๑. สมุททโฆสชาดก

นมสฺสิตฺวา ติโลกคฺคํ ภวากวกรํ นุทํ
สงฺฆฺจุตฺตมํ เสฏฺํ ปวกฺขามิ ปรกณํ
ปฺาสชาตกํ นาม วุจฺจมานํ อเสสโต

(ในปัญญาสชาดกนี้ พระคันถรจนาจารย์ผู้แต่งพระคัมภีร์กล่าวคำประณามพระรัตนตรัยไว้ในเบื้องต้นว่า) ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการองค์สมเด็จพระสัพพัญญบรมครูเจ้า ผู้ทรงพระเดชพระคุณอันประเสริฐปรากฏในไตรภพ อนึ่งขอนอบน้อมคุณพระนพโลกุตรธรรม อันชักนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นจากความทุกข์ในภพน้อยใหญ่ แลขอนอบนบคุณพระสงฆ์องค์พระอริยเจ้าผู้ทรงคุณอันอุดม ด้วยอำนาจรตนัตตยาธิคุณอดุลยภาพนั้น ขอจงป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวง อย่าให้มีมาบีฑาข้าพเจ้าผู้จะรจนาคัมภีร์พระปัญญาสชาดก โดยสุตมัยญาณตั้งแต่ต้นจนอวสานกาลจบพระคัมภีร์นั้นเถิด

พระคันถรจนาจารย์ถวายนมัสการพระไตรรัตนเสร็จแล้วจึงนำเรื่องนิทานต่าง ๆ มาแสดงไว้ในคัมภีร์ปัญญสชาดก มีเรื่องราวซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้

สมุทฺทโฆโสติ นาเมนาติ อิทํ สตฺถา สาวตฺถิยํ อุปนิสฺสาย เชตวเน วิหรนฺโต ยโสธราเทวี อารพฺภ กเถสิ.

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวัน อาศัยเมืองสาวัตถีเป็นที่โคจรสถานทรงบิณฑบาต อารพฺภ ทรงพระปรารภพระนางพิมพายโสธรา ให้เป็นเทศนานุบัติเหตุ กเถสิ จึงตรัสเทศนาสมุททโฆสชาดกให้เป็นผลอันพระสังคีติกาจารย์กำหนดโดยพระบาลีว่า สมุททโฆโสติ นาเมน เป็นอาทิ

อเลกทิวสมุหิ แท้จริง วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในธรรมสภาศาลา สั่งสนทนาถึงเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสละสิริราชสมบัติเพื่อใครได้พระนางพิมพายโสธราว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าของเราทั้งหลาย พระองค์ทรงสละราชสมบัติเสด็จไปสู่พระนครอื่น แล้วทรงแสดงศิลปศาสตร์สำคัญถึง ๖๔ อย่างจึงได้พระนางพิมพา

ฝ่ายองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงสดับคำของพระสงฆ์ทั้งปวงนั้นด้วยทิพยโสตญาณ จึงเสด็จจากพระคันธกุฎีไปสู่ที่ประชุมทรงประทับ ณ ธรรมาสน์สัตตรัตนามัย เปล่งพระสุรเสียงเพียงดังว่าเสียงแห่งท้าวมหาพรหมดำรัสถามพระองค์ถึงเหตุที่ประชุมสั่งสนทนากัน พระสงฆ์กราบทูลเรื่องที่กล่าวมานั้นให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระพิชิตมารจึงตรัสว่า ตถาคตจะได้สละพระราชบิดามารดาแลราชสมบัติเพื่อพิมพา แล้วไปสู่พระนครอื่นในปัจจุบันชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในชาติหนหลังได้สละพระราชบิดามารดาแลพระราชสมบัติไปสู่พระนครอื่น เพื่อประโยชน์แก่พิมพาก็มี ตรัสเท่านี้แล้วทรงพระดุษณีภาพ พระสงฆ์ทั้งปวงจะใคร่ทราบเรื่องอันมีแล้วแต่ปางหลัง จึงกราบทูลอาราธนา องค์สมเด็จพระศาสตาจึงนำเรื่องอันมีแล้วแต่หนหลังมาแสดงว่า

อตีเต ภิกฺขเว กาสิกรฏฺเ ชนปเท พฺรหฺมปุรํ นาม อโหสิ ฯลฯ ในกาลปางหลัง ครั้งพระเจ้าวินททัตเสวยราชสมบัติในพรหมบุรนคร มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าพระนางเทพธิดา เมื่อเวลาประสูติเกิดอัศจรรย์มีเสียงลั่นทั้งโลก เพราะฉะนั้นจึงได้ถวายนามพระโพธิสัตว์ว่า สมุททโฆสราชกุมาร เมื่อพระโพธิสัตว์พระชันษาได้ ๑๒ ปีมีพระกายงามโสภา แลได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์รู้ชำนิชำนาญมีกิตติศัพท์แผ่ซ่านลือไปทั่วโลก

ก็แหละในกาลนั้น มีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริสีหะนรคุตครองรัมมบุรธานี พระมเหสีทรงพระนามว่ากนกวดี มีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่าวินทุมดีราชกุมารีพระรูปโฉมงามโสภาพร้อมอาจารมารยาท พระราชธิดานั้นได้ทราบข่าวที่ลือว่าพระโพธิสัตว์งามนักก็ทรงกระสันจะใคร่เห็นพระโพธิสัตว์อยู่ทุกวันทุกเวลา

อนึ่งพระเจ้าสีิริสีหะนรคุตให้สร้างศาลเทพารักษ์อันเป็นหลักเมืองไว้แห่งหนึ่งที่ท่ามกลางพระนคร ถึงวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็เสด็จไปกระทำสักการบูชาทุกวัน ส่วนพระราชธิดาเมื่อจะเสด็จไปกระทำสักการบูชาเจ้าหลักเมืองนั้น ก็ประดับพระองค์ทรงเครื่องแล้วเสด็จทรงวอทองแวดล้อมด้วยหญิงบริวารประมาณหมื่นสองพันกั้นพระกลดสั้นสีขาว พร้อมทั้งเครื่องประโคมเสด็จไปสู่ศาลเทพารักษ์นั้น เวียนสามรอบแล้วเสด็จเข้าไปในศาลคำนับบูชาแล้วตั้งความอธิษฐานเป็นพระคาถาว่า

สมุทฺทโฆโสติ นาเมน ราชปุตฺโต มหิทฺธิโก
ผลิตฺวา ปถวี สพฺพํ ยสํ ตสฺส มโนหรํ
สเจ มหิทฺธิโก อาสี เทวปุเร มโนรถํ
ตํ ลภิตฺวา นรวรํ กโรมิ ตว ปูชิตํ

