- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
อภิฺเยฺยํ อภิฺาตนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน มํสทานํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมังสทานของพระองค์ให้เป็นเทศนานุปัติเหตุ จึงตรัสเทศนาชาดกนี้ให้เป็นผล อันพระสังคีติกาจารย์กำหนดด้วยบาทต้นพระคาถาว่า อภิฺเยฺยํ อภิฺาตํ ดังนี้เป็นอาทิ
เอกทิวสมฺหิ แท้จริง วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ดังเราสรรเสริญสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ของเราทั้งหลาย พระองค์มิได้มีความเบื่อหน่ายในทานบารมี และในทานปรมัตถบารมี ทรงยินดีในทานบริจาคเป็นเบื้องหน้า
ในลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายด้วยทิพยโสตญาณ จึงเสด็จคมนาการไปสู่โรงธรรมสภา ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า เธอทั้งปวงนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร ครั้นภิกษุเหล่านั้นกราบทูลโดยนัยที่ได้สนทนากันให้ทรงทราบ จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้มีความเบื่อหน่ายในทานบารมี ใช่จะเป็นแต่ในกาลนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลปางก่อนตถาคตก็มิได้เบื่อหน่ายในทานบารมี ได้บริจาคมังสะของเราออกบำเพ็ญเป็นทานบารมี มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ พระภิกษุทั้งหลายใคร่จะทราบเรื่องจึงพากันกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต ภิกฺขเว พาราณสินคเร พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีพระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพาราณสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นเต่า อยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร เต่าโพธิสัตว์นั้นมีวรรณดังสีทองธรรมชาติมีอวัยวะยาวประมาณยี่สิบวา โดยส่วนกว้างก็ยี่สิบวาเท่ากัน และมีนามว่าสุวรรณกัจฉปะ ก็เพราะเหตุที่มีวรรณเสมอด้วยทองอันงามบริสุทธิ์ เต่าโพธิสัตว์นั้นเที่ยวโคจรหาอาหารอยู่ในมหาสมุทร แล้วก็อาศัยเชิงบรรพตอันมีอยู่ ณ เกาะใหญ่เป็นนิวาสถาน
ครั้งนั้น มีพาณิชทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ คน พากันออกจากเมืองพาราณสี มาขึ้นสำเภาลำเดียวกันแล่นไปในมหาสมุทร สำเภานั้นแล่นไปได้ ๓ วัน ก็ถูกคลื่นใหญ่ลมจัดไม่สามารถจะแล่นฝืนคลื่นลมไปได้ แผ่นกระดานอันเป็นที่ต่อทั้งหลายก็แตกทำลายด้วยกำลังระลอก สำเภานั้นก็มีอาการอันจะจมลงในท่ามกลางสมุทร
ฝ่ายพาณิชทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็พากันร้องไห้ปริเทวนาการ และกราบไหว้บนบานเทวดาอารักษ์ต่าง ๆ ให้ช่วยพิทักษ์รักษาให้พ้นอันตรายด้วยศัพท์สำเนียงอันดัง
