- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
การบินเยี่ยมอินเดีย
(ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒)
ความแจ่มใสแห่งเวลาเช้า
อรุณงามอร่ามหล้า | แจร่มฟ้าทิวาไฟ[๑] |
นภากาศสะอาดใส | สกาว[๒]เมฆวิเวกหาว |
วิหกร่อนภมรหึ่ง | แมลงผึ้งผงมคราว |
ละเลิงรสผการาว | มิทุกข์ร้อนอะไรเลย |
พระพายฮือกะพือไผ่ | สะบัดใบลำส่ายเสย |
กระบือเบิ่งทำเชิงเฉย | ชม้อยลมและก้มกิน |
ฉะนี้ภาพสภาพเช้า | บำเรอเร้าระรวยกลิ่น[๓] |
จะแลไหนวิไลสิ้น | เพราะสดชื่นระรื่นรมย์ |
อนิจจานะฝ้าไฝ | กระไรช่างจะขื่นขม |
มณีแท้มิทิ้งคม[๔] | มนุษย์หรือจะยอมจน |
ผิสบอุปสรรคไสร้ | มนุษย์ใคร่จะล่วงพ้น |
ประสงค์ใดจะได้ดล | ดำรงอารยธรรมผอง |
ความกำสรดเศร้าแห่งเวลาสาย
ณ เช้างามอร่ามโลก | กำสรดโศกสยามครอง |
เพราะเครื่องบินมิสมปอง | เผอิญต้องถลาลง |
ณ ป่าใหญ่อุทัยเขตต์[๕] | อุบัติเหตุมิคืนคง |
ชไม[๖]ชีพชะลอลง | เผอิญรอดบุรุษเดียว |
ทหารเลิศประเสริฐชาย | ชิวาวาย ณ ป่าเปลี่ยว |
ประทมหล้าและฟ้าเขียว | เขนยหญ้านิทราหลัง[๗] |
ไม่ระย่อท้อถอย
ลำหน้าตกลำเหลือต่อ | มิย่อท้อมิรอรั้ง |
ลุที่หมายเสมือนหวัง | วิรัช[๘]ราชธานี |
นคร ‘เทลหิ’ ฮินดู | ประเทศภูมิกำเนิดที่ |
พระยาครุฑอดีตมี | ตำนานข้ามสยามสึง[๙] |
ก็บัดนี้พระยาครุฑ | ประดุจรูปจำแลงจึง |
ระเห็จข้ามสยามถึง | ประเทศสินธุ[๑๐]ถิ่นฐาน[๑๑] |
เจริญราชไมตรี | บำเรอทีฆะบินการ[๑๒] |
นภากาศยานขาน | ขนัดปรัตยุบันนาม |
รอยอับปางที่การบินทิ้งไว้
พระเจ้าขามิน่ากุม | ชีวิตหนุ่มและสาวงาม |
กำลังบานทะยานยาม | สะบั้นขาดอนาถหนอ |
จำเป็นนักจะก้าวหน้า | ฤน้ำตามิชุ่มพอ[๑๓] |
กระนั้นขั้นกระไดก่อ | ก็ล้วนด้วยมฤตยู[๑๔] |
มนุษย์ตายมนุษย์ตาม | พยายามประกอบกู้ |
จะก้าวหน้าดำเนิรสู่ | ประโยชน์ซึ่งจะพึงหมาย |
มนุษย์เดิมก็เดิรดิน | จะสอนบินมิใช่ง่าย |
จำทิ้งซากสลายหลาย | สำหรับเรียน ณ ภายหลัง[๑๕] |
๓ มกร. ๗๒
[๑] ทิวาไฟ ไฟกลางวัน คือ ดวงอาทิตย์
[๒] สกาว ขาว
[๓] ......กลิ่น กลิ่นเช้าว่ามีจริง ในที่แจ้งเช่นตามบ้านนอกสังเกตได้ง่าย
[๔] ......คม ฝ้าในเพ็ชรทำให้เพ็ชรตกราคา แต่เพ็ชรแท้ถึงมีฝ้าน้ำก็ยังคมคายอยู่นั่นเอง
[๕] ......เขต เครื่องบินไทย ๓ เครื่อง ในบังคับแห่งนายพันโท หลวงเนรมิตรฯ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) นายร้อยเอกจ่าง นิตินันท์ เป็นนักบินบังคับเครื่องประสพเมฆจึงเหิรขึ้นระยะ ๑,๘๐๐ เมตร ปรากฏอุบัติเหตุใบพัดตีกลับ ๒ ครั้ง ได้กลับร่อนต่ำลง แต่เครื่องหยุด จะร่อนไปให้ถึงทุ่งนาก็ไปไม่ถึง จึงต้องร่อนลงในดงใหญ่ ในที่พอจะเลือกได้ เครื่องกระทบต้นฝางใหญ่อับปาง เครื่องหักกลางบีบตัวหลวงเนรมิตรฯ สลบและสิ้นชีพ ร.อ. จ่าง นิตินันท์ เป็นแต่ต้องบาดเจ็บ อุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่ตำบลห้วยเป้า อำเภอทับทัน จังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์
[๖] ชไม คู่ ทั้งคู่
[๗] ......หลัง นอนครั้งสุดท้าย คือตาย
[๘] วิรัช ไพรัช ต่างประเทศ
[๙] สึง สิง อยู่ คือเราได้ตำนานเรื่องพระยาครุฑ แต่อินเดียมาเป็นของเราด้วย
[๑๐] สินธุ เราเรียกอินเดียว่าสินธุประเทศ หรือฮินดูประเทศ
[๑๑] ถิ่นฐาน คือถิ่นฐานเดิมแห่งพระยาครุฑ
[๑๒] ......การ อุดหนุนความรู้และความนิยมการบินทางไกล
[๑๓] ......พอ ที่เสียชีวิตกันมามากแล้วสำหรับหาความรู้เรื่องการบินนั้นยังไม่พอหรือ
[๑๔] ......มฤตยู ถ้าเช่นนั้นขั้นบันไดขึ้นไปสู่ความรู้เรื่องการบินก็ก่อด้วยวัตถุคือความตาย
[๑๕] ......หลัง ความอับปางหรือการเสียชีวิตย่อมเป็นบทเรียนให้ประโยชน์ คือความรู้ต่อไปสำหรับคนภายหลัง