ความว่า พระราชบุตรผู้มีนามว่าสมุททโฆส อันมีมหิทธิฤทธิ์แผ่ไปทั่วปถพีมณฑล มีพระยศอันยังพระกระมลให้ยินดีปรีดา ถ้าข้าพเจ้าได้พระสมุททโฆสพระองค์นั้นเป็นพระภัสดา สมดังความปรารถนาแล้ว จักกระทำสักการบูชาแก่ท่านให้ยิ่งกว่านี้

พระราชธิดาบนเทวดาแล้วเสด็จกลับ แต่ในดวงจิตให้คิดรำพึงถึงพระโพธิสัตว์อยู่เสมอ

ก็แหละในครั้งนั้น มีพราหมณ์ชาวเมืองรัมมบุรนคร ๕ คนเที่ยวไปจนถึงพรหมบุรนครราชธานี ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เสด็จประทับในภายใต้เศวตฉัตรเหนือคอคชสาร พร้อมด้วยจัตุรงคเสนาและเครื่องประโคมแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จไปสู่พระราชอุทยานงามปานประหนึ่งว่าองค์อมรินทร์อันแวดล้อมด้วยหมู่เทวดาเสด็จไปสู่สวนสวรรค์

ฝ่ายพราหมณ์ทั้ง ๕ นั้น ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ก็พากันโสมนัสชมพระบารมีแล้วร้องถวายไชยมงคลด้วยเสียงอันดัง พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังจึงตรัสถามพราหมณ์ทั้งปวงนั้นด้วยสารพระคาถาว่า

กุโต นุ คจฺฉถ โว พฺราหฺมณา กิลนฺตรูปา
กีสา ทุพฺพลา อาคนฺตวา กีการณา เม ตมตฺถํ
มยฺห์ พฺรูถ ปุจฺฉามิ เต พฺราหฺมเณ เวทปารคู

ความว่า ท่านทั้งหลายมีกายอันซูบคล้ำลำบากเพราะความทุกข์ยากมาในมรรคา ท่านมาจากพระนครชื่อไร และมีกิจธุระเป็นไฉนจึงได้มาสู่ประเทศนี้

พราหมณ์ทั้ง ๔ ได้ฟังรับสั่งถาม จึงทูลความเป็นพระคาถาว่า

มยํ สพฺเพ มหาราช รมฺมปุเร มโนรเม
ตโต อาคมา สพฺพมฺหา ลกฺขณนฺเตฺวว ปสฺสิตุํ

ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้งปวงอยู่ในรัมมบุรนคร ได้ฟังเขาเล่าลือกัน จึงพากันมาจากรัมมบุรนคร เพื่อชมพระรูปพระโฉมพรรณสรรพางค์ของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า

พระโพธิสัตว์จึงชวนพราหมณ์ทั้ง ๔ ไปสู่สวนอุทยาน ทรงเล่นสำราญแล้วพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง จึงดำรัสถามพราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นว่า รัมมบุรนครมีความแปลกประหลาดอย่างไรบ้าง พราหมณ์ทั้ง ๔ ทูลว่า พระเจ้าสิริสีหะนรคุตซึ่งครองรัมมบุรนคร พระมเหสีมีนามว่าพระนางกนกวดี มีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่าวินทุมดี รูปทรงงามโสภาหาสตรีที่จะงามเหมือนไม่มี ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นอันมากอยากจะได้พระราชธิดานั้น แต่งเครื่องบรรณาการมีราชสารไปทูลขอพระเจ้าสิริสีหะนรคุตๆก็ไม่พระราชทานให้แก่ผู้ใด ข้อนี้เป็นความอัศจรรย์ของรัมมบุรนคร พระโพธิสัตว์ได้สดับข่าวนั้นก็ทรงปลื้มพระหฤทัย จึงประทานทองคำแก่พราหมณ์คนละห้าร้อย ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จกลับ รุ่งเช้าจึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชบิดามารดา กราบทูลคดีนั้นให้ทรงทราบ แล้วกราบทูลลาเพื่อจะเสด็จไปดูพระราชธิดา ด้วยบาทพระคาถาว่า

อาปุจฺฉามิ ตุวํ ตาต คจฺฉามิ ปุรมุตฺตมํ
โอกาสํ ยทิ ลภามิ คจฺฉามิ มยฺหํ ปุรํ
สิริสีหนรคุตฺโต ราชา ตสฺส ปน ธิตา
อโนปมาปิ ลกฺขณา สทิสา เทวกฺาหิ
ทฏฺุมิจฺฉามิ ตํ สุภํ  

ความว่า ข้าแต่พระชนกชนนี ข้าพระองค์จะขอถวายบังคมลาไปสู่นครอันอุดม ซึ่งมีนามว่ารัมมบุรี ถ้าข้าพระองค์ได้โอกาสแล้วก็จะไปยังเมืองรัมมบุรี ก็แลเมืองนั้น พระราชาทรงพระนามว่า สิริสีหะนรคุตเป็นอธิบดีครองอาณาจักร ธิดาของพระราชานั้น มีลักษณะหาผู้ใดเปรียบมิได้ งามประดุจดังว่านางเทพอัปสรกัญญา ข้าพระองค์ปรารถนาจะไปเห็นนางงามนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ฝ่ายพระชนกนาถราชมารดาทั้ง ๒ ก็สวมกอดพระโพธิสัตว์แล้วทรงพระโศการำพัน

เมื่อจะทรงห้ามให้รอการที่จะเสด็จนั้นไว้ จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า

มยํ ตว ปิตา ราชา ตว มาตา ทฺว ชนา
วินา เต ปุตฺตกานาถา กถํ ชีวาม ปุตฺตก
ยทิ อิจฺฉสิ ปุตฺต สหสา มา คจฉิสฺสสิ
ทูตํ จ ปหิณิสฺสาม วาเรนฺตา ราชธีตรํ

ความว่า ดูกรปิยบุตร เราทั้งสองคือมารดาบิดาของเจ้า เมื่อเว้นจากเจ้าผู้เป็นบุตรแล้ว ก็เหมือนอนาถา มารดาบิดาทั้งสองจะมีชีวิตอย่างไรได้ ถ้าเจ้าปรารถนาจะไปก็จงยับยั้งอยู่ก่อนเราทั้งสองจะส่งทูตให้ไปขอราชธิดานั้น

