- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
เย ชนา สุขมิจฺฉนฺตาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต ปสฺเสนทิโกสลรฺโ กินทานํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงพระปรารภกฐินทาน แห่งพระราชาปัสเสนทิโกศลเป็นมูลเหตุ ตรัสธรรมเทศนานี้ว่า มีคำเริ่มว่า เย ชนา สุขมิจฺฉนฺตา กระนี้เป็นอาทิเบื้องต้น อนุสนธิในนิทานวจนะมีดังต่อไปนี้ว่า
คราวเมื่อฤดูฝน พระเจ้าปัสเสนทิโกศลมีรับสั่งให้พนักงานเภรีเอากลองไปตีประกาศป่าวร้องทั่วไปในพระนครว่า ดูกรชาวนครทั้งหลายผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงช่วยกันปฏิบัติพระภิกษุซึ่งจำพรรษาในระหว่างไตรมาส ด้วยจตุปัจจัยตามที่ได้มา ส่วนพระองค์ทรงนิมนต์พระกัจจายนเถระ ให้มาจำพรรษาเป็นประธานแก่พระสงฆ์ในพระอาราม ครั้นสิ้นไตรมาสแล้วพระองค์ทรงซื้อผ้าขาวบริสุทธิ์ผืนหนึ่ง เพื่อจะถวายเป็นผ้ากฐินแล้ว เตรียมเครื่องอุปกรณ์มีเข็มเย็บผ้าเป็นอาทิ และรับสั่งให้จักแจงเครื่องบริโภคมียาคูและภัตรเป็นต้น และให้ปริชนขนเครื่องสักการะมีประทีปธูปและคันธมาลาเป็นอาทิแล้ว นำผ้าผืนนั้นไปยังพระวิหารมอบถวายเป็นกฐินจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระกัจจายนะเป็นประมุข
ขณะนั้น พระภิกษุสงฆ์ประชุมกันเปล่งกรรมวาจา มอบให้พระกัจจายนเถระ เพื่อครองและกราลผ้ากฐิน พระกัจจายนเถระรับผ้านั้นไว้ จึงฉีกและย้อมเสร็จในวันนั้น แล้วทำกัปปพินธุประจุผ้าจีวรเก่า อธิษฐานผ้าใหม่แล้วห่มออกมานั่งอยู่ ณ อลงกตมัญจอาสนะ พระราชากับพระราชบริษัทก็บังเกิดโสมนัสยิ่งนัก
คราวนั้น พระกัจจายนเถระจึงแสดงธรรมแก่พระราชาและมหาชน เมื่อจบธรรมเทศนาลง บริษัททั้งหลายก็ได้บรรลุมรรคผลมีพระโสตาปัตติผลเป็นต้น เว้นแต่พระเจ้าปัสเสนทิโกศลหาบรรลุธรรมวิเศษไม่ มีคำปุจฉาถามว่า เหตุไร พระราชาจึงหาได้อัครธรรมไม่ คำบริหารแก้ว่า พระราชาทรงปรารถนาพระโพธิญาณไว้ เพราะเหตุดังนั้นพระราชาจึงมิได้อัครธรรมคือมรรคผล
คราวนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ประชุมสนทนากัน ณ โรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย โอน่าสรรเสริญจริง ได้ยินว่าพระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงพระราชทานผ้าพระกฐินแก่พระกัจจายนเถระ ราชบริษัททั้งหลายได้ฟังอานิสงส์กฐินแต่พระกัจจายนเถระแล้วได้เป็นโสดาบันบุคคลเป็นอันมาก พอสมเด็จพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงจึงตรัสถาม ทรงทราบความตลอดแล้วจึงดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่ากฐินทานจะได้มีแต่เดี๋ยวนี้ก็หาไม่ ถึงในกาลปางก่อนเมื่อตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ตถาคตได้ชักชวนนายกุฎุมพีผู้หนึ่งให้ถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์ มีองค์พระปทุมมุตรพุทธเจ้าเป็นประธาน ตถาคตจึงได้พระสัพพัญญุตญาณในกาลบัดนี้ แล้วพระชินสีห์เจ้าจึงนำอดีตนิทานมาอ้างดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต หํสวตินคเร อถานนฺทราชา นาม รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วนมนาน พระราชาพระนามว่าอานันทครองราชสมบัติอยู่ในนครหงสาวดี คราวนั้น พระโพธิสัตว์ได้อุบัติในสกุลคนเข็ญใจนามปรากฏว่านรชีว ๆ เป็นผู้เลี้ยงมารดา ในที่ใกล้นครหงสาวดีมีหมู่บ้านอยู่ตำบลหนึ่ง ในหมู่บ้านนั้นมีสกุลอยู่ห้าสกุล ชนในห้าสกุลนั้นมีคนห้าคนเป็นสหายกัน คือ นายช่างทำรถผู้ ๑ นายพรานเนื้อผู้ ๑ นายพรานนกผู้ ๑ นายช่างกัลบกผู้ ๑ นายกุฎุมพีผู้ ๑ ในคนห้าคนนั้น นายกุฎุมพีเป็นผู้มีศรัทธา ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมมุตรสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงบำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น
คราวนั้น พระโพธิสัตว์เที่ยวทำการรับจ้างเขาเลี้ยงชีพเที่ยวไปถึงบ้านตำบลนั้น ได้รับจ้างเฝ้าไร่ข้าวของกุฎุมพีอยู่ที่บ้านนั้น ครั้นกาลนานมาพระโพธิสัตว์จึงตักเตือนนายกุฎุมพีว่า คนมั่งมีทรัพย์เหมือนเช่นตัวท่านนี้ (หาได้ยาก) ทานอันใดที่มีผลมากท่านควรบริจาคทานนั้นไว้ในพระศาสนาของพระปทุมมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า นายกุฎุมพีนั้นจึงถามว่า ทานอะไรจะมีผลมากกว่าทานทั้งปวง พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า ชื่อว่าทานอันบุคคลถวายแก่พระบรมศาสดา นั้นแหละมีผลมากนักหนา กุฎุมพีได้ฟังดังนั้นก็มีจิตโสมนัสหรรษา ใคร่จะถวายผ้ากฐินทาน จึงจัดหาเครื่องสมณบริขารมีฟูกหมอนเป็นอาทิ ซึ่งสมควรแก่พระภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วจึงชักชวนสหายสี่คน เพื่อจะให้ทำกุศลด้วยกัน ในสหายสี่คนนั้น นายช่างกัลบกคนเดียวจึงอนุโมทนากฐินของนายกุฎุมพีโดยเคารพว่า ข้าพเจ้าจะช่วยทำการใช้สอยด้วยกำลังภายในกฐินทานนี้ ฝ่ายสหายอีกสามคนหายินดีในกฐินทานของกุฎุมพีนั้นไม่
เมื่อกุฎุมพีจัดผ้ากฐินกับเครื่องบริขารเสร็จแล้ว จึงพร้อมด้วยนรชีวและบริษัทของตน ช่วยกันขนออกไปยังพระวิหารถวายสมเด็จพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระโลกนาถเจ้าผู้เจริญ ผลแห่งกฐินนี้จักมีอย่างไรบ้าง ขอพระองค์จงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระบาทให้ทราบเถิด สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์กฐินทานแก่กุฎุมพีนั้น จึงตรัสประพันธ์คาถานี้ว่า
