๑๕. สุวรรณกุมารชาดก

เอกสฺมึ กิร สมเย ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ

ดังได้สดับมา ณ สมัยครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาค เสด็จประทับ ณ พระเชตวัน ซึ่งเป็นอารามของอนาถปิณฑิกโสดาบันสร้างถวาย ใกล้เมืองสาวัตถีมหานคร ในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกฺขเว ดังนี้เป็นการเตือนให้คอยสดับพระธรรมเทศนา ครั้นพระภิกษุทั้งหลายรับพุทธฎีกามีหน้าเฉพาะฟังแล้ว จึงมีพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตระลึกถึงเรื่องของตถาคตที่เคยมีมาแล้วในกาลก่อน เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตคอยสดับเถิด มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้ว จึงทรงนำเรื่องไนอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า

----------------------------

อตีเต อิมสฺมึ นคเร มหาภตฺตา นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้วมีพระกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า มหาภัตตราช ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองสาวัตถีนี้ พระอัครมเหสีของพระเจ้ามหาภัตตราชนั้น ทรงพระนามว่าจันทาเทวี พระนางประกอบไปด้วยกัลยาณธรรม ๕ ประการ คือ ตื่นบรรทมก่อนพระราชสามี แลเมื่อบรรทมก็บรรทมทีหลัง แลคอยสดับฟังว่าจะโปรดให้กระทำกิจอันใด แลกล่าววาจาแต่ล้วนเป็นที่รักใคร่ของพระราชสามี ทั้งบริบูรณ์ไปด้วยสัมมาจริยวัตรอันดีทุกอย่าง พระนางประกอบไปด้วยกัลยาณธรรมทั้ง ๕ ดังนี้ พระเจ้ามหาภัตตราชจึงโปรดปรานรักใคร่ ทรงตั้งไว้ให้เป็นใหญ่กว่าพระสนมนารีทั้งห้าพันนาง อนึ่งพระเจ้ามหาภัตตราชนั้น มีพระราชบุตรห้าร้อยองค์แต่ล้วนทรงพระเจริญวัย ทั้งประกอบด้วยรูปทรงสัณฐานอันงามยิ่ง เป็นที่พอพระหฤทัยของพระราชบิดาสิ้นด้วยกัน

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ขึ้นไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในเวชยันตปราสาท ในชั้นดาวดึงสเทวพิภพ วันหนึ่งทรงพระปรารภถึงวงศ์ญาติที่อยู่ในมนุษยโลกจึงเล็งแลดูด้วยทิพจักษุ ก็ได้เห็นวงศ์ญาติของพระองค์อันเป็นวงศ์อนาถา จึงพิจารณาเลือกฐานะทั้ง ๕ คือ กาล ๑ ประเทศ ๑ ตระกูล ๑ มารดา ๑ อายุ ๑ ตามเยี่ยงอย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน เมื่อทรงเลือกฐานะทั้ง ๕ เห็นว่าสมควรแล้ว ก็จุติจากเทวโลกลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระนางจันทาเทวี ซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ามหาภัตตราช

ส่วนพระนางจันทาเทวีอัครมเหสีนั้น ทรงพระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ๑๐ เดือน ก็ประสูตพระราชโอรสในวันอันประกอบนักขัตฤกษ์ พระราชกุมารโพธิสัตว์มีผิวพรรณดุจสีทองธรรมชาติ แลมีรูปทรงสัณฐานดังพระพุทธปฏิมากร ที่นายช่างทองผู้ฉลาดหล่อแล้วเชิญมาประดิษฐานไว้ เพราะเหตุนั้น พระชนกนาถราชชนนีและพระประยูรญาติ กับทั้งมหาอำมาตย์พราหมณ์พฤฒาจารย์ จึงกันขนานนามพระโพธิสัตว์ให้ชื่อว่า สุวรรณกุมาร ครั้นพระโพธิสัตว์มีวัยวัฒนาการได้ ๑๖ ปี ก็ทรงพระกำลังอันว่องไวพร้อมทั้งกำลังกาย แลกำลังปัญญา ทรงรอบรู้ในสรรพวิทยาแลชำนาญในศิลปศาสตร์ธนู ๑๘ ประการ ครั้นถึงกำหนดรอบปีหนึ่ง จึงให้จาตุรงคเสนาโยธาทหารประมาณแปดหมื่นสี่พัน มาประชุมพร้อมกันแล้วจึงตรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ พระมหาสมุทรนั้นเป็นอัศจรรย์ควรจะยินดี เพราะบริบูรณ์ไปด้วยแก้วอเนกประการ เราปรารถนาจะชมเล่นให้เป็นผาสุกสำราญพระหฤทัย อำมาตย์ทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพงศ์เทวราช พระมหาสมุทรนั้น ข้าพระบาทยังไม่เคยเห็นเลยพระพุทธเจ้าข้า

ฝ่ายพระเจ้ามหาภัตตราชผู้เป็นพระราชบิดานั้น ครั้นได้ทรงทราบว่าพระโพธิสัตว์ราชโอรสจะใคร่ไปชมมหาสมุทรดังนั้น จึงมีรับสั่งให้ตระเตรียมรี้พลโยธาทหารในการที่จะไปชมมหาสมุทร แล้วเสด็จแวดล้อมด้วยราชบุตรทั้งหลายมีพระสุวรรณกุมารเป็นต้น แลพระสนมนารีราชกัญญาประมาณสองหมื่น มีพระอัครมเหสีชื่อว่าจันทาเทวีเป็นประธาน เสด็จพาพระราชโอรสออกจากพระนครโดยทวารด้านปราจิณทิศ งามไปด้วยเสนาอำมาตย์ราชบริพาร ประดุจดังว่าท้าวมฆวานสักกเทวราชอันแวดล้อมด้วยเทพบริษัท เสด็จจากเวชยันตปราสาทไปสู่นันทวันทิพยอุทยาน พระเจ้าภัตตราชเสด็จโดยอนุกรมลำดับ ก็บรรลุถึงฝั่งมหาสมุทร จึงมีพระราชโองการให้ปลูกพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตร ได้ทัศนาการเห็นภูมิประเทศอันเป็นที่ยินดีมีประการต่างๆเป็นต้นว่า ระดาดาษไปด้วยทรายโดยรอบตามริมฝั่ง ในมหาสมุทรนั้น คับคั่งไปด้วยพื้นคลื่นระลอกดูประหลาด ก็มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยปีติโสมนัส จึงมีพระราชดำรัสให้เล่นการมหรสพที่ริมฝั่งมหาสมุทรครบถ้วน ๗ วัน แต่พระเจ้ามหาภัตตราชบรมกษัตริย์ทรงเพลิดเพลินอยู่ ณ ที่นั้นช้านานจะมีพาลมฤคเนื้อร้ายแลสัตว์ในมหาสมุทรมีจระเข้เป็นต้น มาเบียดเบียนกล้ำกลายผู้ใดผู้หนึ่งก็หามิได้ เป็นทั้งนี้ด้วยเดชานุภาพบารมีของพระมหาสัตว์

ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารปรารถนาจะแสดงบุญญานุภาพ จึงทรงพระจินตนาการว่า ทำไฉนหนอ เราจึงจะเดินไปบนชลธาร ให้เหมือนดังเดินไปบนพื้นปถพี จะได้แลเห็นแก้วบรรดามีในมหาสมุทรนั้น สมดังความปรารถนาของเราได้

ในกาลนั้น เทพยดาทั้งหลายที่สิงอาศัยอยู่ ณ สมุทรพิมาน ครั้นเวลาพระอาทิตย์อุทัย ก็นำเอาพระยามงคลคชสารอันประเคริฐ มีอวัยวะทั้งปวงอันขาวเลิศประหนึ่งว่าสีสังข์ ประกอบด้วยสรรพลักษณะอันอุดม สมควรเป็นพระราชพาหนะพระที่นั่งทรงมาถวายพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร สำหรับจะได้ประพาสเที่ยวเล่นบนหลังชล เมื่อพระโพธิสัตว์ได้มงคลคชาธารพระที่นั่งทรง งามดังองค์อมรินทราธิราชอันทรงช้างเอราวัณ ถ้ามิฉะนั้นงามดังพระอาทิตย์มีรัศมีอันอ่อน ซึ่งอุทัยขึ้นเหนือยอดเขายุคันธรก็ปานกัน

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายบรรดาที่อยู่ ณ ที่นั้น ครั้นได้เห็นก็บังเกิดอัศจรรย์จิต เพราะมิได้เคยเห็นมาแต่ในกาลก่อน ก็บังเกิดมีโลมชาติอันชูชัน ต่างก็ถวายอภิวาทพร้อมกันทั้งหมด สรรเสริญบุญญาอภินิหารแห่งพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์ แล้วพากันแวดล้อมเป็นยศบริวาร พระโพธิสัตว์ก็ขับมงคลคชาธารเที่ยวไปในมหาสมุทรโดยควรแก่พระอัธยาศัย ปรารถนาจะเสด็จในที่ใดๆ ก็บ่ายหน้าคชาธารไปในที่นั้น ๆ มหาชนทั้งหลายก็พากันตามเสด็จไปมิได้ห่างด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหาร อุทกวารีที่ลึกประมาณ ๘ หมื่น ๕ พันโยชน์ ก็แหวกออกเป็นสองภาคดุจมีฝากั้นไม้ มหาชนทั้งหลายที่ตามเสด็จไปในท่ามกลางมหาสมุทร จะได้ถูกต้องหยาดวารีมาตรว่าหยาดหนึ่งก็หามิได้ ต่างก็มีใจชื่นชมเที่ยวไปในกระแสชลประดุจดังว่าเที่ยวตามถนนฉะนั้น

ฝ่ายนางนาคีทั้งหลายที่เที่ยวอยู่ในมหาสมุทรนั้น ครั้นพระมหาบุรุษสุวรรณกุมาร อันเสด็จเที่ยวมากับบริวารทั้งหลายในมหาสมุทร อันมีชลธารประดุจดังว่ามีฝากั้นไว้ก็ห้อยทิพบุปผามาลัยพวงแก้วสักการบูชา ฝ่ายพระยานาคาธิบดีก็พานางนาคีจุดประทีปกระทำสักการบูชาเป็นถ่องแถวตามทางชโลธาร พากันแวดล้อมพระโพธิสัตว์ เพื่อขจัดเสียซึ่งอุปัทวันตราย อันจะบังเกิดในกระแสสายสินธุวารี

