๓๖. สิทธิสารชาดก

ตโต โส สิทฺธิสาโร จาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต ธมฺมจกฺกํ อารพฺภ กเถสิ ฯ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงพระปรารภพระธรรมจักรเป็นมูลเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า ตโต โส สิทฺธิสาโร จ เป็นอาทิ

เอกทิวสํ ณ วันหนึ่งพระภิกษุทั้งหลาย นั่งประชุมพรรณนาโพธิสมภารพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ โรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระบรมศาสดาของเรา พระองค์มีพุทธสมภารอันสำเร็จ ด้วยผลแห่งพระกุศลซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญมาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จแต่คันธกุฎี ไปยังโรงธรรมสภาแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอประชุมกล่าวเรื่องราวอะไรในเวลานี้ ภิกษุทั้งหลายทูลเล่าความถวายให้ทรงทราบแล้วทรงตรัสว่า ตถาคตจะได้มีพุทธสมภารอันสำเร็จมาแต่กุศลวิบากในชาตินี้ก็หาไม่ แม้แต่ในกาลปางก่อน ในกาลเมื่อตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์เคยมีสมบัติบริบูรณ์ด้วยกุศลวิบากมาแล้ว ตรัสดังนี้แล้วจึงนำอดีตนิทานมาอ้าง ดังปรากฏต่อไปนี้ว่า

อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วนมนาน พระราชาพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี พระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น พระนามว่าวิมลาราชเทวี พระโพธิสัตว์จุติดุสิตพิภพมาปฏิสนธิในพระครรภ์วิมลาเทวี เมื่อถ้วนกำหนดทศมาสแล้ว พระนางวิมลาเทวีก็ประสูติพระโอรสสวยงามดังสีทอง พระราชบิดามารดาทั้งสองประทานนามว่าสิทธิสาร

คราวนั้น มีเศรษฐีหนึ่งนามว่าธนญชัย ภรรยาของธนญชัยเศรษฐีนั้นนามว่าสุนทรี เทวบุตรผู้สหายของของพระมหาสัตว์จุติแต่ดุสิตพิภพแล้วมาปฏิสนธิในครรภ์แห่งภรรยาเศรษฐี เมื่อถ้วนกำหนดทศมาสแล้ว ภรรยาเศรษฐีก็ตลอดบุตรงามดุจทองคำ กุมารนั้นกอร์ปด้วยบุญสัมปทา บิดามารดาให้ชื่อว่าบุญสาร พระโพธิสัตว์มีบริวารพันหนึ่ง บุญสารมีบริวารห้าร้อย พระสิทธิสารกับบุญสารได้เป็นสหายกัน สองกุมารนั้นมีปัญญามากและกล้าหาญหากลัวผู้อื่นไม่ สองกุมารเล่นอยู่กับหมู่กุมารอื่น ๆ รังแกด่าว่าทุบตีเขาต่าง ๆ พวกกุมารทั้งหลายร้องไห้ไปบอกแก่มารดาบิดา มารดาบิดาแห่งกุมารเหล่านั้นพากันไปเฝ้าพระราชากราบทูลให้ทรงทราบ

พระราชาทรงทราบแล้วก็กริ้วใหญ่รับสั่งให้ขับไล่สองกุมารเสีย พระนางวิมลาเทวีทรงกรรแสงไปเฝ้าพระราชา วิงวอนขออธิกรณ์โทษ พระราชาก็มิได้โปรดประภาษประการใด พระสิทธิสารกุมารกับบุญสาร ทำอภิวันทนาบิดามารดาแล้วจึงออกจากนครพวกบริวารของพระมหาสัตว์ก็ตามออกไปส่ง

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระบรมสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ตโต โส สิทฺธิสาโร จ ราชานํ อภิวาทยิ
โรทมาโน ว โส คนฺตวา นครา นิกฺขมิ ตทา
ตโต โส ปุฺสาโร จ ราชานํ อภิวาทยํ
โรทมาโน ว โส คนฺตวา นครา นิกฺขมิ ตทา
สาปิ ปริเทวิตฺวา จ โอโรเธหิ ปุรกฺขิตา
สพฺพกฺา ปโรทิตฺวา ปุน เทวี ปจฺจาคมุํ

