- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
อหํ สกฺโกมิ โมเจตุนฺติ อิทํ สตฺถา กปิลวตฺถุ อุปนิสฺสาย นิโคฺรธาราเม วิหรนฺโต สีลทานปารมึ อตฺตโน อานนฺทสฺสตฺถาย ชีวิตปริจฺจสงฺขาตํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จสำราญพระพุทธอิริยาบถอยู่ในนิโครธาราม อาศัยพระนครกบิลพัสดุเป็นที่โคจรภิกขาจาร ทรงพระปรารภมีทานบารมี ศีลบารมี ซึ่งนับว่าสละชีวิตของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่พระอานนท์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อหํ สกฺโกมิ โมเจตุํ เป็นต้น
ในกาลนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อสุธรรมบาลอยู่ในพระนครพาราณสี พราหมณ์นั้นเลี้ยงหนูเผือกเหมือนสีสังข์ไว้ตัวหนึ่ง หนูนั้นรักษาศีลห้า บางวันรักษาศีลแต่เวลาเช้าจนถึงเวลากลางวัน ตั้งแต่เวลากลางวันไปถึงเวลาเย็นหาได้รักษาไม่ บางวันไม่ได้รักษาในเวลาเช้าจนถึงเวลากลางวัน มารักษาตั้งแต่เวลากลางวันจนถึงเวลาเย็น พราหมณ์นั้นเดิมเป็นทาสของมหาเศรษฐี ภายหลังได้อาศัยพระโพธิสัตว์จึงได้ทรัพย์เป็นอันมาก มีทาสทาสีทรัพย์สินเงินทองบริบูรณ์มั่งคั่ง ในกาลนั้นมหาเศรษฐีถึงเวลาไปเฝ้าบรมกษัตริย์ แล้วเคยมาเล่นกับหนูที่รักษาศีลห้านั้นเล่นอยู่ตั้งแต่เวลาเช้าจนเวลากลางวันบ้าง ตั้งแต่เวลากลางวันจนถึงเวลาเย็นบ้าง เป็นนิจนิรันดรมา เมื่อมหาเศรษฐีเล่นอยู่กับหนูนั้น ได้จับหนูเล่นบ้าง ได้ลูบศีรษะหนูเล่นบ้าง
หนูนั้นจึงคำนึงในใจว่า วันนี้ท่านมหาเศรษฐีมาเล่นกับเรา ท่านมหาเศรษฐีก็จะทำลายศีลเรา การที่ท่านเศรษฐีมาเล่นกับเรานั้นไม่สมควรเป็นบาป ท่านเศรษฐีมาจับเราไว้มั่นคง ความเวทนาก็จักเกิดมีแก่เรา บาปก็จักมีแก่มหาเศรษฐี ท่านมหาเศรษฐีจะทุบเราจะขว้างปาเราไปให้ตกเหนือภาคพื้น ความเวทนาก็จะเกิดมีแก่เรา บาปก็จะมีแก่เศรษฐี เพราะเหตุนั้นขออย่าให้ท่านมหาเศรษฐีมาเล่นกับเราเลย เราก็จะได้ไม่เล่นกับท่านมหาเศรษฐี ท่านมหาเศรษฐีหาทราบเนื้อความนั้นไม่ มาเล่นกับเราก็จะเป็นอันตรายแก่ศีลของเรา
อยู่มาวันหนึ่งท่านมหาเศรษฐีมาจากที่เฝ้าบรมกษัตริย์ พระมหาสัตว์จึงเข้าไปใกล้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้ารักษาศีลห้า วันนี้ท่านก็ดี พราหมณ์ก็ดี อย่าได้เล่นกับข้าพเจ้าเลย ถ้าท่านเล่นกับข้าพเจ้าแล้ว บาปเป็นอันมากก็จะหลั่งไหลมาถึงท่าน ถ้าท่านไม่เล่นกับข้าพเจ้าแล้ว บุญกุศลเป็นอันมากก็จะหลั่งไหลมาถึงท่าน ท่านก็จะได้ประสบหนทางที่จะไปยังสวรรค์
