศึกษาศิลปะอย่างอื่นอึกต่อไป ดำริแล้วรับสั่งกับพระราชกุมารแล้ว ส่งให้ไปเรียนศิลปะในสำนักทิศาปาโมกขาจารย์ ณ เมืองตักสิลา ด้วยประการฉะนี้

พระสมุทรสาครและพระสหัสสระกุมาร ๒ พระองค์ ทรงดำเนินไปตามลำดับแห่งบ้านและนิคมชนบท กำหนดเดือนหนึ่งจึงถึงเมืองตักสิลา จึงเข้าไปหาทิศาปาโมกข์ ทำวัตรปรนนิบัติและขดศึกษาศิลปะ ท่านทิศาปาโมกย์เห็นสองราชกุมารนั้นแล้ว ให้มีความเอ็นดูกรุณาเหมือนดังว่าบุตรของตน จึงถามตำบลที่อยู่อาศัยและชาติสกุล ครั้นอาจารย์ทิศาปาโมกย์ทราบความตามที่พระราชกุมารบอกให้ มีความดีใจจึงรับสอนนานาศิลปะให้ทุกอย่างมิได้อำพราง

สองดรุณรายกุมารทรงศึกษาเล่าเรียนศิลปะได้ ๑๘ อย่างแล้ว จึงอำลาอาจารย์กลับดำเนินไปในป่าน้อยใหญ่ ได้หลงหนทางไปถึงอาศรมพระดาบสองค์หนึ่ง แต่หาพบพระดาบสไม่ ได้ประทับนั่งอยู่โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้นถึงเพลาเย็น พระดาบสเก็บผลไม้ที่ในป่าได้พอแล้วก็กลับมายังอาศรม ลงสรงน้ำชำระกายสบายดีแล้วก็นั่งอยู่หน้าศาลา สองราชกุมารทราบอาการว่าพระดาบสมาถึง จึงเข้าไปนมัสการพระดาบส เมื่อจะทำปฏิสัณฐาร จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

กจฺจิ นุ โภโต กุสฺลํ กจฺจิ โภโต อนามยํ
กจฺจิ อุฺเฉน ยาเปล กจฺจิ มูลผลา พหู
กจฺจิ ฑํสา จ มกสา อปฺปเมว สิรึสปา
วเน พาฬมิคากิณฺเณ กจฺจิ หึสา น วิชฺชติ

ความว่า พระเจ้าข้าดังข้าพเจ้าขอถาม พระคุณเจ้านี้มีสภาวะปราศจากโรคเจ็บไข้แลหรือ ทั้งทุกข์ภัยพามฤคอันอาเกียรณ์อยู่ในราวป่าสิรสปา ทั้งงูเล็กงูใหญ่มิได้มาบีฑาบ้างแลหรือ อนึ่งพระคุณสิาศัยผลาผลจึงได้เลี้ยงชีพแห่งตน มูลผลาผลนั้นมีมากพอหาได้อยู่แลหรือพระเจ้าข้า

พระดาบสได้สดับคำปฏิสัณฐารกถาของพระราชกุมาร มีจิตชื่นบานโสมนัส แล้วไต่ถามถึงจึงถามตำบลที่อยู่อาศัยและชาติสกุล ครั้นพระดาบสทราบความที่พระราชกุมารบอกให้ แล้วได้ทูลปราศรัยด้วยพระคาถานี้ว่า

กุสลฺเจว กุมาเร อโถ มยฺหํ อนามยํ
อโถ อุฺเฉน ยาเปมิ อโถ มูลผลา พหู
อโถ ฑํสา จ มกสา อปฺปเมว สิรึสปา
วเน พาฬมิคากิณฺเณ หึสา มยฺหํ น วิชฺชติ
พหูนิ วสฺสปูคานิ อสฺสเม สมฺมโต มม
กุมาเร นาภิชานามิ อาพาธํ อมโนรมฺมํ
สุวาคตนฺเต ราชกุมาเร อโถ เต อทุราคตํ
อนฺโต ปวีส ภทฺทนฺเต ปาเท ปกฺขาลยสฺสุ เต
ติณฺฑุกานิ ปิยาลานิ มธฺเก กาสมาริโย
ผลานิ ขุทฺทกปฺปานิ ภุฺชถ กุมาเร วรํ
อิทํปิ ปานิยํ สีตํ อาภตํ คิริคพฺภรา
ตโต ปิวถ กุมาเร เจ ตุมฺเห อภิกงฺขถติ
ตุมฺเห จ เกน วณฺเณน เกน วาปน เหตุนา
อนุปตฺตถ พฺราหารฺํ ตํ เม อกฺขาถ ปุจฺฉิตา

