- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ขุมทรัพย์ ๔
ขุมทรัพย์ที่ต้น
ลงทุนจัดการศึกษาสำหรับชาติ
การศึกษาแผนเก่ากับแผนใหม่
(โคลงสุภาพ)
ศึกษาแผนเก่านั้น | ใครสมัคร ก็เรียน |
คนหยิบมือเดียวจัก | รอบรู้ |
คนหมู่มากจึ่งมัก | งมโง่ |
แผนใหม่ให้เด็กผู้ | เกิดได้ศึกษา ทั่วแล |
ตามปัญญาฐานะทั้ง | ความเพียร |
เพียงเขตต์เกณฑ์ก็เรียน | เปล่าได้[๑] |
ต่อนั้นเก็บธนเวียน | เรียนสลับ งานเทอญ[๒] |
ทุนรัฐทุนราษฎร์ให้ | เพื่อได้เรียนจน จบอุดม[๓] |
ทุกคนให้สำเร็จด้วย | วิชา- ชีพนอ |
เรียกวิสามัญศึกษา | เสร็จถ้วน[๔] |
สูงต่ำลดหลั่นหา | ให้ครบ- ครันเทอญ |
พาณิชย์กสิกิจล้วน | เรื่องค้าอุตสาหกรรม |
เราทำแล้วมากนั้น | สามัญ ศึกษา |
ฝ่ายวิสามัญหมัน | เท่าหม้าย |
แพงทรัพย์อุปสรรคพลัน | พลอยกีด ขวางจริง[๕] |
ก้าวติดตามก้าวย้าย | ยักเยื้องเปลืองเวลา |
สามัญศึกษาต้องการเงินรัฐบาลช่วยประชาบาล
ฝ่ายสามัญนั้นขาด | เงินรัฐ บำรุง |
เงินประชาบาลจัด | แอ่นเอ้ |
กฎหมายก็บ่งชัด | จักช่วย[๖] |
ยืนแต่ขาเดียวเค้ | ชอบให้อีกขา หนึ่งแล |
ศึกษาท้องที่ได้ | ธนพลี |
จักเก็บตามจนมี | มากน้อย |
แต่ขัดรัฐภาษี | มิเปลี่ยน แปลงเอย |
จึงบาทหลังช้างคล้อย | ติดต้อยตามขา หน้าแล[๗] |
ศึกษาพลีมากได้ | เป็นกำลัง |
ยังรัฐบาลกลางยัง | ช่วยเลี้ยง |
สองขาค่อยขึงขัง | ตั้งมั่น คงพ่อ |
ลัทธิแบ่งแรงเพี้ยง | มากผู้บำเพ็ญ[๘] |
จำเป็นใช้คุรุล้วน | ฝึกหัด แล้วแฮ |
ครูประชาบาลจัด | วุ่นว้า |
ครูประกาศนียบัตร | ทั้งหมด |
เป็นที่หมายภายหน้า | แน่นี้จำเป็น[๙] |
จัดวิสามัญศึกษา-กสิกรรม, พาณิชย์, และอุตสาหกรรม
ให้แพร่หลายคู่กันไปกับสามัญศึกษา
ประเด็นอาชีพนั้น | ยากนัก |
ชนบทกสิกรรมจัก | แม่นใช้ |
ในเมืองเรื่องต้องยัก | พาณิชย์อุต- สาหกรรม |
แต่ละอย่างตั้งต้นได้ | แต่ด้วยฝึกครู |
ส่วนคู่เคียงเลี้ยงศึก- | ษาลัย[๑๐] |
คือไร่นาร้านใน | เรื่องค้า |
โรงงานสรรพช่างไว | ว่องหัด |
แต่ละอย่างลงทุนถ้า | ฝืดแท้ทำพรือ[๑๑] |
หนึ่งคือต้องเข้าร่วม | มือกับ |
การเกษตรพาณิชย์รับ | เรื่องใช้[๑๒] |
นักเรียนจบแล้วจับ | งานติด |
มิฉะนั้นพลันไร้ | ประโยชน์ซ้ำทรามนิยม |
จัดมหาวิทยาลัยให้เข้าฐานะ
อุดมศึกษาชื่อชั้น | มหาวิท- ยาลัย |
เป็นแหล่งที่สิงสถิต | ทั่วทั้ง |
ศิลปวิทยาประสิทธิ์ | อักษรศาสตร์ |
ดุจประทีปทองตั้ง | สว่างจ้าแจ่มหาว |
ยืนยาวญาณอยู่เลี้ยง | โลกมนุษย์ |
เผยแผ่ภาวะผุด | เพียบรู้ |
แดนเกิดประเสริฐสุด | มหาวิท- ยาลัย[๑๓] |
จำก่อจำกอบกู้ | เกี่ยงแก้กันงม- งายเทอญ |
โดยนิยมอนาคตต้อง | การบัณ- ฑิตแล |
เพื่อกิจสำคัญอัน | เอกรู้ |
ไป่ฉลาดไป่แข็งขยัน | ไป่ตลอด อุดมเรียน |
เป็นกระชอนกรองผู้ | เพียบชั้นปัญญา[๑๔] |
มหาวิทยาลัยเรื้อง | จุฬาลง- กรณ์เรา |
งามคณะแพทย์ยรรยง | ยิ่งรู้ |
เข้าฐานะดั่งประสงค์ | สำเร็จ |
ร็อกคิเฟลเลอร์ กู้[๑๕] | กิจเกื้อ การบุญ |
แม้ทุนเราท่วมทั้ง | ทำลำ- พังได้ |
กว่าโลกจะเชื่อคำ | ค่อนช้า |
เขาเข้าช่วยรับจำ- | เป็นโลก เชื่อแล |
เราก็จนจริงถ้า | ปล่อยไว้สำเร็จ ดังฤๅ[๑๖] |
เสร็จคณะแพทย์ขึ้นสู่ | ภูมิอุดม สมจริง |
คณะอื่นอื่นยังจม | ต่ำต้อย |
ควรกกยกขึ้นสม | ฐานะ ด้วยเทอญ |
เยียเยี่ยงคณะแพทย์คล้อย | คล่องเข้าเทาทาง[๑๗] |
แผนกกลางมูลนิธิ[๑๘]นี้ | ยังมี |
เรียก ‘สิกข์ระหว่างประเทศ’[๑๙]ที | ช่วยได้ |
‘แผนกเวชศาสตร์’ นี้ | บ่ออก นอกทาง[๒๐] |
