รุกเงียบเงียบ

Peaceful Penetration

(กลอน ๘)

เสียดายลุ่มนทียังซีเกียง เคยเป็นเวียงโบราณนานนักหนา
เราตั้งราชธานีที่กรุงปา อยู่เป็นผาสุกได้หลายพันปี
กะเดื่องเดชานุภาพทราบถนัด จากประวัติกาลเก่าเล่าถ้วนถี่
ว่าราชวงศ์เฮียทรงพระนามกี เจริญราชไมตรีที่กรุงปา
ราชทูตมงตูสู่นคร แต่ครั้งก่อนพุทธกาลพันปีกว่า
คือเศษสี่ร้อยยี่สิบแปดมา นับเดี๋ยวนี้เกือบห้าพันปีเต็ม

รุกเงียบเงียบ คำรบแรก

สมัยก่อนพุทธกาลไม่นานนัก จีนทะลักลักแหล่งเราแข็งเข้ม
เพื่อนบั่นบากยากหน่อยค่อยและเล็ม ทั่งเป็นเข็มค่อยฝนจนเราระอา
เราไม่ชอบขันแข่งแย่งกันกิน จึงทิ้งถิ่นเสาะทางอย่างเสือป่า
หาดินแดนแสนอุดมถมข้าวปลา ใต้ลงมาหนาวน้อยค่อยสบาย
การอพยพเป็นไปหลายร้อยปี จนศตพรรษที่สี่จึงสุดสาย
นครลุงกรุงปาชาตาร้าย ต้องศูนย์หายกลายเป็นเมืองจีนไป

รุกเงียบเงียบคำรบ สอง

ไทยที่ล่าลงมาเป็นกลุ่มกลุ่ม ได้ควบคุมตั้งบ้านเมืองน้อยใหญ่
กระจัดกระจายเป็นหลายแคว้นเจ้าไทย ตลอดในฮุนหนำ อาสซัม ชาน
เมืองหนองแสนั้นแน่ฮุนหนำใต้ ได้เป็นใหญ่ยิ่งพระยามหาสาร
พุทธศกตกพันพรรษกาล ประดิษฐานอาณาจักรน่านเจ้าเรา
เขตต์สยามนามสิบสองจุไทย สิบสองพันนาไสร้ก็รวมเข้า
มีเมืองขึ้นในทิเบตเดชไม่เบา โอ้น่านเจ้าจักรพรรดิเชิดชาติไทย
แต่เราไปถึงไหนจีนไปนั่น สมเป็นกันเองแท้แต่ไหนไหน
กรุงน่านเจ้าจีนเข้ามาเต็มไป เสือป่าไทยก็ไม่ทิ้งการเดิรทาง
ตั้งแต่ศตพรรษชัดสิบห้า ตลอดมาจนสิบเจ็ดไม่เสร็จสร่าง
สิ้นชื่อเสียงจักรวรรดิในระวาง จึงน่านเจ้าเราจางเลยเป็นจีน
หมอดอดด์ตรวจฮุนหนำล้ำเสฉวน พบผู้ไททั่วถ้วนทุกทิศถิ่น
มีเจ้าฟ้าเสื่อมอานุภาพสิ้น เพราะทั้งคนทั้งแผ่นดินจีนเป็นจอม

