อานิสงส์ผ้าบังสุกุล

อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คโตสฺมิ

ความว่า ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เสมด้วยชีวิต แต่วันนี้เป็นต้นไป

คาถาสำหรับบริกรรมขั้นต้นว่า

มหนฺตาภินฺนนุคฺคาจ มชฺฌิมาภินฺนตณฺฑุลา
ขุทฺทกา สาสปมตฺตา เอวํ ธาตุโย สพฺพาเน
อาคจฺฉนฺตุ สีเส เม ปตนฺตุ  

ความว่า พระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่ในที่ทั้งหลายอย่างขนาดใหญ่ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียวแตก อย่างกลางขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหัก อย่างเล็กขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด จงเสด็จมาตกลงเหนือศิรประเทศแห่งข้าพเจ้าเถิด

ในสมัยครั้งนั้นแล สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ในอุรเวลาประเทศแต่ลำพังพระองค์เดียว ณ ครั้งนั้น ชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสป นทีกัสสป ตยากัสสป ได้อยู่ (ในที่นั้น) ด้วยเหล่าชฎิลอันเป็นบริวารนับด้วยพัน กัสสปผู้มีชัยแก่คณาจารย์ทั้งหลายในอังคะชนบทและมคธชนบททั้งหลาย ได้ไปอัญเชิญสมเด็จพระผู้มีพระภาคให้เสวยภัตตาหารเสมอ ๆ

ในกาลครั้งนั้น ยังมีมหาเศรษฐีคนหนึ่งอยู่ในบ้านอุรุเวลา ผู้มีสมบัติพัสถานทรัพย์สมบัติและข้าวเป็นอันมาก ธิดาของท่านมหาเศรษฐีนั้นได้วายชนม์ลง ท่านมหาเศรษฐีกับภรรยาพากันอาลัยครุ่นคิดถึงธิดาอยากทราบว่า ตายไปอยู่ที่ไหน พวกอันโตชนทั้งหลายมีทาสและกรรมกรเป็นต้น จึงเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นนาย เขาถือว่าสมณะศีรษะล้น นามว่าโคดมมาอาศัยอยู่ในอุรุเวลาประเทศ ได้ยินว่าพระสมณโคดมนั้น มีพระเกียรติศัพท์ขจรไปในหมู่เทพดามนุษย์ว่า เป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้เป็นต้น ท่านมหาเศรษฐีจึงถามว่า พระสมณโคดมผู้เจริญประเสริฐกว่าท่านกัสสป หรือว่าท่านกัสสปประเสริฐกว่าพระสมณโคดม คนเหล่านั้นจึงเรียนว่า ข้าแต่นาย เขาเล่าว่าพระสมณโคดมประเสริฐยิ่งกว่าท่านกัสสป ท่านเป็นผู้ตรัสรู้แจ้งเห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวง และรู้จักซึ่งโลกด้วย ท่านมหาเศรษฐีจึงว่า สาธุ ถ้าเช่นนั้นเราจะถวายผ้ามีราคาแสนหนึ่ง (กับท่าน) ครั้นแล้วจึงให้นำเอาผ้ามาระคนด้วยของโสโครกอันเนื่องด้วยครรภมลทิน (ของไม่สะอาดซึ่งเกิดจากท้อง) หมักไว้ ๗ วันจนบังเกิดหมู่หนอนขึ้น

คราวนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปในอุรุเวลาประเทศ ท่านมหาเศรษฐีได้ไปสู่ที่นั่นแล้ว ทอดผ้าราคาแสนหนึ่งไว้ในที่นั้นแล้วไปยืนอยู่ในส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้น ได้ทอดพระเนตรเห็นผ้านั้นแล้วทรงพระดำริว่า ใครทิ้งผ้านี้ไว้ จักมีเจ้าของหรือหามิได้ เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นใครๆ ก็ทรงมั่นหมายพระหฤทัยว่าเป็นผ้าบังสุกุล จึงได้ทรงอาวัชนาการพิจารณาดูว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาลได้เคยถือผ้าบังสุกุลครั้งแรกเช่นนี้อย่างไรหนอทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาลทรงถือเอาผ้าบังสุกุลชนิดนี้ผืนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมทรงแต่ผ้าบังสุกุล ส่วนพระตถาคตก็จะทรงผ้าบังสุกุลเหมือนกัน ครั้นแล้วจึงทรงยกผ้านั้นขึ้นด้วยความมั่นหมายว่าเป็นผ้าบังสุกุล หมู่หนอนได้หล่นลงพร้อมกันด้วยครรภมลทิน ด้วยเดชของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มหาปฐพีได้กัมปนาการหวั่นไหว พระองค์จึงทรงพระดำริว่า เราจักซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใดดีหนอ ท้าวสักรินทรเทวราชได้ทรงทราบจึงมาเนรมิตสระโบกขรณีใหญ่สระหนึ่งถวาย ด้วยคาดว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะซักผ้าบังสุกุลในสระนี้แล สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงพระดำริต่อไปว่า เราจะขยำผ้านี้ที่ไหนดีหนอ ท้าวสักกะทรงทราบจึงไปนำเอาแผ่นศิลาใหญ่แผ่นหนึ่งมา ด้วยเข้าพระทัยว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าขยำผ้าบังสุกุลที่แผ่นศิลานี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงขยำผ้านั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า เราจักเอาผ้านี้ห้อยไว้ ณ ที่ใดดีหนอ พฤกษเทพดาอันสิงอยู่ที่ไม้กุ่มบกได้ทราบถึงพุทธปริวิตก จึงบันดาลให้กิ่งกุ่มน้อมลงมา ด้วยหมายว่าพระผู้มีพระภาคจักทรงห้อยผ้านั้น เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงนำผ้านั้นห้อยไว้แล้ว จึงทรงพระปริวิตกต่อไปว่า เราจะได้ที่แห่งใดตากผ้านี้หนอ ท้าวสักกะได้ทรงทราบพระปริวิตกนั้น จึงไปนำเอาแผ่นศิลาใหญ่แผ่นหนึ่งมา หมายพระทัยว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจักได้ทรงตากผ้านั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงทรงปริวิตกต่อไปว่า เราจะได้ภาชนะอะไรย้อมผ้านี้หนอ ท้าวสักกะได้ทรงทราบพระปริวิตกนั้น จึงไปนำเอากระถางศิลามาถวาย

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังสรรพกิจเหล่านี้ให้สำเร็จแล้ว จึงทรงผ้าบังสุกุลจีวรนั้น ครั้งนั้น ด้วยเดช ศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พื้นมหาปฐพีดลแลเขาสิเนรุราชบรรพต ทั้งพระมหาสมุทร ได้บังเกิดการอัศจรรย์เป็นไปด้วยประการฉะนี้ จีวรเก่าได้อันตรธานหายไป สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพระคุณนามปรากฏว่า ปังสุกุลิก (ผู้ทรงบังสุกุสจีวรเป็นปรกติ) แต่ครั้งนั้นมา ท่านมหาเศรษฐีนั้นได้บรรลุถึงซึ่งสมบัติอันยิ่งใหญ่ ด้วยผลแห่งปังสุกุลทานนั้น ได้ดำรงอยู่ในสวรรค์เป็นเวลาช้านาน