แม้เหมาะทุกคณะให้ | สู่พื้นภูมิอุดม[๒๑] |
สมเพิ่มคณะอีกบ้าง | โดยกาล |
ธรรมศาสตร์[๒๒] เกษตรศาสตร์[๒๓] ขาน | ชื่อชี้ |
ป่าไม้แพทย์สัตว์งาน | ขยายอยู่ |
คณะต่างต่างเหล่านี้ | แต่ล้วนควรคำนึง |
กล่าวถึงสิกขกิจชั้น | มหาวิท- ยาลัย |
จำจัดจนพอกิจ | จุ่งได้ |
หมายเรียนต่างประเทศผิด | แพงมาก |
เราเรียกเงินถูกให้ | ผ่านได้โดยเพียร[๒๔] |
การตรวจโรคนักเรียน
อาเกียรณ์ก่อเกิดพื้น | โรคภัย[๒๕] |
ฉุดคร่าอนามัย | ไม่น้อย |
ขวัญเจ้าเมื่อเยาว์วัย | อวัยวะ อ่อนแอ |
อมโรคโรคติดต้อย | เติมขึ้นเป็นคน โรคแล |
การขวนขวายตรวจรู้ | รักษา |
สรรพโรคนักเรียนพา | เด็กแผ้ว |
เป็นประโยชน์ให้ศึกษา | สำเร็จ รวดเร็ว[๒๖] |
เมืองกล่นพลเมืองแกล้ว | เกริกค้าพลากร[๒๗] |
ทุนรอนเมื่อยากไร้ | ลองทำ |
เท่ากับมือเปล่าคลำ | ขลุกป้อย |
งานตรวจเขตต์ตรวจจำ | จำกัด |
ประโยชน์ย่อมยังน้อย | หยาดน้ำในทะเล ราวกัน |
พ้นเวลายากไร้ | ลำเค็ญ[๒๘] |
ควรเพิ่มแพทย์พูนเพ็ญ | เพียบพื้น[๒๙] |
ตรวจโรคนักเรียนเป็น | ปึกแผ่น |
เพียร[๓๐]เพื่อกายใจฟื้น | ชาติฟื้นฟูเพียร |
การสอนนอกโรงเรียน
การเรียนประชาราษฎร์ต้อง | แสวงหา |
จึงจัดปาฐกถา | เทศน์ทั้ง |
ธัมมะและวิทยา | ต่างต่าง |
ตามวัดตามบ้านตั้ง | แต่งล้วนชวนประชุม[๓๑] |
ชุมนุมธรรมกถึกทั้ง | ปาฐก |
พระและคฤหัสถ์ยก | แต่งตั้ง |
ล้วนแต่ฝึกซ้อมบก- | พร่องบ่ เลือกเลย |
ใช้อ่านอธิบายทั้ง | หมดล้วนพิมพ์แถลง |
ผู้แสดงประจำถิ่นทั้ง | เดิรทาง เทศน์แล |
จัดแยกเป็นสายวาง | ระเบียบไว้ |
รูปภาพภาพยนตร์พลาง | ใช้ช่วย ด้วยเทอญ |
เศรษฐกิจอนามัยให้ | โชคใช้นักหนา[๓๒] |
ได้พระราชทานการศึกษาแผนปัจจุบันแล้ว
‘ศึกษา’ คือสิทธิท้าว | พระราชทาน |
โดยพระราชบัญญัติขาน | ชื่อใช้ |
‘ประถมศึกษา’ การ | กอบก่อ |
แสดงพระราชประสงค์ให้ | เลือกใช้แผนปัจ จุบัน[๓๓] |
การจัดก่อรากแล้ว | ยังหลัง- คาฤๅ |
เรือนสำเร็จรูปเรือนดัง | อยู่ได้ |
แผนชาติสำเร็จรูปหวัง | ดั่งพระราช ประสงค์เทอญ |
สิทธิราษฎร์ส่งรัฐให้ | เฟื่องหล้าฟ้าดิน[๓๔] |
ทุนสินมายมากแม้ | เสียดาย |
งานก็งอนหง่อกลาย | ปลกเปลี้ย |
ทุนประเทศทั้งหลาย | จ่ายเพื่อ การเรียน |
เทียบส่วนสยามต่ำเตี้ย | ตรวจต้องมองเห็น |
จำเป็นเปิดประเทศแล้ว | ฉันใด |
จักไม่อบรมไทย | ทั่วหน้า[๓๕] |
ตัดถนนพ่นรถไฟ | ในป่า ดงดอย |
เหมืองแร่สวนไร่ค้า | ป่าไม้ไทยทำ ควรแล |
๑๘ ธันว์. ๗๑
ขุมทรัพย์ที่ ๒
อุดหนุนด้วยให้กู้ทุนคิดดอกเบี้ยถูก
ช่วยกสิกรด้วยวิธีสหกรณ์
และจัดสหกรณ์ให้เป็นรูปช่วยพาณิชย์และอุตสาหกรรม[๓๖]
(กาพย์ฉบัง)
ชาวนาส่วนมากยากจน | เบี้ยต่อไส้ทน |
ขวายขวนกู้จำนำเอา | |
เงินมาลงทุนหมุนเข้า | หาจีนไทยเขา |
ดอกเบี้ยเรียกเชือดเลือดเนื้อ | |
ปีไหนทำได้เหลือเฟือ | จึ่งกำไรเหลือ |
มิฉะนั้นต้นใช้ไป่พอ | |
ลงปลายนาพลอยร่อยหรอ | ขายเขาเช่าต่อ |
แต่พอยังชีพชูชนม์ | |
ชาวนามั่งคั่งตั้งตน | ทำบนหลังคน |
คือรับจำนำจำนอง[๓๗] | |
ควรขายสหกรณ์ทั้งผอง | ดั่งได้ทดลอง |
มานานเพื่อการแพร่หลาย | |
เงินทองกองอยู่มากมาย | สมบัติทั้งหลายราย |
ยังรออยู่ในธนาคาร | |
เช่นศาสนสมบัติบรรหาร | ศึกษาประชาบาล |
กองบินสภาสมาคม | |
ให้ดอกเท่าธนาคารนิยม | รัฐรับรองสม |
สนิทเพราะกิจรัฐบาล[๓๘] | |
ให้สหกรณ์กู้โดยกาล | ดอกเบี้ยบริหาร |
มิให้เกินแปดต่อปี[๓๙] | |
ยิ่งถูกเท่าใดยิ่งดี | ในการช่วยนี้ |