แต่พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร เที่ยวอยู่ในห้องมหาสมุทรกับชนที่เป็นบริวารทั้งหลายดังนี้ ฝูงนาคและฝูงนาคาทั้งหลายที่อยู่ในมหาสมุทรนั้นตามอภิบาลบำรุงรักษา ทั้งให้เสวยโภชนาหารมีรสอันเลิศ เสมลด้วยโภชนะอันเป็นทิพย์ พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารก็มีความเพลิดเพลินเบิกบานพระหฤทัย ดังได้เสวยสรรพสมบัติ คือความเป็นอิสระในมหาสมุทร อันเปรียบประดุจดังว่าสมบัติทิพย์ฉะนั้น สิ้นกาลประมาณได้หลายวันแล้วก็ยังไม่เสด็จกลับสู่พลับพลา

ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้งสองคือพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์มิได้ทราบเหตุว่าจะเป็นอย่างไร จึงปรึกษากันว่า พระโอรสของเราไปชมมหาสมุทร ก็ช้านานประมาณหลายวันหลายราตรีแล้ว ไฉนจึงยังไม่กลับมาเล่า หรือจะมีเหตุการณ์อย่างเราก็มิได้รู้ ควรเราจะใช้อำมาตย์ทั้งหลายไปสอดแนมดูให้รู้เหตุ ทรงปรึกษากันดังนี้แล้ว จึงตรัสแก่อำมาตย์ทั้งปวงว่า ท่านทั้งหลายจงไปสืบข่าวคราวโอรสของเราแลบอกว่าเราทั้งสองสั่งให้กลับมาเฝ้า อำมาตย์ทั้งสองรับพระราชโองการแล้ว ก็ตรงไปยังมหาสมุทร เดินไปประดุจดังว่าทางบกที่มนุษย์เที่ยวไปมาด้วยอานุภาพบุญญาธิการของพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์ ครั้นได้เห็นพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในท้องมหาสมุทร พร้อมมหาชนทั้งหลายที่เป็นบริวาร จึงเข้าไปถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า บัดนี้สมเด็จพระราชบิดาแลพระชนนีมีรับสั่งให้เชิญพระองค์ไปเฝ้า

พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังคำอำมาตย์พูดดังนั้นจึงตรัสว่า ดีแล้วเราจะขึ้นไปเฝ้า ตรัสดังนี้แล้วจึงอำลาเทพยดาผู้รักษามหาสมุทรแลฝูงนาคทั้งหลายว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ บัดนี้สมเด็จพระราชบิดาแลพระราชมารดาของเรา ทรงระลึกถึงเราซึ่งเป็นพระราชบุตร มีรับสั่งให้เราขึ้นไปเฝ้า เพราะฉะนั้น เราขอลาท่านทั้งหลายก่อนละ ท่านทั้งปวงจงอยู่มีความสุขสำราญกันทั่วทุก ๆ ท่าน แลให้ปราศจากสรรพอุปัทวันตราย

ในกาลนั้น เทพยดาทั้งหลายที่รักษาพระมหาสมุทร แลฝูงนาคทั้งหลาย มีพระยานาคาคินทรนาคราชเป็นประธาน เมื่อได้ฟังพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารตรัสอำลาดังนั้น ต่างก็ดำริในใจว่า การที่เราได้ปฏิบัติบำรุงพระสุรรรณกุมารโพธิสัตว์นี้ ได้ชื่อว่ามีชีวิตอยู่ประกอบด้วยวิบุลผล คือจะนำมาซึ่งความสุขแก่ตนทั้งในภพนี้แลภพหน้า ดำริดังนี้แล้วจึงนำแก้วมีประการต่าง ๆ ที่พระโพธิสัตว์ยังไม่เคยทอดพระเนตรมาถวายพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพงศ์สมมติเทวดา ขอพระองค์จงให้ป่าวร้องบริวารชนของพระองค์ว่า ผู้ใดมีความประสงค์แก้วแลทองแลสิ่งของใด ๆ บรรดาที่มีอยู่ในห้องมหาสมุทร ผู้นั้นจงนำไปตามความปรารถนาของตน พระโพธิสัตว์ให้ป่าวร้องประกาศแก่พวกบริวารชน ตามคำเทพยดาแสฝูงนาคทั้งหลายนั้น

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายที่อยู่ริมฝั่งกับทั้งพวกมหาชนที่ตามเสด็จไปในพระมหาสมุทร ครั้นได้ฟังคำประกาศดังนั้นก็พากันดีใจ ต่างคนก็พากันลงไปยังห้องมหาสมุทร ขนเอาพัสดุทั้งหลายมีแก้วแลทองคำเป็นต้น ใส่ลงในกระทอแลห่อผ้าและสมุก บางพวกก็ขนลงบรรทุกในเล่มเกวียน ขนเอาไปไว้ในสวนพระราชอุทยาน เมื่อจะกล่าวสรรเสริญบุญญาธิการของพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวพระคาถาว่า

สผลา จนฺเทวิยา ราชาปิ สผโล ภเว
สผโล โน มหารฏฺโ สผลา ธรณีตลา
ลทฺโธ ตสฺมึ ทิโส นาโถ อโหสิ ปิยตโร จ โน

ความว่า พระนางจันทาเทวีมีพระราชโอรสประกอบไปด้วยผลดี ไม่เสียทีที่ได้ทรงรักษาพระครรภ์มา ฝ่ายพระเจ้าภัตตราชบรมกษัตริย์เล่า เมื่อได้พระโอรสเห็นปานดังนี้ ก็ได้ชื่อว่าประกอบไปด้วยผลประโยชน์ อนึ่งแว่นแคว้น อาณาเขตทั่วทั้งประเทศมณฑล ก็ได้ชื่อว่าได้ลาภผลเป็นอันดี เพราะได้ทรงบุคคลที่ดีไว้ พระราชโอรสพระองค์นี้เป็นที่รักใคร่ของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายชื่อว่าได้ที่พึ่งเป็นอันดีเช่นนี้

ฝ่ายพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์สัตว์นั้น ครั้นมหาชนทั้งหลายขนธนสารมีแก้วเป็นต้นเสร็จแล้ว ก็แวดล้อมไปด้วยบริวารทั้งหลาย กลับมาสู่สำนักพระราชบิดามารดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กระทำสักการบูชาด้วยแก้วแลเครื่องอาภรณ์ แล้วประทับอยู่ ณ ที่อันสมควร

ในลำดับนั้น สมเด็จพระราชบิดาแลพระราชมารดา ได้ทอดพระเนตรเห็นแก้วทั้งหลาย ที่พระราชโอรสโพธิสัตว์นำมาถวาย อันพระองค์ยังมิเคยได้ทอดพระเนตรมาแต่ก่อนกาล ก็มีพระหฤทัยอันเบิกบานไปด้วยปีติโสมนัส ต่างเสด็จมาปรามาสพระปฤษฎางค์พระโพธิสัตว์ แล้วสวมกอดประทับไว้แนบพระอุระ เมื่อจะประกาศความยินดีให้ปรากฏชัด จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า

อยํ จตุทีปสิริ อเสสํ

สุนฺทริโภคํ สหสฺสานุโภนฺโต

ยาว พฺรหฺมสมฺปตฺตึ ปเทวสํ

ลทฺธา สทิโส ปุตฺตสโม น โหติ

ความว่า พระโอรสของเราองค์นี้ เป็นพระโอรสที่มีสิริในทวีปทั้งสี่ ได้เสวยโภคสมบัติอันดีหาเศษมิได้ เราได้พระโอรสองค์นี้เสมอด้วยเราได้ทิพย์สมบัติของพรหม ความเสน่หารักใคร่ไนสิ่งอื่น ๆ ที่เราได้มาแล้ว ที่จะเทียบเคียงเสมอด้วยพระโอรสที่เราได้นี้มิได้เลย

พระมหาภัตตราชบรมกษัตริย์ ตรัสประกาศความยินดีของพระองค์ดังนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้ขนเอาแก้วทั้งสิ้นไปเก็บไว้ในท้องพระคลัง แล้วตรัสสั่งให้พระสุวรรณกุมารอัครปิโยรสขึ้นทรงพระยาเศวตคชสาร พาพวกจตุรงค์โยธาทหารล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์นั้นเสด็จไปในเบื้องหลัง ทอดพระเนตรดูสิริสมบัติของพระโพธิสัตว์อันเสด็จไปในเบื้องหน้า จนกระทั่งถึงพระนครพาราณสี

ฝ่ายเทพยดาทั้งหลายในดาวดึงส์พิภพ ก็นำเอาแก้วทั้งหลายมาใส่ให้เต็มพระคลังแล้วก็กลับไป พระนครพาราณสีนั้นก็บริบูรณ์ไปด้วยสรรพรัตนทุกประการ เปรียบปานดังพิภพของสมเด็จอมรินทราธิราช ด้วยอำนาจบุญญานุภาพของพระโพธิสัตว์ ชาวพระนครทั้งหลายก็บริบูรณ์ไปด้วยสิริสมบัติสิ้นด้วยกันทุกคนด้วยอำนาจของการกุศลที่ได้กระทำไว้ในชาติก่อน

มีคำปุจฉาถามว่า พระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์บริบูรณ์ไปด้วยรัตนสมบัติ คือแก้วที่เกิดไนมหาสมุทร แลแก้วในอากาศ ที่เทวดานำมาถวายนั้น เพราะอำนาจกุศลอันใดที่ได้กระทำไว้ในชาติปางก่อน มีคำวิสัชนาว่า พระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์บริบูรณ์ด้วยรัตนสมบัติเห็นปานดังนี้นั้น เพราะอำนาจอานิสงส์ที่ได้ถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุสงฆ์เนืองนิตย์ แต่ในบุรพชาติปางก่อน มีอุทาหรณ์ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

ในบุรพชาติล่วงแล้วนาน พระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์นี้ได้บังเกิดเป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บุตรเศรษฐีนั้นยินดีในการจำแนกแจกทาน อยู่มาวันหนึ่ง ได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นสาวกของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเที่ยวไปโคจรบิณฑบาต ก็มีจิตประสาทเลื่อมใส จึงใช้บริษัทของตนให้ไปรับบาตรจากภิกษุนั้น แล้วอาราธนาให้ขึ้นไปนั่งบนเคหสถาน จึงนำเอาโภชนาหารใส่ลงในบาตรแล้วหลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลง ณ ฝ่ามือของพระภิกษุนั้น แล้วถวายนมัสการอาราธนาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ แต่นี้ไปขอพระผู้เป็นเจ้าจงมารับบิณฑบาตในเรือนของข้าพเจ้านี้ ให้เป็นนิจกาลทุกวันเถิด พระภิกษุนั้นรับปฏิญาณแล้ว ก็มารับบิณฑบาต ณ เรือนเศรษฐีบุตรนั้นทุก ๆ วัน วันหนึ่งพระภิกษุนั้นบริโภคภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็กระทำอนุโมหนาด้วยพระคาถาว่า