ความว่า พระราชกุมาร ข้อซึ่งทรงถามไถ่ถึงทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บขันธมาร เหลือบยุงบุ้งร่านริ้นดุร้าย ทั้งแรดช้างโคควายไม่ย่ำยี ถึงว่าพระราชกุมารทั้งสองนี้จะอยู่ด้วยก็อยู่ได้ ที่จะขัดสนด้วยผลนั้นเป็นอันไม่มี แต่อาตมะอยู่ที่นี่ถ้าจะนับเดือนปีก็มากหลายมิด้รู้เจ็บรู้ไข้ ความรำคาญอกรำคาญจก็มิได้มี พระราชกุมารมานี้ ชื่อว่ามาดีหามีเหตุร้ายไม่ อนึ่งถึงจะมาไกลก็เหมือนกับมาแต่ที่ใกล้ จงเชิญเข้าไปชำระบาทเสียให้สบาย แล้วเชิญเสวยผลไม้สารพันจะมีมะพลับทองมะหาดมะทรางมะปรางมะม่วง เชิญเสวยชิมดูเถิดทั้งหอมหวานอร่อยเหลือ ถ้าไม่เชื่อจเสวยดูเถิด แล้วพระดาบสถึกถามถึเหตุที่เด็จมา

ฝ่ายสองดรุณราชกุมาร ได้สดับปฏิสัณฐารกถาของพระดาบสจึงประณตน้อมพระเศียรลงกราบไหว้แล้วตรัสว่า พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าสองพี่น้องหลงหนทางมา ไม่รู้ว่าจะไปในทิศใด ขอพระเจ้าตาได้กรุณาบอกมรรคาทางที่จะไปให้ถึงโกสัยราชธานี แด่ข้าผู้หลานนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า แน่ะพระราชกุมาร หลานจงอยู่กับตาราตรีหนึ่งก่อน ต่อรุ่งเช้าอาตมะจึงจะชี้มรรคาให้เสด็จไป พระราชกุมารรับคำพระฤษีแล้วประทับแรมอยู่สิ้นราตรีหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้าพระดาบสเจ้า จึงพาพระราชกุมารไปประดิษฐานยังต้นมรรคา จึงยกมือข้างขวาขึ้นชี้ เมื่อจะบอกวิถีทางที่จะไปยังโกสัยรัฐ จึงทูลด้วยบาทพระคาถานี้ว่า

เอส เสโล เอกคโณ ปพฺพโต กูฏนฺโต นาม
ยตฺถ กูฏนฺตนิวาโส ยกฺขนิเสวโน โหติ
เอเต นีลา ปทิสฺสนฺติ นานา ผลธรา รุกฺขา
ปพฺพตคฺเคว รุยฺหนฺติ ทิสฺสนฺติ อพฺรากูฏาว

ความว่า แน่ะพระราชกุมาร จงแลไปดูเถิดหนาตรงมืออาตมะชี้นั่น คือสิงขรเขากูฏันตล้วนเนินศิลาหลากหลายอย่างต่างๆ กัน กูฏันตยักขราชาผู้ปกครองหมู่ยักษ์สำนักอยู่ ณ ประเทศใด ในประเทศนั้น สารพันทุมาชาติทรงดอกออกผล แต่ละต้นๆ สูงตระหง่านว่ายเวหา แเห็นแต่กลเขียวชะอุ่ม ดูเป็นพุ่มราวกับจอมเมฆในนภากาศ อธิบายความในพระคาถานี้ว่า ที่ภูเขานั้น มีพระราชานามว่า กูฏันตยักษ์ มียักษ์เสนาบดีเป็นบริวารมากาย ได้เสวยราชสมบัติ ณ กูฏันตนคร เพราะเหตุนั้น พระดาบสจึงทูลสองดรุณราชกุมารว่า อย่าได้เสด็จปทางทิศกูฏันตนครนั้นเลยเป็นอันาด ก็และโกสัยราชธานีมอยู่ด้านอนุทิศตรงมืออาตมาะชี้นี้ ขอเชิญพระองค์จงดำเนินไปตามมรรคาซึ่งอาตมาะบอกนี้เถิด

พระราชกุมารสองพระองค์ทรงพระโสมนัส จึงนมัสการลาพระดาบสดำเนินไปตามคำดาบสบอกให้ ทรงดำเนินไปหลายวันแล้วจึงบรรลุถึงมหานิโครธต้นหนึ่งใหญ่ มีกิ่งและใบร่มชิดน่ารื่นรมย์นักหนา สองดรุณราชกุมารก็เสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธมูลนั้น ครั้นเสวยมูลผลาผลแล้ว ถึงเวลาพลบค่ำก็เลยบรรทมหลับอยู่ที่นั้น