พระโพธิสัตว์ กราบทูลวิงวอนขอลาเสด็จไปเองจนทรงพระอนุญาตแล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๔ ไปบริโภคอาหารเสร็จแล้วก็ประทานทองคำอีกคนละห้าร้อย ครั้นเพลาราตรีก็ส่งพิณให้แก่บุตรปุโรหิตคนหนึ่ง ส่งห่อเครื่องประดับให้แก่บุตรอำมาตย์คนหนึ่งแล้วชวนคนทั้ง ๒ กับพราหมณ์ทั้ง ๔ เสด็จออกจากพระนครไปตามมารดา ด้วยอานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ราตรีหนึ่งก็ถึงรัมมบุรนคร พระโพธิสัตว์พักสรงน้ำชำระกายอยู่ที่ภายนอกพระนคร วันนั้นนางวินทุมดีราชธิดาเสด็จกลับจากศาลเทพารักษ์หลักเมืองแล้ว ขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระโพธิสัตว์ทรงเครื่องประดับแล้วเสด็จไปศาลเทพารักษ์นั้น หมู่มนุษย์ทั้งหลายซึ่งได้เห็นพระโพธิสัตว์ก็พากันตกตะลึงแลดูพระโพธิสัตว์มิได้วางตา เพราะรูปสิริโสภาของพระโพธิสัตว์งามแปลกกว่าสามัญชน พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากศาลเทพารักษ์แล้ว ก็เสด็จเข้าไปในพระราชนิเวศน์เฝ้าพระเจ้าสีริสีหะนรคุต นั่งดีดสายพิณอยู่ตรงพระพักตร์ เสียงพิณนั้นดังสนั่นเสนาะเพราะจับใจประชุมชนที่ได้ฟังทั้งพระนคร พระเจ้าสิริสีหะนรคุตทอดพระเนตรดูพระโพธิสัตว์ไม่กระพริบพระเนตร พระราชธิดาก็แลดูอย่างนั้น พระเจ้าสีริสีหะนรคุตทรงพอพระหฤทัย จึงตรัสเรียกพราหมณ์ทั้ง ๔ เข้าไปสู่ที่เฝ้าแล้วตรัสถามว่า กุมารที่ดีดสายพิณอยู่นั้นดูรูปร่างงดงามยิ่งนักเป็นบุตรผู้ใด พราหมณ์ทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่าเป็นพระราชโอรสพระเจ้าวินททัต อันเสวยราชสมบัติในพรหมบุรนคร พระนามว่าสมุททโฆสราชกุมาร พระเจ้าสิริสีหะนรคุตได้สดับก็ทรงพระเสน่หา เสด็จลุกจากราชบัลลังก์ไปใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วทรงกอดรัดจุมพิตพระเศียรเกล้าแล้วตรัสว่า พ่ออุตสาหะละราชสมบัติของตนไม่อาลัย ตัดใจมาได้ถึงเมืองนี้ พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระองค์ทรงพระบารมีเป็นอย่างประเสริฐในโลก ข้าพระพุทธเจ้าอุตสาหะมาด้วยหวังใจถวายตนเป็นข้าใต้ฝ่าพระบาท พระเจ้าสีริสีหะนรคุตได้สดับคำพระโพธิสัตว์ ก็ทรงพระโสมนัส จึงพาพระราชธิดากับพระโพธิสัตว์พร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทเสด็จไปยังศาลเทพารักษ์ ทรงหลั่งอุทกธาราออกจากพระเต้าทอง อภิเษกพระราชธิดากับพระโพธิสัตว์ให้อยู่ร่วมสุขสมบัติภายในเศวตฉัตรเดียวกัน พระโพธิสัตว์กับพระราชธิดาก็เสด็จขึ้นสู่วอทองเดียวกันกลับจากศาลเทพารักษ์ ห้อมล้อมด้วยราชบริษัทเสด็จเข้าในพระราชวัง ประทับอยู่ในปราสาทเดียวกัน

ฝ่ายพระเจ้าสิริสีหะนรคุตจึงดำรัสสั่งให้จัดเครื่องบรรณาการ มีราชสารแจ้งความตามเหตุที่ได้พบกับสมุททโฆสราชกุมารแล้วได้จัดการอภิเษกเป็นการหมั้นไว้ให้สมุททโฆสราชกุมารอยู่ร่วมปราสาทกับพระราชธิดา ขอเชิญพระเจ้าวินททัตเสด็จมาเพื่อการวิวาหมงคลต่อไป ให้ราชทูตเชิญพระราชสารกับเครื่องราชบรรณาการไปสู่พรหมบุรนครถวายพระเจ้าวินททัต

ฝ่ายพระเจ้าวินททัตได้ทรงสดับพระราชสาร แลทอดพระเนตรเห็นเครื่องราชบรรณาการก็ทรงพระโสมนัส จึงตรัสสั่งให้จัดจัตุรงคเสนาและเครื่องราชบรรณาการ แล้วให้ราชทูตนั้นนำมรรคาเสด็จยกพยุหโยธาไปรัมมบุรนครกับด้วยพระอัครมเหสี พระเจ้าสิริสีหะนรคุตกับพระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปทรงทำปฏิสันถาร เชิญพระเจ้าวินททัตเสด็จเข้าสู่พระนคร ให้จัดการพระราชพิธีการวิวาหมงคล กษัตริย์ทั้ง ๔ มีพระเจ้าสิริสีหะนรคุตเป็นต้น ก็อวยชัยให้พรแก่พระโพธิสัตว์กับพระราชธิดา เมื่อพระเจ้าวินททัตจะตรัสโถมนาการสรรเสริญบุญญานุภาพกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ จึงตรัสแก่พระเจ้าสิริสีหะนรคุตด้วยบาทพระคาถา

ยถา นิกฺขมิตราชา นรมชฺเฌน อนฺตรํ
ตถา ทุเว มยํ ราชา มิตฺตภวาม สพฺพทา
ตว รชฺชํ มม รชฺชํ เอกํเยว ทุเว ภเว
มม ทุกขํ ตว โหตุ ตว ทุกขํ มมฎฺิตํ
สุขทุกฺขา สมา โหม อิโต สุขตรํ สิยาติ

ความว่า ราชบุตรและราชธิดาของเรา เป็นกษัตริย์อสัมภินนพงศ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราทั้งสองก็เป็นกษัตริย์อสัมภินนพงศ์ทั้งสองข้าง พระราชาแต่กาลก่อน เป็นพงศ์กษัตริย์อย่างไร เราทั้งสองก็เป็นพงศ์กษัตริย์อย่างนั้นเหมือนกัน เราทั้งสองจงเป็นมิตรไมตรีกันทุกเมื่อ ราชสมบัติของท่านเหมือนราชสมบัติของเรา ส่วนราชสมบัติของเราเล่าก็เหมือนราชสมบัติของท่าน เราทั้งสองเหมือนคนๆเดียวกัน ทุกข์ของเราก็เหมือนทุกข์ของท่าน ทุกข์ของท่านก็เหมือนทุกข์ของเรา เราทั้งสองจงมีสุขและทุกข์เสมอกัน จงร่วมสุขร่วมทุกษ์กันทุกเมื่อ แต่นี้ไปเราทั้งสองจะมีความสุขยิ่งขึ้นไปกว่านี้

