- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
หมายเหตุ-บทนี้เขียนในขณะนั้น ถ้อยคำจึ่งเป็นเชิงทับถมศัตรู ควรผู้อ่านรวมทั้งมิตรที่ได้เคยเป็นศัตรู จะอ่านด้วยน้ำจิตต์และความหยั่งรู้เช่นนั้นแล้วและให้อภัยแก่ผู้รจนา เพื่อความสละสลวยแห่งโคลงกลอนด้วย
มหากลียุค
(วสันตดิลกฉันท์ ๑๔)
อ้าโลกทุเรศเพราะทุรยุทธ[๑] | กิร์ติทรุดศรีสลาย[๒] |
เสื่อมเห็นบ่เป็นวฒนกลาย | จรกลับอรัญสมัย |
ถือหลัก “กำลังทหรกรรม | ดุจธรรม”[๓] ก็จนใจ |
ชาติน้อยจะคอยมรณภัย | อุชุ[๔]แพ้พลํพาล |
ร้ายกาจเพราะชาติทมิฬเอก | รณเฉกติรัจฉาน |
ท้าโลกทำลายสุขและขาน | คติฆ่ามิว่าใคร |
อ้าง “ความจำเป็นบ่มิประจักษ์ | นิติธรรมใดใด”[๕] |
อ้าโลกจะกลับวิกลไป | ปรโลกฤโลกันต์ |
หากว่ามหาอมตธรรม[๖] | ทะนุโลกบำรุงสรรพ์ |
จึ่งเหตุอุบัติกษณะ[๗]อัน | บมิทันฉกรรจ์พอ[๘] |
ยิ่งช้าพยาธิจะกำเริบ | ภยยิ่งจะหนักหนอ |
หลายชาติประมาทมรณะรอ | กิมิ[๙]บ่อนและนอนใจ |
บุทคลเสวยสิริสวัสดิ์ | เพราะอมัตธรรมไฉน |
โลกนี้จะมีสิริวิไล | ก็เพราะธรรมฉะนั้นเทียว |
ทิ้งธรรมกระหน่ำทหรฤทธิ์ | วรวิทย์ฉลาดเฉลียว |
ดาบคม ณ หัตถ์ทมิฬเจียว | และฤโจรจะรีรอ |
ธรรมคือกำลังทหรเลศ | อนุเทศ[๑๐]บ่เหลือหลอ |
เมืองไทยจะไร้อิสสรหนอ | และจะเสื่อมพระศาสนา |
โลกสบสมัยมฤคสัญ- | ญิบ่แสร้งจำนรรจา |
เหตุหลงกิเลสอสุรลา- | มกธรรมสมาทาน |
ชโย! สยาม
(กาพย์ฉบัง)
ปางเมื่อสมเด็จจอมปราณ[๑๑] | สยามรัฐนฤบาล[๑๒] |
รามาธิราชเรืองศรี | |
ทรงธรรมทรงวุฒิทรงปรีช์ | โลกคดีธรรมคดี |
ออกตกแตกฉานชาญชัย | |
ท้าวเสด็จอวตาร[๑๓]ต้องสมัย | พาสยามคระไล |
ล่วงหลีกมหาภัยใหญ่หลวง | |
ทรงเห็นเหตุการณ์ทั้งปวง | ชัดแจ้งด้วยดวง |
ทิพยเนตรซึ่งทัศนาไกล | |
ทรงทัดทานเหล่าชาวไทย | ซึ่งมีแก่ใจ |
ไปเข้าข้างฝ่ายเยอรมัน | |
โดยเหตุส่วนตัวทั่วกัน | ไม่เห็นภยัน- |
ตรายอันจ้องมองสยาม | |
พระทรงประสาทสั่งยังความ | ประกาศสงคราม |
ให้มีแก่ชาติท่ามกลาง | |
ยุโรปซึ่งโลกอางขนาง | นำไทยไปทาง |
ที่ถูกเพื่อไทยเป็นไทย | |
เยอรมันนั้นวุ่นทั่วไป | ว่างศึกเขาไว |
เข้าแทรกเข้าแซงชาวประชา | |
ยามยุทธปล่อยพยาธินานา | กาฬโรคอหิวาต์ |
ตัวบิดตัวอื่นหมื่นแสน | |
พยาธิสัตว์พยาธิคนกล่นแดน | กินแฟะกินแฟน |
ดุจหนอนซึ่งบ่อนคืนวัน | |
จึ่งชาวตะวันออกครามครัน | เป็น “โรคเยอรมัน” |
มิค่อยจะวายเป็นใจ | |
เขายุเขาแหย่แก้ไข | วางสินใจไว้ |
เวียนก่อให้เกิดกาหล | |
เทพไทยเล็งทิพยเนตรยล | ทรงตระหนักมรรคผล |
ทรงแก้ทรงกู้ชูสยาม | |
ทวยราษฎร์คลายหลงปลงตาม | โดยเสด็จสงคราม |
ด้วยจิตต์ตื้นเต็มเปรมปรีดิ์ | |
พระเสด็จหนไหนไทยมี | จงรักภักดี |
ก็พร้อมกันโดยเสด็จไคล | |
น้ำหนึ่งใจเดียวทั่วไป | รัฐบาลชาญชัย |
เข้าจับเข้าจัดศัตรู | |
พริบตาเดียวเรียบเร็วผลู | พร้อมเพรียงเลี้ยงดู |
ได้เห็นเป็นน่าพิศวง | |
บ่เกินบ่ขาดอาจอง | ยุติธรรมธำรง |
บันลือพระเกียรติเกริกไกร | |
เชิดชื่อชูชาติชาวไทย | ช่วยโลกบำราศภัย |
พำนักในธรรมดีงาม | |
เทพไทยของเราเกล้าสยาม | ทรงชัยในยาม |
ที่จำจักต้องมีชัย | |
พระปรีชาญาณหยั่งไกล | เห็นปานนี้ไสร้ |
เราจึ่งพร้อมกันบูชา | |
ขอพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษา | เสวยสุขทุกเวลา |
พระเดชดั่งดวงสุริย์ฉาย | |
ทรงนำสยามรัฐเร็วผาย | ล่วงพ้นภยันตราย |
บรรลุซึ่งผลเพ็ญศรี โสตเทอญ |
๑๖ สิงห์. ๖๐
[๑] ทุรยุทธ สงคราม ชั่วร้าย เป็นสงครามโลก ซึ่งแปลกกับสงครามระหว่างประเทศที่เคยทำกันมาแต่ก่อนๆ
[๒] สลาย เกียรติเสื่อม ร่างกายและชีวิตมนุษย์ก็แตกดับ
[๓] “......ธรรม” ประโยคนี้จะเอาความว่า might is right
[๔] อุชุ ตรง
[๕] “......ใดใด” ประโยคนี้จะเอาความว่า necessity knows no law ซึ่งฝ่ายเยอรมันเป็นผู้กล่าวออกมา
[๖] อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย
[๗] กษณะ ขณะ ครู่ ยาม
[๘] ......ฉกรรจ์พอ เชื่อกันในสมัยนั้นว่าถ้าเกิดมหาสงครามช้าไปอีกสักสิบปี เยอรมันนีคงจะเป็นเจ้าโลกด้วยอำนาจแสนยากร
[๙] กิมิ หนอน
[๑๐] อนุเทศ ประเทศน้อยๆ
[๑๑] จอมปราณ เจ้าชีวิต
[๑๒] นฤบาล ผู้ปกครองคน พระราชา
[๑๓] อวตาร เสด็จอุบัติลงมาจากสวรรค์ แบ่งภาคลงมา