รัฐมิมุ่งหากำไร | |
การหัดผู้ทำทำไม | จัดเร็วไม่ได้[๔๐] |
สมัยนี้มากนักนักเรียน | |
เลือกคัดจัดแบบแนบเนียน | ตั้งชั้นการเรียน |
สอบไล่เลือกฟั้นทันใจ | |
ก่อกู้กสิกรรมนำใน | ทางหันทันสมัย |
เหมาะใช้วิธีทวีผล | |
เครื่องจักรเครื่องมือปรือปรน | แรงสัตว์แรงคน |
ค่อยทุ่นคือคูณกำไร | |
สมด้วยรวยแผ่นไผท | แต่คนน้อยไป |
จักได้ค่อยรวยอวยผล[๔๑] | |
เพิ่มวิทยกิจคิดค้น | ชี้ช่องสนองธน |
วางชลประทานพ่านไป | |
แม้หุ้นส่วนบริษัทไทย | ให้กู้ทุนได้ |
โดยรัฐกำกับคุมการ | |
หรือโดยประจักษ์หลักฐาน | เสมือนธนาคาร |
อุปการพาณิชย์กิจไทย |
๑๙ ธันว์ ๗๑
ขุมทรัพย์ที่ ๓
อุดหนุนอุตสาหกรรม-พณิชยการด้วยวิธีงาน
จริงละรัฐบาลชาญชัย | ไม่อยากเข้าไป |
จุ้นจ้านกับงานราษฎร | |
พ่อค้าคือสง่านาคร | เศรษฐกิจอุปกรณ์ |
ก่อเกิดกำลังฝั่งฝา | |
รัฐชอบแต่ช่วยอวยค้า | จำกัดรัฐพา- |
ณิชย์ชัดที่รัฐจำทำ[๔๒] | |
แต่พ่อค้าเราเจ้ากรรม | เพราะเหตุยังจำ- |
เพาะจักต้องเกิดต่อไป | |
งานการก่อร่างตั้งใหม่ | จำต้องอาศัย |
นั่งร้านและแบบแยบขาน[๔๓] | |
บางส่วนควรรัฐเริ่มงาน | ตั้งเป็นโครงการ |
แล้วมอบบริษัทจัดทำ | |
เท่ากับเป็นครูครอบงำ | จับมือแม่นยำ |
เมื่อแม่นแล้วมอบครอบครอง | |
อุตสาห์-พาณิชย์กิจผอง | คนไม่เคยลอง |
เข้าแล้วมักล้มระเนนไป | |
การก่อโครงการงานใหญ่ | คนหาเคยไม่ |
ไม่ปล่อยให้ทำเป็นดี | |
งานใดเมืองไทยต้องมี | ปล่อยไว้ไม่ชี้ |
ถึงทีจับบทหมดหวัง[๔๔] | |
ต่างประเทศราษฎร์ทำลำพัง | ราษฎร์ของเรายัง |
ไม่คุ้นไม่เคยควรหรือ | |
ปล่อยไว้มิไยแย่งยื้อ | กับช่วยฝึกปรือ |
ข้างไหนจะดีกว่ากัน | |
ลูกล้มพ่อร้อนใจครัน | ลูกม่ายงานหมัน |
พ่อนั้นสบายใจหรือ | |
กรุงขยายเมืองขยายปลายมือ | กรรมกรอึงอื้อ |
สบเมื้อไม่มีงานทำ[๔๕] | |
วิ่งวุ่นตามบุญตามกรรม | เหมือนมัดมือซ้ำ |
ส่งให้เขารุกฉุกเฉิน[๔๖] | |
หวังฟื้นตื่นเองเพลงเดิร | แข่งเศรษฐกิจเกิน |
กำลังเห็นหวังมากไป | |
นิติธรรมของเราเล่าไซร้ | รัฐจูงราษฎร์ไคล |
มิใช่ราษฎร์กระตุ้นรัฐตาม | |
เรื่องนี้เขาเราตรงข้าม | ใดเขาว่างาม |
เราตามเขากลับรับภัย[๔๗] | |
เวลายังพอช่วยได้ | ช่วยกันเข้าไว้ |
ดีกว่าชะล่าเพลงลอย[๔๘] | |
รัฐเริ่มรูปการเรียบร้อย | มอบบริษัทคอย |
กำกับผู้กู้สหกรณ์ | |
ด้วยกุศโลบายบวร | ไม่ช้าพระนคร |
จักเกิดพ่อค้าไทยไทย | |
ทั้งเกิดบริษัทน้อยใหญ่ | ในมือเราไซร้ |
คนไทยก็เลิกล้าหลัง | |
อย่าลืมเรื่องสมัยไทยยัง | รัฐเป็นกำลัง |
ฉุดคร่าจูงพาราษฎร์ไคล |
ขุมทรัพย์ที่ ๔
ทวีสำมะโนครัว
(ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒)
สยามเขตต์ประเทศไข | มิทันไทยจะเต็มเมือง |
ประจวบโลกริรุ่งเรือง | ระบือชาติประชันคน[๔๙] |
อุดมโภชนาหาร | ตระการโภคะพืชผล |
สยามเชิญวิรัชชน | ประชันชาติบ่หวาดเสียว |
จำนวนสำมะโนครัว | ประมวลทั่วก็โกฏิเดียว |
ไผทไทยสิใหญ่เทียว | ผิเจ็ดโกฏิก็ยังพอ |
จะมากเขาฤมากเรา | จะเลือกเอาไฉนหนอ |
ทวีช้าผิว่ารอ | ก็หลายร้อยฉนำหงำ |
มิทันไรสหายเรา | จะท่วมเข้าประหนึ่งน้ำ |
จะเปลี่ยนเลือดสยามซ้ำ | ทำลายเลือดสยามเสีย |
สมัครรอดมิวอดวาย | ก็แก้ตายและปลกเปลี้ย |
ประสพส่วนสัมฤทธิ์เยีย | ไฉนนั้นจะพรรณนา |
การคลอดบุตรไม่ควรเป็นศึกของสตรีต่อไป
โดยให้ความรู้ทางผดุงครรภ์แพร่หลาย
ผดุงครรภ์สำคัญยิ่ง | ตำแยหญิงบ่เดียงสา |
วิธีจีนจะคลอดมา | ลำพังอยู่[๕๐]ก็ยังดี |