พราหมณ์ได้ฟังวาจานั้นแล้วบันดาลความโกรธหนู จึงบังคับทาสกรรมกรว่า เจ้าจงจับหนูไปทุบศีรษะโยนทิ้งเสียที่พื้นดิน ท่านมหาเศรษฐีจึงรำพึงในใจว่า จะเอาหนูไปขายถึงจะได้ทรัพย์มามากสักร้อยตำลึงพันตำลึงก็ไม่สมควร เราก็ดีพราหมณ์ก็ดี ได้เป็นผู้มีโภคทรัพย์สมบัติมากก็เพราะอาศัยหนูนี้ เพราะเหตุนั้นอุปัทวะอันตรายจักบังเกิดมีแก่เราๆ จะต้องไปยังทุคติ ถ้าเราจะไม่กระทำหนูเราก็จะได้ไปสวรรค์ พราหมณ์ใช้ทาสกรรมกรให้กระทำอันตรายแก่หนู ๆ ตายลงเมื่อใด เราก็จะไม่มีชีวิตเมื่อนั้น แล้วคิดได้อุบายอันหนึ่ง จึงรีบลุกขึ้นไปชิงเอาหนูได้แล้ว ออกจากเรือนพราหมณ์ไปก็ล้มลงเหนือภาคพื้นได้ทุกขเวทนาเป็นอันมากแล้วก็ปล่อยหนูไป หนูหลุดพ้นไปจากมือท่านมหาเศรษฐีแล้วก็หนีเข้าป่าไป พราหมณ์ได้ยินเสียงท่านมหาเศรษฐีแล้วก็ออกจากเรือน ได้เห็นท่านมหาเศรษฐีแล้วก็สะดุ้งตกใจ จึงฉวยได้น้ำสำหรับรดให้เป็นสิริมงคลรดท่านมหาเศรษฐีก็ฟื้นลุกขึ้นนั่งได้ พราหมณ์ก็พาท่านมหาเศรษฐีเข้าไปยังเคหสถาน
จำเดิมตั้งแต่วันที่หนูออกจากเรือนไปแล้ว พราหมณ์ก็ใช้สอยทรัพย์หมดเปลืองสิ้นไปจนถึงแก่ความตกยากต้องขายทาส ครั้นทรัพย์ที่ขายทาสได้มาหมดสิ้นไปแล้วต้องขายทาสี ครั้นทรัพย์ที่ขายทาสีได้มาหมดสิ้นไปแล้วต้องขายบุตรธิดา ครั้นทรัพย์ที่ขายบุตรธิดาได้มาหมดสิ้นไปแล้วต้องขายภรรยา ครั้นทรัพย์ที่ขายภรรยาได้มาหมดสิ้นไปแล้วต้องขายเรือน ครั้นทรัพย์ที่ขายเรือนได้มาหมดสิ้นไปแล้วต้องขายผ้านุ่งห่มผ้าห่ม ครั้นทรัพย์ที่ขายผ้านุ่งผ้าห่มได้มาหมดสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ต้องนุ่งห่มผ้าขาดถือกระเบื้องเที่ยวขอทานได้ความขัดสน เลี้ยงชีวิตด้วยความลำบากยากจนกะเบียดเกษียณ แต่พราหมณ์นั้นเป็นคนใจอ่อนได้รักษาศีลห้าอยู่เสมอทุกวัน ๆ
ครั้นกาลล่วงไปได้ปีหนึ่ง พระมหาสัตว์จึงรำพึงในใจว่า นายเราที่อยู่ในพระนครจะประพฤติเป็นไปอย่างไรหนอ นายนั้นก็คงไม่ทราบว่าเราอยู่ที่ไหน จำเราจะไปเยี่ยมเยือนนายของเรา คิดแล้วก็ออกจากป่ามาไม่เห็นเรือนพราหมณ์ ไม่เห็นภรรยาบุตรธิดา ทาสทาสีของพราหมณ์ ไม่เห็นโคกระบือช้างม้ารถของพราหมณ์ เที่ยวค้นหาไปถึงบ้านร้างแห่งหนึ่งได้เห็นพราหมณ์นอนอยู่ใต้รถคร่ำคร่าคันหนึ่ง ในเรือนของคนอื่นในหมู่บ้านร้างนั้นแล้ว ซ้ำได้เห็นของที่มีกลิ่นเหม็นเต็มไปในกระเบื้องรองผ้านุ่งไว้ พระมหาสัตว์ได้เห็นพราหมณ์เป็นคนกำพร้า ก็มีน้ำตาหลั่งไหลจูบเท้าพราหมณ์แล้วร้องไห้ จึงปลุกพราหมณ์ว่า ข้าแต่เจ้า ท่านจงลุกขึ้นเถิด
พราหมณ์ได้ยินดังนั้นแล้วจึงถามว่าใคร หนูจึงพูดว่า ข้าแต่เจ้า ข้าพเจ้าชื่อเสตปาลก พราหมณ์ลุกขึ้นเห็นหนูเผือกรุ่งเรืองไปด้วยสิริ มีศีรษะราวกับสวมมงกุฎ ประดุจดังพระเจ้าบรมจักรพรรดิราชฉะนั้น ก็จำได้แล้วระลึกขึ้นมาได้ถึงสมบัติของตนก็ร้องไห้
หนูเผือกจึงพูดเล้าโลมเอาใจให้พราหมณ์บรรเทาทุกข์ แล้วจึงกล่าวคาถาว่า
อหํ สกฺโกมิ โมเจตุํ | อหํ สกฺโกมิ โมเจยฺยํ |
สุวณฺณรชฏาเสสํ | เวฑุริยํ พหุธนํ |
สพฺเพเหว สุสมฺปตฺติ | ปุพฺเพ ภฺุชตุ เต วิย |
