๑. โสนันทชาดก

กินฺนุ ตวํ อาคโต เสฏฺีติ อิทํ สตฺถา นิโคฺรธาราเม วิหรนฺโต จิฺจมาณวิกํ อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา เมื่อสมเด็จพระบรมศาสตาจารย์เสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ในนิโครธารามวิหาร ทรงพระปรารภนางจิณจมาณวิกาตรัสพระเทศนานี้ อันมีคาถาบาทต้นว่า กินฺนุ ตวํ อาคโต เสฏฺี ดังนี้เป็นอาทิ

เอกทิวสมฺหิ ความพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในธรรมสภาว่า าวุโส ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกายกโทษใส่พระบรมศาสดา แล้วถึงซึ่งความพินาศใหญ่ สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับด้วยทิพโสต จึงเสด็จมายังธรรมสภาประทับนั่งบนธรรมาสน์แล้ว ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน ระหว่างที่พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันเรื่องอะไรไม่แจ่มแจ้งบ้าง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงมีพุทธฎีกาดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาใส่โทษเราโดยอ้างว่าเป็นภรรยามิใช่แต่ในปัจจุบันชาตินี้ ตรัสฉะนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพอยู่ อันภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานนี้มา

อตีเต ภิกฺขเว พาราณสิยํ นคเร เโก ราชา ธมฺมมธุโร นาม รชฺชํ กาเรสิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลยังมีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าธรรมมธุรราช เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระองค์มีโอรส ๗ พระองค์ องค์ใหญ่พระนามว่ากบิลราชกุมาร องค์ที่ ๒ พระนามว่า โสนันทราชกุมาร องค์ที่ ๓ พระนามว่า สุนทรราชกุมาร องค์ที่ ๔ พระนามว่า สวาลยราชกุมาร องค์ที่ ๕ พระนามว่า เสนกราชกุมาร องค์ที่ ๖ พระนามว่า อภัยราชกุมาร องค์ที่ ๗ พระนามว่า ลักขณราชกุมาร

ตทา พาราณสิย ในกาลนั้นพระนครพาราณสีมีเศรษฐีผู้หนึ่ง มีสมบัติประมาณได้ ๘๐ โกฏิ ในบ้านท่านเศรษฐีมีบุรุษเข็ญใจผู้หนึ่งชื่อว่า มิตตทลิท ภริยาของเขาชื่อนางมิตตทลิททีและเขามีธิดาคนหนึ่งชื่อว่า นางสิปปธนี วันหนึ่งผัวเมียปรึกษากันว่าเรามีธิดาคนเดียว เพราะฉะนั้นควรต้องเก็บหอมรอมริบทรัพย์สมบัติไว้ ภริยาจึงว่า เราเป็นคนขัดสน ทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์สมบัติมา ภทฺเท แน่ะนาง ในทิศด้านอุดรมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่ ๒ ต้น ฉะนั้นเราทั้งสองจงช่วยกันตัดแล้วเลามาทำเป็นเรือเสร็จแล้วขายเสียลำหนึ่ง เอาไว้ลำหนึ่ง รวบรวมทุนรอนได้แล้วจึงประกอบการค้าขาย เมื่อสามีออกความเห็นฉะนี้แล้ว ภรรยาจึงกล่าวแย้งว่า เราจักได้ขวานที่ไหนเล่า สามีจึงชี้แจงว่า เราพากันไปหาเศรษฐีแล้วอ้อนวอนขอสิ่งที่ควรขอสักอย่างหนึ่ง ปรึกษากันแล้วก็พากันไปเรือนเศรษฐี กราบไหว้ท่านเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวว่ากระผมทั้งสองขอความกรุณา ขอยืมขวานที่พอใช้ได้สักเล่มหนึ่ง ท่านเศรษฐีจึงให้เขาหยิบยืมขวานไปเล่มหนึ่ง สามีภรรยาทั้งสองเมื่อรับขวานจากท่านเศรษฐีแล้วก็ไปสู่ป่า ช่วยกันตัดต้นตะเคียนได้ต้นหนึ่งแล้ว ถากทำเป็นเรือเสร็จ ต่อจากนั้นก็ช่วยกันตัดต้นที่สองและถากทำต่อไปอีก เผอิญขวานหลุดกระเด็นเข้าไปจมอยู่ในท้องละมั่งตัวหนึ่งซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ สามีภรรยาพยายามค้นหาทุกหนทุกแห่ง เว้นแต่ที่ละมั่งนอนอยู่จึงไม่พบ พอกลับมาบ้านก็ไปแจ้งเหตุการณ์แก่ท่านเศรษฐี ๆ กล่าวว่า แน่ะมิตตทลิท เราจักรับคืนเฉพาะขวานของเรา ถ้าไม่ได้เล่มนั้นเราจักไม่ยอมรับคืน สามีภรรยาจึงพากันไปสู่ร้านตลาด หาซื้อขวาน แล้วได้เอาไปให้แก่ท่านเศรษฐี ๆ ไม่รับ แม้เขาพยายามหาซื้อมาให้ตั้ง ๒ เล่ม ๕ เล่ม ๘ เล่ม ๑๖ เล่ม ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมรับ ทวีขึ้นไปจนจำนวนขวานถึง ๑๐๐ เล่ม ก็ยังคงไม่ยอมรับอยู่นั่นเอง สามีภรรยาทั้งสองเกิดความทุกข์โทมนัส กลับมายังเรือนของตนแล้วไปสูป่านั้นอีก เที่ยวค้นหาขวานเดินไปถึงที่ที่ละมั่งนอนตาย เห็นเลือดสาดอยู่จึงกล่าวว่า เราช่วยกันเอาเนื้อนี้ไปย่างไว้ จึงสองคนสามีภรรยาช่วยกันเชือดช่วยกันชำแหละเนื้อ พบขวาน ต่างคนต่างดีอกดีใจ เอาขวานเล่มนั้นไปสู่เรือน แล้วได้เอาไปคืนให้แก่ท่านเศรษฐีพร้อมกับด้วยเนื้อ ๑ ก้อน ท่านเศรษฐีก็ยังกล่าวยืนคำว่า แน่ะมิตตทลิท ขวานเล่มนี้ก็มิใช่ของเรา เราไม่ยอมรับไว้

อปรภาเค ครั้นกาลต่อมา ทารกคนหนึ่งอยู่ในเรือนของท่าน เศรษฐีเห็นทารกอื่นเคี้ยวกินข้าวตอก มีความใคร่เพื่ออันเคี้ยวข้าวตอกบ้าง จึงอ้อนวอนมารดาไม่ได้ก็ร้องไห้ดิ้นรน ท่านเศรษฐีได้ยินดังนั้นถึงถามว่า เจ้าร้องทำไม มารดาจึงเรียนท่านว่า ข้าแต่นาย เขามีความใคร่จะกินข้าวตอก ไม่ได้จึงร้องไห้ พึงคั่วข้าวตอกให้เสีย หาหม้อเก่า ๆ มาคั่ว เมื่อท่านเศรษฐีบัญชาดังนี้ ก็รับคำว่า ได้ค่ะ มารดาทารกหาหม้อเก่าๆ ไม่ได้ จึงไปสู่เรือนของบุรุษมิตตทลิท ขอยืมหม้อเก่า ๆ บุรุษมิตตทลิทก็ให้ยืมสั่งว่า ท่านอย่าทำหม้อแตกเสีย แม้มารดาของทารกนำหม้อนั้นมาคั่วข้าวตอกให้แก่บุตรเสร็จแล้ว เวลาเย็นไปอาบน้ำยังท่าน้ำ ทาสีคนหนึ่งเข้าไปสู่เรือนไผ เห็นหม้อเก่าใบนั้น จึงบ่นว่า ใครเอาหม้อเก่ามาวางไว้ในที่นี้ เลยฉวยเอาหม้อขว้างทิ้งเสีย หม้อแตก ท่านมหาเศรษฐีเห็นดังนั้น จึงด่าว่า ทุดเจ้า ทิ้งหม้อใบเก่าเสียทำไม จักเอาที่ไหนใช้มันเล่า แล้วใช้คนให้ไปบอกบุรุษมิตตทลิทมา ถึงเวลาเย็นบุรุษมิตตทลิทได้มายังเรือนของท่านเศรษฐี นางทาสีแม้นั้นจึงแจ้งเหตุที่หม้อแตกให้ทราบ บุรุษมิตตทลิทจึงคิดว่า จักทำตอบแทนเศรษฐีเสียบ้าง ครั้นแล้วจึงว่าเราจักรับคืนเฉพาะหม้อใบของเรา ถ้าไม่ได้เราจักไม่รับ นางทาสีได้ฟังดังนั้นจึงไปเรียนท่านเศรษฐี แม้ท่านเศรษฐีก็หาหม้อใหม่มาให้เป็นทวีคูณ จนจำนวนหม้อถึงพันหม้อหมื่นหม้อ บุรุษมิตตทลิทก็ไม่ยอมรับ ท่านเศรษฐีจึงเพิ่มนางทาสีให้อีก ๒ คน บุรุษมิตตทลิทก็ยังไม่ยอมรับ ท่านเศรษฐีไม่เห็นทางแก้ไข ก็เกิดความทุกข์โทมนัสใจ ฝ่ายบุรุษมิตตทลิทยังคงทวงถามอยู่เนืองๆ ท่านเศรษฐีจึงกล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ หม้อเก่าของพ่อก็เพียงหม้อเดียว เราให้หม้อใหม่ตั้งพันหม้อหมื่นหม้อ ก็ยังไม่รับ เพิ่มทาสีให้อีก ๒ คนก็ยังไม่ยอม คราวนี้ฉันจะทำอะไร อย่ากระนั้นเลย เราทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลขอให้ทรงวินิจฉัย จึงชนทั้งสองไปสู่พระราชทวารเข้าเฝ้าพระราชาถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระราชาทอดพระเนตรเห็นชนทั้งสองมา เมื่อจะตรัสถามท่านเศรษฐี จึงตรัสคาถานี้ว่า

กินฺนุ ตวํ อาคโต เสฏฺี สนฺตรูโปว กุปิโต
ทุมฺมุโข โทมนสฺโส เกน วณฺเณน อาคโต

ความว่า เศรษฐีท่านมาทำไม ดูซูบผอม ซีดเซียว หน้าตามัวหมองเศร้าใจ มีเรื่องอะไร จึงมานี่

ตํ สุตฺวา เสฏฺีปิ แม้ท่านเศรษฐีได้ฟังพระดำรัสถามดังนั้นก็กระทำอัญชลีกรรม เมื่อจะกราบทูลเหตุให้ทรงทราบ ได้กล่าวคาถาที่ ๒ นี้ทูลว่า