จำนวนจีนทวีหนัก | ประจักษ์ดุจสักขี[๕๑] |
ผิฝึกถ้วนกระบวนที่ | สะอาดหัตถ์[๕๒]สมรรถสรรพ์ |
สตรีเศิกจะเพิกถอน | ณยามหล่อนธำรงครรภ์ |
อนามัยสถานนั้น | ประโยชน์แน่ผิแพร่หลาย |
จำนวนพันขยันคลอด | จะม้วยมอดก็สามราย |
สยามควรจะเสียดาย | เพราะตายร้อยละหลายคน[๕๓] |
จำนวนนางพยาบาล | ผดุงครรภะฝึกฝน |
ขยายทั่วประเทศจน | จำหน่ายพอพะนองาน |
เด็กของเราเกิดมาก แต่ตายมาก
อนึ่งส่วนจำนวนเกิด | กำเนิดแล้วประลัยลาญ |
ก็เสียเปล่ามิเข้าการ | พยานไทยมิมากมาย |
ดรุณอายุห้าปี | กำเนิดสี่ก็หนึ่งสลาย |
ผิเทียบส่วนยุโรปตาย | ก็ตกร้อยละหกคน |
กำเนิดเราสิมากมาย | ผิกันตายจะกู้จน |
ทวีแพทย์ทวีชนม์ | ทวีนางผดุงครรภ์ |
จัดการอนามัยให้ถึงขนาด
สถานีอนามัย | ประจำย่านและยาน[๕๔]ผัน |
ประทุกเวชภัณฑ์[๕๕]ดั้น | แสดงสุขศึกษา[๕๖] |
สำรวจโรคประชาช่วย | อำนวยกิจเยียวยา |
พยาธิ์พ่ายพสกพา | ประเทศเพิ่มพลัง[๕๗]พลัน |
วิสัยสรรพศึกษา | ประดาเป็นวิสามัญ |
จำอาศัยสัมฤทธิ์ชั้น | ณสามัญศึกษา |
เสมือนรากสำหรับจัก | พำนักเรือนและหลังคา |
ก็และสุขศึกษา | จำอาศัยประถมฐาน |
ผิฐานมัธยมได้ | ก็ยิ่งไววิจารณ์การณ์ |
เพราะบังคับหรือเรียกขาน | บ่เท่าฐานสมัครเอง[๕๘] |
๒๑ ธันว์. ๗๑
[๑] ......ได้ ของเราตั้งต้นก็เกณฑ์ให้เรียนเพียงจบประถมก่อน ต่อไปสำหรับเขยิบขั้นเกณฑ์ให้สูงขึ้นไปอีกตามสมควรแก่เวลา โรงเรียนประชาบาลที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติที่เกณฑ์ให้ศึกษานี้ ต้องไม่เก็บค่าเล่าเรียนทั้งนั้น เพื่อให้ศึกษาส่วนที่บังคับว่าต้องเรียน เป็นศึกษาที่เรียนได้เปล่า Free Education
[๒] ......เทอญ ศึกษาต่อจากขั้นที่เกณฑ์ขึ้นไปเป็นส่วนอดิเรก จึงไม่จำเป็นต้องให้เรียนเปล่า ใครสมัครเข้าโรงเรียนไหนเสียค่าเล่าเรียนเท่าไร ก็แล้วแต่ฐานะและความพอใจ ผู้ไม่มีทุนแต่ยังมีปัญญาจะเรียนให้สูงขึ้นไปอีกได้ ก็ออกไปหางานทำชั่วคราวพอได้เงินพอแล้วก็กลับเข้ามาเรียนต่ออีก ตามแบบของ ส.ป.ร. อเมริกา ซึ่งเราจะต้องเอาอย่างมาใช้บ้าง
[๓] อุดม อุดมศึกษา คือ ศึกษาชั้นมหาวิทยาลัยหรือเทียบมหาวิทยาลัย ทุนสำหรับอุดหนุนให้คนฉลาดได้เรียนจบชั้นปริญญานั้น ทุนหลวงได้แก่ทุนเล่าเรียนที่รัฐบาลให้สำหรับอุดหนุนคนดีคนฉลาด ทุนราษฎร์ได้แก่ทุนเล่าเรียนที่มีผู้ทำบุญให้ไว้แก่สำนักเรียนต่างๆ มหาวิทยาลัยทั้งหลายของรัฐบาลญี่ปุ่นเก็บค่าเล่าเรียนต่ำมากเป็นทางอุดหนุนที่น่าเอาอย่าง เพื่อบำรุงความรู้ชั้นอุดมศึกษาให้แพร่หลาย
[๔] ถ้วน วิสามัญศึกษาที่เป็นอาชีพนี้เป็นของเกิดใหม่กับศึกษาแผนใหม่ ศึกษาแผนโบราณยังขึ้นไม่ถึงหัดอาชีพ แม้มหาวิทยาลัยก็ยังสอนแต่หนังสือ ให้ความรู้เป็นกลางๆ สำหรับใครจะไปทำอะไรก็ทำได้ วิชาสามัญที่สอน เช่น การฝีมือ Manual Work ก็มุ่งทางหัดมือหัดตา หัดความสังเกตความประณีตแม่นยำ อันเป็นประโยชน์ฉะเพาะการศึกษาเท่านั้น สิ่งที่ทำขึ้นจะเป็นเครื่องกระดาษหรือเครื่องไม้ก็ไม่สำหรับขายเป็นสินค้าได้เลย เพราะไม่ได้มุ่งทางอาชีพ
[๕] ......จริง โรงเรียนอาชีพจัดได้แพงกว่าโรงเรียนสามัญมาก ยกตัวอย่างโรงเรียนกสิกรรมต้องมีที่เพาะปลูก ต้องลงทุนซื้อเครื่องมือทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ต้องฝึกหัดครูกสิกรรม เพราะจะเอาครูสามัญไปสอนอย่างเอาเป็ดขันไม่ได้นอกจากการฝึกหัดครูบ้าง ในเวลาโน้นรัฐบาลยังไม่มีทุนจะลงสำหรับวิสามัญศึกษาเลย อุปสรรคเรื่องเงินจึงเป็นอุปสรรคข้อต้นและสำคัญที่สุด
