๔๐. สรรพสิทธิชาดก

สุวณฺณโสภาปีติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน คุณวิเสสํ อารพฺภ กเถสิ

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ พระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันพุทธานิวาส ทรงพระปรารภคุณวิเศษของพระองค์ แล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุวณฺณโสภาปิ เป็นอาทิ

ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายประชุมกัน ณ โรงธรรมสภาแล้วพรรณนาคุณวิเศษของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระองค์มีกิจและอุบายและความตรึกตรองมาก และพระองค์มีศิลปและความฉลาดก็มาก พระองค์มีคุณสำเร็จแล้วโดยอาการทั้งปวงด้วยประการฉะนี้

ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคพระองค์ได้ทรงสดับฟังถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายกล่าวดังนั้นแล้ว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีไปสู่โรงธรรมสภา ประทับนั่ง ณ อาสน์ ดังพระยาไกรสรราชสีห์อันออกจากห้องแก้วรัตนคูหา แล้วมีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอมาประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ภิกษุเหล่านั้นก็พากันกราบทูลเรื่องที่ตนได้สนทนากันนั้นให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตจะได้เป็นผู้มีกิจมากเป็นต้นแต่ในกาลนี้ก็หามีได้ แม้ครั้งก่อนในกาลเมื่อเราเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ แสวงหาซึ่งโพธิสมภารบารมีอยู่นั้น เราผู้ตถาคตก็มีศิลปและความเฉลียวฉลาดและมีปัญญามากเหมือนกัน ย่อมถึงซึ่งสิ่งเป็นที่ชอบใจ บรรดากษัตริย์ทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ที่เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งฝั่งแห่งไตรเพท และมีศิลปพร้อมเพรียงทุกประการ จะได้เสมอกับด้วยเราผู้ตถาคตหามิได้ ด้วยว่าเราผู้ตถาคตได้เป็นพระราชโอรสผู้ประเสริฐกว่ากษัตริย์เหล่านั้น ก็บัดนี้ เราผู้ตถาคตได้ถึงแล้วซึ่งสัพพัญญุตญาณ ตรัสรู้ไญยธรรมทั้งปวง เป็นผู้ประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีพระญาณหาที่สุดมิได้

ครั้นมีพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้แล้วก็ดุษณีภาพนิ่งอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันกราบทูลอาราธนาให้ตรัสพระธรรมเทศนา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงนำอดีตนิทานมาทรงแสดงดังต่อไปนี้

อตีเต ภิกฺขเว คิริภชคเร อสภราชา รชฺชํ กาเรสิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงมาแล้วช้านาน ยังมีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามชื่อว่า อุสภราช ได้เสวยราชสมบัติในกรุงคิริภชนคร พระองค์มีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อว่า สุวรรณโสภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาเกิดกับด้วยพระราชเทวีทรงพระนามชื่อว่า สุกุมพะ ครั้นพระราชธิดานั้นมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาแล้ว มีพระรูปพระโฉมงดงามยิ่งนักทั้งพร้อมด้วยเบ็ญจลักษณะทั้งปวง หาสตรีที่อื่นจะเสมอเหมือนมิได้

จึงมีคำปุจฉาสอดถามเข้ามาว่า พระราชธิดานั้นมีพระรูปพระโฉมงดงามหาสตรีอื่นที่จะเสมอมิได้นั้น เพราะเหตุอะไร

มีคำวิสัชนาว่า เพราะเมื่อครั้งบุรพชาติหนหลัง พระนางได้สมาทานรักษาศีลบำเพ็ญกุศลมามาก ทั้งมีจิตชื่นแช่มอ่อนน้อมในสรรพสัตว์ทั้งหลายมิได้เลือกหน้า แล้วก็ประกอบไปด้วยศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย และประพฤติตนต่ำต่อบุคคลผู้เจริญ (คือเจริญ โดยชาติ โดยวัย โดยคุณ) เมื่อนางฟังธรรมเทศนาแล้วก็บริจาคทานและรักษาอุโบสถศีล เพราะเหตุนั้น ครั้นมาในชาตินี้พระนางจึงมีพระรูปพระโฉมงดงามหาสตรีอื่นที่จะเสมอมิได้ แล้วนางก็ได้มาบังเกิดในตระกูลอันประกอบด้วยลาภและยศมาก เห็นปานฉะนี้ พระราชธิดานั้นจึงได้ลือชาปรากฏทั่วไปในสกลชมพูทวีป

ครั้งนั้นพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ครั้นได้ทรงสดับข่าวนั้นแล้ว ต่างก็พากันมีจิตกระสันต์รักใคร่ในพระราชธิดานั้น จึงได้รับสั่งให้ราชบุรุษจัดแจงเครื่องบรรณาการและตกแต่งช้างม้าของตน ๆ เสร็จแล้ว ต่างเสด็จขึ้นทรงช้างและม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระนครไปยังสำนักพระเจ้าอุสภราช ครั้นถึงแล้วก็นำเครื่องบรรณาการเข้าไปถวาย เมื่อจะทรงทำปฏิสัณฐารกับพระเจ้าอุสภราชนั้นจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

มหาราช ทุรมาคตา ตุมฺหากํ สนฺติกํ มยํ
ตุมฺหากํ ธีตุทสฺสิตุํ ธีตรํ โน เทถ ยาจิตา

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นราชาอันประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้พากันมาแล้วยังสำนักของพระองค์แต่ที่ไกล เพื่อจะทูลขอรับพระราชทานพระราชธิดาของพระองค์ ขอพระองค์จงพระราชทานพระราธิดาให้เห็นแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิดดังนี้

