- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๔. รัตนปโชตชาดก
อจฺฉริยํ วติทํ ทุกฺขนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต มาตุโปสกํ ภิกขุํ อารพฺภ กเถสิ ฯ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตะวัน ทรงพระปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดาให้เป็นเหตุตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า อจฺฉริยํ วติทํ ทุกฺขํ ดังนี้เป็นอาทิ
ความเบื้องต้นของเรื่องนี้ ตั้งแต่ภิกษุนั้นอุปสมบทแล้วเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงมารดา ตลอดถึงภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนว่า การที่บรรพชิตเลี้ยงคฤหัสถ์เป็นของไม่ควรนั้น มีความพิศดารเหมือนกับสุวรรณสามชาดกในคัมภีร์ทศชาดก ในที่นี้มีความย่อ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ว่า
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดามีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่าติเตียนภิกษุผู้เลี้ยงมารดานี้เลย นักปราชญ์แต่ก่อนก็ได้เคยบำรุงเลี้ยงมารดาด้วยเพศบรรพชิตเหมือนกันอย่างนี้ ทรงตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะใคร่รู้เรื่องราว จึงกราบทูลอาราธนาขอให้พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาต่อไป สมเด็จพระบรมศาสดา จึงนำเรื่องราวที่ล่วงแล้วมาอ้างดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต ภิกฺขเว เมฆวตินคเร มหารโถ นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลัง ยังมีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่ามหารถะ เสวยราชสมบัติ ณ พระนครนามกรชื่อว่า เมฆวตี พระอัครมเหสีของพระราชานั้นทรงพระนามว่า สิริรัตนอาภา คราวนั้นพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสี ๆ ทรงพระครรภ์บริบูรณ์แล้ว บังเอิญให้พอพระทัยจะใคร่เสด็จประพาสชมสวนราชอุทยาน จึงกราบทูลแจ้งอาการนั้นให้พระราชสามีทรงทราบ สมเด็จพระมหารถราชจึงดำรัสสั่งให้หาตัวผู้รักษาสวนเข้ามาเฝ้า แล้วให้จัดการแผ้วและตบแต่งราชอุทยานให้สะอาดงดงาม นายอุทยานบาลนั้นก็รีบรัดจัดสรรพ์เสร็จตามพระราชดำรัสสั่ง ภายหลังถึงวันกำหนดจะเสด็จประพาส พระมหารถราชกับพระราชเทวี พร้อมด้วยเสวกามาตย์ราชบริพารเสด็จไปประพาสยังราชอุทยาน ทอดพระเนตรและทรงพระสำราญตามพระราชหฤทัยประสงค์ ตั้งแต่เวลาเช้าจนถึงเวลาค่ำ พระราชากับพระราชเทวีก็ไม่สามารถจะเสด็จกลับคืนเข้ายังพระนครได้ เลยประทับแรมอยู่ ณ อุทยานนั้นสิ้นราตรีหนึ่ง
ตํ ทิวสํ คืนวันนั้นพระราชากับพระราชเทวีเสด็จบรรทมร่วมไสยาสน์อันเดียวกัน เมื่อเวลาจวนจะใกล้รุ่ง พระราชเทวีทรงพระสุบินนิมิตฝันดังนี้ว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งผิวกายดำผมแดงนุ่งห่มผ้าสีแดงมือถือดาบอันคมกล้าวิ่งมาแต่ทิศปราจีน ตรงเข้าไปถึงที่บรรทมพระราชเทวี รวบรัดมวยพระเกศีฉุดกระชากลากพระเทวีให้ล้มลง ตรงเข้าควักพระเนตรทั้งสองซ้ายขวา แล้วเอาดาบฟันบั่นทักขิณพาหาให้ขาดวิ่น แล้วรองรับโลหิตที่ไหลรินออกไป มิหนำซ้ำเชือดฉะพระอุระทรวงล้วงเอาหฤทัยได้แล้ว ก็บ่ายหน้าไปยังปัจฉิมทิศ
