- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
อารยธรรม
เก่า กับ ใหม่
(กาพย์ห่อโคลง)
อารยธรรมงำโลกแล้ว | เจริญรอย กฎโลก |
เป็นอนิจจังพลอย | เปลี่ยนพร้อม |
อ่อนแก่เก่าใหม่คอย | ขยับวุ่น หมุนเวียน |
ออกตกวกวนอ้อม | ออกหน้าพาไคล[๑] |
อันว่าอารยธรรม | แม้ครอบงำโลกไฉน |
ก็ยังไม่พ้นไป | จากความเป็นอนิจจัง |
แบบเก่าเข้าศาสนา | จึงจิตตานุภาพ[๒]ขลัง |
แบบใหม่ใคร่เชื่อฟัง | ดังวิทยาศาสตร์ว่าวอน |
จึ่งเปรื่องเรื่องรูปธรรม | ก่อเศรษฐกรรมนำหน้าก่อน |
มั่งคั่งทั้งทุนรอน | ค่อนข้างค้าอานุภาพเงิน |
พวกเราต้องเล่าเรียน | เพิ่งพากเพียรพาระหกระเหิน |
อาวุธแบบใหม่เกิน | กำลังเราเข้าตาจน |
วิทยาพายุโรป | เที่ยวเอื้อมโอบทุกแห่งหน |
สินค้าพาผู้คน | ด้นดั้นบุกรุกดินแดน |
ยุคยุโรปเล่นเมืองขึ้นเป็นยุคสงครามการเมือง
และเป็นยุคที่โลกเรียนอารยธรรมแผนใหม่
แสนยากระกึกก้อง | กัมปนาท |
ยุโรปท่วมโลกธาตุ | ถิ่นท้อง |
ปถพีที่มนุษยชาติ | นาเนก เนานอ |
เคยสถิตอิสสระ, ต้อง | ตื่นเต้นเป็นชะเลย |
ยุโรปธำรงโลก | เป็นจอมโจกเจียวเจ้าเอ๋ย! |
ก้าวหน้าไม่ล้าเลย | เพราะความรู้เฟื่องฟูจริง |
ตรัสรู้คติโลก | ประลุโอฆวิชชา, สิง |
วิทยาศาสตร์ประหลาดยิ่ง | เป็นอย่างยอดโลกิยญาณ[๓] |
เรืองเดชวิเศษฤทธิ์ | ประสิทธิ์ศักดิ์มหัครฐาน |
ยุโรปท่วมจักรวาล | กำเนิดจักรวรรดิเวียง[๔] |
อเมริกาอีกอาเซีย | ออสเตรเลียล้วนสิ้นเสียง |
อาฟริกาก็เกือบเกลี้ยง | เผดียงขึ้นกับผิวขาว[๕] |
ยุคแข่งเมืองขึ้นนี้ | ใช้วิธีการเมืองฉาว |
อำนาจบาตรใหญ่ห้าว | หาเหตุให้ได้รบกัน |
อังกฤษ, ฝรั่งเศส, | โปรตุเกสกับฮอลลันด์ |
ภายหลังเหล่าเยอรมัน | ขันแข่งด้วยช่วยฉู่ฉาว |
สยามน้อยชะรอยรอด | เพราะได้ยอดกษัตริย์คราว |
กลียุคฉุกเฉิน, ชาว | ประเทศใกล้ไม่เหลือหลอ |
อนึ่งเล่าเราอยู่ลี้- | ลับวิถีทางหลวง[๖]พอ |
ปลายแหลมมะลายูก็ | ได้ตกยากอยู่ปากทาง |
สยามเทวาธิราช | รักษาชาติสยามพลาง |
พะยุงยศสยามอย่าง | ประจักษ์ จักษุนักหนา[๗] |
มหาเมฆตั้งมืดฟ้า | ฟูมโพยม |
มหาวาตพัดกะพือโหม | หอบน้ำ |
ไม้ไล่ลู่ลมโครม- | ครามทะลึ่ง ปึงปัง |
ฟ้ากระจ่างฝนสร่างซ้ำ | พุ่มไม้ใบเขียว |
ยุคแข่งเมืองขึ้นเจือ | เป็นยุคเพื่อคุณโทษเจียว |
ยุโรปทารุณเที่ยว | ทำอำนาจกวาดดินแดน |
เดือดร้อนกันทั่วโลก | เผชิญโชคถูกหมิ่นแคลน |
บ้างเสียอิสสระแสน | เสียดายชาติวาสนา |
ที่เฝ้าเอาตัวรอด | นับว่ายอดในชาตา |
ทั้งหมดดีที่ว่า | ได้ศึกษาอารยธรรม |
แม้ผู้เป็นชะเลย | ต้องเสวยวิบากกรรม |
เพราะเขาเข้าครอบงำ | จับมือทำก็ชอบที |