ความว่า ลำดับนั้น สิทธิสารกุมารและบุญสารกุมาร ถวายอภิวาทพระราชาร้องไห้เดินออกไปจากนคร คราวนั้น พระนางวิมลาเทวีมีหมู่นางนักสนมแวดวงทรงพระโสกี ทั้งหมู่นารีราชกัญญาพากันร้องไห้ ตามออกไปส่งแล้วก็กลับมา พระมหาสัตว์ทรงประทานโอวาทแก่บริวารของพระองค์แล้วส่งให้กลับเสีย

ต่อแต่นั้นไป พระสิทธิสารกับบุญสารกุมาร พากันคมนาการไปตามมรรคา จึงบรรลุถึงต้นไทรต้นหนึ่ง เทพยดาสิงสู่อยู่ที่ต้นไทรได้เห็นสองกุมารแล้วดำริว่า กุมารสองคนนี้จักเป็นผู้มีบุญคิดแล้วจึงเข้าไปใกล้กระซิบบอกว่า ท่านทั้งสองจงเดินไปข้างหน้าจะได้เห็นสุวรรณมฤค ท่านจงฆ่าสุวรรณมฤคนั้นเสีย ผู้ใดได้กินตาขาวของเนื้อตัวนั้น ผู้นั้นจักได้เป็นพระราชาจักรพรรดิ ผู้ใดได้กินตาซ้ายของเนื้อตัวนั้น แก้วเจ็ดประการจักร่วงจากปากผู้นั้น ในเมื่อผู้นั้นหัวเราะขึ้น

สองกุมารได้ฟังคำเทวดาบอกแล้วก็รับคำว่าสาธุกระนี้ แล้วพากันดำเนินไปได้โยชน์หนึ่ง พบสุวรรณมฤคแล้วฆ่าเสียตามคำเทวดาบอกไว้ พระมหาสัตว์จึงควักตาข้างขวามาบริโภค ฝ่ายบุญสารกุมารจึงบริโภคตาข้างซ้าย สองกุมารก็รื่นเริงบันเทิงใจ พากันดำเนินต่อไป

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความอันใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระบรมสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

อิทฺจ ปจฺจยํ ลทฺธา เทวตาย สุนิมฺมิตา
ปุฺสมฺภารสมฺปนฺนา มานุเส สมฺปตฺตึ ลเภ
อถ ปุฺานิ กยิรา ปุฺเขตฺเตสุ ตาทิสุ
ปุฺานิ ปรโลกสฺมึ มานุเส ภุฺชสมฺปตฺตึ
กโรถ ปุฺานิ โลกสฺมึ ทานสิลาทีนิ ปน
ตํ เว ทานํ มหปฺผลํ สพฺพพุทฺเธหิ เทสิตํ

ความว่า สองกุมารสมบูรณ์ด้วยบุญสมภารบารมีแล้ว มีเทวดามานฤมิตให้ได้ปัจจัยอันนี้ และให้ได้สมบัติในมนุษย์ อนึ่งบุคคลพึงทำเถิดซึ่งบุญทั้งหลาย บุญทั้งหลายอันบุคคลทำแล้ว ในปฏิคาหกผู้เป็นนาบุญมั่นคง ก็จะส่งให้ผู้บำเพ็ญได้เสวยสมบัติในปรโลกและมนุษยโลก ท่านทั้งหลายจงทำบุญมีทานศีลเป็นต้นไว้ในโลกเถิด ทานศีลนั้นพระสัมพุทธทั้งหลายตรัสเทศนาแล้วว่ามีผลมากเทียว

