- คำนำ
- ภาค ๑
- บท ๑ รสหวานของความไม่พยาบาท
- บท ๒ ดูตัวเจ้าสาว
- บท ๓ วิวาห์การ
- บท ๔ ชีพอย่างชมจันทร์
- บท ๕ สองสามสุข
- บท ๖ แม่ปรุงเปนมารดา
- บท ๗ ความไม่พยาบาทเริ่มต้น
- บท ๘ พระกับมาร
- บท ๙ เมฆสว่างของชีพ
- บท ๑๐ ความทุกข์ของสาวพรหมจารี
- บท ๑๑ เมฆมืดของชีพ
- บท ๑๒ ตุ๊กกะตาฅอหัก
- บท ๑๓ นิราศบ้าน
- บท ๑๔ ภรรยา “ป่วย”-- สามีป่วย
- บท ๑๕ ข่าวลามก
- บท ๑๖ ข้าพเจ้าเจอภรรยา
- ภาค ๒
- หมายเหตุ การแต่งเรื่องนี้
หมายเหตุ การแต่งเรื่องนี้
เดิมข้าพเจ้าตั้งใจว่า จะเขียนหมายเหตุให้น้อยบรรทัดที่สุด แต่เกิดเหตุแลเรื่องมากขึ้นในเวลาที่เขียน เปนข้ออันน่าฟัง จึงต้องจำใจเขียนหมายเหตุให้ยาวไปหน่อย, แลขออภัยที่จะต้องออกนามบุคคลบางท่าน ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าเปนพิเศษด้วยเถิด นึกว่ากล่าวฟังความกันเล่นเพื่อสนุก กับทั้งขอกรุณาให้ท่านทั้งหลายคิดว่าหมายเหตุนี้ เขียนขึ้นโดยผู้แต่งเข้าใจว่า “ความจริงย่อมสนุกกว่าข้อความที่ประดิษฐ์แต่งขึ้น” ดีกว่าที่จะคิดไปทางอื่น.
เรื่อง “ความไม่พยาบาท” นี้เริ่มเขียนแต่เที่ยงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม จบวันที่ ๔ สิงหาคม ทั้งหมายเหตุด้วย. รวมเปนเวลาเขียน ๒๒ วัน เขียนทั้งกลางวันกลางคืนตามแต่จะมีโอกาศว่าง แก่ข้าพเจ้าผู้มีงานอื่น, รวมเปนเรื่องราว ๗๓๐ น่าพิมพ์ เฉลี่ยเขียนได้วันละ ๓๓ น่าเศษ, เฉลี่ยเขียนได้ ๕ น่าต่อชั่งโมง การเขียนทั้งสิ้นจึงรวมเปน ๑๔๖ ชั่วโมง เฉลี่ยเวลาที่ทำการเขียนเปนวันละหกชั่วโมงครึ่งทุกวัน.
ที่ทำการวันละ ๖ ชั่วโมงครึ่งนี้ไม่นับการหยุดพัก ไม่นับเวลาว่างมือชั่วแต่เหลาดินสอ หรือพักถอนหายใจ เวลาซึ่งชงักเขียนไม่นับเข้าด้วยเลย ถ้าขืนนับจะต้องกินเวลาเฉลี่ย ๑๒.นาทีต่อน่ากระดาดไป จึงไม่นับ.
เหตุบังเกิดที่จะให้แต่งเรื่องนี้ เริ่มแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม เช้าวันนั้นคนของเจ้าของโรงพิมพ์ให้มาตามตัวข้าพเจ้า ๆ รับคำ แล้วได้ไปที่แห่งหนึ่งก่อนแล้วไปอิกแห่งหนึ่ง แล้วจึงมาโรงพิมพ์นี้.