สา เทวี ส่วนพระราชเทวีนั้น มีหฤทัยหวาดหวั่นต่อมรณภัยเป็นกำลัง สะดุ้งตื่นลุกขึ้นนั่งรู้สึกว่าความฝัน ทรงรำพึงว่าอันตรายจักมีแก่เราด้วยเหตุผลแห่งสุบินนี้ จึงกราบทูลให้พระราชสามีทรงทราบ พระเจ้ามหารถะได้ทรงฟังดังนั้น จึงดำรัสสั่งให้โหรผู้ทำนายสุบินพิจารณาๆ แล้วจึงกราบทูลว่าข้าแต่เทวราชพระสุบินเป็นลางหลาก ด้วยพระองค์กับพระราชเทวีจักพลัดพรากจากกันเป็นมั่นคง ฯ ดูกรท่าน เหตุที่จะพึงทำให้พลัดพรากนั้นคืออย่างไร ฯ ข้าแต่เทวบพิตร เวลาเย็นวันนี้มหาเมฆจะตั้งขึ้นฝนจะตกใหญ่ น้ำจะท่วมขึ้นมา ทีแรกเพียงข้อเท้าและเพียงเข่าและสะเอว เพียงนม เพียงคอ เพียงศีรษะ และท่วมทวีขึ้นไปเจ็ดลำตาล ฯ ดูกรท่านเราพึงทำอย่างไรดี ฯ ข้าแต่มหาราชสิ่งอื่นนอกจากเรือแล้วไม่เป็นที่พึ่งได้ สมเด็จพระเจ้ามหารถราช จึงให้หาตัวนายช่างไม้มาดำรัสสั่งว่า ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันต่อเรือให้แล้วในเวลานี้ ถ้าเสร็จแล้วจงบอกให้รู้โดยเร็ว นายช่างไม้รับกระแสรับสั่งแล้วระดมกันต่อเรือสำหรับทรงลำหนึ่งเสร็จ จึงกราบทูลให้ทรงทราบตามกระแสรับสั่ง
ครั้นเวลาเย็นวันนั้น มหาเมฆใหญ่ก็ตั้งขึ้นทั่วทิศาภาค ฝนก็ตกลงมาไม่ขาดสายน้ำฝนท่วมขึ้นมาทีแรกเพียงข้อเท้าและเพียงแข้งเพียงสะเอวตลอดถึงเจ็ดชั่วลำตาล มหาชนทั้งหลายเห็นน้ำท่วมขึ้นมาดังนั้นพากันตกใจกลัวต่อมรณภัยแสวงหาที่พึ่งอาศัย ลูกระลอกก็พัดพามหาชนลอยไปทำให้ถึงความพินาศ ส่วนพระเจ้ามหารถราชกับนางนาฏเทวีก็เสด็จขึ้นเรือได้แล้ว ลูกคลื่นใหญ่ก็พัดพานาวาให้ลอยไปตามกระแสน้ำ พระราชเทวีสิทรงพระครรภ์แก่และเป็นหญิงขลาดไม่อาจจะดำรงกายอยู่ได้ ทรงพระกรรแสงน้ำพระเนตรไหลโทรมพระพักตรา จึงตรัสประถมคาถาดังนี้ว่า
อจฺฉริยํ วติทํ ทุกฺขํ | สุขมตฺตํ น ชายติ |
กถํ ชีวามฺเหเส เทว | อปติฏฺเ มหณฺณเว |
อโห อนาถา กปณา | ลภามฺหเส มโหทธึ |
สลิเล อปติฏฺสฺมึ | กถํ ทีปํ ลภามฺหเส |
นาหนุตํ เทว ปสฺสามิ | อนาถา มรณฺจ เมติ ฯ |
แปลความว่า ข้าแต่เทวบพิตร ความสุขสักนิดหนึ่งก็ไม่มี ความทุกข์ครั้งนี้เหลือขนาด เป็นของประหลาดน่าอัศจรรย์ใจ เมื่อมาลอยคว้างอยู่กลางห้วงน้ำใหญ่ อันไม่มีที่พึ่งพิงอาศัย ไฉนกระหม่อมฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเล่า โอ้อกอาตมาชั่งกำพร้าจะหาใครเป็นที่พึ่งก็ไม่มี มาได้ห้วงน้ำใหญ่นี้เป็นเรือนอยู่ เมื่อมาเคว้งคว้างในกลางน้ำอันปราศจากที่พึ่ง ทำไฉนจะได้ประสบพบเกาะฝั่งบ้างเล่า หม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์ คงอนาถาหาชีวิตไม่แล้ว
เอวํ วุตฺเต เมื่อพระราชเทวีตรัสคาถาอย่างนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้ามหารถะจึงเล้าโลมปลอบราชเทวีว่า แน่ะพระนางเธอผู้เจริญอย่ากลัวเลยอย่าโศกเศร้าไปทำไม เหตุใดพี่จึงกล่าวดังนี้ เพราะว่าสมบัติมีแล้วย่อมวิบัติเป็นที่สุด มีความเจริญวัยในเบื้องต้นย่อมมีความแก่เป็นที่สุด ความไม่มีโรคมีในเบื้องต้นแล้วย่อมมีความเจ็บไข้เป็นที่สุด ความเป็นอยู่มีแล้วย่อมมีความตายเป็นที่สุด ทรงให้โอวาทดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
มา พาฬฺหํ ปริเทเวสิ | เอสา โลกสฺส ธมฺมตา |
อนิจฺจา วต สงฺขารา | สพฺพพุทฺเธหิ เทสิตา |
ยงฺกิฺจิ กุสลํ กตํ | มยฺหฺเจว ตยา กตํ |
สพฺพหิตฺจ กุสลํ | จินฺเตตพฺเพหิ โสภเณ |
