๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก

กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธูติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ทานปารมี อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันทรงพระปรารภทานบารมีของพระองค์ให้เป็นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ ดังนี้เป็นต้น

อนุสนธิของเรื่องนี้มีว่า ( วันหนึ่งภิกษุทั้งหลาย นั่งประชุมกัน ณ โรงธรรมสภา พากันสรรเสริญบารมีพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย เมื่อทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ ก็เพื่อจะปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นจากสังสารทุกข์เป็นเบื้องหน้า สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงจึงตรัสถาม ครั้นทรงทราบความแล้วจึงมีพุทธดำรัสว่า ในกาลปางก่อนตถาคตเมื่อยังมีปัญญายังอ่อนอยู่นั้น ได้ให้ทองหนักเท่าตัวแก่พระราชาถ่ายเอาภิกษุ ๓๓ รูปซึ่งถูกเขาจะฆ่า แล้วทรงนำเรื่องที่ล่วงมาแล้วอ้างดังต่อไปนี้ว่า)

----------------------------

อตีเต กิร สมเย ปรินิพฺพุเต กสฺสปโลกนาเถ ดังได้ยินมาว่า ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่ปางหลัง ครั้งเมื่อพระโลกนาถทรงพระนามว่ากัสสป เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้เจ็ดวัน คราวนั้นมีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจินราช เสวยราชสมบัติ ณ จินนคร พราหมณ์คนหนึ่งในเมืองนั้น รับตำแหน่งเป็นปุโรหิตาจารย์ของพระเจ้าจินราช กิร ดังได้สดับมาว่า ในคราวนั้นมีภิกษุสามสิบสามรูป สำรวมอิริยาบถงดงามพากันเดินมาตามถนนหลวงผ่านไปในพระนคร พราหมณ์ปุโรหิตเห็นภิกษุสามสิบสามรูปแล้วคิดว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจริงแท้ แต่ถ้าปล่อยให้มาเมืองนี้แล้ว พระราชาของเราจักเลื่อมใสต่อภิกษุเหล่านี้ ลาภสักการะของเราที่เคยได้ก็จักเสื่อมไป ถ้ากระไรเราจักยุยงให้พระราชาฆ่าภิกษุพวกนี้เสียให้ได้ คิดแล้วก็เข้าเฝ้าพระเจ้าจินราช ได้โอกาสแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พวกโจรทั้งหลายปลอมเป็นเพศภิกษุพากันมาเพื่อจะปล้นเอาพระนครนี้แน่ พระจินราชทรงฟังก็หลงเชื่อถ้อยคำของพราหมณ์ปาปมิตรแล้วตรัสถามว่า แน่ะอาจารย์ เราจักทำอย่างไรเล่า ฯ ข้าแต่เทวบพิตร พระองค์อย่าทำให้ช้าเลย จงรีบจับภิกษุมัดเข้าเฆี่ยนเสียแล้วให้เอาไปเสียบปลายไม้หลาวไว้

ตํ สุตฺวา ราชา พระเจ้าจินราชทรงฟังดังนั้น รับสั่งว่าดีแล้วอาจารย์ แล้วให้หานายเพชฌฆาตเข้ามาเฝ้ารับสั่งว่า พวกเจ้าจงไปจับพวกโจรมาผูกเฆี่ยนแล้วนำไปยังป่าช้า เอาขึ้นเสียบไม้หลาวไว้ทั้งเป็น พวกเพชฌฆาตรับโองการแล้วหาความกรุณามิได้ และไม่รู้จักคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตรงเข้าไปสู่สำนักพระนาคทีปกเถระทุบบาตรเสียบ้าง บางพวกฉีกจีวรเสียบ้าง เอามือทุบศีรษะและตบปากพระเถระ และทุบตีพระภิกษุทั้งหลายองค์อื่น ทำเอาจนเลือดไหลออกทางหูและจมูกและปากพระภิกษุทั้งหลายพากันร้องไห้บ่นเพ้อไปต่างๆ

ฝ่ายสังฆเถระจึงปลอบพระภิกษุทั้งหลายด้วย ธรรมีกถา ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าคิดอะไรและอย่าร้องไห้ไปนักเลย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า พวกเราที่ต้องโทษอย่างนี้เพราะกรรมที่เราทำมาแล้วแต่ก่อน พระสังฆเถระก็กล่าวสอนด้วยพระคาถาดังนี้ว่า

กมฺมโยนิ จ กมฺมพนฺธุ กมฺมสฺสกตา ภวาภเว
ยาว กมฺมา น มุจฺจนฺติ ตาว กมฺเมน สตฺตาปิ
สพฺเพ กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา กมฺมปฏิสรณา
สพฺเพ ทุกฺขา ทุกฺขกมฺเมว เทติ