คราวนั้น กูฏันตยักขราชาเที่ยวแสวงหาอาหารไปในป่าเดินมาถึงที่นั้น เห็นสองดรุณราชกุมารแล้วให้รักใคร่จึงคิดว่า มนุษย์หนุ่มน้อยสองคนนี้รูปร่างงามนักหนา นางอสุรินทาราชธิดาของเราสมควรเป็นชายาเจ้ามนุษย์หนุ่มๆ นี้ได้ เราจักอุ้มเอาไปให้ราชธิดา ณ กาลบัดนี้ คิดแล้วยักขราชาจึงเป่ามนต์สะกดจิตให้สองดรุณราชหลับสนิทแล้ว จึงอุ้มเหาะไปถึงนครของตน แล้ววางสองดรุณราชไว้บนทิพย์ไสยาสน์ ณ สุวรรณปราสาท จึงให้หาราชธิดาอสุรินทานารีมาแล้วบอกว่า บิดาได้พาสองดรุณราชกุมารรูปงาม ๆ มาให้เจ้า เจ้าจงเข้าในห้องมองดูแล้วเลือกเอาตามชอบใจ

นางอสุรินหายักขราชธิดา ได้ฟังดังนั้นก็ดีใจยิ่งนักหนา จึงเข้าในห้องมองดูสองราชกุมารนั้น เห็นพระสมุทรสาครราชกุมารแล้วนึกชอบใจตรงเข้ากอดรัดและจุมพิตร่วมภิรมย์สมสนิทบันเทิงใจ ฝ่ายพระสมุทรสาครราชกุมารตื่นขึ้น ทอดพระเนตรเห็นนางอสุรินทารูปโสภางามดังเทพอัปสร ทั้งปราสาทอันบวรและบรรจถรณ์สุวรรณมัย อันขจิตรไปด้วยแก้วต่าง ๆ กับทอดพระเนตรเห็นเพดานประดับไปด้วยดาวทองและดาวแก้ว ทรงเห็นแล้วก็ให้พิศวงสงสัย เหลือบพระเนตรแลไปไม่เห็นมีผู้ใดอยู่ ณ ที่นั้น จึงตรัสถามนางอสุรินทาว่า แม่ภคินี พี่สองคนกับน้องนอนอยู่ที่โคนต้นไทร เหตุไรจึงได้มาอยู่ปราสาทนี้ นางอสุรินทาจึงทูลความตามพระราชบิดาบอก แล้วพระสมุทรสาครจึงถามว่า ภคีนีมีนามชื่อไร หม่อมฉันชื่ออสุรินทาเทวี พระบิดาของภคินีมีนามชื่อไร พระราชบิดาของหม่อมฉันพระนามว่ากูฏันตราชา ก็เมืองนี้มีนามชื่อใด เมืองนี้ชื่อว่ากูมันตนคร พระสมุทรสาครได้ร่วมกับนางอสุรินทาเทวี

ครั้นรุ่งเช้า กูฏันตยักขราชา เรียกยักขเสนาบดีมาสั่งว่า ให้พนักงานเภรีเอากลองไปตีประกาศห้ามเด็ดขาด ไม่ให้ยักษ์ตนใดแสดงรูปยักษ์และเสียงยักษ์ ให้ราชกุมารสององค์ทรงเห็นและทรงฟัง ชาวเมืองทั้งหลายจงแปลงกายให้เหมือนรูปมนุษย์จงทุกคน กับอนึ่งให้ตบแต่งอลังกตปราสาท และสุวรรณปราสาท มณีปราสาท และจลนฤมิตบ้านเมืองกับถนนหนทาง ทั้งอุทยานและโบกขรณี ให้งามเหมือนเมืองมนุษย์และเทวนคร ชาวนครมียักขเสนาบดีเป็นต้น ก็ได้พากันจัดทำตามบัญชาของพระยายักษ์ทุกประการ

สองดรุณราชกุมารเสวยสุขสำราญหาทรงทราบว่าเป็นเมืองยักษ์ไม่ ล้วนแต่มีหมู่ยักขมาณพเป็นบริวาร บางครั้งก็ได้เสด็จไปชมสวนอุทยานและสรงวารีในสระโบกขรณี เสวยทิพย์โภชาหารและทรงประดับองค์ทิพพาลังการ งามเปรียบปานดังเทพบุตร ณ เมืองสวรรค์ พระเกียรติยศพระราชกุมารทั้งสองนั้น ก็ปรากฏเล่าลือไปในยักขนครทั้งมวล

ครั้นกาลนานมา พระสมุทรสาครผู้เชษฐาทรงเพลิดเพลินเป็นบรมสุข หาระลึกถึงพระราชชนกชนนีไม่ ฝ่ายพระสหัสสระผู้กนิษฐานั้น ระลึกถึงพระราชบิดามารดาขึ้นมา จึงชวนพระเชษฐาให้กลับไปเมืองโกสัย พระสมุทรสาครห้ามไว้ว่าอย่าเพ่อไปก่อน รออยู่ที่นี่อีกปีหนึ่งจึงค่อยกลับไปเมืองโกสัย ทรงปลอบให้ชอบพระทัยและชวนให้ไปประพาสป่า บางคราวพาไปประพาสอุทยานให้สำราญพระทัย ให้พระกนิษฐาคลายคิดถึงพระชนกชนนี แล้วให้อยู่ที่เมืองยักษ์นั้นต่อไป