เทพยดาสิงสู่อยู่ที่ต้นไทรในระหว่างทาง ได้เห็นสองกุมารเดินมานึกในใจว่า สองกุมารนี้มีบุญเราจักช่วยรักษาไว้มิให้เป็นอันตราย คิดแล้วจึงเข้าไปใกล้ ๆ บอกว่า แน่ะพ่อกุมาร พ่อเดินทางแต่นี้ไปได้โยชน์หนึ่ง จะได้พบสีมาหินที่ระหว่างทาง และข้างทิศตะวันออกมีสระโบกขรณีสี่เหลี่ยมสระหนึ่ง ตั้งอยู่ระหว่างทางสองแยก พ่อจงหยุดดูอักษรซึ่งจารึกไว้ที่สีมาหิน จงเก็บเอาดอกประทุมในสระนั้นทำบูชาขอขมาสีมาหินเสียก่อน ก็แหละมรรคันดรสองแยกนั้น ทางหนึ่งแยกไปเมืองมิถิลา ทางหนึ่งแยกไปเมืองกุสุมภบุรี

สองกุมารฟังเทวดาบอกดังนั้นแล้ว ก็เดินทางต่อไปได้โยชน์หนึ่งพบสีมาหินแล้วหยุดดูอักษรที่จารึก ได้เห็นทางสองแพร่งทางหนึ่งแยกไปเมืองมิถิลา ทางหนึ่งแยกไปเมืองกุสุมภ์ จึงเก็บดอกประทุมในสระทำบูชาขมาสีมาแล้ว สองกุมารต่างร่าเริงคลึงเคล้าพูดจากัน แล้วปรึกษากันว่า ท่านจงถือเอาทางนี้ เราจะถือเอาทางโน้นแล้วก็เดินไป พระโพธิสัตว์เดินไปได้โยชน์หนึ่ง จึงบรรถุถึงเมืองมิถิลา แล้วเข้าไปยังสวนราชอุทยานเอาผ้าคลุมศีรษะและบาทานอนอยู่ ณ มงคลศิลาบัฏ

คราวนั้น พระมหากษัตริย์ประชวรพระโรค เสด็จทิวงคตไปได้เจ็ดวัน มหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น ได้ทำการปลงพระศพเสร็จแล้วจึงปรึกษากันว่า พระราชโอรสและราชธิดาของพระราชาหามีไม่ ก็ใครจะเป็นพระราชาของพวกเรา ปุโรหิตจึงพูดขึ้นว่า เราทั้งหลายจักแต่งปุสสรถให้งามวิจิตร ยกเอาปัญจราชกกุธภัณฑ์ใส่ไว้แล้วปล่อยไป อำมาตย์ทั้งหลายเห็นดีพร้อมกัน จึงประดับปุสสรถด้วยสรรพาภรณ์วิภูสิตา แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า แน่ะปุสสรถ ใครเป็นเจ้านายของพวกเรามีอยู่ในสกลนคร ปุสสรถจงจรไปสู่สำนักแห่งเจ้านายคนนั้น อธิษฐานแล้วก็ปล่อยไป พวกพนักงานก็ประคองดนตรีตามไปเบื้องหลัง

ปุสสรถนั้นทำปทักษิณนครแล้ว ออกจากนครตรงไปสู่ราชอุทยานทำปทักษิณมงคลศิลาบัฏแล้ว ทำอาการเหมือนจะเกยทับพระมหาสัตว์ ปุโรหิตเห็นปุสสรถหยุดอยู่ที่มงคลศิลาบัฏ มองไปเห็นพระมหาสัตว์นอนหลับจึงดำริว่า บุรุษผู้นี้ไม่มีบุญก็จักลุกหนีไป ถ้าว่ามีบุญก็จักไม่หนี เราจักทดลองดูให้รู้แน่แก่ใจ คิดแล้วก็บอกให้พนักงานประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกัน พระมหาสัตว์สดับเสียงดนตรี แล้วเลิกผ้าคลุมศีรษะออกแลดูแล้วก็นอนทางเบื้องซ้ายอีกต่อไป