ลำดับนั้น พระเจ้าอุสภราชครั้นได้ทรงฟังถ้อยคำของพระราชาทั้งหลายเหล่านั้นแล้วก็ทรงยินดี แล้วมีพระราชดำรัสว่า ผิฉะนั้น เชิญพวกท่านทั้งหลายจงพากันไปพูดกับธิดาของเราคนละสี่ยามจำเพาะราตรีเดียว ที่บัณฑิตกำหนดเป็นประถมยามมัชณิมยามและปัจฉิมยามเท่านั้น ในพวกท่านทั้งหลาย ผู้ใดไปพูดกับธิดาของเราในราตรีเดียวนั้นนางพูดด้วยแล้ว เราก็จะให้แก่ผู้นั้น ครั้นพระราชาทั้งหลายเหล่านั้นได้ทรงฟังพระราชดำรัสดังนั้นแล้ว ก็พากันมีจิตชื่นชมยินดี รับพระราชโองการว่าสาธุ ดังนี้แล้วก็พากันมาประชุม ณ ที่ควรข้างหนึ่ง จึงปรึกษาซึ่งกันและกัน ในการที่จะให้ผู้ใดไปก่อนและหลัง ครั้นตกลงกันแล้ว บรรดาพระราชาทั้งหลายเหล่านั้น พระราชาองค์หนึ่งจึงทูลลาพระเจ้าอสุภราชนั้นแล้วเสด็จขึ้นสู่ปราสาทของพระราชธิดานั้นในประถมยาม แล้วทรงนิสัชนาการประทับอยู่ ณ ภายนอก กล่าวถ้อยคำเป็นที่รักกับพระราชธิดาสุวรรณโสภา แม้เมื่อพระราชานั้นตรัสอยู่ด้วยอาการอย่างนั้นตลอดราตรีหนึ่งแล้ว พระราชธิดานั้นจะได้ตรัสถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่งหามิได้ ครั้นสว่างแล้ว พระราชานั้นจึงเสด็จลงจากปราสาทของพระราชธิดา ไปกราบทูลพระเจ้าอุสภราชให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าอุสภราชจึงมีพระราชดำรัสว่า เหตุทั้งนี้ของดไว้ก่อน พวกท่านทั้งหลายจงพากันไปพูดกับธิดาของเราให้เป็นลำดับกันไป

จำเดิมแต่นั้นไป พระราชาองค์หนึ่งจึงเสด็จขึ้นผู่ปราสาทแล้ว ประทับ ณ ภายนอก กล่าวปิยวาจากับพระราชธิดานั้นจนเวลาสว่าง แม้พระราชธิดานั้นจะได้ตรัสถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่งก็หามิได้ พระราชานั้นก็เสด็จลงจากปราสาทไปสู่สำนักพระเจ้าอุสภราช กราบทูลเหตุนั้นให้ทรงทราบ แม้พระเจ้าอุสภราชก็ยังตรัสอยู่อย่างนั้น พระราชาทั้งหลายเหล่านั้นก็ผลัดเปลี่ยนกันเสด็จขึ้นสู่ปราสาทพระราชธิดานั้นโดยลำดับ ๆ กันอีก พระราชาองค์หนึ่ง ๆ ก็ได้กล่าวถ้อยคำเป็นที่รักกับด้วยพระราชธิดานั้นคนละราตรี ๆ จนเวลาสว่าง พระราชธิดานั้นก็มิได้ตรัสอย่างใดอย่างหนึ่งกับพระราชาเหล่านั้น พระราชาเหล่านั้นจึงได้พากันเสด็จไปยังสำนักพระเจ้าอุสภราช ต่างก็พากันกราบทูลเหตุนั้นให้ทรงทราบว่า ข้าแต่สมมติเทวดา พระราชธิดาของพระองค์มิได้ตรัสอย่างใดอย่างหนึ่งกับข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอถวายบังคมลาฝ่าพระบาทไป ณ บัดนี้ พระเจ้าอุสภราชจึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายถวายเครื่องบรรณาการคืนให้แก่กษัตริย์เหล่านั้นโดยลำดับกัน แล้วพระองค์ก็ทรงประสาทพระพรให้แก่กษัตริย์เหล่านั้นว่า เชิญท่านทั้งหลายจงพากันไปให้เป็นสุขสำราญเถิด พระราชาเหล่านั้นต่างก็พากันเสด็จกลับไปยังพระนครของตน ๆ

ในกาลครั้งนั้น ยังมีพระราชาทรงพระนามชื่อว่าวิชัยราชในกรุงอลิกนคร พระองค์เป็นผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการมีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าชื่ออุบลเทวี

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติจากเทวนิกาย มาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระราชเทวีนั้น ครั้นถ้วนทศมาสแล้วก็ประสูติครรโภทรประเทศ ลำดับนั้นพระเจ้าวิชัยราช จึงมีรับสั่งให้มหาพราหมณ์ทั้งหลายเข้ามาทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารนั้น พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นจึงพากันพิจารณาตรวจดูพระเอกลักษณะของพระราชกุมารนั้นแล้ว จึงพยากรณ์ทำนายถวายพระเจ้าวิชัยราชว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐ พระราชโอรสของพระองค์นี้จะเป็นผู้มีศิลปและความตรึกมาก ทั้งจะประกอบด้วยพระปัญญาปรีชาเฉลียวฉลาด และจะมีอุบายวิธีมากหลายประการ ครั้นพระเจ้าวิชัยราชบรมกษัตริย์ได้ทรงสดับคำพยากรณ์ที่พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลถวายดังนั้นแล้ว ก็มีพระหฤทัยโสมนัสยินดียิ่งนัก