ก็และในกาลคราวนั้น มีสัจจพันธยักขราชาองค์หนึ่ง ครองสมบัติอยู่ ณ สัจจพันธบูรีนครใกล้สิงขรสัจจพันธ์ พระยายักษ์สัจจพันธ์นั้นได้เป็นสัมพันธมิตรกับกูฏันตยักขราชา ครั้นทราบว่าท้าวกูฏันต์ยกนางอสุรินทาราชธิดาให้แก่ดรุณมนุษย์ จึงแค้นใจท้าวกูฏันต์เป็นนักหนา คิดถึงความหลังว่าเมื่อก่อนเราได้ขอธิดาของท้าวกูฏันต์ให้แก่ลูกของเราท้าวกูฏันต์มิได้ยินยอมให้ บัดนี้ท้าวกูฏันต์เห็นแก่อ้ายมนุษย์เสียแล้วเขาไม่เหลียวแลดูเรา ชั่งเถอะเรากับท้าวกูฏันต์ขาดไมตรีกันแต่วันนี้ไป เราจักไปทำศึกสงครามกับกูฏันต์แก้แค้นให้จงได้ ดำริแล้วก็โกรธใหญ่และมากไปด้วยริษยา จึงเรียกยักขเสนามาบัญชาว่า ดูกรยักขเสนาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเกณฑ์กันนับตั้งแสนขึ้นไป จงพร้อมกันแปลงอวัยวะให้แลกเปลี่ยน คือให้มีศีรษะและวรรณสัณฐานต่างๆ ถืออาวุธให้ครบมือกัน เราจักยกกองทัพไปล้อมกูฏันตนคร ทำสงครามกับท้าวกูฏันต์

ยักขพลเสนาเหล่านั้นรับบัญชาพระยายักษ์แล้ว พากันจำแลงแปลงกายเป็นเพศต่างๆ บางพวกตัวเขียวตัวแดงตัวขาว บางเหล่าตัวเหลืองตัวดำและน่าชัง บางพวกตัวเป็นนาคหัวเป็นมนุษย์ บางพวกตัวเป็นครุฑหัวเป็นนาค บางพวกตัวเป็นเสือหัวเป็นโคกระทิง ตัวเป็นโคกระทิงหัวเป็นเสือ บางพวกตัวเป็นสีหศีรษะเป็นเสือ บางพวกตัวเป็นเสือศีรษะเป็นสีห มารเสนาทั้งหลายนิรมิตกายให้เป็นศีรษะวานรและม้าให้เป็นศีรษะวัวควายและแร้งกานกออก และนฤมิตให้เป็นศีรษะงูเล็กงูใหญ่มีงูเหลือมเป็นต้น มารพลเสนาล้วนตาเหลือกเหลืองเขี้ยวออกนอกปาก บางพวกเขี้ยวแดงหนวดแดงมีสัณฐานต่าง ๆ ถืออาวุธครบมือกันทุกคนคำรณร้องก้องสนั่นไป อุปมัยเหมือนสายฟ้าฟาดปฐพี และเหมือนจะย่ำยีมหันตจักรวาฬให้ถล่มทำลายไป

ฝ่ายท้าวสัจจพันธ์ถือมหันตคธาวุธอันลุกเป็นเปลวไฟ กวัดแกว่งขับต้อนพลมารเสนาให้รีบยกออกไป มารเสนาทั้งหลานล้วนเข้มแข็งสามารถทุกหมู่เหล่า ถือเอาดาบหอก ธนู ศร โตมร ฉมวก และจักรสิงข์ ทั้งอังกุส ขอ ง้าว หลาว เหล็ก พร้า มีด และ กฤช เป็นต้น คำรณร้องวิ่งตรูกันไป อุปมัยเหมือนจะยังมหันตบรรพตให้ถึงซึ่งอาการแยกแหลกกระจาย จึงพร้อมกันล้อมกูฏันตนครไว้ได้ แสดงยักขฤทธีมีประการต่างๆ