แปลความว่า พระนางเธออย่าคร่ำครวญไปนักเลย ความเป็นไปของโลกย่อมเป็นธรรมดาอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ พระพุทธเจ้าทั้งปวงได้ทรงตรัสแสดงแล้วอย่างนี้ กุศลอันใดอันหนึ่งซึ่งนางเธอได้ทำไว้แก่พี่ก็ดี จงตั้งใจคิดในส่วนคุณอันดีงามเทอญ ฯ
เมื่อพระเจ้ามหารถราชให้โอวาทปลอบพระราชเทวีอยู่ดังนี้ ที่นั้นลูกคลื่นใหญ่พัดกระหน่ำซ้อนเข้ามา นาวาพระที่นั่งก็แตกแยกออกเป็นสองภาค พระราชเทวีมีความกลัวต่อมรณะเป็นอันมาก ไม่เห็นอุบายอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเอาตัวรอดได้ ทรงพระกรรแสงร่ำไห้ร้องให้พระราชสามีช่วย แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
เอหิ คณฺหาหิ มํ เทว | ขิปฺปํ โมเหิ ทุกฺขโต |
ตยา วินา น ชีวามิ | มา มํ สชฺเชถ รเถสภ ฯ |
ความว่า ข้าแต่สมมติเทวา เชิญพระองค์จงมาช่วยหม่อมฉันด้วย ช่วยปลดเปลื้องให้พ้นทุกข์ หม่อมฉันเว้นจากพระองค์แล้วจะไม่รอดอยู่ได้ พระองค์อย่าละทิ้งหม่อมฉันเลยพระเจ้าข้า
ราชา สมเด็จพระมหารถราช ได้ทรงฟังสำเนียงพิลาปแห่งพระราชเทวี เพราะความกลัวจะพลัดพรากจากกันไป มีพระหฤทัยสลดยิ่งนัก จึงเปลื้องพระภูษาเฉียงพระอังสาออกผูกองค์พระราชเทวีให้มั่นกับพระองค์ คราวนั้นพระภูษาก็หลุดออกจากกัน เป็นประหนึ่งแสดงให้เห็นซึ่งกรรมก่อนของพระองค์ที่ได้ทำไว้ พระราชากับพระราชเทวีทั้งสองก็พลัดลอยไปตามคลื่นแต่ลำพังพระองค์เดียว
มีคำถามว่าพระราชากับพระราชเทวีได้ทำกรรมอะไรไว้จึงต้องพลัดพรากกันดังนี้ มีคำแก้ว่า ในชาติก่อนพระราชากับพระราชเทวีเสด็จสรงน้ำอยู่ ณ ฝั่งคงคาแห่งหนึ่ง มีสามเณรองค์หนึ่ง อายุได้เจ็ดปี พายเรือมาจะจอดขึ้นฝั่งที่ตรงนั้น พระราชากับพระราชเทวีก็สัพยอกโคลงเรือสามเณรเล่น สามเณรมีความกลัวเรือจะล่ม ก็ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง ด้วยผลกรรมซึ่งพระราชากับพระราชเทวีทรงทำแก่สามเณรเท่านี้ ติดตามมาให้พระราชากับพระราชเทวีต้องพลัดพรากจากกัน
เตนาห ภควา เพราะเหตุการณ์นั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสเทศนาไว้ว่า บุคคลอย่าประมาทว่ากรรมเล็กน้อยเท่านี้จะไม่มาถึงตน ผลกรรมที่ทำชั่วทำดีจะพึงมีมาแต่ไหน อย่าได้ประมาทเช่นนี้เลย การทำชั่วทำดีถึงว่าเล็กน้อยก็ย่อมส่งผลตามกำลัง เหมือนดังพระราชากับพระราชเทวีหยอกสามเณรเล่นนิดหนึ่งเท่านี้ ยังอำนวยผลให้พรากจากกันได้
สา เทวี ใจความว่าพระราชเทวีพลัดจากพระสามี คลื่นซัดลอยไปถึงเชิงภูเขาจันทบรรพต พระนางเธอก็เสด็จขึ้นจากน้ำได้ ทรงทอดพระเนตรไม่เห็นมีผู้ไดในที่นั้น จึงทรงขยายพระภูษาทรงออกตากครึ่งหนึ่ง ทรงคลุมพระองค์ไว้ครึ่งหนึ่ง เมื่อแห้งหมดแล้วก็ทรงตามปรกติและประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง พระราชเทวีเสด็จอยู่แต่องค์เดียวเปลี่ยวพระหฤทัยอย่างน่ากรุณา หาเพื่อนและที่พึ่งมิได้ทรงกรรแสงร่ำไห้น้ำพระเนตรไหลโทรมพระพักตรา พระนางมีเสาวณีย์ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
วิโยโค เม กโต ปุพฺเพ | นรสฺส มิคปกฺขิโน |
เตน กมฺมวิปาเกน | วิโยโค ปตินา สห |
กถํ ปสฺสสิ มํ เอกํ | มหาราช มหิปฺปติ |
อนาถิทานิ เม อชฺช | เอกิกาว พฺรหาวเน |
ความว่า ในกาลปางก่อน เราได้เคยพรากทารกและลูกเนื้อลูกนกไปจากอกคู่รักของเขา มาชาตินี้เราจึงต้องพรากจากราชสามีเป็นที่รัก ด้วยผลกรรมอันหนักนั้นติดตามสนอง ข้าแต่พระมหาราชทรงพระอำนาจปกครองปถพี ทำไฉนพระองค์จะได้มาเห็นหน้าข้าบาทอันอยู่ผู้เดียวเล่า บัดนี้ข้าพระองค์องค์อนาถาอยู่ในป่าใหญ่หาที่พึ่งมิได้ คงจักวอดวายตายในวันนี้แล้วพระเจ้าข้า
