- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๒๖. สุรูปชาดก
มริจฺจมายาชลิเตน สนฺนิภนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ปารมิโย อารพฺภ กเถสิ
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภทานบารมีของพระองค์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า มริจฺจมายาชลิเตน สนฺนิภํ ดังนี้เป็นต้น
ในกาลนั้น วันหนึ่งภิกษุทั้งหลาย ประชุมเจรจากันในโรงธรรมสภา ว่าดูกรอาวุโส น่าอัศจรรย์หนอ สมเด็จพระบรมศาสดาพระองค์ไม่อิ่ม ไม่เบื่อด้วยทาน ไฉนหนอ พระองค์บวชวักกลิพราหมณ์แล้วก็ประทานพระอรหัตตผลคราวเดียวกันเร็วพลันทีเดียว ภิกษุทั้งหลายสรรเสริญพระพุทธคุณฉะนี้แล้วก็พากันนิ่งอยู่ ลำดับนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ฟังถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น แล้วเสด็จลุกขึ้นจากพระที่สีหไสยาสน์ เสด็จมายังโรงธรรมสภา เสด็จประทับนั่งเหนือธรรมาสน์อันประเสริฐ จึงดำรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายนั่งประชุมกันอยู่ในถาลนี้ด้วยกถาถ้อยคำอะไรหรือ ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นั่งประชุมเจรจาสรรเสริญพระบรมศาสดา ว่าพระองค์ไม่อิ่มไม่เบื่อด้วยทานพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตตั้งอยู่แล้วในความเป็นพระพุทธเจ้าเหตุดังนี้ไม่สู้อัศจรรย์นัก ส่วนเราได้ให้บุตร์ด้วยให้ภรรยาด้วยให้ตนเองด้วย เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังธรรมในกาลก่อน เมื่อเรายังเป็นปุถุชนอยู่นั้นเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่งนัก ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอน พระองค์จึงนำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปว่า
อตีเต ภิกฺขเว อินฺทปตฺถนคเร สุรูโป นาม รธาชา รชฺชํ กาเรสิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีพระราชาทรงพระนามพระเจ้าสุรูปราชครองสิริรัชสมบัติอยู่ในอินทปัตถนคร พระเจ้าสุรูปราชนั้นพระองค์ตั้งอยู่ในธรรมประกอบไปด้วยพระอิสริยยศ บริบูรณ์ไปด้วยศีล มีพระอัครมเหสีพระองค์เดียว ทรงพระนามว่านางสุนทรีราชเทวี พระราชบุตรของพระองค์ทรงพระนามสุนทรราชกุมาร วันหนึ่งพระองค์ประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน เสด็จออกจากพระแท่นที่สีหไสยาสน์แล้วทรงพิจารณาพระสรีรกายในปัจจุบันเวลาใกล้รุ่ง ทรงทราบแจ้งชัดว่าเป็นของไม่เที่ยง จึงตรัสพระคาถาเป็นปฐมว่า
มริจฺจมายาชลิเตน สนฺนิภํ | |
กทฺทลิอสารํ พหุทุกฺขสฺชนํ | |
โคฬยํ ครหิตํ ปณฺฑิเตหิ | |
สุปินํว กาโย อิทํ ปทิสฺสติ | |
ผลานมิว ปกฺกานํ | นิจฺจํ ปตนโต ภยํ |