คราวนั้น ท่านท้าวกูฏันต์ทราบว่าสัจจพันธ์ยักขราชายกมารพลมา จึงประกาศสั่งยักขเสนาให้นฤมิตกายต่างๆ กัน และให้ถืออาวุธยุทธภัณฑ์ให้ครบมือ แล้วช่วยกันทำยุทธจับข้าศึกฆ่าเสียให้จนได้ ยักขเสนาทั้งหลายรับบัญชายักขราชาแล้วพากันจัดการยุทธวิธีเสร็จทุกประการ สองราชกุมารคือพระสมุทรสาครและพระสหัสสระประทับอยู่ใกล้ท้าวกูฏันตราช จึงทรงทราบว่าท้าวกูฏันต์นั้นเป็นยักษ์ แต่พระองค์หาทรงพรั่นพรึงไม่ ได้ทูลว่า พระมหาราช ข้าพระบาทสองพี่น้องจักขอรับอาสารบข้าศึกถวาย ท้าวกูฏันต์ตรัสห้ามว่าพ่อเป็นมนุษย์ ไม่อาจจะทำยุทธกับพวกยักษ์ได้ เพราะฉะนั้นการทำสงครามเป็นพนักงานของเราเอง

ท้าวกูฏันต์ตรัสดังนั้นแล้ว จึงพร้อมด้วยมหันตบริวารกับทั้งสองราชกุมาร เสด็จออกนอกพระนครแล้วนฤมิตตนเป็นยักษ์ใหญ่ ถือตระบองเพชรกวัดแกว่งบนพระเศียร ตวาดด้วยสุรเสียงอันดังขับมารเสนาไปเบื้องหลัง สะพรั่งพร้อมด้วยยักขเสนาเข้าทำยุทธต่อกันและกัน พวกโยธาต่อพวกโยธาทั้งหลายนั้น ต่างฆ่าฟันกันด้วยหอกดาบ และยิงธนูศร ตะลุมบอนเป็นพวกๆ ไป ฝ่ายพระสมุทรสาครและพระสหัสสระราชกุมารจึงโก่งธนูพาดลำศรยิงไปครั้งนั้นราวกะว่าเสียงฟ้าลั่น ลูกศรนั้นถูกสัจจพันธยักษ์ข้างหน้าทะลุออกข้างหลัง ท้าวสัจจพันธ์ก็ถึงกาลกิริยาตาย

ฝ่ายพระสหัสสระกุมารจึงยิงศรกระหน่ำซ้ำไป ศรนั้นกลับกลายเป็นนาคราชนับได้แสนหนึ่ง จึงรวบรัดมัดเอายักขเสนาให้ล้มกลิ้งอยู่ ณ ปฐพี พวกยักษ์ที่เหลือจากนาคราชจับมัดไว้นั้น ไม่อาจสู้ได้พากันหนีไปหมดสิ้น ท้าวกูฏันต์ได้ถึงชัยชนะแล้วทรงโสมนัส ทรงสวมกอดสองดรุณราชกุมารแล้วเสด็จกลับเข้าภายในวัง จึงรับสั่งให้ทำการราชาภิเษกทำนางอสุรินทาราชธิดาให้เป็นอัครมเหสีของพระสมุทรสาคร ให้ครอบครองราชสมบัติต่อไป สองราชกุมารได้เสวยทิพย์สุขสำราญยิ่งใหญ่ ด้วยประการฉะนี้

ครั้นอยู่ต่อมา พระสหัสสระกุมารทรงระลึกถึงพระราชมารดาบิดา จึงทูลวิงวอนพระบรมเชษฐาว่า พระเชษฐากับหม่อมฉันพากันเสวยทิพย์สุขอยู่เมืองนี้มานานแล้ว ฝ่ายพระราชมารดาปิดาเมื่อไม่ได้เห็นพระเชษฐากับน้องยา จะเสวยทุกขเวทนาเป็นอันมากนัก เชิญเสด็จไปยังราชสำนักพระราชมารดาบิดาเถิด พระสมุทรสาครรับว่าจักไป แล้วพาพระสหัสสระไปเฝ้าท้าวกูฏันต์ทูลลาจะไปเฝ้าพระราชมารดาบิดา ท้าวกูฏันต์ตรัสว่าเราจักไปด้วย แล้วบัญชาสั่งยักขเสนาว่าให้เตรียมพลโยธาไว้ให้พร้อม เราจักเสด็จไปเมืองโกสัย แต่อย่าให้ถือเพศเป็นยักษ์ จงแปลงเพศให้เหมือนเทพบุตรในดาวดึงส์ ยักขเสนาได้จัดการเสร็จตามท้าวกูฏันต์บัญชาทุกประการ

พระสมุทรสาครราชากับพระสหัสสระและท้าวกูฏันต์กับนางอสุรินทาเทวี พร้อมด้วยยักขเสนาบริวารเสด็จแต่กูฏันต์ยักขธานีไป นับได้ ๓ วันจึงบรรลุถึงเมืองโกสัย ได้ส่งสาส์นเข้าไปกราบทูลพระเทวันธราชาว่า พระมหาราช ข้าพระบาทผู้โอรสทั้งสองของพระองค์นามว่าสมุทรสาครกับสหัสสระกุมาร บัดนี้ได้มาพร้อมกับกูฏันตราชาผู้สัสสุระ เพื่อจะถวายอภิวาทฝ่าพระบาทพระราชชนกชนนี