ความว่า กรรมคือบุญบาปย่อมเป็นกำเนิดเป็นเผ่าพันธุ์ สัตว์ทั้งหลายที่เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ล้วนมีกรรมคือบุญบาปเป็นของๆ ตนสิ้น สัตว์ทั้งหลายยังไม่พ้นจากกรรมคือบุญบาปอยู่ตราบใด ก็ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะกรรมอยู่ตราบนั้น สัตว์ทั้งปวงย่อมมีกรรมคือบุญและบาปเป็นของ ๆ ตนย่อมรับมรดกผลแห่งกรรม และมีกรรมเป็นที่พึ่งของตน กรรมคือทุกข์ย่อมให้ผลเป็นทุกข์แท้จริง

ตทา คราวนั้น ชนชาวพระนครก็กำเริบ คือเล่าลือกันต่อ ๆ ไปว่า ภิกษุสามสิบสามรูปจะต้องถูกเสียบหลาวทั้งเป็น ในกาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลเศรษฐีมีนามว่า ทุลกบัณฑิต ๆ ทราบเรื่องนั้นแล้ว รีบด่วนไปยังสำนักแห่งพระนาคทีปเถระ กราบไหว้แล้วไต่ถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ๆ มีโทษความผิดอย่างใด จึงจะต้องถูกลงพระอาญาเสียบหลาวดังนี้ ฯ ดูกรอุบาสก โทษความผิดของเราทั้งหลาย ยังไม่เคยมีปรากฏในชาตินี้เลย แต่เราทั้งหลายหากไม่รู้ซึ่งโทษอันเกิดแล้วในชาติก่อน

ลำดับนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ตรงเข้าแก้อาฆาฏาภรณ์ (คือเครื่องจำจองของคนที่จะต้องถูกฆ่า) แล้ว อ้อนวอนนายเพชฌฆาตว่า ขอท่านกรุณาโปรดงดการฆ่าไว้สักครู่หนึ่งเถิด ข้าพเจ้าจะขอเฝ้าพระราชา แล้วก็รีบเข้าไปยังพระราชวัง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทจักถวายเงินและทรัพย์ เพื่อขอถ่ายตัวภิกษุสามสิบสามรูป ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาแก่ข้าพระบาทเถิดพระเจ้าข้า ฯ ดูกร ทุลกบัณฑิตเจ้าจะให้จริงหรือ ฯ ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทจะถวายจริงฯ ถ้าเจ้าจะให้จริงดังนั้น เจ้าจงให้ทองเท่าตัวคนที่จะถ่ายทุกคนไป

ตํ สุตฺวา ทุลกบัณฑิตฟังโองการตรัสนั้นแล้ว มีจิตเต็มตื้นด้วยปีติ รับราชโองการแล้วถวายบังคมลากลับไปบ้านกราบไหว้มารดาแล้ววิงวอนว่า ข้าแต่พระมารดา ทองคำของมารดาซึ่งมืออยู่มากน้อยเท่าใด ขอพระมารดาจงยกให้แก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ ดูกรพ่อ เจ้าจะเอาทองคำไปทำไม ฯ ข้าแต่พระมารดาข้าพเจ้าต้องการจะเอาไปถ่ายตัวพระภิกษุสามสิบสามรูปซึ่งถูกพระราชาบังคับให้ฆ่าเสีย มารดาได้ฟังดังนั้นเอามือลูบอกของตนแล้วพูดว่า โอเราได้ลูกผู้หาผลประโยชน์อย่างนี้ดีนักหนา จึงว่าเจ้าจงถือเอาทรัพย์สมบัติทั้งหลายเถิด

พระบรมโพธิสัตว์ฟังคำมารดาอนุญาตดังนั้น มีจิตเกษมสันต์ผ่องใส อุปมัยดังมณฑลพระจันทร์ในวันเพ็ญลอยอยู่ในอากาศฉะนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงนุ่งห่มผ้ามีราคามาก ให้คนขนเอาทองไปกองไว้ยังหน้าพระลานหลวง แล้วจึงเข้าไปกราบทูลพระราชาว่า ขอพระองค์จงทรงรับเอาทอง ณ กาลบัดนี้ ฯ เจ้าจงแบ่งทองให้มีน้ำหนักเท่ากับโจรทุก ๆ คน ทุลกบัณฑิตจึงไปยังสำนักพระนาคทีปเถระ นมัสการกราบไหว้แล้วจึงวิงวอนว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าจงกรุณาขึ้นนั่งบนที่สำหรับชั่ง ๆ ได้น้ำหนักประมาณเท่าใด ข้าพเจ้าจักเอาทองคำชั่งให้เท่าน้ำหนักตัวพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เมื่อชั่งทองคำได้น้ำหนักพอตัวพระนาคทีปเถระเสร็จแล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้า เมื่อปรารถนาจะปลดเปลื้องภิกษุสามสิบสามรูปอีก ตามนัยที่ได้ชั่งทองเท่าตัวพระนาคทีปเถระแล้วนั้น จึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