ฝ่ายพระราชกุมารนั้น ครั้นทรงพระเจริญวัยขึ้นมาแล้ว ก็มีพระรูปพระโฉม

อันอุดมประเสริฐ และเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส และเป็นที่ควรทัศนาแห่งมหาชนผู้ที่ได้เห็น ทั้งเป็นที่รักใคร่ชอบเนื้อเจริญใจของพระเจ้าวิชัยราช ครั้งนั้น พระเจ้าวิชัยราชปรารถนาจะให้พระราชกุมารนั้นทรงศึกษาศิลปวิทยา จึงได้ทรงพระราชทานซึ่งทองคำพันลิ่มแก่พระราชกุมารนั้นแล้วตรัสว่า ดูกรบุตรผู้เป็นที่รักของบิดา เจ้าจงไปศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลานั้นเถิด พระโพธิสัตว์รับพระราชโองการรับเอาทองพันหนึ่งนั้นแล้ว ถวายบังคมลาพระราชบิดาไปยังเมืองตักกสิลา เข้าไปสู่สำนักอาจารย์นั้นแล้ว ทำความเคารพแล้วกล่าวว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจะขอศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของท่านอาจารย์ อาจารย์จึงถามว่า ดูกรพ่อมาณพ เจ้าจะเรียนศิลปชนิดไร พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ศิลปที่ทำลายอกแล้วนำเอาจิตออกมาแล้วเอากลับเข้าไปไว้อย่างเดิมได้อีกนั้น ขอท่านอาจารย์จงสอนศิลปที่สามารถเช่นนั้นให้แก่ข้าพเจ้าเถิด ฝ่ายอาจารย์ก็รับสอนให้อย่างนั้น ครั้นพระโพธิสัตว์ได้ฟังถ้อยคำของอาจารย์ตังนั้นแล้ว ก็บังเกิดโสมนัสยินดี แล้วเรียนศิลปในสำนักอาจารย์นั้นเดือนเดียวก็สำเร็จ แล้วทำสักการบูชาตอบแทนอาจารย์ด้วยทองพันหนึ่งนั้น ครั้นแล้วก็ลาอาจารย์กลับไปยังพระนครของพระองค์ ครั้นถึงแล้วก็เข้าไปถวายบังคมสมเด็จพระชนกชนนีกราบทูลความนั้นให้ทรงทราบทุกประการ

ครั้นวันรุ่งขึ้นเป็นวันเคารบสอง พระเจ้าวิชัยราชจึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษทั้งหลาย เอากลองไปเที่ยวตีป่าวร้องทั่วทั้งพระนครว่าพระราชกุมารซึ่งเป็นพระราชโอรสของเรานี้ ได้สำเริ่จวิทยาทั้งปวงแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงได้ตั้งพระนามชื่อว่าสรรพสิทธิราชกุมาร

ลำดับนั้น สรรพสิทธิราชกุมารโพธิสัตว์ ครั้นได้ทรงสดับประพฤติเหตุพระราชธิดาผู้ทรงพระนามชื่อว่า สุวรรณโสภา นั้นแล้ว ก็ให้บังเกิดปีติโสมนัสมีพระทัยปฏิพัทธ์รักใคร่ แล้วพระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยจาตุรงค์เสนา เสด็จออกจากกรุงอลิกนคร ไปสิ้นมรรคา ๒๕ โยชน์ จึงบรรลุถึงกรุงคิริภชนคร ครั้นถึงแล้วพระโพธิสัตว์จึงนำเครื่องบรรณาการเข้าไปถวายพระเจ้าอุสภราชเสร็จแล้ว จึงทำปฏิสัณฐารทูลขอพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ได้มาแล้วยังสำนักของพระองค์เพื่อจะทูลขอพระราชธิดานั้น ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระราชธิดาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด ครั้นพระเจ้าอุสภราชได้ทรงสดับตังนั้นจึงตรัสถามว่า ดูกรพ่อ ตัวของพ่อมีนามว่าสรรพสิทธิกุมารหรือ พระโพธิสัตว์จึงทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าอุสภราชจึงมีพระราชดำรัสว่า ขอเชิญพ่อจงไปพูดกับธิดาของเราเถิด ถ้าหากว่าธิดาของเราพูดแล้วไซร้ เราก็จะยกธิดานั้นให้แก่เจ้า พระโพธิสัตว์เจ้าก็รับพระราชโองการว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐการที่พระองค์รับสั่งนี้เป็นการดีแล้วข้าพระพุทธเจ้าก็จะทำตามพระราชดำรัส ครั้นพระโพธิสัตว์กราบทูลดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมลาพระเจ้าอุสภราช พอถึงประถมยามราตรี พระองค์จึงได้พาอำมาตย์ผู้หนึ่งเสด็จขึ้นไปสู่ปราสาทของพระราชธิดานั้น แล้วประทับอยู่ ณ ห้องภายนอกตรัสอยู่กับด้วยอำมาตย์ ครั้นย่างเข้าสมัยราตรี พระองค์จึงทำลายซึ่งอกของอำมาตย์นั้นออกด้วยศิลปวิทยา นำดวงจิตออกไปวางไว้ในตะคันซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับอยู่ ณ ที่เดิม แล้วตรัสถามดวงจิตของอำมาตย์นั้นว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญเราจะขอถามท่านบัดนี้ ฝ่ายดวงจิตของอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอเชิญพระองค์จงตรัสถามตามประสงค์เถิด ครั้นดวงจิตกราบทูลดังนี้แล้ว พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ ยังมีพาณิชพ่อค้าเรือ ๔ คนซึ่งเป็นสหายกัน ต่างก็พากันไปนอนอยู่ ณ ที่ใกล้เชือกเพื่อจะรักษาหลักเรือของตนๆ ครั้นราตรีสมัยบรรดาพาณิชเหล่านั้นพากันหลับอยู่ พาณิชผู้หนึ่งตื่นขึ้นแล้วแลไปเห็นท่อนจันทร์ท่อนหนึ่งลอยตามกระแสน้ำมากระทบเรือเข้า ก็ทราบว่าเป็นแก่นไม้จันทร์ จึงเก็บเอาไว้แล้วแกะเป็นรูปนารีมีรูปงดงาม ทำให้เป็นของควรแก่ความกำหนัดยินดี ต่อนั้นไป ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งได้เห็นรูปนารีนั้นแล้ว จึงไปประดับตกแต่งนุ่งห่มรูปนั้นด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ทำให้งดงามเป็นที่ควรดูควรชม ต่อนั้นไป ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งได้เห็นรูปนารีซึ่งประดับตกแต่งงดงามนั้นแล้ว ก็แสดงความพอใจรักใคร่เชื้อเชิญรูปนารีนั้นให้นั่ง ณ อาสนะด้วยความปีติยินดี ต่อนั้นไปอีก มีบุรุษอีกคนหนึ่งได้เห็นรูปนารีนั้นแล้ว ก็ไปนั่งสนทนาปราศรัยอยู่กับรูปนารีให้เห็นอธิบายว่าตนได้ บุรุษทั้ง ๔ คนเหล่านั้น ก็มีจิตรักใคร่ปรารถนารูปนารีนั้นด้วยกัน จึงได้พร้อมใจกันยกเอารูปนารีนั้นมาแล้วกล่าวถ้อยคำโต้เถียงซึ่งกันและกันในเรื่องที่ไม่ตกลงกัน ก็บรรดาบุรุษทั้ง ๔ คนเหล่านั้น ใครจะเป็นผู้ได้รูปนารีนั้นเล่า ดวงจิตของอำมาตย์นั้นจึงกราบทูลว่า บุรุษผู้ได้แก่นจันทร์แล้วเอามาแกะรูปนารีทำให้เป็นของควรแก่ความกำหนัดยินดีนั้นแหละ ควรได้รูปนารีนั้นพระพุทธเจ้าข้า

