- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ประชาสามัญของเรา
เมื่อนี้
(ลำนำพวงมาลัย-ทำนองลำนำนกกระทุง)
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
เพื่อนชีพพะนอชัย | ร่วมใจร่วมงาน |
สำอางองค์อนงค์นุช | เมื่อมีบุตรเป็นแม่บ้าน |
เจ้าเป็นหัวแรงแข็งงานการ | เพื่อความสำราญของสามี |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | และหรือจะไกลจากห้อง |
ลอยละล่อง | เข้าห้องไหนเอย |
เจ้าช่อมาลาเอย | |
ยามเหนื่อยงานนา | เราก็มาล้อมวง |
ขับรำทำเพลง | แก้กันเองแล้วรับส่ง |
ตะวันรอนอ่อนลง | พระจันทร์ขึ้นทรงกลดเอย |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | หอมเหมือนสไบบังอร |
หอมประทิ่น[๑]กลิ่นเกสร | นวลน้องเจ้าร้อยเป็นพวงกรอง |
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
นุ่งใหม่ห่มใหม่ | วันพระเจ้าไปวัดวา |
ถึงเทศกาลงานปี | นรนรี[๒]เล่นสะบ้า[๓] |
ใครแพ้ต้องรำทำท่า | สรวลเสเฮฮาร่าเริงใจ |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | ควรหรือจะไกลจากห้อง |
คงจะต้อง | หวงห้องหับเอย |
เจ้าพวงบุบผาเอย | |
ในน้ำมีปลา | ในนามีเข้า[๔] |
ผักหญ้าหาง่าย | จะเอาอะไรอีกเล่า |
ดินแดนของเจ้า | ช่างวิเศษจริงเอย |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | จึงล้วนลอยไปลอยมา[๕] |
งานหนักนั้นงานนา | พอสิ้นหน้าก็เกร่อเอย |
เจ้าพวกมาลัยเอย | |
ถืองานเป็นใหญ่ | เจ้าไม่อินังแก่เวลา[๖] |
จึงมีว่างข้างเพลิดเพลิน[๗] | แม้พระเจ้าเงินเจ้าก็ไม่บูชา |
เจ้าไม่ยากเย็นเป็นข้า | ขายตัวแก่เวลาบูชาเงิน[๘] |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | เจ้าสมเป็นไทยฦๅชื่อ |
สุภาพและซื่อ | ไม่ดึงดื้อด้วยใจดี |
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
นี้เองใช่ไหม | ใหม่จะเรียนจากเจ้า[๙] |
เขาไม่มีเวลา | เขาเป็นขี้ข้านายเขา |
คือเวลาและเฝ้า | แต่ค่ำเช้าจะหาเงิน |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | นี้หรือลอยไปก็ลอยมา |
หมุนเวียนเปลี่ยนท่า | สมอย่างท่านว่า ‘อนิจฺจํ’[๑๐] |
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
เจ้าเกิดทุรนทุราย | เพราะเจ๊กแขกเข้ามาล่อ[๑๑] |
ทั้งเครื่องกินเครื่องใช้ | เจ้าทนไม่ไหวจริงหนอ |
แม้แต่เข้าก็ | มีโรงรับจ้างสีเอย[๑๒] |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | พระเจ้ามีชัยแก่เจ้า |
เงินเป็นใหญ่หรือไม่เล่า | เจ้าจำจะต้องบูชาเอย |
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
รุ่นศีวิลัยสต์ | แต่งกายก้อร่อ |
เก่งข้างเที่ยวเกี่ยวข้างเล่น | เขาใช้เงินเป็นกว่าพ่อ |
การทันสมัยใครใครก็ | บ่ชนะเจ้าละเอย[๑๓] |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | ฐานะเจ้าไม่เหมือนเก่า |