เต่าโพธิสัตว์ได้ฟังเสียงมนุษย์ร้องไห้ ก็ผุดขึ้นมาจากมหาสมุทรแลไปเห็นพวกพ่อค้าร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ดังนั้น ก็บังเกิดความกรุณาเป็นกำลัง จึงไปสู่สำนักพ่อค้าเหล่านั้นแล้วถามว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ท่านทั้งปวงจงพากันขึ้นหลังเราเถิด เราจะนำท่านทั้งหลายไปโดยควรแก่ความสุข พ่อค้าทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ต่างพากันขึ้นบนหลังเต่าโพธิสัตว์ๆ ก็พาพวกพ่อค้าข้ามสมุทรไปโดยลำดับ ก็ถึงเกาะใหญ่อันมีอยู่ ณ ท่ามกลางสมุทรนั้น พวกพ่อค้าเหล่านั้นก็พากันลงจากหลังพระโพธิสัตว์ แต่ไม่สามารถจะขึ้นบนเกาะนั้นได้ เพราะเหตุที่มิได้บริโภคอาหารเลยถึง ๗ วัน ก็พากันนอนอ่อนเพลียอยู่ ณ หาดทรายนั้นมีอยู่ ณ ที่ใกล้แห่งเกาะนั้น
เต่าโพธิสัตว์เห็นอาการดังนั้น จึงคิดว่าพวกพาณิชเหล่านี้มีได้มีที่พึ่ง ก็คงจะถึงความตายโดยไม่สงสัย อย่ากระนั้นเลยเราจักให้เนื้อของเราเป็นทาน ให้พวกพาณิชเหล่านี้มีชีวิตยืนนานต่อไป คิดดังนี้แล้วจึงบอกพาณิชทั้งปวงนั้นว่า ท่านทั้งหลานจงแล่เอาเนื้อของเราไปปิ้งบริโภคให้มีกำลัง แล้วจงเอากระดูกหลังคือกระดองของเรากระทำต่างเรือแล้วเอากระดูกอกของเรากระทำกิจการทั้งปวง แล้วเก็บเอาเนื้อที่เหลืออยู่ กระทำเป็นเสบียงเลี้ยงตัวไปในกลางทางเถิด
พวกพาณิชได้ฟังดังนั้นต่างคนก็พากันยกมือขึ้นไหว้เต่าโพธิสัตว์แล้วทูลว่า ข้าแต่เต่าทองผู้เป็นใหญ่ อุปการคุณท่านเป็นอันมาก ที่ท่านได้กระทำแล้วแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในครั้งนี้เป็นคุณเหลือที่จะนับจะประมาณ ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่สามารถจะฆ่าท่านได้
เต่าโพธิสัตว์ได้ฟังคำพวกพาณิชเท่านั้น จึงคิดว่าพวกพาณิชเหล่านี้ไม่ปรารถนาฆ่าเรา เพราะเหตุที่เขาเป็นผู้ประกอบด้วยกตัญญู รู้จักอุปการคุณของเราเป็นอันมาก อย่ากระนั้นเลยเราจักขึ้นไปบนยอตบรรพตเอง แล้วจักทำตนให้ตกจากยอดบรรพต ให้กระดูกที่อกแตกทำลายให้เนื้อเป็นทานแก่พาณิชทั้งหลายในกาลนี้ พวกพาณิชเหล่านี้ได้กินเนื้อเราแล้วก็จักมีชีวิตอยู่ต่อไป อนึ่งตัวเรานี้ไซร้ก็เป็นผู้บังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปัญจขันธ์ของเราเล่าก็มิได้เป็นแก่นสาร เปรียบปานประดุจดังว่าต้นกล้วยมิได้มีแก่นแน่นหนา ทั้งเป็นที่ติเตียนนินทาของพระอริยเจ้า ถ้าหากว่าเราจักตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาวแล้วจึงจักตายไซร้ แม้ถึงกระนั้น เราก็ไม่พอใจที่จะเป็นอยู่ เราจักตายเสียในวันนี้แล้วจักให้เนื้อเป็นทาน กระทำปัญจขันธ์ให้เป็นแก่นแน่นหนา ให้เป็นปัจจัยแก่พระสัพพัญญุตญาณในอคาคตประเสริฐกว่า ผลทานอันนี้จึงคลานขึ้นไปบนบรรพต ครั้นถึงยอดภูเขาแล้วหยุดพักครู่ เมื่อจะปรารถนาเป็นพระสัพพัญญพุทธเจ้า จึงกล่าวคำประกาศแก่หมู่เทพยดาด้วยบาทพระคาถาทีแรกว่า