ครั้นพระราชธิดาได้ทรงสดับถ้อยคำของดวงจิตอำมาตย์กล่าวดังนั้นแล้ว จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ คำท่านว่านั้นไม่ควร ก็บุรุษผู้ใดได้แก่นจันทร์แล้วเอามาแกะเป็นรูปนารี ทำให้เป็นของควรแก่ความกำหนัดยินดี บุรุษผู้นั้นควรเป็นบิดา ก็บุรุษผู้ใดไปนั่งสนทนาปราศรัยกับรูปนารีนั้น บุรุษผู้นั้นควรเป็นพี่ บุรุษผู้ใดแสดงความพอใจรักใคร่แล้วเชื้อเชิญรูปนารีนั้น ให้นั่ง ณ อาสน์ด้วยความปีติยินดี บุรุษผู้นั้นควรเป็นมารดา บุรุษผู้ใดไปประดับตกแต่งรูปนารีนั้นด้วยผ้าและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายบุรุษผู้นั้นควรเป็นสามี

ในกาลครั้งนั้น ราชบุรุษทั้งหลายครั้นได้ฟังพระเสาวนีย์ของพระราชธิดาตรัสดังนั้นแล้ว ก็พากันประโคมปัญจดุริยางค์ตนตรีขึ้นพร้อมกัน เสียงกึกก้องอันใหญ่ก็ได้บังเกิดมีขึ้นแล้ว อันนี้ชื่อว่าเหตุเป็นปฐมทีแรก

ครั้นถึงมัชฌิมยามราตรี พระโพธิสัตว์จึงเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นไปวางไว้ ณ เท้าเตียงที่บรรทมของพระราชธิดานั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับอยู่ ณ ที่นั้นอีก แล้วตรัสถามดวงจิตอำมาตย์นั้นว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ ยังมีพระราชกุมารทั้ง ๔ พระองค์ พากันไปสู่เมืองตักกสิลาเพื่อไปเรียนศิลปวิทยาในสำนักทิศาปาโมกข์ องค์หนึ่งเรียนศิลปในทางยิงธนู องค์หนึ่งเรียนศิลปในทางทำให้สัตว์ที่ตายแล้วกลับให้เป็นขึ้นมาได้อีก องค์หนึ่งเรียนศิลปในทางดำน้ำอยู่ในน้ำได้นาน ๆ องค์หนึ่งเรียนศิลปะในทางโหราศาสตร์ ครั้นพระราชกุมารเหล่านั้นเรียนศิลปวิทยาสำเร็จแล้วจึงพากันลาอาจารย์เพื่อกลับไปสู่พระนครของตน ๆ ครั้นมาถึงแว่นแคว้นแดนเมืองแห่งหนึ่ง จึงพากันไปนั่ง ณ ร่มไม้ไทรใหญ่ต้นหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ริมฝั่งพระมหาสมุทรแล้วกล่าวว่า เราทั้งหลายจะมีลาภเมื่อไรตามคำนวณนั้น พระราชกุมารทั้ง ๓ จึงพากันถามพระราชกุมารซึ่งเรียนศิลปในทางโหราศาสตร์นั้นว่า ดูกรสหาย พวกเราจะมีลาภเมื่อไรตามคำนวณในทางโหราศาสตร์นั้น ฝ่ายพระราชกุมารนั้น จึงได้คำนวณตามวิธีเสร็จแล้วจึงพยากรณ์ทำนายว่า ดูกรสหายผู้เจริญทั้งหลาย จะมีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่งพานารีบินมาโดยอากาศแล้วบอกกับพระราชกุมารซึ่งเป็นผู้ชำนาญในทางยิงธนูว่า ท่านจงคอยยิงธนูเถิด

ขณะนั้น มีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่งโฉบลงจับเอาพระอัครมเหสีของพระราชาในเมืองนั้น ซึ่งทรงพระภูษาอันประเสริฐมีสีอันแดง ด้วยสำคัญว่าชิ้นเนื้อพาไปโดยอากาศ พระราชกุมารเหล่านั้นได้เห็นแล้ว จึงบอกกับพระราชกุมารซึ่งเป็นผู้ชำนาญในทางยิงธนูนั้นว่า ดูกรสหายผู้เจริญ ท่านจงยิงธนูไปเถิด พระราชกุมารนั้นก็ยิงไปตามคำพระราชกุมารเหล่านั้นบอก พอพระราชกุมารนั้นยิงลูกธนูออกไป นกหัสดีลิงค์ตกใจก็ปล่อยพระอัครมเหสีนั้นแล้วบินหนีไป พระราชเทวีนั้นก็ตกลงไปในท่ามกลางมหาสมุทร์ พระราชกุมารซึ่งเป็นผู้ชำนาญในทางดำน้ำนั้น ก็ดำลงไปในมหาสมุทรนำเอาพระราชเทวีนั้นขึ้นมาจากน้ำ พระราชกุมารซึ่งเป็นผู้ชำนาญในทางแก้สัตว์ที่ตายแล้วให้กลับเป็นขึ้นได้นั้น จึงร่ายพระเวทย์ทำให้พระราชเทวีนั้นกลับฟื้นขึ้นได้ พระราชกุมารทั้ง ๔ เหล่านั้น ปรารถนาจะใคร่ได้พระราชเทวีนั้นทุก ๆ พระองค์ ต่างก็สนทนาหารือซึ่งกันและกันในเรื่องที่อยากจะได้พระราชเทวีนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามดวงจิตของอำมาตย์นั้นว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ ก็ผู้ใดจะได้พระราชเทวีนั้นเล่า ดวงจิตของอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวดา พระราชกุมารองค์ใดยิงลูกธนูไปให้นกหัสดีลิงค์ปล่อยพระราชเทวี พระราชกุมารพระองค์นั้นแหละควร พระพุทธเจ้าข้า

