- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ระยะต่างๆ
ระยะแห่งโรค
Stage of Diseases
หมอเทวดา
(โคลงดั้นบาทกุญชร)
โรคภัยไข้เจ็บล้วน | มีระยะ ดำเนิร |
ดุจชีพเดิรตามวัย | ฉะนั้น |
ข้ามระยะและวัยจะ | สำเร็จ ดังฤๅ ? |
เพียงร่นระยะกะชั้นสั้น | สุดหา.[๑] |
เคราะห์ดีแพทย์เข้าเขตต์ | ไข้ถอย |
เลยแพทย์เป็นเทวดา | กะเดื่องได้[๒] |
มากหมอมากเปลี่ยนพลอย | เสียชื่อ แพทย์ชุม[๓] |
ความโฉดของเจ้าไข้ | ไม่เบา. |
ระยะแห่งการเผยแผ่ฝ่ายเศรษฐกรรม
Stage of Economic Developments
ชาติขี้เกียจ
เราวิเศษ, สุภาพ, ซื่อ, ทั้ง | เราเกียจ คร้านฤๅ ? |
ไฉนโลกแลเห็นเรา | เช่นนั้น ? |
เสียงหนึ่งยกยอเกียรติ | เสียงหนึ่ง ดูถูก |
กิเลสเพิ่งตามกะชั้นคั้น | เคียดเรา ดอกนา.[๔] |
อู่ข้าวอู่น้ำซึ่ง | สมบูรณ์ แล้วแล |
ใครจักอาบเหงื่อเอา | ต่างน้ำ ?[๕] |
บัดแข่งแบ่งเสพศูนย์ | สงบพราก พลันพ่อ |
ตัวบ่ทันรู้ซ้ำ | เสร็จเข้า สิเรา.[๖] |
ไป่เคยอดอยากสู้ | คนเคย ได้ฤๅ? |
ขืนแข่งปล่อยเขา, เรา | โอบเอื้อ |
เงินมิใช่นายเลย | แท้ทาส เทียวแล |
เราอยู่ระยะเอื้อเฟื้อ | ฝืดเคือง[๗] |
ระยะแห่งการเผยแผ่ฝ่ายการเมือง
Stage of Political Developments
มุมโลกที่สุขที่สุด[๘]
ยามโลกวิปลาสซ้ำ | ระส่ำระสาย |
ผลแห่งมหาสงครามเปลือง | ไม่น้อย |
ชีพมลายทรัพย์มลายวาย | สงบวอด |
ภัยพิบัติใหญ่น้อยต้อย | ต่อเติม |
จลาจลกล่นตลอดพื้น | พิภพ |
พาณิชย์, การเมือง, เสริม | วุ่นว้า[๙] |
เทพเจ้าก็สมทบ | กะทืบยอด ทัณฑ์เทียว |
ดาลแผ่นดินแผ่นน้ำบ้า | บั่นเมือง.[๑๐] |
สยามเมลืองลับลี้รอด | โพยภัย |
เมืองสงบคนสงบเคือง | ขุ่นไร้[๑๑] |
ขึ้นชื่อแหล่งสุขใน | โลกรอบ |
เราอยู่ระยะนี้ได้ | อีกนาน และฤๅ ? |
คือสิทธิ์การครอบบ้าน | ครองเมือง |
ราษฎร์มอบพระจอมปราณ[๑๒] | หมดถ้วน |
ฝูงชนไป่ระคายเคือง | เพราะใช่ สิทธิ์ตน |
สิทธิ์ที่ตื่นนั้นล้วน | ส่วนตัว.[๑๓] |
ระยะแห่งการเผยแผ่ฝ่ายธรรมจรรยา
Stage of Moral Developments
เลื่อนภูมิธรรมแห่งมนุษยโลกขึ้นอีกชั้นหนึ่ง
เปรสิเด็นต์วิลสั้น[๑๔]ใฝ่ | ใจธรรม |
ข้ามทวีปนำยุโรปนัว | นั่งจ้อ |
สันนิบาตชาติจึ่งกำ- | เนิดเพื่อ โลกแล |
ยามพิพาทชาติได้พ้อ | พูดกัน. |
อาบิเตรชัน[๑๕]เชื่อใช้ | แทนยุทธ |
อีกอเมริกาผัน | ผูกแคว้น |
ชวนมหาประเทศรุด | ลงชื่อ รับรอง |
เพื่อประณามยุทธใช้แม้น | เครื่องมือ การเมือง.[๑๖] |
ชาติใหญ่ให้ได้ซื่อ | สัตย์ต่อ กันเทอญ. |
ทั้งโลกเลื่อนภูมิคือ | ฟากฟ้า[๑๗] |
“ควายยังงอกเขาบ่ | มนุษย์เลิก รบเลย” |
คำกล่าวเท่าชี้หน้า | ว่าเรา ติรัจฉาน. |
ระยะแห่งการเผยแผ่ฝ่ายการสมาคม
Stage of Social Developments
ศาสนาพระศรีอารย์
ความดำเนิรเกริ่นเกริกเบื้อง | อัสดง- คตแล |
บุรพทิศติดตามเขา | แอ่นเอ้[๑๘] |
คอยดูชั่วดีคง | ริร่ำ ไปนา |