อายนฺตุํ โภนฺโต อิธ เทวสงฺฆา
ทาเนน มํสํ อนุโมทนา
ทสฺสามิ ทานํ อตฺตโน ชีวิตํ
พุทฺโธ ภวิสฺสามิ อนาคเต
ความว่า หมู่เทพยดาทั้งหลายผู้เจริญ อันสิงสถิตอยู่ ณ ที่นี้ ขอจงมาอนุโมทนามังสทานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักให้ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นทาน จักปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเบื้องหน้า
ในลำดับนั้น เทพยดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ ณ ที่นั้นครั้นได้ฟังคำเต่าโพธิสัตว์ประกาศ ต่างก็มาสันนิบาตประชุมกัน ณ บรรพตนั้น เมื่อจะกล่าวยกย่องชมเชย จึงกล่าวพระคาถาว่า
สาธุ สาธุ มหาวีร | อิทํ กมฺม ตยา กตํ |
ทชฺชาสิ อตฺตโน มํสํ | พุทฺธงฺกุโร ภวิสฺสสิ |
ความว่า ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรอันใหญ่ ความปรารถนาของท่านจะสำเร็จประโยชน์ จะสำเร็จประโยชน์ กรรมอันนี้ท่านกระทำดีแล้ว ท่านได้ให้เนื้อของตนเป็นทาน ท่านจักเป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายหน้า
ในขณะนั้น เต่าโพธิสัตว์จึงตั้งความปรารถนาว่า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าไซร้ เมื่อข้าพเจ้าตกลงจากบรรพตแล้ว ขอกระดูกอกของข้าพเจ้าจงแตกทำลายเลือดเนื้อของข้าพเจ้า จงเป็นก้อนน้อยก้อนใหญ่เป็นส่วน ๆ แต่กระดูกหลังคือ กระดองของข้าพเจ้านั้นอย่าพึ่งแตกทำลายเป็นอันตรายเลย กระดูกหลังนั้นจะได้เป็นนาวาพาพวกพ่อค้าทั้ง ๕๐๐ ไปให้พ้นจากความตาย ครั้นอธิษฐานดังนี้แล้ว ก็ทำตนให้ตกจากบรรพตลงไปกระทบเชิงภูเขาเสียงดังสนั่น ขณะนั้นกระดูกอกแตกทำลายเลือดเนื้อก็บังเกิดเป็นก้อนน้อยใหญ่ แต่กระดองนั้นมิได้ภินทนาการดุจคำอธิษฐานไว้นั้น เต่าโพธิสัตว์นั้น เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดในดุสิตเทวพิภพ
ฝ่ายพวกพ่อค้านั้น ได้ฟังเสียงกึกก้องดังสนั่นหวันไหว แลดูไปก็เห็นเต่าโพธิสัตว์ตายอยู่ที่เชิงบรรพต ต่างคนก็ประหารอกของตนร่ำร้องไห้ปริเทวนาการ พากันกราบไหว้คุณของเต่าโพธิสัตว์นั้น แล้วพรรณนาคุณด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ ครั้นส่างโศกพ่อค้าซึ่งเป็นหัวหน้าจึงกล่าวว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ เต่าทองตัวนี้ได้ให้เนื้อของตนเป็นทานแก่พวกเราทั้งหลายแล้ว เราทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเป็นแบบนี้ ท่านก็สละชีวิตของท่านออกทำทานเอง เราทั้งหลายจงพากันจัดแจงสีไฟให้ติดขึ้น ปิ้งเนื้อเต่าเคี้ยวกินเป็นอาหารแล้วเก็บเอาเนื้อที่อยู่สำหรับเป็นเสบียงเลี้ยงตนไปในกลางทาง