- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๔. สุรัพภชาดก
ทิชา ทสฺเสนฺติ มม ปฺหนฺติ อิทํ สตฺถา ราชคหฺจ โกสมฺพิยฺจ อนฺตรา โฆสิตาราเม วิหรนฺโต อตฺตปสํสนํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ โฆสิตารามอันเป็นระวางเมืองราชคฤห์และเมืองโกสัมพีต่อกัน ทรงพระปรารภความสรรเสริญของพระองค์ เป็นมูลเหตุตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า ทิชา ทสฺเสนฺติ มม ปฺหํ ดังนี้เป็นต้น อนุสนธิในเรื่องนี้ มีนิทานวจนะดังต่อไปว่า
วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายประชุมพูดกันในโรงธรรมสภา สรรเสริญคุณพระบรมศาสดาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย พระองค์ทรงปัญญามาก ทรงพระปัญญาว่องไวหลักแหลมแกล้วกล้าและลึกซึ้ง อาจย่ำายีถ้อยคำของนักปราชญ์อื่น ๆ เสียได้ พระองค์ทรงทรมานพราหมณ์ทั้งหลายมีกูฏทันตเป็นต้น ทรงทรมานปริพพาชกมีฉัพพิยเป็นต้น และทรงทรมานมหายักษ์มีอาฬวกเป็นต้น กับทรงทรมานเทพดาและพรหมมีท้าวสักกะและท้าวพกาเป็นต้น ให้เสื่อมพยศลดละมานะเสียได้ และให้ตั้งอยู่ในมรรคและผล สมเด็จพระทศพลของเราทั้งหลาย ทรงพระปัญญามากมายอย่างนี้
สมเด็จพระสุคตมุนี ทรงสดับคุณกถานั้นด้วยทิพโสตธาตุแล้วเสด็จมาประทับ ณ ธรรมาสน์ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมพูดเรื่องอะไรกันอยู่บัดนี้ พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลตามมูลเหตุที่สนทนาให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ตถาคตจะได้มีปัญญาแต่ในกาลเดี๋ยวนี้ก็หาไม่ ถึงในกาลปางก่อน เมื่อตถาคตยังแสวงหาโพธิญาณอยู่ก็มีปัญญายิ่งเหมือนกัน พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลขอให้ตรัสเทศนาอดีตนิทาน พระองค์จึงนำซึ่งอดีตนิทานมาอ้าง ดังปรากฏต่อไปว่า
อตีเต กาสิกรฏฺเ เถยฺยนคเร โสเรยฺยราชา นาม รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วนาน พระราชาทรงพระนามว่าโสไรย ดำรงราชสมบัติ ณ ไถยนครกาสิกราษฎ์ พระเจ้าโสไรยนั้นมีราชโอรสสองพระองค์ เชฏฐโอรสองค์พี่พระนามว่าสุรัพภ กนิฎฐโอรสองค์น้องพระนามว่าอสุรัพภ พระโพธิสัตว์ได้อุบัติเป็นสุรัพภกุมารผู้เชษฐา พระเจ้าโสไรยประทานตำแหน่งอุปราชให้เชฏฐโอรส และประทานตำแหน่งเสนาบดีให้กนิฏฐโอรส ทรงครองราชสมบัติเกษมสุขสำราญ
ครั้นต่อมานาน พระโพธิสัตว์สุรัพภนั้น ทรงพิจารณาเห็นโทษกามคุณ เห็นอานิสงส์แห่งบรรพชา เกิดสังเวชสลดใจจึ่งได้เปล่งอุทานคาถาดังนี้ว่า
อนิจฺจ วต สงฺขารา | อุปฺปาทวยธมฺมิโน |
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺณนฺติ | เตสํ วูปสโม สุโข |
ความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้แล้ว ย่อมเป็นสุขจริงแท้
ครั้นเปล่งอุทานคาถานี้แล้วดำริต่อไปว่า เราจะหาอุบายอย่างไรจึงจะออกได้จากสังขารและสังสารวัฏ ธรรมอย่างอื่นจะไม่อาจปลดให้ออกจากสังขารได้ บรรพชาสิ่งเดียวนี้แหละอาจจะปลดให้เราออกจากสังขารได้ เพราะบรรพชามีคุณอานิสงส์มากนัก เราจักบรรพชาเสียเถิด พระองค์ทรงเห็นนักสนมเหมือนเห็นยักขินี ทรงเห็นปราสาทเหมือนเห็นนรก ให้สลดรันทดพระทัยใคร่จะบรรพชาโดยจริงแท้
วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์สุรัพภ เข้าไปเฝ้าพระราชบิดากราบทูลว่า พระมหาราช ข้าพระบาทขออนุญาตถามปัญหาพระองค์สักข้อหนึ่ง พ่อจงถามตามชอบใจ บิดาให้อนุญาตแล้ว พระมหาราช พระสุริยะสองดวงเกิดขึ้นในจักรวาฬอันเดียวกัน จะให้คุณและให้โทษอย่างไร ดูกรพ่อ พระอาทิตย์สองดวงเกิดขึ้นในจักรวาฬอันเดียวกัน สรรพสัตว์ทั้งหลายจะถึงความร้อนใหญ่ ฝนก็จะไม่ตกน้ำก็จักแห้งไป มหาชนก็จะถึงความร้อนใหญ่ พากันมหาวินาศเที่ยงแท้
พระโพธิสัตว์ทูลถามพระราชบิดาอีกว่า พระมหาราช ช้างสองตัวอยู่ร่วมโรงเดียวกัน จะแสดงคุณและโทษอย่างไรบ้าง ดูกรพ่อ ถ้าว่าช้างสองตัวอยู่ร่วมโรงเดียวกันไซร้ ช้างสองตัวนั้นก็จะประสานงาแทงกัน ช้างตัวหนึ่งจะทำช้างตัวหนึ่งให้ถึงเวทนาและความพินาศ พระมหาราช สตรีคนเดียวมีผัวสองคน จะให้ถึงคุณและโทษอย่างไรบ้าง สตรีคนเดียวมีผัวสองคน ๆ ก็จะทะเลาะวิวาทผูกเวรกัน แย่งชิงซึ่งกันและกัน พระมหาราช ในบ้าน ๆ หนึ่งมีนายคามโภชกสองคน จะให้ถึงซึ่งคุณและโทษอย่างไรบ้าง ดูกรพ่อ ในบ้าน ๆ หนึ่งมีนายคามโภชกสองคน ๆ๑ นั้นก็จะทำความทะเลาะวิวาท เพราะหวงบริษัทกันบ้าง เพราะแย่งชิงที่ไร่ที่นาและส่วยกันบ้าง พระมหาราช สัตว์สองตัว คือหนูกับพังพอนอยู่ร่วมปล่องเดียวกัน ย่อมจะให้ถึงซึ่งคุณและโทษอย่างไรบ้าง ดูกรพ่อ สัตว์สองตัวคือหนูกับพังพอนอยู่ร่วมปล่องเดียวกัน ๆ นั้นย่อมกัดซึ่งกันและกัน
พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลถามพระราชบิดาต่อไปว่า พระมหาราช ผู้ชายคนหนึ่งมีบุญน้อย มีทรัพย์สมบัติและผู้คนใช้สอยน้อยแต่มีเมียสองคน คุณและโทษจะมีอย่างไรบ้าง ดูกรพ่อ ผู้ชายคนหนึ่งมีบุญน้อย มีทรัพย์สมบัติและผู้คนใช้สอยก็น้อย แต่มีเมียสองคน ๆ นั้นจะทะเลาะวิวาทผูกอาฆาตตีกัน ผัวนั้นรักเมียไหนมาก เมียหนึ่งก็จะถากด้วยวาจาบริภาษมาให้เจ็บใจ ถ้าว่าไม่กล้าด่าได้ต่อหน้า ก็จะนินทาด่าว่าเล่นลับหลัง พระมหาราช ในพระนครหนึ่งมีพระราชาสององค์จะมีคุณและโทษอย่างไรบ้าง ดูกรพ่อ ในพระนครหนึ่งมีพระราชาสององค์ทรงอิสรภาพมาก ย่อมกระด้างด้วยขัตติยชาติและขัตติยมานะ พวกอำมาตย์ของพระราชาทั้งสองฝ่ายต่างก็ถือว่าเป็นเจ้านายของตน ฝ่ายหนึ่ง ๆ พระราชาทั้งสองก็จะหาปรองดองกันไม่ พลโยธาทั้งหลายต่างก็จะรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ถึงมหาวินาศมีประการต่างๆ พระมหาราช กษัตริย์สองฝ่ายทำยุทธนาการจนมหาชนวินาศไป ชนทั้งปวงตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน ดูกรพ่อ ชนทั้งปวงตายแล้วย่อมไปเกิดในนรก
พระโพธิสัตว์สดับราชดำรัสดังนั้น ทรงเศร้าพระทัย จึงกราบทูลพระราชบิดาว่า พระมหาราช ข้าพระบาทใคร่จะบวชไปรักษาศีลยังป่าหิมพานต์ ขอพระองค์จงประทานพระอนุญาตให้ข้าพระบาทบวชตามประสงค์เถิด พระเจ้าโสไรยราชไม่พอพระทัยที่จะให้พระโพธิสัตว์บวช จึงตรัสห้ามด้วยประการต่าง ๆ พระโพธิสัตว์กราบทูลวิงวอนอยู่ร่ำไปขัดไม่ได้จึงตรัสว่า พ่อไม่ฟังบิดาห้ามแล้วจะบวชให้ได้ก็ตามใจ แต่ว่าเมื่อบิดาทิวงคตแล้ว พ่อจงสึกมาครองราชสมบัติ ณ เมืองนี้ให้ได้ พระโพธิสัตว์ดีพระทัยเหลือเกิน รับพระราชดำรัสว่า สาธุ แล้วถวายบังคมลากลับมายังนิเวศน์ของพระองค์ มิได้ทรงบอกให้ใครรู้ลงจากปราสาทแล้วออกจากนคร ดำเนินไปล่วงมรรคาไกลได้เจ็ดโยชน์ บรรถุถึงเมือง ๆ หนึ่ง ชื่อว่าสังคามนคร จึงหยุดพักอยู่ ณ ศาลาหลังหนึ่ง ทรงรำพึงเห็นว่าธรรมเนียมบรรพชิต เมื่ออยู่ใกล้ทางมนุษย์ย่อมไม่อาจทำสมณธรรมให้สะดวกได้ เราจักไปยังหิมพานต์ดีกว่า ดำริแล้วเดินจากเมืองสังคามนครมุ่งไปทางหิมพานต์ ครั้นดำเนินนานเข้าก็เมื่อยล้า ทอดพระเนตรเห็นต้นไทรต้นหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ข้างทางเดิน จึงดำริว่า เราเดินทางมาไกลมากลำบากมากกายเหนื่อยนัก เราจักหยุดพักอยู่ที่นี่สักราตรีหนึ่งแล้วจึ่งเดินต่อไป คิดแล้วก็หยุดพักอยู่ที่ต้นไทรนั้น
ในที่ใกล้ต้นไทรนั้นมีสระใหญ่อยู่สระหนึ่งมีปลาและเต่าอยู่มากมาย ขณะนั้นพวกฆ่าปลาปรึกษากันว่า เราชวนกันเอาข่ายไปตักปลาในสระด้วยกัน ปรึกษาตกลงกันแล้ว ถือเอาข่ายไปถึงสระแล้วนั่งประชุมอยู่ที่ขอบสระนั้นก่อนจึงปรึกษากันอีกว่า ในสระนี้มีปลาและเต่าเป็นอันมาก เมื่อพวกเราเดินไปตามทางจะลำบากมากนักพากันหยุดพักเสียคืนหนึ่งก่อน ต่อรุ่งเช้าพวกเราจึงจะเอาข่ายลงไปดักจับปลา ปรึกษากันตกลงแล้วก็พากันพักอยู่ที่ตามสมควร
ครั้งนั้น ปลาและเต่าเป็นต้นรู้ว่าอันตรายจะเกิดมีแก่ตนจึงประชุมหารือกันว่าใครจักให้ชีวิตแก่พวกเราได้ แล้วพากันไปหาเต่าตัวหนึ่งพูดว่า พ่อเต่าใหญ่ บัดนี้พวกฆ่าปลาพากันเอาข่ายมาจักทำอันตรายชีวิตพวกเรา เหตุดังนั้น ท่านจงช่วยไปเฝ้ากราบทูลพระยานาคว่า พระองค์จะทรงกรุณาประทานชีวิตแก่ญาติของข้าพระพุทธเจ้า บัดนี้พวกฆ่าปลาพากันมาเพื่อจะฆ่าปลาและเต่า พระองค์ห้ามชีวิตอันตรายไว้ได้ ปลาและเต่าเป็นต้น จะยอมเป็นทาสและจักยกสระนั้นถวายพระองค์ ครั้นพระยานาครับว่าจะช่วยแล้วเต่าใหญ่นั้นก็ดีใจ กลับมาบอกแก่พวกปลาและเต่า พระยานาคก็มาคอยรักษาสระนั้นไว้ตั้งแต่เวลาราตรี
ครั้นรุ่งเช้าพวกฆ่าปลา พากันเอาข่ายมากองไว้ที่ขอบสระปรารถนาจะดักจับปลา พระยานาคเห็นแล้วก็นฤมิตศีรษะให้เป็นเจ็ดศีรษะ เพิกพังพานทั้งเจ็ดเศียร แสดงให้เห็นกายใหญ่ยาวลอยอยู่ในสระนั้น พวกฆ่าปลาเห็นพระยานาคทำอิทธิฤทธิ์ดังนั้นคิดหารือกันว่า ในสระนี้จักมีผีเสื้อน้ำรักษาแน่ ก็พากันตกใจกลัวตัวสั่นแล้วหลบไป ถึงกระนั้นพวกฆ่าปลายังคอยรอดูอยู่ อีกวันหนึ่งจึงปรึกษากันอีกว่า ผีเสื้อน้ำจะทำอันตรายจริงเทียวหรือถ้าหากว่าไม่ทำอันตรายจริงไซร้ วันพรุ่งนี้เช้าพวกเราจักเอาข่ายลงดักจับปลาแล้วก็พากันอยู่ที่นั้น
พระยานาคนั้นเมื่อจะประกาศอิทธิฤทธิของตน จึงทำน้ำให้เป็นลูกคลื่นน้ำนั้นสะท้านทั่วและขุ่นมัวไปสิ้น เหตุดังนั้นปลาและเต่าเป็นอันมากก็พากันติเตียนพระยานาคว่า พระยานาคหาทำที่พึ่งให้พวกเราไม่ กลับมาทำลูกและฝูงญาติให้ถึงทุกขเวทนา ก็พวกเราต้องการจะให้มีชีวิตเป็นอยู่ มิรู้ว่าจะมาพากันทำกาลเสียแล้ว พระยานาคได้ฟังพวกเต่าและปลาครหาดังนั้นก็น้อยใจ โกรธจนยกใหญ่ก็กลับไปหามาอีกไม่ พวกฆ่าปลาพากันเอาข่ายมากองไว้ที่ขอบสระแต่เช้ามืด พวกเต่าปลาหาที่พึ่งมิได้พากันร้องขอชีวิตไว้ พวกฆ่าปลาก็หาฟังไม่ พากันโดดลงไปในสระพร้อมกัน
พระโพธิสัตว์นั้นดำเนินไปถึงโคนไทร ทรงประดับสรรพาภรณ์และราชกกุธภัณฑ์ ทรงพระแสงขรรค์เสร็จ เสด็จไปยืนอยู่ขอบสระส่งพระสุรเสียงอันดัง พวกฆ่าปลาฟังเสียงดังอย่างนั้น พากันแลไปเห็นพระโพธิสัตว์ก็ตกใจกลัว สำคัญว่าผีเสื้อน้ำจะมาจับเอาไปกิน ต่างก็พากันหนีไปหมดสิ้น แต่วันนั้นมาพวกฆ่าปลาก็ไม่มาสระนั้นอีกเลย พระโพธิสัตว์ดำเนินแต่โคนไทรไปถึงศาลาหลังหนึ่ง จึงแวะไปอาศัยอยู่ในศาลานั้น เพื่อจะระงับความร้อนกายที่ลำบากมา
คราวนั้นมีบุรุษคนหนึ่ง ถือธนูเดินไปตามระวางทางพบนกยางตัวหนึ่ง จึงยิงนกยางนั้นตายด้วยธนู จึงผูกขานกยางห้อยไว้กับคันธนูแล้วเดินมา มีบุรุษอีกคนหนึ่งเดินมาพบบุรุษคอนนกยางนั้นเข้า อยากจะได้นกยางไปกินจึงท้วงขึ้นว่า แน่ะท่าน ไฉนท่านมาฆ่าพ่อของเราเสียเล่า แน่ะท่าน นี่นกยางแท้ๆ หรือว่านกยางนี้เป็นพ่อของท่าน เออ นกยางตัวนี้แหละเป็นพ่อของเรา นกยางพ่อของท่านกินปลาแม่ของเรา เพราะเหตุนั้นเราจึงฆ่านกยางพ่อของท่านเสีย บุรุษสองคนเดินทุ่มเถียงทะเลาะกันมาจนถึงประตูศาลา เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่นั่น พากันเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วบอกความตามที่วิวาทกันแต่ต้นจนปลาย บรรยายให้พระโพธิสัตว์ฟัง
พระโพธิสัตว์สดับความนั้นแล้วดำริว่า คนสองคนนี้ชมตัวว่ามีปัญญาฉลาด ทำความวิวาทให้ทวีขึ้นด้วยถ้อยคำมารยา บุรุษโจทก์ผู้นี้มีความโลภคิดเห็นว่า เรามีปัญญาว่องไวฉลาดในอุบาย จึงโจทก์ใส่โทษแก่บุรุษจำเลยนั้น แต่หาเห็นโทษของตนเองไม่ เพราะว่าโจทก์กอบด้วยโทษสอง คือ มุสาวาทและเปสุญวาท ฝ่ายจำเลยก็ทำความวิวาทด้วยสันนิษฐานว่า เรามีปัญญาฉลาดอธิบายแก้ไข แต่ก็หาเห็นโทษทั้งสองคือปาณาติปาตและมุสาวาทของตนไม่เพราะเหตุนี้แหละ เราจักข่มใจเจ้าสองคนนี้เสียให้ได้ คิดแล้วจึงถามโจทก์จำเลยว่า ท่านทั้งสองยังจะตั้งอยู่ในคำตัดสินของเราและหรือ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งสองจักตั้งอยู่ในความวินิจฉัยของท่านจริงหละ ก็แต่ขออย่าให้ท่านตัดสินโดยเห็นแก่หน้าบุคคลเลย
พระโพธิสัตว์สดับความยินยอมของโจทก์จำเลยแล้วจึงตรัส ถ้ากระนั้นเราพากันไปตัดสินคดีนี้ที่ฝั่งน้ำ แล้วพระองค์ก็พาตัวโจทก์จำเลยไปที่ฝั่งนทีถามโจทก์ก่อนว่า นกยางตัวนี้เป็นพ่อของโจทก์จริงหรือ โจทก์ให้การรับว่าเป็นพ่อของโจทก์จริง พระโพธิสัตว์จึงถามฝ่ายจำเลยว่านกยางตัวนี้กินปลาแม่ของจำเลย ๆ เป็นลูกปลาจริงหรือ จำเลยให้การว่าเป็นลูกปลาและนกยางนี้กินปลาแม่จำเลยจริง พระโพธิสัตว์เมื่อจะตัดสินความเรื่องนั้นจึงตรัสว่า ประเพณีแบบอย่างของสรรพสัตว์ในโลกนี้ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา บุตรและธิดาย่อมถือเอากิริยาอาการของบิดามารดาเป็นประมาณ ถ้าเช่นนั้นโจทก์อ้างว่าเป็นลูกนกยาง ก็จงโดดขึ้นบนอากาศบินไป ฝ่ายจำเลยอ้างว่าเป็นลูกปลาก็จงดำน้ำว่ายไป ถ้าว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกนกยางก็ไม่อาจบินได้ ถ้าจำเลยไม่ใช่ลูกปลาก็ไม่อาจดำน้ำหายไป ถ้าว่าโจทก์บินได้จำเลยก็มีความผิด ถ้าว่าจำเลยดำน้ำว่ายได้โจทก์ก็มีความผิด ด้วยประการฉะนี้ บุรุษสองคนก็จนใจไม่สามารถทำตามคำตัดสินได้พากันกราบไหว้พระโพธิสัตว์แล้วพูดว่า ข้าพเจ้าสองคนเป็นพาลเขลาหาปัญญามิได้ มาวิวาทกันขึ้นก็เพราะความโลภโกรธหลง เพราะเหตุนั้น ขอท่านกรุณาอดโทษานุโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พระโพธิสัตว์จึงให้โอวาทว่าอย่าทำความวิวาทกันต่อไป อนึ่งชนเหล่าใดพูดเท็จไม่จริง ชนเหล่านั้นจะไม่เป็นที่รักและสรรเสริญของมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย ชนเหล่าใดพูดส่อเสียดเขา ชนเหล่านั้นย่อมจะถึงความพลัดพรากและทุกข์โศกโทมนัส ชนเหล่านั้นครั้นตายแล้วก็จะไปสู่อบาย ชนเหล่าใดทำบาปฆ่าสัตว์มีชีวิต ชนเหล่านั้นจะมีอายุสั้นและมีโรคมาก ตายไปแล้วย่อมจะเกิดในนรก เพราะเหตุนั้นท่านทั้งหลาย จงเว้นการฆ่าสัตว์และลักทรัพย์ เว้นการทำปรทารกรรมและมุสาวาทและเสพย์สุราเมรัย พระโพธิสัตว์ให้คนทั้งสองนั้นสมาทานศีลห้ามั่นด้วยประการฉะนี้
พระโพธิสัตว์ตัดสินความคนทั้งสองเสร็จแล้ว ระลึกถึงความทุจริตของคนสองคนขึ้นมาเกิดความสลดจิตจึงคิดว่า โอ คนพาลย่อมตรึกแต่อารมณ์ที่ไม่ดี และย่อมพูดแต่วาจาที่ไม่ดี พาลชนยังทำการงานอยู่ย่อมจะทำทุจริตได้ ดำริแล้วเมื่อจะเปล่งอุทานวาจา จึงตรัสปฐมคาถาดังนี้ว่า
ทิชา ทสฺเสนฺติ มม ปฺหํ | อนตฺถกํ ปพฺพชามตฺตํ |
กโรติ กมฺมํ วิวิธํ | ทุจินฺติตํ ทุภาสิตํ |
ความว่า ชายสองคนมาแสดงความขัดข้องให้แก่เรา กรรมต่างๆ มักคิดไม่ดีและพูดไม่ดี ย่อมทำมาตรว่าบรรพชาไม่ให้มีประโยชน์ได้เลย
เมื่อพระโพธิสัตว์จะให้โอวาทยิ่งขึ้นไปจึงตรัสคาถานี้ว่า
อเสวนา จ พาลานํ | ปณฺฑิตานฺจ เสวนา |
ปูชา จ ปูชนียานํ | เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
ความว่า ความไม่คบคนพาลด้วย ความคบบัณฑิตด้วย ความบูชาคนควรบูชาด้วย คุณสามข้อนี้เป็นมงคลสูงสุด จริงอยู่ความคบคนพาลย่อมให้ถึงความพินาศในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า ข้อนี้มีตัวอย่างเป็นที่อ้างดังต่อไปว่า
มีบัณฑิตบุรุษผู้หนึ่ง ตั้งคนพาลสี่คนไว้สำหรับประกอบการงานของตน คนพาลคนหนึ่งสำหรับเลี้ยงเด็ก คนพาลคนหนึ่งสำหรับเฝ้าประตูบ้าน คนพาลคนหนึ่งสำหรับติดหน้าตามหลังตน คนพาลผู้หนึ่งสำหรับทำครัว วันหนึ่งจึงบัณฑิตบุรุษนั้น ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำกับจุลุปัฏฐาก ผลัดผ้านุ่งกองไว้บนตลิ่งแล้วลงไปอาบน้ำในนที ลมพัดเอาผ้านุ่งที่กองไว้พลัดจมน้ำลงไป บัณฑิตบุรุษนั้นครั้นเห็นแล้วก็รีบดำน้ำค้นหาผ้านุ่ง จุลุปัฏฐากคนพาลเห็นบัณฑิตนั้นดำน้ำนานนักหนาสำคัญว่านายจมน้ำตายแล้ว จึงวิ่งไปบอกภรรยาของบัณฑิตบุรุษว่า แน่ะแม่ นายจ้างของฉันซึ่งเป็นผัวของท่านจมน้ำตายแล้ว
ภรรยาบัณฑิตบุรุนั้นทราบความแล้ว มีความเสียใจร้องไห้ไปบอกคนเฝ้าประตูก่อนว่า นายจ้างของท่านจมน้ำตายจงรีบมาไปช่วยกัน พาลโทวาริกนั้นปราศจากปัญญาหาปิดประตูบ้านไม่ จึงรีบไปกับบัณฑิตภรรยาๆ จึงเลยไปบอกคนเลี้ยงทารกอีก คนเลี้ยงเด็กนั้นตอบว่าใครจะดูทารกเล่า เจ้าจงปล่อยทารกนั้นไว้ในสำนักทารกที่หนุ่มกว่า คนเลี้ยงทารกนั้นจึงคิดว่า ถ้าเราปล่อยทารกนั้นไว้ในสำนักดรุณทารกๆ ก็จักพาเที่ยวไปในที่อื่นเสีย คิดแล้วก็เอาทารกนั้นใส่เข้าไว้ในบ่อน้ำแล้วก็ไปกับบัณฑิตภรรยา ๆ ก็เลยไปบอกพ่อครัวอีก พ่อครัวนั้นกำลังเอาฟืนแห้ง ๆ ก่อไฟเพื่อจะให้ไฟลุกติดเร็ว ได้ฟังคำบัณฑิตภรรยาบอกก็ตกใจรีบไปกับบัณฑิตภรรยา ๆ มีความโศกเข้าครอบงำหาทันทีว่าจะตรวจตราบ้านเรือนไม่พาคนห้าคนรีบไปถึงท่าน้ำ บัณฑิตบุรุษเห็นคนหกคนทั้งภรรยามาจึงถามว่า ท่านทั้งหลายพากันมาด้วยเหตุไร บัณฑิตภรรยาตอบว่า จุลุปัฏฐากคนนี้ไปบอกว่าท่านจมน้ำตาย ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงพากันมาด้วยเหตุตัวท่าน
ครั้นคนหกคนทิ้งบ้านเรือนมาเสียหมด อยู่ข้างหลังไฟก็ลุกโพลงไหม้เรือนจนสิ้น ทารกที่คนเลี้ยงทิ้งลงไว้ในบ่อนั้นก็ถึงความตาย โจรทั้งหลายก็เข้าทางประตูเรือนซึ่งเปิดไว้ พากันขนทรัพย์สมบัติทั้งปวงไปหมด ชนทั้งหลายพากันกลับมาถึงบ้าน เกิดโทมนัสมีความโศกเข้าครอบงำแล้ว พากันถึงความพินาศใหญ่ ถึงซึ่งเป็นคนอนาถา
ตสฺมา เพราะเหตุนั้น บุคคลทั้งหลายย่อมถึงซึ่งความวินาศใหญ่ในปัจจุบันนี้ ก็เพราะเข้าไปคบคนพาลเป็นเหตุแรงกล้าจะว่าไปไย ถึงในอนาคตกาล ความคบคนพาลย่อมให้ถึงความพินาศใหญ่มิพักสงสัย เพราะเหตุกระนี้พระบรมสุคตมุนีจึงตรัสว่า ความไม่คบคนพาลเป็นอุดมมงคลกระนี้ อนึ่งความคบนักปราชญ์ย่อมนำมาซึ่งประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นด้วย ทั้งจะนำมาชี่งประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ชาตินี้และประโยชน์ชาติหน้า เหมือนดังเรื่องราวพระเจ้าพาราณสี มีข้อความพิสดารดังแจ้งต่อไปนี้ว่า
มีพระราชาองค์หนึ่งครองสมบัติอยู่ ณ เมืองพาราณสี นางกษัตริย์นามว่าเขมา ได้เป็นอัครมเหสีเป็นใหญ่กว่าสนมนารีหมื่นหกพัน พระนางเขมานั้นประพฤติอนาจารกับเสนาบดี พระเจ้าพาราณสีนั้นใคร่จะหนีไปอยู่เสียเมืองอื่น จึงรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตมาถามว่า เราใคร่จะเที่ยวไปเมืองอื่นจะควรชวนเอาบุรุษชนิดไรไปด้วยจึงจะเลี้ยงชีพอยู่เป็นสุข พราหมณ์บุโรหิตสดับราชดำรัสดังนั้น แล้วคิดตรึกตรองแต่ในใจจึงได้รู้ว่าพระราชาองค์นี้ทรงทราบว่า อัครมเหสีประพฤติอนาจาร พระองค์ประสงค์จะหนีไปเสีย จึงกราบทูลพระราชาว่า พระมหาราช ถ้าว่าพระองค์ต้องพระประสงค์จะเสด็จเที่ยวไปเมืองอื่น พระองค์พาเอาคนสี่คนคือ บุรุษมีกำลังมาก ๑ นายช่างทอง ๑ บุรุษผู้พิจารณาความ ๑ บุรุษผู้มีปัญญารู้ทางได้ทางเสีย ๑ เหล่านี้ไปได้แล้ว จักดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
พระเจ้าพาราณสีนั้น ทรงเลือกอำมาตย์สี่คนได้แล้ว เสด็จพาไปถึงบ้านไร่ ก็พอหมดเสบียงอาหารลง ในบ้านไร่นั้นมียายแก่คนหนึ่ง ไม่มีแรงที่จะผ่าฟืนได้ พลวบุรุษนั้นจึงช่วยผ่าฟืนให้ยายแก่เป็นกองใหญ่ ยายแก่นั้นดีใจจึงให้เสบียงอาหารเป็นอันมากแก่พลวบุรุษๆ ได้เสบียงอาหารมาเลี้ยงคนสี่คนกับพระราชาๆ กับชนสี่คนออกเดินแต่บ้านไร่ ไปถึงเมืองหนึ่ง จึงนายช่างทองรับจ้างเขาทำทองได้เงินค่าจ้างมากแล้วจ่ายซื้ออาหารเลี้ยงกันต่อไป เดินทางแต่เมืองนั้นไปถึงมหานครหนึ่ง จึงแวะเข้าอาศัยอยู่ ณ ศาลาใกล้ประตูบ้านเสนาบดี
ก็คราวนั้นแล ได้ยินว่าบุรุษคนหนึ่งถือห่อข้าวกับถุงทรัพย์พันหนึ่ง เดินทางมาถึงแม่น้ำลึกแห่งหนึ่ง จึ่งคิดว่าเราจักเดินข้ามน้ำไปให้ได้ จึงโดดลงน้ำ เดินข้ามไปถึงกลางนที เหนื่อยและหนักมาก ก็ไม่อาจจะข้ามไปได้ ร้องเรียกคนที่อยู่บนตลิ่งให้ช่วยด้วยวาจาว่า พ่อเจริญ ในมือข้าพเจ้ามีห่อข้าวห่อหนึ่งกับถุงทรัพย์พันกหาปณะถุงหนึ่ง ผู้ใดอาจช่วยข้าพเจ้าให้ข้ามถึงฝั่งน้ำได้ ผู้นั้นจงลงมาช่วยข้าพเจ้าเถิด ของสองอย่างนี้อย่างใด ชอบใจข้าพเจ้า ๆ จักให้อย่างนั้นแก่ท่านผู้ช่วย
ลำดับนั้น พลวบุรุษนุ่งผ้าแน่นดีแล้วโดดลงน้ำไปฉวยแขนบุรุษคนนั้นได้ พาข้ามไปส่งถึงฟากฝั่งแม่น้ำโดยสวัสดี พลวบุรุษจึงพูดว่าท่านจะให้ทรัพย์ที่ควรให้แก่เรา เดิมเราพูดว่าของสิ่งใดชอบใจเราๆ จักให้ของสิ่งนั้น ห่อข้าวนี้เราชอบใจหละ เพราะเหตุนั้นท่านจงรับเอาห่อข้าวนี้ไป เออ เรามิได้อาลัยต่อชีวิตเรา ๆ จึงช่วยท่านให้ข้ามถึงฝั่งได้ เราไม่ต้องการห่อข้าว ท่านจงให้ถุงกหาปณะแก่เราทั้งหมด เดิมเราไม่ได้พูดว่าจะให้กหาปณะแก่ท่าน เราได้พูดว่าของสิ่งใดชอบใจเรา เราจะให้ของสิ่งนั้นดังนี้ต่างหาก เพราะฉะนั้นท่านจงถือห่อข้าวนี้ไป
ฝ่ายพลวบุรุษนั้นก็ไม่ยอม จึงพาตัวบุรุษเจ้าของทรัพย์ไปหาอำมาตย์ผู้ตัดสินความ ๆ นั้นฟังความตลอดแล้ว จึงบังคับให้พลวบุรุษนั้นให้รับเอาห่อข้าวไป พลวบุรุษนั้นก็ไม่ยอมแล้วไปร้องแก่เสนาบดีๆ ก็ไม่อาจตัดสินความเรื่องนั้นได้ งดการพิจารณาความไว้สองสามวัน จึงคิดขึ้นได้ว่าบุรุษห้าคนอาศัยพักอยู่ที่ศาลาข้างบ้านเรา เขาจักรู้จักตัดสินความเรื่องนี้ได้บ้างกระมัง เหตุนั้นเราจักไปถามดูให้รู้แน่ คิดแล้วก็ไปหาบุรุษห้าคนทำปฏิสันถารแล้วจึงถามว่า ท่านทั้งหลายอาจจะตัดสินความได้บ้างหรือไม่ บุรุษผู้วินิจฉัยความเป็นจึงตอบว่า ตัวข้าพเจ้าตัดสินความได้ เสนาบดีให้เรียกบุรุษสองคนมาแล้ว มอบให้วินิจฉัยบุรุษตัดสินความต่อไป
วินิจฉัยบุรุษนั้นถามข้อความมาตั้งแต่ต้น บุรุษผู้ข้ามน้ำนั้นให้การว่า เมื่อข้าพเจ้าเดินข้ามน้ำไปถึงกลางนทีได้พูดว่า ของสิ่งใดเราชอบใจเรา ๆ จักให้ของสิ่งนั้น หาได้พูดว่าจะให้กหาปณะไม่ เพราะเหตุนั้นห่อข้าวห่อนี้ชอบใจข้าพเจ้าๆ จักให้ห่อข้าวนั้น วินิจฉัยบุรุษนั้นจึงถามพลวบุรุษผู้ช่วยว่า ท่านได้ยินอย่างนี้จริงหรือไม่ พลวบุรุษนั้นรับว่าได้ยินอย่างนี้จริง วินิจฉัยบุรุษจึงเอาห่อข้าวกับถุงทรัพย์มาวางเรียงลำดับกันไว้ตรงหน้าบุรุษสองคนแล้วบังคับว่าท่านเจ้าของต้องการสิ่งใดก็จงหยิบเอาสิ่งนั้นไป บุรุษผู้เจ้าของตอบว่าข้าพเจ้าต้องการถุงทรัพย์นี้ วินิจฉัยบุรุษตอบว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงหยิบเอาตามชอบใจเถิด บุรุษผู้เจ้าของก็หยิบถุงทรัพย์พันหนึ่งนั้นไป เมื่อบุรุษเจ้าของถือถุงทรัพย์ไปหน่อยหนึ่ง วินิจฉัยบุรุษจึงให้เรียกบุรุษหิ้วถุงทรัพย์กลับมาแล้วถามอีกว่า กหาปณะท่านชอบใจหละหรือ บุรุษเจ้าของรับว่าชอบใจหละ ผู้ตัดสินถามอีกว่า เดิมท่านพูดหรือไม่ว่า ของสิ่งใดชอบใจเรา ๆ จักให้ของสิ่งนั้น บุรุษเจ้าของตอบว่า ข้าพเจ้าพูดจริง ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้ถุงกหาปณะแก่บุรุษผู้เขาช่วยไป บุรุษผู้เจ้าของทรัพย์ก็แพ้ความเดินร้องไห้กลับไป
ขณะนั้น พระราชาและเสนาบดีพวกอำมาตย์ ก็พากันชื่นชมให้สาธุการแก่วินิจฉัยบุรุษ ฝ่ายบุรุษผู้ชนะความดีใจเหลือเกินได้แบ่งกหาปณะออกเป็นสองส่วน ให้แก่ผู้ตัดสินความภาคหนึ่ง รับเอาไปเป็นประโยชน์ตนภาคหนึ่ง วินิจฉัยอำมาตย์นั้นครั้นได้ทรัพย์มาแล้วก็ได้จ่ายซื้อเลี้ยงพวกกัน มีพระราชาเป็นต้น
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระราชา พระราชารับสั่งถามเสนาบดีว่า แน่ะเสนาบดี ช้างตัวนี้จะมีน้ำหนักสักเท่าไรทำไฉนเราจักรู้ได้ ท่านจงชั่งน้ำหนักช้างตัวนี้ดูให้รู้ว่าหนักเท่าไร เมื่อเสร็จการเฝ้าแล้วเสนาบดีกลับมาถึงเรือนนั่งตรึกตรองว่าจะรู้น้าหนักช้างได้ด้วยอย่างไร นึกถึงคนห้าคนที่อาศัยอยู่ศาลาขึ้นมาได้ว่าเราจักลองถามพวกนั้นดู จึ่งไปสู่สำนักคนทั้งห้าทำปฏิสันถารแล้วถามว่า ท่านทั้งหลายมาแต่ไหน ข้าพเจ้าทั้งหลายมาแต่เมืองพาราณสี ต่อแต่นี้ไปท่านทั้งหลายจักไปไหนอีกหรือไม่ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพากันไปเมืองอื่นต่อไป ท่านทั้งหลายจักรู้จักอุบายแยบคายอย่างไรบ้าง บัดนี้พระราชาของเรารับสั่งกับเราว่า ให้เราชั่งมงคลหัตถีให้รู้ว่ามีน้ำหนักเท่าไร เราไม่รู้จักอุบายที่ว่าจะชั่งได้อย่างไรเลย
บัณฑิตามาตย์จึงแจ้งว่า ตัวข้าพเจ้านี้รู้จักอุบายชั่งมงคลหัตถี ท่านรู้จักชั่งด้วยพิธีอย่างไร ท่านจงใช้บุรุษทั้งหลายให้เอาไม้ไผ่มาต่อเป็นแพเข้า จึงเอามงคสหัตถีให้ขึ้นอยู่บนแพไม้ไผ่ แพไม้ไผ่นั้นจมน้ำลงไปเพียงไรแล้วให้วัดไว้ แล้วให้ช้างนั้น
ขึ้นเสียจากแพ และให้มหาชนขนเอาก้อนศิลามาบรรทุกแพลงไป ให้พอดีเท่ากับน้ำหนักช้างที่วัดได้ จึงเอาก้อนศิลามาขึ้นตราชั่งชั่งไปจนหมดก้อนศิลา เท่านี้และก็อาจรู้ว่าช้างหนักเท่านั้น ๆ ได้ดังนี้ เสนาบดีก็ทำตามคำบัณฑิตามาตย์ ก็รู้น้ำหนักช้างได้ชัดเจน