อโกปฺจ ปฺจเวรํ คุรุวาจํ กโรนฺติ เย
เต ติวิธํ สพฺพสมฺปตฺตึ ลภนฺติ พุทฺธเสวิตํ

ความว่า นรชาติทั้งหลายจำพวกใด ได้รักษาคุรุธรรมคือศีล ๕ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ทรงประพฤติมาแล้วมิได้กำเริบ นรชาติจำพวกนั้นย่อมได้สมบัติ ๓ ประการคือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ

บุตรเศรษฐีนั้น ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสเต็มไปด้วยปีติ จึงมอบกายถวายชีวิตแก่พระรัตนตรัยว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตราบเท่าสิ้นชีวิต ข้าพเจ้าขอมอบกายเป็นศิษย์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจงให้โอวาทสั่งสอนข้าพเจ้า ๆ จะตั้งอยู่ในโอวาทของพระผู้เป็นเจ้าตั้งแต่นี้ไป

ฝ่ายพระภิกษุนั้น ครั้นมารับบิณฑบาตแล้วก็แสดงพระธรรมเทศนาเปนนิตย์ทุกวัน เศรษฐีบุตรนั้นก็ประพฤติสุจริตธรรมเป็นนิจกาล ถวายบิณฑบาตทานแก่พระภิกษุนั้น ตราบเท่าถึงกาลสิ้นอายุดับเบญจขันธ์ ก็ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์สัคคเทวโลก ครั้นจุติจากสุคติสวรรค์มาบังเกิดในขัตติยตระกูล อันประกอบด้วยเดชานุภาพ จึงมีอดิเรกลาภ อันมีเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมาให้ บริบูรณ์ไปด้วยอิสริยยศแลบริวารยศ เห็นปรากฏดุจกล่าวมาแล้ว ด้วยอำนาจบิณฑบาตทานที่บริจาคเป็นนิตย์ แลประพฤติกุศลสุจริตเป็นนิจกาลในครั้งนั้น

เมื่อพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์ บริบูรณ์ไปด้วยรัตนสมบัติเป็นอเนกประการพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายดังนี้ ในกาลนั้นมีพ่อค้าพาณิช ๕๐๐ คน บรรทุกสินค้าเต็มสำเภาแล้ว ก็แล่นสำเภาไปค้าขายในทวีปสิงหล ครั้นถึงจึงจำหน่ายสินค้าพากันเข้าไปในเมือง แล้วกล่าวสรรเสริญลาภยศสิริสมบัติของพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์มีประการต่าง ๆ ให้ชาวสิงหลทั้งหลายฟัง ชาวสิงหลทั้งหลายจึงนำความนั้นขึ้นกราบทูลบรมกษัตริย์ผู้ครองสมบัติในทวีปสิงหล พระเจ้าสิงหลบรมกษัตริย์ได้ทรงฟัง ก็เคืองพระทัยประกอบไปด้วยความริษยา จึงมีรับสั่งให้หาตัวพาณิชเหล่านั้นมาเฝ้า แล้วมีพระราชปุจฉาถามว่า เจ้านายของท่านทั้งหลายมีนามชื่อไร แลประกอบด้วยสิริสมบัติอานุภาพเป็นไฉน

พาณิชทั้งหลายจึงทูลตอบพระราชโองการว่า ข้าแต่สมมติเทวราช เจ้านายของข้าพระบาททรงพระนามว่า พระเจ้าภัตตราช มีพระราชโอรสทรงพระนามว่าสุวรรณกุมาร พระราชโอรสสุวรรณกุมารนั้น ทรงบริบูรณ์ด้วยรัตนสมบัติเป็นอเนกประการ และประกอบด้วยอภินิหารมีมหิทธิศักดานุภาพ อาจปราบปรปักษ์ปัจจามิตรให้พ่ายแพ้ได้ บรรดากษัตริย์ทั้งหลายทั้งร้อยเอ็ดพระนคร ไม่มีกษัตริย์องค์ใดที่จะไปต่อกรพระราชโอรสนั้นได้ ด้วยเกรงพระเดชานุภาพเป็นอย่างยิ่ง พระสุวรรณกุมารผู้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ผู้เป็นจ้าวนายของข้าพระบาท ประกอบด้วยอิสริยยศแลพระเดชานุภาพดังพรรณนามานี้ ขอพระองค์ได้ทรงทราบพระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าสิงหลบรมกษัตริย์ ได้ทรงฟังพวกพ่อค้าพรรณนาสิริราชสมบัติ แลเดชานุภาพของพระโพธิสัตว์ดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก ด้วยอำนาจความริษยา อุปมาดังพระยานาคินทรนาคราช ที่มีบุคคลเอาไม้มาประหารที่ขนดหางฉะนั้น จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เตรียมโยธาที่มีกำลังแกล้วกล้าสามารถอาจทำยุทธนาการในสงครามให้มีชัยชนะได้ แล้วจึงมีพระราชดำรัสสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงพากันไปเมืองพาราณสีพร้อมด้วยพวกพาณิชทั้งหลายเหล่านี้ แล้วแจ้งประพฤติข่าวสาส์นแก่พระเจ้าภัตตราชว่า พระเจ้าสิงหลบรมกษัตริย์ผู้มีเดชานุภาพมาก ทั้งประกอบด้วยรี้พลโยธาทหารจะนับประมาณมิได้ ไม่มีกษัตริย์องค์ใดที่จะเปรียบปาน กษัตริย์ทั้งหลายมีพระนครน้อยใหญ่ย่อมนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ให้พระยาภัตตราชประดับพระยาเศรตกุญชรด้วยเครื่องอลังการ นำไปถวายพระเจ้าสิงหลบรมกษัตริย์ แล้วเข้าไปถวายบังคม นั่นและพระเจ้าสิงหลจะได้ทรงพระกรุณา ถ้าหากว่าพระเจ้าภัตตราชมิได้ไปเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ เมืองพาราณสีก็จะแหลกเป็นจุณปราศจากความสุข จะมีความทุกข์ทั่วไปตลอดพระราชอาณาเขต ด้วยเดชานุภาพพระเจ้าสิงหลบรมกษัตริย์

พวกโยธาทั้งหลายรับพระราชทานอาณัติแล้ว ก็ถวายบังคมลาพาพวกพ่อค้านั้นไปยังเมืองพาราณสี ครั้นถึงจึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้าภัตตราชทูลประพฤติข่าวสาส์นตามที่พระเจ้าสิงหลมีพระราชโองการดำรัสสั่ง

พระเจ้าภัตตราชได้ทรงฟังก็สะดุ้งพระทัยจึงรับสั่งให้หาเสนาบดีแลปุโรหิตาจารย์เข้ามาเฝ้า ตรัสเล่าเนื้อความตามประพฤติข่าวสาส์นนั้นให้ฟัง เสนาบดีแลปุโรหิตาจารย์ได้ฟังดังนั้นก็มีความหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวอำนาจพระเจ้าสิงหล ต่างคนก็พากันนิ่งอยู่ มิได้ทูลตอบประการใด พระเจ้าภัตตราชก็สะดุ้งตกพระทัยมากขึ้น ทั้งประกอบไปด้วยความทุกข์ความกลัวเป็นกำลัง มิได้ทรงสบายพระราชหฤทัย

ฝ่ายพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร ได้ทราบประพฤติข่าวสาส์นแลความทุกข์อันบังเกิดขึ้นแก่พระราชบิดา จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระชนกาธิราช ขอพระองค์อย่างทรงพระปริวิตกหวั่นหวาดพระทัยเลย จงบรรเทาเสียซึ่งความทุกข์ ดำรงราชสมบัติให้เป็นสุขพระทัยเถิด หม่อมฉันจะไปทวีปสิงหลแทนพระราชบิดาเอง พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าภัตตราชจึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรผู้เป็นปิโยรส เจ้ายังเป็นเด็กเล็กนัก เจ้าจักไปแทนบิดานั้น เจ้าจักกระทำประการใด บิดานี้มิใคร่วางพระทัยเลย เพราะพระเจ้าสิงหลนั้นประกอบด้วยกำลังรี้พลเป็นอันมาก ยากที่จะต่อยุทธนาการ

พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารจึงทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระชนกาธิราช โดยอำนาจเดชาของหม่อมฉัน กับพวกพลโยธาทั้งหลาย จะไปนำพระเจ้าสิงหลราชมาถวายพระองค์ให้จงได้ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าภัตตราชจึงตรัสว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิโยรส พระนครแว่นแคว้นของพระเจ้าสิงหลนั้น กว้างขวางโตใหญ่กว่าพระนครของเราเหลือที่จะประมาณ ทั้งพวกพลโยธาทหารก็มากกว่าเราเป็นหลายเท่าหลายส่วน อนึ่งพวกพลโยธาของพระเจ้าสิงหลนั้นแต่ล้วนมีกำลังแกล้วกล้าร้ายกาจ ไฉนเจ้าจะสามารถจับพระเจ้าสิงหลมาได้ บิดานี้มิใคร่จะวางพระทัยเลย

พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารจึงทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระชนกาธิราช พระองค์อย่าทรงหนักพระทัยเลย หม่อมฉันอาจจับพระเจ้าสิงหลมาถวายได้ ด้วยเดชานุภาพอภินิหารของหม่อมฉัน พระพุทธเจ้าข้า

เมื่อพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารทูลดังนั้น อำมาตย์ทั้งหลายก็พากันมีความยินดี จึงยอกรอัญชลีราชโอรสสุวรรณกุมารแล้วทูลว่า ข้าแต่พระราชบุตรผู้ประเสริฐ การที่พระองค์จะเสด็จออกไปจับพระเจ้าสิงหลมานั้น ข้าพระบาททั้งหลายเห็นว่าคงสำเร็จโดยมิได้สงสัย ขอพระองค์จงเสด็จไปจับมาถวายพระราชบิดาของพระองค์

พระเจ้าภัตตราชได้ทรงฟังก็คลายพระทัย จึงตรัสว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิโยรส ถ้ากระนั้น เจ้าจะไปรบกับพระเจ้าสิงหลก็ตามพระทัยเกิด ตรัสดังนี้แล้วจึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ มาแล้วให้หาพราหมณ์ปุโรหิตมานั่งเป็นประธาน จึงให้ตั้งมงคลการพิธี คือให้ปักต้นกัททลีแลต้นอ้อย แล้วให้ห้อยพวงมาลาแลของหอมในทิศทั้ง ๕ และให้ขนเอาแก้วมาประดิษฐาน แล้วให้เชิญพระสุวรรณกุมารขึ้นนั่งบนกองแก้วอภิเษกในราชสมบัติ ให้เป็นกษัตริย์ครองเมืองพาราณสี ขณะนั้น มุขมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายก็พากันถวายชัยมงคล