ปุโรหิตเดินเข้าไปใกล้พระมหาลสัตว์ เลิกผ้าคลุมเท้าออกตรวจดูปาทลักษณะ เห็นปาหลักษณะแล้วจึงพูดขึ้นว่า บุรุษผู้นี้มีบุญอาจจะครองราชสมบัติในทวีปทั้งสี่ได้ แล้วจึงปลุกให้พระโพธิสัตว์ตื่นขึ้นแล้วแจ้งว่า ข้าแต่นาย ราชสมบัติมาถึงแก่ท่านละ ท่านจงเป็นอิสระปกครองประชาชนเถิด พระมหาสัตว์จึงถามว่า พระราชโอรสและราชธิดาของพระราชาไม่มีหรือ ปุโรหิตตอบว่า พระราชโอรสและราชธิดาของพระราชาหามีไม่ พระมหาสัตว์จึงรับถ้อยคำว่าสาธุกระนี้ แล้วขึ้นรถไปกับพวกอำมาตย์และพลนิกายทั้งหลาย ๆ พากันนำไปถึงพระนคร พร้อมกับอภิเษกพระมหาสัตว์ถวายพระนามว่าจักรพรรดิราช พระโพธิสัตว์ได้เป็นจักรพรรดิราชแล้วทรงครองราชสมบัติโดยยุติธรรม

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสอาทิคาถานี้ว่า

ตโต สิทฺธิสาโร ราชา ปุฺกมฺเมน สิชฺฌติ
สตฺตรตนสมฺปนฺโน จกฺกวตฺติ มหิทฺธิโก
มหาปุฺโ มหาปฺโ มหาาติ มหายโส
มหพฺพโล มหาเตโช จงฺกมาโน สมิชฺฌติ

ความนั้น ตั้งแต่พระสิทธิสารได้เป็นพระราชาจักรพรรดิแล้วบริบูรณ์ด้วยแก้วเจ็ดประการ ทรงอิทธิฤทธิใหญ่ มีบุญมากมีปัญญามาก มีลาภและยศมาก มีกำลังและเดชมาก ย่อมได้สำเร็จผลด้วยบุญกรรมที่ทรงทำไว้

ตโต ปรํ เบื้องว่าบุญสารกุมาร เดินทางต่อไปได้โยชน์หนึ่ง บรรลุถึงเมืองกุสุมภบุรี ได้เข้าไปนั่งพักอยู่ในศาลาใกล้ประตูคราวนั้น พระราชธิดาองค์หนึ่งพร้อมด้วยทาสี เสด็จจะไปสรงน้ำที่แม่น้ำ ทอดพระเนตรเห็นบุญสารให้นึกรักใคร่ จึงรับสั่งกะทาสีว่าเจ้าจงไปบอกกุมารนั้นให้มาหาเรา ทาสีนั้นไปสู่สำนักบุญสารกุมารแล้วทำยิ้มแย้ม บุญสารนั้น ยิ้มแย้มรับทาสีอยู่ แก้วเจ็ดประการก็ร่วงออกจากปาก ทาสีเห็นแล้วก็รีบกลับมาทูลพระราชธิดา ๆ ทรงพระโสมนัส แล้วไปกราบทูลแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ

พระราชาทรงสดับทราบความแล้ว จึงรับสั่งให้บุรุษคนหนึ่งไปพาตัวบุญสารกุมารเข้ามาเฝ้า บุญสารกุมารมาถึงจึงขึ้นยังปราสาท อภิวาทพระราชาแล้วก็นั่งอยู่ ณ ที่ควร พระราชาทรงพระโสมนัส ดำรัสสั่งให้พนักงานจัดการมงคลพิธีแล้ว จึงพระราชทานพระราชธิดาให้เป็นบาทบริจาริกาแก่บุญสาร

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ปุฺสาโร ปุฺตโร ปุฺกมฺเมน สิชฺฌติ
ปุพฺเพ ปุฺํ กริตฺวาน สพฺพสุขํ รมฺมติ โส
กตปุฺโ สทา โลเก ปุฺเขตฺเตสุ ตาทิสุ
อิธ โลเก ปรโลเก สพฺพสุขํ ลภิสฺสติ
เทวานํ เทวตา เสฏฺโ ตุสิตาทิปติฏฺิโต
อายุ วณฺโณ พลเตโช สพฺพสุขํ สมิชฺฌติ