เป็นใหญ่ที่ศึกษา | ให้วิชชากันเต็มที่ |
ซึ่งเท่าเขาหมายดี | ให้ได้มีอารยธรรม์ |
นายใดหมายกดขี่ | ย่อมจะมีแต่หวงกัน |
ชะเลยเคราะห์ร้ายนั้น | ไม่มีวันจักเป็นไทย |
เรื่องนี้อังกฤษกล้า | ให้ศึกษาสมสมัย |
แม้มหาวิทยาลัย | ก็ให้มีมานมนาน[๘] |
พระเจ้าจักรพรรดิ[๙] | เป็นกษัตริยมหาศาล |
ใคร่จะพระราชทาน | ฐานมลประเทศ[๑๐]จริง |
ฐานเช่นนี้เล่า | นับวันเจ้าจะยงยิ่ง |
เป็นอิสสระจริง | คงเหนี่ยวไว้แต่ไมตรี[๑๑] |
ยุคโลกรับเอาอารยธรรมแผนใหม่แล้ว
เป็นยุคที่เมืองขึ้นเริ่มได้อิสสรภาพ
และ สงครามเศรษฐกรรมเข้าแทนที่สงครามการเมือง
ศรีสิทธิ์สฤษฏ์โลกล้วน | อวลอา- รยธรรมเอย |
ศานติวิริยะพา | โลกเพี้ยง |
บ้านมนุษย์สุดมโหฬาร์, | คือโลก เราแล |
จัดโลกแผนบ้านเลี้ยง | มนุษย์รู้อยู่ผา- สุกแล |
ทั่วโลกเริ่มสว่าง | อย่างปัจจุบันศึกษา |
เสร็จศิลปวิทยา | ยอดปริญญาวิทยาลัย |
ศึกษาสำเร็จจึง | เข้าถึงรสอารยธรรมใหม่ |
ประชาราษฎร์ชาติใด | ได้เกลื่อนกลาด[๑๒]ชาติจำเริญ |
ยุคโลกรับอารยธรรม | ยุโรปจำเปลี่ยนทางเดิร |
ยอมรับว่าโลกเกิน | กว่ายุโรปทวีปเดียว[๑๓] |
เมืองขึ้นขึ้นเหมือนมิตร | เวนคืนอิสสรภาพเชียว |
หากห่วงต้องหน่วงเหนี่ยว | เพราะกลัวจะจลาจล |
เอาไว้ไม่อยู่แล้ว | เป็นเกลอแก้วยังเกิดผล |
ปลูกฝังให้ตั้งตน | มลประเทศวิเศษสม |
เลิกโลกรุกดินแดน | ชวนเข้าแผนใหม่นิยม |
ให้ต่างอภิรมย์ | ในแดนเก่าเท่าที่มี |
สยามน้อยพลอยชอบใจ | เพราะพ้นภัยการเมืองที |
เพียงหวังตั้งแต่นี้ | ไม่มีมิตรลิดตีนปู[๑๔] |
ดูหรือการรบ, เจ้า | จำแลง |
รูปจากอาวุธแผลง | พร่า มล้าง |
เป็นเศรษฐกิจกำแหง | มหิทธิฤทธิ์ |
เจ้ายอดมายา[๑๕]ข้าง | เคียดคั้นพันตู[๑๖] |
เลิกแข่งแย่งดินแดน | มาเปลี่ยนแผนการต่อสู้ |
เป็นแย่งตลาดกู้ | การสินค้าคร่าห์เศรษฐกรรม |
สงครามการเมืองแกล้ง | มาจำแลงรูปคมขำ |
เป็นเศรษฐ์สงครามทำ | สยามวุ่นครุ่นเศรษฐภัย |
พ้นเสือประสพจ- | ระเข้า[๑๗]ก็จะทำไฉน ? |
ล้าเต้อยู่ร่ำไป | ต้องเร่งให้การศึกษา |
บางทีจะพอทัน | ยังมีวันอยู่ข้างหน้า |
แต่ต้องไม่เนิ่นช้า | จึ่งเวลาอาจรอคอย |
วิสามัญศึกษา | เลยเวลาอย่าอ้อยสร้อย |
ประถมศึกษาปล่อย | ด้อยส่วนนี้จักมีภัย[๑๘] |
ใครเรียนอะไรมา | ธรรมดาอยากจะใช้ |
เรียนสือสุดวิสัย | จักได้งานทำทั่วกัน |
๒๕ มิถุน. ๗๓
[๑] ......ไคล ชมพูทวีปและไอยคุปต์ในทวีปอาฟริกาได้เจริญแล้วเมื่อครั้งยุโรปตะวันตกยังเป็นป่าเถื่อนอยู่ อารยธรรมเก่าเจริญถึงที่แล้วหยุดอยู่ อารยธรรมใหม่ได้เจริญขึ้นทางยุโรป โดยได้ความรู้เท่าธรรมชาติบังคับธรรมชาติได้ ยุโรปกลับได้เป็นครูสอนโลก ความเจริญแห่งอารยธรรมย่อมวกวนอยู่เช่นนี้