ครั้งนั้น พระราชธิดาได้ทรงสดับถ้อยคำของอำมาตย์กล่าวดังนั้นแล้ว จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ คำที่ท่านว่านี้ไม่ควร พระราชกุมารชึ่งดำน้ำลงไปนำเอาพระราชเทวีขึ้นมานั่นแหละควรได้ เพราะได้พยายามด้วยความเหนื่อยยาก เพราะเหตุนั้น พระราชกุมารนั้นจึงควรได้โดยแท้

ราชบุรุษทั้งหลายครั้นได้ฟังพระเสาวนีย์พระราชธิดาตรัสดังนั้นแล้ว ก็พากันบรรเลงดนตรีขึ้นพร้อมกัน เสียงกึกก้องอันใหญ่ก็ได้บังเกิดมีขึ้นแล้วอันนี้เป็นเหตุวาระที่ ๒

ครั้นถึงปัจฉิมยามสมัย พระโพธิสัตว์จึงนำเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นไปวางไว้ ณ ที่ใกล้พระบรรทม แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับ ณ ที่เดิมนั้นอีก ตรัสถามดวงจิตของอำมาตย์นั้นว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ มีบุรุษ ๔ คน และหญิง ๔ คนซึ่งเป็นชู้กันและกันได้พากันไปนั่ง ณ ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง บุรุษเหล่านั้นก็เจรจากันอยู่ด้วยถ้อยคำเป็นที่รักแก่กันและกัน ด้วยสามารถทำเป็นมารยา แล้วต่างก็ไถ่ถามเคหะสถานบ้านเรือนของหญิงซึ่งเป็นชู้ของตนๆ หญิงคนที่หนึ่งเอามือลูบศีรษะแล้วบอกว่า เรือนของดิฉันอยู่ที่นี่ หญิงคนที่สองเอามือปรามาสถันแล้วบอกว่า เรือนของดิฉันอยู่ที่นี่ หญิงคนที่สามเอามือลูบแก้มแล้วบอกว่า เรือนของดิฉันอยู่ที่นี่ หญิงคนที่สี่เอามือลูบคิ้วแล้วบอกว่า เรือนของดิฉันอยู่ที่นี่ ครั้นหญิงเหล่านั้นบอกด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ก็พากันกลับไปสู่เรือนของตน ๆ เมื่อบุรุษทั้ง ๔ เหล่านั้นมิได้ทราบบ้านเรือนของหญิงเหล่านั้นแล้วจึงถามกันและกัน ก็ไม่ได้ความว่าหญิงที่เป็นชู้ของตน ๆ บอกเคหะสถานบ้านเรือนแก่ตนว่ากระไร

ในกาลนั้น ยังมีโจรผู้หนึ่งถูกเสียบหลาวอยู่ทั้งเป็น นอนกลิ้งเกลือกอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลกันกับที่อยู่ของบุรุษทั้ง ๔ คนเหล่านั้น ครั้นได้ฟังถ้อยคำของบุรุษเหล่านั้นถามซึ่งกันและกันอยู่ ฉะนั้น บุรุษโจรจึงถามว่า พวกท่านพูดอะไรกัน บุรุษเหล่านั้นจึงบอกว่า พวกข้าพเจ้าถามกันเรื่องเคหะสถานบ้านเรือนของชู้ บุรุษโจรนั้นจึงถามว่า ก็พวกท่านรู้แล้วหรือ บุรุษเหล่านั้นบอกว่าพวกข้าพเจ้าไม่รู้ บุรุษโจรนั้นจึงได้กล่าวว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้ารู้จัก พวกบุรุษเหล่านั้นจึงได้พากันกล่าวว่า ถ้าท่านรู้จักไซร้ ขอท่านจงกรุณาช่วยบอกแก่พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด บุรุษโจรจึงกล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงไปนำเอาน้ำมาให้เรากินก่อน แล้วเราจึงจะบอกให้ บุรุษเหล่านั้นก็พากันไปนำเอานำมาให้บุรุษโจรนั้นกิน เมื่อบุรุษโจรนั้นได้กินน้ำแล้วจึงได้ถามบุรุษทั้ง ๔ คนนั้นว่า ชู้ของพวกท่านเขาบอกว่ากระไร บรรดาบุรุษทั้ง ๔ คนเหล่านั้น บุรุษที่หนึ่งจึงบอกว่า ข้าแต่นาย ชู้ของข้าพเจ้าเขาเอามือลูบศีรษะ แล้วบอกว่าเรือนของอยู่ที่ตรงนี้ บุรุษโจรนั้นจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น นับตั้งแต่ที่นี่ไปไกลประมาณ ๕ อุศุภและมีต้นไทรสำหรับเล่นอยู่ข้างทิศบูรพา เรือนของชู้จักอยู่ที่นั้น ครั้นบอกบุรุษที่หนึ่งดังนี้แล้วจึงถามบุรุษที่สองต่อไปว่า ชู้ของท่านเขาบอกว่ากระไร บุรุษที่สองนั้นจึงบอกว่า ชู้ของข้าพเจ้าเขาเอามือปรามาสถัน แล้วบอกว่าเรือนของดิฉันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าอย่างนั้น นับตั้งแต่ที่นี้ไปไกลประมาณ ๘ อุศุภ และมีต้นขนุนอยู่ข้างทิศปราจิณ เรือนของชู้จักอยู่ที่นั้น ครั้นบอกบุรุษที่สองดังนี้แล้ว จึงถามบุรุษที่สามต่อไปอีกว่า ชู้ของท่านเขาบอกว่ากระไร บุรุษที่สามนั้นจึงบอกว่า ชู้ของข้าพเจ้าเอามือลูบแก้ม แล้วบอกว่าเรือนของดิฉันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าอย่างนั้น นับตั้งแต่ที่นี่ไปไกลประมาณกึ่งโยชน์ และมีเตาของช่างหม้ออยู่ข้างทิศทักษิณ เรือนของชู้จักอยู่ที่นั้น ครั้นบอกบุรุษที่สามดังนี้แล้ว จึงถามบุรุษที่สี่ต่อไปว่า ชู้ของท่านเขาบอกว่ากระไร บุรุษที่สี่นั้นจึงบอกว่า ชู้ของข้าพเจ้าเอามือขึ้นลูบคิ้ว แล้วบอกว่าเรือนของดิฉันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าอย่างนั้น นับตั้งแต่ที่นี่ไปไกลประมาณโยชน์หนึ่ง มีสระสาหร่ายอยู่ข้างทิศอุดร เรือนของชู้จักอยู่ที่นั้น

