- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
ทานวตฺถนฺติ อิทํ สตฺถา เมฆวตึ นาม นครํ อุปนิสฺสาย เชตวเน วิหรนฺโต อฏฺปริกฺขารทานํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตะวัน อาศัยเมืองเมฆวดีเป็นที่โคจรภิกขาจารทรงพระปรารภอัฏฐบริขารทาน การถวายบริขารแปดให้เป็นเหตุเบื้องต้น จึงตรัสแสดงผลคือชาดกนี้ อันพระสังคีติกาจารย์กำหนดด้วยบาทพระคาถาว่า ทานวตฺถํ ดังนี้เป็นอาทิ
ดังได้สดับมา ในเมืองเมฆวดีนั้น มีกุฎุมพีผู้หนึ่งเป็นผู้ยินดีในทานและดำริแต่ในกาลที่จะบริจาคมหาทานเนืองนิตย์ อยู่มาวันหนึ่ง กุฎุมพีผู้นั้นมีจิตประกอบด้วยศรัทธาจึงหานายช่างมาให้กระทำโรงปะรำนั้นสำเร็จแล้วจึงไปนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์พุทธบริพาร ให้มานั่ง ณ ปะรำแล้วถวายมหาทานสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ นั้นก็ถวายอัฏฐบริขาร
สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงกระทำอนุโมทนาทานของกุฎุมพีนั้นแล้วจึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรอุบาสกผู้เจริญ ตัวท่านเป็นทายกผู้บริจาคทานควรกระทำจิตของตนให้ปสันนาการเลื่อมใสในทานที่บริจาคนั้น เพราะเหตุว่าขึ้นชื่อว่าทานแล้ว เป็นกิจที่ควรบุคคลจะพึงให้แก่ยาจกวณิพกคนกำพร้าอนาถา แม้ถึงบัณฑิตทั้งหลายแต่ครั้งโบราณมา ก็ย่อมยินดีในความประพฤติทานบริจาค ก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่มิได้ตรัสต่อไป กุฎุมพีนั้นปรารถนาจะใคร่สดับวัตถุนิทาน จึงถวายนมัสการแล้วทูลอาราธนา พระพุทธองค์ก็ทรงนำเรื่องในอดีตภพมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต พาราณสินคเร ธมฺมิกปณฑิโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯ ในกาลเมื่ออดีตล่วงแล้ว มีบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ธรรมิกบัณฑิตราช ครองรัชยสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชนั้น ทรงยินดีในทานบริจาคเป็นเบื้องหน้า จึงมีรับสั่งให้สร้างมณฑป อันดาดเพดานด้วยแผ่นผ้าประดับด้วยเครื่องอลังการ สำหรับเป็นที่ถวายทานแก่พระพุทธปมุขสงฆ์ ครั้นมณฑปนั้นสำเร็จแล้ว จึงให้นิมนต์พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์พุทธบริวาร มานิสีทนาการ ณ ท่ามกลางมณฑปนั้น แล้วทรงถวายทานวัตตมีอันนปานาหารเป็นอาทิ ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว ก็กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีมาลาและของหอมเป็นต้น ทรงนมัสการองค์สมเด็จพระทศพลแล้วทูลตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้กระทำสักการ
