- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
ความเจริญแผนปัจจุบันแห่งตะวันตก
มาเปลี่ยนภาวะแห่งตะวันออก
(ลิลิตสุภาพ)
(ร่าย)
ภาวะแผนปัจจุบัน | พลันยุโรปเริ่มริ |
ผลิเผล็ดผลเผยแผ่ | แพร่มาสู่ตะวันออก |
ทุกตรอกซอกแควสมุทร | ผุดขึ้นดอนพรอนป่า |
บ่าท่วมเขาเทาทุ่ง | ยุ่งเหยิงเปลี่ยนเพี้ยนแผลง |
แปลงสภาพภูมิพื้น | ฟื้นแผ่นหล้าฟ้าดิน |
บินอากาศทะมัดทะแมง | แปลงเป็นฝีมือมนุษย์ |
รุดเศรษฐกิจการเมือง | เมลืองสินค้ามาขาย |
มลายภาวะดั้งเดิม | เสริมความอยากอย่างใหม่ |
ให้ใฝ่หาเงินซื้อ | รื้อเลิกการขอร้อง |
สรรพสิ่งต้องตีราคา | เชิญเงินตราเป็นนาย |
ชี้ต้นตายปลายเป็น | เห็นความเปลี่ยนแปลงฉะนี้ |
ผิดจากการก่อนกี้ | เกิดล้าหลังสมัยกัน แล |
ความข้นจน หาไม่พอปฏิบัติความอยาก
ทำให้คนดีๆ กลายเป็นโจรไปได้
(โคลง ๔)
ไทยถับที่ยี่สิบห้า | ศตวรรษ |
วุ่นเปลี่ยนเพี้ยนแผนถนัด | หนักเข้า |
บัดประเทศทอดไทยทัด | ไทยทอด ประเทศเพรง[๑] |
เท้งเทศเทศบ่เศร้า | เทศเท้งไทยโหย[๒] |
อิดโรยไทยเร่งเท้า | ยังทัน |
เชิดชาติราชสกุลหัน | หากได้[๓] |
ศึกษาอบรมพลัน | สำเร็จ ประจักษ์แล |
ปวงราษฎร์โดยเสด็จไท้ | จึ่งแท้ไทยทัน สยามเทียว[๔] |
ในอันเปลี่ยนปลกเปลี้ย | เสียเวลา นี้แล |
หาบ่ทันตัณหา[๕] | เห่อห้อม |
อุปโภคบริโภค[๖]สา- | รพัตรเพิ่ม และแพง |
อาชีพข้นจนน้อม | จิตต์ให้อบาย[๗]สนอง |
ตกคลองคล่องเลือกได้ | เร็วเสีย เร็วแล |
ริพนันนัวเนีย | นะเจ้า |
เปลี่ยนเล่นเช่นงานเคลีย- | คลอตลอด เวลา |
ได้ก็เลี้ยงเหล้าเข้า | มืดหน้าคราเสีย |
เยียใดจักไม่ล้วน | โจรกำ- เริบเล่า |
หนี้รัดรุมมะตุ้มจำ | หิริ[๘]ลี้ |
เริ่มริลักขโมยอำ- | มหิตหนัก ขึ้นนอ |
เข้าซ่องโจรโจรชี้ | ช่องข้างทางโจ- รกรรม |
เมาโมห์[๙]มุ่งมาดร้าย | ริษยา- ฆาตฤๅ |
เหยียดมนุษย์ดุจหยวกมา | หั่นห้ำ |
แรงกิเลสและอา- | สว[๑๐]ครอบ ครองเทียว |
มิใช่โจรกรรมซ้ำ | ส่วนนี้อย่าฉงน |
ยาแก้โรคทางเศรษฐกิจ ต้องมีสรรพคุณทางเศรษฐกรรม
คือให้งานมีกำไร และมีทำตลอดปี
(โคลง ๓)
เมื่อคนไม่มีงาน | มักก่อการชั่วร้าย |
