- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๔๗. รถเสนชาดก
ในรถเสนชาดกนี้ ไม่มีคำปรารภเริ่มความเบื้องต้น และไม่มีเรื่องความที่เป็นปัจจุบัน มีแต่กล่าวเรื่องเป็นส่วนอดีตดังจะกล่าวต่อไปนี้ว่า
เอกสฺมึ กิร สมเย พุทฺธกสฺสปสฺส สาสเนเยว เอโก นนฺโท นาม เสฏฺี สมิทฺธคามวาสี มหทฺธโน มหาโภโค อโหสิ ฯ
ดังได้ยินมาสมัยกาลครั้งหนึ่ง ครั้งศาสนาของพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่านนท์ อยู่ในบ้านสมิทธคามเป็นคนมีทรัพย์สมบัติมาก หาบุตรและธิดาบมิได้
นนทเศรษฐี ถือเอากล้วยสิบสองผลทูนศีรษะตนไปมาในพระอารามประสงค์จะถวายพระพุทธเจ้า แต่รำพึงในใจว่าเราจะกระทำพุทธบูชาพระกัสสปสัมพุทธเจ้า เราจะกระทำความปรารถนาให้ได้บุตรไปในอนาคตกาล เราจะได้บุตรและธิดาเป็นอันมาก ครั้นไปถึงพระอารามแล้วก็ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ยกกล้วยสิบสองผลขึ้นเชิดชูถวาย พระพุทธกัสสปแล้วกระทำความปรารถนาตามที่ตนคิดไว้นั้นแล้ว ถวายนมัสการลากลับไปสู่เคหา บอกเนื้อความนั้นแก่ภรรยาตนแล้วมีความดีใจเป็นอันมาก อยู่มาภายหลังภรรยาเศรษฐีก็ตั้งครรภ์ แต่ตั้งครรภ์เรื่อย ๆ มาในไม่ช้านักก็คลอดธิดาได้ถึงสิบสองคน ในกาลเมื่อธิดาเหล่านั้นยังเป็นเด็กเที่ยวไปเล่นไป จนภายหลังทรัพย์สมบัติมีทองและเงินเป็นต้นในเรือนของเศรษฐีก็ย่อยยับไป ทาสีทาสาก็พากันล้มตายไป นนทเศรษฐีกับภรรยาก็กลายเป็นคนยากจนเข็ญใจไป เศรษฐียังต้องหาข้าวต้มและข้าวสวยมาเลี้ยงธิดาอีก อาหารมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นก็หมดเปลืองไป ด้วยเหตุนี้เศรษฐีโกรธจึงพาเอาธิดาทั้งสิบสองคนใส่เกวียนแล้วขับเกวียนไปปล่อยเสียในป่า แล้วก็ขับเกวียนกลับมายังเคหสถานของตน
ในกาลปางก่อน นนทเศรษฐีได้ถือเอาทรัพย์สมบัติมีทองและเงินเป็นต้นของธิดาเหล่านั้นในเวลาบริโภคอาหาร แล้วเศรษฐีไม่ได้ให้ด้วยเหตุนั้นวิบากของกรรมเก่าจึงได้ติดตามมา เพราะเหตุนั้นเศรษฐีจึงได้เป็นคนอนาถา ถูกธิดาสิบสองคนบีบคั้น กรรมที่เป็นบาป เป็นผลของเวรมีในภายหลังเป็นแท้
เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา | อุปปาทวยธมฺมิโน |
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ | เตสํ วูปสโม สุโข |
กมฺมสฺสโก กมฺมทายาโท | ยํ ยํ กมฺมํ อกาหสิ |
แปลว่า สังขารทั้งหลายเป็นสภาพธรรมหาความเที่ยงแท้มิได้หนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นเข้าถึงความสงบระงับดับสูญไปเสียได้เป็นความสุข
บุคคลได้กระทำกรรมอะไร ๆ ไว้แล้ว ย่อมมีกรรมนั้น ๆ เป็นของ ๆ ตน เป็นผู้จะต้องได้รับมรดก คือผลของกรรมนั้น ๆ
ในกาลนั้น นางทั้งสิบสองคนเที่ยวค้นหาบิดาอยู่ในป่า ไม่ช้านักก็ไปถึงสวนของสันธมารยักขินี เวลานั้นนางสันธมารยักขินีเข้าไปในสวนได้เห็นนางสิบสองคนแล้วก็มีจิตรักใคร่พาไปเลี้ยงไว้เหมือนน้องหมดทั้งสิบสองคน
คราวหนึ่งนางที่เป็นพี่คนใหญ่ ได้เห็นนางสันธมารยักขินีกินเนื้อมนุษย์ จึงบอกน้องทั้งปวงว่า พวกเราพากันมาอยู่ในสำนักของนางยักขินี
นางน้องทั้งปวงได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็คิดกลัวพากันหนีไปทั้งสิบสองคน ภายหลังนางสันธมารยักขินีเข้าไปในสวนไม่เห็นนางสิบสองคนก็เที่ยวติดตามไป นางสิบสองคนไปไม่สู้ไกลนักก็เข้าไปเสียในท้องช้าง
นางสันธมารยักขินีไม่เห็นนางเหล่านั้นแล้ว จึงถามช้างว่า ดูกรช้างเจ้าได้เห็นนางสิบสองคนมาทางนี้บ้างหรือไม่ ช้างตอบว่าเราไม่เห็น นางสันธมารยักขินีก็กลับไป นางสิบสองคนออกจากท้องช้างแล้ว นางสันธมารยักขินีก็ตามมาอีก นางทั้งสิบสองคนก็เข้าไปในท้องม้า นางสันธมารยักขินีไม่เห็นแล้ว จึงถามม้าว่า ดูกรม้า เจ้าเห็นนางสิบสองคนบ้างหรือไม่ ม้าตอบว่าไม่เห็น นางสันธมารยักขินีก็กลับไป นางสิบสองคนออกจากท้องม้าแล้ว นางสันธมารยักขินีก็ตามมาอีก นางทั้งสิบสองคนก็เข้าไปในห้องโค นางสันธมารยักขินีจึงถามโคว่า ดูกรโคเจ้าเห็นนางสิบสองคนบ้างหรือไม่ โคตอบว่าไม่เห็น นางสันธมารยักขินีก็กลับไปยังสวน
ดังได้ยินมาว่า ในกาลปางก่อนนางสิบสองคนเป็นเด็กกำลังเล่นอยู่ ได้เอาลูกสุนัขเล็กๆ ไปทิ้งเสียในป่าสิบสองตัว กรรมที่เป็นบาปนี้ได้ให้ผลแก่นางสิบสองคนถึงห้าร้อยชาติ ด้วยกรรมเป็นบาปนั้น นางสิบสองคนจึงได้เที่ยวไปในประเทศนั้นโดยลำดับจนถึงกุตารนคร มีต้นไทรต้นหนึ่งอยู่ที่ริมฝั่งสระของพระนคร นางสิบสองคนได้เห็นต้นไทรแล้วก็พากันขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นไทร
เวลานั้น พระเจ้ารถสิทธราชครองราชย์สมบัติอยู่ในกุตารนคร ได้พระราชทานหม้อน้ำทองแก่นางค่อมทาสีคนหนึ่งสำหรับตักน้ำสรงมาถวาย นางค่อมทาสีถือหม้อน้ำทองไปถึงสระนั้นแล้ว ได้เห็นฉายรัศมีของนางสิบสองคนส่องสว่างมาถึงตนนาง ๆ เห็นน้ำเป็นเสมือนแสงทอง จึงคิดในใจว่าเราก็สวยงามจะมาตักน้ำต้องการอะไร นางเกิดความโกรธทุบหม้อน้ำทองเสีย ครั้นหม้อทองแตกแล้วนางค่อมหาสีก็กลับมา พระเจ้ารถสิทธราชไม่เห็นหม้อนำทองแล้ว จึงพระราชทานหม้อน้ำเงินแก่นางค่อม ๆ ถือหม้อน้ำเงินไปเห็นอาการอย่างนั้น ก็เกิดความโกรธทุบหม้อน้ำเงินแล้วก็กลับมา พระเจ้ารถสิทธราชไม่เห็นหม้อน้ำเงิน จึงโปรดพระราชทานหม้อน้ำทำด้วยหนัง นางถือหม้อน้ำหนังไปถึงสระน้ำอีกเห็นอาการอย่างนั้นก็เกิดความโกรธทุบหม้อหนังเสียอย่างนั้นอีก หม้อน้ำทำด้วยหนังนั้นไม่แตก นางค่อมทาสีต้องตักน้ำเดินกลับไปกลับมา นางสิบสองคนจึงหัวเราะตบมือขึ้น นางทาสีได้ยินเสียงตบมือจึงแลดูไปได้เห็นนางสิบสองคนบนต้นไม้มีรัศมีงดงาม จึงรีบมากราบทูลพระเจ้ารถสิทธราชว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระบาทได้เห็นนางฟ้าอยู่บนต้นไทรพระเจ้าข้า