พระเทวันธราชาทรงทราบแล้วก็โสมนัสดำรัสบอกแก่พระนางสุวรรณเกสราเทวี แล้วตอบอักษรสาส์น อนุญาตให้ราชโอรสเข้าไปในพระราชฐาน สี่กษัตริย์คือท้าวกูฏันต์ราชา พระสมุทรสาครราชา นางคสุรินทาเทวี สหัสสระกุมาร เมื่อคมนาการเสด็จเข้าไปยังพระนครพร้อมด้วยยักขเสนาและยักขทาสีบรรลุถึงราชตระกูลครั้งนั้น งามปรากฏดุจหนึ่งเทพดาในสวรรค์ มหาชนทั้งหลายนั้นเห็นอิสริยยศของสี่กษัตริย์แล้ว ก็บังเกิดพิศวงโจษกันว่า พระลูกเจ้าของพวกเราเธอได้นางเทวธิดาเสด็จมาถึงแล้ว

พระเทวันธราชากับพระนางสุวรรณเกสรา จึงพร้อมกันทรงทำการต้อนรับยักขราชาเชิญให้ประทับ ณ บัญญัตตาสนะ กษัตริย์ทั้งสามองค์ทรงถวายอภิวาทพระราชมารดาบิดา พระนางสุวรรณเกสราทอดพระเนตรเห็นราชสุณิสาแล้วทรงโสมนัส ตรัสชมว่ากษัตริย์ทั้งสองช่างงามสมเหมาะเจาะกันนักหนา เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายเสด็จประทับแรมโดยผาสุกสำราญ แล้วพระโพธิสัตว์เทวันธราชาทูลถามยักขราชาว่า พระองค์จะประทานนางอสุรินหาเทวีให้อยู่เมืองนี้ หรือจะรับกลับไปยังเมืองของพระองค์ หม่อมฉันจะขอลาพาเอานางอสุรินทากับพระสมุทรสาครไปด้วย พระโพธิสัตว์ก็ทรงอนุญาตให้กษัตริย์ทั้งหลายมีท้าวกูฏันต์เป็นอาทิ เสด็จอยู่ ณ เมืองโกสัยสิ้น ๓ เดือนแล้ว จึงทูลลาพระโพธิสัตว์พานางอสุรินทากับพระสมุทรสาครไปยังกูฏันตธานี พระโพธิสัตว์ได้ประทานตำแหน่งอุปราชาให้แก่พระสหัสสระราชกุมาร ๆ ได้เสวยรัชสุขอยู่กับพระโพธิสัตว์ต่อไป

ครั้นอยู่ต่อมา พระนางสุวรรณเกสราเทวีได้พระราชธิดาอีกองค์หนึ่ง พระราชธิดานั้นทรงบวรกายงดงามเปล่งปลั่งดุจดังสีทองคำ เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่าสุวรรณประภา มีคำปุจฉาว่า รัศมีสรีรกายของพระราชธิดางามดังสีทองนั้น เกิดขึ้นด้วยอานิสงส์บุญอย่างใด มีวิสัชนาว่า ในชาติปางก่อนพระราชธิดานั้นเกิดเป็นเศรษฐีธิดา กอร์ปด้วยศีลาจารเป็นอันดี วันหนึ่งเศรษฐีธิดานั้นไปเห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งเขายังมิได้ปิดทองไว้ นางเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้เอาทองคำปิดพระพุทธรูปองค์นั้นทั่วทั้งองค์ แล้วทำบูชาสักการะเคารพด้วยจิตยินดี ด้วยอานุภาพปิดทองพระพุทธรูปนั้นตามสนอง รัศมีทองจึงซ่านออกจากกายแห่งนางสุวรรณประภา ด้วยประการฉะนี้แล

ครั้นกาลนานมา พระเทวันธราชาและพระนางสุวรรณเกสรา ทอดพระเนตรเห็นขันธปัญจกมีพระสกหงอกเป็นอาทิ แล้วทรงสลดพระหฤทัย ได้ประทานราชสมบัติให้แก่พระสหัสสระอุปราชา กษัตริย์ทั้งสององค์เสด็จไปยังป่าหิมพานต์ ทรงบรรพชาเป็นดาบสและดาบสินี บำเพ็ญอภิญญาห้าสมบัติแปดให้เกิดมี เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้วมีพรหมโลกเป็นเบื้องหน้า