แม้มิให้งานหม้าย | ชั่วร้ายแรมรา |
เศรษฐวิทยาวางบท | เป็นกฎกำไรไว้ |
ว่ายอดเครื่องยั่วให้ | มนุษย์ได้ทำงาน |
การใดกำไรงาม | จักพบความหมั่นแท้ |
ความเกียจคร้านพ่ายแพ้ | เหงื่อย้อยยังพีร์[๑๑] |
หนึ่งงานมีตลอดปี | มิต้องมีว่างช้า |
ก็จักไม่ไขว่คว้า | ลอบค้าการพนัน |
ทุกวันนี้ชาวนา | มีเวลาเหลือล้น[๑๒] |
มนุษย์อยู่เปล่าเฝ้าค้น | แค่นคว้าหาอะไร ทำแล |
แก้ไขทางศาสนา | หาเบื้องบุญบาปไสร้ |
คนมืดหน้าทำได้ | ผิดทั้งรู้รู้ แลนา |
ยิ่งผู้ใจทารุณ | บ่เลือกบุญบาปสร้าง |
ยามมืดหน้าพากระด้าง | จักให้ข่มใจ ไหวฤๅ |
โรคภัยทางเศรษฐกรรม | จำยาเศรษฐกิจใช้ |
จึ่งแก้โรคชะงัดได้ | ดั่งนี้วิธี เยียวยา |
ตกมาถึงสมัยเรา | คนเอาใจอาตม์แล้ว[๑๓] |
เชื่ออย่างแต่ก่อนแคล้ว | คลาศข้างเหตุผล |
ในชนบทให้มีกสิกรรม และอุตสาหกรรมประจำบ้าน
ในนิคมให้มีโรงงานอุตสาหกรรม และงานอื่นๆ
(ร่าย)
ชนในชนบททำ | กสิกรรมตลอดปี | ให้อุทกมีทดให้ |
ยามว่างได้แสวงหา | อุตสาหกรรมลำไพ่ | เพาะเป็ดไก่ประกอบ |
ทำกระสอบป่านขาย | ยิ่งมากมายยิ่งดี | เราใช้ปีละมากมาก[๑๔] |
ซื้อมาจากอินเดีย | เสียทรัพย์น่าเสียดาย | ป่านปอหวายมีถม |
สมกำหนดแนะทาง | วางแผนผังตั้งเหมาะ | ฉะเพาะพืชฉะเพาะภาค[๑๕] |
มากมายผลกล่นประโยชน์ | โปรดกสิกรรอนเข็ญ | เพ็ญไพบูลยพูนทรัพย์ |
ส่วนสำหรับนิคมนคร | ขจรวิชาค้าขาย | ขยายส่วนอุตสาหกรรม |
ทำสินค้าหลายหลาก | มากโรงงานการใหญ่ | ไขว่นักเที่ยวเทียวชม |
นำเงินถมทุ่มใช้ | ยังประโยชน์ให้อาชีพ | รีบขึ้นสู่สมบูรณ์ |
พูนสุขดั่งฟากฟ้า | เลอพระเกียรติเจ้าหล้า | เลิศทั้งคติโลก ธรรมแล |
(โคลง ๒)
อุปโภคบริโภคถ้วน | เมื่อสยามมั่งคั่งล้วน |
แม่นแล้วเมืองสวรรค์ | นั้นแล |
พลันดำเนิรไต่เต้า | เร่งรัดเศรษฐกิจเข้า |
อย่าทิ้งเนิ่นนาน | เลยนา |
กสิการพาณิชย์ทั้ง | โลหกิจสฤษฏ์ตั้ง |
เหมาะต้องมั่งมี | เร็วแล |
คลังออมสินหรือธนาคารเป็นอุปกรณ์บำบัดโจรกรรม
ชีวิตทรัพย์สมบัติให้ | ภัยปลอดเลี้ยงรอดไว้ |
จักได้กำลัง | มากมาย |
คลังออมสินสะดวกใช้ | เป็นที่เก็บทรัพย์ให้ |
