- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๗. สิริจุฑามณิชาดก
ททามิ น วิกมฺปามีติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ทานปารมึ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมครู เมื่อเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันทรงพระปรารถนาทานบารมีของพระองค์ให้เป็นมูลเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า ททามิ น วิกมฺปามิ ดังนี้เป็นต้น อนุสนธิ ในปัจจุบันนิทานมีปรากฏต่อไปนี้ว่า
วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลาย ประชุมพูดกัน ณ โรงธรรมสภาดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระบรมครูของเราไม่อิ่มไปด้วยทานเลย เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น พระองค์บำเพ็ญชีวิตทานอย่างอุกฤษฐ ครั้นได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงประทานอริยมรรคอริยผลแก่เวไนยชนทั่วไปด้วยพระกรุณา สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว ทรงตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอประชุมพูดกันด้วยเรื่องอะไร ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลถวายให้ทรงทราบด้วยทุกประการ ตถาคตใช่จะยินดีด้วยทานในชาตินี้หาบมิได้ ในกาลปางก่อนตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น ได้ฟันกายครึ่งหนึ่งให้เป็นทานแก่ยาจกผู้มาขอ แล้วพระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาอ้างดังปรากฏต่อไปนี้ว่า
อดีเต พาราณสิมฺหิ สิริจุฑามณี นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลัง ยังมีพระราชานามว่าสิริจุฑามณีดำรงราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี พระอัครมเหสีของพระราชานั้น ทรงพระนามว่าปทุมาวดี นางปทุมาวดีมีพระราชโอรสพระนามปรากฏว่าจันทกุมาร พระเจ้าจุฑามณีทรงเสวยราชสมบัติโดยชอบธรรม โปรดให้สร้างโรงทานขึ้นหกแห่ง ทรงบริจาคทรัพย์บำเพ็ญทานวันละหกแสนทุกๆวัน ครั้นถึงเวลาเช้าพระเจ้าสิริจุฑามณีทรงให้โอวาทแก่มหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น ให้ทำกุศลคือทานแลศีล ส่วนพระองค์สรงแล้วทรงเครื่องเสร็จเสด็จขึ้นหลังมงคลหัตถีชื่อบุณฑริก มีหมู่อำมาตย์แวดวงเป็นบริวารเสด็จไปสู่ทานศาลา ทรงแจกทานแก่ยาจกด้วยพระหัตถ์ตามสมควรส่วนทานนี้เหลืออยู่ ทรงมอบให้หมู่อำมาตย์แจกต่อไปโดยนัยนี้เสมอมา
วันหนึ่ง พระเจ้าจุฑามณีราช ตื่นบรรทมแต่เวลาเช้า ทรงประทับนั่งรำพึงไปว่า เราอยากจะให้อัชฌัตติทานภายใน ถ้าหากจะมียาจกคนใด มาขอจักษุศีรษะและหัวใจก็ดี หรือจะขอเนื้อและเลือดหรือสรีระครึ่งหนึ่งและของทั้งหมด เราจักเชือดและปลิดปลดออกให้แก่ยาจกผู้นั้นไปทำให้เป็นปัจจัยแก่สัพพัญญุตญาณ