ความว่า บุญสารกุมารมีบุญยิ่งล้น ย่อมสำเร็จผลมาแต่บุญกุศล บุคคลผู้ใดได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน บุคคลผู้นั้นย่อมจะรื่นรมย์ในความสุข ผู้มีบุญได้ทำแล้วในบุญเขต ผู้ทรงคุณมั่นคงไว้ในโลกนี้เนืองๆ ผู้นั้นจักได้ความสุขทั้งปวงในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า แม้ว่าทำลายขันธ์แล้วก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์มีชั้นดุสิตเป็นอาทิ จะเป็นเทวดาผู้ประเสริจุกว่าเทวดาทั้งหลาย จะมีอายุวรรณพลศักดาเดชสมบูรณ์ด้วยความสุขทั้งสิ้น

อยู่มากาลวันหนึ่ง ราชธิดากราบทูลพรรณนาคุณความดีของสามีอันเป็นที่รักของตน ให้พระราชมารดาบิดาทรงทราบ พระราชมารดาบิดาตรัสว่า สามีเป็นที่รักของลูกมากมาย ลูกจงขอเอาแก้วเจ็ดประการมาให้มารดาบิดาบ้าง ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ราชธิดาเมื่ออยู่กับบุญสารต่างสนทนาปราศรัยให้เกิดสิเนหา พระราชธิดาจึงวิงวอนขอสัตตรัตน์ ฝ่ายบุญสารจึงบ้วนปากคายสัตตรัตน์ส่งให้ราชธิดา ราชธิดาจึงนำเอามาถวายพระราชมารดาบิดา ให้ทอดพระเนตรแล้วกราบทูลเหตุที่บุญสารคายแก้วออกจากปากให้ทรงทราบ

พระราชาทรงสดับความแล้วจึงตรัสว่า ถ้ากระนั้น เราทั้งหลายจักชวนกันไปชมสวน จักให้สามีของลูกดื่มน้ำชัยบานอันเจือด้วยยาพิษ (คิดจะแหวะเอาแก้วในท้อง) ดำรัสแล้วจึงรับสั่งให้เตรียมพลเสนาเสร็จ แล้วจึงเสด็จออกไปยังราชอุทยาน ประทับ ณ ราชบัลลังก์ ณ โคนต้นไทร ทรงเสวยน้ำชัยบานและโภชนาหารให้พนักงานมโหรสพบรรเลงดนตรี แล้วลอบใส่ยาพิษให้บุญสารกิน บุญสารถึงเวทนามาก พระราชาทอดพระเนตรเห็นบุญสารทนทุกขเวทนา จึงให้ปกปิดบุญสารไว้แล้วเสด็จหนีไป

คราวนั้น มียักษ์สามตนพบบุญสารทนทุกขเวทนา พากันตรงมาจะกินบุญสารเสีย นิโรธพฤกษ์เทวดาเห็นยักษ์จะกินบุญสาร จึงดำริว่าบุญสารผู้นี้มีบุญ เมื่อครั้งเป็นพาราณสีเศรษฐี ได้สร้างศาลาและวิหาร บริจาคบิณฑบาตและจีวรเภสัชแก่พระภิกษุสงฆ์ไว้ และได้รักษาอุโบสถศีล เมื่อเรายังดำรงชีพอยู่อย่างนี้ ไม่ควรจะปล่อยให้บุญสารตายเสียเลย คิดแล้วก็เข้าไปใกล้ยักษ์แล้วตะคอกขู่ว่า ดูกรยักษ์ ท่านทั้งหลายอย่าได้กินบุญสาร คุณวิเศษของพากท่านมีอย่างไรหรือ บุญสารเขามีคุณสมบัติเขาเป็นสหายของพระราชาจักรพรรดิ

