๓๘. อติเทวราชชาดก

สุจาปิ ตสฺมึ นคเร จาติ อิทํ สตฺถา ราชคหํ อุปนิสฺสาย เวฬุวเน มหาวิหาเร วสฺสํ วสนฺโต อตฺตโน ปุพฺพจริยํ อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เมื่อเสด็จจำพรรษาอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ทรงอาศัยเมืองราชคฤห์เป็นที่ภิกขาจารบิณฑบาต ทรงพระปรารภบุรพจริยาของพระองค์ ซึ่งได้ทรงประพฤติมาแล้วในกาลก่อนให้เป็นเทศนาอุบัติเหตุ จึงตรัสเทศนาอติเทวราชชาดกนี้ให้เป็นผล อันพระสังคีติกาจารย์ กำหนดด้วยบาทต้นพระคาถาว่า สุจาปิ ตสฺมึ นคเร ดังนี้เป็นอาทิปฐมบาท

แท้จริงเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงอนุญาตผ้าเพื่อกฐินแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งมีจีวรอันคร่ำคร่า ผู้มีพรรษาอันอยู่แล้วถ้วนไตรมาสแล้วบัญญัติแต่งตั้งสิกขาบทไว้ โดยนัยที่พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวแล้วในคัมภีร์มหาวรรคนั้น ครั้นพระองค์ทรงพิจารณาด้วยทิพยจักษุญาณได้เห็นทายกผู้ถวายกฐินทานในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน อันได้ซึ่งอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงตรัสแสดงผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในประชุมพุทธบริษัท

ในกาลนั้น พระนารทเถรเจ้าได้ฟังพระพุทธดำรัสอันพรรณนาอานิสงส์ผลแห่งกฐินทาน ก็มีจิตสันดานอันเต็มไปด้วยปีติอันแรงกล้า จึงดำริในใจว่า เราจักถวายผ้าเพื่อกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อดำริในจิตฉะนี้แล้ว ก็อุฏฐาการอาสนะตรงไปสู่ตระกูลญาติของตน จึงเล่าความตามที่ได้สดับอานิสงส์ผลแห่งกฐินทาน แล้วชักชวนหมู่ญาติให้จัดหาเครื่องอุปการทั้งหลาย มีท่อนผ้าเพื่อกฐินเป็นต้น แล้วพาบรรดาเครือญาติของตนไปยังพระอาราม ครั้นถึงจึงวางผ้ากฐินลงแทบบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วถวายด้วยถ้อยคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญข้าพเจ้าขอถวายผ้าทั้งหลายแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์ให้เป็นผ้ากฐิน พระพุทธเจ้าข้า

อถ โข ภควา ในลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆประมาณ ๕๐๐ รูป ก็เริ่มทำบุรพกิจมีเย็บย้อมเป็นต้น ให้ผ้านั้นสำเร็จกิจเป็นผ้ากฐิน ทั้งทำกิจคือกราลและอนุโมทนา

วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในโรงธรรมสภา จึงสนทนาแก่กันว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระนารทเถรเจ้าเป็นผู้ดำรงตนอยู่ในสมณเพศ เป็นผู้มีอัธยาศัยในทานบริจาค เมื่อได้สดับว่ากฐินทานมีผลานิสงส์มาก จึงไปชักชวนหมู่ญาติทั้งหลาย หาผ้ามาถวายเป็นกฐินทานบริจาคแก่พระภิกษุสงฆ์ มืองค์พระผู้มีพระภาคเป็นประธาน พระพุทธองค์ก็ทรงกระทำกิจและเย็บย้อมและกราลและอนุโมทนา พร้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ อันนี้เป็นเหตุควรอัศจรรย์

ในขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จประทับอยู่ ณ คันธกุฏีในพระเชตวัน ได้สดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นด้วยทิพย์โสตญาณ จึงเสด็จอุฏฐาการจากพระคันธกุฏีมาผู้โรงธรรมสภา เสด็จประทับ ณ พระพุทธอาสน์แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า เธอทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องอะไร ภิกษุทั้งหลายจึงทูลความตามที่ได้สนทนานั้นให้ทรงทราบ จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่นารทภิกษุถวายผ้ากฐินทานในกาลนี้เป็นอัศจรรย์น้อย โบราณกบัณฑิตทั้งหลายในอดีตกาลปางก่อน ได้บำเพ็ญทานกระทำมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อยใหญ่สองพันเป็นบริวารให้เป็นที่ดอน แล้วถวายกฐินทานแก่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ในครั้งนั้นเป็นอัศจรรย์มาก มีพระพุทธฎีกาตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพ พระภิกษุทั้งหลายจะใคร่ทราบอดีตนิทานจึงทูลอาราธนา พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต ภิกฺขเว สารกปฺเป รมฺมวตีนคเร โกณฺฑฺโ นาม ภควา โลเก อุทปาทิ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลเป็นอดีตล่วงแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโกณฑัญญะ ได้อุบัติในเมืองรัมมวดีในสารกัป พระพุทธบิดาทรงพระนามว่าอานันทราช พระพุทธมารดาทรงพระนามว่าสุชาดา มีพระอัครมเหสีทรงนามว่าสุบินเทวี พระพุทธโกณฑัญญะนั้นเป็นฆราวาสครองเรือนอยู่หมื่นปี แล้วเสด็จออกมหาอภิเนษกรมด้วยรถยาน ทรงบำเพ็ญมหาปธานวิริยะอยู่ ๑๐ เดือน ก็ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โคนต้นขานาง บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นในโลก มีภิกษุสงฆ์ประมาณแสนโกฏิเป็นพุทธบริพาร เสด็จโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายโดยลำดับมา จนถึงเมืองอัญญวดีมหานคร

ก็แหละในเมืองอัญญวดีนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเราทั้งหลายได้บังเกิดเป็นบรมจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าวิจิตรราช เป็นอิสระมีอำนาจแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร ครั้นได้ทรงทราบว่าพระพุทธโกณฑัญญะนั้น เสด็จคมนาการมาถึงพระนครของพระองค์ ก็มีพระหฤทัยประกอบด้วยปีติโสมนัสจึงเสด็จออกไปต้อนรับพร้อมด้วยราชบริษัทอันยิ่งใหญ่ ถวายอภิวาทด้วยปัญจางคประดิษฐ์แล้ว เชิญเสด็จพระพุทธองค์ให้เข้าสู่พระราชนิเวศน์ ทรงถวายมหาทานอันเลิศต่าง ๆ เมื่อเสร็จภุตตกิจแล้ว ทรงถือพระสุวรรณภิงคาร คือ พระเต้าทอง หลั่งน้ำให้ตก ณ ฝ่าพระหัตถ์ ตรัสถวายอัญชนราชอุทยานของพระองค์ ให้เป็นนิวาสน์สถานที่อยู่แก่หมู่ภิกษุสงฆ์ทั้งนั้น พระโกณฑัญญะพุทธเจ้าก็ทรงจำพรรษาในพระราชอุทยานนั้นกับด้วยพระภิกษุสงฆ์แสนโกฏิอันเป็นพุทธบปริวาร พระเจ้าจักรพรรดิราชก็ทรงถวายมหาทานเป็นนิจนิรันดรมิได้ขาด ครั้นถ้วนกำหนดไตรมาส พระโกณฑัญญะพุทธองค์ทรงปวารณาพรรษาแล้ว พระเจ้าวิจิตรราชบรมจักรพรรดิมีพระราชประสงค์จะทรงบริจาคมหาทานอันยิ่งใหญ่ จึงมีพระราชดำรัสให้ป่าวร้องชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น บรรดาที่อยู่ในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ แล้วให้ประดับพระนครที่อยู่ของพระองค์ ด้วยอลังการอันวิจิตรต่างๆ และให้ประดับตกแต่งหนทางที่จะไปยังพระราชอุทยานด้วยธงชายและธงแผ่นผ้า และปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อย ทั้งสองข้างทางจนตราบเท่าถึงพระนครอันเป็นพระราชนิเวศน์สถาน