เย ชนา สุขมิจฺฉนฺตา | ทตฺวาน กินจีวรํ |
เตปิ ทุกฺขา ปมฺุจเร | เทวามนุสฺเสสุ ปตฺวา |
นรกาทิมฺหิ น ชายนฺติ | กินทานสฺสิทํ ผลํ |
ความว่า บุคคลเหล่าใดปรารถนาหาความสุขนั้น ได้ถวายผ้ากฐินจีวรไว้ บุคคลเหล่านั้นจะพ้นจากความทุกข์ เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมจะถึงความสุขในหมู่เทวดาและมนุษย์ และจะไม่ไปเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น อันนี้เป็นผลแห่งกฐินทาน
นายกุฎุมพีได้สดับฟังอานิสงส์กฐินทาน มีจิตชื่นบานยิ่งนักหนา ฝ่ายว่านรชีว จึงหมอบลงแทบบาทมูลแห่งพระปทุมมุตรสัมพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ตักเตือนกุฎุมพี ให้ได้ทำบุญสำเร็จด้วยกายวาจาใจ ณ กาลบัดนี้ เมื่อจะทำความปรารถนา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
อิมินา ภนฺเต ปฺุเน | ปโพธิโต กินํ เทมิ |
อนาคเต พุทฺโธ โหมิ | ยาว พุทฺธตํ นานุปตฺโต |
มา ทลิทฺโท ภวามหํ |
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญที่ข้าพระองค์ได้ชักนำกุฎุมพีให้ถวายผ้ากฐินนี้ ขอให้ข้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในกาลภายหน้า แม้ข้าพระองค์ยังไม่ไปถึงความเป็นพระพุทธเจ้าตราบใด ชื่อความเข็ญใจอย่าได้มีแก่ข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า พระปทุมมุตรโลกนาถเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ด้วยผลแห่งกฐินทานนี้ ท่านจักเป็นพระสากยมุนีในอนาคตกาลความหวังของท่านจักสำเร็จสมปรารถนาเถิด
ในขณะนั้น มีกุมาริกากุลธิดาผู้หนึ่งและกุมารผู้หนึ่ง ได้สดับพุทธพยากรณ์ความปรารถนาของนรชีวมาณพนั้น พากันปรีดาปราโมหย์กับนรชีวมาณพ นางกุลธิดาจึงเปลื้องผ้าห่มเนื้อสะอาดกับกลุ่มดอกกมุท วางลงแทบบาทมูลแห่งพระปทุมมุตรสัมพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นรชีวมาณพผู้นี้จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในกาลเมื่อใด ขอให้ข้าพระองค์ได้อมตธรรมในสำนักพระพุทธเจ้านั้นในกาลเมื่อนั้น ถ้าว่าข้าพระองค์ยังเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ขอให้พระองค์เป็นภรรยาแห่งนรชีวมาณพร่ำไป และขออย่าให้ข้าพระองค์แคล้วคลาดจากนรชีวเลย พระเจ้าข้า