มหาสตฺตสฺส ปฺุเตเชน ด้วยอำนาจบุญญาธิการของพระมหาสัตว์เจ้า ซึ่งเสด็จอยู่ในพระครรภ์ของพระราชเทวี บันดาลให้พิภพท้าวโกสีย์เร่าร้อนขึ้นทันใด ท้าวสหัสนัยน์ใคร่ครวญไปก็ทราบเหตุนั้นทุกประการ มีเทวโองการตรัสหาตัววิสสุกรรมมาสั่งว่า เจ้าจงไปที่ภูเขาจันทบรรพตจงเนรมิตสระน้ำทำให้มีบัวพร้อมทั้งห้า กับเนรมิตบรรณศาลาหนึ่งหลังพร้อมทั้งเครื่องบริขารภัณฑบรรพชิต ตบแต่งสถานที่ให้วิจิตรควรเป็นที่รื่นรมย์ยินดี วิสสุกรรมเทพบุตรรับเทพยบัญชาแล้ว จึงลงมาเนรมิตสระกับบรรณศาลา และจารึกอักษรไว้ที่บานประตูบรรณศาลาว่า ผู้ใดต้องการบวชจงถือเอาเครื่องบรรพชิตบริชาร จงอยู่ให้สำราญในศาลานี้เทอญ แล้ววิสสุกรรมก็กลับไปยังที่อยู่ของตน แจ้งยุบลให้ท้าวโกสีย์ทราบทุกประการ
จะกล่าวถึงพระเจ้ามหารถราชต่อไป ราชา พระเจ้ามหารถราชเมื่อคลื่นลมระดมพัดให้ลอยไป ได้เสวยทุกข์ลำบากอันยิ่งใหญ่ลอยไปประมาณเจ็ดวันจึงกลับคืนมายังพระนครของพระองค์ได้ดังเก่า ฝ่ายพระราชเทวีนั้นเล่าต้องทนทุกข์อยู่ ณ จันทบรรพต พระนางทรงกำสรดโศกถึงพระราชาเป็นกำลัง เอกทิวสํ วันหนึ่งจึงพระเทวีเสด็จจรลีไปตามมรรคาทอดพระเนตรเห็นบรรณศาลา ทรงอ่านพระอักษรแล้ว ทราบว่าท้าวโกสีย์ทรงสร้างให้ จึงเสด็จเข้าอาศัยบรรณศาลาทรงบรรพชาเป็นดาบสินีอยู่ ณ ที่นั้น
วันหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงคืน พระราชเทวีทรงพระประสูติพระโอรสงามปรากฏเหมือนทองคำ ครั้นรุ่งเช้าพระนางเจ้าสรงน้ำชำระองค์พระมหาสัตว์แล้วให้เสวยกษิรธารา เมื่อจะขนานนามพระโพธิสัตว์เจ้าจึงถือเอานิมิตคือวันประสูติที่มีแสงแก้วสว่างไปทั่วไปในป่าหิมวันต์ ถือเอาเหตุนั้นเป็นพระนามว่ารัตนปโชต ครั้นถึงเวลาเช้าพระราชเทวีเจ้าให้พระบรมโพธิสัตว์อยู่ในบรรณศาลา เสด็จสู่ป่าแสวงหามูลผลาผลไม้ได้แล้วก็กลับมา แต่ทรงประพฤติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้จนพระโพธิสัตว์มีชนมายุได้ ๕ ปี
วันหนึ่งพระบรมโพธิสัตว์ตรัสถามพระชนนีว่า ข้าแต่มารดาบิดาของลูกคือใครอยู่ที่ไหน เหตุใดพระมารดาจีงอยู่ที่นี่คนเดียว ฯ ดูกรลูกรักของมารดา บิดาของพ่อเป็นพระราชา มารดาเป็นราชเทวี พระราชเทวีจึงเล่าความเบื้องหลังให้พระมหาสัตว์ฟัง พระมหาสัตว์ไม่อาจกลั้นอยู่ได้ด้วยอานุภาพความกตัญญู จึงทูลพระมารดาว่า ตั้งแต่วันนี้ต่อไปขอให้พระมารดาอยู่เฝ้าศาลา ลูกจะรับอาสาไปหาผลไม้มาเลี้ยงพระมารดาเอง ฯ ดูกรลูกรักของมารดา พ่ออย่าไปป่าเลย เมื่อพ่อมีชีวิตอยู่ก็เชื่อว่ามารดาได้มีชีวิตอยู่เหมือนกัน เพราะเหตุใดเล่า เพราะเจ้ายังเด็กเล็กนักพ่ออย่าไปป่าเลย พระบรมโพธิสัตว์เมื่อไม่ได้โอกาสก็นิ่ง ๆ อยู่ต่อไป
เวลาเช้าพระราชเทวีเจ้าเคยเสด็จป่าเพื่อหาผลาผลไม้ทุกวันๆ พระมหาสัตว์เจ้านั้นออกจากบรรณศาลาค่อยดำเนินตามรอยบาทพระมารดาไปจนจำมรรคาและทิศที่พระมารดาเสด็จไปได้แม่นยำ วันหนึ่งพระราชเทวีเสด็จไปป่าแต่เช้า เก็บผลไม้ได้เต็มกระเช้าแล้วคิดจะกลับมายังบรรณศาลาจึงทรงหยุดประทับรำงับกายาอยู่ใต้ต้นไทรแห่งหนึ่ง พอหายเหนื่อยแล้วปรารภจะดำเนินต่อไป ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งชื่อพลาหกะ สิงสู่อยู่ ณ ต้นไทรนั้น ตรงเข้าจับข้อพระหัตถ์พระราชเทวีไว้ พระราชเทวีทอดพระเนตรเห็นรูปยักษ์ก็ตกพระทัยกลัวตัวสั่นคิดถึงมรณภัย และคิดถึงพระมหาสัตว์ขึ้นมาก็ทรงพระโศการ่ำไร แล้วตรัสคาถาดังนี้ว่า
