- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
กับ สิทธิการจัดการศึกษาสำหรับประเทศ
(กาพย์ฉบัง)
“ถามหน่อยเถิดหนูผู้เพียร | เสร็จจากโรงเรียน |
แล้วเจ้าจักทำอะไร” | |
“ฉันเป็นพ่อค้าก็ได้ | ให้เตี่ยหัดให้ |
ตั้งห้างอย่างเถ้าเก๋ฮง” | |
ถามทั่วทุกคนก็คง | ได้คำตอบลง |
รอยกันมิพลันสงสัย | |
จากโรงเรียนจีนจงไป | ถามโรงเรียนไทย |
จักได้คำตอบบนาน | |
“ผมคิดเข้าทำราชการ | เช่นท่านขุนชาญ |
ลูกบ้านเดียวกันมั่นหมาย” | |
“หนูอย่านึกว่าง่ายดาย | คิดเข้าค้าขาย |
พ่อค้าค่อยน่ามั่งมี[๑]” | |
“ผมรักราชการงานดี | ตำแหน่งหน้าที่ |
ยศศักดิ์บัฏตราน่าแสวง” | |
“บัดยามสยามต้องการแรง | ไทยฉลาดทุกแขนง |
ทั้งนอกและในราชการ”[๒] | |
เศรษฐกิจก็กิจแก่นสาร | นักเรียนรักงาน |
ควรเลือกประกอบเหมือนกัน” | |
“ผมชอบราชการเท่านั้น | ตั้งใจหมายมั่น |
แต่จะเข้ารับราชการ” | |
คำตอบเช่นนี้มีประมาณ | กี่ส่วนร้อยวาน |
คำนึงจะพึงพิศวง | |
นึกไปไม่น่างวยงง | การค้าขายคง |
ไม่คุ้นไม่ค่อยเคยทำ | |
เคยแต่รังเกียจด้วยซ้ำ | นายไพร่ได้ชำ- |
นาญล้วนงานเรียก ‘ราชการ’[๓] |
ชาวสยามเชื้อจีน ฝรั่ง แขก เป็นทหารเอกของชาติ
ในการสู้เศรษฐสงคราม[๔]ของชาติ
เศรษฐกรรมจีนทำชำนาญ | อบรมลูกหลาน |
เป็นแรงสยามยามรณ | |
พ่อค้าไทยแทบทุกคน | ที่ช่วยประเทศตน |
ต่อสู้สุรเศรษฐสงคราม | |
เป็นเชื้อแขกฝรั่งจีนจาม | เป็นแรงแห่งสยาม |
รณเยี่ยงสุรเศรษฐเสนา[๕] | |
น่าจักอุปถัมภ์นำพา | ให้เป็นทัพหน้า |
นำค้าแข่งเข้าภูมิสมร[๖] | |
พร้อมพรั่งนั่งร้านการจร | แห่งเศรษฐนิกร |
ก็ค่อยสะดวกหน่อยรา[๗] |
โรงเรียนจีน แขก ฝรั่ง กับพระราชบัญญัติประถมศึกษา
กฎหมายประถมศึกษา | จัดจริงจักพา |
โรงเรียนจีนแขกแปลกไป | |
คือสอนส่วนประถมได้ | โรงเรียนฝรั่งไซร้ |
เขาสอนถูกต้องตลอดมา[๘] | |
การเกณฑ์เรียนประถมศึกษา | ทั่วราชอาณา- |
เขตต์นี้จำเป็นเห็นสม | |
เพื่อเร่งแผนรัฐอบรม | ให้เกิดนิยม |
ศึกษาเป็นนาครสยาม[๙] | |
ภาษาแขกฝรั่งจีนจาม | จะสอนก็ตาม |
เป็นอติเรกเรียนไป[๑๐] | |
กฎหมายโรงเรียนราษฎร์ให้ | อนุญาตไว้ |
ทำเถิดคงเกิดมรรคผล | |
เด็กได้เรียนประถมทุกคน | แล้วจะขวายขวน |
เรียนอื่นก็พื้นศึกษา[๑๑] | |
โรงเรียนจีนแขกยังหา | เป็นประถมศึกษา |
ตามแบบหลวงไม่ภัยมี | |
อบรมเด็กเกิดเมืองนี้ | เป็นนาครดี |
แห่งสยามหรือยังยังฉงน[๑๒] | |
ใช้ราชบัญญัติบัดดล | ประถมศึกษาปรน |
กรุงเทพฯ จะเปรื่องเฟื่องฟู | |
เด็กเราเด็กต่างด้าวผู้ | สมศึกษาอยู่[๑๓] |