คราวนั้น กุมารผู้หนึ่งจึงเปลื้องสุวรรณอุณหิส (กรอบหน้าอันทำด้วยทอง) ราคาพันกหาปณะวางลงแทบพุทธบาทมูลบูชาคุณพระผู้มีพระภาค เมื่อจะตั้งความปรารถนา จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
อิมินา ปฺุกมฺเมน | อยํ ภนฺเต ยทา พุทฺโธ |
ตทา ลพฺภึ อคฺคธมฺมํ | ตสฺส เม สํสรโตปิ |
ชาโต ปุตฺโต ภวามหํ | อเนกชาติเย ภว |
ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ด้วยบุญกรรมนี้ นรชีวมาณพผู้นี้ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในกาลเมื่อใด ขอข้าพระองค์ได้อัครธรรมในกาลนั้นเถิด
คราวนั้น มีเศรษฐีผู้หนึ่งถอดแหวนวงหนึ่งราคาพันกหาปณะบูชาพระพุทธเจ้า เมื่อจะตั้งความปรารถนา จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
อิมินา ปฺุเตเชน | อยํ ภนฺเต ยทา พุทฺโธ |
ตสฺส ปิตา อหํ ตทา | สํสาเร มา วิคตา โหตุ |
ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ด้วยอำนาจกุศลผลบุญอันนี้ นรชีวมาณพผู้นี้จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในคราวใด ขอข้าพระองค์ได้เป็นบิดาของพระพุทธเจ้าในคราวนั้น และเมื่อข้าพระองค์ยังท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ขออย่าได้แคล้วคลาดจากนรชีวเลย
ต่อแต่กาลนั้นมา พระโพธิสัตว์ประกอบการค้าขายบ้างและทำการรับจ้างเขาบ้าง จนถึงความมั่งคั่งมีทรัพย์มาก ได้บริจาคมหาทานในพุทธปมุขสงฆ์และวณิพกทั้งหลาย เมื่อสิ้นอายุแล้วได้ไปอุบัติในดุสิตบุรี ฝ่ายกุฎุมพีผู้กฐินทานนั้น ครั้นจุติจากอัตตภาพเป็นมนุษย์แล้ว ได้ไปเกิดเป็นภูมเทวดาอยู่ที่คันธมาทนบรรพต ณ ป่าหิมพานต์ ฝ่ายนายช่างกัลบกนั้น ครั้นทำลายกิริยาตายแล้วได้ไปเกิดในสกุลพาณิช ณ เมืองพาราณสี
นายช่างรถนั้นครั้นจุติจากอัตตภาพเป็นมนุษย์ ได้ไปเกิดเป็นเสือโคร่งอยู่ริมฝั่งน้ำใกล้ทางใหญ่ เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเดินทางมา ปรารถนาจะกินน้ำในที่แห่งนั้น เสือโคร่งก็ตะครุบเอามนุษย์เดินทางกินเป็นอาหาร
ฝ่ายนายพรานเนื้อนั้นจุติจากอัตตภาพเป็นมนุษย์แล้ว ได้ไปเกิดเป็นยักษ์อยู่ที่ต้นไทรใกล้หนทางใหญ่ มนุษย์ทั้งหลายเดินทางมาอาศัยพักระงับร้อนที่โคนต้นไทร ยักษ์นั้นก็จับมนุษย์เหล่านั้นกินเสียสิ้น ฝ่ายนายพรานนกนั้นครั้นทำกาลกิริยาแล้ว ได้ไปเกิดเป็นนกกระไน (นกกระเต็นก็แปล) อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใกล้หนทางสามแจง ณ ราวไพรใกล้ป่าหิมพานต์ ก็ทางสามแจงนั้นคือ ทางหนึ่งแยกไปเมืองพาราณสี หางหนึ่งแยกไปเมืองสุวรรณภูมิ ทางหนึ่งแยกไปคันธมาทนบรรพต
