- คำนำ
- พระนิพนธ์คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ๑. สมุททโฆสชาดก
- ๒. สุธนชาดก
- ๓. สุธนุชาดก
- ๔. รัตนปโชตชาดก
- ๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
- ๖. วิบุลราชชาดก
- ๗. สิริจุฑามณิชาดก
- ๘. จันทราชชาดก
- ๙. สุภมิตตชาดก
- ๑๐. สิริธรชาดก
- ๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
- ๑๒. อาทิตชาดก
- ๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
- ๑๔. มหาสุรเสนชาดก
- ๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
- ๑๖. กนกวรรณราชชาดก
- ๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
- ๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
- ๑๙. สุทัสนชาดก
- ๒๐. วัฏฏังคุลีราชชาดก
- ๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
- ๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
- ๒๓. จาคทานชาดก
- ๒๔. ธรรมราชชาดก
- ๒๕. นรชีวชาดก
- ๒๖. สุรูปชาดก
- ๒๗. มหาปทุมชาดก
- ๒๘. ภัณฑาคารชาดก
- ๒๙. พหลาคาวีชาดก
- ๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
- ๓๑. ปุปผชาดก
- ๓๒. พาราณสิราชชาดก
- ๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
- ๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
- ๓๕. สลภชาดก
- ๓๖. สิทธิสารชาดก
- ๓๗. นรชีวกฐินทานชาดก
- ๓๘. อติเทวราชชาดก
- ๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
- ๔๐. สรรพสิทธิชาดก
- ๔๑. สังขปัตตชาดก
- ๔๒. จันทเสนชาดก
- ๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
- ๔๔. สิโสรชาดก
- ๔๕. วรวงสชาดก
- ๔๖. อรินทมชาดก
- ๔๗. รถเสนชาดก
- ๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
- ๔๙. วนาวนชาดก
- ๕๐. พากุลชาดก
- ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค
- ปัญจพุทธพยากรณ์
- ปัญจพุทธศักราชวรรณนา
- อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
๒๔. ธรรมราชชาดก
สาลํ รูปํว โสภิตฺวาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต โคปาลสาลํ อารพฺภ กเถสิ
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารทรงพระปรารภศาลาของคนเลี้ยงโคให้เป็นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ให้เป็นผล มีคำว่า สาลํ รูปํว โสภิตฺวา เป็นต้น
ดำเนินความว่า คนเลี้ยงโคคนหนึ่งทำศาลาไว้ใกล้ทาง ครั้งนั้นพระเถรเจ้า ๒ พระองค์คือพระสาริบุตรกับพระอานนท์ ท่านมายังเมืองสาวัตถีได้เห็นศาลาของคนเลี้ยงโค แล้วจึงเจรจากันว่า ดูกรอาวุโส ความผ่องใสของจิตย่อมเกิดขึ้น น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมามีขึ้นหนอ ดังนี้แล้วพระเถรเจ้าทั้งสองก็เดินเจรจาตามกันไป พระมหาเถรทั้งสองเข้าไปถึงพระเชตวันมหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่งอยู่ในที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพระอานนท์เถรเจ้าจึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ นายโคบาลคนหนึ่งทำศาลาไว้ใกล้ทาง จะได้ผลเป็นประการใดพระพุทธเจ้าข้า ฯ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงฟังคำถามนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูกรอานนท์นายโคบาลทำศาลาไว้มีอานิสงส์มาก