ครั้นเวลารุ่งเช้า พระเจ้าจักรพรรดิราชก็เสด็จสรงสนานพระเศียรสำเร็จแล้ว ทรงประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการวิภูสิต ทรงวางคู่ผ้าลงในสมุกทองคำ แล้วทูนสมุกด้วยพระเศียรของพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปโดยมรรคาที่ให้ประดับแล้วนั้น แล้วให้ราชบริพารเป็นอันมากถือเอาคู่ผ้าทั้งหลายคนละคู่ ๆ และเครื่องบูชาสักการะคนละสำรับ ๆ ตามเสด็จไปในทางนั้น ครั้นถึงพระอารามอันชื่อว่าอัญชนอุทยาน ก็ถวายคู่ผ้าเพื่อกฐินทานแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ มีพระโกณฑัญญะพุทธองค์เป็นประมุข แล้วทรงเปล่งวจีเภทว่า ข้าพเจ้าขอถวายผ้าเพื่อกฐินแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ ครั้นทรงเปล่งวจีเภทดังนี้แล้ว ก็ประทับอยู่ ณ ที่อันสมควรข้างหนึ่ง จึงอังคาสพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธานด้วยยาคูภัตตาหารเป็นต้น

ในลำดับนั้น พระโกณฑัญญะทศพลก็เสด็จประทับ ณ ท่ามกลางแห่งหมู่ภิกษุสงฆ์ พระเถรเจ้าผู้เป็นเสนาบดีในพระภัททาธิกรรมก็กราลผ้ากฐิน ครั้นเสร็จกฐินัตถารกิจแล้ว พระโกณฑัญญะทศพลก็เสด็จขึ้นประทับ ณ ธรรมาสน์ อันบุคคลแต่งตั้งไว้ ณ ท่ามกลางแห่งบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ฝ่ายพระเจ้าวิจิตรราชบรมราชาเสด็จเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคแล้วถวายอภิวาทด้วยปัญจางคประดิษฐ์ ทรงอธิษฐานว่า

อิมินา กินทาเนน พุทฺโธ โหมิ อนาคเต
ยทา สพฺพฺุตมฺปตฺโต ตาเรยิสฺสามิ ปาณินํ

ความว่า เพราะผ้ากฐินทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ถ้าข้าพเจ้าได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณกาลใด ก็จักรื้อขนสัตว์ให้พ้นไปจากวัฏฏสงสารในกาลนั้น

ครั้นจบคำอธิษฐานลง พระโกณฑัญญะพุทธองค์ จึงพิจารณาดูอนาคตกาล ก็ทรงทราบด้วยพุทธจักษุญาณปรีชาว่า ความปรารถนาของบรมกษัตริย์นั้นจักสำเร็จดังความประสงค์ จึงทรงพยากรณ์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแห่งสามอสงไขยแสนกัลป์ นับแต่กัลป์นี้ไปในอนาคตกาลภายหน้า บรมกษัตริย์องค์นี้จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม พระนครที่ประสูตินั้น จักมีนามชื่อว่ากบิลพัสดุ์ พระพุทธบิดาจักทรงพระนามว่า สุทโธทนมหาราช พระพุทธมารดาจักทรงพระนามว่ามหามายา พระมเหสีจักมีนามชื่อว่าพิมพา จักมีพระโอรสชื่อว่าราหุลกุมาร พระพุทธโคดมนั้นจักเป็นฆราวาสอยู่ครองฆรสถาน ๒๙ ปี แล้วจักเสด็จออกมหาอภิเนษกรมด้วยกัณฐกอัสสยาน ทรงกระทำมหาปธานทุกกรกิริยาอยู่ ๒ ปี ก็จักได้ตรัสเป็นพระพุทธสัพพัญญูปรากฏในโลกวันวิสาขปุณณมีเพ็ญเดือน ๖ จักมีปริพพาชกทั้งสองชื่อว่าโกลิตและอุปดิศเป็นอัครสาวกซ้ายขวา จักมีพุทธอุปฐากชื่อว่าอานนท์ จักมีภิกษุณีทั้งสอง คือ เขมาภิกษุณีเป็นอัครสาวิกา จักมีอุบาสกมีนามว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี จักมีมหาอุบาสิกาชื่อว่า วิสาขา

