- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
เกร็ดเรื่องภาษี
(ลำนำ ฉุยฉาย)
ฉุยฉายเอย | |
บ่าวกะบึงกะบอน | ขอดค่อนว่านาย |
กระซิบกระซาบ | ไม่หยาบคาย |
เจ้าเป็นผู้ชาย | เห็นชัดชัด |
นายท่านมั่งมี | เสียปีละหกบาท |
เราเป็นข้าทาษ | ก็หกบาทตะพัด |
หกบาทของท่าน | มันไม่เหมือนของเรา |
หนักเอาเบาเอา | เพราะเราทุนจำกัด |
นายท่านชุบเลี้ยง | จึ่งเพียงอัตคัด |
หาไม่ก็วัด | พึ่ง[๑]เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ฉันชาวบ้านนอก | ขอกนา |
ฉันต้องหาอัฐ | เลี้ยงวัดวา[๒] |
อย่านับประสา | ว่าจะเบียดวัด |
เราขาดเศรษฐี | คหบดี |
แม้คนพอมี | เขาก็ทุนจำกัด |
เถ้าเก๋ร่ำรวย | บ้างช่วยชะงัด |
บ้างก็ถนัด | ศาลเจ้า เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
นายเสียนิดหน่อย | ก็พลอยอาย |
สงสารสมุน | ให้วุ่นวาย |
ยิ่งนึกยิ่งขาย- | หน้านิ่งอยู่ไม่ได้ |
ทนเอาสักนิด | เถอะเจ้าฑิตรอหน่อย |
ไม่ช้าก็จะค่อย | หมดไป |
เราเป็นทหาร | ราชการสองศก |
ออกแล้วท่านก็ยก | เว้นให้ |
พวกเราองอาจ | เชื้อชาติชนกไทย |
หลีกเลี่ยงเมื่อไร | นะเจ้าฑิตเอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ฉันทำนาเปล่า | จะเอาอะไร |
ฉันไม่มีทุน | ให้วุ่นใจ |
สู้ลงแรงไป | มันไม่มีค่า[๓] |
เลิกสมพัตสร | ชาวสวนสบาย |
พวกเราทั้งหลาย | ยังต้องเสียค่านา |
จึ่งไม่มั่งมี | ป่นปี้มากกว่า |
หาให้พ่อค้า | สาแก่ใจ เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ฉันเป็นลูกค้า | หน้าเมื่อย |
หากินง่ายง่าย | ตามชายเฟือย |
ทั้งเหน็ดทั้งเหนื่อย | มั่งมีที่ไหน |
แลกข้าวขายข้าว | ส่งเข้าในกรุง |
เพื่อไปบำรุง | พ่อค้าใหญ่ใหญ่ |
โรงสีทั้งหมด | เขากดราคา |
พวกแกชาวนา | ต่อมากก็ไม่ให้ |
กดทั้งขึ้นทั้งล่อง | ได้คล่องเมื่อไร |
แกอย่าเจ็บใจ | ลูกค้าเลย เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ชิชะ ช่างว่า | หน้าไม่อาย |
ชาวนาหรือกด | จะได้อดตาย |
ขึ้นยุ้งไม่ขาย | นั่นข้าวของพ่อค้า[๔] |
ชาวนาเก็บบ้าง | แต่กำลังไม่มาก |
ถึงอยากหรือไม่อยาก | ก็ต้องขายตามราคา |
เราไม่ใช่ผู้กะ | ถ้าจะค่อนว่า |
เชิญถามพ่อค้า | กรุงเทพฯ เถิด เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
พ่อค้าส่งนอก[๕] | ก็บอกยุบล |
ว่าราคาข้าว | ของเราชอบกล |
จำต้องผ่อนปรน | ตามตลาดโลก[๖] |
หรือมิเช่นนั้น | ครั้นเราไม่ขาย |