นายโคบาลนั้น ครั้นสิ้นอายุจุติจากโลกนี้ จักไปบังเกิดในเทวโลก มีนามกรว่าโคปาลเทพบุตร จักแวดล้อมไปด้วยนางเทพกัญญาพันหนึ่ง เสวยทิพย์สมบัติใหญ่อยู่ในวิมานทอง มีปริมณฑลได้ ๑๒ โยชน์ แล้วตรัสว่า ดูกรอานนท์ เราตถาคตกล่าวอยู่ว่าการที่นายโคปาลได้ทำศาลาไว้ จุติจากมนุษย์ไปบังเกิดในเทวโลกนั้น ไม่เป็นการอัศจรรย์ เพราะเหตุไร ส่วนบัณฑิตแต่โบราณได้ทำศาลาไว้แล้วได้ไปยังเทวโลกทั้งสรีรกายที่เป็นมนุษย์อันนี้เป็นการอัศจรรย์แท้ แล้วพระองค์ก็ทรงนิ่ง ภิกษุทั้งหลายทูลวิงวอนประสงค์จะทราบเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด พระองค์จึงได้นำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต ภิกฺขเว ชมฺพูทีปนคเร ธมฺมราชา นาม ธมฺเมน รชฺชํ กาเรสิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าธรรมราช ปกครองรัชยสมบัติโดยธรรมอยู่ในชมพูทีปนคร อัครมเหสีของพระองค์ ทรงพระนามวิมลาเทวี ได้เป็นใหญ่กว่านางนารีถึงหมื่นหกพันนาง ครั้งนั้นวันหนึ่งพระโพธิสัตว์เจ้าทรงบรรทมบนพระแท่นที่สิริไสยาสน์ ทอดพระเนตรดูเศวตฉัตรแล้วทรงพระราชดำริว่า สมบัติทั้งนี้ใครให้หนอแล้วทรงทราบว่า พระองค์ได้ให้ทานทำบุญไว้ในปางก่อนจึงได้สมบัตินี้ แล้วมีพระประสงค์จะกระทำศาลาแล้ว จึงตรัสเรียกพระราชเทวีมาดำรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เราปรารถนาจะกระทำศาลาลักหลังหนึ่ง ฯ พระราชเทวีรับราชโองการว่าสาธุแล้ว บรมกษัตริย์จึงตรัสเรียกเสนาบดีมาตรัสว่า ดูกรเสนาบดีผู้มีธุระอันเสมอ ท่านจงจัดรถเทียมโคไว้ให้มาก เราจักเข้าไปสู่ป่า ฯ ลำดับนั้น เสนาบดีรับพระราชโองการแล้วก็จัดรถมาประเทียบไว้ในหน้าพระลานแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดรถไว้แล้ว บรมกษัตริย์ได้ทรงฟังอำมาตย์กราบทูลแล้วก็เสด็จลงจากพระราชมนเทียร แวดล้อมไปด้วยมหาชนเป็นอันมาก เสด็จขึ้นราชรถเข้าไปสู่อรัญญประเทศ แล้วโปรดให้ตัดต้นไม้ถากเกลา ยกขึ้นบนราชรถออกจากอรัญญประเทศนำมายังพระนครแล้ว ให้กองไว้ภายนอกพระนคร แล้วให้มหาชนตัดถากต้นไม้ทำเป็นศาลาประมาณสองวันก็สำเร็จ ส่วนศาลาดูงดงามประดุจดังสุธรรมาเทพสถานฉะนั้น บรรดามหาชนที่สัญจรไปมาได้เห็นศาลาก็พากันกล่าวสรรเสริญพรรณนาถึงศาลานั้นกะกันและกันว่า ศาลานี้งามยิ่งนักน่าชมเชยทั้งเป็นที่มโนสารภิรมย์นำมาซึ่งความเลื่อมใส จะพิศดูที่ไหนก็ดูงามไปทุกแห่ง เปรียบประดุจสุธรรมาเทพสภาศาลาฉะนั้น
ส่วนพระมหาสัตว์เจ้าได้ทอดพระเนตรบรรณศาลาแล้ว ก็มีพระทัยยินดีปรีดา เมื่อจะชมเชยบรรณศาลาจึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
สาลํ รูปํว โสภิตฺวา | เทวตา วิย ลงฺกตา |
สุธมฺมาเทวสภาว | เทวดา จ สมาคตา |
แปลว่า ศาลานี้มีทรวดทรงโสภาราวกะเทพยดามาสร้างสรรค์ เปรียบประดุจดังสุธรรมาเทพสภาศาลา เป็นที่เทพยดามาประชุมกันฉะนั้น ฯ
พระมหาสัตว์เจ้าพระราชทานทองคำแสนตำลึงให้เป็นเครื่องไทยธรรม สำหรับพระราชทานแก่มหาชนทุกวัน ๆ ในขณะนั้นมหาปฐพีก็หวาดหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรไททะเลลึกก็ก้องกึกกัมปนาท ทั้งขุนเขาสิเนรุราชก็อ่อนน้อมระทวยระทม ทั้งเทพยดาอินทรพรหมก็กระทำซ้องสาธุการ
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัดจึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
