- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ศาสนาวันนี้
ศาสนาเคยเป็นนาบุญโดยเต็ม
บัดนี้มีนาบุญอื่นๆ เข้ามาแบ่งเฉลี่ยแล้ว
(กาพย์ฉบัง)
“เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- | ศาลแด่โลกัย |
และเกิดพิบูลย์พูนผล | |
“สมยาเอารสทศพล[๑] | มีคุณอนนต์ |
อเนกจะนับเหลือตรา” | |
นี้คือวาทะพระยา | ศรีสุนทรนา- |
ม (น้อย)[๒] ตระหนักในคุณ | |
อันสรรพกุศลผลบุญ | แบบเบื้องบรรพ์คุ้น |
ข้างเห็นพระเจ้า[๓]จึ่งควร | |
ศาสนานาบุญทั้งมวล | จองชีพชนชวน |
ให้ชินให้เชื่อเหลือหลาย | |
แต่เกิดตราบเท่าวันตาย | ผูกขาดมาดหมาย |
ขนทรายเข้าวัด[๔]ตะพัดไป | |
ครั้นเข้าเขตต์ชี้ศีวิลัยสต์ | นาบุญแบบใหม่ |
ก็เกิดก็มีนานา[๕] | |
โรงเรียนโรงพยาบาลสา- | ธารณประโยชน์มา |
แบ่งแยกและแจกจ่ายไป | |
ทรายขนกล่นเกลื่อนเลื่อนไหล | ผ่านวัดซัดไป |
สู่ที่อื่นอื่นดื่นแดน | |
บิณฑบาตเลี้ยงอาตม์แร้นแค้น | ต้องตั้งครัวแทน |
ต้องซื้อต้องหาคร่าไป[๖] | |
บ้านนอกยังดีกว่าใน | กรุงเงินเป็นใหญ่ |
ไม่ใช่ลำบากยากแสน[๗] |
ศาสนาต้องสะสมศาสนสมบัติ
เหมือนมูลนิธิ[๘]อื่นๆ สะสมสมบัติ
จึ่งวัดอัตคัดขาดแคลน | จำเปลี่ยนเพี้ยนแผน |
หาผลประโยชน์เยียวยา | |
สะสมสมบัติศาสนา | จัดที่กัลปนา |
และที่ธรณีสงฆ์[๙]สงวน | |
ให้เช่าเอาประโยชน์โดยควร | ประมูลประมวล |
เหมือนมูลนิธินานา | |
ยุบอารามเหลือเฟือเพื่อหา | ประโยชน์ดั่งว่า |
รวมพระรวมวัดจัดออม | |
อุโบสถสำคัญพลันถนอม | เพื่อแสดงธรรมน้อม |
นำจิตต์ชาวบ้านร้านรวง | |
กันที่ทำประโยชน์อื่นปวง | โภคผลใหญ่หลวง |
จักก่อจักเกินนักหนา | |
วันธรรมสวนะพระมา[๑๐] | เทศน์โปรดทุกวา- |
ระการรักษาทุ่นหลาย | |
สมสมัยใช้เงินเป็นนาย | ยังความสะดวกดาย |
ในอันประสิทธิ์กิจผอง |
พระต้องทำหน้าที่ตอบแทนในมนุษยสมาคม
หนึ่งพระจะจำสำนอง[๑๑] | ให้ธรรมตามครอง |
ประชาทุกชั้นทันสมัย | |
ใครไม่ถึงพระพระไป | ถึงเขาจงได้ |
เพื่อได้โปรดเขาเนาคุณ | |
ขวนขวายหมายม่ง[๑๒]ลงทุน | กอบเพื่อเกื้อหนุน |
เพื่อนมนุษย์ดุจพุทธจริยา | |
ใดมีวิธีถูกกา- | ลสมัยใช้สา- |
รพัตรพิสิฐกิจการ | |
ตั้งโรงเรียนโรงพยาบาล | สมาคมสภาคาร |
ค่อยสมานดรุณครุ่น[๑๓]ธรรม | |
เงินทองคล่องได้โดยกรรม | เป็นกุศลนำ |
ประโยชน์ช่วยชาติศาสนา |
