๓. สุธนุชาดก

หาหา ปุตฺต นิวตฺตสูติ อิทํ สฺตถา เชตวเน วิหรนฺโต มารพลทมนํ อารพฺภ กเถสิ.

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภกิริยาที่พระองค์ทรงทรมานพระยามาราธิราชและพลมาร ให้เป็นเหตุเบื้องต้น จึงทรงแสดงผลคือชาดกนี้ อันพระสังคีติกาจารย์กำหนดด้วยบาทพระคาถาว่า หาหา ปุตฺต นิวตฺตสุ ดังนี้เป็นอาทิ

ตถา หิ แท้จริง นิทานที่เป็นปัจจุบันในชาดกนี้ มีเนื้อความอันพระสังคีติกาจารย์กล่าวโดยย่อว่า ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงสละจักรพรรดิราชสมบัติ อันจะมาถึงเงื้อมพระหัตถ์ในภายใน ๗ วัน แล้วเสด็จออกมหาภิเนษกรมแต่ลำพังพระองค์เพื่อแสวงหาคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ เสด็จเหนือวชิรบัลลังก์ภายใต้ไม้มหาโพธิ ทรงผจญพระยามารผู้นิรมิตแขนพันหนึ่ง กับทั้งหมู่พลมารอันมีรูปต่าง ๆ แต่ล้วนน่าพิลึกสะพึงกลัวทั้งมีมืออาวุธต่าง ๆ ถ้วนทั่วทุกคน อันแวดล้อมพระองค์อยู่ในที่ประมาณ ๓๐ โยชน์ ให้ปราชัยพ่ายแพ้ โดยมิได้ทรงเปล่งวจีเภทเลย พระองค์ก็ได้ทรงมีชัยชนะพลมารทั้งหลายมีพระยามาราธิราชเป็นประธาน พระตถาคตผู้เป็นบรมศาสดาจารย์ของเราทั้งหลายมีพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่เป็นมหัศจรรย์

ในขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จอยู่ในคันธกุฎีในพระเชตะวัน ได้ทรงสดับคำพระภิกษุทั้งหลายนั้น ด้วยทิพโสตญาณจึงเสด็จอุฏฐาการไปยังโรงธรรมสภา ทรงประทับเหนือพุทธอาสน์แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งปวงนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไรกัน ภิกษุทั้งหลายจึงทูลความตามที่ได้สนทนานั้นให้ทรงทราบ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตบำเพ็ญบารมีมา ๓๐ ทัศจนได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และได้มีชัยชนะสงครามอันใหญ่ ใช่จะเป็นแต่กาลนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ถึงในกาลปางก่อน เมื่อตถาคตมีญาณยังมิได้แก่กล้า ตถาคตก็ได้ทรมานฆันตารยักษ์ และได้มีชัยชนะประดุจดังกาลนี้เหมือนกัน มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ พระภิกษุทั้งหลายจะใคร่สดับอดีตนิทาน จึงพากันทูลอาราธนาพระพุทธองค์ก็ทรงนำเรื่องในอดีตภพมาตรัสเทศนา ดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต ภิกฺขเว พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลเป็นอดีตล่วงแล้วนานมีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพาราณสี พระองค์มีพระนางเกศนีเป็นคู่ราชาภิเษก เป็นเอกอัครมเหสี เป็นใหญ่กว่าพระสนมนารีหมื่นหกพันนาง แต่พระองค์มิได้มีพระราชบุตรและพระราชธิดา

ในกาลนั้น ชาวพระนครทั้งหลายจึงพากันไปประชุมที่หน้าพระลานร้องทูลสารอุปกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช เมื่อพระองค์มิได้มีพระราชบุตรและพระราชธิดาดังนี้ ครั้นพระองค์เสด็จทิวงคตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จักเป็นผู้อนาถา หาพระราชาซึ่งจะปกครองเป็นที่พึ่งต่อไปมิได้ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดตั้งพระหฤทัยปรารถนาพระราชโอรส อันสามารถจะดำรงราชสมบัติเป็นกษัตริย์สืบสันตติวงศ์แทนพระองค์ต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า

ราชา สาธูติ สมฺปฏิจฺฉิตฺวา พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับจึงมีพระราชดำรัสตอบว่า ดีแล้ว เราจะประพฤติตามความประสงค์ของท่านทั้งหลาย จึงมีรับสั่งให้หาพระสนมนารีทั้งปวง มีพระราชเทวีชื่อว่าเกศนีเป็นประธานมาเฝ้า แล้วมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งหลายมาอยู่ในสำนักเรา ก็ได้รับความสุขสำราญสิ้นด้วยกันทั้งหมด แต่นี้ไปเจ้าทั้งหลายจงตั้งใจปรารถนาโอรสให้เกิดขึ้นในครรภ์ ถ้าผู้ใดได้โอรสเราจะมอบราชสมบัติให้แก่โอรสของผู้นั้น เจ้าทั้งหลายจงพากันปรารถนาโอรส ดังเราสั่งนี้เถิด

พระสนมนารีทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับมายังที่อยู่ของตน ฯ แต่นั้นมาต่างคนต่างก็นมัสการบูชาเทพยดาของตน ๆ ตามที่ได้เคยนับถือบูชามาแต่ก่อน ปรารถนาจะให้บุตรมาบังเกิดในอุทรด้วยกันทั้งหมด พระสนมนารีเหล่านั้นก็ไม่ได้โอรสสมความปรารถนา

ในลำดับนั้น พระนางเกศนีราชเทวี จึงมีพระเสาวณีย์ตรัสแก่พระสนมทั้งหลายว่า ท่านทั้งปวงจงอุตส่าห์กราบไหว้บูชาเทพยดาขอบุตรให้เกิดในตนของตนเถิด ครั้นมีพระเสาวณีย์ตรัสดังนี้แล้วส่วนพระนางเองก็ทรงสมาทานอุโบสถศีลมีองค์ ๘ ประการ และทรงสละทรัพย์แสนหนึ่ง บริจาคให้เป็นทานแก่ยาจกวณิพกคนกำพร้าอนาถาโดยเหตุที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และหาประโยชน์มิได้ แล้วเสด็จขึ้นเบื้องบนพระมหาปราสาท ทรงบรรทมเหนือสยนอาสน์ที่พระบรรทมน้อยพิจารณาทานที่ทรงบริจาค และองค์ศีลที่ได้สมาทาน แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าศีลมีองค์ ๘ ประการที่ข้าพเจ้าได้สมาทานรักษาด้วยดีแล้วนี้ มิได้ด่างพร้อยขาดทำลายแม้แต่องค์ใดองค์หนึ่งไซ้ ขอให้โอรสมาบังเกิดในครรภ์ของข้าพเจ้า พระนางเกศนีราชเทวีทรงอธิษฐานดังนี้แล้วก็เสด็จเข้าสู่ที่นิทรารมย์ บรรทมหลับอยู่บนพระแท่นที่ไสยาสน์

ในขณะนั้น ด้วยเดชอำนาจแห่งศีลของพระราชเทวี ก็ร้อนขึ้นไปถึงอาสน์ท้าวโกสีย์สักกเทเวศร์ ท้าวสหัสนัยพิจารณาดูก็รู้เหตุว่าพระนางเกศนีราชเทวีทรงรักษาอุโบสถศีล และปรารถนาโอรสให้เกิดในพระครรภ์ จึงทรงพระดำริว่า เราควรจะเชิญเทวบุตรองค์หนึ่ง ให้ลงไปปฏิสนธิในครรภ์พระเทวี ครั้นทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงพิจารณาเลือกหาเทวบุตรที่สมควรจะลงไปบังเกิด ก็ได้เห็นพระโพธิสัตว์เทพบุตร ซึ่งจวนจะสิ้นอายุจุติไปเกิดในมนุษยโลก จึงไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์ตรัสอาราธนาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ กาลนี้สมควรแล้วที่ท่านจะลงไปเกิดในมนุษยโลก ถือปฏิสนธิในครรภ์พระนางเกศนีราชเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต พระโพธิสัตว์ก็รับอาราธนาตามเทวบัญชานั้น

ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์รับอาราธนาแล้วก็ลงมาสู่มนุษยโลก ในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง จึงเข้าไปในห้องพระบรรทมของพระนางเกศนี เข้าไปกระซิบที่พระกรรณของนางว่า ดูกรพระราชเทวี ในเวลาเช้าพรุ่งนี้ พระนางตื่นบรรทมสรงพระพักตร์ชำระพระองค์ ทรงประดับเครื่องอลังการแล้ว จงไปประทับแทบสีหบัญชร ผันพระพักตร์เฉพาะประตูพระราชนิเวศน์ทอดพระเนตรไปในทางอากาศ ขณะนั้นจะมีเหยี่ยวตัวหนึ่งคาบผลพุทรามา แล้วจะทำผลพุทรานั้นให้ตกลง ณ ที่ตรงพระพักตร์ พระราชเทวีจงเก็บผลพุทรานั้นมาเสวย แล้วทิ้งเมล็ดลง ณ ปถพี ทรงทำอาการดังนี้ พระโอรสจึงมาบังเกิดในพระครรภ์ ท้าวสักกเทวราชตรัสกระซิบดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับไปยังเวชยันตพิมาน อันเป็นนิวาสนฐานของพระองค์

ครั้นเวลารุ่งราตรี พระนางเกศนีตื่นบรรทมก็สรงพระพักตรชำระพระสรีราพยพด้วยสุคนธวารี แล้วทรงพระภูษาประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการ เสด็จไปเปิดสีหบัญชร ผันพระพักตรเฉพาะพระทวารพระราชนิเวศน์ ทอดพระเนตรดูมรรคาตามคำที่สมเด็จอมรินทราธิราชกระซิบสั่ง

ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงนิรมิตอัตตภาพเป็นเหยี่ยวคาบผลพุทราด้วยจะงอยปากบินมา ณ ที่เฉพาะพระพักตรพระนางเกศนีแล้วทำผลพุทรานั้นให้ตกลง ณ พื้นปถพีดล พระนางเกศนีได้ทัศนาการเห็นก็ดีพระทัย จึงเสด็จลงไปเก็บผลพุทรานั้นเสวยแล้วทิ้งเมล็ดลงที่พื้นปถพี ทันใดนั้น มีนางพาชีแก่ตัวหนึ่งวิ่งมาแต่ภายใต้ปราสาท เห็นเมล็ดพุทราที่พระนางเกศนีทิ้งลงนั้น ก็คาบมากินเป็นอาหาร ขณะนั้นนางพาชีก็มีครรภ์ตั้งขึ้น ฝ่ายพระนางเกศนีก็มีพระครรภ์ตั้งขึ้นพร้อมกับนางพาชีนั้น พระนางเกศนีรู้พระองค์ว่าทรงพระครรภ์ จึงไปทูลประพฤติเหตุนั้น ให้พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นพระราชสามีทรงทราบ

พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับว่าพระอัครมเหสีทรงพระครรภ์ก็ทรงพระโสมนัสปรีดา จึงพระราชทานคัพภบริหาร เครื่องรักษาพระครรภ์ และมีรับสั่งให้พระสนมกำนัลคอยระวังดูแลพิทักษ์รักษาพระราชเทวี

ฝ่ายนางพาชีชรานั้น ครั้นครรภ์ถ้วนกำหนด ก็คลอดอัศวโปดกออกมาก่อนพระราชเทวี จักษุทั้งสองของอัศวโปดกนั้น มีสัณฐานดังกุณฑลที่บุคคลทำด้วยแก้วมณี เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงเรียกชื่ออัศวโปดกลูกพาชีนั้นว่า มณีกักขิอัศวราช ดังนี้

ฝ่ายพระนางเกศนีราชเทวีนั้น ทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาสแล้วก็ประสูติพระโพธิสัตว์ราชกุมาร มีพระฉวีวรรณกันบริสุทธิ์ผ่องใส ประดุจดังว่าทองคำธรรมชาติ ก็และขณะเมื่อพระราชกุมารโพธิสัตว์ประสูตินั้นกษัตริย์ทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้นนำเอาแก้ว ๗ ประการ และเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ เป็นอันมากมาถวาย ด้วยอำนาจบุญญานุภาพของพระราชกุมารโพธิสัตว์

ในกาลนั้น พระเจ้าพรหมหัตผู้เป็นพระราชบิดา จึงมีรับสั่งให้หาพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นโหราจารย์รู้ทำนายลักษณะมาประชุมพร้อมกัน แล้วมีพระราชดำรัสให้พราหมณ์เหล่านั้นทำนายลักษณะพระราชกุมารปิโยรส

พราหมณ์ทั้งหลายพิจารณาดูแล้ว ก็พากันน้อมประณตทูลพยากรณ์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช ในทวีปใหญ่ทั้งสี่ที่มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารจงยกไว้ แต่ในพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้ ซึ่งจะมีผู้ใดรู้ศิลปศาสตร์ยิงธนูชำนาญ เปรียบปานดังพระราชกุมารพระองค์นี้ เป็นอันไม่มีโดยแท้ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงฟังพราหมณ์ทูลพยากรณ์ดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง จึงให้จารึกพระนามลงในสุพรรณบัฏพระราชทานพระนามพระกุมารโพธิสัตว์ให้ชื่อสุธนุ พระราชกุมารสุธนุโพธิสัตว์นั้น ครั้นมีพระชนม์เจริญวัยโดยลำดับ ก็รอบรู้ศิลปศาสตร์ธนูเจนจบหาผู้ใดที่จะเปรียบเสมอมิได้

ในกาลนั้นบุตรีของลุงแห่งพระโพธิสัตว์นั้นมีอยู่คนหนึ่ง มีนามชื่อว่านางกเรณุวดี มีรูปโฉมลักษณะอันงามอุดม ควรจะดูจะชมให้เกิดความปลื้มใจ ผิวพรรณของนางนั้นละเอียดผ่องใสงามสะอาด ประดุจดังว่านางเทพอัปสรที่อยู่ในไกรลาสฉะนั้น ไม่มีบุรุษใดที่สมควรจะเป็นคู่ควรแก่นางนั้นเลย มีอยู่แต่พระราชกุมารโพธิสัตว์สุธนุผู้เดียว ที่จะสมควรเป็นคู่แก่นางนั้น

วันหนึ่ง พระสุธนุราชกุมารโพธิสัตว์ เล่นอยู่กับเสตกุมารผู้เป็นน้องขายของนางกเรณุวดี จึงทรงเขียนรูปสตรีขึ้นรูปหนึ่งแล้วตรัสว่า เรายังไม่ได้เห็นรูปกนิษฐภคินี ที่จะงามเหมือนรูปเขียนนี้เลย รูปที่เราเขียนนี้ จะเหมือนพระภคินีพี่สาวของท่านหรือไม่ ท่านจงดูรูปที่เราเขียนนี้ เสตกุมารจึงตอบว่า นางกเรณุวดีนั้น พระองค์ไม่ได้เคยเห็นหรือ เสตกุมารตอบดังนี้แล้ว ก็กล่าวคำอื่น ๆ มีประการต่าง ๆ ต่อไป แต่ล้วนเป็นสัมโมทนิยกถา ถ้อยคำอันนำมาซึ่งความชื่นบานบันเทิงจิต ครั้นเล่นอยู่ควรแก่เวลาแล้ว ต่างคนต่างก็กลับไปที่ของตน

ครั้นกาลเวลาล่วงไปโดยนัยนี้ จนพระราชกุมารโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นพระราชบิดาก็เสด็จทิวงคต ข้าราชการทั้งหลายมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นประธาน ก็พากันจัดการฌาปนกิจถวายพระเพลิงพระศพเสร็จแล้ว ปรารถนาจะกระทำการราชาภิเษกพระราชกุมารโพธิสัตว์ ให้ครองมไหสุริยสมบัติในเมืองพาราณสีสืบสันตติวงศ์ดำรงราชอาณาจักร แทนพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นพระชนกาธิราช จึงพร้อมกันประดับตกแต่งสินธพชาติซึ่งมีสรีระอันขาวล้วนควรจะเป็นม้าพระที่นั่งทรงนำเข้าไปเทียบถวาย พระโพธิสัตว์ราชกุมาร พระองค์ก็ยังมิได้ทรงรับ ตรัสสั่งให้ไปประดับมณีกักขิอัศวราช ด้วยอัสสาลังการ เครื่องประดับสำหรับม้าพระที่นั่ง อำมาตย์ทั้งปวงก็กระทำตามรับสั่งแล้วนำมณีกักขิอัศวราชสินธพเข้าถวาย พระโพธิสัตว์ราชกุมารก็เสด็จขึ้นทรงมณีกักขิอัศวราชพาชี ขณะนั้น ชาวพนักงานทั้งหลายก็ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกัน เอิกเกริกไปด้วยเสียงสาธุการและเสียงร้องถวายชัยมงคล ทั้งเหล่ามหาชนก็ยกผืนผ้าขึ้นโบกโบย ทำเป็นธงชายถวายสักการบูชา ฝ่ายพระยามณีกักขิสินธพชาติ ก็พาพระโพธิสัตว์โลดขึ้นไปในอากาศสูงประมาณได้วาหนึ่งเป็นกำหนด ชาวพระนครทั้งหลายมีมหาอำมาตย์เป็นต้น ต่างคนได้เห็นอาการอันอัศจรรย์ก็พากันบันลือสรรเสริญบุญญาธิการ พระยามณีกักขิอัศวราชพาชีก็พาพระโพธิสัตว์ราชกุมารโลดขึ้นไปในอากาศอีก สูงประมาณชั่วลำตาล ๑ และ ๒ ชั่วลำตาล ๓ ชั่วลำตาลเป็นลำดับไป ตราบเท่าถึง ๓ ชั่วลำตาล มหาชนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นประธาน เห็นพระยามณีกักขิอัศวราชนั้น พาพระโพธิสัตว์ราชกุมารเหาะขึ้นไปในอากาศสูงเกินประมาณดังนั้นก็ตกใจ จึงพากันรีบไปเฝ้าพระราชเทวีเกศนีผู้เป็นพระราชมารดา เวลานั้นพระราชเทวีโสรจสรงพระสรีรกายเสร็จแล้ว กำลังทรงประทับสางพระเกศาอยู่ ยังหาทันที่จะแล้วไม่ มหาชนก็พากันตรงเข้าไปถวายบังคมแล้วปริเทวนาการพลางทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระแม่เจ้าจงเสด็จโดยเร็วพลัน พระราชกุมารโอรสของแม่เจ้านั้น พระยามณีกักขิอัศวราชพาไปสู่นภาลัยไกลยิ่งนัก พระแม่เจ้าจงอย่าให้ข้าพระบาททั้งหลายเป็นคนอนาถา หาที่พึ่งมิได้เลย

พระนางเกศนีราชเทวี ได้เห็นมหาชนพากันมาร้องไห้ปริเทวนาการร่ำไรดังนั้น มิทันที่จะสางพระเกศาให้สำเร็จ สางได้กึ่งหนึ่งเท่านั้นก็เสด็จจากที่ แต่จะทรงผลัดพระภูษาก็ยังหาทันที่จะผลัดไม่ รีบเสด็จไปทอดพระเนตร ณ ที่ใกล้พระทวารวัง แลเห็นพระยาอัศดรพาพระราชโอรสเหาะไปในอากาศ มิอาจที่จะกลั้นความโศกไว้ได้ ก็ยกพระกรข้อนพระอุระแล้วทรงปริเทวรนาการพลางกล่าวพระคาถาว่า

หาหา ปุตฺต นิวตฺตสุ มา มํ อนาถํ กโรหิ
อชฺช ปุตฺตํ น ปสฺสามิ หทยํ เม ผลิสฺสติ

ความว่า หาหา ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร พ่อจงกลับมาหามารดา อย่าทำมารดาให้อนาถาทรพลเลย ถ้ามารดามิได้เห็นพระปิโยรสในวันนี้ ดวงหทัยของพระมารดาก็จะแตกทำลายออก ๓ ภาคแล้วจะเลยทิวงคตอยู่ ณ ประตูพระราชนิเวศน์นี้

พระโพธิสัตว์ราชกุมารได้ยินเสียงพระชนนี จึงทอดพระเนตรลงไป ณ พื้นปถพีดล ก็แลเห็นพระราชมารดาของตนยืนทรงพระกรรแสงโศกาดูร ร่ำรำพันพิลาปอยู่แทบประตูพระราชนิเวศน์มีพระอัสสุชลเนตรไหลอาบพระพักตรา ก็มีความสงสารพระมารดายิ่งนัก มีพระหฤทัยอันหดหู่ปราศจากรื่นเริง เลยสิ้นความรักพระยามณีกักขิอัศวราช ด้วยสามารถที่พระองค์ทรงพระกตัญญูกตเวทีและมีความจงรักภักดีในพระราชมารดา จึงทรงพระดำริว่า เพราะพระยาอัศวราชตัวนี้ พระชนนีบังเกิดเกล้าของเรา จึงได้ทรงปริเทวนาการแทบจะวางวายพระชนมชีพ เราจะตัดศีรษะพระยาอัศดรนี้เสีย แล้วรีบลงไปเฝ้าพระชนนีของเราดีกว่า ทรงดำริฉะนี้แล้ว ก็ชักพระแสงขรรค์กวัดแกว่งอยู่ไปมา เพื่อจะตัดศีรษะพระยามณีกักขิอัศวราชนั้น