บูชาพระพุทธองค์ ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีสรรพรัตนวัตถาลังการเป็นต้น ใช่ว่าข้าพระองค์จะปรารถนาสมบัติในเทวโลกและพรหมโลกหาบมิได้ ขอผลทานที่ข้าพระองค์บริจาคนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า
ในขณะนั้น พื้นปถพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหวสะเทื้อนสะท้าน มีอาการดุจดังว่ากุญชรชาติซับมันอันอาละวาดทั้งบรรพตสิเนรุราช ก็โอนอ่อนดุจถวายอภิวันทน์น้อมยอดมีหน้าเฉพาะตรงเมืองพาราณสี เปรียบประดุจดังว่าลำหวายที่ถูกบุคคลลนด้วยอัคคีอันน้อมยอดลงฉะนั้น ทั้งพระมหาสมุทรก็บันลือลั่นไปด้วยเสียงคลื่นระลอก มหาเมฆก็คำรณเสียงอัสนีสนั่นยังห่าฝนลูกเห็บให้ตกลง ณ พื้นปถพี สายฟ้าในอากาศวิถีอันใช่ฤดูกาล ก็แลบฉวัดเฉวียนทั่วไปในอากาศ ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงปรบพระหัตถ์ ทั้งท้าวมหาพรหมและเทพบริษัทก็ร้องซ้องสาธุการ มหัศจรรย์ทั้งหลายนั้นบันดาลเอิกเกริกโกลาหล ตั้งแต่พื้นปถพีดลตราบเท่าถึงพรหมโลกเป็นที่สุดอวสาน
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ จะทรงประกาศเนื้อความแห่งเหตุอันให้เกิดมหัศจรรย์นั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสเป็นบาทพระคาถาว่า
กโต ธมฺมิกปณฺฑิโต | ทานํ ทตฺวาน ขตฺติโย |
พุทฺธสฺส ภิกฺขุสงฺเฆน | มณฺฑปํ ทานมุตฺตมํ |
ตทาสิ ยํ ภึสนกํ | ตทาสิ โลมหํสนํ |
วตฺถทาเน ปทินฺนมฺหิ | เมทนี สมกมฺปล |
ตทาสิ ยํ ภึสนกํ | ตทาสิ โลมหํสนํ |
วตฺถทาเน ปทินฺนมฺหิ | ขุพฺภิตฺถ นครํ ตทา |
ความว่า บรมกษัตริย์ทรงพระนามว่า ธรรมิกบัณฑิตนั้น ครั้นทรงบริจาคมหาทาน ซึ่งเป็นทานอันอุดมสูงสุด แก่พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์พุทธบริวารในมณฑป อันเป็นสถานที่ทรงบริจาคนั้นแล้ว ในกาลนั้นมหัศจรรย์อันน่าพิลึกพึงกลัว มีให้เกิดขนพองสยองเกล้าเป็นต้น อีกทั้งพื้นปถพีดลก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว และพระนครพาราณสีนั้นก็กำเริบโกลาหล เพราะวัตถทานและอันนทานเป็นต้น ที่พระธรรมิกบัณฑิตราชได้ทรงบริจาคนั้นเป็นเหตุ
ในที่สุดแห่งคาถาอุทานนั้น พิภพของท้าวสักกเทเวศร์ก็แสดงอาการอันร้อนด้วยเดชอำนาจแห่งทานของพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชบรมกษัตริย์ เมื่อท้าววชิรหัตถ์จะทรงอาวัชนาการพิจารณา จึงกล่าวเป็นบาทพระคาถาว่า
โกนุ เทโว มนุสฺโส วา | สมฺมา ปูเชนฺติ มาตรํ |
ทานํ วา พฺรหฺมจริยํ | มมํ จาเวติ อาสนา |
ความว่า ใครผู้ใดหนอ จะเป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์บุคคลผู้ใด ซึ่งเป็นผู้บำรุงมารดาบิดา หรือเป็นผู้สักการบูชาพระรัตนตรัย หรือเป็นผู้บริจาคทานประพฤติพรหมจริยวาส มีความประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ในเทวพิภพ
