- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
เสด็จโดยขะบวนพยุหยาตราน้อย พ.ศ. ๒๔๕๖
เนื่องจากการซ้อมรบของเสือป่า
เป็นการฝึกซ้อมเดิรทางไกล
(ลิลิตดั้น)
ศรีศรีสิทธิสมรรถ[๑] กระพุ่มหัตถ์ ณ เศียรเกล้า ทศนัขเข้าระเบียบราย[๒] หทัยหมายม่งไตรรัตน์ และชนกกษัตริย์เสือป่า[๓] อ่าองค์กวีศรีคเณศ[๔] นบมเหศรมนูสาร[๕] เอกอาจารย์จอมปราชญ์ อภิวาททวยเทพทั่ว เผชิญมั่วสมารักษ์[๖] เอกอัครมหาบุรุษ พระมงกุฎเกล้าเจ้าไทย ปัจจุบันสมัยเสือป่า อ่ากวีภูรี[๗]เลิศ ประเสริฐอาจารยคุณ อดุล[๘]จอมนัจ[๙] วิสัยใด ธ มีพระราชประสงค์ ขอจงประสิทธิโสตถิ[๑๐]ผล อวยพระชนม์ยืนนาน ขานพระเกียรติเกริกไกร เกรียงเดชสมดั่งคำข้าได้ สดุดี
ศรีสิทธิฟ่องฟ้า | ฟูโพยม |
ชะรอยพระเสด็จมา | โปรดแล้ว |
เพ็ญศรีพระเพ็ญโสม | เพ็ญสวัสดิ์ |
เฉลิมพระเกียรติแกล้วแผ้ว | ผ่องไผท |
ยากได้ยอดขัตติยเพี้ยง | เพ็ญลักษณ์ |
เสือป่าอาจารย์ไกร- | เกริกถ้วน |
เธียร[๑๑]ศรีกวีศักดิ์ | นัจสูจน์[๑๒] |
ทศพิธธรรมท้าวล้วน | เปี่ยมครอง |
รัฐประศาสน์ออกตกแจ้ง | ประจักษ์เจน |
นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ผอง | เพียบรู้ |
พระองค์ดุจธรรมเป็น | เครื่องเหนี่ยว |
นำชาติยาตรเยื้องกู้ | เกียรติไทย |
อนใดกอบเกี่ยวด้วย | โบราณ คดี |
พระแนะพระนำใน | สิ่งนั้น |
เพื่อประโยชน์พงศาวดาร | แห่งชาติ |
เมืองพระร่วงได้[๑๓]ได้ดั้น | เสด็จถึง |
โดยทางสังฆราชเต้า | ประเวศตาม[๑๔] |
ดุจอดีตสำนึง[๑๕] | ก่อนโน้น |
ค้นคว้าคร่าห์คลองความ | รู้เก่า |
เผยแผ่พิทยเพี้ยงโพ้น | ผุดแถลง |
“เที่ยวเมืองพระร่วง”เจ้า | ประจักษ์นาม |
คือพระราชนิพนธ์แจง | แจกไว้ |
บวกสมบัติหนังสือสยาม | สยายเพื่อ วิชา |
ยังอื่นอีกไท้ได้ | นิพนธ์ |
จวบแปรราชสำนักเมื้อ | สนามจันทร์ |
ณ พระปฐมจน | ยาตรเต้า |
ในระหว่างคิมหขัณฑ์ | ฤตุ[๑๖] |
พระเสด็จด้นดั้นเข้า | วนาลัย |
กรีฑาพลพยู่ห์ด้วย | ขะบวนเสือ- ป่านอ |
เป็นพยุหยาตรา | อย่างน้อย |
ตรวจค้นค่ายคูเหลือ | แต่เศิก เตลงแล |
ม่งประโยชน์ค้อยค้อย | เสาะสรร |
ลุเด่อนเกริ่นเกริกอ้าง | เจดีย์[๑๗] |
เชิงชัฏ[๑๘]ซ่อนสถูปขวัญ | มั่นไว้ |
ใช่อื่นอนุสาวรีย์ | พระนเรศวร์ เทียวแล |
สามรอบร้อยเร้นได้ | ดั่งฤๅ |