เจ้าจ่ายมากเข้า | พระเจ้ากลับลงโทษเอย[๑๔] |
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
เกิดโจรภัย | ดกดื่นขึ้นด้วย |
แต่พวกเจ้าไม่กลัวปล้น | เขากลัวแต่คนร่ำรวย |
เจ้ายังพอหยิบพอฉวย | เจ้าก็คงนวยนาดเอย |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | หาไปกินไปจนพออิ่ม |
เจ้าได้คำชมว่าอมยิ้ม | ยังกรุ้มกริ่มอยู่ตามเคย[๑๕] |
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
จะเอาอะไร | แก่โลกนี้นักเล่า |
ยิ้มแย้มแจ่มใส | มีเวลาไว้เป็นของเจ้า |
ผู้เพาะพืชผลต้นข้าว | ประโยชน์ไม่เบาเลยเอย[๑๖] |
(ลูกคู่) พวงมาลัย | ชีวิตของไทยอยู่ที่เจ้า |
นับส่วนร้อยเลยเก้า- | สิบล้วนพวกเจ้าจริงเอย |
เมื่อหน้า
เจ้าพวงมาลัยเอย | |
เจ้าร่วงพรูไป | กลับกลายเป็นลูกจ้าง |
ไร่นาหาไม่ | ได้อาศัยเขาบ้าง |
หรือมิฉะนั้นนายห้าง | ก็หาที่ให้อยู่เอง |
(ลูกคู่) แรงงานไทย | เจ้าศีวิลัยสต์ไปจากนา |
ที่ดินทวีค่า | ตัวเจ้าก็น่าจนจริง[๑๗] |
เจ้าแรงงานเอย | |
เปลี่ยนจากงานบ้าน | กลายเป็นงานฉุกละหุก |
บ่อทองบ่อถ่าน | บ่อน้ำมันเหมืองดีบุก |
บ่อพลอยพลอยสนุก | หรือพลอยทุกข์ก็ตามที |
(ลูกคู่) กรรมกร | กรรมหรือจู่จรจัดให้ |
ทิ้งนาทิ้งไร่ | ไพล่เป็นกรรมกรเอย |
เจ้าแรงงานเอย | |
ต้องปฏิบัติการ | ตามกำหนดของสำนัก |
เหงื่อไหลไคลย้อย | วันละน้อยชั่วโมงพัก |
นับว่าเป็นงานหนัก | ตามศักดิ์ลูกจ้างเอย |
(ลูกคู่) เจ้าแรงงานไทย | จะถึงต้องไกลจากบ้าน |
ไปเที่ยวหางาน | ฐานลูกจ้างเอย |
เจ้าแรงงานเรา | |
ไร่นาพ่อค้าเขา | มีทุนมาลงมากมาย |
เจ้าสู้ไม่ได้ | เจ้าก็ไพล่โอนขาย |
ตัวเจ้าจึ่งกลาย | เป็นลูกจ้างเอย |
(ลูกคู่) แรงงานเรา | จะมีแต่เบารายได้ |
เขาทำการใหญ่ | ไล่เจ้าจนแต้มเอย[๑๘] |
เจ้าลูกจ้างเอย | |
เจ้าถนัดข้าง | ไร่นาหรือโรงงาน |
การใหญ่ใช้คนมาก | มีหลายหลากทุกถิ่นฐาน |
ตั้งบริษัทจัดการ | ทุนหมื่นแสนล้านรุ่งเรืองจริง |
(ลูกคู่) ลูกจ้างโรงงาน | สานกระสอบป่านทอผ้า |
ทำสวนพริกไทยไร่ยางยา | มะพร้าวข้าวปลาสารพัน |
เจ้ากรรมกรเอย | |
อยู่ในนคร | หรือป่าดอนชนบท |
เวลาเป็นของเขา | ไม่ใช่ของเจ้าทั้งหมด |
ขาดเงินทองก็ต้องอด | ทุกสิ่งกำหนดค่าเอย[๑๙] |
(ลูกคู่) กรรมกร | บมิแน่นอนว่าหางานได้ |
ทั้งงานก็ไพร่ | ไม่อิสสระเหมือนกสิกร |
เจ้ากรรมกรเอย | |
ขาดเตร่พเนจร | เจ้าติดงานมากมาย |
มีงานทำเจ้าจำชอบ | งานสมประกอบหาไม่ง่าย |
นึกถึงลานนาน่าสบาย | ชีวิตเจ้ากลายไปแล้วเอย[๒๐] |
(ลูกคู่) ชาวไร่ชาวนา | เสมือนเวลาเป็นของเจ้า |
ทำฤๅหยุดเล่า | แล้วแต่เจ้าจริงเอย |
๒๑ ธันว์. ๗๒
[๑] ประทิ่น เครื่องหอม
[๒] นรนรี ผู้ชายผู้หญิง
