- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
สภาพพ้อ
สภาพ[๑]พ้อ
ป่า
(อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)
โขดเขาลำเนาธาร | ชลซ่านกระเซ็นเห็น |
ไพรพฤกษ์พิลึกเพ็ญ | ขจิภาพพนาลัย[๒] |
แว่วเสียงสุโนกก้อง | เสนาะร้องระวังไพร |
ลมพัดกะพือใบ | ระบำโบกก็กลกัน |
สัตว์ป่าประดามี | จรลี้ละแวกวัน[๓] |
ป่าสูงสล้างบรร- | พตโพ้นพะนอสรวง |
เมฆจับพยับจอด | ปะทะยอดลำยองยวง[๔] |
ดักแดดและบังดวง | สุริย์ลับสลับสี[๕] |
เพ็ญภาพพนารัญ[๖] | พิศพรรณสภาพมี |
เชิงชวนและยวนยี | และฤควรมิคิดเห็น |
ทะเล
ค่อนหล้ามหาสมุทร[๗] | ชลรุดระลอกเป็น |
ห้วงห้วงทะลวงเบญ- | จทวีปทำวังวน |
ว้างเวิ้งวิวิธวรรณ | นิลคั่นขจีจน |
เขียวอ่อนชะอุ่มชล | ยลตื้น ณ พื้นทราย[๘] |
สมญาชลาลัย[๙] | ผิวแลก็แลหาย |
เห็นแต่กระแสสาย | ชลฉอกระลอกคราม |
ฟ้าครอบ ณ ขอบน้ำ | จรล้ำก็เลื่อนตาม[๑๐] |
งามท้องทะเลงาม | ละเมาะแก่งเกาะแหล่งผา |
นางนวลฤนกเหยี่ยว | ชลเฉี่ยวชำเลืองปลา |
เพ็ญภาพสภาพพา | ฤดิดาลสิวานเห็น[๑๑] |
ชนบท
บ้านนอกบำรุงน้อย | ก็มิค่อยขยับเป็น |
ที่อยู่นิยมเย็น | ยุติเยี่ยง ณ เวียงชัย[๑๒] |
ดินฟ้านภากาศ | ก็สะอาดและสดใส[๑๓] |
ทุ่งท่าพนาลัย | บริสุทธิ์สภาพธรรม[๑๔] |
งามชุดมนุษย์แต่ง | ฤจะแข่งสภาพขำ |
ภูมิจริงและภาพจำ- | เพาะจะเปรียบก็กลกัน[๑๕] |
ทวยธรรมชาติชวน | บมิยวนก็ย่อมขัน |
แท้ธรรมชาตินั้น | ชนบทบำเรอเสบย[๑๖] |
นคร
กรุงไกรคระไลวุ่น | ชุลมุนมิหยุดเลย |
เดิรวิ่งบ่นิ่งเฉย | ชิวร้อนฤนอนเย็น[๑๗] |
ทุกสิ่งประสงค์ค่า | คติขอบ่ค่อยเห็น[๑๘] |
เวลาจำแลงเป็น | ธนไล่เตลิดหลง[๑๙] |
พิศพักตรพสกนา- | คร[๒๐]อ่าสะอางองค์ |
อิ่มเอมเกษมทรง | สุขซึ่งจะพึงหมาย |
บ้างเพียงดำรงชี- | วิตดีมิอดตาย |
บ้างยากลำบากกาย | เพราะมิค่อยจะพอกิน |
ความต่างระหว่างนา- | ครดุจฟ้าดิน |
ยิ่งเมืองเมลืองสิน | สิประจักษมากหลาย[๒๑] |
เอี่ยมอารยธรรมทำ | รสธรรมชาติกลาย |
โลกแต่งจำแลงกาย | กลคนละโลกกัน |
แลดูมิจำได้ | ดุจลืมก็เหลือขัน |
ลืมธรรมชาติพลัน | ฤมิยินมิยอมเห็น[๒๒] |
ภาสิต
เชิญตรึกสำนึกทราบ | สุวภาพ[๒๓]สภาพเพ็ญ |
ถ้วนธรรมชาติเป็น | มิตรแท้มิแปรผัน[๒๔] |
๑๕ พฤศจิก. ๗๒
[๑] สภาพ ธรรมชาติ สิ่งที่เป็นเอง ธรรมดาโลก ส่วนที่คนทำขึ้น เช่น บ้านเมือง ใช้ว่าสภาพ เป็นการใช้ศัพท์ผิด
[๒] พนาลัย ป่าที่อยู่ในเขตต์เขา จะเห็นเขียวชะอุ่มเป็นคลื่นไปสุดสายตา
[๓] ......วัน สัตว์ป่าทั้งหลาย ตลอดจนไก่ป่า ก็ย่อมหลบซ่อนไปให้พ้นทางคน ยิ่งสัตว์ใหญ่ เช่น เสือ ช้าง จะยิ่งหลบไปไกลที่เรียกว่าป่าสูง หามาใช้ชมระกะไปเหมือนสัตว์ในสวนสัตว์ไม่
