- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
เอกทา กิร สมเย ปฺจาลราชา เอกรตฺตกมฺพลํ มหารฏฺสส รฺโ เปเสติ มหารฏฺโ ราชา ตํ รตฺตกมฺพลํ ทิสฺวา เอวมาห
ในชาดกนี้มีความว่า ณ สมัยครั้งหนึ่ง พระเจ้าปัญจาลผู้เป็นอิสระภาพในปัญจาลนคร ได้ส่งผ้ากัมพลแดงผืนหนึ่งไปถวายพระเจ้ามหารัฏฐราช ฝ่ายพระเจ้ารัฏฐราชผู้ครองมหารัฏฐนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลแดงที่พระเจ้าปัญจาลราชส่งมาถวายนั้น จึงตรัสว่า พระเจ้าปัญจาลราชผู้เป็นพระสหายของเรา ได้ส่งผ้ากัมพลแดงมีค่าเป็นอันมากมาถวาย ข้างฝ่ายเราควรจะส่งรัตนะอันมีค่ามากไปถวาย ให้เป็นราชบรรณาการตอบแทนจึงจะชอบ ตรัสดังนี้แล้วจึงทรงพระราชดำริต่อไปว่า รัตนะอะไรหนอที่จะเป็นรัตนะอันมีค่ามาก ก็ทรงเห็นว่ารัตนะอันอื่น ที่จะมีค่าเสมอด้วยพุทธรัตนะมิได้มี ควรจะส่งพุทธรัตนะไปถวายพระเจ้าปัญจาลราชนั้นเถิด ทรงพระดำริดังนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้ช่างทองแผ่ทองคำ กระทำให้เป็นผืนผ้า แล้วให้เขียนรูปพระพุทธปฏิมากรสูงประมาณหนึ่งศอก มีลักษณะอันงามเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส ด้วยภู่กันอันชุบชุ่มไปด้วยชาดและหรดาลสอดสีใส่มีลวดสายวิจิตรบรรจง ครั้นพระพุทธปฏิมากรสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็ทรงบูชาด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายต่าง ๆ จึงให้ต่อสำเภาเอารูป พระพุทธปฏิมากรนั้นประดิษฐานไว้ในท่ามกลางเรือ จึงมอบให้แก่ราชทูตของพระเจ้าปัญจาลราช เมื่อสำเภาจะออกจากท่า จึงทรงอภิวาทน์พระพุทธปฏิมากรมีสุนทรวาจาว่า ข้าแต่พระโลกนายกผู้เจริญ ผู้เป็นสรณะที่พึ่งอาศัยของสัตว์โลก ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา เป็นศาสดาอนุเคราะห์สั่งสอนสรรพสัตว์ เมื่อชนทั้งหลายผู้เป็นพุทธเวไนยประชุมกันอยู่ ณ ที่ใด พระพุทธองค์ได้ทรงละพุทธสุขุมาลชาติและขัตติยสุขุมาลชาติ แล้วเสด็จไป ณ ที่ประชุมของเวไนยสัตวชนเหล่านั้น ทำประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้น ในกาลเมื่อยังทรงทรมานพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์ทรงพระกรุณาแก่สรรพสัตว์ในกาลนี้ฉันนั้น ข้าแต่พระพุทธปฏิมากรผู้เจริญ พระเจ้าปัญจาลราชผู้เป็นพระสหายของข้าพระองค์เป็นผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิ ถือผิดจากพระบรมพุทโธวาทที่ตรัสสอน ถ้าแม้พระพุทธปฏิมากรไปถึงปัญจาลนครแล้ว จงทรงกระทำพระพุทธปาฏิหาริย์ทรมานปลดเปลื้องพระเจ้าปัญจาลราช ผู้เป็นพระสหายของข้าพระองค์ ให้หลุดพ้นจากมิจฉาทิฐินั้นเถิด
พระเจ้ามหารัฏฐราช ทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธปฏิมากร และตรัสวิงวอนด้วยสุนทรวาทีดังนี้แล้ว ก็เสด็จลงไปประดิษฐานยืนอยู่ในน้ำ อันลึกประมาณเพียงพระศอของพระองค์
ในขณะนั้น พระมหาสมุทรก็เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ อันมีสีดุจทองคำที่เหลวคว้างอยู่ในเบ้า สรรพรัตนะทั้งหลายมีรัศมีอันรุ่งเรืองมีอย่างต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาจากท้องสมุทรแล้วลอยอยู่บนหลังน้ำ งามโอภาสไปด้วยรัศมีอันวิจิตรรจนา เพื่อกระทำสักการบูชาพระพุทธปฏิมากร ทั้งพื้นสมุทรสาครอันขจิตรไปด้วยแก้ว ๗ ประการก็งามสะอาด ประดุจดังว่าภาชนะทองคำธรรมชาติฉะนั้น อนึ่งดอกประทุมเบญจพรรณก็ผุดขึ้นในระหว่าง ๆ ตามทางชลมารค เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาพระพุทธปฏิมากร
ในลำดับนั้น พระยานาคทั้งหลายที่อยู่ในสมุทรสาครพร้อมด้วยบริษัทที่พากันออกมาจากนาคพิภพของตน ๆ แล้วกระทำสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้ต่าง ๆ เป็นต้น แล้วต่างคนก็ขับร้องชมเชยด้วยสุรเสียงอันไพเราะเนียระนาท ฝ่ายเทพยดาทั้งหลายก็โปรยปรายดอกไม้ทิพย์ลงมาจากอากาศ และประโคมทิพยดนตรีทั้งหลาย มีหัตถ์ถือธงชายธงแผ่นผ้ามีสีอันวิจิตรรจนาต่าง ๆ แล้วพากันแวดล้อมพระพุทธปฏิมากรอยู่ ณ อากาศ
ฝ่ายพระเจ้ามหารัฏฐราชนั้น ครั้นสำเภาออกจากท่าแล่นไปในมหาสมุทร ก็ทรงทอดพระเนตรพระพุทธปฏิมากร ประนมพระหัตถ์นมัสการจนสำเภาลับพระเนตร ก็เสด็จขึ้นจากคงคานิวัตตนาการเข้าสู่พระราชนิเวศน์ เสด็จขึ้นสู่ปรางค์ปราสาท
ฝ่ายราชทูตทั้งหลายนั้น ครั้นสำเภาถึงพระนครปัญจาลราชโดยลำดับก็ลงจากสำเภาเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปัญจาลราช ทูลประพฤติเหตุมหัศจรรย์ทั้งปวงให้ทรงทราบ
พระเจ้าปัญจาลราชได้ทรงสดับเหตุมหัศจรรย์ ก็มีพระหฤทัยอันเอิบอาบไปด้วยพระปีติ จึงทรงพระราชดำริว่า พระสหายของเราให้เขียนรูปพระพุทธปฏิมากร แล้วกระทำสักการบูชาอันยิ่งใหญ่ส่งมาให้เรา ข้างฝ่ายเราควรกระทำสักการบูชาพระปฏิมากรนั้น ให้ยิ่งกว่าสหายเรากระทำถึงสองเท่า แล้วจึงให้นำสำเภาอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรเข้ามาเมือง ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว มีพระราชดำรัสให้จัดเครื่องสักการบูชาอันใหญ่ยิ่ง แล้วเสด็จจากสถานราชมนเทียร แวดล้อมไปด้วยจตุรงคเสนาทั้งหลาย อันมีเครื่องสักการะและมีเครื่องดนตรีต่าง ๆ ในมือ และมีเสียงอันไพเราะร้องถวายชัยมงคลพระพุทธปฏิมากร ครั้นเสด็จถึงท่าที่สำเภาจอด ก็ทรงถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วทรงบูชาด้วยเครื่องสักการวรามิส มีประทีปธูปเทียนและระเบียบดอกไม้ของหอมเป็นต้น แล้วเสด็จลงไปประดิษฐานอยู่ในกระแสชลมารคเพียง พระศอ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธปฏิมากรก็มีพระหฤทัยประกอบไปด้วยปีติโสมนัส จึงมีพระราชดำรัสปฏิญาณพระองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงสรณะตราบเท่าสิ้นชีวิต ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงทราบว่า ข้าพระองค์เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พร้อมด้วยกายและจิตจำเดิมแต่วันนี้ไป
ขณะนั้น พระพุทธปฏิมากรจึงกระทำปาฏิหาริย์ ลอยขึ้นไปขัดสมาธิประดิษฐานอยู่ ณ อากาศ ด้วยกำลังแห่งศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสของพระเจ้าปัญจาลราช ในลำดับนั้น พระรัศมีทั้งหลายมีพรรณ ๖ ประการ โดยประเภทแห่งวรรณอันเขียวและเหลืองและแดง และขาวและแดงอ่อนและเลื่อมประภัสสรก็ฟุ้งออกจากสรีระของพระพุทธปฏิมากรนั้น
พระรัศมีสีเขียวนั้นสร้านออกไปจับพื้นอากาศ พื้นอากาศนั้นดุจดังว่าดาดไปด้วยดอกอุบลเขียว พระรัศมีที่สีเหลืองนั้นก็สร้านออกไปจับทิศาภาค ทิศส่วนนั้นก็ประดุจดังว่ากางกั้นด้วยแผ่นทองธรรมชาติ พระรัศมีสีแดงโอภาสนั้นก็สร้านออกไปในทิศาภาค ทิศส่วนนั้นก็โอภาสดุจย้อมไปด้วยน้ำครั่ง พระรัศมีที่ขาวนั้นก็สร้านออกไปในทิศาภาค ทิศส่วนนั้นก็โอภาสดุจดังว่าขจิตรไปด้วยแผ่นเงิน พระรัศมีที่สีแดงอ่อนนั้นก็สร้านออกไปในทิศาภาค ทิศส่วนนั้นก็โอภาสดุจสีดอกอังกาบ พระรัศมีเลื่อมประภัสสรนั้นก็สร้านออกไปในทิศาภาค ทิศส่วนนั้นก็โอภาสดุจอาการแห่งฟ้าแลบ พระรัศมีมีพรรณ ๖ ประการนั้นสร้านไปตามทิศาภาคแล้วก็กลับลงมาจับพื้นปถพี ขณะนั้นมหาปถพีดลอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็งามประดุจดังว่าแผ่นทอง และน้ำในที่ทั้งหลายมีสมุทร์และลำคลองเป็นต้น ก็มีวรรณดุจดังว่าน้ำทองที่หลอมในปากแห่งเบ้าก็ปานกัน แล้วพระรัศมีมีพรรณ ๖ ประการนั้นก็กลับฟุ้งขึ้นจับพรหมโลกและอนันตจักรวาลโลกธาตุ ที่ทั้งหลายมีพระรัศมีโอภาสสร้านไปนั้น มิได้มีแสงพระอาทิตย์พระจันทร์และรัศมีกายของเทพยดาทั้งหลาย อนึ่งท้าวมหาพรหมที่มีรัศมีกายโอภาส สามารถแผ่ไปในหมื่นจักรวาฬก็ปราศจากรัศมีมีอุปมาดังหิ่งห้อยในเพลาพระอาทิตย์อุทัย