เสนาบดีจึงไปเฝ้าพระราชา ๆ ครั้นรุ่งเช้า ตรัสถามเสนาบดีว่า ท่านชั่งช้างรู้ประมาณน้ำหนักแล้วหรือ ข้าแต่เทวดา ทราบน้ำหนักแล้วพระเจ้าข้า ท่านชั่งช้างอย่างไรได้ เสนาบดีจึงกราบทูลตามคำที่บัณฑิตามาตย์บอกให้นั้น พระราชาชมเชยเสนาบดีว่ามีปัญญาจริง ทรงเลื่อมใสประทานรางวัลให้มากมาย คือทรัพย์ที่มีวิญญาณมีช้างม้าโคกระบือเป็นต้น ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณมีเงินและทองเป็นต้น
เสนาบดีมีธิดาผู้หนึ่งอายุได้สิบหกปี เพราะเหตุนั้นท่านเสนาบดีกลับมาถึงเรือนแล้วจึงคิดว่า บัณฑิตบุรุษผู้นี้มีปัญญายิ่ง บุรุษได้มีอุปการแก่เรามากนัก เราจักให้โภคสมบัติและธิดาแก่บัณฑิตบุรุษนั้น แม้ต่อไปภายหน้า สรรพอันตรายจะมีแก่เรา เขาจักช่วยปลิดเปลื้องเราให้พ้นอันตรายได้ คิดแล้วให้นำเอาช้างมาห้าเชือก ขนเอาทรัพย์สมบัติขึ้นวางไว้บนหลังช้าง เชิญนางธิดาให้ขึ้นประจำคอช้างแล้วมอบให้แก่บัณฑิตบุรุษๆ นั้นคิดว่า พระราชาของเราพระองค์อนาถานัก แม้หญิงสักคนหนึ่งก็ไม่มีทำเวยยาวัจกรรม เราจักถวายธิดาเสนาบดีแด่พระราชา คิดแล้วก็ยกธิดาเสนาบดีถวายพระราชาเสีย
ครั้นอยู่ต่อมา พระราชาในพระนครนั้นถึงทิวงคตล่วงไปพระราชโอรสของพระราชาหามีไม่ มีแต่ราชธิดาองค์หนึ่ง ชาวเมืองมีเสนาบดีเป็นต้น ช่วยกันทำการปลงศพเสร็จแล้วจึงปรึกษากันว่า พระนครใดไม่มีพระราชาครอบครอง พระนครนั้นหามีความผาสุกสำราญไม่ พระราชโอรสของพระราชาพวกเราหามีไม่ มีราชธิดาอยู่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสตรีมีใจอ่อนแอไม่ควรจะให้ครองราชสมบัติ พวกเราจะได้พระราชาที่ไหนเล่า เสนามาตย์บางพวกพูดกันต่างๆ ว่าจะให้อภิเษกเสนาบดีเป็นพระราชา บางพวกจะอภิเษกปุโรหิตและผู้รักษาคลังให้เป็นพระราชาหาตกลงกันไม่ ปุโรหิตจึงปรึกษาพร้อมกันว่า ควรปล่อยปุสสรถไป คนใดมีบุญปุสสรถก็จะไปถึงคนนั้น เราจักพร้อมกันอภิเษกผู้นั้นให้เป็นพระราชา ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วก็ปล่อยปุสสรถไป
ปุสสรถทำปทักษิณมณเฑียรแล้ว แล่นไปหยุดที่บาทมูลบัณฑิตามาตย์ ณ ศาลานั้น บัณฑิตามาตย์คิดว่าพระราชาของเรายังมีอยู่ เราจะยังไม่ขึ้นครองราชสมบัติ เราจักเชิญพระราชาให้เสด็จขึ้นปุสสรถไป คิดแล้วก็เชิญพระราชาให้เสด็จขึ้นปุสสรถไปยังราชนิเวศน์ มหาชนทั้งปวงพร้อมกันอภิเษกพระราชา กับราชธิดาและเสนาปติธิดาให้เป็นอัครมเหสี พระราชาทรงตั้งบัณฑิตามาตย์ให้เป็นเสนาบดี ให้นายช่างทองเป็นตำแหน่งที่ผู้รักษาพระคลัง ตั้งพลวามาตย์เป็นแม่ทัพบังคับกองพลโยธา
ตสฺมา เพราะเหตุการณ์ดังนั้น ความคบผู้เป็นบัณฑิตย่อมให้ได้ประโยชน์กิจสองอย่าง คือประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น อนึ่งความคบคนผู้มีปัญญา ย่อมจะนำมงคลสองสถานคือมงคลชาตินี้และมงคลชาติหน้ามาให้ ผู้ใดคบบัณฑิตอยู่ คุณคือคบบัณฑิตย่อมนำซึ่งความสุขมาให้แก่ผู้นั้น เหมือนกันกับโชติมาณพและพหลราชา เรื่องราวพหลราชนี้พระโบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ว่า
ได้ยินว่าในกาลปางก่อน มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อวิธูรมีปัญญาแหลมหลัก วิธูรพราหมณ์มีบุตรคนหนึ่งชื่อโชติมาณพแต่ยังหนุ่มนัก ชาติภูมิของวิธูรพราหมณ์อยู่เมืองโกไสย วิธูรพราหมณ์เป็นพ่อค้าเรือสำเภา เป็นใหญ่กว่าพวกพาณิชห้าร้อย ได้พร้อมกับพาณิชห้าร้อยไปค้าขายยังนานาประเทศ คราวหนึ่งเรือสำเภาห้าลำแล่นหลงไปถึงปากน้ำพหลนครจอดอยู่ที่ท่าพร้อมกันทั้งห้าลำ วิธูรบัณฑิตมีโรคเกิดขึ้นในระวางนั้น
ชาวเมืองพหลนครเห็นเรือพ่อค้ามาจอดอยู่ดังนั้น ปรึกษากันว่า เรือมาจอดอยู่มาก พวกชาวเรือจะมาทำให้พวกเราลำบากมาก เมืองเราก็จะถึงความคับแค้นมีข้าวแพงเป็นต้น ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วจึงเข้าเฝ้ากราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่เทวดา พวกนาวาทั้งปวงน่าจะเป็นปัจจามิตรต่อพระองค์ ๆ จงบังคับคนในเรือขึ้นเสียให้หมดทิ้งไว้แต่เรือเปล่าเถิดพระเจ้าข้า พระราชาจึงรับสั่งให้คนขึ้นเสียจากเรือ และให้ปล่อยเรืออยู่เปล่า ๆ ตามคำชาวเมืองกราบทูลฉะนั้น
ครั้นอยู่ต่อแต่นั้นมา วิธูรบัณฑิตนั้นหายอาพาธแล้วรำพึงไปว่า เราจักคิดอุบายรวบรวมทรัพย์ของเราเอามาซื้อขายให้จนได้ คิดแล้วจึงสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ท่านจงพาภรรยาของเราพร้อมทั้งเครื่องแต่งตัวราคาประมาณพันกหาปณะ ไปปล่อยไว้ในเขตที่พราหมณ์คนหนึ่ง แล้วจึงเปลื้องเครื่องแต่งตัวซ่อนไว้ในที่มีหญ้าขึ้นรก ๆ บุรุษคนใช้นั้นก็ได้จัดการเสร็จตามคำวิธูรบัณฑิตสั่งทุกอย่าง
วิธูรบัณฑิตคิดอุบายเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่เทวดา ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นพ่อค้ามาค้าขายยังเมืองของพระองค์ ประสงค์จะให้บ้านเมืองสมบูรณ์ด้วยทรัพย์อันเกิดแต่ผลสินค้า บัดนี้ภรรยาข้าพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำที่ท่านทีก็หายไป ข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวค้นหานักแล้วก็ยังไม่พบ คิดด้วยเกล้าว่าจะมีผู้ชายลักพาภรรยาข้าพระพุทธเจ้าไป พระองค์จงทรงพระปรานีได้โปรดให้ช่วยค้นหาเพื่อจะได้ภรรยาข้าพระพุทธเจ้า
พระราชาพหลทรงสดับดังนั้นจึงรับสั่งว่า พ่อพราหมณ์เราไม่รู้เลยว่าพ่อมาค้าขายโดยตรง ชาวเมืองเขาบอกกับเราว่า พวกเจ้าเป็นปัจจามิตร เราคิดว่าพากเจ้าจะมาชิงเอาเมืองของเราจริง เราจึงให้เขาขนของที่จะต้องซื้อขายและสรรพทรัพย์ขึ้นจากเรือ เอาไปฝากไว้ในพระคลังหลวง ถ้าหากว่าเจ้าทั้งปวงเป็นพาณิชจริงไซร้ เราจักคืนของที่ซื้อขายและทรัพย์ทั้งปวงให้แก่พวกท่านไป
ทรงตรัสอย่างนี้แล้วจึงรับสั่งแก่อำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงขวนขวายหาภรรยาของนายสำเภาให้จงได้ พวกอำมาตย์แยกย้ายกันไปตามหา ได้พบนาวิกภรรยาที่เขตที่มีหญ้ารกๆ จึงพากันนำตัวมาถวายพระราชา ๆ ตรัสถามวิธูรบัณฑิตว่า ภรรยาของเจ้าเอาอะไรติดตัวไปบ้าง พระมหาราช ภรรยาข้าพระพุทธเจ้าแต่งเครื่องสุวรรณาลังการราคาประมาณพันกหาปณะไปด้วย พระราชาตรัสถามนาวิกภรรยาว่า ใครพาเจ้าไปรู้จักตัวหรือไม่ พระมหาราช หม่อมฉันไม่ทราบเกล้า พระราชาจึงตรัสถามอำมาตย์ว่า ท่านไปได้ตัวนาวิกภรรยาที่ตรงไหน พระมหาราช ข้าพระบาทไปพบตัวนาวิกภรรยาที่หญ้ารก ๆ เขตที่ของพราหมณ์คนหนึ่ง จึงรับสั่งให้หาตัวพราหมณ์นั้นมาตรัสถามว่า เจ้าพาตัวนาวิกภรรยาไปหรือ พระมหาราช หามิได้ ที่ตรงนั้นเป็นเขตที่ของข้าพระพุทธเจ้า เออถ้ากระนั้นเจ้าหาพ้นจากโทษผิดไม่ เมื่อพระราชาหาตัวผู้ลักพาหญิงผู้นั้นไปไม่ได้ ได้พราหมณ์ผู้เจ้าของที่มาไต่สวน เมื่อจะทรงตัดสินความเรื่องนั้นจึงตรัสว่า ถึงแม้ว่ามีบุรุษลักพานาวิกภรรยาไปซ่อนไว้ในเขตที่ของผู้ใด ผู้นั้นไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ลักพา คงได้ความว่าเจ้าของที่ไม่รู้เหตุการณ์ถ้วนถี่ ความข้อนี้ควรปรับเจ้าของที่ให้ใช้ทรัพย์ห้าร้อยกหาปณะเป็นสินไหม เพราะเจ้าของที่ไม่เอาใจใส่รักษาดูแลที่ของตนไว้ให้ดี เจ้าของที่ไม่เป็นโจรก็เหมือนเป็นโจรดุจเดียวกัน จงให้สินไหมนี้แก่นายสำเภารับไป อนึ่งอำมาตย์และราษฎรผู้ใส่โทษพวกพาณิชว่าเป็นปัจจามิตรและโจร ขนเอาทรัพย์สิ่งของเขาขึ้นเสียจากเรือ ความข้อนี้ควรปรับอำมาตย์และราษฎรพวกที่ยกโทษเขาเป็นสินไหมทวีคูณ จงให้ทรัพย์ทวีคูณแก่นายสำเภารับไป เพราะเหตุว่ายกโทษเขาโดยไม่มีความผิด ทรงวินิจฉัยเด็ดขาดแล้วจึงให้ขนทรัพย์และสิ่งของซื้อขายที่เก็บรักษาไว้ในพระคลังนั้น มอบให้นายสำเภาตรวจนับรับเอาไปถ้วนทุกสิ่ง
กิร ดังได้สดับมาว่า พระเจ้ากรุงพหลราษฎร์มีพระราชธิดาอยู่ห้าพระองค์ ทรงรูปวิลัยลักษณเลิศนารี เป็นที่พึงพอใจของท้าวพระยานานาประเทศ กิตติศัพท์ของพระราชธิดาทั้งห้านั้นเล่าลือทั่วไป มีพระราชาดำรงราชสมบัติอยู่ ณ พระนครอื่นพระองค์หนึ่ง ทรงสดับกิตติศัพท์ราชธิดาทั้งห้าว่างามนักประสงค์จักใคร่ได้มาเป็นมเหสี จึงให้ยกจตุรงคเสนีเป็นกระบวนทัพ เสด็จออกจากพระนครไปถึงประเทศแห่งหนึ่ง จึงให้หยุดกองทัพตั้งค่ายมั่นไว้ดีแล้ว จึงรับสั่งให้จับจะขาบตัวผู้มาตัวหนึ่ง จะขาบตัวเมียมาตัวหนึ่ง จึงให้เอาจะขาบทั้งสองใส่สมุคค์ทองปิดฝาตีตราประจำเสร็จแล้ว จึงทรงศุภอักษรกับสมุคค์ทองไปถวายพระเจ้ากรุงพหล สำเนาศุภอักษรสาส์นนั้นมีความดังนี้ว่า พระเจ้าพหลราช ถ้าหากว่าพระองค์ทรงพระปรีชาไซร้ เชิญพระองค์แก้สตปทิกปัญหาของเราให้ได้ บัดนี้เรายกจตุรงคเสนีมาล้อมเมืองไว้มากมายนัก ถ้าพระองค์แก้ปัญหาของเราได้ เราจักทำบูชาแด่พระองค์ถ้าพระองค์แก้ปัญหาของเราไม่ได้ เราจักยกกองทัพเข้าตีเมืองให้แหลกทำลาย ให้พระองค์ทรงวินิจฉัยให้รู้ชัดว่า จะขาบตัวนี้เป็นตัวผู้ จะขาบตัวนี้เป็นตัวเมีย จะขาบตัวนี้เป็นพี่จะขาบตัวนี้เป็นน้อง
ราชทูตรับราชสาส์นกับสมุคค์ทองคำแล้วเข้าไปในพระนครแจ้งความให้อำมาตย์กราบทูลพระราชาๆ ประทานโอกาสให้ราชทูตเฝ้าแล้วตรัสถามว่า แน่ะราชทูต ท่านมาแต่ไหน มหาราช ข้าพระบาทเป็นราชทูตมาแต่เมืองอื่น ท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร ราชทูตนั้นจึงถวายราชสาส์นแต่พระราชาๆ ทรงต่อยตราออกแล้วทรงอ่านศุภอักษร ทราบความตลอดแล้วก็หาทรงทราบสตปทิกปัญหาไม่ จึงรับสั่งให้อำมาตย์มาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสถามสตปทิกปัญหานั้น อำมาตย์ทั้งหลายพากันคิดตรึกตรองอยู่สองสามวันก็หารู้ความไม่ พระราชาจึงเรียกมหาชนมีพวกแก่ๆ เฒ่าๆ เป็นต้นมาประชุมให้คิดแก้ปัญหาอยู่ถึงเจ็ดวัน ก็ไม่มีใครผู้ใดอาจแก้ปัญหานั้นได้
พระเจ้ากรุงพหลทรงตรึกตรองไป ระลึกถึงวิธูรบัณฑิตนายสำเภาขึ้นมาได้ว่า วิธูรบัณฑิตมีปัญญามากนักเราจักถามวิธูรบัณฑิตดู ดำริแล้วจึงรับสั่งให้หาตัววิธูรบัณฑิตมาแล้วตรัสถามว่า พระราชาองค์หนึ่งส่งราชสาส์นมาถามสตปทิกปัญหาว่า จะขาบตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมีย และจะขาบตัวไหนเป็นพี่ตัวไหนเป็นน้อง เราไม่รู้จะแก้ปัญหาข้อนี้อย่างไร พ่อบัณฑิตอาจแก้ได้หรือไม่ ข้าแต่เทวดา ข้าพระพุทธเจ้าอาจแก้ได้ เรายังเชื่อไม่ได้ เพราะไม่มีพยานหลักฐาน ถ้ากระนั้นพระองค์จงให้ทำพลีกรรมและบูชาสักการทำให้เทวดาเป็นพยานก่อน ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะกราบทูลถวายต่อภายหลัง พระราชาก็รับสั่งให้ทำตามคำวิธูร
วิธูรบัณฑิตพราหมณ์ เมื่อจะขอให้เทวดามาเป็นสักขีทิพย์พยานจึงกล่าวว่า ข้าแต่เทพดาเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ขอเชิญเทพดาผู้รักษาเศวตฉัตรและรักษามหาปราสาท ขอจงเป็นทิพย์พยานแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้ากล่าวคำสัตย์จริงแล้ว ขอเทพดาทั้งหลายจงให้สาธุการพร้อมกัน ถ้าหากว่าข้าพเจ้ากล่าวคำไม่จริงแล้ว ขอเทพดาทั้งหลายจงทำโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด กล่าวดังนี้แล้วจึงต่อยตราประจำเปิดสมุคค์ทองแล้วปล่อยจะขาบสองตัวออกมา วิธูรบัณฑิตตรวจตราแล้วจึงกราบทูลว่า พระมหาราช จะขาบตัวนี้ศีรษะและหางใหญ่ กลางตัวลีบเป็นตัวผู้ จะขาบตัวนี้ศีรษะและหางลีบกลางตัวใหญ่เป็นตัวเมีย พระมหาราช จะขาบตัวที่เดินไปหน้าเป็นพี่ จะขาบตัวที่เดินไปทีหลังเป็นน้อง เอานิ้วมือชี้ให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นปรากฏทั่วกัน ขณะนั้นเทพดาทั้งหลายมีเทพดารักษาเศวตฉัตรเป็นต้น ก็โปรยนานารัตนบุปผาและให้สาธุการเป็นโกลาหล ราชทูตเห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับมายังกองหัพ กราบทูลข้อความทั้งปวงให้พระราชาของตนทรงทราบ พระราชานั้นจึงส่งทองคำห้าร้อยไปประทานแก่วิธูรบัณฑิตแล้ว ก็ให้ยกกองทัพเสด็จกลับไปยังพระนครของพระองค์
พระเจ้ากรุงพหลราษฎร์ประทานทองคำพันหนึ่งแก่วิธูรบัณฑิตแล้วตรัสถามว่า พ่อนายสำเภา เจ้ารู้จักความข้อเหล่านี้ได้ด้วยอย่างไร พระมหาราช ข้าพระบาทรู้ตามโบราณธรรม โบราณธรรมนั้นเป็นอย่างไร เรื่องราวนิทานเก่าแก่มีอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าจะเล่าถวายให้ทรงฟังดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต เอโก ราชา โกรพฺโย นาม โกรพฺยนคเร รชฺชํ กาเรสิ ในการที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลัง ยังมีพระราชาองค์หนึ่งพระนามว่าโกรพย ดำรงราชสมบัติอยู่ ณ โกรพยนคร ทรงเห็นโทษกามคุณทั้งหลายใคร่จะทรงผนวช ทรงรับสั่งหาตัวราชโอรสสองพระองค์มาแล้ว ใคร่จะมอบราชสมบัติไห้เชฏฐโอรส ทรงสั่งสอนโอรสทั้งสองว่า พ่อทั้งสองจะไปบ้านเมืองใด ผู้พี่จะเดินไปข้างหน้า ผู้น้องจงเดินไปตามเบื้องหลัง ผู้พี่เมื่อจะนั่งจงนั่งเบื้องหน้า ผู้น้องจงนั่งอยู่เบื้องหลัง ผู้พี่จงครองราชสมบัติก่อน โบราณปเวณีธรรมข้อนี้และพ่อพึงรักษาไว้ให้ดีอย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด พระราชาทรงสั่งสอนสองราชโอรสแล้ว ก็เสด็จออกแต่พระนครไปป่าหิมพานต์ทรงผนวชเป็นดาบส ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับปเวณีธรรมมาอย่างนี้ จึงทราบเกล้าในปัญหาข้อนี้ วิธูรบัณฑิตกราบทูลถวายอย่างนี้แล้วจึงนำอุทาหรณ์อื่นมาเล่าถวายอีก มีความดังแจ้งต่อไปนี้ว่า
อตีเต เอโก มาณโว ฯลฯ ปพฺพชฺชิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่ปางหลังยังมีมาณพคนจนผู้หนึ่ง เมื่อบิดามารดาถึงกาลล่วงไปหมดแล้วออกไปป่าหิมพานต์ สร้างอาศรมไว้ใกล้สระโบกขรณีหลังหนึ่งจึงบวชเป็นดาบสเจริญพรตพรหมวิหารอยู่ที่นั้น มีจะขาบท้องแก่ตัวหนึ่ง ต่ายไปตามริมขอบสระพลัดตกลงไปในน้ำ ปูตัวหนึ่งพบเข้าเอาก้ามหนีบจะขาบนั้นไว้ ต้องการจะกินเป็นอาหาร จะขาบนั้นเห็นพระดาบสยืนบ้วนปากอยู่ที่ขอบสระจึงร้องให้ช่วย ด้วยถ้อยคำว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ขอผู้เป็นเจ้าจงให้ชีวิตทานแก่ข้าพเจ้าด้วย พระดาบสเห็นปลาตายลอยอยู่ตัวหนึ่ง จึงจับปลาตายนั้นโยนให้ปู ปูนั้นละจะขาบเสียหนีบเอาปลาตายเข้าไว้ พระดาบสจึงเอาจะขาบนั้นไปเลี้ยงไว้ที่อาศรม จะขาบนั้นมีท้องแก่จวนลูกจะออกจึงบอกพระดาบสว่า พระผู้เจ้าจงกรุณาหาไม้กระบอกให้ข้าพเจ้าสำหรับจะได้ออกลูกสักอันหนึ่งเถิด พระดาบสจึงเอาไม้ไผ่ทำกระบอกให้จะขาบ จะขาบออกลูกมาสองตัว เป็นตัวผู้ตัวหนึ่งตัวเมียตัวหนึ่ง จะขาบแม่นั้นพาลูกสองตัวไปหาอาหารกิน ณ สำนักพระดาบสๆ จึงถามแม่จะขาบว่า ลูกตัวไหนเป็นพี่ตัวไหนเป็นน้อง แม่จะขาบบอกพระดาบสว่า ลูกที่เดินหน้านี้เป็นพี่ มีศีรษะและหางโตกลางตัวลีบเป็นตัวผู้ ลูกที่เดินหลังเป็นน้องมีศีรษะและหางลีบ กลางตัวป่องเป็นตัวเมีย
วิธูรบัณฑิตกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าโบราณปเวณีธรรมมาอย่างนี้ แล้วจึงถวายบังคมลากลับออกไป ชาวพระนครมีอำมาตย์เป็นต้นก็ให้สาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว พวกพาณิชพากันขายสินค้าและรวบรวมทรัพย์ได้แล้ว จึงเคลื่อนนาวาออกจากปากน้ำนั้น แล่นเรือไปยังนครที่อยู่ของตน เมื่อวิธูรบัณฑิตกลับไปถึงบ้างเมืองของตนแล้ว อยู่อีกไม่นานเท่าไรพยาธิได้เบียดเบียนใกล้จะตาย จึงเรียกลูกชายยอดรักชื่อโชติกุมารเข้ามาสั่งว่า พ่อลูกรักของบิดาๆ จักตายแน่หละ พ่ออยู่ภายหลังยังทำพาณิชย์กรรมอยู่ จงไปค้าขายยังเมืองอื่น ๆ พ่ออย่าไปเมืองพหลเลยเป็นอันขาด ชาวเมืองพหลมีมารยามาก โกงก็มากทำการโกหกมาก อนึ่งพระเจ้ากรุงพหลมีพระราชธิดาหลายพระองค์ ล้วนทรงรูปสิริวิลัยงามเลิศหนักหนา ท้าวพระยาอื่น ๆ ต้องพระประสงค์องค์ราชธิดา ส่งราชสาส์นไปถามปัญหาอยู่ไม่ขาด เพราะเหตุนั้นพ่อยังหนุ่มแน่นอยู่จำคำบิดาไว้ พ่ออย่าไปเลย วิธูรบัณฑิตสั่งสอนลูกชายด้วยประการฉะนี้แล้วก็ทำลายขันธ์ล่วงไป
ครั้นอยู่ต่อมา โชติมาณพนั้นเจริญวัยใหญ่กล้าถึงความเป็นบัณฑิตแล้ว ได้เป็นนายพ่อค้าสำเภาใหญ่จึงคิดขึ้นได้ว่า บิดาของเราเมื่อใกล้จะตายสั่งเราไว้ว่า เจ้าจะไปค้าขายยังเมืองอื่นก็จงไปเถิดยกเสียแต่เมืองพหลเจ้าจงอย่าไปเลย ก็เมืองพหลนั้นมันเป็นอย่างไร เราจักลองไปดูให้รู้แน่ด้วยตนเอง โชติมาณพจึงให้จัดแจงนาวาบรรทุกสินค้าเต็มแล้วแล่นนาวาไปจนถึงเมืองพหลหยุดนาวาจอดไว้ที่ท่าเรียบร้อยดี ก็ในกาลคราวนั้น นกยางเท้าแดงตัวหนึ่งเดินเลียบริมฝั่งนทีมาเที่ยวหาอาหาร โชติมาณพยิงนกยางนั้นด้วยลูกศรตาย จึงเอานกยางนั้นมาใส่ไว้ในเรือ มีบุรุษผู้หนึ่งฉลาดพูด เห็นโชติมาณพยิงนกยางตายเอาใส่ไว้ในเรือ จึ่งวิ่งมาโจทก์โชติมาณพว่า เหตุไรท่านจึงมายิงนกยางบิดาของเราตาย ลำดับนั้น มีบุรุษคนหนึ่งเข้าไปหาโชติมาณพแล้วถามว่า แน่ะนายสำเภา ท่านเป็นลูกของไคร เราเป็นลูกวิธูรบัณฑิต เออดีหละ แน่ะนาวิกะ บิดาของท่านได้ขุดบ่อทรายแล้วยืมเอาแก้วมณีของเราซึ่งฝังทรายไว้ไป แก้วมณีนั้นราคาค่าควรเมืองหนึ่ง ลำดับนั้น มีบุรุษคนหนึ่งเข้าไปหาโชติมาณพแล้วโจทก์อีกว่า เรามีลูกสุกรขาวอยู่ตัวหนึ่งบิดาของท่านเห็นลูกสุกรนั้นเข้าพูดกะเราว่า แน่ะสหาย เราจะขอยืมลูกสุกรขาวตัวนี้ไปประสมกับสุกรป่าที่เกาะโน้น ภายหลังจะกลับเอาลูกสุกรขาวมาคืนให้ ลูกสุกรขาวของเราตัวนั้นราคาค่าควรเมืองหนึ่ง บัดนี้บิดาของท่านทำลายขันธ์เสียแล้วไม่กลับมาเมืองนี้ได้ ก็ตัวท่านเป็นลูกชายเหตุไรท่านจึงไม่เอาสุกรขาวตัวนั้นมาให้เรา เราจะจับตัวท่านไว้ ลำดับนั้น มีบุรุษตาบอดข้างหนึ่งไปหาโชติมาณพโจทก์เข้ามาอีกว่า บิดาของท่านยืมเอาจักษุของเราไปข้างหนึ่ง เหตุไรบิดาท่านจึงไม่มาเล่า ก็ตัวท่านเป็นลูกชายมาแทนตัวดีแล้ว เราจักเอาจักษุของเรา ท่านจงให้จักษุของท่านแก่เรา ณ กาลบัดนี้
บุรุษสี่คนจึงพากันไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเล่าความทั้งปวงถวายพระราชาให้ทรงทราบ
พระเจ้ากรุงพหลสดับแล้วดำริว่า วิธูรบัณฑิตบิดาโชติมาณพนั้นมีอุปการะแก่เรามาก ได้ช่วยแก้สตปทิกปัญหาไว้ครั้งหนึ่ง ถ้าหากว่าวิธูรบัณฑิตมิได้ช่วยแก้สตปทิกปัญหาไซร้ บ้านเมืองเราก็จะถึงความวินาศแหลกทำลายไป ฝ่ายโชติมาณพเล่า ก็คิดขึ้นได้ว่าถ้อยคำของบิดาเราสั่งไว้นั้นจริงทีเดียว ก็เมื่อเป็นเช่นนี้เราจักสำแดงซึ่งความที่เราเป็นบัณฑิตให้จนได้
ลำดับนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้หาตัวโชติมาณพเข้ามาแล้วตรัสถามว่า มาณพ เจ้าชื่อไร ข้าแต่เทวดา ข้าพระพุทธเจ้าชื่อโชติมาณพ เจ้าเป็นลูกใคร ข้าพระพุทธเจ้าเป็นลูกวิธูรพราหมณ์ บิดาของเจ้าเขาไปไหนจึงไม่มา บิดาข้าพระพุทธเจ้าทำลายขันธ์เสียแล้ว ก็และในกาลเมื่อบิดาใกล้จะตายนั้น บิดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งไว้ว่า ไม่ให้ข้าพระพุทธเจ้ามาค้าขายที่เมืองนี้เป็นอันขาด ข้าพระบาทมาครั้งนี้เพื่อจะสอบสวนดูว่าเป็นอย่างไร
พระเจ้ากรุงพหลจึงตรัสถามว่า แน่ะโชติมาณพ บุรุษผู้นี้เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าว่าฆ่านกยาง เจ้าฆ่านกยางเท้าแดงจริงหรือ ข้าแต่เทวดา ข้าพระพุทธเจ้าฆ่านกยางจริง บุรุษผู้โจทก์เขาว่านกยางนั้นเป็นบิดาของโจทก์ เหตุไรเจ้าจึงฆ่านกยางผู้บิดาโจทก์เสียเล่า พระมหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าฆ่าจริงแต่หาได้กินนกยางนั้นไม่ เจ้าฆ่านกยางนั้นด้วยเหตุอย่างไร นกยางนั้นเป็นบิดาของโจทก์ก็ดีหละ แต่นกยางนั้นกินบิดาของข้าพระพุทธเจ้าก่อน โจทก์ทำไมไม่ห้ามเล่า ข้าพระพุทธเจ้าฆ่าสัตว์เดร็จฉาน นกยางผ่ามนุษย์ผิดกัน พระองค์จงปรับเอาราคานกยางกะข้าพระพุทธเจ้า นกยางฆ่าบิดาข้าพระพุทธเจ้า พระองค์จงปรับราคามนุษย์แก่บุตรนกยางให้ข้าพระพุทธเจ้า
/*๒๒๐พระเจ้ากรุงพหลจึงตรัสถามโชติมาณพว่า นกยางนั้นกินบิดาของเจ้า ใครรู้เห็นเป็นพยานบ้าง ข้าแต่เทวดา ความเรื่องนี้อาศัยโจทก์จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น พระองค์จงถามพยานฝ่ายโจทก์ก่อน พระราชารับสั่งว่าจริงแล้วตรัสถามโจทก์ว่า โจทก์กล่าวว่านกยางเป็นบิดาโจทก์ ๆ มีพยานหลักฐานอย่างไร โจทก์ก็นิ่งไปไม่อาจจะทูลต่อไปได้ พระราชาจึงถามโชติมาณพว่า เจ้ากล้าว่านกยางนั้นกินบิดาของเจ้า ใครเล่าเป็นพยานรู้เห็นเจ้าจงบอกแก่เรา พระมหาราช บิดาข้าพระบาททำความสิเนหต่อพระองค์ จำนงจิตผูกพันอยู่ในเมืองนี้ ครั้นจุติจิตแล้วมาเกิดเป็นปลาอยู่ที่ท่าเรือจอดเมืองนี้ นกยางตัวนี้กินปลาผู้บิดาข้าพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจจึงฆ่านกยางนั้นเสีย อาศัยเรื่องนี้เป็นมูลเหตุ ข้าพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่านกยางนี้กินบิดาข้าพเจ้า ด้วยประการฉะนี้
ราชา ตํ อฏฺฏํ วินิจฺฉิตฺวา๒ พระเจ้ากรุงพหลจึงทรงตัดสินความเรื่องนั้นว่า ดูกรบุรุษโจทก์ ท่านกล่าวจำโนดโจทนาหาโทษเอาเท็จมาใส่แก่โชติมาณพ ด้วยมีมุฬหจิตเหตุด้วยโลภเจตนาปรารถนาจะใคร่ได้สินไหม จึงประกาศแก่ข้าราชการว่า ดูกรเสนามหาอำมาตย์ ท่านจงพิกัดกฎหมายไว้ ถ้าบุคคลฟ้องร้องโจทนาเหมือนความคู่นี้ ถ้าและมาณพประหารชีวิตบิดาผู้นี้เป็นมนุษย์จริงจึงให้มาณพใช้บิดาเจ็ดคน อนึ่งจะได้บิดามาแต่ที่ดังรือเล่า ให้ปรับเอาทรัพย์เป็นมูลราคาบุรุษเจ็ดเท่า บัดนี้คำโจทก์ว่านกยางเป็นบิดา ถ้ามีสักขีพยานจริงอันมาณพนั้นยิงให้ถึงกาละ ให้ปรับเป็น ๔ เท่าคือ เป็นสินไหมสองเท่า เป็นพินัยสองเท่า ถ้านกและสัตว์กลางป่าใช่สัตว์เลี้ยง ให้ปรับเอาผู้โจทก์ส่วนหนึ่งตามราคาแห่งสัตว์น้อยตามน้อยใหญ่ตามใหญ่ ถ้าสัตว์เลี้ยงคือเป็ดไก่และสุกรอัสดรช้างโคกระบือเป็นอาทิ ให้ปรับเอาสินไหมสี่ส่วนพินัยสี่ส่วนสมควรแก่ราคา บัดนี้บุรุษผู้นี้กล่าวว่านกยางเป็นบิดา และมีผู้มาฆ่านกยางผู้บิดาเสีย จึงสืบสักขีทิพย์พยานก็ไม่ได้ ให้ปรับเอาราคามนุษย์นั้นตั้งปรับเป็นสินไหมแปดส่วนพินัยแปดส่วน สินไหมนั้นให้แก่โชติมาณพ อนึ่งซึ่งโชติมาณพยิงนกยางเสียจริง ให้โชติมาณพนั้นใช้ราคานกยางแก่บุรุษโจทก์ คิดเป็นราคาไพให้กำหนดกฎไว้เป็นกติกา เพื่อจะรักษาแผ่นดินสืบไป
พระเจ้ากรุงพหลทรงตัดสินความดังนี้แล้ว จึงทรงตรัสพระคาถานี้ว่า
ทาสกํ เวยฺยาวจฺจา | หตฺถิอสฺสโคณมหิสา |
ทฺวิคุณํ สิฺจํ คณฺหตุ | เจ อฺสฺส มาตา ปิตา |
สมณพฺราหฺมณา สีลวา | ตสฺส ชีวํ คณฺหาตุ |
เจ ชีวิตํ อาลยา จ | สหสฺสกหาปณ์ คณฺหาติ |
ความว่า บุคคลผู้ใดฆ่าทาสและคนใช้ของเขา หรือฆ่าช้างม้าโคกระบือของเขา ให้ปรับผู้ฆ่านั้นเอาราคาทาสคนใช้และราคาช้างม้าโคกระบือนั้นตั้งปรับเป็นสินไหมสองเท่า ถ้าหากว่าผู้ใดฆ่ามารดาบิดาของผู้อื่น และสมณพราหมณ์ผู้มีศีลไซร้ ให้ประหารชีวิตผู้ฆ่านั้นเสีย ถ้าหากว่า ผู้ที่ต้องประหารชีวิตนั้นยังอาลัยต่อชีวิตอยู่ไซร้ ให้ปรับเอาทรัพย์พันกหาปณะเรียงตัวไป
ต่อแต่นั้นไป พระเจ้ากรุงพหลเมื่อจะทรงถามความเรื่องอื่นต่อไปจึงตรัสว่า แน่ะนายสำเภา บุรุษคนนี้เขาโจทก์ว่าบิดาของเจ้ายืมเอาแก้วมณีที่โจทก์ฝังไว้ที่หลุมทรายมีน้ำไป หานำมาคืนให้โจทก์ไม่ เรื่องนี้เป็นอย่างไรกัน โชติมาณพจึงกราบทูลแก้ว่า พระมหาราช บิดาข้าพระบาทเอาแก้วมณีที่สายน้ำพัดไปต่างหาก บุรุษโจทก์ผู้นี้อ้างว่าเป็นเจ้าของแก้ว แล้วจงวิดน้ำให้แห้งหมดก่อน เมื่อวิดกระแสน้ำแห้งได้ ข้าพระพุทธเจ้าจักเอาแก้วให้โจทก์ต่อภายหลัง พระราชาทรงฟังแล้วจึงบังคับโจทก์ว่า เจ้าจงไปวิดกระแสน้ำให้แห้งเสียก่อน โจทก์ก็ไปพยายามวิดกระแสน้ำ ก็มิอาจจะให้น้ำแห้งได้จึงกลับมาทูลพระราชาว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถวิดน้ำให้แห้งได้ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวคำเท็จมิจริงพระเจ้าข้า
พระเจ้ากรุงพหลทรงตรัสบริภาษโจทก์ว่า เจ้าคนพาลหาปัญญามิได้ อยากจะได้ทรัพย์เขาด้วยโลภเจตนา หารู้จักประมาณตนไม่ รู้แต่จะใส่โทษให้ผู้อื่นฝ่ายเดียว หารู้จักโทษซึ่งจะมาถึงแก่ตนไม่ แล้วพระองค์จึงดำรัสสั่งเสนามาตย์ให้จารึกพระราชกติกากำหนดกฎหมายว่า๓ ถ้าผู้ใดจำโนดโจทนาว่ากล่าวหาโทษท่านด้วยวัตถุสิ่งของทองเงินแก้วแหวนอันใดก็ดี จงเอาวัตถุที่หาตั้งปรับเป็นทวีคูณ ถ้าเป็นสัจดังโจทก์หาให้จำเลยใช้เป็นทวีคูณ แล้วปรับเป็นพินัยหลวงเป็นทวีคูณ คิดเข้าแล้วสี่เท่าด้วยกัน อนึ่งบุรุษผู้ฟ้องร้องหาโทษโชติมาณพต่อค่าควรด้วยเมืองเรา โชติมาณพเป็นทุคตเข็ญใจจะได้เมืองไหนมา ถ้าจะให้เอาแก้วจะได้แก้วไหนมา จงให้บุรุษโจทก์นี้ไปกราบแทบเท้าโชติมาณพ อภิวันทน์คำรพอ้อนวอน ขอโทษ แล้วให้ปรับเอาสินไหมแต่เครื่องเงินควรราคาพันเงินหนึ่ง เครื่องทองควรราคาพันทองหนึ่ง เครื่องนาคควรราคาพันนาคหนึ่ง เครื่องแก้วควรราคาพันทองหนึ่ง ถ้าไม่ได้ของดังนี้ ให้ยอมลงเป็นทาสแห่งโชติมาณพทั้งมารดาบิดาพี่น้องกับทั้งตัวผู้โจทก์