ข้าวเหลือมากมาย | ใครเล่าจะต้องโศก |
พ่อค้าทุกชั้น | กันส่วนกำไร |
ซื้อข้าวขายไป | ให้มนุษย์บริโภค |
แกอยู่สุดท้าย | ต้องขายตามโชค |
จึ่งต้องร้องโอ๊ก | จริง เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ราคาข้าวนอก | บอกราคาข้าวใน |
เราขืนราคา | ค้าขายไม่ไหว |
ตลาดโลกเป็นใหญ่ | เพราะขายไปต่างประเทศ |
เมื่อปีน้ำมาก[๗] | อดอยากข้าวแพง |
รัฐบาลแข็งแรง | กักข้าวเป็นพิเศษ |
พวกเราช้ำชอก | ตลาดนอกทำเหตุ |
พ่อค้าใหญ่เทศ | แสดงเลศนัย เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ลูกเกิดบ้านฆ้อง | ร้องพ่อจ๊าว |
ข้าเคยหลงเบื่อ | พวกเรือข้าว |
เหมาว่าก้าวร้าว | แกล้งลดราคา |
ที่แท้ก็ตัว | ท่านนายห้าง |
เป็นผู้นำทาง | ลูกค้า |
เสียแรงห้างขาย | ใหญ่โต |
กำไรอักโข | จริงเจียวนายจ๋า |
กำไรของท่าน | กำไรของข้า |
ข้าไหนจะน่า | เก็บ เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
พ่อค้าใหญ่ใหญ่ | เป็นก่ายกอง |
เสียภาษีกำไร[๘] | ให้เงินทอง |
รัฐบาลไม่ต้อง | เก็บยากจากข้า |
กสิกรย่อยย่อย | ทำน้อยได้นิด |
ท่านน่าระอิด | ระอา |
เจ้าของรายใหญ่ | ไม่มีใครว่า |
เช่นเศรษฐีนา | กรุงเทพฯ[๙] เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
มูลนายข้องขัด อัดใจ | จึ่งจำแถลงให้แจ้งไว้ |
ว่าภาษีกำไร | หรือรายได้[๑๐]นั้น |
รวมทั้งภาษี | มรดก |
ที่เราหยิบยก | ยื้อแย่งแบ่งปัน |
เขาจำกัดเก็บ | แต่ที่มากมาก |
ป้องกันความยาก | แห่งชนทุกชั้น |
เจ้าขุนมุลนาย | เสียดายเหมือนกัน |
เรื่องจึ่งต้องงัน | อยู่เพียงนี้ เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ผู้ใหญ่บ้านว่า | มิน่าเล่า |
โทษนั่นโทษนี่ | ที่แท้ก็เปล่า |
มันเรื่องพวกเรา | ได้ความเสมอภาค |
แต่ก่อนเรา ‘เอี้ย’ | ต้องเสียส่วย |
เดี๋ยวนี้เสียด้วย | กันหมดต่างหาก[๑๑] |
ค่านาของเรา | เราเสียของเรา |
นาท่านเราเช่า | ให้ท่านเสียก็ไม่ยาก |
อะไรใหม่ใหม่ | ให้ท่านลำบาก |
ฉันก็ไม่อยาก | ดอก เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
นายห้างเป็นสุข | สนุกสบาย |
หาได้เท่าไร | เก็บไว้ง่ายง่าย |
ไม่ต้องจับจ่าย | ให้แก่บ้านเมือง |
เมื่ออยู่เมืองนอก | ออกค่าภาษี |
แบกหนักเต็มที[๑๒] | มีแต่หมดเปลือง |
มาอยู่เมืองไทย | หาไม่ฝืดเคือง |
เกือบไม่รู้เรื่อง | เสียภาษีเลย เอย |
เจ้าฉุยฉายเอ่ย | |
นับก้าวน้อยน้อย | แล้วก็ลอยชาย |
เยื้องย่าง | เจ้าช่างกรีดกราย |