ในกาลนั้น ท้าวสหัสสนัยสักกเทวราชกับทั้งหมู่เทพยดาก็พากันบูชาพระพุทธปฏิมากร ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีดอกไม้และของหอมเป็นต้น ต่างคนก็ประคองอัญชลีประดิษฐานอยู่ ณ อากาศ ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายก็ได้แลเห็นเทพยดา ๆ ก็ได้แลเห็นมนุษย์ทั้งหลาย
ฝ่ายพระเจ้าปัญจาลราชได้ทอดพระเนตรเห็นพระปาฏิหาริย์ดังนั้น ก็มีพระหฤทัยอันชื่นบานเกิดปีติโสมนัส จึงมีพระราชดำรัสนิมนต์พระพุทธปฏิมากรว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอเชิญพระพุทธองค์ทรงนิสีทนาการ ณ สุวรรณสีวิกานี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า ฝ่ายพระพุทธปฏิมากรก็ลงมาจากอากาศแล้วก็นิสีทนาการอยู่ ณ สุวรรณสีวิกานั้น พระเจ้าปัญจาลราชกับพลนิกายราชบริษัท ก็เข้าแวดล้อมนำพระพุทธปฏิมากรไปด้วยสุวรรณสีวิกา แล้วประดิษฐานไว้ในมหามณฑปราชสถาน พระเจ้าปัญจาลราชนั้นก็กระทำนมัสการบูชา ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีประทีปธูปเทียนเป็นต้น เมื่อทรงระลึกถึงพระพุทธคุณจึงกล่าวพระคาถาว่า
โยหํ พุทฺธฺจ ธมฺมฺจ | สงฺฆฺจ สรณ์ คโต |
อุปาสกตฺตํ เทเสสิ | สากฺยปุตฺตสฺส สาสเน |
มม จิตฺตํ ปสาเทตฺวา | โมเจสิ ภวทุกฺขโต |
ความว่า ข้าพระองค์ได้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง แล้วประกาศตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยด้วยจิตเลื่อมใสในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ผู้เกิดในสากยวงศ์ ขอพระพุทธองค์จงปลดเปลื้องข้าพระองค์ ให้พ้นจากทุกข์ในภพสงสาร
พระเจ้าปัญจาลราชทรงตรัสพระคาถาปฏิญาณแล้วดังนั้น ก็มีพระสรีรอินทรีย์เต็มไปด้วยปีติทั้งห้า จึงทรงพระราชดำริว่า พระสหายทองเราให้เขียนรูปพระพุทธปฏิมากรให้ยิ่งขึ้นไปได้สองเท่าจึงจะสมควร ทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้หาแก่นจันทร์แดงอันมีค่า และให้หานายช่างจิตรกรรมมาเฝ้าแล้วตรัสว่า ดูกรนายช่างจิตรการผู้เจริญ เจ้าจงเอาไม้แก่นจันทร์แดงไปแกะเป็นพระพุทธปฏิมากร ครั้นสำเร็จแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า พระพุทธปฏิมากรที่ทรงโปรดให้ข้าพระองค์กระทำนั้นบัดนี้เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าปัญจาลราชได้ทรงสดับว่า พระพุทธปฏิมากรสำเร็จแล้ว ก็มีพระหฤทัยโสมนัสเบิกบาน จึงให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนั้น มาประดิษฐานไว้ในกุฏาคารศาลา ให้มีราชบุรุษอยู่พิทักษ์รักษาเป็นนิตยกาล แล้วมีรับสั่งให้ป่าวร้องชาวพระนครว่า ดูกรชาวเมืองทั้งหลายผู้เจริญ ผู้ใดมีทองคำ มาตรว่าหน่อยหนึ่งก็ดี ถ้ามีศรัทธาความเลื่อมใสจะใคร่ปิดทองพระพุทธปฏิมากร จงพากันมาปิดทองพร้อมกันกับพระมหากษัตริย์เจ้า
ฝ่ายพระโพธิสัตว์มีนามกรชื่อว่า วิริยบัณฑิต เป็นผู้ยากจนอาศัยอยู่ในเมืองนั้น พระโพธิสัตว์นั้นมีภรรยาชื่อว่า นางสุชาดา มีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า เรวัตตกุมาร เมื่อได้สวนาการเสียงป่าวร้องฉะนั้นจึงคิดว่า เราควรจะทำการบุญการกุศลกับพระราชาในกาลนี้ คิดดังนี้แล้วจึงปริวิตกต่อไปว่า เรานี้เป็นคนยากจนอนาถา จะได้ทองคำมาด้วยอุบายอย่างไร เราจะทำการอะไรดีหนอ เราจักขายอะไรจึงจะได้ทองคำมาปิดพระพุทธปฏิมากร อย่ากระนั้นเลย เราจักขายตัวของเรานี้และ เมื่อได้ทรัพย์แล้ว จึงเอาไปซื้อทองคำมาปิดพระพุทธปฏิมากรกับด้วยพระราชา คิดดังนี้แล้วก็บอกบุตรภรรยาว่า ดูกรเจ้าสุชาดาและเจ้าเรวัตตผู้เป็นบุตร เราจะขอลาเจ้าทั้งสองในกาลนี้