พระเจ้ากรุงพหลทรงตัดสินความดังนี้แล้ว จึงทรงตรัสพระคาถานี้ว่า
โย ปรโทสํ โจเทติ | ตสฺส วจนํ อสจฺจํ |
ตํ วตฺถุํ กปิตํ โหติ | ทฺวิคุณํ สิฺจนํ คณฺหาติ |
ความว่า ผู้ใดโจทก์กล่าวโทษผู้อื่น ด้วยวัตถุสิ่งของอันใดก็ดี คำหาของโจทก์นั้นหาจริงไม่ ให้เอาวัตถุสิ่งของที่หานั้นตั้งปรับเป็นสินไหมทวีคูณให้แก่จำเลย
ต่อแต่นั้นมา พระเจ้ากรุงพหลเมื่อจะทรงถามความเรื่องอื่นต่อไปจึงตรัสถามโชติมาณพว่า แน่ะนายสำเภา บุรุษผู้นี้โจทก์ว่า บิดาของเจ้ายืมเอาจักษุของโจทก์ไปข้างหนึ่ง แล้วหาเอากลับมาคืนให้โจทก์ไม่ ความข้อนี้จริงหรือหาไม่ พระมหาราช ถ้าหากว่าบิดาข้าพระบาทเอาจักษุข้างหนึ่งของโจทก์ไปจริงไซร้ ข้าพระบาทผู้เป็นบุตรจะใช้จักษุให้โจทก์แทนบิดา ก็แต่ว่าพระองค์จงให้โจทก์ควักจักษุเก่าของตนออกมาวางไว้ก่อน ข้าพระบาทจักเอาจักษุทั้งสองของข้าพระบาทใส่ในจักษุรูปแห่งโจทก์ให้ บิดาข้าพระบาทเอาจักษุไปข้างเดียว ข้าพระบาทจะให้จักษุสองข้างแก่โจทก์ พระราชาจึงบังคับโจทก์ว่า แน่ะโจทก์ จักษุของเจ้ามีข้างเดียว อีกข้างหนึ่งหามีไม่ เบ้าตาของเจ้าจึงตื้น เพราะเหตุนั้น เจ้าจงควักจักษุทั้งสองของเจ้าออกมาวางไว้ตรงหน้า โจทก์ตาบอดนั้นก็สะดุ้งกลัวจึงกราบทูลว่า พระมหาราช ข้าพระบาทไม่อาจควักจักษุของข้าพระบาทได้ ไหนโจทก์กล่าวว่าได้ควักจักษุของตัวข้างหนึ่งให้วิธูรบัณฑิตบิดาจำเลยไป พระมหาราช ข้าพระบาทเป็นพาลกล่าวมุสาวาทแกล้งยกโทษใส่จำเลยถ้อยคำนั้นหาจริงไม่
พระราชาทรงฟังดังนั้น ทรงกริ้วใหญ่ได้บริภาษด่าว่า เจ้าโจทก์ตาบอดคนชั่วร้าย เจ้าตาบอดข้างหนึ่งก็เพราะบาปกรรมที่ตัวทำไว้ในชาติก่อน มาชาตินี้ยังซ้ำใส่โทษเขาเจ้าจะมิเสวยบาปกรรมมากขึ้นอีกหรือ การที่เจ้าเอาโทษใส่เขาเช่นนี้ก็เพราะอยากได้สินไหมเท่านั้น แล้วพระราชาจึงประกาศแก่เสนามาตย์ว่า บุรษโจทก์ผู้นี้กล่าวโทษใส่โชติมาณพผู้หาความผิดมิได้ ข้อนี้เป็นครุกรรมหนัก ธรรมดาจักษุใช่จะไม่เป็นที่รักใคร่และจะไม่เป็นที่ชอบใจของใครเป็นอันไม่มี ล้วนเป็นที่รักที่ยินดีชอบใจด้วยกันหมดทุกคน เพราะเหตุนั้น ท่านจงปรับโจทก์เป็นสินไหมทวีคูณ คือให้ตีราคานัยน์ตาสองข้างเป็นทรัพย์ข้างละพัน เพราะเหตุนั้น ให้บุรุษโจทก์ให้สินไหมสองพันแก่โชติมาณพ กับให้โจทก์เสียทรัพย์อีกสองพันเป็นพินัยหลวง ให้เสนามาตย์ทั้งปวงจารึกกำหนดกฎไว้เป็นราชกติกา เพื่อจะรักษาแผ่นดินต่อไป
ต่อแต่นั้น พระราชาเมื่อจะตรัสถามความเรื่องอื่นต่อไปจึงตรัสถามโชติมาณพว่า แน่ะนายสำเภา บุรุษคนนี้เอาโจทก์กล่าวโทษบิดาเจ้าว่าวิธูรพราหมณ์ยืมเอาลูกสุกรเผือกตัวหนึ่งของโจทก์ไปนานแล้ว จนบัดนี้วิธูรพราหมณ์ก็หาเอาสุกรมาส่งให้โจทก์ไม่ ความข้อนี้ยังจะเท็จจริงฉันใด โชติมาณพจึงกราบทูลว่า พระมหาราช บิดาข้าพระบาทเอาสุกรเผือกของโจทก์นี้ไป ใคร ๆ จักได้รู้เห็นเป็นพยาน พระราชาจึงตรัสถามโจทก์ว่า ใครเป็นพยานของเจ้ามีบ้างหรือไม่ โจทก์กราบทูลว่า คนอื่นไม่มีใครรู้เรื่องนี้ภรรยาข้าพระพุทธเจ้ารู้แต่ผู้เดียว พระเจ้าข้า โชติมาณพจึงกราบทูลว่า เมียจะเป็นพยานผัวไม่ควร ผัวจะเป็นพยานเมียก็ไม่ควร ปเวณีธรรมบังคับห้ามไว้ผัวเมียเป็นพยานกันไม่ได้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าผัวเมียย่อมปรึกษาหารือกันอยู่เสมอไป ฝ่ายโจทก์ก็จนใจนั่งนิ่งอยู่ โชติมาณพจึงกราบทูลพระราชาว่า พระมหาราช โจทก์ไม่มีพยานข้อนั้นจงงดไว้ก่อน แม่และพ่อลูกสุกรเผือกมีอยู่หรือไม่มี พระราชาจึงตรัสถามโจทก์ว่า แม่และพ่อลูกสุกรเผือกมีหรือไม่มี โจทก์ตอบว่าไม่มี พระราชาจึงซักถามโจทก์ว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าก็หาความใส่เขาไม่จริงนั่นแหละซี โจทก์ก็รับสารภาพแล้วนิ่งอยู่
พระราชาจึงทรงตัดสินความเป็นเด็ดขาดว่า บุรุษคนนี้ไม่ใช่โจรเหมือนโจรใคร่จะได้สินไหมถ่ายเดียว จึงเป็นโจทก์ฟ้องร้อง กล่าวโทษผู้อื่นอันหาความผิดมิได้ ดูกรเสนามาตย์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงปรับสินไหมแก่โจทก์ผู้นี้เสีย เพราะเหตุว่า สุกรเผือกหามีในตระกูลคนเข็ญใจไม่ ย่อมมีในตระกูลกษัตริย์หรือในตระกูลคนฝั่งมีทรัพย์เป็นต้น สุกรเผือกนับว่าเป็นสัตว์มงคลหาราคามิได้ให้เอาราคาสุกรตั้งปรับไหมเท่าราคาทรัพย์นับแสนกหาปณะแห่งทองคำ แต่ ณ บัดนี้ให้ปรับสินไหมโจทก์เป็นทรัพย์ทวีคูณ และจารึกถ้อยคำของเราไว้ให้เป็นพระราชกติกาเพื่อจะได้เป็นแบบรักษาแผ่นดินต่อไป ด้วยประการฉะนี้
ในกาลครั้งนั้นแล เมื่อโชติมาณพยังอยู่เมืองพหลธานี มีกษัตริย์ประเทศราชสามองค์ ทรงทราบว่าพระราชธิดาพระเจ้ากรุงพหลสามองค์ทรงพระรูปร่างงามนัก พอพระหฤทัยจะใคร่ได้มาเป็นพระมเหสีนางละองค์ พระราชาพระองค์หนึ่งประสงค์จะส่งมุทธิกปัญหากับพระธำมรงค์สามวงไปถวายพระเจ้าพหล พระธำมรงค์วงหนึ่งศีรษะฝังแก้วอันเกิดแก่ฝั่งสมุทร พระธำมรงค์วงหนึ่งศีรษะฝังแก้วอันเกิด ณ ท่ามกลางสมุทร พระธำมรงค์วงหนึ่งศีรษะฝังแก้วอันเกิดในป่าใหญ่ พระธำมรงค์สามวงนั้นราคาถึงแสนตำลึงทองคำ แล้วทรงลิขิตมุทธิกปริศนาลงในแผ่นกระดาษ ใจความมุทธิกปัญหานั้นมีดังนี้ว่า
แน่ะท้าวพหลราช บัดนี้เราผู้ประเทศราชได้ยกกำลังจตุรงคเสนาจะมารบเอานครของพระองค์ๆ จงวินิจฉัยทายแก้วหัวแหวนสามวงให้รู้ชัดว่าชาติภูมิของแก้วเกิดที่ไหน ถ้าทรงวินิจฉัยไม่ได้ก็ให้ส่งราชธิดามาให้เราคนหนึ่ง ถ้าและขัดขืนไม่ยอมส่งราชธิดามาให้เรา เราจักให้พวกพลโยธาและจาตุรงคเสนาเข้าโจมตีนครของพระองค์ให้ถึงมหาวินาศ แม้พระองค์ทรงทราบแก้วหัวแหวนได้ชัดเจนไซร้ เราจักทำบูชาสักการะแก่พระองค์ ทรงลิขิตราชสาส์นแล้วจึงประทับราชลัญจกรมอบราชสาส์นกับพระธำมรงค์สามวงให้ราชทูตไป ราชทูตรับแล้วก็เข้าไปยังนครพหลธานี
มีกษัตริย์ประเทศราชองค์หนึ่ง จึงทรงลิขิตมุทธิกปัญหาส่งไปถวายพระเจ้ากรุงพหลบ้าง สำเนาความในราชสาสนนั้นก็เหมือนกันกับพระราชาองค์ก่อน เว้นแต่แก้วศีรษะธำมรงค์นั้นต่างกันดังนี้คือ แก้วศีรษะธำมรงค์วงหนึ่งเกิดในวิบุลบรรพต แก้วศีรษะธำมรงค์วงหนึ่งเกิดในนาคพิภพ แก้วศีรษะธำมรงค์วงหนึ่งเกิดในสะดือแผ่นดิน แก้วศีรษะธำมรงค์ทั้งสามนั้นมีราคาถึงแสนตำลึงทองคำ ชาติภูมิของแก้วต่างกันอย่างนี้
มีกษัตริย์ประเทศราชอีกองค์หนึ่ง จึงทรงลิขิตมุทธิกปริศนาไปถวายพระราชาพหลบ้าง สำเนาความในราชสาส์นนั้นก็เหมือนกันกับพระราชาองค์ก่อน เว้นแต่แก้วศีรษะธำมรงค์นั้นแปลกกันดังนี้คือ แก้วศีรษะธำมรงค์วงหนึ่งเกิดในสิเนรุบรรพต แก้วศีรษะธำมรงค์วงหนึ่งเกิดในสุวรรณบรรพต แก้วศีรษะธำมรงค์วงหนึ่งเกิดในคิรินาถบรรพต แก้วแต่ละอย่าง ๆ มีราคาถึงแสนตำลึงทองคำ ชาติภูมิของแก้วต่างแปลกกันอย่างนี้
ตโย ทูตา ราชทูตทั้งสามพากันไปถึงพระทวารราชวังแล้วจึงให้อำมาตย์กราบทูลพระราชาพหลให้ทรงทราบ พระราชาพหลทรงอนุญาตให้ราชทูตเฝ้าแล้ว ราชทูตเหล่านั้นถวายบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงถวายราชสาส์นมุทธิกปัญหากับธำมรงค์แก่ท้าวพหลราช ๆ ทรงรับราชสาส์นแล้วให้ทำสักการะราชทูตและให้ส่งกลับไป จึงเสด็จเข้าในราชนิเวศน์รับสั่งให้อำมาตย์มาประชุมปรึกษากันว่า ใครรู้จักชาติภูมิแก้วหัวแหวนเหล่านี้บ้าง อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่าไม่รู้จักทั้งสิ้น แล้วทรงถามตลอดไปจนถึงหญิงชายชาวบ้าน ๆ ก็หามีใครรู้จักไม่ พระราชาพหลทรงพระโทมนัสวิประลาปว่าเมืองเราจักพินาศเสียแล้ว เฝ้าแต่ปรึกษาหารือกันล่วงไปสามวันแล้ว ก็หาได้อุบายคิดแก้ปัญหานั้นไม่
คราวนั้น พระเชษฐาราชธิดาองค์ใหญ่พระนามว่าโชติเทวีมีมีปัญญามากกว่า เห็นพระราชบิดาทุกข์โทมนัสจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เทวดา พระองค์ได้ทรงถามโชติมาณพแล้วหรือ พระเจ้าข้า แล้วพระนางเธอจึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
อิเม ทณฺฑา | ทุปฺชาติกา |
กุโต ชานิสฺสนฺติ | อุปายํ วรํ |
โชตินามํ กุมารํ | นาวิกํ |
รูปปฺาสมฺปนฺนํ | ปุจฺฉสฺสุ |
ความว่า คนชาติปัญญาโง่เขลาเหล่านี้ ที่ไหนจักรู้จักอุบายแยบคายลึกซึ้งได้ ขอพระองค์จงถามโชติกุมารนายสำเภา ผู้มีรูปงามนามเพราะมีปัญญาแหลมนัก นั่นแหละเขาอาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้พระเจ้าข้า
พระเจ้ากรุงพหลทรงสดับราชธิดาทูลดังนั้นจึงนึกขึ้นได้ว่า เออวิธูรบัณฑิตบิดาโชติมาณพนั้น เขาก็ได้พยากรณ์สดปทิกปัญหาครั้งหนึ่งแล้ว โชติมาณพผู้นี้เป็นบุตรวิธูรพราหมณ์ จักรู้แก้มุทธิกปัญหานี่ได้แน่ทีเดียว ทรงดำริแล้วจึงเสด็จออกประทับนั่ง ณ ราชบัลลังก์ จึงรับสั่งกับอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า เจ้าจงรีบไปที่ท่าเรือเรียกตัวโชติมาณพให้มาหาเรา ณ บัดนี้ อำมาตย์ผู้นั้นก็ไปพาเอาตัวโชติมาณพมาถวายพระเจ้าพหลราช ๆ จึงตรัสกับโชติมาณพว่า แน่ะนายสำเภา บัดนี้มีพระราชาสามองค์ส่งมุทธิกปัญหามาถามเราว่า ถ้ารู้ที่เกิดแห่งแก้วหัวแหวนได้หรือไม่รู้ก็ให้ตอบไป ถ้าไม่รู้เขาจักยกจตุรงคเสนาเข้ารบเอาเมืองเรา เจ้ารู้จักหรือไม่ ถ้ารู้จักจงบอกแก่เราผู้ไม่รู้ด้วยช่วยกู้เมืองของเราไว้ โชติมาณพจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ารู้แต่ว่าหามีใครเป็นพยานไม่ เพราะเหตุนั้น พระองค์จงให้จัดแจงเครื่องสักการะให้มากบูชาเทวดาด้วยเครื่องพลีกรรมแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะทำเทวดาให้เป็นพยานก่อน แล้วพยากรณ์แก้ปัญหาถวายต่อภายหลัง พระราชาทรงฟังแล้วก็ให้จัดแจงแต่งเครื่องพลีกรรมตามโชติมาณพทูลทุกอย่าง
ฝ้ายโชติมาณพทำบูชาสักการะเสร็จแล้ว จึงนมัสการทิศทั้งสี่ประกาศเทวดาว่า ข้าแต่ฝูงเทพดาผู้เจริญทั้งหลาย เทพดาอยู่ในสี่ทิศเชิญมาเป็นพยานข้าพเจ้า และจงคอยฟังถ้อยคำข้าพเจ้าๆ จักแก้ปัญหาให้ฟัง ถ้าหากว่าข้าพเจ้ากล่าวแก้ปัญหาวิปริตผิดไป ขอเทพดาจงตำหนิโทษข้าพเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้ากล่าวแก้ปัญหาถูกต้อง ขอเทพดาจงให้ซร้องสาธุการประกาศคุณและโทษของข้าพเจ้าให้ปรากฏแก่ชาวพระนคร
เมื่อเสร็จคำประกาศของโชติมาณพแล้ว พระเจ้ากรุงพหลจึงให้เอาธำมรงค์ฝังแก้วออกจากสมุคค์ทอง มาตั้งไว้ตรงหน้าโชติมาณพ รับสั่งให้ราชทูตและอำมาตย์มาประชุมคอยฟังพร้อมกัน โชติมาณพนั้นหยิบธำมรงค์วงหนึ่งพลิกดูก็รู้ชัดแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เทวดา แก้วนี้เกิดในฝั่งสมุทร แล้วหยิบธำมรงค์วงอื่นพลิกดูก็รู้ชัดจึงทูลว่า แก้วนี้เกิดในท่ามกลางสมุทร แล้วหยิบธำมรงค์วงอื่นพลิกดูก็รู้ชัดจึงทูลว่า แก้วนี้เกิดในภูเขาหิมพานต์ แก้วแต่ละดวงนี้มีราคาถึงแสนตำลึงทองคำ อนึ่งในแก้วสามดวงเหล่านี้ แก้วดวงที่เกิดในท่ามกลางสมุทร เป็นแก้วประเสริฐมีคุณล้ำเลิศกว่าแก้วเหล่านั้น เทพดาทั้งหลายก็โปรยนา ๆ ทิพรัตน์บุปผาและให้สาธุการ มหาชนมีอำมาตย์เป็นต้นก็โถมสาธุการเป็นโกลาหล พระเจ้ากรุงพหลจึงตรัสถามราชทูตว่า ถ้อยคำของโชติมาณพนั้นสมหรือไม่ ถ้อยคำของโชติมาณพนั้นสมทุกอย่างแล้ว พระเจ้ากรุงพหลจึงทรงนำธำมรงค์อื่นมาวางลงตรงหน้าโชติมาณพแล้วตรัสว่า แน่ะนายสำเภา เจ้าจงพิจารณาดูธำมรงค์สามวงนี้อีก โชติมาณพหยิบธำมรงค์พลิกดูทีละวง ก็รู้ชาติภูมิของแก้วศีรษะแหวนแล้วทูลว่า พระมหาราช แก้วดวงนี้เกิดในวิบุลบรรพต แก้วดวงนี้เกิดในนาคพิภพ แก้วดวงนี้เกิดในสะดือแผ่นดิน แก้วแต่ละดวงนี้มีราคากึ่งแสนตำลึงทองคำ แต่แก้วซึ่งเกิดในสะดือแผ่นดิน เป็นแก้วสำคัญมีคุณมากกว่าแก้วเหล่านั้นด้วยประการฉะนี้แล
ลำดับนั้น ราชทูตจึงถามโชติมาณพว่า เหตุไรท่านจึงกล่าวว่าแก้วเกิดในสะดือแผ่นดินมีคุณยิ่งใหญ่ แน่ะราชทูต แก้วชนิดใดเกิดในระวางวิบุลบรรพต แก้วชนิดนั้นเป็นแก้วประเสริฐเกิดประดับบุญของเจ้าจักรพรรดิ แต่แก้วดวงนี้เกิดในพหลกบรรพตหาสมควรจะนับว่าประเสริฐเกิดประดับบุญของเจ้าจักรพรรดิได้ไม่ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าแก้วนี้ต้องถูกแดดและฝน แก้วดวงใดเกิดด้วยทิพย์เป็นเครื่องประดับของนาคราช แก้วดวงนั้นมีคุณมากก็จริง แต่แก้วนี้เกิดด้วยพืชศิลาหานับว่าประเสริฐแท้ไม่ แก้วซึ่งเกิดด้วยพืชทรายทองในสะดือดิน เป็นแก้วหินอยู่ลึกมิได้ต้องลมและฝนแดดมีคุณบวรโอฬารยิ่งนัก เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวว่า แก้วที่เกิดในสะดือดินนี้ มีคุณบวรดิเรกเป็นแก้วอย่างเอกที่สุด สพฺเพ เทวา เทพดาทั้งปวงจึงโปรยนานาทิพรัตนบุปผาให้สาธุการมหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น และราชทูตทั้งหลาย ให้สาธุการและปรีดาปราโมทย์ทุกถ้วนหน้า
พระราชาพหลจึงทรงเปิดสมุคค์ทองใบอื่นออกให้โชติมาณพดูธำมรงค์สามวง โชติมาณพจับธำมรงค์พลิกดูทีละวงก็รู้ชัดชาติภูมิของแก้วแล้วกราบทูลว่า พระมหาราช แก้วดวงนี้เกิดเชิงภูเขาสิเนรุ แก้วดวงนี้เกิดในสุวรรณบรรพต แก้วดวงนี้เกิดในคิรินาถบรรพต แก้วแต่ละดวงนั้นมีราคาถึงแสนตำลึงทองคำ อนึ่งแก้วซึ่งเกิดในคิรินาถบรรพตนี้ มีคุณประเสริฐเลิศกว่าแก้วเหล่านั้น
ราชทูตจึงถามโชติมาณพว่า แก้วซึ่งเกิดในคิรินาถบรรพตนี้มีคุณยิ่งใหญ่ด้วยเพราะเหตุโด โชติมาณพจึงตอบว่า ท่านจงตั้งใจฟัง มีเรื่องราวกล่าวไว้ดังนี้ สิเนรุบรรพตเป็นที่เกิดแห่งแก้วต่าง ๆ สุวรรณบรรพตเป็นที่เกิดแห่งทองคำงดงามนักหนา แต่ว่าภูเขาทั้งสองนั้นมีเทพดาอยู่มากมาย หาเหมือนสุวรรณคิรินาถบรรพตไม่ เพราะเหตุไรเล่า เพราะเหตุว่ามีโบราณธรรมเกิดมีขึ้นก่อน ก็โบราณธรรมนั้นเป็นอย่างไร จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ว่า
แท้จริงในกาลปางก่อนมีโชติมาณพคนหนึ่งอยู่ในเมืองราชคฤห์ สมัยกาลครั้งหนึ่งจึงโชติมาณพนั้นถือเอาแล่งธนูไปสู่ป่าเพื่อจะหาเนื้อกิน เที่ยวไปไกลจนหลงทางไปได้เจ็ดวัน ครั้นกลับมาไม่ได้เนื้อเที่ยวเซซังไปถึงคิริบรรพต เสือโคร่งตัวหนึ่งพบเข้าก็แผดเสียงโดดมาจะกัดโชติมาณพ แต่ยังหาทันจะกัดได้ไม่ โชติมาณพตกใจวิ่งหนีไปถึงยอดภูเขานั่งอยู่ที่นั่น เสือโคร่งตัวนั้นก็นอนคอยสะกัดทางอยู่ โชติมาณพนั่งร้องไห้ร่ำไรอยู่บนยอดภูเขา ขณะนั้นฝูงภูตทั้งหลายได้ยินเสียงโชติมาณพร้องไห้ ได้กรุณาช่วยขับไล่ให้เสือไปเสีย เทพดาบางองค์ก็ส่งทิพพาหารมาให้ เทพดาบางองค์ก็ส่งผลาผลไม้ต่างๆ และทิพพาสนะให้โชติมาณพ และช่วยกันอภิบาลรักษาโชติมาณพไว้ ครั้นวันรุ่งเช้าเทพดาจึงพาโชติมาณพไปปล่อยไว้ ณ มงคลศิลาบัฏ ในราชอุทยานใกล้เมืองราชคฤห์ ให้แก้วเจ็ดอย่างแล้วสั่งไว้ว่า แน่ะมาณพ ใครเขามาพบไต่ถามท่านว่ามาแต่ไหน ท่านจงบอกกับเขาว่าเทวดานำมาไว้ที่นี้ เทพดาพากันส่งและสั่งแล้วก็อันตรธานหายไป
คราวนั้นแล พระเจ้ากรุงพาราราชคฤห์ถึงทิวงคตล่วงไป อำมาตย์ทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า พระราชาของเราหาราชโอรสที่สืบกษัตริย์มิได้ นครใดไม่มีพระราชาปกครองแล้ว ประชาชนในนครนั้นจักถึงมหาวินาศใหญ่ เราควรจักเสี่ยงทายปล่อยปุสสรถไปปรึกษากันตกลงแล้วก็ปล่อยปุสสรถไป ปุสสรถทำปทักษิณมนเทียรบ่ายหน้าแล่นไปถึงราชอุทยาน ทำปทักษิณศิลาบัฏแล้วทำอาการจะเกยขึ้นและหยุดอยู่ ณ บาทมูลโชติมาณพ ปุโรหิตเห็นดังนั้นจึงบอกมหาชนว่า มีบุรุษคนหนึ่งนอนหลับอยู่ศิลาบัฏ ท่านทั้งหลายจงประโคมดุริยดนตรีขึ้นเถิด ถ้าหากว่าบุรุษคนนั้นเป็นคนกาลกิณีก็คงจะหนีไป ถ้าเป็นคนมีบุญก็จะไม่ตกใจกลัวหยุดอยู่ตามปรกติของตน มหาชนก็ประโคมดุริยดนตรีขึ้นทันที โชติมาณพนั้นมิได้ตกใจกลัวสักนิด ปุโรหิตจึงเข้าไปใกล้ยกมือไหว้แล้วถามว่าท่านมาแต่ไหน โชติมาณพก็บอกความที่เทวดาสั่งไว้
อำมาตย์ทั้งหลายมีปุโรหิตเป็นต้น จึงพร้อมกันเชิญโชติมาณพให้ขึ้นปุสสรถแล้ว นำมายังพระนครทำราชาภิเษกกับราชธิดาพระนามว่าโชติเทวีให้ครองราชสมบัติต่อไป ต่อแต่นั้นมาโชติราชาทรงประพฤติทศพิธราชธรรม และสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุสี่ประการ พระเจ้าโชติราชทรงระลึกถึงคุณเทพดาแล้ว จึงทรงตั้งมหาชนชาวมหาคามใกล้ศิริบรรพต ไว้ให้พิทักษ์รักษาคิริบรรพต แล้วให้ทำสักการบูชาแก่เทพดาทุกๆ ปีไป ต่อแต่นั้นมาบรรพตจึงมีนามปรากฏว่าคิรินาถกระนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านราชทูต เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่าแก้วที่เกิดในคิรินาถบรรพตจึงมีคุณเลิศประเสริฐสุดยิ่งใหญ่ดุจนัยที่กล่าวมา เทพดาทั้งหลาย มีเทวดาผู้รักษาเศวตฉัตรเป็นต้น จึงโปรยดอกไม้เงินทองและดอกไม้แก้วแล้วให้สาธุการ ราชทูตถวายบังคมลากลับไปยังขันธวาร กราบทูลพระราชาเจ้าของตนให้ทรงทราบถ้วนถี่ พระราชาทั้งสามพระองค์ทรงยินดีแล้วยกกองทัพกลับไป ภายหลังได้จัดทองคำสามพันส่งให้ราชทูตมาประทานให้แก่โชติมาณพเป็นรางวัล
พระเจ้ากรุงพหลนั้นทรงทราบก็โสมนัสจึงดำริว่า วิธูรบัณฑิตพราหมณ์บิดาของโชติมาณพนั้น ได้มีคุณปการแก่เรามากและช่วยแก้สตปทิกปัญหากู้เมืองเราไว้ หาไม่เมืองเราก็จักถึซึ่งพินาศไป มาบัดนี้โชติมาณพลูกชายวิธูรพราหมณ์ก็ได้แก้มุทธิกปัญหาได้อีก ถ้าว่าไม่ได้โชติมาณพแล้วพระนครของเราจักถึงความพินาศใหญ่ แม้ถ้าว่าโชติมาณพนั้นไปเสียจากเมืองนี้แล้ว แม้พระราชาองค์อื่นจักส่งปัญหามาอีกเล่า เราจักได้ใครมาช่วยแก้ปัญหาต่อไป โชติมาณพจักไปจากเมืองนี้ไม่ได้ด้วยอุบายอย่างไร เราจักทำโชติมาณพไม่ให้ไปด้วยอุบายอย่างนั้น เพราะเหตุอย่างนี้เราจักผูกโชติมาณพนั้นไว้ด้วยธิดาของเรา ดำริแล้วจึงทำวิวาหมงคลยกธิดาชื่อโชติเทวีให้แก่โชติมาณพ ครั้นต่อมาพระเจ้าพหลทรงมอบราชสมบัติให้ราชธิดาทั้งหมด ไม่นานเท่าไรก็ทิวงคตล่วงไป อำมาตย์ทั้งหลายปลงพระศพเสร็จแล้วจึงทำราชาภิเษกแก่โชติมาณพ ต่อแต่นั้นมาโชติมาณพจึงมีนามปรากฏว่าโชติราชาๆ จึงรับสั่งให้อำมาตย์ประชุมกันแล้ว เมื่อจะทรงสั่งสอนอาณาประชาราษฎรจึงตรัสพระอาทิคาถาดังนี้ว่า
ยาวนฺตา นิสาเมถ โภ | โปราเณติ คติ ภตฺตา |
ยา อุปฺปนฺนา ปฺหา ยตฺถ | ตํํ วิจินิตฺวา วิสชฺเชติ |
ความว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายประมาณเท่าไรคนย่อมจะได้ยินได้ฟังคติอันท่านโบราณจำแนกไว้แล้วว่า ปัญหาข้อใดเกิดขึ้นแล้ว ณ ที่ไรบุคคลย่อมตรึกตรองแล้ววิสัชนาปัญหานั้นได้ ดูกรอำมาตย์ทั้งหลายผู้เจริญ ปัญหาข้อใดเกิดขึ้นแล้ว ณ ทีไร ผู้มีปัญญาเมื่อจะวิสัชนาปัญหาข้อนั้น ย่อมพินิจพิจารณาหาเหตุผลเสียก่อนแล้ววิสัชนาซึ่งปัญหาข้อนั้นได้ถ้วนถี่ อนึ่งเล่าชนเหล่าใดทำการฉ้อโภงและฉกลักของผู้อื่น ชนเหล่านั้นครั้นตายไปแล้วย่อมไปเกิดในนรก กินก้อนเหล็กแดงและดื่มน้ำทองแดง ไฟนรกย่อมเผาผลาญให้ยับย่อยเป็นจุณไป ครั้นพ้นจากนรกแล้วจะไปเกิดในเปตวิสัยเสวยทุกขเวทนาสิ้นกาลช้านาน ครั้นพ้นจากเปตวิสัยแล้ว จะไปเกิดเป็นมนุษย์กำพร้า ทุคตะเข็ญใจแต่จะได้อาหารพออิ่มท้องก็ยากนักหนา
อนึ่งเล่า ชนเหล่าใดกล่าวคำเท็จกล่าวคำส่อเสียดกล่าวคำหยาบ ชนเหล่านั้นครั้นตายไปแล้ว ย่อมจะไปเกิดในนรกกินมูตคูถเป็นอาหารสิ้นกัลป์หนึ่ง และย่อมดื่มกินน้ำทองแดงไฟนรกย่อมเผาผลาญให้เป็นจุณไป ครั้นพ้นจากนรกแล้วก็จะไปเกิดในเปตวิสัย ปากเปื่อยเน่ากลิ่นเหม็นยิ่งนัก ครั้นพ้นจากเปตวิสัยแล้ว จะไปเกิดเป็นมนุษย์กำพร้าอนาถา คนทั้งปวงย่อมจะแช่งจะด่าหาความสุขมิได้ ทั้งภัยอันตรายต่าง ๆ ก็ย่อมจะเกิดขึ้นร่ำไป
ชนเหล่าใดได้รักษาศีลห้าและสมาทานอุโบสถศีลและให้ทานทำบุญเป็นต้น ชนเหล่านั้นครั้นตายไปแล้วย่อมจะไปเกิดในสวรรค์ เพราะเหตุดังนั้น ท่านทั้งหลายจงทำเถิดซึ่งการบุญ จงเว้นเสียซึ่งการบาปให้ห่างไกล จงละเสียซึ่งความทุจริตความประพฤติชั่วด้วยภายวาจาใจ จงรักษาสุจริตด้วยไตรทวารไว้ให้มั่นคง
พระเจ้าโชติราชท้าวเธอทรงอนุสาส์นอย่างนี้แล้ว ส่วนพระองค์ก็ได้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงพระกรุณาสงเคราะห์ชาวประชาด้วยสังคหวัตถุสี่ประการ พระเกียรติคุณของพระเจ้าโชติราชนั้นก็ลือชาปรากฏทั่วไปในนานาประเทศ ท้าวพระยาในสากลทวีปทั้งปวง ทรงสดับกิตติศัพท์กิตติคุณแล้ว จึงจัดแจงแต่งเครื่องราชบรรณาการส่งไปถวายพระเจ้าโชติราชมิได้ขาด ต่อแต่นั้นมาพระนครพหลราชธานีก็คับคั่งไปด้วยมหาชนเหลือประมาณ ทั้งภิกษาหารก็หาง่ายและปราศจากอันตรายเกษมสุขยิ่งนักหนา
อิติ สุรพฺโภ โพธิสตฺโต พระสุรัพภโพธิสัตว์นำเรื่องราวมาแสดงอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวว่า ความไม่เสพย์คนพาลด้วย ความเสพย์คนเป็นบัณฑิตด้วย สองข้อนี้เป็นอุดมมงคล พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าเลิศล้น อาจจะให้พ้นอันตรายทั้งปวงได้ เหมือนกะพหลนครซึ่งเสวนะกับวิธูรบัณฑิตและโชติบัณฑิต จึงนิราศปราศจากปัจจามิตรดำรงอยู่เป็นเขมสุขยิ่งใหญ่ พระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสคาถาที่นักปราชญ์ได้ชำระแล้วดังนี้ว่า
พาลานฺจ เสวนา จ | อหิตา รหิตคุณา |
ปณฺฑิตานฺจ เสวนา จ | หิตสุขาวหา โหติ |
ความว่า ความเสวนะคนพาลหาประโยชน์คุณมิได้ ความเสวนะคนผู้บัณฑิตย่อมนำซึ่งประโยชน์และความสุขมาให้ บุคคลผู้บัณฑิตนั้นย่อมทำบุคคลผู้คบตนให้ถึงประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นด้วย และย่อมทำบุคคลผู้คบนั้นให้ถึงสุขในโลกนี้และโลกเบื้องหน้าด้วย แม้นารีผู้ใดมีปัญญาหลักแหลมฉลาดในเชิงพูด นารีผู้นั้นบุรุษพึงคบไว้ มีตัวอย่างเหมือนนางสนมของพระราชาผู้โหดร้ายองค์หนึ่ง จริงอยู่นางนักสนมนั้น มีปัญญาเฉลี่ยวฉลาดในเชิงพูด นางทรมานพระราชาผู้เหี้ยมโหดดุร้ายเสียได้ ดังมีเนื้อความแจ้งต่อไปนี้ว่า
อตีเต กิร อฺตรสฺมึ นคเร ฯลฯ รชฺชํ กาเรสิ ดังได้สดับมาว่า มีพระราชาดำรงราชสมบัติในเมืองหนึ่งเหี้ยมโหดร้ายกาจนักฆ่านักสนมเสียมากคน แท้จริงหญิงทั้งหลายเข้าสู่ที่เฝ้าแล้ว บำเรอด้วยเบญจกามถูกพระทัยบ้างมิถูกพระทัยบ้าง บางครั้งกริ้วมากฆ่านารีนั้นเสียคนหนึ่งบ้างสองคนบ้างทุกวัน ๆ วันหนึ่งถึงเวรนาฏกิตถีคนหนึ่งจะขึ้นเฝ้า นางนั้นมีปัญญาฉลาดในเชิงพูด จึ่งคิดว่า เราจักทำอย่างไรจักพูดอย่างไรจึงจะรักษาชีวิตไว้ได้ ถ้ากระไรเราจักเล่านิทานถวายเห็นจะดี ครั้นถึงเวลาปฐมยามนางก็ขึ้นเฝ้า จึงเล่านิทานถวายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เทวดา หม่อมฉันได้ยินเขาเล่านิทานเรื่องหนึ่งหม่อมฉันจะเล่าให้ทรงฟัง นิทานนั้นเป็นสุภาษิตกถาราชานุสาส์น โบราณราชได้สดับแล้วย่อมตั้งอยู่ในโบราณปเวณี ย่อมทรงชุบเลี้ยงอำมาตย์ไว้ดีได้ทุกองค์มา
แท้จริงพระราชาทรงพิเคราะห์พวกอำมาตย์เสียก่อนว่า อาจจะเลี้ยงได้หรือมิได้ ผู้ใดใจอ่อนน้อมและซื่อตรงกตัญญูรู้จักรักเจ้านายและไม่ประทุษร้ายต่อใครๆ ผู้นั้นแหละสมควรจะตั้งไว้ในตำแหน่งอำมาตย์ เหมือนดังพระเจ้าเวชมาทิตราชทรงชุบเลี้ยงอำมาตย์ซื่อตรงฉะนั้น พระราชาทรงเลี้ยงอำมาตย์ผู้ทรยศคิดคดไม่รักเจ้านาย ความทุกข์โทมนัสก็จะเกิดขึ้นภายหลัง เหมือนดังพระเจ้าเวชราชเลี้ยงอำมาตย์ไม่ซื่อตรงฉะนั้น อนึ่งพระราชาควรจะหามเหสีให้เหมือนดังนางกัลยาณีเทวีมาตั้งไว้ หญิงใดใจโหดดุร้าย หญิงนั้นไม่สมควรจะตั้งไว้ในที่มเหสีเลยเป็นอันขาด พระราชาร้ายกาจนั้นตรัสถามว่า นิทานเรื่องนางกัลยาณีนั้นเป็นอย่างไร หญิงนั้นเมื่อจะเล่านิทานถวายจึงกราบทูลว่า
อตีเต เอโก ราชา เวชมาทิโต นาม อโหสิ ในอดีตกาลมีพระราชาพระนามว่า เวชมาทิต มีราชธิดาอยู่องค์หนึ่งกอร์ปด้วยเบญจกัลยาณี มีรูปงามเพียงดังเทพอัปสร พระราชมารดาบิดรจึงให้นามว่ากัลยาณี ราชธิดานั้นครั้นมีชันษาได้สิบหกปี มีปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลมนักหนา พระราชบิดาทรงโปรดปรานมากคิดจะหาภัสดาให้ ได้ปรึกษากับราชธิดาว่าบิดาจะหาภัสดาให้ลูกยา ราชธิดากัลยาณีทราบดังนั้นแล้วดำริว่า ราชกุมารในสากลทวีปจะมีปัญญาเสมอเราหาไม่ได้เลย บุรุษผู้ทรามปัญญาโง่เขลาหาควรเป็นภัสดาเราได้ไม่ ดำริแล้วก็เลยนิ่งไปแต่นั้นมาหาปราศรัยกับบุรุษไม่
พระเจ้าเวชมาทิตราชสั่งให้อำมาตย์แต่งราชสาส์นส่งไปถวายพระราชาสากลทวีป สำเนาความราชสาส์นนั้นมีดังนี้ว่า โอรสของพระราชาองค์ใดมี พระราชาองค์นั้นจงให้แต่งโอรสส่งไป โอรสองค์ใดประโลมธิดาของเราให้พูดด้วยได้ เราจักยกให้และอภิเษกโอรสนั้น ให้ครองราชสมบัติด้วย ทรงลิขิตราชสาส์นประทับตราแล้ว สั่งให้ราชทูตแยกกันนำไปถวายพระราชานานาประเทศๆ ทรงทราบราชสาส์นแล้ว จัดราชโอรสมาเมืองละองค์รวมเป็นราชกุมารร้อยเอ็ดพระองค์ๆ เหล่านั้น ครั้นได้รับราชานุญาตแล้วก็เข้าไปชักชวนให้ราชธิดาพูดด้วยวิธีการต่างๆ นางหาพูดกับราชกุมารองค์ใดไม่ พระราชกุมารร้อยเอ็ดพยายามอยู่ตั้งเดือน ก็หาสามารถจะให้ราชธิดานั้นยิ้มแย้มได้ จนพระทัยก็ทูลลาพระราชากลับไปยังพระนครของตน