อนาโถทานิ เม ปุตฺโต | วสนฺโต เอโก อสฺสเม |
ผลาผลํ อลทฺธาน | มมํ ทิสฺวา อนายตึ |
อสฺสมา นิกฺขมิตฺวาน | วิจรติ พฺรหาวเน |
มม ปุตฺตํ อทิสฺวาน | มฺเ เหสฺสามิ ชีวิตํ |
โส นูน กปโณ ปุตฺโต | จีรํ รตฺตาย รุจฺจติ |
อฑฺฒรตฺเต จ รตฺเต วา | นทีว อวสุสฺสติ |
ความว่า บัดนี้ลูกเราอยู่ในอาศรมแต่ผู้เดียวหาใครเป็นที่พึ่งมิได้ ไม่ได้บริโภคผลไม้แล้ว ก็จะออกจากอาศรมเที่ยวค้นหาเราต่อไปในป่าใหญ่ เราไม่ได้เห็นลูกของเราแล้ว คงต้องสิ้นชีพประลัยเป็นเที่ยงแท้ ลูกรักของแม่จะร้องไห้ เที่ยวไปจนดึกดื่นเที่ยงคืน จนสุดเสียงแล้วก็สุดสั่ง เหมือนดังน้ำในนทีอันแห้งไปฉะนั้น
ตทา โพธิสตฺโต คราวนั้นพระโพธิสัตว์เจ้านั่งคอยท่าพระมารดาอยู่ในบรรณศาลาแต่เวลาเช้าจนถึงเวลาเย็นไม่เห็นพระมารดากลับมาจึงรำพึงว่า เวลานี้ก็จวนจะค่ำอยู่แล้ว ไฉนพระมารดาเจ้าของเราจึงล่าช้ากว่าทุกวันผิดสังเกต คงจะมีเหตุอะไรเป็นแน่ คิดแล้วก็รีบออกจากบรรณศาลาเดินเรียกหาพระชนนีไปตามแถวแนวไศล เที่ยววกเวียนวนไปในพนมวันและบรรพต ทรงกำสรดโศกาถึงพระชนนีน่าเวทนา อุปมาเหมือนลูกสุวรรณหงส์อันหลงแม่ เหลือบแลไม่เห็นแล้วก็ใจหาย เดินร้องไห้ไปจนบรรลุถึงต้นไทรที่ยักษ์จับพระมารดาไว้
สา เทวี ส่วนพระราชเทวีสิริรัตนอาภา ทรงทราบว่าพระมหาสัตว์ตามมาหา จึงส่งพระสำเนียงบอกออกไปว่ามารดาอยู่นี่แล้วๆพระมหาสัตว์เจ้าจึงแวะเข้าไปเห็นพระมารดานั่งอยู่ใกล้มหายักษ์ ดีพระทัยยิ่งนักราวกะว่าพระองค์จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในวันรุ่งเช้า พระมหาสัตว์เจ้าแอบเข้าไปนั่งใกล้มหายักษ์แล้วอ้อนวอนว่า ข้าแต่ท่านมหายักษ์ ขอเชิญท่านกินเลือดเนื้อและหัวใจของข้าพเจ้าเถิด ขอได้โปรดปล่อยมารดาของข้าพเจ้าให้ไปโดยเร็วพลัน แล้วก็กล่าวประพันธ์คาถาดังนี้ว่า
ขาท เม มหายกฺข อานุภาว มาตุ อตฺถาย ชหามิ ชีวิตํ
รุธิรํ เน หทยํ มํสํ ขาท ขาทาสิ มํ ปติมฺุจ มาตรํ
ความว่า ข้าแต่มหายักษ์ผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าขอสละชีวิตตายแทนพระมารดาข้าพเจ้า ขอเชิญท่านกินเลือดและหัวใจและเนื้อของข้าพเจ้าเถิด ขอเชิญท่านกินข้าพเจ้าคนเดียวทั้งหมด ขอท่านปลดปล่อยพระมารดาของข้าพเจ้าไป ขอให้ชีวิตมารดาของข้าพเจ้ารอดตลอดไปเทอญ
มหายักษ์จึงตอบพระมหาสัตว์ว่า แน่ะท่านมหาบุรุษ ถ้าว่าท่านพูดจริงกระนั้น ท่านจงผ่าทรวงล้วงหัวใจมาให้เรากินเดี๋ยวนี้ พระมหาสัตว์จึงดำริว่าเราจักได้มีดที่ไหนเล่า คิดแล้วก็ตั้งสติระลึกถึงบารมีแหงนหน้าขึ้นเพ่งดูอากาศ จึงตรัสเป็นบาทคาถาดังนี้ว่า
กตฺุตาย เตเชน | พุทฺโธ โหมิ อนาคเต |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | สตฺถํ ปตตุ เม มุขาติ |
ความว่า ข้าพเจ้าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายหน้าด้วยอำนาจความกตัญญู เดชอำนาจความสัตย์จริงของข้าพเจ้า ขอให้ศัสตราวุธอันคมกล้า จงบันดาลตกลงมาตรงหน้าข้าพเจ้าบัดนี้