[๓] สะบ้า เป็นกีฬาของไทยชนิดหนึ่ง ที่เล่นแบ่งกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๒ คน ใช้ลูกสะบ้า หรือไม้ เขา งา ที่กลึงคล้ายลูกสะบ้า ใช้ทอยบ้าง ล้อบ้าง นิ้วดีดบ้าง ฯลฯ ให้ถูกที่หมายข้างหน้า ถ้าฝ่ายใดเล่นไม่ได้ครบท่าก็แพ้
[๔] ......เข้า คำของพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย ที่จารึกในศิลาขึ้นชื่อเสียง
[๕] ......มา เพราะบ้านเมืองบริบูรณ์ คนจึงไม่ต้องทำงานหนัก ลอยนวลได้มาก ชายมีอำนาจเหนือหญิง อาศัยแรงหญิงด้วย หญิงจึงเป็นงานเป็นการมากกว่าชายโดยปกติ
[๖] ......เวลา ข้าพเจ้าเปลี่ยนเอาคนไทยเข้าทำการสวนที่บ้านแทนจีน หรือแขก แกไม่ยอมทำและหยุดตามเวลานาฬิกา เวลาขี้เกียจแกก็ไถลไม่ทำ เวลาขยันแกจะทำให้แล้ว กลางวันแกก็ไม่ยอมหยุด เพราะแกกินเพียงเช้ากับเย็นเท่านั้น ความอบรมตามบ้านนอกเป็นเช่นนี้ ตามวิธีของผู้ไม่มีเวลามาบังคับ
[๗] ......เพลิน คือ ที่อังกฤษเรียกว่า Leisure time หรือเวลาที่เป็นของตัวจะทำอะไรก็ทำได้ ไม่ใช่เวลาของนายจ้างที่เราต้องจำทำงานให้แก่เขา
[๘] ......เงิน คติใหม่ที่บูชาเงิน The Almighty Dollar เป็นเหตุให้คนหาเวลาว่างมิได้ ตีราคาเวลาเป็นเงินเสียทั้งนั้น ถึงตนเองจะไม่ไยดีเช่นนั้น ความจำเป็นก็บังคับเพราะทุกอย่างมีค่า ตนจะอยู่ได้ก็ด้วยมีเงินซื้อ จึงจำต้องอาบเหงื่อหาเงิน เซอร์รพินทรนาถ ตกูร กล่าวว่าอารยธรรมใหม่ตัดความปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งเป็นเนื้อ ให้ไปชุลมุนวุ่นวาย ปฏิบัติทางรูปธรรมซึ่งเป็นเปลือก เพราะมนุษย์ไม่มีเวลาเสียแล้วคือ ได้ขายตัวเป็นทาษของเวลาเพราะเหตุบูชาเงินนั่นเอง
[๙] ......เจ้า ตะวันออกได้เรียนอารยธรรมใหม่จากตะวันตก แต่ชาวตะวันตกก็รู้สึกตัวแล้วว่า อารยธรรมเก่าของตะวันออกก็มีอะไรที่จะสอนชาวตะวันตกมากเหมือนกัน คือ ความเจริญส่วนนามธรรม Moral and Spiritual Sciences อันจะให้เกิดประโยชน์ยิ่งไปกว่า Physical Sciences ธนการเป็นปัจจัยแห่งอารยธรรมใหม่ แต่เศรษฐกิจที่ประณีตยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นแต่พระเจ้า ย่อมเป็นมารด้วย Socialism ที่ปราร์ถนาศาสนาพระศรีอารย์ ก็พยายามขบปัญหาข้อนี้ และคงจะได้เรียนจากความรู้และวิธีของอารยธรรมเก่ามาก มีเรื่องว่างหรือไม่ว่าง มีเวลาหรือไม่มีเวลา นี้เป็นอย่างหนึ่งละ
[๑๐] ......อนิจฺจํ อารยธรรมเดิรจากเก่าไปหาใหม่ แล้วเดิรต่อไปเข้ารูปเก่า เท่ากับหมุนไปประจบรอบ แต่ไม่ใช่เข้าที่เดิม ย่อมเคลื่อนที่ทำวงใหม่ต่อไป
[๑๑] ......ล่อ ทั้งพ่อค้าจีนและแขกพาเสื้อผ้างามๆ เป็นต้น ไปขายถึงท้องนาด้วยแล้ว