ฝ่ายพระยามณีกักขิอัศวราชรู้พระอาการ จึงทูลพระราชกุมารโพธิสัตว์ด้วยภาษามนุษย์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้พงศ์สมมติเทวราช พระองค์อย่าเพ่อพิฆาฏฆ่าหม่อมฉันเสียเลย พระโพธิสัตว์ราชกุมารจึงดำรัสว่า ดูกรอัศดรพาชี วาจาของท่านที่กล่าวนี้ เป็นความจริงละหรือ พระยาสินธพอัศวราชจึงทูลว่า วาจาที่หม่อมฉันกล่าวนี้เป็นความจริง พระองค์อย่าทรงแคลงพระทัยเลข

พระโพธิสัตว์ราชกุมารได้ฟังดังนั้น จึงสอดพระแสงขรรค์คืนเข้าฝัก แล้วระลึกถึงพระคุณของพระราชมารดา มีน้ำพระอัสสุชลธาราเต็มคลอพระเนตร จึงน้อมพระเกศถวายบังคมลา เชิญพระราชมารดาให้เสด็จกลับเข้าสู่พระราชนิเวศน์ ส่วนพระยามณีกักขิอัศวราชผู้เรืองเดช ก็พาพระโพธิสัตว์ราชกุมารเหาะไปถึงเสตนครราชธานี พระยาอัศดรพาชีก็พาลงจากอากาศ ให้พระโพธิสัตว์ราชกุมารหยุดพักระงับกระวนกระวายอยู่ภายนอกพระนคร อันเป็นที่กำบังคนซึ่งสัญจรไปมา

ฝ่ายบรมกษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติในเสตนครนั้น ทรงพระนามว่าพระเจ้าเสตราช พระองค์เป็นบรมขัตติยาธิบดี พระอัครมเหสีของพระองค์ทรงพระนามชื่อว่าปทุมคัพภาราชเทวี มีพระราชบุตรีทรงพระนามว่าจีรัปภา มีรูปทรงสัณฐานอันงามเป็นที่นำมาซึ่งความปลื้มใจ วรรณสีกายของนางนั้นอุปมัยดังว่าสีดอกปทุมชาติ อันบริสุทธิสดสะอาดพึ่งผุดพ้นชลธาร มีส่วนงามเปรียบปานดังนางเทพกัญญา มีรัศมีกายอันงามยิ่งก้าวล่วงวรรณของหญิงในมนุษย์ แต่ไม่ถึงรัศมีกายของนางเทพธิดาในสวรรค์ นางบริจาริกาผู้รับใช้สอยของพระราชธิดานั้น เป็นหญิงมีสรีรกายเตี้ยค่อมมีนามชื่อว่านางปทุมา เป็นทาสีที่พระราชบิดาพระราชทานไว้สำหรับไว้ดูแลพิทักษ์รักษาพระราชบุตรี

ฝ่ายกษัตริย์ต่าง ๆ ในชมพูทวีป ทุกธานีบุรีน้อยใหญ่ จะใคร่ได้พระราชธิดาจีรัปภาเทวี ไปเป็นอัครมเหสีของพระองค์ ต่างก็ส่งเครื่องราชบรรณาการ มีพระราชสาส์นมาสู่ขอพระราชธิดานั้นเนือง ๆ พระเจ้าเสตราชบรมกษัตริย์ก็มีพระราชสาส์นตอบไปทุกพระนคร ในพระราชสาส์นนั้นว่า ราชธิดาของเรานั้น สมควรแก่กษัตริย์ผู้ทรงอิสรภาพอันประเสริฐกว่าขัตติยราชทุกธานี จะได้คู่ควรแก่ท่านทั้งหลายนั้นหามิได้ อนึ่งพระเจ้าเสตราชนั้น ให้พระราชธิดาจีรัปภาอยู่ในปราสาทอันมีพื้นถึง ๗ ชั้น ให้อยู่ด้วยกันกับหญิงค่อมคนใช้ อันชื่อว่านางปทุมาสองคนเท่านั้น

ฝ่ายว่าพระโพธิสัตว์ราชกุมาร เมื่อลงมาถึงพื้นปถพี ระงับความกระวนกระวายสบายอินทรีย์แล้ว ก็เปลื้องเครื่องอานออกจากพระยาอัศดร จึงมีสุนทรวาจาว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราชผู้เจริญ ท่านจงไปแสวงหาภักษาหารตามสบายเถิด แต่ทว่าอย่าไปเที่ยวให้ไกลนัก ถ้าเราระลึกถึงท่านเมื่อใด ท่านจงรีบมาหาเรา เมื่อนั้นมณีกักขิอัศวราชรับคำแล้ว ก็ไปเที่ยวแสวงหาอาหารในสถานที่หลังคูพระนคร เที่ยวกัดหญ้าอ่อน ๆ กินตามสบาย ส่วนพระโพธิสัตว์ก็แปลงกายเปลี่ยนเพศเป็นพราหมณ์ เดินเข้าไปเที่ยวพระนคร

ฝ่ายพวกพราหมณ์ทั้งหลายในเมืองนั้น เห็นพระโพธิสัตว์เดินเข้าไป ก็พากันรักใคร่ไปสิ้นทั้งนั้น พระโพธิสัตว์ดำเนินต่อไปก็ได้เห็นประชาชนประชุมกันใกล้ทาง แลเห็นศาลาที่ประชุมและร้านตลาดตามระวางถนน เดินไปในที่ใดก็ได้ฟังเสียงประชาชนในที่นั้น มีแต่กล่าวสรรเสริญชมพระรูปพระโฉมพระราชบุตรีจีรัปภา

มีคำปุจฉาถามแทรกเข้ามาว่า พระราชบุตรีจีรัปภานั้น มีพระรูปโฉมอันงามยิ่งนัก เพราะนางได้กระทำการกุศลอันใดไว้แต่ในชาติก่อน มีคำวิสัชนาว่า พระราชบุตรีจีรัปภามีรูปทรงสัณฐานและวรรณสีกายอันงามยิ่งนั้น เพราะผลแห่งกุศลที่ได้ถวายจตุปัจจัยและสร้างพระพุทธปฏิมากรอันงาม เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใสไว้แต่ในชาติปางก่อน

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังคำมหาชนชาวพระนคร กล่าวสรรเสริญชมพระรูปพระโฉมพระราชธิดาจีรัปภา พรรณนาถึงความงามมีประการต่าง ๆ ดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า ทำไฉนหนอ เราจึงจะได้เห็นพระนางจีรัปภาราชบุตรี ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ครั้นเวลากึ่งราตรีก็ทรงทาพระสรีรกายด้วยสุคนธชาติของหอมทั้งสี่ แล้วประดับองค์ด้วยเครื่องอลังการ ทรงพวงมาลัยอันงามวิจิตรบรรจงแล้วทรงระลึกถึงอัศดรพาชีมณีกักขิสินธพ ในขณะนั้นมณีกักขิสินธพอาชาไนยก็มายืนอยู่ ณ ที่ใกล้พระโพธิสัตว์ เงี่ยโสตคอยฟังว่าจะตรัสประการใด พระโพธิสัตว์เห็นพระยาอาชาไนยมายืนอยู่จึงตรัสบอกว่า เราปรารถนาจะเห็นพระราชบุตรีทรงพระนามว่าจีรัปภา ทำไฉนจึงจะได้เห็นสมดังความปรารถนา มณีกักขิสินธพจึงทูลว่า หม่อมฉันจะพาพระองค์ไปให้ได้เห็นนาง พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังก็ดีพระทัย จึงทรงถือพวงมาลัยและของหอมขึ้นสู่หลังอัศวราช มณีกักขิสินธพก็พาพระโพธิสัตว์ตรงไปสู่ประตูหน้ามุขปรางค์ปราสาท อันเป็นที่อยู่ของราชบุตรีจีรัปภา ครั้นถึงบานประตูปราสาทแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทอดพระเนตรดูโดยช่องกุญแจแลเห็นพระราชบุตรีจีรัปภาอันบรรทมอยู่บนแท่นที่ไสยาสน์ ทั้งเห็นนางปทุมาหญิงค่อมอันนอนอยู่ ณ ที่ใกล้สยนอาสน์อีกคนหนึ่งเท่านั้น มิได้เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในปราสาทนั้นอีกเลย จึงทรงพระดำริว่า สตรีผู้นี้มีรูปทรงอันงามยิ่งนัก ทั้งดวงพักตรผิวพรรณก็บริสุทธิสะอาด งามประดุจดังว่านางเทพกัญญาในสวรรค์ จะเป็นพระราชบุตรีจีรัปภาที่เขาพรรณนาชมพระรูปพระโฉมนั้นหรือไฉน หรือจะเป็นสตรีใดไม่ใช่พระราชบุตรี จึงดำริสงสัยฉะนี้ จึงตรัสถามมณีกักขิอัศวราชว่าสตรีที่นอนอยู่บนที่ไสยาสน์นั้นผู้ใด จะเป็นพระราชธิดาชื่อว่าจีรัปภาหรือไฉน อัศวราชอาชาไนยมองดูแล้วทูลว่า สตรีนี้มิใช่ผู้อื่นเลย คือพระราชบุตรีซึ่งมีนามว่าจีรัปภานั้นเอง

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ก็ลงจากหลังอัศวราชมโนมัย จึงเปิดบานทวารแต่ค่อย ๆ แล้วเสด็จเข้าไปในห้องที่บรรทมพระราชธิดา ทอดพระเนตรดูพระจีรัปภาราชบุตรีตั้งแต่เบื้องพระศิโรตม์ตราบเท่าถึงเบื้องพระบาท มิได้อิ่มพระเนตร จึงลูบไล้พระวรกายพระราชบุตรีด้วยสุคนธชาติ แล้วสวมพวงกุสุมมาลัยในข้อพระกรและจารึกเป็นปริศนาไว้ในเบื้องหลังนางปทุมาทาสีแล้วทาด้วยเครื่องลูบไล้อันเหลือจากทาพระวรกายพระราชบุตรีจีรัปภา แล้วยืนทอดพระเนตรพิจารณาพระราชบุตรีอยู่ ณ ที่นั้น

ขณะนั้น มณีกักขิอัศวราชจึงทูลเชิญพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพดา เชิญพระองค์เสด็จมาเถิด มัชฌิมยามล่วงไปนานแล้ว บัดนี้ถึงปัจฉิมยามจวนจะใกล้รุ่งอยู่แล้ว เชิญเสด็จกลับไปโดยเร็วพลันเถิด พระเจ้าข้า

พระโพธิสัตว์ได้ฟังสินธพอาชาทูลเชิญมิใคร่จะทรงพระดำเนินออกจากปราสาทได้ ด้วยทรงอาลัยในพระราชบุตรีจีรัปภาแล้วฝืนพระทัยรีบทรงดำเนินมาขึ้นอัศดรสินธพชาติ ฝ่ายมณีกักขิอัศวราชมโนทัย ก็พาพระโพธิสัตว์กลับมาสู่ที่พักภายนอกพระนคร ซึ่งเป็นที่หยุดพักระงับร้อนแต่เมื่อแรกมานั้น พระโพธิสัตว์คิดรำพึงถึงพระราชบุตรีจีรัปภา จึงตรัสแก่สินธพชาตินั้นว่า เราไม่สามารถจะอยู่ในที่อันปราศจากพระราชบุตรีจีรัปภาได้ ท่านจะไปหาอาหารในที่อันสบายก็จงไปเถิด แต่เมื่อถึงสมัยกึ่งราตรี พาชีจงรีบมาหาเราให้จงได้ มณีกักขิอัศวราชรับคำแล้ว ก็กลับไปหาอาหารกินอยู่ ณ ที่ใกล้คูพระนครนั้น

ครั้นรุ่งราตรีพระทิตย์อุทัยสว่างแจ้งแล้ว พระราชบุตรีจีรัปภาตื่นจากบรรทม ทอดพระเนตรเห็นรูปไซดักมัจฉาที่หลังนางปทุมาทาสีค่อม ทั้งเห็นเครื่องลูบไล้ของหอมอันทาอยู่ทั่วกายนางปทุมาทาสีก็ทรงพระสรวลแล้วมีพระเสาวณีย์ตรัสถามว่า พี่ได้ของหอมเครื่องลูบไล้ที่ไหนมาทากายของพี่ นางค่อมปทุมาได้ฟังพระเสาวณีย์ตรัสถามถึงมีวาจาว่า โอน่าอัศจรรย์จริง ๆ ของหอมเหล่านี้มาแต่ไหนหนอ แล้วแลไปเห็นเครื่องลูบไล้ของหอมที่พระกายพระราชบุตรีจีรัปภากับทั้งพวงมาลัยอันสวมอยู่ที่ข้อพระกร จึงทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าก็ของหอมเครื่องลูบไล้ที่พระวรกายกับทั้งพวงมาลัยที่ข้อพระกรของพระแม่เจ้านั้น พระแม่เจ้าได้มาแต่ที่ไหนเล่า พระราชบุตรีจีรัปภาได้ฟังถาม จึงเดินเข้าไปส่องพระฉาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระบวรกายของพระองค์ อันลูบไล้ประทาไปด้วยเครื่องหอม และพวงมาลาที่สวมข้อพระกรอยู่นั้น ก็เกิดอัศจรรย์ใจมีความสงสัยยิ่งนัก จึงดำริในพระทัยว่า ชะรอยอมรินทราธิบดี หรือเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทพดา จะมาในปราสาทที่อยู่ของเรานี้เป็นแท้ ทรงกำหนดฉะนี้แล้ว จึงตรัสแก่นางปทุมาหาสีค่อมว่า ในราตรีวันนี้เราจะพากันคอยดูให้เห็นประจักษ์แก่ตา นางทาสีปทุมาก็รับพระเสาวณีย์

ฝ่ายหน่อพระชินสีห์สุธนุโพธิสัตว์ ครั้นถึงกึ่งราตรีก็ทรงระลึกถึงพาชีอัศวราช ครั้นอัศดรมาถึงก็ขึ้นทรง แล้วเสด็จเข้าไปในปราสาทพระราชบุตรี ทรงกระทำวิธีเหมือนดังนั้น ในราตรีเป็นคำรบ ๒ และราตรีเป็นคำรบ ๓ ฝ่ายพระราชบุตรีจีรัปภากับนางปทุมาทาสีตั้งตาเฝ้าคอยดูก็พากันหลับไป ในราตรีที่ ๒ และราตรีที่ ๓ นั้น

ครั้นถึงราตรีที่คำรบ ๔ พระราชบุตรีจีรัปภาจึงตรัสแก่นางปทุมาทาสีอีกว่า ดูกรพี่ปทุมา คืนวันนี้เราทั้งสองคน จักไม่หลับไม่นอนจะคอยจับผู้ที่เข้ามาในที่นี้ให้จงได้ ถ้าเราทั้งสองไม่อาจตื่นอยู่ได้ ยังขืนจะหลับเหมือนแต่ก่อนไซร้ เราเอาก้านอุบลมาขยี้ เอาน้ำหยอดจักษุทั้งสองซ้ายขวาไว้ เมื่อกระทำดังนี้ เราทั้งสองคนก็จะหลับมิได้ จะตื่นอยู่จนรุ่งราตรี นางปทุมาทาสีจึงตอบว่า กระทำอุบายดังนี้อาจสำเร็จดั่งความปรารถนาได้ พระราชบุตรีจีรัปภากับนางปทุมาทาสีปรึกษากันฉะนี้แล้วก็กระทำเหมือนดังนั้น ก็พากันตื่นอยู่มิได้หลับ

ครั้นเวลากึ่งราตรี พระโพธิสัตว์ประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการ ลูบไล้พระวรกายด้วยสุคนธชาติของหอมแล้ว ทรงถือของหอมและพวงมาลาขึ้นทรงอาชาสินธพชาติ ตรงไปปราสาทพระราชบุตรีจีรัปภา ครั้นถึงจึงเปิดบานพระทวาร ได้ทัศนาการเห็นรัศมีกายของพระราชบุตรีอันมีแสงสว่างแผ่ไปทั่วทั้งปรางค์ปราสาท ประดุจดังว่าแสงโอภาสแห่งประทีปที่บุคคลตามไว้ฉะนั้น จึงตรัสแก่สินธพอาชาไนยว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราชผู้สหาย ท่านได้เห็นรัศมีกายของพระราชบุตรีจีรัปภาหรือไม่ อัศวราชอาชาไนยทูลว่าหม่อมฉันได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า

ฝ่ายพระราชบุตรบุตรีจีรัปภา ได้ทัศนาการเห็นองค์พระสุธนุโพธิสัตว์จึงกระซิบที่ใกล้หูนางปทุมาว่า เทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทพดามาแล้วท่านเห็นหรือไม่ นางปทุมาทาสีก็รับพระเสาวณีย์ว่าหม่อมฉันได้เห็นแล้ว พระแม่เจ้าอย่าอื้ออึงไป ชนทั้งสองก็มีจิตประกอบด้วยปีติโสมนัส เพราะเหตุที่ได้เห็นพระโพธิสัตว์เสด็จมา จึงปิดจักษุทั้งสองด้วยชายพระภูษาที่ทรงห่ม ทำเป็นประหนึ่งว่านิทรารมย์หลับอยู่มิได้รู้สมปฤดี

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ตรัสสั่งสินธพพาชี ก็เสด็จเข้าไปในปรางค์ปราสาท ทรงประทับ ณ แท่นที่ไสยาสน์ของพระราชบุตรีจีรัปภา ตรัสปราศรัยด้วยถ้อยคำอันเป็นที่รักเจริญใจแต่ลำพังพระองค์ แล้วทรงรูปไล้ทาวรกายพระราชบุตรีจีรัปภา ด้วยเครื่องลูบไล้และของหอมเป็นต้น แล้วเอาของหอมและเครื่องทาที่เหลือนั้น ไปทากายนางปทุมาทาสีกระทำดังที่ได้ทรงกระทำมาแต่ราตรีก่อน ๆ แล้วทอดพระเนตรดูพระราชบุตรจีรัปภามิได้พริบพระเนตร เพราะมีจิตเสน่หาปฏิพัทธ์ในพระราชบุตรีจีรัปภาเป็นกำลัง

ในกาลนั้น มณีกักขิอัศวราช จึงร้องเชิญเสด็จว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพงศ์เทพดา เชิญพระองค์เสด็จออกมาเถิด เวลาจวนจะสว่างแจ้งอยู่แล้ว พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังสินธพอาชาไนยทูลเชิญ จึงค่อย ๆ เคลื่อนพระองค์ลงจากพระที่ เพื่อจะเสด็จกลับออกมาทรงสินธพอัศดร

ในขณะนั้น พระราชบุตรีจีรัปภาจีงกระซิบบอกนางปทุมาว่า พี่จงจับเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาไว้ เราทั้งสองช่วยกันจับอย่าให้หนีออกไปได้ นางปทุมาทาสีรับพระราชเสาวณีย์แล้ว ยังมิทันที่จะลุกขึ้นจากที่ ฝ่ายพระราชบุตรีจีรัปภาก็อุฏฐาการจากที่ไสยาสน์ตรงเข้ากอดพระบาทพระโพธิสัตว์ ด้วยพระหัตถ์ทั้งสองให้มั่นแล้วทูลว่า พระองค์จงหยุดอยู่ก่อน ฝ่ายนางปทุมาทาสีก็ลุกขึ้นจากที่นอนในขณะนั้น เข้าจับพระโพธิสัตว์ให้มั่น แล้วทูลว่า ข้าแต่เทวดาพระองค์จงหยุดก่อน จะรีบร้อนเสด็จไปข้างไหนเล่า

พระโพธิสัตว์มิรู้ที่จะคิดประการใด จึงตรัสตอบสินธพออกไปว่า ดูกรอาชาผู้เป็นสหาย บัดนี้เราถูกพระราชบุตรีกับหญิงคนใช้จับไว้มั่นคงมิรู้ที่จะทำประการใด สินธพอาชาไนยจึงทูลว่า ถ้ากระนั้นพระองค์จงอยู่ก่อนเถิด ที่เกิดบาปหยาบช้านั้นมิได้มี พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่าถ้ากระนั้น พี่พาชีจงกลับไปแสวงหาอาหารก่อนเถิด ถ้าเราระลึกถึงท่านเมื่อใด ท่านจงมาหาเราเมื่อนั้น อาชาไนยรับคำพระโพธิสัตว์แล้ว ก็กลับไปแสวงหาอาหารในที่นั้น ๆ พระโพธิสัตว์ส่งอาชาไนยไปแล้ว ก็ทรงประทับนั่ง ณ ที่บรรทมของพระราชบุตรีจีรัปภา พระราชบุตรีจึงมีสุนทรวาจาเชิญให้ไสยาสน์ รำงับกระวนกระวายพระหฤทัย แล้วนั่งนวดฟั้นพระบาทพระโพธิสัตว์ให้ทรงบรรทม แล้วสองกษัตริย์ก็ทรงอภิรมย์ซึ่งกันและกัน