ฝ่ายพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์นั้น ครั้นได้ราชาภิเษกแล้วก็ให้เตรียมรี้พลจตุรงค์เสนาโยธาทหาร ครั้นฤกษ์งามยามดีประกอบด้วยดิถีนักขัตฤกษ์แล้ว ก็เสด็จเคลื่อนพลโยธาทัพออกจากพระนคร แวดล้อมไปด้วยหมู่พหลพลนิกร ทั้งซ้ายขวาหน้าหลังเป็นขนัดๆ แลสะพรั่งไปด้วยราชวัติฉัตรธงทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรพลนิกาย อันห้อมล้อมพร้อมเพรียงกันเป็นอันมากดังนั้น จึงทรงพระดำริว่าบรรดาเทวดามนุษย์ทั้งหลาย ที่ได้สมบัติอันได้เกิดความสุขสบายตลอดจนถึงพรหมโลก จะได้ด้วยสิ่งอื่นหามิได้ ย่อมได้ด้วยเดชแห่งบุญกุศลที่ตนกระทำไว้ อย่ากระนั้นเลย เราจะแนะนำพลนิกายทั้งหลายให้ประกอบการบุญกุศลจะได้เป็นที่พึ่งของตนๆไปภายหน้า ทรงพระดำริดังนี้แล้วก็ถึงพระสรณคมเป็นที่พึ่ง เปล่งอุทานวาจาว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่ง สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นที่พึ่ง ครั้นทรงมั่นในสรณคมดังนี้แล้ว จึงทรงสมาทานถือมั่นในองค์ศีล เมื่อพระองค์ทรงมั่นในสรณคมและศีลแล้ว จึงยังพลนิกายทั้งหลายให้ถึงสรณคมและสมาทานถือมั่นในศีล แล้วพระองค์ก็ทรงกระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย มีจำแนกแจกทานเป็นต้น แล้วตรวจน้ำลง ณ พื้นปถพีดล เปล่งอุทานวาจาอุทิศผลแผ่ไปว่า ด้วยเดชกุศลมีทานเป็นต้น ที่ข้าพเจ้าอุทิศให้นี้ บรรดาญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าซึ่งไปบังเกิดในที่ใดภพใดก็ดี ขอจงพ้นจากความทุกข์และมีความสุขสิ้นด้วยกัน อนึ่งสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เสวยทุกข์ก็ขอให้พ้นทุกข์ ที่เสวยสุขอยู่ด้วยก็ขอให้มีสุขยิ่งๆขึ้นไป สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในอบายมีเปรตวิสัยเป็นต้น ก็จงพ้นจากทุกข์ในอบายมีทุคติเป็นต้น แล้วจงได้ทิพยสมบัติโดยควรแก่ความสุขสำราญ สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสุคติสถานแล้วก็จงมีความสุขสำราญเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เมื่อพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารทรงบำเพ็ญศีลทานการกุศลอุทิศผลให้แก่สัตว์ทั้งหลายดังนี้แล้ว ก็พาพวกจตุรงค์เสนาโยธาทหารคนนาการถึงฝั่งมหาสมุทร จึงให้หยุดกองทัพปลูกพลับพลาอาศัยอยู่ที่นั้น ครั้นเพลาราตรีก็ทรงบรรทมรำพึงไปว่า กษัตริย์ที่เสวยราชสมบัติในสิงหลทวีปนั้นจะมีอานุภาพเช่นไรหนอ หรือจะมีบุญญาอภินิหารประการใด

ในขณะนั้น พิภพของท้าวสหัสสนัยสักกเทวราช ก็แสดงอาการอันร้อนผิดปรกติ ด้วยเดชอำนาจแห่งศีลทาน และความจงรักภักดีต่อพระราชบิดามารดาของพระโพธิสัตว์ ท้าวสักกเทวราชจึงทรงพิจารณาด้วยทิพยเนตร ก็ทราบเหตุสิ้นทุกประการ จึงเสด็จจากเวชยันตพิมาน ทรงถือธนูพระอินทร์อันมีลูกศรทั้ง ๕ ประกอบด้วยฤทธิ์ต่าง ๆ กัน ลงมาสู่สำนักพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร เปล่งรัศมีกายให้สว่างชัชวาลแล้วตรัสเรียกพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ พระองค์จงตื่นบรรทมเถิด ข้าพระองค์จะถวายทิพยอาวุธวิเศษ อันมีเดชอาจย่ำยีปรปักษ์ปัจจามิตรให้พ่ายแพ้ได้ ลูกศรถูกหนึ่งนั้นเมื่อแผลงออกไป อาจตกแต่งยวดยานและวิมานปราสาทถวายได้ ลูกศรลูกหนึ่งเมื่อแผลงออกไป เป็นเพลิงสว่างโอภาส อาจเผาผลาญบ้านเมืองให้ไหม้เป็นจุณวิจุณไปได้ ลูกศรถูกหนึ่งนั้นเมื่อยิงไป อาจทะลุเกราะเพชร์ตลอดไป ให้ข้าศึกปัจจามิตรสิ้นชีวิตภายใน ๑ วัน ลูกศรลูกหนึ่งเมื่อยิงไปอาจให้ข้าศึกมีความกลัวพากันปลาสนาการหนีไป ข้าแต่พระมหาบุรุษ พระองค์จงทรงกำหนดไว้โดยนัยที่ข้าพระองค์ได้บรรยายแล้วนี้

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับถี่ถ้วนทุกประการแล้ว ก็เสด็จอุฏฐาการจากสัยนอาสน์ ทรงรับธนูกับลูกศรอันท้าวสักกเทวราชประสาทให้ ก็มีพระหฤทัยชื่นชมโสมนัส ครั้นท้าวสุชัมบดีถวายเทพยอาวุธแก่พระโพธิสัตว์แล้ว จึงกล่าวพระคาถาว่า

ชเยหิ ตฺวํ มหาราช สพฺพฏาเนสุ ปากโฏ
จตุทีเปสุ มนุสฺเสสุ ตุยฺหํ อาณา ภวนฺตุ เตติ

ความว่า ข้าแต่มหาบุรุษผู้เป็นมหาราชเจ้า พระเดชานุภาพของพระองค์จงปรากฏไปในทวีปทั้งปวง พระราชอาณาของพระองค์จงแผ่ไปในมนุษย์ทั้งหลาย ในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร

ท้าวสักกเทวราช ทรงประสาทพรพระบรมโพธิสัตว์แล้ว ก็อำลาเสด็จกลับไปยังเทวโลก เข้าสู่เวชยันตวิมานอันเป็นนิวาสฐานของพระองค์ ฝ่ายพระโพธิสัตว์จึงมีรับสั่งให้จัดแจงนาวาทั้งหลายให้เป็นพวกเป็นเหล่าแล้ว ครั้นถึงวันศุภฤกษ์ จึงเสด็จลงสู่สำเภากับพวกโยธาทหารเป็นอันมาก แล่นไปตามกระแสคงคา

เมื่อนาวาแล่นถึงฝั่งคงคาแล้ว พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร ก็พาพวกรี้พลโยธาทหารทั้งหลายขึ้นจากสำเภา แล้วให้ปลูกพลับพลาที่ประทับอาศัย จึงให้แต่งพระราชสาส์นเพื่อจะให้ไปถวายพระเจ้าสิงหล ใจความในพระราชสาสน์ว่า ดูกรกษัตริย์สมมติเทวราช พระเจ้าสุวรรณกุมารผู้โอรสพระเจ้ามหาภัตตราชผู้ครองเมืองพาราณสี มีพระเดชานุภาพอันอาจย่ำยีกษัตริย์ในสากลทุก ๆ พระนคร แต่ลำพังลูกศรของพระเจ้าสุวรรณกุมารเท่านั้น ก็อาจจะกระทำพระนครแว่นแคว้นของพระเจ้าสิงหลให้พินาศแหลกเห็นจุณไปได้ บัดนี้พระเจ้าสุวรรณกุมารผู้เป็นโอรสนั้น เสด็จยาตราทัพมากับพลนิกรเป็นอันมากมาถึงแว่นแคว้นของพระองค์แล้ว เสด็จประทับอยู่ ณ ริมฝั่งมหานที ให้พระเจ้าสิงหลรีบเตรียมโยธาทหารออกไปทำยุทธสงคราม ถ้าไม่รบก็จงแต่งเครื่องราชบรรณาการออกไปเฝ้าขอประทานชีวิตไว้ ครั้นแต่งพระราชสาส์นเสร็จแล้ว จึงเอาพระราชสาส์นนั้นผูกลูกศรพระโพธิสัตว์ก็ทรงแผลงไปให้เป็นราชทูต ลูกศรราชทูตนั้นก็แล่นไปใกล้พระกรรณของพระเจ้าสิงหล ทำพระราชสาส์นให้ตกลง ณ ที่เฉพาะพักตร์แล้วกระทำเสียงร้องคำรณว่า เราจะตัดพระเศียรของท่านไปถวายพระเจ้าสุวรรณกุมาร

พระเจ้าสิงหลราชได้สวนาการเสียงทูตศร และทราบในพระราชสาส์นดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธดุจนาคราชอันบุคคลเคาะลงที่ขนดหาง แต่ถึงกระนั้นก็ประกอบด้วยความสะดุ้งตกพระทัย จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมพร้อมกันในหน้าพระลาน ทรงปรึกษาว่าพระเจ้าสุวรรณกุมารบรมกษัตริย์ มีวิทาการฉลาดในศิลปศาสตร์ยิงธนูเห็นปานดังนี้ เมื่อเราเข้าต่อยุทธนาการก็คงจะปราชัยพ่ายแพ้พระเจ้าสุวรรณกุมารนั้นเป็นมั่นคง

ในกาลนั้น ชาวพระนครสิงหลทั้งหลายสิ้นทั้งพระนครเมื่อได้ยินคำพระเจ้าสิงหลราชตรัสปรึกษาดังนั้น ต่างก็พากันสะดุ้งตกใจเอิกเกริกเป็นโกลาหล

ฝ่ายทูตศรนั้นก็ออกจากปราสาทพระเจ้าสิงหล กลับมาทูลความนั้นแก่พระโพธิสัตว์ ๆ ก็ทรงแผลงลูกศรอันอาจตัดศีรษะมาถวายไปอีกลูกหนึ่ง ลูกศรนั้นก็แล่นไปทำอาการประดุจดังว่า จะตัดศีรษะชาวพระนครทั้งหลายพร้อมกัน แล้วกลับมาสู่แหล่งดังเก่า

ในกาลนั้น พวกพระสนมนารีราชกัญญาทั้งหลายในพระนครสิงหล อีกทั้งเหล่าประชาชนพระนครทั้งสิ้น ต่างก็พากันหวาดเสียวสะดุ้งตกใจกลัวทั่วพระราชอาณาเขต

ในลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงแผลงถูกศรไปอีกลูกหนึ่ง ก็บังเกิดเป็นวิมานและยวดยานพาหนะ เป็นต้นว่าสินธพชาติราชรถกึกก้องด้วยเสียงดุริยดนตรีต่างๆ มีนางเทพอัปสรขับร้องฟ้อนรำบำเรออยู่ในวิมาน วิมานนั้นก็ไปประดิษฐานอยู่ในอากาศท่ามกลางพระนครแล้ว ลูกศรก็กระทำปทักษิณสิ้นตติยวาร ประดิษฐานอยู่บนอากาศภายนอกพระนคร

ในกาลนั้น ชาวพระนครสิงหลทั้งหลายทั้งสิ้น กับทั้งพระเจ้าแผ่นดินเมืองสิงหล ต่างคนได้เห็นอัศจรรย์อันวิปลาส คือพิมานและสินธพชาติราชรถ อันปรากฏอยู่ในอากาศท่ามกลางพระนคร ต่างก็พากันสะดุ้งตกใจกลัวเป็นกำลัง

ในลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงแผลงลูกศรไปอีกถูกหนึ่งก็บังเกิดเป็นอัคคี มีเสียงประดุจดังว่าเสียงสายอสุนีบาต อันตกลงในพระนคร แล้วไปนั้นก็แสงรุ่งโรจน์ไปรอบพระนคร กระทำปทักษิณสามรอบแล้วก็กลับไปเข้าแหล่งดังเก่า

ในกาลนั้น ชาวพระนครสิงหลทั้งหลายทั้งปวง ต่างก็พากันสะดุ้งกลัวมรณภัย ด้วยมิได้เคยเห็นมหัศจรรย์แต่กาลก่อนมา ต่างคนต่างก็ลูบหลังบุตรภรรยาของตน ๆ แล้วพากันปริเทวนาการร่ำร้องไห้

ฝ่ายพระเจ้าสิงหลมหาราช เป็นกษัตริย์มีชาติอันประกอบด้วยมานะกระด้าง กลัวก็กลัวแต่แข็งพระทัยมีพระราชดำรัสว่า อานุภาพเห็นปานดังนี้จะได้มีแต่พระเจ้าสุวรรณกุมารพระองค์เดียวหามิได้ เมื่อเข้าต่อยุทธนาการเมื่อใด ความอัปราชัยก็คงจะมีแก่พระเจ้าสุวรรณกุมารเมื่อนั้น

เมื่อพระเจ้าสิงหลราชตรัสดังนี้ พระโพธิสัตว์จะได้ทรงพระพิโรธมาตรว่าหน่อยหนึ่งก็หามิได้ พระองค์จึงส่งราชทูตไปให้ทูลพระเจ้าสิงหลว่า ในเวลาเย็นวันนี้ เราจะยกรี้พลออกไปรบกับพระเจ้าสิงหล ราชทูตรับพระราชโองการแล้วก็ไปเฝ้าพระเจ้าสิงหล ทูลความตามรับสั่งของพระเจ้าสุวรรณกุมารโพธิสัตว์

พระเจ้าสิงหลได้ทรงฟัง จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันแล้ว มีพระราชโองการให้เตรียมพลโยธาทหาร อันผูกสอดด้วยสรรพศัสตราวุธออกยุทธนาการ อำมาตย์ทั้งหลายก็พากันตระเตรียมพลหวยหาญ ตามพระราชบัญชาทุกประการ

ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร จึงทรงแผลงลูกศรไปอีกลูกหนึ่งและสั่งว่า ท่านจงไปแทงหทัยเสนาบดีทั้งสอง อันสอดใส่เกราะเครื่องยุทธนาการ ถืออาวุธยืนอยู่ ณ ราชมนเทียรสถานของพระเจ้าสิงหล แต่เมื่อไปถึงนั้นจงขึ้นไปส่งสำเนียงอยู่บนยอดมนเทียร ก่อนว่า ถ้าพระเจ้าสิงหลมีอาลัยในชีวิตก็อย่าออกรบ ถ้าทรงเชื่อจงสละทิฐิมานะเสีย ถ้าทรงไม่เชื่อก็จะได้เห็นเสนาบดีทั้งสองอันจะสิ้นชีวิตใน ๗ วัน ถ้าพระเจ้าสิงหลไม่ทรงเชื่อภายหลังท่านจึงทำตามคำสั่งนั้น

ในกาลนั้น พระเจ้าสิงหลราชปรารถนาจะใคร่รู้เหตุอันเท็จและจริง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษผูกหุ้มสรีระเสนาบดีทั้งสองด้วยเกราะหนัง และเอาแผ่นกระดานมาตั้งกำบังไว้ แล้วให้เสนาบดีทั้ง ๒ เข้าไปนั่งอยู่ในภายในเรือน ๗ ชั้น

ฝ่ายลูกศรนั้น ไปเวียนรอบพระนคร ๓ ครั้งแล้ว จึงเปล่งเสียงเป็นอันดังดุจเสียงสายอสุนีบาต ชาวพระนครสิงหลทั้งปวงไม่สามารถที่จะดำรงกายอยู่ได้ ประกอบไปด้วยความสะดุ้งตกใจกลัวเป็นกำลัง บางพวกก็ถือกระด้งขึ้นบังบนศีรษะ บางพวกก็พากันซ่อนเร้นในที่ต่าง ๆ มีโรงและฉางเป็นต้น ลูกศรนั้นก็ไปแทงฝาปราสาทตลอดถึงแผ่นกระดานทะลุเลยถึงเกราะหนังกระทั่งถึงดวงหทัยแห่งเสนาบดีทั้งสอง ครั้นวันที่ ๗ เสนาบดีนั้นก็ล้มลงสิ้นชีวิตอยู่ ณ พื้นมนเทียรสถาน

พระเจ้าสิงหลราชเห็นอาการอันมหัศจรรย์ ก็มีพระหฤทัยอันหวั่นหวาด จึงตรัสปรึกษาพวกเสนามาตย์ราชบริพารทั้งหลายว่า เราจะไปเฝ้าพระเจ้าสุวรรณกุมารทูลขอชีวิตไว้ ถ้าหากว่าเรามิไปเฝ้า พระนครแว่นแคว้นราชอาณาเขตของเรา ก็คงจะพินาศถึงซึ่งความฉิบหาย ทั้งรี้พลและชาวเมืองทั้งปวงก็พากันล้มตายเป็นอันมาก โดยเหตุนี้ เราควรจะไปเฝ้าพระเจ้าสุวรรณราชกุมาร ทูลถวายราชสมบัติรัชศฤงคารในสิงหลทวีปทั้งสิ้น เพื่อจะป้องกันอันตรายมิให้บังเกิดแก่บ้านเมืองทั้งพวกเราและชาวพระนครทั้งหลายก็จะอยู่เย็นเป็นสุขด้วยกัน ท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใด

พวกอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาททั้งปวงเห็นสมควรโดยพระราชดำรัสทุกประการ ขอพระองค์จงเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าสุวรรณกุมารในกาลนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าสิงหลราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงมีพระราชดำรัสให้ขนแก้วแหวนเงินทองในท้องพระคลัง จัดเป็นเครื่องราชบรรณนาการพร้อมเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปเฝ้าพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร ครั้นถึงจึงถวายบังคมกราบทูลด้วยพระคาถาว่า

น โน ทิฏโ อิโต ปุพฺเพ น สุโตปิ น กสฺสจิ
เอวํ เตโช มหาปุฺโ ตาทิโส จ มหึตเล
นาครํ รชฺชฺจ สกลํ ปาณฺจ ตุมฺหากฺเจว
ททามิ เต มหาราช ยาจามิ ชีวิตํ ตุวํ

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงอิสราธิบดี พระบรมเดชานุภาพและบุญญาภินิหารเห็นปานดังนี้ ข้าพระองค์ยังไม่เคยเห็นในกาลก่อนเลย ทั้งจะได้ยินได้ฟังแต่สำนักผู้ใดผู้หนึ่งก็หามิได้ อนึ่งกษัตริย์ในพื้นปถพีที่ประกอบด้วยเดชานุภาพและบุญญาภินิหารเช่นดังพระองค์นี้ ข้าพระองค์ก็ยังไม่เคยเห็นเลย ข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติทั้งสิ้นในพระนครสิงหล กับทั้งพระนครแว่นแคว้นอาณาเขตประเทศมณฑล บรรดาที่เป็นของข้าพระบาททั้งหมดแก่พระองค์ในกาลนี้ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าสุวรรณกุมารโพธิสัตว์จึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรมหาราชผู้ครองนครสิงหล ราชสมบัติและพระนครอาณาเขตประเทศมณฑลทั้งสิ้น ที่เป็นของพระองค์นั้น ก็สมควรแด่พระองค์ทั้งสิ้น พระองค์จงดำรงราชสมบัติอยู่โดยสุขสถาพรเถิด เรานี้จะได้ปรารถนาสมบัติของพระองค์หามิได้ ราชสมบัติของพระองค์ก็จงเป็นของพระองค์อยู่ดังเก่า พระองค์อย่ากลัวภัยอันตรายสิ่งใดเลย จงมีความสุขสำราญดุจกาลก่อนเถิด เรามานี้มีความประสงค์จะจับดวงหทัยของพระองค์

พระเจ้าสิงหลได้สดับพระราชดำรัสดังนั้น ก็ให้มีพระสริรกายอันสะทกสะท้านหวั่นไหว มีความสะดุ้งกลัวต่อมรณภัยเป็นกำลัง มีพระเสโทอันไหลหลั่งลงโทรมพระพักตร์ ให้อั้นอ้นจนพระทัยมิรู้ที่ว่าจะกราบทูลประการใด