ดังข้าพเจ้าเล่าให้สหายบางคนฟังว่า—เจ้าของโรงพิมพ์พูดว่า “แต่งเรื่องความไม่พยาบาทถี่” ข้าพเจ้าว่า “หึ” แล้วท่านจึงมอบกระดาดร่างแลดินสอดำมาให้ข้าพเจ้าทันที ทั้งเรื่อง “ความพยาบาท” ของแม่วันด้วย ข้าพเจ้าก็รับกลับมาทันที.
นี่เปนคำเล่าย่อ ๆ แลหากเล่าพิศดารก็ไม่ยาวกว่านี้ไปกี่มากน้อย.
ออกจากโรงพิมพ์ต้องไปสู่ที่ทำงานในน่าที่ เปนเวลาสาย ทำให้หิวเข้านัก รีบจัดงานในน่าที่แล้วรีบกลับบ้าน.
ในระหว่างออกจากโรงพิมพ์ไปสู่ที่ทำงาน แลระหว่างออกจากที่ทำงานมาบ้านนั้น ข้าพเจ้ารำพึงมาตามทางว่า ถ้าจะแต่งเรื่องความไม่พยาบาท. เราจะเอาหลักจากไหน หรือจะตัดตอนจากเรื่องไหนดี เจ้าของโรงพิมพ์กำชับว่าอย่าให้เปนเรื่องฝรั่ง จะเปนไทยเปนแขกได้ทั้งสิ้น.
เมื่อข้าพเจ้ามาถึงบ้าน ข้าพเจ้ารับประทานเช้าทันที พอกินอิ่มก็ถึงเวลาเที่ยง ข้าพเจ้าจึงเริ่มลงมือเขียนเรื่องความไม่พยาบาททันที ครั้นค่ำลงในวันนั้นเองรีบเอาต้นฉบับไปส่งยังโรงพิมพ์ เปนต้นฉบับกว่า ๒๕ น่าพิมพ์ แลสั่งให้เขาลงมือเรียงพิมพ์ในทันใด
ข้าพเจ้าเขียนทุกวันนำเอาต้นฉบับไปส่งนายโรงพิมพ์แทบทุกวัน ได้รับเกียรติยศที่นายโรงพิมพ์เชื่อแน่ว่าจะสนุกดี ยอมให้เริ่มการเรียงพิมพ์ตีพิมพ์ไล่หลังมา กว่าผู้แต่งจะแต่งเรื่องเสร็จ ผู้พิมพ์ก็พิมพ์ได้หลายยก.
ท่านจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้ามีเวลาคิดชั่วแต่เวลาเดินทางในระหว่างแดดร้อนแลระหว่างหิว แลคิดเพิ่มเติมในระหว่างกินอาหารได้ตลอดเรื่อง จึงกล้าลงมือเขียนเมื่อรับประทานอาหารแล้วซึ่งเปนเวลาเที่ยงแล้ว พอแต่งได้กว่า ๒๕ น่าพิมพ์ข้าพเจ้าจึงนำต้นฉบับมาให้นายโรงพิมพ์เพื่อจะเอาใจท่านว่าเรื่องนี้ได้เริ่มแล้ว วันต้นนับว่าได้ทำการเต็ม ๕ ชั่งโมง ก็เห็นได้ว่าข้าพเจ้าไม่มีเวลาคิดอ่านในระหว่างกลางวัน นอกจากคิดเมื่อเขียน ค่ำแล้วจึงนำต้นฉบับส่ง.
ธุระมากเขียนได้ราววันละ ๒๐ น่าพิมพ์เศษ แต่เมื่อวันที่เขียน บท ๘ แลบทใกล้เคียงนั้นเขียนได้ ๔๐ น่ากว่า ๆ จึงนึกว่ามากอยู่แล้ว แต่วันที่ ๒๖ ซึ่งเปนวันพระกลางเดือน ๘ เปนวันกลางของโฮลิเดเข้าพรรษา ข้าพเจ้าเขียนได้ บท ๑๔, ๑๕, ๑๖, แลครึ่งบท ๑๗ รวม ๖๓ น่าร่าง ซึ่งพิมพ์ได้มากกว่า ๒๓ น่า เขียนได้มากนี้เพราะช่างปลอดงานดีแท้.