[๖] ......ช่วย พระราชบัญญัติประถมศึกษาเดิมมีว่า รัฐบาลให้เงินอุดหนุน Grants-in-aid แต่รัฐบาลยังไม่ได้เคยอุดหนุนเช่นนั้นเลย เพราะยังไม่มีเงิน คำว่า ‘อาจ’ ไม่ควรมีในกฎหมายเช่นนี้ แต่ได้แทรกเข้ามาด้วยความจำเป็น (เดี๋ยวนี้ได้มีการแก้พระราชบัญญัติเลิกวิธีเก็บศึกษาพลี เปลี่ยนเป็นใช้เงินในงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น ฐานะโรงเรียนประชาบาลจึงเปลี่ยนเป็นโรงเรียนรัฐบาลไปหมด เลิกวิธีเทศบาล อันเป็นวิธีกระจายอำนาจ Decentralisation กลับมาเป็นวิธีรวมอำนาจ Centralisation ไปใหม่)
[๗] ......แล นอกจากวิธีเก็บศึกษาพลี คนละเท่าๆ กัน อย่างเก็บรัชชูปการ พระราชบัญญัติประถมศึกษา ยังเปิดทางไว้ให้เก็บตามมากน้อยมีจนด้วย แต่เมื่อภาษีแผ่นดินยังคงเก็บคนละเท่าๆ กันอย่างรัชชูปการอยู่ วิธีการแห่งพระราชบัญญัติประถมศึกษาก็ใช้ได้แต่วิธีศึกษาพลีวิธีเดียวเท่านั้น เพราะภาษีหรือจังกอบสำหรับท้องที่ดุจช้างเท้าหลังต้องเดิรตามภาษีแผ่นดินซึ่งเหมือนเป็นช้างเท้าหน้า (เท้าช้างนั้น บัดนี้เท้าหลังตัดเสียแล้ว แต่เท้าหน้ายังอยู่)
[๘] ......บำเพ็ญ วิธีนี้รัฐบาลรับจัดตั้งโรงเรียนรัฐบาลพอเป็นบรรทัดฐาน นอกนั้นให้ท้องที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลให้พอความต้องการของท้องที่เองด้วย เก็บจังกอบท้องที่ใช้ รัฐบาลกลางให้บำรุงเป็นเงินก้อนอีกส่วนหนึ่ง วิธีของเรานี้เป็นวิธีแบ่งแรงระหว่างรัฐบาลกลางกับเทศบาลเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลก เว้นแต่อเมริกาซึ่งให้มีแต่โรงเรียนรัฐบาลกับโรงเรียนราษฎร์เท่านั้น วิธีนั้นถ้าใช้สำหรับประเทศไม่มั่งมี กว่าจะจัดสำเร็จจะช้ามาก (เดี๋ยวนี้เรากลับเตี้ยอุ้มค่อม เปลี่ยนเข้าหาวิธีของประเทศมั่งมี น่าเสียดายมาก)
[๙] ......จำเป็น ไม่ใช่ว่าผู้มีความรู้จะถ่ายความรู้ของตนให้แก่ผู้อื่นได้ทุกคน การเป็นครูจึงเป็นอาชีพที่ต้องฝึกหัดอบรมกันให้สำเร็จก่อน เรียกว่าครูประกาศนียบัตร บรรดาครูทั้งประเทศที่ควรเป็นครูประกาศนียบัตรทั้งหมดนั้น ของเราเป็นแล้วร้อยละเท่าไร การฝึกหัดครูต่างๆ จึงเป็นส่วนที่จะต้องรีบลงทุนให้มากอีกทางหนึ่ง
[๑๐] ศึกษาลัย ศึกษา-อาลัย ศึกษาลัย คือ ที่อยู่แห่งการศึกษา ได้แก่โรงเรียนสำหรับวิชาวิสามัญศึกษา ต้องมีที่ฝึกหัดเป็นคู่กัน เช่นโรงเรียนครูมีโรงเรียนเด็กเป็นที่ฝึกหัดสอน โรงเรียนแพทย์มีโรงพยาบาล โรงเรียนพาณิชยการมีร้าน โรงเรียนช่างมีโรงงาน โรงเรียนเพาะปลูกมีสวน ไร่ นา เป็นที่ฝึกหัด ฯลฯ
[๑๑] ทำพรือ คำไทยใต้ แปลว่า ทำอย่างไร
[๑๒] ......ใช้ โรงเรียนเป็นแต่หัดให้ทำ เมื่อหัดเสร็จแล้ว การจะทำจริงๆ เป็นอาชีพแผนกกสิกรรมเป็นทางการของเกษตร แผนกพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็นทางการของกระทรวงพาณิชย์ วิสามัญศึกษาจะต้องให้กลมกลืนกับอาชีพในเบื้องหน้า เพื่อใครเรียนอะไรไปแล้ว จะได้ไปหากินตามวิชาของตัว ทบวงการฝ่ายศึกษา เกษตรและพาณิชย์ จึงต้องเกี่ยวของร่วมมือกัน ฝ่ายกสิกรรมศึกษาใครเรียนแล้วก็ออกไปเป็นกสิกรทั่วไปตามภูมิลำเนา แต่ฝ่ายอุตสาหกรรมหรือแม้พณิชยการ ค่อนข้างลำบาก เพราะปึกแผ่นทางห้างร้านและโรงงานที่จะรับยังมีน้อย และเป็นของชาวต่างประเทศเป็นส่วนมาก (นักเรียนออกใหม่จักต้องไปเป็นลูกจ้างเขาก่อน) จึงจำต้องก่อปึกแผ่นนี้ให้เกิดขึ้นใหม่ในหมู่ชาวไทยเพื่อคอยรับลูกจ้างไทยด้วย มีกล่าวถึงต่อไปในขุมทรัพย์ที่สาม