ในลำดับนั้น พระราชธิดาจีรัปภาเทวี จึงมีสุนทรวาจาทูลถามพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงอิสรภาพ หม่อมฉันมีความสงสัยยิ่งนัก พระองค์เป็นเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลายหรือ หรือว่าเป็นองค์อมรินทราธิราช จงโปรดบอกหม่อมฉันให้ทราบในกาลบัดนี้

พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังพระราชบุตรีจีรัปภาทูลถามดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจะบอกว่าเราเป็นพระอินทร์ หรือเป็นเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดา พระนางจีรัปภาก็คงจะเชื่อฟังทั้งสิ้น ก็แต่ว่าถ้อยคำเช่นนั้นเป็นคำของอสัตบุรุษ มิได้มีความเจริญเลย คำใดเป็นคำจริงปราศจากมุสาวาท คำนั้นเป็นธรรมของสัตบุรุษ อาจนำมาซึ่งประโยชน์ในภายหน้า ต้องการอะไรที่เราจะกล่าวมุสาวาท เราบอกตามจริงประเสริฐกว่า พระโพธิสัตว์ดำริฉะนี้แล้ว เมื่อจะบอกความตามจริงจึงตรัสว่า ดูกรพระน้องผู้มีพักตรอันเจริญ พี่นี้จะได้เป็นพระยาเทวดา หรือเป็นองค์อมรินทราหามิได้ พี่นี้เป็นราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัต ซึ่งครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ตัวของพี่นี้ชื่อว่าสุธนุราชกุมาร พระน้องจงทราบในกาลนี้

พระราชบุตรีจีรัปภา ได้ฟังคำพระภัสดาโพธิสัตว์ตรัสบอกดังนั้นก็มีพระทัยโสมนัสยินดี ประดุจดังว่ามีบุคคลมารดด้วยสุคนธวารีได้ ๑๖ กระออม ในสราทกาลฤดูร้อนพระนางก็อยู่สมัครสโมสรกับพระโพธิสัตว์มาช้านาน

ฝ่ายนางปทุมาทาสีนั้น แต่กาลก่อนเคยนำเอากระยาหารเครื่องเสวย และเครื่องสรงเครื่องสำอาง มาถวายพระราชบุตรีจีรัปภาพอสมควรแก่พระองค์เดียว มิได้มากเกินประมาณ จำเดิมแต่พระโพธิสัตว์มาอยู่กับพระราชบุตรีจีรัปภาแล้ว นางปทุมาคนใช้นั้น เมื่อไปนำเอาสิ่งของใด ๆ มา มีพระกายาหารเครื่องเสวยเป็นต้น ก็นำเอาเพื่อพระโพธิสัตว์อีกส่วนหนึ่ง สิ่งของนั้น ๆ จึงเป็นของที่นางปทุมานำเอามามากกว่าปรกติธรรมดาหาเหมือนแต่ก่อนไม่

ฝ่ายหญิงชาวเครื่องและหญิงพนักงานเครื่องต้นเห็นดังนั้นก็มีความประหลาดใจ จึงถามนางปทุมาคนใช้ว่า ไฉนเองจึงมานำเอาของมีพระกายาหารเป็นต้นไป มากกว่าปรกติแต่ก่อน เพราะเหตุอะไรเองจึงได้ทำอย่างนี้

นางปทุมาทาสีก็มิได้ตอบประการใด เพราะเป็นความในใจก็จนจิต ครั้นจะบอกตามความจริงก็ทั้งกลัวทั้งรักพระราชบุตรีจีรัปภา มิรู้ที่ว่าจะคิดประการใด ก็นั่งก้มหน้านิ่งอยู่

หญิงพนักงานและชาวเครื่องทั้งหลาย เห็นนางปทุมาแสดงกิริยาวิปริตดังนั้น ก็พากันพูดขู่สำทับว่า ถ้าเองไม่บอกความจริงแก่เราทั้งหลาย พวกเราจะพากันไปกราบทูลพระเจ้าเสตราชให้ทรงทราบ ไหนเลยชีวิตของเองจะคงอยู่กับกาย แม้ถึงเองไม่ตายก็คงต้องรับพระราชอาญาอันสาหัส

นางปทุมาได้ฟังดังนั้น ก็กลัวพระราชอาญายิ่งนัก จึงพูดว่าท่านทั้งหลายจงปล่อยให้ข้าพเจ้ากลับไปก่อน แล้วข้าพเจ้าจะกลับมาบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลาย นางปทุมาพูดวิงวอนดังนี้แล้วก็รีบกลับมาทูลความนั้น ให้พระราชบุตรีจีรัปภาทรงทราบ พระราชบุตรีก็ทูลความนั้น ให้พระโพธิสัตว์ทรงทราบ พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังก็ทรงพระโสมนัส ตรัสเรียกนางปทุมาแล้วจึงตรัสว่า ดูกรนางปทุมาเจ้าอย่ากลัวเลย จงกลับไปบอกความตามจริง อย่าได้กล่าวคำมุสา นางปทุมารับคำพระโพธิสัตว์แล้ว ก็กลับไปบอกความจริงแก่หญิงพนักงานทั้งหลาย ๆ ก็นำความนั้นขึ้นกราบทูลพระเจ้าเสตราชว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพดา บัดนี้มีมานพหนุ่มน้อยผู้หนึ่งบังอาจเข้าไปอยู่กับพระราชบุตรีจีรัปภา พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าเสตราชบรมราชบรมกษัตริย์ ได้ทรงฟังก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก เปรียบประดุจดังว่าอสรพิษที่มีผู้มาประหารลงที่ขนดหางด้วยไม้ค้อนฉะนั้น ทรงพระพิโรธพลางทรงดำริในพระหฤทัยว่า เราควรรักษาอารมณ์ข่มความโกรธของเราไว้ มานพนั้นจะเป็นผู้มีกำลังเดชานุภาพสักเพียงไรเราควรจะพิจารณาดูกำลังอานุภาพของมานพผู้นั้นก่อน ถ้ามานพผู้นั้นเป็นผู้มีกำลังเดชานุภาพน้อย เราก็จะตัดศีรษะมานพผู้นั้นเสีย พระเจ้าเสตราชทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ปรารถนาจะทดลองดูให้รู้ประจักษ์ จึงมีรับสั่งให้เชิญกษัตริย์ทั้งหลายบรรดาที่อยู่ในชมพูทวีปทั้งสิ้นมาประชุมพร้อมกันแล้ว จึงตรัสบังคับอำมาตย์ทั้งหลายว่า

ดูกรเจ้าทั้งหลายเราจะให้เล่นการมหรสพในวันคำรบ ๗ นับแต่วันนี้ไป เจ้าทั้งหลายจงเอากระดานไม้มะเดื่อหนา ๘ นิ้ว ๗ แผ่นเท่า ๆ กัน ตั้งให้เป็นตับอันเดียวกัน ในเบื้องหน้าแผ่นกระดานไม้มะเดื่อนั้น จงเอาแผ่นเหล็กหนา ๘ นิ้ว ๗ แผ่น ตั้งให้เป็นตับต่อกันไป ในเบื้องหน้าแผ่นเหล็กนั้น จงเอาแผ่นทองแดงหนา ๒ นิ้ว ๗ แผ่น ตั้งให้เป็นตับเป็นลำดับต่อไป ในเบื้องหน้าแผ่นทองแดงนั้น จงเอาเกวียน ๓ เล่มบรรทุกทรายให้เต็มตั้งเป็นลำดับต่อ ๆ กันไป ในเบื้องหน้าแห่งเกวียนนั้น จงเอาต้นตาล ๓ ต้น ตั้งให้ติดต่อกันเป็นลำดับไป ในที่สุดท้ายของทั้ง ๕ นั้น จงเอารูปมฤคยนต์อันหมุนเวียนผัดผันไปมาตั้งไว้ ให้แล้วเสร็จในวันที่ ๗ นั้น

อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็กระทำตามรับสั่งทุกประการ ครั้นกระทำสำเร็จแล้ว ก็กราบทูลพระเจ้าเสตราชให้ทรงทราบ

พระเจ้าเสตราชก็เสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งข้างหน้า จึงมีพระราชดำรัสสั่งอำมาตย์ว่า ท่านจงไปเชิญภัสดาธิดาของเรานั้นให้มาหาเราบัดนี้ อำมาตย์นั้นรับพระราชบัญชาแล้ว ก็ถวายบังคมลาไปปราสาทพระราชบุตรีจีรัปภา แล้วทูลพระโพธิสัตว์ว่า บัดนี้มีรับสั่งให้ไปเฝ้า พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังดังนั้น จึงเชิญชวนพระจีรัปภาเทวีสรงสุคนธวารีชำระพระองค์แล้วทรงพระภูษา ทาพระวรกายด้วยเครื่องหอมประดับเครื่องอลังการวิภูสิตเสร็จแล้ว พระกรทรงพระแสงขรรค์ พาพระจีรัปภาเสด็จคมนาการลิลาส ดังพระยาไกรสรสีหราช อันออกจากถ้ำแก้วมณี กับนางพระยาไกรสรราชสีห์สิงหรา ถ้ามิฉะนั้นดังองค์สมเด็จอมรินทราธิราชอันเสด็จจากไพชยนตพิมานกับพระสุชาดาเทพนารี พระโพธิสัตว์เสด็จครั้งนั้น ประกอบไปด้วยพระสิริวิสาสและพระเดชานุภาพควรที่จะมหัศจรรย์ เมื่อเสด็จจากปรางค์ปราสาทนั้น ทรงจับข้อพระหัตถ์พระจีรัปภาขัตติยนารี ไปหยุดยืนประทับอยู่ที่เชิงอัฒจันทร์แล้วทอดพระเนตรแลไปในข้างโน้นข้างนี้ บรรดาชนทั้งหลายที่อยู่ในที่อันพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรไปนั้น ก็กัมปนาทหวั่นไหวสะทกสะท้าน ด้วยเกรงพระเดชานุภาพ

ในกาลนั้น พระเจ้าเสตราชบรมกษัตริย์ และพระปทุมคัพภาราชเทวี ทั้งพระสนมนารีราชกัญญา อีกทั้งกษัตริย์ทั้งหลายที่มาแต่สกลชมพูทวีปและพวกอำมาตย์จตุรงค์เสนาพลโยธาทวยหาญราชบริพารทั้งสิ้น ได้แลเห็นองค์พระสุธนุโพธิสัตว์ ก็ให้บังเกิดอัศจรรย์จิตพิศวง

ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ก็เสด็จลงจากปราสาทกับพระจีรัปภาเทวีพากันเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าเสตราช แล้วถวายบังคมพระปทุมคัพภาราชเทวีผู้เป็นพระชนนีนาถ แล้วทรงประทับ ณ ที่อันสมควร

พระเจ้าเสตราชบรมกษัตริย์ ก็ทรงกระทำปฏิสัณฐารกับพระโพธิสัตว์ แล้วมีพระราชดำรัสว่า ดูกรพ่อผู้มีทุกข์สุขเสมอด้วยบิดา บิดานี้ปรารถนาจะใคร่เห็นความสามารถของพ่อ พ่อจงแสดงความสามารถให้บิดาดูในกาลนี้

พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงถวายบังคมแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช พระองค์จงทอดพระเนตรดูกำลังความสามารถของข้าพระองค์ ซึ่งจะแสดงถวายในกาลบัดนี้ ทูลดังนี้แล้วก็นำธนูและลูกศรออกจากพระภูษาที่ทรงห่ม โยนขึ้นไปในอากาศ ธนูและลูกศรนั้นก็กลับลงมาตก ณ พื้นภูมิภาค พระโพธิสัตว์จึงตรัสแก่กษัตริย์ทั้งหลายในชมพูทวีปที่มาประชุมกันในที่นั้นว่า บรรดากษัตริย์ทั้งปวงที่มาประชุมกันในที่นี้ กษัตริย์พระองค์ใดตอาจจะยกธนูอันมีสายนี้ขึ้นได้ กษัตริย์พระองค์นั้นจงลุกขึ้นยกให้มหาชนได้เห็นในกาลบัดนี้

ในขณะนั้น กษัตริย์ทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ก็ลุกขึ้นแล้วเข้าไปยกธนูทีละองค์ ๆ ก็ไม่อาจยกธนูนั้นให้เขยื้อนจากที่ได้ มาตรว่าสักปลายเส้นผมหนึ่ง ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงอุฏฐาการจากอาสน์ไปทรงช้อนธนูขึ้นด้วยนิ้วก้อย แล้วยกขึ้นสอดใส่ลูกธนู น้าวสายขึ้นสิ้นวาระ ๓ ครั้ง ดูเป็นสง่างามด้วยพระสิริเดชานุภาพ เปรียบปานดังท้าวสักกเทวราชเมื่อจะเข้าสู้สงครามกับอสูรฉะนั้น แล้วลดพระองค์ลงนั่งถวายบังคม ทูลถามพระเจ้าเสตราชว่า ข้าแต่พระผู้เป็นสมมติเทวราช พระองค์จะโปรดให้ข้าพระบาทยิงสิ่งใด พระเจ้าเสตราชจึงตรัสว่า ดูกรพ่อผู้ร่วมหฤทัยของบิดา บิดานี้จะให้เจ้ายิงของทั้ง ๕ อย่าง ๆ ละ ๓ ชั้น เจ้าจงยิงให้บิดาเห็นปรากฏในกาลบัดนี้

พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังพระราชดำรัสดังนั้น ก็อุฏฐาการจากอาสน์ถวายบังคม แล้วโก่งธนูสอดลูกแผลงไป ลูกธนูนั้นไปถูกแผ่นกระดานไม้มะเดื่ออันซ้อนกัน ๗ ชั้น ทะลุตลอดไปถูกแผ่นเหล็ก ๗ ชั้น แล้วทะลุแผ่นทองแดง ๗ ชั้น ๆ แล้วเลยตลอดไปถูกนัยน์ตาเบื้องขวาแห่งรูปมฤคยนต์ อันผัดผันหันเวียนไปมาอยู่ในชั้นที่สุด แล้วลูกธนูนั้นก็กลับย้อนมาตกลง ณ ที่เฉพาะพระพักตรพระโพธิสัตว์

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายได้เห็นมหัศจรรย์ดังนั้น ก็พากันโห่สนั่นหวั่นไหว บางพวกก็โยนพวงมาลา บางพวกก็เปลื้องอาภรณ์ออกกระทำสักการบูชา บางพวกก็เอาผืนผ้าผูกทำเป็นธงชายขึ้นโบกโบยร้องซ้องสาธุการ

ในขณะนั้น พื้นพสุธารอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็บันลือเสียงอุโฆษหวั่นไหว ประดุจดังว่าเสียงคชสารซับมันอันอาละวาด ใช่แต่เท่านั้น มหัศจรรย์ทั้งหลายต่าง ๆ ก็บังเกิดมีขึ้นด้วยอำนาจเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์

ในกาลนั้น พระเจ้าเสตราชก็มีพระกมลโสมนัสเป็นที่ยิ่ง เสด็จจากที่นั่งไปสวมกอดพระโพธิสัตว์ จุมพิตพระเศียรเกล้าแล้ว มีพระราชดำรัสให้ตั้งโรงมงคลพิธี ทรงกระทำวิวาหมงคลพระราชบุตรีจีรัปภากับพระสุธนุโพธิสัตว์ อวยชัยให้พรให้เจริญสิริสุขสวัสดิ์แล้วต่างก็เสด็จนิวัตตนาการเข้าสู่ปรางค์ปราสาท แต่นั้นมา พระโพธิสัตว์กับพระราชบุตรีจีรัปภา ก็อยู่สามัคคีพร้อมเพรียงกัน โดยควรแก่ความสุขสำราญ

อยู่มาราตรีวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์บรรทมอยู่บนพระแท่นที่ไสยาสน์กับพระนางจีรัปภาเทวี ครั้นเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง ทรงระลึกถึงราชมารดาเกศนี ก็มีพระอัสสุชลนัยไหลอาบพระพักตร ลูกศรคือความโศกก็เสียบสลักพระทรวง ทรงพระกรรแสงรำพันพิลาป ด้วยบาทพระคาถาว่า

กินฺนุ ภวิสฺสติ อมฺมา กถํ คจฺฉามิ มาตรํ
มม อมฺมํ อทิสฺวาน มฺเ เหสฺสามิ ชีวิตํ

ความว่า พระราชมารดาของเราจักเป็นประการโดหนอ จักเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร ดังเราสำคัญ พระราชมารดาของเรานั้น เห็นจะทรงพระกำสรดโศกประชวรพระโรคาพาธ เพราะเหตุที่ทรงพลัดพรากจากเราผู้เป็นปิโยรส ไฉนเราจักได้ไปเยี่ยมพระราชมารดา ถ้าเรามิได้ไปเฝ้าพระราชมารดา เราก็คงสิ้นชีพโดยแท้

เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพระกรรแสงรำพันพิลาปอยู่ ดังนี้พระนางจีรัปภาตื่นจากบรรทม ได้ยินเสียงพระภัสดาทรงพระกรรแสง จึงทูลถามว่า ข้าแต่พระภัสดา ไฉนพระองค์จึงมาทรงพระกรรแสงดังนี้ หรือน้อยพระทัยในหม่อมฉันด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง เมื่อพระจีรัปภาทูลถามดังนี้ พระโพธิสัตว์ก็มิได้ตรัสประการใด ครั้นพระเทวีทูลถามถึง ๓ ครั้ง จึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ พี่ระลึกขึ้นมาถึงพระราชมารดาของพี่ ๆ จึงได้ร้องไห้ พี่จะเล่าให้พระน้องฟัง เมื่อพระราชบิดาของพี่ทิวงคตแล้ว มหาชนในเมืองพาราณสีก็พร้อมกันตั้งการพิธีราชาภิเษก ให้พี่เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา แต่มณีกักขิอัศวราชไม่เต็มใจ พาพี่เหาะขึ้นบนอากาศ ขณะนั้น พี่ได้ยินสุรเสียงพระชนนีตรัสเรียกให้กลับ พี่แลลงไปเห็นพระชนนีเสด็จมาประทับยืนอยู่แทบประตูพระราชนิเวศน์ ทรงพระกรรแสงโศกาดูรพิไรร่ำ ตรัสรำพันด้วยพระวาจามีประการต่าง ๆ พี่มีความสงสารพระราชมารดาเป็นอย่างยิ่ง จึงน้อมเกล้าถวายบังคมลาเชิญพระราชมารดาให้เสด็จคืนปรางค์ปราสาท แล้วมณีกักขิอัศวราชก็พาพี่มาถึงเมืองนี้ แต่พี่มาอยู่ก็ช้านาน ยังมิได้เห็นพระพักตรพระราชมารดาเลย พี่ระลึกถึงถ้อยคำพระราชมารดาในครั้งนั้น ไม่อาจสามารถที่จะกลั้นความโศกไว้ได้ พี่จึงร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ดังนี้

พระจีรัปภาเทวีได้ฟังพระภัสดาตรัสดังนี้ จึงตรัสเล้าโลมพระทัยพระภัสดาว่า ถ้ากระนั้น ขอพระองค์จงทรงอดกลั้นโศกาดูรไว้ก่อน พระองค์ทรงทุกข์ร้อนฉันใด หม่อมฉันก็ทุกข์ร้อนเสมอด้วยพระองค์ฉันนั้น บัดนี้พระองค์จะคิดประการใด ขอได้โปรดบอกให้หม่อมฉันทราบด้วย

พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ ตัวพี่นี้พลัดพรากจากพระราชมารดามา ถ้าไม่ได้กลับไปเห็นพระพักตรพระราชมารดาแล้ว พี่ก็ไม่สามารถจะดำรงพระชนม์ชีพอยู่ได้ พี่จะขอลาพระน้องไปเฝ้าพระราชมารดา พอได้ทราบทุกข์ของพระราชมารดาแล้ว จะกลับมาอยู่กับพระน้องในเมืองนี้

พระจีรัปาภาเทวีจึงทูลว่า ข้าแต่พระภัสดา ถ้าพระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมพระราชมารดา หม่อมฉันจะขอตามเสด็จไปด้วย ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดให้หม่อมฉันได้ตามเสด็จไปด้วยเถิด

พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ พระน้องอย่าได้ชอบใจในการที่จะไปกับพี่เลย จงอยู่ในพระบุรีนี้เถิด พี่ไปไม่ช้านานเท่าใด แต่พอได้ถวายบังคมพระราชมารดาแล้ว ก็จะรีบกลับมาหาพระน้อง

พระเทวีจีรัปภาจึงทูลวิงวอนว่า ขอพระองค์ได้ทรงโปรดให้หม่อมฉันตามเสด็จไปด้วยเถิด เผื่อว่าพระองค์ทรงประชวรป่วยไข้ หม่อมฉันจะได้ปฏิบัติบำรุงรักษา อนึ่งพระราชมารดาของพระองค์ก็ทรงพระชราภาพ หม่อมฉันไปด้วยจะได้ช่วยปฏิบัติบำรุงท่าน อีกประการหนึ่งนั้น ถ้าพระองค์เสด็จไปแต่ผู้เดียว หม่อมฉันจะได้รับความครหาติเตียนว่าหม่อมฉันจีรัปภาน้ำใจไม่ดี ละพระภัสดาให้เสด็จจรลีแต่พระองค์เดียว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา ให้หม่อมฉันได้ไปถวายบังคมบาทพระราชมารดานั้นด้วยเถิด พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ถ้ากระนั้นพระน้องจะไปด้วยก็ตามพระทัยเถิด

เมื่อพระโพธิสัตว์กับพระจีรัปภาเทวี ตรัสสนทนากันตกลงดังนี้แล้ว ครั้นเวลารุ่งราตรีสว่างแจ้ง พระโพธิสัตว์สรงพระพักตรชำระพระองค์ทรงเครื่องวิภูสิตเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าเสตราชและพระนางปทุมคัพภาราชเทวี ถวายบังคมสองกษัตริย์แล้วทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระราชบิดาและพระราชชนนี ตั้งแต่ข้าพระองค์ได้มาพึ่งพระบารมี ก็ประกอบไปด้วยความสุขหาทุกข์มิได้ บัดนี้ข้าพระองค์จะขอถวายบังคมลา ไปเยี่ยมพระราชมารดาในเมืองพาราณสี แล้วจะกลับมารองพระบาทพระชนกชนนีทั้งสองพระองค์

สองกษัตริย์ได้ทรงสดับดังนั้นมิอาจที่จะตรัสห้ามได้ จึงดำรัสว่าตามแต่อัธยาศัยของพ่อผู้เป็นปิโยรส เพราะพระชนนีเป็นที่บังเกิดเกล้า เราทั้งสองไม่สามารถที่จะทัดทานได้ พระเจ้าเสตราชจึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระบุตรีจีรัปภานั้น บิดาก็ได้ยกให้เป็นสิทธิแก่เจ้าแล้ว เจ้าจงพาไปตามอัธยาศัยเถิด จะได้ไปถวายบังคมพระชนนีของเจ้าด้วย พระโพธิสัตว์จึงทูสสนองพระราชโองการว่าพระราชบิดาทรงพระกรุณาฉะนี้ พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ข้าพระองค์จะขอรับพระราชทานพาพระราชบุตรีจีรัปภา ไปเฝ้าพระราชมารดาของข้าพระองค์ตามพระราชโองการ

ในลำดับนั้น สองกษัตริย์คือ พระเจ้าเสตราชและพระปทุมคัพภาราชเทวี จึงมีรับสั่งให้มีการมหรสพ สมโภชพระโพธิสัตว์และพระราชบุตรีจีรัปภา เสร็จแล้ว ครั้นรุ่งเช้าจึงให้พระราชบุตรีจีรัปภาประดับพระองค์ด้วยเครื่องประดับสำหรับขัตติยนารี เมื่อจะพระราชทานโอวาทแก่พระราชบุตรีอันเป็นที่รัก ก็มีพระอัสสุชลเนตรอันไหลอาบพระพักตรทั้งสองพระองค์ แล้วตรัสสอนว่า ดูกรแม่จีรัปภาผู้เป็นลูกรัก เจ้าจักตามเสด็จพระภัสดาของเจ้าไป เจ้าจงอย่าได้มีความประมาท จงตั้งอยู่ในโอวาทของพระภัสดา อย่าประพฤติให้ขัดเคืองพระหฤทัย จงมีความเคารพยำเกรงพระภัสดาให้มาก อุตส่าห์ฝากตัวพระราชสามี

ครั้นกษัตริย์ทั้งสอง สั่งสอนพระราชบุตรีดังนี้แล้ว ก็ให้จัดหาเสบียงสำหรับจะได้ไปเสวยในมรรคาจึงมอบพระราชบุตรีจีรัปภาแก่พระโพธิสัตว์ ตรัสฝากฝังแล้วอวยชัยให้พร

พระโพธิสัตว์กับพระจีรัปภาเทวีรับพระพรแล้ว ก็ถวายบังคมลาพระชนกชนนีทั้งสองกษัตริย์ ต่างองค์ต่างก็มีอัสสุชลเนตรไหลอาบพระพักตร พระโพธิสัตว์ก็จับข้อพระกรพระจีรัปภาเสด็จลงจากปราสาทงามประดุจดังว่าองค์อมรินทราธิราช อันจับข้อพระกรนางเทพอัปสรสุชาดาเสด็จออกจากเวชยันต์พิมาน เมื่อสองกษัตริย์ประดิษฐาน ณ เชิงอัฒจันทร์ จึงกล่าวพระคาถาอำลามหาชนว่า

อาปุจฺฉาม มยํ โภนฺโต ยงฺกิฺจิ โทสวจนํ
ขมถาทีนวํ ยาว กุมารา วุฑฺฒพาลกา
มา กิฺจิ ปาปํ กโรถ สพฺเพ ตุเมฺห นิรนฺตรํ

ความว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ เราทั้งสองจะขอลาท่านทั้งปวง ถ้อยคำอันโดที่ประกอบด้วยโทษ เราทั้งสองได้กล่าวล่วงเกินมาแต่ก่อน ท่านทั้งหลายจงอดให้แก่เรา อนึ่งท่านทั้งปวงอย่าได้กระทำกรรมอันเป็นบาปหยาบช้า จงตั้งอยู่ในสุจริตธรรมแต่นี้ไป

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายมีอำมาตย์และพราหมณ์เป็นต้น ได้ฟังคำสองกษัตริย์ตรัสอำลา ต่างก็พากันประณมกรถวายอัญชลี แล้วร้องไห้ฟายน้ำตาปริเทวนาการรำพันว่าแต่นี้ไป เราทั้งหลายจักมิได้เห็นสองกษัตริย์ อันประกอบด้วยพระสิริรูปสมบัติอันงามทั้งทรงพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่อีกแล้ว ขอพระทูลกระหม่อมแก้วทั้งสองพระองค์จงเสด็จไปโดยความสุขสำราญ ปราศจากภัยพิบัติอุปัทวอันตราย มหาชนทั้งหลายปริเทวนาการรำพันดังนี้แล้วต่างก็พากันยืนเฝ้าอยู่ในที่นั้น ๆ

พระโพธิสัตว์ก็พาจีรัปภาเทวีลงจากอัฒจันทร์ แล้วเสด็จโดยราชมรรคา มาหยุดยืน ณ ที่แห่งหนึ่ง จึงทรงระลึกถึงมณีกักขิสินธพๆก็มายืนอยู่ตรงหน้าพระพักตรในขณะนั้น พระโพธิสัตว์จึงเสด็จขึ้นทรงอาชากับพระจีรัปภาเทวี มณีกักขิอัศวราชพาชีก็พาสองกษัตริย์เหาะไปในอากาศ โดยกำลังสินธพชาติอันรวดเร็ว วันหนึ่งสิ้นระยะทางถึง ๗๐๐ โยชน์

ฝ่ายพระเทวีจีรัปภาเคยได้เสวยแต่ความสุข ครั้นมาต้องทุกข์ถูกลมแดดแผดเผา ก็มีพระพักตรอันเศร้าสลดสิ้นพระกำลัง ก็ถึงวิสัญญีภาพสลบซบอยู่บนหลังอาชาไนย

พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพระเทวีจีรัปภา มีพระพักตรอันซูบซีดซบอยู่กับหลังอัศดร เป็นที่ลำบากพระสรีรกายดังนั้น จึงจับพวงดอกไม้ขว้างไปในเบื้องหน้า แล้วตรัสว่า ดูกรท่านอัศวราช ท่านจงหยุดก่อน มณีกักขิอัศดรทูลห้ามว่า พระองค์อย่าพอพระทัยที่จะหยุดอยู่ในที่นี้เลย เพราะประเทศนี้เป็นแดนของฆันตารยักษ์รักษาอยู่ พระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า เหตุไฉนจึงเป็นแดนของฆันตารยักษ์เล่า มณีกักขิอัศวราชจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ฆันตารยักษ์ผู้นี้ เดิมทีได้บำรุงท้าวเวสสวรรณมหาราชด้วยการตักน้ำรดพระบาทอยู่ ๓ ปี ครั้นครบ ๓ ปีเต็มบริบูรณ์แล้วมีความปรารถนาจะเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ จึงขอพรท้าวเวสสวรรณ ๆ ทนความวิงวอนไม่ได้ จึงประทานพรให้ดังนี้ ดูกรฆันตารยักษ์ ถ้าท่านปรารถนาจะกินเนื้อมนุษย์ให้ได้ ท่านจงไปรักษาประเทศนี้ก่อนแล้วจงสร้างบรรณศาลาขึ้นหลังหนึ่ง จัดตั้งเครื่องอุปโภคสำหรับใช้สอย และเครื่องบริโภคของมนุษย์ทั้งหลายไว้ให้ครบครัน ถ้าผู้ใดมาอาศัยในบรรณศาลานั้น ท่านจงไปถามไปเพลาราตรี ๓ ครั้งว่า ใครมาอยู่ในศาลานี้ ถ้าผู้นั้นให้คำตอบว่าเราเองทั้ง ๓ ครั้งแล้ว ท่านจะกินผู้นั้นไม่ได้ ถ้าท่านถามผู้ใดถึง ๓ ครั้งแล้วผู้นั้นไม่ตอบ ท่านจงกินผู้นั้นเสียเถิด ฆันตารยักษ์นั้นครั้นได้รับพรจากเวสสวรรณดังนี้แล้ว จึงมายึดถือเอาประเทศนี้แล้วสร้างบรรณศาลาจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่สมควรแก่มนุษย์ตั้งไว้แล้ว ก็รักษาแดนนี้อยู่ ฆันตารยักษ์นั้นมีน้องสาวอยู่คนหนึ่งชื่อว่านางอัญชนวดี ฆันตารยักษ์นั้นจึงสร้างปราสาทขึ้นริมสมุทร สำหรับให้นางยักขินีอัญชนวดีผู้เป็นน้องสาวอยู่ แล้วไปเที่ยวแย่งชิงเอาราชธิดาทั้งหลายของกษัตริย์ที่อยู่ในชมพูทวีป มาให้เป็นบริวารของนางอัญชนวดีผู้เป็นน้องสาวนั้น แล้วฆันตารยักษ์ผู้นั้นก็อยู่ในปราสาทหลังหนึ่ง อันมีอยู่ ณ ที่ใกล้ปราสาทของนางยักขินีน้องสาวนั้น เหตุดังนั้น พระองค์อย่าพอพระทัยที่จะประทับอยู่ในแดนของฆันตารยักษ์นั้นเลย มณีกักขิอัศวราชทูลห้ามดังนี้แล้วก็รีบพาเหาะไปมิได้หยุดยั้ง ครั้นไปถึงบรรณศาลา พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามอาชาว่า นี่บรรณศาลาของใคร มณีกักขิอาชาไนยทูลว่า บรรณศาลานี้แหละของฆันตารยักษ์ พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่า ฆันตารยักษ์นั้นกินคนได้หมดหรือๆเว้นบ้างบางคน อาชาไนยทูลว่ากินได้บางคนมิได้กินทั่วไปทั้งหมด พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า พระน้องจีรัปภาเทวีมาสิ้นสมฤดีอยู่ในอากาศก็เพราะแดดและลม ถ้าเราขืนไปต่อไปชีวิตของพระน้องก็จะดับศูนย์อยู่ในอากาศเพราะลมและแดดอันแผดเผานั้นเอง เพราะฉะนั้น เราควรจะลงหยุดพักอาศัยในศาลานี้ และรุ่งพรุ่งนี้เช้าเราจึงไปต่อไป

ฝ่ายมณีกักขิอาชาไนย เมื่อมิอาจที่จะทูลทัดทานได้ ก็พาสองกษัตริย์เหาะลงไปจากอากาศ ให้พระโพธิสัตว์ลงจากหลังตนแล้วก็ค่อย ๆ ยอบตัววางพระจีรัปภาเทวีลง ณ บรรณศาลา แล้วนำเอาอุทกวารีที่ยักษ์ตักไว้ มาถวายพระโพธิสัตว์ให้โสรจสรงองค์พระจีรัปภาเทวีให้ชุ่มชื่น จึงถวายเสบียงให้พระโพธิสัตว์เสวยแล้วยืนเฝ้ากษัตริย์ทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้น

ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราชเราจะผลัดเปลี่ยนกันนอน ท่านจงนอนก่อนเถิด เราจะคอยดูแลรักษาท่าน สินธพอาชาไนยจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา พระองค์อย่าทรงรักษาหม่อมฉันเลย หม่อมฉันผู้เดียวจะระวังพิทักษ์รักษาพระองค์เอง พระองค์จงทรงบรรทมให้สำราญพระหฤทัยเถิด พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราช ท่านให้เราทั้งสองรองขี่มาช้านานมีอาการลำบากกายมาก ยังจะต้องมาอดนอนรักษาระวังเราอีก เป็นการไม่สมควรเลย ท่านจงนอนก่อนเถิด เราจะคอยระวังพิทักษ์รักษา เมื่อพระโพธิสัตว์ดำรัสดังนี้ มณีกักขิอัศวราชจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทาวดา พระองค์อย่าทรงคิดดังนี้เลย ธรรมดาพาชีย่อมเป็นพาหนะสำหรับขี่สิ้นด้วยกัน หม่อมฉันผู้เดียวเท่านั้นอาจป้องกันอันตรายทั้งปวงได้ เว้นแต่หลับเสียไม่เห็นเท่านั้น ขอพระองค์จงบรรทมก่อนเถิด หม่อมฉันจะอยู่พิทักษ์รักษาพระองค์พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็มีพระทัยอันมั่นมิได้หวั่นหวาด จึงตรัสว่า ดูกรสินธพชาติผู้เป็นสัตบุรุษ ถ้ากระนั้นก็ดีแล้ว เราจะนอนก่อนตรัสดังนี้แล้วก็ทรงบรรทม

ครั้นเพลาราตรีปฐมยาม ฆันตารยักษ์นั้นก็มาสู่บรรณศาลาจึงเดินไปเคาะประตูร้องถามว่า ใครมานอนอยู่ในศาลานี้ มณีกักขิอัศวราชจึงตอบออกมาว่า เราเป็นผู้อยู่ในที่นี้ ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้นก็กลับไป แล้วกลับมาเคาะประตูถามเหมือนดังนั้นอีก อัศดรก็ตอบออกมาว่าเราเอง ฆันตารยักษ์ก็กลับไป แต่ฆันตารยักษ์เวียนถามอยู่ดังนี้ อัศวพาชีก็ตอบอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ปฐมยามก็ล่วงไป

ครั้นย่างเข้ามัชฌิมยาม พระโพธิสัตว์ตื่นจากบรรทม จึงตรัสแก่อัศดรว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราช ท่านจงนอนเถิด เราจะอยู่ระวังรักษาเอง อัศดรทูลรับแล้วก็นอน

ในขณะนั้น ฆันตารยักษ์มาเคาะประตูถามว่า ใครมาอยู่ในศาลานี้ พระโพธิสัตว์จึงตอบออกมาว่าเราเอง ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็กลับไป กลับมาเคาะประตูถามเหมือนดังนั้นอีก พระโพธิสัตว์ก็ตอบว่าเราเอง ฆันตารยักษ์ก็กลับไป ฆันตารยักษ์เวียนมาถึง ๓ ครั้ง พระโพธิสัตว์ก็ตอบทุกครั้ง จนมัชฌิมยามอันเป็นกึ่งแห่งราตรีก็ล่วงไป

ครั้นถึงเวลาปัจฉิมยามใกล้รุ่ง พระจีรัปภาเทวี ได้สมปฤดีฟื้นพระองค์จากวิสัญญีภาพ จึงทูลวิงวอนให้พระโพธิสัตว์ทรงพระบรรทม พระโพธิสัตว์สิมีพระกายลำบากเพราะถูกแดดลมประหาร ครั้นพระจีรัปภาเทวีทูลวิงวอนให้บรรทม จึงทรงรับว่า ดูกรพระน้องผู้มีพักตรอันเจริญ ถ้ากระนั้นก็ดีแล้วพี่จะบรรทม ตรัสดังนี้ก็ทรงบรรทม พระจีรัปภาก็นวดฟั้นพระบาท คอยระวังรักษาพระภัสดาของตนอยู่

ในกาลนั้น ฆันตารยักษ์ก็มาเคาะประตูลามว่า ใครมาอยู่ในศาลานี้ พระจีรัปภาเทวีจึงตอบออกมาด้วยคำอ่อนหวานว่า เราเองเป็นผู้อยู่ในที่นี้ ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้นก็กลับไป

แล้วกลับมาเคาะประตูถามเหมือนดังนั้นในวาระที่ ๒ ขณะนั้นจีรัปภาเทวีมีความหาวนอนเข้าครอบงำ ก็กล่าวคำตอบออกไปค่อยๆแต่พอได้ยิน ฆันตารยักษ์ได้ยินก็กลับไป ฝ่ายพระจีรัปภาเทวีนั้น ครั้นยักษ์กลับไปแล้วก็มีความง่วงเหงาหาวนอนเป็นเบื้องหน้า ไม่อาจทนความง่วงนอนได้ก็ม่อยหลับไปครู่หนึ่ง ในกาลนั้นฆันตารยักษ์ก็กลับมาเคาะประตูถามอีกเป็นวาระที่ ๓ ก็ไม่มีใครที่จะกล่าวคำตอบเพราะหลับไปด้วยกันทั้งหมด ฆันตารยักษ์ไม่ได้ยินเสียงตอบ ก็รู้ว่าคนที่อยู่ในศาลาพากันหลับหมด จึงร้องคำรามด้วยเสียงอันดังแล้วเปิดประตูเข้าไปยืนอยู่ ฝ่ายมณีกักษีสินธพชาตินอนอยู่ ณ ที่ใกล้ประตู ตื่นขึ้นเห็นยักษ์มายืนอยู่ดังนั้นจึงถามว่า ใครเข้ามายืนอยู่นี่ ฆันตารยักษ์ตอบว่า เราชื่อฆันตารยักษ์ ขณะนั้น พระโพธิสัตว์กับพระจีรัปภาเทวีตื่นจากบรรทม ได้ฟังเสียงยักษ์กับอาชาไนยพูดกันก็สะดุ้งตกพระทัยกลัวแทบจะสิ้นสมปฤดีมณีกักขิอัศวพาชีจึงทูลสองกษัตริย์ว่า

สองพระองค์อย่าทรงพระปริวิตก หม่อมฉันจะรบกับมหายักษ์เอง ให้มหายักษ์อัปราชัยพ่ายแพ้จงได้ ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้นจึงถามว่าท่านจะรบกับใคร อาชาไนยตอบว่า เราจะรบกับท่านนี้แหละ แต่ทว่าท่านจงรบเราก่อนแล้วเราจึงจะสู้รบกับท่าน ฆันตารยักษ์จึงว่า ถ้าท่านจะรบกับเราท่านจงสำแดงฤทธิ์รบเราก่อน เราจึงจะรบ มณีกักขิสินธพรับว่า ถ้ากระนั้นก็ดีละ เราพากันออกไปนอกบรรณศาลาเถิด แต่พอออกมานอกศาลา มณีกักขิอัศวราชก็เหาะขึ้นไปในอากาศ สำแดงอิทธิฤทธิ์มีประการต่าง ๆ แล้วถีบหน้ามหายักษ์ด้วยเท้าหน้าทั้งสองโลหิตก็ไหลนองอาบหน้ามหายักษ์ แล้วอาชาไนยก็กลับโลดขึ้นถีบอกมหายักษ์อีก โลหิตทั้งหลายก็ไหลออกจากอกมหายักษ์