[๒] จิตตานุภาพ อานุภาพแห่งจิตต์เกิดแต่สมาธิ คือ การรวมจิตต์ให้มั่นอยู่ในสิ่งเดียวไม่ว่อกแว่ก จิตต์จึงมีกำลังอาจแทงทะลุปัญหาที่ยาก ดุจอาวุธคมแทงทะลุเครื่องกีดกั้น หรือดุจแสงแดดที่หน้าแว่นนูนรับไว้ แล้วรวมฉายลงเป็นจุดเดียว จนร้อนจุดบุหรี่ติดฉะนั้น
[๓] ......ญาณ ผู้สำเร็จมรรคผลทางโลกุตตร หรือ โลกอุดร คือข้ามพ้นโลก ท่านมีกำลังจิตต์แก่กล้า อาจมีหูทิพย์ ฯลฯ ได้ ล้วนสำเร็จด้วยอำนาจจิตต์ แต่วิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ เช่น ฟิสิกส์ และเฆมิสตรี ช่วยให้มนุษย์ได้ใช้วิทยุโทรเลข โทรศัพท์ กล้องส่อง ตลอดจนถึงเดิรอากาศได้ด้วยเครื่องบิน จึงเป็นยอดความรู้ทางรูปวัตถุ อันเป็นส่วนโลกิย คือความเป็นไปตามธรรมดาโลก
[๔] ......เวียง คือ จักรวรรดิอังกฤษ, ฝรั่งเศษก็มีเมืองขึ้นมาก นับเป็นจักรวรรดิน้อยได้อีกส่วนหนึ่ง
[๕] ......ขาว ขึ้นโดยเจ้าของประเทศเดิมยังคงอยู่เป็นปึกแผ่น เช่น อินเดีย กับขึ้นโดยชนชาติผิวขาวเข้าไปตั้งปึกแผ่น ขับเอาคนพื้นเดิมเสื่อมศูนย์ไป เช่น อาฟริกาใต้ ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น
[๖] ทางหลวง คือ ทะเลหลวง ได้แก่มหาสมุทรซึ่งเป็นทางเดิรสำคัญๆ ของโลก ทางนั้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย ผ่านช่องมะละกาไปเข้าทะเลจีนและมหาสมุทรแปซิฟิก สยามอยู่ในก้นถุงแห่งอ่าวสยามลับเข้ามา
[๗] ...นักหนา แต่ก่อนไม่มีใครรู้จักสยาม เขานึกว่าอยู่ในเมืองจีน หรือเมืองอินเดีย ที่ขึ้นชื่อสยามก็เพราะนายอิน นายจัน ฝาแฝดที่ไปยุโรปและอเมริกา บัดนี้สยามมีฐานะเป็นประเทศหนึ่งในสมาคมแห่งชาติทั้งหลายที่ขึ้นชื่อในโลก
[๘] ......นาน มหาวิทยาลัยจะตั้งได้ต่อเมื่อศึกษาชั้นมัธยมมีเลี้ยงพอ ซึ่งมัธยมก็ต้องอาศัยประถม การที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งขึ้นในอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ แห่งคริสตศักราชมาแล้วเป็นหลายแห่ง ก็เพราะพออังกฤษเข้าครอบครองอินเดีย ก็ได้เริ่มให้การศึกษาอย่างไม่หวงแหนทีเดียว
[๙] พระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระเจ้ากรุงอังกฤษผู้ทรงดำรงตำแหน่งจักรพรรดิราชแห่งจักรวรรดิอังกฤษ
[๑๐] ฐานมลประเทศ Dominion status