[๔] ......ยวง เขาสูงระฟ้ามักมีก้อนเมฆแปะอยู่ตามยอดเป็นก้อน ๆ ดูเป็นยวง ๆ
[๕] ......สี เมฆรับแสงแดดสว่างข้างบนและบังแผ่นดินข้างล่างให้เป็นเงามืด แลดูก้อนเมฆเองก็เห็นสีสลับเป็นขาวกับดำ สว่างกับมืด
[๖] พนารัญ พน + อรัญ ป่า
[๗] ......สมุทร พิภพมีน้ำ ๓ ส่วน บกส่วนเดียว
[๘] ......ทราย น้ำทะเลมีสีต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นสีนิล หรือคราม จนถึงสีเขียวอ่อนใส เห็นพื้นทรายใต้น้ำ แท้จริงน้ำก็สีเดียว แต่เห็นเป็นต่างสีเพราะลึกตื้นต่างกัน
[๙] ......ชลาลัย ชล + อาลัย ที่อยู่ของน้ำ ในที่นี้หมายเอามหาสมุทรหรือทะเลซึ่งแลไม่เห็นฝั่ง
[๑๐] ......ตาม ขอบน้ำที่เห็นเหมือนจดฟ้านั้นคือโค้งนูนของพิภพ เมื่อเรือแล่นใกล้เข้าไปขอบนั้นจึงเลื่อนตามไปอยู่เสมอ
[๑๑] ......เห็น ภาพแห่งธรรมชาติงามถึงเพียงนี้ วานเห็นและรื่นเริงบันเทิงใจสักหน่อย
[๑๒] ......เวียงชัย เรามักไปอยู่บ้านนอกเป็นครั้งคราว มีที่หัวหินและดอยสุเทพ เป็นต้น ความสะดวกสบายในแถบชนบทยังน้อยกว่าในกรุงมาก ชาวกรุงจึงไม่ค่อยทิ้งกรุงไปอยู่บ้านนอกเสียตลอดทีเดียว
[๑๓] ......สดใส คนอยู่บาง มีที่ว่างมาก ต้นไม้ทำอ๊อกซิเจน คนและสัตว์ใช้อ๊อกซิเจนน้อย อากาศจึงสดใสกว่าในกรุงที่อยู่กันเบียดเสียด
[๑๔] ......สภาพธรรม ที่ทั้งหลายเหล่านั้นยังเป็นอยู่ตามธรรมชาติ คนยังไม่เข้าไปตกแต่งแก้ไขให้เปลี่ยนแปลงไปจากธรรมชาตินัก
[๑๕] ......กลกัน ภาพเขาไม้ฝีมือเขียนดีๆ ก็งามไม่น้อย เราติดฝาไว้ดูเล่นเพื่อเพลิดเพลิน แต่จะเปรียบกับไปเที่ยวชมที่นั้นจริงๆ อย่างไรได้ อุปมาข้อนี้ฉันใด อุปมัยคืองามที่มนุษย์แต่ง จะไปแข่งกับงามของสภาพที่เป็นเองย่อมไม่ได้ฉันนั้น
[๑๖] ......เสบย จะชมธรรมชาติต้องไปชมที่บ้านนอก เพราะยังถูกมนุษย์แก้ไขน้อย
[๑๗] ......เย็น กรุงเป็นที่รวมกิจการ การอยู่กินในเมืองก็แพงกว่าตามบ้านนอก คนในกรุงจึงทำงานอย่างวิ่งแทนที่จะอืดนั่งๆนอนๆ หรือทำเป็นพักๆ เหมือนชาวบ้านนอกทำกัน
[๑๘] ......เห็น การหักไม้เป็นขอทิ้งไว้แล้วเอาของไปอย่างแต่ก่อนต้องเลิก
[๑๙] ......หลง ภาสิตที่ว่า ‘เวลาเป็นเงิน’ ย่อมขับคนให้นิ่งอยู่ไม่ได้
[๒๐] นาคร ชาวนคร
[๒๑] ......หลาย เมืองยิ่งเจริญทางเศรษฐกรรม ธนการยิ่งละเอียดฟั่นเฝือและแพร่หลายมากขึ้น เงินเข้าไปรวมกองอยู่ในธนาคาร คนมั่งมีก็มีเหลือล้น คนยากจนก็แทบอดตาย
[๒๒] ......เห็น เราลืมธรรมชาติเร็วเช่นนั้น หรือเราหนวกบอดต่อธรรมชาติเอง อย่างที่เรียกว่าฟังก็ไม่ได้ยิน แลดูก็ไม่เห็น
[๒๓] สุวภาพ สุภาพ ความงามดี
[๒๔] ......แปรผัน ธรรมชาติมีอยู่เสมอ ถ้าเอาเป็นมิตรได้ คือ เพลิดเพลินในธรรมชาติ ธรรมชาติก็เป็นมิตรอยู่ร่ำไป จึงเป็นมิตรแท้ไม่ใช่มิตรเทียม