พระเจ้าจักรพรรดิบรมราชาได้ทรงสดับพุทธพยากรณ์ดังนั้น ก็มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยปีติโสมนัส จึงประคองอัญชลีถวายนมัสการพระผู้มีพระภาค ประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้น พระโกณฑัญญะพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมเทศนา โดยประเภทแห่งธรรมมีทานกถาเป็นต้น ครั้นจบพระธรรมเทศนาลงแล้ว ธรรมาภิสมัย คือบรรลุมรรคาผล ก็บังเกิดมีแก่มหาชนหลายโกฏิและอสงขัย

พระเจ้าวิจิตรราชโพธิสัตว์เสวยจักรพรรดิราชสมบัติดำรงพระชนม์อยู่สิ้นกาลนาน แล้วทรงบำเพ็ญมหาทานบริจาคอันยิ่งใหญ่ครั้นสิ้นพระชนมายุก็ขึ้นไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติโดยอนุโลมปฏิโลมในกามาพจรภพทั้ง ๒ ชั้น บริบูรณ์ด้วยสังคีตและดนตรีอันเป็นทิพย์ และประกอบที่นั่งที่นอนและยศอันเป็นทิพย์เป็นต้น ด้วยอานิสงส์ผลแห่งทานบริจาดนั้น ๆ ครั้นสิ้นพระชนมายุจุติจากเทวโลก ก็มาบังเกิดในมหานครชื่อว่ากุสาวดี ได้เป็นบรมจักรพรรดิราช ทรงพระนามว่าอติเทวบรมกษัตริย์ ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองกุสาวดี โดยยาวได้ ๑๒ โยชน์ และกว้างได้ ๗ โยชน์เป็นประมาณ พระเจ้าอติเทวบรมกษัตริย์นั้นบริบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักร์แก้ว ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ ขุนคลังแก้ว ๑ ขุนพลแก้ว ๑ รวม ๓ ประการด้วยกัน

จักร์แก้วนั้น เลื่อนลอยมาแต่มหาสมุทรเบื้องบุริมทิศ ช้างแก้วนั้นมาแต่ตระกูลฉันทันต์ ผ้าแก้วนั้นมาแต่ตระกูลพลาหก แก้วมณีนั้นลอยมาแต่วิบูลบรรพต นางแก้วนั้นมาแต่อุตตรกุรูทวีป ขุนคลังแก้วนั้นบังเกิดขึ้นในชมพูทวีป ขุนพลแก้วนั้นมาแต่บุรพวิเทหะทวีป รัตนะ ๗ ประการบังเกิดมีขึ้นแก่พระเจ้าอติเทวบรมจักรพรรดิ ซึ่งครองสิริราชสมบัติอยู่ในเมืองกุสาวดีด้วยประการฉะนี้

มีคำปุจฉาถามว่า ความที่พระเจ้าอติเทวเป็นบรมจักรนั้นอันกรรมอะไรเป็นผู้ให้เป็น อนึ่ง รัตนะ ๗ ประการ มีจักรแก้วเป็นต้น มาบังเกิดมีขึ้นแก่พระเจ้าอติเทวบรมจักรนั้นเพราะอานิสงส์ผลแห่งกรรมอะไร มีคำวิสัชนาว่า พระเจ้าอติเทวราชได้เป็นบรมจักรและได้รัตนะสมบัติ ๗ ประการ มีจักร์แก้วเป็นต้นนั้น เพราะอานิสงส์ผลที่ได้ถวายผ้ากฐินทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระโกณฑัญญะพุทธองค์เป็นประธาน