พระเจ้าสิริสีหะนรคุตได้ทรงสดับสุนทรคาถาดังนั้น ก็มีพระหฤทัยยินดีโสมนัส จึงมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

สาธุ สาธุ นรุตฺตม เอกโต หุตฺวา ภวาม
สาธุ สาธุปิทํ วากฺยํ เอวํ ภวตุ สพฺพทา

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในนรชน พระราชดำรัสที่พระองค์ตรัสมาทั้งนี้เป็นความดีความชอบ ทำประโยชน์ให้สำเร็จทั้งสองฝ่ายเราทั้งสองจะมีฉันทอัธยาศัยเสมอกัน พระองค์จงทรงประพฤติเป็นไปดังนี้ทุกเมื่อ จนตราบเท่าเสด็จทิวงคตเถิด

พระเจ้าวินททัตกับพระอัครมเหสีได้ทรงฟังพระราชดำรัสตอบก็ทรงโสมนัสยินดี จึงประทับแรมอยู่ในรัมมบุรีนครนั้นประมาณได้เดือนหนึ่งก็ทูลลาพระเจ้าสิริสีหะนรคุต ยกพยุหโยธากลับหลังยังพระนคร พระโพธิสัตวก็เสด็จอยู่บนปราสาทกับพระราชธิดา มีความสมัครสโมสรสุขสำราญทุกเวลา

วันหนึ่งพระนางวินทุมดีราชธิดา จึงทูลพระโพธิสัตว์ราชสามีว่า หม่อมฉันจะไปที่ศาลเทพารักษ์ จะถวายเครื่องบวงสรวงแก่เทพารักษ์แก้คำปฏิญาณที่หม่อมฉันได้บนบานไว้ พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญเจ้าได้บนบานไว้ว่ากระไร พระนางวินทุมดีได้สดับพระราชสามีตรัสถาม เมื่อจะทูลความนั้นให้ทรงทราบจึงทูลเป็นบาทพระคาถาว่า

ยถา ตว ยสํ สุตฺวา ทิวารตฺตึ อนุสฺสรึ
อนุสฺสรนฺติยา ตถา เทโว อายาจิโต มยา

ความว่า กาลเมื่อหม่อมฉันได้สดับกิตติศัพท์กิตติคุณของพระองค์ ก็มีจิตคิดประสงค์จะใคร่ได้มาเป็นพระราชสามี ระลึกถึงเนืองๆทุกทิวาราตรีกาลในกาลนั้น หม่อมฉันจึงได้บนบานเทวาดาในศาลเทพารักษ์ให้สมดังความประสงค์อย่างนั้น

พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังดังนั้น เมื่อจะเล่าความหลังให้พระนางวินทุมดีฟัง จึงกล่าวพระคาถาเป็นลำดับไปว่า

ยถา ปุจฺฉามิ พฺราหฺมเณ ตํ ปวุตฺตึ สุโณมิหํ
ตวฺเจว เม จินฺตยโต อุมฺมตฺตโก ชาโต มโน
ตสฺมา จเชยฺย อตฺตานํ ตว สงฺคมฺม การณา
จเชตฺวา มาตาปิตโร อาคตา ตว สนฺติเก

ความว่า ดูกรผู้มีพักตร์อันเจริญ เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๔ ไปถึงเมืองพี่ก็ได้ถามพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นพี่ได้ฟังประพฤติเหตุของพระน้อง ก็เฝ้าแต่รำพึงคิดถึงพระน้องอยู่เนือง ๆ จนความรักเข้ารัดรึงตรึงหฤทัย อุปมัยดังว่าจะเป็นบ้า พี่จึงสู้สละพระราชบิดามารดาทั้งสองกษัตริย์แลละราชสมบัติมิได้รักกายเสียดายชีวิต คิดแต่จะใคร่ได้พระน้องเจ้าเป็นเบื้องหน้า จึงจากเมืองมาสู่รัมมบุรีอันเป็นที่อยู่ของพระน้อง พระโพธิสัตว์ตรัสดังนี้แล้ว ก็พาพระเทวีเสด็จไปศาลเทพารักษ์แก้สินบนด้วยข้าวตอกดอกไม้กระแจะจวยจันทร์เสร็จแล้วก็เสด็จกลับยังปราสาท กาลแต่นั้นล่วงไปปีเศษ พระโพธิสัตว์เสด็จทรงวอทองเดียวกันกับพระเทวีพร้อมทั้งราชบริวารไปสู่ราชอุทยาน

ครั้งนั้นมีวิทยาธรตนหนึ่งสำนักอยู่ในจังหวัดยอดเขาไกรลาสอันโอภาสดังแสงเงิน พาภรรยาไปเที่ยวเก็บดอกไม้ต่าง ๆ ประดับประดากายเสร็จแล้ว ก็ถือพระขรรค์มือหนึ่งถือฝักมือหนึ่งให้ภรรยานั่งบนตักแล้วก็เหาะไปในอากาศ

ยังมีวิทยาธรอีกตนหนึ่ง เป็นผู้สำนักอยู่ในยอดเขาสุทัศน์บรรพต ซึ่งปรากฏรัศมีดังสีแห่งทองคำ วิทยาธรนั้นพาภรรยาเที่ยวเก็บดอกมณฑาได้แล้วก็ประดับกายแล้วถือพระขรรค์เหาะไปในอากาศแต่ผู้เดียว วิทยาธรทั้งสองพบกันกลางทางก็ท้าทายกันด้วยถือว่าตนมีฤทธิ์ จึงเกิดสู้กัน วิทยาธรผู้ทรงภรรยาถูกฟันเป็นแผลทั่วทั้งกาย โลหิตไหลอาบคล้ายกับราดด้วยน้ำครั่ง สิ้นกำลังก็พลัดตกลงท่ามกลางราชอุทยาน วิทยาธรผู้ชนะได้ภรรยาไป

เวลานั้นพระโพธิสัตว์เสด็จลงจากพระตำหนักในราชอุทยานชวนบุตรปุโรหิตและบุตรอำมาตย์เสด็จประพาสราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นวิทยาธรนอนอยู่ที่นั่นก็เสด็จเข้าไปใกล้ทรงไต่ถาม วิทยาธรก็ทูลเล่าความตามเหตุที่เป็นแล้วให้ทรงทราบทุกประการ พระโพธิสัตว์ทรงสงสารก็ให้พยุงวิทยาธรมายังตำหนักแล้วให้แพทย์รักษาประมาณสักห้าวัน วิทยาธรก็หายเป็นปรกติ วิทยาธรตั้งอยู่ในความกตัญญูกตเวทีจึงถวายพระขรรค์ของตนแก่พระโพธิสัตว์ทูลว่าพระขรรค์นี้มีฤทธิ์ ถ้าถือไว้ในมืออาจจะเหาะไปได้ แล้วก็ทูลลาพระโพธิสัตว์ไป