[๑๓] ......มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นที่เกิดประเสริฐสุดแห่ง ‘ญาณ’ คือความรู้ซึ่งให้มนุษย์ได้รู้เท่าทันธรรมชาติ นำเอาสภาพธรรม หรือธรรมชาติทั้งหลายมาประกอบเป็นทางปฏิบัติ เป็นเครื่องกินเครื่องใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่โลกมนุษย์ ดังปรากฏอยู่แล้วทุกวันนี้ด้วยการศึกษาธรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และอักษรศาสตร์
[๑๔] ปัญญา ความเจริญของมนุษย์ กำลังทำความเป็นอยู่แห่งมนุษย์ให้สูงและประณีตยิ่งขึ้น อาชีพทุกชั้นจะต้องการคนที่ได้ฝึกฝนอบรมเป็นอย่างดี การเรียนชั้นประถม มัธยม อุดม ย่อมกลั่นคนในทางปัญญา ความสามารถ ดุจกระชอนกรองวัตถุอันละเอียดยิ่งขึ้นทุกที คนฉลาดสามารถไม่ใช่ว่ามีน้อย เมื่อกระชอนแห่งการศึกษาได้กรองคนทั่วหน้า มหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาย่อมจะเป็นที่รวบรวมเผยแผ่วิชาชั้นสูงซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญแห่งโลกซึ่งก้าวหน้า
[๑๕] ร็อกคิเฟลเลอร์ หมายถึง ร็อกคิเฟลเลอร์มูลนิธิ แผนกเวชศึกษาหรือซึ่งเปลี่ยนเรียกว่า เวชศาสตร์ ที่ช่วยคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยของเราอยู่เดี๋ยวนี้
[๑๖] ......ดังฤๅ แม้เรามั่งมีอาจลงทุนตั้งมหาวิทยาลัยให้สำเร็จได้ลำพังเราเองทั้งหมด การที่จะให้โลกยกย่องปริญญาของเราในพริบตาเดียวน่าจะไม่ใช่ง่าย ยิ่งทุนของเราก็มีไม่พอ ด้วยการอาศัยความช่วยเหลือร่วมมือกับมูลนิธิที่โลกนับถืออยู่แล้วนี้ จึงเป็นทางเดียวที่จะให้มหาวิทยาลัยแรกของเรารุ่งโรจน์ทันความต้องการ
[๑๗] ......ทาง เยีย แปลว่า ทำ เทา คือ เต้า เทาทางคือเดิรตามทางหรือตามรอย หมายความว่าเราได้ขอให้เขาช่วยสำเร็จมาแล้วทางคณะแพทยศาสตร์ อย่างไรก็น่าจะหาทางขอให้เขาช่วยคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยของเราให้สำเร็จได้หมดทำนองเดียวกัน
[๑๘] มูลนิธิ หมายถึง ร็อกคิเฟลเลอร์มูลนิธิ หรือเฟานเดชัน
[๑๙] สิกข์ระหว่างประเทศ คือ International Education Department แห่งร็อกคิเฟลเลอร์มูลนิธิ ซึ่งได้ขยายการช่วยเหลือสามัญศึกษาอยู่ทั่วโลก แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเรียกเป็น The Natural Sciences, The Social Sciences, and The Humanities ซึ่งก็ย่อมครอบถึงวิชาคณะอื่นๆ แห่งมหาวิทยาลัยทั้งหมดด้วย
[๒๐] ......ทาง แผนกเวชศาสตร์ หรือ เวชศึกษา The Medical Science Department แห่งมูลนิธิเดียวกันที่ช่วยเราอยู่ทางคณะแพทยศาสตร์เดี๋ยวนี้ เขาไม่ช่วยใครทางอื่นซึ่งไม่ใช่ทางของเขา คือ เวชศึกษา
[๒๑] ......อุดม ถ้ากระไรก็อาจขอให้เขาช่วยได้ทุกคณะแบบเดียวกับที่เขาได้ช่วยคณะแพทยศาสตร์อยู่แล้ว โดยเจรจาให้ถูกทบวงการของเขา
[๒๒] ธรรมศาสตร์ คณะกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Faculty of Law ซึ่งให้ปริญญาธรรมศาสตร์
[๒๓] เกษตรศาสตร์ Faculty of Agriculture
[๒๔] ......เพียร การศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย ควรเก็บค่าเล่าเรียนถูกอย่างญี่ปุ่น และอินเดียได้ทำสำเร็จมาแล้วเป็นอย่างดี ของเราก็ได้เริ่มด้วยเรียกเงินต่ำเหมือนกัน มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมบัติของชาติจะได้ถึงคนทุกชั้นที่ฉลาดและเพียร
[๒๕] ......ภัย ล้วนแต่โรคภัยก่อเกิดเกลื่อนกลาด