สุณนฺตุ โภนฺโต วจนํ เทวสงฺฆา สมาคตา
ภิกฺขูนํ หิ ปโมเจยฺยํ โพธิยาเยว การณา

ความว่า ข้าแต่เทพยดาเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ขอเชิญฝูงเทพยดาจงมาพร้อมกันฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถ่ายพระภิกษุทั้งหลายให้พ้นจากความตายครั้งนี้ ด้วยเหตุเพื่อพระโพธิสัตว์ญาณสิ่งเดียวเท่านั้น

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ประกาศให้เทพยดาทราบชัดดังนี้แล้ว แล้วจึงถ่ายพระภิกษุไปทีละรูป ๆ ด้วยวิธีเอาทองคำชั่งให้ได้น้ำหนักเท่าตัวทุก ๆ รูป ทองคำที่นำมานั้นก็หมดยังไม่พอแก่ภิกษุอีกสามรูป

พระเจ้าจินราชตรัสถามว่า ดูกรทุลกบัณฑิต ทองคำของเจ้ามีอีกหรือไม่ ฯ ข้าแต่สมมติเทวดา ทองคำของข้าพระบาทไม่มี ฯ ถ้าเช่นนั้นเจ้าจะทำอย่างไรเล่า ฯ ข้าพระบาทขอผัดสักครู่หนึ่งก่อนพระเจ้าข้า พระบรมโพธิสัตว์ถวายบังคมลากลับไปยังบ้าน จึงบอกกับภรรยาว่า เราถวายทองคำแก่พระราชาเพื่อถ่ายตัวพระภิกษุสามสิบสามรูปให้พ้นจากถูกฆ่า บัดนี้ภิกษุยังเหลืออยู่สามรูปทองคำหมดไม่พอถ่าย เราจะขายตัวเราเอาเงินไปซื้อทองคำมาถ่าย เราจักยังยอดทานบารมีให้เต็มบริบูรณ์ เจ้าจะเห็นอย่างไร

ฝ่ายภรรยาได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้จึงพูดว่า ข้าแต่ลูกเจ้าผู้สามี ท่านอย่าขายตัวท่านเลย ท่านจงขายตัวข้าพเจ้าและลูกของท่านดีกว่า ได้มูลราคามาแล้ว ท่านจงทำตามความชอบใจของท่านเถิด พระบรมโพธิสัตว์ได้ฟังภรรยาว่าดังนั้นก็ดีใจตอบว่า ดูกรแม่ผู้เจริญดีแล้ว จึงจูงมือบุตรภรรยาพาไปขายฝากไว้ในสำนักเศรษฐีมีทรัพย์แล้ว เอาเงินมาจ่ายซื้อทองคำนำไปชั่งได้นำหนักพอเฉพาะภิกษุสองรูป ยังเหลืออยู่แต่สามเณรน้อยองค์หนึ่ง บังเอิญทองหมดเสียอีก

โส สามเณโร สามเณรน้อยนั้นมีความกลัวต่อความตาย นั่งร้องไห้จนศีรษะตก จึงบอกกับนายเพชฌฆาตว่า ท่านทั้งหลายจงแทงข้าพเจ้าให้ตายด้วยหลาวเถิด นายเพชฌฆาตทั้งหลายฟังคำสามเณรผู้หาที่พึ่งมิได้ดังนั้นก็ให้คิดสงสาร จึงเปลื้องสามเณรออกจากเครื่องจำจอง สามเณรนั้นครั้นได้โอกาสแล้วจึงเข้าไปยังสำนักพระนาคทีปเถระ นมัสการกราบไหว้แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอกราบลาตายในวันนี้ จำเดิมแต่วันซึ่งข้าพเจ้าบรรพชาแล้วจนถึงวันนี้ โทษผิดที่เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในสำนักพระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้ากรุณาอดโทษนั้นแก่ข้าพเจ้า ด้วยกิจที่ข้าพเจ้าจะทำความเคารพกราบไหว้ก็เป็นที่สุดครั้งเดียวนี้ อนึ่งถ้าหากว่าบิดามารดาของข้าพเจ้าจะพึงถามถึงข้าพเจ้าไซร้ ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดให้รัดประคตนี้ และผ้าจีวรผ้าสาฎกผืนนี้ ๆ แก่บิดามารดา ๆ เห็นจำได้จะบรรเทาความเศร้าโศกให้หายไป สามเณรน้อยละห้อยละเหี่ยตรงเข้ากอดรัดพระนาคทีปเถระ ร่ำร้องไห้โดยนัยดังนี้