การศึกษาของธรรมกถึก[๑๔]
หน้าที่สำคัญพรรณนา | นี้ต้องศึกษา |
จึงสมรรถ[๑๕]และถนัดกรณีย์ | |
หลักสูตรนักธรรมคัมภีร์ | เปรียญเอกโทตรี |
เหมาะล้วนในส่วนศาสนา | |
บัดนี้สบสมัยวิทยา- | ศาสตร์สิกขภาษา[๑๖] |
ส่ำสมพหุศรุตวุฒิคุณ | |
โดยคมนาคมเข้าหนุน | โลกแคบคนคุ้น |
ร่วมโลกร่วมกิจสนิทสนม | |
ศึกษาแบ่งสามตามนิยม | ตั้งต้นประถม |
มัธยมอุดมสมแสวง | |
วิชาหลายอย่างอ้างแสดง | จำแนกแจกแจง |
ตามภูมิปัญญาบารมี | |
เป็นส่วนสามัญวิถี | ทางแยกยังมี |
เรียกวิสามัญ[๑๗]สรรเสริม | |
ธรรมกถึกศึกษาถ้าเติม | เถรภูมิภาคเพิ่ม |
ผนวกอุดม[๑๘]สมควร | |
เป็นธรรมบัณฑิตโดยขะบวน | โลกธรรมถ่องถ้วน |
แตกฉานน่าชมสมสมัย | |
รองมามัชฌิมภูมิไสร้ | ผนวกมัธยมให้ |
เพียงประกาศนียบัตรเปรียญธรรม | |
ยังนวกภูมิชั้นต่ำ | คือนักธรรมนำ- |
ผนวกมัธยมต้น-กลาง[๑๙] | |
ไม่ใช่เพียงโรงเรียนอย่าง | เดี๋ยวนี้ต้องสร้าง |
มหาวิทยาลัยโอฬาร | |
เพียงประกาศรับตามวิชา | ชั้นต่ำพอหา |
ชั้นสูงกลางขาดปราศไป | |
หนึ่งเล่าการอบรมไว้ | แต่เล็กคุ้มใหญ่ |
ก็ย่อมจำเป็นเช่นกัน | |
การจัดการจ่ายในอัน | สำเร็จจักพลัน |
ต้องลงทุนรอนแหล่หลาย | |
แต่ศาสนสมบัติมากมาย | ควรเป็นทุนจ่าย |
ต่อนั้นเก็บผลเลี้ยงพอ |
ปัญหาสำหรับอนาคต
อุดมศึกษาสำเร็จด้วยปัญญากับความเพียร
อาชีพพรหมจรรย์เลือกฟั้นคนได้น้อยเข้า
การสอนศาสนาอาจต้องอาศัยฆราวาสเข้าช่วย
อันการศึกษานี้หนอ | ยิ่งจัดยิ่งก็ |
จะเกิดจะก่อกรณีย์ | |
คือการศึกษาอาชี- | วะจะต้องมี |
อยู่ที่ได้เพียรเรียนมา | |
แต่ว่าต่อไปในอนา- | คตเป็นปัญหา |
ว่าผู้สมัครเรียนพอหรือ | |
อันการศึกษาขึ้นชื่อ | “อุดม” นี้คือ |
ต้องฉลาดและเรียนนานปี | |
จึงจะสำเร็จด้วยดี | เหมาะแก่กรณีย์ |
ที่ใช้ในเชิงปรีชา | |
คนฉลาดชาติเติบตัณหา | แม้ไม่เข้ามา |
พาให้วงเลือกแคบไป | |
ถ้าธรรมกถึกขาดไสร้ | ก็จะต้องใช้ |
ฆราวาสเข้าช่วยด้วยแล | |
ดีกว่ามหายาน[๒๐]หาญแก้ | ให้พรหมจรรย์แปร |
เป็นพระมีเมียเคลียคลอ |
การฟังธรรมในวันธรรมสวนะ
“ฟังธรรมโดยกาล” ขานข้อ | มงคลสูตร[๒๑]ขอ |
สวัสดีจงมีแต่สยาม | |
ยั่งยืนอยู่ได้ด้วยความ | สยามงำธรรมงาม |
ตามพุทโธวาทบวร | |
การนิมนต์พระมาเทศน์สอน | เหมือนเป็นการจร |
ประจำพิธีมีงาน | |