เมื่อท้าวสักกเทวราชกล่าวคาถาปรารภดังนี้แล้ว จึงพิจารณาดูด้วยทิพยเนตร ก็ได้ทราบประพฤติเหตุทุกประการจึงทรงเทวดำริว่า บัดนี้พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชหน่อพุทธางกูรทรงบริจาคทานเป็นมหัศจรรย์ เราควรจะลงไปในมนุษย์โลก เชื้อเชิญพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชนั้นให้ขึ้นสู่ทิพยวิมาน แล้วนำมาให้ประดิษฐานอยู่ในเทวโลกนี้
ครั้นทรงเทวดาดำริดังนี้แล้ว ก็เสด็จขึ้นสู่วิมานอันประดับด้วยรัตนะทั้ง ๗ ออกจากเทวดึงส์เทวพิภพ ลอยลงมาประดิษฐานอยู่ ณ เบื้องหน้ามณฑป อันเป็นที่บริจาคทานของพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราช
พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชโพธิสัตว์ ได้ทอดพระเนตรรัตนวิมานอันมาลอยอยู่ ณ อากาศฉะนั้น เมื่อจะมีพระราชดำรัสถามจึงกล่าวพระคาถาว่า
กึ วิมานํ ปุเร ิโต | เทวปุตฺโตสิ อาคโต |
วิมานฺจ นิมนฺตามิ | กินฺนุ ติฏฺติ อกฺขาหิ เม |
ความว่า วิมานอะไร มาประดิษฐานลอยอยู่ ณ เบื้องหน้ามณฑปของเรา ท่านผู้เป็นเทวบุตรจงมาเถิด เราขอเชิญท่านทั้งวิมานด้วย เหตุไฉนวิมานจึงมาประดิษฐานลอยอยู่ดังนี้ ท่านที่อยู่ในรัตนวิมาน จงบอกอาการให้เราได้ทราบในกาลนี้
ในลำดับนั้น ท้าวโกสีย์สักกเทวราชได้สดับคำถาม เมื่อจะตรัสบอกพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชทรงทราบ จึงกล่าวพระคาถาว่า
เตน เตน นิมนฺเตสิ | อหํ สกฺโก ปุรินฺทโท |
ทานปฺุเน กมฺเมน | อากาเสว วิชุลตา |
สมนฺตา นิจฺฉรนฺตา อาคู | ศิรินํว ปติสฺสุตา |
ตสฺส เต อนุโมทนฺติ | อุโภ นารทปพฺพตา |
อินฺโท จ พฺรหฺมา จ | ปชาปติ จ |
โสโม ยาโม เวสฺสวณฺโณ | จ ราชา |
สพฺเพ เทวา อนุโมทนฺติ | ทุกฺกรํ หิ กโรติ โส |
ทุทฺททํ ททมานานํ | ทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ |
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติ | สตํ ธมฺโม ทุรนฺนโย |
ตสฺมา สตฺจ อสตฺจ | นานา โหติ อิโต คติ |
อสนฺโต นิรยํ ยนฺติ | สนฺโต สคฺคปรายนา |
ความว่า เราคือท้าวปุรินททสักกเทวราช มาเชื้อเชิญพระองค์พร้อมด้วยรัตนวิมานบัดนี้ เพราะเหตุบุญกรรมที่พระองค์ได้บำเพ็ญทาน สายฟ้าในอากาศก็บันดาลคะนองเสียง แลบฉวัดเฉวียนไปโดยรอบขอบจักรวาฬ เทพยดาทั้งหลายที่อาศัยคิรีและลำธารและนารทบรรพตทั้งสอง ได้สดับฟังมหัศจรรย์อันบันดาลดังนั้น ต่างก็พากันมาอนุโมทนาทานบารมีของพระองค์ ไม่แต่เท่านั้นเทพยดาทั้งหลายทั้งปวงคือ พระอินทร์พระพรหมพระปชาปติเทวราช และโสมเทวบุตรยามาเทวราช อีกทั้งท้าวมหาราชชื่อว่าเวสสวรรณ ต่างก็พากันสาธุการอนุโมทนาว่า พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชนั้น ทรงกระทำพระกุศลที่บุคคลจะกระทำได้ด้วยยาก เมื่อบุคคลผู้เป็นสัตบุรุษทั้งหลายจะบริจาคทานนั้น