คราวนั้นอัศจรรย์บันดาลบังเกิดมี มหาปถพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็อุโฆษณ์ครวญครางอย่างเสียงช้างร้องฉะนั้น ขุนเขาสิเนรุก็น้อมยอดทอดมาข้างเมืองพาราณสี มีอุปมาดังยอดหวายอันถูกไฟลนฉะนั้น สาครสมุทรก็ป่วนปั่นเป็นลูกคลื่น เทพยดาอินทร์พรหมก็ระดมกันให้สาธุการ เสียงสนั่นโกลาหลแต่ปถพีดลถึงพรหมโลกเป็นที่สุด เตน วุตฺตํ เพราะเหตุนั้น พระคันถรจนาจารย์ ท่านจึงประพันธ์พระคาถานี้ว่า
สิริจุฑามณี นาม | โสหํ รชฺชมการยึ |
ตทาหํ นิสชฺช ปาสาเท | ทานํ หาตุํ วิจินฺตยึ |
หทยํ ทเทยฺยํ จกฺขุํ | มํสํปิ รุธิรํปิ จ |
ทเทยฺยํ กายํ สาเวตฺวา | ยทิ โกจิ ยาเจยฺย |
สกตฺตภาวํ จินฺตยสฺส | อกมฺปิตมสณฺิตํ |
อกมฺปิตตฺถ ปถวี | สิเนรุวนฏํสกา |
ความในพระคาถานี้ มีเนื้อความเหมือนที่กล่าวมาแล้ว
คราวนั้น พิภพของท้าวสักกเทวราช แสดงให้มีอาการร้อนรนขึ้นทันที ท้าวโกสีย์จึงใคร่ครวญดูว่า ใครหนอจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ผู้ปฏิบัติชอบในบิดามารดาหรือประพฤติมั่นในพรหมจรรย์ มาทำเราให้ไหวหวั่นที่นั่งดังนี้ ท้าวโกสีย์ทรงทราบแล้วมีพระหฤทัยผ่องแผ้วว่า พระเจ้าสิริจุฑามณีหน่อแนวพระพุทธเจ้าในภายหน้า เราควรจะไปเพิ่มทานบารมีให้พระองค์ได้ตรัสโดยเร็วดังนี้ ท้าวโกสีย์จึงเสด็จยังเมืองพาราณสีทรงละเสียซึ่งรูปเป็นพระอินทร์ นฤมิตให้เป็นรูปพราหมณ์มีกายครึ่งหนึ่ง จึงสถิตอยู่ ณ หน้าพระลาน ยกมือประสานแล้วร้องถวายชัยมงคลว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอฝ่าพระบาทจงชนะเถิด พระเจ้าข้า
พระเจ้าจุฑามณี ทรงฟังอินทรพราหมณ์ถวายชัยมงคลดังนั้น จึงเสด็จออกประทับข้างหน้าปราสาท ทอดพระเนตรอินทรพราหมณ์อันมีกายครึ่งหนึ่ง จึงเสด็จลงตรงเข้าใกล้ กลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้ เมื่อจะตรัสถามอินทรพราหมณ์ให้ได้ความชัดจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อถ ตฺวํ เกน วณฺเณน | เกน วา ปน เหตุนา |
อนุปฺปตุโตสิ เม รฏฺํ | ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต |
ความว่า เราขอถามท่าน ท่านมาถึงบ้านเมืองเรา ด้วยเรื่องราวและเหตุผลเป็นอย่างไร เราถามท่าน ๆ จงบอกเรื่องราวนั้นให้เราทราบ ณ กาลบัดนี้
ท้าวโกสีย์ผู้พราหมณ์แปลง แกล้งทำกายให้สั้นงกงัน ยกมือขึ้นอภิวันทน์ กราบทูลคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ยถา วาริวโห ปูโร | สพฺพการํ น ขียติ |
เอวนฺตํ ยาจิตาคฺฉึ | อฑฺฒสรีรํ เม เทหิ ยาจิโต |
ความว่า ห้วงมหานทีอันเปี่ยมด้วยวารีมิได้รู้ขาดฉันใด น้ำพระหฤทัยของพระองค์ก็เต็มอยู่ด้วยบริจาคทานมีอาการฉันนั้น ข้าพระบาทมุ่งมาดมาครั้งนี้ จะขอรับพระราชทานพระกายของพระองค์สักซีกหนึ่ง ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานให้เถิด พระเจ้าข้า
พระเจ้าสิริจุฑามณี มีพระหฤทัยยินดียิ่งนัก ราวกะว่าจักได้พระสัพพัญญุตญาณในวันรุ่งเช้า หรือราวกะว่ายาจกคนจนแบมือออกขอทรัพย์ และมีผู้นับเงินพันหนึ่งส่งให้ทันทีก็ดีใจฉันนั้น เมื่อพระองค์จะยังชนชาวนครให้บันลือลั่น จึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ททามิ น วิกมฺปามิ | ยํ มํ ยาจสิ พฺราหฺมณ |
สนฺตํ น ปติคุยฺหามิ | ทาเน เม รมตี มโน |