พระเจ้าสุวรรณกุมารโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นเจ้าสิงหลนั้น มีพระสริรกายอันหวาดหวั่นสะทกสะท้าน และมีเสโทอันไหลอาบพระพักตร์ ก็มีความสงสารประกอบด้วยพระกรุณาจึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรมหาราชผู้ครองนครสิงหล พระองค์อย่ามีความร้อนรนกลัวมรณภัยเลย จงวางพระทัยให้เป็นสุขสบายเถิด ใช่ว่าเราจะต้องการดวงหทัยของพระองค์ก็หามิได้ และจะปรารถนาเลือดเนื้อสิ่งใดในกายของพระองค์ก็มิได้มี ที่เรากล่าวว่าจะจับดวงหฤทัยของพระองค์นั้น ประสงค์จะให้ความรักของพระองค์มีในเรา และความรักของเราก็จะมีในพระองค์สิ้นกาลนาน การที่จะเป็นมิตรรักใคร่กันนั้น ก็ต้องอาศัยดวงหทัยเป็นประมาณ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ธรรมดาบุคคลที่สงเคราะห์ผู้อื่น ต้องกำหนดจับดวงหทัยก่อน จึงจะให้ผู้นั้นประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ และจะพึงห้ามผู้นั้นให้ห่างไกลจากธรรมอันลามกได้ ผู้ที่สงเคราะห์อนุเคราะห์นั้นชื่อว่ากัลยาณมิตร กัลยาณมิตรเช่นนี้ประเสริฐกว่าแก้วจินดามณี เพราะเหตุว่า แก้วจินดามณีนั้นให้สำเร็จประโยชน์ตามความคิดได้แต่ในภพอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น ฝ่ายกัลยาณมิตรที่เป็นคนดีนั้น ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ทั้งในภพนี้และภพหน้า บุคคลผู้มีปัญญาพึงคบหาสมาคมกัลยาณมิตรในกาลทั้งปวง เพราะว่าแก้วจินดามณีมีคุณไม่เสมอกัลยาณมิตรเพราะเหตุนั้น สมเด็จพระภควันตบพิตรจึงตรัสเทศนาไว้ว่า จินตามณี สพฺพมณีนํ เสฏฺโ แก้วจินดามณีประเสริฐกว่าแก้วทั้งหลายในโลกนี้ เพราะว่าแก้วจินดามณีอาจให้สำเร็จความปรารถนาได้แม้ถึงกระนั้นก็ดี แก้วจินดามณีอาจให้สำเร็จดังในปรารถนาได้แต่ในภพเป็นปัจจุบัน ไม่สามารถจะให้สำเร็จประโยชน์ความปรารถนาในภพเบื้องหน้าได้

ฝ่ายกัลยาณมิตรที่ดีนั้น ถ้าผู้ใดคบหาสมาคมแล้ว ก็อาจให้ผู้นั้นสำเร็จความปรารถนาทั้งในภพนี้และภพเบื้องหน้า ผู้ใดตั้งอยู่ในมิตรธรรม คือประพฤติตามคำสอนของกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะได้เป็นอิสรชนในโลกนี้ ครั้นทำลายขันธ์ขาดชีวิตินทรีย์ก็จะได้อิสรสมบัติในโลกเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น โบราณกบัณฑิตจึงได้ประพันธ์พระคาถาไว้ว่า

โย มิตฺตธมฺเม ติฏฺมาโน อฺถา ทิฏฺเว ธมฺเม
โส ลพฺภเตว ปสํโส สมฺปรายฺจ สุคตึ

ความว่า ผู้ใดตั้งอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นจะได้ความสรรเสริญในทิฏฐธรรมชาตินี้ด้วย จะได้สุคติในสัมปรายภพภายหน้าด้วย

พระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์ตรัสสรรเสริญกัลยาณมิตรดังนี้แล้ว เมื่อจะติเตียนปาปมิตรจึงตรัสว่า ดูกรมหาราชผู้ครองนครสิงหล บุคคลบางคนกล่าวถ้อยคำอันใดอันหนึ่ง แต่ดวงหทัยเป็นอย่างอื่นหาสมกับถ้อยคำไม่ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทำอาการเหมือนสละชีวิตของตนช่วยทุกข์ของผู้นั้น ครั้นมองดูเห็นไม่เป็นประโยชน์แก่ตนก็เพิกเฉยเสีย บางทีก็กลับกล่าวยกโทษซ้ำเติมผู้นั้นขึ้นอีก บุคคลเช่นนี้เรียกว่าปาปมิตร ๆ เช่นนี้มิได้มีความสุขความเจริญในทิฏฐธรรมชาตินี้ ครั้นสิ้นชีพทำลายขันธ์ไปปรโลกก็ได้เสวยทุกข์อันใหญ่ในโลหกุมภี มหานรกสิ้นกาลนาน ดูกรมหาราชผู้เป็นใหญ่ในสิงหล พระองค์จงพิจารณาดูภัยที่บังเกิดขึ้นแก่ตนบัดนี้ แล้วจงกล่าวตามความเป็นจริงแก่เรา อย่าเป็นผู้กล่าวโดยเหตุอาศัยมานะที่มีในตน

เมื่อพระเจ้าสิงหลได้สดับพระราชดำรัสดังนั้น ก็มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยปีติโสมนัส เมื่อจะตอบพระราชดำรัส จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า

สาธุ สาธุ มหาราช สพฺพเมตํ สุภาสิตํ
น อสุตํ นาภิชานาติ เอวํ ธมฺมํ อนุตฺตรํ
ชีวิตหทยํ เปมํ รชฺชํ อนุภูตํปิจ
สพฺพํ เต เทมิ สทฺธาย คณฺหสฺสุ อริมทฺทนา

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ พระวาจาที่พระองค์ตรัสนี้ เป็นคุณความดีอาจให้สำเร็จประโยชน์ทั้งสองประการ ควรข้าพระองค์จะมนสิการไว้ในใจ ข้าพระองค์มิได้เคยฟังแต่สำนักผู้ใดเลย ข้าพระองค์มีหฤทัยประกอบด้วยความรักในฝ่าพระบาท ขอถวายสิริราชสมบัติแก่พระองค์ พระองค์ได้โปรดสั่งสอนโดยเป็นอธิบดี ข้าพระบาทจะขอรองฝ่าธุลีพระบาท ตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ตั้งแต่วันนี้ไป พระพุทธเจ้าข้า

พระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ถ้าเป็นความจริงดังพระองค์ดำรัสนี้ พระองค์จงเสด็จไปเมืองพาราณสีด้วยกัน จะได้เฝ้าพระราชบิดาของเราให้ทรงรู้จักไว้ พระเจ้าสิงหลจึงตรัสตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราช ข้าพระองค์นี้จะได้ขัดพระราชโองการหามิได้ ข้าพระองค์ขอผัดผ่อนแต่พอได้ตระเตรียมการ ที่จะจัดพลทวยหาญไปตามเสด็จก่อน พระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ถ้ากระนั้นเราจะรอคอยท่าพระองค์จงตระเตรียมการตามปรารถนาเถิด

พระเจ้าสิงหลราชได้รับพระราชานุญาตดังนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมลาพระโพธิสัตว์มาสู่พระราชนิเวศน์ จึงจัดแจงราชนารีทั้งหลายที่พึ่งแรกรุ่นประมาณสองหมื่นแปดพันแต่ล้วนมียุคลถันทัดเทียมประทุมทอง มีพระพักตร์อันผุดผ่องดังพระจันทร์ในวันปัณณรสี มีพระสรีระอินทรีย์อันงามดังนางเทพอัปสรในสวรรค์ ฝ่ามือและฝ่าเท้าของราชกัญญาเหล่านั้น ดุจดังว่าย้อมด้วยน้ำครั่งทั้งมีสรีระประเทศปราศจากโทษ ๖ ประการ คือ ไม่ผอมนัก ไม่พีนัก ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก และประกอบด้วยเบญจกัลยาณีความงามทั้ง ๕ อย่างคือ งามผม งามผิว งามเล็บ งามฟัน งามวัย ราชกัญญานางหนึ่ง ๆ นั้น มีทาสีคนใช้อันงามไปด้วยรูปเป็นต้น ๑๐ คนล้วนประดับไปด้วยเครื่องอลังการส่งไปบำเรอพระเจ้าสุวรรณกุมารโพธิสัตว์อยู่ทั้งกลางคืนและกลางวัน แล้วพระเจ้าสิงหลราชนั้น มีรับสั่งให้หาเสนาคุตตอำมาตย์มาเฝ้าตรัสสั่งว่า ดูกรอำมาตย์ผู้ปกครองจตุรงคเสนา ท่านจงตระเตรียมพลโยธาทั้ง ๕ หมู่ให้ครบครัน ทั้งพวกโยธาพลรบนั้นให้แต่งกายสีต่าง ๆ พวกหนึ่งให้แต่งตัวสีแดงมีหน้าเขียว พวกหนึ่งให้แต่งตัวสีดำมีหน้าขาว พวกหนึ่งให้แต่งตัวเป็นนาคราช พวกหนึ่งให้แต่งตัวเป็นสุบรรณ เป็นคชสาร เป็นราชสีห์ เป็นอัศวพาชี เป็นกระบือ ถืออาวุธให้ครบถ้วนทุกคน ให้แต่งตนใส่เกราะจัมมาภรณ์ อันกระทำด้วยหนังเหน็บอาวุธและเครื่องสำหรับยุทธนาการ เราจะตามเสด็จพระเจ้าสุวรรณกุมาร ไปเมืองพาราณสีมหานคร

เสนาคุตตอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ก็สั่งเสนาโยธาทั้งหลายทุกหมวดทุกกอง ให้ตกแต่งกายด้วยเครื่องอลังการ ใส่เกราะสวมสะพายพักแล่งธนูขึ้นประจำบนหลังคชสาร เสนาอัศดรทั้งหลายก็นุ่งห่มประดับกายด้วยอลังการสีเหลืองล้วน พวกพลราชรถก็แต่งกายตามกระบวนพลรถ เทียมด้วยสินธพพาชี มีนายสารถีประจำถ้วนตัวอัศดร พวกพลบทจรก็แต่งตัวตามตำแหน่งใส่เสื้อแดงสวมลำพอก มือถือหอกดาบโล่เขนและธนู ยืนเป็นทิวแถวถ้วนตามรับสั่ง พวกพิชัยเภรีกลองชนะกลองใหญ่ ก็เตรียมจัดตามกระบวนทุกตำแหน่งเป็นขนัด เสนาหมู่หนึ่งมีนายสารวัตรเดินตรวจทุกหมู่ทุกกอง ถือฉัตรทองและพัดหางนกยูง ยกขึ้นไว้หมู่หนึ่ง ๆ นั้นประมาณได้ ๕ หมื่น ๆ พวกพลช้างพลม้าพลรถทั้งนั้น ประมาณได้หมื่นหนึ่งเป็นกำหนด พวกพลทั้งปวงต่างตระเตรียมพร้อมกันทุกหมู่ทุกกอง