เสือป่าอาเพดแล้ว[๑๙] | รกชัฏ |
ซ่อนสถูปเสือป่าคือ | ซ่อนไท้ |
ซ่อนผู้อื่นพอสมรรถ | มิดชิด |
เสือป่าซ่อนฉะนั้นได้ | บ่มี[๒๐] |
พระสถูปสถิตชี้ | แดนชัย |
มหายุทธหัตถี[๒๑] | ที่นั้น |
ฝังแน่น ณ ใจไทย | ถ้วนทั่ว |
ชวนฮึกเหิมให้หมั้น[๒๒] | ม่งชัย |
มอญม่าน[๒๓]มากมั่วแม้น | ปฐพี เพิกฤๅ |
สองราชเร่งทัพไทย | สกัดก้าว |
ทั้งทัพบ่ทันฝี | เท้าคช ท่านนอ[๒๔] |
ถั่น ถั่น ทั้งน้องท้าว | ถับถึง |
หัตถีทระหดเหี้ยม | กำแหง |
เหิมอาสน์สยามราชจึง | จู่ท้า |
ยุทธหัตถิดำแคง[๒๕] | ยศคู่ สยามเทอญ |
ชัยสิทธิ์ชัยคุ้งฟ้า | ฟ่องชัย |
มหาอุปราชเจ้า | จอมทัพ เตลงฤๅ |
ต้องพระแสงนเรศวร์ไกร | แกว่นแกล้ว |
ขาดแล่งแกว่งกายกับ | กัณฐ[๒๖]หัต- ถีเฮย |
ศูนย์ชีพเชิดให้แล้ว | ซึ่งชโย |
เอกาทศรถผู้ | อนุชา พระเอย |
ล้างชีพมางจาชโร | พี่เลี้ยง |
สิ้นเจ้าสุดแรงพลา- | กรระส่ำ- ระสายกัน |
เสียมทัพถับห้ำเพี้ยง | หั่นหมู |
ดังฤๅชัยสถูปล้ำ | เลอยศ สยามเทียว |
ชัฏช่างแหนไว้ดู | สิทธิ์ได้ |
ปกปิดคลุมมิดหมด | แมก[๒๗]ส่ง |
ชะรอยป่ารู้เลี้ยงให้ | แก่เรา |
พระองค์มงกุฎเกล้า | เจ้าไทย |
เทา[๒๘]ประเทศสู่เสา- | วภาพพื้น |
นบพระสถูปชัย | ไพจิตร |
อื้อข่าวเราล้วนตื้น | ปิติรมย์ |
หลับสนิท ธ สะกิดให้ | ตื่นเห็น |
มรดกเรานิยม | อยากได้[๒๙] |
ยิ่งทรัพย์ยิ่งชีพเป็น | ลาภเลิศ |
หากพระโปรดชี้ให้ | แก่เรา |
ข้าบาทบ่อาจน้อม | ดุษณี ภาพ[๓๐]นอ |
จึ่งเริ่มสดุดีเสา- | วพจน์นี้ |
นอบเกล้าฯ ณ ฝ่าธุลี | ละอองบาท |
ขอพระชนม์ร้อยชี้ | ช่องเจริญ |
มรรคาคลาคลาศนั้น | ยังไกล[๓๑] |
สักแต่จักดุ่มเดิร | ห่อนได้ |
ขาดมัคคุเทศก์[๓๒]ไฉน | จักลุ วิเศษเล่า |
มัคคุเทศก์สบแล้วไสร้ | จักสงวน |
๒๘ มีน. ๕๖
[๑] สมรรถ เป็นคำเสกขอให้มีสิริมงคล ความสำเร็จสมปราร์ถนา และความสามารถ
[๒] ......ราย สิบนิ้วประนม
[๓] เสือป่า คือ พระนเรศวรกับพระเอกาทศรถ ซึ่งยังมีดอนเจดีย์เป็นราชอนุสาวรีย์ อันพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบ
[๔] คเณศ โอรสพระอิศวรกับพระอุมา มีเศียรเป็นช้างงาเดียว สีกายแดง นุ่งห่มแดง ถือบาศและขอ มีหนูเป็นพาหนะ เป็นเจ้าแห่งความรอบรู้ (สิทธิ) จึงเรียกว่าสิทธิบดี บรรดาผู้จะเริ่มประพันธ์มักเริ่มด้วยมนต์ว่า “โอม นโม คเณศาย วิฆฺเนศฺวราย”