เอวํ ชาตานมจฺจานํ | นิจฺจํ มรณโต ภยํ |
อจฺจยนฺติ อโหรตฺตา | ชีวิตํ อุปรุชฺฌติ |
อายุ ขียติ มจฺจานํ | กุนฺนทีนมิโวทกํ |
อุสฺสาวพินฺทุ ติณมฺหิ | สุริยุคฺคมนํ ปติ |
เอวํ อายุ มนุสฺสานํ | ขิปฺปํ อปฺปตรํ คโต |
แปลว่า สรีรร่างกายนี้ คล้ายคล้ายกันกับแสงสว่างแห่งพยับแดด ไม่มีแก่นสารเปรียบเหมือนต้นกล้วย เป็นที่ประชุมเกิดขึ้นของทุกข์เป็นอันมากหรือเปรียบเหมือนงบน้ำอ้อย บัณฑิตทั้งหลายติเตียนแล้วว่าร่างกายนี้ ปรากฏมีขึ้นเหมือนกับความฝัน หรือเปรียบเหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยความกลัวแต่จะต้องหล่นไปอยู่เป็นนิจฉันใด สรีรร่างกายของมัจจสัตว์ที่เกิดมาแล้วทั้งหลาย ก็ย่อมมีความกลัวแต่จะต้องตายไปอยู่เป็นนิจฉันนั้น อนึ่งวันและคืนทั้งหลายย่อมล่วงไปล่วงไปฉันใด ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ก็ย่อมรุกร้นเข้าเข้าไปหาความตายอยู่ทุกวันทุกเวลาฉันนั้น อนึ่งอายุความรวบรวมประมวลมาชึ่งวันและคืน ของมัจจสัตว์ผู้จะต้องตายเป็นธรรมดาทั้งหลายย่อมหมดไปสิ้นไป เปรียบเหมือนแม่น้ำที่มีน้ำอันน้อย มีแต่จะแห้งไปหมดไปฉันนั้น หรือเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่บนยอดหญ้า เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์แล้ว ก็มีแต่ว่าจะเหือดแห้งหายไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมถึงความย่อยยับสูญหายไปฉันนั้น
ดังได้สดับมา ในสมัยครั้งหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์ทรงรำพึงในพระทัยว่า อย่างไรหนอเราจะได้ฟังธรรม แล้วจึงถามอำมาตย์ทั้งปวง อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า มีแต่สำเนียงเสียงกึกก้องประกาศกันว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ดังนี้ ตั้งร้อยพันหมื่นแสนกัลป์มาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ได้ประสบการเห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แต่ที่ไหนเลย กาลเป็นที่บังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกัลป์นี้ไม่มีแล้ว พระองค์จะได้ฟังธรรมแต่ที่ไหน บรมกษัตริย์ได้ทรงฟังอำมาตย์กราบทูลดังนั้นแล้ว จึงทรงรำพึงในพระทัยว่า เราจะหาอุบายให้ได้ฟังธรรมจงได้ แล้วจึงให้ราชบุรุษขอเอาทองคำพันตำลึง ขึ้นบรรทุกบนหลังช้าง แล้วให้ป่าวประกาศไปว่า ผู้ใดสามารถจะกล่าวธรรมถวายบรมกษัตริย์ได้ เราทั้งหลายจะให้ทองคำพันตำลึงและผอบแก้วกับทั้งช้าง ภายหลังบรมกษัตริย์จักกระทำการบูชาเป็นการใหญ่ ราชบุรุษทั้งหลายก็กระทำตามพระราชดำรัส ฯ ตั้งแต่ป่าวร้องมาทั่วพระนครถึงเจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปีแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถจะกล่าวธรรมได้ อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลประพฤติเหตุนั้นแก่บรมกษัตริย์ บรมกษัตริย์ได้สดับประพฤติเหตุนั้นแล้ว ก็บังเกิดโทมนัสเสียพระทัยว่า โอโลกมาว่างเปล่าไปเสียแล้วหนอ แล้วพระทับนั่งมีพระเศียรน้อมลง ณ เบื้องต่ำเกรียมกรอมพระทัยอยู่ แล้วทรงรำพึงในพระทัยว่า โอหนอ ถ้าเรามีบุญขอให้มีคนมากล่าวธรรมแก่เรา คนไรมากล่าวธรรมแก่เราจะปรารถนาทรัพย์สิ่งใด เราจักให้ทรัพย์สิ่งนั้นนั้น เป็นต้นว่าจะปรารถนาภริยาหรือบุตรหรือเงินทองรัตนะทาสีทาสาหรือช้างม้าโคกระบือ เราจะให้สิ่งนั้นตามปรารถนา แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า
ปุตฺตํ ภริยํ มณี ทชฺชํ | ธมฺมสฺสานตฺถาย ชีวิตํ |
รชฏํ สุวณฺณํ ทาสํ | ทาสึ วา หตฺถึ อสฺสํ วา |
เทมิ อหํ สพฺพนฺตํ ทานํ | นิเสสํ ธมฺมปูชาย วิธิยา |
น ทุลฺลภํปิธนํ รชฺชํ | ปุตฺตภริยํ น ทุลฺลภํ |
ธมฺโม จ ทุลฺลโภ โลเก | พุทฺธานํ สุขทายโก |
อชฺชเมว อนปฺปโก | ลาโภ มยาธิคโต สิยา |
ทุลฺลภํ หิ มนุสฺสตฺตํ | น ทุลฺลภา หิ สมฺปตฺติ |
ทุลฺลภํ หิ มนุสฺสตฺตํ | สทฺธา จ อติทุลฺลภา |
ชินสทฺธมฺโม เทสิโต | พุทฺโธ จาปีติทุลฺลโภ |
นิรเย อุปปนฺนสฺส | อตฺตานฺจ กุโต สุขํ |
มหาทุกฺขสฺส ปูเรตฺวา | ธมฺมสฺส น สุโต กุโต |
แปลว่า เราจะให้บุตรและภริยาและดวงแก้วมณี ซึ่งเป็นของอันเราพึงให้ เราจะให้ชีวิตเพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม เราจักให้เงินและทอง ให้ทาสและทาสี เราจักให้ช้างและม้า เราจักให้สรรพทานทั้งสิ้น มิให้มีเหลือ ตามวิธีของการบูชาธรรม อนึ่งทรัพย์สมบัติก็ดี รัชสมบัติก็ดี ไม่เป็นของหาได้ด้วยยาก บุตรก็ดี ภริยาก็ดี ก็ไม่เป็นของหาได้ด้วยยาก ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอุบายให้ซึ่งความสุขเป็นของหาได้โดยยากนักในโลกวันนี้แล ขอลาภไม่น้อยพึงมีมาถึงแก่เราเถิด จริงอยู่ความได้อัตตภาพเป็นมนุษย์เป็นของหาได้ด้วยยาก แต่ทรัพย์สมบัติไม่เป็นของหาได้ด้วยยาก อีกประการหนึ่งความเป็นมนุษย์เป็นของหาได้ด้วยยากก็จริงก็จริง แต่ศรัทธาความเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมเป็นของหาได้ด้วยยากเหลือเกิน อนึ่งสัทธรรมคำสั่งสอนของพระชินสีห์เจ้าที่พระองค์แสดงแล้วเป็นของหาได้ด้วยยาก แม้พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้อันสัตวโลกหาได้ด้วยยากเหลือล้น เมื่อสัตวโลกทำตนให้ไปเกิดเสียในนรกแล้ว จะได้ความสุขมาแต่ไหน เมื่อทำตนให้เต็มไปด้วยความทุกข์อันใหญ่แล้ว ก็ไม่ได้ฟังธรรมแต่ที่ไหนเลย