มุโข เม ทุวณฺโณ โหติ ทุกฺเขน ปีฬิโต มม
ทุมุขํ โธว โสวณฺณํ อุภินฺนํ มยฺหํ อโสกํ กร

ความว่า หน้าของข้าพระองค์มีวรรณเศร้าหมอง ด้วยถูกความทุกข์เบียดเบียน ขอพระองค์ได้ทรงชะล้างหน้าอันเศร้าหมองให้มีวรรณสดส ขอได้ทรงกระทำความไม่แห้งใจแก่ข้าพระองค์ทั้งสอง

โส ปน เสฏฺี จึงท่านเศรษฐีทูลเล่าเรื่องตั้งแต่ให้คนไปยืมหม้อเก่ามา จนกระทั่งยกนางทาสีเพิ่มให้อีก ๒ คน ถวายให้ทรงทราบตลอด แม้พระราชาก็ได้ตรัสถามบุรุษมิตตทลิทเหมือนกัน เขาจึงกราบทูลตั้งแต่ไปยืมขวานมา ถวายให้ทรงทราบจนตลอดเรื่อง พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า มหาเศรษฐี ท่านเป็นคนก่อเหตุในเบื้องต้น ทุคคตบุรุษเป็นคนกระทำสนองในภายหลัง เพราะฉะนั้น คดีของท่านจึงยุ่งยาก เราจักวินิจฉัยตามโบราณประเพณี ครั้นแล้วจึงรับสั่งถามว่า มิตตทลิท บุตรและธิดาของเจ้ามีหรือไม่ ขอเดชะ ธิดาของข้าพระองค์มีอยู่ จึงรับสั่งถามท่านเศรษฐีว่า บุตรหรือธิดาของท่านมีอยู่หรือ เศรษฐีทูลว่า ขอเดชะ บุตรของข้าพระองค์มีอยู่ จึงรับสั่งว่า มหาเศรษฐี ถ้าเช่นนั้นท่านจงกระทำการวิวาหะบุตรของท่านกับด้วยนางสิปปธนีธิดาของบุรุษมิตตทลิท จงให้ทรัพย์ไว้ประมาณ ๔๐ ถ้าว่าบุตรของท่านไม่เคารพในมารดาบิดาของหญิง มารดาบิดาของหญิงกระทำการขับไล่บุตรของท่านได้ แล้วไม่ต้องคืนทรัพย์ ๔๐ ด้วย มหาเศรษฐีท่านจงกระทำความปรองดองกันเสีย ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงส่งชนทั้งสองนั้นไป บุรุมิตตทลิทและท่านมหาเศรษฐีต่างมีความโสมนัสยินดี ถวายบังคมพระราชา ทูลลาแล้วมายังเรือนของตน กระทำการวิวาหมงคล แล้วได้ตั้งอยู่ในตำบลบ้านนั้น ตั้งแต่นั้นมา ครอบครัวทั้ง ๒ ก็ปรองดองรักใคร่กัน กาลล่วงมาภายหลัง นางสิปปธนีก็มีครรภ์ ครั้นถ้วนทสมาสวุฒกุมารผู้สามีโกรธเคืองด้วยกรณียเหตุอันใดอันหนึ่ง บริภาษว่า แน่ะนางสิปปธนีเจ้าได้เราเป็นสามีเพราะหม้อเก่าหม้อเดียว เจ้ามีสัญชาติเป็นคนชั้นทุคคตะอนาถา หาที่พึ่งบมิได้ อาศัยซึ่งทรัพย์ของเรา จึงได้นามว่าเป็นภรรยาเศรษฐี ถ้าไม่เช่นนั้น เจ้าจะเป็นผู้ที่ไร้ทรัพย์สมบัติขัดสน นางสิปปธนีได้ฟังคำผรุสวาทดังนั้น น้อยใจร้องไห้ร่ำไรดิ้นไปมา จึงตั้งสัตยาธิษฐานในราตรีกาลนั้นว่า บุตรก็ตาม ธิดาก็ตาม ในท้องของเรา ถ้าว่าจะมีบุญมีวาสนาก็จงอย่าอยู่ในตระกูลนี้ อย่าได้คลอดออกทางทวารเบื้องต่ำ เหมือนสตรีอื่น จงออกโดยมุขทวาร ครั้นนางอธิษฐานแล้ว ก็ก้าวลงสู่ความหลับ ด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐานแห่งนางสิปปธนี พิภพแห่งท้าวสักกะแสดงแล้วซึ่งอาการเป็นของร้อน แม้ท้าวสักกะทรงรำพึงถึงเหตุก็ทรงทราบ จึงเสด็จลงมาจากสักกะพิภพ แปลงพระองค์เป็นนกกางเขน เสด็จเข้าสู่ท้องแห่งนางสิปปธนีโดยฆานทวาร คาบเอาทาริกาในครรภ์ออกโดยมุขทวาร เสด็จไปยังป่าหิมพานต์ ทรงวางไว้ในครรภ์แห่งดอกประทุม มีเทพดำรัสให้เทพบุตรองค์หนึ่งทำการอารักขาทาริกา นั้นไว้แล้วเสด็จกลับไปสู่สักกะพิภพส่วนนางสิปปธนีตื่นขึ้นลูบคลำนาภีประเทศ ทราบเหตุว่าตนเป็นผู้ไม่มีครรภ์แล้ว เกิดความโสมนัสยินดีดำริว่า สัตยาธิษฐานของเราย่อมถึงซึ่งความสำเร็จ

ตทา ปน ก็ในกาลนั้น มีพระดาบสรูปหนึ่งชื่อว่า วิสุทธดาบส อาศัยอยู่ในอาศรมบทอันไม่ไกลจากสระโบกขรณีนั้นนัก ในวันนั้นวิสุทธดาบสไปสู่ท่าสระโบกขรณีเพื่อจะอาบน้ำชำระร่างกาย เห็นดอกประทุมขยายกลีบใหญ่ ทราบความที่ท้าวสักกะนำทาริกามาไว้ด้วยทิพยจักษุ จึงลงไปในสระโบกขรณี เก็บเอาประทุมดอกนั้นมาแล้วอภิบาลรักษาไว้ ทุก ๆ วัน พระดาบสไปเก็บเอาเกสรบัวมาโรยลงในอาศรม แล้วบอกนางทาริกาให้มานอน เลี้ยงดูทาริกานั้นมาด้วยองคุลี เลี้ยงดูด้วยประการอย่างไร คือให้นางทาริกานั้นกลืนกินรสน้ำนมนั้นซึ่งไหลออกจากองคุลี ๑ ให้บริโภคสุทธโภชนาหารซึ่งเกิดจากองคุลี ๑ ให้เคี้ยวกินกัทลีผล (กล้วย) ซึ่ง เกิดจากองคุลี ๑ ได้ขนานนามนางทาริกานั้นว่า นางปทุมาวดี แม้นางปทุมาวดีเมื่อเจริญวัยอายุขัยขึ้นถึง ๑๖ ปี ก็มีรูปทรงงดงาม มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ในกาลนั้นพระดาบสจึงดำริว่า อันมาตุคามนี้ย่อมเป็นปฏิปักษ์แก่เพศบรรพชิต เหล่าเทวดาทั้งปวงรู้เห็นจักครหานินทาได้ เราจักได้เรือนที่ไหนให้แก่นาง ท้าวสักกเทวราชทรงทราบพฤติการณ์นั้น จึงรับสั่งหาเวสสุกรรมเทวบุตร มีเทพดำรัสว่า เวสสุกรรมเธอจงไปยังมนุษย์โลก นิรมิตเรือนให้แก่นางปทุมาวดีไว้แห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ แล้วจงนิรมิตสวนและสระโบกขรณีพร้อมด้วยข้าวสาลีที่เกิดเอง เสร็จแล้วจารึกอักษรไว้ แล้วจงขับไล่หมู่พาลมฤคและปักษีชาติไปเสีย เวสสุกรรมเทวบุตรทูลรับพระดำรัสแล้วได้มาจัดทำตามเทพโองการ วันรุ่งขึ้นวิสุทธดาบสออกจากอาศรมเพื่อประโยชน์แก่ผลาผลไม้ เข้าไปสู่ป่าเห็นเรือนหลังนั้น จึงคิดว่า นี้ของใคร เดินเข้าไปใกล้เห็นมีอักษรจารึกว่า ท้าวสักกเทวราชทรงให้เนรมิตเรือนหลังนี้ไว้เพื่อนางปทุมาวดี ครั้นทราบดังนี้แล้ว จึงกลับมาอาศรมพานางปทุมาวดีไปให้อยู่ แม้นางปทุมาวดีไปอยู่ที่เรือนนั้น ถึงเวลากลางวันนางก็ไปอาศรมพระดาบส นำน้ำฉันน้ำใช้มาจัดตั้งไว้ กระทำวัตรปฏิบัติเสร็จแล้วกลับไปอยู่เรือนของตน

