๑๓. ทุกัมมานิกชาดก

โย ปุคฺคโล โทสชโนติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ทุกฺขํ อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมครูเมื่อเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันทรงพระปรารภความทุกข์ยากของพระองค์ให้เป็นเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย ปุคฺคโล โทสชโน เป็นอาทิ.

กิร ดังได้สดับมาว่า ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมพูดกันในโรงธรรมสภาว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าชมเชยนัก สมเด็จพระบรมครูเจ้าของเรา พระองค์ทรงอดกลั้นความทุกข์ยาก ลำบากพระกาย ลำบากพระหฤทัยมากนัก กว่าจะได้ตรัสพระสัมโพธิญาณ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จจากคันธกุฏี ไปประทับ ณ บวรพุทธอาสน์ทรงตรัสถามว่า ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ พระองค์จึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะได้อดกลั้นความทุกข์ยากลำบากแต่เดี๋ยวนี้หาบมิได้ แม้ในกาลปางก่อน เมื่อตถาคตเกิดแล้วในตระกูลกุฎุมพีคิดเปลื้องตนให้พ้นจากทุกข์ ซึ่งถูกพระราชาผู้อธรรมจะฆ่าให้ตายเพราะตถาคตฉลาดในอุบาย ตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ พระภิกษุทั้งหลายจะใคร่รู้ จึงกราบทูลอาราธนาให้พระองค์ตรัสอดีตนิทาน พระองค์จึงทรงนำอดีตนิทานมาอ้างดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลัง ยังมีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต ดำรงพระราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทิวงคตแล้ว พระราชบุตรพระนามว่าธุธระผู้รัชทายาทได้เสวยราชสมบัติสืบราชวงศ์ต่อไป เมื่อพระเจ้าธุธระราชทิวงคตแล้ว พระราชบุตรของพระเจ้าธุธระราชดำรงราชสมบัติสืบต่อไปอีก

คราวนั้น พระบรมโพธิสัตว์อุบัติเกิดเป็นบุตรกุฏมพีผู้หนึ่งอยู่ในชนบท นามปรากฏว่าทุกัมมานิก บิดาของทุกัมมานิกโพธิสัตว์ เมื่อถึงเวลาจะใกล้ตายสอนพระโพธิสัตว์ไว้ว่า หญิงสามผัว เจ้าอย่าเอามาเป็นภรรยา บุรุษบวชแล้วสึกสามหน เจ้าอย่าคบไว้เป็นเพื่อนเลย พระราชาที่ไม่ทรงวิจารณ์ ทำอะไรก็มักง่าย เจ้าอย่าคบไว้เลยเป็นอันขาด ให้โอวาทดังนี้แล้วก็ทำกาลไปปรโลก พระบรมโพธิสัตว์รำพึงถ้อยคำที่บิดาสอนไว้ว่าคำที่บิดากล่าวสอนนั้นจะเป็นจริงหรือไม่หนอ

ครั้นอยู่ต่อมา มีหญิงผู้หนึ่งมีผัวแล้วสามคน ทำความคุ้นเคยกับพระโพธิสัตว์ ๆ จึงคิดว่า เราจะทดลองดูตามคำบิดาว่าจะจริงหรือหาไม่ จึงคบหญิงนั้นไว้เป็นภรรยา แล้วต่อมาก็ได้คบบุรุษบวชแล้วสึกสามหนคนหนึ่งมาเป็นสหาย พระโพธิสัตว์จะใคร่คิดหาอุบายลองใจภรรยา

คราวนั้น หงส์ทองของพระเจ้าพาราณสีมีอยู่ตัวหนึ่ง หงส์ทองนั้นเชื่องบินไปเที่ยวหาอาหารตามท่าน้ำ วันหนึ่ง ภรรยาของพระโพธิสัตว์ไปจ่ายตลาดยังไม่กลับมา พระโพธิสัตว์จึงจับหงส์ทองนั้นได้แล้ว จึงขุดหลุมให้กว้างเอาหงส์ทองนั้นใส่ลงไว้ในหลุม เอาข้าวตอกกับน้ำผึ้งใส่ไว้ให้หงส์ทองกินจนพอ แล้วเอากระเบื้องปิดปากหลุมไว้ ทำให้มีช่องหายใจได้ แล้วก็กลับมายังเรือนของตน จึงจับหงส์ตัวอื่นมาฆ่าแลต้มแกงไว้ท่าภรรยา

ครั้นภรรยากลับจากจ่ายตลาดมาถึงบ้านแล้ว พระโพธิสัตว์แกล้งกล่าวมุสาว่า เราจับหงส์ทองของพระราชามาฆ่าได้ต้มแกงไว้อย่างนี้ ภรรยาได้ฟังดังนั้นก็ร้องโวยวายว่า ท่านไม่รู้จักกรรมอันหนัก จับเอาหงส์ที่เขาไม่ให้มาได้หรือ คราวนั้นพวกชาวพ้านก็เล่าลือกันต่อไปว่า หงส์ทองของพระราชาหายไป ราชบุรุษก็เที่ยวค้นหาหั่วไปได้ประกาศว่า ใครรู้จักคนที่ลักหกส์ทองไป จงมารับเอาทองคำพันกษาปณ์นี้