ฝ่ายสองกษัตริย์ฟังเสียงอยู่ภายในบรรณศาลา พระโพธิสัตว์จึงร้องเตือนสติมณีกักขิอัศวราชออกไปว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราชท่านอย่าได้มีความประมาท จงระวังรักษาบังเหียนของท่านไว้ให้ดี ยักษ์ได้ยินพระโพธิสัตว์ร้องเตือนออกมาดังนั้น ก็รู้ว่าบังเหียนของอัศวพาชีคงเป็นเหล็ก จึงจับบังเหียนคั้นเข้าให้มั่น อัศาพาชีนั้นครั้นถูกยักษ์คั้นบังเหียนก็ทุพลภาพสิ้นกำลัง ไม่อาจสามารถจะชนะฆันตารยักษ์ได้ ฆันตารยักษ์ก็ขึ้นหลังมโนมัยขี่ไปส่งให้พวกยักษ์ที่เป็นบริวารแล้ว สั่งกำชับว่า เจ้าทั้งหลายอย่าประมาท จงระวังรักษาสินธพชาติตัวนี้ไว้ให้มั่นคง พวกยักษ์ที่เป็นบริวารรับคำแล้วก็จำสินธพด้วยเครื่องผูกจำทั้งหลายรักษาไว้

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรออกไป มิได้เห็นมณีกักขิสินธพจึงเสด็จไปยืนที่ประตูบรรณศาลา ตรัสเรียกอาชาก็มิได้ยินเสียงขานรับจึงเสด็จออกไปภายนอกบรรณศาลากับพระจีรัปภาเทวีทอดพระเนตรไปในทิศทั้งสี่ ก็มิได้แลเห็นอาชา พระโพธิสัตว์กับพระจีรัปภาเทวีก็พากันทรงพระกรรแสงรำพันว่า ครั้งนี้เราทั้งสองเห็นจะพินาศ เพราะมาพลัดพรากจากอาชาไนย แล้วพากันเสด็จทอดพระเนตรไปในที่ต่าง ๆ ครั้นได้เห็นเลือดยักษ์ที่ตกดินอยู่บนปถพี ก็เข้าพระทัยว่า สินธพพาชีนั้นยักษ์จับกินเป็นอาหารเสียแล้ว กษัตริย์ทั้งสองก็สวมกอดซึ่งกันและกัน ทรงพระกรรแสงปริเทวนาการ ด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ

ในลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ จึงยกพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์พระจีรัปภา ตรัสรำพันด้วยบาทพระคาถาว่า

อโห นฏฺา มยํ โหม ชีวิตํ โน น เหสฺสติ
มณีกกฺขี วินา หุตฺวา มฺเ เหสฺสามิ ชีวิตํ

ความว่า ควรที่จะสังเวชสลดใจ เราทั้งสองนี้ จะมีแต่ความฉิบหายแล้ว ที่ไหนชีวิตของเราทั้งสองจักมีต่อไป ถ้าเราทั้งสองพลัดพรากจากอัศดรแล้ว เห็นว่าเราทั้งสองจักไม่พ้นความตายเป็นเป็นแน่ (คือจะมีผู้ใดมาพาเราทั้งสองไปก็มิได้มีอัศดรเคยพาเราทั้งสองไปในชนบทนิคมคามเขต อีกทั้งประเทศน้อยใหญ่และราวป่ามหาวัน บัดนี้พาเราทั้งสองมาทิ้งไว้ที่นี่แล้วหายไป หรืออัศดรนั้นจะเป็นประการใด เราทั้งสองก็มิได้รู้เห็น)

พระจีรัปภาเทวีได้ฟังพระภัสดาพิลาปรำพันดังนั้น ซบพระเศียรลงแทบพระบาทพระภัสดา แล้วทรงพระกรรแสงรำพันด้วยบาทพระคาถาว่า

หาหา อุโภหวมฺห วเน วินฏฺา

อุโภ มยํ ปุพฺพสมานกมฺมา

มหิตเลสุ ทุกฺขิตา จรนฺตา

เมทานิทุกฺขา อธิกาปิ ปตฺตา

ความว่า ดังหม่อมฉันมาสังเวช เราทั้งสองต้องพากันฉิบหายอยู่ในป่านี้โดยแท้ เราทั้งสองได้ทำกรรมมาด้วยกันแต่ปางก่อน จึ่งได้ถึงซึ่งความทุกข์ร้อนพากันเที่ยวอยู่บนพื้นปถพี ในกาลนี้ความทุกข์ทั้งหลายอันใหญ่ยิ่ง ได้มาถึงเราทั้งสองแล้ว

เมื่อพระจีรัปภาเทวีทรงพระกรรแสงปริเทวนาการดังนี้ พระโพธิสัตว์จึงตรัสปลอบประโลมว่า ดูกรพระน้องผู้มีพักตรอันเจริญ พระน้องอย่าทรงพระกรรแสงไปนักเลย พระวรพักตรจักเศร้าหมอง ความพลัดพรากจากกันนี้ย่อมมีทั่วไปแก่สัตว์โลก จะได้มีแต่เราทั้งสองเท่านั้นหามิได้ ขึ้นชื่อว่าเกิดมาแล้ว ก็ย่อมถึงซึ่งสุขและทุกข์เป็นธรรมดา มิได้เลือกหน้าว่าผู้ใดเลย พระน้องจงบรรเทาความโศกเสียให้เสื่อมคลายเถิด

เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสเล้าโลมเอาใจ ให้พระจีรัปภาเทวีคลายโศกแล้วจึงตรัสว่า ดูกรพระน้อง ต้นไม้ทั้งหลายตรงนี้ไป มีใบอันเขียวเสมอด้วยสีเมฆ แลเห็นปรากฏอยู่ในที่ไกล เราสำคัญว่าในที่นั้นคงจะมีมหาสมุทร์เป็นแน่ เราจะพากันไปที่ฝั่งมหาสมุทร์นั้น แล้วเอาผืนผ้าทำเป็นธงแขวนไว้บนยอดพฤกษา ทำสัญญาให้พวกพ่อค้าเห็นเป็นสำคัญ พวกพ่อค้าเห็นผ้าที่เราผูกไว้ ก็จะแวะสำเภาเข้ามารับเรา เราทั้งสองก็จะได้ไปโดยควรแก่ความสุข

พระจีรัปภาจึงทูลว่า ที่พระองค์ทรงพระดำริดังนี้ หม่อมฉันเห็นเป็นการดี อาจจะให้สำเร็จประโยชน์ได้ เมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นพร้อมกันแล้ว ก็พากันเสด็จไปโดยลำดับจนถึงฝั่งสมุทร์นั้น จึ่งผูกผืนผ้าทำเป็นธงแขวนไว้บนยอดพฤกษา แล้วพากันนั่งอาศัยอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้นั้น

ในกาลนั้น มีพาณิช ๕๐๐ คนพากันบรรทุกสินค้าเต็มสำเภาแล้วก็แล่นสำเภามาในมหาสมุทร์ ครั้นแลเห็นธงบนยอดไม้ ก็เข้าใจว่าที่นั้นคงมีคนอยู่เป็นมั่นคง จึงแวะสำเภาเข้าไปริมฝั่ง ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ในที่ใต้ต้นไม้นั้น จึงถามว่า ท่านนี้มาแต่ไหน เหตุไรจึงได้มาอยู่ในที่นี้ พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังพวกพ่อค้าถามจึงอุฎฐาการเสด็จเข้าไปใกล้พาณิชเหล่านั้น แล้วตรัสตอบว่า เรานี้หลงทางมา ท่านทั้งหลายจงกรุณาให้เราทั้งสองโดยสารไปด้วย นึกว่าช่วยชีวิตเราทั้งสองนี้ไว้เถิด พาณิชเหล่านั้นได้ฟังคำวิงวอน ก็มีจิตประกอบไปด้วยความกรุณา พิจารณาดูรูปโฉมสองกษัตริย์ก็ให้มีความสงสารยิ่งนัก จึงเชิญสองกษัตริย์ให้ขึ้นสู่สำเภา แล้วก็หันสำเภาออกจากที่นั้นแล่นไปในมหาสมุทร์

จำเดิมแต่พระโพธิสัตว์กับพระจีรัปภาเทวีลงสำเภาแล้ว สำเภานั้นก็แล่นไปโดยกำลังลม ครั้นแล่นไปได้ ๗ วัน พอถึงท่ามกลางมหาสมุทร์ ก็บังเกิดลมสลาตันจัดเป็นพายุใหญ่พาณิชเหล่านั้นไม่สามารถที่จะลดใบทิ้งสมอให้สำเภาหยุดได้จึงร้องเสียงเอิกเกริกว่า เราทั้งหลายจะพากันฉิบหายเสียแล้ว สำเภานั้นถูกคลื่นซัดยอให้แคลงไปมาด้วยอำนาจลมสลาตันอันแรงกล้า กระดานที่ต่อก็หลุดแยกออกจากกัน น้ำและคลื่นก็ไหลเข้าสำเภาตามหัวต่อแผ่นกระดานที่แยกออกนั้น สำเภาก็มีอาการอันจะจมลงในกลางมหาสมุทร์

พ่อค้าทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็สะดุ้งตกใจกลัวเป็นกำลัง ต่างคนต่างก็กราบไหว้เทวดาซึ่งเป็นที่นับถือของตน ๆ พากันร้องไห้บนบานบวงสรวงด้วยวาจาว่า ข้าแต่ฝูงเทพยดาทั้งหลายผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ คือเทพยดาที่สิงสถิตในห้วงวารีปถพีดล อีกทั้งพระจันทร์และพระอาทิตย์อันส่องโลกมณฑลให้สว่าง และเทพยดาผู้รักษามหาสมุทร์นี้ จงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าทั้งหลาย ช่วยพาไปให้พ้นอันตรายในมหาสมุทร์ในครั้งนี้

เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นพ่อค้าทั้งหลาย พากันร้องไห้บนบานบวงสรวงอยู่อย่างนั้น

จึงทรงเสวยนมเนยน้ำผึ้งน้ำตาลกรวดเป็นต้น กับพระจีรัปภาเทวี แล้วเอาพระภูษาทรงชุบน้ำมันให้ชุ่ม มาทรงพันพระองค์ให้มั่น เอาชายข้างหนึ่งผูกท่ามกลางองค์พระจีรัปภาเทวี แล้วเอาชายอีกข้างหนึ่ง ผูกแผ่นกระดานเข้าแผ่นหนึ่ง พาขึ้นไปยืนอยู่บนปลายเสากระโดง

ฝ่ายพวกพ่อค้าและมหาชนในสำเภานั้น ครั้นสำเภาจมลงก็เป็นภักษาหารของปลาและเต่า ถึงซึ่งความพินาศในมหาสมุทร์นั้น ส่วนพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นน้ำในมหาสมุทร์ มีสีแดงดุจสีของโลหิตจึงทรงกำหนดทิศทางเมืองพาราณสี ขอพระกรขึ้นถวายอัญชลีพระราชมารดา โดยทรงอุทิศว่า พระราชมารดาของเรายังมีอยู่ในเมืองนั้นแล้ว กระโดดจากปลายเสากระโดงลงคงคา ไปตกลงในที่อันพ้นจากเต่าปลาประมาณอุสุภหนึ่ง พร้อมด้วยพระจีรัปภาเทวี และแผ่นกระดานที่ผูกเตรียมไว้นั้น แล้วกษัตริย์ทั้งสองก็เกาะอาศัยกระดานแผ่นเดียวกัน ว่ายไปตามกระแสชลธาร ด้วยอำนาจอกุศลกรรมที่กษัตริย์ทั้งสองได้ทำไว้แต่ในชาติปางก่อนนั้น มาบันดาลให้แผ่นกระดานขาดออกไปเป็นสองท่อน พระโพธิสัตว์ได้ไว้ท่อนหนึ่ง พระจีรัปภาเทวีได้ไว้ท่อนหนึ่ง กษัตริย์ทั้งสองได้แผ่นกระดานคนละท่อนแล้ว ต่างองค์ก็พลัดกันไปคนละทิศละทางมิได้แลเห็นซึ่งกันและกัน กษัตริย์ทั้งสองนั้นต่างได้รับทุกขเวทนาเพราะความเย็นและความหนาวราวกับว่าพระชนมชีพจะวางวาย ทั้งประกอบด้วยความหิวกระหายสุดกำลัง เพราะมิได้เสวยพระกระยาหารเลย ต่างพระองค์ก็ทรงพระกรรแสงถึงกัน พระโพธิสัตว์นั้นทรงพระกรรแสงถึงพระมเหสี พระจีรัปภาก็ทรงพระกรรแสงถึงพระภัสดา

ในที่นี้มีคำปุจฉาถามว่า กษัตริย์ทั้งสองได้ทำกรรมอะไรไว้ จึงได้พลัดพรากจากกันไปในมหาสมุทร์ เพราะอำนาจคลื่นและลมดังนี้ มีคำวิสัชนาว่า สองกษัตริย์ต้องพลัดพรากจากกันในท่ามกลางมหาสมุทร์ เพราะอำนาจกรรมที่ได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อนดังได้สดับมา เมื่อชาติปางก่อนนั้น กษัตริย์ทั้งสองนี้ได้บังเกิดเป็นสามีภรรยากัน อยู่ในบ้านอันเป็นเขตแดนเมืองพาราณสี อยู่มาวันหนึ่งสองสามีภรรยานั้นพากันไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ขณะนั้น มีสามเณรองค์หนึ่งพายเรือผ่านมาในแม่น้ำนั้น สองสามีภรรยาเห็นสามเณรพายเรือมา ปรารถนาจะใคร่สัพยอกหยอกเย้าเล่น จึงช่วยกันกระทุ่มน้ำในคงคา ทำให้เป็นคลื่นระลอกซัดเรือของสามเณร เรือนั้นครั้นกระทบคลื่นระลอกก็ล่มจมลงในกระแสชล สามเณรนั้นก็ต้องว่ายน้ำเวียนวนอยู่ในคงคา จมลงไปในกระแสชลบ้าง ผุดขึ้นได้ก็ว่ายไปบ้าง ความทุกข์ลำบากบังเกิดมีขึ้นแก่สามเณรดังนี้ สองสามีภรรยาเห็นดังนี้ ก็พากันว่ายออกไปอุ้มสามเณรนั้นเข้าฝั่ง กษัตริย์ทั้งสองได้กระทำอกุศลกรรมไว้ดังนี้ จึงต้องพลัดพรากจากกันในมหาสมุทร์ ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรมนั้น แต่กษัตริย์ทั้งสองพลัดพรากจากกัน และเสวยทุกขเวทนาเหมือนดังนี้มา นับได้ ๕๐๐ ชาติเป็นกำหนด

เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมสุคตผู้เป็นศาสตา จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนาสอนไว้เป็นบาทพระคาถาดังนี้ว่า

มาวมฺเถ ปาปสฺส น มตฺตํ ปาปุณิสฺสติ
วิปากํ วิปุลํ หุตฺวา มหาทุกขํ สมาวเห

ความว่า บุคคลอย่าพึงประมาทดูหมิ่นกรรมที่เป็นบาปว่าเราทำบาปนิดหน่อยเท่านี้ วิบากคือผลจักไม่มาถึงเรา กรรมที่เป็นบาปนั้น แม้ถึงจะนิดหน่อยก็ดี เมื่อเวลาให้ผล อาจนำทุกข์มาให้เป็นอันมาก พืชข้าวกล้าที่บุคคลหว่านลงในที่นา ย่อมงอกงามเป็นผลขึ้นเห็นปานใด กรรมเป็นบาปที่บุคคลได้ทำไว้ ก็ย่อมให้ผลเห็นปานใด

ส่วนข้างบุญกุศลนั้น บุคคลก็อย่าพึงประมาทหมิ่นว่า บุญกุศลนิดหน่อยเมื่อไรผลจะมาถึงเรา บุญกุศลนั้นย่อมจะงอกงามให้ผลเหมือนกัน ต่างกันแต่กุศลให้ผลเป็นสุข อกุศลให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จึงรู้เถิดว่า บุญกุศลที่ได้ทำไว้แม้ถึงนิดหน่อย ก็คงให้ผลอันประกอบไปด้วยความสุขความเจริญ ส่วนบาปอกุศลที่ได้ทำไว้ แม้ถึงนิดหน่อยก็ให้ผลอันประกอบด้วยโทษและความฉิบหาย บุคคลผู้มีปัญญาพึงพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นบุญ สิ่งนี้เป็นบาป เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้แล้วก็ควรสั่งสมสิ่งที่เป็นบุญกุศลไว้ให้มาก สิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศลนั้น พึงละเว้นเสียให้ห่างไกลจากสันดาน ครั้นบุรพวาสนาแก่กล้าแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลญาณสมดังปณิธานความปรารถนา

เมื่อพระจีรัปภาเทวีพลัดพรากกับพระภัสดา อาศัยแผ่นกระดานลอยไปตามกระแสน้ำดังนั้น ครั้นคลื่นลมพัดเข้าไปถึงฝั่งก็ขึ้นจากคงคาทรงพระดำเนินไปแต่พระองค์เดียวควรที่จะสังเวช เพราะพระนางเป็นเพศสตรี เมื่อระลึกขึ้นมาถึงพระสามี ก็ทรงพระกรรแสงโศการำพันพิลาป ร่ำเรียกพระภัสดาด้วยคาถาว่า

กถํ ปสฺสามิ ตํ นาถํ กถํ ชิวามิ ตํ วินา
มุขนฺเต ตํ น ปสฺสามิ มฺเ เหสฺสามิ ชีวิตํ

ความว่า ทำไฉนข้าพเจ้าจึงจะได้พบเห็นพระสุธนุสามีผู้เป็นที่พึ่ง เมื่อข้าพเจ้ามาพลัดพรากจากกันดังนี้ ที่ไหนจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าข้าพเจ้ามิได้พบเห็นพระพักตรพระภัสดานั้นแล้ว ก็เห็นว่าจักสิ้นชีพตักษัยโดยแท้

พระจีรัปภาเทวีพิลาปดังนี้แล้วจึงทรงรำพันต่อไปว่าอกุศลกรรมอะไรหนอที่ได้ทำไว้ จึ่งบันดาลให้พลัดพรากจากพระสามี กุศลกรรมสิ่งใดที่ได้สร้างมา จึงดลใจให้พบกันในบุรีอยู่ เป็นสุขสำราญอยู่ด้วยกันก็เป็นบุญแล้ว ไฉนบาปจึงบันดาลให้จากกัน กระทำให้ได้ความทุกข์โศกถึงเพียงนี้ ถ้าแม้มีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่ง มาชี้บอกมรรคาให้พบพระสามี นั่นแหละจึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ถ้ามิได้พบพระสามีแล้วก็สิ้นชีพตักษัยเป็นมั่นคง จะมีชีพดำรงอยู่ต่อไปอย่างไรได้ เมื่อทรงพระกรรแสงรำพันดังนี้แล้ว ก็ทรงพระปริวิตกต่อไปว่า เมื่อพระภัสดาของเราว่ายมาในชลธาร มัจฉาชาติมิพากันกินเป็นอาหารเสียแล้วหรือ เพราะมัจฉาชาติทั้งหลายที่ดุร้ายในคงคาก็มีเป็นอันมาก คือมังกรและจระเข้เหราโลมาฉลามฉนากเป็นต้น เที่ยวมาพบพระภัสดาของเราแล้วกินเป็นอาหารหรือไฉน แต่เราเฝ้าเรียกหาสักเท่าใด ๆ ก็มิได้ยินเสียงขานรับเลย พระจีรัปภาเทวีทรงพระกรรแสงปริเทวนาการอยู่ดังนี้ ครั้นค่อยส่างความโศกลง จึงเอาพระภูษาชุบวารีให้ชุ่มแล้วถอดพระธำมรงค์ ๓ วง ขอดชายพระภูษาให้มั่น เพื่อจะมิให้เป็นอันตรายในกลางทาง แล้วพระนางก็ทรงพระดำเนินไปในมรรคา มิได้รู้ว่าทิศใดทางใด เดินไปโดยลำดับๆตามทางที่มีอยู่ข้างหน้า สองสามวันก็บรรลุถึงอินทปัตมหานคร จึงปลอมเพศเป็นหญิงเข็ญใจ มีพระวรกายอันเศร้าหมอง เดินเข้าไปในพระนคร

ในพระนครนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่ง เดิมเป็นผู้บริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ศฤงคารบริวารยศจะนับจะประมาณมิได้ ครั้นต่อมาภายหลังเศรษฐีนั้นสิ้นทรัพย์กลับเป็นคนเข็ญใจ ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานเขาเลี้ยงชีวิตเป็นนิจกาล พระจีรัปภาเทวีไปถึงคฤหสถานของทุคคตเศรษฐีนั้น จึงเข้าไปหาทุคคตเศรษฐีแล้วพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นเจ้า ขอท่านได้มีความกรุณาให้ข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ในบ้านเรือนนี้ ทุคคตเศรษฐีจึงตอบว่า ดูกรแม่ เราเป็นคนยากไร้เข็ญใจ แต่อาหารจะกินก็ไม่มีต้องเที่ยวขอทานเขาเลี้ยงชีวิต ท่านจะอาศัยอยู่กับเราได้หรือ พระจีรัปภาจึงมีวาจาว่า ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าท่านเป็นคนเข็ญใจ ความยากจนเข็ญใจยกไว้เถิด ถ้าท่านไม่หนักใจ ยอมอนุญาตให้ข้าพเจ้าอยู่ด้วย ข้าพเจ้าก็อยู่ได้ ทุคคตเศรษฐีจึงตอบว่า ดูกรแม่ ถ้ากระนั้น ท่านปรารถนาจะอยู่ในที่ใด ก็จงอยู่ตามความปรารถนาเถิด พระจีรัปภาเทวีได้โอกาสดังนั้น ก็อาศัยอยู่ในบ้านของทุคคตเศรษฐีนั้น