พระเจ้ารถสิทธราชได้สดับดังนั้น ก็เสด็จออกจากพระนครด้วยจตุรงคเสนา ทอดพระเนตรเห็นนางสิบสองคนเหล่านั้นแล้วมีพระทัยยินดีเป็นอันมาก จึงตรัสเรียก นางสิบสองคนเหล่านั้นได้ฟังตรัสเรียกดังนั้นก็พากันลงมาจากต้นไทรถวายบังคมแล้วก็ยืนอยู่
พระเจ้ารถสิทธราชโปรดให้นางสิบสองคนนั้นนั่งบนพระวอ แล้วให้ประโคมเภรีดุริยางค์ดนตรีฟ้อนรำขับร้อง รับขึ้นไปยังปราสาท ตั้งไว้ในที่เป็นอัครมเหสีเป็นที่รักโปรดปรานของพระองค์ทั้งสิบสองนาง อยู่มาภายหลังนางสันธมารยักขินีได้ทราบว่านางสิบสองคนได้เป็นมเหสีของพระเจ้ารถสิทธ จึงออกจากคชปุรนครรีบไปถึงกุตารนคร เห็นต้นไทรริมฝั่งสระก็ขึ้นนั่งบนต้นไทร มีรูปร่างสวยงามดังพระจันทร์เต็มดวงฉะนั้น
เวลานั้นนางค่อมทาสีของพระเจ้ารถสิทธ ไปตักน้ำสรงยังสระนั้น ได้เห็นน้ำงามไปด้วยฉายแสงรัศมีของนางสันธมาร แลขึ้นไปข้างบนเห็นนางงามอย่างสูงสุด จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้ารถสิทธให้ทรงทราบว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มีนางงามดุจนางเทพอัปสรสถิตอยู่บนต้นนิโครธพระเจ้าข้า
พระเจ้ารถสิทธได้สดับดังนั้น ก็พาบริวารทั้งปวงกับทั้งจตุรงคเสนาออกจากพระนครเสด็จไป ได้เห็นนางสันธมารก็มีพระทัยยินดี เมื่อจะเรียกนางสันธมาร จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
อุฏฺเหิ สิโอตเรยฺยา | อนาถา รุกฺขโต อิธ |
เทวกฺา เม อสมา | สุวณฺณรูปพิมฺพา ยถา |
แปลว่า ดูกรนางเทพกัญญาของพี่ ดุจรูปทองที่นายช่างมาพิมพ์ไว้หาผู้ใดจะเสมอเหมือนมิได้ เจ้าจงลุกขึ้นลงมาจากต้นไทรเถิด เจ้าจะนั่งอยู่บนต้นไทรนี้ก็จะหาที่พึ่งบ่มิได้
นางสันธมารได้ฟังพระเจ้ารถสิทธตรัสเรียกดังนั้น ก็ลงจากต้นไทรถวายบังคมพระเจ้ารถสิทธแล้ว พระเจ้ารถสิทธก็ให้นั่งบนพระวอทองพาไปให้อยู่ท่ามกลางปราสาท ตั้งให้เป็นอัครมเหสีผู้ใหญ่
นางสันธมารนั้นเป็นที่รักที่เอิบอิ่มพระทัยของพระองค์เป็นอันมาก แท้จริงนางสันธมารนั้น มีรูปงดงามอุดมกว่าอัครมเหสีเดิมของพระเจ้ารถสิทธทั้งสิบสองนาง เป็นวิบากกรรมเก่าของนางสิบสองมาถึงเข้าแล้ว
ครั้งนางสันธมารแกล้งทำทุกขเวทนานอนเหมือนคนไข้ คนทั้งหลายจึงกราบทูลความนั้นแก่พระเจ้ารถสิทธว่า นางสันธมารเป็นไข้ นางสันธมารก็ทำเป็นทุกข์โทมนัส
พระเจ้ารถสิทธก็รีบเสด็จไปบรรทมในที่สิริไสยาสน์ของนาง แล้วตรัสถามว่าเราจะทำประการใด จึงตรัสให้เรียกพราหมณ์และโหรเข้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงเชิญเทพดาที่ศักดิ์สิทธิ์ให้มารักษา จงประกอบโอสถและเวทมนต์รักษา จงให้พราหมณ์และโหรรับรักษา
นางสันธมารทำเป็นถูกความทุกข์โทมนัสเบียดเบียนอยู่เนือง ๆ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า เวลานี้ข้าพระบาทอันความทุกข์ครอบงำเหลือเกิน ถ้าโปรดเกล้าให้ควักลูกตานางสิบสองเสีย จะเป็นที่สบายอารมณ์เป็นอันมาก
พระเจ้ารถสิทธได้ฟังดังนั้น จึงตรัสให้หานางสิบสองมาเฝ้า แล้วบังคับให้นั่งเรียงลำดับกันตามคำของนางสันธมาร
เวลานั้นนางสันธมารลุกขึ้นจากที่นอน ควักลูกตานางสิบสองแล้วโลหิตกำลังหลั่งไหลอยู่ ก็ส่งลูกตานั้นให้แก่กองลมสั่งว่า กองลมเจ้าจงส่งไปให้นางกังรีธิดาของเรา แล้วนางสันธมารก็เกิดปรีดาปราโมทย์รับประทานอาหารสบายใจ
ครั้งนั้น พระเจ้ารถสิทธเมื่อไม่ได้เห็นนางสิบสองแล้วก็เสวยทุกขเวทนาไม่เป็นที่สบายพระทัย
นางสิบสองคนได้เสวยทุกขเวทนา อันเป็นผลกรรมที่ตนทำไว้แต่อดีตกาล
นางผู้พี่สิบเอ็ดคนได้ความลำบากเป็นอันมาก แต่นางน้องสุดท้องยังแลเห็นอยู่ด้วยตาข้างหนึ่ง นางเจริญภาวนาสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาใช่ตัวใช่ตน
อยู่มาไม่ช้านางพี่สาวสิบเอ็ดคนก็ตั้งครรภ์ แต่นางสุดท้องยังหาตั้งครรภ์ไม่
ในขณะนั้น พิภพท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการให้เร่าร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงระลึกทราบเหตุนั้นแล้วจึงทรงรำพึงว่า นางสิบสองเกิดความลำบากหาที่พึ่งมิได้แล้ว อย่ากระนั้นเลยเราจะให้บุตรแก่นางน้องคนเล็กอันหาที่พึ่งมิได้ แล้วทรงพิจารณาหาบุตรซึ่งสมควรแก่นางนั้น ได้เห็นพระโพธิสัตว์เจ้ามีพระชนมายุจะสิ้นอยู่แล้ว ปรารถนาจะไปเกิดยังเทวโลกสูงขึ้นไป จึงเสด็จไปยังสำนักพระโพธิสัตว์เจ้าตรัสบอกว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ท่านควรจะไปเกิดยังมนุษยโลก
พระมหาสัตว์เจ้าได้สดับดังนั้นจึงกล่าวว่า การที่หม่อมฉันจะไปเกิดยังมนุษยโลกนั้นจะมีอานิสงส์เพียงใด
ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ท่านจะได้ไปสร้างบารมี จะได้เป็นที่พึ่งแก่มหาชน
พระมหาสัตว์เจ้าจึงรับอาราธนาของท้าวสักกเทวราชว่า การที่หม่อมฉันไปเกิดในมนุษยโลกมีอานิสงส์ คือจะได้สร้างพระบารมี จะได้เป็นที่พึ่งแก่มหาชนนั้นเป็นการทำประโยชน์ให้สำเร็จดีแล้ว
ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าก็จุติจากเทวโลกลงมาถือเอาปฏิสนธิในกุจฉิประเทศของนางน้องสุดท้อง
พระเจ้ารถสิทธสั่งให้อำมาตย์ขุดอุโมงค์ จับเอานางสิบสองไว้ในอุโมงค์ แล้วให้ปิดอุโมงค์เสีย
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าจำเดิมแต่พระองค์เกิดมา ก็ได้บรรเทาความทุกข์ของนางสิบสองให้เบาบางลง
ดังได้สดับมาในกาลปางก่อน นางทั้งสิบสองคนนี้เป็นทารกเล่นอยู่ริมฝั่งน้ำ จับปลาได้สิบสองตัวเอาไปวางไว้บนบก นางน้องเล็กแทงนัยน์ตาปลาตัวหนึ่งแต่ข้างหนึ่ง ส่วนนางผู้พี่สิบเอ็ดคนแทงนัยน์ตาปลาสิบเอ็ดตัวทั้งสองข้าง ไม่เล่นแล้วก็ปล่อยไป ด้วยกรรมวิบากของนางสิบสองนั้น นางสันธมารยักขินีจึงได้ควักลูกตานางสิบเอ็ดคนทั้งสองข้าง ควักลูกตานางน้องสุดท้องแต่ข้างเดียว กรรมที่เป็นบาปของนางสิบสองนั้นติดตามมาไม่ปล่อยวางเลย