เมื่อบุรุษโจรบอกดังนี้แล้ว บุรุษทั้ง ๔ คนเหล่านั้น ก็มีจิตชื่นชมยินดีต่างก็พากันลาบุรุษโจรนั้นไปเที่ยวเสาะแสวงหาเคหะสถานบ้านเรือนชู้ของตน ๆ ผู้หนึ่งไปทางทิศบูรพา ผู้หนึ่งไปหางข้างทิศปราจิณ ผู้หนึ่งไปทางข้างทิศทักษิณ ผู้หนึ่งไปทางข้างทิศอุดร เมื่อเที่ยวเสาะแสวงหาไปก็ได้พบเรือนชู้ของตนๆ แล้วต่างก็มีจิตยินดีเป็นที่ยิ่งกับด้วยหญิงทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้ถามว่า ดูกรพ่อ เหตุไรท่านจึงรู้จักเคหะสถานบ้านเรือนของพวกดิฉันเล่า บุรุษเหล่านั้นจึงได้เล่าเหตุของตน ๆ ให้หญิงเหล่านั้นฟังทุกประการ พวกหญิงเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ดูกรท่าน พวกท่านมาทำแก่พวกข้าพเจ้าเอาตามอำนาจกิเลสดังนี้ไม่สมควรเลย ครั้นกล่าวดังนี้แล้วต่างก็พากันขับไล่บุรุษเหล่านั้นด้วยถ้อยคำว่า จำเดิมแต่นี้ไปพวกท่านทั้งหลายอย่าอยู่ในที่นี้เลย จงไปเสียที่อื่นเถิด

ลำดับนั้น พวกหญิงเหล่านั้นจึงพากันไปปลดเอาบุรุษโจรที่ถูกเสียบหลาวอยู่ทั้งเป็นนั้นมา บำรุงปฏิบัติมีให้ข้าวและน้ำเป็นต้น บรรดาหญิงทั้ง ๔ คนเหล่านั้น คนหนึ่งนำเอาอาหารมาปฏิบัติเป็นนิตย์ คนหนึ่งปฏิบัติด้วยน้ำสำหรับล้างหน้าเป็นนิตย์ คนหนึ่งปฏิบัติด้วยน้ำร้อนเป็นนิตย์ คนหนึ่งนำเอามูตรและกรีสไปเทเป็นนิตย์ บุรุษโจรนั้นครั้นได้รับความปฏิบัติของหญิงเหล่านั้นก็หายโรคเป็นปรกติ ก็ในหญิงจำพวกนั้น หญิงคนไรจะเป็นใหญ่ และจักได้บุรุษโจรนั้นเป็นสามีเล่า ดวงจิตของอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นราชาอันประเสริฐหญิงที่นำเอามูตรและกรีสไปเทเป็นนิตย์นั่นแหละ ควรได้บุรุษโจรนั้นเป็นสามี

ครั้นพระราชธิดาได้ทรงสดับคำของอำมาตย์กล่าวดังนั้นแล้วจึงมีพระเสาวนีย์ดำรัสว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ คำท่านว่านี้ไม่ควร หญิงคนใดได้นำเอาอาหารมาปฏิบัติบุรุษโจรนั้นเป็นนิตย์ หญิงคนนั้นแหละควรได้บุรุษโจรนั้นเป็นสามี

ขณะนั้นพวกราชบุรุษทั้งหลายครั้นได้ฟังพระเสาวนีย์พระราชธิดาตรัสดังนี้นั้นแล้ว ก็พากันบรรเลงดุริยางคดนตรีขึ้นพร้อมกันเสียงเอิกเกร็กกึกก้องก็ได้บังเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สาม

ครั้นถึงปัจจุสมัยจะใกล้รุ่ง พระโพธิสัตว์จึงนำเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นไปวางไว้ ณ ที่ใกล้พระเขนย แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับ ณ ที่เดิมนั้นอีก แล้วตรัสถามดวงจิตของอำมาตย์นั้นว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญมีนารีคนหนึ่งรูปงาม ทั้งมีร่างกายแบบบาง มีเส้นเกศาอันละเอียดอ่อน ควรดูควรชมเช่นนี้แหละ จึงจะเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจของสัตว์โลกทั้งหลาย ก็แต่ว่าการสัมผัสทั้ง ๒ คือนุ่นและสตรีทั้ง ๒ อย่างนี้ อย่างไหนจะอ่อนกว่ากัน ดวงจิตของอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐ สัมผัสของนุ่นเป็นสัมผัสอ่อนกว่าสัมผัสของสตรีพระพุทธเจ้าข้า

ครั้นพระราชธิดาได้ทรงสดับถ้อยคำของดวงจิตอำมาตย์กล่าวดังนั้นแล้ว จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ คำที่ท่านว่านี้ไม่ควร สามีที่ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยจิตอ่อนไม่กระด้างนี้แหละ จึงจะมีชื่อว่ามีสัมผัสอ่อนยิ่งกว่าสัมผัสนุ่นและสตรี

