๑๙. สุทัสนชาดก

อตีเต พาราณสินคเร เอโก เสฏฺี ปติวสติ

ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่ในพระนครพาราณสี ครั้งนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐีนั้นในกาลเมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีพระเถรเจ้าองค์หนึ่ง ท่านปรารถนาจะกระทำความสงบสงัดกายวาจาใจจึงเข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศราวป่า ครั้งนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้ามีธุระส่วนตนเข้าไปสู่อรัญประเทศเที่ยวแลดูไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ได้เห็นพระเถรเจ้าองค์นั้น ท่านมีอินทรีย์สงบระงับก็เกิดจิตเลื่อมใส จึงเข้าไปใกล้ ถวายนมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงเจรจาปราศรัยกะพระเถรเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าอยู่ในอรัญประเทศนี้หรือพระเจ้าข้า พระเถรเจ้าจึงตอบว่า ดูกรอุบาสกอาตมาอยู่ไนอรัญประเทศนี้ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงรำพึงในใจว่า คราวนี้สมควรที่เราจะกระทำบุญกุศลแล้ว ก็ละการงานของตนเสีย สร้างบรรณศาลากระทำที่สำหรับจงกรมขุดบ่อน้ำขนทรายมาเรี่ยรายลงโดยรอบบริเวณ กระทำสถานที่นั้นให้บริบูรณ์ไปด้วยเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ มีเทียนและธูปและของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นแล้ว ถวายวิหารทานอันสรรพไปด้วยเครื่องบริขารทั้งปวงแล้ว นิมนต์พระเถรเจ้าให้เข้าอยู่ในบรรณศาลานั้นเสร็จแล้ว ก็ถวายนมัสการลากลับเข้าไปสู่บ้าน

จำเดิมแต่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้เข้าไปใกล้พระเถรเจ้าแล้ว ก็ได้ถวายไตรจีวร ถวายบิณฑบาต ถวายสรรพขาทนิยาหารและรองเท้าไม้เท้า และตุ่มเล็กตุ่มใหญ่และประทีปและเตียงตั้งเครื่องปูลาด และเบญจโครสแก่พระเถรเจ้า

เมื่อพระเถรเจ้าจะกระทำอนุโมทนาจึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า

อนฺนโท พลโท โหติ วตฺถโท โหติ วณฺณโท
ยานโท สุขโท โหติ ทีปโท โหติ จกฺขุโท

แปลว่า ผู้ที่ได้ให้ข้าวปลาอาหารแก่บุคคลอื่น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำลัง ให้ผ้านุ่งห่ม ได้ชื่อว่าให้พรรณสีกาย ให้ยานเครื่องที่เป็นประโยชน์แก่การไป ได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปแสงสว่าง ได้ชื่อว่าให้ดวงตา ดังนี้ ฯ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ถวายสรรพบริขารแก่พระเถรเจ้าแล้ว ก็ปลูกต้นไม้มีหนามไว้ ณ ภายนอกบริเวณบรรณศาลาแล้ว ปลูกต้นตาลเป็นแถวในภายในบริเวณบรรณศาลา

พระโพธิสัตว์เจ้านิมนต์พระเถรเจ้าให้อยู่จำพรรษาแล้ว ส่วนตนก็รักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำบ้าง ๑๕ ค่ำบ้าง ครั้นออกพรรษาแล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็พาพระเถรเจ้าเข้าไปสู่บ้าน นิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ก็ฟังพระธรรมเทศนาแล้วถวายบิณฑบาตถวายผ้าคู่หนึ่งแก่พระเถรเจ้า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้อุปฐากพระเถรเจ้ากระทำกองการกุศลอยู่จนตลอดอายุ ครั้นถึงคราวสิ้นอายุจุติจากมนุษย์โลก แล้วไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้นได้เสวยสมบัติในเมืองสวรรค์ อันพร้อมไปด้วยอายุก็เป็นทิพยศก็เป็นทิพ ดุริยางตนตรีมีอายุ ๕ ประการ กับทั้งการฟ้อนรำขับร้องก็ล้วนเป็นของทิพแต่ละอย่างๆ เล่นสำราญอยู่ในเมืองสวรรค์สิ้นกาลนาน ครั้นสิ้นอายุอันเป็นทิพจุติจากสวรรคเทวโลกแล้วได้มาบังเกิดเป็นพระเจ้าบรมจักรพรรดิ์ ทรงพระนามพระเจ้าสุทัสนมหาราช เสวยสิริราชสมบัติอยู่ในกุสาวดีราชธานีมหานคร