ความว่า ข้าพเจ้าสามารถจะปลดเปลื้องทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองทั้งปวงของท่านที่หมดสิ้นไปแล้วนั้นให้กลับคืนมาได้ มิให้หลงเหลือ จะให้ท่านได้บริโภคสมบัติทั้งปวงเหมือนแต่ก่อนแล้วจึงพูดว่า ข้าแต่ท่านมหาพราหมณ์ ท่านอย่าคิดวิตกไปเลย ท่านจงพาข้าพเจ้าไปขายแต่อย่าไปขายแก่เศรษฐี ท่านจงพาข้าพเจ้าไปขายในราชสำนักเถิด
ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว ถึงเวลาเช้าพอแสงอรุณขึ้นมาพราหมณ์รีบอาบน้ำตกแต่งกายแล้วไปหาท่านเศรษฐี พรรณนาคุณของหนูให้เศรษฐีฟัง ท่านมหาเศรษฐีได้เห็นหนูแล้วจึงพูดว่าท่านพราหมณ์ให้หนูแก่ข้าเถิด แล้วก็อุ้มเอาหนูไปกอดไว้ได้เห็นหนูมีนัยน์ตาเป็นดังนิล จึงพูดว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านให้หนูแก่ข้าเถิด ข้าจะให้ทรัพย์แก่ท่านพันตำลึง
พราหมณ์ตอบว่าข้าพเจ้าไม่รับ เศรษฐีจึงพูดว่า ข้าจะให้ทรัพย์แก่ท่านหมื่นตำลึง พราหมณ์ก็ตอบว่าข้าพเจ้าไม่รับ เศรษฐีพูดว่าข้าจะให้ทรัพย์แก่ท่านแสนตำลึง พราหมณ์จึงตอบว่า ท่านจะขนเอาทรัพย์ของท่านมาให้แก่ข้าพเจ้าสักเท่าไร ๆ ก็ดี ข้าพเจ้าไม่ต้องประสงค์ทรัพย์ของท่านข้าพเจ้าไม่ขายแก่ท่าน มหาเศรษฐีจึงพูดว่า ถ้าท่านไม่ขายท่านมาเรือนข้าต้องการอะไร
พราหมณ์จึงตอบว่า ข้าแต่ท่านเศรษฐีผู้เจริญ หนูตัวนี้อยู่ในเรือนใด ๆ ก็จะเกิดลาภใหญ่ในเรือนนั้น ๆ ถ้าขนของหนูนี้เส้นหนึ่งก็ดีสองเส้นก็ดีสามเส้นก็ดีตกอยู่ในเรือนใด ทรัพย์สมบัติใหญ่ก็จะเกิดมีในเรือนนั้น เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าไปแล้วลาภสักการอันใหญ่ที่จะมีแก่ท่าน และในสำนักของท่าน ลำดับนั้นท่านมหาเศรษฐีจึงให้ผ้าขาวบูชาหนูสองผืน แล้วขอขนไว้สองสามเส้น พราหมณ์เป็นคนยากจนขัดสนจึงให้ขนหนูแก่ท่านมหาเศรษฐีสองสามเส้นแล้ว ก็นุ่งผ้าขาวนั้นผืนหนึ่งเข้าไปยังพระราชนิเวศน์
บรมกษัตริย์ทอดพระเนตร์เห็นพราหมณ์แล้วก็มีพระทัยยินดี มีพระประสงค์จะฟังธรรม พราหมณ์ก็เข้าไปนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัท เมื่อบรมกษัตริย์จะตรัสถามพราหมณ์ จึงตรัสพระคาถาว่า
กฺสุมินฺนุ รฏฺเ ตว ชาติภูมิ
มูสิกมาทาย อิธาปิ ปตฺโต
อิทานิ ทสสหสฺสํ สตสหสฺสํ
กิตฺตกํ ธนํ ลพฺภสิ ตฺวํ
ความว่า ชาติภูมิของท่านอยู่ถึงแว่นแคว้นตำบลไหนจึงได้เอาหนูมาจนถึงที่นี้ เดี๋ยวท่านอยากจะได้ทรัพย์สักหมื่นตำลึงหรือสักแสนตำลึงหรือสักเท่าไรหนอ
พราหมณ์ได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว จึงกราบทูลเป็นคาถาว่า
สตํควํ สตํหตฺถี | สตํทาสี สตํทาสา |
สตํกฺา สตํเคหา | สพฺพสมฺปตฺติ เม สตํ |
ความว่า ข้าพระบาทปรารถนาจะได้โคร้อยโค ช้างร้อยช้าง นางทาสีร้อยนางทาสร้อยคน นางกัญญาร้อยนางเรือนร้อยหลัง สรรพสมบัติทั้งปวงอย่างละร้อย ๆ พระพุทธเจ้าข้า
บรมกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นหนูแล้วจึงรื่นเริงบันเทิงพระทัย จึงตรัสว่า พราหมณ์ให้หนูแก่ข้าเถิด แล้วทรงรับเอาหนูไว้โดยเคารพ ทรงจุมพิตที่ท้องหนูบ้างที่ศีรษะหนูบ้าง เมื่อจะตรัสกับเจ้าพนักงาน จึงตรัสพระคาถาว่า
สตํ หตฺถี สตํ อสฺสา | สตํ วาสฺสตรี รถา |
สตํ กฺา สตํ เคหา | สตํ ทาสี สตํ ทาสา |
สตํ ควํ สตุสุโภ | สพฺพสมฺปตฺติ เม สตํ |
ความว่า เจ้าพนักงานจงนำเอาช้างร้อยช้าง ม้าร้อยม้า นางอัสดรร้อยตัว รถร้อยรถ นางกัญญาร้อยนาง เรือนร้อยหลัง ทาสีร้อยคน ทาสาร้อยคน โคร้อยโค อุสุภราชร้อยตัว สรรพสมบัติทั้งปวงอย่างละร้อยมาให้แก่ข้า
เจ้าพนักงานกระทำการตามพระราชดำรัสแล้ว บรมกษัตริย์จึงพระราชทานสรรพสมบัติทั้งปวงอย่างละร้อย กับทั้งเครื่องประดับทั้งปวงแก่พราหมณ์ แล้วก็กระทำสักการะใหญ่แก่หนูนั้น
พราหมณ์ได้รับสมบัติทั้งปวงไปแล้ว ก็เป็นผู้มียศใหญ่เหมือนแต่ก่อน หนูนั้นก็แสดงธรรมสั่งสอนบรมกษัตริย์กับทั้งมหาชนทั้งปวงให้ตั้งอยู่ในธรรม ส่วนบรมกษัตริย์กับทั้งชาวพระนครทั้งปวงก็บำเพ็ญมหาทานรักษาศีลตั้งอยู่ในโอวาทของหนูนั้น เพราะเหตุนั้นชนทั้งหลาย มีบรมกษัตริย์เป็นประธาน ก็บังเกิดเป็นคนตั้งอยู่ในธรรม จึงพากันขนานนามกรหนูนั้นว่า ธรรมเสตบัณฑิต
สมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
สุณาถ วจนํ มม | นามโคตฺตํ น าตีนํ |
ราชา มยฺหํ ธมฺเม ิโต | ธมฺมเสโต จ ปณฺฑิโต |
อหํ เสฏฺโ มนุสฺสานํ | ชาโต สตฺโต มูสิ ตทา |
สพฺพสตฺตหิตตฺถาย | ธมฺมํ เสฏฺมหํ กโร |
ธมฺมนาวปุณฺณสตฺเต | ปาปุณิสฺสามิ นิพฺพุตึ |
ความว่า ท่านทั้งหลายฟังถ้อยคำเรา เราได้เกิดแล้วในกำเนิดสัตว์เป็นพระยาหนู ชื่อธรรมเสตเป็นบัณฑิตตั้งอยู่ในธรรมประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย นามและโคตรของญาติทั้งหลายไม่ปรากฏ เราได้กระทำการแสดงธรรมอันประเสริฐ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ประสงค์จะบรรทุกสัตวโลกให้เต็มนาวา กล่าวคือพระธรรมนำข้ามฟากฝั่งไปให้ถึงพระนฤพาน
พระโพธิสัตว์ แสดงธรรมอยู่ในพระราชสำนักมาสิ้นกาลนาน ส่วนบรมกษัตริย์กับทั้งมหาชนทั้งปวงก็ตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของพระมหาสัตว์ ครั้นกระทำกาลกิริยาลงแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก พระมหาสัตว์เล้าโลมให้บรมกษัตริย์กับทั้งมหาชนทั้งปวงให้รื่นเริงบันเทิงใจแล้ว เมื่อจะแสดงธรรมเทศนา จึงกล่าวคาถาว่า
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ | ปมาโท มจฺจุโน ปทํ |
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ | เย ปมตฺตา ยถา มตา |
เอวํ วิเสสโต ตฺวา | อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา |
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ | อริยานํ โคจเร รตา |
ความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางให้ผู้ปรนนิบัติดำเนินไปถึงพระนฤพาน ความประมาทเป็นทางไปของมัจจุราชกล่าวคือความตาย ชนทั้งหลายผู้ไม่ประมาหแล้วชื่อว่าไม่ตาย ชนทั้งหลายเหล่าใดที่เป็นผู้ประมาทแล้ว ชนทั้งหลายเหล่านั้นถึงจะยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายแล้ว ชนทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต เพราะรู้เนื้อความนั้นแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดแล้วและไม่ประมาทอย่างนี้ย่อมรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในความไม่ประมาทรี่นรมย์ยินดีอยู่ในวัตตปฏิบัติเป็นที่ประพฤติของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
บรมกษัตริย์กับทั้งมหาชนทั้งปวงได้สดับธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว พากันกระทำกองการกุศลมีบริจาคทานและรักษาศีลเป็นต้น ส่วนพระโพธิสัตว์ก็ถวายบังคมลาบรมกษัตริย์ ออกจากพระนครไปอยู่ในหิมวันตประเทศ ในกาลนั้น ครั้นถึงวันบุรณมีดิถีมีพระจันทร์เต็มดวงวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์อาบน้ำชำระสรีรกายแล้วไม่บริโภคอาหาร รักษาศีลสิบประการอยู่ตั้งแต่เช้าจนเย็น ครั้งนั้นให้สำแดงอาการเร่าร้อนขึ้นไปถึงพิภพท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการว่าใครหนอจะทำเราให้เคลื่อนไปจากสมบัติ ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า หนูนี้ปรารถนาอะไร คงจะปรารถนาพราหมณ์สมบัติ คงจะไม่ปรารถนาสมบัติอื่น หรือว่าจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว ก็ลงมาจากสวรรค์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มายืนอยู่ใกล้พระมหาสัตว์ ๆ ได้เห็นดังนั้นก็ดีใจ เมื่อจะถามต่อไปจึงกล่าวคาถาว่า
อถ ตฺวํ เกน วณฺเณน | เกน วา ปน เหตุนา |
อนุปฺปตฺโต พฺรหารฺํ | ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต |
ความว่า ท่านมีเพศเป็นอะไรมีเหตุอะไรจึงได้มาถึงพรหาป่าใหญ่นี้ ข้าพเจ้าขอถามท่าน ๆ จงแจ้งเนื้อความนั้นแก่ข้าเถิด
พราหมณ์จึงกล่าวคาถาตอบว่า
ปุณฺณมิยํ อภกฺขสิ | ปาโต ภฺุชนมตฺตํ เม |
อหํ ยาจามิ มํสฺจ | อาคโต ตว สนฺติเก |
ความว่า ในวันบุรณมีนี้ท่านยังไม่ได้บริโภคอาหารหรือ ถึงข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้บริโภคอาหารตั้งแต่เช้ามาแล้วเหมือนกัน ข้าพเจ้ามาหาในสำนักท่านประสงค์จะขอเนื้อท่าน
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็ดีใจประดุจดังว่าจะได้สำเร็จพระโพธิญาณในวันพรุ่งนี้ฉะนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ทารูนิ อาหราเปสิ | อคฺคึ กตฺวา สุองฺคารํ |