ลำดับนั้น พวกราชบุรุษทั้งหลายครั้นได้ฟังพระเสาวนีย์ของพระราชธิดาตรัสดังนั้นแล้ว ก็พากันประโคมดุริยางคดนตรีขึ้นพร้อมกัน เสียงเอิกเกริกก็ได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สี่

พระโพธิสัตว์จึงค่อยหยิบเอาดวงจิตของอำมาตย์มาใส่เข้าในอกของอำมาตย์นั้น และพระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับ ณ ที่เดิมนั้นอีก พอเวลาพระอาทิตย์อุทัยไขรัศมีแล้ว พระองค์จึงเสด็จลงจากปราสาท มีหมู่อำมาตย์แวดล้อมเป็นยศบริวาร เสด็จไปประทับ ณ อาสน์อันตกแต่งแล้วเป็นอันดี ตรงหน้าพระที่นั่งของพระอุสภราช แล้วก็กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าอุสภราชครั้นได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงทรงปรึกษากับพระราชเทวีกุสุมพะว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ เจ้าสรรพสิทธิราชกุมารนี้ เป็นผู้วิเศษประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลายในสกลชมพูทวีป สมควรจะเป็นคู่ครองกับพระราชธิดาของเราได้ เจ้าจะเห็นเป็นประการใด พระราชเทวีนั้นก็มิได้ทรงคัดค้านประการใด ทรงเห็นชอบด้วยขณะนั้น พระเจ้าอุสภราชจึงมีพระราชดำรัสให้หาพราหมณ์ทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงตรวจดูวันดีคืนดีที่จะทำการมงคลด้วยเถิด พราหมณ์เหล่าก็พากันตรวจดู ครั้นได้วันดีคืนดีแล้วจึงกราบทูลให้พระเจ้าอุสภราชทรงทราบ

ลำดับนั้น พระเจ้าอุสภราชจึงเสด็จไปยังปราสาทของพระราชธิดาแล้วตรัสเล่าเรื่องให้พระราชธิดานั้นทราบทุกประการ ครั้นพระราชธิดาได้ทรงสดับพระราชดำรัสดังนั้นก็ยินยอมด้วย (จึงรับพระราชโองการว่าสาธุดังนี้)

พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปยังที่เฝ้าพระเจ้าอุสภราช ประทับนั่ง ณ อาสน์อันตกแต่งเป็นอันดี ครั้นพระโพธิสัตว์เสด็จประทับนั่งแล้ว พระเจ้าอุสภราชก็ได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระโพธิสัตว์ทั้งสามคาถาว่า

ราชวโร นรเสฏฺโ คุณวิเสโส สปฺวา
พหุวิตกฺโก โกวิโท ธมฺเม ปติฏฺิโต โหติ
สพฺพราชูหิ เสฏฺโ ว พหุวิตกฺโก สพฺพราชูหิ
วิติกฺกโม วิตกฺโก ว ราชูหิ นานปฺปการกํ
วิตกฺโก เสฏฺธมฺเมสุ สพฺพราชูหิ ปฺวา
ปิยวาโจ มโนรมฺเม ตุยฺหํ ทสฺสามิ ธีตรํ

ความว่า เธอเป็นพระราชาอันประเสริฐ และทั้งประเสริฐกว่านระทั้งหลาย ทั้งมีคุณวิเศษและปัญญาความคิดอ่าน และมีความตรึกตรองและความเฉลียวฉลาดมาก เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรม อนึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าพระราชาทั้งหลายทั้งปวง และมีความตรึกตรองอันก้าวล่วงเสียซึ่งความตรึกตรองของพระราชาทั้งหลายมีประการต่าง ๆ และมีความตรึกตรองในธรรมอันประเสริฐทั้งมีปัญญาความคิดดีกว่าพระราชาทั้งปวง และมีวาจาถ้อยคำเป็นที่รักใคร่ทำใจของเราให้ยินดี เพราะฉะนั้น บัดนี้เราจะยกราชธิดาให้แก่เจ้าดังนี้

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับพระราชดำรัสตรัสดังแล้ว จึงตรัสคาถานี้ต่อไปว่า

สพฺพราชูหิติกฺกโม จิตกฺโก นานปฺปการวิตกฺกํ
คเวสมาโน เสฏฺสิปฺโป สีลํ รกฺขามิ ปุพฺเพ ภเว
อตฺตโน จิตฺตํ ปสาเทตฺวา ทานํ ปุฺานิ กโรมิ
ยํ ยํ อิจฺฉามิ กมฺมเมว ตํ ตํ กมฺมเมวา สมิชฺฌติ
อิทานิ มตฺถกํ ปาปุณามิ  

ความว่า การที่ข้าพเจ้ามีความตรึกตรองเกินกว่าพระราชาทั้งปวงเช่นนี้ ก็ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้เสาะแสวงหาซึ่งความตรึกตรองและศิลปอันประเสริฐมีประการต่าง ๆ อนึ่งเมื่อในภพก่อน ข้าพระพุทธเจ้าทำจิตของข้าพเจ้าให้เลื่อมใสยินดี ได้รักษาศีลบำเพ็ญทานการบุญ เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะปรารถนาผลกรรมใดๆ ผลกรรมนั้นๆ ก็ย่อมสำเร็จได้ทุกประการ ครั้นมาบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ถึงซึ่งผลอันเป็นที่สุด และประเสริฐกว่านรชาติทั้งหลายดังนี้