ทาเน เม รมติ จิตฺโต | ทานํ ทตฺวาน ขตฺติโย |
ปถวี สมุทฺโท เมรุ | เทวพฺรหฺมาภิวณฺณิตา |
แปลว่า เราเป็นกษัตริย์ได้ให้ทานแล้ว จิตของเราย่อมยินดีบันเทิงร่าเริงอยู่ในทาน จนถึงแผ่นปฐพีกับทั้งมหาสมุทร และเขาสุเมรุราชก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว ทั้งเทพยดาอินทรพรหมก็พากันกระทำซ้องสาธุการดังนี้
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้าทรงกระทำอธิษฐานว่า ขอผลอานิสงส์ของทานที่เราได้บริจาคนี้ จงเป็นปัจจัยแก่ธรรมอันจะตรัสรู้ ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณเถิดดังนี้แล้ว ก็ทรงบริจาคทาน ฯ ในขณะนั้นพิภพของท้าวสักกเทวราชก็สำแดงอาการให้เร่าร้อน ท้าวสักกเทวราชเมื่ออาวัชนาการทราบเหตุนั้นแล้ว จึงรำพึงว่า โอ้พระเจ้าธรรมราชเป็นเนื้อหน่อของพระพุทธเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงสร้างศาลาแล้วบริจาคทาน มุ่งหมายต่อโพธิญาณ จำเราจะไปเชิญเสด็จมายังเทวโลกนี้ แล้วท้าวสักกเทวราชก็ลงจากเทวโลกด้วยกุสุมวิมาน มาประดิษฐานอยู่บนอากาศแทบใกล้พระมหาสัตว์เจ้า ฯ ในขณะนั้นพระมหาสัตว์เจ้าออกจากราชมนเทียรทอดพระเนตรขึ้นไปบนอากาศ ได้เห็นวิมานนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสถามจึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
เทวตา นุสิ คนฺธพฺโพ | อาทู สกฺโก ปุรินฺทโท |
มนุสฺสภูโต อิทฺธิมา | กถํ ชาเนมุ ตํ มยํ |
แปลว่า ท่านเป็นเทพยดาหรือคนธรรพ หรือว่าเป็นปุรินททสักกเทวราช หรือว่าเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ไฉนข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้จักท่าน ฯ ท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวคาถาตอบว่า
นมฺหิ เทวา น คนฺธพฺโพ | อหํ สกฺโก ปุรินฺทโท |
เทวราชา มหิทฺธิมา | เอวํ ชานาหิ ขตฺติโย |
ตมฺปิ ราช นิมนฺเตมิ | วิมาเนนาคโต สิยา |
เทวโลกํ คโตสิ ตฺวํ ฯ |
แปลว่า เราไม่ใช่เทพยดาสามัญไม่ใช่คนธรรพ เราเป็นท้าวปุรินททสักกเทวราชผู้มีมหิทธิฤทธิ ข้าแต่บรมกษัตริย์พระองค์จงทราบอย่างนี้เถิด ข้าแต่บรมกษัตริย์ เรามาทั้งวิมานประสงค์จะเชิญเสด็จพระองค์ไปยังเทวโลก ในลำดับนั้นพระมหาสัตว์เจ้า รับคำท้าวสักกเทวราชกับพระราชเทวี ก็เสด็จเข้าไปยังกุสุมวิมาน มีท้าวสักกเทวราชเป็นสี่สามวิมานนั้นก็เลื่อนลอย ขึ้นไปบนอากาศจนถึงเทวโลก เทพยดาทั้งปวงก็กระทำสักการบูชาพระมหาสัตว์เจ้า ส่วนท้าวสักกเทวราชเมื่อจะเชิญเสด็จพระมหาสัตว์เจ้า ด้วยอิสริยยศเป็นของทิพย์ จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
อเนกรูปํ รุจิรํ | นานาวิจิตฺรปภสฺสรํ |
ปวีส มนฺทิรํ เทว | ทิพฺพสุขมการยิ |
แปลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชพระองค์จงเสด็จเข้าไปยังทิพยมนเทียร อันเลื่อมประภัสสรไพจิตรมีประการต่างๆ อันงดงามหลายอย่างหลายประการ จงเสวยความสุขเป็นของทิพย์เถิด ฯ
ลำดับนั้นพระมหาสัตว์เจ้า จะห้ามเสียซึ่งความสุขอันเป็นของทิพย์นั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ยถา ยาจิตกํ ยานํ | ยถา ยาจิตกํ ธนํ |
เอวํ สมฺปตฺติเมเวตํ | ยํ ปรโต ทานปจฺจโย |
น จาหเมตํ อิจฺฉามิ | ยํ ปรโต ทานปจฺจโย |
สยํกตานิ ปฺุานิ | ยมฺเม สาเวติ สธนํ |