[๒๖] รวดเร็ว เด็กที่เรียนช้าโดยมากเนื่องด้วยมีโรค ซึ่งแพทย์ไม่ได้ตรวจพบก็ไม่ทราบ เพราะไม่เป็นคนเจ็บ
[๒๗] พลากร พล-อากร บ่อเกิดแห่งกำลัง
[๒๘] ......ลำเค็ญ คือ พ้นเวลาที่รายได้แผ่นดินน้อยกว่ารายจ่าย มาเป็นตรงกันข้าม
[๒๙] ......พื้น ระดมแพทย์ประกาศนียบัตรทำทั่วพระราชอาณาเขตต์ ทั้งแพทย์หลวงแพทย์ราษฎร์ แม้ต่างกระทรวงทบวงการ เช่น แพทย์ของสภากาชาด แพทย์สุขาภิบาล แพทย์มหาดไทย ก็จัดให้เข้าร่วมมือกันได้ ดังได้ร่วมมือกับสภากาชาดอยู่แล้วเดี๋ยวนี้
[๓๐] ......เพียร การตรวจโรคนักเรียนเป็นการฟื้นทางกาย การเล่าเรียนเป็นการฟื้นทางใจ ด้วยการฟื้นทั้งสองประเภทนี้ ชาติจะฟื้นขึ้นได้
[๓๑] ......ประชุม เรามีแล้วที่สามัคยาจารยสมาคม เป็นการเริ่มริโดยไม่ต้องลงทุน เป็นการทำเล่นด้วยมือเปล่าเท่านั้น
[๓๒] ......นักหนา ในประเทศญี่ปุ่น เขาได้จัดเช่นนี้มากว่าสามสิบปีแล้ว เป็นวิธีสอนผู้ใหญ่ที่พ้นเวลาเข้าโรงเรียนแล้วให้ได้มีความรู้ทันสมัยเสียก่อนหมดอายุ ผู้แต่งเรื่องนี้ได้ไปเห็นคนยืนบนโต๊ะเทศน์กลางตลาดในประเทศญี่ปุ่น สอบถามก็ได้ความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เขามีผู้ช่วยหอบโต๊ะพับได้และเครื่องแสดงต่างๆ ไปด้วย เรื่องที่สั่งสอนราษฎรนั้นมีทั้งวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติการ อนามัย วิธีการปกครอง และวิชาอื่นๆ ที่เขาต้องการให้พลเมืองชั้นเก่าได้พอรู้ทันสมัยขึ้น
[๓๓] ......ปัจจุบัน คือแผนซึ่งเป็นงานของชาติ ให้คนทั้งชาติได้ศึกษาทั่วหน้าตามสมควรแก่อัตตภาพ (ใครควรเรียนทางไหนเพียงไรก็ให้ได้ถึงการเล่าเรียนเช่นนั้นตลอดถึงแค่นั้น ตามปัญญาและความเพียรของเขา)
[๓๔] ......ดิน การศึกษาคือสิทธิที่ได้พระราชทานแก่ราษฎรของท่านทั่วหน้านี้ ย่อมจะส่งเสริมประเทศบ้านเมืองให้เลิศลอย เพราะเหตุบ้านเมืองจะเจริญได้แท้จริงด้วยความเจริญแห่งราษฎรเท่านั้น
[๓๕] ......ทั่วหน้า ถ้าเปิดประเทศก่อนชาวประเทศพร้อมที่จะถือเอาประโยชน์จากการเปิดนั้น คนอื่นภายนอกก็ต้องเข้ามาถือเอาประโยชน์แทน เมื่อจำเป็นต้องเปิดประเทศ ก็จำเป็นต้องรีบหัดคน ซึ่งเป็นการช้ากินเวลามากอยู่ ต้องรีบตั้งต้นก่อนเวลาทุกอย่างไป เช่นเราได้ตั้งต้นสถาปนาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ซึ่งพิจารณาตามปกติดูเป็นใจเร็วทำก่อนเวลาไปมากไม่ใช่หรือ
[๓๖] ......กรรม สหกรณ์ในอินเดียและพม่ามีมากรูป ดูปาฐกถาของพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ได้แสดงที่สามัคยาจารยสมาคม และได้ลงพิมพ์เป็นเล่มแล้ว
[๓๗] ......จำนอง การทำนาของเรายังไม่เป็นอาชีพที่ร่ำรวย ชาวนาที่มั่งมีนั้นล้วนมั่งมีด้วยการให้กู้ รับจำนำจำนอง และตกข้าว ซึ่งเป็นส่วนพาณิชย์ไม่ใช่กสิกรรม
[๓๘] ......รัฐบาล เงินทุนต่างๆ เหล่านั้น ธนาคารให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๔ เท่านั้น ถ้าสหกรณ์กู้โดยรัฐบาลรับรอง และได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าธนาคารให้กู้ ใครจะไม่ยินดีให้กู้
[๓๙] ......ปี ธนาคารให้สหกรณ์กู้อยู่ด้วยความรับรองของรัฐบาล คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๘ ต่อปี แต่สหกรณ์ต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่านั้น เพราะต้องเสียให้รัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง เป็นการทดแทนค่าโสหุ้ยใช้จ่ายในการจัดของรัฐบาล