จักได้ศึกษาอย่างสยาม | |
โรงเรียนแขกฝรั่งจีนจาม | จะล้วนทำความ |
ช่วยเหลือแท้จริงยิ่งยง[๑๔] | |
ศึกษาคือสิทธิสูงส่ง | สยามสงวนควรคง |
ธำรงสยามยามแปลง[๑๕] | |
ทหารเอกเกิดเต็มเข้มแข็ง | ส่งสยามดำแคง |
แข่งค้าฝ่าเศรษฐสงคราม | |
จัดประถมศึกษางดงาม | นกสองตัวตาม |
ตูมม้วยด้วยกระสุนลูกเดียว[๑๖] |
[๑] ......มั่งมี ลำพังทำราชการจะมั่งมีไม่ได้ เพราะตำแหน่งสูงได้เงินเดือนมาก ก็ต้องใช้จ่ายมากตามฐานะ เป็นเงาตามตัว ได้แต่เขยิบฐานะยิ่งขึ้นไป
[๒] ......ราชการ ราชการต้องเลือกฟั้นหาคนดีคนฉลาด ส่วนการค้าขายและตั้งโรงงานทำอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ต้องการคนดีคนฉลาดเหมือนกัน สมัยนี้ถึงคราวที่ประเทศจะฉวยเอาคนดีๆ เข้าไปไว้ในราชการเสียหมดเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว คนเปลี่ยนทางเมื่อกลางอายุ เช่น ลาออกจากราชการไปทำการค้าขาย ก็สู้ตั้งต้นค้าขายแต่หนุ่มไม่ได้ เพราะวิธีราชการกับวิธีพาณิชย์ผิดกัน ดูคำอธิบายเรื่องนี้ในเรื่องต่างๆ ของครูเทพ
[๓] ......‘ราชการ’ เรามีวิธีให้ชายทุกคนได้รับราชการ ภายหลังให้เสียเงินแทนมาเข้าเวรรับราชการได้ เงินนั้นเรียก ‘เงินค่าราชการ’ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเรียกว่าเงินรัชชูปการเมื่อรัชกาลที่ ๖ แผ่นดินอันอุดมของเราเป็นเหตุให้การอยู่กินอย่างแต่ก่อนไม่ต้องการซื้อขายจ้างออนกันนัก เลี้ยงดูให้ปันเผื่อแผ่อาศัยไหว้วานกันได้ง่ายๆ ชาวบ้านนอกเดี๋ยวนี้ที่ยังรังเกียจการรับจ้างก็ยังมีถม
[๔] เศรษฐสงคราม ประเทศเจริญมากมีคนมาก ปลูกโภชนาหารไม่พอกิน ต้องทำสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ แลกอาหารและวัตถุดิบ ประเทศเข้าเขตต์อุตสาหกรรมเช่นนี้มีมากด้วยกัน ก็แข่งกันขาย ฝ่ายประเทศเพาะปลูกมักมีคนน้อยมีที่ดินมาก เมื่อการอยู่กินฟูมฟายขึ้น ต้องการแลกเปลี่ยน ก็เข้าสู้สงครามเศรษฐกรรมกับเขาด้วย สงครามเช่นนี้ไม่มีเวลาเลิกเหมือนสงครามอาวุธ
[๕] ......เสนา รบอย่างทหารพ่อค้าผู้เข้มแข็ง
[๖] ภูมิสมร หรือสมรภูมิ สนามรบ
[๗] ......รา คนหมู่มากผู้จะหากินทางค้าขายหรือรับจ้าง เมื่อมีพ่อค้าตั้งเป็นปึกแผ่นอยู่มาก ก็ได้อาศัยเท่ากับช่างทำเรือนอาศัยนั่งร้าน จีนบางตอนได้เข้าระยะอุตสาหกรรมมานมนาน เขามีเลือดพ่อค้าแล้ว แต่ไทยยังอยู่ในระยะกสิกรรมมาหยกๆ ค้าขายไม่เป็น ที่เราชมจีนว่าเขา ‘โต้หลง’ กันดี และติพวกเราเองว่าไม่ช่วยกันนั้นไม่ใช่อื่นคือจีนมีนั่งร้าน ได้แก่พ่อค้าและเลือดพ่อค้าแล้ว แต่เรายังไม่มี (มีพ่อค้าสองสามคน ก็เท่ากับยังไม่มีนั่นเอง) พวกเรามันเป็นชาวกสิกรแท้ๆ