ครั้นเวลารุ่งเช้า พระจีรัปภาจึงเข้าไปหาเศรษฐี ส่งธำมรงค์วงหนึ่งให้แล้วมีวาจาว่า ข้าแต่บิดา ท่านจงเอาธำมรงค์วงนี้ไปขาย นำเอาทรัพย์มาใช้จ่ายซื้อโภชนาหารเถิด ทุคคตเศรษฐีรับพระธำมรงค์มาพิจารณาดู ก็รู้ประมาณราคาว่าเป็นของค่าควรเมือง จึงถามว่าจะให้ขายราคาเท่าไร พระจีรัปภาจึงตอบว่า จงเอาไปขายให้ได้เงินมาสัก ๔ เล่มเกวียนก็เห็นจะพอ ถ้ายิ่งได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี ทุคคตเศรษฐีรับคำแล้ว ก็ไปหาคนที่มั่นคงในเมือง จึงขายธำมรงค์ได้เงินบรรทุกเต็ม ๔ เล่มเกวียนแล้ว ก็นำมาให้พระจีรัปภาเทวี นางจึงยกให้แก่ทุคคตเศรษฐีเล่มเกวียน ๑ อีก ๓ เล่มเกวียนนั้นเก็บไว้ใช้สอยส่วนตัว จึ่งจ่ายช่วยทาสทาสีและบริวารชนและซื้อภาชนะเครื่องใช้สอยสำหรับเรือน และซื้อโภชนาหารทั้งหลาย มีข้าวเปลือกข้าวสารเป็นต้นด้วยเงิน ๕๐๐ ตำลึง แล้วจ้างช่างไม้ให้ทำศาลาใหญ่ไว้ในถนน ๔ แพร่งหลัง ๑ สำหรับเป็นที่ประชุมของชนทั้งหลายอันมาแต่ทิศานุทิศแล้วให้ทำจิตรกรรม คือเขียนรูปภาพอันวิจิตรต่าง ๆ ที่ฝาผนังศาลา จับเรื่องตั้งแต่พระสุธนุทรงสินธพเหาะมาโดยอากาศ และรูปพระสุธนุเปิดประตูปราสาทเข้าไปในห้องบรรทม ทอดพระเนตรดูพระจีรัปภาเทวี อันบรรทมอยู่บนพระแท่นกับนางทาสีชื่อว่าปทุมา แล้วทรงทาพระเทวีจีรัปภาด้วยเครื่องลูบไล้และของหอม และเขียนรูปไซดักมัจฉาไว้ที่หลังนางปทุมาทาสีค่อม แล้วได้อยู่ร่วมแท่นกับพระเทวีจีรัปภา และรูปพระเจ้าเสตราชผู้เป็นพระราชบิดาได้ทรงทราบ ให้หาพระสุธนุไปทดลองดูศิลปศาสตร์ แล้วทำพิธีวิวาหมงคลให้อยู่กินกับพระราชบุตรีจีรัปภา แล้วเขียนรูปกษัตริย์ทั้งสองขึ้นทรงอาชาออกจากเสตนคร เหาะถึงศาลาฆันตารยักษ์ ลงหยุดพักอาศัยในบรรณศาลา แล้วเขียนรูปยักษ์อันมารบกับอาชาไนย และรูปสองกษัตริย์ผูกธงไว้บนยอดพฤกษาแล้วพากันมานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ และรูปพาณิชทั้งหลายแล่นสำเภาเข้ามาหาสองกษัตริย์ และรูปกษัตริย์ทั้งสองลงสำเภาไปกับพาณิช และรูปสำเภาจมในมหาสมุทร์ กษัตริย์ทั้งสองขึ้นอยู่บนปลายเสากระโดง แล้วโดดลงนทีกับทั้งแผ่นกระดาน แล้วกระแสชลธารประกอบด้วยคลื่นและลมจัด พัดแผ่นกระดานให้ขาดออกไปในท่ามกลาง และรูปสองกษัตริย์พลัดกันต่างคนต่างไป พระจีรัปภาให้เขียนรูปตั้งแต่เบื้องต้น ต่อเนื่องกันมาจนพลัดกันในมหาสมุทร์เสร็จแล้ว ก็ทรงจำแนกแจกทานแก่สมณะพราหมณาจารย์ และยาจกวณิพกคนเดินทางอันมาถึงศาลานั้น เมื่อชนจำพวกใดเข้าไปในศาลา ก็ให้ชนจำพวกนั้นบริโภคโภชนาหารตามชอบใจ อนึ่งพระจีรัปภาเทวีตรัสสั่งกำชับคนใช้ว่า ถ้าผู้ใดมาสู่ศาลาโรงทานนี้แล้วถามว่า ศาลาโรงทานนี้ของใคร ท่านทั้งหลายจงบอกว่า ของนางอุมมาทันตีสร้างไว้ คนใช้ทั้งหลายก็กระทำตามคำสั่งทุกประการ แต่นั้นมา ชนทั้งหลายก็เรียกศาลานั้นว่าศาลาอุมมาทันตี การที่พระจีรัปภาเทวีสร้างศาลาและให้เขียนรูปภาพดังกล่าวแล้วนั้น เพื่อจะรู้เหตุแห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งพลัดกัน จึงสั่งคนใช้ทั้งหลายของตนอีกว่า ถ้าผู้ที่มาสู่ศาลานี้เจรจากันอย่างไรบ้าง ท่านทั้งหลายจงจำไปบอกเรา ตามที่เขาได้เจรจากันนั้น หรือผู้ที่เข้ามาในศาลานี้ ทำอาการแปลกประหลาดอย่างไรก็ดี ก็จงรีบมาบอกเราให้รู้ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ใดเข้ามาในศาลานี้ ครั้นบริโภคโภชนาหารแล้ว ควรแนะนำให้เที่ยวเดินดูรูปเขียนตามฝาผนัง นั่นแหละเป็นที่พอใจของเรา ท่านทั้งหลายจงทำตามเราสั่งนี้ทุกประการ พระจีรัปภาตรัสสั่งคนใช้ดังนี้แล้ว ก็จัดตั้งทานวัตรไว้ เพื่อสมณะพราหมณาจารย์ทั้งหลายอันมาสู่ศาลาอุมมาทันตี เป็นนิจกาลมิได้ขาด

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เมื่อพลัดกันกับพระจีรัปภาเทวีแล้วก็ทรงอาศัยแผ่นกระดานลอยอยู่ในกลางสมุทร์ ครั้นคลื่นลมพัดพาไปโดยลำดับ ก็ถึงฝั่งอันชื่อว่าอัญชนวดี จึงเสด็จขึ้นจากคงคาโดยสวัสดิภาพ ทรงระลึกถึงพระจีรัปภาเทวีขึ้นมา ก็มีพระอัสสุชลนองคลอพระเนตรทรงพระกรรแสงโศกาดูรพูนเทวษ เพียงพระอุระจะภินทนาการ แข็งพระทัยเสด็จจากท่าชื่ออัญชนวดี แล้วเข้าไปซ่อนพระองค์อยู่ในดงกัททลีวัน (ป่ากล้วย)

ในกาลนั้น นางยักขินีซึ่งมีนามว่าอัญชนวดี ผู้เป็นน้องสาวของฆันตารยักษ์ จึงมีวาจาแก่นางกเรณุวดีว่า ดูกรนางกเรณุวดีท่านจงพากันไปสู่ท่านที ตักน้ำให้เราชำระสรีรกาย นางกเรณุวดีนั้นจึงร้องเรียกราชธิดาทั้งหลาย อันเป็นหญิงสหาย ๑๖ องค์มาพร้อมกันเพื่อจะไปตักน้ำด้วยกัน นางจึงให้ราชธิดาทั้ง ๑๖ องค์นั้นล่วงหน้าไปก่อน ส่วนนางกเรณุวตีนั้นไปในเบื้องหน้า ต่างคนก็เดินไปโดยทางอันใกล้ป่ากัททลี

พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรไป เห็นนางกเรณุวดีกนิฏฐภคินีก็ทรงจำได้ ครั้นพระราชธิดาทั้งหลายนั้นลงสรงวารี ชำระพระสรีระอินทรีย์เสร็จแล้ว ก็ตักน้ำใส่กระออมพากันกลับไปก่อน ฝ่ายนางกเรณุวดีลงสรงวารีแล้ว ก็ตั้นน้ำใส่กระออม เดินไป ณ เบื้องหลัง แต่พอนางเดินมาถึงป่ากัททลี พระโพธิสัตว์จึงตรัสเรียกว่า ดูกรนางกเรณุวดี ผู้เป็นกนิฏฐภคินี เชิญมานั่งสนทนากันที่นี่เถิด

นางกเรณุวดีได้ฟังเสียงเรียกเชิญ จึงแลดูข้างโน้นข้างนี้ก็แลเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ จึงเดินเข้าไปหาแล้วถามว่า ท่านนี้มีนามกรชื่อไร เหตุไฉนจึงได้มาเรียกข้าพเจ้า พระโพธิสัตว์จึงกลับมาถามว่าเจ้ามิได้รู้จักเราหรือ นางกเรณุวดีตอบว่าข้าพเจ้ามิได้รู้จักท่านเลย พระโพธิสัตว์จึงตรัสบอกว่า เรานี้ชื่อว่าสุธนุราชกุมาร นางกเรณุวดีได้ฟังชื่อดังนั้น ก็รู้ว่าเป็นพระเชฏฐาธิราชของตน จึงกราบพระบาทแล้วทูลถามว่า พระองค์เสด็จมาที่นี่ด้วยเหตุผลประการใด พระโพธิสัตว์ก็เล่าเรื่องตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงพลัดพรากจากพระจีรัปภาเทวี ให้นางกเรณุวดีฟังถี่ถ้วนทุกประการ นางกเรณุวดีได้ฟังมีความสงสารพระเชฏฐา กลั้นน้ำตามิได้ก็ร้องไห้ปริเทวนาการ

พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่า ดูกรพระน้องผู้มีพักตรอันเจริญ เหตุไฉนพระน้องจึงมาอยู่ที่นี่ นางกเรณุวดีจึงบอกว่า ฆันตารยักษ์ไปจับมาไว้สำหรับให้เป็นบริวารรับใช้ของนางยักขินีน้องสาว และพระราชธิดาอีก ๑๖ คนนั้น ก็ถูกฆันตารยักษ์ไปจับมาเหมือนกัน พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นก็นึกในพระทัยว่า เรื่องนี้จริงเหมือนคำมณีกักขิอัศวราชเล่าให้เราฟัง นึกดังนี้แล้ว จึงตรัสสั่งนางกเรณุวดีว่า พระน้องจงอย่าบอกให้ใครรู้ว่าพี่มาอยู่ในประเทศนี้ พระโพธิสัตว์ตรัสสั่งกำชับดังนี้แล้ว ก็หยอกเย้านางกเรณุวดีด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ ลูบคลำพระเกศ จับต้องใบพระกรรณ และช่องพระกรรณ ลูบคลำพระเศียร และพระนลาฏ และพระโขนง จุมพิตพระพักตร จับต้องพระนาสา เชยพระหณุประเทศ ลูบคลำพระกัณฐา จับต้องพระถัน ลูบคลำพระอุทร และพระกุจฉิประเทศ ลูบคลำพระนาภี และริมพระนาถี และอวัยวะที่ลับ แล้วกระทำสมัครสังวาสกับนางกเรณุวดี ด้วยสามารถแห่งราคกิเลศตามธรรมดาโลกวิสัย ซึ่งเป็นไปตามประเพณี นางกเรณุวดีก็มีความรื่นเริงในพระทัย ด้วยสามารถแห่งความรักใคร่พระโพธิสัตว์ ต่างคนก็มีความปฏิพัทธ์ซึ่งกันและกัน

ลำดับนั้น นางกเรณุวดีจึงสั่งพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระภัสดาพระองค์จงอยู่ในที่นี้ แต่อย่าแสดงพระองค์ให้ใครเห็น พระโพธิสัตว์รับคำนางกเรณุวดีแล้ว ก็เข้าไปซ่อนพระองค์อยู่ในดงกัททลี ส่วนนางกเรณุวดีก็แบกกระออมน้ำไปเพื่อจะให้แก่นางยักขินี ในกาลเมื่อนางกเรณุวดีขึ้นไปบนปราสาทแล้วเดินเข้าไปในภายใน กลิ่นมนุษย์ก็ฟุ้งไปทั้งปราสาท นางอัญชนวดียักขินีก็มีความประหลาดใจ จึงถามราชธิดาทั้งหลายว่า กลิ่นมนุษย์ติดกายผู้ใดมา หรือว่ามนุษย์เข้ามาอยู่ในที่นี้ พระราชธิดาทั้งหลายจึงตอบว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า มนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งจะได้มาอยู่ในที่นี้หามิได้ นางอัญชนวดียักขินีก็ถามอีกถึง ๒-๓ ครั้ง ราชธิดาก็ตอบยืนคำอยู่อย่างนั้น

ครั้นรุ่งขึ้นวันไหม่ พระราชธิดาทั้งหลายนั้น จึงพากันต่อว่านางกเรณุวดีว่า เมื่อท่านเดินเข้าไปในปราสาท กลิ่นมนุษย์ก็ฟุ้งทั่วไปทั้งปราสาท เราทั้งหลายมีความรังเกียจสงสัยในตัวท่าน ถ้าท่านไม่บอกความตามจริง เราทั้งหลายจะให้กรรมกรณ์ตกลงบนศีรษะท่าน คือเราทั้งหลายจะบอกนางอัญชนวดียักขินีให้ชำระลงโทษท่าน นางกเรณุวดีมีความกลัวจึงว่า ถ้าท่านทั้งหลายรู้แล้วจักไม่บอกผู้ใดผู้หนึ่ง เราจะบอกความจริงให้ท่านทั้งปวงฟัง ราชธิดาทั้งหลายจึงรับว่า เราทั้งปวงรู้แล้วจะไม่บอกผู้ใดผู้หนึ่งเลย ท่านจงบอกความตามจริงแก่เราทั้งหลายเถิด นางกเรณุวดีจึงบอกว่าพระบรมเชฏฐาของเรามาอยู่ในป่ากัททลีวัน ราชธิดาทั้งหลายถามว่า พระเชฏฐาของท่านมีนามกรชื่อไร นางกเรณุวดีบอกว่า พระเชฏฐาของเรานั้นชื่อว่า สุธนุราชกุมาร ราชธิดาทั้งหลายจึงซักถามว่า คำที่ท่านบอกนี้เป็นเรื่องจริงหรือเท็จนางกเรณุวดีตอบว่าคำที่เรากล่าวนี้เป็นความจริง จะได้กล่าวมุสาหามิได้ ราชธิดาทั้งหลายจึงซักต่อไปว่า พระเชฏฐาของท่านนั้น มีรูปทรงสัณฐานเป็นอย่างไร ท่านจงพรรณนาให้เราทั้งหลายฟังในกาลนี้

นางกเรณุวดีได้ฟังดังนั้น เมื่อจะพรรณนาพระรูปพระโฉมของพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นพระเชฏฐา จึงกล่าวว่า ดูกรแม่ทั้งหลายพระสุธนุผู้เป็นพี่ชายของเรานั้น ไม่มีบุรุษผู้ใดที่จะเสมอเหมือนทั้งเป็นผู้ประกอบไปด้วยพระสิริวิลาศอันงามยิ่ง สักร้อยลิ้นพันลิ้นหรือแสนลิ้นก็มิอาจพรรณนาความงามให้สิ้นได้ เราลิ้นเดียวเท่านี้ไฉนจึงจะพรรณนาพระรูปพระโฉมและความงามของพระเชฏฐาของเราให้สิ้นได้ ท่านทั้งหลายพึงทราบเถิด ว่าพระเชฏฐาของเรานั้น มีรูปทรงสัณฐานอันงาม หาบุรุษใดเปรียบปานมิได้

ราชธิดาทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ก็มีความรักใคร่ในพระโพธิสัตว์มีฉันทอัธยาศัยร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ครั้นถึงเวลาไปตักน้ำให้นางยักขินี จึงให้นางกเรณุวดีพาไปเฝ้าพระโพธิสัตว์ในป่ากัททลีวัน พระโพธิสัตว์ก็หยอกเย้ายียวน แล้วทำสมัครสังวาสเชยชมกับราชธิดาเหล่านั้น ราชธิดาทั้งหลายก็มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในพระโพธิสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ครั้นได้เวลาก็พากันตักน้ำกลับไป แต่พอเข้าไปภายในปราสาทกลิ่นมนุษย์ก็ฟุ้งตระหลบไปถึงนาสิกของนางยักขินี นางอัญชนวดียักขินีจึงถามราชธิดาทั้งหลายว่า เหตุไฉนเมื่อท่านทั้งปวงเข้ามาในปราสาทของเรา จึงมีกลิ่นมนุษย์ปรากฏฟุ้งไปทั้งปราสาท ท่านทั้งหลายมิได้บอกความจริงแก่เรา ตั้งแต่วันวานนี้มาแล้ว ถ้าท่านทั้งปวงไม่บอกความจริงแก่เราในวันนี้ เราจะไม่ให้ท่านทั้งหลายมีชีวิตอยู่ต่อไป ความจริงอย่างไรจงบอกแก่เราอย่างนั้น ชีวิตของท่านทั้งหลายจึงจะมีต่อไป ราชธิดาทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ก็มีความกลัวต่อมรณภัยเป็นกำลัง ไม่อาจปิดบังความลับไว้ได้ เมื่อจะบอกความจริงจึงขออภัยให้นางยักขินียกโทษให้ นางยักขินีจึงว่า ท่านทั้งหลายจงบอกไปตามจริงเถิดเราจะไม่ทำโทษอันใดอันหนึ่งแก่ท่านทั้งหลายเลย ราชธิดาทั้งหลายจึงบอกว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ราชบุตรของพระเจ้าพาราณสีทรงพระนามสุธนุ ผู้เป็นพี่ชายของนางกเรณุวดี เข้ามาอยู่ในประเทศที่นี้บัดนี้ซ่อนพระองค์อยู่ที่ในดงกัททลีวัน

นางอัญชนวดีได้ฟังคำว่าสุธนุ ก็มีจิตประกอบไปด้วยปีติโสมนัส ประดุจดังว่ามีผู้มารดลงด้วยน้ำอมฤตวารีฉะนั้น นางจึงคิดในใจว่า ถ้าพระสุธนุเป็นผู้มีปัญญา ก็จะรู้อธิบายความประสงค์ของเรา ด้วยสัญญาเครื่องหมายที่เราส่งไป คิดดังนี้แล้ว นางจึงเขียนหนังสือเป็นปริศนาส่งให้นางกเรณุวดี แล้วกำชับสั่งว่า ท่านจงเอาหนังสือนี้ไปให้พี่ชายของท่าน ถ้าพี่ชายของท่านเป็นบัณฑิตมีปัญญา ก็จักรู้อธิบายในปริศนานี้ ถ้ารู้แล้วก็จะมาเที่ยวปราสาทนี้ ถ้าพี่ชายของท่านไม่รู้อธิบายนี้ก็จักต้องเป็นภักษาหารของเรา

นางกเรณุวดีรับหนังสือแล้วก็เดินร้องไห้ไปหาพระโพธิสัตว์ ครั้นถึงจึงส่งหนังสือนั้นให้ แล้วบอกว่า ถ้าพระองค์ทรงทราบความในหนังสือนี้ ก็จักมีพระชนมชีพสืบไป ถ้าพระองค์มิได้รู้ นางยักขินีก็จักกินพระองค์เป็นภักษาหาร