[๔๐] ......ไม่ได้ พนักงานสหกรณ์จะต้องไปถึงบ้านเรือนราษฎร ชี้แจงทางการให้ราษฎรเกิดปีติและเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือราษฎรทุกอย่าง ตั้งแต่แรกจัดตั้งเป็นสหกรณ์และเวลาต่อๆ ไป ต้องมีทั้งความรู้และความสามารถ จึงกล่าวกันว่าจะเลือกฟั้นฝึกหัดได้ปีละไม่กี่คน
[๔๑] ......ผล ที่ดินมากคนน้อย การจะให้ได้งานเต็มที่ จะต้องเพิ่มคนหรือให้คนทำงานได้มากขึ้น เครื่องจักรจะช่วยให้คนทำงานได้มากขึ้น จึงเหมาะแก่ความต้องการของเรานัก
[๔๒] ......ทำ การค้าขายของรัฐบาลที่เรียกว่ารัฐพาณิชย์นั้น รัฐบาลจำกัดทำแต่ที่เห็นว่าจำเป็น เช่นงานที่เกี่ยวกับคนทั้งประเทศ เป็นงานของชาติ ควรรัฐบาลทำเสียเองให้เป็นการมั่นคงและอุ่นใจ ดีกว่าที่จะปล่อยให้พ่อค้าทำ นอกนั้นถือว่าการค้าขายเป็นกรณีย์ของพ่อค้าโดยตรง ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองส่วนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเกิดผิดใจกันขึ้นกับต่างประเทศ ก็เป็นเพียงการโต้แย้งระหว่างบุทคล ไม่จำกระทบกระเทือนถึงการเมืองเหมือนที่รัฐบาลเป็นผู้ทำเอง กิจของรัฐบาลที่ต้องทำเพื่ออุดหนุนลูกสมุนของตน คือ พ่อค้า ก็มีแต่ให้ความสะดวกต่างๆ ได้แก่ออกกฎหมายคุ้มครองการค้าขาย เปิดคมนาคม ระงับโจรผู้ร้าย ฯลฯ นี้คือ นิติธรรมของประเทศที่การค้าขายเจริญเต็มที่แล้ว
[๔๓] ......ขาน สำหรับประเทศที่เข้าถึงยุคอุตสาหกรรมแล้ว การทำสินค้ามีมาก พ่อค้าผู้ชำนาญมีมาก โครงการเกิดใหม่ หรือนักเรียนพ่อค้าใหม่ก็ย่อมได้อาศัยโครงการเก่าหรือพ่อค้าใหญ่ๆ เป็นนั่งร้าน ที่เราพากันชมจีนว่า ‘โต้หลง’ กันนั้นคืออันนี้เอง แต่สำหรับสยามซึ่งยังตกอยู่ในยุคกสิกรรม จะต้องเริ่มทำอุตสาหกรรมบ้าง กับทำการค้าขายติดต่อแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ นั่งร้านและผู้ ‘โต้หลง’ ของเรา น่าจะเป็นรัฐบาลมากกว่าบริษัทหรือพ่อค้าต่างประเทศเป็นแน่
[๔๔] ......หวัง คือคนอื่นเขาจับทำเป็นปึกแผ่นเสียแล้ว
[๔๕] ......ทำ เดี๋ยวนี้ยังไม่มีสถิติแสดงจำนวนคนไม่มีงานทำ เท่าที่แลเห็น คนไม่มีงานทำชั้นกลางมีไม่น้อย ชั้นกรรมกรก็มีบ้างแล้ว
[๔๖] ......ฉุกเฉิน คนของเราแพ้เปรียบเขาอยู่แล้ว
[๔๗] ......ภัย ตรงข้ามโดยนิติธรรมที่ของเรา รัฐบาลเป็นผู้จูงราษฎร เขามีพ่อค้าที่ปล่อยได้และเป็นจำนวนมากมาย ส่วนเราเรียกได้ว่ายังไม่มี เขาปล่อยได้ เราปล่อยเข้าเป็นภัย จึงจำเป็นต้องเพาะพ่อค้าของเราขึ้น ให้พอปล่อยได้บ้าง
[๔๘] ลอย ปล่อยให้ลอยไปเองอย่างเรือไม่มีใครถือท้าย
[๔๙] ......คน เปิดประเทศให้คนไปมาถึงกัน แลกเปลี่ยนสินค้า ความรู้ และความสุขระหว่างกันและกัน
[๕๐] ......มาลำพังอยู่ ธรรมเนียมจีนคนจนบางพวก เมื่อเจ็บครรภ์เขาไม่ให้ใครยุ่ง เขาให้อยู่ในห้องคนเดียวจนคลอดเอง เว้นแต่จะมีเหตุต้องถึงแพทย์
[๕๑] สักขี พยาน
[๕๒] สะอาดหัตถ์ นางผดุงครรภ์เวลาช่วยทำการคลอดบุตร ต้องรักษาความสะอาดเป็นสำคัญกว่าอะไรหมด
[๕๓] ร้อยละหลายคน ปรากฏตามสถิติว่าตายถึงพันละ ๘๐ ตกเป็นร้อยละ ๘ คน
[๕๔] ยาน รถ หรือเรือซึ่งทำหน้าที่เหมือนสถานีอนามัย ที่ไปเป็นสายๆ
[๕๕] เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์พร้อมทั้งยา
[๕๖] แสดงสุขศึกษา แพทย์หรือพนักงานกำกับไป เพื่อประชุมสอนสุขศึกษาด้วยภาพยนตร์ เป็นต้น
[๕๗] พลัง องค์แห่งกำลัง ตัวกำลัง
[๕๘] เอง มัธยมศึกษาในบัดนี้ พ้นเขตต์เกณฑ์ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาเป็นการศึกษาชั้นที่สมัครเรียนเอง