คำนำ

ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวโร ป.ธ.๕) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร กำหนดวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ นี้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ทำหนังสือแจ้งมายังกรมศิลปากร ว่าคณะกรรมการจัดงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพพระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวโร ป.ธ.๕) มีความประสงค์ขอขอนุญาตจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ปัญญาสชาดก เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรพิจารณาแล้ว ยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์

หนังสือปัญญาสชาดกนี้ เป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาซึ่งพระเถระชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมเรื่องนิทานปรัมปราที่แพร่หลายในยุคนั้น แล้วนำมารจนาเป็นชาดกภาษาบาลีขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐ - ๒๒๐๐ โครงสร้างการนำเสนอปัญญาสชาดกมีลักษณะเลียนแบบนิบาตชาดกหรืออรรถกาชาดกที่พระสงฆ์ชาวลังกาประพันธ์ไว้ อันประกอบด้วย ปัจจุบันวัตถุ อดีตนิทาน บทคาถาภาษิต และสโมธานหรือประชุมชาดก

เนื้อหาสาระในปัญญาสชาดกกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ มีปณิธานมุ่งมั่นในการบำเพ็ญพระบารมีในอดีตชาติต่าง ๆ อย่างมั่นคง ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยากและอุปสรรคนานัปการ ด้วยปรารถนาสูงสุดเพียงได้บรรสุพระสัมมาสัมโพธิญาณเท่านั้น สุดท้ายพระโพธิสัตว์ผู้มีพระจริยวัตรงดงาม เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมล้ำเลิศ จึงสามารถผ่านพ้นความทุกข์ยากลำบาก จนได้บรรลุผลตามพระปณิธานที่ตั้งไว้ ปัญญาสชาดกจึงนับเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาชั้นเยี่ยมที่มีเนื้อหาให้ความบันเทิงพร้อมทั้งสอดแทรกคติสอนใจและหลักจริยธรรมไว้อย่างแนบเนียน ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้นิยมนำมาเล่าขานอ่านเขียนจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหลายเรื่อง เช่น เรื่องสมุททโฆษ เรื่องพระสุธน นางมโนราห์ เรื่องสังข์ทอง เรื่องรถเสน และเรื่องคาวี เป็นต้น นอกจากนี้ยังแพร่หลายไปในประเทศพม่า เขมร และลาว ด้วย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีนักปราชญ์ภาษาบาลีได้แปลปัญญาสชาดกบางเรื่องเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้รวบรวมต้นฉบับคัมภีร์ใบลานเรื่องปัญญาสชาดกจากสถานที่ต่าง ๆ แล้วมอบให้นักปราชญ์ด้านภาษาบาลีแปล เรียบเรียงและทยอยพิมพ์เผยแพร่ จนครบบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ รวมชาดกทั้งสิ้น ๖๑ เรื่อง แบ่งเป็น ปฐมภาค ๕๐ ชาดก และปัจฉิมภาค ๑๑ ชาดก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๙ กรมศิลปากรได้อนุญาตให้สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารรวมพิมพ์จำหน่าย เป็นหนังสือชุด ๒ เล่มจบ ส่วนการพิมพ์ครั้งปัจจุบันนับเป็นครั้งที่สาม คณะกรรมการจัดจาน ฯ ได้จัดพิมพ์ตามต้นฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมทั้งได้เรียบเรียงประวัติพระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวโร ป.ธ.๕) ผู้มรณภาพ พิมพ์ไว้ต่อจากคำนำนี้

ขออำนาจแห่งกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน กับทั้งประโยชน์ทั้งปวงอันจะพึงเกิดจากหนังสือเรื่องนี้ จงเป็นประโยคสมบัติ บันดาลอิฏฐคุณมนุญผลแด่พระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวโร ป.ธ.๕) ตามคติวิสัยในสัมปรายภพ สมดังมโนปณิธานของคณะกรรมการจัดงานทุกประการเทอญ

(นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต)

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ธันวาคม ๒๕๕๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