เมื่อพระเจ้าอติเทวบรมจักรนั้น เสวยสมบัติรัชศฤงคารในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีเมืองกุสาวดีเป็นพระราชอาณาจักร์ มีพระราชประสงค์จะเสด็จคมนาการไปสู่บุรพเทหะทวีปในกาลใด ก็ให้เอาเภรีไปตีประกาศให้ราชบริษัทรู้ทั่วกัน แล้วพระองค์ก็เสด็จแวดล้อมไปด้วยราชบริษัทนั้น ๆ คือแวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ราชเสนา และหมู่พราหมณ์ปุโรหิตาจารย์ เป็นต้น และหมู่เศรษฐีคฤหบดีเป็นประธาน พวกราชบริษัทนั้นบางพวกก็ตามเสด็จด้วยคชยานบางพวกตามเสด็จด้วยรถยาน บางพวกก็คมนาการตามเสด็จไปด้วยเดินเท้า ส่วนพระเจ้าจักรพรรดิโพธิสัตว์ประดับพระองค์ด้วยขัตติยวิภูสิตอลังการ เสด็จขึ้นสู่พระยาคชสารอันประดับด้วยหัตถาภรณ์ พร้อมด้วยหมู่พหลพลนิกรมีปริมณฑลได้ ๒๐ โยชน์ เสด็จไปสู่ทวีปบุรพวิเทหะด้วยพระยศอันยิ่งใหญ่

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายมีพระราชาเป็นต้นในทวีปนั้น ก็พากันออกมาต้อนรับเสด็จโดยยินดีโสมนัส ต่างถวายอภิวาทพระเจ้าจักรพรรดิ และบูชาด้วยเครื่องสักการะมีดอกไม้เป็นต้น แล้วเชิญเสด็จให้เข้าไปในพระนครของตนโดยสวัสดิภาพ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จเข้าไปในทวีปนั้นสรรพทรัพย์ทั้งปวงมีเงินและทองเป็นต้น ก็บังเกิดมีขึ้นพร้อมเพรียงด้วยจักรวัตติราชานุภาพ

พระเจ้าจักรพรรดิราช จึงพระราชทานทรัพย์ทั้งปวงให้แก่มหาชนอันอยู่ในทวีปนั้นให้พอเพียง แล้วทรงสั่งสอนให้ทำบุญมีบริจาคทานรักษาศีลเป็นต้น ครั้นสั่งสอนให้มหาชนตั้งอยู่ในราโชวาทแล้ว ก็เสด็จกลับยังกุสาวดีมหานคร และเมื่อจะเสด็จไปทรงสั่งสอนมหาชนในอุตตรกุรุทวีปและอมรโคยานทวีป ก็เสด็จโดยนัยที่ได้กล่าวแล้วในบุรพวิเทหะทวีปนั้น แล้วทรงสั่งสอนให้มหาชนในทวีปนั้น ๆ บำเพ็ญทานรักษาศีลโดยบรมราโชวาท

พระโพธิสัตว์จักรพรรดิราชนั้น เสวยสิริราชสมบัติในมนุษย์อันยิ่งใหญ่เห็นปานดังนี้ ครั้นทำลายขันธ์สิ้นพระชนม์จากมนุษย์โลก ก็ขึ้นไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงส์เทวพิภพ แต่ได้เป็นท้าวสักกเทวราชถึงแปดหมื่นสี่พันชาติและได้เป็นบรมจักรพรรดิราชถึงแปดหมื่นสี่พันชาติ และได้เป็นพระราชาครองเอกราชก็แปดหมื่นสี่พันชาติ และได้เป็นอัครมหาเสนาบดีก็แปดหมื่นสี่พันชาติ และได้เป็นอัครปุโรหิตาจารย์แปดหมื่นสี่พันชาติ และได้เป็นอัครมหาเศรษฐีก็แปดหมื่นสี่พันชาติ ดูกรภิกษุทั้งหลายโดยเหตุนี้แหละกฐินทานจึงได้ชื่อว่ามีผลและอานิสงส์อันยิ่งใหญ่เป็นอเนกัปปการ จะนับจะประมาณมิได้ ทั้งสามารถจะให้ทายกผู้บริจาคนั้นสิ้นสรรพทุกข์ภัยพ้นจากความวิบัติทั้งปวง จนบรรลุล่วงถึงอมตมหานฤพานเป็นอวสานที่สุด