ครั้งนั้น ครั้นเมื่อครรภ์ถ้วนทศมาส นางสิบเอ็ดคนก็คลอดบุตร อาหารที่จะรับประทานก็ไม่มี นางเหล่านั้นจึงฉีกเนื้อบุตรแบ่งกันกิน นางเหล่านั้นกินเนื้อบุตรเลี้ยงตนมาทุกวัน ๆ เหมือนนางยักษ์
อยู่มาภายหลัง นางน้องสุดท้องครั้นเมื่อครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว ก็คลอดพระมหาสัตว์มีรูปทรงเปล่งปลั่งดังสีทอง นางเหล่านั้นจึงตั้งนามกรว่ารถเสนกุมาร
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงถามมารดาว่า ข้าแต่แม่สถานที่นี้เป็นอะไร
มารดาจึงบอกว่า ดูกรพ่อสถานที่นี้เป็นอุโมงค์ พระเจ้ารถสิทธให้ขุดไว้ให้แม่กับญาติของเจ้าเข้ามาอยู่ในอุโมงค์นี้
พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังคำมารดาแล้ว มีหทัยหวั่นไหวเกิดความทุกข์รำพึงว่า มารดากับญาติของเราเป็นคนอนาถา เป็นคนกำพร้าได้ความลำบากนัก
พระสัพพัญญุตญาณก็ส่องสว่างไปด้วยพระรัศมีทั่วทั้งอุโมงค์ ดุจรัศมีพระอาทิตย์ด้วยกำลังอธิษฐานบารมีของพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์เจ้าได้เห็นแล้วก็บังเกิดความโสมนัส เทพยดาที่รักษาประตูอุโมงค์ก็เปิดประตูอุโมงค์ไว้
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้าขึ้นไปเบื้องบนประตูอุโมงค์ เมื่อจะกระทำการอธิษฐาน จึงแลขึ้นไปบนอากาศคล่าวคาถาว่า
ปตฺถนํ เม ปริปุณฺณํ | เทวราชา อทาสิ มํ |
เทวินฺโท วตฺเถ คเหตฺวาน | สาธุการํ ปวตฺตยิ |
แปลว่า ความปรารถนาของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ขอให้ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทพยดาถือนำเอาผ้ามาให้เราแล้วกระทำสาธุการเถิด
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชแลลงมาด้วยนัยน์เนตรทั้งพันดวงทรงทราบว่าเวลาพระโพธิสัตว์เจ้าไปบังเกิดในมนุษยโลกแล้ว ก็ถือเอาเครื่องประดับและผ้ามีสีอันงามและพวงมาลัยทิพย์ และเครื่องรัดองค์มากระทำสาธุการแล้ว สอนให้รู้อุบายเล่นการพนันต่าง ๆ
พระโพธิสัตว์เจ้า รับเอาเครื่องประดับและผ้าทิพย์ไว้แล้วก็ลงไปยังอุโมงค์ ไหว้มารดาแล้วถูกมารดาซักถาม จึงซบศีรษะลงแทบเท้ามารดากล่าวคาถากึ่งคาถาว่า
มยํ อุโภ ปวสฺสาม | กึ เอกํ กํ กโรสิ มํ |
แปลว่า ฉันกับแม่ก็อยู่ด้วยกันสองคนเท่านี้ ไฉนแม่มาทำฉันให้เป็นใครไปอีกคนหนึ่งเล่า มารดาตอบว่า พ่อลูกรักดุจดวงหทัยของแม่
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เจ้าไหว้ลามารดาแล้ว ออกจากอุโมงค์แลดูไปทั่วทิศได้เห็นบรรณศาลามีมนุษย์เล่นอยู่ จึงเข้าไปใกล้เห็นเป็นกุฎุมพีเล่นอยู่ กุฎุมพีเหล่านั้นเป็นพวกเลี้ยงโคได้เห็นพระมหาสัตว์แล้วก็ชวนให้เล่นด้วยกัน พระมหาสัตว์ถามว่า ข้าแต่พี่เราจะเล่นที่ไหน พวกกุฎุมพีบอกว่าพ่อจงไปที่สนามชนไก่ แล้วก็พาพระมหาสัตว์ไปที่สนามชนไก่
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงกล่าวว่า ถ้าข้าแพ้พี่ทั้งหลายข้าจะให้ทองและแก้ว ถ้าพี่ทั้งหลายแพ้จงให้ห่อข้าวแก่ข้าสิบสองห่อ
พวกเลี้ยงโคจึงพาพระมหาสัตว์ไปยังสนามที่ชนไก่ เล่นชนไก่กันแพ้พระมหาสัตว์หลายครั้ง จึงให้ห่อข้าวแก่พระมหาสัตว์สิบสองห่อ
พระมหาสัตว์เจ้าเปรียบเหมือนโคอุสุภราชใหญ่ ถือเอาห่อข้าวสิบสองห่อลงไปยังอุโมงค์ไปหามารดา ไหว้มารดาแล้วก็ทูนห่อข้าวไว้บนศีรษะ กล่าวคาถานี้ว่า
อมฺม มํ อนุกมฺปาย | ภตฺตํ อาทาย ภฺุชหิ |
มาตา เม าตกาโย จ | ภตฺตปูฏํ ปริภฺุชถ |
แปลว่า ข้าแต่แม่ แม่จงอนุเคราะห์ข้าพเจ้ารับเอาห่อข้าวไปรับประทานเถิด แม่ด้วยหมู่ญาติทั้งหลายด้วยจงรับห่อข้าวของข้าพเจ้าไปรับประทานเถิด
พระมหาสัตว์เจ้าปฏิบัติมารดา มารดารับประทานอาหารแล้วก็บ่นรำพันไป ญาติทั้งหลายได้รับประทานอาหารแล้วถึงเวลาราตรีก็พากันเป็นสุขสบายใจ
ครั้งนั้นมารดาจุมพิตศีรษะบุตรแล้วลูบหลังกล่าวว่า ดูกรพ่อเจ้าผู้เดียวเท่านั้นแหละ จงช่วยแก้ไขให้แม่กับหมู่ญาติพ้นจากความลำบากด้วยเถิด
ลำดับนั้น รถเสนกุมารเมื่อจะแสดงธรรมให้มารดาฟัง จึงกล่าวคาถาว่า
อหํ อมฺม เทเสมิ ธมฺมํ โว | ธมฺมํ สุณนฺตุ าตกา |
นตฺถิ ธมฺมสมํ สุขํ | นตฺถิ ธมฺมสมํ นิธิ |
นตฺถิ ธมฺมสโม โลโก | สุขา ธมฺมํ คจฺฉนฺติ สตฺตวรํ |
แปลว่า ข้าแต่แม่ฉันจะสำแดงธรรมให้แม่ฟัง ญาติทั้งหลายจงพากันฟังธรรม ความสุขที่จะเสมอเหมือนด้วยธรรมไม่มี ขุมทรัพย์ที่จะเสมอเหมือนด้วยธรรมไม่มี โลกที่จะเสมอเหมือนด้วยธรรมไม่มี สัตว์โลกทั้งหลายที่ได้เสวยความสุขสบาย ย่อมถึงคือรักษาไว้ซึ่งธรรมอันประเสริฐของสัตว์
เมื่อรถเสนกุมารสำแดงธรรมให้เจริญภาวนาแล้วพรรณนาถึงพระพุทธคุณเป็นอันมาก
บรรดาญาติทั้งหลายกับมารดาได้ฟังธรรมแล้ว มีจิตปราโมทย์ พากันซ้องเสียงสาธุการด้วยสำเนียงแสดงความเคารพในธรรม พระมหาสัตว์จึงถามมารดาว่า ข้าแต่แม่ บิดาของฉันชื่ออะไร มารดาตอบว่า บิดาของเจ้าชื่อพระเจ้ารถสิทธราช รถเสนกุมารพิจารณาดูกรรมวิบากของญาติทั้งหลายแล้ว จึงลามารดาไปหาพวกเลี้ยงโคเล่นชนไก่ได้ความชนะจนปรากฏทั่วไป
พระเจ้ารถสิทธได้ยินลือจึงใช้ราชบุรุษให้ไปหาตัวเข้าไปเฝ้า อำมาตย์ทั้งหลายก็รีบพากันออกไปหารถเสนกุมารเข้าไปเฝ้า รถเสนกุมารไปเฝ้าถวายบังคมบรมกษัตริย์แล้ว กระทำสิงหนาทดุจพระยาราชสีห์
พระเจ้ารถสิทธจึงตรัสว่า ดูกรพ่อกุมารเจ้าจงเล่นสกากับเรา พระมหาสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระบาทแพ้จะถวายตัวแก่พระองค์ พระองค์เล่นแพ้จงพระราชทานห่อข้าวแก่ข้าพระบาทสิบสองห่อ
พระเจ้ารถสิทธได้สดับแล้ว ก็ทรงเล่นสกากับรถเสนกุมาร เล่นครั้งแรกก็แพ้ ครั้งที่สองก็แพ้ จึงพระราชทานห่อข้าวให้แก่รถเสนกุมารสิบสองห่อ ทำกุมารให้เสมอกับพระองค์