ปทุมาวดีกัณฑ์ จบ

----------------------------

ตทา ปน ก็ในกาลนั้นพระราชกุมารนามว่า กปิลราชผู้เป็นพระราชกุมารองค์ใหญ่ชวนพระโสนันทกุมารว่า เราจักไปล่าเนื้อในป่าด้วยกัน พระโสนันทกุมารรับคำชักชวนแสดงความยินดี จึ่งพระราชกุมารทั้ง ๒ ไปสู่สำนักพระชนกชนนี กราบทูลว่า ขอเดชะ หม่อมฉันทั้ง ๒ จักไปล่าเนื้อ พระเจ้าธรรมมธุรราชก็ทรงอนุญาต ทรงรับสั่งหานายพรานป่ามาให้เป็นผู้นำทางและเป็นผู้ตามรักษาพระโอรส พระราชกุมารแม้ทั้ง ๒ ถวายบังคมพระชนกชนนีแล้ว อันหมู่โยธาหาญและนายพรานป่าแวดล้อม เสด็จเข้าไปสู่ป่า ทรงแสวงหาซึ่งเนื้อทั้งหลาย ก็ในกาลนั้นมีเทพบุตรองค์ ๑ อยู่ในรุกขวิมานแห่งใดแห่งหนึ่งเห็นพระโสนันทกุมารมีผิวพรรณผ่องใสงดงามด้วยรูปสิริ จึงมาดำริว่าผู้นี้สมกับนางปทุมาวดี อย่ากระนั้นเลย เราจักพาบุรุษนี้ไปยังสำนักแห่งนางปทุมาวดี ตกลงใจฉะนี้แล้ว ละอัตตภาพแปลงเป็นกวางทอง แสดงตนวิ่งผ่านหน้าพระโสนันทกุมารไป พระโสนันทกุมารทอดพระเนตรเห็นกวางทองก็มีพระประสงค์จะใคร่ได้ จึงให้สัญญาแก่ม้าเสด็จตามไปอยู่ ก็ไม่สามารถจะวิ่งให้ทันกวางทองได้ ติดตามไปสิ้นวันยังค่ำ ม้าก็อ่อนกำลังลงไม่สามารถจะวิ่งต่อไปได้ พระโสนันทกุมารผู้พระโพธิสัตว์จึงทรงผูกม้าไว้ ณ ร่มไม้แห่งหนึ่ง ทรงดำเนินตามกวางทองไป โดยอันล่วงไปถึง ๑ วัน ก็บรรถุถึงบ้านแห่งนางปทุมาวดี รอยเท้ากวางทองก็หายไป จึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปสู่อุทยาน เลือกเก็บนานาผลไม้มาเสวย เสด็จลงสรงเสวยในสระโบกขรณี แล้วเสด็จขึ้นมาประทับนั่งในอุทยานนั้น เมื่อทรงพักผ่อนสบายแล้ว ก็เสด็จเข้าไปภายในสวน ทอดพระเนตรเห็นเรือนนางปทุมาวดี จึงมีพระดำริว่า น่าอัศจรรย์ นี่เป็นที่อยู่ เป็นรัมณียสถาน พร้อมไปด้วยรั้วรอบขอบชิด กอปไปด้วยชาลชาลาเป็นหลั่น ๆ เรือนของใครมาตั้งอยู่ในป่าใหญ่ อย่ากระนั้นเลย เราจักเข้าไปไถ่ถามดูก็จักรู้ คิดฉะนี้แล้ว เมื่อจะถามได้ตรัสคาถานี้ว่า

ทิสฺสติ ปวเน เคหํ สชิโต กสฺส อาวาโส
รตนสุวณฺณขจิตฺโต โก นามาวสเย อหุ

ความว่า รือนย่อมปรากฏในป่าใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของใคร พร้อมไปด้วยบริเวณ ดูขจิตรไปด้วยแก้วและทอง ในนั้นมีใครอยู่

นางปทุมาวดีอยู่ข้างในเรือน ได้ยินเสียงร้องถามดังนั้น จึ่งคิดว่า นี่เสียงใคร ช่างไพเราะจริง แต่คงมิใช่เสียงบิดา ใครมาจากไหน ครั้นแล้วจึงแลดูโดยช่องบัญชร เห็นพระโสนันทกุมารผู้มีรูปสิริอันงดงาม ก็มีความปฏิพัทธ์ในพระกุมาร แสดงกายครึ่งหนึ่ง พลางคิดว่า บุรุษผู้นี้ ถ้าว่าอาจเพื่อจะนำไปจากสำนักแห่งบิดาได้ เราติดต่อไว้คอยบิดาเสียเดี๋ยวนี้ คิดฉะนี้แล้ว เมื่อจะตอบคำถาม จึงกล่าวคาถานี้ว่า

วิสุทฺเธน ปสุตายํ ธีตุยา จ มม ทินฺโน
รมฺมณียํ โน อาวาสํ ตวฺจ ปสฺสสิ อีทิสํ

ความว่า ที่อยู่นี้อันพระวิสุทธดาบสขวนขวายให้ไว้แก่ดิฉันผู้เป็นธิดา ที่อาศัยของดิฉันเป็นรัมณียสถานรรื่นรมย์แต่ว่าที่อยู่เช่นนี้ท่านจะเห็น

ตํ สุตฺวา โพธิสตฺโต พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทรงสดับดังนั้น ทรงพินิจดูรูปพรรณอันสะสวยด้วยสิริ ประหนึ่งพระจันทร์โผล่ออกจากกลีบเมฆ ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ในนางปทุมาวดี ทรงรำพึงว่า สตรีนี้เป็นนางกินนรีหรือว่าเป็นธิดาคนธรรพ์ เป็นนางเทพธิดาหรือเป็นนางนาคี หรือเป็นหญิงมนุษย์ ขณะนั้นนางปทุมาวดีคิดหลากใจว่า ท่านผู้นี้เป็นใคร และเป็นบุตรของใคร มาจากไหน ควรเราจะถามดู เมื่อจะถาม จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ปุพฺพาหํ ปวเน วสึ น เม ทิฏฺโ กิฺจิ อิธ
กสฺส นุ ปุตฺโต โก นาม กุตาคโตธนุปตฺโต
กิสฺมิฺจิ ปวเน อิจฺฉสิ มยา ปุฏโ อกฺขาถ มํ

ความว่า ดิฉันอยู่นป่าใหญ่ก็นาน แต่ไม่เคยเห็นท่าน ท่านมีธุระอะไรในที่นี้ ท่านเป็นบุตรของใคร ชื่อไร มาจากหนจึงมาถึงนี่ ท่านอยู่ในป่าไหน อันดิฉันถามแล้วขอได้บอกกะดิฉัน

ตโต โพธิสตฺโต อาห ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์จึ่งตรัสตอบว่า

ธมฺมมธุรรฺโ ปุตฺโต สุนนฺโท นามโก อหํ
สุวณฺณมิคานุพนฺโธ อิธนุปตฺโต ตวํ สนฺติเก

ความว่า ฉันเป็นโอรสของพระเจ้าธรรมมธุรราช นามว่า โสนันท์ ไล่ตามกวางทองมา จึ่งได้บรรลุถึงสำนักของท่านนี้

เอรจ ปน ครั้นพระโพธิสัตว์มีดำรัสอย่างนี้แล้ว จึงมีพระดำริว่า เราจักถามซึ่งความที่นางมีสามีหรือยังไม่มี ดำริฉะนี้แล้ว ได้ตรัสคาถานี้ว่า

เอกิกา ตวํ มยา ทิฏฺโ เนว ทุติโย สหาโย
กสฺมา อิเธว เอกิกา อทู กุหึ เต สหายา
กา นาม ตฺวํ กสฺส ธีตา กสฺมา อิธ ปวเน วสิ

ความว่า ท่านเป็นผู้ผู้เดียวอันเราเห็นแล้ว สหายที่สองเรามิได้เห็น ไฉนท่านจึงเป็นผู้ผู้เดียวอยู่ในที่นี้ หรือว่าสหายของท่านไปไหน ท่านชื่อไร เป็นธิดาของใคร เป็นไฉนจึงได้มาอยู่ในป่าใหญ่นี้

เมื่อนางปทุมาวดีจะทูลแจ้งประวัติการณ์ของตน ได้กล่าวคาถานี้ว่า

ปทุมคพฺเภ ชาตาหํ วิสุทฺเธน ปริปาลิตา
ตสฺมา เอกาหํ อสามิ สกฺกทตฺติเย ฆเร วสํ

ความว่า กระหม่อมฉันเกิดในครรภ์แห่งดอกประทุม อันพระวิสุทธดาบสอภิบาลรักษาไว้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ผู้เดียว หาสามีมิได้ อาศัยอยู่ในเรือนอันท้าวสักกะทรงให้เนรมิตให้

แม้พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับคำตอบของนางปทุมาวดีแล้ว ก็ตรัสคาถานี้ว่า

สตฺตรตฺตินฺทิวาหํ นิราหาโร นิทฺโทกฺกโม
กิลนฺตกายาหํ ตุวํ นิสฺสาย เอกรตฺติฺจ

ความว่า ฉัอดอาหารและมิได้หลับนอนสิ้ คืน วัน มีกายอันเหน็ดเหนื่อย ขออาศัยท่านพักสิ้นราตรีหนึ่ง

นางปทุมาวดีได้ฟังดังนั้นก็ลงจากเรือน กระทำการต้อนรับเมื่อจะเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ด้วยเครื่องดื่มและผลไม้ ได้กล่าวคาถานี้ว่า

ราชปุตฺต ปานสีตา อาภตฺตา โปกฺขรณิยา
สเจ ตวํ อภิกฺขสิ ภาชเน ปิตํ ปิว
อปิจ ปวาคตนฺเตปิ อโถปิ อทุราคตํ
ราชปุตฺต อนฺโต อตฺถิ นานามูลผลานิปิ
วนกทฺทลิปิยาลา มทุเก กาสมาริโย
อามานิ ปกฺกานิ พหู ราช ภุฺช วราวรํ
มฺจปิฏเ นิสีทตุ นิปฺปชฺชตุ จ ปลฺลเก
ปจฺจุตฺถรเณ จ สนฺถเต นิปฺปชฺชตุ ยถา สุขํ

ความว่า ข้าแต่พระราชบุตร น้เย็นอันกระหม่อมฉันนำมาแล้วแต่สระโบกขรณี ถ้าว่าพระองค์มีความจำนง ก็จงเสวยน้ที่ในภาชนะ อนึ่งการมาดีมีมงคลย่อมมีแม้แก่พระองค์ ข้าแต่พระราชบุตรบ้างในย่อมมีมูลผลาผลไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วยป่า มะหาด มะทราง มะปรางและแตงกวา มะม่วงที่งอม ๆ ก็มีมาก ขอพระองค์จงเลือกสรรเสวยแต่ที่ทรงปรารถนา ขอพระองค์ได้ประทับนั่งบนเตียงและตัง ได้บรรทมบนบัลลังก์และบรรจถรณ์ตามพระทัยปรารถนา

ด้วยประการฉะนี้แล พระโสนันทราชกุมารและนางปทุมาวดีต่างมีความปราโมทย์ ยามเสวยก็เสวยด้วยกัน ยามประทับนั่งนอนก็ด้วยกัน ต่างได้ส้องเสพซึ่งโลกียรส

จบอุภโตสัมปัตตกัณฑ์

----------------------------

ตโต ภายหลังเสนาโยธาหาญทั้งปวงมีพระกปิลราชกุมารเป็นประมุข เมื่อไม่เห็นพระโสนันทกุมาร ช่วยกันค้นหาข้างนี้ด้วย ๆ ก็มิพบเห็น ขณะที่เที่ยวหาตามชอกตามเขาตามพุ่มไม้ต้นไม้ตามชัฏแห่งป่าทั่วทุกหนทุกแห่งไ ปพบพาชีผูกติดอยู่ที่ต้นไม้แห่งหนึ่ง จึงจูงเอาม้านั้นพากันกลับ เดินทางมา ๗ วัน พักพลไว้ในประเทศแห่งหนึ่งแล้ว พระกปิลราชกุมารก็ทรงม้าเข้าไปยังพระนคร กราบทูลแด่พระชนกชนนีว่า ขอเดชะ โสนันทไล่ตามกวางทองหายสูญโดยอันล่วงไปแห่ง ๗-๘ วัน หม่อมฉันพร้อมด้วยอำมาตย์และโยธาหาญเที่ยวค้นหาก็มิได้เห็น พระชนกชนนีได้ทรงทราบดังนั้นทรงหวั่นไหวประหนึ่งว่าพระทัยจะแตกทำลาย ทรงโศกาลัยรำพัน ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า