ความว่า แน่ะท่านพราหมณ์ ท่านขอสิ่งใดกะเรา ๆ จะให้สิ่งนั้นแก่ท่านไม่ท้อถอย เรามิได้ปิดบังไว้ซึ่งสิ่งของที่มีอยู่เลย แน่ะพราหมณ์เอ๋ย ใจของเรานี้ยินดีในการให้เป็นเบื้องหน้า
แล้วพระองค์จึงตรัสว่า แน่ะท่านตาพราหมณ์ ท่านจงคอยท่าเราอยู่ที่นี่ก่อน จึงเสด็จขึ้นบนปราสาทให้มหาชนมีอำมาตย์เป็นต้นมาประชุมพร้อมกันแล้ว ให้เชิญนางปทุมาวดีราชเทวีกับพระจันทกุมารโอรสเข้าเฝ้า ทรงจุมพิตกอดรัดแล้วตรัสว่า ดูกรปิยบุตรยอดรักของบิดา พ่อจงอย่าได้ประมาท จงอุตส่าห์ให้ทานรักษาศีล บิดาจักบำเพ็ญอัชฌัตติกทานในวันนี้ แล้วเชิญพระราชโอรสขึ้นประทับเหนือรัตนบัลลังก์ ทรงหลั่งน้ำด้วยพระเต้าทองคำ ทำราชพิธีอภิเษกแล้วมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสจันทกุมารในกาลครั้งนั้น
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ มอบราชสมบัติให้ราชโอรสเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปยังสำนักอินทรพราหมณ์ ทอดพระเนตรอากาศแล้วประกาศด้วยสัจจวาจาว่า ข้าแต่เทพยดาทั้งหลายผู้เจริญขอเชิญหมู่เทพยดาจงมาพร้อมกันฟังคำข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าจะบริจาคชีวิตให้เป็นทานโดยความประสงค์แก่พระโพธิญาณเท่านั้น แล้วทรงอธิษฐานว่า ธรรมเนียมพระมหาสัตว์แต่ปางก่อน ย่อมถึงพระสัพพัญญุตญาณด้วยเบญจมหาบริจาคเที่ยงแท้ ด้วยความสัจจริงอันนี้แล ขอเลื่อยตกลงมา ณ บัดนี้
ในขณะนั้น ด้วยกำลังอธิษฐานบารมีของพระมหาสัตว์ มียักษ์สองตนรูปร่างน่ากลัว มีเขี้ยวใหญ่ฟันยาวแดงนัยน์ตาแดง ขนคิ้วและผมหนวดก็แดง ถือเลื่อยอันคมกล้าแหวกแผ่นดินผุดขึ้นมายืนอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง พวกมนุษย์ทั้งหลายเห็นมหายักษ์สองตนนั้น ตกใจกลัวจนตัวสั่นพากันหนีไปไกล พระราชาสิริจุฑามณี ทอดพระเนตร์มหายักษ์แล้วตรัสว่า ดีแล้วมหายักษ์ ท่านจงอนุโทนาอัชฌัตติกทานของเรา ๆ ต้องการจะให้ร่างกายของเราซีกหนึ่งแก่พราหมณ์เฒ่า ท่านจงกรุณาแก่เรา ช่วยเลื่อยกายเราตั้งแต่ศีรษะถึงบาทา ผ่าออกให้เป็นสองส่วน เราจักให้แก่พราหมณ์ส่วนหนึ่งเหลือจากนั้นท่านจงกินเถิด
มหายักษ์ทั้งสองนั้นรับราชบัญชาว่าสาธุแล้ว ก็เข้าไปยืนอยู่ใกล้พระมหาสัตว์ๆ ทรงจับเลื่อยลูบดู เมื่อจะประกาศให้หมู่เทพยดาทราบจึงทอดพระเนตรอากาศตรัสว่า ข้าแต่เทพยดาเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้บริจาคตัวให้เป็นทานในครั้งนี้ จะปรารถนาสมบัติมนุษย์สมบัติอินทรพรหมและบรมจักรพรรดิก็หาไม่ และจะปรารถนาปัจเจกพุทธสมบัติและสาวกสมบัติหาบมิได้ ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระสัพพัญญุตญาณสิ่งเดียวเท่านั้น เมื่อสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จักช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกให้พ้นจากสังสารทุกข์ด้วยประการฉะนี้
คราวนั้น หมู่เทพนิกรก็เอิกเกริกเป็นโกลาหล มหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น พากันมาประชุมอยู่เกลื่อนกล่น เอามือทุบอกสยายผมร้องเสียงหวีดกรีดกราด ประหนึ่งว่าจะขาดใจ มหายักษ์ก็ผ่าพระเศียรพระมหาสัตว์ด้วยคมเลื่อย ดูน่าเวทนา