รุกเงียบเงียบคำรบ สาม

เศษเหลือจากน่านเจ้าคือเราสยาม ดำรงความอิสสระชนะขอม
ชิงละโว้สุโขทัยไม่ย่อยอม แล้วดุ่มด้อมลงใต้ได้ทะเล
พบเพื่อนจีนเจนสำเภาเข้ามาค้า ได้สมาคมใหม่ไม่ห่างเห
ขนสินค้าขนคนเข้าปนเป แต่ประเพณีห้ามหญิงตามมา
ชาติพี่น้องสองผะสมอบรมเลือด ไม่มีเหือดหายรักกันนักหนา
ได้พันธุ์เจริญดำเนิรประเทศมา สู่ความผาสุกสวัสดิ์ศีวิลัยสต์
บัดนี้สิมีกำปั่นหมั่นขนส่ง มากและถี่กว่าลงสำเภาได้
ธรรมเนียมหญิงกริ่งสมุทรก็หมดไป เพื่อนเราไหลพรั่งพรูมีคู่มา
ตั้งเมืองบ้านเหมือนกาลนานครั้งโน้น เข้ารับโอนการงานอย่างหาญกล้า
นิสัยเก่าเขาไม่พร่องต้องบูชา เราเสือป่าจนมุมเป็นกระฎุมพี
จะลงเอยอย่างไรใครจะบอก สยามดอกจักอยู่เฟื่องฟูศรี
ชาวสยามถามได้ใครจะมี หมายหลีกลี้เชิญอ่านเรื่องพันธุ์เจริญ

๑๗ กรกฎ. ๗๑

อดีต :
(จาก ไชนา วีคลี รีวิว) จีนเข้าแมนจูเรีย

จีนมิได้เพิ่งเข้าตั้งหลักฐานในแมนจูเรียในเร็วๆ นี้ ได้เริ่มมาก่อนคริสต์กาล แต่สมัยที่เข้าไปตั้งเป็นปึกแผ่นได้มากนั้นตกสมัยที่ชาวยุโรปเข้าไปตั้งในอเมริกา ความปั่นป่วนทางจีนเหนือเนื่องจากสงคราม ที่ลงสุดท้ายพวกเม่งจูชนะจีน ราชวงศ์ชิงได้ตั้งรัฐบาลเม่งจูขึ้นครอบครองประเทศจีน เมื่อค.ศ. ๑๖๔๔ เป็นต้นเหตุในเวลานั้น ดุจความปั่นป่วนในเวลานี้เป็นต้นเหตุให้จีนพากันอพยพเข้าไปในแมนจูเรีย...... ค.ศ. ๑๗๗๖ พระเจ้าเชียนลุงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้จีนเข้าไปอยู่ในมณฑลคีริน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามมณฑลที่รวมเข้าเป็นแมนจูเรีย

แต่ความพยายามของรัฐบาลเม่งจูในอันจะกันจีนมิให้เข้าไปในบ้านเมืองของพวกเม่งจูก็ดี ความต่อสู้ของพวกเม่งจูชาวพื้นเมืองก็ดี หาเป็นผลสำเร็จไม่ ตำนวนเรื่องพวกเม่งจูเพียรจะรักษาบ้านเมืองของตนเพื่อชาติของตนนี้ เป็นเพียงตำนานขมขื่นแห่งความพ่ายแพ้แก่ชาติที่มีชัยเท่านัน

ในต้นรัชสมัยแห่งพระเจ้าเถากวง (๑๘๒๑-๑๘๕๑) ตรงกับสมัยที่ชาวยุโรปเข้าอเมริกา มีจีนไปตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำเลียว และแม่น้ำซุงการีบ้างแล้ว เมื่อเกิดกบฏไต้เผ็งซึ่งเชื่อกันว่าคนได้เสียชีวิตตั้ง ๒๐ ล้าน พวกจีนก็พากันหนีร้อนไปพึ่งเย็น ทุ่มเทกันเข้าไปในแมนจูเรีย แย่งเอากิจการทั้งปวงจากมือพวกเม่งจูราวกับเหยี่ยวจิกคร่าอาหารฉะนั้น กรุงมุกเด็นซึ่งเป็นนครหลวงของชาติเม่งจูก็กลายเป็นกรุงจีนไป......