หาหา ปุตฺต เนตฺตวร กี ตวํ มมํ ขหิสฺสสิ
กุหึ คโต โสนนฺโท จ กิมฺมํ นิหริตฺวา คโต
อโห พาโล เยว ตาต ทุมฺมนสฺสํ เกน กตํ
มม ตยา ทุกฺขํ ทินฺนํ เอหิ ตฺวํ ทุกฺขํ นิพฺพาหิ
ปาปมิตฺโต ยกฺโข เยว อุทาหุ ยกฺขิ เจว ตํ
วฺเจตฺวา นิหริตฺวา จ ตฺวํ มํสํ อขาทสิ
อโห รกฺขโส อุทาหุ ปิสาโจ เจว กุมฺภณฺโฑ
มม ปุตฺตํ วฺเจตฺวาว คเหตฺวา นียเร วเน

ความว่า โอ้พ่อดวงนัยน์เนตร เหตุหนมาละพ่อแม่ไปเสีย พ่อโสนันทเจ้าปไหน ไฉนไม่มานำพ่อแม่ไปด้วย พ่อยังเยาว์ ความน้อยใจอันใครทำให้ ความทุกข์ทรมานอันเจ้าทำให้แก่เรา พ่อจงมาดับความทุกขเวทนาเสีย ปาปมิตรหรือยักษ์และยักษินีมาหลอกลวงเจ้านำไปเคี้ยวเนื้อกินเสีย น่าสังเวช หรือผีเสื้อปีศาจและกุมภัณฑ์มาหลอกวงลูกของแม่พาไปไว้นป่า

เมื่อสองกษัตริย์ทรงกรรแสงรำพันกระสับกระส่ายอยู่อย่างนี้ จะประทับนั่งหรือยืนก็ไม่เป็นปรกติ ทรงยกแขนทั้งสองขึ้นข้อนทรวงรำพันร่ำไรอยู่ เหล่าประชาราษฎร์และนางนาฏกัญญาพวกพ่อค้าและกุมาริกา ทั้งเสนาโยธามาตย์และพราหมณ์ปุโรหิตต่างก็พากันประคองพาหาขึ้นร่ำทรวง กลิ้งเกลือกไปมานอนสลบอยู่ในที่นั้นๆ ประหนึ่งว่าสาลวันไม้รังต้องลมพัดล้มระเนระนาดอยู่ในป่าใหญ่ฉะนั้น พวกประชาชนพากันกระทำพลีกรรมบวงสรวงเทวดา บนบานว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า ขอทวยเทพจงรับพลีกรรมและสักการบูชา แล้วตามรักษาซึ่งพระราชบุตร ส่วนพระราชมารดาทรงรักษาศีลบำเพ็ญทาน อุทิศส่วนกุศลหวังผลว่าขออานิสงส์ของบุญนี้ จงตามรักษาพระลูกเจ้า

จบวิลาปกัณฑ์

----------------------------

โสนนฺทกุมาโร ปน ส่วนพระโสนันทกุมาร อยู่ร่วมกับนางปทุมาวดีโดยอันล่วงไป ๗ วัน ทรงระลึกถึงพระชนกชนนี ได้รำพึงในพระทัยว่า นี่พระชนกชนนีไม่ทรงทราบเหตุแห่งการที่มาที่นี่ จักไม่รู้ว่าจะตายหรือเป็นอย่างไร ย่อมจะทรงเศร้าโศก เสวยทุกขเวทนา เพราะฉะนั้นเราไม่ควรทำเนิ่นช้าดำริฉะนี้แล้วจึงบอกแก่นางปทุมาวดีว่า ทฺ แน่ะนางผู้เจริญ ฉันจักลาไปยังพระนครพาราณสี ทูลพฤติการณ์พระชนกชนนีแล้วจักจัดแจงบรรณาการกลับมาที่นี่ สู่ขอพระฤษีผู้เป็นบิดา กระทำการวิวาห์เสร็จแล้ว จักนำนางไปสู่พระนคร ตั้งแต่งไว้ในฐานะพระมเหสี แล้วตรัสปลอบว่า อย่าเศร้าโศกโทมนัสไปเลย ประมาณ ๑๐ วันฉันจักกลับมา นางปทุมาวดีได้ฟังดังนั้นเป็นดุจหทัยจะแตกทำลาย เข้ากอดบาทพระราชกุมารไว้ร่ำไรรำพันว่า ข้าแต่พระราชบุตร พระองค์อย่าชักช้านัก จงรีบกลับมารับกระหม่อมฉัน เมื่อพระโสนันทกุมารรับคำ นางก็จัดแจงเสบียงเดินทางถวาย ภทฺเท ดูกรนางผู้เจริญจงบอกทางไปยังพระนครพาราณสีแก่ฉันด้วย ลำดับนั้น นางปทุมาวดีจึงทูลว่า ข้าแต่พระราชบุตร พระสุทธดาบสผู้เป็นบิดาของกระหม่อมฉันบอกไว้ว่า ทางไปพระนครพาราณสีอยู่ทิศอุดรนี่ วิเทหนครอยู่ทิศบูรพา กัมโพชนครอยู่ทิศปัจฉิม มคธนครอยู่ทิศทักษิณ วันรุ่งขึ้นพระโสนันทกุมารเสวยโภชาหารเสร็จแล้ว ตรัสว่า ภทฺเท ดูกรนาง จงนำพระขรรค์ ลูกศรและธนูมา ฉันจักลาไป นางปทุมาวดีมีหน่วยเต็มไปด้วยน้ำตา หยิบพระขรรค์ลูกศรธนูและถุงเสบียงเดินทางถวาย พระโสนันทกุมารมิอาจเพื่อจะกลั้นความโศกคัลย์ไว้ได้ ทรงกรรแสง เสด็จลงจากเรือน พลางเหลียวหลังดูนางปทุมาวดี ส่วนนางปทุมาวดีมีหทัยหวั่นไหวอยู่ดุจแตกทำลาย ตามไปส่งเสด็จครึ่งทาง แสดงมรรคาอันมีภูเขามีชัฏป่าและแม่น้ำเป็นเครื่องหมายแล้วทูลสั่งว่า ข้าแต่พระราชบุตร พระองค์อย่าช้านัก ขอได้รีบเสด็จมาภายใน ๗ คืน ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมา กระหม่อมฉันก็ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ จักถึงซึ่งความตาย พระโสนันทกุมารตรัสปลอบว่า นางจงรอ ๑๐ วันฉันจักกลับมา แล้วก็เสด็จตรงไปยังทิศอุดรตามระยะทางที่นางปทุมาวดีชี้แจงถวาย เสด็จไปโดยลำดับมรรคา ก็บรรลุถึงซึ่งพักพลเหล่าชนมีเสนาเป็นอาทิเห็นพระราชกุมารเสด็จกลับมา ต่างก็ดีอกดีใจ ส่งทูตล่วงหน้าไปกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชบุตรของพระองค์เสด็จกลับมาแล้ว พระชนกชนนีทรงทราบดังนั้น ก็โสมนัสตั้งพระทัยอยู่ว่าขอลูกเราจงมาถึงไวๆ ฝ่ายพระโสนันทกุมารเสด็จเข้าไปยังราชตระกูลถวายบังคมพระชนกชนนีแล้ว ประทับนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทันใดนั้น พระชนนีเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปประคองจุมพิตที่ศีรษะ แล้วตรัสถามว่า พ่อไปไหนมา หายไปสิ้นกาลนาน มารดาหทัยแทบจะแตกทำลาย พร่ำแต่ร้องไห้กินน้ำตาเจียนจะถึงซึ่งความตาย พระโสนันทกุมารก็ทรงเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนปริโยสานถวายให้ทรงทราบ พระเจ้าธรรมมธุรราชได้ทรงทราบ ดังนั้น ก็เกิดความโสมนัสปรีดา รับสั่งหาเสนาบดีมาทรงบัญชา โดยคาถาประพันธ์ว่า

โยชยนฺตุ รเถ อสฺเส เนคมา จ มํ อเนวนฺตุ
คจฺฉ สุณิสํ อคณฺหุ  
โอโรธา จ กุมารา จ เวสิยานา จ พฺราหฺมณา
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ คจฺฉ สุณิสํ อคณฺหึ
หตฺถาโรหา อนึกตฺถา รถิกา ปตฺติการกา
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ คจฺฉ สุณิสํ อคณฺหึ
สมาคตา ชานปทา เนคมา จ สมาคตา
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ คจฺฉ สุณิสํ อคณฺหึ

ความว่า จงให้จัดรถและม้าเตรียมไว้ แล้วจงให้ชาวนิคมตามเราไปด้วย เราจะไปรับลูกสะใก้ พวกนางสนมในทั้งพวกกุมาราและพวกพ่อค้าพราหมณาทั้งหลายจงรีบจัดยานพาหนะไว้ เราจะไปรับลูกสะใภ้ พวกพลช้างพลม้าพลรถบทจรจรีบจัดยานพาหนะไว้ เราจะไปรับลูกสะใภ้ พวกนิคมชนบทจงมาพร้อมกันรีบจัดยานพาหนะไว้ เราจะไปรับลูกสะใภ้

เอวํ ราชา พระเจ้าธรรมมธุรราชทรงให้ประชุมเสนา ๔ เหล่า เสนี ๑๘ เหล่า เป็นพลนิกายพร้อมสรรพด้วยประการฉะนี้ แล้วให้ถือเครื่องบรรณาการที่สมควรจะพึงจัดไป พระองค์พร้อมด้วยพลนิกาย ด้วยพระราชโอรส ๗ พระองค์ พระอัครมเหสี และพวกนางในเสด็จออกจากพระนครตรงไปยังอาศรมแห่งวิสุทธดาบส บรรลุถึงอาศรมโดยลำดับแล้ว รับสั่งให้พักพลไว้ในภายนอก

