- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
คณะเพาะปลูก
แห่งมหาวิทยาลัยของเรา
(วสันตดิลกฉันท์ ๑๔)
อ้า ศรีสยามสมยยัง | กสิตั้งตะบึงหา |
เลี้ยงโลกและพันธนะจะพา | อุปโภคพะนอไทย[๑] |
รื่นรมย์ระงมยุคสงบ | ณ พิภพจะหาไหน[๒] |
บัดยามจะตามพิภพใน | ขณะโลกริรวมครัว[๓] |
ก้าวหน้าพยากรณให้ | ศีวิลัยสต์สำเร็จทั่ว |
เทอดนามสยามยศมิมัว | มนมุ่งอำรุงเมือง[๔] |
คนเทียวกระทำธุระประเทศ | ลุวิเศษเพราะเหตุเปรื่อง |
ดังฤๅสยามยุคเมลือง | กสิเลี้ยงบำเรอวัย |
มาม่ายสำนักคณะเกษตร | ณ มหาวิทยาลัย |
ขาดหัตถ์จะรัฐกระทำไฉน | สิมิน่าล่ะล้าหลัง |
ข้าหลวงและบัณฑิตฤผู้ | จะกระทำริเสิช[๕]ดัง |
ควรแก่เกษตรกิจตั้ง | ชนบทสถานี[๖] |
แม้ใช้วิรัชชะชน[๗]ชาญ | ปริมาณ[๘]ก็มากมี |
เชิญเพิ่มพลังและคณะที | เถอะนะวิทยาลัย[๙] |
พึ่งวิทยาลยวิรัชช์ | ก็จะส่งกระไรไหว |
บัดถับดิถีดรุณได้ | ลุอุดมศึกษา[๑๐] |
“บรรจุไข่ทั้งหมดในกระจาดใบเดียว”[๑๑]
หนึ่งรัฐประศาสนอุบาย | กสิแบบบำรุงมา |
มากมีก็ที่จะทนุนา | ณ เกษตรสยามกลาง[๑๒] |
เหนือใต้วิไลวนประเวศ | คิริเขตต์มิขัดขวาง |
ออกตกตลอด ณ ทิศทาง | ตละล้วนทำเลนา[๑๓] |
แดนใดอะไรจะเหมาะเพาะปลูก | ทนุถูกวิธีหา |
สินค้าประกอบและอุปกา- | รสยามสาลี[๑๔] |
ใบเดียวกระจาดจะประจุไข่ | ผิวะภัยเผอิญมี |
แตกหมดก็อดอคตินี้ | ดุจหนึ่งประมาทหนอ[๑๕] |
๒๐ มิถุน. ๗๒
[๑] ......ไทย เราขายข้าว ฯลฯ ให้ต่างประเทศ ได้ทรัพย์บำรุงความเจริญและซื้อเครื่องใช้เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น
[๒] ......ไหน ราษฎรของเราสงบเสงี่ยม มอบราชการบ้านเมืองถวายเป็นพระราชภาระทั้งมวล สยามจึงขึ้นชื่อว่า “มุมสุขที่สุดในโลก”
[๓] ......ครัว นานาประเทศกำลังรวบรวมกันเป็นสันนิบาตชาติ ปัญหาแห่งโลกก็นำเข้าหารือตกลงกัน ณ ที่นั้น คมนาคมทำให้นานาประเทศถึงกันได้ทั่ว อาการแห่งประเทศทั่วโลกเป็นไปประหนึ่งพี่น้องซึ่งเคยกระจัดพลัดกระจายได้กลับมาอยู่รวมเป็นครอบครัวเดียวกัน สยามกำลังตามโลกไปในอาการเช่นนี้
[๔] ......เมือง ไม่มุ่งแต่จะทำบ้านเมืองให้เจริญ ย่อมมุ่งทำคนให้เจริญด้วยเพราะเหตุคนนั้นเองจะเป็นผู้ทำให้บ้านเมืองเจริญ เว้นไว้แต่จะ ‘ทำยอม’ เสียว่า ‘คน’ ในที่นี้ถึงไม่ใช่เราจะเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น
[๕] ริเสิช ค้นหาความรู้ด้วยอาศัยเหตุผลแห่งการทดลอง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้เพราะริเสิช