ก็ในกาลคราวนั้น พระราชาครองราชสมบัติในเมืองหนึ่ง มีราชโอรสองค์หนึ่งนามว่าเวชกุมาร ทรงศึกษาศิลปวิทยาการสำเร็จมาใหม่ๆ ได้ทราบข่าวสาส์นว่าเวชมาทิตราชธิดารูปโสภาแต่หาพูดกับบุรุษไม่ จึงคิดแต่ในใจว่ามนต์ถอดจิตบทหนึ่งเรายังหาได้เรียนไม่ มนต์บทนั้นทำจิตให้แยกออกแล้ว แบ่งเอาจิตครึ่งหนึ่งไปใส่ไว้ในต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นเจรจากับคนได้ ก็ใครเล่ารู้จักมนต์อย่างนั้น อ้อได้ยินว่าดาบสองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ ท่านรู้มนต์บทนั้น เราจักไปขอเรียนต่อพระดาบสได้แล้วจะไปยังสำนักกัลยาณีราชธิดา จักได้สำเร็จความปรารถนาของเราแน่นอน จึงถวายบังคมลาพระราชบิดามารดา พาเอาลูกอำมาตย์ไปด้วยคนหนึ่ง พากันไปจนถึงอาศรมพระดาบส พักอยู่สองสามวันก่อน แล้วเข้าไปขอเรียนมนต์กะดาบส ๆ เต็มใจจะให้พระเวชกุมารเรียนแต่องค์เดียวเท่านั้น ดาบสท่านขัดอ้อนวอนเวชราชกุมารไม่ได้ จึงยอมให้ลูกอำมาตย์เรียนด้วยอีกคนหนึ่ง
พระเวชกุมารกับอมัจจบุตรเรียนมนต์ถอดใจได้สำเร็จแล้ว จึงลาพระดาบสกลับยังเมืองของตนแล้ว ถวายบังคมลาพระราชบิดามารดาๆ ทรงอนุญาตแล้ว ทรงเครื่องกกุธภัณฑ์เสร็จเสด็จพร้อมด้วยจตุรงคเสนี ทรงรถพระที่นั่งแต่เมืองที่อยู่ไปถึงเขตแดนเมืองเวชมาทิต จึงให้หยุดตั้งกองทัพและพลับพลาเสร็จ จึงแต่งราชสาส์นให้ราชทูตนำไปถวายเวชมาทิตราช ความในราชสาส์นนั้นบอกพระนามและเหตุการณ์ชึ่งมาจะขอเฝ้าพระเจ้าเวชมาทิต ครั้นอำมาตย์นำความขึ้นกราบทูลแล้ว ทรงอนุญาตให้นำราชทูตเข้าเฝ้า และทรงรับราชสาส์นอ่านทราบความแล้ว จึงตรัสแก่ราชทูตว่าให้เชิญเวชกุมารเข้ามาหาเรา ราชทูตจึงกลับไปทูลกะเวชกุมารๆ ทรงเครื่องอลังการเสร็จ เสด็จไปเฝ้าถวายบังคมประทับอยู่ส่วนหนึ่ง เวชมาทิตราชทอดพระเนตรเวชกุมารแล้วพิศวงพระทัยว่า กุมารองค์นี้รูปร่างดี อุดมสมลักษณะงามดุจเทพบุตร แล้วพระองค์ทรงปฏิสัณฐารอนุญาตให้เข้าไปในปราสาทราชธิดากัลยาณี
เวชกุมารถวายบังคมขึ้นไปยังปราสาทราชธิดาจึงคิดว่าเราจักเจรจาด้วยวิธีไร ได้ทอดพระเนตรเห็นกระจกทองเข้า จึงร่ายมนต์แบ่งจิตใส่เข้าไว้ในบานกระจกทองคำ พร่ำบ่นว่า แม่กระจกทอง เราใคร่จะพูดกับนางกัลยาณีพี่กลัวเธอจะไม่พูดด้วย แม่กระจกทองพี่ใคร่จะพูดกับน้อง แม่กระจกทองจักพูดด้วยพี่หรือไม่ ข้าแต่เจ้าพระองค์จักปราศรัยและไต่ถามข้อสิ่งไร เชิญถามเถิดหม่อมฉันจักทูลถวาย แม่กระจกทองพี่จะเล่านิทานให้ฟัง จงตั้งใจฟังนะ ตรัสดังนี้แล้วจึงนำนิทานเก่ามาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ว่า
ปุพฺเพ จตฺตาโร มาณวา ฯลฯ ปเทเส วสนฺติ
ในกาลปางก่อน มีมาณพสี่คนเรียนศิลปได้คนละอย่าง พร้อมกันกลับแต่เมืองตักกสิลามาหยุดพักอยู่ประเทศหนึ่ง ใกล้มหานทีระหว่างทางมาณพผู้หนึ่งเรียนตำราโหรมาจึงพูดขึ้นว่า ประเดี๋ยวจะมีนกอินทรีตัวหนึ่งพาราชธิดาบินมาในอากาศจะมาถึงที่พวกเราอยู่นี้ มาณพผู้หนึ่งเรียนศิลปธนูได้มาจึงพูดว่า ถ้านกคาบเอาราชธิดามาจริง เราจะยิงให้พลัดตกลงมา พูดกันไม่ทันจะขาดคำนกอินทรีก็คาบราชธิดาบินมาถึงที่นั้น มาณพรู้วิชายิงธนูนั้นก็ยิงลูกไป นกนั้นตกใจก็ปล่อยราชธิดานั้นเสียแล้วบินไป นารีผู้นั้นตายตกจมลงไปในท่ามกลางมหานที มีมาณพผู้หนึ่งเรียนวิชาดำนำได้มา จึงโดดลงในนทีดำน้ำค้นหาพบราชธิดาจึงอุ้มขึ้นมาจากน้ำ มาณพผู้หนึ่งจึงเสกเป่ามนต์ให้นางนั้นมีชีวิตคืนเป็นมาได้
พระเวชกุมารตรัสถามบานกระจกว่า แม่กระจกทอง มาณพสี่คนอยากได้นางนั้นด้วยกันทุกคน ก็มาณพคนไรควรจะได้แท้ พระราชกุมาร หม่อมฉันอยากจะให้นารีนั้นแก่มาณพผู้ทำให้กลับเป็นขึ้นมา แม่บานกระจกทอง คำของน้องพูดควรแล้วหรือ นางกัลยาณีราชธิดาเคาะบานกระจกแล้วพูดว่า แม่บานกระจกทอง เจ้าพูดอย่างไร มาณพคนใดดูฤกษ์ในอากาศ มาณพคนนั้นเหมือนเป็นบิดาของนารีนั้น มาณพคนใดยิงนกให้หนีไป มาณพคนนั้นเป็นเหมือนมารดาของนารีนั้น มาณพคนใดปลุกเสกให้เป็นขึ้นได้ มาณพคนนั้นเป็นเหมือนพี่ชายของนารี มาณพคนใดดำน้ำไปอุ้มขึ้นจากน้ำได้ มาณพคนนั้นเป็นภัสดานารีแท้ เพราะเหตุได้สำผัสถูกตัวนารีก่อนมาณพทั้งปวง นางกัลยาณีพูดเท่านี้แล้วนิ่งไป
พระเวชกุมารถอดจิตจากบานกระจก แล้วใส่เข้าไว้ในขันทองคำแล้วพูดว่า
แน่ะพี่ขันทอง น้องจะถามปัญหากะพี่ พระราชบุตร พระองค์จะถามสิ่งใดจงถามเถิดแน่ะพี่ขันทอง มีมาณพสี่คนเรียนศิลปได้แล้ว ชวนกันออกจากเมืองตักกสิลา มาหยุดอยู่ ณ ประเทศแห่งหนึ่งในระหว่างทาง มีเสือโคร่งตัวหนึ่งนอนเขม้นดูอยู่ มาณพเหล่านั้นไม่อาจจะนอนหลับได้ มาณพคนหนึ่งจึงเอาไม้มาถากทำเป็นรูปนารีตั้งไว้ มาณพคนหนึ่งจึงเป่ามนต์ยังอาการสามสิบสองมีขนผมเป็นต้นให้เกิดขึ้น มาณพคนหนึ่งจึงอำอายตนะมีจักษุเป็นต้นให้นารีนั้น มาณพคนหนึ่งจึงเป่ามนต์ทำชีวิตจิตใจให้เกิดขึ้น สรีระกายาของนารีนั้นก็อ่อนไหวทั่วอินทรีย์
พระเวชกุมารตรัสถามขันทองว่า มาณพทั้งสี่เห็นนารีนั้นอยากได้ทุกคน ก็มาณพคนใดสมควรจะได้นารี พระราชกุมาร ข้าพระบาทจักให้นารีนั้นแก่มาณพผู้ให้ชีวิตแก่นารี นางกัลยาณีราชธิดาจับขันทองแล้วพูดว่า ดูกรทอง ถ้อยคำที่ท่านพูดนั้นหาควรไม่ มาณพคนใดทำผมขนเป็นต้นให้นารี มาณพคนนั้นเหมือนเป็นพี่ชาย มาณพคนใดทำอิตถีภาพคือจักษุโสตลิ้นนมให้นารี มาณพคนนั้นเป็นสามีแท้ มาณพคนใดให้ชีวิตแก่นารี มาณพคนนั้นสมควรตั้งอยู่ฐานเป็นมารดาของนารี นางกัลยาณีพูดเท่านี้แล้วนิ่งเสีย
พระเวชกุมารถอดจิตจากขันทอง เอาใส่เข้าในหมอนทองต่อไป จึงตรัสว่าจะถามปัญหากะหมอนทองแล้วเล่านิทานว่า มีบุรุษคนหนึ่ง ทำชั่วร้ายพระราชาบังคับให้เสียบหลาวไว้ที่ประตูเมือง หญิงนครโสภินีสี่คนพบบุรุษนั้นรูปงามมีความรักใคร่ หญิงคนหนึ่งจึงเอาทองพันหนึ่งไปถวายพระราชา ขอถ่ายโทษให้บุรุษนั้นพ้นความตาย หญิงผู้หนึ่งนำข้าวนำน้ำและผลไม้มาให้บุรุษนั้นกิน หญิงคนหนึ่งหายารักษาแผลมาให้บุรุษคนนั้น หญิงคนหนึ่งต้มน้ำร้อนให้อาบนวดมือและเท้าและให้ของเครื่องขบเคี้ยวกับโภชนาหาร ทำการปฏิบัติแก่บุรุษนั้น แน่ะหมอนทอง หญิงคนไรควรจะได้เป็นภรรยาของบุรุษนั้น พระราชบุตร หญิงที่เอาทองพันหนึ่งไปถ่ายเอาบุรุษนั้นมาให้รอดความตายนั่นแหละ ควรได้เป็นภรรยาบุรุษนั้น นางกัลยาณีราชธิดาจึงจับหมอนพลิกไปมาแล้วตอบว่า แน่ะหมอน ให้เจ้าอยู่สำนักเราเจ้าพูดอะไรอย่างนี้หาถูกไม่ หญิงคนใดให้ชีวิตบุรุษนั้น หญิงคนนั้นเป็นเหมือนบิดา หญิงคนใดนำเอาโภชนาหารและผลไม้มาให้บุรุษนั้น หญิงคนนั้นเป็นเหมือนมารดา หญิงคนใดหายามาใส่แผลให้ หญิงคนนั้นเป็นเหมือนพี่สาว หญิงคนใดหาน้ำเย็นน้ำร้อนมาทำวัตรปฏิบัติบุรุษคนนั้น หญิงคนนั้นสมควรเป็นภรรยาบุรุษนั้นโดยแท้ พูดดังนี้แล้วนิ่งไป
พระเวชกุมารถอดจิตจากหมอนทอง เอาใส่เข้าไว้ในผ้าห่มของนางกัลยาณี แล้วตรัสว่า แน่ะผ้าห่มดังสาวใช้ จะเล่านิทานให้ฟัง มีหญิงสี่คนต้องการจะหาสามี พบบุรุษสี่คนเที่ยวหาภรรยา จึงสนทนาปราศรัยซึ่งกันและกัน บุรุษคนหนึ่งถามหญิงคนหนึ่งว่า แม่อยู่บ้านไหน หญิงนั้นเอามือลูบที่ตรงคอบอกว่านี้แหละบ้านฉัน บุรุษคนหนึ่งถามหญิงคนหนึ่งว่าแม่อยู่บ้านไหน หญิงนั้นเอามือลูบศีรษะแล้วบอกว่าบ้านของฉันอยู่ตรงนี้ บุรุษคนหนึ่งถามหญิงคนหนึ่งว่าแม่อยู่ที่ไหน หญิงนั้นเอามือลูบที่เครื่องหอมแล้วบอกว่าบ้านของฉันอยู่ตรงนี้ บุรุษคนหนึ่งถามหญิงคนหนึ่งว่าแม่อยู่ที่ไหน หญิงนั้นเอามือลูบถันแล้วบอกว่าบ้านฉันอยู่ตรงนี้ หญิงสี่คนนั้นบอกตำบลบ้านเป็นปริศนาแล้วก็พากันไป
บุรุษสี่คนคิดค้นปรึกษากันก็หารู้จักบ้านหญิงนั้นไม่ เดินไปพบบุรุษนักโทษคนหนึ่งอยู่ในป่า ซึ่งพระราชาบังคับให้เอาไปเสียบหลาวไว้ บุรุษนักโทษนั้นได้ยินบุรุษสี่คนหารือถามปัญหา จึงพูดขึ้นว่า ท่านทั้งหลาย จงไปหาน้ำมาให้เรากินก่อน เราจักบอกความปริศนาให้แก่พวกท่าน บุรุษสี่คนนั้นจึงตักน้ำมาให้บุรุษนักโทษนั้นกิน สูรถิตนักโทษจึงถามว่าหญิงสี่คนนั้นพูดอย่างไร บุรุษสี่คนก็เล่าความตามซึ่งหญิงที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ พูดนั้น ให้บุรุษนักโทษฟังถ้วนถี่
บุรุษนักโทษจึงบอกว่าบ้านของหญิงที่ ๓ นั้น มีกอถั่วคิ้วนางเป็นเครื่องหมาย ท่านที่ ๑ จงไปดูกอถั่วคิ้วนางซึ่งขึ้นอยู่ใกล้เรือนหญิงนั้นทางทิศอุดรก็จะได้เห็น บ้านของหญิงที่สองนั้นมีไร่ข้าวสาลีเป็นสำคัญ ไร่ข้าวสาลีนั้นมีอยู่ในทิศบูรพาแห่งเรือน ท่านที่ ๒ จงไปก็จะได้เห็น บ้านของหญิงที่ ๓ นั้นมีต้นจันทน์ผลดกอยู่ทักษิณทิศแห่งเรือน เมื่อท่านที่ ๓ เดินไปก็จะได้เห็นเป็นแน่ บ้านของหญิงที่ ๔ นั้น มีต้นตีนเป็ดอยู่ปัจฉิมแห่งเรือน ท่านที่ ๔ เมื่อเดินทางนั้นก็จะได้เห็นเป็นแน่
บุรุษสี่คนจึงพากันไปตามคำนักโทษบอก ก็ได้ประสบพบหญิงหมดทุกคน หญิงเหล่านั้นถามบุรุษสี่คนว่าใครบอกบ้านให้จึงได้มากันถูก บุรุษสี่คนก็บอกความจริงว่าบุรุษนักโทษที่นั่นบอกให้ หญิงสี่คนสละบุรุษสี่คนนั้นเสียพากันไปหาบุรุษนักโทษ ช่วยกันยกนักโทษคนนั้นลงจากหลาวแล้ว หญิงคนหนึ่งจึงให้ผ้านุ่งผ้าห่ม หญิงคนหนึ่งหาน้ำมาให้อาบ หญิงคนหนึ่งหาข้าวมาให้กิน หญิงคนหนึ่งหาอาสนะมาให้นั่งนอน แน่ะผ้าห่มต่างสาวใช้ ในหญิงสี่คนนั้นหญิงคนไรจะได้เป็นภรรยาคนใหญ่ หญิงคนไรจะได้เป็นภรรยาที่สองและที่สามที่สี่ของบุรุษนั้น พระราชบุตร หญิงคนใดตักน้ำมาให้อาบ หญิงคนนั้นลำบากมาก ควรตั้งให้เป็นภรรยาใหญ่ นางกัลยาณีราชธิดาจึงตอบว่าคำที่เจ้าว่ามานั้นหาควรไม่ หญิงคนใดให้ผ้าห่ม หญิงคนนั้นพึงตั้งไว้ให้เป็นภรรยาใหญ่ หญิงคนใดให้อาสนะ หญิงคนนั้นพึงตั้งไว้ให้เป็นภรรยาที่สอง หญิงคนใดแต่งโภชนะให้บริโภค หญิงคนนั้นพึงตั้งให้เป็นภรรยาที่สาม หญิงคนใดตักน้ำมาให้อาบ หญิงคนนั้นพึงตั้งให้เป็นภรรยาที่สี่ นางกัลยาณีราชธิดากล่าวเท่านี้แล้วก็เลยนิ่งไป
ฝ่ายพระเวชกุมารจึงตะคอกขู่ว่า แน่ะผ้าห่มต่างสาวใช้ ราชธิดานายของเจ้านี้หาความอายมิได้ น่าจะเป็นบ้าหรือกาลิณีหามีวัตรกิริยาไม่ หำไมจึงไม่พูดกับบุรุษเช่นตัวเรา แต่บานกระจกทองและขันทองหมอนทองเป็นของหาจิตวิญญาณมิได้เขายังพูดกับเรา ก็ราชธิดานี้มีจิตวิญญาณยังไม่รู้จักบุรุษเช่นตัวเรา นางจะหาสามีที่ดีกว่าเราไปจะได้ที่ไหน และเธอไม่พูดกับเราก็ช่างเถอะ เธอจงอยู่ให้สบายเราจักไปหละ ตรัสดังนี้แล้วก็แสดงอาการทำทีจะลุกไป
นางกัลยาณีราชธิดาจึงดำริว่า พระราชกุมารองค์นี้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ทั้งรูปก็งาม สตรีจักหาบุรุษให้เลิศกว่าราชกุมารนี้ไป ตายเสียเปล่าก็หาไม่ได้เป็นแน่แท้ ดำริแล้วก็อุฏฐาการตรงเข้ากอดพระบาทราชกุมารไว้ทูลว่า หม่อมฉันคอยหามานานไม่พบพระองค์เลย พึ่งได้ประสบพบกัน ณ วันนี้ แล้วจึงเชิญให้ราชกุมารประทับนั่ง ณ ปัญญัตตาสนะ ขณะนั้นนางกุมาริกาสาวใช้พากันไปกราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบ พระเจ้าเวชมาทิตทรงพระโสมนัส จึงจัดการราชาภิเษกยกราชธิดานั้นให้เวชกุมารและทรงมอบราชสมบัติทั้งหมดให้สิทธิขาด พระเจ้าเวชราชได้ดำรงราชัยแล้วจึงตั้งอมัจจบุตรซึ่งไปเรียนมนต์ด้วยกันมาให้เป็นเสนาบดี พระองค์ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมสงเคราะห์ราษฎรด้วยสังคหวัตถุสี่
ครั้นอยู่จำเนียรกาลมา เวชราชาประสงค์จะเสด็จไปประพาสป่า จึงให้เตรียมจตุรงคเสนาโยธามีเสนาบดีเป็นประมุขเสร็จแล้วเสด็จไป ครั้นเสด็จถึงประเทศตำบลหนึ่ง จึงร่ายมนต์ถอดจิตจากกายของพระองค์ใส่ในกายเนื้อตาย สรีรกายพระราชาก็นอนกลิ้งอยู่ ณ ปฐพี เนื้อตายนั้นก็กลับเป็นลุกเล่นไปป่าเที่ยวไปยังที่อื่นๆ เสนาบดีเห็นอาการของพระราชาเป็นเช่นนั้น จึงร่ายมนต์ถอดจิตจากกายของตนใส่เข้าไปในกายพระราชา ทิ้งร่างกายของตนไว้ในป่าแล้วบังคับอำมาตย์ให้ยกพลเสนากลับยังพระนคร เลยขึ้นยังราชนิเวศน์แสดงอาการวิปริตพูดก็ผิด จะทำอะไรก็หยาบคายแปลกกว่าพระเจ้าเวชราช
ฝ่ายพระนางกัลยาณีเทวี เห็นอาการกิริยาของพระราชานั้นวิปริตผิดไป นึกสงสัยขึ้นมาจึงถามอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า เสนาบดีมาหรือเปล่า พระแม่เจ้าข้า สริรกายของเสนาบดีนั้นเห็นนอนกลิ้งอยู่ที่ป่า แต่ข้าพระบาทหารู้เรื่องราวไม่ พระนางกัลยาณีเทวีดำริว่า พระราชาจะถอดจิตไปไว้เสียที่ร่างอื่น เสนาบดีจึงถอดจิตของตนใส่กายพระราชา ทิ้งกายาของตนไว้พาโยธากลับมาละทิ้งพระราชาเสีย เสนาบดีผู้นี้เป็นคนอกตัญญู นางนึกรู้แล้วก็ไม่ไปยังราชูปัฏฐาก แม้ถึงพระราชาปลอมมาหานาง ๆ ก็ไม่พูดด้วย
ฝ่ายพระราชากายาเป็นเนื้อ เมื่อสัญจรไปได้ความลำบากเกิดอยากน้ำขึ้นมา พบสระน้ำแห่งหนึ่งจึงลงไปกินน้ำในสระพบนกสุวโปฎกตายตัวหนึ่งจึงร่ายมนต์ถอดจิตไปใส่กายสุวโปฎก พระราชาก็กลายเป็นสุวโปฎกบินไปโดยอากาศ ได้มาจับอยู่ ณ บัญชรปราสาทของนางกัลยาณีเทวี ๆ ทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงนั่งจ้องดูสุวสกุณอยู่ด้วยคิดว่าจิตพระราชาเข้าสิงในกายนกนี้แล้ว สุวสกุณราชตรัสคาถาด้วยภาษามนุษย์ดังนี้ว่า
อมิตฺตสฺส จ สุนฺทรํ | อิตฺถิยา วจนํ สจฺจํ |
เทฺว ธมฺมา น สทฺธเหตพฺพา | อิตฺถิยา หิ มนํ วงฺกํ |
อมิตฺตสฺส จ อธฺวํ | เทฺว ชนา น เสวิตพฺพา |
ความว่า ใจของอมิตรว่าดี ถ้อยคำสตรีว่าจริง ธรรมสองสิ่งว่าไว้กระนี้ ใคร ๆ อย่าพึงเชื่อถือเลย เพราะใจของสตรีมีแต่คิดคดไม่ซื่อตรง ใจของอมิตรเล่าก็ไม่ยั่งยืน ชนสองจำพวกนี้อย่าพึงคบเลย
นางกัลยาณีเทวีสดับสุวราชดำรัสดังนั้นดำริว่า สุวสกุณนี้เป็นสามีของเราแน่ จึงตรัสตอบสุวโปฏกว่า หญิงคนอื่นจงยกไว้ หญิงเช่นหม่อมฉันใจคดอย่างไร รูปกายก็เป็นภัสดาแต่จิตนั้นเป็นของผู้อื่นไป หม่อมฉันเข้าไปใกล้ผู้ใดก็มิได้เจรจากับผู้นั้นเลย เมื่อนางจะเชิญสุวราชาให้ลงมาจึงตรัสคาถานี้ว่า
สุวราช นิวตฺตสฺสุ | ตว อาสเน ปลฺลงฺเก |
วิจิตฺตสณฺเร จาปิ | นิสีทถ นิปฺปชฺชถ |
ความว่า ข้าแต่สุวราช เชิญพระองค์เสด็จกลับลงมาประทับนั่งและบรรทม ณ บัลลังก์อาสน์ราชไพจิตรบรรจฐรณ์ ซึ่งพระองค์เคยทรงประทับเถิดพระเจ้าข้า
สุวราชาจึงเสด็จเข้าไปในปราสาทประทับ ณ ราชบัลลังก์ นางกัลยาณีเทวีจึงจัดข้าวตอกกับนำผึ้งถวาย ทำการต้อนรับเสด็จแล้วคิดว่า เราจักหารูปเดิมของภัสดามาให้ใส่จิตจนได้ ดำริแล้วก็ถามสุวราชว่า พระองค์เสด็จมาแต่ที่ไหน เรามาแต่ป่า พระองค์เสด็จมาแต่ไหนก่อนจึงไปป่า สุวราชจึงตรัสว่า เราออกแต่เมืองนี้ก่อนจึงไปป่า ได้เห็นเนื้อตายตัวหนึ่งจึงร่ายมนต์ถอดจิตเข้าสิงกายเนื้อตาย แล้วจึงกลายเป็นเนื้อไปป่า ครั้นกลับมาก็มิได้เห็นพวกโยธา เที่ยวไปพบกายเสนาบดีก็จำได้ นึกว่าเสนาบดีอกตัญญูต่อเราแล้ว ต่อนั้นไปได้พบรูปสุวตาย จึงร่ายมนต์ถอดจิตให้เข้าสิงในกายสุวสกุณ เรากลายเป็นสุวสกุณมาสู่สำนักของเธอ อนึ่งเธอได้เห็นภัสดาของเธอมีอาการวิปริตหรือไม่เล่า ข้าแต่สุวราชา หม่อมฉันนึกรู้แล้วว่า พระราชสามีของหม่อมฉันจะถอดจิตใส่ร่างรูปอื่นเสด็จไป เสนาบดีจึงถอดจิตเข้ารูปพระราชามาแน่ทีเดียว หม่อมฉันคิดไว้ว่าจะหารูปกายมาให้พระราชสามีเหมือนนางสิริโสภาเทวี เที่ยวหาจิตมาให้ภัสดาฉะนั้น เออ เรื่องราวนางสิริโสภาเทวีหาจิตมาให้พระราชสามีนั้นเป็นอย่างไร นางกัลยาณีเทวีจึงนำตัวอย่างมาเล่าให้สุวสกุณราชฟัง ดังมีเนื้อความต่อไปนี้ว่า
มีพระราชาสามนต์องค์หนึ่ง ครองราชสมบัติ ณ พระนครหนึ่ง อัครมเหสีของพระราชาสามนต์นามว่าสิริโสภา ครั้นอยู่มานานพระราชานั้นทิวงคตล่วงไป นางสีริโสภาเทวีจึงเอาสริรศพใส่หีบเก็บไว้แล้วสั่งอำมาตย์ว่า เราจะไปเที่ยวหาชีวิตมาให้พระราชสามี เมื่อเรายังไม่กลับมาท่านทั้งหลายอย่าได้เผาพระศพเลยเป็นอันขาด สั่งแล้วก็ลงจากปราสาทไป เที่ยวเสาะถามสมณพราหมณ์ผู้บัณฑิตทั่วไป ถึงเมือง ๆ หนึ่ง พระราชาเมืองนั้นสวมฉลองพระบาททิพย์เหาะไปในอากาศได้ อนึ่งผู้ใดทำกาลตายไป พวกญาติให้อสุภนั้นอาบน้ำรองบาททิพย์แล้ว ผู้นั้นก็ได้ชีวิตคืนเป็นอย่างเติม นางสิริโสภาเทวีไปถึงเมืองนั้นแล้ว ไปขออาศัยยายแก่เฝ้าสวนดอกไม้อยู่ด้วย ยายแก่นั้นหามีลูกหลานไม่จึงรักใคร่นางสีริโสภาเทวีนัก นางสิริโสภาไปเลือกเก็บดอกไม้มาร้อยพวงมาลาให้ยายแก่พวงหนึ่ง จึงยายแก่เอาพวงมาลานั้นไปถวายพระราชาๆ ทอดพระเนตรเห็นโปรดชมว่าดี จึ่งถามยายแก่ว่าพวงมาลานี้ไครร้อยให้ พระมหาราช นางสิริโสภาธิดาเกล้าหม่อมฉันเขาร้อยให้ ยายได้ธิดามาแต่ไหน แต่ก่อนร่อนไรไม่เห็นมีบุตรธิดาเลย เดี๋ยวนี้จึงมีธิดาขึ้นเล่า ข้าแต่เทวดา ธิดานั้นพลัดมาแต่เมืองอื่น เป็นหญิงเกิดในขัตติยตระกูลรูปก็งามนามก็เพราะ สำเนียงไพเราะ เจรจาน่ารักนัก พระราชาสดับยายแก่บอกดังนั้น ทรงพระโสมนัสจึงตรัสกับพวกเฒ่าแก่ว่า ท่านเฒ่าแก่ชาวแม่จงพากันตรวจดูอิตถีลักษณะ ถ้าว่าธิดานั้นสมบูรณ์ด้วยอิตถีลักษณะจริงไซร้ เราจะให้เอาวอไปรับนางมา พวกเฒ่าแก่ชาวแม่จึงออกไปดูเห็นธิดานั้นสมบูรณ์ด้วยอิตถีลักษณะ จึงเชิญจะให้ขึ้นวอมา ธิดานั้นหามาไม่ พระราชาใช้ให้เฒ่าแก่ไปรับอีกสองสามครั้งนางก็ไม่มา พระราชาต้องเสด็จไปเอง แล้วรับนางธิดามาให้ขึ้นยังปราสาท
นางสิริโสภาเทวีขึ้นยังปราสาท แล้วเที่ยวตรวจตราดูทั่วไป พบพระบาททิพย์แขวนอยู่ที่สูงจึงทูลว่า ข้าแต่เทวดา เหตุไรพระองค์จึงเอารองพระบาทแขวนไว้ ณ ที่สูง ทรงทำอย่างนี้ หาควรไม่ พระราชาตรัสว่า รองบาททิพย์นี้มีคุณมาก สรีระของคนตายแล้วมีอยู่ ได้เอารองบาททิพย์นี้ใส่ลงในขันนำทองตั้งบูชาไว้ จึงเอาน้ำอาบรูปคนตาย ๆ นั้นจักได้ชีวิตเป็นขึ้นมาเหมือนเก่า นางสิริโสภาฟังพระราชาเล่าดังนั้นดำริว่า เราจักเอารองบาหนี้ไปให้ได้ แล้วนางจึงทูลว่า พระองค์สำคัญว่าแขวนไว้บนเป็นมงคลหรือ หม่อมฉันเห็นว่าแขวนไว้บนเป็นอวมงคล พระองค์จงเอารองบาทแขวนไว้ ณ ที่ต่ำจึงควร พระราชาจึงปลดรองบาททิพย์วางไว้ ณ ที่ต่ำ นางทำมารยาทูลว่าพระองค์ทรงพาหม่อมฉันมาด้วยทำความข่มเหงหาเกรงยายผู้ปกครองไม่ อวมงคลจะมีแก่หม่อมฉัน เพราะฉะนั้นพระองค์จะส่งเครื่องบรรณาการไปให้แก่ยาย ๆ อนุญาตแล้ว ความสวัสดิมงคลจึงจะมีแก่หม่อมฉัน เออยายนั้นแกเป็นบ่าวของเรา ยายแก่เป็นบ่าวพระองค์ก็จริงแล แต่พระองค์ส่งบรรณาการไปให้นั้นย่อมเป็นประเวณีธรรมส่วนหนึ่ง พระราชากำลังสั่งให้ผงกเฒ่าแก่จัดเตรียมบรรณาการจะส่งไป นางสิริโสภาเทวีเห็นพระราชาเผลอแล้ว สวมรองบาททิพย์เหาะไป ณ อากาศไปถึงปราสาทของนาง จึงเอารองบาททิพย์นั้นใส่ในขันน้ำทองยกเอาอสุภมาอาบน้ำในขัน อสุภนั้นก็งามผุดผ่อง ได้ดำรงชีพคืนมาเหมือนดังเก่า
นางกัลยาณีเทวีนำอุทาหรณ์มาเล่าอย่างนี้แล้วรับสั่งว่า ข้าแต่สุวราช นางสิริโสภาเที่ยวหาชีวิตถวายพระภัสดาๆ ได้ดำรงชีพคืนมาฉันใด หม่อมฉันจะหาชีวิตถวายพระราชสามีเหมือนดังนางสิริโสภาฉะนั้น ข้าแต่สุวราช หม่อมฉันจักทำจิตเสนาบดีให้ตายด้วยอุบายอันหนึ่งมีอยู่ แล้วนางก็สรงน้ำ ทรงประดับเครื่องอลังการเข้าไปยังสำนักเสนาบดีรับสั่งว่า มหาราช พระองค์จงแสดงอิทธิฤทธิให้หม่อมฉันดูบ้าง เสนาบดีหารู้จักอุบายไม่เทียว จึงบังคับให้พวกอำมาตย์หาสัตว์ตาย ๆ มา พวกอำมาตย์ไปหาได้แพะตายมาถวายตัวหนึ่ง เสนาบดีจึงร่ายมนต์ถอดจิตใส่ในกายแพะตาย สุวราชจึงร่ายมนต์ถอดจิตใส่ในรูปของพระองค์ แล้วรับสั่งอำมาตย์ให้ฆ่าแพะนั้นเสีย จิตเสนาบดีสิงอยู่ในกายแพะก็ดับไป ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าเวชราชและนางกัลยาณีเทวี ก็ได้ดำรงราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมต่อไป
นางนารีมีปัญญานำนิทานมาเล่าถวายพระเจ้าจัณฑราช แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เทวดา พระราชาองค์ใดรักษาประเวณีธรรมไว้ได้ พระราชาองค์นั้นพึงเลือกสตรีสมควรเป็นมเหสี สตรีผู้ใดซื่อตรงมีปัญญาเหมือนดังนางกัลยาณีเทวี และนางสิริโสภาเทวี พระราชา ควรตั้งสตรีนั้นไว้ในที่อัครมเหสี เมื่อได้หญิงแก้วแล้วอย่างนี้ พึงทรงเลือกบุคคลที่ตั้งไว้ในที่อำมาตย์ อย่าพึงทรงตั้งบุคคลไม่ดีไว้ในฐานันดร เหมือนดังเสนาบดีนั้นเลย นางนารีนั้นนำนิทานมาเล่าถวายพระเจ้าจัณฑราชแต่ประถมยามจนถึงมัชฌิมยาม พระเจ้าจัณฑราชจึงรับสั่งถามต่อไปว่า ก็พระเจ้าเวชมาทิตทรงตั้งอำมาตย์กตัญญูผู้ซื่อตรงไว้ในฐานันดร เรื่องราวนั้นเป็นอย่างไร นางนารีนั้นจึงนำอุทาหรณ์มาเล่าถวาย ดังแจ้งต่อไปนี้ว่า
ในกาลปางก่อนมีพระราชานามว่าเวชมาทิต ครอบครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระราชาพาราณสีนั้นตั้งแต่ประสูติจากครรภ์พระมารดามา ทรงตั้งอยู่ในเอกันตบรมสุข หาทราบความทุกข์ลำบากว่าเป็นอย่างไรไม่ เฝ้าแต่ถามพวกอำมาตย์อยู่บ่อย ๆ ว่า อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเวทนา อะไรทำให้กายเร่าร้อน มีอำมาตย์ผู้หนึ่งคิดจะให้พระราชาทราบความลำบาก จึงให้นายเนสาทจับเนื้อป่ามาตัวหนึ่ง แล้วประดับด้วยอัสสาภรณ์ ผูกไว้เสร็จ จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาว่าพระองค์จะใคร่ทรงทราบทุกขเวทนา เชิญพระองค์ทรงหลังเนื้อไปเถิด พระเจ้าข้า พระราชาพาราณสี เสด็จขึ้นประทับบนหลังมฤคี ๆ นั้นก็วิ่งแล่นพาเข้าป่าไปหลายวัน เนื้อและพระราชานั้นอ่อนกำลังลงเดินเซซังไปถึงเมือง ๆ หนึ่ง พระราชาหิวหอบบอบกายเสด็จจากหลังมฤคเข้าอาศัยบ้านหนึ่งอยู่ในเมืองนั้น มีหญิงนครโสเภณีรูปสวยคนหนึ่ง บุรุษใดไปร่วมภิรมย์ด้วยนางนครโสเภณีนั้นคืนหนึ่ง บุรุษคนนั้นต้องให้ทรัพย์พันหนึ่งทุกคืนไป นางนครโสเภณีคนนั้น เห็นพระราชารูปงดงามนางคิดว่าบุรุษผู้นี้ลักษณะดี หาใช่คนเลวทรามไม่ นางให้นึกรักใคร่ได้นำกระยาหารมาถวาย และชวนให้นอนด้วย นางก็บำเรอพระราชาด้วยกามคุณทั้งสิ้นราตรีหนึ่ง พอรุ่งเช้าพระราชาใคร่จะเสด็จไป หญิงนั้นก็ห้ามไม่ให้ไปทวงจะเอาทรัพย์พันหนึ่งกับพระราชาๆ ก็ไม่มีทรัพย์ให้ นางจึงกักตัวไว้ แล้วคิดว่าดีร้ายบุรุษนี้น่าจะเป็นพระราชา ต่อแต่นั้นมาพระราชาจะประทับประทมสรงเสวยก็แสนลำบาก ทรงคิดได้ว่าเรารู้จักทุกขเวทนาหละคราวนี้
ครั้งนั้นแลอำมาตย์ผู้จัดให้พระราชาทรงหลังมฤคไปนั้นคิดว่า เราจักไปติดตามหาพระราชา ๆ เสด็จไปนานนักหนา บัดนี้จะเสด็จประทับอยู่ที่ไหน อนึ่งเราจะไปมือเปล่าหาควรไม่ เราจักเอาอะไรไปก็จะรุงรัง ควรจะเรียนศิลปติดตัวไป เมื่อคับแค้นจะได้ใช้แก้ไข คิดแล้วไปสู่ป่าเข้าไปหาพระดาบสองค์หนึ่ง ขอเรียนคุลศิลป คุลศิลปะนั้นคือเอาดินและหินเป็นต้น ใส่คลุกด้วยกันปั้นไป ก็กลายเป็นทองคำด้วยอำนาจคุลศิลป อำมาตย์นั้นครั้นเรียนคุลศิลปได้แล้ว จึงลาพระดาบสไปป่าเที่ยวไปถึงสระน้ำแห่งหนึ่ง จึงซ่อนตัวอยู่ที่ริมขอบสระน้ำ
คราวนั้น มีกินรีมาที่สระน้ำนั้นเปลื้องสรรพาภรณ์ไว้แล้วเข้าไปใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่ง จึงถากเปลือกไม้นั้นกิน กินรีนั้นก็กลายเป็นช้างพังไป แล้วลงเล่นน้ำอยู่จนเวลาเย็น ช้างพังนั้นจึงเข้าไปใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่ง กัดเอาเปลือกไม้กิน ก็กลับเป็นกินรีขึ้นมาอีกแต่ยังพูดไม่ได้ กินรีนั้นเข้าไปใกล้ต้นไม้อื่นกัดเปลือกไม้นั้นกิน กินรีนั้นก็พูดและร้องรำทำเพลงได้บินไปทางอากาศกลับไปยังที่อยู่ของตน
อำมาตย์นั้นครั้นเห็นกิริยาอย่างนั้น จึงไปถากเอาเปลือกไม้ใส่กะทอเที่ยวหาพระราชาต่อไป เที่ยวตามป่าน้อยใหญ่อีกนานจึงถึงบ้านนั้นเข้า พบพระราชแล้วถวายบังคมทูลว่า พระองค์ทรงทราบทุกข์น้อยใหญ่และเวทนาน้อยใหญ่หรือยัง เรารู้ดีหละ ถ้ากระนั้นเชิญเสด็จไปเมืองของพระองค์เถิด เราจักไปไม่ได้ เราเป็นหนี้ทรัพย์พันทองของหญิงแพศยาอยู่ อำมาตย์นั้นจึงเอาดินกับหินคลุกเข้าด้วยกันปั้นไป ดินกับหินก็กลายเป็นทองคำมากมาย อำมาตย์ก็เอาทองนั้นไปให้แก่หญิงแพศยานั้น พระราชาก็พ้นจากความเป็นหนี้นางนครโสเภณี