ตว กมฺมํ กโรนฺตสฺส | มม มํสํ ททามิ เต |
ความว่า ท่านจงนำเอาฟืนมาทำไฟให้เป็นถ่านให้ดี เมื่อท่านทำไฟให้เป็นถ่านดีแล้วข้าพเจ้าจะให้เนื้อแก่ท่าน ลำดับนั้นพราหมณ์จึงนฤมิตให้เป็นหลุมเต็มไปด้วยถ่านเพลิงแล้วจึงบอกแก่พระโพธิสัตว์
ลำดับนั้นพระมหาสัตว์อธิษฐานในใจด้วยอานุภาพที่มีจิตประกอบไปด้วยเมตตา ว่าขอให้สัตว์ทั้งปวงอย่าได้มีอยู่ในสรีรกายของเราเลย แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ผู้เจริญ เราไม่ปรารถนามนุษย์สมบัติ เราไม่ปรารถนาเทวสมบัติ เราปรารถนาแต่พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า
ททามิ น วิกมฺปามิ | โพธิยาเยว การณา |
ยทา สพฺพฺุตํ ปตฺโต | ตาเรสฺสามิ สเทวกํ |
นิมุคฺคํ ชนตํ สพฺพํ | นิมุคฺคํ อุทฺธริตฺวาน |
ปาปุณามิ สิวํ เขมํ | อชรํ อมรํ ปทํ |
ความว่าเราจะให้เราไม่หวั่นหวาดเพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเทียว เมื่อใดเราได้ถึงพระสัพพัญญุตญาณแล้ว เราจักให้ประชุมชนกับทั้งเทวดาที่จมอยู่ทั้งสิ้น ให้ข้ามพ้นไปจากสังสารสาคร ครั้นเรารื้อขนสัตว์ที่จมอยู่ขึ้นแล้ว เราก็จะเข้าสู่พระนิพพานเป็นที่เกษมสุขสำราญไม่มีแก่ไม่มีตายดังนี้
พระมหาสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว ก็โจนลงไปในหลุมอันเต็มด้วยถ่านเพลิง ดอกบัวใหญ่ก็เกิดปรากฏขึ้นรับพระมหาสัตว์ไว้ ด้วยบุญญานุภาพของพระมหาสัตว์ ๆ ประดิษฐานอยู่บนดอกบัวใหญ่แล้ว เมื่อจะเปล่งอุทานวาจาจึงกล่าวคาถาว่า
สีลเตเชน ปุพฺเพสุ | กตํ กลฺยาณสาธุกํ |
สพฺพฺุตํ ปิยํ มยฺหํ | โอตริตฺวาน อคฺคิมฺหิ |
ตํขณฺเว เตเชน | สุวณฺณปทุโม อหุ |
รถจกฺกปฺปมาเณน | อคฺคิชาโล มโหปภา |
เอกโลมํ อสุสฺสติ | ปุณฺณจนฺทํ ยถา สุภํ |
สตฺตโยชนสตุพฺเพธํ | สหสฺสปตฺถรวนํ |
มชฺฌิมกาลจนฺทสฺมึ | โชตติ สกลํ วเน |
ความว่า ด้วยเดชของศีลและกรรมที่ข้าพเจ้าทำแล้วในกาลก่อน หากเป็นกรรมดีงามทำประโยชน์ให้สำเร็จแล้วไซร้ ขอให้ข้าพเจ้าได้พระสัพพัญญุตญาณอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ลงไปในไฟเพื่อประสงค์จะได้พระสัพพัญญุตญาณนั้น ในขณะนั้นดอกประทุมทองมีประมาณเท่ากงจักรก็ผุดขึ้นมารับข้าพเจ้า เปลวไฟมีแสงสว่างรุ่งเรืองใหญ่ก็ไม่ไหม้ข้าพเจ้า โดยที่สุดแต่ขนเส้นหนึ่งก็ไม่ขาด ด้วยเดชของพระสัพพัญญุตญาณนั้น ดอกประทุมทองนั้นสูงขึ้นไปได้เจ็ดโยชน์ แผ่ไปได้พันโยชน์ งามดังพระจันทรเต็มดวง สว่างไปทั้งป่า ในเวลาพระจันทรเที่ยง