รถเสนกุมารถวายบังคมลาบรมกษัตริย์ แล้วก็ไปหามารดา ไหว้มารดาแล้วกล่าวคาถาว่า
อหํ ปุตฺโต รฺา กิลิตฺวา | ทฺวาทสภตฺตานิ ลภึ |
มธุรสโภชนา ลทฺธา | ภตฺตํ อาทาย ภฺุชหิ |
แปลว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นบุตรไปเล่นสกากับบรมกษัตริย์ได้ข้าวมาสิบสองห่อ ข้าวที่ได้มานี้เป็นโภขนาหารมีรสอร่อย แม่จงรับเอาเข้าไปรับประทานเถิด
ครั้นรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง พระเจ้ารถสิทธทรงระลึกถึงรถเสนกุมาร จึงให้หาอำมาตย์มาสั่งว่า ดูกรพณายเจ้าจงไปพากุมารมาหาเรา อำมาตย์ทั้งหลายก็กระทำตามรับสั่ง พระมหาสัตว์เจ้าไหว้ลามารดาไปเฝ้าบรมกษัตริย์สำแดงตนอยู่ที่หน้าพระลาน
บรมกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นรถเสนกุมารแล้วจึงตรัสเรียก แล้วตรัสว่า ดูกรพ่อกุมาร วันนี้เจ้าจงขึ้นมาบนปราสาทเถิด รถเสนกุมารได้ยินแล้วก็ขึ้นไปบนปราสาท
พระเจ้ารถสิทธได้เห็นกุมารรูปงามเสมอด้วยเรือนทองเป็นที่รักเจริญใจจึงตรัสว่า ดูกรพ่อกุมาร มารดาของเจ้าชื่ออะไร พระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า มารดาและญาติของข้าพระบาทเป็นนางสิบสองคน บิดาของข้าพระบาททรงพระนามพระเจ้ารถสิทธราช แล้วทูลให้ทราบว่ามารดาและญาติของตนเป็นอัครมเหสี
พระเจ้ารถสิทธได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงจุมพิตเศียรเกล้าแห่งพระกุมารกล่าวคาถานี้ว่า
หา ตาต ปิยปุตฺตก | หา ตาต หทยํ มม |
หา ตาต ทกฺขิณพาหุ | มํ อนาถา จ โมจถ |
แปลว่า ดูกรพ่อลูกรักดังดวงหทัยของบิดาหรือดังพาหาเบื้องขวาของบิดาจงช่วยปลดเปลื้องบิดาให้พ้นจากความอนาถาเถิด
ในขณะนั้น นางสันธมารได้ยินดังนั้น รู้สึกตนว่าจะตายก็เกิดทุกข์โทมนัส อุบายเป็นไข้เสวยความทุกขเวทนารำพึงในใจเราจะทำอุบายประการใด นางจึงไปที่บรรทม บรมกษัตริย์เห็นพระกุมารแล้วก็ยิ่งเสียใจ จึงเรียกอำมาตย์มาสั่งว่าท่านจงไปกราบทูลบรมกษัตริย์ว่า พระมหาราชเทวีประชวรเป็นไข้หนัก อำมาตย์ไปเฝ้ากราบทูลบรมกษัตริย์ตามที่นางสั่งฉะนั้น พระเจ้ารถสิทธบรมกษัตริย์ได้สดับดังนั้น ทรงพระเสน่หาในนางเทวี ทรงพระทุกข์โทมนัสเป็นอันมาก ทรงรำพึงในพระทัยว่าจะทำประการใด จึงตรัสให้หาอำมาตย์มาสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงให้หมอมาประกอบโอสถรักษานางเทวีเถิด
อำมาตย์ได้ฟังรับสั่งดังนั้น ก็ให้หมอมาประกอบโอสถถวาย นางสันธมารยักขินีลูบคลำโอสถดู ก็ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ที่เสียบแทงรู้ตนว่าจะตาย จึงให้อำมาตย์ไปกราบทูลบรมกษัตริย์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระอัครมเหสียังไม่เบาบางจากพระโรค
พระเจ้ารถสิทธโปรดให้หาหมอในพระนครมารักษาโรคของนางก็ยังไม่หาย นางเทวีไม่บริโภคโภชนาหาร บรมกษัตริย์ก็ไม่เสวยพระกระยาหาร นางเทวีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ยารักษาโรคมีอยู่ในนครคชปุรนครพระเจ้าข้า บรมกษัตริย์จึงโปรดให้ตีกลองประกาศให้ชาวพระนครมาประชุมกัน ณ พระลานหลวง ครั้นชาวพระนครมาประชุมพร้อมกันแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า ท่านทั้งหลายใครอาสาเราไปนำเอายาที่คชปรนครมาได้ ถ้าประสงค์ทองเราจะให้ทอง ประสงค์เงินเราจะให้เงิน ท่านทั้งหลายบรรดาที่เป็นมนุษย์ถ้าใครมีความเพียรไปนำเอายาที่คชปุรนครมาได้เราจะตั้งให้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่
เสนาบดีได้ฟังรับสั่งกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า คชปุรนครอยู่ไกลนัก ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้วไม่มีใครไปถึงพระเจ้าข้า นางสันธมารยักขินีกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงโปรดใช้ให้รถเสนกุมารผู้เป็นพระราชบุตรไปจึงจะได้ พระเจ้ารถสิทธจึงตรัสให้หาพระราชบุตรมาปรึกษาว่า ดูกรพ่อลูกรักเจ้าจงไปนำเอายาที่มีอยู่ในคชปุรนครมารักษาโรคนางจึงจะหาย รถเสนกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทเคยได้ปฏิบัติมารดาและญาติของข้าพระบาทอยู่ทุกวัน ๆ จึงได้มีชีวิตอยู่ บัดนี้ข้าพระบาทจะไปถึงคชปุรนคร ถ้าโปรดเกล้าให้ใครช่วยปฏิบัติรักษามารดาและหมู่ญาติของข้าพระบาทได้ ข้าพระบาทจะไปนำเอายามาถวายพระเจ้าข้า
พระเจ้ารถสิทธตรัสว่า ดูกรพ่อลูกรัก บิดาจะให้มีผู้คอยปฏิบัติรักษามารดาและหมู่ญาติของเจ้าๆ อย่าคิดวิตกไปเลย รถเสนกุมารได้ฟังตรัสแล้วก็รับคำพระบิดาว่าสาธุ แล้วกราบทูลว่า ข้าพระบาทจะไปคชปุรนครด้วยพาหนะอย่างไร ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ถ้าข้าพระบาทจะไปทางทะเลก็ต้องไปด้วยเรือ ถ้าจะไปทางแผ่นดินก็ต้องไปด้วยรถ ถ้าจะไปทางอากาศก็ต้องไปด้วยอัศดรจะโปรดเกล้าให้ข้าพระบาทไปด้วยพาหนะอะไรพระเจ้าข้า พระเจ้ารถสิทธตรัสว่า ดูกรพ่อลูกรัก ถ้าเจ้าจะไปทางอากาศ ในหมู่ม้าพันหนึ่งเจ้าจงไปเลือกดูตามชอบใจเถิด พระมหาสัตว์เจ้าถวายบังคมลาบรมกษัตริย์ แล้วไปถึงโรงเลี้ยงม้าได้เห็นอัศวราชราชานัยมีอยู่ในโรงนั้นถึงยี่สิบสองม้า ก็เลือกอัศวราชที่ชอบใจได้ม้าหนึ่งตั้งชื่อม้านั้นว่าเจ้าพาชี แล้วผูกอัศวราชนั้นตกแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว ขึ้นขับขี่เผ่นขึ้นไปบนอากาศ เหาะไปได้โยชน์หนึ่งยังไม่เพียงพอแก่กำลังจึงลงจากอากาศมายังมนุษย์โลกให้พาชีบริโภคอาหารแล้ว ก็ขึ้นไปบนอากาศอีกสิ้นหนหางประมาณสิบโยชน์แล้วลงมาให้บริโภคอาหารในป่าหิมพานต์แล้วจึงขึ้นไปบนอากาศอีกสิ้นหนทางยี่สิบสองโยชน์แล้วลงมายังมนุษย์โลก เปลื้องเครื่องแต่งพาชีลงแล้วขึ้นไปบนปราสาท เข้าเฝ้าพระราชบิดาถวายบังคมกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบแล้วขึ้นไปบนปราสาทนางสันธมาร