อยู่มากาลวันหนึ่ง นายช่างกัลบกซึ่งไปเกิดในสกุลพาณิชนั้น เมื่อทำการค้าขายอยู่ ได้ตระเตรียมโวหารูปกรณวัตถุเป็นอาทิ เสร็จแล้วจึงดำริว่า เราจักไปดูสินค้าที่เมืองสุวรรณภูมิ ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงออกจากบ้านเดินทางไปหลายคืนหลายวัน จึงบรรลุถึงลำธารนทีซึ่งพยัคฆ์อาศัยอยู่ ฝ่ายพยัคฆ์เห็นพาณิชนั้นแล้ว ก็เผอิญให้มีจิตเมตตากรุณา เพราะเหตุที่ได้เคยเป็นสหายกันมาในชาติก่อน แล้วพยัคฆ์นั้นจึงถามพาณิชว่า ดูกรสหาย ท่านจะไปในประเทศใด ดูกรพยัคฆ์ เราจะไปยังเมืองสุวรรณภูมิ ดูกรสหาย ท่านจงค้างอยู่ที่นี่สักคืนหนึ่งพอสบายกาย ต่อรุ่งเช้าท่านจึงค่อยไป พาณิชนั้นอาศัยอยู่ที่โคนต้นไทรคืนหนึ่ง ส่วนพยัคฆ์นั้นจึงฆ่าเนื้อมาให้พาณิชกินอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงบอกกะพาณิชว่า ทางที่ท่านจะเดินไปข้างหน้า มียักษ์ตนหนึ่งร้ายนักอาศัยอยู่ที่ต้นไทร ยักษ์นั้นจับมนุษย์กินเสียมากมาย ท่านเดินไปถึงที่นั้นท่านอย่าเข้าไปนั่งนอนที่ต้นไทรนั้นเลย พยัคฆ์สั่งแล้วก็ส่งพาณิชนั้นไป
พาณิชนั้นก็เดินไปตามลำดับหนทาง จึงบรรลุถึงต้นไทรซึ่งยักษ์อาศัยอยู่นั้น ยักษ์ได้ลงจากต้นไทรจะไปเที่ยวหาอาหารกิน แต่พอเหลือบเห็นพาณิชก็เผอิญให้มีจิตกรุณา เพราะว่าเคยได้เป็นสหายกันมาในชาติก่อน แล้วถามพาณิชว่า ดูกรสหาย ท่านจะไป ณ ที่ไหน ดูกรท่านยักษ์ เราจักไปเมืองสุวรรณภูมิ ยักษ์นั้นจึงเชื้อเชิญพาณิชให้พักอยู่ที่นั่นสิ้นราตรีหนึ่ง จึงนำผลไม้รสต่างๆ มีขนุนเป็นอาทิให้พาณิชบริโภค เสร็จแล้วจึงบอกมรรคาให้เดินไปว่า ดูกรสหาย ทางข้างหน้าแต่นี้ไป มีนกกระไนอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ใกล้มรรคาสามแพร่ง นกนั้นสำแดงบอกข่าวสาสน์แก่มหาชน ถ้านกนั้นร้องห้ามอยู่หนทางใด ท่านอย่าไปยังทางนั้นเลย
พาณิชนั้นเดินไปตามลำดับจนถึงทางสามแพร่ง หยุดยืนแหงนหน้า คิดว่าทางนี้ก็เป็นทางสามแพร่ง เราจักไปยังเมืองสุวรรณภูมิโดยทางไรดี ทีนั้นนกกระไนเที่ยวไปหาอาหารแล้วกลับจับอยู่ที่ยอดไม้ แลไปเห็นพาณิชก็มีจิตกรุณา เพราะว่าได้เคยเป็นสหายกันในชาติก่อนจึงถามพาณิชว่า ดูกรสหาย ท่านจะไป ณ ที่ใด ดูกรพ่อ เราจักไปเมืองสุวรรณภูมิ นกกระไนจึงปราศรัยเชื้อเชิญให้พาณิชพักอาศัยอยู่คืนหนึ่ง แล้วนำเอาเนื้อที่เหลือเดนสีหราชกินมาให้พาณิชบริโภคอิ่มหนำแล้ว จึงบอกหนทางที่จะไปยังคันธมาทนบรรพตแก่พาณิชว่า ดูกรสหาย ท่านจงเดินไปตามมรรคานี้เถิด
ต่อแต่นั้นพาณิชก็เดินไปตามมรรคาที่นกกระในบอกให้ได้บรรลุถึงคันธมาทนบรรพต ในขณะนั้นภูมิเทวดาเปิดสีหบัญชรแลไปเห็นพาณิชเดินมา ก็ให้มีจิตคิดกรุณา เพราะว่าเคยเป็นสหายกันในชาติก่อน แล้วจึงเรียกพาณิชเข้ามาหาจึงเชื้อเชิญว่า ดูกรสหาย ท่านจงอยู่ที่นี้กับเราด้วยเถิด พาณิชรับคำเทวดาแล้วขึ้นไปยังสุวรรณปราสาทนั่ง ณ บัญญัตตาอาสน์