ก็ฝ่ายพระสุวรรณประภาราชธิดานั้น ในกาลเมื่อเธอมีพระชันษาได้ ๑๖ ปี ทรงพระรูปสิริโสภางามเลิศเปรียบดังเทพอัปสรกัลยา รูปสัมปทาก็ปรากฏฟุ้งไปในสากลทวีป ท้าวพระยาทั่วสากลรัฐครงทราบกิตติศัพท์แล้วก็พอพระหัยจะใคร่ได้นางสุวรรณประภา ต่างองค์ก็ยกจตุรงคเสนาไปล้อมเมืองโกสัยไว้ถึง ๓ ชั้น ๔ ชั้น ต่างก็หมายจะชิงเอานางสุวรรณประภาด้วยอำนาจของตนๆ เสียงพลนิกายทั้งหลายโห่ลั่นหวั่นไหว ดุจดังจะยกพื้นพสุธาให้แหลกเป็นผงธุลี ถึงเวลาราตรีพลนิกายทั้งหลายถือคบเพลิงนับตั้งหมื่นแสน แสงไฟสว่างทั่วไป อุปมัยเหมือนหมู่ดาราในอากาศ ทั้งแสงอาวุธหอกดาบก็ปลาบแปลบประดุจดังสายฟ้าแลบแลละลานตา

สพฺเพ นาครา ฝ่ายประชาชาวเมืองโกสัยได้เห็นแล้วก็่พากันตระหนกตกใจร้องไห้ระเบ็งเซ็งแซ่ไป พระสหัสสระราชาจึงรับสั่งพนักงานเภรีให้เอากลองไปตีป่าวร้องว่า ชาวเมืองทั้งหลายจงพากันประดับกายเล่นมหรสพให้สบาย มหาชนทั้งหลายพากันดีใจประดับกายและดื่มกินอาหารต่าง ๆ บางพวกขับร้องฟ้อนรำทำเพลงเป็นหมู่ ๆ บางพวกก็ปรบมือชูเชิดร่าเริงกันยกใหญ่ ฝ่ายพระราชาข้าศึกทั้งหลายได้สดับดังนั้น จึงรับสั่งถามว่า พวกเรายกโยธามาล้อมเมืองไว้แน่นหนา เหตุไรชาวนครจึงหากลัวไม่ ยังกลับมาเล่นการมหรสพกันยกใหญ่ แน่ะพระยาข้าศึกทั้งหลาย พระสหัสสระราชาท้าวเธอทรงปรารถนาไว้ ตั้งแต่วันที่พระองค์เสด็จสมภพแล้วมาว่า ท้าวพระยาในสากลทวีปจงยกพลมาล้อมเมืองเราเถิด เราจักเล่นการมหรสพทำปทักษิณนครดังนี้ เพราะเหตุนั้นชาวเมืองจึงเล่นการมหรสพกันใหญ่ในกาลบัดนี้

พระยาข้าศึกทั้งหลายทรงสดับดังนั้นยิ่งกริ้วกราดใหญ่ รับสั่งพวกโยธาให้รีบเร่งทำลายประตูเมืองและพังกำแพงเข้าไปให้จงได้ พวกโยธาทั้งมวลพากันไสช้างเข้าไปเพื่อจะทำลายทวารปราการ พวกนครภิบาลและโยธาบรรดาอยู่ภายในเมือง พากันรำนานาวุธไต่เล่นบนสันกำแพงบ้าง บางพวกก็หยุดยืนจ้องมองดู บางหมู่ก็เอาทรายและกรวดกับดีบุกที่คั่วร้อน ๆ ทุ่มเทสาดออกไป และพุ่งนานาวุธให้ถูกกายคชสาร ๆ ไม่อาจจะทนทานได้ก็ร้องโกญจนาท ทั้งมนุษย์ต้องศัตราวุธมีบาดเจ็บนักแล้ว ก็ระย่อท้อถอยกลับออกไปสิ้น

พระสหัสสระราชา แต่งพระองค์ทรงเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์อันราชภัฏกางกั้นเศวตฉัตร ณ เบื้องบน มีหมู่พลสุรเสนาแวดล้อมเสด็จดำเนินไป งามวิไลเล่ห์ดังท้าวเทวราช มีเทวบุตรเป็นบริวารก็ปานกัน แล้วรับสั่งให้เผยพระทวารเสด็จออกไป ได้ทอดพระเนตรพลโยธาเหล่าข้าศึกทั้งหลาย จึงยกลำศรขึ้นพาดสายแล้วแผลงไป เสียงศรที่แผลงไปนั้นดังสนั่นเหมือนฟ้าลั่นลงมาได้แสนครั้ง จาตุรงคเสนานิกรมีกุญชรและอัสดรเป็นต้น ไม่อาจจะยั้งตนอยู่ได้ พากันล้มกลิ้งนิ่งไปเหนือพสุธา