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ตรัสชวนพระเทวีเสด็จประพาสป่าหิมพานต์ ให้พระเทวีทรงนั่งบนพระเพลา พระหัตถ์ทรงพระขรรค์แล้วเหาะขึ้นบนอากาศผันพระพักตร์สู่ทิศอุดร ชมภูเขาต่างๆในป่าหิมพานต์ คือภูเขาเงิน ภูเขาทอง ภูเขาแก้ว และภูเขาแก้ว ๗ ประการสูงห้าร้อยโยชน์ มียอดใหญ่ร้อยยอด ยอดเล็กแปดหมื่นสี่พัน มีพลอยหินต่าง ๆ มีไม้กัลปพฤกษ์ต่าง ๆ มีหมู่กินนรกินรีฟ้อนรำขับขานประสานสำเนียงอยู่ไม่ขาด มีทั้งฝูงมฤคชาติคชสารราชสีห์แรดเสือแลอัสดร พระโพธิสัตว์เหาะประทับที่สิงขร ทรงเก็บบุปผานานาพรรณประดับให้พระเทวี และทรงเก็บผลไม้ที่มีรสดีต่าง ๆ เสวยกับพระเทวี แล้วทรงสระสรงคงคาในลำธาร แสนสนุกสุขสำราญพระทัย แล้วเสด็จไปประทับแรมอยู่ในคูหาตลอดราตรี

ฝ่ายข้าราชการทั้งปวง ไม่เห็นพระโพธิสัตว์และพระราชธิดา ก็ตกใจช่วยกันเที่ยวค้นหาในแนวไพรไม่ประสบสองขัติยาต่างเศร้าโศการีบเข้าไปเฝ้าพระเจ้าสิริสีหะนรคุต กราบทูลเหตุที่เกิดแล้วนั้นให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าสิริสีหะนรคุตตรัสให้ไปตามที่พรหมบุรนคร ด้วยกริ่งพระหฤทัยว่าจะเสด็จไปเยี่ยมเยือนพระชนกชนนีบ้าง หมู่อำมาตย์ไปตามถึงพระนครนั้นก็หาได้ทราบข่าวไม่ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวินททัตกราบทูลประวัติเหตุนั้นให้ทรงทราบ ด้วยพระคาถาว่า

ตว ปุตฺโต จ เทวี จ เทฺว ขนา ตตฺถทฺทสํ
เตน มํ ปหิณิ ราชา ตว สาสนํ อาจิกฺขิตุํ

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ดำรงอิสรภาพ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์คือพระราชบุตรและพระสุณิสาสะใภ้ของพระองค์ พากันไปชมสวนพระราชอุทยานแล้วอันตรธานหายไป ข้าพระองค์ทั้งหลายพากันเที่ยวค้นหาในพระราชอุทยานนั้น ก็มิได้พบเห็นเป็นอันสุดที่จะค้นหา โดยเหตุนี้พระเจ้าสิริสีหะนรคุต จึงตรัสใช้ให้ข้าพระองค์มากราบทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าวินททัตกับพระมเหสีได้ทรงทราบก็ทรงพระโศกาปานประหนึ่งว่าดวงพระทัยจะทำลายลาญ ไม่เป็นอันเสวยพระกระยาหารแลบรรทม ตรอมตรม ด้วยปิยวิปโยคทรงพระกรรแสงพลาง จึงกล่าวพระคาถาทั้งหลายว่า

หาหา นตฺถา อุโภ รฏฺา หาหา นตฺถา ชนา เทฺว จ
คตา ปุตฺตกา กุหึ โน จชิสฺสาม ทุเว ชเน
รฏฺเ จ ปเทเส เจว กถํ ตุมฺห จชิสฺสถ
เกน การเณน นตฺถา กถํ โกจิ น ชานาติ
อุโภ มยํ มหาเทวิ อปุตฺตา จ ภวามฺหเส
ปูตฺตเกน วินา อชฺช กถํ ชีวาม ปุตฺตกาติ

ความว่า หาหา แว่นแคว้นนครเกิดพินาศแล้ว พระราชบุตรและพระสุณิสาทั้งสองของเราจึงมาหายไป ขัตติยกุมารและขัตติยกุมารีทั้งสองไปอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ไฉนจึงมาสละเราสองเสียมิได้ระลึกถึงเราทั้งสองผู้เป็นมารดาบ้างเลย ทั้งมาละทิ้งแว่นแคว้นประเทศทั้งหลายเสียด้วย แลมาพากันหายไปด้วยเหตุอะไร ไฉนจึงไม่มีใครเห็นบ้างเลย เมื่อเป็นดังนี้เราทั้งสองชื่อว่าหาบุตรมิได้ เมื่อเราทั้งสองมาพลัดพรากจากบุตรแล้วจะมีชีวิตยืนยาวอยู่อย่างไรได้

เมื่อกษัตริย์ทั้งสองทรงพระโศการ่ำรำพันอยู่ดังนั้น หมู่อำมาตย์นั้น ก็กราบทูลลากลับมาทูลแก่พระเจ้าสิริสีหะนรคุตให้ทรงทราบว่าไม่ได้ข่าว กษัตริย์ทั้งสองพระนครก็ให้เสนาข้าราชการออกไปคอยฟังข่าวอยู่ในป่า

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เที่ยวประพาสเพลินอยู่ในป่าหิมพานต์ประมาณ ๒ เดือน แล้วพาพระเทวีเหาะขึ้นบนเวหาไปยังยอดเขาไกรลาสทอดพระเนตรเห็นสุวรรณนครมีฝูงกินนรฟ้อนรำงามโสภาก็ลงจากเวหาเสด็จไปในสุวรรณบุรี

ฝ่ายพระยาทุมมราชอันเป็นเจ้าแห่งฝูงกินนร เห็นพระโพธิสัตว์ก็คิดอัศจรรย์ใจว่ามนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งที่จะได้เคยมาถึงประเทศนี้ไม่มีเลย ท่านผู้ที่มานี้ชะรอยจะเป็นคนมีฤทธิ์เดชมากเป็นแท้จึงมาได้ ก็แหละผู้ที่มีชื่อลือชาปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้มีปรากฏอยู่ผู้เดียวคือพระสมุททโฆสเท่านั้น พระยาทุมมราชสันนิษฐานในใจอย่างนี้ แล้วก็ร้องเชิญพระโพธิสัตว์ให้เข้าไปนั่งใกล้ตน พระโพธิสัตว์กับพระเทวีก็ยกพระหัตถ์ไหว้พระยาทุมมราช ๆ ก็มาสวมกอดจุมพิตพระโพธิสัตว์ แล้วเชิญให้เป็นพระยาอุปราช ด้วยบาทพระคาถาว่า