ภูมิเทวดาระลึกเหตุคือชาติหนหลังได้จึงพูดกับพาณิชว่า ดูกรสหายในชาติปางก่อนเราเกิดเป็นกุฎุมพี ได้ร่วมรักกันเป็นสหายกันห้าคน สหายอีกสามคนหาได้ทำบุญร่วมกับเราด้วยไม่ สหายคนหนึ่งได้เกิดเป็นพยัคฆ์ สหายคนหนึ่งได้เกิดเป็นนกกระไน สหายผู้หนึ่งคือตัวท่าน ได้ทำบุญร่วมกับเราไว้ในครั้งก่อน ตัวเราได้มาเกิดเป็นภูมิเทวดาด้วยผลอานิสงส์แห่งกฐินทาน
ภูมิเทวดาประกาศความเบื้องหลังให้พาณิชฟัง แล้วเชิญให้ยับยั้งอยู่ที่สุวรรณปราสาท พาณิชได้บริโภคทิพยโภชนาหาร อันภูมิเทวดาให้อาศัยอยู่ที่นั่นสิ้นสองสามวันแล้ว ภูมิเทวดาจึงจัดแก้วเจ็ดประการห่มผ้าให้พาณิชแล้วส่งไปให้ถึงเมืองพาราณสี แท้จริง พาณิชนั้นแต่ก่อนเป็นคนจน ต่อแต่นั้นมากลับเป็นคนมีทรัพย์มากกว่ามนุษย์อื่น ๆ มีชื่อเสียงปรากฏทั่วไปในพาราณสีนคร พาณิชนั้นเป็นอุดมบุรุษเพราะผลแห่งกุศลที่ตนได้ทำไว้ แต่มีรูปร่างอันพิกลเพราะตนมิได้รักษาศีลไว้ในชาติก่อน
คราวครั้งนั้น ที่เมืองพาราณสีมีเศรษฐีมั่งมีทรัพย์คนหนึ่ง เศรษฐีนั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่งรูปร่างสวยงาม เป็นที่พอใจรักใคร่ปรารถนาพึงใจของพวกกุมารหนุ่ม ๆ ทั้งหลาย ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาจึงส่งข่าวไปถึงพาณิชให้ไปขอธิดาของตน กำหนดนัดวันคืนในการอาวาหมงคลเสร็จแล้ว จึงทำพาณิชนั้นให้เป็นสามีของเศรษฐีธิดา
เมื่อพาณิชนั้นอยู่กินเป็นสามีภรรยาแล้วมินาน มีกุมารเศรษฐีบุตรประมาณพันคน เป็นผู้ไม่มีศีลและกระด้างด้วยมานะตั้งอยู่ในอำนาจแห่งอวิชชา เป็นผู้ไม่รู้จักบาปบุญคุณและโทษปรึกษากันว่า พวกเราชวนกันไปอยู่ในเรือนเศรษฐีคลุกคลีกับพาณิชคิดเย้ากวนหลอกลวงเศรษฐี ด้วยวาจาพรรณนาถึงภัยต่างๆ ให้เศรษฐีฟัง ปรึกษาตกลงกันแล้วจึงกรูกันไปกล่าวโทษพาณิชในสำนักเศรษฐีว่า แน่ะท่านมหาเศรษฐี พาณิชลูกเขยของท่านผู้นี้เดิมก็เป็นคนจน บัดนี้เป็นคนมั่งมีขึ้นแล้ว การที่พาณิชมั่งมีทรัพย์ขึ้นก็เพราะได้มาทางโจรกรรม พาณิชได้มาอยู่ที่เรือนของท่านก็จะพาทรัพย์สมบัติของท่านให้ฉิบหายไป ท่านจงรู้ตามคำเราจะบอกให้ว่า ทรัพย์สมบัติของท่านยังจักถาวรอยู่ตราบใด เราทั้งหลายจึงพากันนิ่งนานอยู่ช้าไม่ได้ จักพากันปลอบโยนจับเอาพาณิชไปปล่อยเสียในป่าหิมวัน ทรัพย์สมบัติของท่านก็จักตั้งมั่นอยู่ตราบนั้นดังนี้แล