อำมาตย์นั้นเอาเปลือกยาใส่ในบ่อน้ำ นางนครโสเกณีดื่มน้ำแล้วก็กลายเป็นช้างพังวิ่งเข้าไปหาพระราชา ๆ จึงตรัสกับอำมาตย์ว่า ท่านจงทำช้างพังให้เป็นหญิงมนุษย์เสีย หาไม่บาปกรรมจะมีแก่ตัวเรา อำมาตย์จึงเอาเปลือกยาอื่นใส่ในบ่อน้ำ ช้างพังนั้นดื่มน้ำในบ่อก็กลายเป็นหญิงมนุษย์แต่ยังพูดไม่ได้ พระราชารับสั่งกับอำมาตย์ว่าจงทำให้เขาพูดเสียให้ได้ ข้าแต่เทวดา นางนี้พูดได้แล้วก็จักไปทูลฟ้องพระราชาเมืองนี้ เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้ากับพระองค์จงเตรียมหนีไปเสียเถิด เออดีหละ อำมาตย์นั้นจึงเอาเปลือกยาอื่นใส่ไว้ในบ่อน้ำแล้วก็ไป พระเจ้าเวชมาทิตกับอำมาตย์หนีไปคืนยังรุ่ง ล่วงพ้นเขตแดนเมืองนั้นไปไกล ครั้นรุ่งเช้าหญิงแพศยานั้นดื่มน้ำกินแล้วก็พูดได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาเจ้าเมืองนั้นกราบทูลเหตุผลต้นปลายให้ทรงทราบทุกประการ พระราชาเจ้าเมืองนั้นครั้นสดับแล้วรับสั่งให้อำมาตย์ตามจับพระเจ้าเวชมาทิต อำมาตย์พากันตามจับก็หาพบไม่จึงกลับมา
พระเจ้าเวชมาทิตกับอำมาตย์ เสด็จล่วงเลยป่าน้อยใหญ่ไปถึงเมือง ๆ หนึ่ง จึงหยุดพักอาศัยอยู่ศาลาหลังหนึ่ง ในเมืองนั้นมีหญิงนครโสเภณีรูปสวยคนหนึ่ง ถ้าว่าบุรุษไปสู่สำนักหญิงแพศยาแล้ว ยังมิได้หลับนอนด้วยกันหญิงนั้นก็เรียกเอาทรัพย์พันหนึ่งก่อน หญิงแพศยานั้นต่อเตียงใหญ่ไว้เตียงหนึ่งทำกระดานยนต์ไว้ภายใน ถ้าบุรุษนั่งถูกข้างกระดานยนต์แล้วก็พลัดตกเตียงลงไป พวกทาสีพากันจับคอบุรุษนั้นลากส่งไปเสีย บางครั้งบุรุษขึ้นนั่งถูกข้างกระดานข้างยนต์แล้วตกเตียงออกไปข้างล่างเลยไปทางอื่นเสีย บุรุษหาได้ถึงที่สุดตามประสงค์ไม่
คราวนั้น พระเจ้าเวชมาทิตทรงสดับรูปสมบัติของหญิงแพศยาจึงรับสั่งกับอำมาตย์ว่า เราจักไปหาหญิงแพศยาคนนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เทวดา พระองค์อย่าเพิ่งเสด็จไปเลยรอดูอยู่สักหน่อย ข้าพระพุทธเจ้าจักไปตรวจดูให้รู้กิริยาอาการเสียก่อน พระองค์จงเสด็จไปภายหลัง อำมาตย์ก็ไปยังสำนักหญิงนครโสเภณี นั่งบริโภคขัชโภชนาหารอันหญิงนั้นจัดให้ หญิงนครโสเภณีก็ทวงเอาทรัพย์พันหนึ่งกับอำมาตย์ ๆ ก็ยอมให้แล้วพูดว่า เราจักขอเข้าไปดูห้องนอนสักหน่อย นางก็อนุญาตให้อำมาตย์เข้าไปในห้อง อำมาตย์จึงขึ้นนั่งบนเตียงยนต์พลัดตกเตียงลงไป ทาสีทั้งหลายจึงจับคออำมาตย์ฉุดลากออกมา อำมาตย์กลับมาเฝ้าพระราชากราบทูลว่า พระมหาราช พระองค์จักเสด็จไปจงอย่าขึ้นประทับเตียงข้างซ้ายให้พระองค์เสด็จขึ้นข้างขวา นางแพศยาขึ้นข้างซ้ายก็จะตกเตียงไป พระองค์จงกอดนางไว้ก็จะได้สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง
พระราชาเวชมาทิตสดับฟังอำมาตย์บอกดังนั้น ทรงกำหนดจดจำไว้ถ้วนถี่ จึงเสด็จไปหานางนครโสเภณี เสวยโภชนาหารที่นางจัดถวายเสร็จเสด็จเข้าไปยังห้องใน ซึ่งนางห้อยดอกไม้และประดับด้วยนานาลังการงาม พระองค์จึงเสด็จขึ้นเตียงเบื้องขวา กอดเอานางแพศยาขึ้นเตียงเบื้องซ้ายไม่ให้หนีไป ได้เสวยกามรสสมความปรารถนา พระราชาเลยอยู่กับหญิงแพศยาต่อมาอีกได้เจ็ดเดือนหญิงแพศยานั้นก็ตั้งครรภ์ พระราชาประทานธำมรงค์ให้นางไว้วงหนึ่ง รับสั่งว่า ถ้าลูกเราเป็นผู้ชาย เธอจงให้ธำมรงค์นี้แก่โอรสแล้วส่งไปให้ถึงเมืองเรา ถ้าลูกเราเป็นหญิงเธอจงให้ธำมรงค์แก่ธิดา บำรุงเลี้ยงรักษาให้จงดี รับสั่งแล้วจึงพร้อมด้วยอำมาตย์เสด็จกลับยังนคร เสวยราชสมบัติโดยยุติธรรม จึ่งทรงตั้งอำมาตย์ผู้นั้นไว้ในที่เสนาบดี
บัณฑิตนารีนำนิทานนี้มาเล่าถวายพระราชาจัณฑราชแล้วทูลว่า พระมหาราช พระราชาทั้งหลายย่อมทรงเลือกตั้งอำมาตย์ และเสนาบดีล้วนแต่ซื่อตรงและกตัญญูกตเวที เหมือนอำมาตย์ของพระเจ้าเวชมาทิตราชฉะนั้น พระราชาจัณฑราชจึงตรัสถามต่อไปว่า กุมารที่ตั้งอยู่ในครรภ์นางนครโสเภณีนั้นคลอดเป็นชายหรือหญิง ข้าแต่เทวดา เป็นชาย พระเจ้าข้า ลูกชายทำกิริยาอาการอย่างไรไหนเล่าให้ฟังบ้าง บัณฑิตนารีนำนิทานเรื่องนั้นมาเล่าถวายอีก ดังแจ้งต่อไปนี้ว่า พระมหาราช นางนครโสเภณีมีครรภ์ครบสิบเดือนแล้วก็คลอดโอรส เมื่อเจริญวัยชันษาได้สิบหกปีจึงถามมารดาว่า ใครเป็นบิดาข้าพเจ้า บิดาของพ่อเป็นพระราชาพระนามว่าเวชมาทิตราช ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองหนึ่ง ข้าแต่มารดา ข้าพเจ้าไม่เชื่อมารดาอยู่เมืองนี้ บิดาสิอยู่เมืองหนึ่งไกลกันหนักหนา ถ้อยคำของมารดาบอกนั้นน่าแปลกใจ แน่ะพ่อบุตรสุดรักของมารดา บิดาของพ่อครองราชสมบัติอยู่เมืองหนึ่ง เที่ยวทรงประพาสป่ากับอำมาตย์หลงทางมาเมืองนี้ พระองค์ได้เป็นสามีมารดา ยังประทานธำมรงค์ไว้วงหนึ่งจึงเสด็จแต่เมืองนี้ไป ถ้าว่าพ่อใคร่จะเห็นบิดาจงใส่ธำมรงค์วงนี้ไป
ราชกุมารนั้นครั้นสดับทราบความแล้วก็โสมนัส จึงขอธำมรงค์กับทองคำแสนหนึ่งต่อมารดาได้ กราบไหว้มารดาลาออกจากเรือนไปองค์เดียว เทียวไปตามป่าน้อยใหญ่ ไปถึงบ้านโจรแห่งหนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านนั้น นายคามโภชกปกครองบ้านนั้นเป็นมหาโจร เห็นทองแสนหนึ่งก็อยากได้จึงพูดว่า แน่ะมาณพ ผู้ใดไม่รู้จักโจรศิลป ผู้นั้นจะไปที่ใดย่อมจะถึงความวินาศ เพราะเหตุนั้น พ่อจงเรียนโจรศิลปศาสตร์ไว้ ถ้าหากว่าพ่ออาจเรียนได้ จงให้ทองแสนหนึ่งแก่เราๆ จะบอกโจรศิลปให้พ่อ ราชกุมารก็ยอมให้ทองแสนหนึ่งแก่มหาโจร ๆ ก็บอกโจรศิลปให้ราชกุมารรู้โดยเร็ว ราชกุมารเรียนโจรศิลปได้แล้วออกจากโจรคาม หนีไปจนถึงเมืองราชบิดา อาศัยเรือนยายแก่คนหนึ่งอยู่
ต่อนั้นมาถึงเวลาพลบค่ำ ราชกุมารเที่ยวไปตามนานาวิถีลักเอาผ้าและอาภรณ์กับเงินทองของคนอื่นมาซ่อนไว้ในประเทศแห่งหนึ่งแล้วจึงกลับมาอยู่ที่เรือนยายแก่นั้น บางคราวราชกุมารขึ้นเรือนเสนาบดีและเศรษฐานุเศรษฐี นำเอาสรรพทรัพย์มาซ่อนไว้ในประเทศนั้น ประชาชนพากันไปยังราชสำนักกราบทูลไห้พระราชาทรงทราบ พระราชาก็ยังทรงนิ่งเฉยอยู่ อำมาตย์และราษฎรพากันกราบทูลเรื่องโจรกรรมแก่พระราชาแทบทุกวัน พระราชานั้นรับสั่งให้จับก็หามีใครจับได้ไม่ จึงรับสั่งให้เกณฑ์ราชโยธาไปรักษาตามนานาวิถีและประตูบ้านเมืองโดยกวดขัน
วันหนึ่งราชกุมารต้องการจะตัดผม ไปพาเอาทาริกาลูกนายประตูไปได้คนหนึ่ง จึงให้ทาริกานั้นแก่ช่างตัดผมแทนเงินค่าจ้าง ช่างตัดผมก็รับทาริกาไว้ ครั้นตัดผมแล้วราชกุมารบอกกับช่างตัดผมว่า ท่านจงรับเอาทาริกานี้ไว้ก่อน เราจะไปเอาทองที่บ้านเรากลับมาถ่ายทาริกาคืนไป พูดเท่านั้นก็ไป คราวนั้นนายประตูไม่รู้ว่าใครพาลูกของตัวไป เที่ยวตามหาจนทั่วไปก็ยังไม่พบ ถึงเวลาจวนพลบจึงไปพบลูกของตัวอยู่ที่เรือนช่างตัดผม นายประตูถามช่างตัดผมว่าเหตุไรท่านลักเอาถูกของเรามา ข้าไม่ได้ลักเอาลูกของท่านมา มาณพหนุ่มคนหนึ่งพามาให้แทนค่าจ้างตัดผมแก่เรา ก็มาณพนั้นเดี๋ยวนี้อยู่ไหน ดรุณมาณพนั้นไปยังไม่กลับมา ท่านจงชี้ตัวดรุณมาณพให้แก่เรา ถ้าชี้ตัวคนพามาไม่ได้ ท่านก็เป็นโจรนั่นเอง
ชนทั้งสองทุ่มเถียงไม่ตกลงกันแล้วไปหาอำมาตย์ผู้ชำระความเล่าความทั้งปวงให้ฟัง อำมาตย์ชำระความนั้นถามช่างตัดผมก่อนว่า จำเลยได้ทาริกามาแต่ไหน ช่างตัดผมให้การว่าดตรุณมาณพผู้หนึ่งมาจ้างให้ข้าพเจ้าตัดผมให้ ได้ให้ทาริกาไว้แทนเงินค่าจ้างตัดผมแก่ข้าพเจ้าส่วนหนึ่ง จำเลยถามดรุณมาณพหรือไม่ว่าทาริกานี้เป็นลูกของใคร ข้าพเจ้าหาได้ถามเขาไม่ เหตุไรจึงไม่ถามเขา ข้าพเจ้าเผลอไป เข้าใจเสียว่าทาริกานี้จะเป็นน้องหรือหลานของดรุณมาณพจึงรับไว้ จำเลยมีพยานหรือไม่ พยานของข้าพเจ้ามี ชายชื่อนั้นหญิงชื่อนี้เป็นพยานรู้เห็น โวหาริกามาตย์ให้เรียกพยานมาแล้วถามพยาน ๆ ให้การเป็นปากเดียวกันสมคำจำเลยให้การไว้ โวหาริกามาตย์พิจารณาแล้วเห็นว่าช่างตัดผมหาเป็นโจรไม่ ข้าพเจ้าไม่สามารถนำโจรมาได้ นำมาไม่ได้เพราะเหตุไร ข้าพเจ้าไม่รู้จักบ้านเรือนและบิดามารดาของโจร ถ้าเช่นนั้นจำเลยก็เป็นโจรนั่นซิ
โวหาริกามาตย์จึงพาตัวโจทก์จำเลยไปเฝ้าพระราชากราบทูลคดีความเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระราชาทรงฟังคำหาคำให้การโจทก์จำเลยแล้วดำริว่า ช่างตัดผมหาใช่เป็นโจรไม่แต่ก็เหมือนเป็นโจร เพราะจำเลยไม่อาจชี้ตัวโจรให้เห็นจริงได้ จึงรับสั่งให้หาตัวโวหาริกามาตย์เข้ามาตรัสว่า ท่านจงประกาศราชกติกาเป็นกำหนดกฎหมายไว้ว่า โจรลักพัสดุสิ่งของทองเงินอย่างใดได้ไป เจ้าของพัสดุเขาติดตามพบพัสดุนั้นทิ้งอยู่ในบ้านหรือเขตที่ของผู้ใด เจ้าของที่บ้านนั้นชี้ตัวโจรหรือนำจับโจรได้ ผู้นั้นก็หาความผิดมิได้ ถ้าว่าเจ้าของที่บ้านนั้นไม่อาจชี้ตัวโจรและนำให้จับโจรได้เจ้าของที่บ้านนั้นให้นับว่าเป็นตัวโจร อนึ่งช่างตัดผม ถ้าหากว่าเป็นโจรก็จะพาเอาทาริกาไปซ่อนไว้เสียที่อื่น บัดนี้ช่างตัดผมหาได้ซ่อนทาริกาไว้ไม่ ให้ทาริกาอยู่ในเรือนที่เปิดเผย อนึ่งช่างตัดผมให้การว่าทาริกาคนนี้โจรมาณพนำมาให้แทนทรัพย์ค่าจ้างตัดผม คำนี้สมจริงของช่างตัดผมมีอยู่เป็นหลัก ช่างตัดผมย่อมจะรู้จักโจรได้ดี เพราะฉะนั้นให้ช่างตัดผมนั้นสืบจับตัวโจรมาแสดงแก่เรา ถ้าช่างตัดผมนำโจรมาแสดงให้เห็น ราชอาชญายังมีติดตัวแก่ช่างตัดผมอยู่ ทรงประกาศดังนี้แล้วจึงบังคับอำมาตย์ทั้งหลายให้ประชุมกันจับโจรให้ได้
คืนวันนั้นเอง ราชกุมารเห็นกองเพลิงสว่างทั่วไป มหาชนมีอาวุธครบมือพากันนั่งล้อมนิเวศน์เสนาบดีอยู่ จึงปลอมเข้าไปนั่งกับมหาชนพูดหลอกว่า ที่ตรงโน้นโจรหนุ่มคนหนึ่งรูปร่างเหมือนข้าพเจ้าตามหลังข้าพเจ้า ๆ จึงหนีมาหาที่นี้ มหาชนถามว่าอยู่ไหนเล่า จึงชี้บอกว่าอยู่ตรงโน้น มหาชนตกตะลึงวิ่งตามไปก็ไม่เห็น ราชกุมารนั้นจึงฉวยได้ผ้าและทรัพย์เป็นอันมากวิ่งหนีไป มหาชนกลับมาไม่เห็นสิ่งของจึงว่าคนนี้เองเป็นโจร พากันค้นหาต่อไปก็ไม่เห็น
ครั้นต่อมาพระราชารับสั่งพาโหรมาตรัสถามว่า วันนี้โจรนั้นไปอยู่ที่ไหน โหรกราบทูลว่าวันนี้โจรไปอยู่ทางทิศอุดร ให้ไปตรวจดูที่ริมขอบสระน้ำ พระราชารับสั่งให้โยธาไปคอยจับ พวกโยธาพากันไปล้อมสระไว้และซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ ราชกุมารแปลงตัวไม่ให้ใครรู้จัก ถือเอาดินสีพองกับลูกมะขามป้อมไปยังสระน้ำวางสิ่งของไว้บนขอบสระแล้ว ลงไปก้มศีรษะลงล้างผมในสระนั้น พวกโยธาเห็นแล้วพากันเอาผ้าและอาวุธวางไว้ ตามลงไปในสระทำบ้วนปากล้างหน้ายืนอยู่ ราชกุมารเห็นพวกโยธาตามลงไป จึงรีบขึ้นมาฉวยผ้าและอาวุธได้วิ่งหนีไป พวกโยธาร้องว่าจับตัวให้ได้ ๆ ตามไปหน่อยหนึ่งก็ไม่เห็นตัว
อยู่ต่อมา พระราชารับสั่งถามโหรอีกว่าวันนี้โจรไปทิศทางไหน โหรกราบทูลว่าวันนี้โจรไปทางทิศบูรพา จึงรับสั่งให้คนฟอกผ้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า พวกเจ้าจงเอาผ้าไปซักที่แม่น้ำโน้นแล้วเอามาขึงตากไว้แล้วนั่งเฝ้าอยู่รอบนอก พวกฟอกผ้ากับโยธาพากันไปที่แม่น้ำในทิศบูรพา พากันฟอกผ้าแล้วตากไว้พวกโยธารักษาอยู่รอบนอก ตกเวลาเย็นพวกช่างฟอกเห็นผ้าแห้งดีแล้ว จึงเก็บพับทำเป็นห่อ ๆ วางไว้ พวกโยธากับช่างฟอกหารือกันว่า เวลานี้เย็นนักหนาโจรไม่มาแล้วพวกเราพากันไปบ้านเถิด ขณะนั้นราชกุมารเตินเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุมหามีใครรู้จักไม่ จึงไถลถามว่าห่อผ้าเหล่านี้หนักหรือเบาข้าพเจ้าจะยกไหวหรือไม่ ราชกุมารจึงยกห่อผ้าขึ้นบ่าแล้ววิ่งหนีไป มหาชนตามไปหาทันไม่แล้วกลับมานั่งอยู่ ราชกุมารเอาผ้าไปซ่อนไว้แล้วเปลี่ยนผ้านุ่งห่มเสียใหม่ ได้กลับมานั่งอยู่ในที่ที่ประชุมนั้นอีก เห็นพวกเหล่านั้นเผลอตัวไปฉวยอาวุธที่วางไว้วิ่งหนีอีก พวกโยธาพากันติดตามไปจับหาได้ไม่ พากันไปเฝ้าทูลเล่าความถวายพระราชา
พระราชารับสั่งถามโหร ๆ กราบทูลว่า วันนี้โจรไปในทิศทักษิณ เสนาบดีคิดจักไปจับเองจึงพาโยธาไปมากมาย ซ่อนซุ่มอยู่ตามพุ่มไม้คอยจับอยู่แต่เวลาเช้าจนถึงเวลาเที่ยง ครั้นถูกแดดร้อนเข้าเสนาบดีสั่งให้พวกโยธาไปคอยดักอยู่ท้ายน้ำ ส่วนตนก็ไปคอยดักอยู่เหนือน้ำ ราชกุมารได้ย่องเข้าไปฉวยผ้าและอาภรณ์ซึ่งวางกองไว้แล้ว เดินเลียบฝั่งหนีไปร้องตะโกนนอกพวกโยธาว่า บัดนี้เสนาบดีรบกับโจรอยู่ท่านทั้งหลายจงรีบขึ้นมาช่วยกัน พวกโยธาฉวยอาวุธได้วิ่งไล่ไปทิ้งบริขารทั้งปวงไว้ ราชกุมารย้อนกลับมาเอาบริขารของโยธาวิ่งหนีไป เสนาบดีเห็นโยธาวิ่งมาจึงถามว่า เหตุไรจึงพากันวิ่งมา โยธาแจ้งว่ามาณพคนหนึ่งเป็นบ่าวของท่านร้องบอกว่า เสนาบดีรบกับโจรอยู่ ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงพากันวิ่งพรูมา เสนาบดีขึ้นจากน้ำมาหาเห็นผ้าและอาภรณ์ไม่ จึงเข้าใจว่าโจรลักเอาไป เสนาบดีกลับมาเวลาเย็นเข้าไปเฝ้าทูลเล่าให้ทรงทราบ
พระราชารับสั่งว่าใครคนอื่นไม่อาจจับโจรได้ เราจักออกไปจับโจรนั้นให้ได้ จึงตรัสถามโหรว่าคืนวันนี้โจรจะไปทางไหน โหรกราบทูลว่าคืนวันนี้โจรจักอยู่ในทิศปัจฉิม พระราชารับสั่งให้หาตัวหญิงแพศยามาสั่งว่า แน่ะสาวใช้ เจ้าจงเทียวหาโจรพบตัวแล้วเกลี้ยกล่อมไว้ เวลาจวนจะสว่างเราจักให้โยธาไปล้อมบ้านจับโจรนั้นให้ได้ หญิงแพศยานั้นรับว่าสาธุแล้วเทียวเสาะหาไปจนพบราชกุมาร จึงชวนมาบำเรอด้วยกามคุณไว้แต่ปฐมยามจนถึงปัจฉิมยาม ราชกุมารรู้ว่าจะสว่างแล้วใคร่จะเสด็จกลับไป นางก็กอดรัดราชกุมารไว้ไม่ปล่อยให้ไป ราชกุมารจึงปราศรัยว่า เราทนความร้อนไม่ไหวจะขอไปอาบน้ำที่บ่อโพงแล้วจะมา หญิงแพศยาเข้าใจว่าจริงจึงไปกับราชกุมารจนถึงบ่อโพง บังเอิญไม้คันโพงทางข้างหนักสำหรัพผูกภาชนะตักน้ำหามีไม่ ราชกุมารจึงให้หญิงแพศยานั่งลง เอาเชือกผูกหญิงนั้นเข้ากับไม้คันโพงแขวนไว้หนีไปได้ ต่อรุ่งสว่างมีคนอื่นมาตักน้ำพบเข้าจึงช่วยกันแก้หญิงแพศยา ๆ เข้าไปเฝ้ากราบทูลพระราชา
พระราชารับสั่งว่าเราต้องไปจับเอง แล้วดำรัสถามโหรๆ กราบทูลว่า ในคืนวันนี้โจรนั้นจักเข้ามาในเมือง พระราชาทนรอท่าอยู่แต่เช้าจนค่ำ จึงทรงพระแสงขรรค์เสด็จไปค้นพบราชกุมารที่ภายในเมือง ราชกุมารนั้นหาบข้าวต้มเดินร้องขายมาตามถนน พระราชาพบเข้าตรัสถามว่า แน่ะมาณพ เหตุไรเจ้าจึงขายข้าวต้มขนมกลางคืน ข้าแต่ท่านลุง ชาวเมืองเขาชอบเอาเงินทองแก้วแหวนมาแลกขนมกินกลางคืน แน่ะมานพ เราจักไปกับเจ้าด้วยคนหนึ่ง ข้าแต่ลุง ถ้าว่าข้ากับลุงไปสองคน มหาชนเห็นแล้วก็จะกระดากไม่กาจซื้อด้วยเงินทองแก้วแหวน เพราะฉะนั้น ลุงอย่าไปเลย แน่ะมาณพ เราจะไปกับเจ้าได้ด้วยวิธีอย่างไร ถ้าลุงจะไปให้ได้ เชิญเข้าไปในกระสอบซ่อนตัวเสีย ชาวเมืองจึงจะเอาเงินทองแก้วแหวนมาซื้อขนมกิน พระราชานึกว่าดีจึงเข้าไปในกระสอบ ราชกุมารจึงเอาเชือกผูกปากกระสอบแขวนไว้ที่เสารั้วบ้านแล้วหนีไป กว่าอรุณจะขึ้นมาพระราชาหารู้เห็นอะไรไม่ มหาชนเดินมาพบเข้านึกสงสัยว่าจะเป็นกระสอบของใครลืมไว้ก็มิได้แก้ดู อำมาตย์มีเสนาบดีเป็นต้นไม่เห็นพระราชากลับมา พากันตกใจเทียวค้นหาไปพบกระสอบเข้า ร้องถามว่า กระสอบของใคร พระราชารับสั่งตอบว่าเราเอง จึงรู้จักว่าเป็นพระราชา จึงให้เอาช้างมายกกระสอบพระราชาขึ้นบนหลังช้างนำไปยังราชฐาน แก้กระสอบออกแล้วเชิญให้พระราชาเสด็จลง
พระราชาทรงรับสั่ง โจรนั้นหนุ่มๆ ผิวพรรณดีเราจำได้ถนัดแน่ กลางวัน ๆ นี้และจักตัดศีรษะโจรให้ได้ แล้วเสด็จขึ้นปราสาทเสวยพระกระยาหารเสร็จจึงเสด็จเข้าที่บรรทม ถึงเวลาเที่ยงเสด็จลุกขึ้นจับพระแสงขรรค์เสด็จลงมาถามโหรๆ กราบทูลว่า วันนี้โจรนั่งตกเบ็ดอยู่ที่แม่น้ำโน้น พระราชาทรงทราบแล้ว จึงทรงม้าพระที่นั่งเสด็จไปถึงแม่น้ำนั้น ทรงม้าเลียบไปตามฝั่งนที เห็นราชกุมารนุ่งผ้าดำนั่งตกเบ็ดอยู่ จึงเสด็จลงจากหลังม้าไปยืนอยู่ใกล้ราชกุมาร ๆ เห็นพระราชาแล้วนึกว่า บุรุษผู้เป็นราชบิดาของเราแน่ พระราชาก็บังเอิญให้นึกอยากตกปลาจึงตรัสว่า แน่ะมาณพ เจ้าจงส่งคันเบ็ดมาให้เรา เราจักขอตกเบ็ดกะเจ้าบ้าง ราชกุมารก็ถวายคันเบ็ดแก่พระราชา ๆ เมื่อตกเบ็ดอยู่ปลาก็หากินเบ็ดไม่ พระราชาตรัสถามราชกุมารว่า แน่ะมาณพ เหตุไรปลาจึงไม่กลืนเบ็ด พระองค์จงเปลื้องวัตถาภรณ์ออก แล้วทรงผ้าดำของข้าพระบาท ปลาจึงจะกลืนเบ็ด พระราชาทรงสดับดังนั้นสำคัญว่าจริง เปลื้องวัตถาภรณ์ของพระองค์ส่งให้ราชกุมาร ๆ ก็เปลื้องผ้าดำของตนถวายพระราชา ๆ ทรงผ้าดำตกเบ็ดอยู่ ราชกุมารจึงประดับราชวัตถาภรณ์แล้ว ฉวยพระขรรค์โดดขึ้นหลังม้าควบวิ่งไปเข้าราชทวาร จึ่งสั่งนายประตูไว้ว่าถ้าเห็นบุรุษนุ่งผ้าดำ จงห้ามไว้อย่าให้เข้า สั่งแล้วก็เข้าไปในราชฐานเสด็จขึ้นยังมหาปราสาท พระราชาทิ้งคันเบ็ดแล้วเสด็จตามไปหาทันไม่ จึงได้เสด็จกลับมาถึงราชทวาร เสด็จขึ้นประทับมหาดลสถาน อำมาตย์ทั้งหลายเห็นราชกุมารแล้วพากันร้องว่า คนนี้เป็นโจรประดับราชอาภรณ์มาแล้วพากันถอยกลับ ภายหลังจึงเห็นพระราชาทรงผ้าดำมาจึงปรารภจะจับราชกุมาร ๆ เข้าไปหาพระราชาหมอบลงแทบราชบาทาแล้วทูลว่า ข้าพระบาทเป็นราชโอรสของพระคงค์ พระราชาก็มิได้เชื่อตรัสว่าลูกเต้าของเราไม่มี เจ้าเป็นโจรมิใช่หรือ ราชกุมารกราบทูลว่าข้าพระบาทเป็นบุตรนางนครโสเภณีที่เมืองโน้น พระองค์จึงเป็นบิดาข้าพระบาท ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ จงทอดพระเนตรธำมรงค์วงนี้ ๆ มารดาให้มาบอกว่าพระราชาเวชมาทิตเป็นพระบิดา เพราะฉะนั้นข้าพระบาทจึงมาเพื่อจะเห็นพระราชบิดา พระราชาทอดพระเนตรธำมรงค์ก็จำได้แกล้งไถลถามเสนาบดีว่า ท่านจำธำมรงค์วงนี้ได้หรือไม่ เสนาบดีรับเอามาตรวจดูแล้วทูลว่าเป็นธำมรงค์ของพระองค์จริง
พระราชาจึงตรัสถามราชกุมารว่า ทำไมจึงไม่มาตรง ๆ ต้องทำโจรกรรมด้วยเล่า พระมหาราชเจ้า ถ้าว่าข้าพระพุทธเจ้ามาตรง ๆ แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เข็ญใจไม่มีผ้าดี ๆ นุ่งห่ม ร่างขมุกขมอม จะบอกกะเขาว่าเป็นราชโอรสของพระองค์ใครเขาจะเชื่อ เมื่อไม่มีใครเขาเชื่อแล้ว นายประตูและอำมาตย์ราชองครักษ์เขาจะพากันด่าตี เพราะเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงทำโจรกรรมเพื่อแสดงศิลปให้ปรากฏ พระมหาราช สรรพพัสดุมีทองเงินเป็นต้นของมหาชนที่หายไป ข้าพระพุทธเจ้าเอาไปซ่อนไว้ที่โน้น ๆ ของผู้ใดถูกโจรลักไปผู้นั้นจงไปตรวจดูจำได้ก็ให้รับเอาไปเถิด พระราชาทรงโสมนัสตรัสใช้ให้อำมาตย์ประกาศให้ชาวเมืองทราบ ชาวเมืองทั้งหลายก็พากันไปรับพัสดุซึ่งถูกต้องเป็นของตนมา พระราชาเวชมาทิตราชจึงทรงตั้งราชกุมารนั้นไว้ในที่เสนาบดี
บัณฑิตนารี นำนิทานทั้งปวงมาเล่าถวายพระเจ้าจัณฑราชาก็พอเวลาครบสี่ยามจึงจบเรื่องเล่านิทาน พระราชาผู้เหี้ยมโหดร้ายกาจนั้นก็มีหฤทัยอ่อนน้อมดี จึงอภิเษกบัณฑิตนารีตั้งไว้ในที่มเหสีตั้งแต่นั้นมา พระราชาจัณฑราชนั้นตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เพราะอาศัยมเหสีนั้นแนะนำ ทรงสงเคราะห์มหาชน และทรงบำเพ็ญพระกุศลมีทานเป็นต้น สิ้นพระชนม์แล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์
พระสุรัพภโพธิสัตว์ นำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้คนทั้งสองฟัง เพื่อจะทำความวิวาทของคนทั้งสองนั้นให้สำเร็จแล้วกันไปด้วยคาถาพุทธภาษิตว่า
อเสาวนา จ พาลานํ | ปณฺฑิตานฺจ เสวนา |
ปูชา จ ปูชนียานํ | เอตมฺมงฺคลมุตฺมมํ |
ความว่า ความไม่คบคนพาลด้วย ความคบบัณฑิตด้วย ความบูชาคนควรบูชาด้วย ความสามข้อนี้เป็นอุดมมงคล ชนทั้งสองนั้นสดับธรรมของสุรัพภโพธิสัตว์แล้ว ก็มีพยศเสื่อมหายแล้วลาพระโพธิสัตว์กลับไปยังบ้านของตน
พระโพธิสัตว์จึงเสด็จแต่บรรณศาลาดำเนินต่อไป ได้บรรลุถึงเมือง ๆ หนึ่ง ข้างทักษิณทิศแห่งเมืองนั้น มีอารามแห่งหนึ่งชื่อ อัมพลิตถิ มีอัมพลิตถิคามตำบลหนึ่งอยู่ใกล้อารามนั้น ในบ้านนั้นมีกุฎุมพีคนหนึ่งชื่อสุจินเป็นคนอุปัฏฐากอาราม ในอารามนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งนามว่า สุทัต คราวหนึ่งพระสุทัตภิกษุใคร่จะไปเยี่ยมญาติยังบ้านไกล จึงเรียกสุจินกุฎุมพีมาบอกว่า เราจะไปเยี่ยมญาติที่บ้านไกลจะขอฝากหีบใบนี้ไว้ในเรือนท่านๆ จงเอาไปรักษาไว้กว่าเราจะกลับมา สุจินกุฎุมพีถามว่าหีบใบนี้ใส่อะไรไว้ สุทัตภิกษุบอกว่า เราเอาเครื่องยามีรากไม้เปลือกไม้เป็นอาทิใส่ไว้ในหีบ ฝ่ายสุจินกุฎุมพีรับเอาหีบนั้นไปถึงบ้าน แท้จริงหีบใบนั้นสุทัตภิกษุเอาทองคำแสนหนึ่งใส่ไว้ และได้เอาเครื่องยาวางทับไว้ข้างบนแต่หาบอกว่าทองคำมีไม่ สุจินกุภุมพีครั้นไปถึงบ้านแล้วนึกสงสัยว่าทำไมหีบจึงหนักนัก เปิดหีบรื้อเครื่องยาออกเห็นทองคำมีแสนหนึ่งจึงคิดว่าทองคำนี้สุทัตภิกษุหาบอกเราให้รู้ไม่ เราจะเอาเสียสุทัตภิกษุจะทวงกะเราอย่างไรได้ จึงหยิบเอาทองออกไว้ข้างนอก นำเอาทองแดงใส่แทนและเอาเครื่องยาปะไว้ข้างบนเก็บไว้ดังเก่า
สุทัตภิกษุนั้นครั้นเยี่ยมญาติแล้วพักอยู่ตามสบาย ภายหลังกลับมายังอารามอยู่ได้สองสามวัน จึงบอกกุฎุมพีให้เอาหีบใบนั้นมาส่ง เปิดหีบรื้อเครื่องยาออกเห็นมีแต่ทองแดงไม่เห็นทองคำ คิดว่ากุฎุมพีเอาทองคำไปเอาทองแดงใส่แทนไว้ ถ้าเราจักถามก็คงไม่รับ เพราะฉะนั้นเราจักไม่ถามคิดทำอุบายดีกว่า ให้เรียกตัวกุฎุมพีนั้นมาแล้วพูดว่า ดูกรอุบาสก เราใคร่จะไปเยี่ยมญาติที่บ้านโน้น ท่านจงกรุณาให้ทารกของท่านไปกับเราด้วย สองสามวันเราจะกลับมา และเราขอฝากหีบใบนี้ไว้กับท่านภายหลังจักมาเอาไป สุจินกุฎุมพีหาสงสัยไม่ รับเอาหีบไปแล้วจึงพาบุตรของตนมามอบให้สุทัตภิกษุ สุทัตภิกษุพากุมารลูกกุฎุมพีนั้นไปถึงบ้านญาติ บอกความทั้งปวงให้ญาติฟังจึงฝากกุมารนั้นไว้ ไปจับวานรมาตัวหนึ่งหัดให้พูดภาษามนุษย์ได้แล้วกลับไปยังอาราม ให้เรียกกุฎุมพีมาแล้วพูดว่า ดูกรอุบาสก เราพาลูกของท่านไปถึงป่าโน้น ลูกทองท่านเห็นผลไม้ต่าง ๆ เลือกเก็บกินเข้าไป บัดนี้ลูกของท่านกลายเป็นวานรไป เราจึงรีบพาลูกของท่านมาบอกท่านให้รู้ ณ บัดนี้ สุจินกุฎุมพีสดับคำภิกษุบอกดังนั้นก็สลดใจจึงตอบว่า ลูกของข้าพเจ้าเป็นมนุษย์แท้ ๆ กลายเป็นวานรไปได้อย่างไร ดูกรอุบาสก มนุษย์ก็จริง ถ้าอกุศลเข้าอุปถัมภ์แล้วก็กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ ถ้าไม่เชื่อจงถามวานรนั้นดู กุฎุมพีจึงถามวานรว่า เจ้าเป็นลูกเราหรือ ข้าพเจ้าเป็นลูกท่านจริงท่านเป็นบิดาข้าพเจ้า สุจินกุฎุมพีก็หายสงสัยสำคัญว่าลิงเป็นลูกของตนจริง เสียใจร้องไห้ประหนึ่งจะสลบลงไป ครั้นได้สติแล้วจึงพูดกะสุทัตภิกษุว่า บุตรของข้าพเจ้าได้แปลเพศไปด้วยอกุศลกรรม แพทย์ผู้รู้จักลัพธิทำให้กลับเพศเป็นมนุษย์มีที่ไหนบ้าง พระผู้เป็นเจ้ารู้จักแล้วจงบอกแก่ข้าพเจ้าด้วย
เมื่อกุฎุมพีกับสุทัตภิกษุพูดกันอยู่ สุรัพภโพธิสัตว์เดินมาถึงอารามนั้นเข้านั่งอยู่ ณ พฤกษมูลต้นหนึ่ง ได้ยินเสียงกุฎุมพีร้องไห้จึงเข้าไปหาภิกษุนั้น นมัสการแล้วนั่งอยู่ สุทัตภิกษุนั้นเห็นพระโพธิสัตว์กอร์ปด้วยปุริสลักษณะจึงคิดว่า มหาบุรุษนี้อินทรีย์งดงามเป็นบัณฑิตแท้ จักพิจารณาความของเราได้ดี แล้วจึงพูดกับพระโพธิสัตว์ว่า ท่านมหาบุรุษ ท่านช่วยพิจารณาความให้รูปสักเรื่องหนึ่ง พระโพธิสัตว์จึงถามกุฎุมพี ๆ นั้นก็เล่าความนั้นให้ฟัง พระโพธิสัตว์จึงดำริว่ามนุษย์กลายเป็นดิรัจฉานยังไม่เคยมี ข้อนี้แปลกใจนักหนา จึงหันมาถามภิกษุนั้นต่อไป ภิกษุนั้นก็เล่าเรื่องให้พระโพธิสัตว์ฟังตั้งแต่ต้นเป็นลำดับมา พระโพธิสัตว์พิจารณาด้วยปัญญาแล้วกล่าวพระคาถานี้ว่า
อุชุกํ อุชุกฺเจว | วงฺกสฺส วงฺกเมจ จ |
สุวณฺณํ ตามฺพกฺเจว | มนุสฺสํ มกฺกฏํ ภเว |
ความว่า ไม้ตรงก็ตรงเอง ไม้คดก็คดเอง ทองคำกลายเป็นทองแดงได้ มนุษย์ก็กลายเป็นวานรได้เหมือนกัน พระโพธิสัตว์ตรัสพระคาถานี้แล้วหันมาถามกุฎุมพีว่า เรารู้จักมนต์เสกวานรให้เป็นมนุษย์ได้ ท่านรู้จักเสกทองแดงให้เป็นทองคำได้เหมือนกัน ถ้าว่าท่านทำทองแดงของพระเถระให้เป็นทองคำได้ เราจะทำลูกของท่านชึ่งเป็นวานรให้เป็นทารกมนุษย์ได้ ถ้าว่าทองแดงให้เป็นทองคำไม่ได้ เราก็ทำวานรให้เป็นมนุษย์ไม่ได้
กุฎุมพีสดับความนั้นแล้ว กลับไปบ้านเล่าความให้ภรรยาฟัง ๆ แล้วก็เสียใจร้องไห้ ครั้นได้สติแล้วพูดกับสามีว่าลูกของเราเป็นมนุษย์แท้แต่กลายเป็นวานรไป ด้วยอกุศลกรรมที่เราลักเอาทองของพระเถระไป เพราะฉะนั้นท่านจงเอาทองใส่ไว้เสียในหีบรื้อเอาทองแดงออกเสีย ลูกของเราก็จักเป็นมนุษย์ดังเก่า กุฎุมพีจึงทำตามภรรยาบอก แบกเอาหีบมายังอารามมอบให้แก่ภิกษุนั้นสุทัตภิกษุเปิดหีบดูเห็นทองคำแล้วก็กล่าวคาถานี้ว่า
วงฺกานุภาเวน สุวณฺณํ | ตามฺพโลหุปฺปนฺนํ โหติ |
อุชุกานุภาเวน ตามฺพํ | สุวณฺณุปฺปนฺนํ โหติ |
ความว่า ทองคำกลายเป็นทองแดงไป ด้วยอานุภาพแห่งความคด ทองคำกลายเป็นทองแดงไป ด้วยอานุภาพแห่งความซื่อตรง
สุทัตภิกษุเมื่อจะสรรเสริญพระโพธิสัตว์เจ้า จึงกล่าวคาถานี้ว่า
สาหุทสฺสนมริยานํ | สนฺนิวาโส สทา สุโข จ |
อทสฺสเนน พาลานฺจ | นิจฺจเมว สุขี สิยา จ |
ความว่า ความพบเห็นพระอริยทำประโยชน์ให้สำเร็จดี ความอยู่ร่วมกับพระอริยย่อมเป็นสุขทุกเมื่อ ด้วยความที่ไม่ได้เห็นคนพาล ความสุขสำราญจะพึงมีเป็นนิตย์เที่ยงแท้
พระโพธิสัตว์อำลาพระสุทัตมุ่งต่อทิศทางหิมพานต์ดำเนินไป ครั้นรุ่งเช้าสุทัตภิกษุนั้น จึงเอาวานรปล่อยเสียยังป่าใหญ่ ไปยังบ้านญาตินำเอากุฎุมพิกบุตรมาส่งกุฎุมพี