ก้าวหนักจักเค้เก้ | กะมัง |
โสโชลิซั่มทั้ง | ซั่มอื่น อื่นฤๅ ?[๑๙] |
แจกสุขสมส่วนดัง | ฟากฟ้า |
ดีดอกสุขถ้าดื่น | ดกมาก |
กัลปพฤกษ์นึกถ้วนหน้า | น่ากระหาย |
หญิงชายเสมอภาคเพี้ยง | สุดพรรณ-นาแน่[๒๐] |
สกุล, ชาติ, ชั้น, วรรณ. หมาย | หมดเรื้อง[๒๑] |
มีแต่สุขตามกัน | ตามส่วน สามารถ |
เปลี้ยง่อยพลอยกะเตื้องเบื้อง | อุปการ |
พระศรีอารย์โปรดด่วนได้ | เป็นดี |
ชิงสุกก่อนห่ามหาญ | หักแท้ |
การเปลี่ยนประเพณี | ยากนัก |
ระยะเช่นชี้นี้แม้ | น่ากลัว ต้องเตรียม[๒๒] |
เสียมศานติ์รังรักษ์ได้ | ดังฤๅ? |
แม้ไม่ได้ไป่มัว | มัดไว้ |
สิทธิ์ที่มอบเปลี่ยนมือ | มามาก |
ให้ห่ามสุกได้ไซร้ | สุขยืน. |
๕ กรกฎ. ๗๐
[๑] ...หา โรคจัดเป็นระยะต่าง ๆ อยู่ในระยะ ๑ จะให้ข้ามไประยะ ๓ ไม่ได้อยู่เอง เพียงช่วยให้ระยะสั้นเข้า ได้หายเร็วเข้า ก็นับว่าได้รักษาดีแล้ว โรคติดต่อก็มีระยะฟักและระยะติดต่อกันได้
[๒] ...ได้ เวลาที่เจ้าไข้ใจร้อน เปลี่ยนหมอไม่ได้หยุด หมอคนที่เข้ามารักษาประจวบเวลาไข้ถอยแล้ว ก็วางยาให้คนไข้หายวันหายคืน เลยเลื่องลือว่าเป็นแพทย์เทวดา ดังนี้มีบ่อย ๆ
[๓] ...ชุม ส่วนแพทย์ดีๆ ที่ไปถูกไข้กำลังต้องเดิรตามระยะของโรคเข้า ถูกเหมาว่ารักษาไม่หาย พลอยเสียชื่อเปล่า ๆ ก็มีชุม
[๔] ...นา การวิ่งกะเสือกกะสนหาเงิน, การแย่งกันกิน, การเอาเวลาซึ่งเป็นของเรา ควรเราใช้ได้ตามสบาย ไปตีราคาเป็นเงิน แล้วทำตัวเปนสุนัขถูกน้ำร้อน หรือวัวถูกเอาประทัดผูกหางและจุด เหล่านี้ล้วนเป็นกิเลสทั้งนั้น กิเลสเหล่านี้พลอยมากินถึงเราเข้าด้วย
[๕] ...น้ำ สยามเป็นอู่เข้าอู่น้ำอย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว การหากินตัวเป็นเกลียวหรือเอาเหงื่อต่างน้ำ ย่อมไม่จำเป็นโดยธรรมดา
[๖] ...สิเรา แต่เดี๋ยวนี้เกิดแข่งกันทำและแย่งกันกิน ความอยู่เป็นสุขอย่างแต่ก่อนก็หมดกันพอดี เราโดนเข้าไม่ทันรู้ตัว คือเปลี่ยนอัธยาศัยไม่ทัน การศึกษาที่อาจช่วยได้ก็ถูกยึดไว้โดยไม่มีทุนพอ เราก็แพ้เขา
[๗] ...ฝืดเคือง เราเคยแต่ใช้เงินเป็นทาสทำความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้แก่เรา เราไม่เคยเอาเงินเป็นนายโดยยกย่องตั้งแต่งให้เป็นแก้วสารพัตรนึก เพราะฉะนั้นเราก็บูชาคนเพราะตัวเขาไม่ใช่เงินของเขา และเราก็เอื้อเฟื้อแผื่อแผ่ให้ปันและช่วยเหลือกันได้ โดยไม่ต้องคิดราคาเงินอย่างซื้อขาย หรือจ้างออน. เมื่อโลกได้ทุ่มเทเอาความเปลี่ยนแปลงเข้ามาให้เราเช่นนี้ เราก็เท่ากับตกอยู่ในระยะที่น้ำใจเอื้อเฟื้อก็ยังอยู่ แต่ความฝืดเคืองก็มาถึงเข้า ทั้งสองอย่างนี้ย่อมเป็นปฏิปักข์แก่กัน ทำให้เราไม่ทันสมัย
[๘] สุด ฝรั่งเรียกสยามว่า the happiest corner in the world