ราษฎร์ได้ปลอดภัย | ด้วยเทอญ |
ไฉนโจรจักเข้าปล้น | หากมิเพื่อธนค้น |
หมดข้อสงสัย | ได้เทียว |
ทรัพย์ใดอื่นจากนั้น | ขายยากซ่อนยากครั้น |
สืบได้ไม่คุ้ม | กันเลย |
โอบอุ้มราษฎร์ให้ | เห็นชอบและเชื่อใช้ |
ช่วยชี้วิธีการ | ธนาคาร |
บันดาลความสะดวกทั้ง | ฝากและถอนทุกครั้ง |
อย่าให้อิดหนา | ระอาใจ[๑๖] |
สาขาคลังจัดไว้ | ทุกประชุมชน[๑๗]ให้ |
สะดวกได้ตามควร | ถ้วนเทอญ |
มวลพสกสว่างได้ | ด้วยศึกษาพาให้ |
รอบรู้ชูพลัง[๑๘] | แม่นแล |
ยังศึกษาถูกถ้วนถ้า | ไทยรอดเลิกเลื่อยล้า |
แล่นเข้าแข่งขัน | ทันแล |
วิสามัญ[๑๙]หมดถ้วน | ถึงเหล่าราษฎร์หลากล้วน |
เล่ห์นี้ทีสยาม | งามแล |
การปราบ
เมื่อยังทำไม่สำเร็จ ต้องปราบให้อยู่ไว้ก่อน
ยามยังไม่เรียบร้อย | ทำดั่งฤๅ |
จำปราบให้อยู่มือ | มั่นไว้ |
ยอมแพงเพ่งเพียรกะพือ | เศรษฐกิจ การเรียน |
ยาถูกโรคระงับได้ | ไม่ช้าพาสะเบย |
สยามเอย ขอยืดเยื้อ | เครือไทย |
ยามสบอุปสรรคใด | ล่วงพ้น |
สยามเทวราชไกร | เกรียงเดช |
ขอพระคุ้มครองค้น | ขับเสี้ยนเสียม[๒๐]กษัย[๒๑] |
๒๑ กุมภ์. ๗๑
[๑] ......เพรง เดี๋ยวนี้ประเทศสยามได้ก้าวหน้าไป ทิ้งคนไทยให้ล้าหลัง เปรียบเหมือนหนึ่งคนไทยได้ทิ้งถิ่นของตนในเมืองจีน อพยพลงมาข้างใต้ในกาลครั้งโน้น ทอดคือทิ้ง ทัดคือเทียม หรือพอเปรียบกันได้
[๒] ......โหย ไทยทิ้งถิ่นๆ ไม่เศร้า (เช่นถิ่นเดิมในเมืองจีนก็เป็นของจีนไป) แต่ถิ่นทิ้งไทย (เช่นความเป็นไป ณ บัดนี้) ไทยจะต้องร้องไห้เพราะจะตกเป็นเบี้ยล่าง หรือต้องกินน้ำใต้ศอกคนอื่น เมื่อถึงเวลาเขาชนะเข้าจริง
[๓] ......หากได้ หากราชสกุลของเรา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้เปลี่ยนทันสมัย จึงรักษาชาติไทยไว้มิให้ตกเป็นข้าใครได้
[๔] ......เทียว เมื่อไรราษฎรได้โดยเสด็จ คือ มีความรู้ทันสมัยด้วย เมื่อนั้นชาติไทยจึ่งจะหายล้าหลัง และเจริญทันสยาม
[๕] ตัณหา ความอยาก มักใช้กันแคบเพียงความอยากทางประเวณีเท่านั้น ที่แท้ตัณหาคำนี้กินความกว้างตลอดไปถึงอยากได้ อยากเป็น อยากมี คือ ความทะยานอยากทั่วไป