ตฺจ ธนํ อิจฺฉามหํ | ยถา ปฺุเน ปตฺถิตํ |
โสหํ คนฺตวา มนุสฺเสสุ | กาหามิ กุสลํ พหุํ |
ทาเนน สมจริยาย | สฺเมน ทเมน จ |
ยํ กตฺวา สุขิโต โหมิ | น จ ปจฺฉานุตปฺปสึ |
แปลว่า สมบัติอันใดที่มีทานเป็นปัจจัยมาแต่บุคคลอื่น สมบัตินั้นนั่นและเปรียบเหมือนยานพาหนะหรือเปรียบเหมือนทรัพย์ที่ยืมของเขามาใช้ เราไม่อยากได้สมบัติเช่นนั้น บุญทั้งหลายที่เราได้ทำแล้วเอง หรือทรัพย์อันใดที่ท่านยังเราให้ได้ยินว่าทรัพย์ของตน เราปรารถนาบุญนั้น เราปรารถนาทรัพย์นั้น เป็นของประดิษฐานอยู่ตามสมควรแก่บุญ เราจะไปในหมู่มนุษย์ทั้งหลายจะกระทำบุญกุศลให้มาก
เราจะกระทำกรรมใดด้วยทานบ้าง ด้วยความประพฤติเสมอบ้าง ด้วยความสำรวมกายวาจาใจบ้าง ด้วยความทรมานกายใจบ้าง แล้วเป็นผู้ได้ซึ่งความสุข เราจะทำกรรมนั้นจะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ฯ ท้าวสักกเทวราชเชื้อเชิญพระมหาสัตว์เจ้าด้วยอิสริยยศอันเป็นของทิพย์แล้ว พระมหาสัตว์เจ้าก็ห้ามอิสริยยศอันเป็นของทิพย์นั้นเสีย
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อพระองค์จะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
สหสฺสเนตฺโต เทวินฺโท | ธมฺมราชํ นิมนฺตยิ |
อากาสํ อพฺภุคฺคนฺตฺวาน | เทวโลกเมว คโต |
แปลว่า ท้าวสหัสสเนตรเทวราชได้เชิญพระเจ้าธรรมราชให้เลื่อนลอยขึ้นไปยังอากาศไปยังเทวโลก ดังนี้
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เจ้า ขึ้นสู่รถวิมานลงจากเทวโลกมายังมนุษยโลกแล้ว ลงจากรถเสด็จเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราช ถวายโอวาทแก่พระมหาสัตว์เจ้าว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงกระทำบุญมีทานเป็นต้น อย่าได้ประมาท แล้วท้าวสักกเทวราชก็เสด็จไปยังสถานของพระองค์
สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
อิทํ วตฺวาน มฆวา | เทวราชา มหิทฺธิโก |
ธมฺมราโชวาทํ ทตฺวา | สคฺคกายํ อปกฺกมิ |
แปลว่า ท้าวมฆวานเทวราชผู้มีฤทธิใหญ่ ได้ถวายโอวาทแก่พระเจ้าธรรมราชแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังสวรรคเทวโลก ฯ ในกาลนั้นมนุษย์ทั้งหลายชาวอยู่ในพระนครทั้งปวง ก็ตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์เจ้า กระทำบุญกุศลมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นอายุแล้วก็พากกันจุติไปเต็มบริบูรณ์อยู่ยังเทวโลก
สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ๔ ประการ พอจบสัจจะธรรมเทศนาลงมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุมรรคผล มีโสดาปัตติผลเป็นต้น แล้วเมื่อพระองค์จะทรงประชุมชาดก จึงตรัสพระคาถาในที่สุดท้ายว่า
ตทา จ วิมลา เทวี | ราหุลมาตา ยโสธรา |
สพฺเพ ชนา ราชปริสา | พุทฺธปริสา อิทานิ เต |
สกฺโก เทวานมินฺโท โส | อนุรุทฺโฮ ทิพฺพจกฺขุโก |
ธมฺมราชา โลกนาโถ | เอวํ ธาเรถ ชาตกํ |
แปลว่า นางวิมลาเทวีในครั้งนั้นมาเป็นนางยโสธรามารดาพระราหุล บรรดาชนทั้งหลายที่เป็นราชบริษัทในครั้งนั้น มาเป็นพุทธบริษัทในกาลนี้ ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น มาเป็นพระอนุรุทธเถรทิพพจักษุในกาลนี้ พระเจ้าธรรมราชในครั้งนั้น มาเป็นพระโลกนาถในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงจำชาดกนี้ไว้ด้วยประการฉะนี้