พระเจ้าสิงหลได้จัดแจงรี้พลทั้งปวง ล่วงไปได้เดือนหนึ่งจึงสำเร็จ ครั้นพวกพลโยธาพรักพร้อมกันแล้ว พระเจ้าสิงหลราชจึงกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้าพวกพลเสนาโยธาหาญทั้งหลาย ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้พร้อมเสร็จแล้ว ขอพระองค์จงเสด็จกลับพระนคร ข้าพระองค์จะได้ตามเสด็จไปเฝ้าพระชนกาธิราช กับทั้งพระราชชนนีของพระองค์ ถวายบังคมและถวายตัวเป็นข้าบาทตราบเท่าสิ้นชีวิต พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าสุวรรณกุมารโพธิสัตว์ทรงทราบว่าเตรียมพลโยธาทั้งหลายพร้อมเสร็จ ก็เสด็จแวดล้อมด้วยราชกัญญาทั้งหลาย อันมีสรีรกายประดับด้วยเครื่องสรรพาภรณ์สมเป็นองค์อนงคนิกรราชนารี มีท่ามกลางพระอินทรีย์อันงามเล็ก ทั้งประกอบด้วยเบญจกัลยาณี สอดใส่สังวาลอันวิจิตร สวมพระอุณหิสประดับด้วยเพชร์รัตน์ มีข้อพระหัตถ์สวมสุวรรณวลัย ประดับไปด้วยรัตนพาหุรัด มีหัตถ์เชิญพระแสงขรรค์แก้ว ตามเสด็จโดยเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระโพธิสัตว์เสด็จโดยท่ามกลางแห่งหมู่ราชกัญญา งามดังองค์สมเด็จอัมรินทรา อันเสด็จ ณ ท่ามกลางนางเทพอัปสร ราชกัญญาบางพวกก็ถือจามร บางพวกถือพัดวาลวิชนี บางพวกเชิญพระสุวรรณภาชนะพานพระศรีฉลองพระโอษฐ์เป็นหมู่ ๆ กัน ในท่ามกลางนางราชกัญญาทั้งหลายนั้น มีดรุณราชกุมารีอันมีสรีระอินทรีย์งามดังนางเทพนารีในชั้นดาวดึงส์มีท่ามกลางองค์อันอ้อนแอ้นประหนึ่งว่าวาดเขียน พระสอเศียรและนาสาสมเป็นขัตติยปริจาริกาของบรมกษัตริย์ ทรงพระภูพาสพักล้วนสุวรรณวิจิตร เครื่องสรรพาภรณ์วิภูสิตแล้วไปด้วยทองคำธรรมชาติ เชิญพระแสงดาบวชิรขัคคาวุธ ในภายนอกราชนารีนั้นมีเสวกามาตย์ราชบุรุพอันตั้งอยู่ในมัชณิมวัย ถือหอกดาบโล่ดั้งตามเสด็จโดยกระบวน ในลำดับต่อไปนั้น มีพลคชสารล้วนมาตังคตระกูลดำเนินพล ในลำดับคชสารนั้น มีพวกพลอัศดรสินธพชาติ ล้วนท่วงทีองอาจทนปืนไฟไม่ถอยหด ในลำดับอัศดรนั้น มีพลรถเรียบเรียงเป็นขนัด ในลำดับพลราชรถนั้น ล้วนพวกพลโยธาเดินเท้าไต่เต้าตามกันชั้นละสี่ ถัดนั้นมาถึงพวกพลโยธีแกล้วกล้าสามารถ มีมือถือธนูศรโตมรและกระบองหอกดาบประจำหัตถ์มีกายประดับอาภรณ์สำหรับยุทธนาการ ชนทั้งหลายที่เป็นบริวารตามเสด็จก็แวดล้อมพระโพธิสัตว์ ในทิศบุรพาและทิศปราจิณและทิศทักษิณทิศอุดร กำหนดพลนิกรที่ยืนอยู่ในที่นั้นประมาณได้สามโยชน์ทั้งสี่ทิศ

ครั้นได้มหามงคลฤกษ์ พระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร ก็เสด็จขึ้นทรงมงคลคชสาร อันประดับด้วยหัตถาภรณ์วิภูสิต ทรงสถิตยังรัตนบัลลังก์ เหนือหลังมงคลคชยาน แวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร เสด็จออกจากพระนครสิงหลโดยลำดับมา พระเจ้าสิงหลราชก็ตามเสด็จด้วยจาตุรงคโยธามาเบื้องหลัง พระโพธิสัตว์เสด็จในครั้งนั้นดังองค์สมเด็จอัมรินทราทรงคชเอราวัณทิพยาน ณ ท่ามกลางหมู่เทพยดาและอุปมาดังพระสุเมรุบรรพต อันงามด้วยสัตตบริภัณฑ์คีรี กึกก้องไปด้วยเสียงจตุรงคเสนีราชบริวาร ประดุจเสียงลมยุคันธวาต เสด็จทรงคชินทรราชไปในพระมหาสมุทร์ ดำรัสสั่งให้ปลูกพลับพลาที่ประทับแทบริมฝั่ง เสด็จประพาสเล่นอยู่ในมหาสมุทร์นั้น สิ้น ๗ วันเป็นกำหนด ขึ้นจากท้องพระมหาสมุทร์แล้วเล่นอยู่ริมฝั่งอีก ๗ วัน

ในกาลครั้งนั้น พระเจ้าสิงหลราชจึงกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า ขอเชิญเสด็จออกจากที่ประทับเถิด จะได้ข้ามพระมหาสมุทร์ไปในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับจึงมีรับสั่งให้ป่าวร้องพวกพลเสนาทั้งหลายให้รู้ทั่วกัน พระเจ้าสิงหลราชก็กระทำตามรับสั่ง

ครั้นถึงเวลานักขัตฤกษ์ศุภมงคล พระโพธิสัตว์ก็เสด็จลงสู่สุวรรณนาวากับด้วยราชกัญญาพระสนมนารีทั้งหลาย พระเจ้าสิงหลราชก็ขึ้นสู่มหานาวา พร้อมด้วยพวกพลโยธาทั้งปวง

ในกาลครั้งนั้น พระยานาคราชทั้งหลายและเทพยดาอันสิ่งอยู่ในพระมหาสมุทร์จึงนฤมิตตนเป็นนาวาแก้ว กระทำให้เต็มบริบูรณ์ด้วยโภชนาหาร สำหรับให้พวกพลโยธาราชบริพารอาศัยบริโภคตามอัธยาศัย ฝ่ายนางนาคีและนางเทพธิดาทั้งหลายที่รักษาสมุทร์คงคา ต่างก็นฤมิตอัตตภาพเป็นดรุณสัตรี มีสรีระอินทรีย์อันงามดังเทพนารีสาวสวรรค์ ถือมาลาของหอมและจุณแก่นจันทร์เครื่องลูบไล้ ผลัดเปลี่ยนกันบำรุงบำเรอพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมาร ฝ่ายเสนาโยธาทั้งหลายก็ได้บริโภคโภชนาหาร เป็นต้นว่ามัจฉมังสาสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศ อันบังเกิดด้วยอานุภาพของนาคราชและเทพยดาที่รักษาพระมหาสมุทร์ ทั้งได้ดื่มกินสุราเมรัยตามปรารถนา และประดับกายด้วยพวงมาลาของหอมเครื่องลูบไล้ บางพวกก็ร่าเริงบันเทิงใจฟ้อนรำขับร้องตามเจตนา บางพวกก็ผิวปากโสมนัสปรีดาสำราญจิต บางพวกก็ปรบมือโลดเต้นเล่นคะนองตามลำพัง โดยควรแก่ความผาสุกหาความทุกข์มิได้ เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยสมบัติดุจทิพยสมบัติ ณ กลางพระมหาสมุทร์ และรุ่งเรืองประดุจดังว่าทิวากร มิฉะนั้นดังดวงศศิธรอันอยู่ในท่ามกลางแห่งหมู่ดาว มิฉะนั้นราวกะว่าพระยาสุวรรณราชหงส์อันแวดล้อมไปด้วยหมู่หงสบริวาร ประมาณได้ ๓ วันก็ถึงฟากฝั่งข้างโน้น จึงส่งทูตไปยังสำนักพระราชบิดามารดา

ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระชนกนาถราชชนนี จึงมีรับสั่งให้ตกแต่งสถลวิถีราชมรรคา ให้ประดับประดาด้วยธงฉัตรราชวัติและต้นกล้วยต้นอ้อย ตั้งตุ่มสุราและเมรัย และตุ่มน้ำทั้งภาชนะอันเต็มด้วยขนมเป็นต้นตลอดทั้งสองข้างมรรคา และให้ตั้งศาลาโรงทาน ทั้งโรงงานมหรสพฟ้อนรำขับร้องให้ครบครัน ตามทางที่พระโพธิสัตว์จะเสด็จมานั้น แล้วให้ประดับประดาพระนครพาราณสีอันมีปริมณฑลได้ ๑๒ โยชน์เป็นกำหนด แล้วเสด็จไปต้อนรับพระโพธิสัตว์ราชโอรส ณ ท่ามกลางมรรคา พระโพธิสัตว์ก็เสด็จมาถวายบังคมพระราชบิดามารดา แล้วยาตราพลมายังเมืองพาราณสีจึงถวายหมู่พลขัตติยาธิบดีพระเจ้าสิงหล พาพระเจ้าสิงหลเข้าเฝ้าพระราชบิดามารดา พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการทั้งหลายที่ได้มามีเงินและทองเป็นต้น พระราชบิดามารดาทรงตรัสสรรพพัสดุแล้วก็มีพระกมลเต็มไปด้วยปีติ เมื่อจะประทานพรแก่พระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาว่า

จิรํ ชีวตุ ภวํ ปุตฺต มา วิโยโค ปีเยหิ จ
ขิปฺปตุ ตว สงฺกปฺโป จนฺโท ปณฺณรโส ยถา

ความว่า ดูกรพ่อผู้ปิยบุตร เจ้าจงดำรงพระขนมชีพสิ้นกาลนาน โรคาพาธสิ่งใดจงอย่าได้แผ้วพาลประทุษร้าย พระปิโยรสจงอย่าได้พลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลาย อันเป็นที่รักจงสามัคคีพร้อมเพรียงด้วยบุตรและภรรยา ความปรารถนาจงสำเร็จทุกประการ ปรารถนาสิ่งใดก็ให้ได้สิ่งนั้นดังความปรารถนา อุปมาดังดวงพระจันทร์ในวัน ๑๕ ค่ำ

กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงประสาทประสิทธิ์พรแก่พระโพธิสัตว์ดังนี้แล้ว ก็ทรงมอบมไหสุริยสมบัติ ให้พระโพธิสัตว์ดำรงราชอาณาจักรแทนพระองค์