นาคทีปเถโร พระนาคทีปเถระเจ้า ฟังคำรำพันแสดงความโศกศัลย์ของสามเณรน้อย มีความสลดรันทดใจสุดอาลัยยิ่งนักจึงปลอบว่า ดูกรสามเณรผู้มีอายุ เธออย่าโศกเศร้าเสียใจและคิดไปนักเลย เราจักไม่ปล่อยให้เธอตายแต่ผู้เดียวได้เมื่อจะแสดงธรรมสั่งสอนต่อไปจึงกล่าวนัยคาถาดังนี้ว่า

สพฺเพ อนิจฺจา ธมฺมา อุปฺป่าทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺฌิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข

ความว่า ธรรมทั้งหลายทั้งหมด เป็นของไม่เที่ยงแท้ มีอันบังเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไป ความที่ธรรมทั้งหลายนั้นเข้ารำงับเสีย ย่อมเป็นสุขด้วยประการดังนี้

ทุลกบัณฑิต ได้ฟังธรรมกถาดังนั้น จึงตัดพ้อตนของตนเองว่า ดูกรทุลกบัณฑิต เจ้ารักชีวิตของเจ้ามากหรือรักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากกว่ารักชีวิต เมื่อทุลกบัณฑิตคิดเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิต จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจินราชแล้วกราบทูลว่า ขอพระกรุณาปกเกล้า ข้าพระพุทธเจ้าจักรับอาสาตายแทนสามเณร ฯ ดูกรทุลกบัณฑิตจริงกระนั้นหรือ ฯ พระเจ้าข้าตายแทนสามเณรได้จริง ฯ ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่สามเณร ฯ ทุลกบัณฑิตจึงไปสู่สำนักสามเณรแก้สามแนรออกจากเครื่องจองจำแล้วกล่าวคาถาดังนี้ว่า

สุณนุตุ โภนฺโต วจนํ เทวสงฺฆา สมาคตา
อตฺตโน ชีวิตํ ทตฺวา โพธิยาเยว การณา

ความว่า ข้าแต่เทพยดาเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ขอเชิญหมู่เทพยดาเจ้าจงมาประชุมพร้อมกันฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า ณ บัดนี้ข้าพเจ้าสละชีวิตของข้าพเจ้าตายแทนสามเณร ก็เพราะเหตุแก่พระโพธิญาณสิ่งเดียวเท่านั้น

ทุลกบัณฑิตกล่าวคาถานี้แค้ว จึงประกาศให้เทพยดาทราบอีกต่อไปว่า ขอเทพยดาผู้มีมหิทธิฤทธิ ซึ่งสถิตในอากาศและภูเขาเนาวไพร จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า ซึ่งกล่าวบัดนี้เป็นคำจริงทั้งสิ้น ผู้ใดต้องการหัวใจและศีรษะและจักษุชิวหาเนื้อหรือเลือดผู้นั้นจงฉะเชือดเอาไปตามประสงค์ ข้าพเจ้าปลงชีวิตครั้งนี้ชื่อว่าทานบารมี ด้วยอำนาจชีวิตทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในกาลข้างหน้า จักรื้อขนสัตว์ซึ่งจมอยู่ในสังสารวัฏ ให้ข้ามตื้นขึ้นฝั่งคือ พระนฤพาน เมื่อประกาศดังนี้แล้ว จึงนมัสการสามเณรแล้วกล่าวว่าขอให้สามเณรอยู่ตั้งใจรักษาศีลและเจริญภาวนาทำเมตตาจิตเป็นอารมณ์ อนึ่งถ้าหากว่าข้าพเจ้าประมาทพลาดพลั้งด้วยกายวาจาใจ ขอท่านจงให้อภัยอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย แล้วก็บอกแก่นายเพชฌฆาตว่า ท่านทั้งหลายจงจำจองเฆี่ยนข้าพเจ้าตามแบบบังคับเถิด นายเพชฌฆาตทั้งหลายก็พากันจับทุลกบัณฑิตเข้าจำด้วยเครื่องจำห้าประการ จึงประหารด้วยหวายแล้วนำไปยังป้าช้าผีดิบ