พระวิสุทธดาบสได้ยินเสียงแห่งหมู่ชนเหล่านั้นเช็งแซ่ ก็มิแน่ใจว่าเป็นเสีงอะไร จึงแลดูด้วยทิพจักษุ ก็รู้ว่า พระเจ้าธรรมมธุรราชเสด็จมารับนางปทุมาวดี แล้วท่านก็เรียกนางปทุมาวดีให้มาอยู่เสียภายในอาศรมของตน ส่วนพระราชาทั้งพระโอรสทั้งหลายทรงนุ่งห่มผ้าสาฎกขาว ประนมอัญชลีกรเสด็จเข้าไปยังอาศรมบทแล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระเจ้าธรรมมธุรราชก็ทรงกระทำปฏิสัณฐารดำรัสถามข้อความ โดยบาทคาถาว่า

กิจฺุจิ นุ โภโต กุสลํ กจฺจิ โภโต อนามยํ
กจฺจิ อุฺเฉน ยาเปถ กจฺจิ มูลผลา พหู
กจฺจิ ฑํสา จ มกสา อปฺปเมว สิรึสปา
วเน พาลมิคากิณฺเณ กจฺจิ หึสา น วิชฺชติ

ความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ความสุขสบายย่อมมีอยู่หรือหนอ พอจะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงและหรือ มูลผลาหารมีมากอยู่หรือ เหลือบยุงงูเล็กงูใหญ่ หมู่พาลมฤคพรไม่บีฑาเบียดเบียนบ้างหรือ

สุตฺวา ตาปโส พระวิสุทธดาบสได้ฟังพระดำรัสถามดังนั้น เมื่อจะทูลแจ้งความสุขสำราญ ได้กล่าวคาถานี้ว่า

กุสลฺเจว เม ราช อโถ ราช อนามยํ
อโถ อุฺเฉน ยาเปม อโถ มูลผลา พหู
อโถ ฑํสา จ มกสา อปฺปเมว สีรึสปา
วเน พาลมิคาวกิณฺเณ หึสา มยฺหํ น วิชุชติ

ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า อาตมาย่อมมีความสุขสำราญ พอจะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหา ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก อีกเหลือบยุงและงูเล็กงูใหญ่ หมู่พาลมฤคไพรก็ไม่บีฑา

เมื่อพระดาบสจะทูลถามเหตุการณ์เสด็จมาแห่งพระราชา ได้กล่าวคาถานี้ว่า

ตุมฺเหปิ เกน วณฺเณน เกน วา ปน เหตุนา
อาคตาตฺถ พรฺหารฺํ ตมฺเม มกฺขาล ปุจฺฉิตา

ความว่า แม้พระอค์เล่า ก็ด้วยเรื่องราวหรือเหตุการณ์เป็นไฉนจึงได้เสด็จมา อาตมาทูลถามกะพระองค์ผู้มหาราชเจ้า ขอได้ตรัสบอก

สุตฺวา ราชา พระเจ้าธรรมมธุรราชได้ทรงสดับดังนั้น เมื่อจะตรัสขอนางปทุมาวดี ได้ตรัสคาถานี้ว่า

ยํ อิจฺฉิ รตนํ วิตฺตํ สุวณฺณรชตโภคํ
ตํ สพฺพํ ตุยฺหฺจ ทมฺมิ ธีตรํ เม เทถ ยาจิโต

ความว่า ท่านปรารถนาแก้วแหวนเงินทองข้าวของสิ่งใดๆ ข้าพเจ้าจะยอมถวายสรรพสิ่งของนั้นๆ แก่ท่านๆ อันข้าพเจ้าขอซึ่งธิดาแล้วจงยกให้

สุตฺวา ตาปโส พระดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า

น วิกิเณยฺย ธีตรํ ธเนหิ วา รตเนหิ
มา อวจ ราช อยุตฺตํ อสปฺปุริโส ธนํ อิจฺฉิ
สปฺบุริโส อิจฺฉิ สจฺจํ ตสฺมาหํ ตว สจฺจํ ยาจึ

ความว่า บุคคลไม่พึงขายธิาด้วยเงินทองหรือแก้วแหวน ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ตรัสคำมิควร อสัตบุรุษปรารถนาซึ่งทรัพย์ สัตบุรุษปรารถนาซึ่งความสัตย์ เพราะฉะนั้นอาตมาขอซึ่งความสัตย์กะพระอค์

ตํ สุตฺวา ราชา พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า ภนฺ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านปรารถนาสิ่งใด ข้าเจ้าขอถวายสิ่งนั้นแก่ท่าน แต่ท่านจงยกธิดาให้แก่ข้าพเจ้า

พระวิสุทธดาบสจึงทูลว่า พร ๔ ประการอันพระองค์ประทานแล้วแก่อาตมา ๆ จึงจักยกธิดาถวาย พระราชาจึ่งตรัสถามว่า พร ๔ ประการนั้นเป็นอย่างไร พระดาบสจึงทูลแจงพร ๔ ประการว่า พระองค์อย่าให้กระทำธิดาของอาตมาเป็นอนุภรรยา อนึ่ง หญิงอื่นกล่าวโทษแก่ธิดาของอาตมา พระองค์ต้องพิจารณาซึ่งโทษานุโทษ อนึ่งธิดาของอาตมาต้องโทษานุโทษ พระองค์จงประทานโอวาทสิ้นวาระที่ ๑ จงทรงบริภาษสิ้นวาระที่ ๒ จงประหารสิ้นวาระที่ ๓ อนึ่งพระองค์จงรักษาธิดาของอาตมา เมื่อพระองค์ทรงประทานพร ๔ ประการนี้แก่อาตมาได้ ก็จงนำไปซึ่งธิดาของอาตมา พระราชาได้ทรงทราบดังนั้น ก็ประทานพร ๔ ประการและเครื่องบรรณาการทรงประดับประดานางปทุมาวดี นมัสการพระดาบสแล้ว พานางปทุมาวดีเสด็จไปยังที่พักพล พระเจ้าธรรมมธุรราชทรงสักการบูชาพระดาบส ถึงกำหนดวันที่ ๗ ก็ทรงพากษัตริย์เหล่านั้นไปนมัสการลาพระดาบส แล้วเสด็จมายังพระนครพาราณสี ทรงอภิเษกพระโสนันทกุมารกับด้วยนางปทุมาวดี แล้วรับสั่งให้อยู่ในปราสาทแห่งหนึ่ง นางปทุมาวดีเป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระโสนันทกุมาร

จบอาวาหกัณฑ์

----------------------------

ตทา ปน ก็ในกาลนั้น ชายาของพระกปิลราชกุมาร อันมีนามว่านางกาลกัณณี รำพึงว่า กาลก่อนเราปรารถนาจะได้พระโสนันท์เป็นสามี แต่บัดนี้พระโสนันท์เป็นสามีของนางปทุมาวดีเสียแล้ว เรามาเป็นภริยาของกปิลราชกุมาร ก็กปิลราชย่อมเป็นที่รังเกียจ เป็นที่บาดใจเรา แต่ก็ช่างเถอะ เราจักฆ่าเธอเสีย แล้วเอาพระโสนันท์ ครั้นนางคิดฉะนี้แล้วก็แสวงหาซึ่งสารหนู ได้แล้วใส่ลงในขนมต้ม จัดขนมใส่ภาชนะไว้ ของเคี้ยวของบริโภคอย่างอื่นนางมิได้จัดหา ส่วนว่ากปิลราชกุมารทรงกีฬาที่สนามเสร็จแล้ว ถึงเวลาเย็นก็เสด็จกลับ ทรงถูกความหิวเบียดเบียนแล้ว รับสั่งหานางกาลกัณณีมาดำรัสว่า ภทฺเ แน่ะนางจงนำของเคี้ยวของบริโภคมา ฉันอันความหิวเบียดเบียนแล้วจะต้องบริโภค นางจึ่งทูลว่า ข้าแต่พระราชบุตร กิจอันหนึ่งย่อมมีแก่กระหม่อมฉัน ๆ จึงมิได้จัดหาขาทนียโภชนียอื่นไว้ถวาย มีแต่ขนมต้ม ขอพระองค์จงเสวยไปก่อน นางกาลกัณณีจึงนำขนมต้มมาถวายพระราชกุมาร พระราชกุมารเสวยขนมนั้นแล้ว ด้วยกำลังแห่งยาพิษ มีพระอาการกระวนกระวายวิงเวียน ล้มลง ณ ภาคพื้น ทรงกระสับกระส่ายสิ้นพระชนม์อยู่ ณ ที่นั้น แม้นางกาลกัณณีก็ร่ำไรรำพันไปยังสำนักแห่งพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชบุตรผู้สามีของกระหม่อมฉันสิ้นพระชนม์โดยปัจจุบันโรค พระเจ้าธรรมมธุรราชได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงกรรแสง ทรงปริเทวนาการรับสั่งหาพระราชกุมารทั้ง ๕ พระองค์มา ดำรัสสั่งว่า พ่อทั้งหลายจงเฝ้าศพพี่ชายของเจ้า แม้พระราชกุมารทั้ง ๕ พระองค์ก็ไปเฝ้าพระศพสิ้น ๕ วัน ลำดับนั้น นางกาลกัณณีไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมาร ๕ พระองค์เฝ้าพระศพอยู่สิ้น ๕ วันแล้ว วันนี้พระองค์จงอนุญาตเพื่อเฝ้าพระศพกะโสนันท์ แม้พระเจ้าธรรมมธุรราชก็ทรงรับสั่งหาพระโสนันทกุมาร มาดำรัสสั่งว่า พ่อ น้องชายของเจ้าเฝ้าศพอยู่สิ้น ๕ วัน วันนี้เจ้าจงไปเฝ้า พระราชกุมารรับสั่งแล้ว ทรงพานางปทุมาวดีไปสู่ปราสาท ประทับอยู่พร้อมกับด้วยนางสนมในและพวกนางทาสี ถึงเวลาเที่ยงคืนพระโพธิสัตว์และพระเทวี ทั้งพวกนางทาสีและหญิงทั้งปวงก้าวลงสู่ความหลับสิ้น ยังแต่นางกาลกัณณีคนเดียวยังมิหลับ นางจึงตัดองคุลีแห่งพระศพไว้ ๑ องคุลี แล้วใส่เข้าในมวยผมแห่งนางปทุมาวดีแล้วก้าวลงสู่ความหลับ ถึงวันที่ ๒ พระราชาและมหาชนประชุมกันยกพระศพไปสู่กุฏาคาร เหล่าหญิงสะใภ้และนางในและพวกเฝ้าปราสาททั้งนางทาสีต่างก็สยายผมร้องไห้ ส่วนนางปทุมาวดีมิได้สยายผมร้องไห้ เพราะฉะนั้นนางกาลกัณณีจึงกราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ หญิงทั้งหลายต่างสผายผมร้องไห้ ส่วนนางปทุมาวดีลูกสะใภ้ของพระองค์หาได้สยายผมร่ำไรอย่างเขาไม่ พระราชาทอดพระเนตรดูนางปทุมาวดีแล้วตรัสว่า นางจงสยายผมเสีย นางปทุมาวดีจึ่งกราบทูลว่า ขอเดชะ กระหม่อมฉันไม่ทราบธรรมเนียม พึ่งทราบในบัดนี้ แล้วนางก็สยายผมร้องไห้ แม้องคุลีก็ตกนางกาลกัณณีเห็นดังนั้น จึ่งหยิบขึ้นแสดงแก่มหาชน ประกาศว่า ท่านทั้งหลายหญิงนี้เป็นรากษส ตัดเอาองคุลีนี้ใส่ไว้ในมวยผม ปรารถนาจะเคี้ยวกิน ฝ่ายพระราชาได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงดุษณีภาพอยู่ เพราะได้ยกพระศพไปเสียแล้ว ครั้นทำการฌาปนกิจเสร็จแล้ว นางกาลกัณณีจึงเข้าไปเฝ้าพระราชากราบฑูลว่า ขอเดชะ นางปทุมาวดีเป็นนางรากษส ย่อมเคี้ยวกินได้ซึ่งองคุลีแห่งพระศพ เพราะฉะนั้นพระองค์พึงให้ประหารชีวิตเสีย หรือพึงให้จับเนรเทศไปเสียจากพระนครแล้วให้ลอบฆ่าเสีย เมื่อมีพระราชดำรัสค้านว่า ให้ฆ่าเสียไม่ได้ จักต้องส่งคืนไปยังสำนักพระดาบส ฉะนี้แล้วนางกาลกัณณีทูลเตือนว่า ขอพระองค์ได้ทรงให้รีบจัดส่งไปเสีย พระเจ้าธรรมมธุรราชจึ่งรับสั่งหาอำมาตย์ทั้ง ๔ มีพระราชดำรัสว่า พนายจงพานางปทุมาวดีไปส่งยังสำนักพระวิสุทธดาบส แล้วจงเรียนให้ท่านทราบเหตุ อำมาตย์ทั้ง ๔ ทูลรับพระโองการแล้วไปสู่ปราสาทแห่งนางปทุมาวดีทูลเหตุการณ์กะพระโสนันทกุมารว่า ข้าแต่พระราชบุตร พระราชารับสั่งให้พวกข้าพระองค์พานางปทุมาวดีไปส่งยังสำนักพระดาบส พระโสนันทกุมารจึ่งอนุญาตว่า เมื่อมีรับสั่งมาอย่างไร พวกท่านก็จงทำอย่างนั้น นางปทุมาวดีได้ยินคำอนุญาตดังนั้น ก็ฟุบลงที่บาทพระสามีร้องไห้ร่ำไรไปต่าง ๆ นา ๆ แล้วทูลว่า พระองค์ยังมิทรงทราบความที่กระหม่อมฉันมีโทษหรือไม่มีโทษได้ในบัดนี้ ภายหลังจะทรงทราบครั้นแล้วก็ซบลงที่บาทพระสามีทูลขอขมาโทษ ทูลร่ำลา ส่วนพระโสนันทกุมารมีพระทัยหวั่นไหวทรงโสกาลัย ประหนึ่งว่าพระทัยจะแตกทำลายเข้ากอดชายาทรงปริเทวนาการว่า ชาติก่อนเราทั้ง ๒ เคยทำการพรากผู้อื่น มาชาตินี้เราจึงต้องจากกันทั้งรัก ให้นางขมาโทษแล้วทรงส่งไป อำมาตย์ทั้ง ๔ กับนางปทุมาวดี ถวายบังคมพระราชกุมารทูลลา แล้วลงจากปราสาทออกจากพระนครเดินตรงไปสู่ป่า แม้พระโพธิสัตว์ถึงซึ่งการพรากจากชายาแล้ว ก็มีแต่ความทุกข์โหมนัสเศร้าโศกกรรแสงพร่ำไป ฝ่ายนางกาลกัณณีจึ่งกราบทูลความที่พระมหาสัตว์ทรงเศร้าโศกแด่พระราชา เพราะฉะนั้นพระราชาจึ่งมีดำรัสว่า หญิงใดทำความโศกของลูกเราให้สงบได้ เราจักทำการอาวาหะหญิงนั้นกับด้วยลูกของเรา