ตโต ตสฺส ภริยา ลำดับนั้น ภรรยาของพระโพธิสัตว์คิดจะใคร่อยู่กับชายอื่น แลคิดจะเอาทองพันกษาปณ์ด้วย จึงบอกกับอำมาตย์ว่า ข้าพเจ้ารู้จักตัวผู้ลักจับหงส์ทองไป ท่านจงให้ทองแก่ข้าพเจ้า ฯ ใครเล่าจับหงส์ทองไป ฯ สามีของข้าพเจ้าเองจับเอาหงส์ทองไป ฯ จริงกระนั้นหรือ ฯ ข้าแต่ท่าน จริงดังนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงนำความกราบทูลพระราชา ๆ ตรัสว่า ถ้ากระนั้นจงไปจับเอาตัวมา อำมาตย์ทั้งหลายจึงไปจับทุกัมมานิกบุตรกุฏุมพีจำด้วยเครื่องห้าประการ ประหารด้วยหวายแล้วนำไปถวายให้พระราชาทอดพระเนตร

เมื่ออำมาตย์จับพระโพธิสัตว์จำแลโบยด้วยหวายนำไปเพื่อถวายทอดพระเนตรนั้น เพื่อนของพระโพธิสัตว์ที่บวชแล้วสึกสามหนนั้น เดินมาพบเข้าจะได้มีความปรานีก็หาไม่ กลับอ้อนวอนขอผ้านุ่งกับพระโพธิสัตว์ว่า แน่ะสหายไหนไหนสหายจะตายแล้ว จงให้ผ้านุ่งแก่เราเถิด พระโพธิสัตว์ก็เปลื้องผ้านุ่งผ้าห่มให้แก่ชายคนนั้นไป

เมื่อพระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ที่เขานำมาเฝ้าในห้องพระโรงจึงรับสั่งว่า จงเอาไปฆ่าเสียที่นอกพระนครในวันนี้ พระโพธิสัตว์จึงพูดขึ้นว่า ถ้าหากเราจักตายไซร้หงส์ทองนั้นก็จักตายเหมือนกัน ถ้าเราจักไม่ตายหงส์ทองนั้นก็เหมือนกัน อำมาตย์ได้ยินดังนั้นแล้วตอบว่า เจ้าฆ่าหงส์แกงกินแล้ว หงส์ทองที่ไหนจักมีอีกเล่า แล้วนำพระโพธิสัตว์ไปยังประตูพระราชวังด้านปราจีณทิศในวันนั้นเป็นเวลาจวนเย็น นายประตูเขาปิดประตูวังหมดทุกด้าน

อำมาตย์ทั้งหลายเรียกนายประตูมาบังคับว่า คนนี้ทำความผิดโทษถึงตาย ท่านจงเปิดประตูวังออก พวกเราจักเอาคนนี้ไปฆ่าเสียในวันนี้ตามรับสั่ง นายประตูจึงตอบว่า แต่ก่อน ๆ มาเมื่อจับผู้ทำผิดได้แล้ว พระราชาต้องทรงวิจารณ์ไต่สวนให้ได้ความจริงแล้วจึงสั่งให้ลงโทษตามความผิด ข้าพเจ้าจักปิดประตูไว้ไม่ยอมเปิดให้ตลอดถึงสามวัน กิจที่พระราชาทำสะเพร่า ไม่ทรงวิจารณ์ให้ถ่องแท้ รับสั่งให้เอาคนไปฆ่าเสียง่าย ๆ นั้น ย่อมจะได้รับความเดือดร้อนภายหลัง อำมาตย์จึงซักถามอีกว่า แน่ะนายประตู กิจที่ไม่ทรงวิจารณ์ไต่สวนก่อน ย่อมได้รับความเดือนร้อนภายหลังนั้น มีตัวอย่างเรื่องราวอย่างไร ท่านจงเล่าให้พวกข้าพจ้าฟังบ้าง นายประตูจึงเล่าเรื่องราวให้ฟังดังต่อไปนี้ว่า

กิร ดังได้สดับมา ยังมีสองสามีภรรยา มีบุตรอยู่ผู้หนึ่งสามีภรรยานั้นเลี้ยงพังพอนไว้ตัวหนึ่ง รักใคร่เสมอเท่ากับบุตรของตน วันหนึ่งสองสามีภรรยาพากันออกไปทำไร่ ให้บุตรอยู่เรือนกับพังพอน งูตัวหนึ่งมากัดเอาบุตรนั้นตาย พังพอนก็ช่วยต่อสู้กับงูกัดงูตาย พังพอนจึงออกไปหมายจะบอกแก่สองสามีภรรยา ๆ เห็นเลือดติดตามตัวพังพอน จึงโกรธโทษเอาว่าพังพอนกัดลูกของตัวตาย ฉวยได้ดุ้นฟืนฟาดศีรษะพังพอน ๆ ถึงแก่ความตาย ภายหลังกลับมาบ้านเห็นลูกชายกับงูตายทับกันอยู่ที่ริมฝาเรือน สองสามีภรรยาจึงรู้สึกว่าพังพอนหาได้กัดลูกชายตายไม่ พากันร้องไห้รักลูกแลพังพอน ข้าแต่ท่านอำมาตย์ พระราชาของเราทำการสะเพร่าไม่ทรงวิจารณ์ก่อน ก็จะได้รับความเดือดร้อนเหมือนดังเรื่องที่กล่าวมานี้