ยักษ์ตนหนึ่งจึงตอบเทวดาว่า ข้าแต่เทวดา คนทีน้ำทิพย์สิ่งหนึ่งของข้าพเจ้ามีอยู่ ถ้าสัตว์ผู้ใดตายแล้วเอาน้ำในคนที่รดลง สัตว์ผู้นั้นก็กลับเป็นขึ้นมาได้อยู่เป็นสุขต่อไป ยักษ์ตนหนึ่งบอกว่าข้าแต่เทวดา หากทองเหลืองของข้าพเจ้ามีอยู่อันหนึ่ง เอาสัมภาระอะไรใส่เข้าข้างหนึ่งก็จักกลายเป็นทอง เอาสัมภาระอะไรใส่เข้าข้างหนึ่งก็จักกายเป็นเงิน ยักษ์ตนหนึ่งจึงบอกว่า ข้าแต่เทวดา รองเท้าทิพคู่หนึ่งของข้าพเจ้ามีอยู่ ผู้ใดสวมใส่เท้าเข้าแล้ว ผู้นั้นก็เหาะไปได้ในอากาศ

เมื่อยักษ์ทั้งสามพูดอยู่กับเทวดา บุญสารก็ทำอาการไหวตัวกระดิกมือและเท้าได้ ยักษ์ทั้งสามได้เห็นก็ตกใจกลัว ทิ้งทิพคนทีและทิพขรากาชะปาทุกาหนีไป ทีนั้นพฤทษ์เทวดาหยิบเอาทิพคนที รินน้ำรดสรีราพยพบุญสาร บุญสารก็ได้ชีวิตเป็นขึ้นมาดังเก่า

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความอันใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

อิทฺจ ปจฺจยํ ลทฺธา ปุฺกมฺเมน สิชฺฌติ
สพฺเพ โรคา วินสฺสนฺติ อนฺตราโย อุปทฺทโว

ความว่า บุญสารกุมารได้ปัจจัยอันนี้มา ได้สำเร็จความปรารถนา และสรรพโรคันตรายอุปัทวทั้งหลาย ย่อมวินาศปราศจากไปด้วยกรรม คือบุญของตน

ฝ่ายบุญสารกุมารจึงอำลาเทวดาสวมใส่วรรณปาทุกาเหาะไปลงยังปราสาทราชธิดา ๆ เห็นบุญสารกลับมาได้ตกใจกลัวรีบออกไปต้อนรับ แล้วไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาจึงตรัสถามพระราชธิดาว่า ภัสดาของเจ้าเขาได้อะไรมาบ้างหรือไม่ ข้าแต่พระบิดา ภัสดาได้คนทีกับหาบและรองเท้ามาสามอย่าง ภัสดาของลูก เอาคนทีกับหาบและรองเท้ามา จักทำประโยชน์อะไรได้ ฯ ข้าแต่พระบิดา สิ่งของที่ภัสดาได้มานั้น มีคุณวิเศษต่างกันคือว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วรินน้ำในคนทีรดสัตว์ที่ตายก็กลับกลายเป็นขึ้น หาบนั้นถ้าเอาสัมภาระใส่เข้า สัมภาระนั้นก็กลายเป็นเงินเป็นทองไป ถ้าผู้ใดใคร่จะไปในอากาศ ผู้นั้นสวมใส่รองเท้าแล้วก็เหาะไปได้ ถ้ากระนั้น บิดาจะออกอุบายให้ ลูกยาจงพูดกะภัสดาว่า ฉันอยากจะไปเที่ยวป่าหิมพานต์ ช่วยพาไปสักครั้งหนึ่ง ครั้นภัสดาเขาพาไปถึงหิมวันต์ ภัสดานั้นเผลอตัวแล้ว เจ้าจงสวมปาทุกาพาเอาของสองอย่างนั้นมาเสีย

พระราชธิดาก็รับจะทำตามพระราชบิดาดำรัสสั่งทุกประการ บุญสารกุมารจึงสวมใส่สุวรรณปาทุกา เชิญให้พระราชธิดาประทับบนตัก เหาะไปจนถึงป่าหิมพานต์ บุญสารเห็นศิลาสีแก้วไพฑูรญ์ซ้อนกันเหมือนเศวตฉัตรอันตั้งอยู่ภายใต้เงาไม้ไทร จึงพาพระธิดาลงนั่งอยู่ ณ ที่นั้น พระบุญสารไสยาสน์อยู่ ณ โคนต้นไม้ก็เลยหลับไป พระราชธิดาฉวยได้คนทีน้ำและหาบ แล้วสวมปาทุกาเหาะหนีภัสดากลับมายังปราสาทของนาง