พระเจ้าสุทัสนมหาราชนั้น บริบูรณ์ไปด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักกรัตน จักรแก้ว หัตถีรัตน ช้างแก้ว อัสสรัตน ม้าแก้ว อิตถีรัตน นางแก้ว มณิรัตน ดวงแก้วมณี คหบดีรัตน ขุนคลังแก้ว ปรินายกรัตน ขุนพลแก้ว

มีคำกลางถามขึ้นมาว่า รัตน ๗ ประการนี้มาจากสถานที่ใด มีคำวิสัชนาว่า จักรแก้วมาจากมหาสมุทร ช้างแก้วมาจากตระกูลช้างฉัททันท์ ม้าแก้วมาจากตระกูลม้าวลาหก นางแก้วมาจากอุตรกุรุทวีป ดวงแก้วมณีมาจากวิบุลบรรพต ขุนคลังแก้วเกิดขึ้นในกุสาวดีราชธานีนั้น ขุนพลแก้วมาจากชมพูทวีป รัตน ๗ ประการเหล่านี้ มาจากที่นั้น ๆ แล้วมาปรากฏในกุสาวดีราชธานีมหานคร ฯ สมบัติเหล่านี้เกิดมีขึ้นแก่พระเจ้าสุทัสนมหาราชด้วยผลกรรมอะไร ฯ ปราสาทถึงแปดหมื่นสี่พันปราสาทกับทั้งเรือนคลัง ได้บังเอิญมีขึ้นด้วยผลอันไหลมาจากการถวายบรรณศาลาน้อยหลังหนึ่ง ดวงแก้วมณีโชติถึงแปดหมื่นสี่พันดวงได้เกิดขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ถวายประทีปดวงหนึ่ง พระราชบุตรถึงแปดหมื่นสี่พันองค์ ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ถวายไม้เท้าต้นหนึ่ง พระราชบุตรทั้งหลายแต่ละองค์ ๆ ล้วนแกล้วกล้าสามารถจะย่ำยีเสนาของปรปักษ์ให้ย่อยยับถึงซึ่งความชนะวิเศษตลอดชมพูทวีป สรรพสิ่งทั้งปวงอย่างละแปดหมื่นสี่พัน ได้เกิดมีแก่พระเจ้าสุทัสนมหาราชนั้น ด้วยอานิสงส์วัตถุทานที่ได้ถวายพระเถรเจ้าแต่ละสิ่ง ๆ