สพฺเพ อมจฺจา ฝ่ายอำมาตย์ทั้งปวง จึงพาพระโพธิสัตว์ไปยังประตูวังด้านทักษิณทิศ เรียกนายประตูมาบังคับว่า คนนี้ทำความผิดโทษถึงตาย ท่านจงเปิดประตูวังออกพวกเราจักเอาคนนี้ไปฆ่าในวันนี้ตามรับสั่ง นายประตูได้ฟังจึงตอบว่า แต่ก่อน ๆ มาเมื่อจับผู้ทำผิดมาได้ พระราชาต้องทรงไต่สวนได้ความจริงแล้ว จึงสั่งให้ลงโทษตามความผิด ข้าพเจ้าจักปิดประตูไว้ไม่ยอมเปิดชั่วสามวัน กิจที่พระราชาไม่ทรงวิจารณ์ไต่สวน รีบด่วนให้เอาคนไปฆ่านั้น ย่อมจะได้รับความเดือดร้อนต่อภายหลัง แน่ะนายประตูคำที่ท่านว่าไม่วิจารณ์ไต่สวนก่อน ย่อมได้รับความเดือดร้อนนั้น เคยมีตัวอย่างเรื่องราวอย่างไร จงเล่าให้พวกข้าพเจ้าฟังบ้าง นายประตูจึงเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ว่า

กิร ดังได้สดับมา มีบุรุษพรานนกผู้หนึ่ง เลี้ยงนกเหยี่ยวไว้ตัวหนึ่ง วันหนึ่งพรานนกนั้นไปป่าเพื่อแสวงหายิงนก นกเหยี่ยวก็บินตามหลังไปด้วยกัน พรานนกนั้นเที่ยวแสวงหาน้ำกินตามธารนที มีงูตัวหนึ่งขดตัวอยู่ในที่ลับ พรานนกนั้นก้มลงประสงค์จะกินน้ำ หาเห็นงูที่จะกัดนัยน์ตาของตนไม่ ฝ่ายเหยี่ยวเห็นงูจ้องจะคอยกัดนายพราน จึงคิดว่านายของเราไม่เห็นงู เราจักห้ามไว้ก่อนจักดี คิดดังนี้แล้วก็เอาปีกทั้งสองกระทุ่มน้ำให้กระเทือน นายพรานก็โกรธจึงตีศีรษะนกเหยี่ยวด้วยกระบอกใส่น้ำผึ้ง เหยี่ยวก็ถึงความตาย แล้วนายพรานก็ดื่มกินน้ำ งูได้โอกาสจึงกัดเอานัยน์ตานายพราน ๆ รู้สึกตัวจึงคิดว่า นกเหยี่ยวเห็นภัยดังนี้จึงห้ามเราไว้ นายพรานร้องไห้ร่ำไรอยู่กลางป่า นัยน์ตาทั้งสองของตนก็ไม่เห็นหนสิ่งใด ข้าแต่มหาอำมาตย์พระราชาของเราทำการสะเพร่า ไม่ทรงวิจารณ์ก่อน จะได้รับความเดือดร้อน เหมือนดังเรื่องที่กล่าวมานี้

สพเพ อมจจา อำมาตย์ทั้งปวงเหล่านั้น จึงพากันนำพระโพธิสัตว์ไปยังประตูวังด้านปัจฉิมทิศ เรียกนายประตูมาบังคับว่า คนนี้ทำความผิดโทษถึงตาย ท่านจงเปิดประตูออก พวกเราจักเอาคนนี้ไปฆ่าตามรับสั่ง นายประตูได้ฟังจึงตอบว่า แต่ก่อน ๆ มาเมื่อจับผู้กระทำผิดได้แล้ว พระราชาต้องทรงวิจารณ์ไต่สวนได้ความจริงแล้วจึงให้ลงโทษตามความผิด ข้าพเจ้าจักปิดประตูไว้ไม่ยอมเปิดให้ตลอดชั่วสามวัน ซึ่งพระราชาไม่ทรงไต่สวนรีบด่วนจะให้เอาคนไปฆ่า ย่อมจะได้รับความเดือดร้อนต่อภายหลัง ฯ แน่ะนายประตู คำที่ท่านว่าไม่วิจารณ์ไต่สวนก่อนย่อมได้รับความเดือดร้อนนั้น เคยมีตัวอย่างเรื่องราวอย่างไร จงเล่าให้พวกเราฟังบ้าง นายประตูจึงเล่าเรื่องราวให้ฟังดังต่อไปนี้ว่า