ฝ่ายบุญสารตื่นขึ้นมิได้เห็นกรรยา นั่งระทมทุกข์ถึงราชธิดา โสกาพลางทางดำเนินค้นหาไปตามสระบ่อและซอกภูเขาพนมวัน รำพันเพ้อด้วยวาจาว่า ภรรยาของเราตายเสียแน่แล้ว แม้กาป่าและนกก็ไม่มีมาวี่แวว ใครเล่าช่างมาฆ่าภรรยาของเราเสียได้หรือ สกุณทั้งหลายมาคาบเอาไป หรือพาลมฤคอันร้ายภาจ คือไกรสรสีหราชพยัคฆทีบีมาฉวยฉาบคาบเอาไปกินเสียสิ้นแล้ว ไฉนน้องแก้วทิ้งพี่ไว้ให้อนาถา พระบุญสารมีหทัยไหวหวั่นเหมือนกุญชรซับมันอันไกรสรสีหจับไว้มั่นฉะนั้น

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความอันใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ตโต โส ปริเทวิตฺวา ปพฺพตานิ วานิ จ
ปุน รุกฺขฉายาคนฺตวา กลูนํ ปริเวทยิ

ความว่า ต่อแต่นั้น บุญสารปริเทวนาการ เที่ยวดั้นด้นค้นหาราชธิดาไปตามภูเขาลำเนาไพร เมื่อไม่เห็นแล้วก็กลับมานั่งอยู่ที่ร่มไม้ไทรนั้นอีก โศกสะอื้นถึงราชธิดาประหนึ่งว่าชีวาจะอาสัญ

ก็ ณ บรรพตนั้น มีนิโครธพฤกษ์เทวดาองค์หนึ่ง เห็นบุญสารนั่งร้องไห้อยู่ดังนั้นจึงคิดว่า บุญสารมีบุญได้อบรมไว้ เมื่อครั้งก่อนได้เป็นมหาเศรษฐีอยู่เมืองพาราณสี เธอบำเพ็ญทานด้วยเจตนาแรงกล้า คือว่ามหาเศรษฐีนั้น วันหนึ่งไปฟังพระธรรมเทศนาที่โรงประชุมฟังธรรม เกิดเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา จึงเปลื้องผ้าห่มของตนฉีกออกเป็นสองท่อน ผ้าท่อนหนึ่งทำเป็นธง ผ้าท่อนหนึ่งบูชาพระธรรมเทศนา อาตมาควรจักสงเคราะห์พระบุญสาร คิดแล้วจึงบอกกะบุญสารว่า ไทรต้นนี้มีผลทรงคุณวิเศษนักหนา ผู้ใดได้กินผลไทรกิ่งตะวันออกแล้ว ผู้นั้นจะเป็นเสือไป ผู้ใดกินผลไทรกิ่งตะวันตกแล้ว ผู้นั้นจะกลายเป็นลิงไปได้ ผู้ใดกินผลไทรกิ่งทิศทักษิณแล้ว ผู้นั้นจะกลายเป็นหมีไป ผู้ใดกินผลไทรกิ่งทิศอุดรแล้ว ผู้นั้นจะกลายเป็นนกยางไป ผู้ใดกินผลไทรกิ่งยอดแล้ว ผู้นั้นจะเป็นมนุษย์รูปร่างงามนัก