ท้าวสักกเทวราช จึงถือเอาดอกประทุมทองที่รองรับพระมหาบุรุษไว้มิให้ไฟไหม้ ด้วยเดชานุภาพของบุญที่พระมหาบุรุษปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณนั้นวางไว้บนพื้นพระหัตถ์ เสด็จไปยังดาวดึงสพิภพ สำแดงแก่เทพยดาทั้งปวงว่า ท่านทั้งหลายจงทัศนาการบุรุษผู้นี้ ๆ จักถึงพระสัพพัญญุตญาณ จักปลดเปลื้องเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์แล้วจักเข้าสู่พระนิพพานในอนาคตกาล ตรัสดังนี้แล้วก็ให้พระมหาบุรุษนั่งเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์แล้ววิงวอนให้แสดงธรรม
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมจึงกล่าวคาถานี้ว่า
เย เทวา มนุสฺสา สตฺตา | ปฺจสีลาสุ รกฺขนฺติ |
โลกสฺมึ สุขิตา ปตฺตา | ปรโลเก สุขี ภว |
สกฺกสมฺปตฺติ พฺรหฺมานํ | ปจฺฉา นิพฺพานสนฺติเก |
สีลํ อาภรณํ เสฏฺํ | สีลํ ปาเถยฺยมุตฺตมํ |
สีลํ สคฺคสฺส โสปาณํ | สีลํ พุทฺธานโคจรํ |
แปลว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม มารักษาอยู่ในศีลห้าประการ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นก็จะได้ความสุขสำราญในโลกนี้ ครั้นละโลกนี้ไปสู่ปรโลกแล้วก็จะมีแต่ความสุข จะได้สมบัติเป็นพระอินทร์พระพรหม ภายหลังก็จะได้สำเร็จแก่พระนิพพาน เพราะศีลเป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ ศีลเป็นเสบียงอันอุดม ศีลเป็นบันไดของสวรรค์ ศีลเป็นโคจรข้อปฏิบัติของพุทธบุคคลทั้งหลาย
ครั้นจบธรรมเทศนาลง เทพคณานิกรทั้งหลายก็ซ้องสาธุการบูชาด้วยผ้าทิพย์และธูปเทียนดอกไม้และของหอมและเครื่องประดับทิพย์แล้ว ตั้งอยู่ในคำสอนของพระมหาสัตว์แล้ว เจรจาตักเตือนกันและกันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายผู้นฤทุกข์ ท่านทั้งหลายอย่าเป็นผู้ประมาทเลย แล้วก็อำลาท้าวสักกเทวราชไปยังทิพย์พิมานของตน
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชก็พาพระโพธิสัตว์ลงมาจากสวรรค์ให้พระโพธิสัตว์ประดิษฐานในที่อยู่แล้ว นฤมิตสระโบกขรณีมีประทุมชาติห้าประการ ประดับไปด้วยรัตนะเจ็ดประการมีประมาณกว้างใหญ่ถึงห้าสิบโยชน์เสร็จแล้วอำลาพระโพธิสัตว์กลับไปยังทิพย์สถานของตน
พระมหาสัตว์รักษาศีลห้าประการอยู่ในที่รัมณียสถานครั้นสิ้นอายุกาลแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก
สมเด็จพระศาสดา นำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วเมื่อจะประชุมชาดก จึงตรัสพระคาถานี้ในที่สุดพระชาดกว่า
สารีปุตฺโต ตทา ราชา | อานนฺโท ปาลโก ตทา |
อนุรุทฺโธ ตทา สกฺโก | กสฺสโป พฺราหฺมโณ ตทา |
อมฺพตฺโถ โลมเสฏี จ | เทวตา พุทฺธสาวกา |
ธมฺมเสโต สีลธโร | สพฺพฺู ทิปทุตฺตโม |
ความว่า พระราชาในกาลนั้น สืบประวัติกลับชาติมาเป็นพระสาริบุตรในกาลนี้ บุรุษที่เลี้ยงหนูเป็นพระอานนท์ ท้าวสักกเทวราชเป็นพระอนุรุทธ พราหมณ์สุธรรมปาลเป็นพระกัสสป เศรษฐีที่ได้ขนหนูไว้เป็นพระอัมพัตถเถระ เทพยดาทั้งหลายเป็นพุทธสาวก หนูทรงศีลชื่อธรรมเสต เป็นพระสัพพัญญูผู้อุดมกว่าสัตว์สองเท้า