นางสันธมารได้เห็นพระราชกุมารแล้วจึงเจรจาปราศรัยว่า ดูกรพ่อลูกรัก เจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัยของแม่เจ้าจงเห็นแก่แม่อนุเคราะห์แม่เถิด
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้าเป็นผู้กรุณาแก่มารดาและญาติทั้งหลาย เมื่อจะประกาศความนั้นจึงกล่าวคาถาว่า
สจฺจ ปรมตฺถํ นาม | โพธิสตฺโต จ การุโณ |
มาตาปิตโร ปาเลติ | าติกํ กรุณา ทโม |
สจฺจ จ ปรมํ โลเก | สจฺจํ โลเก ปธานกํ |
กรุณา ปรมํ โลเก | กรุณา โลเก ปธานกํ |
แปลว่า ความสัจ ชื่อว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งประการหนึ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าประกอบไปด้วยความกรุณาอุตสาหะ ทนทุกข์ทรมาน พระองค์เลี้ยงมารดาบิดา และทรงพระกรุณาต่อพระประยูรญาติ
ประการหนึ่ง ความสัจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในโลก ความสัจเป็นประธานในโลก ความกรุณาเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในโลก ความกรุณาเป็นประธานในโลก
ครั้นนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าไปหามารดาไหว้ลามารดาแล้วยืนพูดอยู่บนอุโมงค์ว่า ข้าแต่แม่ แม่กับญาติของฉันจงอยู่ไปพลาง ฉันจะไปเก็บยาที่คชปุรนคร
มารดากับญาติทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ก็พากันร้องไห้บ่นรำพันไปเป็นโกลาหลจนเหน็ดเหนื่อยแล้วล้มลงดุจป่าไม้รังถูกกำลังลมมาย่ำยีฉะนั้น
ครั้งนั้นแล พระมหาสัตว์เจ้าไหว้มารดาแล้วไปเฝ้าพระบิดา นางสันธมารแต่งจดหมายให้พระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์รับแล้วผูกไว้ในคอม้าพาชีแล้วขึ้นไปบนปราสาท แต่งกายเสร็จแล้วขึ้นยังอัศวราชเผ่นขึ้นบนอากาศเหาะไปสิ้นทางโยชน์หนึ่ง แล้วเหาะอีกสิ้นทาง ๔ โยชน์ ๕ โยชน์ ๖ โยชน์ ๗ โยชน์ ๘ โยชน์ ๙ โยชน์ ๑๐ โยชน์ ในขณะที่เหาะไปนั้นเสียงเครื่องประดับเท้าม้าดังสนั่นดังเสียงเมฆ เทพยดาทั้งปวงก็พากันตบหัตถ์ เสียงเท้าม้าได้ยินขึ้นไปตั้งแต่ชั้นปรนิมมิตวัสวัดดี สายฟ้าแลบก็แปลบปลาบไปในอากาศ ขุนเขาสิเนรุราชก็อ่อนโน้มลงดุจยอดหวายที่ถูกไฟลวก ฝนลูกเห็บก็ตกลงมาสมุทรสาครก็คะนองคลื่น ท้าวสักกเทวราชก็ปรบพระหัตถ์ ท้าวมหาพรหมก็กระทำสาธุการ มหาปัฐพีหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ไม่สามารถดำรงคงที่อยู่ได้ก็กระหึ่มครึมคำรามเปล่งเสียงดังสนั่นตั้งร้อยเสียงพันเสียงหมื่นเสียงแสนเสียง บันลือลั่นกัมปนาทสนั่นหวั่นไหวทั่วไป
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าเหาะไปด้วยอานุภาพพาชีอัศวราชสิ้นทางถึงสิบโยชน์ ได้เห็นอาศรมพระฤษีก็ลงจากอากาศเข้ายังพระอาศรม เปลื้องเครื่องแต่งม้าให้กินหญ้าและโภชนาหาร ปล่อยม้าและวางเครื่องแต่งม้าไว้ใกล้อาศรมพระฤษีแล้วก็หลับไป
พระฤษีอยู่ในภายในพระอาศรม ได้ยินม้าจึงคิดว่านี่เสียงอะไรจึงออกจากพระอาศรมเที่ยวแลดูไปได้เห็นม้าแล้วนึกในใจว่า นี่ม้าของใครจึงเดินเข้าไปใกล้ลูบหลังม้าแลเห็นหนังสือ ซึ่งผูกอยู่ที่คอม้าแก้ออกอ่านดูได้ความแล้วจึงดำริว่า พระเจ้ารถสิทธนี้หลงรักนางสันธมาร ใช้ลูกของตนไปเมืองยักษ์จะให้ยักษ์กิน กุมารนี้เป็นลูกพระเจ้ารถสิทธชื่อรถเสนกุมาร ควรจะเป็นผัวนางกังรีซึ่งเป็นธิดาของนางสันธมารจะได้ครองราชย์สมบัติในคชปุรนคร คิดแล้วจึงเขียนอักษร เปลี่ยนแปลงถ้อยคำเสียใหม่ ผูกไว้ที่คอม้าตามเดิมแล้วเห็นพระมหาสัตว์ยังหลับอยู่จึงเข้าไปใกล้เปิดผ้าห่มขึ้นดูเห็นลักษณะที่พระบาท จึงคิดว่ากุมารนี้เป็นพระมหาบุรุษจะได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ เรามีลาภมากจึงได้พบเห็นจึงสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ว่า กุมารนี้เป็นพุทธางกูรจักได้เป็นพระพุทธเจ้าจึงปลุกรถเสนกุมารให้ลุกขึ้น
รถเสนกุมารลุกขึ้นนมัสการพระฤษีแล้วบอกว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากกุตารนคร
พระฤษีถามว่า ท่านชื่ออะไร บิดามารดาของท่านชื่ออะไร
กุมารบอกว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระบิดาของข้าพระเจ้าทรงพระนามว่าพระเจ้ารถสิทธ มารดาของข้าพเจ้าเป็นนางสิบสองคน เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ารถสิทธนั้น พระเจ้าข้า
ครั้งนั้นเมื่อพระมหาสัตว์เจ้าจะขอพรจึงกล่าวคาถาว่า
อหํ ภนฺเต วรํ ยาจํ | อตฺตโนว มโนรถํ |
สุขํ เทโว วิย เตโช | ยาจิโต เทหิ เม วรํ |
แปลว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอพรให้สำเร็จตามความประสงค์ของตน ขอให้ข้าพเจ้าได้เสวยความสุขมีเดชานุภาพดุจดังเทพยดา ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประสิทธิประสาทพรให้แก่ข้าพเจ้าตามที่ข้าพเจ้าขอแล้วนี้เถิด
เมื่อพระฤษีจะประสิทธิประสาทพรจึงกล่าวคาถาว่า
ชยนฺโต โพธิยา มูเล | สกฺยานํ นนฺทิวทฺฒโน |
เอวํ ตฺวํ วิชโย โหหิ | รถเสน ชยมงฺคลํ |
แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้ทำความยินดีให้จำเริญแก่ศากยราชทั้งหลาย เมื่อพระองค์ชนะพระยามารในปริมณฑลแห่งไม้มหาโพธิฉันใด ขอให้ท่านมีชัยชนะอย่างนั้นเถิด ดูกรรถเสน ความชนะและความจำเริญจงมีแก่ท่านเถิด
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้า ผูกเครื่องแต่งม้าแล้วจึงลาพระฤษีขี่พาชีเผ่นขึ้นบนอากาศสิ้นทางสิบโยชน์ แล้วเหาะไปด้วยอานุภาพม้าพาชีสิ้นทางยี่สิบโยชน์แล้วเหาะไปอีกสิ้นทางสามสิบโยชน์ เทพยดาทั้งปวงกระทำสาธุการบูชาพระโพธิสัตว์เจ้าด้วยบุปผชาติมีประการต่าง ๆ พาชีได้เห็นบุปผชาติก็มีความยินดี
ในขณะนั้นพระมหาสัตว์ได้เห็นแว่นแคว้นของมารแล้ว แลเห็นมารก็เกิดความกลัวจึงถามพาชีว่า ดูกรพ่อพาชี เจ้าจะทำประการใด