ทันใดนั้นยังมิทันขาดคำสัจวาจา ศัสตราอันคมกล้าลอยมาแต่ในอากาศ ตกลงเบื้องหน้าพระมหาบุรุษราชๆจึงตรัสว่า ถ้าเราจะไปเป็นพระพุทธเจ้าในกาลเบื้องหน้า เราขอกราบไหว้พระมารดาไปกว่าจะสิ้นชีพ ท่านจงให้ชีวิตแก่มารดาเราด้วย แล้วพระโพธิสัตว์ก็ผ่าอกของพระองค์ด้วยศัสตราควักหัวใจออกมาวางไว้ ณ หัตถ์เบื้องซ้าย ยกหัตถ์ทั้งสองประคองเหนือเศียรเกล้าแล้วกล่าวพระคาถานี้ว่า
กตฺุตาย เตเชน | พุทฺโธ โหมี อนาคเต |
หทยํ ขาทตุ มยฺหํ | มา เม ยกฺข น ขียตูติ |
ความว่า ด้วยอำนาจความกตัญญูของข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในกาลภายหน้า ดูกรมหายักษ์ เชิญท่านกินหัวใจของเราและขอชีวิตของข้าพเจ้าอย่าเพ่อดับสูญสิ้นไปก่อนเลย
ตรัสคาถานี้แล้ว พระองค์ประสงค์จะให้หัวใจแก่ยักษ์โดยเคารพ จึงยกหัตถ์ขึ้นจับแล้ววางไว้บนฝ่ามือยักษ์ ประกาศให้แจ้งประจักษ์ว่า แน่ะท่านมหายักษ์ผู้เจริญ เราให้เนื้อหัวใจแก่ท่านนี้ ใช่จะปรารถนาสมบัติบรมจักรหรือสมบัติอินทรพรหมและปัจเจกพุทธก็หามิได้ ด้วยผลที่ให้เนื้อหัวใจนี้ ขอให้ได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลภายหน้า เราจะรื้อขนนิกรชนให้เต็มนาวาคือสัทธรรม นำออกจากสงสารภพให้ถึงฝั่งคือพระนฤพานอันเกษมนิราศภัย พระมหาสัตว์ตรัสดังนี้แล้ว ก็บอกให้มหายักษ์กินเนื้อหัวใจตามแต่จะประสงค์ มหายักษ์ก็ยินดีนำพระชนนีมาส่งให้แก่พระมหาสัตว์
โส มาตรํ ลภิตฺวา สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ได้พระมารดาแล้วพาไปให้ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง จึงถวายบังคมพระมารดากราบทูลว่า ข้าแต่พระชนนีเจ้า จำเดิมแต่ข้าพเจ้าปฏิสนธิมาจนถึงวันนี้ ความผิดพลั้งอันเป็นไปในกายวาจาใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่แก่ข้าพเจ้านี้ ขอพระชนนีเจ้าจงกรุณาโปรดประทานโทษแต่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พูดได้เท่านี้ก็หับพระโอษฐ์สลบลงตรงที่ประทับพระชนนี
สา เทวี ส่วนพระราชเทวีทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์สลบไปตกพระทัย ลุกขึ้นประคองพระหัตถ์พระมหาสัตว์เข้าไว้กับพระอุระ ทรงพระโศการ่ำไห้ปิ้มประหนึ่งดวงพระหฤทัยจะแตกออกเป็นสองภาค พระหัตถ์ทั้งสองประคองอุ้มองค์พระมหาสัตว์พลางทางก็ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
ปติโต นูน เม ปุตฺโต | สุริโย วิย มหีตเล |
ปติโตทานิ เม ปุตฺโต | จนฺโทว ปติโต ฉมา |
อุฏฺเหิ ปุตฺต มา สเย | ทยฺหนฺเต หทยํ มม |
ตยิ มเต มริสฺสามิ | กถํ ชีวามิ เอกิกา |
อนาถาทานิหํ ปุตฺต | ปุตฺตนฏฺา ยถา มิคี |
อรฺเ วิจริสฺสามิ | วเน หิ จ มริสฺสามิ |
ปพฺพตานิ วนานิ จ | รุกฺขวิมานภุมฺมฏฺา |
อากาสฏฺเทวตา จ | ชลถลา จ เย เทวา |
อินฺทเทวา สพฺรหฺมกา | อฺชลึ เต นมสฺสามิ |
ขิปฺปํ ปุตฺตํ ปมฺุจถ | ขิปฺปํ ปุตฺตํ ปมฺุจถ |
ความว่า ลูกเรามาล่วงลับดับเสียไปเสียจริงแล้ว เหมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์อันสิ้นแสงตกเหนือปถพี ลูกรักของแม่ลุกขึ้นเถิด จะมานอนนิ่งอยู่ไย ดวงหฤทัยของแม่นี่หมุ่นไหม้อยู่ร่อแร่ เมื่อลูกรักของแม่ตายไปแล้ว แม่ก็จักตายตามเจ้าไป แม่จะมีชีวิตอยู่ผู้เดียวทำไม ดูกรบุตรสุดที่รักของมารดา บัดนี้แม่อนาถาไม่มีที่พึ่ง เหมือนหนึ่งแม่เนื้ออันพลัดลูกอ่อน แม่ก็จักเที่ยวจรไปในกลางป่า ก็จักถึงแก่มรณาอยู่ในไพรสณฑ์