[๕] มนูสาร คือ พระมนสวายัมภู โอรสพระพรหม เป็นผู้แต่งตำรับมานวธรรมศาสตร์
[๖] สมารักษ์ รักษาสม่ำเสมอ รักษาอยู่เสมอ
[๗] ภูรี ปัญญา ความฉลาด
[๘] อดุล ชั่งไม่ได้ หาเปรียบยาก
[๙] นัจ การฟ้อนรำ
[๑๐] โสตถิ สวัสดี ความเจริญ
[๑๑] เธียร นักปราชญ์
[๑๒] นัจสูจน์ การชี้แจงทางวิชาละคร
[๑๓] เมืองพระร่วง กรุงสุโขทัยโบราณ บัดนี้เป็นเมืองร้าง
[๑๔] ......ตาม พระมงกุฎเกล้า เมื่อพระองค์ยังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชได้เสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน ได้เสด็จจากเมืองกำแพงเพ็ชรไปสุโขทัยเก่า ตามรอยถนนที่พระสังฆราชครั้งโน้นได้ไป (ดูพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง) ถนนนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังมีเหลืออยู่เป็นตอนๆ
[๑๕] สำนึง ออกจากสึง หรือ สิง แปลว่าอยู่
[๑๖] คิมหขัณฑ์ฤตุ เขตต์ร้อน หรือที่ใช้กันเลอะไปว่าคิมหันต์ ที่ถูกคือ คิมหะ (ร้อน) เหมันต์ (หนาว) วัสสาน (ฝน)
[๑๗] ......เจดีย์ ถึงตำบลที่เรียกกันว่า ดอนเจดีย์ ดอน โบราณเรียกเด่อน
[๑๘] เชิงชัฏ ซุ้มไม้รกในป่า
[๑๙] ......แล้ว ชัยชนะ และความแกล้วกล้าแห่งวีรบุรุษสมัยนั้น เสื่อมศูนย์แปรปรวนไปสิ้นแล้ว
[๒๐] ......มี ซ่อนคนอื่นก็พอซ่อนได้ แต่จะซ่อนเสือป่าซ่อนไม่ได้
[๒๑] ......หัตถี การชนช้างครั้งนั้นนับเป็นสำคัญที่สุดที่มีในตำนานของเรา
[๒๒] ......หมั้น จองความมีชัยไว้ ดุจหนุ่มสาวจองกันไว้ที่เรียกว่าหมั้น
[๒๓] ......ม่าน คนพวกหนึ่งอยู่ในประเทศพม่า
[๒๔] ......นอ ตำนานกล่าวไว้ว่า ช้างพระที่นั่งแห่งกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ซับมัน ออกวิ่งเตลิดไปทางกองทัพข้าศึก จนกองทัพหลวงล้าหลังตามเสด็จไม่ทันทั้งทัพ
[๒๕] ดำแคง เลื่องลือ ขึ้นชื่อ สนั่นหวั่นไหว
[๒๖] กัณฐ์ คอ
[๒๗] แมก กำบัง แอบแฝง ซ่อน
[๒๘] เทา เต้า เป็นคำโบราณ แปลว่า ไป เดิรทาง
[๒๙] ......ได้ ราชอนุสาวรีย์แห่งพระนเรศวร เป็นมรดกที่เรารักใคร่อยากได้
[๓๐] ......ดุษณีภาพ ความเป็นผู้นิ่งไว้ นิ่งอยู่
[๓๑] ......ไกล ทางที่ประเทศเราจะก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์ยิ่งนั้น ยังอีกไกลมาก
[๓๒] มัคคุเทศก์ ผู้นำทาง