นางสุชาดาได้ฟังสามีพูดดังนั้น จึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ท่านจักไปข้างไหนจึงมาพูดดังนี้ พระโพธิสัตว์จึงบอกความว่า ดูกรเจ้าสุชาดาเราจักไปในที่ไหนหามิได้ ก็แต่ทว่าเราได้เสียงเขาป่าวร้องให้ไปปิดทองพระพุทธปฏิมากร เราปรารถนาจะทำกุศลพร้อมกับพระราชาสักคราวหนึ่ง จึงขอลาเจ้าเพื่อจะขายตัวเอาทรัพย์มาซื้อทองไปกระทำการกุศลพร้อมกันกับพระราชา นางสุชาดาได้ฟังดังนั้น ก็มีหทัยอันหวั่นไหว น้ำตาไหลลงอาบหน้า จึงพูดแก่พระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ข้าพเจ้านี้เป็นบาทบริจาริกาของท่าน ส่วนเรวัตตกุมารผู้เป็นบุตรนั้นก็ดุจเป็นทาส ท่านจงพาข้าพเจ้าทั้งสองนี้ ไปขายไว้ในตระกูลอันมั่งคั่ง เมื่อท่านปรารถนาสิ่งใดเป็นต้นว่าเงินหรือทองก็ดี ก็จงถือเอาสิ่งนั้นมาทำการกุศลตามชอบใจเถิด
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงพูดห้ามนางสุชาดาถึงสองครั้งสามครั้ง นางสุชาดาก็หาฟังไม่ พูดยืนคำอยู่ดังนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ไม่สามารถที่จะห้ามนางได้ จึงพูดว่า ดูกรเจ้าผู้พักตร์อันเจริญ ถ้ากระนั้นก็ดี เจ้าทั้งสองคนแม่ลูกจักได้เป็นกัลยาณมิตร คือเป็นคู่ที่ได้บำเพ็ญทานบารมีของเราต่อไป นับได้ร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติแสนชาติในอนาคตกาลภายหน้า พูดดังนี้แล้ว ก็พาบุตรภรรยาไปขายไว้ในตระกูลอันมั่งคั่ง แล้วถือเอาทองคำมาส่งให้ช่างทองตีแผ่เป็นทองคำเปลว ครั้นสำเร็จเป็นแผ่นดีแล้ว ก็มีจิตอันประกอบด้วยความเลื่อมไส จึงถือเอาทองคำเปลวนั้นไปยังกุฏาคารศาลาอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร ข้าพเจ้าปรารถนาจะปิดทองพระพุทธปฏิมากร จึงได้มาหาท่านในที่นี้ ขอท่านได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ทำการกุศลในครั้งนี้
ราชบุรุษผู้รักษาทั้งหลายจึงตอบว่า ดูกรวิริยบัณฑิต วันพรุ่งนี้หรือปะรืนนี้เป็นวันฤกษ์ดี พระราชาจะทรงปิดทองพระพุทธปฏิมากร ท่านจะมาปิดก่อนพระราชาในวันนี้อย่างไรได้ ท่านจงคอยให้พระราชาทรงปิดก่อนแล้วท่านจึงปิดเถิด
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำผู้รักษาทั้งหลายพูดห้ามปราม ก็เกิดความโทมนัสสลดใจ จึงกล่าวพระคาถาว่า
อโห ฉินฺนา วต เม อาสา | ทลิทฺทสฺส การณา |
ปุตฺตทารํ ปริจฺจาคา | นิปฺผโล เม ภวิสฺสติ |
ความว่า โอ ความปรารถนาของเราไม่สำเร็จแล้วหนอเพราะเหตุที่เราเป็นคนยากจน การที่เราสละบุตรกรรยาไปขายนั้นจักไม่เป็นผลสำเร็จแก่เราเสียแล้ว
ครั้นพระโพธิสัตว์กล่าวคาถาดังนี้แล้ว ก็ทำเป็นประการหนึ่งว่าไม่ได้ยินถ้อยคำที่ราชบุรุษผู้รักษาห้ามปราม โดยความที่เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธาอันยิ่งใหญ่ จึงเดินเข้าไปในกุฏาคารศาสา
ฝ่ายราชบุรุษผู้รักษาทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็พากันฉุดคร่าห้ามปรามพระโพธิสัตว์ไว้ ชนทั้งหลายที่ยืนอยู่ ณ ที่นั้น จึงช่วยกันพูดว่าแนะนำพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรวิริยบัณฑิตผู้เจริญ ถ้าหากว่า ท่านมีความปรารถนาจะปิดทองพระพุทธปฏิมากรในวันนี้ไซร้ ท่านจงเข้าไปกราบทูลพระราชาขอนุญาตเสียก่อน ก็คงจะได้ปิดทองพระพุทธปฏิมากรสมความปรารถนา