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาทั้งหลายว่า

โย โส วิเนยฺย มจฺเฉรํ วิปฺปสนฺเนน เจตสา
ทชฺชา กาเลน อริเยสุ ยตฺถ ทินฺนํ มหปฺผลํ
กินํ ทตฺวา พหุโน ทกฺขิเณยฺเยสุ ทกฺขิณํ
ตโต จุตา มนุสฺสตฺตา สคฺคํ คจฺฉนฺติ ทายกา
อนุโลมปฏิโลเมน สํสาเรสุ จ สํสารํ
ทิพฺพสุขํ อนุภวิตฺวา จิรํ วสนฺติ ทายกา
กปฺปสตสหสฺสมฺหิ นาภิชานนฺติ ทุคฺคตึ
เทฺว กุเล อุปฺปชฺชนฺติ ขตฺติเย จาปิ พฺราหฺมเณ
มหิทฺธิกา ปุฺสมฺปทา เตชวนฺตาว สูริยา
สพฺพาสเว ปริฺาย นิพฺพายิสฺสนฺติ อนาสวา

ความว่า บุคคลผู้ใดนำเสียชึ่งความตระหนี่ มีใจเลื่อมใสศรัทธา พึงบริจาคทานโดยกาลอันควรในพระอริยะทั้งหลาย ทานที่บุคคลถวายในพระทักขิเณยยบุคคลจำพวกนั้น ครั้นทายกผู้บริจาคนั้นเคลื่อนจากชาติเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมไปบังเกิดในโลกสวรรค์ เมื่อทายกผู้บริจาคนั้นยังท่องเที่ยวอยู่สังสารวัฏไปๆมาๆ ก็จักได้เสวยทิพยสุขสิ้นกาลนาน อนึ่งทายกผู้บริจาคทานนั้น จักไม่ไปเกิดในทุคคติสิ้นแสนกัลป์ จักบังเกิดแต่ในตระกูลทั้งสอง คือตระกูลกษัตริย์มหาศาล และตระกูลพราหมณ์มหาศาล ทั้งจะมีอิทธิฤทธิ์บุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ และมีเดชานุภาพอันกล้า อุปมาดังพระอาทิตย์ในอากาศ เมื่อถึงที่สุดแห่งภพแห่งชาติ ก็จักกำหนดรู้สรรพอาสวกิเลส สิ้นอาสวะทั้งปวง ล่วงเข้าสู่อมตมหานฤพาน

สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงประกาศบุรพจริยาของพระองค์ด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งปวงว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายขึ้นชื่อว่ากฐินนี้เนื่องมาแต่วงศ์ของพระพุทธสัพพัญญู และเป็นจารีตของโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เป็นทานมีอานิสงส์ผลอันยิ่งใหญ่ ดังตถาคตพรรณนามาฉะนี้

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระผู้มีพระภาคพระบรมศาสดาจารย์ ทรงนำวัตถุนิทานมาตรัสเทศนาดังนี้แล้วจึงทรงประกาศอริยสัจทั้ง ๔ ครั้นจบพระอริยสัจเทศนาลง พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเป็นอันมากก็ได้บรรลุผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น สมเด็จพระทศพลจึงทรงประมวลชาดกว่า บริษัทของพระเจ้าจักรพรรดิเทวราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัทในกาลนี้ พระเจ้าอติเทวราชในครั้งนั้นสืบขันธ์ประวัติมา คือพระตถาคตในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกดังตถาคตแสดงมานี้แล

จบอติเทวราชชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