- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
จอมพลฟช
จอมทัพแห่งสงครามโลก พ.ศ. ๒๔๕๗-๖๑
(โคลงดั้นวิวิธมาลี-ผิดกับโคลงดั้นบาทกุญชร ที่คำ ๗ ของบาท ๓ แห่งโคลงหน้าไม่ต้องรับสัมผัสกับคำ ๔ แห่งบาทต้นของโคลงต่อไป)
สงครามระหว่างชาตินั้น | เป็นธรรม- ดาแล |
แต่มหาสงคราม | แปลกบ้าง |
ธรรมาธรรม[๑]ทำ | เศิกโลก |
เหตุโลกบ่เข้าข้าง | อธรรม |
นำทัพประเทศกู้ | ชัยบูรพ์[๒] |
เปรียบกับจอมทัพนำ | โลกเรื้อง |
หิ่งห้อยแข่งแสงสูริย์ | แสงเส่า |
อุปมาต้องเบื้อง | อุปไมย |
จอมชัยจอมทัพเจ้า | จอมมหา ยุทธเฮย |
นามฟชยศยิ่งไกร | แกว่นแกล้ว |
ชาติฝรั่งเศษแสนสา- | มารถกอบ |
กิจโลกโลกรู้แล้ว | เลื่องนาม |
สงครามยามเข้าด้าย | เข้าเข็ม |
เหิมฮึกข้าศึกตาม | รุกร้น |
อีกหกสิบสองเต็ม | กิโลเมตร |
ปารีสฤๅรู้พ้น | หัตถ์พาล |
สัมพันธมิตรไสร้ | ศึกกระจาย |
ต่างทัพต่างนายหาญ | ศึกแม้ |
ต่างใจต่างอุบาย | ต่างช่วย |
รู้โรคจึ่งรู้แก้ | กิจควร[๓] |
มวลเทศ[๔]มวลทัพตั้ง | ฟชเสน |
เป็นประมุขนำกระบวน | ต่อต้าน |
เกียรติศักดิ์สมจักเป็น | ฝรั่งเศส |
เหตุยุทธภัยไหม้บ้าน | บุกเมือง |
เมลืองพลมาร[๕]มากล้น | หลากหลาม |
ฝ่ายรับน้อยแต่เรือง | ฤทธิ์สู้ |
บุญโลกอเมริกา[๖]ตาม | หนุนติด |
ขนทัพข้ามสมุทรกู้ | เกี่ยงชัย |
เร็วไวฟชเปลี่ยนต้าน | เป็นรุด โรมพ่อ[๗] |
ข้าศึกฤๅมีสมัย | หยุดยั้ง |
อาจารย์วิธียุทธ | คือฟช[๘] |
คราวกระหน่ำจ้ำตั้ง | แต่โหม |
รุกโรมทรหดห้ำ | หั่นขวัญ |
ฮั่นส์[๙]หากเสียหายโทรม | ทรุดไสร้ |
สัมพันธมิตรพลัน | เป็นต่อ |
สัญญาพ่ายแพ้ให้ | เร่งเซ็น |
พึงเห็นคุณวิเศษผู้ | เพ็ญชัย |
ยามหนักพลน้อยเป็น | ล่างเบี้ย |
ถนอมขวัญบ่พรั่นภัย | ใจเด็ด |
ประวิงศึกซ่อนแปล้เปลี้ย | ปลุกรณ[๑๐] |
จนอเมริกาค่อยข้าม | สมุทรหนุน |
เบี้ยล่างกลับเป็นบน | จะไจ้[๑๑] |
ยึดแรงส์[๑๒]รักษ์ฝั่งจุน | เรือจอด |
ขนสาตร์ขนทแกล้วได้ | ดั่งใจ[๑๓] |
ชม ไฉนจักเด่นแม้น | ชมสา- มารถเล่า |
ชม ผูกสามัคคีใน | ทแกล้ว |
ชม บังคับบัญชา | เฉียบขาด |
ชม อธรรมแพ้แล้ว | แก่ธรรม เทียวนา |
๑๗ มกร. ๖๕
หมายเหตุ-บทนี้เขียนในขณะนั้น ถ้อยคำจึ่งเป็นเชิงทับถมศัตรู ควรผู้อ่านรวมทั้งมิตรที่ได้เคยเป็นศัตรู จะอ่านด้วยน้ำจิตต์และความหยั่งรู้เช่นนั้น แล้วและให้อภัยแก่ผู้รจนา เพื่อความสละสลวยแห่งโคลงกลอนด้วย