ก็บริจาคที่บุคคลจะพึงได้โดยยาก เมื่อกระทำกิจการที่เป็นกุศลนั้น ก็กระทำกิจการกุศลที่บุคคลจะพึงกระทำโดยยาก บุคคลที่เป็นอสัตบุรุษทั้งหลายไม่สามารถจะกระทำตามได้ ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายนั้น ยากที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จะพึงประพฤติ เพราะเหตุฉะนั้น คติความดำเนินไปจากโลกนี้ของสัตบุรุจและอสัตบุรุษทั้งหลาย จึงเป็นของต่างกันมิได้เหมือนกัน บุคคลที่เป็นอสัตบุรุษทั้งหลายนั้นย่อมไปสู่นรกจตุราบาย แต่ฝ่ายบุคคลที่เป็นสัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชนั้น ครั้นได้ฟังคาถากล่าวบรรยาย ของท้าวสักกเทวราชนั้นจึงตรัสถามว่าข้าแต่ท้าวสุชัมบดี พระองค์จะมาพาข้าพเจ้านี้ไปเทวโลกหรือ ท้าวสักกเทวราชก็รับคำว่า ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปสู่เทวสถาน พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชได้ฟังดังนั้น ก็มีพระหฤทัยโสมนัสชื่นบานทรงพระดำริว่า เทวโลกอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เรายังไม่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน เราควรจักไปชมเทวโลกในกาลนี้ ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้หาอำมาตย์ผู้ใหญ่มาเฝ้าแล้วตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ ท่านจงเป็นผู้รักษาราชการบ้านเมืองแทนเรา และหมั่นตรวจตราราชกิจให้เป็นไปโดยทศพิธราชธรรมจนกว่าเราจะกลับมา ทรงมอบราชกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จเข้าไปในวิมานทรงประทับเหนือรัตนบัลลังก์อาสน์ ท้าวสหัสสนัยรู้ว่าพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชเสด็จเข้าไปในวิมานแล้ว ก็สำแดงเทวฤทธิ์เหาะไปในนภาลัยประเทศอากาศ บันดาลให้พระเจ้าธรรมิกบัณฑิราชกับทั้งวิมานไปถึงดาวดึงส์เทวภพแล้วให้ลงประทับ ณ ทิพยอาสน์อันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ
ในลำดับนั้น พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชได้ทอดพระเนตรเห็นวิมานทั้งหลาย อันประดับไปด้วยรัตนะต่าง ๆ มิใช่อย่างเดียวกัน จึงตรัสว่า เราได้มาเห็นวิมานเป็นการอัศจรรย์ยิ่งนัก สิ่งที่เราไม่เคยได้พบเห็น และไม่เคยมีไม่เคยเป็นแก่เราเลย เราได้มาประสบในวันนี้ นับว่าเป็นเหตุควรอัศจรรย์ ตรัสดังนี้แล้ว จึงถามท้าวสักกเทวราชว่า ข้าแต่ท้าวสุชัมบดีเทวราช เทพยดาทั้งหลายเหล่านั้น ในเบื้องบุรพชาติได้กระทำกุศลสิ่งไรจึงได้มาบังเกิดในเทวสถาน ได้รัตนวิมานอันเป็นทิพศฤงคารเห็นปานดังนี้
เมื่อท้าวโกสีย์สหัสสนัยเทวราชจะตรัสบอกกุศลกรรม อันเป็นเหตุให้ได้รัตนวิมานของเทพยดาทั้งหลาย จึงกล่าวพระคาถาว่า
พุทธรูปํ เจติยฺจ | วิตานํ วิหารํ สาลํ |
ถูปํ โพธึ ตลากฺจ | วิมานรตนํ ลภิ |