บริโภคไปกว่าจะถึงเมืองพาราณสี พวกพ่อค้าเหล่านั้นก็พร้อมกันกระทำตามถ้อยคำของพ่อค้าผู้ใหญ่ ครั้นพากันบริโภคเนื้อเต่าอิ่มหนำแล้ว ก็เอากระดองเต่าทำเป็นเรือ แล้วกระทำกิจการทั้งปวงด้วยกระดูกอก พากันขึ้นเรือกระดองเต่านั้นแล้วก็บ่ายหน้าเรือไปเฉพาะเมืองพาราณสี เมื่อถึงที่ใดจอด ณ ที่นั้นตามปรารถนา ได้บริโภคเนื้อเต่าเป็นเสบียงมา เดือนหนึ่งก็ถึงเมืองพาราณสี แล้วกล่าวสรรเสริญคุณของเต่าโพธิสัตว์แก่ชาวพระนครทั้งหลาย มหาชนทั้งปวงได้ฟังดังนั้น ก็พากันสรรเสริญชมเชยคุณของเต่าโพธิสัตว์ตลอดไปทั่วพระนครราชอาณาเขต
ในกาลนั้น พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรเห็นกระดูกยักษ์เต่าทอง อันมีวรรณเสมอด้วยทองคำ ก็ทรงพระปรีดาโสมนัส ครั้นได้ฟังคุณสมบัติของเต่าทองจึงทรงพระราชดำริว่า สัตว์ผู้นี้มิใช่สัตว์อื่น คงจักเป็นหน่อพุทธางกูรโดยไม่ต้องสงสัย ทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้ประดิษฐานกระดองเต่านั้นไว้ ณ ที่อันสมควรแก่พระนครด้านทักษิณ กระดองเต่านั้นก็ประดิษฐานอยู่ดุจสุวรรณบรรพตตลอดกาลนาน
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำเรื่องในอดีตกาล มาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว เมื่อจะสืบต่ออนุสนธิจึงตรัสคาถาว่า
อภิฺเยฺยํ อภิฺาตํ | ภาเวตพฺพฺจ ภาวิตํ |
ปหาตพฺพฺจ ปหีตํ | ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ ภิกฺขเว |
ทุกโข อทฺธานมคฺโค โย | ชจฺจนฺโธว อนายโก |
เอกทา ยาติ มคฺเคน | อมคฺเคปิจ เอกทา |
ตํ หํ เทวมนุสฺสานํ | อุชุมคฺคํ วินายโก |
สตฺเต มุฬฺเห จ สํสาเร | สตฺเต เนตุํ ปทํ สุขํ |
ความว่า เหตุที่ควรรู้ตถาคตก็ได้รู้แล้ว กิจที่ควรเจริญตถาคตก็ได้เจริญแล้ว กิจที่ควรละตถาคตก็ได้ละแล้ว เพราะเหตุนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทางยืดยาวอันใดที่สัตว์ไปโดยยาก สัตว์ผู้บอดแต่กำเนิดหาผู้ที่จะนำทางมิได้ ย่อมไปโดยทางบางครั้งเดินผิดทางบ้างบางคราว ตถาคตเป็นผู้แนะนำทางตรงให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และเป็นผู้สามารถที่จะนำสัตว์ทั้งปวงอันหลงอยู่ในสงสาร ให้ถึงซึ่งทางนฤพานอันเป็นบรมสุขโดยแท้
เทสนาปริโยสาเน ครั้นจบพระธรรมเทศนาลงแล้ว สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากได้บรรถุถึงโสดาปัตติผลเป็นต้น สมเด็จพระทศพลจึงประชุมชาดกว่า พระยาพรหมทัตในครั้งนั้นกลับชาติมาคือภิกษุชื่อว่าสาริบุตร พ่อค้าผู้ใหญ่ในครั้งนั้น กลับชาติคือภิกษุชื่อว่าโมคคัลลานะ พาณิชอันเศษทั้งหลายในครั้งนั้น กลับชาติมาคือปัญจวัคคีภิกษุทั้งหลาย เต่าทองในครั้งนั้น กลับชาติคือตถาคตผู้เป็นบรมโลกนาถนี้แล