ในขณะนั้นมหาปฐพีนี้หนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว ประดุจดังช้างซับมันคำรนร้องอยู่ฉะนั้น ทั้งเขาสิเนรุราชก็โอนอ่อนน้อมลงมาเฉพาะหน้าต่ออินทปัตถนคร ประดุจหน่อหวายที่ถูกไฟลวกแล้วฉะนั้น ทั้งเทพวลาหกก็กระหึ่มให้เป็นฝนลูกเห็บตกลงมา ทั้งสายฟ้าแลบอันไม่ใช่ฤดูกาล ก็แผ่ซ่านแปลบปลาบไป ทั้งสมุทรสาครทะเลใหญ่ก็กำเริบตีฟองคะนองคลื่น เทพยเจ้าทั้งปวงก็พากันกระทำสาธุการ ท้าวสักกเทวราชก็ปรบพระหัตถ์อยู่กึกก้อง เสียงโกลาหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ดังลั่นขึ้นไป ตั้งแต่มนุษยโลกจนถึงพรหมโลก พิภพของท้าวสักกเทวราชก็สำแดงอาการให้เร่าร้อน ความอัศจรรย์ในมนุษย์ก็แล่นขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์เจ้ามีพระประสงค์จะทรงฟังธรรม
ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงอาวัชนาการ จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า
โก นุ โข เทโว มนุสฺโส วา | สมฺม ปูเชนฺติ มาตรํ |
ทานํ พฺรหฺมจริยํ วา | มมํ จาเลติ อาสนา |
แปลว่า ใครแลหนอจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ มาบูชามารดาอยู่โดยชอบ หรือมาจำแนกแจกทานอยู่ หรือประพฤติพรหมจรรย์อยู่ จะมากระทำเราให้เคลื่อนไปจากที่นั่ง ฯ
ท้าวสักกเทวราชทรงทราบเหตุการณ์ดังนี้แล้ว จึงจิตนาการว่าบรมกษัตริย์พระองค์นี้เป็นเนื้อหน่อของพระพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะฟังธรรม ที่นั่งของเราจึงได้หวั่นไหวด้วยอานุภาพของบรมกษัตริย์นั้น เราจะทดลองเธอดู แล้วสละความเป็นท้าวสักกะเสีย เหาะลงมาจากเทวโลก นฤมิตเป็นรูปยักษ์น่ากลัว มีนัยน์ตาแดงสว่างโพลงเหมือนไฟ มีผมแดงขนยาวแดง กระทำเสียงกึกก้องนฤนาทให้น่ากลัวแล้วเข้าไปในหน้าพระลานหลวง ยืนอยู่ตรงหน้าพระโพธิสัตว์เจ้า พระโพธิสัตว์เจ้าได้เห็นมหายักษ์แล้ว จึงตรัสถามว่านั่นอะไร มหาชนทั้งหลายได้เห็นรูปยักษ์น่ากลัวก็พากันหนีไป บรมกษัตริย์เมื่อจะตรัสถามว่า ดูกรมหายักษ์ ท่านมาแล้วในที่นี้จะประโยชน์กะไรหรือดังนี้ จึงตรัสเป็นคาถาว่า
กิเมว ตฺวํ มหายกฺข | อิจฺฉสิ มม สนฺติเก |
การณฺจ ปเวเทสิ | ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต |
แปลว่า ดูกรมหายักษ์ ท่านมีประสงค์สิ่งอะไรหรือ จึงได้มายังสำนักเรา จงแจ้งให้เราทราบเหตุ เราได้ถามแล้ว จงบอกเหตุนั้นแก่เราดังนี้
ยักษ์จึงกล่าวคาถาตอบว่า
ราชาธิราช มนุชินฺโท | จตุทีเปสุ อิสฺสโร |
ธมฺมเทสนมตฺถาย | อาคโต ตว สนฺติเก |
แปลว่า ข้าแต่พระบรมกษัตริย์ผู้ใหญ่ยิ่งกว่าบรมกษัตริย์ทั้งปวง พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในมนุษย์ เป็นอิสรภาพในทวีปทั้งสี่เรามาในสำนักท่านเพื่อประสงค์จะแสดงธรรม พระมหาสัตว์จึงกล่าวคาถาตอบว่า
สาธุ สาธุ มหายกฺข | ยํ วาจํ มนโส ปิยํ |
