- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ลาแล้วพันธุ์เจริญ
(กลอนดอกสร้อย)
เพื่อนเอ๋ยเพื่อนเก่า | เสียแรงเราร่วมรักสมัครสมาน |
เจ้าเป็นเชยคู่คิดช่วยกิจการ | เกิดลูกหลานน่ารักนักพันธุ์เจริญ |
ได้เขยดีพันธุ์ดีเป็นศรีเมือง | จนรุ่งเรืองเปลื้องร้ายวายฉุกเฉิน[๑] |
ถึงคราวสุข[๒]สิมาพรากหากเผอิญ[๓] | ต้องขวยเขินเป็นแขกแปลกไปเอย |
เขยเอ๋ยเขยเก่า | เขากับเราเป็นแขกแปลกเพศหนอ |
ยามเป็นเขยเคยคำนึงถึงเหล่ากอ | ยามเป็นแขกแขกก็เป็นแขกกัน |
น่าขายหน้าหย่าแล้วยังร่วมเรือน | ทำตัวเหมือนคู่แข่งแย่งงานลั่น |
ซ้ำพาลูกเมียมามากหน้าครัน | เขยสำคัญคนนี้ยอดดีเอย |
เจ้าเอ๋ยเจ้าสาว | อกผ่าวศูนย์พันธุ์อันปราร์ถนา[๔] |
หย่าร้างเหย้าร้างยังมีครา | แสวงหาคู่ใหม่ได้สมนึก |
นี่ร้างหย่าแต่ว่ายังอยู่เหย้า | เขากับเรากลายมาเป็นข้าศึก |
ในทางเศรษฐสงครามงามพิลึก | หล่อนรู้สึกสู้ได้หรือไรเอย[๕] |
น่าเอ๋ยน่าสงสาร | มันเป็นบ้านของเราเจ้าแม่เอ๋ย |
จะรับแขกหรือจะทำสงครามเลย | มาเฉยเมยเหมือนไม่มีใจคิด |
จะอย่างหนึ่งก็อย่างใดให้เข้าเรื่อง | รับแขกเมืองต้องเลือกตามชอบจิตต์ |
การรับแขกทำกันเป็นฉันมิตร | ไม่ใช่กิจขันแข่งแย่งชิงเอย |
ชิงเอ๋ยชิงชัย | สมัยนี้พูดกันแต่สันติ[๖] |
การสงครามซึ่งสยามไม่พักริ | ต้องดำริแต่ทางข้างแขกเชิญ |
เมื่อเลือกได้ทำไมไม่เลือกบ้าง | ให้เหมือนอย่างอเมริกาไม่น่าเขิน |
จำกัดส่วนจำนวนคนไม่กล่นเกิน[๗] | แม่มหาจำเริญเชิญรอเอย |
ต่างเอ๋ยต่างด้าว | จะยืนยาวอยู่กับใครไม่เดียดฉันท์ |
ต้องเคล้าคละปะปนระคนกัน[๘] | กับชาวเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียว |
อันจะหัวเห็ดย้ำทำอย่างแขก | ไม่เขาแตกก็เราต้องเปล่าเปลี่ยว |
เขาอาจหับทวารไม่ให้เข้าเชียว | เว้นแต่เทียวไปมาคราครั้งเอย |
เจ้าเอ๋ยเจ้าบ้าน | ยังต้องการคนมากไม่สงสัย[๙] |
แต่ต้องการตามประสงค์จำนงใคร | ถ้าตามเราต้องให้เข้าเคล้าคละ |
แม้ไม่ได้จำใจหับทวาร | ทิ้งไว้นานนับวันจะเกะกะ |
มันเข้ารอยรุกเงียบเพียบนักละ | เจ้าบ้านจะแม่นมั่นศูนย์พันธุ์เอย |
คนเอ๋ยคนกลาง | เขานึกอย่างใครดีชนะได้[๑๐] |
จะเป็นเขาหรือเราไม่เข้าใจ | ช่างเป็นไรได้เลิศยิ่งเลิศดี |
สยามไหนจักไม่คงสยาม | ดำรงความอิสสระประเสริฐศรี |
แต่คนไทยใคร่ให้ไทยได้มี | อิสสระคงที่ทุกกาลเอย |
๗ มิถุน. ๗๑
[๑] ......ฉุกเฉิน หมายถึงสมัยที่ประเทศทางตะวันออกนอนตาไม่หลับ เพราะอารยธรรมใหม่กำลังแผ่มาจากตะวันตก พายุแห่งการชิงเอาดินแดนไปเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกกำลังพัดกล้า เรียกกันว่าสมัย Colonisation สยามก็ได้ประสพเหตุการณ์ทั้งฝ่ายแม่น้ำโขงและฝ่ายแหลมมะลายู ได้เสียดินแดนไปมาก และถ้าไม่ได้อาศัยพระราชกุศโลบายอันสุขุม สยามก็อาจไม่รอดปากเหยี่ยวปากกาไปได้ เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖
[๒] คราวสุข คือ พ้นสมัย และหมดเขตต์พายุเช่นนั้นมาแล้ว
[๓] เผอิญ มีธรรมเนียมโบราณที่ถือกันทั้งในอินเดียและจีน ที่ห้ามมิให้สตรีข้ามทะเล ถือกันว่าเป็นกาลกิณี แท้จริงก็เป็นความหวงแหนของบุรุษอย่างหนึ่ง ต่อมาธรรมเนียมนั้นค่อยคลายเข้า หญิงจีนและแขกก็ข้ามสมุทรมาสู่สยามมากเข้า ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีใครแกล้งบันดาลให้เป็น จึงเรียกว่าเผอิญ
[๔] ปราร์ถนา คือพันธุ์เจริญที่จำต้องสูญไป เพราะความเปลี่ยนแปลงเข้ามาบังคับให้มีต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เว้นแต่จะได้จัดการแก้ไข
[๕] ......เอย เจ้าหล่อนเป็นกสิกรแท้ๆ ถนัดแต่ทำนา ทำสวน ไหนเลยจะสู้เขาผู้ชำนาญการค้า มีเลือดพาณิชมานานแล้ว ในทางเศรษฐกิจอย่างสมัยใหม่ได้
[๖] ......สันติ ตั้งแต่เข็ดเขี้ยวเรื่องสงครามโลกคราวนี้แล้ว ก็มีสัญญาแวรไซส์ สัญญาโลคาโน สัญญากลุ่มเค็ลลอก สัญญาปลดอาวุธ ฯลฯ ล้วนแต่เพื่อสันติภาพทั้งนั้น ใครได้ชื่อว่าเป็น Peace maker ผู้นั้นย่อมเป็นที่ชื่นชมของโลก เช่นเดียวกับ Mischief maker เป็นที่จงเกลียดจงชังของโลก
[๗] ......เกิน ส.ป.ร. อเมริกา มีกำหนดเป็นปีๆ ไปว่า จะรับชาวยุโรปชาติไหนเข้าเมืองเท่าไร มากน้อยตามความต้องการและความพอใจทั้งสิ้น
[๘] ......กัน Assimilation
[๙] ......สงสัย สยามมีดินแดนใหญ่กว่าญี่ปุ่นหรือเกาะอังกฤษ แต่มีสำมะโนครัวเพียง ๑ ใน ๖ ของเขา แผ่นดินเจริญมากเพราะได้คนเป็นแรงงานมาก
[๑๐] ......ได้ Survival of the fittest