พระโพธิสัตว์ได้ฟังชนทั้งหลายพูดจานั้น จึงกล่าวคำตอบว่า การที่ท่านทั้งหลายพูดแนะนำข้าพเจ้านี้ เป็นการดีอาจให้สำเร็จประโยชน์ได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถือทองคำเปลวไปเฝ้าพระเจ้าปัญจาลราช ครั้นถึงก็กราบถวายบังคมเบื้องยุคลบาทแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวดา ข้าพระองค์มีความปรารถนาจะปิดทองพระพุทธปฏิมากร ขอพระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตแก่ข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าปัญจาลราชได้ทรงฟังดังนั้น มีพระราชประสงค์จะทรงสัพยอกจึงตรัสว่า ดูกรวิริยบัณฑิต ท่านจงไปพูดกับพระพุทธปฏิมากรเถิด ถ้าหากว่าพระพุทธปฏิมากรพูดกับท่านได้ท่านจงปิดทองพระพุทธปฏิมากร ถ้าหากว่าพระพุทธปฏิมากรไม่พูดกับท่านไซร้ ท่านจงอย่าปิดทองพระพุทธปฏิมากรนั้นเป็นอันขาด
พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น ก็ร้องทูลด้วยถ้อยคำอันรื่นเริงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวดา ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดดังนี้พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แล้วกราบถวายบังคมลาถือทองคำเปลวทูลศีรษะตรงไปยังกุฏาคารศาลา ราชบุรุษทั้งหลายที่เฝ้ารักษาอยู่ รู้ว่าพระราชาทรงประทานโอกาสก็มิได้ห้ามปราม พระโพธิสัตว์เข้าไปถึงชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร จึงวางทองคำเปลวลง ณ ที่ใกล้พระพุทธปฏิมากร แล้วคุกเข่าหมอบลงแทบพระบาทยุคลพระพุทธปฏิมากร ตั้งอัญชลีขึ้นเหนือศีรษะกราบแล้วกราบเล่า เมื่อจะพรรณนาคุณพระพุทธปฏิมากรจึงกล่าวพระคาถาทั้งหลายว่า
ภนฺเต ปุเร มยา สุตํ | ตุมฺหากํ จริตฺ ภเว |
โพธิสตฺเตว กาเล จ | สตฺตานํ อนุกมฺปเก |
สีสํปิ อธิกเมรุ | ตารกาธินยนฺจ |
มํสํปิ อธิกภูมิ | รุธิรํ สมุทฺธนฺตถา |
หทยํ อฒสรีรํ | สรีรํ สกลํปิ วา |
ทานํ อคฺคปริจตฺตํ | ตยา ทินฺนํ อเสสโต |
สพฺพฺุตสฺส อตฺถาย | สุขโลกสฺส ปณีตํ |
สเจ สุจริตํ สจฺจํ | มยา สุตํ วิทิตรํ |
อนุกมฺปาย มํ ภนฺเต | มยา สทฺธึ กเถหิ ตฺวํ |
สเจ มยา จ น กเถสิ | พุทฺธปาเท มริสฺสามิ |
ความว่า ข้าแต่พระพุทธปฏิมากรผู้เจริญ ความประพฤติของพระพุทธองค์ในภพก่อน ๆ ก็ดี ในกาลเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายก็ดี ข้าพระองค์ได้สดับฟังมาแล้ว พระเศียรที่พระพุทธองค์ทรงบริจาคมาแล้วมากกว่าเขาพระเมรุ ดวงพระนัยเนตรที่ทรงบริจาคมาแล้ว ก็มากกว่าดาวในอากาศ พระมังสังที่ทรงบริจาคมาแล้ว ก็มากกว่าพื้นพสุธาทั้งสิ้น พระโลหิตที่ทรงบริจาคอันเลิศ คือดวงหทัยและพระสรีระกึ่งหนึ่งและพระสรีระทั้งสิ้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงบริจาคแล้ว โดยมิได้มีส่วนเหลือเลย ถ้าหากว่า สุจริตที่พระพุทธองค์ได้ทรงประพฤติมาแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พระสัพพัญญุตญาณอันเป็นที่ตั้งแห่งความสุขของสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นความจริงดังที่ข้าพระองค์ได้ฟังมาแล้วไซร้ ขอพระพุทธองค์จงอนุเคราะห์วาจากับข้าพระองค์ ถ้าพระพุทธองค์ไม่กล่าววาจากับข้าพระองค์ไซร้ ข้าพระองค์ก็จักตายอยู่แทบพระบาทยุคลในกาลนี้
ในขณะนั้น เทพยดาทั้งหลายที่รักษาพื้นปถพี ได้ฟังคำร่ำวิงวอนของพระโพธิสัตว์ดังนั้น ต่างไม่สามารถที่จะเพิกเฉยอยู่ได้จึงเข้าไปสิงอยู่ในพระพุทธปฏิมากร บันดาลให้พระพุทธรูปนั้นโยกคลอนหวั่นไหวประดุจดังว่าทรงพระชนม์อยู่ เปล่งพระฉัพพิธพรรณรังสีอันโอภาสแล้วตรัสว่า ดูกรวิริยบัณฑิต ท่านจงทำกิจอันควรแก่ความสุขของท่านเถิด เสียงที่พระพุทธปฏิมากรกล่าวนั้น ก็แผ่ไปทั่วทั้งเมืองปัญจาลนครทั้งสิ้น
ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ก็ถือแผ่นทองคำเปลวปิดพระพุทธปฏิมากร ครั้นรู้ว่าทองคำเปลวนั้นปิดไม่เต็ม จึงคิดว่า ทองคำที่ได้เพราะมูลว่าที่ขายบุตรภรรยาสิ้นแล้ว ทำไฉนเราจึงจะได้ทองคำอื่นมาปิดอีก ความปรารถนาของเรายังขาดอยู่ ยังไม่สมดังที่เรามีความปรารถนา ถ้าหากว่าในวันนี้ มีผู้ใดผู้หนึ่งสามารถจะกระทำเนื้อของเราให้เป็นแผ่นทองคำเปลวได้ เราจักมอบตนของเราให้แก่ผู้นั้น ขอแต่ให้ได้แผ่นทองคำเปลวมาปิดพระพุทธปฏิมากรในกาลนี้