ที่ ๓๐ กรกฎาคมนั้นฝนตกใหญ่ยิ่งเขียนได้มากที่สุด
เขียนแต่บทที่ ๒๑ (หย่อนสองน่า) ๒๒, ๒๓, ๒๔, แลกว่า ๆ ครึ่งของบท ๒๕ รวมได้ ๘๐ น่าร่างเศษ ซึ่งพิมพ์ได้กว่า ๘๐ น่า วันนี้เปนวันเขียนได้มากที่สุด เขียนแต่เช้าถึงเพนจึงกินเข้าเช้า ไปงานกลับมาเขียนต่อ หยุดพัก แล้วเขียนแต่ตวันเย็นรอน ๆ ถึง ๕ ทุ่ม (ใช้แสงตวันก่อนแล้วใช้แสงไฟ) แล้วจึงกินเข้า “เวลาเย็น.” แล้วไปฟังมโหรี แล้วมาเขียนต่อไปถึง ๘ ทุ่ม ในหมายเหตุที่โน๊ตไว้กล่าวว่า “เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ใช่แต่ต้องการกำลังใจ (ถามะ) อย่างเดียว แต่ต้องการกำลังกาย (พละ) ให้มากด้วย” ซึ่งหมายความว่าต้องคิดอ่านตรึกตรองแลเพียรพยายาม แลซ้ำต้องออกแรงแขงขันนั่งอดทน เขียนอดทน ไม่กลัวเมื่อยกลัวเหนื่อยด้วย. เพราะเขียน ๘๐ น่าร่างกินเวลารวมตามรายเฉลี่ยเห็นว่าต้องทำการ ๑๖ ชั่วโมง ! แต่คงเขียนไปรวดเร็วกว่าเฉลี่ย จึงเชื่อแน่ว่าเวลาน้อยกว่านั้น.
ที่ ๓๑ กรกฎาคม ตื่นแต่เช้าเขียนไปไม่หยุดหย่อนได้ยินเสียงปืนเที่ยงในระหว่างหยุดกินเข้า ปลาดใจว่าทำแต่เช้าจนเที่ยงทำไมได้เพียง ๒๒ น่าร่าง ทำไมไม่ได้หลาย ๆ โหลน่ากระดาด ต่อนั้นมาจึงลองตั้งเวลาในขณะเขียนก็ได้เฉลี่ยน่าละ ๑๐ นาทีบ้าง ๑๒ นาทีบ้าง ๑๔ นาทีบ้าง จึงถือเอาเฉลี่ยน่าจะ ๑๒ นาทีเปนเกณฑ์ จึงได้รายงานดังข้างต้นถูก พึ่งทราบว่าวันนี้ที่เขียน ๒๒ น่าร่างนั้นได้นั่งเขียนไม่หยุดหย่อนมาสี่ชั่วโมงครึ่ง !
วันนี้พอกระดาดร่างหมดมือพอดีกับเวลาที่เจตนาวางมือเขียน (เหลือบรรทัดเดียว) บ่ายปวดหัว, ค่ำไปประชุมมโหรีแลไม่หายปวดหัว.
ที่ ๑ สิงหาคม เปนวันที่จด ๆ จ้อง ๆ ลูบ ๆ คลำ ๆ โดยสังหรณ์จิตคิดเปนห่วงมาแต่เดิมแล้วว่า “ถ้าพ้นเรื่องราวที่นายเจียรได้กับแม่ประไพแล้ว เราเปนสิ้นห่วง” ครั้นมาถึงตรงนี้ก็สมที่กลัว ได้แต่ลูบ ๆ คลำ ๆ เดี๋ยวนั่งเดี๋ยวลุกตลอดวันตลอดคืน ถึงกระนั้นเขียน บท ๒๗ กับบทใกล้เคียงรวมได้ ๓๘ น่าร่าง ซึ่งพิมพ์ได้เกินจำนวนนี้ รวมเวลาทำการ ๘ ชั่วโมง ! ที่พักไม่คิดเลย.
