พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก

สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หนังสือปัญญาสชาดกนี้ คือประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเป็นชาดกไว้ในภาษามคธ เมื่อพุทธศักราชประมาณราวในระหว่าง ๒๐๐๐ ถึง ๒๒๐๐ ปี อันเป็นสมัยเมื่อพระสงฆ์ประเทศนี้พากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีการรู้ภาษามคธแตกฉาน เอาแบบอย่างของพระภิกษุสงฆ์ในลังกาทวีปมาแต่งหนังสือเป็นภาษามคธขึ้นในบ้านเมืองของตน แต่งเป็นอย่างอรรถกถาธรรมาธิบาย เช่นคัมภีร์มงคลทีปนีเป็นต้นบ้าง แต่งเป็นเรื่องศาสนประวัติ เช่นคัมภีร์ชินกาลมาลินีเป็นต้น ตามอย่างเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกาบ้าง แต่งเป็นชาดกเช่นเรื่องปัญญาสชาดกนี้เอาอย่างนิบาตชาดกบ้าง โดยเจตนาจะบำรุงพระศาสนาให้ถาวรและจะให้หนังสือซึ่งแต่งนั้นเป็นหลักฐานมั่นคง ด้วยเป็นภาษาเดียวกับพระไตรปิฎก แต่หนังสือปัญญาสชาดกนี้เห็นจะแต่งในตอนปลายสมัยที่กล่าวมา เพราะความรู้ในภาพามคธดูทรามลงไม่ถึงหนังสือแต่งชั้นก่อน

หนังสือปัญญาสชาดกนี้ต้นฉบับเดิมเป็นคัมภีร์ลาน จำนวน ๕๐ ผูกด้วยกัน เดี๋ยวนี้เห็นจะมีอยู่แต่ในประเทศสยาม กับที่เมืองหลวงพระบางและกรุงกัมพูชา ที่อื่นหามีไม่ มีเรื่องราวปรากฏว่าเคยได้ฉบับไปถึงเมืองพม่าครั้งหนึ่ง พม่าเรียกว่า “เชียงใหม่ปัณณาส” แต่พระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์ใดองค์หนึ่งดำรัสว่าเป็นหนังสือแต่งปลอมพระพุทธวจนะ สั่งให้เผาเสียในเมืองพม่าจึงมิได้มีหนังสือปัญญาสชาดกเหลืออยู่ คำที่ติว่าแต่งปลอมพระพุทธาวจนะนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์นั้นหลงเชื่อว่าหนังสือนิบาตชาดก หรือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า “เรื่องพระเจ้าห้าร้อยห้าสิบชาติ” เป็นพระพุทธวจนะ ซึ่งที่แท้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความจริงเป็นดังที่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวิจารณ์ไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือนิบาตชาดกภาคต้น ซึ่งโปรด ฯ ให้พิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ ว่า เรื่องนิบาตชาดกนั้นคงเป็นนิทานที่เล่ากันในพื้นเมือง มีมาแต่ก่อนพุทธกาลช้านาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทรงยกเอาเรื่องนิทานมาแสดงเป็นอุปมาในพระธรรมเทศนาเนือง ๆ ก็ธรรมดาในเรื่องนิทานย่อมต้องมีตัวดีและตัวชั่ว ตัวดีจะเป็นคนก็ตาม จะเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเรียกว่า “มหาสัตว์” มาเกิดสมมติขึ้นต่อภายหลังพระพุทธกาลว่า มหาสัตว์ในเรื่องชาดกนั้น คือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ครั้นเมื่อมาตบแต่งร้อยกรองพระไตรปิฎกกันในชั้นหลัง ๆ ผู้แต่งประสงค์จะปลูกศรัทธาให้มั่นคงตามความเชื่อถือของตน จึงแต่งประชุมชาดกประหนึ่งว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า มหาสัตว์นั้น ๆ มาเกิดเป็นพระพุทธองค์ และบุคคลหรือสัตว์อื่น ๆ นั้น มาเป็นผู้นั้นผู้นี้ไนปัจจุบันชาติ รูปเรื่องชาดกจึงปรากฏอยู่ในหนังสือนิบาตชาดก เพราะความเป็นดังอธิบายมานี้ ที่พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่เล่านิทานในพื้นเมืองแต่งเป็นชาดก เป็นแต่แต่งตามแบบอย่างหนังสือเก่า ซึ่งพระคันถรจนาจารย์ได้แต่งมาแต่ปางก่อน หาได้ตั้งใจจะหลอกลวงผู้หนึ่งผู้ไดว่าเป็นพุทธวจนะไม่ พระเจ้าแผ่นดินพม่าหากเข้าพระทัยหลงไปเอง

ต้นฉบับหนังสือปัญญาสชาดกที่มีอยู่ในประเทศสยามนี้ไม่มีครบบริบูรณ์ ณ แห่งใด ๆ มาช้านาน แม้หนังสือฉบับหอหลวงซึ่งได้มาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครก็มีไม่ครบบริบูรณ์ กรรมการหอพระสมุด ฯ ได้พยายามสืบหาฉบับที่ขาดมาหลายปี ไปได้ฉบับมาแต่วัดระฆังบ้าง ได้มาแต่วัดอรุณบ้าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มาจากวัดประทุมคงคาอีกตอนหนึ่ง รวบรวมกันเข้าจึงได้ฉบับครบบริบูรณ์ เมื่อใน พ.ศ. ๒๔๖๖ การที่จะจัดพิมพ์หนังสือปัญญาสชาดกเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อยังเสด็จดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้ทรงพระอุตสาหะแปลเรื่องสมุททโฆส อันเป็นนิทานเรื่องต้นปัญญาสชาดกไว้เรื่องหนึ่ง แต่เข้าใจว่าคงจะเป็นเรื่องเมื่อทรงแปลแล้วจึงทราบว่าต้นฉบับหนังสือปัญญาสชาดกที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ บกพร่อง ไม่สามารถจะพิมพ์ให้ตลอดเรื่องได้ในสมัยนั้น จึงได้ทรงยั้งอยู่เพียงนั้น ครั้นมาเริ่มพิมพ์ปัญญาสชาดกจึงได้เอาเรื่องสมุททโฆส ซึ่งกรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้ทรงแปลไว้มาพิมพ์เป็นเรื่องต้น ได้แก้ไขบ้างเล็กน้อย เพิ่มเติมคาถาให้เป็นรูปเดียวกับนิบาตชาดกซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้พิมพ์นั้นเป็นต้น

นิทานในปัญญาสชาดก เป็นนิทานที่ไทยเรารู้กันอยู่ซึมซาบหลายเรื่อง เช่น เรื่องสมุททโฆส เรื่องพระสุธนนางมโนราห์ เรื่องสังข์ทอง เรื่องรถเสน และเรื่องคาวี เป็นต้น

การที่เอาหนังสือปัญญาสชาดกมาแปลพิมพ์ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สอบสวนให้รู้ว่านิทานเหล่านั้นเรื่องเขาเล่ากันมาแต่โบราณเป็นอย่างไร ที่เอามาแต่งเป็นโคลงฉันท์ และบทละคร เอามาแก้ไขเสียอย่างใดบ้าง และให้รู้เรื่องนิทานเก่าแก่ของประเทศนี้ ซึ่งมิได้ปรากฏในที่อื่นอีกหลายเรื่อง จึงเชื่อว่าหนังสือปัญญาสชาดกจะเป็นของที่พอใจนักเรียนทั้งปวง

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