อนี่งเล่าเทพยเจ้าทั้งหลายใด ซึ่งสิงสู่อยู่ตามภูเขาลำเนาไพรอีกพฤกษาวิมานนางไม้และภูมิเทวาอากาศกับทั้งเทพยดา อันทรงอำนาจรักษาสถลและชลธาร และท้าวมัฆวานตลอดถึงท้าวมหาพรม ข้าพเจ้าขอนมัสการ ประนมมือไหว้เทพยเจ้าเหล่านั้น ขอเชิญมาช่วยกันเปลื้องปลดให้ลูกข้าพเจ้ารอดพ้นจากความตาย ณ กาลบัดนี้
พระราชเทวีสวมกอดพระโอรสทรงพระกำสรดโสกีโดยนัยดังนี้
อถสฺส กตฺุตาย เตเชน คราวนั้นพิภพแห่งท้าวโกสีย์ก็แสดงอาการร้อนผิดประหลาด ด้วยอำนาจความกตัญญูของพระมหาบุรุษเจ้า ท้าวสหัสสนัยน์ใคร่ครวญดูก็รู้เหตุ จึงรีบเสด็จจากทิพยวิมาน มาประดิษฐานอยู่บนอากาศที่ตรงมหายักษ์อยู่ทรงขู่ตวาดว่า แน่ะวลาหกยักษ์เจ้าทำกรรมหยาบนักหนา ถ้าหากว่าพระมหาบุรุษจักไม่เป็นขึ้นได้ ณ บัดนี้ เราจักตัดศีรษะเจ้าให้แตกออกเป็นเจ็ดภาคด้วยวชิราวุธ วลาหกยักษ์ได้ฟังดังนั้น ก็ตกใจกลัวตัวสั่น จึงประคองพระมหาสัตว์แล้วชะโลมด้วยทิพยโอสถ บัดเดี๋ยวใจพระมหาสัตว์ก็ฟื้นขึ้นทันที
สมเด็จพระราชเทวีดำริว่า เราจะตั้งความสัตย์ขึ้น ณ บัดนี้ จึงมีพระเสาวณีย์ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
กตฺุตาย ยุตฺโต โส | พุทฺโธ โหติ อนาคเต |
มม สจฺจานุภาเวน | ขิปฺปํ ชีวตุ โอรโส |
ความว่า พระโอรสของข้าพเจ้านั้น ตั้งมั่นอยู่ในความกตัญญูจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในกาลภายหน้าจริงๆด้วยอานุภาพความจริงของข้าพเจ้าขอให้โอรสได้ชีวิตกลับคืนขึ้นมาโดยพลัน ณ กาลบัดนี้
เมื่อจบคำสัจจาธิษฐานของราชเทวีครั้งที่หนึ่ง พระมหาบุรุษก็มีผิวพรรณผ่องใสคล้ายกับสีทอง ครั้นจบคำสัจจาธิษฐานคำรบสอง พระมหาบุรุษก็หายใจเข้าออกได้คล่อง พลิกพระองค์กลับไปมา ณ เบื้องซ้ายขวา ครั้นจบคำสัจจธิษฐานคำรบสาม พระมหาสัตว์ก็ได้สติลุกขึ้นนั่งแล้วกราบไหว้พระชนนีในกาลครั้งนั้น
ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาเห ความอันใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศความนั้นให้แจ้ง ทรงแสดงพระคาถาดังนี้ว่า
นิโรโค อุฏหิตฺวาน | วนฺทิตฺวา สกมาตรํ |
เอกมนฺเต นิสีทิตฺวา | อาวชฺช คุณมตฺตโน |
เอวํ ถาวชฺชมาโน โส | อกมฺปิ ธรณี ตทา |
สาคโรปิ สงฺขุพฺภติ | สิเนรุ ตตฺถ โอนมิ |
จาตุมฺมหาราชิกา เทวา | ตาวตึสา จ ยามิกา |
ตุสิตา เจว เย เทวา | นิมฺมานรติเยว จ |
ปรนิมฺมิตวสวตฺตี | เย พฺรหฺมา ปิ จ เทวตา |
อานนฺทิตา ปมุทิตา | ทิสาทิสํ อกํสุ เต |
ทิพฺพมณฺฑารวปุปฺผํ | ปทุมํ ปาริฉตฺตกํ |
ทิสาทิสํ โอกิรสุ | นภตเล นรา มรุํ |
จมฺปกํ สรลนิปํ | นาคปุนาคเต ตลํ |
ทิสาทิสํ โอกิรึสุ | ภุมฺมา ภูมฺมฎเทวตา |
สพฺเพ เทวา สมาคตา | ปูชยึสุ นรุตฺตมํ |
ปูชยนฺตา จ เย เทวา | อิทํ วจนมพฺรวิ |
สาธุ สาธุ มหาวีร | กตเวที นรุตฺตม |
อจิเรเนว กาเลน | พุทฺโธ โลเก ภวิสฺสติ |
ความว่า พระมหาบุรุษเจ้าผู้ปราศจากโรคแล้ว ลุกขึ้นได้กราบไหว้พระชนนี นั่งนึกถึงคุณความดีของตน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง เมื่อทรงพระรำพึงอยู่อย่างนี้ ทีนั้นพระธรณีก็กัมปนาท เขาสินเนรุราชก็เอนอ่อน สมุทรสาครก็ตีฟองเป็นลูกคลื่นอยู่ฉะฉาด เทพยดาแต่ชั้นจาตุมหาราชและดาวดึงสายามาดุสิตนิมมานรดีและปรนิมมิตวสวดีตลอดถึงเทพยดาชั้นพรหม พากันชื่นชมยินดีโปรยปรายดอกทิพยมณฑาปาริฉัตกปทุมชาติ ให้ตกลงเกลื่อนกลาดทั่วทิศน้อยและใหญ่ ฝูงชนทั่วไปก็โปรยปรายเมล็ดทรายและดอกไม้ต่าง ๆ มีดอกจำปาเป็นต้น ให้เกลื่อนกล่นตลอดไปในอากาศและทิศานุทิศ เทพยเจ้าทั้งหลายมีภูมเทวดาเป็นต้น ประชุมชวนกันบูชาพระมหาบุรุษนรุตตมพงศ์ และส่งสำเนียงสรรเสริญขึ้นพร้อมกันว่า นรุตฺตม ข้าแต่มหาบุรุษนรุตตมพงศ์ พระผู้ทรงคุณกล้าหาญยิ่งใหญ่ พระองค์ได้สนองคุณพระชนนี ความปรารถนาของพระองค์จงล่วงลุดังพระประสงค์ อีกไม่นานเท่าใดก็จักได้ตรัสเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกนี้เที่ยงแท้