มหาเศรษฐีก็ตระหนกตกใจราวกะว่าหฤทัยจะทำลายไป จึงรับถ้อยคำเศรษฐีกุมารทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจะทำอย่างไรก็ตามใจพวกท่านเถิด เศรษฐีกุมารทั้งหลายพร้อมใจกันแล้ว จึงกรูเข้าจับพาณิชคร่าออกไปปล่อยเสียที่ป่ามหาวันแล้วก็พากันกลับมา เบื้องว่าพาณิชนั้นด้นดั้นไปในพนมไพร อันเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่แรดและพยัคฆ์ทีบีเป็นอาทิ จนตราบเท่าถึงคันธมาทนบรรพต
ในสมัยกาลครั้งนั้น ภูมิเทวดาแลไปตามทิศานุทิศเห็นพาณิชเดินมาก็จำได้ จึงเรียกพาณิชเข้ามาถามว่า ดูกรสหายทรัพย์ทั้งปวงที่เราให้แก่ท่านไปหมดสิ้นแล้วหรือ หรือว่าท่านกลับมาหาเราเพื่อต้องการสิ่งไร พาณิชก็เล่าความแต่ต้นจนปลายให้ภูมิเทวดาฟัง ภูมิเทวดาจึงปลอบพาณิช แล้วพูดว่า ดูกรสหายท่านอย่าคิดร้อนใจไปเลย เราจะทำความสงเคราะห์แก่ท่าน ภูมิเทวดาจึงบอกว่า ดูกรสหาย ต้นทิพยโอสถมีอยู่ต้นหนึ่ง กิ่งเจ็ดกิ่งล้วนเป็นยาทั้งสิ้น ใครได้กินกิ่งกิ่งหนึ่งก็จะกลายเป็นนกยางบินไป ใครกินกิ่งกิ่งหนึ่งจะกลายเป็นวานรไป ใครกินกิ่งกิ่งหนึ่งจะกลายเป็นมนุษย์รูปงาม ใครกินกิ่งกิ่งหนึ่งจะเป็นผู้มีกำลังมาก ใครกินกิ่งกิ่งหนึ่งจะเป็นผู้มีปัญญามาก ใครกินกิ่งกิ่งหนึ่งจะเป็นผู้ไม่มีโรค ภูมิเทวดาบอกดังนี้แล้ว จึงหักกิ่งต้นยามาสองกิ่ง คือกิ่งคนกินเป็นวานรและกิ่งคนกินมีรูปงาม พาณิชก็กลายเป็นผู้มีรูปสวยงามน่าทัศนา ภูมิเทวดาจึงส่งมักกฏสาขายาวคืบหนึ่งให้ พาณิชรับเอาไปไว้แล้วสั่งว่า ดูกรสหาย ชนทั้งหลายเหล่าใดได้กินกิ่งยาท่อนนี้ ชนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นวานรไป ชนเหล่าใดจะทำร้ายท่าน ๆ จงให้ชนเหล่านั้นกินกิ่งยานี้ ชนเหล่านั้นก็จะเป็นวานรไป ทรัพย์สมบัติของเหล่านั้น ก็จะตกเป็นของๆท่านทั้งสิ้น ภูมิเทวดาให้โอวาทแก่พาณิชแล้ว ครั้นถึงเวลาราตรีจึงพาพาณิชเหาะไปและให้นอนอยู่ห้องเรือนเศรษฐีธิดาผู้ภรรยาเดิมของตน
ในขณะนั้น เศรษฐีธิดาตื่นขึ้นพลิกตัวมาถูกกายาสามีของตน ร้องถามว่านี่ใคร พี่เองคือสามีของน้อง สามีถูกเศรษฐีกุมารเอาไปปล่อยเสียกลางป่า ไฉนจึงมาได้เล่า พาณิชหาพูดบอกความประการใดไม่ ต่อรุ่งขึ้นเช้าเศรษฐีธิดาเห็นสามีรูปสวยงามกว่าเก่าก็ดีใจ ไปบอกแก่เศรษฐีบิดาว่าสามีกลับมาได้แล้ว มหาเศรษฐีก็ตกใจรีบไปเรียกกุมารทั้งหลายเหล่านั้นมา กุมารทั้งหลายพร้อมกันนั่งประชุมอยู่ในเรือนเศรษฐี ๆ จึงบอกว่า เดี๋ยวนี้พาณิชลูกเขยของข้าเขามาได้อีกแล้ว เชิญท่านทั้งหลายไปดูพร้อมกัน ณ บัดนี้