อิทํ หิ นครํ รมฺมํ ปุฺกมฺเมน สมฺภวํ
โสวณฺณมยํ ปาการํ อฑฺฒรชฺชํ ททามิ เต

ความว่า พระนครของข้าพระองค์นี้ เป็นที่สนุกสนานควรจะเบิกบานยินดีมีกำแพงแล้วไปด้วยทองธรรมชาติ เป็นเมืองที่บังเกิดขึ้นเพราะอำนาจบุญบุรพกุศล ข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติในเมืองนี้แก่พระองค์กึ่งพระนคร

พระโพธิสัตว์ก็ไม่รับ ตอบว่าจะขอพักอยู่ในสำนักพระยาทุมมราชสัก ๑ เดือนแล้วจะลาไป พระยาทุมมราชก็อนุญาต พระโพธิสัตว์อยู่ในสุวรรณบุรีประมาณ ๑ เดือนแล้วก็อำลาพระยาทุมมราชเหาะขึ้นสู่อากาศไปสระอโนดาต ๆ นั้นมีแก้ว ๗ ประการ มีท่าน้ำสำหรับยักษ์และเทวดาท่า ๑ สำหรับฤาษีวิทยาธรท่า ๑ สำหรับพระพุทธองค์และพระปัจเจกพุทธและพระอรหันต์ทั้งหลายท่า ๑ พระโพธิสัตว์ประพาสริมสระอโนดาตเพลินอยู่ประมาณเดือน ๑ จึงเหาะขึ้นสู่อากาศไปยังสระฉันทันต์ ๆ นั้นมีปริมณฑลร้อยโยชน์ ปราศจากพรรณไม้น้ำทั้งปวง มีภูเขาล้อมอยู่ ๖ เขา คือ ภูเขาเงิน ๑ ภูเขาทอง ๑ ภูเขาแก้วมณี ๑ ภูเขาอัญชัน ๑ ภูเขาหรดาล ๑ ภูเขาแก้วผลึก ๑ เมื่อพระโพธิสัตว์ประพาสชมสระฉันทันต์อยู่นั้น ทรงระลึกถึงชาติหนหลังได้จึงตรัสเล่ากับพระเทวี ด้วยบาทพระคาถาว่า

อหํ ปุพฺเพสุ ชาตีสุ ตสฺมึ ฉทนฺตทเหว
สรุตฺตเม นาคราชา ตทา อโหสึ ฉทฺทนฺเต
ตสฺมึ ฉทฺทนฺตทเห ปุเร นาคสฏฺีสหสฺสานิ
วสาม กาฺจนคุเห  

ความว่า แต่กาลปางหลัง ครั้นเราเป็นพระยาคชสารชื่อฉันทันต์ ได้ควบคุมฝูงคชสารประมาณหกหมื่น อาศัยอยู่ในถ้ำทองนี้

ส่วนพระเทวีก็ระลึกชาติได้เหมือนกัน จึงทูลพระโพธิสัตว์ว่า ในชาตินั้นกระหม่อมฉันเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ มีนามชื่อว่า มหาสุภัททา เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๒ สนทนากันอย่างนี้แล้วก็ชวนกันลงสรงเล่นน้ำในสระนั้นสนุกสนานสำราญพระทัย แล้วก็เก็บดอกไม้ต่าง ๆ ประดับพระกาย ต่างองค์ต่างมีพระหฤทัยเพลิดเพลินอยู่ในรัมณียสถานนั้น ลืมคิดถึงบ้านเมืองแล้วตรัสชวนพระเทวีเหาะไปทอดพระเนตรเห็นแท่นทองมีแก้วผลึกเป็นกระดาน สูงประมาณ ๑๕ ศอกกว้างยาวประมาณ ๓๐ ศอก ประดิษฐานอยู่ในท่ามกลางภูมิประเทศนั้น

ครั้นพระโพธิสัตว์ได้ทอดพระเนตรเห็นสิริราชสมบัติดังนั้น จึงกล่าวพระคาถาว่า

โอรุยฺหาม มหาเทวิ เวฑูริยผลิกมเย
วิสมาม อิธ เทวิ ปจฺฉา รมฺมปุรํ คตา

ความว่า ดูกรพระน้อง เราทั้งสองจะลงสู่ภูมิอันแล้วไปด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วผลึก พากันหยุดพักอยู่ที่นี้ก่อน ภายหลังเราจึงจะพากันกลับไปรัมมบุรนคร ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จลงที่นั้นแล้วชวนพระเทวีว่า เราทั้ง ๒ พักอยู่ที่นี่อีกคราวหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยกลับไปยังรัมมบุรนคร ก็แหละในที่นั้นมีบ่อน้ำ ๒ บ่อ บ่อหนึ่งมีน้ำธรรมดาเต็มบริบูรณ์ บ่อหนึ่งมีน้ำหอมเต็มบริบูรณ์

ในที่นี้มีคำสอดถามเข้ามาว่าน้ำทั้ง ๒ บ่อนั้นมีบริบูรณ์อยู่ เพราะเหตุไรมีคำตอบว่า แต่ก่อนพวกวิทยาธรเคยเอาน้ำมาอาบและเอาของหอมมาทากาย แล้วนั่งเล่นเป็นที่สบายบนแท่นนั้น

พระโพธิสัตว์กับพระเทวีสรงน้ำชำระพระกายแล้วก็ทาน้ำหอมในบ่อนั้นแล้วเสด็จบรรทมหลับไปบนแท่นนั้น