พระนางปทุมาวดีเทวี และพระจันทกุมารราชโอรส ทรงพระกำสรดโศกาตรงเข้ากอดพระบาทาไว้ ทรงกรรแสงร่ำไห้ด้วยประการต่างๆ เมื่อคมเลื่อยหยั่งถึงพระนลาต พระโลหิตก็ไหลสาดออกมาน่าสะดุ้งหวาดเสียวใจ
ในสมัยกาลนั้น เทพยดาทั้งหลายซึ่งประชุมอยู่นั้นกันโบกธงอยู่ไสว เสียงเทพมโหรธึกดังกึกก้องสนั่นไป ฝนดอกไม้ตกลงมาเกลื่อนกลาด
สายฟ้าบนอากาศก็แลบอยู่ไปมา หมู่เทพยดาทำบูชาด้วยสักการมีประทีป ธูปและดอกไม้เป็นต้น
ครั้นเมื่อคมเลื่อย ล่วงเลยพระนลาตถึงพระโอษฐ์แล้ว พระมหาสัตว์ยังตรัสสอนมหาชนว่า อย่าได้พากันเศร้าโศกร่ำไรเลย เมื่อคมเลื่อยล่วงเลยถึงพระศอ ทุกขเวทนามีกำลังกล้าเกิดขึ้นมาก แต่พระองค์หากอดกลั้นไว้ยังตรัสสรรเสริญคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เมื่อคมเลื่อยล่วงเลยไปใกล้หัวใจ พระองค์ได้ตรัสบอกมหายักษ์ว่า ให้ช่วยตัดให้ดีดี มหายักษ์ก็เลื่อยให้เลี่ยงหัวใจ เลยไปถึงพระอุทรตลอดไปเบื้องต่ำ ทำให้เป็นสองซีกสองส่วน ควรน่าจะพิศวงพระองค์จะได้สิ้นพระชนม์ก็หาไม่
ครั้งนั้น พระนางปทุมวดีราชเทวีกับพระโอรส และพวกอำมาตย์ราชเสวกทั้งมหาชน ล้มสลบลง ณ ปถพี พระเจ้าสิริจุฑามณี จึงตรัสประทานสรีระซีกหนึ่งแก่อินทรพราหมณ์ ๆ รับเอามาประกบเข้ากับร่างกายของตน ที่นั้นเทพยดาพร้อมกันทำสาธุการขึ้นอีกหนหนึ่ง ดุจนัยที่กล่าวแต่เบื้องต้น
คราวนั้น ท้าวสักกเทวราชทำสกนธ์กายของพระมหาสัตว์ให้ติดสนิทคืนเหมือนอย่างเก่า พระมหาสัตว์เจ้าทรงอุฏฐาการประทับนั่ง พระมังสังงามดุจรูปหล่อด้วยทองคำ ท้าวสักกเทวราชทราบว่า พระมหาสัตว์มีอัธยาศัยอันผ่องแผ้ว แล้วจึงสรรเสริญพระมหาสัตว์เจ้าว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงบำเพ็ญทานครั้งนี้พร้อมด้วยเจตนาสามคือเมื่อเริ่มจะให้และเมื่อให้อยู่และให้แล้ว มีน้ำพระหฤทัยผ่องแผ้ว ขอพระองค์ทรงอิ่มด้วยทานเพียงนี้เถิด พระเจ้าเทวราชทำสาธุการพระมหาสัตว์แล้ว จึงลากลับยังไพชยนตพิมานด้วยประการฉะนี้
ในลำดับนั้น ท้าวสามนตราชมีอำมาตย์เป็นต้น และมหาชนมีคหบดีเป็นอาทิ ได้ฟื้นสติขึ้นมาปรกติแล้ว พร้อมกันทำสาธุการเป็นโกลาหลหน่อพระทศพลทรงบำเพ็ญทานแล้ว เมื่อถึงพระชราจึงออกไปบรรพชาถือเพศเป็นฤษีอยู่ในไพร ทำฌานให้เกิดขึ้นมิได้เสื่อม ครั้นนั้นพระชนมายุแล้ว จึงเสด็จไปยังพรหมโลกพิมาน
----------------------------
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายตถาคตจะได้ยินดีด้วยทานในกาลบัดนี้หาบมิได้ แม้แต่กาลปางก่อนตถาคตบริจาคอัชฌัตติกทานมาแล้วอย่างนี้ พระองค์จึงประมวลชาดกว่า นางปทุมาวดีราชเทวีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระราหุล บริษัททั้งหลายในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเจ้าสิริจุฑามณีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือโลกนาถตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้