กุมารเศรษฐีบุตรทั้งหลาย พร้อมกันไปดูพาณิชบุตรเขยมหาเศรษฐีพากันงวยงงหลงใหลแล้วถามพาณิชว่า แน่ะนาย แต่ก่อนท่านมีรูปร่างอันวิกล บัดนี้มีรูปร่างสวยงามยิ่งนัหนา ท่านได้กินยาอะไรหรือ พาณิชจึงบอกแก่มหาเศรษฐีและกุมารทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายนำเราไปปล่อยไว้ที่ป่าไม้ล้วนต้นยาทั้งนั้น เที่ยวไปหิวอ่อนเข้าแล้วจึงกินรากยาเข้าไปหน่อยหนึ่ง และได้เอาติดตัวมาหน่อยหนึ่ง มหาเศรษฐีและกุมารเศรษฐีจึงอ้อนวอนขอรากยากินบ้าง พาณิชจึงแบ่งรากยาให้มหาเศรษฐีและกุมารเศรษฐีผู้ประทุษฐ์ร้ายเหล่านั้นกินคนละน้อย มหาเศรษฐีและกุมารเศรษฐีกินรากยานั้นแล้ว ก็มีเพศกลับกลายเป็นวานรไปหมดด้วยกัน พาณิชจึงบอกชนเหล่าอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประทุษฐ์ร้าย ให้ช่วยกันจับวานรเหล่านั้นไปปล่อยเสีย มหาชนทั้งปวงก็ช่วยกันจับมัดวานรเหล่านั้นนำไปแก้ปล่อยไว้ที่ห้วงน้ำใกล้ป่ามหาวัน ตั้งแต่คราวนั้นมา พาณิชนั้นก็ได้ทรัพย์สมบัติของกุมารเศรษฐีและมหาเศรษฐีทั้งปวง กลับมั่งมีเป็นมหาเศรษฐี ลาภและยศก็ปรากฏเล่าลือกันต่อไป
ฝ่ายภูมิเทวดาจุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว ก็ได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในดาวดึงสพิภพ เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงประกาศบุพพกุศลของตนว่า คราวหนึ่งเราเกิดเป็นกุฎุมพีผู้มีทรัพย์อยู่ ณ เมืองพาราณสี ได้ถวายผ้าพระกฐินจีวร (แก่พระปทุมมุตรสัมพุทธเจ้า) เราจุติจากอัตตภาพเป็นมนุษย์แล้ว ได้เกิดเป็นภูมิเทวดามีศักดาเดชอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์ เสวยทิพยสมบัติอยู่นาน ครั้นจุติจากอัตตภาพเป็นภูมิเทวดาแล้ว ได้เกิดเป็นสักกเทวราชผู้มเหศราธิบดีแห่งเทวดาทั้งหลาย ครั้นจุติจากอัตตภาพแห่งสักกเทวราชแล้ว จักเกิดเป็นจักรพรรดิมีกำลังเดชานุภาพมากในทวีปทั้งสี่และจักเสวยมนุษย์และเทวสมบัติสิ้นแสนกัลป ด้วยอำนาจผลแห่งกฐินทาน ด้วยประการฉะนี้
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประชุมชาดกว่า นายช่างกัลบกในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระฉันนเถระ กุฎุมพีทานทายกในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ พระนาคเถระ เศรษฐีผู้บริจาคแหวนทำสักการบูชาในกาลนั้นกลับชาติมา คือ พระสุทโธทน กุมารผู้บริจาคอุณหิสทำบูชาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระราหุล นางกุลธิดาผู้บริจาคผ้าทำบูชาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระยโสธรา บริษัททั้งหลายอื่นในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พุทธบริษัท นรชีวในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระโลกนาถตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้