[๙] ...วุ่นว้า คนมัวรบหรือช่วยการรบ โรงงานควรทำสินค้าไพล่ไปทำปืนและกระสุนปืน ราคาสินค้าหรือราคาเงินปั่นป่วนหมด พ่อค้าพวกค้ากำไรก็มั่งมีใหญ่โต แต่พวกเคราะห์ร้าย ก็พินาศล่มจมเป็นระเนนไปตามกัน นี้คือจลาจลทางพาณิชย์. ส่วนจลาจลทางการเมืองนั้นก็คือ ประเทศได้เปลี่ยนเป็นริปัปบลิกไปมาก ทั้งที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยนก็ย่อมปั่นป่วนกระทบกระเทือนไปตามกันไม่มากก็น้อย เนื่องจากความไม่พอใจระหว่างกรรมกรกับเศรษฐีผู้จ้าง
[๑๐] ...เมือง คือ แผ่นดินไหว กรุงโตกิโอ นครหลวงแห่งญี่ปุ่น พินาศด้วยอัคคีภัยอุทกภัยเป็นส่วนใหญ่ กับโยโกฮามาซึ่งเป็นเมืองท่า ถล่มทะลายเกือบหมด เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เสียชีวิตและทรัพย์สมบัติแทบนับไม่ถ้วน
[๑๑] ...ไร้ ความกระทบกระเทือนแห่งมหาสงครามมาถึงสยามแต่เพียงทางการพาณิชย์บ้าง ทางการเมืองสงบอยู่เป็นปกติ จึงแปลกกว่าที่อื่น ๆ
[๑๒] ปราณ ชีวิต พระจอมปราณคือเจ้าชีวิต
[๑๓] ส่วนตัว ราษฎรไม่พอใจเจ้าหน้าที่ก็เพราะเหตุความได้เสียส่วนตัว เช่น เห็นไปว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความเสมอภาคเป็นต้น. การอุกอาจร้ายแรง เช่นผู้พิพากษาถูกยิงเคยมีบ้าง ก็ล้วนเป็นความไม่พอใจส่วนตัวทั้งนั้น
[๑๔] เปรสิเด็นต์วิลสัน ประธานาธิบดี แห่ง ส.ป.ร. อเมริการะหว่างสมัยสงครามโลก เป็นผู้คิดตั้งสันนิบาตชาติ ได้ไปเข้าประชุมประเทศของตนเองที่ปารีส ซึ่งมหาประเทศอื่น ๆ ก็มีเพียงอัครมหาเสนาบดีไปเข้าประชุมแทน
[๑๕] อาบิเตรชัน วิธีตัดสินข้อพิพาทด้วยตั้งคนกลาง เรียกว่าอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน
[๑๖] ...การเมือง คือสัญญาที่นายเค็ลลอก เสนาบดีการต่างประเทศของอเมริกาเมื่อครั้งคูลลิตซ์ เป็นประธานาธิบดี เป็นเจ้าของเริ่มขึ้น เรียกว่า ‘เค็ลลอกแพ็กต์’ ศานติคณะของเค็ลลอก ซึ่งสยามก็ได้รับรองแล้ว
[๑๗] ...ฟากฟ้า อันใดที่ชาติใหญ่ ๆ ตกลงกันได้แล้ว ชาติน้อย ๆ ก็ย่อมยินดีตาม การเลิกสงครามนี้เป็นความต้องการของชาติน้อย ๆ อยู่แล้วเหมือนกัน
[๑๘] แอ่นเอ้ ภาวะอย่างใหม่ที่ชาวตะวันตกเป็นผู้ดำเนิรชำนาญมาก่อน เมื่อถึงคราวที่ชาวตะวันออกต้องหันตามไปด้วย ก้ต้องเอ้ ๆ แอ่น ๆ ชักช้าไม่ทันเขาอยู่เอง
[๑๙] ...ฤๅ โสโชสิซั่ม, คอมมูนิซั่ม, ซินดิแคลิซั่ม, ฟาสสิซั่ม, ซุนยัดเซนิซั่ม ฯลฯ เหล่านี้ ต่างพวกก็ต่างคิดกันไปต่าง ๆ นา ๆ และต่างก็เพ่งเล็งจะให้โลกถึงศาสนาพระศรีอารย์ทั้งนั้น
[๒๐] ...แน่ ถ้าถึงเสมอภาคจนหญิงก็จะมีสามีได้อย่างชายมีภรรยาแล้ว ก็สุดพรรณนาแน่
[๒๑] เรื้อง คือ ดีด้วยทำความดีเท่านั้น นอกนั้นเป็นอันไม่นับ
[๒๒] ...เตรียม ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ และย่อมมาถึงเราด้วยเสมอ เพราะการคมนาคมสะดวก เราตามเขาเอ้แอ่นตกอยู่ในที่ ๆ ต้องชิงสุกก่อนห่าม การชิงสุกก่อนห่าม เป็นการหักหาญ มีอันตรายไม่มากก็น้อย การเตรียมก็คือ รีบให้สุกเสียก่อนที่ห่ามจะให้โทษเพราะเหตุต้องชิงสุก