อัสดรถึงแปดหมื่นสี่พันม้า ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ถวายเครื่องปูลาดอันหนึ่ง เรือนคลังอันเต็มไปด้วยวัตถาภรณ์มีประการต่าง ๆ ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ถวายไตรจีวรและผ้าทั้งหลายคือผ้าโกไสยพัสตร์ ผ้ากัปปาสิกพัสตร์ ผ้านิลกัมพล ผ้ารัตกัมพล ผ้าเหล่านี้ได้มีแล้วในกุสาวดีราชธานีมหานคร หม้ออันเต็มไปด้วยทรัพย์ ที่บุคคลฝังไว้ทั้งหลายถึงแปดหมื่นสี่พันหม้อ ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ถวายตุ่มใหญ่ ฉางอันเต็มไปด้วยข้าวเปลือกถึงแปดหมื่นสี่พันได้เกิดมีขึ้น ด้วยอานิสงส์ที่ถวายบิณฑบาตทาน เบญจโครสมีรสอร่อยถึงแปดหมื่นสี่พัน ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ถวายเบญจโครส บ่ออันเต็มไปด้วยรัตน ๗ ประการถึงแปดหมื่นสี่พันได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายบ่อ ๆ หนึ่ง พระราชอุทยานอันพร้อมไปด้วยสระโบกขรณีถึงแปดหมื่นสี่พัน ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ถวายสวน โภชนาหารอันเป็นทิพประกอบไปด้วยโอชารสถึงแปดหมื่นสี่พัน ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ได้ภัตตาหารกำแพง ๓ ชั้น ชั้นหนึ่งล้วนแล้วไปด้วยทองคำ ชั้นหนึ่งล้วนแล้วไปด้วยเงิน ชั้นหนึ่งล้วนแล้วไปด้วยทับทิม ชั้นหนึ่งล้วนแล้วไปด้วยแก้วประพาฬ ขั้นหนึ่งล้วนล้วนไปด้วยแก้วมณี ชั้นหนึ่งล้วนแล้วไปด้วยแก้วมรกต ชั้นหนึ่งล้วนแล้วไปด้วยรัตน ๗ ประการ ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ได้ปลูกต้นไม้มีหนามล้อม ณ ภายนอกบริเวณบรรณศาลา กำแพงแล้วไปด้วยต้นตาล ๗ ชั้น ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลทองคำ ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลเงิน ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลแก้วทับทิม ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลแก้วมรกต ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลแก้วประพาฬ ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลแก้วผลึก ชั้นหนึ่งเป็นต้นตาลรัตน ๗ ประการ ใบตาลนั้นบางใบเป็นทองคำ บางใบเป็นเงิน บางใบเป็นแก้วทับทิม บางใบเป็นแก้วประพาฬ บางใบเป็นแก้วมณี บางใบเป็นแก้วมรกต บางผลเป็นแก้วผลึก บางผลเป็นแก้วมรกต บางผลเป็นแก้วรัตน ๗ ประการ ผลแห่งต้นตาลนั้น บางผลเป็นทองคำ บางผลเป็นเงิน บางผลเป็นแก้วทับทิม บางผลเป็นแก้วประพาฬ บางผลเป็นแก้วผลึก บางผลเป็นแก้วมรกต บางผลเป็นแก้วรัตน ๗ ประการ บรรดาใบและผลของต้นตาลทั้งปวงย่อมรุ่งเรืองปรากฏ เมื่อถูกต้องลมอ่อนๆ รำเพยพัดก็หวั่นไหวบันลือเสียงดุจสำเนียงเบญจางคดุริยดนตรีฉะนั้น ทั้งนี้ได้เกิดมีขึ้นด้วยอานิสงส์ที่ได้ปลูกต้นตาลถวายพระเถรเจ้า

ในกาลนั้น บรรดามนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ในกุสาวดีราชธานีนั้น บางพวกก็บริโภคอาหาร บางพวกก็เล่น บางพวกก็ฟ้อนรำ บางพวกก็ขับร้อง บางพวกก็ปรบหัตถ์ บางพวกก็โลดเต้น บางพวกก็รื่นเริงบันเทิงใจอยู่เป็นสุขเกษมสำราญ กุสาวดีราชธานีนั้นกึกก้องไปด้วยเสียงช้างเสียงม้าเสียงรถเสียงบัณเฑาะว์เสียงมโหรธึก เสียงกลองดุจแผ่นดินจะแตกพังทำลาย ฉะนั้น กุสาวดีธานีนั้นเป็นพระนครใหญ่ เป็นราชธานีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยรัตน ๗ ประการ พระเจ้าสุทัสนมหาราชเสวยสิริราชสมบัติอยู่พระนครกุสาวดีราชธานีนั้น พระองค์ถึงพร้อมไปด้วยพระเดชานุภาพเป็นอันมาก และบริบูรณ์ไปด้วยพระคลังทองเป็นอันมาก เบิกบานพระราชหฤทัยอยู่ด้วยดุริยางคดนตรีประโคมขับอยู่เป็นนิจกาล เพราะเหตุนั้นโบราณาจารย์เจ้าจึงได้กล่าวประพันธ์ไว้เป็นพระคาถาว่า

โย อนฺนปานํ วตฺถยานํ มาลฺจ คนฺธวิเลปนฺจ
เสยฺยํ อาวาสํ ปทีปฺจ อิตฺถิปุริโส อิธ ลภติ

แปลว่า สตรีบุรุษคนใดได้ให้ข้าวน้ำผ้านุ่งยวดยานระเบียบดอกไม้ของหอมเครื่องลูบทา และที่นอนที่อยู่และประทีปไว้แล้วในกาลปางก่อน สตรีบุรุษนั้นย่อมได้ในอัตตภาพนี้ ดังนี้