กิร ดังได้สดับมาว่า มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพรหมทัต ดำรงราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีพระราชธิดาองค์หนึ่ง พระนามว่าสุนทรา นางสุนทรานั้น เคยเสด็จไปสรงหน้าเล่นในสระโบกขรณีทุก ๆ วัน แลมีสุนัขอันสนิทตามไปด้วยเสมอ วันหนึ่งพระราชธิดาสุนทราทรงเครื่องประดับพระสอแล้ว จึงเสด็จไปสรงน้ำกับสุนัขที่สระน้ำ มีบุรุษที่ผูกเวรกับพระราชธิดา ย่องตามแทงพระราชธิดาด้วยหลาว พระราชธิดาสิ้นพระชนม์อยู่ริมขอบสระ จะมีผู้ใดรู้เห็นก็หามิได้ สุนัขเห็นเหตุนั้นก่อนที่พระราชธิดาจะได้เสด็จไป สุนัขได้ห้ามไว้ก็ไม่ทรงฟัง สุนัขนั้นจึงคาบเอาเครื่องประดับพระสอของพระราชธิดามาวางไว้ตรงหน้าพระที่นั่งพระราชา ๆ เห็นดังนั้นทรงคิดว่าสุนัขนี้ฆ่าธิดาของเราคาบเอาเครื่องประดับมา ทรงพระพิโรธให้ฆ่าสุนัขนั้นเสีย ภายหลังเสด็จไปพบศพพระราชธิดา มีรอยหลาวปักอยู่ที่สรีระพระราชธิดา จึงทรงทราบว่าหาใช่สุนัขทำให้ตายไม่ ทรงกรรแสงร่ำไรต่าง ๆ ดังนี้ ข้าแต่ท่านอำมาตย์ข้อซึ่งพระราชาไม่ทรงวิจารณ์ไต่สวนก่อน ย่อมจะได้รับความเดือดร้อนเหมือนดังเรื่องที่กล่าวมานี้

สพฺเพ อมจฺจา อำมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้น ชวนกันนำพระโพธิสัตว์ไปยังประตูด้านทิศอุดร เรียกนายประตูมาบังคับว่า คนนี้ได้ทำความผิดโทษถึงตาย ท่านจงเปิดประตูออกเดี๋ยวนี้ พวกเราจักเอาคนนี้ไปฆ่าตามรับสั่ง นายประตูได้ฟังจึงตอบว่า แต่ก่อน ๆ เมื่อพระราชาเมื่อจับผู้ทำผิดได้มาแล้ว ต้องทรงวิจารณ์ไต่สวนได้ความจริงแล้ว จึงให้ลงอาญาตามความผิด ข้าพเจ้าจักปิดประตูไว้ จักไม่เปิดให้สิ้นสามวัน ข้อซึ่งพระราชาไม่ทรงวิจารณ์ไต่สวนเสียก่อน ย่อมได้รับความเดือดร้อนเมื่อภายหลัง ฯ แน่ะท่านนายประตู คำที่ท่านกล่าวว่าไม่ทรงวิจารณ์ไต่สวนก่อนย่อมได้รับความเดือดร้อนนั้น เคยมีตัวอย่างเรื่องราวอย่างไร จงเล่าให้พวกเราฟังบ้าง นายประตูจึงเล่าเรื่องราวให้ฟังดังต่อไปนี้ว่า

กิร ดังได้สดับมา ยังมีบุรุษสองคนเป็นเพื่อนรักสนิทกัน แต่สหายผู้หนึ่งอยู่บ้านทางทิศปราจิณ สหายผู้หนึ่งอยู่ทางทิศปัจฉิม วันหนึ่งสหายที่อยู่ปัจฉิมคามนั้น ไปหาเพื่อนที่อยู่ปราจิณคาม ค้างอยู่บ้านนั้นคืนหนึ่ง เมื่อจะลากลับบ้าน เพื่อนที่อยู่ปราจิณคาม ให้สุนัขตัวหนึ่งแก่เพื่อนปัจฉิมคาม ๆ จึงกล่าวคำที่พึงใจว่า เราขอบใจท่าน ๆ ให้สุนัขแก่เรา ขอให้เพื่อนเป็นสุขปราศจากโรคเถิด แล้วกอดรัดสุนัขพาไปบ้านของตน

ครั้นอยู่ต่อมาภายหลัง ปัจฉิมคามสหายทำเครื่องประดับผูกคอสุนัขให้ แล้วส่งไปยังสำนักปราจิณคามกสหาย สุนัขตัวนั้นดีใจคิดว่านายรักใคร่เรา ทำเครื่องประดับผูกคอให้เรา ๆ จักไปบอกนายเก่าให้ทราบ คิดแล้วก็กลับไปบอกเจ้าของเดิม ฝ่ายปราจิณคามบุรุษผู้เป็นเจ้าของเดิมนั้น ครั้นเห็นสุนัขมาหาเครื่องประดับผูกคอมาคิดว่าสุนัขนี้ชะรอยจะลักเครื่องประดับของเพื่อนเรามา จึงตัดศีรษะสุนัขนั้น ๆ ก็ถึงแก่ความตาย อยู่มาอีกสองสามวัน ปัจฉิมคามกสหายนั้น ไปหาปราจิณคามกสหายแล้วพูดว่า ดูกรสหาย เราเอาเครื่องประดับผูกคอสุนัขส่งมายังสหายแล้ว สุนัขนั้นดีใจได้เครื่องประดับกลับมาหาสหาย ๆ เห็นแล้วหรือไม่ ฯ ดูกรสหาย เราเห็นแล้ว แต่เราสำคัญผิดคิดว่า สุนัขลักเครื่องประดับของสหายมา เราฆ่าสุนัขนั้นตายเสียแล้ว สหายทั้งสองพากันร้องไห้ได้ความร้อนใจ ดังนี้ ข้าแต่ท่านอำมาตย์ ซึ่งพระราชาไม่ทรงวิจารณ์ก่อนย่อมจะได้รับความเดือดร้อนเหมือนดังที่กล่าวมานี้