มีข้อบกพร่องสองประการ | ไม่เรียกไม่ขาน |
ไม่นิมนต์ไม่มาน่าขัน | |
ทั้งไม่เสมอสม่ำประจำวัน | ธรรมเนียมเช่นนั้น |
จึ่งน่าจะแก้แปรไป | |
เป็นธรรมเนียมถ้วนหน้าได้ | สู่วัดตะพัดไป |
ในวันธรรมสวนากร[๒๒] | |
ผองพุทธศาสนิกมอบมาน[๒๓] | โดยเสด็จภูบาล |
ในราชนิยมสมสมัย | |
เพื่อชาติศาสนาเพ็ญไพ- | บูลย์องค์ทรงชัย |
อัครศาสนูปถัมภก เทอญ |
๑ ธันว์. ๗๑
[๑] ......ทศพล พระสงฆ์ได้สมยาว่าเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เพราะท่านเป็นผู้สืบต่ออายุพระศาสนามิให้สิ้นศูนย์ และได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญ เพราะท่านเป็นผู้ที่เราได้ไปทำบุญ โดยถวายของหรือเลี้ยงท่าน ท่านเป็นแดนเกิดแห่งบุญกุศลของเราอย่างเดียวกับนาข้าวเป็นแดนเกิดแห่งข้าวของเราฉะนั้น
[๒] (น้อย) คำประพันธ์ที่ยกมาอ้างนั้นอยู่ในบทสังฆคุณในคำนมัสการคุณานุคุณ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เป็นผู้แต่ง
[๓] ......พระเจ้า การทำบุญทางอื่นๆ เป็นต้นว่า ทำบุญแก่โรงพยาบาล หรือโรงเรียนมักกล่าวกันว่า “ไม่เห็นพระเห็นเจ้า” หมายความว่าไม่ได้ทำบุญกับพระ ความรู้สึกนี้เนื่องจากที่การทำบุญแต่โบราณก็มีแต่ทางวัดทางเดียว ถ้าให้อะไรแก่คนขอทาน ก็เรียกว่า ให้ทาน แท้จริงทานในพระศาสนา คือ การให้ไม่เลือกว่าให้แก่ใคร หรืออะไรๆ หมด
[๔] วัด ‘ขนทรายเข้าวัด’ เกิดแต่พิธีก่อพระทราย ซึ่งจะได้ทรายถมวัดด้วย แต่คำนี้เลยใช้เป็นภาสิตหมายความถึงทำความดีให้ เช่น ทำให้เกิดประโยชน์แก่รัฐบาล หรือแก่ผู้เป็นใหญ่ เช่น หัวหน้าปกครองคน ก็เรียกว่า ขนทรายเข้าวัด
[๕] ......นานา ในสมัยที่บ้านเมืองจัดการปกครองเจริญขึ้น รัฐบาลย่อมให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองมากขึ้น เช่น มีโรงเรียนให้เด็กเรียนทั่วหน้า มีโรงพยาบาลให้คนเจ็บได้ไปรักษาตัวเป็นการรักษาชีวิต มีโรงเลี้ยงเด็ก มีการให้ประกันเพื่อสุขภาพ และมีการให้เบี้ยเลี้ยงแก่ผู้หางานทำยังไม่ได้ หรือในยามเกิดทุกข์ภัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการทำสาธารณประโยชน์ในทางบำรุงชีพของพลเมือง แต่ละอย่างๆ จะเรียกว่า ‘นาบุญแบบใหม่’ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะสาธารณประโยชน์ทั้งหลายย่อมต้องการความช่วยเหลือของผู้มีกำลัง