ด้วยผลพระกุศลที่พระเจ้าสุทัสนมหาราช ได้ถวายวิหารทานนั้น พระองค์มีพระชนมายุเท่าไร ฯ พระเจ้าสุทัสนมหาราชนั้น พระองค์เป็นกุมารเล่นอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ตั้งอยู่ในที่เป็นอุปราชแปดหมื่นสี่พันปี เป็นบรมกษัตริย์อยู่แปดหมื่นสี่พันปี ประพฤติพรหมจรรย์อยู่แปดหมื่นสี่พันปี พระองค์เสวยสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าบรมจักรพรรดิมีพระชนมายุยืนนาน รวมพระชนมายุเข้าด้วยกันทั้งสี่กาลได้สามแสนสามหมื่นหกพันปี อายุประมาณของพระเจ้าสุทัสนมหาราชเพียงเท่านี้ พระชนกชนนีจะได้ประทานให้ก็หามิได้ เป็นผลพระกุศลที่พระองค์ได้ถวายบรรณศาลาหลังหนึ่งแก่พระเถรเจ้า เพราะฉะนั้นโบราณาจารย์เจ้าจึงได้กล่าวไว้เป็นพระคาถาดังนี้ว่า

สทฺธาปุพฺพงฺคมํ ทานํ อปฺปํ กิฺจิปิ เย กตํ
ปสนฺนา ตีสุ กาเลสุ ลภนฺติ ติวิธํ สุขํ
สุขมานุสํ ยํ เหติ สคฺเคสุ จ ปรํ สุขํ
ตโต จ นิพฺพานสุขํ สพฺพทาเนน ลภติ

แปลว่า ชนทั้งหลายใดมีศรัทธาเป็นเบื้องหน้า มีจิตผ่องใสในกาลทั้งสามแล้ว ได้กระทำทานน้อยก็ดีมากก็ดี ชนทั้งหลายนั้นย่อมได้ซึ่งความสุขสามประการ คือผลทานนั้นย่อมให้ความสุขซึ่งเป็นของมนุษย์ และย่อมให้ความสุขในสวรรค์เทวโลกอันยิ่งขึ้นไปกว่าความสุขซึ่งเป็นของมนุษย์ และย่อมให้ความสุขคือพระนิพพานอันยิ่งขึ้นกว่าความสุขในสวรรค์เทวโลกนั้น สาธุชนย่อมได้ความสุขสามประการด้วยสรรพทานด้วยประการฉะนี้

บุคคลที่ได้กระทำวิหารทาน ย่อมรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ตลอดกาลทั้งปวง ครั้นจุติไปบังเกิดยังสวรรค์เทวโลกแล้ว ย่อมได้เสวยสมบัติซึ่งเป็นผลอานิสงส์ใหญ่ เหมือนอย่างพระเจ้าสุทัสนมหาราชในพระนครกุสาวดีราชธานีฉะนั้น

พระบรมโพธิสัตว์เจ้ากระทำกรรมซึ่งเป็นบุญกุศลมีประการเป็นอันมาก ครั้นถึงสิ้นพระชนมายุจุติจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็ไปบังเกิดในวิมานทองในดาวดึงสเทวโลก มีนางอัปสรแวดล้อมเป็นบริวาร ส่วนประชุมชนหมู่ใหญ่ชาวพระนครทั้งปวงได้กระทำกรรมเป็นกุศล ครั้นถึงความสิ้นชีพวายชนม์ก็พากันไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลก

เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงได้ประทานพระธรรมเทศนาไว้เป็นบาทพระคาถาว่า

สาธโว สุขกามา เย ปฏฺเตฺวา สคฺคโมกฺขมคฺคํ
ทานํ ทตฺวา สามคฺคิยา จุตา คจฺฉนฺติ เต สคฺคํ

แปลว่า สาธุสัตบุรุษทั้งหลายใด มุ่งหมายความสุขปรารถนาหนทางสวรรค์นิพพานแล้ว จงพร้อมเพรียงกันบริจาคทานเถิด สาธุชนทั้งหลายนั้น ครั้นจุติจากมนุษย์โลกแล้ว ย่อมได้ไปบังเกิดสุคติโลกสวรรค์ ด้วยประการดังนี้

จบสุทัสนชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