หทยํ เมภิสิฺจิถ | ฆเฏน ปริปูรยิ |
แปลว่า ดูกรมหายักษ์ ท่านมาดีแล้ว วาจาของท่านเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเรา เหมือนท่านมารดหทัยเราด้วยหม้ออันเต็มด้วยน้ำ
มหายักษ์จึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เรามาในที่นี้ก็เพื่อประสงค์จะแสดงธรรมแก่พระองค์ พระมหาสัตว์ได้สดับวาจานั้นแล้ว ก็บังเกิดพระทัยยินดีปรีดา เปรียบเหมือนบุรุษที่ยากจนขัดสนได้พบปะขุมทรัพย์ และเปรียบเหมือนพระจันทร์ที่ต้องสุริยคาหะ และเปรียบเหมือนกุมารที่ประสบความชนะในการเล่น และเปรียบเหมือนพ่อค้ามาประสบสินค้าฉะนั้น แทบจะวางถุงทรัพย์สักพันถุงลงในมือของมหายักษ์นั้น จึงตรัสว่าดูกรมหายักษ์ ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านจงแสดงธรรมเถิด แล้วให้มหายักษ์นั่งเหนือพระแท่นที่รัตนไสยาสน์ของบรมกษัตริย์แล้ว ตรัสพระคาถาว่า
อารุฬฺห วุฑฺฒปติ เสฏฺโ | อนุกมฺปาย ยาจิโต |
ธมฺมํ เทเสสิ สุสร | ธมฺมํ สุตฺวา สสาทรํ |
แปลว่า ดูกรวุฒบดีท่านจงลุกขึ้นเถิด ท่านเป็นผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าได้วิงวอนท่านแล้ว เพื่อจะให้ท่านอนุเคราะห์ ดูกรท่านผู้มีสำเนียงอันไพเราะ ขอท่านจงแสดงธรรม เราจะตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ
ยักษ์จึงกล่าวคาถาตอบว่า
อหํ อาคโต มหาราช | ขุปฺปิปาสาย ปีฬิโต |
น สกฺกา ธมฺมมกฺขาตุํ | เอวํ ชานาหิ กฺุชร |
แปลว่า ข้าแต่มหาราช เราเป็นผู้อันความหิวแลกระหายบีบคั้นมาแล้ว ยังไม่สามารถจะกล่าวธรรมแก่พระองค์ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เปรียบดังพระยากุญชร อันเที่ยวสัญจรไปในแผ่นดินขอพระองค์ทรงทราบด้วยพระปรีชาอย่างนี้เถิด
ลำดับนั้นบรมกษัตริย์ ก็ยกเอาพระกระยาหารส่วนของพระองค์มาประทานให้ยักษ์ ๆ ก็ไม่บริโภคพระกระยาหารนั้น บรมกษัตริย์จึงตรัสถามยักษ์ว่า ดูกรมหายักษ์ ไฉนท่านจึงไม่บริโภคภัตตาหารเล่า ฯ ยักษ์ตอบว่า พระองค์ไม่ทรงทราบหรือ ฯ ดูกรมหายักษ์ เราไม่ทราบ ฯ ยักษ์จึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เราย่อมเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ที่ยังมีชีวิตกับทั้งโลหิต ถ้าพระองค์ให้มนุษย์ที่ยังมีชีวิตแก่เรา เราจะแสดงธรรมแก่พระองค์ พระโพธิสัตว์เจ้าได้สดับคำมหายักษ์แล้ว จึงตรัสว่าดีแล้ว ดีแล้ว ดูกรมหายักษ์ท่านจงแสดงธรรมแก่เรา ภายหลังเราจะให้ตนของเราแก่ท่าน
ในกาลนั้น พระราชเทวีประทับอยู่ในห้องที่สิริไสยาสน์ ได้สดับคำนั้นแล้วจึงทรงรำพึงว่า เราจะทำความปรารถนาของพระภัสดาให้สำเร็จ แล้วพระนางก็ออกจากที่สิริไสยาสน์ กระทำปทักษิณถวายบังคมบรมกษัตริย์แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์ประทานข้าบาทให้แก่ยักษ์ตามความปรารถนาเถิด แล้วกล่าวคาถาว่า