เวลาวันสุดท้ายได้นอนฝันเมื่อจะตื่นสามคราว ฝันถึงการท่องสำนวนแลเขียนไปพลาง เปนการทำให้เหน็ดเหนื่อยกายแลใจยิ่งนัก ลุกตื่นขึ้นเสียได้ค่อยสบายใจหายเหนื่อยจาก “ทำงานในฝัน” เปนเหตุทั้งนี้ก็สมกับคำที่ข้าพเจ้าทำนายไว้ โดยว่าแก่เจ้าของโรงพิมพ์แต่ต้นมือว่า จะต้องทำให้แล้วเร็วที่สุดตามแต่จะได้ หาไม่ข้าพเจ้าจะกลายเปน························
แท้จริงเขียนพรวด ๆ ไปอย่างงี้มันก็เหมือนเขียนอย่างเปนบ้า.
วันจวนเขียนจบมีเหตุรานร้าวเกี่ยวแก่การจะทำให้ระเหระหน แลวันเขียนจบ (ที่ ๔ สิงหาคม) เปนวันที่ถูกขอให้งดงานในน่าที่ “ลูกจ้าง” ซึ่งเคยทำมาหลายเดือนซึ่งหมายเหตุนี้ไว้ก็เพื่อแสดงว่าเขียนเรื่องใหญ่เรื่องใด (ซึ่งหมายเหตุไว้เลอียดกว่านี้) ย่อมมีเหตุร้าย นี่เปนเรื่องใหญ่ซึ่งมีเหตุประจำเรื่อง—เปนครั้งที่สี่ ! แลหมายเหตุไม่นำความรู้สึกอันดีมาให้ทุก เรื่อง ๆ ย่อมได้ผ่านเหตุร้ายมา แลเคยถูกการมโหรีในระหว่างเขียนเรื่องใหญ่มาหลายเรื่องแล้วด้วย.
หมายเหตุการสนทนา.
ในวันที่สองของการเขียนเรื่อง ข้าพเจ้าไปเยี่ยมผู้หนึ่งในเวลาเช้าถูกถามว่า “เมื่อวานนี้เริ่มเขียนเรื่อง ได้ยินว่าน้ำตาออกเปนสามสี่หนนั้น เรื่องราวมันเปนอย่างไร ฉันร้อนใจอยากฟัง.”
ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนท่านหญิงแลป่วยอยู่จึงเล่าเรื่องให้ฟังตลอด แลเวลาค่ำบอกแก่เจ้าของโรงพิมพ์ว่าเรื่องนั้นมีอยู่ตลอดเรื่องแล้ว จนได้เล่าให้เลดีผู้ป่วยฟังตลอดเรื่อง. นี่เปนวันที่สอง! ข้าพเจ้ารู้เรื่องเลอียดในราตรีวันที่หนึ่ง !
เขียนได้ ๓ วันข้าพเจ้าพบ “แม่วัน” ผู้เรียบเรียง “ความพยาบาท” ข้าพเจ้าบอกปฏิบัติเหตุ แลกล่าวว่า “บอกโดยเคารพ.” แม่วันถามว่า “ฝรั่งเขียนเรื่องโน็เวิ่ลกันได้ปีละเรื่อง แต่เธอนี้เขียนเรื่อง “ความไม่พยาบาท” เดือนหนึ่งจบไหม?”
ข้าพเจ้าตอบว่า คุณก็ทราบแล้วว่าเรื่อง “เจ้าหญิงสวรรยานารีแห่งกรุงศุโขทัยธานี” ซึ่งคุณได้อ่านต้นฉบับแล้วนั้น ในหมายเหตุผมกล่าวว่าเขียน ๒๓ วัน (๖๐๐ น่าร่างกว่า) ผมยังบ่นว่างอมแงมเต็มที.”
เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะเขียนถึง ๒๓ วันจบ ข้าพเจ้าชะนะวันเดียว ! แลบอก “แม่วัน” ว่าจุราว ๕๐๐ น่าพิมพ์. ซึ่งข้าพเจ้าคะเณผิดก็เพราะไม่คำณวนความอิกสองสามกระทงเข้าด้วย.
ต่อมาได้พบ “จิงโจ้” ข้าพเจ้าบอกความ ท่านไม่ซักไซ้ เปนแต่ถาม คำถามซึ่งข้าพเจ้าตอบว่า “เรื่องนี้แต่งแท้, ไม่แปล, ไม่ยืมตัดตอนมาจากอื่น. แลหมู่นี้ผู้แต่งมีธุระอื่น ๆ มากจริง ๆ”
พิเศษแลสามัญ
ความเร็วของข้าพเจ้าไม่เปนพิเศษ เปนสามัญเสมอ ข้าพเจ้าเคยเขียนเร็ว ๆ เช่นเรื่องหนึ่งซึ่งพิมพ์แล้ว (๔๐๐ น่าพิมพ์ ถ้าใส่หมายเหตุ) ได้เรียบเรียบไปโดยเร็วกว่านี้หลายเท่า แต่ผู้พิมพ์ไม่ใส่หมายเหตุแลไม่ใส่นามผู้เรียบเรียงด้วย.
เมื่อปราโมทัยเกิดได้บรรจบปีหนึ่ง “กุมารใหม่” ถามว่าไม่แต่งบทลครบ้างหรือ ข้าพเจ้าว่าจะลองแต่งเล่น วันเดียวเห็นจะเสร็จ ผิดนักก็สองวัน. ครั้นต่อมาอิกสองวัน ข้าพเจ้าเอาต้นฉบับเขียนตัวงามไปส่ง “กุมารใหม่” ให้อ่านดูเล่น ข้าพเจ้า “เสียใจ, วันหนึ่งไม่เสร็จ, ต้องสองวัน” ซึ่งแปลความว่า—กว่าหนึ่งวัน. แลข้าพเจ้าก็ย่อมรู้ว่า “กุมารใหม่” แต่งเรื่องบทลครกินเวลาหนึ่งเดือนหรือกว่าก็มี ต่อมาข้าพเจ้าเอาเรื่องบทลครร้องชื่อ “สาวแว่นฟ้า” ไปให้ “กุมารใหม่” อ่านเล่นอิก บอกว่า—นี่ต้องเขียนสามวัน เพราะเปนตำนานแลเปนเรื่องลาว เขียนยาก บางเวลาไปแอบเขียนที่หลังพระประธานในวิหาร.
การคิดได้โดยเร็วก็เปนสิ่งสามัญของข้าพเจ้า เช่นปีก่อนนี้ ปลายปีกับต้นปีต่อกัน ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องละหลายร้อยน่าร่าง เปนเรื่องโบราณก็มี เรื่องสมัยใหม่ก็มี ต่อเนื่องติด ๆ ไปโดยเขียนจบเรื่องนั้นขึ้นเรื่องนี้ ไม่ต้องมีเวลาพักคิด เขียนไปโดยเร็วที่สุด มีหมายเหตุทุกข์เรื่องอันแสดงว่าเขียนเสร็จเร็วๆ กว่านี้มาก ๆ รวมต้นฉบับเขียนเรื่อยไปราวสองสามพันน่ากระดาด กวาดให้ “กุมารใหม่” อ่านเล่นทีละเรื่อง.