ขณะนั้น มหาปถพีดลอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็เกิดจลนาการหวั่นไหวกัมปนาท ทั้งบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวมัฆวาฬ ก็แสดงอาการอันรุ่มร้อนผิดปรกติ ท้าวสักกเทวราชจึงทรงพระดำริว่า ใครหนอปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากเทวสถาน เมื่อทรงอาวัชนาการพิจารณาดูก็รู้เหตุ จึงรีบเสด็จลงจากเทวโลกนฤมิตเพศให้เหมือนนายช่างทอง แล้วยืนประดิษฐานอยู่ ณ เบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ ครั้นพระโพธิสัตว์ถามว่าท่านคือใคร จึงตรัสตอบว่าเราเป็นช่างทอง
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำตอบดังนั้น จึงถามว่า ดูกรนายช่างทองผู้เจริญ ท่านอาจกระทำเนื้อมนุษย์ให้เป็นแผ่นทองคำได้หรือไม่ ครั้นท้าวสักกเทวราชตอบว่าเราสามารถจะกระทำได้ พระโพธิสัตว์ก็ยินดีมีใจประกอบด้วยปีติโสมนัส จึงพูดว่า ถ้าเช่นนั้นเราจักตัดเนื้อของเราออกให้ท่านกระทำให้เป็นแผ่นทองคำในวันนี้
ท้าวโกสีย์แปลงก็รับว่า ถ้าท่านอาจตัดเนื้อของท่านออกให้เราได้ เราก็จักทำเนื้อของท่านนั้นให้เป็นแผ่นทองคำสมดังความปรารถนาของท่าน ท่านอย่ามีความวิตกเลย
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ด้วยอำนาจกำลังแห่งอจลศรัทธาปรารถนาจะตัดเนื้อของตนออกแต่มิได้มีสาตราในที่นั้น จึงแลขึ้นไปบนอากาศเวหา แล้วร้องอุโฆษณาการ ด้วยบาทพระคาถาว่า
โภนฺโต โภนฺโต เทวสงฺฆา | สุณนฺตุ วจนํ มม |
สเจ อนาคเต กาเล | พุทฺโธ เหสฺสามิ นายโก |
อิมินา มํสทาเนน | มม จิตฺตพเลน จ |
มยฺหํ ปฺุณานุภาเวน | สตฺถํ ปตตุ สมฺมุขา |
ความว่า ข้าแต่หมู่เทพยดาทั้งหลายผู้เจริญ เทพยเจ้าทั้งหลายจงฟังคำของข้าพเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลและจะได้นำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากวัฏฏไซร้ ด้วยอำนาจมังสทานที่ข้าพเจ้าจะบริจาคในวันนี้ด้วย ด้วยกำลังแห่งศรัทธาจิตของข้าพเจ้าด้วย ด้วยอานุภาพบุญบารมีของข้าพเจ้าด้วย ขอสาตราจงตกลงมาในที่เฉพาะหน้าข้าพเจ้าในกาลนี้เถิด
ในลำดับนั้น สาตราก็ตกลงมาจากอากาศตั้งอยู่ในที่เฉพาะหน้าพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็หยิบสาตรามาปรารถนาจะเชือดมังสะออกจากตน แล้วตั้งสัตยาธิษฐานอีกว่า ถ้าข้าพเจ้าปิดทองพระพุทธปฏิมากรยังไม่สำเร็จทั่วองค์ตราบใด ขออย่าให้ชีวิตของข้าพเจ้าแตกดับตราบนั้น เมื่อข้าพเจ้าปิดทองพระพุทธปฏิมากรทั่วทั้งองค์สำเร็จแล้ว ชีวิตของข้าพเจ้าจึงแตกดับเถิด ครั้นอธิษฐานดังนี้แล้ว ก็เชือดมังสะออกจากกายส่งให้นายช่างทองคือท้าวโกสีย์ ท้าวโกสีย์แปลงรับเอาชิ้นมังสะนั้นมา แล้วกระทำให้เป็นแผ่นทองคำเปลวด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ ครั้นสำเร็จแล้วก็มอบให้พระโพธิสัตว์ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์เห็นเนื้อของตนเป็นแผ่นทองคำเปลวดังนั้น ก็มีจิตประกอบด้วยปีติโสมนัส ด้วยคิดว่าความปรารถนาในใจของเรา จักเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดในวันนี้ คิดดังนี้แล้วก็รับแผ่นทองคำเปลวมาปิดพระพุทธปฏิมากร ครั้นปิดทองพระพุทธปฏิมากรสำเร็จทั่วแล้ว ก็บังเกิดความโสมนัสยินดีปรีดา จึงหมอบฟุบลงแทบพระบาทพระพุทธปฏิมากรแล้วก็วิสัญญีสลบอยู่ ณ ที่นั้น
ในลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงหยิบเอาทิพยโอสถ ทาลงที่สรีรกายของพระโพธิสัตว์ แล้วประพรมลงด้วยน้ำหอมอันเป็นทิพย์ พระโพธิสัตว์ก็กลับฟื้นคืนชีวิตได้สมประฤดี และมีวรรณสีกายดุจทองคำธรรมชาติ ทั้งมีสาภสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้น ด้วยอำนาจอานุภาพของท้าวสักกเทวราช และอานุภาพบุญบารมีที่ได้สร้างสมมา เมื่อท้าวสักกเทวราชจะพรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรมหาบุรุษ ท่านจงรู้เถิด ด้วยอำนาจบุญกรรมที่ท่านได้ทำแล้วนี้ ท่านจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายหน้าโดยแท้
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำพยากรณ์ดังนั้น จึงถามว่า ดูกรนายช่างทองผู้เจริญ ท่านนี้มาแต่ที่ไหน ท้าวสหัสสนัยตรัสตอบว่า ดูกรมหาบุรุษ เราเป็นพระอินทร์มาแต่เทวโลก ที่เรามาหาท่านนี้ก็ด้วยอำนาจที่ท่านมีศรัทธาอันกล้าหาญ ท้าวมัฆวานตรัสดังนี้แล้วก็เหาะลอยขึ้นไปในอากาศ มีกายอันงามโอภาสดุจพระอาทิตย์มีรัศมีอันอ่อนพึ่งแรกอุทัยขึ้นเหนือยอดเขายุคันธรฉะนั้น แล้วอำลาพระโพธิสัตว์นิวัตตนาการกลับยังเทวโลกอันเป็นนิวาสถานของอาตมา
ในกาลนั้น พระเจ้าปัญจาลราชและชาวพระนครทั้งหลายก็พากันกระทำสักการบูชาพระโพธิสัตว์ แล้วพระเจ้าปัญจาลราชจึงทรงพระราชทานสรรพสมบัติให้แก่วิริยบัณฑิตโพธิสัตว์นั้นเป็นอันมาก
วิริยบัณฑิตโพธิสัตว์นั้น ก็ได้เสวยสรรพสมบัติอันบริบูรณ์พร้อมทั้งบุตรและภรรยาโดยควรแก่ความผาสุขสำราญ และมีภูมัฏฐเทวดาและอากาสัฏฐเทวดาทั้งหลาย ตามพิทักษ์รักษาบริหารให้มีความสุข มิให้โรคาพาธทุกข์อันสาหัสมาเบียดเบียนบีฑา
เมื่อพระโพธิสัตว์จะสิ้นอายุสังขาร กามาวจรเทพยดาทั้งหลายในหกชั้นฟ้าก็นำเอาบุษบกทองทั้งหกอันเต็มด้วยอาภรณ์ทิพย์มาจากเทวโลกทั้งหกขึ้นตั้งไว้ ณ อากาศ แล้วร้องเชิญพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรท่านผู้เช่นเรา ท่านจงมาไปกับเราทั้งหลาย ไปอภิรมย์สมบัติในเทวโลกเถิด
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำเชื้อเชิญดังนั้นจึงถามว่า โพธิสัตว์ทั้งหลายที่มีบารมีได้สร้างสมมาแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นไหน เทพยดาทั้งหลายตอบว่า ได้เคยไปเกิดในชั้นดุสิตเทวพิภพ พระโพธิสัตว์จึงบอกว่า เราจักขอไปบังเกิดในดุสิตเทวพิภพนั้น เทพยดาทั้งหลายจึงให้พระโพธิสัตว์ขึ้นบนรถแล้ว ก็นำไปสู่วิมานทองอันสูงได้ ๑๒ โยชน์ เต็มไปด้วยเครื่องอาภรณ์และนางอัปสรทิพย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ดุสิตเทวพิภพนั้น
พระโพธิสัตว์นั้น ก็มีอาการประดุจดังว่าหลับแล้วและตื่นขึ้น เมื่อปรารถนาสิ่งใดสิ่งที่เป็นทิพย์นั้น ก็สำเร็จดังความปรารถนาทุกประการ ได้เสวยทิพย์ศฤงคารพร้อมด้วยอิสริยยศและปริวารยศในดุสิตพิภพนั้นสิ้นกาลช้านาน ครั้นพระโพธิสัตว์นั้นปรารถนาจะบำเพ็ญโพธิสมภารให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป ก็จุติจากเทวพิภพลงมาบังเกิดในราชตระกูล ครั้นเจริญวัยวัฒนาการก็ได้เป็นพระเจ้าบรมจักรพรรดิ ครองสิริราชสมบัติเป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ทรงชนะในปถพีมณฑลทั้งสกลอาณาเขต ทรงรักษารัฐมณฑลด้วยสังคหวัตถุพิเศษ ๔ ประการ และทรงสั่งสอนพระราชาทั้งหลายในทิศทั้ง ๔ ให้ได้ประสบความสุขไพศาล แล้วทรงบำเพ็ญโพธิสมภารให้ไพบูลย์ ดำรงพระชนมายุยืนนานจนตราบเท่าทิวงคตก็ขึ้นไปบังเกิดในเทวโลก
แต่พระโพธิสัตว์ท่องเที่ยวเวียนจุติปฏิสนธิ ในเทวโลกและมนุษย์โลกอยู่ดังนี้ ครั้นบารมีเต็มบริบูรณ์แล้วก็ได้ไปบังเกิดในดุสิตพิภพในอวสานการเสวยทิพยสมบัติรัชศฤงคารโดยควรแก่ความสุข แล้วจุติลงมาบังเกิดในอาทิตยวงศ์ ทรงละจักรวัติสมบัติอันจะมาถึงเงื้อมพระหัตถ์ในภายใน ๗ วัน ออกทรงบรรพชากระทำทุกรกิริยาอยู่ ๖ พรรษา แล้วเสด็จประทับเหนือรัตนบัลลังก์ ณ ภายใต้โพธิพฤกษ์มณฑล ทรงกำจัดพระยามารกับทั้งมารพลอันแวดล้อมพระองค์อยู่ ณ ที่ประมาณ ๓๐ โยชน์ ให้พ่ายแพ้ด้วยอำนาจพระบารมีญาณ