ด้วยอานุภาพพระโพธิสัตว์ พิภพของท้าวเทวราชก็แสดงอาการร้อนให้ปรากฏ ท้าวเทวราชใคร่ครวญดูรู้แจ้งแล้วจึงบังคับวิสสุกรรมเทวบุตรว่าพระสุรัพภโพธิสัตว์ผู้พุทธังกูรใคร่จะบรรพชา ท่านจงไปนิรมิตบรรพชิตบริขารและบรรณศาลาให้พระโพธิสัตว์แล้วกลับมา พระวิสสุกรรมเทวบุตรรับเทวบัญชาลงมาจากสวรรค์ แล้วนิรมิตอาศรมไว้ในถ้ำหิมพานต์ นิรมิตที่นั่งนอนกลางวันและราตรี นิรมิตสระโบกขรณีทำอกาลผลพฤกษ์ให้มีผลบริบูรณ์ นิมิตที่จงกรมกว้างยาวประมาณยี่สิบสี่ศอกไว้ใกล้บรรณศาลาแล้ว เรี่ยรายทรายสีแก้วผลึก ณ ที่จงกรม นิมิตบรรพชิตบริขารเสร็จ จึงจารึกอักษรไว้ในฝาศาลามีความดังนี้ว่า ใคร ๆ ใคร่จะบรรพชา ผู้นั้นจงมาถือบรรพชิตบริขารเหล่านี้บวชเถิดแล้วก็กลับไป
ในขณะนั้น พระสุรัพภโพธิสัตว์เจ้า ดำเนินไปตามมรรคาสิ้นเวลาหนึ่งเห็นอาศรมบทแล้วก็ดีพระทัย จึงเปิดทวารบรรณศาลาเข้าไปทอดพระเนตรอักษรที่จารึกไว้อ่านดูก็รู้แจ้ง ทรงเปลื้องเครื่องสรรพาภรณ์และทรงผ้าคากรอง มุ่นชฎาทำผ้าหนังสือเหนืออังษาและทรงไม้เท้าสำหรับคนแก่ออกจากบรรณศาลา เดินจงกรมไปมาจึงเปล่งอุทานวาจาว่า สุขนี้หนอเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง จึงนั่งประทับระลึกถึงราชสมบัติและบรรพชิตคุณ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุพฺเพจาหํ อนุภวามิ | ราชสุขํ วรุตฺตมํ |
อนาทีนวํ ปพฺพชิตํ | พฺรหฺมธมฺโมว รุจฺจติ |
ความว่า เมื่อครั้งก่อนเราเสวยราชย์สุขประเสริฐเลิศอยู่ (แต่ยังกอร์ปด้วยโทษ) การบรรพชาหาโทษมิได้ เป็นธรรมอันประเสริฐแท้ เราขอบใจนัก ตรัสคาถานี้แล้วปรารภสมาธิวิริยะเป็นประธาน เจริญวิปัสสนาและพรหมวิหาร ทำฌานสมบัติให้เกิดแล้วอยู่ด้วยฌานสุขคุณคือความเป็นบัณฑิต ก็ปรากฏทั่วไปในหิมพานต์และมนุษยโลกกับทั้งเทวโลกดังนี้ว่า พระสุรัพภโพธิสัตว์เป็นพุทธังกูรแท้
เมื่อพระสุรัพภโพธิสัตว์อยู่ ณ หิมวันตประเทศ มีตระกูลพวกพรานแหห้าร้อย อยู่ในธัญญคามใกล้หิมวันต์ อยู่มาวันหนึ่งพวกพรานแหใคร่จะไปหาปลา ถือเอาเครื่องมือจับสัตว์น้ำมีข่ายและแหเป็นอาทิ พากันไปยังแม่น้ำเวตังกุร นายเกวัฏคนหนึ่งเอาข่ายขึงลงในน้ำ ได้ปูทองตัวใหญ่ตัวหนึ่งเรียกเพื่อนกันมาให้ช่วยยกขึ้นเรือแล้วก็กลับบ้าน ได้บอกให้คนที่ชอบพอกันมาดูปูทอง พวกชาวบ้านก็พากันมาดูพูดว่า ปูทองเช่นนี้ไม่เคยเห็นสักครั้งหนึ่งเลย ขณะนั้นคนไถนาคนหนึ่งมาดูปูทองมีความรักเหมือนลูกของตัว จึงให้เงินบาทหนึ่งขอซื้อปูทองกับนายเกวัฏ ได้แล้วก็เอามาปล่อยไว้ในสระ ณ บ้านของตน ปูทองอยู่ในสระนั้นก็ปราศจากโรคภัยหาอันตรายมิได้ บุรุษไถนาใคร่จะไปไถนาจึงพาปูทองไปปล่อยไว้ในประเทศหนึ่งแล้วจึงไถนา ปูทองนั้นคลานไปเที่ยวหาอาหารกินตามความพอใจ
คราวนั้นกาตัวหนึ่งมาพบปูทองเข้าจึงโผเข้าใกล้ปูทอง ๆ จึงอ้าก้ามทั้งสองป้องกันตัวไว้ บุรุษไถนาเห็นดังนั้นฉวยท่อนไม้ขว้างไล่กา ๆ บินไปแล้ว จึงจับปูทองมาปล่อยไว้ใกล้ตัวแล้วสอนว่า แน่ะพ่อ เจ้าอย่าเทียวไปไกล ถ้าเจ้าไม่ฟังคำบิดา เจ้าจะถึงความเป็นภักษาของกา ข้าแต่บิดา กาบินมาข้าพเจ้ารู้ไซร้ กาไม่อาจทำอันตรายได้ ว่าแล้วก็คลานลงไปในบ่อน้ำ กาตัวอื่นบินมาลงบ่อนั้นเห็นปูทองเข้า จึงยกเท้าเสียข้างหนึ่งเหยียบดินด้วยเท้าข้างหนึ่ง หลับตาไว้ข้างหนึ่งยืนอ้าปากจะใคร่จิกปูทองกิน ปูทองเห็นกาทำอาการดังนั้นจึงคิดว่า กาตัวนี้ยกเท้าขึ้นข้างหนึ่งหลับตาข้างหนึ่งอ้าปากไว้ จักเล่นเราท่าไหน เราจักถามดูให้รู้แน่ คิดแล้วก็กล่าวคาถานี้ว่า
กาก ตฺวํ กึ กริสฺสสิ | เอกปาทํ อุกฺขิปิโต |
เอกจกฺขุํ นิมิลิโต | มุขํ วิวโธ กึ กาโมสิ |
ความว่า แน่ะกา ท่านยืนหลับตาอ้าปากยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง ใคร่จักทำอะไรหรือ (จักเล่นกันท่าไหน)
กาได้ฟังปูทองถาม เมื่อจะทำความมุสาวาท จึงกล่าวบาทคาถาดังนี้ว่า
ภาคิเนยฺย กรุณายาหํ | ตวํ อิธ วาโส วินสฺสิ |
ตํ ทิสฺวา กสโก ฆาฏยิ | ตํ ปจฺจิตฺวา ขายิสฺสติ |
อหํ ตุวฺจ อาทาย | หิมวนฺตํ อานยิสฺสํ |
วสาหิ ตตฺถ พหุสุขํ | นิรูปทฺทวํ เขมํ อสุ |
ความว่า แน่ะหลาน เรากรุณาเห็นว่าเจ้าอยู่ในที่นี้จักพินาศด้วยภัย คนไถนามาพบเจ้าเขาจะฆ่าหลานแกงกินเสีย เราจักพาหลานนำไปสู่ป่าหิมพานต์ หลานจงอยู่ในป่าหิมพานต์นั้นให้เป็นสุขที่ป่าหิมพานต์นั้น เป็นที่เกษมสุขปราศจากอุปัทวันตราย
ปูทองสดับคาถานั้นแล้วก็เชื่อคำกา จึงกล่าวคาถาตอบดังนี้ว่า
ตว วจนํ เนวา สมํ | โส มยฺหํ ปิตาว ปาเลติ |
กสฺมา อาฆาฏยิ มมํ | มา อาวจ ตถารูปํ |
เจ สจฺจํ มํ อภาสสิ | กโรมาหํ ตว วาจํ |
มา อลิกํ ปิ มํ วฺจ | หิมวนฺตํ ทสฺสิสฺสามิ |
ความว่า ถ้อยคำที่ท่านพูดนั้นไม่สมควรแท้ คนไถนานั้นเป็นดังบิดาเลี้ยงข้าพเจ้าไว้ เหตุไรเขาจะฆ่าข้าพเจ้าท่านอย่ากล่าวคำนี้ต่อไป ขออย่าพูดหลอกลวงข้าพเจ้า ๆ อยากเห็นป่าหิมพานต์จริงแท้
กานั้นจึงพูดตอบว่า แน่ะหลาน เราจะเป็นพาลเหมือนผู้อื่นก็หาไม่ เจ้าอยู่ในที่นี้คับแคบเหลือเกินนัก จนทนทุกขเวทนาลำบากมาก เพราะเหตุนั้น เราจะพาหลานไปให้อยู่สระใหญ่ หลานอย่ากลัวและอย่าสงสัยไปเลย ปูทองฟังกาว่าดังนั้นจึงตอบว่า ถ้าท่านพูดจริงข้าพเจ้าจะไปป่าหิมพานต์กับท่าน อนึ่งข้าพเจ้าจักขอถามปัญหากับท่านสักยี่สิบข้อ ท่านมีปัญญาจงแก้ปัญหาให้ข้าพเจ้าฟังก่อน กานั้นจึงตอบว่า มนุษย์ผู้มีปัญญาปรีชาฉลาดกล่าวแก้ปัญหาได้ฉันใด เราผู้เดรัจฉานก็มีปัญญาปรีชาจักแก้ปัญหาได้เหมือนมนุษย์ฉันนั้น เจ้าจักถามข้อไรจงถามไปเถิด ปูทองจึงพูดว่า ท่านจงคอยท่าอยู่นี่ก่อน ข้าพเจ้าจะย้อนไปบอกบิดาให้รู้ ปู่ทองก็ไปบอกคนไถนาว่า กาเขาจะพาข้าพเจ้าไปป่าหิมพานต์ ข้าพเจ้าอยากไปเห็นป่าหิมพานต์กับกา แต่ข้าพเจ้าจักถามปัญหากับกาก่อน ถ้ากานั้นแก้ได้จึงจะไปด้วย ถ้าว่าแก้ปัญหาไม่ได้ข้าพเจ้าก็จักไม่ไปด้วยกา บุรุษไถนาบอกแก่ปูทองว่าเจ้าจงไปเป็นสุขเถิด เจ้าปรารถนาสิ่งใดสิ่งนั้นจงสำเร็จแก่เจ้า และให้เจ้าไปมีโชคชัยพ้นอันตรายทั้งปวงเถิด ปูทองนั้นครั้นบุรุษไถนาอนุญาตแล้วจึงไปหากาพูดซ้ำอีกว่า ถ้าท่านแก้ปัญหาของเราได้เราจะไปด้วยท่าน ถ้าท่านแก้ปัญหาของเราไม่ได้ เราจักไม่ไปด้วยท่าน ดูกรปูทอง เจ้าจะถามปัญหาข้อไรจงถามมาเถิด เสร็จแล้วจักได้พากันไปป่าหิมพานต์
ปูทองเมื่อจะถามปฐมปัญหาจึงกล่าวคาถานี้ว่า๔
ยํ อุตฺตรึ อติทุกขํ | สเทวเก โลเก วิเสสํ |
ยํ ทุกฺขํ ทุกฺเขหิ วรํ | ตญฺจ อติทุกฺขนฺนาม |
โย ฉินฺนปตฺโต ฉินฺนปาโท | โส อนาโถ รหิตสุโข |
อุตฺตริวิเสโส ทุกฺโข | โส จ อติทุกฺโข นาม |
อิธ ปรโลเกเจว | อิติ ชานํ สจฺจํ ภณามิ |
ความว่า ในปัญหาคาถาที่ ๑ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ยิ่งเหลือทนในมนุษยโลกกับเทวโลก ทุกข์อย่างใดนั้นได้ชื่อว่าเป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์ทั้งปวง
ปัญหาคาถาที่ ๑ ซึ่งกากล่าวแก้มีความว่า สกุณชาติตัวใดมีปีกหักและเท้าด้วนแล้ว สกุณชาติตัวนั้นอนาถาหาความสุขมิได้ และมีความลำบากอย่างสาหัส ก็นั่นแหละจักได้ชื่อว่าเป็นทุกข์เหลือเกินในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า เรารู้แก้ไขได้อย่างนี้เป็นความจริง
ปูทองสดับคำกาแก้ปัญหาที่ ๑ จึงพูดว่า ท่านไม่รู้ทีเดียว แต่เราบอกว่ารู้ได้ ข้อนี้จงยกไว้เราจักถามปัญหาที่ ๒ ต่อไป แล้วปูทองก็กล่าวคาถาดังนี้ว่า
อฺเหิ อุตฺตรุตฺตโร | อิธ ปรโลเกเจว วโร |
โสปิ อติสุโข นาม | ตวฺจ เม ทสฺเสหิ ปฺหํ |
ยํ โอชสมฺปนฺนํ โภชํ | มจฺฉมํสสาลิขชฺชํ |
กุจฺฉิปุรํ ขาทนฺโต โย | ขุธมฺปิปาสํ สมติ |
ชานามิหํ อติสุโข |
ในปัญหาคาถาที่ ๒ ซึ่งปูทองถามมีความว่า สุขใดเป็นสุขยิ่งๆ กว่าสุขอย่างอื่น แม้สุขนั้นจักได้ชื่อว่าเป็นสุขยิ่งใหญ่ในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า ท่านจงแสดงปัญหาข้อนี้ให้เราฟัง
ในปัญหาคาถาที่ ๒ ซึ่งแก้นั้นมีความว่า นรชาติผู้ใดกินโภชนะโอชารส และขบเคี้ยวข้าวสาลีอันเจือปนด้วยมัจฉมัยสากินจนอิ่มท้อง นรชาติผู้นั้นย่อมระงับเสียซึ่งความอยากข้าวและน้ำได้ เรารู้อยู่ว่านรชาตินั้นเป็นสุขเหลือเกิน ท่านพึงรู้ด้วยประการฉะนี้
ปูทองสดับคำกาแก้อย่างนั้นจึงพูดว่า ท่านยังไม่รู้อะไรแท้ ๆ รู้แต่ว่าจะกินอย่างเดียว แน่ะกา เราจักถามปัญหาที่ ๓ กับท่านต่อไป แล้วปูทองก็กล่าวคาถาดังนี้ว่า
ยํ ปิปาสุตฺตริตรํ | ยฺจ ภฺุชิ อติภฺุชิ |
ฆาสวินยํ นาสกฺขิ | ยํ ปสฺสสิ อกฺขาหิ เม |
โย อาหารุปจฺเฉโท จ | ปริเยสนฺโต นาลพฺภติ |
ปรํ ภฺุชนฺตํ ปสฺสติ | โส อติจฺฉาโต ปิปาโส |
ปัญหาคาถาที่ ๓ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามมีความว่า สิ่งไรเป็นความอยากอย่างยิ่ง บุคคลกินสิ่งไรแล้วและกินอีก สิ่งของที่บุคคลกินแล้วนั้นไม่สามารถจะบรรเทาความอยากได้ ท่านเห็นอย่างไรจงพูดไป
ปัญหาคาถาที่ ๓ ซึ่งกากล่าวแก้มีความว่า บุคคลผู้ใดมีอาหารขาดแคลนลง เที่ยวแสวงหาอยู่ก็ไม่ได้อาหารกินและดูผู้อื่นเขากินอยู่ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าหิวข้าวอยากน้ำยิ่งนักหนา
ปูทองได้ฟังกาแก้ปัญหาอย่างนั้นจึงพูดกะกาว่า ท่านรู้แต่กิจของโลกอย่างเดียวเท่านั้น หารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ เมื่อปูจะถามปัญหาที่ ๔ ต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อฺเสํ โสภานํ วณฺณา | อุตฺตริตรา โสภาปิ |
สเทวเก โลเก อสมา | รุจิรา เจว อโหสิ |
อิมํ ชาน วิสชฺเชหิ | อยํ ปฺโห ตว ปตฺโต |
อาทิตฺยรํสี นิกฺขมิ | วิปฺปา ตนฺติยา วิสชฺเชนฺติ |
นานิวิลา นิมลรหา | วิสุทฺธากาเส โอภาสติ |
ปัญหาคาถาที่ ๔ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามมีความว่า บรรดาสีงามอื่น ๆ มีอยู่มาก สีงามอะไรในโลกนี้กับเทวโลกไพโรจน์งามยิ่งกว่าหาสีงามอื่นเสมอมิได้ ท่านรู้ความข้อนี้อยู่จงวิสัทนาไป ปัญหาข้อนี้มาถึงท่านแล้ว
ปัญหาคาถาที่ ๔ ซึ่งกาวิสัชนาแก้มีความว่า รัศมีพระอาทิตย์แรกอุทัยฉาย แสงออกจากสายฟ้าหามลทินมิได้ ย่อมโอภาสในอากาศอันปราศจากเมฆหมอก นั่นแหละสีงามกว่าหาสีงามอื่นเสมอมิได้
ปูทองได้สดับกาแก้ปัญหานั้นจึงพูดว่า ท่านรู้ได้เท่าที่ตาเห็นนี้หารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ ปูทองเมื่อจะถามปัญหาที่ ๕ ต่อไป จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
นรโสภา อติทุวณฺโณ | อิธ โลกปรโลเก |
ลามกวณฺณสณฺาโน | กตมํ ปสฺเส อกฺข |
โย นิราหาโรว สตฺโต | อาหารุปฺปจฺเฉโท เจ |
โส ทุวณฺโณ นิลินฺทฺริโย | สุกฺขกาโย ทุวณฺโณ |
ปัญหาคาถาที่ ๕ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามว่า คนชนิดไรที่มีสีกายชั่วเลวและทรวดทรงลามกกว่าคนในโลกนี้และปรโลก ท่านรู้เห็นอย่างไรจงบอกแก่เราไป
ปัญหาคาถาที่ ๕ ซึ่งกาวิสัชนามีความว่า สัตว์ใดหากว่าปราศจากอาหารและมีอาหารขาดแคลน สัตว์นั้นมีสีกายอินทรีย์ชั่วช้าเหี่ยวแห้งไป สัตว์นั้นแหละมีสีกายชั่วเลวกว่าสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า
ปูทองสดับกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ท่านรู้แต่จะกินอย่างเดียวเท่านั้น หารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ ปูทองเมื่อจะถามปัญหาที่ ๖ ต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อฺเสัป มหนฺตานํ | มหนฺโต โส สพฺพโลเก |
อติมหนฺโต นาม โหติ | ตมฺเม อกฺข มม กาเก |
มหนฺโต ปพฺพโตเจว | อสุสิโร เอกฆโน |
อติมหนฺโต นาม จ | สพฺเพปิ น สเมติ โลเก |
ปัญหาคาถาที่ ๖ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า สภาวะอันใดที่เป็นของใหญ่กว่าของใหญ่อื่น ๆ สภาวะนั้นชื่อว่าใหญ่เกินมีอยู่ในโลกทั้งปวง (มีบ้างหรือไม่) ดูกรกา ท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เรา
ปัญหาคาถาที่ ๖ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า สภาวะที่ใหญ่ได้แก่ภูเขาอย่างเดียว บรรพตมีศิลาทึบไม่เป็นโพรงนั่นแหละชื่อว่าใหญ่เกิน แม้สิ่งทั้งปวงหาใหญ่เท่าบรรพตไม่ ย่อมมีอยู่ในโลกนี้
ปูทองสดับกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ท่านไม่รู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์จริง ๆ ปูทองเมื่อจะถามปัญหาที่ ๗ กะกาอีกต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อุจฺโจ จ โส อุจฺจตโร | อฺโ น สโม อโหสิ |
โส จ อติอุจฺโจ นาม | กตมํ ปสฺเส อกฺขาหิ |
อฺเสํ อุจฺจานํ จาปิ | อากาโส อุจฺจตโร นาม |
สเทวเก โส อสโม | เอวํ กกฺกฏ ชานาหิ |
ปัญหาคาถาที่ ๗ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า สภาวะใดที่สูง สภาวะนั้นสูงมากหาของอื่นจะเทียมเท่ามิได้ ก็สภาวะนั้นได้นามว่าสูงเกิน (มีหรือไม่) ท่านรู้เห็นอย่างไรจงบอกแก่เราไป ณ บัดนี้
ปัญหาคาถาที่ ๗ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า อากาศได้นามว่าสูงกว่าสภาวะที่สูงอย่างอื่น อากาศนั้นหาสภาวะอย่างอื่นจะสูงเทียมมิได้ ดูกรปู ท่านจงรู้ตามอธิบายอย่างนี้
ปูทองสดับกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ท่านหารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ ปูทองเมื่อจะถามปัญหาที่ ๘ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อุณฺหสโมปิ นตฺถิ | โสปิ อติอุณฺโห นาม |
อิธ โลกปรโลเก | วิชานาสิ กตมตฺถํ |
ยา วิริเยน ชาตา | เนว นิริยคฺคีหิ อุณฺหา |
น สร กปฺปคฺคินา สมา | สา จ อติอุณฺหา นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๘ ซึ่งปูทองยกยึ้นถามกามีความว่า สภาวะอันใดจะเสมอด้วยดวามร้อนย่อมไม่มี สภาวะแม้นั้นชื่อว่าร้อนเกินไปโลกนี้และโลกเบื้องหน้า ท่านจะรู้เนื้อความนี้เป็นอย่างไร
ปัญหาคาถาที่ ๘ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า ไฟอันโดในโลกนี้ที่เกิดแล้วด้วยความเพียรของบุคคลทำให้เกิดขึ้น ไฟนั้นหาร้อนกว่าไฟในนรกไม่ และหาเสมอไฟประลัยกัลป์ไม่ ก็ไฟนั้นชื่อว่าร้อนเกิน
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วจึงพูดว่า ท่านหารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ ปูทองเมื่อจะถามปัญหาที่ ๙ ต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อฺํ สีตํ อิธ โลเก | ปรโลเก จาปิ อตฺถิ |
สา จ อติสีตํ นาม | กตมํ ปสฺเส วิสชฺเชติ |
ยงฺกิฺจิ สีตํ โลกสฺมึ | วาตาสีตาทิ น สเม |
อุทกํ อติสีตํ นาม | เอวํ วิชานาหิ กกฺกฏ |
ปัญหาคาถาที่ ๙ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า ความเย็นอื่น ๆ ย่อมมีอยู่ในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า ก็แต่ว่าความเย็นนั้นอะไรชื่อว่าเย็นเกิน ท่านเห็นอย่างไรจงวิสัชนาไปให้แจ้ง ณ กาลบัดนี้
ปัญหาคาถาที่ ๙ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า ความเย็นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ ความเย็นแห่งลมเป็นต้นก็เย็นไม่เสมอ น้ำสิ่งเดียวนี้แหละชื่อว่าเย็นเกิน ดูกรปู ท่านจงรู้ตามอธิบายมาฉะนี้
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วจึงพูดว่า ดูกรกา ท่านมีปัญญาน้อยและโง่เขลานัก หารู้จักปัญหาของเราไม่ เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๐ ต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
กึ อติสุขุมํ โลเก | อฺฺจ สุขุมํ โลเก |
เทเว จ สมารเก จ | กึ ปสฺเส กาเก วิสชฺช |
อฺานิ สุขุมานิ โลเก | สเทวเก สมารเก |
วายุนา สโม โหติ | โส จ อติสุขุโม นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๑๐ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามมีความว่า ความละเอียดอย่างอื่นมีอยู่ในโลกนี้และเทวโลกกับทั้งมารโลกถมไป ก็อะไรเป็นของละเอียดยิ่งในโลกนี้ ดูกรกา ท่านเห็นอย่างไรจงวิสัชนาไป
ปัญหาคาถาที่ ๑๐ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า ความละเอียดอย่างอื่นในโลกนี้กับทั้งเทวโลกและมารโลก จะหาเสมอด้วยลมไม่มี ความละเอียดของลมนั่นแหละชื่อว่าละเอียดเกิน
ปูทองได้สดับกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ดูกรกา ท่านแก้ปัญหาของเราหาสมเนื้อความไม่ เราจักไม่ไปด้วยท่านๆ มีปัญญาน้อยและโง่เขลา ดีแต่จะลวงเขา หารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ เราจักไปกับท่านได้ด้วยอย่างไร กานั้นตอบว่าท่านจงถามปัญหาข้ออื่นต่อไปเถิด ถึงเราจักวิสัชนาสมก็ดีหรือมิสมก็ดี เราจักวิสัชนาไปตามรู้ตามเห็น
ปูทองเมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๑ ต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ตโม โลเก สเทวเก | อฺเ ตมา น สเมนฺติ |
อติตโม นาม กึ ปสฺส | วิสชฺเชหิ มม ปฺหํ |
รตฺติยํ อติอนฺธโก | กาฬปกฺเข เมโฆฏฺหิ |
จนฺทรอาภา รหิโต | อยํ อติตโม นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๑๑ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า ความมืดในโลกนี้กับเทวโลก ความมืดอย่างอื่นย่อมไม่เสมอเหมือน ความมืดชนิดไรชื่อว่ามืดเกิน ท่านเห็นอย่างไรจงวิสัชนาปัญหาข้อนี้ให้แก่เราฟัง
ปัญหาคาถาที่ ๑๑ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า เมฆตั้งขึ้นในกาฬปักษ์ข้างแรมกลบแสงพระจันทรเสีย กลางคืนจึงมืดจัด ความมืดในราตรีนี้ชื่อว่ามืดเกินกว่ามืดทั้งปวง
ปูทองได้ฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วจึงพูดว่า ท่านไม่รู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์แท้ ๆ ยังโง่อยู่มากทีเดียว เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๒ กะกานั้นต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อิมสฺมึ โลเก สเทเว | สมารพฺรหฺมเก เจว |
โก จ โรจติ อาภาติ | กึ ปสฺส อติรุจฺจติ |
ทิวา อาทิจฺโจ วิโรจติ | รตฺติยํ จนฺโท อติรุจฺจติ |
อุโภ ว อติโรจติ | เอวํ วิชานาหิ กกฺกฏ |
ปัญหาคาถาที่ ๑๒ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า อะไรย่อมไพโรจน์สว่างทั่วไปในโลกนี้กับทั้งเทวโลกและมารพรหมโลก ท่านเห็นว่าอะไรไพโรจน์เกิน
ปัญหาคาถาที่ ๑๒ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า พระอาทิตย์ย่อมโพโรจน์ในกลางวัน พระจันทรย่อมไพโรจน์ในราตรี พระอาทิตย์และพระจันทรทั้งสองนี้ชื่อว่าสว่างเกิน ดูกรปู ท่านจงรู้ตามนัยอธิบายมาอย่างนี้เถิด
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วจึงพูดว่า ถ้อยคำของท่านหาสมจริงไม่ ท่านเป็นพาลทีเดียวหารู้จักประโยชน์ไม่ เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๓ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
เตสุ สารเผคุตจ | ปณฺณปุปฺผผลคนฺเธสุ |
โย อติสุคนฺโธ นาม | กึ ปสฺสสิ อติคนฺธํ |
เตสุ สารคนฺธาทีสุ | เนว วายติ ทิสาสุ |
มจฺฉมํสาทิคนฺโธว | สตฺตานํ อติมนาโป |
ตสฺมา มจฺฉมํสาทิโก | อติสุคนฺโธติ วุจฺจติ |
ปัญหาคาถาที่ ๑๓ ซึ่งปูทองถามกามีความว่า บรรดากลิ่นไม้แก่นและกระพี้เปลือกใบดอกผลมีอยู่ ก็กลิ่นหอมอย่างไรชื่อว่าหอมเกินเปรียบ ท่านเห็นว่ากลิ่นหอมอะไรเป็นกลิ่นหอมเกิน
ปัญหาคาถาที่ ๑๓ ซึ่งกาวิสัชนามีความว่า กลิ่นหอมทั้งหลาย มีกลิ่นหอมแห่งไม้แก่นเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมหอมฟุ้งไปในทิศทั้งปวงไม่ได้ กลิ่นแห่งปลาและเนื้อเป็นต้นอย่างเดียว เป็นที่เอิบอาบใจของสัตว์ยิ่งนักหนา เพราะเหตุนั้น กลิ่นปลาและเนื้อเป็นอาทิ เรากล่าวว่าเป็นเป็นกลิ่นหอมเหลือเกิน ดูกรปู ท่านจงรู้ดังอธิบายมานี้
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ท่านหารู้จักประโยชน์สิ่งไรไม่แท้ รู้แต่จะกินสิ่งเดียวเท่านั้น เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๔ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ทุคนฺธชาตานํ วาปิ | ปูติ วายติ ทุคนฺโธ |
อติทุคนฺโธ นาม โก | กึ ปสฺส กาก วเทหิ |
อสุจิ หิ ทุคนฺโธ จ | มนุสสฺส คูโธ เอว |
อติวิย ทุคนฺโธปิ | อติทุคนฺโธ นาม โหติ |
ปัญหาคาถาที่ ๑๔ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า แม้ทุคันธชาติทั้งหลายเน่าแล้วกลิ่นเหม็นย่อมฟุ้งไป ก็กลิ่นเหม็นอะไรชื่อว่ากลิ่นเหม็นเกิน ท่านเห็นอย่างไรจงพูดไปเราจะขอฟัง
ปัญหาคาถาที่ ๑๔ ซึ่งกาวิสัชนามีความว่า แท้จริง อสุจิกลิ่นเหม็นนัก คูถของมนุษย์อย่างเดียวเหม็นแท้ คูถของมนุษย์ชื่อว่ากลิ่นเหม็นร้ายแรง ดูกรปู ท่านจงรู้โดยอาการยย่างนี้เถิด
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ท่านหารู้จักแก้ปัญหาของเราไม่ เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๕ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ยํ พลานํ พลสมฺปนฺนํ | มหนฺตํ พลํ พหุพลํ |
อติวิย พลํ วตฺถุํ | ตํ อติพลํ นาม กึ |
สพฺเพ เทวา มหพฺพลา | นารายนสฺส พเลหิ |
สงฺขฺยํ น อุเปติ เจว | นารายโน อติพโล |
ปัญหาคาถาที่ ๑๕ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า บรรดากำลังทั้งหลาย กำลังอย่างใดคือกำลังใหญ่คือกำลังมาก ก็กำลังนั้น ๆ /*262กำลังอย่างไรชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่ากัน
ปัญหาคาถาที่ ๑๕ ซึ่งกาแก้นั้นมีความว่า สรรพเทวดาทั้งหลายมีกำลังมาก แต่ยังไม่เทียมเท่ากำลังพระนารายณ์ ๆ นั้นชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่ากำลังเทวดา
ปูทองจึงตอบว่าคำที่ท่านกล่างหาสมกับปัญหาไม่ เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๖ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อติทูโร นาม โก จ | น จ อฺโ สโม โหติ |
กึ อติทูโรติ วุจฺจติ | กึ ปสฺเส มม อกฺขาหิ |
จกฺกวาฬํ อติทูรํ | มจฺเจหิ จ ปกฺขิเกหิ |
ทูรคนฺตพฺพํ ทูรปตฺตํ | ตสฺมา อติทูรํ นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๑๖ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า สภาพอันใดชื่อว่าไกลเกิน สภาพอันนั้นไม่มีสิ่งอื่นที่จะไกลเสมอเท่าถึง อะไรแน่ที่นักปราชญ์กล่าวว่าไกลเกิน ท่านเห็นอย่างไรจงบอกแก่เรา
ปัญหาคาถาที่ ๑๖ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า จักรวาฬเป็นของที่ไกลเกิน สัตว์สี่เท้าและสัตว์สองเท้าที่มีปีกบินได้ จะพากันไปให้ถึงนั้นยากนักหนา เพราะฉะนั้นเราจึงว่าจักรวาฬไกลเกิน
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วจึงตอบว่า ท่านหารู้จักข้อปัญหาไม่ รู้แต่จะกินสิ่งเดียวเท่านั้น เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๗ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถาดังนี้ว่า
โย วา ปน ธมฺโม โหติ | อติวิย สิงฺฆา ชวติ |
อติวิย ลหุโก จ | โก อติชโวติ วุจฺจติ ฯ |
วายุ เจ สินฺธโว โหนฺติ | อติชเวน ชวนฺติ |
เต อติชโวติ วุจฺจนฺติ | เอวํ วิชานาหิ กกฺกฏ |
ปัญหาคาถาที่ ๑๗ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า ธรรมสภาพสิ่งใดเป็นเร็วพลัน ธรรมสภาพสิ่งนั้นอะไรกล่าวกันว่าเร็วเกินกว่า
ปัญหาคาถาที่ ๑๗ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า ลมอย่างหนึ่ง ม้าสินธพอย่างหนึ่งย่อมเร็วกว่า ลมและม้าสินธพทั้งสองนั้นกล่าวกันว่า เร็วเกินกว่าสภาพที่เร็วทั้งปวง ดูกรปู ท่านจงรู้ดังอธิบายอย่างนี้
ปูทองฟังกาแก้ปัญหาแล้วจึงพูดว่า ท่านหารู้จักประโยชน์และใช่ประโยชน์ไม่ ดีแต่พูดล่อลวงเขาเล่นอย่างเดียว เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๘ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
โย เสฏฺโ เสฏฺานํ | วโร ปวโร อโหสิ |
โส อติเสฏฺตโร นาม | กึ ปสฺเส กาก อิมสฺมึ |
โย จ เทวตานํ อินฺโท | เสฏฺโ วรตโร เจว |
โส เทวานมินฺโท สกฺโก | อติปวรตโร นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๑๘ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า สภาพสิ่งใดเป็นของประเสริฐเลิศกว่าของประเสริฐทั้งหลาย สภาพสิ่งนั้นอะไรชื่อว่าประเสริฐยิ่งกว่า ท่านเห็นอย่างไรในปัญหาข้อที่ถามนี้
ปัญหาคาถาที่ ๑๘ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า เทพดาองค์ใดเป็นใหญ่กว่าเทพดาทั้งหลาย ชื่อว่าประเสริฐเลิศแท้
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วจึงพูดว่า ท่านผู้พาลแท้หารู้จักแก้ปัญหาข้อนี้ได้ไม่ เมื่อจะถามปัญหาที่ ๑๙ กะกาต่อไป จึงกล่าวคาถานี้ว่า