พระโพธิสัตว์รับเอาหนังสือมาทอดพระเนตร ก็ทรงทราบด้วยพระปรีชาญาณว่านางยักขินีมีความปฏิพัทธ์ในพระองค์ ด้วยอำนาจความกำหนัดในกามคุณ จึงตรัสแก่นางกเรณุวดีว่า พระน้องอย่าร้องไห้ปริเทวนาการเลย พี่รู้ความในอักษรของนางยักขินีเสร็จสิ้นแล้ว ตรัสดังนี้แล้วจึงเขียนรูปของพระองค์ อันยกพระหัตถ์ขึ้นกอดคอนางยักขินีลงในแผ่นกระดาษ ครั้นเขียนเสร็จแล้ว ก็พับผนึกส่งให้นางกเรณุวดีเอาไปให้นางยักขินี นางอัญชนาดียักขินีเปิดผนึกเห็นรูปเขียนของพระโพธิสัตว์อันทำอาการดังนั้น ก็มีโลมชาติอันชูชันทั่วทั้งสรีรกาย มีพระทัยอิ่มเอิบไปด้วยความยินดีปรีดา นางจึงคิดว่า พระสุธนุทำดังนี้สมควรเป็นผู้มีปัญญา นางจึงไปหยิบเครื่องประดับและพระภูษา อีกทั้งเครื่องลูบไล้มาลาและของหอม มาส่งให้นางกเรณุวดีแล้วสั่งว่า ท่านจงเอาไปให้พระเชฏฐาของท่าน นางกเรณุวดีก็รับเอาไปถวายพระโพธิสัตว์แล้วบอกว่า ของทั้งหลายเหล่านี้ นางยักขินีให้เอามาถวาย พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังดังนั้น จึงทรงดำริว่า เราควรจะไปหานางยักขินีในกาลนี้ จึงทรงอุทกวารีชำระพระกายแล้วทรงพระภูษา ประดับพระองค์ด้วยเครื่องประดับ ทาพระสรีรกายด้วยของหอม แล้วเอามาลัยสวมข้อพระกร ครั้นแต่งพระองค์ด้วยสิ่งของที่นางยักขินีให้มาแล้ว ก็เสด็จไปโดยปรกติมิได้รีบด่วน คือเสด็จช้า ๆ โดยขัตติยมรรยาทอย่างกษัตริย์ งามพระด้วยพระสิริวิลาสดังพระยาไกรสรสิงหราชอันออกจากกาญจนคูหา และดุจดังองค์อมรินทราอันจะเสด็จขึ้นเวชยันตวิมาน

ฝ่ายนางอัญชนวดียักขินีนั้น เปิดพระแกลคอยแลดูพระโพธิสัตว์อันจะเสด็จมา ครั้นได้ทัศนาการเห็นพระโพธิสัตว์ อันเสด็จมาด้วยพระสิริวิลาสดังนั้น ก็มีความยินดีว่าราชบุตรสุธนุเสด็จมาแล้ว จึงร้องเชิญพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ เชิญพระองค์เสด็จมาโดยเร็วเถิด แล้วลงไปต้อนรับ พระโพธิสัตว์จึงจับหัตถ์นางยักขินี แล้วเลยเสด็จจรลีขึ้นสู่ปราสาทกับนางยักขินีพร้อมกัน ครั้นถึงภายในห้อง ก็ทรงนั่งเหนือที่ไสยาสน์ของนางยักขินี แล้วตรัสปฏิสัณฐารด้วยพระวาจา อันเป็นเครื่องนำมาซึ่งความรักและความเจริญใจ แล้วสมัครสังวาสร่วมรักกับนางยักขินี ตามวิสัยโลกธรรมดา

จำเดิมแต่นั้นมานางยักขินีก็มีจิตรักใคร่ผูกพันในพระโพธิสัตว์ยิ่งนัก พระโพธิสัตว์ก็อยู่กับนางยักขินีในปราสาทนั้นพร้อมด้วยราชธิดาทั้งหลายโดยควรแก่ความสุขสำราญ ประมาณได้หลายวันหลายราตรี

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ระลึกถึงพระนางเกศนีราชมารดาขึ้นมาจึงดำริว่า เราจะคิดอุบายอย่างไรหนอ จึงจะได้ไปเฝ้าพระชนนี ดำริฉะนี้แล้ว จึงตรัสถามนางกเรณุวดีว่า พระน้องได้ยินได้ฟังบ้างหรือไม่ว่าม้าอาชาไนยในที่นี้มีอยู่หรือไม่มี นางกเรณุวดีตอบว่า หม่อมฉันได้ยินเขาพูดกันว่า ในที่นี้มีม้าอาชาไนยอยู่ตัวหนึ่ง พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรพระน้อง ทำไฉนพี่จะได้เห็นสินธพอาชาไนยตัวนั้น ยากที่พระองค์จะได้เห็นเพราะเป็นม้าที่มีความรักใคร่เจ้าของ ๆ ตนยิ่งนัก พระยายักษ์จับมาได้จำไว้ในกรงเหล็ก แล้วให้พวกยักษ์รักษาอยู่ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะดูให้ได้ เมื่อขณะยืนหรือนั่งหรือเดินหรือนอน หรือพูดพรรณนาถึงเรื่องอะไรก็ดี จงคิดอุบายพูดจาให้นางยักขินีไปขอมา นั่นแหละจึงจะได้เห็นสินธพอาชาสมดังความประสงค์ พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังนางกเรณุวดีพูดชี้แจงดังนั้น ก็รู้ว่าสินธพนั้นคือมณีกักขิอัศวราช จึงได้ทรงดำริว่า อุบายที่นางกเรณุวดีบอกนี้ อาจให้สำเร็จความปรารถนาของเราได้ ทรงดำริดังนี้แล้วก็นิ่งไว้ในพระทัย

อยู่มาวันหนึ่ง เป็นเวลาจะใกล้รุ่งราตรี พระโพธิสัตว์แสร้งทำเป็นทรงพระกรรแสงปริเทวนาการ นางยักขินีตื่นขึ้น ได้ยินเสียงพระโพธิสัตว์ทรงกรรแสง จึงถามว่า พระองค์ทรงพระกรรแสงด้วยเหตุอะไร พระโพธิสัตว์ก็นิ่งเสียมิได้ตอบประการใด นางยักขินีอ้อนวอนถามถึง ๓ ครั้ง พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ แต่ก่อนเมื่อพี่อยู่ในเมืองพาราณสี เคยขับขี่ยานพาหนะมีอัศดรเป็นต้น แล้วเที่ยวเล่นมีความสุขสำราญ ตั้งแต่พี่มาอยู่ในที่นี้ ยังไม่เคยได้เห็นยานพาหนะอันใดอันหนึ่งที่จะขับขี่ เพราะเหตุนี้พี่จึงได้ร้องไห้ ถ้าเจ้ามีความรักใคร่พี่แล้ว เจ้าจงไปวิงวอนขอสินธพที่พี่ชายของเจ้าจับไว้นั้น มาให้พี่สำหรับได้ขี่เล่น นั้นและจึงจะเห็นว่าเจ้ามีความรักใคร่พี่จริง ทั้งจะได้เห็นหน้าพี่อีกต่อไป ถ้าไม่ได้สมความปรารถนาแล้ว ชีวิตของพี่ก็จะไม่ยืดยาวต่อไปได้ นางยักขินีได้ฟังพระโพธิสัตว์ตรัสบอกดังนั้น ก็มีความสงสาร จึงมีวาจาว่า ข้าแต่พระภัสดา เหตุเท่านี้พระองค์อย่าทรงพระปริวิตกเลย จงระงับความโศกเสียเถิด หม่อมฉันจะขอมาถวายให้จงได้

ครั้นเวลารุ่งเช้า นางยักษ์ขินีจึงเรียกนางกเรณุวดีมาสั่งว่าท่านจงไปหาพี่ชายของเรา บอกว่าเราให้มาขอพาชีที่จับมาได้นั้นจะเอาไปไว้สำหรับได้ขี่เล่น นางกเรณุวดีรับคำแล้วก็ไปหาฆันตารยักษ์ ครั้นถึงจึงกระทำความเคารพ แล้วแจ้งความตามที่นางอัญชนวดีสั่งมา

ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้น จึงมีวาจาว่า ดูกรนางกเรณุวดี อย่าแต่ว่าพาชีที่มีอยู่นี้เลย แม้ถึงน้องสาวเราจะปรารถนาสิ่งใดที่มีอยู่ เราก็จะเที่ยวไปหาสิ่งนั้นมาให้ได้ดังความปรารถนา แต่ทว่าอาชาไนยตัวนี้มันดุร้ายนัก ถ้าผู้ใดเข้าไปจับมันขี่ มันก็ดีดขบผู้นั้นให้ถึงชีวิตอันตราย ถึงเอาไปไว้ก็คงขี่มันไม่ได้ อย่าเอาไปเลย เราจะเอาไปเที่ยวหามาให้ใหม่ เจ้าจงกลับไปบอกน้องสาวเรา ตามคำของเรานี้เถิด

นางกเรณุวดีก็กลับมาบอกนางยักขินี ตามคำของฆันตารยักษ์นั้นทุกประการ นางยักขินีจึงบอกความนั้นแก่พระโพธิสัตว์ ๆ ก็ทำเป็นทรงพระกรรแสงร่ำไห้ นางยักขินีเห็นดังนั้นก็มีความสงสาร จึงว่าแก่นางกเรณุวดีว่า ท่านจงกลับไปใหม่อย่ากลัวเลยเพราะว่าสินธพอาชาไนยนั้น มันถูกมหายักษ์พี่ชายเราจับมาขังไว้ช้านาน อาการที่มันดุร้ายก็คงบรรเทาลงหมดแล้ว ท่านจงไปขอมาให้พี่ของท่านขี่เถิด นางกเรณุวดีรู้ว่าเป็นอาชาไนยของพระโพธิสัตว์จึงรีบกลับไปหาฆันตารยักษ์ แล้วบอกความตามคำของนางยักขินีนั้น ฆันตารยักษ์จึงว่าถ้ากระนั้น ท่านจงไปจับมันให้มั่น แล้วพามันไปให้นางอัญชนวดีน้องสาวเรา นางกเรณุวดีรับคำมหายักษ์แล้ว ก็ไปยังที่อยู่ของอาชาไนยบอกพวกยักษ์ที่รักษาว่ามหายักษ์ให้เรามาจับอาชานี้ไป แล้วเดินเข้าไปใกล้อัศดรพาชี กระซิบบอกว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราชผู้เจริญ บัดนี้พระสุธนุผู้เป็นเจ้านายของท่านมาอยู่ในประเทศนี้แล้ว

มณีกักขิอัศวราชได้ฟังดังนั้น จึงคิดในใจว่า พระสุธนุผู้เป็นเจ้านายของเราพลัดพรากจากไปช้านานแล้ว บัดนี้มาอยู่ ณ ประเทศนี้ คิดดังนี้แล้วก็ร้องไห้ มีน้ำตาหลั่งไหลลงอาบหน้า ครั้นได้สติขึ้นมาก็กลั้นความโศกไว้ แล้วกลับรื่นเริงบันเทิงใจที่จะได้พบปะพระสุธนุจึงร้องขึ้นด้วยเสียงเป็นอันดัง

ฝ่ายนางกเรณุวดีก็ได้เปิดกรงเหล็ก แล้วเข้าไปแก้พาชีออกจากแหล่ง พาไปยืนอยู่ ณ ที่ตรงหน้าปราสาทของมหายักษ์ แล้วยอกรขึ้นไหว้มหายักษ์อันยืนอยู่บนปราสาท

ฝ่ายมหายักษ์ยืนอยู่บนปราสาท แลเห็นนางกเรณุวดีจูงมณีกักขิอัศวราชเดินมาก็บังเกิดอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ครั้นนางกเรณุวดีมาถึงยกมือขึ้นไหว้ จึงถามว่า ดูกรนางกเรณุวดี ไฉนท่านจึงจับอาชานี้มาได้และพามาได้ด้วยอุบายอย่างไร นางกเรณุวดีตอบมหายักษ์ว่า ข้าพเจ้าจับด้วยอานุภาพของนางอัญชนวดีน้องสาวของท่าน มหายักษ์จึงถามว่า น้องสาวเรารู้เวทมนต์อาคมสิ่งใดหามิได้ เห็นจะจับได้ด้วยอานุภาพของท่านโดยแท้

นางกเรณุวดีตอบดังนี้แล้ว ก็น้อมเศียรกราบลามหายักษ์พามณีกักขิอัศวราชมาสู่สำนักพระโพธิสัตว์ ๆ แลเห็นมณีกักขิอัศวราช มิอาจที่จะกลั้นความโศกได้ ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไห้อยู่ไปมา

ฝ่ายมณีกักขิอาชาแลเห็นพระโพธิสัตว์ ก็ร้องไห้ปริเทวนาการร่ำไร แลไปไม่เห็นนางจีรัปภาเทวีจึงทูลถามพระโพธิสัตว์ว่า พระนางจีรัปภาไปข้างไหน จึงมิได้เห็นตามเสด็จมา พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรมณีกักขิอาชาไนย พระนางจีรัปภาเทวีนั้นพลัดกันไป เราเที่ยวติดตามหานาง จึงได้หลงเข้ามาอยู่ในแดนของยักษ์นี้ มณีกักขิอัศวราชจึงทูลว่า พระองค์จะมาอยู่ที่นี่นานนักไม่ได้ ควรจะไปเที่ยวติดตามพระจีรัปภาเทวีให้พบกันก่อน พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราช คำที่ท่านตักเตือนนี้ต้องอดไว้ เราจะควรจะคิดผ่อนผันพากันไปให้พ้นแดนมหายักษ์นี้ก่อน แล้วจึงเที่ยวติดตามพระจีรัปภาเทวีต่อภายหลัง มณีกักขิอาชาไนยได้ฟังก็เห็นชอบด้วย พระโพธิสัตว์ก็อยู่ในปราสาทนั้นอีกสองสามวัน

วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์จึงตรัสแก่นางยักขินีว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ เราทั้งหลายจักพากันไปในสวนอุทยาน เล่นการมหรสพฉลองอัศดรที่ได้มา แล้วดื่มกินสุราบานให้สำราญพระทัยสักวันหนึ่ง

ฝ่ายนางยักขินีไม่รู้เท่าถึงก็มิได้สงสัย จึงให้ตกแต่งโภชนาหารและกับแกล้มสุราไว้เสร็จแล้ว ก็เชิญพระโพธิสัตว์กับราชธิดาทั้งหลายไปสู่สวนอุทยาน แล้วพาราชธิดาทั้งหลายที่เป็นบริวารดื่มสุราเมรัยจนมึนเมาลืมสติสิ้นด้วยกัน แต่พระโพธิสัตว์กับนางกเรณุวดีนั้น เอาสุราเมรัยนั้นใส่ปากอมไว้แล้วลอบบ้วนเสีย ครั้นเห็นนางยักขินีและราชธิดาทั้งหลายเมาสิ้นสติแล้ว ก็พากลับมายังปราสาท นางยักขินีและราชธิดาทั้งหลายต่างก็เข้าที่ไสยาสน์ของตน ๆ พากันหลับไม่เป็นสมปฤดี

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ซึ่งตรัสปลอบนางกเรณุวดี พระน้องอย่ามีความปริวิตกเลย จงอุตส่าห์สงบจิตอยู่ที่นี่ไปก่อน พี่ไปไม่ช้าก็จะให้อัศดรกลับมารับพระน้องไป ตรัสดังนี้แล้ว ก็ขึ้นหลังมโนมัยมิได้ช้า มณีกักขิอัศวราชก็พาเหาะไปโดยอากาศ ครั้นถึงเมืองอินทปัตราชธานี พาชีก็เหาะลงสู่พื้นปถพีดล อันเป็นภายนอกพระนคร พระโพธิสัตว์ลงจากหลังอาชาแล้ว จึงตรัสว่า ดูกรมณีกักขิอัศวราช ท่านจงคอยเราอยู่ที่นี่ก่อน เราจะปลอมเพศเข้าไปในพระนคร เที่ยวสืบข่าวพระจีรัปภาเทวีว่าจะอยู่ในเมืองนี้หรือไม่ พระโพธิสัตว์ตรัสสั่งอาชาไนยดังนี้ แล้วก็ปลอมเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปในพระนคร เมื่อเห็นประชาชนสโมสรประชุมกันในที่ใด ก็เข้าไปในที่นั้นแล้วถามว่า ดูกรท่านทั้งปวงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายที่มาถึงเมืองนี้แล้ว พากันไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด ชนทั้งหลายจึงบอกว่า ดูกรพราหมณ์ผู้เจริญมีนางปริพพาชิกาผู้หนึ่งอยู่ในบ้านโน้น สร้างศาลาชื่อว่าอุมมาทันตีไว้เป็นที่สำหรับบริจาคทาน สมณพราหมณาจารย์ทั้งหลายมาถึงเมืองนี้ ย่อมไปประชุมกันอยู่ในศาลานั้นโดยมาก

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็ทรงพระดำเนินไปตามมรรคาที่มหาชนบอก ครั้นถึงจึงเข้าไปนั่งในศาลาสนทนากับสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยถ้อยคำที่ควรจะระลึกสิ้นกาลนาน

ฝ่ายหญิงทั้งหลายที่เป็นผู้เลี้ยงดูปฏิบัติคนที่มาในศาลานั้นจึงให้พราหมณ์คือพระโพธิสัตว์บริโภคโภชนาหาร แล้วจึงมีวาจาว่า ดูกรพราหมณ์ผู้เจริญ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาอยู่ในศาลานี้ ควรรู้จักวัตรปฏิบัติคือ ต้องเที่ยวดูรูปภาพที่เขียนไว้เป็นเรื่องราวตามฝาผนังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจงเดินดูรูปที่เขียนไว้ในศาลานี้เถิด

พระโพธิสัตว์ก็เที่ยวดูรูปภาพที่เขียนไว้ ครั้นได้เห็นรูปของพระองค์ซึ่งทรงสินธพมาโดยอากาศ แล้วเข้าไปสู่ปราสาทพระจีรัปภา และทรงทาพระจีรัปภาด้วยเครื่องหอมนั้นก่อน ก็ทรงอิ้มแย้มพระโอยฐ์ จึงทอดพระเนตรต่อไป ครั้นเห็นรูปพระองค์เมื่อทรงประทับบนแท่น แล้วจับต้องถันประทุมพระจีรัปภา ก็ทรงพระสรวลเป็นอันดัง แล้วทอดพระเนตรรูปโดยลำดับ ๆ มาถึงรูปพระองค์ขึ้นทรงสินธพกับพระจีรัปภาเทวี ออกจากพระนครไปอาศัยอยู่ในศาลาของฆันตารยักษ์ พระโพธิสัตว์ก็มีพระพักตรสลดเศร้าหมอง แล้วเห็นรูปคนทั้งสองกำลังผูกธงที่ปลายยอดไม้ และรูปคนทั้งสองไปนั่งอยู่ใต้ต้นพฤกษา ก็มีพระทัยอันตื้นตัน กลั้นความโศกไว้มิได้ น้ำพระอัสสุชลก็หลั่งไหลคลอคลองพระเนตร ครั้นเห็นรูปที่อยู่ในสำเภาด้วยกันทั้งสอง เมื่อสำเภาแตกพากันขึ้นปลายเสากระโดงโดดลงในคงคา และรูปคนทั้งสองเกาะแผ่นกระดานอยู่ด้วยกันในมหาสมุทร และรูปแผ่นกระดานขาดในท่ามกลาง และรูปคนทั้งสองอันพลัดพรากกันต่างคนต่างไปในชลธาร ที่นั้นพระโพธิสัตว์ก็ทรงพระกรรแสงปริเทวนาการร่ำไห้ ด้วยพระสำเนียงเป็นอันดัง หญิงคนใช้ทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็ความไปบอกพระจีรัปภาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าวันนี้มีพราหมณ์หนุ่มน้อยคนหนึ่งมาดูรูปเขียนที่ฝาผนังศาลา เมื่อแรกดูรูปนั้นมีความรื่นเริงหัวเราะเป็นอันดัง ครั้นดูไป ๆ ก็ร่ำร้องไห้ปริเทวนาการมิได้หยุดเลย ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพราหมณ์นั้นทำกิริยาอาการอันประหลาดดังนี้จึงพากันมาแจ้งความแก่พระแม่เจ้า

พระจีรัปภาได้ทรงฟังดังนั้น ก็เปิดหน้าต่างแลดูไปในศาลาแลเห็นพราหมณ์กำลังนั่งร้องไห้อยู่ พิศแลดูก็จำได้ว่าเป็นภัสดา นางมิอาจที่จะดำรงค์พระองค์อยู่ได้ มีพระอัสสุชลนัยไหลลงโทรมพระพักตรแล้วรีบบทจรโดยด่วนไปสู่สำนักพระภัสดา ซบพระพักตรลงแทบพระบาททั้งสอง ทรงพระโศการำพันพิลาป ด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ แล้วจึงกล่าวพระคาถาว่า

สีตํ เม หทยํ อชฺช สนฺตตฺตํ โสกมคฺคินา
ทิสฺวา หิ สามิกํ เทว วีติโสภา ภวามิ จ

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ดวงกมลจิตของหม่อมฉันอันรุ่มร้อนด้วยเพลิงคือความโศกในกาลก่อนนั้น วันนี้ชื่นบานเย็นระงับมีความโศกอันดับแล้ว ก้าวล่วงความโศกเสียได้เพราะได้เห็นพระองค์ผู้เป็นสามี