ตํ ทิวสํ ในเวลาวันนั้น ชนชาวพระนครก็พากันแตกตื่นพูดกันถึงเรื่องทุลกบัณฑิตปลงชีวิตจะตายแทนสามเณรนั้น ฝ่ายมารดาของทุลกบัณฑิตได้ยินข่าวเล่าลือดังนั้น ตัวสั่นขวัญหายเอามือทั้งสองตีอกสยายผมกลิ้งเกลือกร้องไห้ร่ำไร วิ่งตามไปถึงป่าช้าผีดิบ เห็นลูกรักอันไม่มีความผิดต้องถูกจำจองห้าประการ หัวใจปานประหนึ่งว่าจะแตกออกเจ็ดภาค น้ำตาไหลลงพราก ๆ แล้วก็กล่าวพระคาถาดังนี้ว่า

หา ตาต ปิยปุตฺตก หา ตาต หทย มม
หา ตาต ปุตฺตก ลภิ ตฺวฺจ กาลกโต ปุพฺเพ
อนาถมรณํ มม สพฺเพ เต จ ภเวยฺยาหํ
ขุปฺปิปาสาหิ ปิติยา นิวตฺเตหิ ตุวมฺปิ ปุตฺตก

ความว่า ดูกรพ่อลูกรักดังดวงใจ มารดาขอห้ามเจ้าไว้ก่อน เจ้าจะตายไปก่อนมารดาแล้ว มารดาหาที่พึ่งมิได้ก็จะตายไปตามเจ้า อนึ่งเล่าทรัพย์สมบัติของพ่อยังมีมาก เราแม่ลูกมิได้ลำบากด้วยอยากข้าวและน้ำ พ่อจงกลับไปบ้านของเราเถิด

มารดากล่าวคาถานี้แล้ว ก็พร่ำบ่นไปต่าง ๆ ว่า มารดาจักตายวันนี้หรือวันพรุ่งเป็นแน่ มารดาย่อมยกทรัพย์สมบัติให้แก่เจ้าทั้งหลาย เจ้าจงเห็นแก่มารดาเถิด

ลำดับนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงตอบมารดาว่า มารดาอย่าว่าอย่างนั้นเลย ข้าพเจ้าสละชีวิตครั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มารดาจงอย่าห้ามข้าพเจ้าเลย เหตุใดข้าพเจ้าจึงว่าดังนี้เล่า เพราะว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้านี้ เป็นประทีปส่องสัตว์โลกให้สว่างทุกแหล่งหล้าฉะนั้น คนจำพวกใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งแล้ว ความหวาดหวั่นต่ออันตรายย่อมไม่มีแก่คนจำพวกนั้นเลย คนจำพวกนั้นย่อมจะถึงซึ่งทางดำเนินแห่งความสุขอันเกษม ด้วยเหตุนี้มารดาอย่าห้ามเลย

สา มาตา ส่วนมารดานั้น ไม่อาจจะยังพระโพธิสัตว์ให้กลับได้ จึงเดินตามไปถึงที่ซึ่งนายเพชฌฆาตเขาจะฆ่า พระบรมโพธิสัตว์จึงเอามือลูบไม้หลาวแล้วกล่าวว่า ดูกรไม้หลาว ไม้ต้นอื่นเขาเอาไปทำเป็นพระวิหารก็มี เป็นพระพุทธรูปและเป็นที่จงกรมเป็นอาวาสที่อยู่ก็มี ส่วนไม้หลาวนี้ทำไมจึงมาตั้งรับอสุจิอยู่เล่า ตสฺมึ ขเณ ในขณะบัดเดี๋ยวใจเทพยดาฟังคำพระบรมโพธิสัตว์แล้ว จึงบันดาลให้ไม้หลาวหักเป็นจุณวิจุณไป คราวนั้นชนชาวพระนครก็ตื่นเต้นพากันมาดูและพูดกันต่อไป

ตํ ทิวสํ ในเวลาวันนั้น สุขาตพราหมณ์ผู้บิดาของพระโพธิสัตว์ซึ่งไปค้าขายได้ทองคำเต็มเรือ กลับมาแต่เมืองปาตลีบุตรพอประจวบมาถึงจินนคร มหาชนจึงบอกกับสุชาตพราหมณ์ว่า ท่านไม่รู้หรือทุลกบัณฑิตบุตรของท่าน สละชีวิตให้เป็นทานแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บัดนี้เพชฌฆาตเขาจะยกขึ้นไว้บนปลายไม้หลาวแล้ว สุชาตพราหมณ์ได้ยินเขาบอกดังนั้น ก็ตระหนกตกใจรีบตามไปถึงป่าช้า จึงวิงวอนนายเพชฌฆาตว่า อย่าเพ่อทำบุตรของข้าพเจ้าให้พินาศเลย ข้าพเจ้าจะขอถ่ายบุตรของข้าพเจ้า แล้วก็รีบไปเฝ้าพระเจ้าจินราชกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ขอทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ข้าพระพุทธเจ้าถ่ายทุลกบัณฑิตเถิดพระเจ้าข้า ฯ ดูกรพราหมณ์ เจ้าจงให้ทองคำหนักเท่าตัวทุลกบัณฑิต สุชาตพราหมณ์รับพระราชโองการแล้ว รีบไปเปิดท้องเรือนำเอาทองคำมาชั่งหนักเท่าตัวทุลกบัณฑิต ถ่ายแล้วก็พากันกลับไปบ้านเรือนของตน