[๑๑] ......ไมตรี ในการประชุมอัครมหาเสนาบดีผู้แทนมลประเทศทั้งหลายที่ลอนดอนเมื่อ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ได้มีการตกลงให้มลประเทศได้อิสสรภาพ ตลอดถึงการเกี่ยวกับต่างประเทศด้วย แคนาดาได้ตั้งทูตผู้แทนของตนประจำ ส.ป.ร. อเมริกา แต่นั้นมา สิทธิที่อังกฤษเคยออกกฎหมายครอบมลประเทศก็เป็นอันเพิกถอนด้วย ที่ประชุมได้ตั้งกรรมการพิเศษพิจารณาวิธีการรายละเอียดต่อมา ซึ่งได้เสนอและรับรองกันในการประชุมเช่นนั้นที่ลอนดอนเมื่อ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ อีกครั้งหนึ่ง เป็นอันฐานมลประเทศทั้งหลายกับประเทศมารดาคืออังกฤษเท่ากันทุกอย่าง ไม่มีใครขึ้นใคร เป็นเหมือนพี่น้องรวมเป็นทองแผ่นเดียวกัน ด้วยเข้าร่วมจักรวรรดิ มีพระเจ้าจักรพรรดิราชพระองค์เดียวกัน คือ พระเจ้ากรุงอังกฤษนั้นแล
[๑๒] ......ได้เกลื่อนกลาด คือ มีเปรียญหรือบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยอยู่ทั่วไป
[๑๓] ......เดียว แต่ก่อนนี้ศีวิลัยเซชั่น (อารยธรรมอย่างใหม่) พึงหาได้แต่ในยุโรปเท่านั้น ยุโรปเองก็ยังไม่รู้จักอรัญญประเทศทั้งหลายเท่าไรนัก ประวัติกาลสากล ขึ้นชื่อว่าของโลก ก็คือ ประวัติกาลแห่งยุโรปนั้นเอง ทำนองก็คล้ายกับความอาจเอื้อมของเราที่ตั้งศัพท์ว่า ‘โลกสยาม’ แต่ของเราเป็นทีเล่น ของเขาเป็นทีจริง
[๑๔] ......ลิดตีนปู เราได้เคยถูกมิตรทั้งฟากตะวันตกและตะวันออก แห่งประเทศลิดตีนปูไปแล้ว ฟากละหลายคราว
[๑๕] มายา เครื่องลวง Camouflage
[๑๖] พันตู รบ
[๑๗] ......จระเข้ สำหรับเรา เสือได้แก่ภัยการเมือง จระเข้ภัยเศรษฐกรรม
[๑๘] ......ภัย การศึกษาทั้งชาติ National Education นั้นให้ทุกคนได้ศึกษาตามควรแต่อัตตภาพ ศึกษาชั้นสูงเป็นส่วนอดิเรก แต่ส่วนซึ่งบังคับว่าต้องได้ทุกคนนั้น คือส่วนการศึกษาเท่าที่จำเป็น สำหรับพลเมืองของเราเวลานี้บังคับเพียงประถมศึกษา ต่อไปก็จะค่อยเขยิบขึ้นตามควร ขีดจำเป็นสำหรับพลเมืองต้องประกอบทั้งสามัญและวิสามัญศึกษา หลักสูตรประถมจึงวางไว้ทั้ง ๒ ส่วน ถ้ากสิกรรมศึกษายังรออยู่นานตราบใด ประถมศึกษาในชนบทขาดวิสามัญศึกษา การเกณฑ์ให้เรียนตามพระราชบัญญัติ ก็เป็นเพียงเกณฑ์ให้เรียนหนังสือตราบนั้น. คนเราได้เรียนอะไรมาก็อยากใช้วิชชานั้น การอบรมในห้องเรียนตั้ง ๕ ปีขึ้นไปพอที่จะให้เด็กไม่รู้ และไม่ชอบการกสิกรรม งานของกสิกรเป็นงานหนักตรำแดดฝนและอยู่กับดินโคลนจับไถจอบ การเรียนกสิกรรมได้ช่วยอบรมทางนี้ ถ้ามีแต่การเรียนหนังสือในห้องเรียน แต่งตัวสะอาด จับดินสอปากกา ซึ่งเป็นการตรงกันข้าม นอกจากพรากเด็กมาเสียไม่ให้ได้ฝึกงานรู้งานทางไร่นา ยังเป็นการอบรมให้ไม่ชอบงานเช่นนั้นเสียอีก โรคเสมียนเมื่อครั้งจัดการศึกษาอย่างหัดคนเข้ารับราชการว่าร้ายอยู่แล้ว โรคประถมศึกษาที่ขาดวิชชาวิสามัญนี้ จะซ้ำร้ายไปยิ่งกว่านั้นหลายเท่าพันทวี เพราะจะเป็นกันเกือบทั้งชาติทีเดียว