พระสหัสสระราชาจึงอธิษฐานแผลงศรไป ลูกศรก็กลับกลายเป็นสัตว์นิกายต่างๆ คือสีหะและพยัคฆแรดช้างเป็นต้น วิ่งสับสนไล่จับพลโยธาฆ่ากินเสียบ้าง ฟาดฟันกันให้บาดเจ็บป่วยลำบากเวทนา พระราชาบางองค์ถูกนาคราชรึงรัดด้วยขนดหางแล้วนำไปถวายพระเจ้าสหัสสระ พวกพลนิกายก็ตื่นแตกหลบหนีไป บางพวกก็ตาย บางพวกก็รอดตาย พระราชาข้าศึกทั้งหลายขอชีวิตไว้ มอบตนให้ใช้ต่างทาส พระสหัสสระราชทรงโปรดประทานโทษให้ แล้วส่งให้กลับไปยังนครของตนๆ กษัตริย์ทั้งหลายถวายอภิวาทลากลับไปยังสกราชธานี ได้จัดส่งส่วยและบรรณาการมาถวายพระเจ้าสหัสสระเสมอทุก ๆ ปีไป

จำเดิมตั้งแต่นั้นมา พระเกียรติยศของพระเจ้าสหัสสระ ก็ลือชาปรากฏทั่วไปในสากลทวีป ชาวพระนครทั้งหลายมีปุโรหิตามาตย์เป็นอาทิจึงปรึกษากันว่า พระราชาของพวกเราท้าวเธอยังหามีพระมเหสีไม่ แม้ถึงพระราชกนิษฐาแห่งพระราชาของเราก็ยังหามีพระราชภัสดาไม่ กษัตริย์อื่นก็หาคู่ควรแก่พระราชกนิษฐาไม่ เราทั้งหลายจักอภิเษกสองกษัตริย์นี้เถิด ปรึกษากันแล้วจึงนำความกราบทูลพระสหัสสระราชาและพระราชกนิษฐาให้ทรงทราบ ครั้นอำมาตย์ได้รับพระอนุญาตแล้ว จึงอภิเษกสองกษัตริย์ให้ร่วมเศวตฉัตร เป็นพระราชภัศดาและพระมเหสี

กษัตริย์ทั้งสองครองราชสมบัติต่อมา จึงได้พระราชโอรสองค์หนึ่ง ครั้นภายหลังกษัตริย์ทั้งสององค์ทรงพระชราภาพแล้วจึงมอบราชสมบัติให้แก่พระโอรสาธิราชแล้ว เสด็จออกทรงผนวชเป็นดาบสและดาบสินี ณ ป่าหิมพานต์ บำเพ็ญฌานสมาบัติให้เกิดเต็มที่มิได้เสื่อมถอย เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้วก็มีพรหมโลกเป็นเบื้องหน้า

สตฺถา อิม ธมฺมเทศสน อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะได้ทรมานมนุษย์และยักษ์ให้เสื่อมพยศอันร้ายแต่เดี๋ยวนี้ก็หาไม่ ถึงในกาลปางก่อนตถาคตก็ได้ทรมานมนุษย์และยักษ์ทั้งหลายให้เสื่อมพยศ และได้สมาทานศีลบำเพ็ญทานมาแล้วอย่างนี้ แล้วพระองค์ทรงประกาศอริยสัจจะทั้งสี่ในที่สุดจบชาดกเทศนา ครั้นจบอริยสัจจกถาแล้วจึงประชุมชาดกว่า นันทยักษ์ในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือภิกษุเทวทัต นางยักขินีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางจิญจมาณวิกา พระยาอัจฉราชในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอุบาลี พระยาพานรินท์ในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระสีวลีเถระ ท้าวกุมภัณฑ์สี่ตนในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระสุนักขัตเถระ ๑ พระนาคเสนเถระ ๑ พระกัจจายนเถระ ๑ พระมหานามเถระ ๑ พระดาบสในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระสารีบุตรเถระ พระอภัยราชกุมารในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระนนทเถระ พระนางจันทาเทวีราชกนิษฐาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางชนบทกัลยาณี ท้าวโกสีย์ในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระอนุรุทธเถระ กูฏันตยักขราชาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระโมคคัลลานเถระ มหัลลกบุรุษเฝ้าสวนในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระกัสสปเถระ นางมหัลลิกาสตรีเฝ้าสวนในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ นางภัททกาปิลานี พระสมุทรสาครในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานนทเถระ พระสหัสสระในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระราหุลเถระ พระนางสุวรรณประภาเทวีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางอุบลวรรณาเถรี นางอสุรินทาเทวีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางเขมาเถรี พระเจ้ายสบดีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือสุปพุทธราชา พระสุวรรณเกสราเทวีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพิมพายโสธรา พระชนกชนนีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือมหาราชตระกูล บริษัทนอกนั้นกลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเทวันธราชา ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือเราผู้ตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้แล

จบเทวันธชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