พาชีจึงตอบว่า ข้าแต่เทวราชเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ข้าพระบาทจะรบมารให้ชนะจะให้มารพ่ายแพ้ไป
ขณะนั้นโยธามารทั้งหลายก็มาทางอากาศ พาชีก็แผดเสียงดังสนั่น ท้องฟ้าอากาศบางแห่งก็เป็นควันกลุ้มบางแห่งก็รุ่งเรืองประดุจเปลวไฟ
พวกมารกับทั้งเสนามารได้ยินเสียงกึกก้องดังนั้น ก็พากันตกตะลึงอยู่ พระมหาสัตว์เจ้าพิจารณาไปได้เห็นเสนามารกับพลนิกายมารเป็นอันมากเหาะขึ้นบนอากาศ ตกแต่งกายมีพรรณต่าง ๆ นิรมิตภายใหญ่ตั้งแต่ ๑ โยชน์ ขึ้นไปจนถึง ๓๐ โยชน์ บางพวกนิมิตกายเป็นโคอุสุภราช บางพวกนิมิตกายตนเป็นควาย เป็นเสือโคร่ง เป็นราชสีห์ เป็นเสือเหลือง เป็นหมี เป็นแรด เป็นหมู เป็นครุฑ เป็นนกอินทรีย์ เป็นกุมภัณฑ์ นิรมิตตนเป็นสีขาว สีเขียว สีดำ มีประการต่าง ๆ แล้วมีมารนิมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธต่าง ๆ พาเสนามารมา
พระมหาสัตว์เจ้าได้ยินเสียงมารดังนั้น จึงรำพึงในพระทัยว่า เราได้ความทุกข์เป็นอันมากจะทำประการใดดี แล้วก็เกิดความกลัวแต่มรณภัย จึงระลึกถึงคุณพระมารดา คุณพระฤษี คุณเทพยดาทั้งปวง จึงอธิษฐานสัจจบารมีกล่าวเป็นคาถาว่า
สจฺจปารมีตา โยธา | อุปฏฺากคุณา จ เม |
สรณา เทวคณา จ | มํ รกฺขนฺตุ จ โพธิยา |
สพฺเพ เทวา นาคคนฺธพฺพา | นานายกฺขาสุราทโย |
สจฺจปารมีตา เอสา | มารเสนํ ปราเชยฺย |
แปลว่า ขอโยธา กล่าวคือ สัจจบารมี และคุณ กล่าวคือ ความที่ข้าพเจ้าได้บำรุงมารดา และหมู่เทพยดาทั้งหลาย จงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า จงอภิบาลรักษาข้าพเจ้าเพื่อให้ข้าพเจ้าสำเร็จแก่พระโพธิญาณ ขอเทพยดาและนาคและคนธรรพ์และยักษ์ต่างๆ มีอสูรเป็นต้น จงอภิบาลรักษาข้าพเจ้า ขอสัจจบารมีนี้จงให้เสนามารพ่ายแพ้ไปเถิด
ในขณะนั้น พาชีอุศวราชก็พาพระมหาสัตว์เจ้าไปถึงเสนามาร พระโพธิสัตว์เจ้าก็แก้อักษรที่ผูกคอม้าไว้นั้นทิ้งลงไป ณ พื้นดิน เสนามารทั้งหลายได้เห็นอักษรและได้เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว ก็พากันรีบเร่งคลี่คลายพลนิกายออกเชิญพระมหาสัตว์เจ้าให้ลงจากอากาศ พิจารณาดูอักษรแล้วก็ทูนไว้บนศีรษะแล้วเชิญพระมหาสัตว์ให้นั่งบนราชอาสน์ บังคมพระมหาสัตว์เจ้าแล้วก็ไปแจ้งความนั้นให้นางกังรีทราบ
นางกังรีได้ฟังดังนั้นก็เกิดปรีดาปราโมทย์เปล่งวาจาว่า เราจะพ้นจากความทุกข์แล้ว มีนางสามสิบนางตกแต่งขนมมีรสอร่อยต่าง ๆ มาส่งให้แล้วกล่าวปราศรัยว่า ท่านมาแต่ที่ไกลเห็นปานดังนี้ จงรับประทานขนมที่ข้าพเจ้าตกแต่งมาเต็มถาดทองนี้เถิด
นางกังรีจึงไปหาพระมหาสัตว์เชิญให้บริโภคผลาผลไม้แล้วถามว่า ข้าแต่เทวดาเจ้าผลไม้น้อยใหญ่ซึ่งมีรสหวานกับมีโอชารสอย่างไหนจะดีกว่า
พระมหาสัตว์กล่าวว่าดูกรนางผู้มีพักตร์อันเจริญผลไม้ที่มีโอชารสเป็นผลไม้ดีกว่า
รูปโฉมของพระโพธิสัตว์เจ้าสวยงามเป็นที่รักเจริญใจแก่นางกัญญาทั้งปวง นางเหล่านั้นจึงเชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่งเหนือปัจฐรณ์อันใหญ่ แล้วก็พากันแวดล้อมพระโพธิสัตว์เจ้า ดุจดังหมู่ดาวแวดล้อมพระจันทร์ฉะนั้น
พระมหาสัตว์เจ้าอันหมู่อมนุษย์และเทพยดาแวดล้อมดุจดังพระเจ้าจักรพรรดิราชเจ้าอันกษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์แวดล้อมฉะนั้น
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะประกาศเนื้อความจึงตรัสพระคาถาว่า
อิทฺจ วรนครํ | พหุปาการโตรณํ |
สพฺเพ เทวา ปุริกฺขิตฺวา | ตุยฺหฺเจว ททาม เต |
อิมฺจ วรปาสาทํ | กุฏาคารวิโรจิตํ |
สพฺพา กฺา นิเวเทตฺวา | ตุยฺหฺเจว ททาม เต |
อโห สุขํ ปรมสุขํ | ตโต นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ |
ยถาปิ ภุชงฺคราชา | นาคิยา ปริวาริตา |
ยถาปิ สีโห ราชาปิ | สีเหหิ ปริวาริโต |
แปลว่า เทพยดาทั้งปวงมาแวดล้อมถวายเมืองแก่พระมหาสัตว์เจ้าว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายพระนครอันประเสริฐนี้มีกำแพงและหอรบเป็นอันมากแด่พระองค์ ใช่แต่เท่านั้นนางทั้งปวงก็กราบทูลถวายปราสาทแก่พระมหาสัตว์เจ้าว่า ข้าพระบาทขอถวายปราสาทอันประเสริฐอันไพโรจน์ไปด้วยเรือนยอดแก่พระองค์ พระมหาสัตว์เจ้าได้เสวยความสุขอย่างยิ่งไม่มีความสุขอื่นจะยิ่งกว่า เว้นจากความสุขนั้นแล้ว แต่ก็มีแต่พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พระมหาสัตว์เจ้าเหมือนอย่างพระยาภุชงคนาคราชอันแวดล้อมไปด้วยนางนาค ถ้ามิฉะนั้นเหมือนอย่างพระยาราชสีห์แวดล้อมไปด้วยฝูงราชสีห์ฉะนั้น
ในกาลนั้นเสนาทั้งปวงก็ตกแต่งพระนครให้เป็นประดุจดังเทพนคร แล้วให้ถือเอาเครื่องประดับรักษาอยู่โดยรอบ พระมหาสัตว์เจ้าเข้าไปยังพระนครแล้วก็ขึ้นไปยังปราสาทได้อภิเษกครองราชย์สมบัติ เป็นพระเจ้ารถเสนราชแล้วก็พระราชทานสรรพัสดุต่าง ๆ มีทองและเงินและผ้านุ่งห่ม และเครื่องประดับตกแต่งเป็นต้น แก่พวกบุรุษโยธาทั้งปวงแล้วก็ส่งเสนาบริวารให้กลับไปแล้วก็เสวยราชสมบัติอยู่ในคชปุรนคร เจ็ดเดือนบริบูรณ์
ลำดับนั้น อัศวราชกราบทูลว่า ข้าแต่พระเจ้ารถเสน พระองค์ละทิ้งมารดามาบัดนี้พระองค์ทำอะไรอยู่ในพระนครนี้ พระเจ้าข้า
พระเจ้ารถเสนจึงตรัสว่า ดูกรอัศวราชเราละทิ้งพระมารดามาถึงพระนครนี้ถูกนารีเป็นอันมากแวดล้อมเราอยู่เหมือนอย่างท้าวสักกเทวราช ซึ่งเป็นใหญ่กว่าเทพยดาถูกนางเทพธิดาแวดล้อมอยู่ฉะนั้น
วันหนึ่งพระเจ้ารถเสนอยู่แต่พระองค์เดียว ลงจากปราสาทมาหาอัศวราชแต่พระองค์เดียว ทราบว่าพาชีโกรธจึงตรัสปราศรัยว่า ดูกรอัศวราชท่านโกรธเราต้องการอะไร ตรัสแล้วพระราชทานอาหารแก่พาชี พาชีได้บริโภคอาหารแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระเจ้ารถเสน พระองค์จะอยู่ในพระนครนี้ก็จงอยู่เถิด ข้าพระบาทจะไปกุตารนคร
พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังคำพาชีดังนั้นจึงตรัสว่า ดูกรอัศวราชท่านมีคุณแก่เราเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้นท่านจึงโกรธเรา
พาชีได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่พระเจ้ารถเสน คำที่ข้าพระบาทจะกราบทูลนี้คงเป็นจริงอย่างว่า พระรถเสนกุมารจะถูกยักษ์ฆ่ากินถึงแก่ความตายเหมือนอย่างอุรัคชาติถูกสุบรรณกินถึงแก่ความตายฉะนั้น หรือเหมือนอย่างบุรุษหลงฟังถ้อยคำภริยาไม่เหลียวแลชีวิตของมารดาตน หญิงร้ายก็ทำชีวิตของสามีให้พินาศฉะนั้น
พระเจ้ารถเสนได้สดับดังนั้นก็ขึ้นยังปราสาทไปหานางกังรี แล้วนั่งบนพระที่นั่งบรรณจฐรณ์ทำอุบายเป็นไข้
ครั้นถึงเวลาปัจจุสมัยจวนใกล้รุ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าระลึกถึงพระมารดาไม่อาจกลั้นพระอัสสุชลได้ ก็ทรงพระกรรแสงกล่าวเป็นบาทพระคาถาว่า
กึ ภวิสฺสติ อมฺมา เม | กตํ คจฺฉามิ มาตรํ |
มมฺจ มาตา ปสฺสติ | มฺเ เหสฺสามิ ชีวิตํ |
แปลว่า มารดาของเราจักเป็นอย่างไร เราจะไปหามารดาอย่างไร อนึ่งเราสำคัญว่า ชีวิตของเรายังมีอยู่ มารดาจะได้เห็นเรา
ครั้งนั้นพระเจ้ารถเสน เสด็จเข้าไปบรรทมอยู่ในห้องสิริไสยาสน์แต่เวลาเช้า เสนาบดีไปเฝ้าไม่เห็นพระองค์จึงไต่ถามนางทั้งปวงทราบความว่าทรงพระประชวรแล้วก็กลับไป
ครั้งนั้นนางทั้งหลายจึงแวดล้อมพระมหาสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์จงหาอุบายกำจัดพระโรคาพาธเสีย
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ อยู่ในพระนครโรคาพาธคงจะไม่สงบรำงับ เราจะไปเล่นสวนอุทยานโรคาพาธจึงจะสงบรำงับ
นางทั้งหลายได้ฟังดังนั้นจึงถามพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระรถเสนราชผู้เป็นเจ้า พระองค์จะเสด็จไปสวนอุทยานประมาณทางสักกี่โยชน์
พระมหาสัตว์เจ้าตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เราจะไปอุทยานประมาณทางเพียงสิบโยชน์
นางทั้งหลายกราบทูลว่า สวนอุทยานแห่งหนึ่งประมาณทางเพียงสิบสองโยชน์ เป็นที่รัมณิยสถายเป็นสุขสำราญดังอุทยานในเมืองสวรรค์ พระเจ้าข้า
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็มีพระทัยโสมนัส จึงตรัสว่าโรคาพาธของเราจะสงบรำงับ แล้วก็เสด็จออกจากปราสาท ทรงนั่งบนบัลลังก์ทองที่เขาตกแต่งไว้ในพระวอ แวดล้อมไปด้วยพลเสนาเป็นอันมาก ชนทั้งหลายก็ประโคมดุริยางค์ดนตรี
ลำดับนั้นนางทั้งหลายก็สั่งพลเสนาว่า วันพรุ่งนี้บรมกษัตริย์จะเสด็จไปสวนอุทยาน
อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังแล้วก็ให้ตีกลองประกาศไปทั่วคชปุรนคร ให้ชาวพระนครมาประชุมกันในพระลานหลวง
ครั้งนั้นพาชีมีความดีใจ เมื่อจะลองกำลังจึงเผ่นขึ้นบนอากาศกระทำเสียงสนั่นหวั่นไหวไปสิ้นทางสิบโยชน์ เทพดาทั้งปวงตลอดขึ้นไปจนท้าวมหาพรหมก็กระทำสาธุการ แล้วอัศวราชก็ลงยังพื้นแผ่นดิน พวกเสนาทั้งปวงก็พากันสรรเสริญว่าอัศวราชของเจ้านายเรามีฤทธิ์อานุภาพเป็นมาก
บรรดานางทั้งหลายที่นุ่งผ้าและแต่งกายสีขาว ก็เดินไปข้างขวาพระมหาสัตว์ ที่นุ่งผ้าสีเหลืองก็ถือแส้เดินไปข้างหน้าพระมหาสัตว์ที่นุ่งผ้าสีต่าง ๆ ก็เดินไปข้างหลัง และเดินแวดล้อมไปโดยรอบ
พระมหาสัตว์เจ้าพลนิกายแวดล้อม เหมือนดังพระจันทร์แวดล้อมไปด้วยหมู่ดาว เสด็จไปถึงประตูสวนอุทยานยักษ์ที่รักษาประตูสวนได้เห็นแล้วก็เปิดเทพทวารถวาย แต่ประตูหนึ่ง ๆ ยักษ์ถึงพันหนึ่งถึงจะเปิดปิดได้
ครั้งนั้นนางบริวารทั้งหลาย จึงพานางกังรีเทวีไปถึงสวนอุทยาน สวนอุทยานนั้นเป็นที่ร่มรื่นบริบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ต่าง ๆ เป็นต้นว่า กุ่ม และจำปา บุนนาค ต้นสักซาก กรรณิกาและทองหลาง อันทรงดอกและผลงดงาม และมีทั้งไม้ดอกต่างๆ เป็นต้นว่า ต้นหงอนไก่และชะเอมและกำยานและต้นสามสิบ และว่านหางช้างและอ้อยและพรรณไม้ดอกต่างๆ และมีต้นไทรอันทรงดอกและผลแวดล้อมอยู่ชั้นนอก นางทั้งหลายไปถึงสวนอุทยานได้ฟังเสียงนกต่าง ๆ เป็นต้นว่า เสียงไก่เถื่อนและนกหัสดีลิงค์ นกยูง นกประหิต นกกระจิบ นกกะเรียน ร่ำร้องเป็นที่รื่นรมย์ แซ่สำเนียงสนั่นอยู่กึกก้อง
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงถามนางทั้งปวงว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ ต้นไม้ชื่อว่าต้นบุนนากและต้นคิรีบุนนากมีอยู่แห่งใด
นางทั้งปวงทูลว่า ข้าแต่พระรถเสนราชผู้เป็นเจ้า ต้นไม้ที่ตรัสถึงมีอยู่ที่นันทนอุทยานพระเจ้าข้า
พระมหาสัตว์เจ้าจึงอธิษฐานแล้วกระทำเสียงสาธุการว่า พุทธบุนนากพุทธคิรีบุนนากดังนี้
ทันใดนั้นเทพยดาทั้งหลาย ได้ยินพระมหาสัตว์เจ้าตรัส ก็กระทำเสียงสาธุการกึกก้องโกลาหล ว่าท่านจะได้ตรัสพระสัพพัญญุตญาณ
พระมหาสัตว์เจ้ายื่นพระหัตถ์ไปเก็บผลไม้ได้แล้ว ก็มีหทัยยินดีจึงให้ผู้บัญชาการเสนาตรวจตราพลนิกายเสร็จแล้ว เมื่อมาถึงประตูให้ยักษ์พันหนึ่งเปิดให้แล้วก็ออกจากสวนอุทยาน นางกังรีก็ตามไปครั้นถึงพระนครแล้วก็ขึ้นยังปราสาท มีพนักงานสรรพดุริยางค์ดนตรีฟ้อนรำขับร้องห้อมล้อม เสด็จประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ แวดล้อมไปด้วยพลนิกายเป็นอันมาก ดุจดังท้าวสักกเทวราชฉะนั้น
พระเจ้ารถเสนจึงบอกนางกังรีราชเทวีว่า เจ้าจงบังคับให้พวกพลนิกายทั้งปวงเล่นการมหรสพ นางกังรีราชเทวีก็บังคับให้พวกพลนิกายเล่นการมหรสพ อำมาตย์ทั้งปวงได้ฟังคำนางแล้วก็ชวนกันประโคมดุริยางค์ฟ้อนรำขับร้องเล่นการมหรสพ
พระเจ้ารถเสนจึงอุบายบอกให้นางกังรีดื่มสุราบานเป็นที่สบายใจ แต่พระองค์หาดื่มไม่