ในกาลครั้งนั้น กษัตริย์ทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ก็เกรงกลัวพระราชเดชานุภาพพระโพธิสัตว์ ต่างองค์ก็ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย มอบราชสมบัติและมอบตนให้อยู่ในอำนาจของพระโพธิสัตว์ ๆ ก็พระราชทานพระภูษาและเครื่องอลังการตามสมควรแก่อิสริยยศ แก่กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้น โดยที่สุดแต่ควาญคชสารและนายอัสสาจารย์ก็พระราชทานทั่วทุกตัวคน เมืองพาราณสีมีกำหนด ๑๒ โยชน์นั้น ก็เอิกเกริกไปด้วยเสียงขับร้องต่าง ๆ อย่างประหนึ่งว่าทิพยสังคีตอันบำเรอสมเด็จอมรินทราธิราช โรคาพาธสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมิได้เป็นที่พอใจจะได้มีแก่ราษฎรผู้ใดผู้หนึ่งก็หามิได้ ด้วยเดชานุภาพของพระโพธิสัตว์

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จทรงนั่ง ณ บัลลังก์รัตนสิงหาสน์ตรัสพระราชทานโอวาทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ๆ พากันถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า สมบัติของพระองค์ประดุจดังว่าทิพยสมบัติ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้เคยเห็นและเคยได้ยินได้ฟังหามิได้ กิตติศัพท์กิตติยศของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในพื้นปถพี จะได้ปรากฏเหมือนพระองค์หามิได้ พระองค์ประกอบไปด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่พ้นที่จะประมาณ พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังกษัตริย์ทั้งหลายชมโพธิสมภารดังนั้น เมื่อจะทรงห้ามจึงตรัสพระคาถาว่า

นาหํ ปรินฺทโท ราช นาหํ เทโว มหิทฺธิโก
มหานุภาโว ธมฺเมน ปวตฺโต อีทิสํ สุขํ

ความว่า ดูกรกษัตริย์ทั้งหลาย เราจะได้เป็นองค์อมรินทราธิราชก็หามิได้ เราจะได้เป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากก็หามิได้ เราได้ประพฤติสุจจิตกรรมไว้ จึงได้สุขสมบัติเห็นปานดังนี้

ในลำดับนั้นกษัตริย์ทั้งหลายเมื่อจะทูลถามพระโพธิสัตว์จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า

กมฺเมน เกน สุกเตน ปราเชตฺวา วิโรจติ
เอเต อเมฺห ยถา สุริโย ตมํ นาเสติ รํสิยา

ความว่า ข้าแต่พระองค์ทรงเดชานุภาพอันรุ่งเรือง ทำข้าพระบาททั้งหลายให้ปราชัย ดังพระอาทิตย์อันอุทัยขึ้นมาบรรเทาเสียซึ่งมืดให้อันตรธานด้วยรัศมี พระองค์ทรงรุ่งเรืองกว่าข้าพระบาททั้งหลาย เพราะพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างไร ขอพระองค์ได้ทรงโปรดให้ข้าพระบาททั้งหลายทราบ สิ้นความสงสัยในกาลบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า

เมื่อพระโพธิสัตว์ จะประกาศบุรพกุศลที่พระองค์ได้บำเพ็ญในกาลก่อนให้กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้นฟัง จึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรขัตติยราชทั้งหลาย สิริราชสมบัติเห็นปานดังนี้ เราได้ด้วยกุศลอันใดที่เราได้กระทำไว้ ท่านทั้งหลายจงฟังบุรพกุศลอันนั้น คือ ในกาลก่อนเรามิได้กระทำเวรทั้ง ๕ อันใดอันหนึ่งเลย แลกล่าววาจาที่ควรเคารพ คือ มิได้กล่าวคำมุสาวาท แลมิได้กล่าวคำอันทำจิตผู้ฟังให้กำเริบ แลมิได้ประกอบด้วยความริษยา เราจึงได้สิริราชสมบัติเห็นปานดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์จะประทานโอวาทแก่กษัตริย์ทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสพระคาถาว่า

โสตฺถิโลโก ปรโลโก ชยํ ปตฺเถนฺติ สาธโว
ชีวิตํ จชหนฺโตปิ สุทฺธวาจํ น จเชยฺย
ปาณฆาฏํ ปรวิตฺติ น กโรนฺติ น คณฺหนฺติ
ปรทารํ มุสาวาทํ สุราปานํ จ วชฺเชยฺย

ความว่า ดูกรขัตติยราชทั้งหลายผู้เป็นสัปบุรุษ บุคคลผู้ปรารถนาความเจริญในโลกนี้ และปรารถนาชัยมงคลในโลกเบื้องหน้าแล้ว ถึงจะต้องเสียชีวิตก็ไม่พึงละวาจาที่ดีงาม และไม่ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต และไม่คิดลอบลักสิ่งของอันเป็นที่รักของผู้อื่น อนึ่งพึงละเว้นการเสพอสัทธรรมในภรรยาของผู้อื่น และเว้นการกล่าววาจามุสาวาท และเว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ดูกรมหาราชทั้งหลาย เมื่อบุคคลผู้ใดอาจประพฤติได้ดังนี้บุคคลผู้นั้นจะปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สำเร็จดังความปรารถนา อีกประการหนึ่ง ธรรมดากษัตริย์ต้องพิจารณาใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงกระทำซึ่งกิจการทั้งปวง การที่พิจารณาเสียก่อนแล้ว จึงกระทำนั้นเป็นกิจการของกษัตริย์ตั้งอยู่ในราชธรรมอิสริยยศและกิตติคุณของกษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในราชธรรมนั้น ย่อมแผ่ไพศาลไปในทิศานุทิศ เพราะฉะนั้นกษัตริย์ทุก ๆ พระองค์จงทรงรักษาราชอาณาจักรของตน ๆ โดยทศพิธราชธรรมอุตสำห์บำเพ็ญทานการกุศล พึงรับรื้อขนกัลยาณธรรมอันดีงาม ห้ามอย่าให้จิตของตนตกไปในอำนาจของความตระหนี่รีบขนรีบทำการบุญการกุศลอันจะเป็นประโยชน์แก่ตนในภพเบื้องหน้า

กษัตริย์ทั้งหลายได้สดับธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์ ก็มีหฤทัยโสมนัสปรีดา จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า พระองค์พระราชทานโอวาทคำสอนอันใด ข้าพระองค์ทั้งหลายจักขอประพฤติตามโอวาทอันนั้นทุกประการ พระองค์เป็นศาสดาจารย์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย เหมือนดังสั่งสอนให้ถึงสุคติสวรรค์

เมื่อพระมหาสัตว์ทรงประทานโอวาทแก่กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้กษัตริย์ทั้งหลายมีพระเจ้าสิงหลเป็นประธาน ให้เสด็จนิวัตตนาการกลับยังพระนครของตน ๆ พร้อมด้วยหมู่พหลพลนิกาย

ขัตติยราชทั้งหลายก็มีพระหฤทัยโสมนัส เมื่อจะสรรเสริญชมพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า

สผลํ โน มนุสฺสตฺตํ สผลํ โนปิ ชีวิตํ
ธมฺมเตเชน สมฺปนฺโน ตาทิสา สุภวามฺหเส

ความว่า ความเป็นมนุษย์ของเราทั้งหลาย เป็นของประกอบไปด้วยผลประโยชน์ แม้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเราทั้งหลายเล่า ก็เป็นสิ่งที่ประกอบไปด้วยผลประโยชน์เหมือนกันพระเจ้าสุวรรณกุมารบรมกษัตริย์นั้น พระองค์ทรงสมบูรณ์ไปด้วยเดชแห่งธรรม ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงมีความงาม ความเจริญเช่นดังพระองค์นั้น กษัตริย์ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ดังนี้แล้ว ต่างก็พาพวกพหลพลนิกรกลับยังพระนครของตน ๆ

ฝ่ายพระโพธิสัตว์สุวรรณกุมารนั้น ก็ทรงดำรงราชสมบัติโดยปราศจากราชอาญาและเครื่องสรรพศัสตราวุธ และให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ และที่ท่ามกลางพระนคร ๑ แทบประตูพระราชนิเวศน์ ๑ รวม ๖ แห่งดังนี้ แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์สำหรับโรงทานวันละ ๖ แสน ทุก ๆ วัน พระองค์ทรงบำเพ็ญทานนั้นเป็นนิจกาล ตราบเท่าสิ้นพระชนมายุสังขาร ก็เสด็จขึ้นไปอุบัติในเทวโลกกับด้วยบริวารทั้งหลายเป็นอันมาก

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระผู้มีพระภาคบรมศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนามาแสดงดังนี้แล้ว จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุภิกษุณีหรืออุบาสกอุบาสิกาก็ดี เมื่อปรารถนาความชนะในที่ทั้งปวง และปรารถนาความสุขที่ตนได้แล้วมิให้เสื่อมหาย จงละเสียซึ่งปัญจพิธเวรทั้ง ๕ ประการ และห้ามความริษยาอย่าให้มีในสันดานของตน นรชนจำพวกใด ประพฤติตามคำสั่งสอนอันเป็นบรมพุทโธวาท นรชนพวกนั้นก็จะได้รับความชนะและความสุขกายสุขจิต สมดังมโนรถความปรารถนาทุกประการ ประดุจดังพระสุวรรณกุมารโพธิสัตว์นั้น มีพระพุทธฎีกาดังนี้แล้ว จึงตรัสเทศนาพระอริยสัจทั้ง ๕ ครั้นจบพระอริยสัจจเทศนาลง ภิกษุทั้งหลายก็ได้ดำรงในผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

ลำดับนั้น องค์พระทศพลจึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าสิงหลมหาราชนั้นกลับชาติมาคือ พระสาริบุตรพุทธสาวกในกาลนี้ พระราชมารดาของสุวรรณกุมารในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระสิริมหามายาพุทธมารดาในกาลนี้ พระเจ้าภัตตราชผู้เป็นพระราชบิดาในกาลนั้นกลับชาติมาคือ พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชพุทธบิดาในกาลนี้ สมเด็จท้าวโกสีย์สักกเทวราชในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พระอนุรุทผู้ได้ทิพจักษุญาณในกาลนี้ ฝ่ายสุวรรณกุมารในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ ตถาคตผู้เป็นศาสดาอันได้ตรัสรู้ ณ ควงไม้มหาโพธิพฤกษเจดีย์ แล้วและตรัสเทศนาพระธรรมจักร ให้สัตว์พุทธเวไนยได้สำเร็จมรรคาผลตามพุทธประเพณี ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดก ดังตถาคตแสดงมาแล้วดังนี้

จบสุวรรณกุมารชาดก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