ตทา สงฺฆเถโร คราวนั้น พระสงฆเถรเจ้าชื่อนาคทีปะ จึงให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราขอตักเตือนท่านทั้งหลาย บัดนี้พวกเราได้รอดพ้นจากทุกข์ เพราะอาศัยทุลกบัณฑิตช่วยถ่ายพวกเราด้วยทองคำเท่าตัว ๆ พวกเราทั้งหลายควรจะสรรเสริญคุณศรัทธาและเห็นอุปการะของทุลกบัณฑิต พวกเราควรจะพยายามทำความเพียรเจริญพระกรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไป พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น พากันยินดีรับโอวาทของพระสังฆเถระ ๆ กับพระภิกษุทั้งหลายก็ตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน ไม่ช้านานเท่าไดก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณพระสังฆเถระจึงปรึกษากับพระภิกษุสามสิบสองรูปว่าอย่ากระนั้นเลย พวกเราจะช่วยกันทำความสงเคราะห์แก่ทุลกบัณฑิตเถิด พระภิกษุทั้งหลายมีความยินดีพร้อมกัน ลุกขึ้นห่มคลุมจีวรถือเอาบาตรของตน ๆ เหาะขึ้นบนอากาศ งามปรากฏดังหงส์เหมราช บางองค์ยืนอยู่เหนือยอดภูเขา เอามือลูบพระอาทิตย์พระจันทร์ พากันทำปาฏิหาริย์ให้เห็นเป็นอัศจรรย์ต่าง ๆ

อถ ราชา ครั้งนั้นพระเจ้าจินราช ทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยทอดพระเนตร ก็สะดุ้งตกพระทัยเสียวสยองเส้นพระโลมา จึงดำรัสแก่พวกอำมาตย์ว่า ดูกรอำมาตย์ผู้เจริญ พวกโจรเหล่านี้พากันเหาะมาโดยอากาศ หมายมาดมาจะฆ่าพวกเรา เราจะคิดอ่านทำอย่างไร ฯ ข้าแต่สมมติเทวดา ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้หาตัวทุลกบัณฑิตเข้ามาสอบถามดูเห็นจะดีพระเจ้าข้า จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปตามตัวทุลกบัณฑิตเข้ามาเฝ้าตรัสถามว่า พวกโจรสามสิบสามที่เจ้าถ่ายตัวปล่อยไปแล้ว บัดนี้พากันเหาะมาโดยอากาศหมายมาดจะฆ่าพวกเรา เจ้าจงแก้ไขให้เราพ้นอันตราย

พระบรมโพธิสัตว์เจ้าสดับพระราชดำรัสดังนั้น มีจิตเกษมสันต์หน้าชื่นบาน เปรียบปานดังพระจันทร์ในวันเพ็ญอันเด่นดวงฉะนั้น จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ข้าพระบาทจักอาราธนาให้ลงมาในวันนี้ ทูลปลอบดังนี้แล้ว ก็ให้คนจัดแจงแต่งอาสนะไว้เป็นอันดี พระเจ้าจินราชทรงยืนประทับถือเครื่องสักการะมีดอกไม้และของหอมเป็นต้นคอยท่าอยู่ ฝ่ายทุลกบัณฑิตจึงประนมหัตถ์นมัสการเงยหน้าขึ้นดูอากาศ แล้วประกาศว่าขออาราธนาพระสงฆ์พุทธสาวกจงลงจากอากาศเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ตัวข้าพเจ้าชื่อว่าทุลกบัณฑิต ขอนิมนต์พระผู้เป็นเจ้า ๆ จงรับนิมนต์เถิดพระเจ้าข้า