เกตุกํ อนฺนปานฺจ | ธชาทีนิ ปฏาทิกํ |
วาลุกเจติยํ เตลํ | วิมานรตนํ ลภิ |
ทีปธูปฺจ คนฺธฺจ | มาลฺจ วตฺถบปูชิตํ |
สพฺพกุสลกมฺมานิ | จิมานรตนํ ลภิ |
อรหนฺเต สิติภูเต | สกฺกจฺจํ ปติปาทยิ |
จีวรํ ปิณฺฑปาตฺจ | จิมานรตนํ ลภิ |
ความว่า เทพยดาทั้งหลายที่ได้รัตนวิมานนั้น ๆ บางพวกเมื่ออยู่ในมนุษยโลกได้กระทำกุศลราศี คือสร้างพระพุทธรูปและเจดีย์และสร้างวิหารศาลาอันวิจิตรด้วยเพดาน และขุดบ่อสระปลูกต้นไม้มหาโพธิ์ ครั้นทำลายขันธ์จากมนุษยโลกจึงมาบังเกิดในสวรรค์ได้รัตนวิมาน บางพวกเมื่ออยู่ในมนุษยโลกได้กระทำการกุศลคือสร้างสะพานและถวายอันนปานาหารแก่ภิกษุสงฆ์ และทำธงเป็นต้นว่าธงชายและธงแผ่นผ้าทั้งหลาย และก่อเจดีย์ทรายถวายน้ำมันตามประทีป ครั้นทำลายขันธ์สิ้นชีพจากมนุษยโลก จึงได้มาบังเกิดในสวรรค์ได้รัตนวิมาน บางพวกเมื่ออยู่ในมนุษยโลกได้กระทำกุศลทั้งหลาย คือบูชาพระรัตนตรัยด้วยประทีปธูปเทียนและของหอมมาลาและผ้าเครื่องอาภรณ์ ครั้นทำลายขันธ์จากมนุษยโลก จึงได้มาบังเกิดในสวรรค์ได้รัตนวิมาน บางพวกเมื่ออยู่ในมนุษย์โลกได้สร้างกุศลคือนิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายสรงวารี ชำระสริรอินทรีย์ให้เย็นสำราญแล้วถวายจีวรทานและบิณฑบาตทานโดยเคารพ ครั้นทำลายขันธ์จากมนุษยโลก จึงได้มาบังเกิดในสวรรค์ได้รัตนวิมานเห็นปานดังนี้
เมื่อท้าวสุชัมบดีเทวราช แสดงรัตนวิมานอันรุ่งเรืองวิจิตร์ต่าง ๆ และแสดงบุรพกุศลของเทพยดาผู้เป็นเจ้าของวิมานฉะนี้แล้ว ก็พาพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชเสด็จเข้าไปในมนเทียร แล้วมีเทวบัญชาว่า พระองค์จงอยู่ครองวิมานอันบริบูรณ์ด้วยทิพยศฤงคารกึ่งหนึ่งนี้
พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชได้สดับคำท้าวโกสีย์ตรัสดังนั้น มิได้มีความปรารถนาที่จะอยู่ครองวิมาน เมื่อจะตรัสห้ามจึงกล่าวพระคาถาว่า
ยถา ยาจิตกํ ยานํ | ยถา ยาจิตกํ ธนํ |
เอวํ สมฺปท เม เทตุ | ยํ ปรโต ทานปจฺจโย |
นจาหเมตํ อิจฺฉามิ | ยํ ปรโต ทานปจฺจโย |
สยํ กตานิ ปุญญานิ | ตํ เม อนฺเต นิยํ ธนํ |
โสหํ คนฺตวา มนุสฺเสสุ | กาหามิ กุสลํ พหุํ |
ทาเนน สมจริยาย | สฺเมน ทเมน จ |
ยํ กตฺวา สุขิโต โหมิ | น จ ปจฺฉานุตปฺปสึ |
ความว่า ยวดยานพาหนะที่ยืมเขามาก็ดี ทรัพย์สมบัติที่ยืมเขามาก็ดี อุปมาฉันใด วิมานที่พระองค์ประสาทให้แก่ข้าพเจ้านี้ มีทานของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็มีอุปมัยฉันนั้น ทรัพย์สมบัติอันใดมีทานอยู่ผู้อื่นเป็นปัจจัยต้องอาศัยทานของผู้อื่น ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาทรัพย์สมบัติอันนั้นเลย บุญกุศลทั้งหลายที่กระทำด้วยตนเอง เป็นทรัพย์ที่จะนำตนไปในภพอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าข้าพเจ้าออกจากเทวโลกนี้ ไปในโลกเป็นที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลายแล้วจักกระทำการกุศลให้มาก ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ถึงซึ่งความสุขสำราญและไม่เดือดร้อนรำคาญในกาลเป็นภายหลัง เพราะเหตุกระทำกุศลอันใด เป็นต้นว่าด้วยทานการให้การบริจาคก็ดีหรือด้วยความประพฤติตนให้เสมอก็ดี หรือด้วยความสำรวมกายวาจาใจก็ดี หรือด้วยความฝึกหัดทรมานตนก็ดี ข้าพเจ้าก็จักกระทำกุศลอันนั้นให้มาก
พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชโพธิสัตว์กล่าวพระคาถาดังนี้แล้ว จึงตรัสอำลาท้าวสักกเทวราชว่า ข้าแต่ท้าววชิรปาณีผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้า บัดนี้ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะลงไปสู่มนุษยโลก ขอพระองค์ได้กรุณาโปรดนำข้าพเจ้าลงไปส่งในกาลนี้ ท้าววชิรปาณีได้สดับคำอำลา จึงทรงรับว่าข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปส่งตามความปรารถนา แล้วมีเทวบัญชาให้นำเวชยันตราชรถมาเทียมไว้ พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชโพธิสัตว์ก็มีความชื่นบานสำราญพระหฤทัย ตรัสปราศรัยกับหมู่เทพยดาทั้งหลายแล้ว ก็อำลาเทพยดาทั้งหลายขึ้นทรงเวชยันตราชรถกับท้าวมฆวาน ออกจากเทวสถานเลื่อนลอยมาโดยอากาศวิถี บ่ายหน้าราชรถเฉพาะเมืองพาราณสีขับไปด้วยอานุภาพท้าวสหัสสนัยหากบันดาล ครั้นถึงประตูพระราชนิเวศน์ด้านปาจีณทิศาภาคก็เสด็จลงจากเวชยันตราชรถเข้าสู่พระราชนิเวศน์ขึ้นประทับ ณ ปรางค์ปราสาท ฝ่ายท้าวสหัสสนัยเทวราช ก็อำลากลับไปยังเทวโลกอันเป็นทิพยสถาน
ในลำดับนั้น มหาชนชาวพระนครทั้งหลายได้ทราบว่าพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชโพธิสัตว์ซึ่งเสด็จคมนาการขึ้นไปสู่เทวโลกนั้น บัดนี้เสด็จกลับมายังพระราชนิเวศน์ ต่างก็มีจิตโสมนัสชื่นบานพากันจัดเครื่องบรรณาการเข้าไปกระทำสักการบูชาถวายชัยมงคล อวยพรให้มีพระชนม์ยืนยาวตราบเท่าอายุขัย แล้วกราบทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช เทวโลกที่ได้ทอดพระเนตรนั้นเช่นไร พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อพระโพธิสัตว์จะตรัสบอกทิพยสมบัติในเทวโลก จึงกล่าวเป็นบาทคาถาว่า
ตาวตึเสสุ จิมานา | มุตฺตา เวฑุริยา มณี |
นารีวรคณากิณฺณา | วิมานรตนํ ลภิ |
ปภาสติมิทํ พฺยมหํ | ชาตรูปสฺส นิมฺมิตา |
ททฺทฬฺหมานา อาเภนฺติ | วิชุลตามิว อมฺพเร |
นารีวรคณากิณฺเณ | นจฺจคีเตหิ สงฺฆุฏฺเ |
ตโต อุยฺยานสมฺปนฺนา | กปฺปรุกฺเขสุ ลมฺพเร |
กปฺปาสิกฺจ โกเสยฺยํ | โขมโกทุมฺพรานิ จ |
ปฺุกมฺมาภินิพฺพตฺตา | กปฺปรุกฺเขสุ ลมฺพเร |
ตโต โขมฺจ กายุรํ | องฺคทํ มณิเมขลํ |
ปฺุกมฺมาภินิพฺพตฺตา | กปฺปรุกฺเขสุ ลมฺพเร |