อหํ ทาสี ตุยฺหํ เทว | สามิโก มม อิสฺสโร |
ธมฺมเหตุกํ ทชฺชามิ | ยกฺขสฺส อภิปฺปาเยน |
เม ยทิ อตฺถิ ยํ โทสํ | กาเยน วาจาย อุท |
เจตสา ปาปํ มยา กตํ | ทุจฺจริตํ ขมามิ เทว |
แปลว่า ข้าแต่เทวดาเจ้า ข้าพระบาทเป็นทาสีของพระองค์ พระองค์เป็นเจ้าอิสระของข้าพระบาท พระองค์จงประทานข้าพระบาทให้แก่ยักษ์ตามพระราชประสงค์เถิด ถ้าโทษสิ่งใดของข้าพระบาทมีอยู่ หรือว่ากรรมอันเป็นบาปทุจริตที่ข้าพระบาทได้กระทำแล้วด้วยกายวาจาใจ ขอพระองค์โปรดอดโทษนั้น ๆ แก่ข้าพระบาทเถิด ฯ
พระมหาสัตว์เจ้าได้สดับคำนั้นแล้ว ก็มีพระทัยยินดีเข้าประคองพระราชเทวีแล้ว จุมพิตเบื้องพระเศียรเกล้าแล้วพระราชทานพระราชเทวีแก่ยักษ์แล้วตรัสพระคาถาว่า
ททามิ ภริยํ ยกฺข | ธมฺมํ ปิยตรํ สทา |
นิกฺขมิสฺสามิ สมฺพุทธํ | สนฺตาเรสฺสํ สเทวกํ |
แปลว่า ดูกรยักษ์ เราให้ภริยาแก่ท่าน เรารักธรรมยิ่งกว่าภริยาอยู่เสมอ ขอให้เราได้เป็นพระพุทธเจ้า เราจะให้หมู่สัตว์โลกกับทั้งเทพยดา ข้ามพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง แล้วตรัสว่าดูกรยักษ์ เราให้ราชเทวีนี้แก่ท่านเพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมขอให้เราได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเที่ยงแท้
บรรดาสัตว์ทั้งหลายพากันยินดีแล้วซึ่งราคะโทสะโมหะจึงได้พากันท่องเที่ยวอยู่ในสงสารวัฏอันเป็นทางไกล ขอให้เราเป็นปัจจัยที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อประโยชน์จะทำแม่น้ำ กล่าวคือราคะโทสะโมหะให้พินาศไปเถิด แล้วก็พระราชทานพระราชเทวีแก่ยักษ์ ยักษ์รับพระราชทานพระราชเทวีไว้แล้ว ทำกำบังกายด้วยเพศเป็นรูปยักษ์ประดุจดังว่าจะสูบกินโลหิตจะเคี้ยวกินพระราชเทวี มหาชนทั้งหลายได้เห็นพระราชเทวีนั้นแล้ว ยกแขนทั้งสองยืนขึ้นคร่ำครวญอยู่ พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรมหายักษ์ ท่านจงรีบกล่าวธรรมแก่เราเถิด ยักษ์จึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เรายังไม่อิ่ม แล้วกล่าวคาถาว่า
ภริยฺจ น ตปฺปามิ | ยทิ ตฺวํ ปุตฺตํ เทสิ เม |
อิธาหํ คโต วกฺขามิ | ธมฺมสฺส พุทฺธเทสิตํ |
แปลว่า ท่านให้ภริยาเรายังไม่อิ่ม ถ้าให้บุตรแก่เรา เราจักกล่าวธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แก่ท่านในที่นี้
พระราชกุมารได้สดับถ้อยคำแล้วจึงรำพึงในพระทัยว่า พระราชบิดาจะให้เราแก่ยักษ์เพื่อประสงค์จะทรงฟังพระธรรม เราก็จักถวายตนของเรา แล้วก็ลุกขึ้นนั่งถวายบังคมบรมกษัตริย์เจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ประดุจดังเทพยดา ข้าพระบาทเป็นบุตรเกิดจากพระอุระของพระองค์ ขอพระองค์จงพระราชทานข้าบาทให้แก่ยักษ์ เพื่อประสงค์จะทรงฟังพระธรรมเถิด แล้วจึงกล่าวคาถาว่า