ส่วนนางกังรีครั้นดื่มน้ำสุราเมาแล้วก็ล้มลงบนที่ไสยาสน์จึงบอกพระมหาสัตว์ว่า ข้าพระบาทขอทูลให้พระองค์ทรงหราบว่าลูกตานางสิบสองเขาแขวนไว้ที่ข้างบนครัวไฟ พระเจ้าข้า
พระมหาสัตว์จึงถามต่อไปว่า ยาที่จะทำลูกตาขึ้นสว่างมีหรือไม่
นางกังรีทูลว่า ยาห่อหนึ่งที่แขวนอยู่นั้นเป็นยาทิพย์สำหรับรักษาลูกตา ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นภูเขา ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นป่า ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นลม ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นไฟ ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นฝน ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นเมฆ ยาห่อหนึ่งทิ้งลงไปแล้วกลายเป็นมหาสมุทร พระเจ้าข้า
พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังดังนั้น ก็เกิดพระทัยโสมนัสรำพึงว่าเราจะได้เห็นพระพักตร์พระมารดาเราคราวนี้ พอนางกังรีหลับแล้ว ก็ฉวยเอาห่อยาเหล่านั้นขึ้นยังพาชีอัศวราชหนีไปในเวลาเที่ยงคืน กำลังนางยังหลับอยู่
ส่วนนางกังรีตื่นขึ้นในเวลาปัจจุสมัย ไม่เห็นพระมหาสัตว์เจ้าก็ตีพระทรวงติดตามดูสามีไปตามทาง
ในเวลานั้นพระมหาสัตว์เจ้าก็โปรยยาลงกลายเป็นภูเขาเกิดเป็นต้นไม้กระทบกันอยู่ นางกังรีก็ติดตามไปอีก พระมหาสัตว์ก็โปรยยาลงกลายเป็นป่า นางกังรีก็ติดตามไปอีก พระมหาสัตว์ก็โปรยยาลงกลายเป็นไฟ นางกังรีก็ติดตามไปอีก พระมหาสัตว์เจ้าก็โปรยยาลงกลายเป็นฝน นางกังรีก็ติดตามไปอีก พระมหาสัตว์เจ้าก็โปรยยาลงกลายเป็นเมฆ นางกังรีก็ติดตามไป พระมหาสัตว์เจ้าจึงโปรยยาห่อหนึ่งลงไป กลายเป็นมหาสมุทร นางกังรีจึงหยุดยืนแลไป ได้เห็นพระมหาสัตว์แต่ไกลไม่อาจจะกลั้นน้ำตาได้ ก็กรรแสงปริเทวนาการ กล่าวเป็นคาถาว่า
หาหา สามิก ปิยฺจ | อหํ กลูนํ ปริเทวึ |
พาหา ปคฺคยฺห ปกฺกณฺฑึ | สามิโก จ นิราลโย |
มรณํ วา ตยา สทฺธึ | ชิเว กึ โสกทุกฺขิโต |
อปฺุานิ กโรมิหํ | ชาติยา สํสรึ ปฏฺนา |
ปิโย ปิเยน สงฺคมฺม | สโมหเมว วินาทุเร |
แปลว่า ข้าแต่พระสามีที่รัก ข้าพระบาทครั่งครวญร้องไห้รักพระสามีเป็นที่รัก ส่วนพระสามีช่างไม่มีความอาลัยรักใคร่ข้าพระบาทเลย ข้าพระบาทไม่ได้ไปกับพระองค์แล้วก็ต้องตาย จะอยู่ไปให้ได้ความเศร้าโศกลำบากกายต้องการอะไร ข้าพระบาทไม่ได้ทำบุญกุศลไว้ เมื่อข้าพระบาทยังท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ด้วยชาติความเกิดแล้ว ข้าพระบาทขอตั้งความปรารถนาไว้ ขอให้ข้าพระบาทได้มาอยู่ร่วมกันกับสามีเป็นที่รัก และให้ได้อยู่ร่วมเสมออย่าได้พลัดพรากจากกันไปไกลเลย
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าจึงทรงทราบว่านางกังรีมีจิตรำงับดีแล้ว จึงตรัสตอบด้วยความกรุณาว่า ดูกรนางกังรีผู้มีพักตร์อันเจริญ เจ้ามีคุณแก่พี่เป็นอันมากก็จริงอยู่ แต่บิดามารดาของพี่มีคุณแก่พี่มากกว่าคุณของเจ้าได้ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ตรัสดังนี้แล้วเมื่อจะปริเทวนาการจึงตรัสเป็นบาทคาถาว่า
ภทฺเท กํริ มา จินฺตยิ | อหํ พุทโธ ปโมจสึ |
พาหา ปคฺคยฺห ปกฺกณฺฑึ | ทุกฺขชาตํ ปิยมาตรํ |
สพฺพฺุตาณํ ปตฺถิตํ | สรณํ กํริ วินาสติ |
ตํ อาเลยฺยา มาตรํ ภาตรํ | โย นิวตฺติตฺวา น โสจติ |
อิทานิ ตฺวํ อนุพนฺธาหิ | อนาคเต กาเล วจฺฉมิว |
แปลว่า ดูกรเจ้ากังรีผู้มีพักตร์อันเจริญ เจ้าอย่าคิดไปเลย พี่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าปลดเปลื้องเสียซึ่งสัตว์ทั้งหลาย พี่ต้องประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญเกิดทุกข์ถึงมารดาที่รัก พี่ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ ดูกรนางกังรี ผู้ใดยอมกลับไม่โศกเศร้าอาลัยถึงมารดาและพี่น้อง ที่พึ่งย่อมฉิบหายเดี๋ยวนี้เจ้าจงตามพี่ไป ประดุจดังว่าแม่โคตามลูกโคในอนาคตกาล
เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวดังนี้แล้วก็ขับพาชีไปในอากาศ นางกังรียืนอยู่ภายหลังก็มีสีสันวรรณอันเศร้าหมอง มีดวงหทัยแตกออกไปเจ็ดภาคตายอยู่ที่ฝั่งสมุทรนั้น ส่วนพระมหาสัตว์ก็เสด็จไปจนถึงเมืองกุตารนคร คราวนั้นนางสันธมารเห็นพระโพธิสัตว์แต่ที่ไกล ก็ไปสู่ปราสาทเสียใจจนหทัยแตกออกไปเจ็ดภาค ทำกาลกิริยาตาย
คราวนั้นพระโพธิสัตว์จึงถือเอายาทิพย์เข้าไปที่อุโมงค์ใส่ตาแห่งมารดาและญาติทั้งหลาย ตาแห่งมารดาและญาติก็กลับสว่าง มารดาและญาติกลับได้ทิพยจักษุ พระโพธิสัตว์ก็พามารดาและญาติไปสู่นคร พระเจ้ารถสิทธจึงตั้งนางทั้งสิบสองไว้ในที่อัครมเหสี มีสมาคมเป็นบรมสุขยิ่งใหญ่ด้วยนางทั้งสิบสองนั้น
ต่อมาพระเจ้ารถสิทธจึงอภิเษกพระรถเสนราชบุตรในราชสมบัติ พระเจ้ารถเสนก็ดำรงสิริรัชยยโดยทำนองคลองธรรม ทรงอุปถัมภ์แก่มหาชนจำเดิมแต่เสวยราชย์มา
อิติ สตฺถา ธมฺมํ เทเสนฺโต สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงแสดงธรรมด้วยประการดังนี้แล้วจึงตรัสซ้ำว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลปางก่อนเมื่อเราบำเพ็ญโพธิสมภารก็ได้มีความกตัญญูกตเวทีแก่มารดาและญาติ ตรัสดังนี้แล้วจึงทรงประกาศอริยสัจจเทศนา จบแล้วจึงทรงประชุมชาดก ยกเป็นโอสานคาถาที่สุดแปลความว่า นางสันธมารกลับชาติมาคือพระเทวทัต ม้าอัศวราชกลับชาติมาคือม้ากัณฐก ท้าวโกสีย์กลับชาติมาคือพระอนุรุธ พระฤษีคือพระสารีบุตร พระเจ้ารถสิทธคือพระพุทธบิดาสุทโธทนมหาราช พระมารดาคือพระมหามายา ญาติอันเศษคือพุทธบริษัท นางกังรีคือนางยโสธรามารดาพระราหุล พระเจ้ารถเสนคือเราผู้เป็นโลกนาถ เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดตรัสรู้พร้อมด้วยตนเองหาครูอาจารย์มิได้ เอวํ ธาเรถ ชาตกํ ท่านทั้งหลายจงทรงไว้ซึ่งชาดกโดยนัยดังกล่าวมานี้