โย สาโร รุกฺขสาราทีหิ | อฺสาเรหิ ปวโร |
โส จ อติสาโร นาม | กึ ปสฺสสิ ตมฺเม วทาหิ |
ปทวีธาตุ สิลา จ | วาตาตปฺเปหิ วายูหิ |
เนว วินสฺเสนฺติ กกฺกฏ | ตสฺมา อติสาโร นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๑๙ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า สภาพอันใดเป็นแก่นสารประเสริฐกว่าสารอื่นมีแก่นไม้เป็นอาทิ สภาพอันนั้นอะไรชื่อว่าเป็นแก่นสารเกินกว่า ท่านเห็นอย่างไรจงตอบแก่เราไป
ปัญหาคาถาที่ ๑๙ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า ดูกรปู แผ่นดินและก้อนหินก็ดี เหล่านี้ย่อมไม่พินาศไปด้วยแดดและลม เพราะฉะนั้นแผ่นดินและหินชื่อว่าเป็นแก่นสารเกินกว่าของทั้งปวง
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วพูดว่า ท่านหารู้จักแก้ปัญหาได้ไม่ รู้แต่จะกินสิ่งเดียวเท่านั้น เมื่อจะถามปัญหาที่ ๒๐ กับกาต่อไป จึงกล่าวคาถาดังนี้ว่า
โย มธุรสานํ รโส | ปวโร เสฏฺโ อุตฺตโม |
โส อติมธุโร นาม | กึ ปสฺสสิ อตฺถํ กาก |
มํสสาลินโมทนานํ | โย จ รโส อุตฺตโมโช |
โส จ รสานํ ปวโร | อติมธุรโส นาม |
ปัญหาคาถาที่ ๒๐ ซึ่งปูทองยกขึ้นถามกามีความว่า รสอย่างใดเป็นรสประเสริฐเลิศกว่ามธุรสทั้งหลาย รสนั้นอะไรชื่อว่าอติมธุรส ดูกรกา ท่านเห็นความข้อนี้เป็นอย่างไร
ปัญหาคาถาที่ ๒๐ ซึ่งกายกขึ้นวิสัชนามีความว่า รสแห่งข้าวสาลีอันเจือปนด้วยมังสะมีโอชาอันอุดมอันใด รสนั้นนั่นแหละชื่อว่าอติมธุรสประเสริฐกว่ารสทั้งหลาย ท่านจงรู้อย่างนี้
ปูทองฟังกาแก้ปัญหานั้นแล้วตอบว่า ดูกรกาพาล ตัวท่านหาปัญญามิได้ ฉลาดแต่ช่างพูดเท่านั้น ถ้อยคำที่ท่านกล่าวแก้ปัญหาหาสมกันไม่ เราจักไม่ไปกับท่าน ๆ จงไปผู้เดียวเถิด ดูกรปู ถึงเราไม่รู้จักแก้ปัญหาของท่านได้ก็จริงแล แต่ว่าสหายของเราเขามีปัญญาฉลาดแก้ปัญหา ท่านมาไปกับเราๆ จักไปถามปัญหากับสหายจักได้รู้เนื้อความชัดเจน ถ้าว่าท่านพูดจริงๆ เราจะไปด้วยท่าน กานั้นก็ดีใจนึกว่าปูทองนี้หลงในถ้อยคำเราล่อลวง แล้วเราจักพาไปให้พบสหายเราก่อน ให้ปูทองถามปัญหากันแล้วจึงจะพาไปให้เห็นสระใหญ่ แล้วพากลับไปฉีกเนื้อกินเสียให้จงได้
ปูทองจึงเตือนกาว่าถ้าเช่นนั้น เราพากันไปหาสหายของท่านด้วยกัน ดูกรปู สหายของเรา มีอยู่ ๗ สหาย ดูกรกา สหายของท่านเหล่านั้นคือใครบ้าง ดูกรปู สหายของเราคือ กระต่าย ๑ พรานป่า ๑ นกยูง ๑ วานร ๑ เสือโคร่ง ๑ กินนร ๑ เทวดา ๑ ดูกรกา เราได้หนีบคอของท่านด้วยก้ามทั้งสองของเราจึงจักไปกับท่าน ถ้าเราไม่ได้หนีบคอท่านด้วยก้ามทั้งสองแล้วก็จักไม่ไปกับท่าน กานั้นรับถ้อยคำปูทองแล้วก็เหยียดคอก้มศีรษะลง ปูทองจึงหนีบคอกาเข้าไว้ให้มั่นด้วยก้ามของตน กาจึงพาปูทองบินขึ้นบนเวหา นำไปหากระต่ายก่อน ปูทองถามปัญหายี่สิบข้อกะกระต่ายๆ ก็พยากรณ์เหมือนกับกาดังกล่าวมาแล้ว ปูทองก็ไม่พอใจให้กาพาไปหาสหายอื่นอีก กาจึงพาปูทองไปหา พรานป่า, นกยูง, วานร, เสือโคร่ง, กินนร, เทวดา สหายของกาเหล่านั้นพากันแก้ปัญหายี่สิบข้อเหมือนกับกาหาถูกใจปูทองไม่ ปูทองก็ติเตียนสหายของกามีประการต่าง ๆ
สหายของกาทั้งเจ็ดมีกระต่ายเป็นอาทิ จึงพาปูทองไปให้ถามปัญหากับพระยาแร้ง ๆ ก็วิสัชนาเหมือนกันกับสหายทั้งปวง ปูทองพูดว่าท่านทั้งแปดหารู้จักเนื้อความปัญหาไม่ แล้วถามพญาแร้งว่า แน่ะพญาแร้ง ท่านเห็นบรรพชิตผู้มีปัญญามีอยู่ที่ไหนบ้าง ดูกรปูผู้สหาย ได้ยินว่าราชโอรสของพระเจ้าโสไรยองค์หนึ่ง เป็นนักปราชญ์มีปัญญามาก ละเบ็ญจกามคุณไปบวชเป็นดาบสอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายพากันไปหาดาบสเถิด พญาแร้งพูดดังนั้นสหายทั้งหลายเห็นพร้อมกัน พาปูทองนั้นไปยังสำนักพระดาบสขณะนั้น ภูมเทวดาและรุกขเทวดาเป็นอาทิก็พากันตามไปเพื่อจะฟังปัญหาพยากรณ์
สัตว์ทั้งหลายมีกาเป็นต้น ครั้นพาปูทองไปอาศรมพระดาบสแล้วก็นั่งอยู่ที่ควรส่วนหนึ่ง พระสุรัพภโพธิสัตว์เจ้าเห็นสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจึงทำยิ้ม ๆ นึกในใจว่า แต่ก่อนสัตว์เหล่านี้เป็นข้าศึกต่อกัน บัดนี้กลับมาเป็นมิตรสนิทสนมกลมเกลียวดี น่าจะมีเหตุประหลาดเกิดขึ้นอย่างไรเป็นแน่ เมื่อจะถามความนั้นให้แจ้งชัดจึงจรัสพระคาถานี้ว่า
อฏฺ ชนา สมาคตา | กินฺนุ อาคตา อสฺสเม |
กถํ กลหํ กโรนฺตา | วิวาทปตฺตา อาคตตฺถ |
ความว่า ท่านแปดพร้อมกันมาถึงอาศรมเราด้วยกิจสิ่งไร หรือทำความทะเลาะวิวาทกันอย่างไรจึงพากันมาหาเราถึงที่นี้
สัตว์เหล่านั้นจึงแจ้งแก่พระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ กาดำกับปูทองทั้งสองนี้เกิดวิวาทกัน ปูทองเป็นผู้ถามปัญหา กาเป็นผู้แก้ปัญหา ทุ่มเถียงไม่ตกลงกัน เพราะฉะนั้นพวกข้าพเจ้าจึงพาปูทองและกามาหาพระผู้เป็นเจ้า พระดาบสจึงถามปูทองว่า แน่ะปู่ทอง ท่านถามปัญหาอะไรกับกาเล่า ปู่ทองจึงเปล่งอุทานวาจาบอกว่า ข้าพเจ้าถามปัญหายี่สิบข้อกับกาว่า สิ่งไรเป็นทุกข์ สิ่งไรเป็นสุข สิ่งไรยากมาก สิ่งไรสีงาม สิ่งไรใช่สีงาม สิ่งไรใหญ่ สิ่งไรสูง สิ่งไรร้อน สิ่งไรเย็น สิ่งไรละเอียด สิ่งไรมืด สิ่งไรสว่าง สิ่งไรกลิ่นหอม สิ่งไรกลิ่นเหม็น สิ่งไรกำลังมาก สิ่งไรไกล สิ่งไรเร็วมาก สิ่งไรประเสริฐมาก สิ่งไรเป็นแก่นสาร สิ่งไรเป็นรสอร่อย ข้าพเจ้าถามกาอย่างนี้
พระสุรัพภโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่า ดูกรกา ท่านวิสัชนาแก้ปัญหาเขาว่ากระไร กาจึงแจ้งความแก่พระโพธิสัตว์ว่า สัตว์มีปักหักและเท้าขาดเป็นทุกข์ ได้กินข้าวเสมอเป็นสุข อาหารขาดท้องแล้วถือยากเป็นใหญ่ พระอาทิตย์แรกอุทัยสีงาม อดอาหารตั้งสิบวันสีก็ไม่งาม เมรุบรรพตใหญ่กว่า อากาศชื่อว่าสูงกว่า ไฟไหม้ป่าชื่อว่าร้อน น้ำชื่อว่าเย็น ลมชื่อว่าละเอียด เมฆตั้งขึ้นในกลางคืนข้างแรมชื่อว่ามืด แสงพระอาทิตย์พระจันทร์ชื่อว่าสว่าง ปลาและเนื้อกับข้าวสุกชื่อว่ากลิ่นหอม คูถมนุษย์ชื่อว่ากลิ่นเหม็น กำลังพระนารายณ์ชื่อว่ามีกำลังมาก จักรวาฬชื่อว่าไกล ลมกับม้าสินธพชื่อว่าเร็วเกิน ท้าวสักกเทวราชชื่อว่าประเสริฐ ภูเขาหินชื่อว่าเป็นสาร รสปลาและเนื้อกับข้าวสุกเป็นรสอร่อย ข้าพเจ้าตอบอย่างนี้
พระสุรัพภโพธิสัตว์ เมื่อจะวิสัชนาข้อปัญหาซึ่งกาแก้นั้นให้ถูกต้องเสียใหม่ จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังคำของเราแล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ชาติปิ ทุกขา ชราปิ ทุกฺขา พยาธิปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ
ปิเยหิ วิปฺปโยโคปิ ทุกฺโข อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข
ความว่า ความเกิดและความแก่แห่งปัญจขันธ์เป็นทุกข์ ความเจ็บป่วยและความดับแตกแห่งปัญจขันธ์ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากพัสดุสังขารอันเป็นที่รักใคร่ก็เป็นทุกข์ ความอยู่ร่วมด้วยสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักชอบใจก็เป็นทุกข์ ความประสงค์สิ่งใดไม่ได้สมประสงค์ก็เป็นทุกข์ ความทุกข์โดยย่อก็รวมลงในขันธ์ห้านี้เอง ความทุกข์แปดอย่างนี้ชื่อว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
อนึ่งความทุกข์ในอบายสี่ก็ชื่อว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความทุกข์ในอบายสี่นั้นคือ ๑ ความทุกข์ในเปตวิสัย จริงอยู่เปตสัตว์ทั้งหลายบางพวกไม่ได้กินอาหารสิ้นกาลพุทธันดรหนึ่งบ้าง สองพุทธันดรบ้าง บางทีมีอาวุธตกลงมาแต่อากาศประหารแทงกายของเปตสัตว์บางพวกก็มี เปตสัตว์ย่อมเสวยทุกข์มากต่าง ๆ อย่างนี้ ๒ ความทุกข์พวกอสุรกายก็มีต่าง ๆ กัน พวกอสุรกายย่อมไม่ได้กินอาหารอันสะอาดเลย อสุรกายบางพวกได้กินครรภมลทินอันโสโครกบ้าง บางพวกได้ถินน้ำมูตรและก้อนคูถบ้าง บางพวกมีกายซูบผอมมีมังสะและโลหิตน้อย ทนทุกขเวทนาสาหัสอย่างนี้ ๓ ความทุกข์ในนรก สัตว์เกิดในนรกย่อมเสวยทุกข์ใหญ่เปลวไฟเกิดขึ้นในท้องในปากดื่มกินซึ่งน้ำทองแดงและเคี้ยวก้อนเหล็กแดงกินเป็นอาหาร เสวยทุกขเวทนาต่างๆ มีอย่างนี้เป็นต้น ๔ ความทุกข์แห่งสัตว์เดรัจฉานก็มีหลายประการ สัตว์เดรัจฉานจะได้กินได้นอนและเดินไปก็แสนลำบาก และจะได้อาหารแต่พอเต็มท้องวันหนึ่งก็ทั้งยาก ไหนจะต้องถูกเพื่อนกันที่มีกำลังมากข่มเหงชิงกินเสียบ้าง บางทีก็ถูกเขาทิ่มแทงตีฟันและฆ่ากินเป็นอาหารก็มากมาย ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น จัดเป็นทุกข์อย่างยิ่งด้วยประการฉะนี้ ดูกรท่านทั้งหลาย กองทุกข์ในอบายสี่นี้ชื่อว่าเป็นทุกข์เหลือเกินกว่าทุกข์ในโลกนี้ สัตว์ทั้งหลายมีปูทองเป็นอาทิก็ทำสาธุการ สรรพเทวดาก็ให้สาธุการเป็นโกลาหล
ปูทองจึงถามปัญหาที่ ๒ ว่าอะไรชื่อว่าสุขอย่างยี่ง พระสุรัพภโพธิสัตว์ เมื่อจะวิสัชนาทุติยปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
สุโข วิเวโก ตุฏสฺส | สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต |
สุขํ อพฺยาปชฺชํ โลเก | ปาณภูเตสุ สฺโม |
สุขา วิราคตา โลเก | กามานํ สมติกฺกโม |
อสฺมิมานสฺส วินโย | เอตํ เว ปรมํ สุขํ |
ความว่า วิเวกธรรมคือพระนิพพาน นำมาซึ่งความสุขแก่อริยบุคคลผู้มีสัจธรรมอันตนสดับแล้ว และยินดีพิจารณาอยู่ซึ่งปฏิเวธธรรม ความที่ไม่มีพยาบาทและความสำรวมไตรทวาร มิได้เบียดเบียนสัตว์มีชีวิต ย่อมนำความสุขมาให้แก่สัตว์โลก ความปราศจากราคะกำหนัดรักใคร่ในขันธาทิโลกนำความสุขมาให้ ความก้าวล่วงคือละเสียได้ซึ่งกามทั้งหลาย นำความสุขมาให้ พระอริยมรรคทำอัสมิมานะวินาศไปนำความสุขมาให้ คุณชาติมีวิเวกเป็นต้นนี้ชื่อว่าเป็นบรมสุขเที่ยงแท้ ข้อนี้แหละเรียกว่าสุขยิ่ง
ปูทองเมื่อยังสาธุการให้เป็นไปแล้วถามปัญหาที่ ๓ ว่า ความอยากอะไรชื่อว่าความอยากยิ่ง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาตติยปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
โย จ พาโล อสปฺปุริโส | ปาปกมฺมํ ปิปาสติ |
กามคุณํ ปฏิเสวติ | อติตฺตํ น คจฺฉติ |
กามาลยํ อาลยติ | กามรตฺตึ รฺชติ |
โส จ อิโต จุโต เจว | อปาเยสุ นิพฺพตฺติ |
สํสาเรปิ ปปฺเจติ | อิทมฺปิปาสตรํ นาม |
โย จ สปฺปุริโส โหติ | ปญฺจวิเธ เวราตีโต |
นากุสลํ กโรติ โส | ปญฺจอฏฺสีลสมาทาโน |
ปฺุาภิวฑฺฒนากาโร | ปฺุาภิปิปาสิโต โส |
สพฺพากุสลวิรโต | อิโต จุโต โส สคฺเค จ |
มานุเส จ สมฺปตฺยํ | อนุภวนฺติ สพฺพทา |
ตสฺมาหํ เอวํ วทามิ | อิทมฺปิปาสตรํ นาม |
ความว่า ผู้ใดเป็นพาลหาใช่สัปบุรุษไม่ อยากแต่จะทำบาปกรรมและเสพกามคุณ ย่อมไม่อิ่มไม่เบื่อเลย ผู้นั้นครั้นจุติจากอัตตภาพนี้แล้ว ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ทำตนให้เนิ่นช้าอยู่ในสังสารวัฏ ข้อนี้แหละจัดชื่อว่าความอยากยิ่งเกิน ก็ผู้ใดเป็นสัปบุรุษงดเว้นเบญจวิธเวรเสียได้ ผู้นั้นไม่ทำอกุศล สมาทานศีลห้าศีลแปดมั่น มีแต่ทำบุญให้เจริญยิ่ง ๆ และอยากดื่มกินซึ่งการบุญร่ำไป และกดเว้นไกลจากสรรพอกุศล ผู้นั้นเมื่อทำลายขันธ์แต่โลกนี้แล้ว ก็จะได้ไปเกิดในโลกสวรรค์ ครั้นจุติจากสวรรค์แล้วจะเกิดในมนุษย์โลกเสวยสุขสมบัติทุกทิวาราตรี เพราะเหตุดังนี้ เราจึงกล่าวว่า ความอยากทำบุญกุศลข้อนี้ชื่อว่าความอยากยิ่ง
สรรพเทพดาทั้งหลายฟังธรรมบรรยายนั้นแล้วก็โสมนัส โปรยทิพย์รัตนบุปผา และทำสาธุการอนุโมทนา ปูทองก็ให้ซ้องสาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๔ ว่า อะไรชื่อว่าสีงามยิ่งกว่าสีทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาจตุตถปัญหา ตรัสพระคาถานี้
ทิวา ตปฺปติ อาทิจฺโจ | จนฺทิมาภาติ รตฺติยํ |
เต อุโภ อิธ อาภาติ | โน จ เทวาโลเก โชติ |
พุทฺโธ ธมฺโม นิจฺจเมว | สพฺพทิวรตฺตีสุ จ |
อิธ เทเวสุ พฺรหฺเมสุ | อาภาติ สพฺพทิสาสุ |
พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ นิจฺจํ | ชนสฺส ภยํ นิวาเรติ |
สํสารทุกฺขํ ยาเปติ | อิทมฺปิ อาภาติ นาม |
อปิ อิมสฺมึ กาเย จ | ปฺุา ยสฺส ชายเรปิ |
โสปิ คุณาคุเณ ปสฺเส | อคุเณ ปหายนฺโต ว |
คุเณ วฑฺฒยนฺโต โหติ | ติลกฺขเณ โอภาเสนฺโต |
วณุณวนฺตานํ ปวโร | ปรมวณฺณวา โหติ |
อิทมฺปิ สุวณฺณกกฺกฏ | อติวณฺณวนฺโต นาม |
ความว่า พระอาทิตย์ย่อมสว่างในเวลากลางวัน พระจันทร์ย่อมสว่างในราตรี พระอาทิตย์พระจันทร์ทั้งสองนั้น ย่อมส่องแสงสว่างแต่ในโลกนี้ หาส่องสว่างในเทวโลกได้ไม่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมสว่างรุ่งเรืองทั่วไปในสรรพทิวาราตรีอยู่เป็นนิจ และย่อมสว่างทั่วไปในโลกนี้กับทั้งเทวโลกและพรหมโลกตลอดสรรพทิศา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมห้ามเสียได้ซึ่งภัยอันจะเกิดแก่นรชนอยู่เนืองนิจ และยังสังสารทุกข์ให้สิ้นไป คุณชาติแม้ข้อนี้ชื่อว่าย่อมสว่างยิ่ง
อนึ่งปัญญาย่อมเกิดแก่ผู้ใดในสัตตนิกายนี้ ผู้นั้นย่อมเห็นซึ่งคุณและโทษใช่คุณ ย่อมละเสียได้ซึ่งโทษใช่คุณ ยังคุณความดีให้เจริญยิ่งขึ้นไป เมื่อผู้นั้นทำไตรลักษณ์ให้ใสสว่างอยู่เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนผู้มีสีกายอันงาม ดูกรปูทอง คุณสมบัติแม้ข้อนี้ชื่อว่ามีสีงามเกินกว่าสีทั้งปวงด้วยอย่างนี้
สรรพเทพดาทั้งหลายยังสาธุการให้เป็นไป และโปรยปรายทิพย์รัตนบุปผาให้ตกลง ปูทองให้ซ้องสาธุการแล้วจึงถามปัญหาที่ ๕ ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ สภาพอะไรชื่อว่าสีชั่วเลวทรามกว่าสีทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาปัญจมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
ทุสีลา จ เย ลามกา | สพฺพบปาเปภิรมนฺติ |
ปาปํ กโรนฺตา โมทนฺติ | ปฺุานิ ชิคุจฺฉนฺติ วิย |
อิเม มลา จ กิเลสา | สติยา มลา จ โมหา |
ขนฺติยา จ โทสา มลา | ทานสฺส มจฺฉริยานิ |
สีลสฺส อหิริโนตฺตปฺปํ | กุสลสฺส อกุสลํ |
อิธ มลํ โหติ สทา | อิทมฺปิ ทุวณฺณํ นาม |
ความว่า นรชนเหล่าใดใจบาปลามกทุศีล ยินดีในการบาปทั้งปวง นรชนเหล่านั้นทำบาปกรรมอยู่ย่อมรื่นเริงบันเทิงใจ ประหนึ่งว่าจะเกลียดต่อการบุญกุศล (เพราะกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ) ก็กิเลสเหล่านี้เป็นดุจสนิมเหล็กคือ โมหะความหลงเป็นฝ้าสนิมของสติ โทสะความประทุษร้ายเป็นฝ้าสนิมของขันติ ความตระหนี่เป็นฝ้าสนิมของการให้ทาน ความไม่ละอายและความไม่สะดุ้งใจเป็นฝ้าสนิมของศีล อกุศลเป็นฝ้าสนิมของกุศลทุกเมื่อ กิเลสารทิชาติแม้นี้ชื่อว่าสีไม่งามเลวทรามกว่าสีทั้งปวง ด้วยอาการอย่างนี้
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลายฟังพระโพธิสัตว์แก้ปัญหานั้นแล้ว จึงโปรยปรายทิพย์รัตนบุปผาให้ตกลงมาเกลื่อนกลาดยังเสียงสาธุการให้เป็นไป ฝ่ายปูทองก็ให้เสียงสาธุการแล้วจึงถามปัญหาที่ ๖ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อะไรชื่อว่าเป็นของใหญ่กว่าของใหญ่ทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาฉัฏฐมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
สพฺเพสํ สตฺตานํ มโน | โส อติมหนฺโต นาม |
อิธ สเทวเก จ โลเก | สพฺพมหนฺตานํ ธมฺมานํ |
พาลานํ หิ มโน โลเก | โลภราควเสน จ |
ปาปเก ปติฏิโต โหติ | อิติ มโน อติมหนฺโต |
เจ วลิชาติ โลโภ จ | เอกจกฺกวาฬคพฺเภ |
อติวิย สมฺพาเธ | วิปฺผาริย ปริปูเรติ |
วฑฺฒนฺโต จ โลภวลิ | อเนกสาขา มหาปุปฺผิ |
อเนกผลา มหาขนฺธา | อเนกวณฺณา มหามูลา |
สพฺเพสํ วลีนํ โลเก | อติมหา โลภวลิ |
อติมหนฺโต นาม โส เก | เอวํ กกฺกฏ วิชานาหิ |
ความว่า ใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั่นแหละชื่อว่าใหญ่เกินกว่าธรรมบรรดาที่ใหญ่ทั้งปวง ในโลกนี้กับเทวโลกด้วย จริงใจของคนพาลตั้งอยู่แล้วในการบาปด้วยความสามารถแห่งความยินดีในโลก เพราะเหตุนี้ ใจของสรรพสัตว์จัดได้ชื่อว่าใหญ่เกิน ถ้าหากว่าโลภเป็นดังเถาวัลย์ก็เถาวัลย์คือโลภเมื่องอกงามเจริญขึ้น ก็จะแตกกิ่งน้อยใหญ่ผลิดอกออกผลลำต้นจะโตใหญ่และมีรากมาก มีพรรณมิใช่น้อย เพราะเหตุนี้ เถาวัลย์คือมหาโลภนั้นชื่อว่าใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาเถาวัลย์ทั้งปวงในโลกนี้ ดูกรปู ท่านจงรู้อย่างนี้
ดูกรปู โลภธรรมนี้เปรียบดังไม้ตนหนึ่ง มีอภิชฌาเป็นยอดธรรมสีกองมีสัญญาเป็นอาทิเป็นสาขายื่นไปในสี่ทิศ มีโมหะความหลงเป็นรากใหญ่ มีเวรห้ามีปาณาติบาตเป็นอาทิเป็นดอกไม้ มีวิบากทุกข์เป็นผลไม้อันเกิดแต่อกุศลใหญ่ ดูกรปู แม่น้ำน้อยนับตั้งร้อยพันและหมื่นแสน มีกระแสน้ำไหลไปสู่มหาสมุทรทั้งสิ้น ถึงฝนตกลงมาสักเท่าใดมหาสมุทรนั้นก็หาเต็มด้วยน้ำไม่ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเพราะเหตุว่า อติโลภราคะเป็นสภาพกว้างใหญ่และลึกล้ำเหลือยิ่งนักหนา เพราะว่าราคะย่อมไม่ถึงซึ่งความอิ่มความจืดจางได้ ถ้าหากว่าได้อย่างหนึ่ง ก็อยากจะได้สองและสามสี่ต่อไปไม่มีที่สุด เพราะฉะนั้นจึงว่าราคะเป็นสภาพธรรมใหญ่ยิ่งเกิน ด้วยประการฉะนี้
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลายพากันทำเสียงสาธุการ และโปรยทิพย์รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ส่วนปูทองให้สาธุการแล้วจึงถามปัญหาที่ ๗ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ก็อะไรเป็นสภาพที่สูงเกิน พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาสัตตมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
อปาเยหิ อยํ โลโก | อิธโลถา เทวโลโก |
เทวโลเกหิ มาโร จ | มารโลกา พฺรหฺมโลโก |
ยถากฺกมฺมํ อุจุตฺตโก | กามาวจเรหิ อุจฺโจ |
รูปาวจโร ตมฺหา จ | อรูปาวจรโลโก |
น นิพฺพาเนน สเมติ | นิพฺพานมคฺโค อคฺคุจฺโจ |
โย นิพฺพานํ คนฺตุกาโม | อฏฺงฺคิเกน มคฺเคน |
ปฏิปนฺโน คจฺฉตุ | โส หิ นิพฺพานสฺส มคฺโค |
อฏฺจสุ ทิสาสุ ิโต | อฏฺงฺคิโก มคฺโค โหติ |
ความว่า มนุษย์โลกนี้สูงกว่าอบายโลก เทวโลกสูงกว่ามนุษยโลกนี้ มารโลกสูงกว่าเทวโลก พรหมโลกสูงกว่ามารโลก รูปาวจรโลกสูงกว่ากามาวจร อรูปาวจรสูงกว่ารูปาวจร สูงกว่ากันตามลำดับชั้น แต่ถึงกระนั้นจะสูงเสมอพระนิพพานหามิได้ ทางพระนิพพานสูงที่สุด ผู้ใดใคร่จะไปพระนิพพาน ผู้นั้นจงดำเนินไต่ไปตามอัฏฐังคิกมรรค จริงอยู่พระอัฏฐังคิกมรรคนั้นเป็นทางของพระนิพพาน มรรคมีองค์อวัยวะแปดตั้งอยู่ในทิศทั้งแปด เหตุนี้นิพพานมรรคชื่อว่าสูงเกินยิ่งนัก
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลายสดับปัญหาพยากรณ์นั้นแล้ว พากันให้สาธุการและโปรยนานารัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็ยิ่งโสมนัสให้สาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๘ ต่อไปว่า ความร้อนอะไรชื่อว่าร้อน พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาอัฏฐมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
ปกติอคฺคิโต อุณฺโห | นิริยคฺคิสนฺตาโป จ |
ตโต อนฺโตอคฺคิสนฺตาโป | โส จ อติอุณฺโห นาม |
กตโม จ อนฺโตอคฺคิ | ราคโทสโมหวเสหิ |
ติวิธคฺคิ อนฺโตโชติ | ฌาปยนฺโต จิตฺตํ กมฺเปติ |
โทสคฺคิ ทุมนสฺสสฺส | อุปฺปนฺนํ วิวาทาเปติ |
กมฺปยนฺโต ทุมโน จ | ปาณาติปาตาทินฺนาทานํ |
ผรุสํ เปสฺุํ กาโร | โทสคฺคินวเสน จ |
วิหึสา จ พฺยาปาทฺจ | กุกฺกุจฺจฺจ อุปาทิยติ |
ราคโมหคฺคิวเสน | กาเมสุ มิจฺฉาจารฺจ |
อทินฺนาทานสุราปานํ | ปาณาติปาตํ อการยิ |
มุสาวาทํ ผรุสฺจ | วจีทุจฺจริตํ วาทิ |
โลภาภิชฺณามจฺฉริยํ | มโนกมฺมํ วิจินฺตยิ |
ความว่า ความแผดเผาแห่งไฟในนรกร้อนกว่าไฟปรกติ ความร้อนภายในร้อนกว่าไฟในนรก ก็ความร้อนไฟภายในนั่นแหละ ชื่อว่าร้อนกว่าความร้อนทั้งปวง ก็ไฟภายในนั้นคือสิ่งอันใด ไฟสามกองด้วยสามารถแห่งราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าโพลงอยู่ภายใน ย่อมเผาจนจิตของสัตว์ให้หวั่นไหว ไฟคือโทสะยังโทมนัสให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้วิวาทซึ่งกันและกัน บุคคลเมื่อมีใจชั่วกำเริบอยู่มักทำปาณาติบาตอทินนาทานและกล่าวผรุสวาจาและเปสุญวาท และทำวิหิงสาพยาบาทกุกกุจจะให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจไฟคือ โทสะบุคคลได้ทำการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกามและกล่าววจีทุจริต คือ มุสาวาทผรุสวาท และตรึกคิดมโนกรรม คือ โลภอภิชฌามัจฉริยก็ด้วยอำนาจไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เหตุนี้ไฟภายในคือ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าร้อนเกินกว่าไฟอื่น
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยทิพย์รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็ยิ่งโสมนัสทำสาธุการ จึงถามปัญหาที่ ๙ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความเย็นอะไรชื่อว่าเย็นเกินกว่าความเย็นทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนานวมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
อิธตฺถิ ยงฺกฺจิ โลเก | จาตุทกาทิอุตุชฺชํ |
เนว พุทฺธภาสิตาหิ | ธมฺมสีตาหิ สเมติ |
(ยถาห) มาตาเปติภรํ ชนตุํ | กุเล เชฏฺาปจายินํ |
สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ | เปสุเณยฺยปหายินํ |
มจฺเฉรวินเย ยุตฺตํ | สจฺจํ โกธาภิภุํ นรํ |
ตํ เว เทวา ปสํสนฺติ | อติสีตํ นาม ชาตํ |
ชนสฺส สิเนหตา จ | อมิตฺตสฺส อภาวตา |
ภยูปทฺทวา น โหนฺติ | นิรทุกฺขา เขมา เจว |
ความว่า ความเย็นเกิดแต่ฤดูมีลมและน้ำเป็นอาทิอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ ที่จะเย็นเสมอด้วยความเย็นคือธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วหาบมิได้ เพราะเหตุดังนั้นพระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวความข้อนี้ไว้ว่า เทพดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญนรชนผู้บำรุงเลี้ยงมารดาบิดาผู้เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล กล่าววาจาอ่อนหวานเสมอดังสหายผู้ละเสียซึ่งวาจาส่อเสียด ผู้ปราศจากความตระหนี่ มีวาจาสัจจริง มีปรกติบรรเทาเสียซึ่งความโกรธ ชื่อว่าเย็นเกินนั่นเทียว เพราะเหตุนำความรักของมหาชนมาให้ด้วย เพราะจะให้ไม่มีพวกอมิตรที่จะคิดทำร้ายด้วย ทั้งภัยตุปัทวะก็จะไม่มี ผู้นั้นจะนิราศปราศจากทุกข์อยู่เย็นเป็นเกษมสุขทุกเมื่อทีเดียว
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาและปูทองให้เสียงสาธุการทำความชมเชยแล้ว ปูทองจึงถามปัญหาที่ ๑๐ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความละเอียดสิ่งไรชื่อว่าละเอียดกว่าความละเอียดทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์ เมื่อจะวิสัชนาทสมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
อุทกวาตาตปานํ วา | สุขุโม ตโต วสฺสานํ |
ตโต สีทนฺตรสมุทฺเท | อุทกานํ สุขุโม จ |
ตโต พุทฺธภาสิโต จ | ธมฺโม อติสุขุโม จ |
อติคมฺภีโร ฆโต จ | ทุรทสฺโส ทุรสุโณ |
ทุรานุโพโธ นิปุณฺโณ | อตกฺกาวจโร โหติ |
ปณฺฑิตเวทนิโย จ | พาเลหิ ทุรากฺขฺยาโต จ |
ปณฺฑิเตเหว สฺวากฺขฺยาโต | อติสุนฺทโร นาม โส |
อิติ อติสุขุโม ว | พาลา หิ เนว ชาเนยฺยํ |
เย จ ปฺุานิ สฺจิตา | ทานสีลาทิปูริตา |
สตกปฺปสหสฺสา จ | เต ตํํ ธมมํ ชานิสฺสนฺติ |
โน เจ าตุํว สกฺโกติ | ตสฺมา ทุปฺา ทณฺฑกา |
ทุรากฺขฺยาตา ทุรานุโพธา | ปณฺฑิเตหิ สุวิทิตา |
ความว่า ความละเอียดของน้ำลมและแดดย่อมมีอยู่ ก็ความละเอียดของน้ำฝนละเอียดกว่าน้ำทั้งปวงนั้น ความละเอียดของน้ำในสีทันดรสมุทรละเอียดกว่าน้ำฝน ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วชื่อว่าละเอียดกว่าน้ำในสีทันดรสมุทร พุทธภาสิตธรรมนั้นเป็นประดุจดังห้วงน้ำอันลึกเกิน ยากที่สัตว์จะได้เห็น ยากที่สัตว์จะได้ฟัง เป็นธรรมละเอียดโดยไม่เหลือ สัตว์ตรัสรู้ยากและเป็นธรรมไม่เป็นที่เทียวลงสู่ความตรึกเป็นธรรมอันลึกนักปราชญ์รู้ได้แจ้งชัด คนพาลกล่าวได้ยากนักปราชญ์กล่าวได้ดี พุทธภาสิตธรรมนั้นชื่อว่าดีเกิน ชื่อว่าสุขุมเกิน คนพาลไม่พึงรู้ได้โดยแท้แล
ก็ชนเหล่าใดได้ส่ำสมการบุญมีทานและศีลเป็นอาทิให้บริบูรณ์แล้วสิ้นแสนกัลป ชนเหล่านั้นจึงจักรู้ซึ่งธรรมนั้นได้ดี ก็ถ้าหากว่าผู้ใดไม่สามารถส่ำสมการบุญมีทานศีลเป็นต้นให้บริบูรณ์สิ้นแสนกัลปได้ ผู้นั้นก็ไม่อาจจะรู้ซึ่งธรรมนั้นให้ตลอดไป เหตุนั้นคนผู้ทรามปัญญาโง่เขลายากจะว่ากล่าว ยากจะตรัสรู้ธรรมนั้นได้ ฝ่ายบัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้แจ้งชัดซึ่งธรรมนั้นได้ดี