บุญสารจดจำคำพฤกษ์เทวดาได้แม่นยำแล้ว จึงเก็บผลไทรทั้งห้ากิ่งมาพันห่อกายาไว้มั่น แล้วจึงบริโภคผลไทรกิ่งเบื้องอุดรทิศ บัดเดี๋ยวใจก็กลายเป็นนกยางบินมาทางอากาศถึงปราสาทพระราชธิดา พระราชธิดาผู้บาทบริจาริกาเห็นดังนั้นก็ร้องบริภาษว่า แน่ะนกยางจัญไร เจ้าทำไมมาจับเรือนเรา บุญสารเพศเป็นนกยางจึงตอบว่า พี่นี้แหละเป็นภัสดาของเธอพี่กลับมาได้แล้ว พระบุญสารก็เล่าความที่ได้ผลไทรให้นางทราบ แล้วบริโภคผลไทรกิ่งยอดก็กลายเป็นมนุษย์รูปงามยิ่งกว่าเก่า

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระบรมสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

กุสเล ผลวิปาเก ปุฺทาเน อภิรโต
ปุฺานิ ปรโลกสฺมึ อิเธว เต สมิชฺฌนฺติ
สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโสโภคสมปฺปิโต
ยํ ยํ ปเทสํ คจฺฉติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต

ความว่า ผู้ใดยินดีบำเพ็ญบุญทานการกุศลอันให้ผลไพบูลย์ บุญทั้งหลายย่อมจะยังผู้นั้น ให้สำเร็จความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ผู้มีศรัทธาบริบูรณ์ด้วยศีลแล้ว จะเป็นผู้มียศและเพียบพูนไปด้วยโภคทรัพย์ แม้จะไปยังประเทศใดๆ คนในประเทศนั้นนับถือบูชาแล้ว ด้วยประการฉะนี้

พระราชธิดาจึงวิงวอนพระบุญสารว่า ข้าแต่ภัสดา ท่านจงถวายผลไม้ทิพย์แก่พระราชมารดาบิดาของฉันให้ท่านเสวยบ้าง บุญสารก็รับคำว่าสาธุแล้ว จึงให้มหาชนมาประชุมพร้อม แล้วถวายผลไทรกิ่งตะวันตกให้ราชมารดาบิดาของพระชายาเสวย พระราชบิดา มารดาของพระชายาเสวยแล้ว มหาชนชาวพระนครพากันกินผลไทรกิ่งตะวันตกนั้น ก็พากันกลับกลายเป็นเพศวานรไปหมดสิ้น

บุญสารทิ้งกุสุมภนครเสียแล้ว สวมใส่สุวรรณปาทุกาให้ชายานั่งเหนือตักเหาะไปยังสำนักพระราชจักรพรรดิ ทูลความแต่ต้นมาให้ทรงทราบทุกประการ พระราชาจักรพรรดิจึงประทานตาเนื้อเบื้องขวาซึ่งเหลือให้พระบุญสารบริโภค พระบุญสารก็ถวายตาเนื้อเบื้องซ้ายซึ่งเหลือให้พระราชาจักรพรรดิเสวย พระราชาจักรพรรดิสิ้นพระชนมายุแล้วก็เสด็จไปอุบัติในดุสิตสวรรค์ พลนิกายทั้งหลายนั้นจึงอภิเษกบุญสารให้เป็นพระราชาจักรพรรดิ ๆ ครองราชสมบัติโดยธรรมเสมอมา

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำเทศนานี้มาแล้ว จึงประชุมชาดกว่า พฤกษเทวดาในมรรคันดรที่ ๑ กลับชาติมาคือ พระฉันนเถระ พฤกษเทวดาในมรรคันดรที่ ๒ กลับชาติมาคือพระสาริบุตรเถระ พฤกษเทวดาในมรรคันดรที่ ๓ กลับชาติมาคือ พระโมคคัลลานเถระ พฤกษเทวดาในมรรคันดรที่ ๔ กลับชาติมาคือ พระกัสสปเถระ บุญสารกลับชาติมาคือพระอานนท์เถระ พระเจ้าพรหมทัตกลับชาติมาคือพระสุทโธทนมหาราช พระวิมลาราชเทวีกลับชาติมาคือ พระมหามายาเทวี พระสิทธิสารกลับชาติมาคือ พระโลกนาถตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้

จบสิทธิสารชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