พระภิกษุสามสิบสามรูป ได้ยินเสียงว่าทุลกบัณฑิตก็จดจำได้ จึงพากันลงจากอากาศ มานั่งพร้อมกัน ณ อาสนะในราชนิเวศน์สถาน พระเจ้าจินราชถวายอภิวาทด้วยปัญจางคประดิษฐ์ทั้งห้าทำการสักการบูชาพระภิกษุทั้งหลายโดยเคารพ พระนาคทีปเถระเจ้าเมื่อจะแสดงธรรมสั่งสอนพระเจ้าจินราช จึงประกาศพระคาถาดังนี้ว่า

สกึ เทว มหาราช สพฺภิ โหติ สมาคโม
โส นํ สงฺคโม ปาเลติ น สพฺภิ พหุสงฺคโม
สพฺภิเรว สมาเสถ สพฺภิ กุพฺเภถ สนฺถวํ
สตํ จ ธมฺมมฺาย เสยฺโย โหติ น ปาปิโย

ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้สมมติเทวดา ความคบหาด้วยสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่มากแต่ครั้งเดียว ความคบหาด้วยสัตบุรุษนั้น ย่อมอุ้มธารเลี้ยงผู้คบหานั้นไว้ได้ดี พระองค์จงคบและทำความรักใคร่ด้วยสัตบุรุษทั้งหลายเถิด คุณอันประเสริฐไม่เป็นธรรมลามกจะบังเกิดมีโดยส่วนเดียวเพราะรู้ธรรมของสัตบุรุพทั้งหลายแท้จริง

ข้าแต่มหาราชบพิตร ราชรถงดงามวิจิตร์ด้วยเงินทองก็ดี หรือสรีระอินทรีย์อันผ่องใส ก็ย่อมเสื่อมซุดคร่ำคร่าไปทุกวัน ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายนั้น ย่อมไม่ถึงซึ่งความชราชำรุดเลย อนึ่งพวกสัตบุรุษย่อมรู้ธรรมตามพวกสัตบุรุษด้วยกัน ธรรมของพวกสัตบุรุษและอสัตบุรุษนั้น ห่างไกลกันคนละซีก เหมือนฟ้าห่างกับดิน และเหมือนฝั่งแห่งมหาสมุทร

ผู้อยู่ครองเรือนบริโภคกาม เป็นผู้เกียจคร้านก็ไม่ดี ผู้ที่บวชแล้วไม่สำรวมอินทรีย์ก็ไม่งาม พระราชาไม่ทรงวิจารณให้ถ่องแท้ก่อนก็ไม่ดี ผู้เป็นบัณฑิตแล้วมักโกรธเร็วก็ไม่ดี ผู้ใดหลงแล้วไปถามคนที่หลงด้วยกัน ผู้นั้นก็ย่อมจะหลงมากไปอีก และจะไม่ได้ประสบความสวัสดี ผู้ไว้ปรีชาย่อมปรารถนามากเกินไป

ข้าแต่พระมหาราชบพิตร ผู้ใดต้องการเดินทางตรงแต่หลงไปเดินตามภูเขา ผู้นั้นย่อมไม่ประสบความสวัสดี มีแต่จะตกลงตามซอกภูเขาและหุบเหวฉันใด ความคบคนพาลก็มีอาการเช่นเดียวกันฉันนั้น ผู้ใดเอากฤษณากะลำพักห่อกับใบไม้ ๆ นั้นก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไปฉันใด ความคบนักปราชญ์ ๆ ก็จะพาไปในสิ่งที่ดีฉันนั้น

ผู้ใดชอบคบและทำความรักใคร่ต่อคนพาล ผู้นั้นย่อมยินดีเลื่อมใสต่อลัทธิแห่งคนพาล ความทุกข์ก็ทวีขึ้นแก่ผู้นั้น เหมือนพืชพรรณที่คนเพาะให้งอกงามฉะนั้น คนใดทำความชั่วและความดี คนนั้นย่อมจะได้รับผลความชั่วและความดี คนพาลย่อมเสวยทุกข์ในนรก นักปราชญ์ย่อมเสวยสุขคือพระนฤพาน

คนพาลย่อมไม่เชื่อฟังคำสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์ คนเป็นนักปราชญ์ย่อมเชื่อฟังคำสอนของบิดามารดาครูอาจารย์ นรชนคนเหล่าใด ย่อมก่อกรรมทำบาปเนื่อง ๆ นรชนคนเหล่านั้นย่อมไปนรกในที่ไม่ควรไป นรชนคนเหล่าใดมีบุญได้ทำไว้แล้วละเว้นเสียจากการบาป นรชนคนเหล่านั้นย่อมไปสวรรค์และย่อมได้สมบัติโดยแท้