พระเจ้าอุสภราชได้ทรงสดับฟังซึ่งถ้อยคำของพระโพธิสัตว์กราบทูลด้วยคาถาดังนั้น ก็บังเกิดพระโสมนัสยินดี จึงมีรับสั่งให้เสนาผู้ใหญ่เข้ามาเฝ้าแล้วดำรัสว่า ท่านจงให้นายช่างปลูกพระมหาปราสาทตกแต่งให้งดงาม และให้แต่งตั้งอาสนะมีประการต่าง ๆ ณ ที่บัลลังก์อันแล้วด้วยทอง แล้วดาดเพดาน ณ เบื้องบนบัลลังก์นั้น ครั้นทำการสำเร็จแล้วท่านจงมาบอกให้เราทราบ เสนาผู้ใหญ่ก็ไปทำตามรับสั่งทุกประการ พระเจ้าอุสภราชจึงพาพระโพธิสัตว์เสด็จไปด้วยราชบริพารเป็นอันมาก ครั้นถึงปรางค์ปราสาทแล้วก็เสด็จประทับบนบัลลังก์ทอง ฝ่ายพระราชธิดาสุวรรณโสภาก็เสด็จประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ณ เบื้องซ้ายของพระโพธิสัตว์ ราวกะนางเทพธิดาชื่อว่าสุชาดาอันประทับนั่งกับท้าวสักกเทวราชฉะนั้น

ในกาลนั้น สาวสุรางค์นางกำนัลทั้งหลายก็พากันนั่งแวดล้อมอยู่พร้อมกันทั้งซ้ายขวาหน้าและหลัง แล้วกล่าวถ้อยคำสรรเสริญมีประการต่าง ๆ อันประกอบด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคลเป็นต้น ฝ่ายพระกุสุมพราชเทวีนั้นก็ได้กล่าวคาถาอำนวยพระพรนี้ว่า

ยงกิฺจิ กุสลปุฺํ มยฺหฺเจว ปิตุ จ
เตน สพฺเพน กุสเลน อชรา อมรา ภว

ความว่า กุศลผลบุญอันใดอันหนึ่งของเราก็ดี ของพระราชบิดาก็ดี ที่ได้ทำไว้แล้ว ด้วยอำนาจกุศลผลบุญทั้งปวงนั้น ขอให้เธอทั้งสองจงอย่ารู้แก่ตายเลย ดังนี้

ครั้นเสร็จพระราชพีธีแล้ว พอเวลาสายัณหสมัย พระโพธิสัตว์ก็เสด็จเข้าสู่ที่สิริไสยาสน์บรรทม ณ บัญญัติตาอาสน์กับพระราชเทวี พระนามว่าสุวรรณโสภานั้น จำเดิมแต่นั้นไป กษัตริย์ทั้งสองก็พากันไปกวายบังคมพระชนกชนนี บูชาด้วยเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ มีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ครั้นเสร็จแล้วจึงกราบทูลว่าข้าแต่สมเด็จพระชนกชนนีผู้ประเสริฐ บัดนี้ข้าพระบาททั้งสองขอถวายบังคมลาฝ่าพระบาทไปยังอลิกนคร ขอให้ฝ่าพระบาททั้งสองจงปราศจากสรรพโรคาพาธ จงทรงสำราญอยู่ด้วยความสุขทุกพระอิริยาบถเถิด

ครั้นกราบทูลถวายบังคมลาและถวายพระพรเสร็จแล้วพระโพธิสัตว์ก็พาพระราชเทวีสุวรรณโสภานั้น ไปสู่นครของพระองค์ถึงแล้วก็เสด็จขึ้นสู่ปราสาทพร้อมด้วยบริพารเป็นอันมาก เมื่อสายัณหสมัยพระองค์ก็พาพระราชเทวีเสด็จเข้าสู่ที่สิริไสยาสน์ รุ่งขึ้นกษัตริย์ทั้งสองก็พากันไปถวายบังคมสมเด็จพระชนกชนนีแล้วก็ประทับอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ขณะนั้นมหาชนทั้งหลายพากันมาบูชาพระโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเครื่องสักการบูชาเป็นอันมาก

จำเดิมแต่นั้นไป พระเจ้าอลิกนครก็ทรงโปรดมีรับสั่งให้อภิเษกพระโพธิสัตว์และพระสุวรรณโสภาราชเทวีนั้น ให้เป็นพระอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นแล้วจึงทรงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับกษัตริย์ทั้ง ๕ คือ เศวตฉัตร์ ๑ จามร ๑ ฉลองพระบาททอง ๑ พระวอทอง ๑ พระมงกุฎแก้วมณี ๑ กับทั้งราชสมบัติทั้งหลาย แก่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ให้ทรงดำรงราชคาณาจักร์สืบสัตติวงศ์ต่อไป แต่ในเวลานั้นพระโพธิสัตว์หาได้ครองราชสมบัติไม่ เพราะพระราชบิดายังมีพระชนม์ดำรงอยู่ เมื่อพระราชบิดานั้นเสด็จสวรรคคตแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้ดำรงราชย์ในอลิกนครต่อไป พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีประการต่าง ๆ มีทานศีลเป็นต้น ครั้นเสด็จสวรรคคตแล้วก็ได้ไปบังเกิดในดุสิตสวรรค์ จุติจากดุสิตพิภพแล้วได้มาบังเกิดในมนุษย์โลก แต่พระองค์ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏดังนี้ สิ้นสื่อสงไขยแสนกัลป์ จึงได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ด้วยประการฉะนี้

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อพระองค์ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาโปรดประทานฉะนี้แล้ว จึงทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พระเจ้าอุสภราชในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเจ้าสุปปพุทธในครั้งนี้ พระราชเทวีผู้ทรงพระนามว่ากุสุมพะในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสุปปพุทธ์ในครั้งนี้ พระเจ้าวิชัยราชในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นสมเด็จพระพุทธบิดา ทรงพระนามว่าสุทโธทนมหาราชในครั้งนี้ พระอุบลเทวีซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าวิชัยราชในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นสมเด็จพระพุทธมารดา ทรงพระนามว่ามหามายาในครั้งนี้ พระสุวรรณโสภาราชเทวีซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นพระพิมพายโสธราซึ่งเป็นมารดาของพระราหุลในครั้งนี้ ฝ่ายสรรพสิทธิโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้นได้มาเป็นเราผู้ตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งปวง ขอท่านทั้งหลายจงพากันทรงจำชาดกนี้ไว้ตามนัยที่แสดงมานี้เถิด

จบสรรพสิทธิชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