เมื่อนายประตูสนทนากับอำมาตย์อยู่ดังนี้ จนราตรีสว่างขึ้นมา อำมาตย์จึงพาพระโพธิสัตว์กลับไปถวายพระราชา ๆ ทอดพระเนตรแล้วตรัสว่า เราสั่งให้เอาทุกัมมานิกไปฆ่า ทำไมพวกเจ้าเอากลับมาอีก ฯ ข้าแต่มหาราชเจ้า นายประตูทั้งสี่ด้านทัดทานห้ามไว้ไม่เปิดประตูให้ไป อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลมูลเหตุที่กล่าวมาแล้วให้ทรงทราบทุกประการ

พระเจ้าพาราณสีทรงฟังดังนั้นจึงรับสั่งถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรเจ้าทุกัมมานิก เรื่องราวของเจ้าเป็นอย่างไร จงเล่าให้เราฟัง ฯ ข้าแต่มหาราชเจ้า บิดาของข้าพระบาทเมื่อใกล้จะตายให้โอวาทแก่ข้าพระบาทไว้สามข้อแล้วทำกาลไป ข้อที่ ๑ ว่าหญิงมีผัวแล้วสามคน เจ้าอย่าได้เอามาเป็นภรรยา ข้อที่ ๒ ว่าชายบวชแล้วสึกสามหน เจ้าอย่าได้คบเอามาเป็นเพื่อน ข้อที่ ๓ พระราชาที่ไม่ทรงวิจารณ์ทำการสะเพร่า เจ้าอย่าได้เสวนะเลยเป็นอันขาด

ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระบาทจะใคร่ทดลองถ้อยคำบิดาว่าจะจริงหรือไม่จริง ข้าพระบาทจึงนำหญิงสามผัวมาเป็นภรรยาและได้คบบุรุษบวชแล้วสึกสามหนคนหนึ่งมาเป็นสหาย ข้าพระบาททำอุบายจับหงส์ทองพระองค์ซ่อนไว้ หามีผู้ใดรู้เห็นไม่ ได้จับหงส์ตัวอื่นมาฆ่าแกง แล้วแกล้งบอกกับภรรยาให้รู้ว่าฆ่าหงส์ทองของพระองค์ ภรรยานั้นประสงค์จะคบชู้อื่นและโลภต่อทรัพย์ จึงนำอำมาตย์ไปจับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนพระองค์เล่าก็มิได้ทรงวิจารณ์ รับสั่งให้ประหารชีวิตข้าพระบาท เมื่ออำมาตย์กำลังนำข้าพระบาทไปเพื่อจะฆ่า สหายซึ่งบวชและสึกสามหนคนนั้น มาพบข้าพระพุทธเจ้ากลับวิงวอนของผ้านุ่งข้าพระบาท ข้าพระบาทก็เปลื้องให้สหายไป ผ้านุ่งนั้นใช่ผ้าดีล้วนแต่มีเลือดติดอยู่ทั้งผืน ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระบาทได้ขุดหลุมฝังหงส์ไว้ในที่โน้นพระเจ้าข้า

ราชา ตํ สุตฺวา พระเจ้าพาราณสีทรงฟังดังนั้นจึงรับสั่งว่า เจ้าจงไปนำหงส์ทองมา พระโพธิสัตว์ไปนำหงส์ทองนั้นมาวางไว้ ณ หน้าพระลานหลวง พระเจ้าพาราณสีมีพระหฤทัยยินดี จึงประทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งให้แก่พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ดูกรมหาบุรุษเจ้า จงถือเอาตำแหน่งที่อุปราชเถิด พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช บิดาของข้าพระบาทให้โอวาทไว้ว่า พระราชาองค์ใดไม่วิจารณ์ทำการมักง่าย เจ้าอย่าได้อยู่ในสำนักพระราชาองค์นั้นเลย พระองค์มิได้ทรงวิจารณ์ข้าพระบาทว่า ควรจะฆ่าหรือไม่ควรฆ่าก่อน รีบร้อนรับสั่งให้ฆ่าโดยมิได้ไต่สวน ข้าพระบาทไม่สมควรอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ต่อไป แล้วจึงกราบทูลโดยนัยคาถาดังนี้ว่า