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นพระจีรัปภาเทวี ก็ทรงพระกำสรดโศกาด้วยปิยวิปโยค ครั้นส่างโศกแล้วก็ตรัสโลมเล้าเอาพระทัยพระจีรัปภาเทวีด้วยถ้อยคำอันนำมาซึ่งความรักมีประการต่าง ๆ แล้วกษัตริย์ทั้งสองก็พากันประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น

กิตติศัพท์เลื่องลือปรากฏไปแก่ชาวพระนครทั้งหลายทั้งปวงว่านี่แหละพระสุธนุผู้เป็นพระราชโอรสของบรมกษัตริย์ ผู้ผ่านสมบัติในพระนครพาราณสี ชาวพระนครอินทปัตทั้งปวง ก็เอิกเกริกพากันมาสู่ศาลาอุมมาทันตีแวดล้อมองค์พระโพธิสัตว์ ต่างก็ดูพระสิริรูปสมบัติมิได้อิ่มนัยนา

ฝ่ายพระเจ้ามหาปนาทราช ผู้ครองราชสมบัติในพระนครนั้น ก็เสด็จไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์ เชิญให้เสวยราชสมบัติในเมืองนั้น พระโพธิสัตว์ก็ถวายคืนมิได้ทรงรับ แล้วทรงอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นสองสามวันจึงอำลาเศรษฐีเจ้าของบ้าน และอำลาพระเจ้ามหาปนาทราชผู้เป็นเจ้าของพระนคร ตรัสให้โอวาทคำสั่งสอนแก่มหาชนทั้งปวงแล้ว ก็พาพระจีรัปภาเทวีมาขึ้นหลังสินธพอาชาไนย มณีกักขีอัศวราชก็พาเหาะไปโดยอากาศ ตราบเท่าถึงนครพาราณสี

ฝ่ายพระราชเทวีเกศนี ผู้เป็นพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์นั้นจำเดิมแต่วันพระโพธิสัตว์ไปจากพระนคร ก็ทรงพระโศกาดูรเดือดร้อนถึงพระโอรสทุกทิวาราตรีมิได้เว้นวาย เวียนเสด็จไปประทับยืนอยู่ที่ประตูปราสาทเนืองนิจ คอยดูพระโอรสว่าจะมาสู่ราชธานีในเวลาใด

ฝ่ายพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นมาถึงพระนครของพระองค์ ก็ชักอัศดรลงจากอากาศ พาพระจีรัปภาเทวีเสด็จเข้าไปสู่ปราสาทพระราชมารดา พากันถวายบังคมเบื้องยุคลบาลพระราชชนนีแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไห้ มีพระทัยอันอัดอั้นด้วยความโศก เพราะวิโยคพลัดพรากจากพระราชมารดา พระราชเทวีเกศนีก็เข้ามากอดพระโอรส แล้วจุมพิตพระเศียรเกล้าทรงพระกรรแสงตรัสรำพันว่า จำเดิมแต่พระโอรสจากอกมารดาไป มารดานี้ก็มีใจอันเตรียมตรอมด้วยความทุกข์ จะนั่งนอนยืนเดินก็ไม่เป็นสุขเฝ้าเสวยแต่อัสสุชล บัดนี้ทุกข์โศกในกมลของมารดาก็ดับศูนย์เพราะได้เห็นพระโอรสอันเป็นที่รัก จำเดิมแต่นี้ไป แม่จะมีแต่ความสุขทุกทิวาราตรีกาล แล้วพระนางเกศนีก็ปรามาสพระปฤษฎางค์ศรีสะใภ้ตรัสถามพระราชโอรสว่า พระนางนี้เป็นพระราชบุตรีของใคร พ่อได้มาแต่ไหนช่างงามนัก สมควรที่จะเป็นคู่อภิเษกให้เป็นเอกอัครนารี พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า พระนางเป็นราชบุตรีพระเจ้าเสตราชบรมกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในเสตนคร แล้วทูลความเบื้องต้นแต่แรกไปถึงจนได้กลับมายังเมืองพาราณสี ให้พระชนนีทรงทราบถี่ถ้วนทุกประการ พระนางเกศนีราชเทวีก็มีพระหฤทัยเบิกบานโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระเสาวณีย์ให้พระโอรสพาพระจีรัปภาไปสู่ปราสาทราชมนเทียรสถาน

ฝ่ายอำมาตย์ราชบริษัททั้งหลาย มีพราหมณ์ปุโรหิตาจารย์เป็นต้น รู้ว่าพระโพธิสัตว์เสด็จกลับมาพระนคร จึงป่าวร้องให้ประชาชนนิกรทั้งหลายมาประชุมพร้อมเพรียงกัน แล้วตั้งการพิธีราชาภิเษก ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า และกองแก้วกองทองเป็นต้น เสร็จแล้วก็เชิญกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ให้สรงสนาน ประดับพระวรกายด้วยเครื่องขัตติยาภิเษกสำหรับกษัตริย์เสร็จแล้ว ก็อภิเษกสองกษัตริย์ให้ครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ แต่นั้นมากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็อยู่ในเมืองพาราณสี โดยสมควรแก่ความสุขสำราญ

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงนางอัญชนวดียักขินี และนางกเรณุวดีผู้ป็นภคินีของพระองค์จึงไปทูลลาพระราชมารดา และบอกพระจีรัปภามเหสีให้อยู่ดูแลพระนคร แล้วเสด็จขึ้นประทับเหนือหลังอัศดรมณีกักขิสินธพ ตรงไปที่อยู่ของฆันตารยักษ์ แล้วตรัสเรียกว่า ดูกรฆันตารยักษ์ เรานี้มีนามกรชื่อสุธนุได้เป็นสามีของนางกัญชนวดีน้องสาวท่าน ท่านจงส่งนางอัญชนวดีผู้เป็นภรรยาของเรามาให้แก่เราเถิด ถ้าท่านไม่ให้ก็ประพฤติผิดธรรม ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้น จึงถามนางอัญชนวดีว่า พระสุธนุเป็นสามีของเจ้าหรือ นางอัญชนวดีก็รับว่า พระสุธนุเป็นสามีของข้าพเจ้าจริง ฆันตารยักษ์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดในใจว่า พระสุธนุนั้นเป็นผู้กล่าวถ้อยคำจริง คิดดังนี้แล้วก็มีความเลื่อมใสรักใคร่ในพระโพธิสัตว์ จึงเข้าไปใกล้พระโพธิสัตว์แล้วมีวาจาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ เชิญท่านมาเถิด เราจะให้น้องสาวของเราแก่ท่าน

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ซึ่งทรงพระดำริว่า บัดนี้ฆันตารยักษ์มีจิตอ่อนลงแล้ว ควรเราจะให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ประการ ถ้าฆันตารยักษ์นั้นตั้งอยู่ในศีล ๕ รักษาให้บริสุทธิ์แล้ว ครั้นสิ้นชีพก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ก็ชักสินธพลงจากอากาศ แล้วไปยังปราสาทนางอัญชนวดีกับฆันตารยักษ์ๆจึงให้ยักษ์บริวารทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ก็พากันทำความเคารพนับถือพระโพธิสัตว์ แล้วมอบนางอัญชนวดีถวาย เมื่อพระโพธิสัตว์จะทรงรับนางอัญชนวดี จึงตรัสแก่มหายักษ์ว่า ดูกรมหายักษ์ แต่ปางก่อนเมื่อท่านเป็นมนุษย์ ได้ประพฤติทุจริต ๓ ประการ คือประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจ จึงได้มาบังเกิดในกำเนิดอันหยาบช้ากล้าแข็ง จำเดิมแต่นี้ไป ท่านอย่าได้มีประมาท อย่าประพฤติทุจริต ๓ ประการ จงตั้งอยู่ในสุจริตทั้ง ๓ และรักษาศีลมีองค์ ๕ คือเว้นจากปาณาติบาต มิได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตให้จำตาย ๑ เว้นจากอทินนาทาน มิได้ลอบลักสิ่งของที่เจ้าของเขามิยอมให้ ๑ เว้นจากกามมิจฉาจาร ไม่ประพฤติผิดในกามคุณ ๑ เว้นจากมุสาวาท ไม่กล่าวคำเท็จ ๑ เว้นจากสุราเมรัย ไม่ดื่มน้ำเมาอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ๑ นี่แหละเรียกว่าศีล ๕

ดูกรมหายักษ์ผู้ที่กระทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตให้จำตายนั้น เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ก็จะไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น ทนทุกขเวทนามีประการต่าง ๆ ครั้นพ้นจากอบายมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีคนผูกอาฆาตจองเวร และจะประกอบด้วยพยาธิป่วยไข้ ทั้งจะมีอายุสั้นพลันตาย คือจะตายในท่ามกลางอายุ มิได้อยู่ไปจนถึงอายุขัย ปาณาติบาตกรรมย่อมให้ผลดังพรรณนามานี้เป็นต้น อนึ่งดูกรมหายักษ์ บุคคลที่ทำอทินนาทาน คือลักทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของมิได้ยอมให้นั้น เมื่อสิ้นชีวิตทำลายขันธ์ ก็ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น ทั้งจะได้รับทุกขเวทนาอันสาหัส ครั้นพ้นจากอบายมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลอันต่ำอันไว้ทรัพย์สมบัติ ถึงจะมีทรัพย์สมบัติก็ไม่ถาวรคงทนเท่าใด จะพินาศด้วยโจรภัย อัคคีภัยเป็นต้น แม้จะมีช้างม้าข้าคนก็คงจะหลบลี้หนีไปไม่อยู่ด้วย จะเกิดวิบัติด้วยเหตุมีประการต่างๆ อทินนาทานกรรมย่อมให้ผลดังพรรณนามาฉะนี้เป็นต้น อนึ่งดูกรมหายักษ์ บุคคลที่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีคบหาทำชู้กับภรรยาผู้อื่นเป็นต้นนั้น เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ ก็ย่อมไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น เสวยทุกขเวทนาอันหยาบช้า ครั้นพ้นจากอบายมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีรูปทรงสัณฐานอันเลวทรามต่ำช้า ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความรักใคร่ของผู้ใด และจะเป็นคนกระเทยและบัณเฑาะก์เป็นต้น ผลของกามมิจฉาจารมีดังนี้เป็นอาทิ ดูกรมหายักษ์ บุคคลที่กล่าวมุสาวาท คือกล่าวคำเท็จ ไม่กล่าวตามความเป็นจริงนั้น เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ก็ย่อมไปเกิดในอบาย มีนรกเป็นต้น ครั้นพ้นจากอบายภูมิมาเกิดเป็นมนุษย์ จะกล่าวถ้อยคำโฝดๆก็ไม่มีผู้ใดนับถือเชื่อฟัง จะมีบุตรธิดาภรรยาหรือผู้คนบ่าวไพร่ก็ว่ายากสอนยาก มิได้เชื่อถ้อยฟังคำ ทั้งมีคนหมิ่นประมาทต่างๆ คือกล่าวหาความที่ไม่จริงเป็นต้น ผลของมุสาวาทมีดังนี้เป็นอาทิ ดูกรมหายักษ์ บุคคลที่เสพสุราเมรัยอันทำจิตให้มัวเมาประมาทนั้น เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ ก็ย่อมไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น ครั้นพ้นจากอบายมาเกิดเป็นมนุษย์ จะมีปัญญาชั่วเลวทราม ทั้งจะเป็นบ้าใบ้กล่าววาจาไม่ชัดเจน จะมีสติอันหลงลืมจำสิ่งใดไม่ได้ ผลกรรมของการเสพสุราเมรัยมีดังนี้เป็นต้น ดูกรมหายักษ์ บุคคลที่กระทำปัญจพิธเวรทั้ง ๕ ย่อมจะได้รับผลอันนำมาซี่งความทุกข์ ดังพรรณนามานี้

ฝ่ายอานิสงส์ของบุคคลที่รักษาศีล ๕ นั้น คือบุคคลผู้ใดมีจิตประกอบไปด้วยเมตตาคุณ เว้นจากปาณาติบาตกรรม มิได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตให้ถึงความตาย เอ็นดูอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ บุคคลผู้นั้นครั้นสิ้นชีวิตินทรีย์ เบื้องหน้าแต่จุติจิตก็ไปบังเกิดในสวรรค์สุคติภพ จะได้เสวยทิพยสุขสิ้นกาลนาน ครั้นจุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในมนุษย์โลก จะมีอายุยืนสิ้นกาลนานตราบเท่าอายุขัย จะมิได้มีบุคคลที่จะอาฆาตจองเวร จะมีแต่ผู้รักใคร่เป็นมิตรเป็นสหาย จักมิได้พลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก จะพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายอันเป็นที่รัก อานิสงส์ของการที่งดเว้นจากอทินนาทานนั้น คือบุคคลใดไม่ถือเอาทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของมิได้ยอมให้ ด้วยไถยจิตนั้นคิดลอบลักฉกชิงเอามาเป็นของตน บุคคลผู้นั้นครั้นสิ้นชีวิตินทรีย์ ก็จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครั้นจุติลงมาบังเกิดในมนุษย์ในชาติในภพใด จะเป็นผู้มั่งคั่งไปด้วยทรัพย์สมบัติ จะนับจะประมาณมิได้ จะไม่พินาศฉิบหายด้วยราชภัยโจรภัยอัคคีภัยและอุทกภัยเป็นต้น ถ้าไม่ปรารถนาจะให้สิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็ไม่สามารถจะนำไปได้ อานิสงส์ของการที่งดเว้นจากอทินนาทานกรรมมีอาทิดังนี้ ดูกรมหายักษ์อานิสงส์ของการที่งดเว้นจากกามมิจฉาจารนั้น คือบุคคลผู้ใดเห็นโทษในกามคุณ มิได้ประพฤติผิดในภรรยาท่านผู้อื่น และสตรีที่เป็นอคมนิยฐานโทษ บุคคลผู้นั้นครั้นสิ้นชีพทำลายขันธ์ ก็ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครั้นจุติลงมาบังเกิดในมนุษย์โลก จะมีรูปทรงสัณฐานอันงาม ควรจะทัศนาดูไม่รู้อิ่มเนตร จะมีสรีระประเทศและผิวพรรณอันผ่องใสดุจสีดอกประทุมชาติจะเป็นที่รักของชนทั้งหลายมีญาติมิตรเป็นต้น อานิสงส์ของการงดเว้นกามมิจฉาจารมีอาทิดังนี้ ดูกรมหายักษ์ ส่วนอานิสงส์ของมุสาวาทวิรัตินั้น คือบุคคลผู้ใดมิได้กล่าวคำเท็จ กล่าวแต่วาจาที่จริงมิได้มุสา จริงอย่างไรก็กล่าวอย่างนั้น บุคคลผู้นั้น ครั้นสิ้นชีวิตินทรีย์ ก็ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครั้นจุติลงมาบังเกิดในมนุษยโลก จะมีกลิ่นปากอันหอมดังกลิ่นเกสรอุบล จะมีชิวหาประสาทอันบริสุทธิ์ จะมีระเบียบฟันอันชิดเสมอดี ดุจแก้ววิเชียรที่บุคคลเจียระไนฉะนั้น จะกล่าวถ้อยคำสิ่งใดย่อมเป็นที่รักเป็นที่เชื่อฟังของชนทั้งหลาย จะมีบุตรธิดาภรรยาอันว่านอนสอนง่าย มิได้ฝ่าฝืนโอวาทคำสั่งสอน อานิสงส์ของมุสาวาทวิรัติมีอาทิดังพรรณนามาฉะนี้ ดูกรฆันตารยักษ์ อานิสงส์ของการที่เว้นจากดื่มสุราเมรัยนั้น คือบุคคลผู้ใดไม่ดื่มกินสุราและเมรัยอันเป็นของเมาเป็นเหตุที่จะให้เกิดความประมาท และให้เกิดสัญญาวิปลาสต่างๆ บุคคลผู้นั้น ครั้นสิ้นชีวิตทำลายขันธ์ ก็จะไปเกิดในสุคติภพโลกสวรรค์ ครั้นจุติลงมาเกิดในมนุษยโลก จะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันอาจตัดเสียซึ่งความสงสัย และมีปรีชาเฉลียวฉลาดในที่ปุจฉาวิสัชนา จะมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีสติตั้งมั่นเป็นอันดี อานิสงส์ที่เว็นจากสุราเมรัยมีอาทิดังนี้ ดูกรฆันตารยักษ์ อานิสงส์ของศีล ๕ มีปาณาติบาตเป็นต้น ที่บุคคลรักษาเป็นอันดี ย่อมเป็นไปเพื่อสุคติปิดอบายทั้ง ๕ ดังพรรณนามาฉะนี้

พระสุธนุโพธิสัตว์ ตรัสเทศนาชี้แจงแสดงอานิสงส์แห่งศีล ๕ ด้วยประการฉะนี้แล้ว เมื่อจะตรัสสรรเสริญศีลให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสคาถาประพันธ์ว่า

สีลํ อาภรณํ เสฏํ สีลํ ปาเถยฺยมุตฺตมํ
สีลํ อปายสฺฉนฺนํ สีลํ พุทฺธานโคจรํ

ความว่า ศีลนี้เป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันประเสริฐ หาเครื่องประดับอื่นจะเสมอมิได้ ศีลนี้เป็นเสบียงอันอุดมอย่างยิ่ง ศีลนี้มีคุณสามารถอาจปิดอบายได้ ศีลนี้เป็นโคจรพิสัยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นประธาน ศีลนี้เป็นสะพานที่จะได้ดำเนินไปสู่พระปรินิพพาน อันเป็นที่ดับเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง

ฆันตารยักษ์ได้ฟังพระธรรมเทศนาแห่งพระโพธิสัตว์ ก็เกิดปสันนาการเลื่อมใสยิ่งนัก จึงกล่าวคำสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงนี้ ชื่อว่าเป็นลาภอันดีของข้าพเจ้า พระองค์ตรัสแสดงธรรมแก่พระเจ้า โดยชี้แจงแสดงให้เห็นคุณและโทษ ให้ข้าพเจ้าปราศจากความสงสัยครั้งนี้ อุปมาดังบุคคลที่ฉลาดชำนาญในมรรคาชี้ทางให้บุคคลที่หลงหนทางฉะนั้น

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงทรมานฆันตารยักษ์ ให้สิ้นพยศอันร้ายกาจอุปมาดังโคอุสุภราชที่ถูกตัดเขาเสีย และอุปมาดังอสรพิษที่ถูกถอนเขี้ยวออกเสียฉะนั้น แล้วตรัสสั่งสอนยักษ์ให้รักษามั่นอยู่ในศีลมีองค์ ๕ เป็นอันดี จึงพานางอัญชนวดียักขินีและนางกเรณุวดี อีกทั้งราชธิดา ๑๒ องค์ กลับมายังเมืองพาราณสี จึงตั้งนางยักขินีอัญชนวดีแสะนางกเรณุวดีและราชธิดาทั้งหลาย ไว้ในที่มีอิสริยยศและบริวารยศแล้ว พระองค์ก็กระทำสักการแก่มณีกักขิสินธพชาติ ด้วยพระราชทรัพย์ประมาณห้าแสน ส่วนพระองค์ก็ทรงเสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมประกอบด้วยสังคหะวัตถุ ๔ ประการ ครั้นสิ้นพระชนมายุสังขารแล้ว ก็ขึ้นไปอุบัติบังเกิดในพรหมโลก อันเป็นสุคติภพ

----------------------------

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมนราสภผู้ศาสดา ทรงนำสุธนุชาดกนี้มาตรัสเทศนาจบลงแล้ว จึงตรัสประชุมชาดกว่า พระยาพรหมทัตในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระสุทโธทนมหาราชในชาตินี้ พระนางเกศนีราชเทวีในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระสีริมหามายาพุทธมารดา พระเจ้าเสตราชในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระมหาโมคคัลลานะ นางปทุมคัพภาราชเทวีในครั้งนั้นกลับชาติมา คือพระมหาปชาบดีโคตมี สมเด็จอมรินทราธิบดีในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระอนุรุทธ์ พระยามหาปนาทราชในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระสาริบุตร พระจีรัปภาราชเทวีในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ นางอุบลวรรณาเถรี มณีกักขิสินธพ ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ ม้ากัณฐกอัศวราช นางอัญชนาดียักขินีในครั้งนั้น กลับชาติมาคือ นางจันทเถรี นางกเรณุวดีในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ นางสุนทรีภิกขุณี ฆันตารยักษ์ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระยามาราธิราช พระสุธนุโพธิสัตว์ในครั้งนั้นสืบขันธ์ประวัติมา คือพระตถาคต ในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงจำชาดกไว้ โดยนัยที่ตถาคตแสดงมานี้แล

จบสุธนุชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