สาธุ สาธุ มหาราช | ตวตฺถาย จ ชีวิตํ |
ททามิ น วิกมฺปามิ | ชีวิตํ เทมิ มโนรโถ |
แปลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ดีแล้ว ดีแล้ว ข้าพระบาทถวายชีวิตเพื่อประโยชน์ของพระองค์ ข้าพระบาทมิได้หวั่นไหวขอถวายชีวิต ตามแต่พระองค์จะปรารถนา
พระมหาสัตว์เจ้าเข้าประคองพระสุนทรกุมารแล้ว จุมพิตพระเศียรเกล้าแล้ว ไม่อาจทรงกลั้นน้ำพระเนตรได้ ก็ทรงจับพระหัตถ์เบื้องขวาของราชกุมาร ด้วยพระประสงค์จะพระราชทานแก่ยักษ์จึงมีพระราชดำรัสว่า ขอเทพนิกรเจ้าผู้เจริญทั้งหลายจงทอดทัศนาการดูการบริจาคบุตรของข้าพเจ้า ด้วยบุตรบริจาคนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาสมบัติประเทศราช ไม่ได้ปรารถนาสมบัติเทวโลก ไม่ได้ปรารถนาสมบัติบรมจักร ไม่ได้ปรารถนาสมบัติพระอินทร์ ไม่ได้ปรารถนาสมบัติพระพรหม ไม่ได้ปรารถนาสมบัติพระปัจเจกโพธิ ไม่ได้ปรารถนาสมบัติพระสาวก ข้าพเจ้าได้ให้บุตรภริยาเป็นทานแก่ยักษ์ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเถิด แล้วตรัสพระคาถาว่า
สพฺเพ เทวา จ นาคา จ | คนฺธพฺพา สุรมานุสา |
อิทฺธิวิชาธรา ยกฺขา | ปุตฺตํ เม อนุโมทนํ |
แปลว่า ขอเทพเจ้า และนาค และคนธรรพ์ และอสูร และอมนุษย์ และผู้มีฤทธิ์วิทยาธรและยักษ์ทั้งปวงจงพากันอนุโมทนาบุตรทานของข้าพเจ้า พระมหาสัตว์เจ้าตรัสดังนี้แล้ว ก็พระราชทานบุตรแก่ยักษ์ ยักษ์ก็ทำอาการประดุจดังจะเคี้ยวกินพระสุนทรกุมาร แล้วก็ให้สุนทรกุมารอันตรธานหายไปด้วยกำลังฤทธิ์ มหาชนทั้งหลายได้เห็นดังนั้นก็พากันกลัวหนีไปสิ้น บรมกษัตริย์จึงตรัสว่า ดูกรยักษ์ ท่านจงแสดงธรรมแก่เราโดยเร็วเถิด ยักษ์จึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพเจ้ายังไม่อิ่ม ท่านจงให้ผู้อื่นแก่เราเถิด
บรมกษัตริย์ได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสกับยักษ์ว่า ดูกรยักษ์ดีแล้ว ดีแล้ว เราได้ฟังธรรมแล้วเราจะให้ตนของเราแก่ท่าน ท่านจงแสดงธรรมแก่เราเถิด ยักษ์รับคำแล้ว พระมหาสัตว์เจ้าจึงให้นั่งเหนืออลงกตรัตนสีหโสยาสน์ เมื่อยักษ์จะแสดงธรรมตามพุทธลีลาส จึงกล่าวคาถานี้ว่า
เปมโต ชายเต โสโก | เปมโต ขายเต ภยํ |
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส | นตฺถิ โสโถ กุโต ภยํ |
ตณฺหาย ชายเต โสโก | ตณฺหาย ชายเต ภยํ |
ตณฺหาย วิปฺปมุตฺตสฺส | นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ |
รติยา ชายเต โสโก | รติยา ชายเต ภยํ |
รติยา วิปฺปมุตฺตสฺส | นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ |
กามโต ชายเต โสโก | กามโต ชายเต ภยํ |