ขณะนั้นมีวิทยาธรคนหนึ่งเหาะมาในอากาศ เห็นพระโพธิสัตว์กับพระเทวีบรรทมหลับอยู่บนแท่น ก็ลักเอาพระขรรค์ได้แล้วเหาะหนีไป พระโพธิสัตว์กับพระเทวีตื่นบรรทมขึ้นแลไม่เห็นพระขรรค์ ก็มีความโสมนัสในพระทัยมาก จนถึงทรงปริเทวนาการ พระโพธิสัตว์ก็ตรัสสอนพระเทวีโดยทางธรรม ระงับความโศกของพระเทวีได้แล้ว พระเทวีจึงทูลถามพระโพธิสัตว์ว่า จะเสด็จไปที่ใดต่อไป พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า คิดจะข้ามฝั่งน้ำไปฟากข้างโน้น แล้วพาพระเทวีเสด็จลงสู่ฝั่งคงคา เห็นขอนไม้ลอยมาขอนหนึ่ง จึงลงว่ายไปฉุดมาริมฝั่งชวนพระเทวีให้ลงเกาะขอนไม้นั้นว่ายข้ามไปด้วยตั้งพระทัยจะให้ถึงฝั่ง ครั้นว่ายไปถึงกลางน้ำก็บังเกิดพายุใหญ่พัดน้ำเป็นคลื่นระลอกกระฉอกฉาน ขอนไม้นั้นก็ภินทนาการแตกออกไปเป็นสองซีก คลื่นก็ซัดขอนไม้นั้นไปต่างกัน เวลาเช้าพระเทวีขึ้นฝั่งได้แลไม่เห็นพระภัสดาก็ทรงพระโศกาดูรพูนเทวษ มีน้ำพระเนตรนองนัยนาเพียงว่าจะวายชนม์ สิ้นสติสมปฤดีล้มลงเหนือพื้นปัถพี ครั้นฟื้นขึ้นได้สติดีแล้ว ก็ทรงตากผ้าแห้งแล้วก็ห่อเครื่องประดับถือมาตามรอยเท้าคชสารก็บรรลุถึงเมืองมัทราษฐ์ จึงเสด็จยุรยาตรเข้าไปในธานี พบสตรีผู้ใหญ่คนหนึ่ง สตรีนั้นไต่ถามพระราชธิดาก็บอกความว่าจะไปรัมมบุรนคร สตรีนั้นซักถามว่า เหตุไรจึงได้มาถึงพระนครนี้หรือว่ามีหมู่ญาติอยู่ในเมืองนี้ เจ้าแวะเข้ามาเพื่อจะเยี่ยมญาติ พระราชธิดาบอกว่าญาติไม่มี สตรีผู้ใหญ่นั้นก็ชวนให้ไปอยู่กับตน พระราชธิดาไปอยู่ในเรือนสตรีผู้ใหญ่นั้น ครั้นเวลาเช้าจึงเอาพระธำมรงค์เพชรวงหนึ่งให้หญิงผู้ใหญ่นั้นเอาไปขายแก่เศรษฐี ๆ ถามราคา หญิงผู้ใหญ่บอกว่าแหวนนี้กำหนดราคาไม่ได้ แต่ฉันจะต้องการทองคำ ๕ เล่มเกวียน เศรษฐีก็รับเอาแหวนนั้นไว้ให้ทองคำตามหญิงนั้นบอก หญิงนั้นก็ให้คนขับเกวียนบรรทุกทองคำมาแล้วมอบทองคำนั้นให้พระราชธิดา ๆ ให้ถ่ายทาสทาสี แล้วให้สร้างเรือนชั้นอันงาม และให้สร้างศาลาเป็นที่พักอาศัยของสมณพราหมณ์ชีในศาลานั้นให้เขียนเรื่องต่าง ๆ คือ เรื่องประชุมแต่งการวิวาหมงคลที่ศาลเทพารักษ์ เรื่องกษัตริย์ทั้ง ๒ ไสยาสน์บนบนแท่นทอง เรื่องกษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงเกาะขอนไม้งิ้วว่ายอยู่กลางน้ำ เกิดคลื่นลมจัดไม้ขอนนั้นแตกเป็น ๒ ซีก กษัตริย์ทั้งสองลอยไปจากกันแล้วให้คนเฝ้าคอยดูว่า ถ้ามีสมณพราหมณ์มาอาศัยในศาลาก็ให้ปูอาสน์รับ และไปบอกคนครัวให้รู้ เวลาเช้าจะได้จัดหาอาหารไปถวาย และให้คนเฝ้าคอยดูกิริยาท่าทางของสมณพราหมณ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่นั้น ว่าจะแสดงอาการแปลกประหลาดอย่างไร หรืออยู่เรียบร้อยเป็นปรกติ ถ้ามีผู้แสดงอาการแปลกก็ให้มาบอก พระราชธิดาสั่งคนเฝ้าไว้มั่นคงอย่างนี้ แต่พระราชธิดาคำนึงถึงพระภัสดาอยู่เป็นนิตย์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ลอยอยู่กลางสมุทรเข้าฝั่งยังไม่ได้

ในที่นี้มีคำสอดถามเข้ามาว่า ด้วยวิบากของอกุศลกรรมอย่างไร พระโพธิสัตว์กับพระเทวีจึงได้ว่ายข้ามน้ำข้ามทะเล และพลัดพรากกัน

มีคำวิสัชนาว่า แต่ชาติปางก่อนพระโพธิสัตว์กับพระเทวีเป็นกษัตริย์ลงสรงน้ำในแม่น้ำในฤดูร้อน เวลานั้นมีสามแณรองค์หนึ่งพายเรือเล่นมาตามริมฝั่ง กษัตริย์ทั้ง ๒ นั้นเอาพระหัตถ์กระทบน้ำให้เป็นคลื่นเข้าไปในเรือของสามเณรจนน้ำเต็มลำ เรือก็ล่มลง สามเณรก็ร้องไห้ว่ายน้ำไป กษัตริย์ทั้ง ๒ ก็ช่วยสามเณรให้ขึ้นบกได้ ด้วยอกุศลวิบากที่ได้ทำแก่สามเณรด้วยความคะนองเท่านี้ พระโพธิสัตว์กับพระเทวีต้องว่ายน้ำอยู่ในสมุทรถึง ๕๐๐ ชาติ