[๖] ......ไป ทุกวันนี้ภิกษุจะอยู่ได้ด้วยบิณฑบาตฉันเท่านั้นยากเต็มที ต้องมีอุปัฏฐากส่งสำรับ หรืออาศัยมีครัวของตน หรือของวัด โดยมอบให้ผู้อื่นจัดหาหรือทำให้
[๗] ......แสน ตามบ้านนอกเดี๋ยวนี้ที่วันยังค่ำไม่ต้องใช้สตางค์ก็อยู่ได้ยังมี หรือใช้เพื่อซื้อหาบ้างเล็กๆ น้อยๆ นอกนั้นก็มีของตัวเองในบ้าน แต่ในกรุงหาเป็นเช่นนั้นไม่แล้ว อะไรๆ มีค่าไปหมด มีการแบ่งแรง จนทุกคนจะต้องมีเงินใช้จึงจะอยู่ได้ ภิกษุเป็นผู้ขอเขาเลี้ยงชีพ ไม่สะสม และไม่ต้องแตะต้องเงินเลย จึงอยู่ได้ด้วยความลำบาก อย่าว่าแต่จะเป็นที่พึ่งพักอาศัยของศิษย์มากมายเหมือนแต่ก่อนนี้เลย
[๘] มูลนิธิ ที่ตั้งแห่งขุมทรัพย์ เราหมายเอากองทรัพย์ที่อุทิศไว้จัดเพื่อเก็บดอกเบี้ยหรือกำไรใช้ในการกุศล ตัวอย่างเช่น ร็อกคิเฟลเลอร์มูลนิธิ ที่ช่วยประเทศเราทางสาธารณสุขและทางคณะแพทยศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นต้น
[๙] สงฆ์ ที่ธรณีสงฆ์ คือที่เป็นสิทธิ์ขาดของสงฆ์ แต่ที่กัลปนานั้นมีเจ้าของ เจ้าของเพียงอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัด
[๑๐] ......มา วันฟังธรรม พระมาเทศน์ คือวัดมีแต่อุโบสถ ไม่มีพระสำนัก จึงธรรมกถึกต้องมาแต่วัดอื่น
[๑๑] สำนอง สนอง ตอบแทน รับใช้หนี้
[๑๒] ม่ง มุ่ง โบราณใช้เป็นม่ง
[๑๓] ครุ่น หมกมุ่น
[๑๔] ธรรมกถึก ท่านผู้แสดงธรรม นักเทศน์
[๑๕] สมรรถ สามารถ
[๑๖] สิกขภาษา หมายถึง การเรียนภาษาต่างประเทศที่มีประโยชน์ เนื่องกันทางพาณิชย์ การเมือง และอักษรศาสตร์
[๑๗] วิสามัญ การศึกษา แผนกอาชีพ ธรรมกถึกศึกษา ก็เป็นวิสามัญศึกษาส่วนหนึ่ง
[๑๘] ผนวกอุดม ให้วิสามัญศึกษาชั้นเถรภูมิต่ออุดมศึกษาขั้นปริญญามหาวิทยาลัยซึ่งวัดจัดตั้งขึ้นเอง
[๑๙] มัธยมต้น-กลาง แต่มัธยมปีที่ ๓ ถึงปีที่ ๖ ค่อยเขยิบขึ้นตามพื้นศึกษาของท้องถิ่น
[๒๐] มหายาน นิกายหนึ่งในพุทธศาสนาที่นับถืออยู่ทางฝ่ายเหนือ คือ ทิเบต จีน ญี่ปุ่น นิกายใต้ของเราเขาเรียกว่า “หีนยาน” เป็นชื่อข้างฝ่ายเขาตั้ง ข้างฝ่ายเราเรียกเขาว่า “อุตรนิกาย” และเรียกของเราเองว่า “ทักษิณนิกาย”
[๒๑] มงคลสูตร ในมงคลสูตรท่านยก “การฟังธรรมโดยกาล” ว่าเป็นมงคลอันอุดมส่วนหนึ่ง
[๒๒] วันธรรมสวนาการ หมายเอาวันที่มีการฟังธรรมที่วัดเป็นกำหนด
[๒๓] มาน ความคิด ใจ