นางกาลกัณณีทูลรับว่า กระหม่อมฉันจักพยายามดู แล้วนางก็ขึ้นไปสู่ปราสาทพระโสนันทกุมาร ถวายบังคมแล้ว ปลอบโยนด้วยอาการต่าง ๆ ประเล้าประโลมด้วยมารยาหญิง อำมาตย์ทั้ง ๔ จึ่งพานางปทุมาวดีเข้าไปสู่ป่าสูง ถึงสถานที่แห่งหนึ่งทางประมาณกึ่งโยชน์ เป็นรัมมณียสถาน พากันนั่งพัก ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง นางปทุมาวดีจึงกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย โทษย่อมไม่มีแก่ฉัน ภายหลังพวกท่านจักรู้ซึ่งโทษและใช่โทษ พวกท่านอย่าพาฉันไปสู่สำนักแห่งบิดาเสย ฉันจักอยู่ในที่นี้ พวกท่านจงพากันกลับพระนครเสียเถิด อำมาตย์เหล่านั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่แม่เจ้า พวกข้าพเจ้าอันพระราชาทรงบัญชามาแล้ว ไม่อาจเพื่อจะกลับ จักต้องไป นางได้ฟังดังนั้นจึงให้แหวนแก่อำมาตย์ทั้ง ๔ คน ๆ ละวง แล้วกล่าวว่า พ่อจงพากันกลับเสียเถิด ถ้าว่าพระราชารับสั่งถาม ก็จงกราบทูลว่า ขอเดชะ พวกข้าพระองค์ส่งมอบแก่ฤษีแล้ว ครั้นแล้วนางก็จัดส่งพวกอำมาตย์กลับ พวกอำมาตย์ไหว้นางปทุมาวดีกลับมายังพระนคร กราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ แล้วนางกาลกัณณีได้ยินดังนั้นก็ดีใจ เปล่งอุทานว่า

สุสุขํ วต ชีวามิ ปาปมิตฺตา วิมุตฺตาหํ
มหนฺตํ ปกติ ปาปํ สุขํ สยามิ อิทานิ

ความว่า คราวนี้เราอยู่เป็นสุขละ เราพ้นจากศัตรูหมู่ร้ายแล้ว อุบายทุจริตอันใหญ่หลวงเรากระทำเสร็จไปแล้ว ต่อไปนี้เรานอนสบาย

ตโต ปฏฺาย ตั้งแต่กาลนั้นมา นางกาลกัณณีก็ได้เป็นภริยาพระโสนันทกุมาร ส่วนนางปทุมาวดีเทวีส่ง ๔ อำมาตย์กลับแล้ว เป็นผู้ผู้เดียวอยู่ในป่าสูง มีหน้าเฉพาะอาศรมพระวิสุทธดาบส ก้มศีรษะลงกระทำความเคารพ ๓ ครั้ง แล้วประคองอัญชลีขึ้น ณ เศียร นั่งยองกระทำสัตยาธิษฐานว่า ข้าแต่แม่ธรณี ขอจงเป็นทิพพยานของข้าเจ้า ถ้าว่าข้าเจ้าเป็นรากษสไซร้ ก็ขอแม่ธรณีจงให้ซึ่งช่องแก่ข้าเจ้า ถ้าว่ามิได้เป็นแล้วไซร้ ก็อย่าให้ซึ่งช่องเลย ครั้นอธิษฐานจบแล้ว ก็กระทำการอธิษฐานอีก ได้กล่าวคาถานี้ว่า

เยนาหํ น ทกรกฺขสี น อสุภํ จ ขาทามิ
เตน สจฺเจน อิมํ านํ อุยฺยานชาตํ อหุ
ตรุณรุกฺเขหิ สฺฉนฺนํ ปุปฺผผเลหิ สพฺพถา
เย ปาปา ติตฺติกา ชาตา เย ปุฺโวชฺชสมฺปนฺนา
มยฺหํ กายเทหํ อตฺถิ อาสนเทโห จ โหตุ
เทฺว หตฺถา จ เทฺว ปาทา เทหสฺส ถมฺภาโย โหตุ
ปตฺตลนาภิ จ มยฺหํ ภูมตฺถรณํ สาลสฺส
ปิฏฺกฺกํ จ มยฺหํ ฆรกณฺณิกํ จ ชาตํ
มยฺหํ ผาสุกฏฺิ ปน ฆรโคปาณกา ชาตา
สีสกฏฺิ มยฺหํ เจว กณิการนิวาตฺจ
เกสา โลมานิ จ มยฺหํ กุสติณฺณฉทนฺจ
มํสตจนหารูนิ มยฺหํ ภิตฺติ นิวรณานิ จ
เทฺว กณฺณกา สุวโปติกา ทฺวากฺขีนิ เอกา สุวิกา
มม ปฏฺนา สมิชฺฌ อิมินา สจฺเจน วตฺตตุ

ความว่า ข้าพเจ้ามิได้เป็นราษสและมิได้เคี้ยวกินซี่งอสุภะด้วยความสัตย์นี้ ขอที่นี้จงเกิดเป็นสวน ดาดไปด้วยพรรณไม้ย่อม ๆ พร้อมไปด้ยดอกและผล ด้วยประการทั้งปวง ผู้ดใจบาปลื้มรสเป็นขมขื่น ผู้ใดมีบุญลิ้มรสก็มีโอะ ร่างกายของข้าเจ้า จงเป็นศาลาาศัย คือมือและเท้าทั้ง ๒ จงเป็นเสาศาลา พื้นท้องและนาภีประเทศจงเป็นกระดานพื้น หลังและคอจงเป็นช่อฟ้า ซี่โครงและกระดูกจงเป็นกลอน กระโหลกศีรษะจงเป็นหน้าต่างป้องกันลม ผมและขนจงเป็นหญ้าาปกคลุมหลังคา เนื้อหนังและเอ็นจงเป็นฝาป้องกันอันตราย หูทั้ง ๒ จงเป็นถูกนกแขกเต้าตัว ๑ ตาทั้ง ๒ จงเป็นแม่นกแขกเต้าตัว ๑ ขอความปรารถนาชอบข้าเจ้าจงสำเร็จ ขอจงเป็นไปด้วยความสัตย์นี้