[๑] ธรรมาธรรม ธรรม-อธรรม เข้าสนธิเป็นคำเดียวกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ดี ฝ่ายประเทศท่ามกลางยุโรปก็ดี ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนเป็นผู้ถูกและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผิด ซึ่งเป็นธรรมดาในเวลาที่ความเห็นแตกต่างกัน ความเท็จจริงจะปรากฏได้ต่อเมื่อมีการตัดสินที่เที่ยงธรรมในภายหน้า
[๒] บูรพ์ บรรพ์ ก่อน แต่ก่อน หมายถึง สงครามในอดีตที่เป็นเพียงสงครามระหว่างประเทศ
[๓] ...ควร ความกระจัดกระจายที่ต่างชาติต่างมีแม่ทัพของตัวเป็นใหญ่นั้นแหละ คือโรค การแก้ก็คือ การร่วมใจกันยกฟชขึ้นเป็นจอมทัพฝ่ายสัมพันธมิตร
[๔] มวลเทศ ประเทศข้างฝ่ายสัมพันธมิตร
[๕] พลมาร หมายถึงข้างฝ่ายปัจจามิตร นี่เป็นธรรมดาต้องเกลียดและปรักปรำกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรหาว่าฝ่ายปัจจามิตรยิงบ้านเมืองโบสถ์วัด ทำลายชีวิตพลเรือน ตลอดจนสตรีและทารกไม่เลือกหน้า จึงหาว่าเสมอกับยักษ์มาร ข้างฝ่ายปัจจามิตรก็มีคำชี้แจงเหมือนกัน เช่น ยิงโบสถ์แห่งเมืองแรงส์ เพราะกองทหารข้างฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าไปตั้งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นต้น
[๖] อเมริกา ส.ป.ร. อเมริกา
[๗] ......พ่อ เปลี่ยนยุทธวิธีจากรับเป็นรุก
[๘] ฟช จอมพลฟชแต่ก่อนเป็นศาสตราจารย์แห่งวิชายุทธวิธีในวิทยาลัยทหารบกของฝรั่งเศส
[๙] ฮั่นส์ เป็นคำฝ่ายสัมพันธมิตร ปรักปรำ เรียกเยอรมัน อย่างที่เรียกว่ายักษ์มาร ฮั่นส์เป็นชาติโบราณที่เที่ยวบุกรุกเขตต์แดนแถบยุโรปแต่สมัยต้นคริสต์ศักราช เป็นชาติดุร้าย
[๑๐] ......รณ ใช้วิธีรับ พรางกำลังไว้ไม่ให้ข้าศึกทราบ และปลุกใจทแกล้วทหารให้เหิมสงครามอยู่เสมอ
[๑๑] จะไจ้ เนือง บ่อย
[๑๒] แรงส์ เมืองแรงส์
[๑๓] ......ใจ แม้เมืองแรงส์จะถูกข้าศึกระดมยิงจนโบสถ์โบราณก็ทำลายลงแล้วก็ดี ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ต้องตั้งมั่นรักษาไว้จนยิบตา เพื่อค้ำคานการจอดเรือขนทหารยุทธภัณฑ์ และสะเบียงลำเลียงมาจาก ส.ป.ร. อเมริกากับอังกฤษให้ทำได้สะดวก