[๑๒] ......สีเอย โรงสีเล็กๆ ตั้งขึ้นตามบ้านนอกเกลื่อน ทั้งซื้อข้าวสีส่งกรุงเทพฯ (ส่งข้าวสารแทนข้าวเปลือก เล่นเอาโรงสีใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ โทรมไปตามกัน) และรับจ้างสีข้าวเพียงเกวียนละราว ๔ บาท เอาปลายข้าวเสียด้วย ชาวนาเห็นเกินคุ้มความลำบากที่ต้องตำซ้อมสีข้าวกินเอง ทั้งได้ข้าวขาวน่ากินด้วย จึงพากันใช้โรงสีมากขึ้นแต่ข้าวที่ขัดขาวนั้นก็ทิ้ง Vitamine ในปลอกข้าวเสียด้วย
[๑๓] ......เอย ญี่ปุ่น จีน สู้เราไม่ได้ เพราะเขามีการถือชาติ Nationalism แรงกว่าเรามาก จีนยังสูบยาแดง ญี่ปุ่นสูบบุหรี่ที่ญี่ปุ่นทำ แต่ชาวนาของเราทิ้งบุหรี่ไทยหันเข้าสูบบุหรี่นกอินทรี เราเปลี่ยนง่ายเพราะ Nationalism ของเราอ่อนเหลือเกิน เราเป็นคนของโลกมากกว่าเป็นคนของชาติ เป็นอารยธรรมที่กำลังจะหมายถึงในอนาคตอันไกล
[๑๔] ......โทษเอย หาได้ไม่พอใช้ก็จำนองนา ในที่สุดก็เช่านาเขาทำ นี้เป็นการลงโทษของพระเจ้าเงิน ซึ่งแต่ก่อนเมื่อยังไม่เสด็จเข้ามา (คือ เงินไม่ได้เป็นนาย ศักดิ์เงินเป็นเพียงทาษรับใช้ฉะเพาะที่จำเป็น) ชาวนาก็ไม่ต้องรับโทษเหล่านี้
[๑๕] ......เคย ชาวต่างประเทศชมเราว่าเป็นสุข หน้าชื่นบาน ร่าเริง ดูหนังสือข่าวต่างๆ
[๑๖] ......เอย ทั้งที่กสิกรไม่ต้องเป็นทาษแห่งเวลา มีสีหน้าแจ่มใส ไม่ต้องหน้านิ่วคิ้วขมวด (เว้นแต่เรื่องขาดเงิน) ไม่ต้องกล่าวว่า “ฉันไม่มีเวลา” กสิกรก็ยังเป็นพวกที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศของตัวมากมาย จนได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติอยู่นั่นเอง
[๑๗] ......จริง คนเราแต่ก่อน ถ้าไม่ต้องอยู่บ้านนาย ก็มีบ้านของตัวอยู่ บ้านเช่าสำหรับแต่ชาวต่างประเทศเท่านั้น เดี๋ยวนี้คนไทยต้องเช่าที่เขาอยู่ เช่านาเขาทำมีมากขึ้นทุกที ประเทศยิ่งศีวิลัยสต์ ที่ดินยิ่งตกเป็นสมบัติของผู้มั่งมีมากขึ้น ยิ่งคนเจริญไม่ทัน ประเทศก็ยิ่งเป็นลูกกะโล่ของชาวต่างประเทศมากขึ้น
[๑๘] ......เอย บุทคลหรือบริษัทที่ทำสวน นา มากๆ จะมีมากขึ้น มีทุนใช้เครื่องแทนแรงคนแรงสัตว์ ตัดเวลาและโสหุ้ยได้มากขึ้น กสิกรผู้ทำการแต่เล็กน้อยตามกำลังของตัว จะสู้ไม่ได้ จะไม่แต่หาได้น้อยลง จะทนอยู่ไม่ได้ต้องทิ้งไร่นาไปหางานอื่นทำพอยังชีพให้เป็นไป โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ Mass production ได้ทำลายอุตสาหกรรมตามบ้าน Home Industry แล้วอย่างไร น่ากลัวว่าภายหน้าสวน นาใหญ่ๆ จะทำลายสวนนาเล็กๆ เช่นเดียวกัน
[๑๙] ......เอย “ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า” อย่างอารยธรรมโบราณ ไม่ต้องสำเร็จด้วยเงิน สำเร็จด้วยแรงเท่านั้น แต่สำหรับอารยธรรมใหม่ทุกอย่างต้องสำเร็จด้วยเงิน ไม่มีเงินซื้อก็อด เงินจึงมีอำนาจมากมาย จนคนต้องบูชาเป็นพระเจ้าผู้ให้สุขทุกข์ได้แท้จริง
[๒๐] ......เอย กลายจากผู้เป็นไทยมีอิสสระแก่ตัวไปเป็นลูกจ้างผู้มีนายจ้าง และเงินค่าจ้างของเขาบังคับ อยู่