ครั้นนั้น อุรุเวลกัสสป นทีกัสสป คยากัสสป พร้อมด้วยชฎิลผู้เป็นบริวารพันหนึ่ง ได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงมาเป็นภิกษุมาเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยอันเรากล่าวดีแล้ว เพื่อกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ดังนี้แล้ว บรรพชาอุปสมบทก็ปรากฏแก่ท่านเหล่านั้น ท่านกัสสป (อุรุเวลกัสสป) จึงมีนามปรากฏว่า พระมหากัสสปเถรเจ้า พระมหาเถรเจ้าจึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในสำนักของพระองค์มีธุระเท่าไร พระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มีอยู่สองอย่าง กัสสป พระมหาเถรเจ้าจึงทูลถามต่อไปว่า ธุระสองอย่างนั้น คืออะไรบ้างพระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธุระสองอย่างนั้น คือคันถธุระอย่างหนึ่ง วิปัสสนาธุระอย่างหนึ่ง พระมหาเถรเจ้าจึงทูลถามต่อไปว่า ธุระสองอย่างนั้นมีอธิบายอย่างไรพระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอธิบายว่า ดูกรกัสสป ภิกษุบางองค์เรียนซึ่งธรรม มีนิกายหนึ่งหรือสองนิกาย แล้วและจดจำนิกายทั้งสิ้นได้ นี่เรียกว่าคันถธุระ กัสสป ภิกษุบางองค์ยังความเห็นในความสิ้นแลความเสื่อมให้เจริญขึ้นแล้ว ตราบเท่าได้บรรลุถึงพระอรหัตตผลนี้เรียกว่าวิปัสสนาธุระ พระมหาเถรเจ้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้บวชต่อเมื่อแก่เสียแล้ว ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญคันถธุระได้ ข้าพระองค์จะขอบำเพ็ญวิปัสสนาธุระพระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสบอกวิปัสสนาธุระว่า ดูกรกัสสป พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญองค์ของธุดงค์ ๑๓ ประการ กัสสป ตถาคตจักอนุญาตบังสุกุลจีวรแก่ท่าน จำเดิมแต่วันนี้ไปท่านจงสมาทานองค์ของบังสุกุลเถิด ท่านจงกล่าวสองบทว่า เราจักงดซึ่งคฤหบดีจีวรเสีย จักสมาทานองค์ของผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรดังนี้ พระมหากัสสปเถรเจ้ารับพระพุทธฎีกาว่า ผ้าบังสุกุลจีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญไว้มี ๒๓ อย่าง คือ โสสานิกจีวร ผ้าที่บุคคลทิ้งไว้ในป่าช้า ๑ อาปาณิกจีวร ผ้าที่ตกอยู่ที่ประตูร้านตลาด ๑ รถิยโจฬจีวร ผ้าที่บุคคลต้องการบุญทิ้งลงมาโดยช่องหน้าต่าง ให้ตกอยู่ในตรอกสถล ๑ สังการโจฬจีวร ผ้าที่เขาทิ้งเสียแล้วในกองยักเยื่อ ๑ โสตถิยจีวร ผ้าที่บุคคลเช็ดครรภมลทินแล้วทิ้งเสีย ๑ นหานโจฬจีวร ผ้าของชนทั้งหลายที่หมอภูตผีปีศาจให้อาบน้ำ แล้วทิ้งผ้าอาบน้ำนั้นไว้ด้วยเข้าใจว่าผ้านั้นเป็นกาลกิณี ๑ ติตถโจฬจีวร ผ้าท่อนเก่าที่บุคคลทิ้งไว้ในท่า ๑ คตปัจจาคตจีวร ผ้าที่ชนทั้งหลายไปสู่สุสานประเทศกลับมาอาบน้ำแล้วทิ้งผ้านั้นไว้ ๑ อัคคีทัฒฑจีวร ผ้าที่ไฟไหม้บางแห่งและเขาทิ้งเสีย ๑ โคณขาทิตโจฬจีวร ผ้าที่โคเคี้ยวกิน ๑ อุปจิกขาทิตโจฬจีวร ผ้าปลวกกัด ๑ อุนทรขาทิตโจฬจีวร ผ้าที่หนูกัด ๑ อันตัจฉินนโจฬจีวร ผ้าที่ขาดในที่สุด ๑ ทสาจฉินนโจฬจีวร ผ้าขายขาด ๑ ธชาตหจีวร ผ้าธงต่างๆ ที่เขาทิ้งแล้ว ๑ ถูปจีวร ผ้าที่เขาโอบพันจอมปลวกแล้วกระทำพลีกรรมแล้วทิ้ง ๑ สมณจีวร ผ้าของพระภิกษุ ๑ อภิเสกิกจีวร ผ้าที่บุคคลทิ้งไว้ในอภิเษกแห่งบรมกษัตราธิราช ๑ อิหธิมยจีวร จีวรแห่งเอหิภิกขุอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ๑ ปันถิกจีวร คือผ้าที่ตกอยู่ในระหว่างทาง ๑ วาตหฏจีวร ผ้าที่ลมพัดมา ๑ เทวทัตติยัง ผ้าที่เทวดาให้ (เหมือนดังผ้าของนางเทพธิดาที่ถวายแก่พระอนุรุทธ ๑ สมุททิยจีวร ผ้าที่คลื่นซัดขึ้นไปบนบก ๑ ดังนี้ ดูกรกัสสป ผ้าเหล่านี้เรียกว่าบังสุกุลจีวร ผ้าบังสุกุลจีวรพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เคยทรงมาทุกพระองค์ผู้ใดได้ถวายผ้าชนิดนี้ ผู้นั้นจักไม่ไปสู่ทุคตติร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพุทธกิจทั้งมวลให้สำเร็จไปแล้ว ในสมัยเมื่อจะปรินิพพานได้ตรัสกับพระมหาเถรเจ้ากัสสปว่า กัสสป อีกไม่ช้าเท่าใดตถาคตก็จักปรินิพพาน ท่านจงเอาผ้าบังสุกุลของท่านมาให้พระตถาคตๆ จะทรงผ้านั้น พระมหากัสสปเถรเจ้าได้ถวายผ้าบังสุกุลของตนต่อพระหัตถ์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประทานบังสุกุลจีวรอันบวรของพระองค์กับของพระมหากัสสปเถรเจ้าแล้วตรัสว่า ท่านจงบังสุกุลจีวรอันประเสริฐอุดม ได้ปลดเปลื้องสัตว์จากสังสารวัฏนับได้สี่สิบอสงไขย เจ็ดสิบแสนโกฏิ ผืนนี้ไว้จนนิพพานเถิด ครั้งนั้น แผ่นดิน ภูเขา ป่า จักรวาฬ พระมหาสมุทร เทพยดาในกามาพจรสวรรค์ ๑ พรหม ๑๖ ชั้น ต่างอนุโมทนาการเป็นไปอยู่อย่างไหวหวั่น เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บังสุกุลจีวรเป็นของประเสริฐสุด พระพุทธเจ้าทั้งมวลย่อมเคยทรงมาแล้วและเปลื้องสัตว์จากสังสารวัฏ เพราะฉะนั้น บังสุกุสจีวรจึงเป็นอุดมวัตถุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทรงบังสุกุลจีวร ท่านทั้งหลายพึงพรงบังสุกุลจีวรเถิด