ตโต โขมฺจ กายุรํ | คีเวยฺยํ รตนามยํ |
ปฺุกมฺมาภินิพฺพตฺตา | กปฺปรุกฺเขสุ ลมฺพเร |
ความว่า ในดาวดึงส์เทวโลก มีวิมานอันประดับด้วยแก้วมุกดา และวิมานอันประดับด้วยแก้วไพฑูริย์ และวิมานอันประดับด้วยแก้วมณีเป็นต้น ในรัตนวิมานนั้น ๆ มีหมู่นางเทพอัปสรอยู่เกลื่อนกล่นเดียรดาษ เทพบุตรที่มีกุศลอันได้กระทำไว้จึงได้รัตนวิมานนั้น ๆ อนึ่งรัตนวิมานนั้น โอภาสสว่างไปด้วยรัศมีแก้วต่าง ๆ อันงามวิจิตรรจนา ประดุจดังสายฟ้าอันสว่างรุ่งเรืองในพื้นอัมพร ในเทวโลกนั้น เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรอันฟ้อนรำขับร้องเสียงกึกก้องโกลาหล ทั้งบริบูรณ์พร้อมด้วยสวนอุทยาน และมีเครื่องอลังการห้อยย้อยอยู่ตามต้นกัปปพฤกษ์ อีกทั้งเครื่องอลังการต่าง ๆ คือสุวรรณวลัยและสร้อยสอิ้งสังวาล และธำมรงค์และเครื่องกัณฐาภรณ์แต่ล้วนประดับไปด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นของบังเกิดแต่บุญกรรมที่เป็นกุศล ก็ห้อยอยู่ตามต้นกัปปพฤกษ์นั้น ๆ
เมื่อพระโพธิสัตว์ ตรัสพรรณนาทิพยสมบัติในสวรรค์ให้มหาชนทั้งปวงนั้นฟังโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงพระราชทานโอวาทสั่งสอนว่า ท่านทั้งหลายอย่ามีความประมาท จงพากันให้ทานรักษาศีลและเจริญเมตตาภาวนาทุกทิวาราตรีกาล เมื่อกระทำการกุศลอย่างนี้แล้ว สิ้นชีพก็จะได้ไปเสวยทิพยสมบัติรัตนวิมานในเมืองสวรรค์ พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชโพธิสัตว์ตรัสประทานโอวาทแก่มหาชนทั้งหลายดังนี้แล้ว ส่วนพระองค์ก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีบริจาคทานเป็นต้น ครั้นสิ้นพระชนม์ก็ขึ้นไปอุบัติในเทวโลกเสวยทิพยสมบัติ ฝ่ายมหาชนทั้งหลายที่ประพฤติตามโอวาทของพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นทำลายขันธ์จากมนุษยโลกก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในเทวสถาน
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงประชุมชาดกจึงตรัสโอสานคาถาว่า
สกฺโก เทวานมินฺโท โส | อนุรุทฺโธ อิทานิ โข |
ตสฺส ปริสา ชนา สพฺเพ | พุทฺธสฺส ปริสา อหุ |
ธมฺมิกปณฺฑิโต โลกนาโถ | เอวํ ธาเรถ ชาตกํ |
ความว่า ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหลาย ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระอนุรุทธในกาลนี้แล ชนทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นบริษัทของพระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัทในกาลนี้ พระเจ้าธรรมิกบัณฑิตราชโพธิสัตว์ในครั้งนั้น สืบขันธประวัติมาคือพระตถาคตผู้เป็นนาถของสัตว์โลกในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงพากันทรงจำชาดกไว้โดยนัยที่ตถาคตแสดงมาอย่างนี้แล