แต่มีเรื่องหนึ่งข้าพเจ้าอยากเล่าให้ฟังเกี่ยวด้วยการคิดเรื่อง คือเรื่อง “ใกล้เกลือกินด่าง” นั้น กุมารใหม่บอกให้เลา ๆ เกี่ยวด้วยหญิงรุ่นต้องอยู่ในชีพอันปลอมเปนชาย ข้าพเจ้าเห็นเปนเรื่องขวางต่อความจริงมากก็ไม่หยิบฉวย แต่คงรำพึงอยู่เสมอ จนวันหนึ่งมาวางท่าทางแลระเบียบเรื่องกับกุมารใหม่ก็ไม่ได้ผลอะไร ข้าพเจ้าคงรำพึงอยู่เสมอไปว่า “ไม่ได้, มันเปนไปไม่ได้, ถ้าเช่นนั้นเปนไปไม่ได้.” รำพึงไป ก็เขียนเรื่องใหญ่ ๆ อื่น ๆ ไป จนล่วงจากเวลาที่วางระเบียบเรื่องสาวปลอมกับด้วยกุมารใหม่นั้นมาได้เดือนหนึ่ง เวลาเย็นตวันรอน ๆ วันหนึ่งข้าพเจ้าหย่อนก้นลงนั่งบนคั่นบันไดก็พอจิตกระหวัดถึงเรื่อง “ใกล้เกลือกินด่าง” ก็พอเฉลียวใจได้ทันทีว่า เราต้องมีพี่ชาย !
ก็ได้ผลสำเร็จว่าเรื่องนั้นอาจเปนเรื่องได้! ข้าพเจ้าก็แต่งเรื่องใหญ่นี้ทันที บัดนี้เรื่องนั้นเปนชิ้นอยู่ในลิ้นชักข้าพเจ้าเหมือนเรื่องอื่น.
เหตุที่กล่าวมาแล้วแสดงว่าเขียนเร็วคิดเร็วแลความอดทนเปนสามัญ แต่ข้อพิเศษในเรื่อง “ความไม่พยาบาท” นี้ มีอยู่บางข้อ คือท่านทั้งหลายจะไม่มักเห็นข้าพเจ้าแต่งเรื่องการมีชู้เสียเลย หากท่านทั้งหลายจะพบปะเรื่องของข้าพเจ้าอิกก็เห็นจะไม่พบเรื่องที่เกี่ยวด้วยการมีชู้เลย มีสหายนักแต่งสมัยใหม่ของข้าพเจ้าคณะหนึ่งมาวานให้ข้าพเจ้าแต่งเรื่องการมีชู้ ซึ่งเปนเรื่องจับอกจับใจ เปนชนิดเรื่องแทรจิดี้ให้แต่งเปนสำเนาดราม่า ข้าพเจ้าบ่นว่า ข้าพเจ้าไม่แต่งแลไม่เคยแต่งเรื่องการมีชู้เลยแต่จะดำริห์ดูก่อน.
สหายเตือนข้าพเจ้าจะเอาเรื่องนั้น เตือนปีหนึ่งก็แล้ว สองปีก็แล้ว ครั้นบรรลุปีที่สามเขาเตือนเอาอิก แลข้าพเจ้าเห็นเปนผลแก่เขามาก ข้าพเจ้าจึงรับรองให้เปนมั่นเหมาะในสองสามวันจะให้ได้เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าหวัดส่งให้เขาแล้ว ยิ่งรู้สึกว่าเรื่องนั้น “บริบูรณ์ดี” นี่กระไร.
เพราะฉนั้นเรื่อง “ความไม่พยาบาท” นี้จึงเปนเรื่องพิเศษของข้าพเจ้าที่ท่านจะได้พบเห็น เพราะข้าพเจ้าย่อมไม่อยากแต่งเรื่องลามกเช่นการมีชู้ แลถ้าแต่งสักเรื่องละก็เรื่องมันก็ไปอย่างยังงี้—!—!!—!!!