ในสมัยครั้งหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้ากัสสปได้อยู่ในปาวายนคร ครั้งนั้นแลเป็นสมัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะปรินิพพาน เสด็จบรรลุถึงพระนครปาวาย จึงตรัสกับพระมหากัสสปว่า ดูกรกัสสป ไม่ช้าตถาคตจักปรินิพพาน ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงทรงภาษิตพระคาถานี้ว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข

ความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมพลันดับ การเข้าไประงับสังารเหล่านั้นเสียได้นำมาซึ่งความสุข

ดูกรกัสสป แต่นี้ท่านจงดำรงพระศาสนาของตถาคตไว้เถิด พระมหากัสสปเถรเจ้าได้บังเกิดสังเวคธรรม (ความสลดใจ) ในสังขารทั้งปวง ส่วนภิกษุทั้งหลายอันเป็นปุถุชนต่างก็พากันร่ำร้องไห้ เทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ในพระนคร และภูมิเทวดาต่างพากันร่ำร้องไห้ เทพยดาทั้งหลายแต่พื้นแผ่นดินขึ้นไปตลอดถึงกามาพจรสวรรค์ทั้ง ๖ ต่างพากันปริเทวนาการ บรรดาพรหมทั้งหลายยกเสียแต่ที่เป็นอสัญญีสัตว์และอรูปพรหม นอกนั้นต่างกันบังเกิดความสลดใจ

ในกาลนั้น พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสป ได้กราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเรื่องผ้าบังสุกุลจีวรนี้ ในครั้งอดีตกาลเคยมีบ้างหรือพระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรกัสสปในอดีตกาล ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระขีณาสพองค์หนึ่ง เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลล้วน ๆ ได้อาศัยอยู่ในอรัญญประเทศแห่งหนึ่ง ได้ยินว่าในวันหนึ่งเธอเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุล ได้บรรลุถึงสถานที่ต่างๆ มีประตูเมืองและป่าช้าเป็นต้น ในขณะนั้นมีบุรุษเข็ญใจผู้หนึ่ง นุ่งผ้าเก่าผืนหนึ่ง ได้เห็นพระมหาเถรเจ้านั้นแล้ว ก็ล่วงรู้ในอัธยาศัยของพระผู้เป็นเจ้านั้น จึงได้ฉีกผ้าท่อนเก่านั้นออกครึ่งหนึ่ง เอาผ้านั้นไปวางไว้ในที่ๆ พระเถรเจ้าจะมาถึง ด้วยคิดว่า โอ พระผู้เป็นเจ้า จงได้ถือเอาซึ่งผ้าบังสุกุลนี้เถิด ภิกษุนั้นครั้นไปถึงที่นั้นแล้วได้เห็นผ้านั้นจึงคิดว่าผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุล จึงได้ถือเอาด้วยความสำคัญสัญญานั้น เธอจึงนุ่งผ้านั้น บุรุษเข็ญใจนั้นได้บังเกิดความโสมนัสมีใจยินดีว่า เราได้ถวายผ้าบังสุกุลเขาได้ทำบุญมีประมาณเท่านี้ ได้ท่องเที่ยวอยู่จนตลอดอายุ จุติจิตจากนั้นแล้วได้ไปบังเกิดในดาวดึงสพิภพ มีวิมานทองบริบูรณ์ด้วยสมบัติสูง ๑๒ โยชน์ ณ ที่เขาบังเกิด ผ้าทิพย์ทั้งมวลเป็นอเนกได้บังเกิดขึ้น ฝ่ายหมู่เทพยดาทั้งหลายเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้นจึงได้มาประชุมพร้อมกันที่สุธรรมเทวสภา ท้าวสักกเทวราชจึงดำรัสถามถึงบุรพกรรมของเทพบุตรนั้น ได้กล่าวคาถานี้ว่า