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ได้ฟังปัญหาพยากรณ์นั้นแล้ว จึงให้สาธุการและโปรยทิพย์รัตนบุปผาโถมนาการพระโพธิสัตว์ ปูทองก็ให้สาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๑๑ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความมืดสิ่งใดจะมืดกว่าความมืดทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาเอกาทสมปัญหา จึงตรัสพระคาถาว่า
กาฬปกฺเข จ รตฺติยํ | รหิตจนฺทิมา รวิ |
ตโม โหติ เนว อตฺถิ | ตโต โลกนฺตนิริเย |
อติตโม นาม โหติ | อวิชฺชา จ อติตโม |
โมหนฺธโก อติตโม | ตโย อติตโม นาม |
โย หิ พาโล อปฺปฺโ จ | อวิชฺชาย ปริโยนทฺโธ |
ปาณาติปาตํ กกฺขลํ | อทินฺนาทานฺจ เวรํ |
กาเมสุ มิจฺฉาจารฺจ | กายทุจฺจริตํ กโรติ |
วจีกมฺมํ กโรติ โส | มุสาวาทํ เปสฺฺุจ |
ผรุสวาจํ ภณติ | สุราเมรยํ ปิวติ |
กายวจีจิตฺตกมฺมํ | ติวิธํ ทุจฺจริตมุปิ |
าณจกฺขุรหิตตฺตา | โย หิ อวิชฺชาย นทฺโธ |
มหาโมหตโมนทฺโธ | มาตุฆาฏาทิอนนฺตํ |
ทุสกนฺตํ กโรติ โส | อิโต จุโต โลกนฺตมฺหิ |
นิริเย นิพฺพตฺติ โส | ตสฺมา อติตโม นาม |
ความว่า พระจันทร์ปราศจากแสงในราตรีข้างแรมก็มีความมืด พระอาทิตย์บางคราวก็มีความมืด พระจันทร์พระอาทิตย์จะได้ชื่อว่ามืดแท้หามิได้ ความมืดในโลกันตนรก ๑ ความมืดคืออวิชชา ๑ ความมืดคือโมหะ ๑ ความมืดสามอย่างนี้ ชื่อว่ามืดเกินความความมืดแห่งพระจันทร์พระอาทิตย์ เพราะว่าผู้ใดเป็นพาลหาปัญญามิได้ อวิชชาเข้ารึงรัดไว้แล้วผู้นั้นย่อมทำกายทุจริตคือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร กล่าวมุสาวาท เปสุญวาท ผรุสวาท ดื่มสุราและเมรัย ทำทุจริตสามอย่างด้วยกายวาจาใจแท้จริง ผู้ใดอันอวิชชาและความมืดคือโมหะใหญ่รุมรัดแล้ว ย่อมทำอนันตริยกรรมมีฆ่ามารดาเป็นอาทิ มีทูสกรรมเป็นที่สุด เพราะตนปราศจากญาณจักษุ ผู้นั้นครั้นจุติแล้วก็ย่อมไปเกิดในโลกันตนรก เพราะฉะนั้นความมืดสามอย่างมีความมืดในโลกันตนรกเป็นต้น ชื่อว่ามืดเกินกว่ามืดทั้งปวง
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยทิพย์รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสให้สาธุการจึงถามปัญหาที่ ๑๒ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความสว่างอย่างไรชื่อว่าสว่างเกินกว่าความสว่างทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาทวาทสมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
จนฺทิมสุริยาหิ จ | ปฺวา อติชลติ |
เย จ อมจฺจา วา เสฏฺี | พฺราหมณปุโรหิตา วา |
สุททา เวสี เคหปตี | ติปิฏกํ อคฺคณฺหิตฺวา |
พหุสุตา นาม อิธ | ปรโลเก ปชลนฺติ |
เย จ สมาทานสีลา | จตุปฏิสมฺภิทธรา |
ปุจฺฉาวิสชฺชนกุสลา | ธมฺมวาทิสุนฺทรวาจา |
เต จ ปชลนฺติ โลเก | เทวมนุสฺเสหิ ปูชิตา |
โชติปรายโน โหติ | อติโชติปรายนา นาม |
ความว่า ผู้มีปัญญาย่อมสว่างรุ่งเรืองกว่าแสงสว่างพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็ชนเหล่าใดคืออำมาตย์และเศรษฐีก็ดี คือพราหมณ์และปุโรหิตก็ดี คือพ่อครัวพ่อค้าคหบดีก็ดี ได้เล่าเรียนพระไตรปิฎกจำทรงขึ้นใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นพหุสูต ย่อมสว่างรุ่งเรืองในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า ก็ชนเหล่าใดสมาทานศีลมั่น ทรงไว้ได้ซึ่งปฏิสัมภิทาสี แสดงธรรมอันไพเราะจับใจชนเหล่านั้นย่อมรุ่งเรืองในโลกนี้เทวดาและมนุษย์บูชานับถือมาก เป็นผู้รุ่งเรืองต่อไปในภพหน้า ชื่อว่า อติโชติปรายนา
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยทิพย์รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสให้สาธุการแล้วจึงถามปัญหาที่ ๑๓ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ กลิ่นหอมอะไรชื่อว่าหอมกว่ากลิ่นทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาเตรสมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
อิธ ทส สุคนฺธา จ | กาฬานุสาริยา มูลํ |
ตคฺครจนฺหาทิสารํ | สาริทา๕ทิสารคนฺโธ |
ปวลกาทิตจคนฺโธ | มรุ๖กาทิยูสคนฺโธ |
ตมาลาทิปตฺตคนฺโธ | นาคกุสุมาทิปุปฺผํ |
จนฺทผลาทิผลคนฺโธ | โคสิต๗จนฺทาทิรโส |
กปิฏฺาทิป๘ปฺปคนฺโธ | อิเม ทส สุคนฺธา นาม |
อิธ โลเก จ ปากฏา | เทวโลเก จ ทิพฺพคนฺธา |
วายนฺตา สุปากฏา จ | เนว อติสุคนฺธา จ |
สารคนฺธาทิสุคนฺธา | เนว ปฏิวาตํ เอกํ |
เทวพฺยามมตฺตํ วายนฺติ | ปฺจพฺยามมตฺตํ วาปิ |
สตฺตอฏฺนวทสํ วา | อนุวาตํ วายนฺติ จ |
ทิพฺพสุคนฺธา วายนฺติ | มนฺทารปาริฉตฺตปุปฺผาทิ |
โยชนมฺปิ ปติวาตํ | อนุวาตํ วายนฺติ จ |
ทสสหสฺสํ โยชนํ | อนุวาตฺจ วายนฺติ |
ตถา อุปริ อากาสํ | เนว อุตฺตรึ วายนฺติ |
สีลคนฺธา จ ปน | อปฺปริมานฺจ เขตฺตฺจ |
อุทฺธํ อโธ จ ติริยํ | อนุวาตํ วายนฺติ จ |
อุทฺธมฺปิ ยาวภวคฺคา | อโธ ยาวโลกนฺตา ว |
ติริยํ ยาวจกฺกวาฬา | อิติ อิเม สีลคนฺธา |
อติ จ สุคนฺธา นาม | อติวิย สุปากฏา |
ความว่า กลิ่นหอม ๑๐ อย่างนี้มีในโลกนี้ คือ รากแห่งกระลำภัก ๑ แก่นแห่งกฤษณาและไม้จันทน์เป็นต้น ๑ กลิ่นหอมแก่นไม้มีประยงค์เป็นต้น ๑ หอมเปลือกไม้มีปวลก๙ เป็นต้น ๑ หอมเยื่อไม้๑๐มุรุกเป็นต้น ๑ หอมใบไม้มีพิมเสนเป็นต้น ๑ หอมดอกไม้มีจำปาและคำเป็นต้น ๑ หอมผลไม้มีผลจันทร์เป็นต้น ๑ หอมรสมีจันทร์แดงหรือจันทร์เทศเป็นต้น ๑ หอมปุ่มไม้มีมะขวิดเป็นต้น ๑ กลิ่นไม้ ๑๐ อย่างเหล่านี้ชื่อว่าหอมดีมีปรากฏในโลกนี้ กลิ่นหอมของทิพย์ก็มีปรากฏอยู่ในเทวโลก/*278ส่วนหนึ่ง กลิ่นหอมในมนุษย์โลกและเทวโลกนั้น ๆ จะได้ชื่อว่าหอมเกินทีเดียวยังไม่ได้ กลิ่นหอมมีหอมแก่นไม้เป็นอาทิ จะได้หอมหวนลมขึ้นไปเพียง ๑ วา ๒ วา และ ๕ วา ก็หาไม่ จะหอมไปได้ก็แต่ตามลมอย่างไกลที่สุดแต่ ๑ วา ถึง ๑๐ วาเท่านั้น
ส่วนทิพย์สุคนธา มีดอกมณฑาและปาริกฉัตรเป็นอาทินั้นเล่า จะหอมทวนลมไปได้ก็แต่เพียง ๑ โยชน์เท่านั้น ทิพย์สุคนธ์นั้นย่อมหอมตามถมไปไกลถึงหมื่นโยชน์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังหาหอมฟุ้งขึ้นเบื้องบนอากาศได้ไม่ ก็แหละฝ่ายกลิ่นศีลนั้นย่อมหอมฟุ้งไปได้ไม่มีที่กำหนด หอมทั่วไปหมดทั้งตามลมและทวนลม หอมไปในเบื้องบนเบื้องล่างและด้านขวาง หอมไปในเบื้องบน ตลอดถึงภวัคคพรหม หอมไปในเบื้องล่างตลอดถึงโลกันต์ หอมไปในด้านขวางตลอดถึงขอบจักรวาฬ กลิ่นศีลนี้ชื่อว่าหอมเกิน ชื่อว่าหอมสนิทดียิ่งนักหนา ชื่อว่าหอมกว่ากลิ่นหอมทั้งปวง
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยทิพย์รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสให้สาธุการแล้วจึงถามปัญหาที่ ๑๔ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ กลิ่นเหม็นอะไรจะเหม็นกว่ากลิ่นเหม็นทั้งปวง พระศุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาจุททสมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
ทุคฺคนฺธา จ อกฺสลา | สพฺพทิสาสุ วายนฺติ |
ปูติปูติ คูถคนฺโธ | อนุวาตํปิ วายติ |
เนว ปฏิวาตํ ติวิธํ | กายวาจาจิตฺตวเสน |
ทุจฺจริตํ นาม โหติ | เต จ อติทุคฺคนฺธา นาม |
จูทสอกุสลจิตฺตํ | โมหาหิริกาโนตฺตปฺปํ |
โลภุทฺหจฺจํ ทิฏฺิมาโน | โทสาอิสฺสามจฺฉริยํ |
กุกฺกุจฺจฺจ ถีนมิทฺทํ | วิจิกิจฺฉาติ จูทส |
อิเม ทุจฺจริตจิตฺตา | ทุคนฺธชาติกา นาม |
กายทุจฺจริตํ นาม | มิจฺฉากมฺมนฺตาชีวฺจ |
ปาณฆาฏโจรกมฺมํ | ปรทารํ ทุคนฺธํ นาม |
ความว่า อกุศลทั้งหลายชื่อว่ากลิ่นเหม็น ย่อมฟุ้งไปในทิศทั้งปวง ก็กลิ่นของเน่าของบูดและคูถ ย่อมเหม็นฟุ้งไปตามลมหาฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ อกุศลสามอย่างชื่อว่าทุจริตด้วยสามารถแห่งกายวาจาใจ อกุศลโทษทุจริตเหล่านั้น ชื่อว่ากลิ่นเหม็นเกินกว่ากลิ่นเหม็นทั้งปวง
อนึ่ง อกุศลจิต ๑๔ ดวงคือ โมหะความหลง ๑ อหิริกะความไม่ละอาย ๑ อโนตตัปปะความไม่สะดุ้งกลัว ๑ โลภะความโลภอยากได้ ๑ อุททัจจะความฟุ้งสร้านใจ ๑ ทิฏฐิความเห็นผิดแผก ๑ มานะความถือตัวตน ๑ โทสะความประทุษฐร้าย ๑ อิสสาความริษยา ๑ มัจฉริยะความตระหนี่ ๑ กุกกุจจะความรำคาญใจ ๑ ถีนะความหาวนอน ๑ มิทธะความหลับ ๑ วิจิกิจฉาความสงสัยใจ ๑ ทุจริตจิต ๑๔ ดวงเหล่านี้ ชื่อว่ากลิ่นเหม็นร้ายกาจแล ชื่อว่ากายทุจริตเป็นต้นคือ กอบการงานผิดและเลี้ยงชีพผิดทาง หรือฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ทำปรทารกรรมเป็นต้น กายทุจริตเป็นอาทินั้น ชื่อว่ากลิ่นเหม็นกว่ากลิ่นเหม็นทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยนาๆ รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสให้สาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๑๕ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ สิ่งไรชื่อว่าเป็นกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งปวง พระศุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาปัญจทสมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
โลเก เตสํ พาลานฺจ | อติพลา นาม มจฺจุ |
ยสฺส หิ รฺโ โยธา พหู | หตฺถานิกา กมมฺกรา |
อเนกา ปตฺติกา เสนา | ถามพลปรกฺกมา |
ยุชฺฌิตุกุสลา โหนฺติ | โส ชราย อนุพนฺโธ |
พฺยาธินา อภิภูโตว | โส จ มจฺจุปรายโน |
มจฺจุนาพฺภาหโต สตฺโต | นเตฺว ว วิรมสฺสํ มจฺเจ |
ชรา พฺยาธิ มจฺจุ จ | ปาณิโน อภิมทฺทนฺติ |
เย สหายมิตฺต พนฺธวา | มหาธโน เสฏฺิปิ วา |
ยสสฺสิโน จ กิตฺติมา | ปัฺวนฺตา อปฺปปฺา |
อปฺปโภคา ทลิทฺทา วา | มจฺจุโน พเลหิ นาเสนฺติ |
สพฺเพปิ ขตฺติยาโย จ | มหาสมฺมตอาทโย |
มหาปฺุา มหายสา | มหาถามา มหาปรกฺกมา |
พลวนฺตา สมฺปนฺนา จ | มจฺจุพเลน ปราเชนฺติ |
จกฺกวตฺติราชาโน จ | พลวนฺโต ยสสฺสิโน |
ชมฺพูทีเป เอกิสฺสโร | อากาเส จาณาปวตฺติ |
สตฺตรตนสมฺปนฺโน | หตฺกสฺสรถาปตฺตีหิ |
พหุพเลหิ ปวุตฺโต | สมุทฺทกุจฺฉิยํ คนฺตุํ |
ปริวาเรหิ สทฺธึ จ | จกฺกรตนานุภาเวน |
สคฺคมคฺคํ คนฺตุํ สกฺโกติ | อเนกาจฺฉริเยหิ จ |
ปฺุเหิ สมฺปนฺโน | มจฺจุพลํ ปราเชติ |
จตุโร จ ติทิโว จ | อิเม เทวา มหิทฺธิกา |
มจฺจุพลํ ปราเชนฺติ | ตสฺส ชินิตุํ น สกฺกา |
มหาเตโช วสวตฺตี | มหิทฺธิโก มหานุภาโว |
กามาวจรสคฺเคสุ | อิสฺสโร จ สมตฺโถ โส |
สกามิทฺธิยา ชิเนตุํ | มจฺจุพลสฺส ปราเชติ |
อปิจ มหาพฺราหฺมาโน | สพฺพโลเกหิ ปูชิโต |
เตหิ อคฺโคติ สมฺมโต | มจฺจุพลสฺส ปราเชติ |
ตสฺมา เอวํ วทามิ | มจฺจุโน อติพลํ จ |
ความว่า มัจจุคือความตายชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหลายนั้นในโลกนี้เพราะว่าพระราชาองค์ใด จะมีพลโยธาเสนาสี่เหล่าล้วนมีกำลังแกล้วกล้าฉลาดในการรบศึกมากมายสักเท่าใด ก็มีมากเสียเปล่า พระราชาองค์นั้นครั้นถูกชราพยาธิตามเบียดเบียนแล้ว ก็จะมีแต่มรณะเป็นเบื้องหน้า พลโยธาหาช่วยรบได้ไม่ มัจจุราชจะได้งดเว้นสัตว์คนใดไว้หามิได้ ชราพยาธิมรณะย่อมย่ำยีสัตว์ทั่วไป ผู้ใดพร้อมด้วยมิตรสหายวงศ์วานก็ดี หรือมั่งมีทรัพย์มากเป็นเศรษฐีและมียศชื่อเสียงปรากฏมีปัญญามากสักเท่าใด หรือผู้ไร้ทรัพย์ยากจนไม่ว่าคนชนิดไร ผู้ที่ต่างชาติและต่ำสูงศักดิ์เหล่านั้น ย่อมพินาศไปด้วยกำลังมัจจุราชทั้งสิ้น
ถึงแม้บรมกษัตริย์มีพระเจ้ามหาสมมติวงศ์เป็นต้น ทรงบุญญาภินิหารศักดาเดชมาก และทรงพระกำลังกายกำลังพระปรีชามากสักเท่าใด ก็ย่อมพ่ายแพ้แก่กำลังมัจจุราชหมดความสามารถที่สู้รบกับมัจจุราชได้ อนึ่ง ถึงพระเจ้าจักรพรรดิราชเลิศด้วยพระเกียรติยศ เป็นอิสระยิ่งกว่าพระราชาทั้งหมดในชมพูทวีป สมบูรณ์ด้วยแก้วเจ็ดประการ สามารถจะเสด็จไปในท้องมหาสมุทร พร้อมด้วยพลนิกรมีกุญชรอัสดรและพลเดินเท้าเป็นต้นได้ไม่ขัดขวาง และสามารถอาจเสด็จย่างไปทางสวรรค์ได้ด้วยอานุภาพจักรแก้วเป็นที่น่าอัศจรรย์ ถึงจะมีบุญยิ่งอย่างนั้นก็ยังพ่ายแพ้แก่กำลังมัจจุราชไม่อาจราญรอต่อมฤตยูได้
อนึ่ง ท้าวจาตุมหาราชิกาและเทพดาในติทสาลัยก็ดี เทพดาเจ้าเหล่านี้ล้วนมีมเหศรศักดานุภาพใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังแพ้กำลังมัจจุราชไม่อาจจะชนะมฤตยูได้เลย ท้าววสวดีมารผู้มีฤทธิ์มีเดชานุภาพมากล้นพ้นสามารถที่จะผจญเทพดาในกามาวจรสวรรค์ด้วยฤทธิ์ของตนได้ ถึงอย่างนั้นท้าววสวดีมารก็ยังต้องแพ้กำลังมัจจุราช อนึ่งท้าวมหาพรหมโลกทั้งหลายนับถือบูชา สมมติว่าประเสริฐเลิศกว่าเทวดาทั้งปวง ก็ยังต้องแพ้กำลังฤทธิ์เดชมัจจุราชไปได้ เพราะเหตุนี้ เราจึงกล่าวว่ากำลังมัจจุราชนี้แหละชื่อว่ามีกำลังยิ่งมากกว่า
สรรพเทพดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยนานารัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองยิ่งโสมนัสให้สาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๑๖ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อะไรที่ชื่อว่าไกลกว่าทางไกลทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาโสฬสปัญหาจึงตรัสพระคาถานี้
มหานครํ นิพฺพานํ | ปณฺฑิเตหิ ปสฺสิตพฺพํ |
อฺเหิ เนว ทสฺสนํ | ตํเยว อติทูรฺจ |
เย นิพฺพานํ คมิตุกามา | เนว หตฺถิยาเนหิ จ |
อสฺสรถสีวิกาหิ | ตํ ปาเลตุํ คมิสฺสนฺติ |
เย ชนา คจฺฉนฺตาว | สตวสฺสจฺจเยน วา |
สหสฺสทสสหสฺสํ | สตหสสหสฺสฺจ |
เนว ปาปุณิตุํ สกฺโก | ตสฺมา อติทูรํ นาม |
เย นิพฺพานํ ปตฺถยนฺตา | ทสปารมิโย ปูเรตฺวา |
กปฺปสตสหสฺสฺจ | เอกจฺจา สตสหสฺสา |
ธิการเอกอสํเขยฺยํ | เอกจฺจา สตสหสฺสา |
ธิกา เทฺวอสำเขยฺยฺจ | เอกจฺจา สตสหสฺสา |
ธิกา จตุอสํเขยฺยํ | เอกจฺจา สตสหสฺสา |
ธิกา อฏฺอสํเขยฺยํ | เอกจฺจา สตสหสฺสา |
ธิกา โสฬสาสํเขยฺยํ | ทสปารมิโย ปูเรตฺวา |
ปาปุณิตุํ สกฺขิสฺสนฺติ | ตโต โอรํ น สกฺชิสฺสนฺติ |
ตสฺมาหํ เอวํ วทามิ | นิพฺพานํ อติทูรํ นาม |
ความว่า พระนครใหญ่คือพระนิพพาน นักปราชญ์ทั้งหลายท่านสรรเสริญไว้ว่า คนอื่นนอกจากบัณฑิตแล้วไม่พึงเห็นได้ พระนิพพานนั้นสิ่งเดียวชื่อว่าไกลเกินกว่าทางไกลทั้งปวง ผู้ใดใคร่จะไปยังพระนิพพาน ผู้นั้นจะไปให้ถึงพระนิพพานนั้น ด้วยยานพาหนะคือช้างม้าและรถหรือคานหามก็หาถึงไม่ ชนเหล่าใดไปอยู่ด้วยพาหนะนานนับด้วยร้อยปีพันปีหมื่นปีแสนปี ชนเหล่านั้นก็ไม่อาจไปให้ถึงพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นพระนิพพานจึงชื่อว่าไกลเกิน ชนเหล่าใดปรารถนาจะไปให้ถึงพระนิพพาน ชนเหล่านั้นพึงบำเพ็ญบารมีสิบทัศให้เต็มก่อนจึงจะไปถึงพระนิพพานได้ ชนบางพวกท่านสร้างบารมีสิบทัศสิ้นอสงขัยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัลปบ้าง บางพวกท่านส่ำสมบารมีสิบทัศสิ้นสองอสงขัยยิ่งด้วยแสนกัลปบ้าง บางพวกท่านก่อสร้างบารมีสิบทัศสิ้นสี่อสงขัยยิ่งด้วยแสนกัลปบ้าง บางพวกท่านบำเพ็ญบารมีสิบทัศสิ้นแปดอสงขัยยิ่งด้วยแสนกัลปบ้าง บางพวกท่านบำเพ็ญบารมีสิบทัศสิ้นสิบหกอสงขัยยิ่งด้วยแสนกัลปบ้าง จึงจะอาจไปถึงพระนิพพานนั้นได้ ถ้าชนพวกใดบำเพ็ญบารมีสิบทัศไม่เต็มหย่อนกว่าที่กำหนดไว้นี้ ชนเหล่านั้นไม่อาจไปให้ถึงพระนิพพานนั้นได้ เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่าพระนิพพานไกลกว่าไกลทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้แล
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยนานารัตนบุปผชาติบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็ยิ่งโสมนัสให้สาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๑๗ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ สิ่งอะไรชื่อว่าเร็วยิ่งกว่าสิ่งอื่น พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาสัตตรสมปัญหาจึงตรัสพระคาถานี้
จิตฺตํ นาม สิงฺฆ์ | ลหุ ปริวตฺตนมฺปิ |
วิถิยํ อติชวติ | เอวํ วิชานาหิ กกฺกฏ |
ความว่า ดูกรปูทอง ดวงจิตของสรรพสัตว์ชื่อว่าเร็วเกินกว่าของเร็วทั้งปวง เพราะดวงจิตย่อมกลับกลอกแล่นไปในวิถีทั้งปวงหาหยุดยั้งไม่ ท่านจงรู้แจ้งดังแสดงมาอย่างนี้
สรรพเทวดาให้สาธุการและโปรยนานาบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสให้สาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๑๘ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ สิ่งอะไรชื่อว่าประเสริฐเลิศกว่าสิ่งทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาอัฏฐารสปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
โลหชาโต เสฏฺํ รชฏํ | รชโฏ กงฺสํ อคฺคํ |
กงฺสโต สุวณฺณํ เสฏฺํ | สุวณฺณโต จ รตนํ |
ตโต จกฺกรตนฺจ | อสฺสหตฺถิ รตนํ |
อิทํ เสฏฺตรํ โหติ | สตฺตอริยธนํ อคฺคํ |
กตมฺจ กตมฺจ | สทฺธาธนํ๑๑ จาคธนํ |
สีลธนํ ปฺาธนํ | วิริยธนํ หิโรตฺตปฺปํ |
สมาธิธนํ อติอคฺคํ | พุทฺธาทีหิ ปสฏฺฺจ |
อติวรํ อติเสฏฺํ |
ความว่า เงินประเสริฐกว่าโลหะ ทองสัมฤทธิ์เลิศกว่าเงิน ทองคำประเสริฐกว่าทองสัมฤทธิ์ แก้วประเสริฐกว่าทองคำ จักรแก้ว ม้าแก้ว ช้างแก้ว แก้วมณี ประเสริฐยิ่งกว่าแก้วทั้งปวงนั้น อริยทรัพย์เจ็ดชื่อว่าเลิศประเสริฐกว่า จักรแก้ว, ม้าแก้ว, ช้างแก้ว, แก้วมณี ก็อริยทรัพย์เจ็ดนั้นคือ ทรัพย์คือสัทธาความเชื่อ ๑ ทรัพย์คือความบริจาค ๑ ทรัพย์คือสมาทานศีล ๑ ทรัพย์คือปัญญา ๑ ทรัพย์คือความเพียร ๑ ทรัพย์คือหิริโอตัปป ๑ ทรัพย์คือสมาธิ ๑ อริยทรัพย์เจ็ดนี้พระอริยทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้วว่าประเสริฐเลิศยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยนานารัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสทำสาธุการแล้วถามปัญหาที่ ๑๙ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ สิ่งอะไรชื่อเป็นแก่นสารยิ่งกว่าแก่นสารทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาเอกูนวีสติมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้
ทานสีลภาวนา จ | สพฺเพสฺจ เสฏฺตรํ |
ปวิปพฺพตสารา จ | สุวณฺณสาราทโย จ |
กปฺปคฺคีหิ วินสฺเสนฺติ | กปฺปวาตปาณีหิ จ |
ทานาทิกุสลา เจว | น กปฺปคฺคีหิ นสฺเสนฺติ |
น กปฺปวาตปาณีหิ | อนุพนฺธนฺติ ชาติยํ |
ชาติยํ อนุรกฺขนฺติ | ยาว นิพฺพานสมฺปตฺตา |
ตสฺมาหํ เอวํ วทามิ | ปฺุํ อติสารํ นาม |
ความว่า ทานการให้พัสดุแก่ปฏิคาหก ศีลความสำรวมกายวาจาภาวนา ทำปัญญาพระไตรลักษณ์ให้เจริญ นี่แหละชื่อว่า เป็นแก่นสารอันประเสริฐกว่าสิ่งทั้งปวง แผ่นดินและภูเขาหรือสิ่งทั้งปวงมีทองคำเป็นต้นก็ดี ธรรมชาติเหล่านี้โลกนับถือกันว่าเป็นสาระ ถึงกระนั้นก็ยังวินาศไปด้วยไฟประลัยกัลป และด้วยลม ด้วยน้ำประลัยโลกหาดำรงอยู่ตามที่ไม่ ก็ฝ่ายกุศลมีทานศีลเป็นต้น ย่อมไม่วินาศด้วยไฟ ด้วยลม ด้วยน้ำประลัยกัลปเลยเป็นอันขาด ทานาทิกุศลย่อมจะตามรักษาบุคคลผู้บำเพ็ญนั้นไปทุกๆ ชาติ กว่าจะสำเร็จแก่พระนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่าบุญเป็นแก่นสารยิ่งกว่าสิ่งอื่น
สพฺเพ เทวา สรรพเทพดาทั้งหลาย ให้สาธุการและโปรยนานาทิพย์รัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ ปูทองก็โสมนัสให้สาธุการแล้วถามปัญหาข้อที่ ๒๐ ต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ รสสิ่งไรชื่อว่าเป็นรสอร่อยยิ่งกว่ารสทั้งปวง พระสุรัพภโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาวีสติมปัญหา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ธมฺมรโส สพฺพรสํ ชินาติ | ธมฺมรสํ อติมธุรํ |
ธมฺมรสํ ชเนหิ ปิวิตพฺพํ | ตํ ตณฺหาขยํ ปปุบุณิสฺสติ |
ปณฺฑิโต หิ ธมฺมํ สุตฺวา | เนว ติตฺตึ ปาปุณาติ |
มหตานิสํสตฺตา จ | หิตสุขํ อาวหติ |
โย จ รสธมฺมํ สุตฺวา | สพฺพสฺมึ ชินสาสเน |
กปฺปานิ สตสหสฺสานิ | ทุคฺคตึ โส น คจฺฉติ |
ความว่า รสพระธรรมย่อมชนะเสียชี่งรสทั้งหมด ธรรมรส ชื่อว่าเป็นรสอร่อยยิ่ง ชนผู้ดื่มซึ่งธรรมรสจักถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา นักปราชญ์ผู้มีปัญญาได้ฟังธรรมแล้วย่อมไม่เบื่อไม่จืดจางเลย เพราะการฟังธรรมมีอานิสงส์ใหญ่และนำซึ่งประโยชน์และความสุข มาให้เป็นผล ก็บุคคลผู้ใดได้ฟังธรรมในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งมวลแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมไม่ไปยังทุคติเลยสิ้นแสนกัลป เหตุนี้ธรรมรสจึงได้ชื่อว่าเป็นรสอร่อยยิ่งกว่าสรรพรสทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้
สพฺเพ เทวา สรรพเทวดาทั้งหลาย ประคองหัตถ์นมัสการทำเสียงสาธุการและโปรยนานารัตนบุปผาบูชาพระโพธิสัตว์ แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน ๆ ปูทองก็ให้ซ้องสาธุการนั่งอยู่เฉพาะหน้าพระโพธิสัตว์ ๆ จึงให้กาสมาทานศีลห้าแล้วจึงตรัสบอกแก่ปูทองว่า ดูกรปูทอง เจ้าอย่าไปยังแดนมีหมู่มนุษย์เลย จงอยู่กับเราเสียในที่แห่งนี้เถิด แดนเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์มีภัยอันตรายมาก มนุษย์ทั้งหลายเห็นเข้าแล้วก็จะทำอันตรายแก่เจ้า ๆ อย่าไปเลย ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ บุรุษชาวนาผู้หนึ่งเลี้ยงข้าพเจ้าไว้ รักใคร่ข้าพเจ้าเหมือนลูกเกิดแต่อุทรของตน เมื่อข้าพเจ้าจะมากับกายังที่นี้ บุรุษชาวนาสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า ให้ข้าพเจ้ากลับไปอยู่กับเขาอีก เพราะเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจักไปลาบุรุษชาวนานั้นเสียก่อน
พระสุรัพภโพธิสัตว์จึงบอกกะกาว่า เจ้าจงพาปูทองนี้ไปส่งยังสำนักบุรุษชาวนา การับว่าสาธุแล้วก็ลาพระดาบสพาปูทองไปถึงบ้านคนไถนาแล้วก็วางไว้ บุรุษไถนาก็ให้ปลาและเนื้อแก่กาๆกินอิ่มท้องก็อำลาคนไถนากลับไปยังที่ของตน พระสุรัพภดาบสหน่อพระทศพลบำเพ็ญฌานให้เจริญมิได้เสื่อมถอย เมื่อสิ้นชนมายุแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกสถาน
----------------------------
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลปางก่อนตถาคตมีปัญญามากอย่างนี้ ใช่จะมีปัญญามากในกาลบัดนี้ก็หาไม่ แล้วพระองค์ทรงประกาศอริยสัจจกถา มหาชนเป็นอันมากได้ดำรงอยู่ในมรรคผลมีโสดาเป็นต้น แล้วพระทศพลจึงประชุมชาดกว่า ปูทองในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระราหุล กาสหายปูทองในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระกาลุทายีเถระ นายพรานในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระจันทเถระ เสือโคร่งในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระองคุลิมาล รุกขเทวดาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือนางเขมาภิกษุณี นกยูงในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือกัจจายนะ วานรในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือโลลุทายิเถระ กินนรในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระกัสสปเถระ ท้าวสักกเทวราชในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอนุรุธ วิสสุกรรมเทวบุตรในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระจุนทเถระ พระยาแร้งในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระโมคคัลลานะ พระราชบิดามารดาของพระสุรัพภในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือมหาราชสกุล พระอสุรัพภกนิฏฐาของพระสุรัพภในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานันทเถระ พระสุรัพภดาบสในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือเราผู้ตถาคตสัมมาสัมพุทธนั่นเทียวแล
จบสุรัพภชาดก
-
๑. คามโภชก หมายความว่า นายอำเภอ หรือกำนัน ↩
-
๒. พระราชวินิจฉัยนี้เป็นความเก่า ท่านเรียงไว้ปนอยู่กับภาษาบาลีผูก ๕ ↩
-
๓. พระราชวินิจฉัยนี้เป็นความเก่า ท่านเรียงไว้ปนอยู่กับภาษาบาลีผูก ๕ ↩
-
๔. ตามฉบับภาษาบาลี ท่านเรียงคาถาถามไว้ตอน ๑ คาถาแก้ไว้ตอน ๑ ในคำแปลสมุดเล่มนี้ ได้ยกคาถาแก้ปัญหามาเรียงต่อกับคาถาถามปัญหาเพื่อให้ความเชื่อมติดกัน ↩
-
๕. บางแห่งเป็นสารนาทิ ↩
-
๖. บางแห่งเป็นมยุรุกาทิ ↩
-
๗. บางแห่งเป็นเตสิต ↩
-
๘. บางแห่งเป็น ปปฺปติคนฺโธ ↩
-
๙. ปวลก เป็นไม้ชนิดหนึ่ง บางแห่งว่าใบไม้อ่อน ↩
-
๑๐. มุรุก เป็นชื่อไม้ชนิดหนึ่ง ↩
-
๑๑. ในที่อื่นโดยมาก อริยทรัพย์ ๗ คือ สทฺธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตฺตปฺป ๑ พาหุสจฺจ ๑ จาค ๑ ปฺา ๑ ↩