อนึ่งมันเปนพิเศษนะ—เรื่องความไม่พยาบาทนี้—เพราะเปนเรื่องแต่งมาโดยแท้จริง เปนเรื่องไทยแลของไทยแลไทยเขียนไทยแต่งไทยคิด—ของผู้แต่งเอง ไม่ใช่ว่าไปแปลหรือไปจำความฝรั่งมา จนแม้สักส่วนนิดเดียวเท่าปลายก้อย.
มันเปนพิเศษนะ เรื่องอ่านเล่นของไทยมีแต่แปลหรือเปนเรื่องแปลงนามจากฝรั่งทั้งสิ้น เรื่องความไม่พยาบาทนี้เปนที่หนึ่งเรื่องแรกที่สุดของเรื่องประโลมโลกยร้อยแก้วที่ไทยแต่งแท้จริง เปนโน็เวิ่ลของไทยแต่งแท้ ๆ.
มันเปนพิเศษนะ เพราะผู้แต่งเองก็กลั้นน้ำตาไม่ได้ในระหว่างเขียนหลายแห่งหลายหน.
ผู้แต่งถึงจะเหนื่อยยากอย่างไรก็ดี แต่ก็ได้ตอบแทนแล้วในความรู้สึกว่า ท่านผู้อ่านจะได้รับความสนุกสำราญเพลิดเพลินที่สุด ในการที่ได้อ่านเรืองซึ่งข้าพเจ้าอาสาจดมาให้ท่านอย่างไพเราะแลเร็วอย่างที่สุดที่แล้ว.
ขอกล่าวว่าข้าพเจ้าได้ให้หนังสือเรื่องนี้เปนกำนันแก่ “แม่วัน” ชุดหนึ่ง จารึกด้วยลายมือผู้แต่งว่า “ขอให้ “แม่วัน” ไว้เปนที่ระลึก เพื่อให้สำนึกว่าถ้าไม่มีเรื่อง “ความพยาบาท” ของ “แม่วัน” ปรากฎขึ้นก่อน เรื่อง “ความไม่พยาบาท” นี้ก็คงไม่มีโอกาศมาเปนสมบัติของการอ่านเลย”
ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอขอบใจเจ้าของโรงพิมพ์นี้ว่าได้ช่วยตรวจบรู๊ฟของพิมพ์เบาแรงข้าพเจ้ามากที่สุด. นิไสยของข้าพเจ้านั้นเมื่อเขียนแล้ว ก็ไม่มักตรวจทานต้นฉบับเสียเลยทีเดียวแม้สักครึ่งน่ากระดาด เมื่อข้าพเจ้ามีแต่ตรวจในปรู๊ฟของพิมพ์เพียงครั้งเดียว ๆ เท่านั้นฉนี้ จะไม่นับว่าได้รับความช่วยตรวจโดยอย่างเบาแรงมากอย่างไร. ในที่นี้ใช้สกดตัวตามนิยมสมัยใหม่.
แลข้าพเจ้าคิดเห็นว่าถ้าเจ้าของโรงพิมพ์ไม่ได้กล่าวประโยคว่า “แต่งเรื่องความไม่พยาบาทถี่” แก่ข้าพเจ้าแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่มีกำเนิดเลย จึงเปนความชอบของผู้เริ่มดำริห์เปนอันมาก.
อิกประการหนึ่งคงมีประโยคประธานผิดพลั้งบ้างในเรื่องนี้ ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอกรุณาอภัยจากผู้อ่านอันจะเห็นว่าผิดพลั้งในที่แห่งใด ขอให้นึกเสียเหมือนอย่างข้าพเจ้าได้กล่าวแก่ผู้พิมพ์เรื่องพงษาวดารโรมันตอนแผ่นดิน “เรียนศรี” ซึ่งข้าพเจ้ามอบให้นั้น ข้าพเจ้ากล่าวว่า “ใบร่วงหล่นเล็กน้อยช่างมันเปนไร, ลำต้นแลสาขาพุ่มไม้งามดีแล้วก็แล้วกัน.”