[๖] ......สถานี สถานีตัวอย่างและทดลองในการเพาะปลูกกับผะสมสัตว์ ซึ่งต่างประเทศเขาจัดให้มีแพร่หลายในชนบท เพื่อสอนราษฎรด้วย ให้เห็นแก่ตาตนเอง และทดลองหาความรู้เผยแผ่ในทางป้องกันภัยต่างๆ มีภัยจากแมลงเป็นต้น พนักงานประจำสถานีเหล่านี้ต้องใช้คนมีความรู้ชั้นอุดมศึกษา
[๗] วิรัชชะชน ชาวต่างประเทศ
[๘] ปริมาณ จำนวน
[๙] วิทยาลัย วิชาในมหาวิทยาลัยแต่ละอย่างต้องมีศาสตราจารย์ประจำ ศาสตราจารย์ต้องสอนและต้องทำริเสิช เพื่อหาความรู้ใหม่ ในวิชาที่ตนสอนนั้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีนักเรียนน้อยอย่างของเราก็จัดได้แพง นักเรียนยิ่งมากขึ้น โสหุ้ยเมื่อคิดถัวกับจำนวนนักเรียนก็ยิ่งถูกลง การเพิ่มคณะในมหาวิทยาลัยของเราเป็นการเพิ่มกำลังที่ให้มีเครื่องมือและศาสตราจารย์ได้ครบครันยิ่งขึ้น เพราะโสหุ้ยถัวต่ำลง โดยคณะต่อคณะช่วยเป็นกำลังแก่กันและกันได้ด้วย
[๑๐] ...... ศึกษา การที่มีนักเรียนสอบมัธยมบริบูรณ์ได้ปีละตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ ไม่ต้องมีการแย่งกันเหมือนแต่ก่อนนั้นเอง เป็นการแสดงว่าสมัยที่ต้องการอุดมศึกษามาถึงแล้ว และในสมัยเช่นนี้จะอาศัยแต่มหาวิทยาลัยต่างประเทศเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ กับ แปลว่า ถึง
[๑๑] ...... เดียว เป็นภาสิตอังกฤษ หมายความว่า ฉวยตกแตกหมดก็อดกัน
[๑๒] ...... กลาง เขตต์ที่ราบระหว่างแม่น้ำแม่กลอง นครชัยศรี เจ้าพระยา และบางปะกง ซึ่งรวมมณฑลเข้า คือ นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพฯ ปราจีน นครชัยศรี ราชบุรี และนครราชสีมา
[๑๓] ...... นา เขตต์สยามเหนือทางพายัพ สยามใต้ทางแหลมมาเลเซีย กับปลายเขตต์แดนทางตะวันออกตะวันตก มีทำเลป่าเขา พื้นดินอุดม อากาศเลือกร้อนเย็นได้ สำหรับพันธุ์ไม้ต่างๆ เหล่านี้ มิใช่ทำเลแต่นาเท่านั้น ควรกำหนดด้วยความรู้ว่าแดนไหนเป็นทำเลเหมาะสำหรับสวนไร่ปลูกพืชผลอะไรอีก
[๑๔] ...... สาลี ช้าวเป็นสินค้าใหญ่ที่สุดของเรา ตามรายงานกรมศุลกากรคิดถัว ๕ ปี (๒๔๖๖-๗๑) เราส่งข้าวไปต่างประเทศเป็นราคาถึงร้อยละ ๗๐.๒ ของสินค้าออกทั้งหมด ดีบุกเป็นสินค้าสำคัญรองลงมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ก็ได้เพียงร้อยละ ๗.๘ เท่านั้น ไกลกันลิบ
[๑๕] ......หนอ เพื่อความไม่ประมาท ควรแก้ไขให้เกิดสินค้าสำคัญๆ ขึ้นหลายๆ อย่าง เมื่ออย่างนี้เสียก็จะได้อาศัยอย่างนั้นทดแทน ในรายงานนั้นปรากฏว่ามะพร้าวแห้งกำลังเป็นสินค้าส่งนอกที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ เราขายมะพร้าวแห้งได้กว่า ๒๗ เท่าของที่ขายได้ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ และรายได้ส่วนนี้ไล่รายได้ส่วนไม้ขอนสักขึ้นมาแล้ว เช่นนี้เป็นอุทาหรณ์ที่น่าบำรุงจริงๆ