อถ ครั้งนั้น วลาหกยักษ์จึงกราบไหว้ขอขะมาโทษพระบรมโพธิสัตว์เสร็จแล้ว เทพยดาทั้งหลายมีสมเด็จท้าวสักกเทวราชเป็นประธาน จีงนฤมิตคานหามทองอันเชิญพระราชเทวีกับพระมหาบุรุษ ให้ประทับนั่ง ณ คานหามทองนำไปส่งถึงเมืองเมฆวดีในราตรีเที่ยงคืน ให้ประทับอยู่ ณ รัตนมัญจอาสน์บนปราสาทเจ็ดชั้น เทพยเจ้าเหล่านั้นก็ถวายอภิวันทน์ลากลับไปยังที่อยู่ของตน ๆ ด้วยประการฉะนี้
ราชา สมเด็จพระเจ้ามหารถราช เสด็จมาได้ทอดพระเนตร ทรงจำและรำลึกได้แน่ถนัด ทรงพระโสมนัสอภิเษกพระมหาสัตว์ให้ครองราชสมบัติต่อไป พระมหาสัตว์ครั้นได้ราชาภิเษกเสวยเบญจกามคุณตามสมควรแล้ว ทรงบำเพ็ญทานสิ้นเดือนหนึ่งจึงถวายคืนราชสมบัตินั้นแก่สมเด็จพระราชบิดา และได้ให้สมเด็จพระบิดามารดาสรงและทรงเสวยให้สำราญพระทัย จึงถวายบังคมขอขะมาโทษ และขออนุญาตลาออกทรงผนวช เมื่อมหาชนชาวนครทั้งหลายพากันร้องไห้ตามไปส่ง พระองค์ก็เสด็จไปแต่ผู้เดียว บ่ายพระพักตร์ต่อป่าหิมพานต์ เปรียบปานดังลูกหงส์อันจรจากยอดแห่งภูเขาฉะนั้น
ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดอันมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ยโต รชฺชํ ลภิตฺวาน | มาสํ ทานํ อทาสิ โส |
ปิตุ รชฺชํ นิยาเทตฺวา | หิมวนฺตํ นิวตฺตยิ |
ความว่า กาลใด พระมหาสัตว์ได้ครองราชสมบัติแล้ว กาลนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญทานประมาณเดือนหนึ่ง จึงมอบราชสมบัติถวายแก่สมเด็จพระราชบิดา บังคมทูลลาเสด็จไปยังป่าหิมพานต์ พระมหาสัตว์ทรงบรรพชาเป็นฤษีแล้ว ทำอภิญญาห้าและสมาบัติแปดให้เกิดบริบูรณ์มีฌานอันไม่เสื่อมสูญ สิ้นอายุแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก
ราชา สมเด็จเจ้ามหารถราชกับนางนาฏสิริรัตนอาภาและมหาชนชาวพาราเมฆวดี ได้ตั้งอยู่ในโอวาทแห่งหน่อพระชินศรีพากันบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนมายุกาลแล้ว ก็ได้ไปเกิดในโลกสวรรค์
----------------------------
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสตาทรงนำธรรมเทศนาเรื่องนี้มาแล้ว จึงประกาศพระอริยสัจจธรรมทั้งสี่อีกวาระหนึ่ง เมื่อจบพระอริยสัจจลง มาตุโปสกภิกษุก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาจึงประมวลซึ่งชาดกว่า พระชนนีของพระบรมโพธิสัตว์ในครั้งนั้น ครั้นกลับมาคือพระมหามายา สมเด็จพระราชบิดาของพระบรมโพธิสัตว์ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ สุทโธทนมหาราชา ท้าวสักกเทวราช ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระอนุรุทธเถระ วลาหกยักษ์ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระองคุลิมาลเถระ พระมหาสัตว์รัตนปโชตในครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือสมเด็จพระโลกนาถนี้ ท่านทั้งหลายจงจำทรงไว้ซึ่งชาดกด้วยประการฉะนี้ ฯ