[๘] ......ตลอดมา โรงเรียนศาสนาของฝรั่งสอนได้อย่างโรงเรียนไทย และสอนขึ้นไปถึงมัธยมแล้ว แต่โรงเรียนจีนยังสอนอย่างไทยไม่ได้ โรงเรียนแขกก็สอนท่องคัมภีร์โกราน พระราชบัญญัติประถมศึกษาเกณฑ์เด็กเข้าเรียนประถมศึกษา ถ้าโรงเรียนไม่จัดถูกต้อง เด็กได้รับหมายเกณฑ์ ก็จะต้องไปเข้าโรงเรียนอื่นหมด เมื่อใช้พระราชบัญญัตินั้นและจัดให้ได้จริง โรงเรียนจีน แขก ดุจโรงเรียนฝรั่งก็จะต้องจัดเป็นประถมได้หมด
[๙] ......สยาม เด็กในสยามจำต้องศึกษาอบรมให้เป็นพลเมืองดีของสยาม จะเป็นอย่างอื่นหาควรไม่
[๑๐] ......ไป ภาคต่างประเทศนั้นๆ เรียนเป็นพิเศษในโรงเรียนกลางคืน หรือเรียนไปกับประถม หรือเมื่อจบประถมแล้วก็ได้ ดังจีนใน ส.ป.ร. อเมริกา เขาเรียนกันเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว
[๑๑] ......ศึกษา กำหนดบังคับให้ทุกคนเรียนแค่ประถมเป็นขีดที่รัฐบาลถือว่าจำเป็นในเวลานี้ (ต่อไปคงจะค่อยเขยิบขึ้นเป็นลำดับ) การเรียนอื่นๆ นอกจากนั้นหรือต่อนั้นก็ล้วนเป็นการศึกษาที่บุทคลเลือกเรียนได้ตามสมัคร
[๑๒] ......ฉงน การเรียนภาษาจีนเป็นพื้น ภาษาไทยเรียนน้อยอย่างในโรงเรียนจีน เด็กย่อมไม่รู้ภาษาไทยและเรื่องเมืองไทยพอ การเรียนโกรานก็คือเรียนศาสนาและท่องสวดมนต์ เหล่านี้ไม่ใช่สามัญศึกษา
[๑๓] สมศึกษาอยู่ อายุยังอยู่ในเขตต์เล่าเรียน หรือยังไม่ได้เรียนจบประถมศึกษา
[๑๔] ......ยิ่งยง โรงเรียนนั้นๆ สอนประถมได้ รับนักเรียนที่ถูกเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติได้ จะล้วนเป็นกำลังแก่บ้านเมืองในทางช่วยให้มีครูและโรงเรียนเพียงพอแก่ความต้องการมากขึ้น
[๑๕] ......แปลง การจัดศึกษาถือกันว่าเป็นสิทธิของประเทศ เราก็ถือเช่นนั้นจึงออกกฎหมายบังคับโรงเรียนราษฎร์กับบังคับการเรียนที่จำเป็น คือ ประถมศึกษา สิทธิซึ่งสงวนไว้เช่นนี้ เมื่อได้ปฏิบัติการโดยควรแก่การ ก็ย่อมจะรักษาประเทศให้รอดได้ ในสมัยหัวต่อที่เศรษฐกรรมเข้ามาทำความเปลี่ยนแปลงให้อลหม่านทำนองคติในพระศาสนาว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
[๑๖] ลูกเดียว กระสุน คือ การคุ้มครองโรงเรียนจีน แขก ฝรั่ง ด้วยพระราชบัญญัติประถมศึกษา นกทั้งคู่ คือ ชาวสยามเลือดจีน แขก ฝรั่ง ได้เป็นทหารเอกของประเทศ ออกเป็นทัพหน้าต่อสู้เศรษฐสงครามให้สยาม ๑ กับสยาม เป็นอันได้สงวนสิทธิการจัดศึกษาแห่งประเทศอย่างจริงจัง ไม่ใช่แต่เพียงขึ้นชื่อ ๑