โย ปุคฺคโล โทสชโน น สหาโย ทุกฺขปฺปตฺโต
สุขิโต ฆาฏย มิตฺตํ ทีฆกาลํ ทุกฺขํ ปตฺโต
ยา อิตฺถีปิ ติวิธวา น ภรียา ทุกฺขปฺปตฺตา
สุขิตา ยาติ วินาสํ ทีฆกาลํ ทุกขํ ปตฺตา
ฉนฺทโทสภยโมหํ โย ธมฺมํ อติวตฺตติ
นิหียติ ตสฺส ยโส กาพปกฺเขว จนฺทิมา
ฉนฺทโหสภยโมหํ โย ธมฺมํ นาติวตฺตติ
อาปูรติ ตสฺส ยโส สุกปกฺเขว จนฺทิมา
กาฬปกฺเข ยถา จนฺโท หายเตว สุเว สุเว
กาฬปกฺขูปโม ราช อสตํ โหติ สงฺคโม
สุกปกฺเข ยถาจนฺโท วฑฺฒเตว สุเว สุเว
สุกปกฺขูปโม ราช สตํ โหติ สงฺคโม
ถเล ยถา วาริชา จ นินฺนวุฏฺา อนนฺเทยฺยุํ
เอวํ น วิรูหติปิ อสตํ สงฺคโม มยฺหํ
ยถา วาริชา ชนินฺท วุฏฺาปิ จิรฏฺิติกา จ
เอวํ สตํ สงฺคโม จิรตฺถิกํ มยฺหํ โหติ
อุทกํว สเร อพฺยาธิโก โหติ  
สตํ สมาคโมเยว ปติฏฺเยฺย  
ขิบฺปํ หิ วินสฺสติ อสตํ สงฺคโม  
ตสฺมา สตํ ธมฺโม อสพฺภิ อารกา  
ราชา โย อเชยฺยํ ชินาติ โส ทุฏฺโ นาม ยสสฺมึ
โย น สขา นาม โหติ โย มิตฺตสขานํ ชินาติ
น จ สา โหติ ภริยา ยา ปาปิจฺเฉ น ภายเส
เย น ภรนฺติ ปิตุโปสํ เต จ ปุตฺตา น โหนฺติ วา
เย มานสา น สมนฺติ อสนฺเตน เน เต สนฺโต
เย น ภณนฺติ ธมฺมํ เต อสนฺโต นาม โหติ
ราคฺจ โทสฺจ โมหํ ธมฺมํ ปหาย วทนฺติ
สนฺโต น ภาสมานํ ชานนฺติ มิสฺสํ พาเลหิ ปณฺฑิตํ
ตํ ภาสมานํ ชานนฺติ เทเสนตฺตํ อมตํ ปทํ

แปลความว่า บุคคลผู้ใดประทุษร้ายต่อเพื่อน บุคคลเช่นนั้นไม่ควรคบเป็นเพื่อน เพื่อนชนิดนี้มีแต่จะพาให้ถึงทุกข์ยาก ถึงได้สุขแล้วยังอาจฆ่ามิตรสหายได้ มีแต่จะได้ความทุกข์สิ้นกาลนาน แม้หญิงผู้ใดมีผัวสามคนแล้ว หญิงเช่นนั้นไม่ควรเอาเป็นภรรยา ๆ เช่นนี้มีแต่จะพาให้ถึงความทุกข์ ถึงได้ความสุขแล้วก็มีแต่จะวนไปหาความฉิบหายเป็นเบื้องหน้า มีแต่จะได้รับความทุกข์สิ้นกาลนาน

บุคคลผู้ใดลุอำนาจธรรม คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ บุคคลผู้นั้นย่อมเสื่อมเสียจากยศศักดิ์ เหมือนพระจันทร์ในกาฬปักษ์ข้างแรมไม่แจ่มใสฉะนั้น บุคคลผู้ใดไม่ลุอำนาจธรรม คือ ฉันทา โทสา ภยา โมหาคติ บุคคลผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ยิ่งด้วยยศศักดิ์เหมือนพระจันทร์ในสุกปักษ์ข้างขึ้นฉะนั้น

ข้าแต่พระราชาเจ้า อนึ่งเล่าพระจันทร์ในปักษ์ข้างแรมย่อมเสื่อมแสงลงทุกวัน ๆ ฉันใด ความสมาคมกับอสัตบุรุษ ก็เหมือนพระจันทร์ในกาฬปักษ์ข้างแรมฉันนั้น พระจันทร์ในสุกปักษ์ข้างขึ้นย่อมเปล่งรัศมีแจ่มใสขึ้นทุกวัน ๆ ฉันใด ความสมาคมกับสัตบุรุษก็เหมือนดุจพระจันทร์ในสุกปักษ์ข้างขึ้นฉันนั้น

ธรรมดาปลาในน้ำ ชอบอยู่ในที่ลุ่มน้ำลึก ไม่ยินดีอยู่บนบกเลย ฉันใด ความที่ข้าพระบาทจะคิดคบกับอสัตบุรุษ ย่อมไม่ผุดไม่ผลิเลยฉันนั้น ข้าแต่พระชนินทรราชเจ้า อนึ่งเล่าปลาอยู่ในน้ำย่อมมีชีวิตอยู่ได้นาน ๆ ฉันใด ความที่ข้าพระบาทสมาคมกับสัตบุรุษก็ย่อมทำประโยชน์อยู่ได้นาน ๆ ฉันนั้น