เทสนาวสาเน เมื่อจบเทศนาลงครั้งนั้น พระเจ้าจินราชมีพระราชหฤทัยปสาทเลื่อมใส มอบพระองค์เป็นศิษย์แก่พระรัตนตรัย แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษตีกลองป่าวร้องให้ราษฎรทราบทั่วกันว่า ราษฎรทั้งหลายบรรดาอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงนับถือพระรัตนตรัยอย่าได้ประมาทเลย จำเดิมตั้งแต่นั้นมา มนุษย์ชาวเมืองจินนครที่เป็นฝ่ายมิจฉาทิฐิ ก็กลับเป็นสัมมาทิฐิทั้งสิ้น พระเจ้าจินราชจึงตรัสแก่พระนาคทีปเถระว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญข้าพเจ้าทำล่วงเกินด้วยกายวาจาไจ เป็นไปในอดีตและปัจจุบันนับว่าเป็นโทษใหญ่ เพราะเหตุที่คบบาปมิตรผิดไป ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดงดโทษแก่ข้าพเจ้า แล้วก็ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า

กาฬปกฺเข ยถา จนฺโท หายเตว สุเว สุเว
กาฬปกฺขูปโม ภนฺเต อสตํ โหติ สมาคโม
ตถา หิ พฺราหฺมณสงฺคโม สาหสิกํ ปุริสาธมํ
อกาสิหํ ปาปกมฺมํ เยน คจฺฉามิ ทุคฺคตึ
สุกปกฺเข ยถา จนฺโท วฑฺฒเตว สุเว สุเว
สุกปกฺขูปโม ภนฺเต สตํ โหติ สมาคโม
ตถา หิ ตว สงฺคโม เอวํ ชานาหิ ปณฺฑิต
กาหามิ กุสลํ กมฺมํ เยน คจฺฉามิ สุคตึ

ความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระจันทร์ในวันข้างแรมย่อมลับแสงไปทุกวัน ๆ ฉันใด ความคบหาอสัตบุรุษทั้งหลาย ก็เหมือนกับพระจันทร์ในวันข้างแรมฉันนั้น ดวามคบหากับพราหมณ์ผู้ปุโรหิตทำให้ข้าพเจ้ามืดมิดสมจริงดังนั้น ข้าพเจ้าจะไปทุคคติด้วยบาปกรรมสิ่งใด ข้าพเจ้าได้ทำบาปกรรมซึ่งเป็นอธรรมของบุรุษล้วนสาหัสสิ่งนั้นเสียแล้ว ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระจันทร์ในวันข้างขึ้น ย่อมเปล่งรัศมีสว่างฉันใด ความสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลาย ก็เหมือนพระจันทร์ในวันข้างขึ้นฉันนั้น ความที่มาคบหาพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าสว่างสมจริง ปณฺฑิต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้มีปัญญา ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรู้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจะไปสุดติด้วยกุศลกรรมสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำกุศลกรรมสิ่งนั้นทุกประการ

พระเจ้าจินราชทรงประกาศดังนี้แล้ว ก็ส่งพระภิกษุทั้งหลายไปโดยสวัสดิภาพ จึงตั้งทุลกบัณฑิตให้เป็นที่เสนาบดีแล้วขับไล่พราหมณ์ปุโรหิตปาปมิตรนั้นให้ไปเสียจากพระนคร หมู่ประชาราษฎรในเมืองนั้นพากันทำบุญต่าง ๆ มีทานเป็นต้น และอุปฐากสังฆมณฑลด้วยปัจจัยทั้งสี่ เมื่อทำลายชีวิตินทรีย์แล้ว ก็ไปเกิดในโลกสวรรค์ พระเจ้าจินราชกับทุลกเสนาบดีนั้น ได้บำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้วได้ไปบังเกิดในเทวสถาน

----------------------------

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ผู้มีมิจฉาทิฐิในกาลนั้น กลับชาติมาคือภิกษุเทวทัตต์ พระเจ้าจินราชผู้ประทุษร้ายต่อภิกษุในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระอานนทเถร มารดาทุลกบัณฑิตในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา บิดาทุลกบัณฑิตในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระสุทโธทนมหาราชเจ้า ภรรยาทุลกบัณฑิตในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระพิมพายโสธรา บุตรของทุลกบัณฑิตในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระราหุล บริษัททั้งหลายในกาลนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท ทุลกบัณฑิตนั้น ครั้นกลับชาติมาคือพระโลกนาถ ด้วยประการฉะนี้

จบทุลกบัณฑิตชาดก

  1. ๑. ที่วงเล็บนี้ ตัวบาลีไม่มีเห็นจะตกขาดไป เคยเห็นความปรารภแล้ว ย่อมมีปัจจุบันนิทานทุกเรื่อง จึงเรียงเติมลงไว้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