[๖] อุปโภคบริโภค คำแรก คือ เครื่องใช้สอย คำหลัง คือ เครื่องกินเครื่องดื่ม
[๗] อบาย ตามพยัญชนะแปลว่า ปราศจากความเจริญ แต่ที่ใช้กันหมายเอามิจฉาชีพ คือ เลี้ยงชีวิตด้วยวิธีเอาแต่ได้เท่านั้น
[๘] หิริ ความละอายต่อบาป ละอายแม้ตนเอง
[๙] โมห ความหลง รวมในอกุศลมูล ๓ คือ โลภ โทส โมห
[๑๐] กิเลสอาสว คำแรก คือ เครื่องเศร้าหมองที่เกิดขึ้นชั่วขณะจิตต์ เช่น เห็นผู้หญิงก็เกิดกำหนัด คำหลัง คือ เครื่องหมักหมมจมดองอยู่ในสันดาน เช่น ราคจริต ที่ต้องการไม่เป็นส่ำ ไม่ว่าหญิงสวยหรือไม่สวย ควรหรือไม่ควร
[๑๑] พีร์ เพียร
[๑๒] ......มีเวลาเหลือล้น ชาวนาทั้ง เหนือ กลาง ใต้ แห่งสยามมีเวลาทำงานรวมไม่เกิน ๖ เดือน ในปีหนึ่ง อีก ๖ เดือนกลายเป็นคนไม่มีงานทำ
[๑๓] ......แล้ว อิสสรภาพเป็นผลแห่งราชอภัยทาน คือ การเลิกทาษใจทาษ คือใจนาย แต่ใจผู้มีอิสสระ คือใจตน
[๑๔] ......มากๆ ราคากระสอบป่านที่เราซื้อจากอินเดียได้ทวีขึ้นจาก ๖,๓๐๐,๖๔๑ บาท ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็น ๙,๑๔๒,๘๒๘ ใน พ.ศ.๒๔๗๑ ต่อไปยิ่งทำนาได้มากขึ้นก็จะยิ่งต้องใช้กระสอบมากขึ้น
[๑๕] ......ภาค ทั้งวรรคนี้แสดงว่า เจ้าหน้าที่เกษตรและพาณิชย์เป็นผู้กำหนดว่าส่วนไหนของประเทศเหมาะแก่การปลูกพืชอะไรเป็นไม้ยืน และหาพ่อค้าผู้รับซื้อผลให้เมื่อผลเกิด
[๑๖] ......ใจ การเกี่ยวข้องกับคลังออมสินบัดนี้ ยังไม่สะดวกนัก ยังเป็นแบบราชการมากกว่าวิธีธนาคาร คนไม่ค่อยติด
[๑๗] ประชุมชน มีสาขาเพียงอำเภอไม่พอ หมู่บ้านหรือตำบลใดเป็นทำเลประชุมชน มีตลาดใหญ่ ควรตั้งสาขาด้วย รวมกันไปกับสำนักงานไปรษณีย์เพื่อราษฎรในชนบทต่างๆ จะได้มีที่ฝากเงินอยู่ใกล้
[๑๘] รอบรู้ชูพลัง มีภาสิตอังกฤษบทหนึ่งตรงกันว่า Knowledge is Power
[๑๙] วิสามัญ คำนี้ประกอบจากคำศึกษาที่กล่าวข้างต้น หมายเอาโรงเรียนวิสามัญศึกษา ทั้งทางกสิกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชย์ ทั้งชั้นต่ำ กลาง สูง อันจะต้องจัดขึ้นตามแผนศึกษาของชาติให้ครบถ้วนและให้แพร่หลายอย่างโรงเรียนฝ่ายสามัญ
[๒๐] เสียม ไทย
[๒๑] กษัย สิ้นไป หมดไป