กระเดียดกระทาย | ให้ยายเก็บถนัด |
เอาไปแต่งหน้าต่าง | เหมือนอย่างงานวัด[๑๓] |
ใครเห็นให้ทัศน์ | เทียว เอย |
ฉุยฉายเอ่ย | |
ชาวนานั่งหลับ | รับลมสบาย |
มิไยทุ่มเถียง | แกเลี้ยงง่าย |
เลยฝันว่าควาย | มันเตลิดเข้าวัด |
แกจึ่งวิ่งอ้าว | ออกก้าวสกัด |
หลวงพ่อที่วัด | ท่านกำชับไว้ เอย |
๑๙ พฤษภ. ๗๒
[๑] ......พึ่ง อาศัยวัดกิน โดยไปอยู่กับพระ
[๒] ......วัดวา ภิกษุ คือ ผู้ขอ ไม่สะสม มีอาชีพทางเจริญธรรมและสอนธรรม วัดและพระจึงเป็นหน้าที่ชาวบ้านต้องเลี้ยง ในกรุงความรู้สึกเช่นนั้นน้อย เพราะคนมาก แต่ตามบ้านนอก ถ้าหมู่บ้านไหนทรุดโทรม หรือชาวบ้านกลายเป็นคนต่างศาสนา เช่น พวกแขกครัวในเมืองมีนไปเสียมาก วัดของตำบลนั้นก็ร่วงโรย หรือ ถึงร้าง ชาวบ้านนอก เขามักมีวิธีเรี่ยไรข้าวขึ้นบรรจุยุ้งวัด หรือปันเวรกันมาทำของเลี้ยงพระ มีโยมวัดคือหัวหน้าทายกทายิกาเป็นผู้จัดการ
[๓] ......ค่า ชาวนาที่หากินลำพังครอบครัวไม่ต้องเสียค่าลูกจ้าง หาได้พอกินพอใช้ พอเป็นทุนทำต่อไปทุกปี ก็พอได้ความสุขไม่ต้องคิดค่าแรงของตัว นับในจำพวก Small Holders ที่รัฐบาลทุกประเทศปราร์ถนาส่งเสริม สำหรับเมืองเราชาวนาพวกนี้แหละ ถ้ามีสหกรณ์ช่วยไม่ให้ต้องเสียดอกเบี้ยแพงเมื่อคราวต้องการทุน ก็เป็นชาวนาที่มั่นคง ผู้ทำนาต้องเสียค่าลูกจ้าง เวลานี้มักหากำไรไม่ค่อยได้และทำไม่ยืด นอกจากจะมีทุน มีความรู้และใช้เครื่องมือแทนแรงคนทำเป็นการใหญ่ได้เหมาะ
[๔] ......พ่อค้า มีพ่อค้าไปตั้งยุ้งฉางตามทางรถไฟ เพื่อรับซื้อข้าวบรรทุกมาขายกรุงเทพฯ นอกนั้นยุ้งฉางใหญ่ๆ ที่ชาวนาตั้งขึ้นในที่นาของตัวเอง เขาก็มีทุนทำเช่นนั้นได้ด้วยอาชีพทางพ่อค้า คือ ตกข้าว รับจำนำคิดดอกเบี้ยแพงและค้าข้าว หาใช่ชาวนาแท้ๆ ไม่
[๕] พ่อค้าส่งนอก บริษัทใหญ่ๆ ที่ส่งข้าวไปขายต่างประเทศ เช่น บอเนียวบอมเบเบอร์มา แองโกลสยาม วินด์เซอร์ อีสต์เอเชียติก ฯลฯ
[๖] ......ตลาดโลก ประเทศที่ขายข้าวในตลาดโลกที่สำคัญ คือ สยาม พม่า อินโดจีน อเมริกา และยุโรป ตอนใต้เดี๋ยวนี้ก็ปลูกข้าวแล้ว
[๗] ......ปีน้ำมาก พ.ศ. ๒๔๖๐ ราคาข้าวสารตลาดกรุงเทพฯ ขึ้นถึงกระสอบละ ๔๐ บาท รัฐบาลต้องประกาศห้ามการส่งข้าวออกไปนอกประเทศ เพื่อป้องกันทุพภิกขภัย และให้ราคาข้าวลดลง ปีนั้นน้ำท่วมหน้าพระลานพระบรมรูป ถึงมีการแข่งเรือกันได้
[๘] ภาษีกำไร ในยุโรปและอเมริกาแบบใหม่ พ่อค้ามีกำไรเป็นจำนวนตั้งแต่กำหนดไว้ขึ้นไป ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลเป็นรายร้อย คือร้อยละเท่านั้นเท่านี้ จำนวนต่ำกว่ากำหนดไม่ต้องเสีย ภาษีการพนันก็เข้าลักษณะภาษีกำไรแล้ว