ในกาลนั้นเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาฬก็มาประชุมอยู่ในจักรวาฬอันเดียวกัน เครื่องสักการะบูชาทั้งหลายมีฉัตรและธงชายและธงผ้าเป็นต้น ที่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายยกขึ้นบูชานั้น ตั้งแต่พื้นปฤพีตราบเท่าถึงพวัคคพรหมเป็นที่สุด อีกทั้งพวงของหอมและพวงมาลาทั้งหลาย ก็ห้อยย้อยลงมาจากอากาศ เทพยดาและพรหมทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุต่างก็ถือจามรและธงทองมีคันประดับด้วยแก้วอินทนิล ยืนโบกโบยอยู่ ณ อากาศเวหา แต่มีกายมิได้แสดงให้เห็นปรากฏแก่ประชุมชนพื้นนภดลนั้น ดุจเยียดยัดไปด้วยเครื่องสักการบูชาทั้งหลาย จะหาอากาศที่เป็นระหว่างว่างเว้นหามิได้ พวกคนธรรพ์ทั้งหลายก็พากันอัญชลีกร ขับสรรเสริญพระคุณด้วยเสียงอันไพเราะเนียรนาท อนึ่งพฤกษาลดาชาติทั้งหลายในพื้นปถพี ก็ผลิดอกออกผลดกเดียรดาดควรเป็นมหัศจรรย์ ทั้งดอกประทุมเบญจพรรณก็ทำลายแผ่นดินผุดขึ้นมา การที่พระมหาบุรุษโพธิสัตว์เจ้าได้เครื่องสักการบูชาเป็นต้นเห็นปานนี้ ก็เพราะอำนาจอานิสงส์ที่ได้ทรงสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรในกาลนั้น
แท้จริง อานิสงส์พระพุทธปฏิมากรนี้ มีผลเป็นมหัศจรรย์เมื่อผู้ที่กระทำสักการบูชานั้น ยังท่องเที่ยวอยู่ในสงสารวัฏตราบใดอานิสงส์พระพุทธปฏิมากรก็คงตามให้ผลอยู่ตราบนั้นมิได้รู้สิ้นสุด เพราะเหตุนั้น พระพุทธคาถาจึงมีปรากฏว่า
พุทฺธพิมฺพํ กรา เย เย | เต น ชายนฺติ ทุคฺคตึ |
ลาภิโน จ เสฏฺลาภา | พุทฺธพิมฺพสสิทํ ผลํ |
เหมวณฺณา สุรูปา จ | ภาคฺยวณฺณา ชนมปิยา |
นารีวรคณากิณฺณา | พุทฺธพิมฺพสสิทํ ผลํ |
สีลวนฺโต คุณวนฺโต | ปณฺฑิตา จ วิสารทา |
ยสฺสสิโน ปติมนฺโต | พุทฺธพิมฺพสสิทํ ผลํ |
ยาวตา พุทฺธภูมิโย | พุทฺธสาวกภูมิฺจ |
พุทฺธพิมฺพสสิทํ ผลํ |
ความว่า ชนทั้งหลายเหล่าใด ได้สร้างพระพุทธรุปขึ้นกระทำสักการบูชา ชนทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่ไปเกิดในทุคติภพและจะได้ประสบลาภสักการะ ทั้งบริบูรณ์ไปด้วยธนสารอันเป็นลาภประเสริฐ ลาภผลที่บังเกิดขึ้นนั้น เพราะอานิสงส์ที่ได้สักการบูชาพระพุทธปฏิมากร
อนึ่ง บุคคลจะมีพรรณสีกายงาม และมีรูปทรงสัณฐานผิวพรรณเหมาะส่วน และควรเป็นที่รักเจริญใจของประชุมขนและบริบูรณ์ไปด้วยหมู่นารีอันงามประเสริฐ อันนี้ก็เป็นอานิสงส์ของการที่ได้สักการบูชาพระพุทธปฏิมากร
อนึ่งบุคคลจะได้เป็นบัณฑิต มีสีลคุณบริบูรณ์ไปด้วยปัญญา และมีความแกล้วกล้าในที่ประชุมบริษัททั้งสี่ และมีอิสริยยศได้เป็นอธิบดีอันยิ่งใหญ่ ก็อาศัยอานิสงส์ผลที่ได้สักการบูชาพระพุทธปฏิมากร
อนึ่งบุคคลจะได้บรรลุถึงพุทธภูมิ และได้สำเร็จพุทธสาวกภูมิก็ดี ก็ได้อาศัยอานิสงส์ผลอันเนื่องมาแต่พระพุทธปฏิมากร ที่ตนได้กระทำความเคารพสักการบูชา
----------------------------
สตถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศพระอริยสัจทั้งสี่ ครั้นจบพระอริยสัจเทศนาแล้ว ก็ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ามหารัฏฐราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระธรรมเสนาบดีสาริบุตร พระเจ้าปัญจาลราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานนท์ธรรมภัณฑาคาร ราชทูตผู้ทูลราชสาส์นในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอนุรุทธ์ วิริยบัณฑิตในครั้งนั้น กลับชาติมาคือตถาคต ผู้เป็นบรมโลกนายก ท่านทั้งหลายจงทรงจำอดีตชาดกไว้โดยนัยที่แสดงมานี้แล