กามโต วิปฺปมุตฺตสฺส | นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ |
แปลว่า ความเศร้าโศกและความกลัวย่อมบังเกิดเพราะความรัก เมื่อบุคคลมาพ้นไปเสียจากความรักแล้ว ความเศร้าโศกและความกลัวแต่ที่ไหน ๆ ก็ไม่มี อนึ่งความเศร้าโศกและความกลัวย่อมเกิดเพราะตัณหา เมื่อบุคคลพ้นไปเสียจากตัณหาแล้ว ความเศร้าโศกและความกลัวแต่ที่ไหน ๆ ก็ไม่มี อนึ่งความเศร้าโศกและความกลัวย่อมบังเกิดแต่ความยินดี เมื่อบุคคลพ้นไปเสียจากความยินดีแล้ว ความเศร้าโศกและความกลัวจากที่ไหน ๆ ก็ไม่มี อนึ่งความเศร้าโศกและความกลัวย่อมบังเกิดเพราะกามความใคร่ความปรารถนา เมื่อบุคคลมาพ้นไปเสียจากความใคร่ความปรารถนาแล้ว ความเศร้าโศกและความกลัวแต่ที่ไหน ๆ ก็ไม่มี
บรมกษัตริย์ได้สดับธรรมของยักษ์แล้ว ก็บังเกิดพระทัยยินดีปรีดา ได้บริจาคพระราชเทวีและพระราชกุมารแล้ว ก็ให้ตนของพระองค์แก่ยักษ์ ดุจถ่มก้อนเขฬะเสียฉะนั้น น่าอัศจรรย์นัก ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายได้เห็นอัศจรรย์แล้วก็พากันสรรเสริญ ยักษ์ก็กระทำการชมเชยแล้วกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงดูพระราชเทวีและพระราชบุตรของพระองค์ พระองค์จะประสงค์หรือไม่ บรมกษัตริย์ตรัสตอบว่าเรามีความประสงค์ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชก็ประดับกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวงถวายพระโพธิสัตว์เจ้า พระโพธิสัตว์เจ้าก็มีพระทัยยินดี ท้าวสักกเทวราชก็ประดิษฐานยืนโพลงอยู่ดุจดวงอาทิตย์อันอ่อนประดิษฐานอยู่บนอากาศฉะนั้นแล้วตรัสว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เรามาในที่นี้หวังจะทดลองพระองค์
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
ตโต โส อินฺทโก ยกฺโข | ธมฺมํ เทเสสิ อิทฺธิยา |
โอวทิตฺวาน ราชานํ | เทวโลกมุปาคมิ |
แปลว่า ครั้งนั้นอินทรยักษ์ได้แสดงธรรมสั่งสอนบรมกษัตริย์ด้วยเทวฤทธิ์แล้ว ก็เสด็จกลับไปยังเทวโลก ตั้งแต่นั้นมาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทรงบำเพ็ญพระกุศลมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นพระชนมายุแล้วก็ไปบังเกิดยังสวรรค์เทวโลก
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ นำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประกาศสัจจธรรมทั้งสี่ประการ ครั้นจบสัจจธรรมแล้วทรงประชุมชาดกว่า นางสุนทรีราชเทวีในครั้งนั้นมาเป็นนางยโสธรามารดาพระราหุล สุนทรกุมารมาเป็นพระราหุล ท้าวสักกะมาเป็นพระอนุรุทธ มหาชนนิกรทั้งหลายมาเป็นพุทธบริษัท สุรูปราชมาเป็นพระบรมโลกนาถ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกนี้ไว้ด้วยประการฉะนี้