ตทา ในกาลนั้น ร่างนางปทุมาวดียังคงเป็นรูปเดิม และเป็นศาลาด้วย นกแขกเต้าทั้ง ๒ พูดภาษามนุษย์อยู่ทุกๆ วัน ก็กาลนั้น มหาชนเที่ยวสัญจรไปอยู่ เห็นสระสวนก็ขวนกันดื่มน้ำอาบน้ำ เที่ยวเก็บผลไม้ต่างพรรณกินได้ตามชอบใจ นั่งพักในศาลาฟังการปุจฉาวิสัชนาแห่งนกแขกเต้าทั้ง ๒

ลูกนกเมื่อจะถาม ได้กล่าวว่า อมฺม ข้าแต่แม่ นางปทุมาดีเป็นผีเสื้อน้ำหรือ แม่นกจึงกล่าวว่า ลูก นางปทุมมาวดีมิใช่เป็นผีเสื้อน้ำ เป็นหญิงที่มีบุญมากถึงพร้อมด้วยบุญฤทธิ์ ข้าแต่แม่ เป็นไฉนพระราชาจึงได้ทรงขับไล่เสียเล่า ลูกไม่รู้เหตุหรือ ขอแม่ได้แจ้งเหตุ เมื่อแม่นกจะแจ้งเหตุได้กล่าวว่า ลูกจงฟัง แม่จักเล่าเรื่อง เมื่อลูกนกรับคำแล้ว แม่นกจึงกล่าวว่า หญิงคนหนึ่งชื่อว่านางกาลกัณณีเป็นภริยาของกปิลราชกุมาร แต่นางไม่รักสามีของตน นางมีความรักใคร่พระโสนันทกุมารผู้เป็นสามีของนางปทุมาวดี เพราะฉะนั้น นางกาลกัณณีจึงยังสามีของตนให้ตายด้วยยาพิษ ครั้นนางฆ่าผัวแล้ว ปรารถนาอยู่ซึ่งพระโสนันทกุมาร จึ่งตัดองคุลีแต่พระศพใส่ไว้ในมวยผมแห่งนางปทุมาวดี ประกาศแก่มหาชนและกราบทูลพระราชาว่า นางปทุมาวดีนี้เป็นผีเสื้อน้ำ พระราชาทรงเชื่อถือถ้อยคำนางกาลกัณณี จึงรับสั่งให้อำมาตย์ทั้ง ๔ นำตัวนางมาส่งพระวิสุทธดาบส อำมาตย์ทั้ง ๔ รับพระโองการนำนางไปส่งแล้ว เรื่องจริงมีอยู่ฉะนี้แหละลูก จะว่านางปทุมาวดีเป็นผีเสื้ออย่างไร อมฺม ข้าแต่แม่นางปทุมาวดีมีบุญเป็นอย่างไร ลูก นางปทุมาวดีเป็นธิดาของนางสิปปธนี ตั้งอยู่ในครรภ์ ๑๐ เดือน ด้วยอานุภาพแห่งการอธิษฐานของนางสิปปธนี ท้าวสักกเทวราชแปลงพระองค์เป็นนกกางเขน บินเข้าสู่ครรภ์โดยฆานทวาร คาบสัตว์ในครรภ์ออกโดยมุขทวาร ไปสู่ป่าหิมพานต์ ทรงวางไว้ในดอกประทุมแล้วเสด็จไปสู่สวรรค์ พระวิสุทธดาบสไปพบเข้า จึ่งเอามาเลี้ยงไว้ในอาศรมครั้นอายุนางได้ ๑๖ ปี ท้าวสักกเทวราชก็เนรมิตเรือนไว้ให้ในป่า เพราะฉะนี้ เราจึ่งกล่าวว่านางมีบุญ ข้าแต่แม่ ด้วยประการอย่างไร นางปทุมาวดีจึงขึ้นชื่อว่ามีฤทธิ์เล่า แน่ะลูก สวนสระโบกขรณีและศาลานี้ เกิดขึ้นด้วยสัจจกิริยาของนางปทุมาวดี เพราะเหตุฉะนี้ แม่จึ่งว่านางมีฤทธิ์

สุตฺวา มหาชโน มหาชนได้ยินดังนั้น ไปสู่บ้านแห่งตนๆ แล้ว ต่างเล่าบอกแก่กัน เรื่องราวก็เล่าลือกันต่อ ๆ ไปจนถึงหูอำมาตย์ ถึงพระราชกุมารและนางใน ต่อจากนั้นพระเจ้าธรรมมธุรราช พระมเหสี พระราชกุมารและนางใน ต่างก็ปรารถนาจะไปทอดพระเนตรดูและฟังนกแขกเต้า จึงพระราชาพร้อมด้วยพระราชโอรส อันหมู่นางสนมและมหาชนแวดล้อมเสด็จไปแล้ว ครั้นถึงรับสั่งให้พักพลไว้ ณ ภายนอก ก็ในกาลนั้นชนทั้งหลายทั้งปวงพากันเข้าไปสู่สวน ชวนกันเก็บดอกไม้ผลไม้ต่างๆ มาเคี้ยวกิน ต่างซ้องสาธุการว่า น่าอัศจรรย์ ผลไม้มีรสหวาน ปานรสแห่งผลไม้ทิพด้วยเดชแห่งสัตยาธิษฐาน ผลไม้ทุกชนิดล้วนมีรสดุจผลไม้ทิพทั้งสิ้น แผ่รสไปทั่วสรรพางค์ เหล่านางในและพระกุมารทั้งหลายย่อมพากันบริโภค นางกาลกัณณีได้ยินคำชมเชยดังนั้น จึงหยิบผลไม้มากินรู้สึกมีรสขื่นขม จึงกล่าวติว่า ผลไม้นี้มีรสขมขื่น ขณะนั้นพระโพธิสัตว์ทรงพินิจอยู่ จึงทรงหยิบผลไม้ผลหนึ่งมาเสวยเองครึ่งผล ทรงรู้สึกว่ามีรสหวาน อีกครึ่งผลประทานให้แก่นางกาลกัณณี ๆ รับมาเคี้ยวกินกล่าวติพร้อมด้วยน้ำลายว่า ขมจัด มหาชนและพระราชกุมารได้ยินดังนั้น ก็กล่าวกันว่า นางกาลกัณณีนี้ชะรอยจะเป็นหญิงบาปหนาหาบุญมิได้

ลำดับนั้นพระเจ้าธรรมมธุรราช อันราชบริพารห้อมล้อม เสด็จเข้าไปสู่อุทยาน แล้วเข้าไปประทับนั่งภายในศาลา ก็เมื่อสกุณาทั้ง ๒ จะทูลเชิญเสด็จได้กล่าวคาถานี้ว่า

อนฺุโต สาลายํ ปลฺลงฺเก ปติฏฺิต มหาราช
นิสีทถ ยถาสุขํ นานาผลํ ปริภุฺช

ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ได้ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายนศาลา ขอได้เสวยผลไม้ต่าง ๆ ตามพระทัยปรารถนา

พระราชาได้ทรงสดับมธุรวาจาของนกทั้ง ๒ ดังนั้น ก็หลากพระทัย จึงตรัสถามว่า เจ้าทั้ง ๒ มาจากไหน มาจากป่าหิมพานต์ พระเจ้าข้า มาเพราะเหตุไร ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้ง ๒ มาเพื่อจะประกาศเหตุ ๒ ประการ คือข่มขี่คนใจบาป ประการ ๑ ยกย่องคนมีบุญประการ ๑ ด้วยว่าข้าพระองค์ย่อมทราบความจริงแห่งหญิงทั้ง ๒ คือแห่งนางปทุมาวดีและนางกาลกัณณี ความจริงของหญิงทั้ง ๒ เป็นอย่างไร เจ้าจงแจ้ง จึ่งนกแขกเต้าทั้ง ๒ ก็ปุจฉา วิสัชนา ตามรูปเรื่องที่ได้กล่าวแล้วมา ณ เบื้องต้น ตั้งแต่ต้นจนอวสาน มหาชนมีมหาอำมาตย์เป็นต้นได้ฟังดังนั้น ต่างก็โกรธเคือง ช่วยกันด่าตีนางกาลกัณณี กาลนั้นพระราชากริ้ว ตรัสบริภาษว่า หญิงถ่อยเจ้าฆ่าลูกของเราหรือ นางกาลกัณณีสะดุ้ง นึกหวาดว่านกทั้ง ๒ นี้ชะรอยเป็นเทวดามาประกาศกรรมของเรา ถ้าเราไม่รับสารภาพ ศีรษะจักแตกทำลาย จึงกราบทูลรับว่า กระหม่อมฉันฆ่าเอง พระเจ้าธรรมมธุรราชก็กริ้วยิ่งขึ้น จึงตรัสถามว่า หญิงถ่อยแล้วเจ้าใส่โทษนางปทุมาวดีจริงหรือ จริง พระเจ้าข้า หญิงถ่อย เจ้าประกอบยาพิษอย่างใดให้ลูกข้ากิน เจ้าจงแสดงยาพิษอย่างนั้นมาให้ดู นางกาลกัณณีจึงแสดงสารหนูถวาย แล้วกราบทูลว่า นี่พระเจ้าข้า แล้ววางไว้ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระราชาจึงตรัสว่า หญิงถ่อย เจ้าให้ถูกข้ากินโดยประการอย่างใด เจ้าก็ต้องกินโดยประการอย่างนั้นเหมือนกัน นางกาลกัณณีกลืนกินสารหนูแล้ว สลบล้มลงดิ้นตายในขณะนั้น แล้วไปเกิดในอเวจีมหานรก จึ่งพระเจ้าธรรมมธุรราชรับสั่งให้ยกศพนางกาลกัณณีไปทิ้งไว้ภายใต้วัจจกุฏี

เมื่อนกแขกเต้าทั้ง ๒ จะให้โอวาทแก่มหาชน ได้กล่าวคาถานี้ว่า

เย จ ปาโป พาโล เจว ปาปกมฺมํ กตํ รโห
โอสธฺยาทิเทวตาโย ตํ ปาปํ วิวรยนฺติ
โย จ ปมุตฺตา ปณฺฑิโต ปาปกตํ ชานํ อหุ
ชิคุจฺฉํ ปาปํ น กรํ กุสลํ ปสํสติ โส

ความว่า บาปกรรมอันคนพาลใจบาปกระทำแล้วในที่ลับ เหล่าเวดามีโอสธิเทวดาเป็นต้น ย่อมเปิดเผยซึ่งบาปกรรมนั้น ผู้ใดเป็นบัณฑิตเพราะพนแล้ว รู้อยู่ซึ่งกรรมอันเป็นบาป ผู้นั้นย่อมไม่กระทำบาปอันน่าเกลียด ย่อมสรรเสริญกุศกิจ ในกาลเป็นทีสุดลงแห่งเทศนา มหาชนมีเสนาบดีป็นประมุขย่อมยังสาธุการให้เป็นไป