ทุกวันนี้ภาษาเม่งจูเลิกเป็นภาษากลางเสียแล้ว เพราะภาษาจีนเข้าไปแทนที่ พวกเม่งจูทุกคนพูดภาษาจีนได้ ในจำนวนสำมะโนครัวแห่งแมนจูเรีย ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ คนนั้นเป็นจีน ร้อยละ ๙๐ การรุกเงียบเงียบของจีนได้ขับชาวพื้นเมืองให้เตลิดกลับไปยังแดนมองโกเลีย หรือมิฉะนั้นก็กลายเป็นจีนไปหมด

*ปัจจุบัน :
อนาคตของประเทศพม่าจะถูกรุกเงียบเงียบโดยชาวอินเดีย และจีนหรือ

เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มีการประชุมประจำปีของมหาวิทยาลัยกรุงร่างกุ้ง ที่หออภิเษก ท่านเซอร์ชาล์ส อินเนส นายกแห่งมหาวิทยาลัย ผู้สำเร็จราชการประเทศพม่าเป็นประธาน ได้มีการให้ปริญญาและแจกประกาศนียบัตร รวม ๑๘๑ ชื่อ และได้ให้เหรียญเงินของท่านลอร์ด เออร์วิน อุปราชแห่งอินเดียแก่มองถิ่น เป็นรางวัลสำรับการแต่งเรื่อง “ซิติเซ็นชิป”

ในสุนทรพจน์ที่ท่านเซอร์ ชาล์ส อินเนส กล่าวในที่ประชุมนั้น มีความสำคัญข้อหนึ่งที่สะกิดใจเราชาวสยาม คือท่านกล่าวว่า “ไม่ว่าจะไปที่ไหน (หมายความว่าในร่างกุ้ง) ก็เห็นแต่รอยรุกเงียบเงียบของจีนผู้ขยัน กับแขกผู้ขยันไม่น้อยกว่าจีน ทำให้ต้องนึกถึงอนาคตแห่งประเทศพม่าว่า จะเป็นอย่างไรหนอ พม่าจะสามารถรักษาชาติและอารยธรรมอันเป็นของตัวไว้ได้หรือไม่ หรือว่าจะถูกจำนวนล้านที่ทุ่มเทเข้ามาทั้งทางตะวันออก (คือ จีน) และตะวันตก (คือ แขก) รุกเงียบเงียบอย่างช้าๆ ทีละน้อยๆ แต่แน่นอน ข้าราชการชาวอังกฤษทุกคนผู้รับราชการอยู่ในประเทศพม่าคงจะว่า-เดชะพระเจ้าช่วย ขออย่าให้ต้องเป็นดังนี้เลย- แต่ผู้ที่จำตอบคำถามนี้ได้ชะงัดคือ ชาวหนุ่มหญิงสาวของพม่าเอง และข้าพเจ้า (คือ เซอร์ ชาล์ส อินเนส) หวังและเชื่อว่า มหาวิทยาลัยนี้จะช่วยให้หนุ่มสาวเหล่านั้นแสวงคำตอบที่เป็นทางพึงปราร์ถนาได้”

สยามยังค่อยยังชั่วที่บัดนี้ยังห่างแขกอยู่มาก แต่ก็จีนพวกเดียวไม่พอหรือ รัฐบาลอังกฤษในพม่าไม่รังเกียจแขก เพราะพม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย และรัฐบาลอังกฤษไม่เกลียดจีน เพราะจีนเป็นพลเมืองที่ขยันและดีมากเมื่อได้สิทธิเป็นชาวนาครแล้ว ดูจีนที่สิงคโปร์ ปีนัง และมะลายู อังกฤษ

ชาวประเทศพม่าในอนาคต จะคงเป็นพม่าอยู่ หรือจะกลายเป็นจีนหรือแขก หรือปนกันทั้งสองชาติ สามชาติ ก็จะแปลกอะไรสำหรับรัฐบาลอังกฤษผู้เป็นเจ้า ขอให้คนพวกนั้นคงเป็นชาวประเทศพม่า หรือมณฑลหนึ่งแห่งอาณาจักรอินเดียอยู่ก็แล้วกัน แต่สำหรับประเทศสยาม ความปราร์ถนาเป็นคนละรูปทีเดียว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