ปภาสติ อิมํ พยมฺหํ ปริปุฺฺจ สพฺพโส
วตฺถานิ สตสหสฺสานิ ปวตฺตนฺตานิ วิมานํ
อจฺฉราหิ สมากิณฺณํ ทฺวาทสโยชเน ยุตฺตํ
สพฺพสมฺปตฺติ เต ลทฺธา เกน ปุฺเน ลพฺภตีติ

ความว่า วิมานนี้ย่อมรุ่งเรือง บริบูรณ์ด้วยสรรพสมบัติทั้งปวง ผ้าทั้งหลายนับด้วยแสน ย่อมเป็นไปในวิมานอันสงสิบสองโยชน์ เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสร สรรพสมบัติที่ท่านได้นี้ ท่านได้ด้วยบุญอะไรหรือ?

เทพบุตรนั้น ครั้นได้ฟังพระดำรัสถามของท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประกาศบุญญภาพนั้น จึงทูลว่า

ทลิทฺโทหํ มหาราช มนุสฺเสสุ ปุเร อหุ
ทิสฺวา ปํสุกุลิกํ ภิกฺขุํ วตฺถฺจ ปริเยสนฺตํ
อฑฺฒปิโลติกํ เฉตฺวา มคฺเค ฉฑฺเฒมิ ตาวเท-
ว เอยฺโย ปํสุกุลสฺิ อุคฺคณฺหิตฺวา นคจฺนติ
เอตฺตเกน กมฺเมน จ อุปฺปชฺเชมิ ติทสาลเย
เตน ปุฺเน ปภาสติ วิมานํ ปุฺนิมิตฺตํ
ปสฺส มยฺหํ วิมานนฺหิ ทฺวาทส โยชเน ยุตฺตํ
อจฺฉราหิ สมากิณฺณํ สหสฺสอุปโสภิตํ
ปถวิมฺหิ วนตฺจ นทิสมุทฺทปพฺพตํ
วตฺเถน ฉาทิตุํ สพฺพํ สมตฺโถหํ อเสสโต
ลาเภน โอนโต นตฺถิ ปํสุกุลทานสฺสิทํ ผลนฺติ

ความว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพเจ้าได้บังเกิดเป็นมนุษย์ที่ขัดสนอยู่ในเมืองมนุษย์ เห็นพระภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลองค์หนึ่งเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลอยู่ ข้าพเจ้าจึงฉีกผ้าท่อนเก่าของข้าพเจ้าออกครึ่งผืน ทิ้งไว้ที่หนทางในขณะนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้สำคัญว่า ผ้านั้นเป็นผ้าบังสุกุล จึงถือเอาแล้วไม่ไปไหนอีก ด้วยกรรมมีประมาณเท่านี้แหละ ข้าพเจ้าจึงได้มาบังเกิดในไตรทสด้วยบุญนั้น วิมานอันเป็นเครื่องหมายของบุญย่อมรุ่งเรือง ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดูวิมานอันสูงสิบสองโยชน์ของข้าพเจ้าเถิด เกลื่อนกล่นไปด้วยพันแห่งนางอัปสรอันโสภา ข้าพเจ้าสามารถที่จะคลุมแผ่นดินและป่าหิมพานต์ แม่น้ำ พระมหาสมุทร และภูเขาทั้งสิ้นได้ด้วยผ้าโดยมิให้เหลืออยู่เลย ย่อมบริบูรณ์อยู่ด้วยลาภ นี่แหละเป็นผลของการถวายผ้าบังสุกุล (ปังสุกุลทาน)

สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปอีกว่า ดูกรกัสสป ปังสุกุลทานมีอานิสงส์ใหญ่มีผลใหญ่ เมื่อบังเกิดเป็นมนุษย์จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมนุษย์แวดล้อมไปด้วยหมู่จตุรงคเสนาคือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลราบ นี่เป็นผลของปังสุกุลทาน

สตรีใดได้ถวายปังสุกุลทาน เป็นผู้มีโสมนัสและเจตนา ครั้นเคลื่อนจากมนุษย์กายย่อมไปบังเกิดเป็นเทพธิดาอันโสภา เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏย่อมเป็นคนสวยเลิศทุกๆชาติ สมบูรณ์ไปด้วยเบ็ญจกัลยาณี นี่เป็นผลของปังสุกุลทาน จักเป็นราชธิดาอันประเสริฐ มีกายปราศจากไฝ่ฝ้า ผมงาม นิ้วและเล็บเป็นสีชมพูกลมเรียว จมูกโด่ง คิ้วโก่ง ตาและปากปราศจากโรค งดงาม นี่แหละเป็นผลของปังสุกุลทาน

บุรุษใดเมื่อสมบูรณ์ไปด้วยศีลแล้วถวายปังสุกุลทานอันอุดม จะเป็นผู้มีความเจริญด้วยรูปและกำลังกาย เจริญด้วยความเพียรและกำลังใจ เดช อำนาจ ยศ สรรพสัตว์ทั้งปวงคือ เหลือบ ยุง งูเล็ก งูใหญ่ และหนู แมลงผึ้ง แมลงวัน จะไม่พึงเบียดเบียน นี่เป็นผลของปังสุกุลทาน

สรรพสัตว์ทั้งหลายคือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง แรด หมี วัว สุนัข จะไม่พึงเบียดเบียน นี่เป็นผลของปังสุกุลทาน

ถ้าได้เป็นมหากษัตริย์ จะประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลายจักได้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป เป็นผู้มีความกล้าหาญเฉลียวฉลาด เป็นที่เคารพนบนอบของประชาชน นี่เป็นผลของปังสุกุลทาน

ถ้าเป็นเพียงพระราชาประเทศราช จักบริบูรณ์ไปด้วยหมู่สุรโยธาที่แกล้วกล้า สามารถแผ่ไปในราชอาณาจักรอันนับด้วยแสนโยชน์ และจะได้บังเกิดเป็นเทพยดาในชั้นอินทร์ (ดาวดึงส์) และชั้นสุยาม (ยามา) และชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวดี นับชาติไม่ถ้วน ก็ปังสุกุลทาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องว่ามีผลานิสงส์มาตราบเท่าถึงพระนฤพาน ดูกรกัสสป ปังสุกุลทานเป็นประเพณีของพระตถาคตอย่างนี้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกับพระมหากัสสปอีกว่า ดูกรกัสสป ตถาคตได้เคยบำเพ็ญปังสุกุลทานมาแล้ว ด้วยผลของปังสุกุลทานในกาลก่อนนั้น พรหมจึงได้ถวายผ้าแก่พระตถาคต เมื่อทรงตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปอีกว่า เมื่อบุคคลได้ถวายผ้าแก่ท่านผู้มีศีลด้วยจิตอันเลื่อมใส จักมีรูปงดงามเป็นทัศนียารมณ์ทุกเมื่อ ตถาคตยกย่องว่าปังสุกุลทานได้เป็นทานชนิดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงชมเขยไว้ดังนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านับด้วยแสนโกฏิเป็นอเนก ย่อมทรงผ้าบังสุกุลนั้น ดังนี้

อานิสงส์ปังสุกุลทาน จบ

ปัญญาสชาดก เดิม ๒๘ ภาค รวมพิมพ์เป็น ๑ ชุด ๒ เล่ม

จบบริบูรณ์

----------------------------

  1. ๑. กระถาง ซึ่งแปลไว้นี้แปลจากคำบาลีว่า กฏาหํ คือกระถางแน่ ๆ

  2. ๒. เบ็ญจกัลยาณี เคยพบที่มาแก้ไว้ ๒ ชนิด
    ๑. ความงาม ๕ อย่าง คือ ผม หนัง กระดูก ผิว วัย งาม
    ๒ ผมดำ ปากแดง ฟันดังไข่มุก สีหน้าดังดอกไม้แย้ม เป็นสาว

     

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