ลำดับนั้น พระราชาจึ่งตรัสถามนกแขกเต้าว่า บัดนี้เราจะไปเชื้อเชิญนางปทุมาวดี ยังสำนักพระวิสุทธดาบส นางจะมาหรือไม่มา นกจึ่งกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าพระองค์ทรงปรารถนาเพื่อการมาแห่งนางในที่นี้ ขอพระองค์ได้ให้แต่งตั้งเครื่องปูลาดอาสนะและทรงจัดสรรพอาภรณ์ไว้ ทันใดนั้นนางปทุมาวดีผู้เป็นพระแม่เจ้าก็จักมา ณ ที่นี่ พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นก็มีพระทัยโสมนัสยิ่ง รับสั่งให้ปูลาดอาสนะและจัดสรรพอาภรณ์ไว้ แล้วให้จัดเศวตฉัตรรองบาทและมงกุฎไว้ทรงกระทำสักการะ รับสั่งให้ดาดเพดานแวดวงด้วยม่าน เมื่อจะเชื้อเชิญนางปทุมาวดีเทวี ได้ตรัสคาถานี้ว่า

ขมาหิ ตฺวํ อมฺม มยฺหํ โทสมากริ หทเย
อาคจฺฉ ตฺวํ เม สนฺติเก ทมฺมิ รชฺเช อิสฺสรตํ

ความว่า ลูกรัก เจ้าจอดโทษแก่พ่อ อย่าได้ผูกจเจ็บ เจ้าจงมานสำนักของพ่อ พ่อจะให้ความเป็นอิสระในรัชสมบัติ ฯ

ในกาลนั้น ศาลา นกทั้งคู่และสวนก็อันตรธานสิ้น นางปทุมาวดีมาปรากฏอยู่บนอาสนะที่จัดตั้งไว้ พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นก็วิ่งเข้ากอดนางปทุมาวดี อันความโศกเศร้าเข้าครอบงำ ทรงถึงซึ่งวิสัญญีภาพ ลำดับนั้นพระราชาเห็นพระโอรสและพระสุณิสาถึงวิสัญญีภาพ จึ่งทรงหยิบพระเต้าทองมาหลั่งน้ำรดพระโอรสและพระสุณิสาๆ ได้สติก็ลุกขึ้นถวายบังคม พระเจ้าธรรมมธุรราชทรงกระทำการอภิเษกในที่นั้นแล้ว เสด็จกลับพระนคร ทรงมอบรัชสมบัติให้แก่พระโสนันทกุมาร ได้ประทานตำแหน่งอัครมเหสีให้แก่นางปทุมาวดี แล้วกระทำการสมโภชอยู่สิ้น ๗ วัน พระนางปทุมาวดีได้ทรงส่งไปแล้วซึ่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก เพื่อมารดาบิดา ตั้งแต่นั้นมามหาชนก็รู้ว่าพระนางปทุมาวดีเป็นธิดาของนางสิปปนี ภายหลังพระนางปทุมาวดีทรงมีครรภ์ ครั้นถ้วนทศมาสก็คลอดพระโอรสมีวรรณผ่องใสดุจทองคำ เสนามาตย์ทั้งหลายถวายพระนามว่า ปทุมโสนกุมาร เพราะถือเอาพระนามของพระชนกชนนี

อปรภาเค กาลเป็นส่วนอื่นอีก พระเจ้าธรรมมธุรราชรับสั่งกะช่างกัลบกว่า เจ้าเห็นผมที่ศีรษะเราหงอกเมื่อใด เมื่อนั้นเจ้าพึงบอกแก่เรา ต่อมาภายหลังช่างกัลบกเห็นพระเกศาขาว จึ่งกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชารับสั่งให้เอาแหนบทองถอนมาวางไว้ที่พระหัตถ์ ทอดพระเนตรดูพระเกศาขาว ทรงเห็นชรา จึ่งมาทรงพิจารณาเห็นความตายประหนึ่งว่าตราอยู่ที่สุดพระนลาต มีพระดำริว่า กาลนี้เป็นกาลแห่งเราบวชแล้ว แล้วประทานบ้านส่วยแก่นายช่างกัลบก มีรับสั่งหาพระราชโอรส พระมเหสีและพระสุณิสามาทรงอำลาว่า ฉันจักบรรพชา ครั้นพระญาติทั้งหลายทูลถามถึงเหตุที่จะบวช เมื่อจะตรัสเหตุแก่พระญาติ ได้ตรัสคาถานี้ว่า

อุตฺตมงฺครุหา มยฺหํ อิเม ชาตา วโยหรา
ปาตุภูตา เทวทูตา ปพฺพชาสมโย มม

ความว่า ผมบนศีรษะเราเหล่านี้ถึงปูนเสื่อม เทวทูตปรากฏแล้ว ถึงสมัยบรรพชาของเรา

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็ประทานโอวาทว่า พวกท่านพึงบวชด้วยอาการอย่างนี้ แล้วเสด็จออกจากพระนครเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ทรงผนวชเป็นราชฤษี ทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ ยังฌาน ๕ อภิญญา ๘ ให้เกิดแล้ว ในที่สุดแห่งพระชนมายุ ก็มีพรหมโลกเป็นที่เสด็จไป ณ เบื้องหน้า

ฝ่ายพระเจ้าโสนันทราช เหตุพระองค์มีพระอัชฌาสัยในการบริจาคทาน จึ่งรับสั่งให้สร้างทานศาลาไว้ ๖ แห่ง คือที่ประตูเมือง ๔ แห่ง กลางเมืองแห่ง ๑ ที่ประตูพระราชวังแห่ง ๑ ยังมหาทานให้เป็นไป ที่ทานศาลาแห่งหนึ่ง ๆ ทรงบริจาคกหาปณะไว้แห่งละ ๗ พัน ได้พระราชทานกหาปณะประมาณ ๒ หมื่นทุกวัน ๆ ทรงสมาทานศีล ๕ เป็นเนืองนิตย์ ทรงสมาทานอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำยังประชาชนให้สมาทานบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น ทรงยกขึ้นสู่ทางอันจะไปสู่สวรรค์ ตรัสแสดงธรรมชี้แจงภัยในนรก เหล่าประชาราษฎร์ก็ตั้งอยู่ในพระราโชวาท พากันกระทำบุญทานการกุศล จุติจากอัตตภาพนั้นๆ แล้ว พากันไปบังเกิดในเทวโลก อันเทวโลกสถานปานประหนึ่งว่าจะเนืองแน่น นีริยโลกเป็นดุจว่างเปล่า ในกาลนั้นเทวดาเหล่าดาวดึงส์มาประชุมกัน ในสุธรรมาเทวสภา ต่างพรรณาคุณแห่งพระมหาสัตว์เจ้า

อปรภาเค กาลภายหลัง พระเจ้าโสนันทราชเมื่อช่างกัลบกกราบทูลความที่พระเกศาขาวให้ทรงทราบ ก็รับสั่งให้เอาแหนบทองถอนมาวางไว้ ณ พระหัตถ์ ทอดพระเนตร เห็นก็บังเกิดความสังเวชพระทัยจึงประทานบ้านส่วยให้แก่นายช่างกัลบก มีพระทัยใคร่จะทรงผนวชจึ่งรับสั่งหาพระกนิษฐาทั้งหลายมารับรัชสมบัติ เมื่อพระกนิษฐากราบทูลถามว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึ่งจักทรงผนวชเสีย ก็รับสั่งถึงความที่พระองค์ทรงชรา ทรงแสดงพระเกศาขาวให้ดู ขอเดชะ เมื่อพระองค์ทรงผนวช พวกหม่อมฉันก็จักบวชตาม พระกนิษฐาทั้งหลายต่างมิได้รับราชสมบัติ พระเจ้าโสนันทราชจึงสั่งหาพระอัครมเหสีมามอบราชสมบัติ เมื่อพระนางไม่รับ รับสั่งหาพระโอรสมามอบ ครั้นพระโอรสทูลรับแล้ว ทรงกระทำการราชาภิเษก ประทานพระนามว่า พระปทุมโสนราชเจ้า

จึงหกกษัตริย์และพระนางปทุมาวดีเสด็จออกจากพระนครไปยังป่าหิมพานต์ ให้สร้างอาศรมในรัมมณียสถานแห่ง ๑ ทรงบรรพชาเป็นราชฤษี ทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ ยังฌานอภิญญาสมาบัติให้เกิดแล้ว ทรงฌานไม่เสื่อม ได้เสด็จเข้าถึงซึ่งพรหมโลก ส่วนพระโอรสพระนามว่า พระเจ้าปทุมโสนราช มิได้ยังกุศลธรรม ๑๐ ให้กำเริบ เสด็จดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงสงเคราะห์ระชาราษฎร์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ทรงรักษาเบญจศีลเป็นนิตย์ รักษาซึ่งอุโบสถ ครั้นถึงกาลอายุขัย ก็มีสวรรค์เทวโลกเป็นที่เสด็จไป ณ เบื้องหน้า

สตฺถา อิม ธมฺมเทสน อาหริตฺวา พระบรมศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาใส่โทษเราแล้วก็ถึงซึ่งความพินาศ ใช่แต่ในกาลบัดนี้ก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนก็ถึงซึ่งความพินาศนั้นเทียว ครั้นแล้วก็ทรงประชุมชาดกว่า พระชนกชนนีในกาลนั้นเป็นพุทธมารดาบิดา กปิลราชกุมารเป็นมหากัสสป สุนทรกุมารเป็นอานนท์ สวาลยกุมารเป็นอุปนนท์ เสนกกุมารเป็นศิริมานนท์ อภัยกุมารเป็นสารีบุตร ลักขณกุมารเป็นอุทายี ท้าวสักกะเป็นอนุรุธ วิสุทธดาบสเป็นโมคคัลลานะ เทวบุตรผู้แปลงตนเป็นกวางทองเป็นสิมพลี บุรุษมิตตทลิทเป็นเมณฑกเศรษฐี ส่วนเศรษฐีในกาลนั้นเป็นมิคารเศรษฐี วุฒกุมารเป็นวัฒนกุมารผู้บุตรเศรษฐี นางสิปปธนีเป็นนางวิสาขา นางกาลกัณณีเป็นนางจิญจมาณวิกา นางปทุมาวดีเป็นมารดาราหุล ปทุมโสนราชกุมารเป็นราหุล บริษัทที่เหลือเป็นพุทธบริษัท พระราชาโสนันทราชเป็นเรา ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายจงทรงจำไว้ซึ่งชาดก

จบโสนันทชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