[๙] ......กรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ มีนาตามหัวเมือง เช่น ในทุ่งรังสิต เป็นต้น รายละนับเป็นพันๆ ไร่ มีมาก เก็บค่าเช่าจากชาวนาผู้เช่าทำ และเสียค่านาในนามของตนนั้นเป็นการสมควรทีเดียว ภาษีโรงร้านทำไมจึงเสียได้
[๑๐] ภาษีรายได้และภาษีมรดก ภาษีทั้งสองอย่างนี้เก็บทำนองภาษีกำไร คือมีกำหนดจำนวนต่ำกว่านั้นไม่ต้องเสีย และเก็บเป็นส่วนร้อย อาศัยหลักตามตำรับของอดัม สมิธ ที่ว่า “พลเมืองของประเทศมีหน้าที่เลี้ยงรัฐบาลของตนเต็มความสามารถ หรือตามฐานานุรูป ด้วยวัตถุปัจจัยเป็นส่วนสัมพันธ์ตามรายได้ของบุทคลนั้น ที่ได้มาโดยอาศัยความคุ้มครองของประเทศ วัตถุปัจจัยนี้แหละเรียกว่า ภาษี”
[๑๑] ......ต่างหาก ในสมัยโบราณ เลขสมสังกัดแห่งราชการ ต้องเสียส่วนแทนเข้ามารับราชการ ครั้นเลิกวิธีลูกหมู่ไพร่หลวง เปลี่ยนเป็นชายฉกรรจ์ทุกคนต้องรับราชการ ผู้ยังมิได้เป็นทหารก็ต้องเสียเงินข้าราชการ ข้าราชการพลเรือนรับราชการอยู่แล้ว จึงพลอยได้ยกเว้นไม่ต้องเสีย ต่อมาเปลี่ยนเป็นเสียเงินรัชชูปการทุกคนไม่เลือกหน้าดังเดี๋ยวนี้ ผู้ได้รับราชการตามพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารแล้ว และมิได้รับยศชั้นสัญญาบัตร ได้ยกเว้นไม่ต้องเสียจนกว่าจะปลดจากกองหนุน
[๑๒] ......เต็มที ในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เลิกสงครามโลกแล้ว ค่าภาษีแรงมากเพราะเหตุประเทศต้องเป็นหนี้มากขึ้น พลเมืองต้องเสียภาษีให้รัฐบาลคิดถัวตามสำมะโนครัว เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๓ ก่อนสงครามเพียงหัวละ ๓ ปอนด์ ๑๑ ชิลลิงก์ ๔ เปนส์ ต่อปี ครั้นเกิดมหาสงครามตลอดจนเสร็จสิ้นลงแล้ว ราษฎรต้องเสียภาษีแรงขึ้นทุกที จนเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ ต้องเสียคิดถัวตกหัวละ ๑๕ ปอนด์ ๑ ชิลลิงก์ ๕ เปนส์ ความหนักไปตกอยู่แก่เศรษฐีและพ่อค้าใหญ่ๆ กรรมกรที่หางานทำไม่ได้รัฐบาลยังต้องเลี้ยงพอไม่อด
[๑๓] งานวัด ในรัชกาลที่ห้า เมื่อทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ได้มีงานออกร้านประจำปีเก็บเงินบำรุงวัด จึงเรียกกันว่า ‘งานวัด’ ภายหลังในรัชกาลต่อๆ มาย้ายไปมีที่สวนจิตรลดาบ้าง พระราชอุทยานสราญรมย์บ้าง เรียกว่า ‘งานฤดูหนาว’ แล้วเปลี่ยนเรียกว่า ‘งานนมัสการพระปฏิมากรแก้วมรกต’