เมื่อพระโพธิสัตว์ว่ายน้ำอยู่ในท่ามกลางพระมหาสมุทรครั้งนั้นถึง ๗ วัน พอนางมณีเมขลากลับจากเทวสมาคม มาตรวจท้องพระมหาสมุทรตามหน้าที่ของตน เห็นพระโพธิสัตว์ว่ายน้ำอยู่อย่างนั้น จึงไปเฝ้าพระอินทร์ทูลเหตุนั้น พระอินทร์ทรงตินางมณีเมขลาว่าไม่ใฝ่ใจในหน้าที่ของตน ละเลยไว้จนไม่ได้ช่วยบุรุษบุคคลผู้มีศีลาจารวัตร์ ให้รีบไปช่วยพระโพธิสัตว์ให้พ้นจากอุทกภัย นางมณีเมขลาพูดว่ามีวิทยาธรตนหนึ่งลักเอาพระขรรค์ของพระโพธิสัตว์ไปเสีย พระโพธิสัตว์จึงได้รับความลำบากถึงเพียงนี้ ท้าววชิรปาณีได้ทรงสดับก็ทรงพระพิโรธวิทยาธรนั้น จึงทรงกระบองเพชร เสด็จไปประดิษฐาน ณ ที่สูง แกว่งกระบองเพชรเหนือศีรษะวิทยาธร ขู่ด้วยทรงพระพิโรธว่า เฮ้ยวิทยาธรผู้เป็นโจร เหตุไรเองจึงไปลักเอาพระขรรค์ของพระโพธิสัตว์มา ถ้าเองไม่เอาไปคืนให้ท่านข้าจะตีหัวเองด้วยกระบองเพชรนี้ให้แตกเป็น ๓ เสี่ยง เองอย่าคิดหลีกเลี่ยงจงเอาไปคืนเดี๋ยวนี้ วิทยาธรนั้นกลัวพระอินทร์ก็เอาพระขรรค์ไปคืนให้พระโพธิสัตว์ท่ามกลางมหาสมุทร พระโพธิสัตว์ก็ถือพระขรรค์เหาะขึ้นสู่อากาศไปลงที่มัทราษฐ์นคร คิดว่าจะผ่อนพักบริโภคอาหารและสืบหาพระชายา เผื่อว่าจะเซซังมาอยู่ในบุรีนี้บ้าง จึงเปลื้องเครื่องประดับทั้งหมดซ่อนไว้ในที่กำบังแห่งหนึ่ง แล้วเปลี่ยนเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปในพารา ชาวเมืองเห็นก็บอกให้ไปอาศัยที่ศาลาที่พระราชธิดาสร้าง พระโพธิสัตว์เสด็จไปที่ศาลานั้นได้รับความปฏิสันถารทุกประการ ตลอดจนอาหารก็บริบูรณ์ เมื่อพระโพธิสัตว์บริโภคอาหารเสร็จแล้ว พิจารณาดูรูปภาพในศาลานั้น เห็นเป็นเรื่องเหมือนประวัติและความพลัดพรากของพระองค์ก็ทรงพระโศกา ครั้นคลายโศกแล้วทรงพระสรวล คนรักษาศาลาก็นำอาการแปลกนั้นไปบอกกับพระราชธิดา ๆ ก็รีบเสด็จไปสู่ศาลาเห็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงพระปรีดาปราโมทย์ยิ่งใหญ่ สุดวิสัยจะเปรียบปาน จึงมีพระเสาวณีย์ตรัสคาถาว่า

นิพฺพุตา นูน เม โสภา นิพฺพุตา นูน เม ภยา
นิพฺพุตา วิปุลา โสกา ยสฺสายํ อีทิสา โสกา

ความว่า แต่ก่อนเรานี้ให้รุ่มร้อนด้วยความโสกาดูร เพราะพลัดพรากจากพระภัสดา บัดนี้เราได้เห็นพระภัสดา ความโศกของเราก็ดับภัยของเราก็ดับ ความโศกแลภัยเช่นไรที่เกิดขึ้นแก่เรา ความโศกและภัยเช่นนั้นก็ดับระงับไปหมดแล้ว

พระโพธิสัตว์กับพระเทวีก็จรลีขึ้นสู่เคหฐานที่สร้างไว้นั้นสรงน้ำหอมชำระพระกายบริโภคอาหารสำราญแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ไปเอาเครื่องประดับที่ทรงซ่อนไว้นั้นมาประดับพระกาย แล้วทรงดำรัสคำเป็นที่เพลินพระทัย ประทับอยู่ ณ ที่นั้นไม่สู้ช้าวัน จึงให้หาพราหมณ์ทั้งหลายมาเฝ้า ประทานศาลาและเรือนทั้งทาสทาสีกับทองคำทั้งสิ้น เสร็จแล้ว ตรัสชวนพระเทวีเสด็จออกจากเมืองนั้นเหาะขึ้นยังเวหามาตลอดราตรีพอสว่างดีก็ถึงพระราชอุทยาน เสด็จลงมาประทับอยู่ ณ พระตำหนัก

ฝ่ายคนรักษาพระราชอุทยาน เห็นกษัตริย์ทั้ง ๒ แล้วก็รีบไปกราบทูลพระเจ้าสิริสีพะนรคุต ๆ ก็ทรงพระโสมนัส พร้อมด้วยพระมเหสีและพระราชบริวารเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ทรงสวมกอด จุมพิตแล้วตรัสถาม พระโพธิสัตว์กราบทูลเรื่องแต่ต้นจนกลับมาได้ให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าสิริสีหะนรคุตจึงดำรัสให้ตกแต่งพระนครให้งามวิจิตรบรรจง แล้วอภิเษกพระโพธิสัตว์ถวายราชสมบัติให้เป็นสิทธิทั้งพารา แล้วพระองค์เสด็จบรรพชาเป็นฤาษีบำเพ็ญฌานจนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วไปเกิดในพรหมโลก

ฝ่ายพระเจ้าวินททัตได้ทรงทราบว่าพระโพธิสัตว์ได้เสวยราชสมบัติในรัมมบุรีแล้ว ก็ให้อำมาตย์มาเฝ้าเชิญเสด็จพระโพธิสัตว์ไปมอบถวายราชสมบัติ แล้วเสด็จออกบรรพชาเป็นฤาษีบำเพ็ญฌานจนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วไปเกิดในพรหมโลก

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ให้ตั้งโรงทานให้ทานเป็นนิตย์ทั้ง ๒ พระนคร หมู่อำมาตย์ราษฎรที่ประพฤติตามโอวาทของพระโพธิสัตว์ ดำรงอยู่ในเบญจศีลเป็นอัตรา ครั้นสิ้นชีวาแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์

สตถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา ฯลฯ สมเด็จพระจอมธรรมทรงตรัสซึ่งนิทาน ครั้งนั้นเทวทัตเป็นวิทยาธรที่ลักพระขรรค์ พระเจ้าสิริสุทโธทน์เป็นพระเจ้าวินททัต พระสิริมหามายาเป็นนางเทพธิดา อานนท์เป็นบุตรปุโรหิต ราหุลเป็นบุตรอำมาตย์ สาริบุตรเป็นพระเจ้าสิริสีหะนรคุต พระมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระนางกนกวดี โมคคัลลาน์เป็นพระยาทุมมราช อนุรุทธเป็นพระอินทร์ อุบลวรรณาเป็นนางมณีเมขลา พิมพาเป็นนางวินทุมดี เราตถาคตเป็นสมุทรโฆสราชกุมาร

จบสมุททโฆสชาดก

----------------------------

เรื่องสมุททโฆสนี้ นอกจากปัญญาสชาดกยังมีแต่งเป็นคำฉันท์ เริ่มแต่งในครั้งกรุงศรีอยุธยา พระมหาราชครูแต่งค้างอยู่ตอน ๑ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงต่อค้างอยู่อีกตอน ๑ มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งต่ออีกตอน ๑ จึงจบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