ความสมาคมกับด้วยสัตบุรุษ เป็นคุณสูงสุดตั้งอยู่ฝ่ายข้างเจริญ เหมือนน้ำในสระใหญ่ พลันที่ว่าจะเสื่อมซุดพินาศไปเท่านั้น ตสฺมา เพราะเหตุนี้ ธรรมของพวกสัตบุรุษ จึงอยู่ห่างจากพวกอสัตบุรุษ

พระราชาพระองค์ใด ผจญซึ่งบุคคลที่ไม่ควรเอาชนะเขา พระราชาพระองค์นั้น ชื่อว่าทำลายแล้วซึ่งความเป็นอิสรภาพของพระองค์เอง เพื่อนคนใดย่อมกดขี่เอาเปรียบแก่มิตรสหายฝ่ายหนึ่ง เพื่อนคนนั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อนเลย ภรรยาคนใดใจบาปดื้อด้าน ภรรยาคนนั้นไม่นับว่าเป็นภรรยาได้เลย

บุตรเหล่าใดไม่เลี้ยงมารดาบิดาที่ตนจำจะต้องเลี้ยง บุตรเหล่านั้นไม่นับว่าเป็นบุตรเลย ชนเหล่าใดมีใจไม่สงบรำงับนั้น ชนเหล่านั้นไม่นับว่าเป็นสัตบุรุษได้ เพราะสันดานไม่สงบรำงับนั้น ชนเหล่าใดพูดจาไม่เป็นธรรม ชนเหล่านั้นชื่อ อสัตบุรุพ สัตบุรุษย่อมละซึ่งธรรม คือ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้วจึงสอนผู้อื่น คนสัตบุรุษใช่จะรู้จักพูดถ้อยคำอันเจือด้วยพาลและบัณฑิตเท่านั้นก็หาไม่ คนสัตบุรุษย่อมรู้จักพูดและรู้จักแสดงอมตบท คือทางพระนฤพานนั้นด้วย พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทคาถาให้จบลงด้วยประการฉะนั้น

ราชา อาห พระเจ้าพาราณสีมีโองการตรัสว่า แน่ะมหาบุรุษตั้งแต่นี้ไปเราจะตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ๆ จงอยู่ในนครนี้เถิด ฯ ข้าแต่พระราชาเจ้า บิดาข้าพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างใด ข้าพระพุทธเจ้าต้องทำตามคำบิดาสอนอย่างนั้น ฯ แน่ะมหาบุรุษท่านจงเป็นพระราชาครองราชสมบัติโดยธรรม อย่าไปประเทศอื่นเลย ฯ ข้าแต่พระราชาเจ้า พระราชาองค์ใดไม่ทรงวิจารณ์ทำการสะเพร่า ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ไม่ได้อยู่ในนครของพระราชานั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลขัดดังนั้น แล้วขอษะมาโทษพระราชา กราบถวายบังคมลาไปเมืองตักกสิลา ครั้นถึงจึงเข้าไปอาศัยนอนอยู่ที่แผ่นมงคลศิลา ในราชอุทยาน

ในกาลคราวนั้น พระเจ้าตักกสิลราชถึงทิวงคตล่วงไปได้เจ็ดวัน ขาวพระนครมีอำมาตย์เป็นต้น ประชุมกันปลงพระศพถวายพระเพลิงเสร็จในวันครบเจ็ดนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า บัดนี้พระนครของเราไม่มีเจ้านายรักษา จะหาใครมาเป็นพระราชาได้ อำมาตย์ผู้หนึ่งมีปัญญาตอบว่า ควรเราทั้งหลายจะปล่อยปุสสรถ ๆ ไปเรือนผู้ใด ผู้นั้นจะเป็นพระราชาของพวกเรา ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึงผูกปุสสรถเทียมด้วยม้าสินธพสี่ม้าแล้วเสี่ยงทายปล่อยไปว่า ท่านจงไปยังเรือนพระราชาของพวกเรา ณ บัดนี้

ปุสสรถนั้นได้ทำปทักษิณพระราชนิเวศน์แล้ว จะไปเรือนของใครก็หาไม่ แล่นออกนอกพระนคร ตรงเข้าไปยังราชอุทยานหมู่อำมาตย์ทั้งหลาย พากันถือเครื่องดนตรีตามหลังปุสสรถไป ปุสสรถนั้นทำปทักษิณแผ่นมงคลศิลา หยุดยืนเตรียมจะเกยพระบรมโพธิสัตว์ พราหมณ์ปุโรหิตจึงเข้าไปยกเท้าพระมหาบุรุษดูเห็นลักษณะแล้วจึงพูดว่า นักปราชญ์ผู้นี้สามารถจะดำรงราชสมบัติได้ในทวีปทั้งสี่ พราหมณ์ปุโรหิตจึงสะกิดให้ตื่นขึ้นแล้วแจ้งว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ราชสมบัติมาถึงท่านแล้ว เชิญท่านไปครองราชสมบัติ ณ บัดนี้เถิด

ตํ สุตฺวา โพธิสตฺโต พระบรมโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงถามว่า แน่ะท่านปุโรหิต ราชโอรสและราชอนุชาภาคินัยของพระราชาท่านทั้งหลายไม่มีหรือ ฯ ข้าแต่ท่านผู้ดังว่าเทวดา ไม่มีพระเจ้าข้า ฯ ท่านทั้งหลายพอใจพร้อมกันแล้วหรือ ฯ ข้าพเจ้าทั้งหลายพอใจพร้อมกันทั้งหมดฯ เออถ้ากระนั้นก็ดีแล้ว พราหมณ์ปุโรหิตมีจิตโสมนัส จึงพร้อมกันอภิเษกพระโพธิสัตว์ในที่นั้นเสร็จแล้ว จึงเชิญให้เสด็จขึ้นสู่ปุสสรถนำเสด็จกลับพระนคร มหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น บางพวกถือเอาเครื่องดนตรีแห่เสด็จไปหน้า และตามเสด็จไปเบื้องหลัง ล้วนสะพรั่งไปด้วยกระบวนแห่ตลอดถึงภายในราชนิเวศน์สถาน ตโต ปฏฺาย จำเดิมแต่นั้นมา พระบรมโพธิสัตว์ ดำรงราชสมบัติตามยุติธรรมประเพณี และโปรดให้สร้างโรงทานถึงหกแห่ง ทรงบริจาคทรัพย์ บำเพ็ญทานวันละหกแสนทุกวัน ๆ

คราวนั้น ภรรยาคนเก่าและสหายคนเก่าทั้งสองของพระโพธิสัตว์นั้น ไปอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา ผัวเมียทั้งสองนั้น จะได้ทำบุญกุศลสิ่งหนึ่งก็หาไม่ มีแต่ทำการบาปเป็นเบื้องหน้า วันหนึ่งบุรุษสามีจึงปรึกษากับภรรยาว่า ได้ยินพระราชาเมืองตักกสิลาทรงบำเพ็ญมหาทานเป็นการใหญ่ เราสองคนควรจะไปขอทานเลี้ยงชีวิตในเมืองตักกสิลานั้นจะดี ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว ก็พากันไปนครตักกสิลาไปสู่โรงทานของพระราชา ๆ ทอดพระเนตรจำได้ว่าเป็นเพื่อนเก่าและเมียเก่าจึงตรัสถามคนสองคนนั้นว่า เจ้าเป็นผัวเมียกันหรือ ฯ ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาททั้งสองเป็นผัวเมียกัน ฯ จึงบังคับราชบุรุษว่าเจ้าจงจับมัดผัวเมียสองคนนี้ ไล่ให้ไปเสียยังเมืองอื่น ราชบุรุษก็ทำตามรับสั่งดังนั้น พระมหาสัตว์ยังมหาทานให้เป็นไปโดยทานมุข ด้วยประการฉะนี้

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตเจ้า เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัดจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ตโต ตกฺกสิลราชา ปุฺกมฺเมน อานิโต
รตนสิริสมฺปนฺโน ราชา โหติ มหิทฺธิโก
มหาปุฺโ มหาปฺโ มหาาติ มหายโส
มหพฺพโล มหาเตโช ราชสิริสมฺปตฺติโย
ปุฺธโร ราชเสฏฺโ โสหํ ธมฺเมน รชฺชํ
วิปุลฺลํ กาเรสึ ปุฺํ ผลํ วิปากสมฺภารํ
สพฺพสุขปรมาทีสุ ชชฺชลมานาเนสุ

แปลความว่า แต่กาลนั้น พระเจ้าตักกสิลราช ด้วยอำนาจบุญกรรมนำมาให้ได้เป็นพระราชา สมบูรณ์ด้วยรัตนสิริทรงมหิทมีบุญและปัญญามากยิ่งด้วยญาติและยศใหญ่ ทรงพระกำลังเดชานุภาพมาก ทรงไว้ซึ่งบุญอันประเสริฐ พระองค์ทรงประกาศว่า เรานั้นได้ดำรงราชสมบัติโดยยุติธรรม บำเพ็ญบุญกรรมให้ไพบูลย์ ผลวิบากอันนั้นเกื้อกูลให้เราได้ความสุขยิ่งใหญ่ อันรุ่งเรืองทั่วไปในที่ทุกสถาน

----------------------------

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสประกาศอริยสัจจเทศนา เมื่อจบอริยสัจจกถาลงมหาชนเป็นอันมากได้บรรลุมรรคผลมีโสดาเป็นต้น พระทศพลจึงประมวลซึ่งชาดกว่า มารดาของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระมหามายา บิดาของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระสุทโธทนะมหาราช บุรุษผู้ประทุษร้ายมิตรในกาลนั้นกลับชาติมาคือพระเทวทัต ภรรยาผู้ทุศีลในกาลนั้นกลับชาติมาคือนางจิญจมานวิกา นายประตูสี่คนในกาลนั้นกลับชาติมาคือพระธุดงค์เถระองค์ใดองค์หนึ่ง บริษัททั้งหลายในกาลนั้น กลับชาติมาคือ พุทธบริษัท ทุกัมมานิกราชในกาลนั้น กลับชาติมาคือ พระโลกนาถตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้

จบทุกัมมานิกชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